เทศน์เช้า

ต้องยึดหลักไว้

๒๕ ธ.ค. ๒๕๔๒

 

ต้องยึดหลักไว้
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๔๒
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถ้าเรามีความอบอุ่นเราก็อยู่ได้ ถ้าหนาวนักเราก็นี่ นี้พอคิดถึงหนาวใจสิ ใจถ้าไม่มีที่พึ่งน่ะหนาวขนาดไหน หาที่พึ่ง เห็นไหม ให้มันมีที่ความอบอุ่น พระพุทธเจ้าพูดไว้ไม่ผิดเลย ชีวิตนี้นี่นะมีแต่ความว้าเหว่นะ ชีวิตนี้มีแต่ความพลัดพราก ชีวิตนี้มีความเร่าร้อน ในโลกนี้มีแต่ความเร่าร้อน ทำไมเราไม่หาที่พึ่งที่อาศัยกัน พระพุทธเจ้าว่าไว้อย่างนั้น

นี้เราฉลาด เราถึงหาที่พึ่งที่อาศัยกัน เราหาที่พึ่งที่อาศัย แต่พอหาที่พึ่งที่อาศัย เราเข้าใจว่าเป็นที่พึ่งที่อาศัย เราเข้าใจว่า เห็นไหม เพราะมันละเอียดอ่อน เรื่องของใจนี่หาที่พึ่งที่อาศัย ความว้าเหว่ ความคิดในหัวใจนี่มันละเอียดอ่อนจนมองแทบไม่เห็น นี้มันต้องหาที่พึ่งที่อาศัย เอาธรรมเข้าไปที่พึ่งที่อาศัย

เหมือนเราคนจน เราคนจนคนที่ไม่มีจะกินมีใช้ เราต้องหามา เห็นไหม หามาเพื่อให้เราอยู่ได้ เหมือนโรงงาน ถ้าเราตั้งโรงงานได้นะ เราตั้งโรงงานได้เหมือนกับเราก็มีอยู่มีกิน มีการสะสมอยู่ เราเก็บไว้มากมาย ถ้าไม่มีการขายออกไป โรงงานอยู่ได้อย่างไร?

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราทำหาที่พึ่งที่อาศัย เราหาที่พึ่งที่อาศัย แต่ที่พึ่งที่อาศัยเราสะสมไว้ๆ นี่ใจตั้งมั่นไง ถ้าใจตั้งมั่นแล้ว โรงงานมีมากมายเลย แล้วโรงงานนั้นต้องเสื่อมค่าไป เสื่อมสภาพไป ใจก็เหมือนกัน ถ้าไม่ก้าวเดินด้วยทางปัญญา เห็นไหม การก้าวเดินทางปัญญาคือการขายของสิ่งในโรงงานเราออกไป นี่ขายออกไป ขายออกถึงได้เงินมา

แต่วิปัสสนามันก็เหมือนกัน วิปัสสนา เห็นไหม ต้องสละออกไป ต้องทิ้งไป ถ้าไม่ทิ้งไปมันสะสมอยู่อย่างนั้น ความสะสมอยู่อย่างนั้นมันสะสมแล้ว ถ้าเป็นวัตถุมันสะสมแล้วมี แต่มันเสื่อมค่า แต่หัวใจสะสมดูสิ ดูศรัทธาพวกเราสิ ใหม่ๆ นี่ศรัทธามากเลย มีความศรัทธา แต่ศรัทธามันต้องเสื่อมไป มันแปรสภาพไป

เวลาหาขึ้นมาแล้วเราสะสมไว้ มันจะเสื่อมค่าไง มันเป็น สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา มันเป็นอนัตตา เห็นไหม มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป เราจะลังเลสงสัยสิ่งต่างๆ ทั้งนั้นเลย จริงหรือไม่จริง เป็นหรือไม่เป็น ทั้งๆ ที่มีอยู่นะ ก็ไม่เข้าใจว่าในใจแล้วมันเป็นตั้งมั่นหรือไม่ตั้งมั่น เพราะจิตมันเป็นสมาธิไง จิตมันเป็นสมาธิ สมาธิของปุถุชนเรา ความเป็นคนที่ใจเข้มแข็งก็เป็นสมาธิอย่างหนึ่ง สมาธิอ่อนๆ ไง

แล้วเราพยายามทำใจให้สงบเข้าไป สงบเข้าไป ต้องทำใจให้สงบนะ ถ้าใจไม่สงบ ความคิดใดๆ ก็แล้วแต่ มันเป็นความคิดของโลกเขา ความคิดของโลกเขาเราก็คิด มันมีความพอใจอยู่อย่างหนึ่ง มันมีความคิดว่าเราไม่เคยมีความคิดอย่างนี้เลย เรามีความคิดอย่างนี้เกิดขึ้นมา ความคิดใหม่เกิดขึ้นมาไล่ความคิดเก่าออกไป ความคิดใหม่ขึ้นมา มันก็แบบว่าเราพัฒนาตัวเองดีขึ้นๆๆ ไป

แล้วพอดีขึ้นไป มันก็อันนี้เป็นผล อันนี้มันยังไม่ใช่ผล เพียงแต่ดีขึ้น พัฒนาตัวขึ้น เราจะตั้งโรงงานขึ้นมาได้ เราจะหาขึ้นมาได้ แล้วเราต้องทำความสงบเข้าไป มันจะแปลกประหลาด มันจะมหัศจรรย์เข้าไปเรื่อยๆ นะ จิตมันสงบเข้าไปนี่มันมหัศจรรย์มาก

ความมหัศจรรย์นั้น เห็นไหม ก่อนจะเข้าความสงบมันต้องมีแรงต่อต้าน แรงต่อต้านหมายถึงความเคยใจ ความเคยใจนี่กิเลส เห็นไหม กุศล-อกุศล กิเลสมันยังเป็นกุศล เป็นอกุศล อกุศลคิดให้ไม่ดี คิดดีเป็นกุศล

จิตที่จะทำความสงบก็เหมือนกัน มันจะมีแรงต่อต้านจากภายในเหมือนกัน เห็นไหม ใจหนึ่งอยากได้นี่เป็นกุศล อยากได้เข้าไป อกุศลนี่มันเป็นจิตใต้สำนึกที่เราควบคุมไม่ได้ ตัวนั้นมันเป็นนามธรรม เขาเรียกว่ากิเลสๆ ในตำราเขียนว่ากิเลส กิเลสตัวนี้มันจะผลักไส มันจะทำให้การเข้าหาคลาดเคลื่อนไป

ความคลาดเคลื่อนไป เราถึงเข้าถึงสมาธิกันได้ยากไง มันละเอียดอ่อนอยู่ เห็นไหม เราอาศัยบุญกุศลนี่เข้ามา บุญกุศลนี่ตัวชักนำ นี่ตัวสื่อตัวชักนำเข้าไป แล้วพอจิตมันจะเริ่มทำความสงบเข้าไป ความสงบเข้าไป ไอ้ความต่อต้านจากภายในของเรา คำว่า “ความเคยใจ” คือกิเลสสันดานอันนั้น มันต้องการความสะดวก มันต้องการความสบาย มันต้องการความมักง่าย มันต้องการให้มันเป็นผล

มันจะเป็นผลไม่เป็นผลมันไม่ใช่หน้าที่ของเรา หน้าที่ของเราเชื่อธรรมไง ศีลเห็นไหม เราว่าศีลบังคับให้เราลำบาก ความลำบากคือเราต้องการให้ไอ้ตัวที่มันต่อต้านนั้นอ่อนตัวลงไง ให้มันอ่อนแรงลง พอมันอ่อนแรงลง เรามีโอกาสเข้าไป พอเข้าไปแล้วมันก็จะมีแรงว่าทำให้เราคลาดเคลื่อนไป นี่คือกิเลส ความคลาดเคลื่อนไป เราถึงต้องไม่ต้องสนใจตรงนี้

ฟังนะ! เราไม่สนใจสิ่งที่มันจะเข้าได้หรือเข้าไม่ได้ไง หน้าที่ของเราต้องกำหนดพุทโธ พุทโธ หรือใช้ปัญญาคิดที่ว่าเป็นปัญญาอบรมสมาธินั้นเข้าไปอย่างเดียว หน้าที่ของเราคือต้องพยายามทำพลังงานตัวนี้ให้เข้าไปให้ได้ แรงที่มันจะมีความสงสัย มันจะผลักไส มันจะมีการคิดออกไป อันนั้นไม่เอา จำเอาไว้เลยว่าไม่เอา ไม่ไปสงสัย ไม่ไปคิดมาก ไม่ไปลังเลไง

ความลังเล เห็นไหม นิวรณธรรมคือการกั้นจิตไม่ให้เข้าสมาธิ ความลังเลสงสัยกับกำหนดพุทโธนี่มันต่างกันมากเลย กำหนดพุทโธนี่ไม่ต้องลังเล ไม่ต้องสงสัย ไม่ต้องทำอะไรมากเลย กำหนดอย่างเดียว พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ อะไรจะเกิดขึ้นช่างหัวมัน ช่างมันเลยนะ อะไรจะเกิดขึ้น ไม่รู้ โลกนี้ประหนึ่งไม่มีสิ่งใด มีเรากับพุทโธเท่านั้น พุทโธ พุทโธ พุทโธเข้าไป แล้วมันจะเข้าถึงความสงบได้ เพราะ! เพราะกำหนดพุทโธ พุทโธนี่มันตัวชักนำ เป็นตัวพลังงานนี้ขับเคลื่อนเข้าไป..หนึ่ง ใจเกาะเกี่ยวกับพุทโธเข้าไป..หนึ่ง เห็นไหม มันไม่มีความลังเลสงสัยเข้าไปเกาะเกี่ยวอย่างอื่น มันไม่ทำให้เราเขวออกไปไง

ถ้าเราไปคิดอย่างอื่น เราไปลังเลสงสัยอย่างอื่น มันไม่ได้ประโยชน์เลย มันเป็นกิเลส กิเลสหมายถึงว่าให้เราลังเล ให้เราสงสัย ให้เราได้ใคร่ครวญ ให้เราพยายามจะค้นคว้าตรงนี้ให้ได้ก่อน มันจะไปไม่ได้ แต่ถ้าพุทโธ พุทโธ พุทโธเข้าไปจนจิตมันสงบเข้าไปเป็นพื้นฐานของมันแล้ว มันจะเข้าใจเองโดยธรรมชาติ ถึงเมื่อเราผ่านเข้าไปเราจะรู้เลยว่าเหมือนเสื้อเราสกปรกอยู่ เราซักสะอาดแล้ว ไอ้สกปรกนั้นเราไม่สงสัยเลยว่ามันสกปรกแล้วมันหลุดไปได้อย่างไร เพราะมันสะอาดขึ้นมาได้แล้ว

แต่ถ้าเสื้อนั้นยังสกปรกอยู่นะ ยังไม่ได้ซัก มันยังคิดไง จะซักได้ไหมหนอ มันจะออก-ไม่ออก เราซักไปแล้ว เราจะใช้เครื่องมืออะไร หรือว่าใช้ผงซักฟอกอะไรจะมาเอาให้สิ่งสกปรกนี้ออก คิดอยู่นั่นน่ะ คิด ย้ำคิดย้ำทำ ย้ำคิดย้ำทำ แล้วพอดีเสื้อนั้นก็ไม่สามารถซักให้สะอาดได้ ผ้านั้นไม่สามารถสะอาดได้

จิตก็เหมือนกัน ถ้ายังไม่ได้เข้าถึงสมาธิ มันจะลังเลแล้วมันจะสงสัยอยู่ตรงนั้นตลอดไป แล้วก็ย้ำคิดย้ำทำอยู่ตรงนั้นนะ ไอ้ควรจะเป็นพุทโธ พุทโธ พุทโธนี่ เหมือนเราเอาเสื้อนั้นแช่ไปในน้ำ แล้วจะใส่ จะมีอะไรซักแล้วแต่ หน้าที่ของเราคือขยี้อย่างเดียว แล้วมันจะสะอาด พอหลุดออกไป ความหลุดออกไป นามธรรมไง สิ่งที่หลุดออกไปคือความสกปรก

ใจที่มันเกาะเกี่ยว มันลังเลสงสัยอยู่ มันเป็นอารมณ์ความคิดเกิดขึ้น เห็นไหม อารมณ์ของเราเกิดขึ้นมาเอง แล้วก็ดื่มกินอยู่กับอารมณ์อย่างนั้น อารมณ์นี้เป็นใคร เป็นแขกจรมา เวลาคิดขึ้นมาก็มีขึ้นมา ไม่คิดมันก็ไม่มี เห็นไหม มันเป็นนามธรรมเหมือนกัน มันเกิดขึ้นที่ใจแล้วก็ดับที่ใจ มันเป็นอาการของใจแต่มันไม่ใช่ใจ เพราะถ้าเป็นใจมันต้องอยู่ตลอดไป นี่มันอยู่ไม่ได้ มันเกิดขึ้นจากใจ เกิดขึ้นจากความคิด เกิดขึ้นจากผ้า ถ้ามีผ้ามันถึงมีสิ่งสกปรกไปแตะต้องผ้านั้นได้ ถ้าผ้านั้นไม่มี สิ่งสกปรกก็ลอยไปตามอากาศ

นี่เหมือนกัน ใจของเรามีอยู่ เห็นไหม มันถึงมันไม่ใช่ใจเพราะมันเกิดขึ้นจากใจ มันเกิดขึ้นจากความลังเลสงสัยของเรา มันเกิดขึ้นมาแล้วเราก็ลังเล เราก็สงสัย แล้วมันก็ติดเข้าไปที่ใจนั้นอีก เห็นไหม นี่เวลากิเลสมันติด แต่เวลาเราจะทำความสะอาดเข้ามา เราไม่รู้วิธีการ เราก็ลังเล เราก็สงสัยไป

ถึงบอกว่าไม่ใช่หน้าที่ ไม่ใช่สิ่งที่ว่าเราควรจะไปรับรู้สิ่งนั้นเลย เพราะมันมากมายมหาศาลไอ้ความคิดนี่ จนเราเรียงลำดับไม่ได้ เราถึงต้องทำความสงบ พอความสงบเข้าไป มันเลยความคิดอันนี้เข้าไปไง มันเลยความคิด เลยความสกปรกนั้นเข้าไปถึงเนื้อผ้า

พอมันสลัดออกมาแล้ว อันนั้นก็เป็นความสกปรกที่หลุดออกไป อาการนั้นเลยไม่ไปสงสัยมัน ถึงว่าความเข้าใจ ถ้าจะไปวิเคราะห์วิจัยจนกว่าเข้าใจแล้วค่อยเข้าไป ถ้าเป็นสมถกรรมฐานนี้ใช้ไม่ได้ แต่ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิใช้ได้ ถ้าเป็นวิปัสสนาต้องใช้ความคิดอีกต่างหากเลย

แต่ความคิดขณะนั้นเป็นความคิดคนละกรณีนี้แล้ว ความคิดนั้นเป็นความคิดของผู้ใหญ่กับความคิดของเด็ก ความคิดของเด็กคิดเท่าไหร่มันก็คิดวนเวียนอยู่ในของเด็ก เพราะไม่มีพื้นฐาน แต่จิตเข้าสมาธิปั๊บมันมีพื้นฐาน มันแน่น มันรู้ว่าอันนี้เป็นของจริงและไม่จริง เพราะมันเข้าไปสัมผัสเอง เห็นไหมผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่คิดต่างกับเด็กคิด ผู้ใหญ่คิดหมายถึงว่าปัญญาอีกปัญญาหนึ่ง ปัญญานี้เป็นปัญญาวิปัสสนา มันต้องถึงขั้นตอนนั้นมันถึงต้องคิด เราต้องแบ่งแยกให้ถูกว่าเรานี้ต้องทำความสงบก่อน

เราถึงว่าถ้าพุทโธแล้วไม่ต้องไปลังเลสงสัย หน้าที่ของเราคือเดินตามอริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทุกข์คือมันเกิดขึ้นแล้ว ลังเลนี่ก็ทุกข์ ทุกอย่างเป็นทุกข์หมด กำหนดเข้าไป กำหนดเข้าไป กำหนดเข้าไปเห็นไหม กำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธเข้าไปให้ได้ อย่างอื่นไม่ต้องไปสนใจมัน ไม่ต้องสนใจเลย

เพราะถ้าสนใจแล้ว เรือนี้วนอยู่ในอ่าง สนใจแล้วนะมันก็วนไปวนมา มันไม่ได้ผลประโยชน์อะไรทั้งสิ้น ถ้าจิตนั้นสงบปั๊บ ประโยชน์เกิดทันทีเลย เรือมีหางเสือ เรือนั้นติดหางเสือแล้ว หางเสือนั้นจะพุ่งเข้าสู่ฝั่งแน่นอน แต่ถ้าไม่มีหางเสือ วนอยู่นั่นๆ ความคิดวนอยู่นั่นจนพวกเรานักปฏิบัติไม่ได้ผลขึ้นมาจากความคิดของเราเอง เห็นไหม เพราะว่าความคิดนี้มันมีเราขึ้นมา

ถึงว่าต้องไม่ใช่เรา ไม่ใช่เรานี่เป็นธรรมจักร เป็นอริยสัจ เป็นความจริงอยู่ แล้วมันจะพัด มันจะเข้าหาฝั่งได้ การเข้าหาฝั่งได้นั่นน่ะสติปัญญาเกิดขึ้น เกิดขึ้นจากสติปัญญาธรรม ถ้าเป็นสติปัญญาของเราเป็นสติปัญญาของกิเลส วนอยู่นั่นๆ

นั่นเห็นไหม ความคิดที่ว่ามันถึงว่าถ้าเป็นทางโลก เห็นไหม เราสะสมขึ้นมา สะสมขึ้นมานี่มันว่ามันเป็นความได้ แต่ถ้าเป็นทางธรรม ถ้าสะสมขึ้นมาแล้วมันจะเสื่อมสภาพตลอด มันจะเสื่อมสภาพตลอด มันเป็น สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ต้องสละออกไป แต่มันสละไม่ขาด สละไม่ได้ เพราะว่าเราไม่มีความคมกล้าของสติปัญญา

ถ้าความคมกล้าของสติปัญญาที่เราเป็นสมาธินี้เกิดขึ้นมาแล้ว อันนี้ถึงสละขาดได้ พอสละขาดได้ขึ้นมา มันก็เป็นผลประโยชน์ของใจดวงนั้น ยิ่งสละยิ่งได้มา เห็นไหม ฟังสิ คนเราจะยิ่งสละออกไปจะยิ่งได้มาไง ยิ่งสละเท่าไหร่พื้นที่ว่างมีมากขึ้น อากาศได้บรรจุได้มากขึ้น เห็นไหม พื้นที่ว่างขนาดไหน ความว่างเกิดขึ้น ความสะดวกสบายเกิดขึ้น

นี้มันไม่มีพื้นที่ว่างเลย อากาศเข้าไม่ได้เลย มีแต่กิเลสอัดไว้แน่นเต็มไปหมด เห็นไหม นี่มันถึงยิ่งแสวงหาเข้ามา ไอ้กิเลสนี่มันตัวเผาไหม้ให้สิ่งที่เป็นธรรมขึ้นมากลายเป็นแปรสภาพหมดเลย กลายเป็นเสื่อมสภาพหมด แต่ถ้ามันมีพื้นที่ว่างขึ้นมา อากาศเข้ามาได้เห็นไหม ความว่างขึ้นมามีความสุขมากขึ้น มีความสุขมากขึ้น ถึงสละออกเท่าไหร่ได้มากขนาดนั้น แต่ถึงเวลาสละถึงจะสละ

แต่ขณะปัจจุบันที่ว่าเราทำสมถะนี้ไม่ใช่เวลาของการสละ มันเป็นอาการของการเกาะหลักยึดมั่น เวลาของสมถะคือการเกาะหลัก เกาะให้ใจตั้งมั่นให้ได้ เวลาเกาะต้องเกาะ เวลาจะคว้าจะเกาะต้องเกาะ เกาะพุทโธ พุทโธ พุทโธ ต้องเกาะ คิดต้องคิดนะ

แต่เวลาสละแล้วมันก็ใช้ปัญญาเหมือนกัน แต่ปัญญานี้ปัญญาสละ มันเกาะไม่ได้แล้ว มันรู้ว่าอันนี้ไม่ใช่ อันนี้เป็นอนิจจัง อันนี้เป็นอนัตตา เห็นไหม สิ่งที่เป็นทุกข์เกาะไม่ได้ เกาะแล้วมันแปรสภาพ ยิ่งเกาะยิ่งทุกข์ ยิ่งเกาะยิ่งทุกข์ มันจะมีปัญญามันจะปล่อยเอง เห็นไหม

ถึงเวลาคราวเกาะต้องเกาะ ต้องแสวงหา ถึงคราวเวลาที่มันสละ มันจะสละด้วยปัญญาของมันเอง อันนั้นถึงว่าเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้อง ไม่ให้เราวนอยู่ในอ่างนั้น มันจะเป็นการปฏิบัติที่ถูกที่ควรของนักปฏิบัติ ไม่ต้องไปลังเลสงสัย อย่าลังเล อย่าสงสัย ตั้งใจจริงๆ ความตั้งใจ เห็นไหม ปักใจเชื่อ นี่คือสติ สติสำคัญที่สุด ปักใจให้ได้