เทศน์พระ

เกื้อกูลกัน

๒๕ ส.ค. ๒๕๕๓

 

เกื้อกูลกัน
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์พระ วันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

อ้าว...มาฟังธรรม เราเป็นพระนะ ดูสิ คฤหัสถ์เขาพยายามหนีจากทุกข์ เขาก็ยังหาทางออกกันอยู่ เราอยู่ทางโลก แล้วเราเห็นว่าทางโลกมันก็เวียนตายเวียนเกิด แล้วมีสติปัญญา เพราะอะไร เพราะทางโลกเขาทุกข์ยากกันนะ เวลาทุกข์ยากกัน เขาก็เบียดเบียนกัน เขาก็จะหาทางออกกันแบบโลกๆ

แต่ของเราเห็นไหม เราอยู่ทางโลก เห็นว่าทางโลกเป็นทางทุกข์ยาก เราจึงมาหาทางออกด้วยทางธรรม ทางธรรมเห็นไหม เรามาเป็นนักพรต นักบวช เพื่ออะไร เพื่อจะให้หัวใจมันพ้นจากทุกข์ให้ได้ ถ้าหัวใจมันพ้นจากทุกข์ได้ ครูบาอาจารย์ของเรานี่

“อยู่ท่ามกลางกับโลก แต่ไม่เดือดร้อนในโลกนะ”

เวลาเราเป็นนักบวช สามเณรนี่แค่ไล่กาได้นะ ตอนสามเณรนี่ อายุเท่าไรถึงบวชเณรได้ ถ้ากามันกินข้าวก้นบาตรนี่ แล้วเด็กมันไล่กาได้ นั่นนะบวชเณรได้

ถ้าบวชพระล่ะ บวชพระต้อง ๒๐ ปีขึ้นไป เพราะ ๒๐ ปีขึ้นไปถือว่าบรรลุนิติภาวะ เราบวชพระกันน่ะ เรา ๒๐ ปีขึ้นไปทั้งนั้นล่ะ ถ้า ๒๐ ปีขึ้นนี่ เราไม่ใช่เด็กแล้วนะ เราเป็นผู้ใหญ่แล้ว เราบรรลุนิติภาวะ บรรลุนิติภาวะนี่ เราจะต้องรักษาใจเราให้ได้

ร่างกายนี่ครบ ๒๐ ปี แต่หัวใจล่ะ หัวใจยังเป็นทารกอยู่เหรอ หัวใจถ้ามันยังยืนขึ้นมาไม่ได้ เวลาเราเบิกขึ้นมาแล้ว นี่ธรรมและวินัยเป็นเครื่องอยู่เครื่องอาศัย ถ้าธรรมวินัยเป็นเครื่องอยู่เครื่องอาศัยเห็นไหม ภิกษุบวชใหม่เป็นผู้ว่ายาก สอนยาก เพราะภิกษุบวชใหม่ทนคำสอนของภิกษุเก่าไม่ได้

ภิกษุเก่าที่เข้าไปนี่ เป็นอาวุโส ภันเต ถ้าภิกษุเก่าอยู่ในธรรมและวินัย เขาเรียกว่าจริตนิสัยไง เขาเรียกว่ามันเป็นสมณสารูป ถ้าสมณสารูปเห็นไหม ประเพณีมันไม่เหมือนกันไง แต่เราคิดว่ามนุษย์ก็คือมนุษย์ ใช่! พระมาจากคน คนก็เกิดมาจากโลก นี่พระมาจากคน ถ้าคนเป็นอย่างไร พระไม่เป็นอย่างนั้นนะ พระไม่แสดงออกนิสัยอย่างนั้น ถ้านิสัยอย่างนั้นเขาเรียกนิสัยฆราวาส คฤหัสถ์ธรรม

ฆราวาสธรรมเห็นไหม ธรรมของฆราวาสเขา แต่เราเป็นพระเป็นสงฆ์ เราเป็นพระเป็นเจ้าแล้วนี่ เราจะต้องมีธรรมและวินัย เราจะมีขอบเขตไง

อย่างที่มาบวชพระนี่ ๒๐ ปีเห็นไหม บวชแล้วนี่ บรรลุนิติภาวะ บวชพระแล้วนี่เป็นสมณะแล้ว เป็นสงฆ์แล้วเห็นไหม เป็นสงฆ์แล้วนี่ นิสัยมันยังติดทางโลกมา ถ้านิสัยติดทางโลกมานี่ เราจะต้องสำรวมระวังขึ้นมา ระวังตัวเรา

พระก็มาจากคน คนก็เป็นสัตว์สังคม มนุษย์เป็นสัตว์สังคมนะ สิ่งใดอยู่ด้วยกันมันก็กระทบกระเทือนกันเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าการกระทบกระเทือนกันแล้วนี่ เราให้อภัยต่อกันไง การให้อภัยต่อกันเห็นไหม เราอยู่ในเขตวัด วัดเป็นเขตอภัยทาน แต่เวลามีการกระทบกระเทือนกัน ทำไมเราไม่ให้อภัยต่อกัน

เราให้อภัยทานเห็นไหม แม้แต่สัตว์ที่เข้ามาอยู่ในวัดนี่ เขาไม่ให้ล่า ไม่ให้ดัก เขาให้ชีวิตมันนะ นั่นให้ชีวิตมันเห็นไหม ก็ให้ชีวิตที่มันอยู่ในเขตอภัยทาน มันควรมีสิทธิ์ดำรงชีวิตของมัน

เราเป็นพระ เราควรให้อภัยต่อกัน...ให้อภัยต่อกันแล้วเราสบายใจไง ในเมื่อสัตว์สังคมมันก็มีการอยู่เป็นเรื่องปกติ ในความเป็นอยู่ของเราก็เหมือนกัน ในความเป็นอยู่เราเห็นไหม แม้แต่ความคิดเรายังควบคุมความคิดเราไม่ได้เลย

ถ้าเราควบคุมความคิดของเราได้ ความสมดุล ความพอดี ความพอดีของคนหยาบๆ คนหยาบๆ เขาว่าสิ่งนั้นเป็นความพอดีของเขา ความดีของคนที่ละเอียดขึ้นไป คนที่ละเอียด จิตใจที่ละเอียดขึ้นมานี่ เขาต้องการความสงบสงัดของเขา มันไม่พอดีของเราเลย ทำไมเขามาคุยกัน ทำไมเขามาเล่นกัน ทำไมเขามาทำเสียงดังต่อเราเห็นไหม มันไม่ใช่ความพอดีของเราเลย

แต่ความพอดีที่เขาคุยกัน เขาเล่นกันนะ เขาหยอกล้อเล่นกัน เพราะเขาเป็นมนุษย์ เขาเป็นสัตว์สังคม ในเมื่อเป็นสัตว์สังคม เขาก็มีการหยอกล้อกัน เขามีการเล่นกันเป็นเรื่องธรรมดา แต่การเล่นกันในสถานะที่การเล่นเห็นไหม

ภิกษุจี้เอว ภิกษุหัวเราะ จนภิกษุนั้นตายไป...เป็นอาบัติปาจิตตีย์

ภิกษุฆ่าภิกษุ ที่จงใจฆ่าภิกษุ...เป็นอาบัติปาราชิก

ในนวโกวาท ภิกษุจี้เอวภิกษุเล่น... เราหยอกเล่นกัน... แต่ภิกษุนั้นเป็นคนบ้าจี้... จี้หัวเราะ หัวเราะจนขาดใจตาย...เป็นอาบัติปาจิตตีย์

ภิกษุเล่นกัน ภิกษุหยอกล้อกัน...เป็นอาบัติปาจิตตีย์

ภิกษุอาบน้ำ ว่ายน้ำเล่น...เป็นอาบัติปาจิตตีย์

ภิกษุเล่นกันเห็นไหม เพราะอะไร เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ก็มีการหยอกล้อ มีการเล่นกัน แต่การเล่นกัน ถ้าเป็นทิฐิมานะ ไม่ให้อภัยกันต่อกัน...

การเล่นไม่ใช่ความจริง ความจริงพูดจริงเห็นไหม พูดจริง พูดเล่น พูดหยอก พูดล้อ พูดเคาะ การพูดเคาะเห็นไหม ธรรมวินัยมีบอก การพูดเคาะ พูดส่อเสียดต่างๆ สิ่งนี้มันเกิดขึ้นมาจากจริตนิสัย นิสัยของคนพูดเล่น นิสัยของคนเคร่งขรึม นิสัยมันแตกต่างกัน พอนิสัยมันแตกต่างกัน เราอยู่ด้วยกัน เราจะรู้จริตนิสัยเดียวกัน

สมัยหลวงปู่มั่นนะ ท่านจะรู้จริตนิสัย ความพอดี ความชอบและไม่ชอบของใคร ถ้าความไม่ชอบของใคร ถ้าเล่นก็คือการเล่น แต่ถ้าเป็นความจริง เขาจะช่วยเหลือเจือจานกัน เพราะอะไร เพราะสังฆะ สังฆะเป็นเหมือนสังคมๆ หนึ่ง

สังคมหนึ่งมันก็เหมือนร่างกายมนุษย์ร่างกายหนึ่ง ถ้าร่างกายของมนุษย์ ถ้ามันเจ็บไข้ได้ป่วย ร่างกายมนุษย์มันสมบูรณ์ มันก็สะดวกสบายเห็นไหม ถ้าเป็นหวัด เป็นไอ ขึ้นมานี่ ร่างกายก็ติดขัดไปหมดแล้ว

นี่ก็เหมือนกัน สังคมถ้าให้อภัยต่อกัน เจือจานต่อกัน สังคมนั้นมันก็สะดวกสบาย ความว่าสะดวกสบายเห็นไหม สังคมร่มเย็นเป็นสุข สมณะ ชี พราหมณ์ ได้ประพฤติปฏิบัติ

ในสังคมของสงฆ์ก็เหมือนกัน สังคมเอื้อเฟื้อเจือจานต่อกัน บอกกันได้ บอกกล่าวกันได้ “ผมจะภาวนานะ อย่าทำเสียงกระทบกระเทือนกับผมนะ ผมขอ” ไอ้ผู้เล่นกัน ก็ให้เห็นใจต่อกัน เราก็เจือจานต่อกัน แต่ถ้าเป็นกิเลสตัณหานะ เวลาจะทำงาน “ผมก็จะภาวนานะ” เห็นไหม เราต้องการสงบสงัดเพื่อการภาวนา

การภาวนามันเป็นเป้าหมายของเรานะ เราบวชกันมานี่เห็นไหม งานของโลก ดูสิ เวลาประชุมสังฆาธิการ ไปประชุมพระสังฆาธิการ เขาประชุมอะไรล่ะ เขาประชุมการดูแลรักษา การก่อสร้าง การรักษาสาธารณะสมบัติ การรักษาต่างๆ เห็นไหม การประชุมสังฆาธิการนี่ สาธารณวัตถุ วัตถุเขาว่าวัด วัดคือสิ่งสาธารณะวัตถุที่เขาสร้างขึ้นมาเป็นวัดวาอาราม แล้วเจ้าอาวาสผู้เป็นสังฆาธิการนี่ เป็นผู้ดูแลรักษา จะต้องดูแลรักษาศาสนวัตถุ ต้องทำความสะอาด

เราเป็นพระปฏิบัติ เราไม่ต้องการตรงนั้น เราต้องการการเดินจงกรม นั่งสมาธิ ภาวนา นี่เป็นงานของพระเรา พระเรา เราจะดูแลรักษาหัวใจของเรา ศาสนวัตถุ ศาสนพิธี ศาสนบุคคล ศาสนธรรม เราต้องการศาสนธรรม เราต้องการคุณธรรม เราต้องการความสะดวกในหัวใจของเรา

ฉะนั้นสิ่งปลูกสร้าง การรักษานี่ เราก็ดูแลเรา ดูแลด้วยข้อปฏิบัติ ดูแลด้วยข้อปฏิบัติ วัดไม่ร้างนะ วัดมีข้อวัตรปฏิบัติ วัดมีผู้อยู่ผู้อาศัย วัดมีภิกษุผู้ดำรงธรรมวินัย ถ้าภิกษุมีธรรมวินัยเห็นไหม เราดูแลรักษาของเราเห็นไหม นี่กิจของสงฆ์ ๑๐ อย่าง

ในนวโกวาท กิจของสงฆ์ ๑๐ อย่าง กวาดลานเจดีย์ ทำความสะอาดวัดในโรงฉัน ในศาลาโรงฉัน วัดในโรงไฟ เราทำความสะอาดของวัด นี่ไง สิ่งที่เราดำรงสังฆกรรม นี่เสขิยวัตรต่างๆ เห็นไหม เราต้องทำของเรา เพราะเราดำรงวัตร เห็นไหม นี่เราทำหน้าที่ของเรานี่ วัดไม่ร้าง ถ้าเราทำความสะอาดเห็นไหม

เขาประชุมสังฆาธิการ เขาต้องบังคับนะ เขาต้องทำอย่างนั้น ต้องดูแลรักษา ต้องมีการบูรณะปฏิสังขรณ์ต่างๆ แต่เราดูแลรักษาโดยชีวิตประจำวัน เราทำความสะอาดของเรา เราดูแลของเราเห็นไหม แล้วมันเป็นความจริง มันเป็นธรรมและวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ต้องมีใครบอกใครสอนหรอก

ถ้าจิตใจ หัวใจมันเป็นธรรมนะ มันต้องการรักษา สิ่งนี้มันมีอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าวางวัตรปฏิบัติเอาไว้แล้ว วัตร ๑๓ นี่ เราต้องทำของเรา ถ้าทำของเรานะ เราต้องให้ใครมาประชุม ต้องไปศึกษาจากใคร ศึกษาจากเราเห็นไหม ถ้าศึกษาจากเรา...ศึกษาจากเรา...นี่เราเป็นภิกษุ เราเป็นผู้ขอ เราเห็นภัยในวัฏสงสาร มันมีขึ้นมา ธรรมวินัยมันมีขึ้นมาเป็นเนื้อหาสาระ เป็นข้อเท็จจริงเลย

แต่ไปศึกษากัน ประชุมสังฆาธิการ แล้วใครทำคุณงามความดี ใครได้สมประโยชน์เห็นไหม ได้เลื่อนขั้นเลื่อนตอนกันไป เลื่อนขั้นเลื่อนตอนขึ้นไปเป็นภาระรับผิดชอบ หัวโขนไง สมณศักดิ์เห็นไหม

แต่ของเรานี่ ถ้าเราทำของเรานะ เรานั่งสมาธิภาวนาของเรา เราทำข้อวัตรปฏิบัติของเรา แล้วเราสบายใจ นี่เราทำของเรา พอทำของเราแล้ว วัดไม่ร้าง เราไม่มีบาดแผล มือไม่มีแผล เราทำทุกอย่างสมบูรณ์นี่ เรานั่งสมาธิภาวนาเมื่อไรมันก็นั่งได้ มันไม่มีความวิตกกังวล นิวรณธรรมมันไม่มีในหัวใจ เวลาเราปฏิบัติขึ้นมาหัวใจมันโล่งโถง

สมณศักดิ์ของเขานี่ เขาได้ยศได้ศักดิ์กัน คุณธรรมของเรา ถ้าเราได้ประพฤติปฏิบัติของเราขึ้นมา เราได้คุณงามความดีในหัวใจของเราขึ้นมา นี่พระที่นี่ไง เราเป็นพระขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเป็นพระจากญัตติจตุตถกรรมขึ้นมา เราเป็นพระขึ้นมาโดยข้อเท็จจริงของเรา เราเป็นพระ ความสมดุล ความพอดีของใจ

ถ้าความพอดีของใจ เราเป็นคนที่วัดไม่ร้าง เรามีความสุขของเรานะ ถ้ามีความสุข มีความสงบระงับของเราขึ้นมา นี่ความสงบ ความสุข ความระงับขึ้นมาในหัวใจ มันเป็นปัจจัตตัง มันเป็นสันทิฏฐิโก มันเป็นความสุขของเรานี่ ฟังธรรม! ฟังธรรม! ฟังธรรมเพื่อเหตุนี้ไง เราทำของเราอยู่แล้ว

ดูสิ วันมาฆบูชา พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ เป็นพระอรหันต์ทั้งหมดเลย ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงโอวาทปาติโมกข์ล่ะ เราจะทำคุณงามความดี เราจะไม่ทำความชั่ว เราจะทำคุณงามความดี จะทำจิตใจให้ผ่องแผ้ว เพราะอะไร เพราะว่าพระอรหันต์แล้ว แต่ฟังธรรมเพื่อความรื่นเริง นี่เห็นไหม สอุปาทิเสสนิพพาน พระอรหันต์ทั้งหมดแล้ว หัวใจยังมีอยู่ ความรู้สึกยังมีอยู่ ฟังธรรมแล้วรื่นเริง มันมีอยู่แล้ว ดูสิ เรามีเงินในทรัพย์สมบัติของเรา

คุณค่าของสังคม เขานับเงินนับทองกันเห็นไหม นี่เงินค่า ๑ บาท ๒ บาท ๓ บาท ๑๐ บาท ๑๐๐ บาท เป็นค่าของเงินในสังคมที่เขาใช้สอยกัน มีค่าตามกฎหมาย เราก็มีของเรา ถ้าเรามีของเราเห็นไหม เรามีเงินมีทองในหัวใจของเรา เราเศรษฐีธรรม เศรษฐีสมาธิ เศรษฐีปัญญา ถ้าเศรษฐีปัญญา ผู้มีคุณธรรม นี่พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ นี่มันก็มีอยู่แล้ว

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาแสดงธรรมเห็นไหม ธรรมก็ค่าของเงิน ค่าของธรรม ค่าของวิหารธรรม ค่าของสัจธรรม ถ้าคนไม่มี เวลาแสดงธรรมออกไปเห็นไหม ดูสิ สังคมทางโลกเขา ค่าของเงิน เงินมีค่าเท่าไร เราแสวงหาเพราะในกระเป๋าเรา ในทรัพย์ส่วนตัวของเรา เราไม่มีสักสลึงเดียว เห็นไหม เราก็ต้องกระเสือกกระสนเพื่อจะหาเงินนั้นมา

ถ้าหาเงินนั้นมา สิ่งนั้นเราก็ต้องทำหน้าที่การงานด้วยสิ่งที่มันไม่มีความวิตกกังวล มันมีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันความทุกข์ความยาก แต่ถ้าเรามีเงินของเรานะ มีความสมบูรณ์ของเราเห็นไหม เรามีเงินของเรา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรม เป็นวิหารธรรม นี่พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์นี่ มีคุณธรรมในหัวใจ มีเงินสมบูรณ์อยู่แล้ว

วิหารธรรม เงินมีค่าอย่างนั้น มันรื่นเริง มันอาจหาญนะ มันรื่นเริงในธรรม ถ้ามีวิหารธรรมนะ มันมีความสุขในหัวใจนั้น มันมีสมบัติอยู่ในใจอยู่แล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตีแผ่ มาแยกแยะนี่ คุณธรรมเป็นอย่างนั้นๆๆ นะ มันมีความรื่นเริง ทั้งๆ ที่มันก็มีความสุข วิมุตติสุข มันสุขอยู่แล้ว

วิมุตติสุข พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ มันมีความสุขสมบูรณ์อยู่ในตัวแล้ว ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังแสดงโอวาทปาติโมกข์ล่ะ

โอวาทปาติโมกข์เพื่อความรื่นเริงเห็นไหม แต่นี่คุณธรรม ธรรมที่เราจะแสวงหากัน ธรรมที่เราบวชมา ความสมดุลของใจ ถ้าใจมันสมดุลขึ้นมานะ แต่หัวใจของเรานี่ เราแสวงหาของเรามา นี่ศาสนธรรม เราบวชมา เราเป็นพระมา เพื่อแสวงหาศาสนธรรม คำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

นี่ศีล สมาธิ ปัญญา นี่เป็นคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สัมโพชฌงค์เห็นไหม วิจัยในธรรม มีภาระ มีความวิริยะ มีอุตสาหะ นี่สัมโพชฌงค์

สัมโพชฌงค์เห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเจ็บไข้ได้ป่วย ให้สวดสัมโพชฌงค์ เจ็บไข้ได้ป่วยจะหายไป เราก็สวดกัน สวดกันเพราะอะไร สวดกันเป็นภาษาบาลี แต่เขาไม่มีความเข้าใจ แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีคุณธรรมในหัวใจ เวลาสวดสัมโพชฌงค์ให้รื่นเริงในธรรม มันก็ตรึกตรองไปในธรรม มันมีความสุข มีการกระทำ

เหมือนคนเคยทำงาน เขามาพูดถึงการทำงาน การทำงานจะเริ่มต้นด้วยการแสวงหาวัตถุดิบ การแสวงหาเทคโนโลยี การแสวงหาต่างๆ แล้วขบวนการของมันมีการกระทำของมันไป นี่สัมโพชฌงค์ ที่สุดแห่งธรรม ขบวนการ การกระทำสิ้นสุดแล้วนี่ มันจะมีผลงานนั้นออกมา

เวลาแสดงธรรมขึ้นมา เวลาสวดสัมโพชฌงค์ มีความรื่นเริงอาจหาญ มีความรื่นเริงในธรรม ถ้ามีความรื่นเริงในธรรม มีคุณธรรม มีสัจจะความจริงอันนั้น สัจจะความจริงมันมีของมัน มันมีเป็นความจริงของมัน แต่เราจะต้องแสวงหาด้วยความเป็นจริงของเรา ถ้าเป็นความจริงของเรา มันเป็นคุณสมบัติของเราเห็นไหม

ดูสิ เรามีสติปัญญาของเราขึ้นมา ถ้ามีสติปัญญาขึ้นมา เราจะมองสิ่งต่างๆ ด้วยความเข้าใจ ถ้าเราไม่มีสติปัญญาขึ้นมานี่ เราจะไม่เข้าใจสิ่งใดๆ เลย พอสิ่งใดขึ้นมานี่ คนที่ไม่เข้าใจสิ่งต่างๆ เราไม่เข้าใจในข้อขัดแย้ง ในข้อต่างๆ ในวิกฤติต่างๆ ที่เกิดขึ้น เราก็วินิจฉัยไม่ถูกว่าควรทำอย่างใดนะ

แต่ถ้าเราเข้าใจว่าสิ่งใดมันเกิดขึ้น มีเหตุมีผล มีปัจจัยมาเพราะเหตุใด ถ้ามีเพราะเหตุใด เราจะไม่ตื่นเต้นไปกับวิกฤตินั้นเลย แล้วจะแก้ไขวิกฤตินั้น หรือเราจะทรงอยู่กับวิกฤตินั้น โดยที่เราจะแก้ไขวิกฤตินั้นโดยผ่านพ้นไป

นี่เหมือนกัน สติปัญญามันเป็นอย่างนั้นนะ ถ้าเรามีสติปัญญา เราก็จะเข้าใจวิธีต่างๆ ฉะนั้นสติเราต้องฝึกขึ้นมา วิกฤติต่างๆ นี่มันเป็นอนิจจังนะ ดูสิ ดูความเปลี่ยนแปลงอนิจจังของโลก เราเกิดมาตั้งแต่เด็ก แต่น้อยขึ้นมานี่ วันเวลามันเปลี่ยนไปแล้วนะ

นี่วันเวลาเห็นไหม ความชื่น ความสงบร่มเย็นของเราในหัวใจที่ผ่านพ้นมานี่ สิ่งนั้นมันเป็นสิ่งที่เราได้สัมผัส เราได้พอใจมา มันจะเป็นอย่างนั้นตลอดไปไหม ถ้ามันยังไม่เป็นอย่างนั้นตลอดไปเห็นไหม เรามีสติปัญญาของเรา

“สิ่งที่มันผ่านไปแล้ว เราจะเรียกกลับคืนมาไม่ได้”

แต่ในปัจจุบันนี้ ที่มันยังสงบร่มเย็นอยู่ มันยังไม่มีสิ่งใดรบกวนเรานี่ เราจะต้องมีสติปัญญาของเรา ไม่ต้องวิตกกังวล สิ่งที่ยังไม่มาถึง อนาคตยังไม่มาถึง เราต้องอยู่กับปัจจุบัน ปัจจุบันเรารักษาปัจจุบันไว้ให้ดี ถ้าอนาคตสิ่งใดเกิดขึ้นมา เราก็จะตั้งสติ แล้วจะแก้ไขสิ่งนั้นไปตามแต่เหตุ แต่ปัจจัย เหตุปัจจัยเกิดขึ้นมาอย่างไร เราแก้ไปอย่างนั้น มันแล้วแต่เวรแต่กรรมของสังคมและของโลก

โลกนี้เป็นอจินไตย อจินไตยคือมันเหนือการคาดหมาย แล้วมันเป็นอนิจจัง มันจะเปลี่ยนแปลงของมันไป โลกมันเปลี่ยนแปลงไป แต่โลกมันเปลี่ยนแปลงไปนี่ เราจะเปลี่ยนแปลงไปด้วยไหม ถ้าเราเปลี่ยนแปลงไปเป็นโลก เราก็เป็นโลกเห็นไหม เราเปลี่ยนแปลงเป็นโลก มันก็เสื่อมค่าเป็นธรรมดา นี่ความเสื่อมค่าของสังคม ความเสื่อมค่าของสิ่งปลูกสร้างต่างๆ มันจะเสื่อมค่าของมันไป

ความเสื่อมค่าของร่างกายของเรา เราเกิดมานี่มันจะเสื่อมค่าของมันไป นี่เป็นโลกนะ แต่ถ้าเรามีสติปัญญาเห็นไหม เรามีสติปัญญาวินิจฉัยของเรา ความเสื่อมค่านี่มันเป็นเรื่องจริง เพราะมันจริงตามสมมุติ

แต่หัวใจ นามธรรมนี่ ดูสิ มันมีอายุขัยไหม มันมีความเสื่อมค่าไหม มันมีความเดือดร้อนของมัน เห็นไหม ดูสิ คนแก่อายุ ๗๐-๘๐ แล้วนี่ หัวใจมันยังเป็นวัยรุ่นอยู่เลย มันเป็นวัยรุ่น เพราะมันเป็นสิ่งนามธรรม ถ้าสิ่งนามธรรมนี่ ถ้าเรามีสติมีปัญญาของเราเห็นไหม นี่สิ่งที่เสื่อมค่าเป็นเรื่องโลกนี่ ความเสื่อมค่าของมัน

แต่หัวใจถ้ามันมีสติปัญญาขึ้นมา มันจะพัฒนาของมันขึ้นมานะ มันจะไม่เสื่อมค่าไปตามโลก!!! ถ้ามันไปเสื่อมค่าตามโลก เราก็เป็นโลกไป ถ้าเราเป็นธรรม นี่มันเสื่อมค่าของมัน แต่เรามีสติปัญญาของเรา ถ้ามีสติปัญญาของเรานี่ เราตั้งสติของเราขึ้นมา ใช้ปัญญาใคร่ครวญของเรามา

เราอยู่กับโลกนี้แหละ เราอยู่กับศาสนวัตถุ เพราะเราเป็นพระ เป็นพระเขาไม่ให้อยู่บ้านอยู่เรือน เป็นพระต้องอยู่อาวาส อาวาสเป็นที่อยู่ของสมณะ เราอยู่วัดอยู่วานี่ วัดวานี่เป็นสมบัติสาธารณะ เราเป็นสาธารณะบุคคล ที่เราจะดูแลรักษาสิ่งที่เป็นสาธารณะสมบัติ เป็นสมบัติของศาสนา เป็นสมบัติของชาวพุทธ

ถ้าสมบัติของชาวพุทธ เรารักษาไว้อยู่อาศัยของเราด้วย รักษาไว้เพื่ออนุชนรุ่นหลังได้มาพักอาศัย เพราะเราเป็นภิกษุด้วยกัน เราอยู่ในอาวาส เราอยู่ในที่พักของสมณะ เราไม่ใช่คฤหัสถ์ เราไม่ใช่ฆราวาส ที่จะไปอยู่บ้านอยู่เรือน วัดไม่ใช่บ้าน บ้านไม่ใช่วัด วัดเป็นวัด บ้านเป็นบ้าน บ้านเป็นที่อยู่ของผู้ที่ครองเรือน วัดเป็นของสมณะชีพราหมณ์ นักพรต นักบวชที่ไม่ต้องการเรื่องของโลก

แม้แต่ความเป็นอยู่ของโลก เขาก็แบ่งให้ชัดเจนอยู่แล้ว ว่าเราเป็นภิกษุ เราเป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส เขาเคารพเลื่อมใสนะ เขาเห็นว่าเป็นพระ เป็นเป็นพระเจ้านี่ เป็นผู้เสียสละ เสียสละสิทธิทางกฎหมาย ทางสาธารณะ ทางโลก เรามาเป็นพระ เป็นเจ้า เพื่อจะมาประพฤติปฏิบัติ เพื่อจะมาเอาความจริงของเรา

ถ้าเอาความจริงของเราขึ้นมานี่ เราจะต้องมีสติปัญญา ถ้ามีสติปัญญา นี่เวลาทางโลกเขาใช้สติปัญญาของเขา เขาใช้สติปัญญาทางวิชาชีพของเขา เพื่อหาปัจจัยเครื่องอาศัย เพื่อความมั่นคงในชีวิตของเขา แล้วเวลาเขาหมดชีวิต เขาตายกันไปเห็นไหม เขาก็ส่งกันเชิงตะกอน แล้วเขาก็คร่ำครวญถึงกัน เขาคิดถึงกันเห็นไหม

แต่ของเรา เราเสียสละมา เหมือนกับเราตายมาจากคฤหัสถ์แล้ว เราตายมาจากฆราวาส เราเป็นพระนี่ เราจะต้องค้นคว้า รื้อค้นของเรา รื้อค้นให้เห็นภัยในวัฏสงสาร ถ้าเห็นภัยในวัฏสงสาร เราจะหาทางออกของเรา ถ้าเราหาทางออกของเราได้ เราจะมีสติปัญญาของเรา

ทางออกของเรานะ มันจะอยู่ในช่อง ในคูหา ในหัวใจของเรานี่ เพราะในคูหาหัวใจของเรานี่ มันสะสมไปด้วยกิเลสตัณหาความทะยานอยาก เห็นไหม เราไม่ได้ทำอะไรเลย เกิดมาก็พ่อแม่เลี้ยงมานี่ อายุ ๑๐ ปีนี่ พ่อแม่ดูแลรักษามานี่ ไม่เคยสร้างเวรสร้างกรรมอะไร ตัณหามันจะมาจากไหน มันจะมีกิเลสมาจากไหนเยอะแยะในหัวใจ ก็ไม่ได้ทำอะไรเลยล่ะ เกิดมาก็มาบวชนี่ ยังไม่ได้ทำผิดทำโทษอะไรกับทางโลกเขาเลย มันจะมีกิเลสตัณหาทะยานอยากมาจากไหน เห็นไหม ไม่เห็นมีเลย

นี่มันคิดแต่ชาตินี้ไง แต้ถ้าไม่มีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันมาเกิดได้อย่างไร มาเกิดกับมารดาได้อย่างไร มาเกิดในครรภ์ของแม่ได้อย่างไร

มาเกิดในครรภ์ของแม่ เพราะมันมีอวิชชา อวิชชาก็คือตัณหาความทะยานอยาก พญามารนี่ มันอยู่ในหัวใจอยู่แล้ว แล้วแต่ละภพ แต่ละชาติ ดูสิ ภพชาติหนึ่ง คนอายุขัยหนึ่ง อายุถึงเป็นร้อยๆ ปีนี่ ทำดีก็มี ทำชั่วก็มี แล้วเกิดมาในวัฏฏะ เกิดมาในภพชาติต่างๆ ในเทวดา อินทร์ พรหมต่างๆ มันก็มี นี่กรรมเก่า กรรมใหม่

กรรมอันนั้นมันเกิดมา สิ่งที่ในหัวใจนี่ มันสะสมมาในหัวใจนี่ เวลาอยู่ในคูหาของใจนี่ เราต้องมีสติปัญญา มันมีแรงขับมา มันมีการกระทำมา มันถึงมาเกิดเป็นมนุษย์ เกิดมาเป็นมนุษย์แล้วพบพระพุทธศาสนา มีศรัทธา มีความเชื่อ ออกมาบวชเป็นนักพรต นักบวช เพื่อจะเอาจริงเอาจังกับเรา

ภาวนาไป เราต้องมีสติปัญญา ความเป็นอยู่ทางโลก ความเป็นอยู่ทางธรรมและวินัย เราก็ต้องช่วยกันรักษาไว้ เพราะมนุษย์มันต้องมีที่อยู่ที่อาศัย พระก็ต้องมีรวงมีรัง มีกุฏิ มีที่พักอาศัย ตามธรรมวินัยนะ สิ่งต่างๆ ถ้าเราไม่รักษา เป็นอาบัติทั้งนั้นล่ะ

ดูสิ ของๆ สงฆ์ เอามาใช้ มันเป็นของๆ สงฆ์ เห็นไหม ของส่วนตัวเราก็บริขาร ๘ นอกนั้นเป็นของๆ สงฆ์ ของๆ สงฆ์ ภิกษุเอาของสงฆ์มาใช้ เวลาเคลื่อนย้ายไป ไม่ซัก ไม่คืนสงฆ์เองก็ดี ไม่บอกให้คนอื่นคืนก็ดี เป็นอาบัติหมดนะ เป็นอาบัติหมด

เพียงแต่ว่าของเรา พวกเรานี่ เดี๋ยวนี้มันเป็นทุนนิยมใช่ไหม ของมันเหลือใช้เหลือเฟือใช่ไหม เวลาจะไปไหนนะ สิ่งที่เอาไปใช้ก็ อันนี้เก็บไว้เผานะ อันนี้เผาทิ้งนะ อันนู้นเผาทิ้งนะ ไม่ได้เก็บ ไม่ได้รักษาเลย

แต่ถ้าเป็นโบราณนะ มันไม่มี...มันไม่มี เขาต้องดูแลรักษาทั้งนั้นล่ะ สิ่งที่รักษานี่ของๆ สงฆ์ แล้วของๆ สงฆ์ เราต้องดูแล เพราะอะไร เพราะเรามาเห็นไหม ดูสิ เวลาคนเกิดมา เกิดมาแต่ตัว นี่เกิดมาจากท้องพ่อท้องแม่ มีใครเอาสิ่งใดมาบ้าง

นี่ก็เหมือนกัน มาบวชเป็นพระเราก็มาแต่ตัว นี่สิ่งที่เกิดขึ้นมา เกิดจากศรัทธาของคฤหัสถ์เขา ศรัทธาของชาวบ้านเขา ชาวบ้านเขาศรัทธา เขาเกื้อกูลมาเห็นไหม สิ่งที่เกื้อกูลมานี่ เราดูแลรักษา เพราะเขาศรัทธาถวายเป็นของๆ สงฆ์ ถวายเป็นของๆ วัด ของวัดเราก็ดูแลของวัด นี่ เป็นของๆ วัด

แต่หัวใจเราล่ะ ถ้าเป็นของสงฆ์ สังฆะเห็นไหม ดูสิ อริยสงฆ์ เวลาเป็นโสดาบัน นี่สงฆ์แท้ สงฆ์แท้น่ะ โสดาบันขึ้นไป

เวลาพระอัญญาโกณฑัญญะ เวลาฟังธรรมจักรน่ะ “อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ! อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ!” นี่สงฆ์องค์แรก

สงฆ์องค์แรกคือพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี สงฆ์อยู่ที่นั่น อย่างของเรานี่เป็นสมมุติสงฆ์ คำว่าสมมุติสงฆ์มันซ้อนกันอยู่ ในเมื่อเป็นของๆ วัดใช่ไหม ของๆ วัดก็คือเป็นของๆ สงฆ์

ถ้าของๆ สงฆ์นี่ เราก็เป็นส่วนหนึ่งของๆ สงฆ์เห็นไหม ภิกษุน้อมลาภสงฆ์มาสู่ตน ถ้าของๆ สงฆ์ กติกาของวัดนั้น ว่าสิ่งนี้เป็นของๆ สงฆ์ เจือจานกัน ทุกคนมีสิทธิเหมือนกัน ทุกคนใช้สอยได้เหมือนกัน ทุกคนมีสิทธิเสมอภาคกัน สงฆ์ก็ใช้ของๆ สงฆ์ แต่ถ้าที่ไหนเป็นของๆ สงฆ์ แต่ว่าเขาจะแจกกันเป็นกรณีไป นี่น้อมลาภสงฆ์มาสู่ตน!!

แต่ของวัดพวกเรามันไม่มี ไม่มีเพราะอะไร เพราะของๆ สงฆ์ ของๆ สงฆ์ตั้งกติกาไว้เลย ของๆ สงฆ์เอามาเพื่อสงฆ์ สงฆ์ก็เอาไปใช้ด้วยกัน นี่น้อมลาภสงฆ์มาสู่ตน

ถ้าพูดถึงหัวหน้าไม่ฉลาด หัวหน้าไม่ทำกติกาเอาไว้ เว้นไว้แต่สมมุติ สมมุติคือกติกาสงฆ์ที่เราตกลงกัน ตกลงกันให้เป็นอย่างนั้น เว้นไว้แต่สมมุติ สมมุติว่าเป็นอย่างนี้ๆๆๆ กฎหมายเป็นของสมมุติทั้งหมด ธรรมวินัยเป็นของสมมุติทั้งหมด ความจริงคือความเสมอภาค เพราะความจริงเห็นไหม เป็นผู้เสียสละ

เราอยู่กับครูบาอาจารย์มานะ ท่านเสียสละหมด ของส่วนตนท่านไม่มี มีอะไรแจกจ่ายหมู่คณะหมด ต่างคนต่างผลักออก...ผลักออก...มันมีความร่มเย็นเป็นสุขนะ

แต่ถ้าหัวใจมันไม่เป็นธรรม สิ่งใดก็เป็นของๆ เรา ของๆ เรา มันก็สะสมไง ความสะสม สะสมมาเพื่ออะไร สะสมมาเพื่อให้มันภาระ ดูสิ ความรู้สึก ความคิดเรานี่ มันก็เป็นภาระในหัวใจพอสมควรแล้ว ทำไมจะต้องมีอะไรมาเป็นภาระรับผิดชอบให้มากขึ้นไปอีก แม้แต่ความคิดของเรา แม้แต่สติปัญญา แม้แต่ความเหงาหงอยเศร้าสร้อยในหัวใจ มันก็เหยียบย่ำพอแรงอยู่แล้ว แล้วยังไปเอาสิ่งใดมาเหยียบย่ำให้มันเพิ่มมากขึ้นไป ด้วยความไม่รู้ของเรา

แต่ในทางโลก หาว่าได้วัตถุนั้นมา มันเป็นความพอใจของเรา นี่ความคิดไง ความคิดมันไปติดของหยาบๆ ของหยาบๆ วัตถุมันจับต้องได้ แต่อารมณ์ความรู้สึกมันจับต้องไม่ได้ ถ้าอารมณ์ความรู้สึกมันจับต้องไม่ได้ ถ้าอารมณ์ความรู้สึกมันจับต้องได้ อารมณ์ความรู้สึกนี้มันก็เป็นสิ่งที่มันออกไปยึดแล้วไง ไปยึดวัตถุสิ่งใดที่มันต้องการ เห็นไหม

ถ้ามีสติปัญญามันทัน มันทันขึ้นมามันก็ปล่อย ไอ้อารมณ์นี้มันก็ทำให้เราหงุดหงิดอยู่แล้ว แล้วก็ไปเอาวัตถุนั้นมาอีก เอาวัตถุนั้นมาก็เป็นขี้ข้ามันอีก เห็นไหม

ผู้ที่จิตใจเป็นธรรมขึ้นมา จิตใจมันละเอียดขึ้นมานี่ มันเห็นว่าสิ่งที่เป็นวัตถุมันเป็นภาระรับผิดชอบ อารมณ์ก็เป็นภาระรับผิดชอบ ถ้ามันปล่อยเข้ามาล่ะ มันปล่อยไม่ได้ เพราะมันมีตัณหาความทะยานอยาก ถ้าพูดถึงปุถุชน

แต่ถ้ามันเป็นพระอริยบุคคล มันปล่อยไม่ได้ เพราะมันมีสังโยชน์ สังโยชน์มันร้อยรัดของมันไว้ นี่ถ้าสังโยชน์มันร้อยรัด เพราะเราไม่วิปัสสนาจนสังโยชน์ขาด ถ้าสังโยชน์ไม่ขาด มันร้อยรัดอยู่ในใจนั้น มันปลดเปลื้องไม่ได้

แต่ถ้าเป็นปุถุชนไม่ใช่สังโยชน์ มันเป็นตัณหาเลย เพราะจิตใจมันยังไม่สงบ มันไม่รู้จักว่าสังโยชน์เป็นอย่างไรหรอก สังโยชน์มันอยู่ในตำรา มันไม่เป็นความจริงของมัน

แต่ถ้าประพฤติปฏิบัติเข้ามา ถ้าจิตมันสงบเข้ามาเห็นไหม มันเห็นว่าความติดข้อง ความยึดของใจ มันยึดเพราะเหตุใด ทำไมจิตใจเรามันยังเศร้าสร้อยหงอยเหงา จิตใจของเรามันมีภาระรุงรังไปขนาดนี้ จิตสงบขนาดนี้แล้ว มันก็ยังไม่มีสิ่งใดที่ปลดเปลื้องออกไปจากใจได้ เพราะมันเป็นสิ่งใดล่ะ ถ้ามันย้อนกลับเข้ามา เข้าไปรื้อค้นของมันขึ้นมา มันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม

ถ้าเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม โดยสติ โดยปัญญาขึ้นมานี่ มันเป็นวิปัสสนาของมัน มันไปแก้ไขของมัน นี่มันปล่อยวาง มันคลาย มันคลายเพราะเหตุใด มันคลายเพราะเป็นตทังคปหาน มันคลายเพราะมันเป็นวิปัสสนาญาณ เพราะมันเกิดปัญญาที่ใคร่ครวญที่เข้าไปยึดมั่นในกิเลสตัณหาความทะยานอยากของหัวใจ

ถ้ามันเข้าไปวิปัสสนากิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันจะทะยานอยากในสิ่งใด ถ้ามันวิปัสสนาไป มันปล่อยวางของมัน ความปล่อยวางอันนั้น มันปล่อยวางด้วยปัญญา ปัญญาอันนี้มันเข้าไปชำระล้าง มันทำให้ความสะอาดบริสุทธิ์ขึ้นมาของใจ มันถึงว่าวิปัสสนามันเกิดจากปัญญาเข้าไปไตร่ตรอง ใคร่ครวญ เข้าไปแยกแยะ

ถ้าเป็นสัมมาสมาธิคือ ความสงบของใจ ถ้าใจไม่สงบมันจะเอาอะไรไปไตร่ตรอง ถ้าไม่มีสมาธิขึ้นมา มันก็เป็นตัณหาความทะยานอยาก มันเป็นความคิดของโลกเห็นไหม ความคิดของโลก เรื่องของวัตถุ เพราะอารมณ์ความรู้สึกเป็นวัตถุอันหนึ่ง แม้แต่ความคิดก็เป็นวัตถุ เพราะจับต้องไม่ได้ ยังไม่รู้ว่าจิตใจมันแบกหามความคิดแล้ว จิตใจแบกหามความคิดไป เพราะความคิด อารมณ์ความรู้สึกกับจิตใจเป็นอันเดียวกัน มันแบกหามจนเป็นอันเดียวกัน โดยตัวเองไม่เข้าใจว่าเป็นอันเดียวกัน

แต่เวลาเราใช้สติปัญญาใคร่ครวญของเราไป พุทโธๆ เข้าไป หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิเข้าไปนี่ นี่ความคิดกับจิตมันแยกออกจากกันโดยสัจธรรม ความคิดกับจิตแยกออกจากกัน ตัวของจิตมันเป็นสัมมาสมาธิขึ้นมา มันปล่อยวางขึ้นมา มันปล่อยความคิด ความคิดกับจิต ความคิด ความรู้สึกกับจิต มันรวมตัวกัน ความคิดเป็นเรา เราเป็นความคิดต่างๆ เห็นไหม มันเป็นตัณหาความทะยานอยาก มันเป็นเรื่องโลกๆ

เวลามันปล่อยขึ้นมานี่ เป็นสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิที่มันเป็นสัจธรรม เพราะสัมมาสมาธิเป็นมรรคองค์หนึ่งในมรรค ๘ ถ้าเป็นมรรค ๘ มันย้อนกลับเข้าไป ย้อนกลับเข้าไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม

เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม ด้วยจิต คือสัมมาสมาธิ ถ้าด้วยจิต ด้วยสัมมาสมาธิเห็นไหม มันจะเข้าไปเห็นกายจริง ถ้ากายจริงเห็นไหม สังโยชน์มันมัดตรงนั้น

สังโยชน์มันมัดระหว่างกายกับจิต ระหว่างความคิดกับจิต ความคิดเห็นไหม เราใช้ปัญญาของเราใคร่ครวญนี่ เวลามันปล่อยความคิดขึ้นมา ก็เข้าสู่สัมมาสมาธิ มันเป็นความคิดหยาบๆ ความคิดของโลกๆ เป็นความคิดของสัญญาอารมณ์ เป็นความคิดของสามัญสำนึก เป็นความคิดเป็นสถานะของมนุษย์

มนุษย์มีสถานะอยู่อย่างนั้น มีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ โดยสัจธรรม โดยวิทยาศาสตร์ โดยพื้นฐานของความเป็นมนุษย์! ของภพ!! ของสถานะ เพราะเทวดาก็มีสถานะต่างกับมนุษย์ พรหมก็มีสถานะต่างกับเทวดา เพราะจิตละเอียด หยาบ แตกต่างกัน

ทีนี้พอเป็นความคิดของมนุษย์ มนุษย์มันมีโดยสามัญสำนึก มนุษย์มีสัญชาตญาณ มันเป็นของมนุษย์อยู่แล้ว ฉะนั้น พอไปศึกษาธรรมนะ เพราะอะไร เพราะมันเป็นโลกียะ มันเป็นโลก มันจะเข้าสู่สัจธรรมไม่ได้

ถ้ามันจะเข้าสู่สัจธรรมได้ มันจะปล่อยสัญญาอารมณ์เข้ามา ถ้ามันปล่อยสัญญาอารมณ์เข้ามาเห็นไหม มันถึงมาเป็นสัมมาสมาธิ เป็นกรรมฐาน เป็นกัลยาณปุถุชน เป็นสิ่งที่จะเข้าไปสู่วิปัสสนา ถ้าสู่วิปัสสนาเห็นไหม วิปัสสนามันจะเกิดตรงนี้

ถ้าวิปัสสนาเกิดตรงนี้ วิปัสสนามันใช้ปัญญาของมันเข้าไป ปัญญามันใคร่ครวญบ่อยครั้งเข้า มันปล่อยวางเห็นไหม ถึงว่าเป็นตทังคปหาน ที่มันปล่อยวางๆ มันจะปล่อยวางเพราะมันมีสัมมาสมาธิ มันมีผู้กระทำ มันมีสติปัญญารู้พร้อม

แต่ถ้าเป็นอารมณ์วัตถุของมนุษย์เห็นไหม มันเป็นสัญชาตญาณ มันเป็นความรับรู้ของสัญชาตญาณ เป็นความรู้ของกิเลส เป็นความรู้ของตัณหาความทะยานอยาก เป็นรู้ของพญามาร เพราะเวลาความคิดมันเกิดจากภพ เกิดจากปฏิสนธิจิต เกิดจากสามัญสำนึกของมนุษย์นี่ไง

ถ้าความคิดอย่างนี้มันเป็นโลก ถ้าความคิดอย่างนี้เป็นโลก ก็เหมือนกับเป็นตัณหาความทะยานอยาก มันเป็นสิ่งที่เกิดมาจากโลก มันไม่เป็นธรรม ถ้าเป็นธรรม มันต้องมีสัมมาสมาธิอันนี้ไง ถ้าเป็นธรรมมันต้องมีสติปัญญาที่เราใคร่ครวญกันอยู่นี่ ที่เราเห็นโทษของโลกเห็นไหม

เวลาเห็นโทษของโลก โลก! โลกคือบ้าน ความอยู่แบบบ้านๆ ก็อยู่แบบโลกๆ ความอยู่เป็นธรรม จะอยู่อาวาสอาราม อารามเป็นที่อยู่ของภิกษุ

นี่ก็เหมือนกัน จิตมันอยู่กับอะไรล่ะ ถ้าจิตมันอยู่กับโลก จิตมันก็อยู่กับความคิด ความรู้สึกสามัญสำนึก ถ้าจิตมันอยู่กับอาวาส อยู่กับสัมมาสมาธิ มันก็ย้อนกลับมาที่ตัวมัน ถ้าย้อนกลับมาที่ตัวมัน เวลามันออกรับรู้ ออกวิปัสสนาญาณ มันจะออกวิปัสสนา มันจะใคร่ครวญของมัน เพื่อประโยชน์กับมัน

นี่ความสมดุลของชีวิต ความเป็นไปของใจ ใจมันได้พัฒนาขึ้นมาตั้งแต่เด็ก ผู้ที่บวชเณร บวชเณรต้องไล่กาได้ บวชพระต้องอายุ ๒๐ ขึ้นไป นี่เราเป็นพระกันทั้งหมด เราบวชมานี่ เราเป็นพระนะ เราเป็นพระโดยสมมุติ เราเป็นพระโดยอุปัชฌาย์ โดยญัตติจตุตถกรรม เป็นพระขึ้นมาเพื่อมีโอกาส

เอหิภิกขุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด” เพราะสิ้นกิเลสแล้ว

แต่ถ้ายังมีกิเลสอยู่ “เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด เพื่อปฏิบัติให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์”

นี่เหมือนกัน เราเอหิภิกขุขึ้นมา “เราเป็นภิกษุมาเถิด เพื่อปฏิบัติที่สุดแห่งทุกข์” ถ้าปฏิบัติที่สุดแห่งทุกข์ เราก็ต้องมีความพยายาม มีความตั้งใจของเรา ถ้ามีความตั้งใจของเรา เราต้องการศาสนธรรม เราไม่ต้องการศาสนวัตถุ โลกเขาบวชมาแล้วเขาต้องมีศาสนวัตถุ เขาทำของเขานี่ มันเป็นปริยัติ

ปริยัติคือ การศึกษาให้เข้าใจในธรรม เพื่อที่จะรู้จากที่ว่าธรรมะคืออะไร

แต่เราปฏิบัติขึ้นมา เรารู้จากข้อเท็จจริง เรารู้จากความพ้นจากทุกข์ แล้วรู้จักธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ต้องการ ปรารถนา เป็นศาสนบุตรพุทธชิโนรส เป็นศาสนทายาทตัวจริง ตัวจริง ใจมันเป็น พอใจมันเป็น มันเป็นแล้วมันเป็นขึ้นมาตามความเป็นจริงนะ เพราะเป็นจริงขึ้นมาแล้วมันสลดสังเวชกับโลก โลกเขาอยู่กันด้วยสิ่งที่เป็นเรื่องความประชาสัมพันธ์ เรื่องความรับรู้นะ

แต่เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ของเราเป็นความจริง เช่น หลวงปู่มั่น ท่านปฏิบัติจริงรู้จริงของท่าน ท่านอยู่ในป่าในเขา ทำไมสังคมเขายอมรับล่ะ สังคมเขายอมรับเคารพนบนอบนะ ทั้งๆ ที่ท่านไม่เคยออกมาสังคมกับโลกเลย ท่านอยู่ในป่ามาตลอดนะ อยู่ป่าอยู่เขามาตลอด แล้วไม่สังคมกับโลก ท่านบอก “สังคมกับโลก ท่านกลับไม่ชอบ”

เพราะครูบาอาจารย์ท่านเล่าให้ฟัง ถ้าเกิดว่ามีโยมมานี่ ท่านให้พระรับแทน ท่านไม่ค่อยรับ ท่านจะรับโยมก็ต่อเมื่อ โยมที่เคยอุปัฏฐากเก่าแก่ เคยดูแลท่านมาตั้งแต่เก่าแก่ นั่นท่านถึงจะรับเป็นส่วนเฉพาะส่วนของท่าน แต่ถ้าเป็นทั่วๆ ไปท่านจะไม่ค่อยรับ มันเป็นเรื่องโลกๆ เขาจะรู้อะไรกับเรา เขาก็มองเห็นแต่พระคือคนห่มผ้าเหลืองเท่านั้นแหละ แต่ครูบาอาจารย์ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เขาดูพระเขาดูที่หัวใจ เพราะการแสดงออกมาจากใจ แสดงออกมาตามความเป็นจริง อันนั้นจะเป็นความจริง

ถ้าเป็นความจริง นี่เรื่องของโลกกับเรื่องของธรรม เราบวชมาแล้ว เราเป็นภิกษุแล้ว เราเป็นผู้เห็นภัยในวัฏสงสารแล้ว ฉะนั้นการกระทำของเรา สิ่งที่อยู่อาศัย เราอยู่อาศัยกันมันก็เป็นสังคมของสังฆะ ของโลกนะ มนุษย์มันก็ต้องมีการให้อภัยต่อกันบ้าง สิ่งใดที่กระทบกระเทือนกัน เราก็ให้อภัยต่อกัน ให้อภัยต่อกัน มันมีเท่านี้แหละ เราจะเกิด เราจะตายไปทุกภพทุกชาติ เรามีเวรมีกรรมต่อกัน มันก็จะไปเจอกัน

สิ่งที่เรามาเจอกัน เรามีเวรมีกรรมต่อกัน สิ่งใดที่มันกระทบกระเทือนใจ มันเป็นจริตของเขา เหมือนน้ำกับน้ำมันมันเข้ากันไม่ได้ เราไม่ชอบ ไม่ตรงจริตเรา เราไม่ชอบ ไม่ชอบก็คือไม่ชอบ แต่เขาชอบของเขา เขาก็ไม่ชอบที่เราทำ จริตคนละจริต นี่เข้ากันโดยธาตุ ในเมื่อธาตุเข้ากันไม่ได้ เราก็อยู่กันโดยสังคม แต่เรารักษาสงวนความรู้สึกส่วนตนของเราไว้

เราดูแลใจของเรา เพื่อ!! เพื่อที่จะประพฤติปฏิบัติได้ง่ายขึ้น เราห่วงแต่เวลากลับไปนั่งสมาธิ เวลามีอะไรกระทบกระเทือนกันแล้ว พอกลับไปนั่งสมาธิ กลับไปเห็นไหม ศาสนธรรม เราต้องการความสงบของใจใช่ไหม อย่างใดก็แล้วแต่ ใช่! บางทีผู้บวชมา บวชมาเพื่อเป็นประเพณี บวชมาเพื่อจะเป็นคนสุก บวชมาเพื่อเกิดมาในพุทธศาสนา ขอบวชเพื่อศึกษาให้เป็นบัณฑิต

ถ้าเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ถ้าจิตเราสงบมาบ้าง สิ่งต่างๆ นี่ เราเป็นบัณฑิตจริงๆ ไง ดูสิ ภาชนะที่ใส่อาหารนะ ที่ร้านที่เขาขายภาชนะใส่อาหาร มันเต็มไปหมดนะ ถ้วยโถโอชาม เขาแขวนไว้เต็มไปหมดเลย แต่ไม่มีอาหารแม้แต่ชิ้นเดียว

นี่ก็เหมือนกัน ในหัวใจของเรามันพร้อมมา แล้วถ้าเกิดสัมมาสมาธิ เกิดสติความจริงขึ้นมา มันมีอาหารขึ้นมาไง คือภาชนะนั้นมันบรรจุไว้ด้วยศาสนธรรม บรรจุด้วยสมาธิธรรม ปัญญาธรรม สติธรรม มันเกิดขึ้นมา ภาชนะมันมีสิ่งบรรจุด้วย

หัวใจของเราบวชมาแล้วเป็นพระเป็นเจ้าขึ้นมา ถ้าเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ถ้าเป็นชั่วคราวก็แล้วแต่ แต่ภาชนะนั้นมันมีอาหารบรรจุอยู่ในภาชนะนั้น อยู่ในหัวใจของเรานั้น มันจะติดกับชีวิตเราไปตลอดนะ การฟังคำสอน การฟังเทศน์ ฟังธรรม ก็ฟังกันมาจากครูบาอาจารย์ แต่ถ้าเราไปพบเองเห็นเอง เป็นสมาธิเอง เป็นสติเป็นปัญญาขึ้นมาเอง สิ่งนี้มันเป็นสัจธรรมนะ

โอปนยิโก เรียกร้องสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรมโอปนยิโก! โอปนยิโก! เรียกร้องสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรมในหัวใจของเราไง มันลึกลับมหัศจรรย์ขนาดไหน ถ้ามันลึกลับมหัศจรรย์ แล้วมันก็มีหยาบมีละเอียด ลึกลับของใคร ลึกลับของเด็ก เห็นไหม เด็กเล่นขายของ มันมีตุ๊กตาตัวสองตัวนี่ มันชื่นชมของมัน มันนอนกอดของมัน ไปดึงของมันมา มันร้องไห้เลย

จิตก็เหมือนกัน เวลามีสติปัญญาขึ้นมา เล็กๆ น้อยๆ มันจะไต่เต้ามันขึ้นมา

พ่อแม่ทุกคนก็รักลูก ลูกทุกคนมันก็ต้องเติบโตมาจากทารกทั้งนั้น ในการประพฤติปฏิบัติขึ้นมา หัวใจทุกดวงใจ ไม่มีผู้ใหญ่มาหรอก มันก็ต้องตั้งสติขึ้นมา ต้องพัฒนาขึ้นมา มันไม่มีใครโตมาแบบโอปปาติกะหรอก โอปปาติกะก็โตมาพร้อมกันไง ทุกคนก็เกิดมาจากการสะสมการกระทำทั้งนั้น เกิดจากการฝึกฝน จิตเราก็จะเกิดจากการฝึกฝน เราจะฝึกฝนจิตของเรา เราตั้งสมาธิของเรา เราทำปัญญาของเราขึ้นไป เราจะฝึกฝน เหมือนพระโพธิสัตว์เห็นไหม

สิ่งต่างๆ มีความมานะอดทน เราก็ต้องฝึกฝนด้วยความมานะอดทนของเรา คนทำนา ดูสิ หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน เขาทำนามา ๑๐ ปี ๒๐ ปี เขาทำนามาตลอดชีวิตเขานะ

เราเป็นนักบวช คนทำนาเขาทำนาได้ เราเป็นนักบวช ทางจงกรม ทางสมาธิทำไมจะเข้าไม่ได้ล่ะ ทำไมมันแหยง คนทำนาเห็นที่นา เขาวิ่งหนี เขาจะไม่ได้ข้าวนะ ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ทางจงกรม นั่งสมาธินี่ ถ้าไม่ได้เข้าไปทำ แล้วมันจะได้มรรคได้ผลไหม

คนทำนา ดูสิ เขาร้องเรียนกันตอนนี้ ไม่มีที่ทำกินเห็นไหม เขาร้องเรียนกันนี่ ขอที่ทำกินตลอดเลย เพราะเขาไม่มีที่ดินทำกิน

ไอ้ของเราทางเดินจงกรมนั่งสมาธินี่ ที่ทำกินเรา ที่ทำงานของเรา ถ้าเรามีที่ทำงาน มีที่ทำกิน เข้าไป...เข้าไปเดินจงกรม มันจะขี้เกียจ มันจะดื้ออย่างไร ขอสักหน่อย ต้องทำให้ได้ เป็นหน้าที่ของเรา ถ้าเราทำของเราขึ้นมา สิ่งกระทำขึ้นมา มันจะพัฒนาของมันขึ้นมา มันไม่ใช่โอปปาติกะ มันจะโตมาทีเดียวเลยมันไม่มี

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่ฝึกฝน เราไม่เป็นขึ้นมานี่ ก็ฟังเขาพูดทั้งนั้น แต่ถ้ามันเป็นขึ้นมานะ รู้แล้วๆๆ รู้มาเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมาเลย แล้วถ้าปัญญามันเกิดนะ ปัญญามันเกิด วิปัสสนามันเกิด มันจะผิดพลาดไปไหน อริยสัจมีหนึ่งเดียว พระอรหันต์มีหนึ่งเดียวทั้งนั้น พระศรีอริยเมตไตรยก็มาตรัสรู้แบบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “สัจธรรมมีหนึ่งเดียว” สัจธรรมมีอันเดียว

ถ้าอันเดียวนี่ เรามีสัจธรรมอันเดียวกันแล้ว เราทำไมไปตื่นเต้นเอาอะไร สิ่งใดมันจะเข้ามาเป็นเป้าหมายเดียวกัน ถ้าเป้าหมายเดียวกัน มันจะซาบซึ้งในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ ปรารถนามารื้อสัตว์ขนสัตว์ แม้แต่ปรินิพพานไปแล้ว ก็ยังวางธรรมและวินัยไว้อีก ๕,๐๐๐ ปี นี่ท่านตายไปแล้วนะ ท่านยังวางธรรมและวินัยไว้ ให้พวกเรายังมีโอกาสอีก ๕,๐๐๐ ปี

พอ ๕,๐๐๐ ปีไปแล้ว ความรู้หรือสัจธรรมมันก็จะเสื่อมถอยไปบ้าง แล้วต่อไปมันก็เป็นเรื่องของโลก โลกมันจะเวียนไปตามวัฏฏะ โลกจะเวียนไปโดยอนิจจังของมัน มันจะปรับสภาพของเขาไป ไอ้เรื่องนี้ อนาคตังสญาณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในพระไตรปิฎกก็ว่าไว้แล้ว เพียงแต่เราเกิดยุคใด สมัยใด ในปัจจุบันนี้เรามีชีวิต เราเป็นนาย ก.นาย ข. นาย ง. กันนะ เราก็มีชีวิตชีวาของเรานี่แหละ

แล้วอายุขัยของเรา เราจะได้ประโยชน์มากน้อยแค่ไหน นี่อายุพรรษานะ ๓ เดือน นี่วันนี้ครบ ๑ เดือน ยังเหลืออีก ๒ เดือนข้างหน้า ในพรรษานี้ยังต้องตั้งสติ สิ่งใดที่เราปรารถนามา เรามีเป้าหมายของเรามา พยายามรักษาเป้าหมาย รักษาเป้าหมายที่เราจะประพฤติปฏิบัติ รักษาเป้าหมายในการกระทำของเรา ตั้งสติ แล้วประพฤติปฏิบัติไป ออกพรรษาแล้ว ถ้ากิเลสมันต้องการสิ่งใด มันดิ้นรนอย่างไร บอกมันอีก ๒ เดือน มึงค่อยมาคุยกับกูใหม่

อีก ๒ เดือนนี้ กูจะไม่คุยกับมึง ไม่คุยกับกิเลสเลยนะ เอาทางจงกรม เอาที่นั่งสมาธิภาวนา ๒ เดือนนี้ เพราะมันไปไม่ได้อยู่แล้ว เพราะมันยังไม่ออกพรรษา อีก ๒ เดือนออกพรรษาแล้วค่อยไปคุยกับมัน กิเลสมันจะยุแหย่ยังไงค่อยไปคุยกับมัน ตอนนี้เอาจริงๆ ๑ เดือนผ่านไป เหลืออีก ๒ เดือน ก็ออกพรรษาแล้ว

เราตั้งสัจจะ อธิษฐานพรรษาแล้ว ออกพรรษาแล้วเราถึงจะเดินทางได้ ออกพรรษาแล้ว ค่อยไปคุยกับมันก็ได้ ฉะนั้น ๒ เดือนนี้ ไม่ต้องไปคุยกับมันเลย หักมันเลย ทางจงกรม นั่งสมาธิ ตั้งใจของเรา

อยู่ด้วยกัน เอื้อเฟื้อต่อกัน ใครจะภาวนา ใครจะมีโอกาสอย่างไร เห็นเขาภาวนาอยู่พยายามสงวนรักษา สงวนของเรา พยายามอย่าให้กระทบกระเทือนกัน ให้เขาได้ทำความเพียรของเขาเต็มที่ แล้วเวลาเราทำความเพียร เขาก็จะให้โอกาสกับเรา

อีก ๒ เดือน ทุกคนยังมีโอกาสนะ แล้วมีปัญหา มีข้อขัดข้อง เรามีครูมีอาจารย์ เราปรึกษาได้ เราค้นคว้าได้ ถ้าไม่มีครูมีอาจารย์นะ ครูบาอาจารย์ของเราท่านอยู่ในป่าในเขา ไม่มีครูบาอาจารย์ติดขัดขึ้นมา จะต้องใช้สติปัญญาวิเคราะห์เอง วิเคราะห์วิจัยของเราเอง ดันมันไป วิเคราะห์ไป แยกแยะไป ดูความหมักหมมของใจ ดูความลังเลสงสัยของใจ ดันจนกว่าจะทะลุไปแต่ละอารมณ์ความรู้สึกที่มันติด มันลำบากยากแสนเข็ญขนาดไหน

อันนี้ก็เหมือนกัน เราสร้าง เราปฏิบัติขึ้นมา มันจะมีอุปสรรค มันมีการกระทบ เหมือนกับเราทำงาน มันต้องมีอุปสรรคเป็นธรรมดา แล้วมีสิ่งใดแล้วค่อยมาหาครูบาอาจารย์ แล้วอีก ๒ เดือน เรามีโอกาสแก้ไข

วิหารธรรม เราต้องการวิหารธรรม ธรรมของโลก ทางโลกเขามีปัจจัยเครื่องอาศัย เพื่อประโยชน์ของเขา อันนี้เราบวชเรียนแล้ว เราต้องการศาสนธรรม เราต้องการสัจธรรม เราอยากเป็นเศรษฐีธรรม เอวัง