เทศน์เช้า

โง่ครบสองพันปี

๓๑ ธ.ค. ๒๕๔๒

 

โง่ครบสองพันปี
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๒
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

วันนี้วันสิ้นปี วันสิ้นปี ปีคริสต์ศักราชสองพัน แต่ความจริงถ้าว่าวันสิ้นปี เขาว่าความเจริญ ถ้าความเจริญทางวิทยาศาสตร์น่ะเห็นด้วย ถ้าวิทยาศาสตร์นั้นมาเพื่อความเจริญของโลก แต่ถ้าวิทยาศาสตร์นั้นเราไปติดมัน เราเป็นขี้ข้าของมัน แค่ติดมันเฉยๆ นะ แล้ววิทยาศาสตร์ ไอ้พวกเทคโนโลยีมันทำลายสิ่งแวดล้อมอีก ทำลายชีวิตของคนอีก นั้นอีกเรื่องหนึ่ง แค่ติดมันเราก็เป็นทุกข์แล้ว

ถึงบอกว่าโง่มา ๒,๐๐๐ ปีไง ครบ ๒,๐๐๐ ปีอะไร ความโง่ ๒,๐๐๐ ปีนี้ครบ ๒,๐๐๐ ปี วันนี้วันสุดท้ายของคริสต์ศักราช ๒,๐๐๐ นะ นี่โง่มา ๒,๐๐๐ ปี โง่ในอะไร?

ทางโลกมันเป็นทางโลกสิ แต่ถ้าทางศาสนา เห็นไหม อยู่ด้วยนิรันดร์ ไปถึงอยู่ด้วยนิรันดร์ นิรันดร์มันไม่มี มันนิรันดร์ไปไม่ได้ มันไม่มีอะไรนิรันดร์หรอก ทีนี้ว่าเขาอยู่นิรันดร์ ความเชื่อของเขาไง ความเชื่อนิรันดร์ไปอยู่กับพระเจ้า ไปอยู่เป็นนิรันดร์ มันเป็นไปไม่ได้เพราะว่าศาสนาเราไม่ได้สอนอย่างนั้นเลย

แต่ถ้าเมื่อความเห็นอย่างนั้น ความเห็นอย่างนั้นมันเป็นที่พึ่งไม่ได้ เพราะมันขัดกับหลักวิทยาศาสตร์เอง หลักวิทยาศาสตร์มันเป็นอีกอย่างหนึ่งเลย แล้วคำสอนมันเป็นอีกอย่างหนึ่ง มันก็ขัดกันเอง ฉะนั้นถึงขัดกันเอง ถึงว่าต้องมีแต่ความเชื่อเฉยๆ ห้ามวิเคราะห์วิจารณ์ในหลักศาสนาเขา

แต่ในหลักของศาสนาเรา พระพุทธเจ้าสอนคนละเรื่องเลย พระพุทธเจ้าสอนบอกว่า “ไม่ให้เชื่อแม้แต่พระพุทธเจ้าพูด” ให้พิสูจน์เอาเองให้ได้ก่อน ไม่ให้เชื่อใครทั้งสิ้นเลย “กาลามสูตร” ไม่ให้เชื่อใคร ไม่ให้เชื่อข่าวลือ ไม่ให้เชื่ออะไร แต่ในหลัก ๒,๐๐๐ ปี โง่มา ๒,๐๐๐ ปีนี้ต้องเชื่ออย่างเดียว ต้องเชื่อเลยนะ แล้วเป็นวัฒนธรรมมา สะสมมา สะสมมาว่าทำไมเราโง่มา ๒,๐๐๐ ปี เราพึ่งเกิดไม่ถึง ๑๐๐ ปีเอง ทำไมโง่ ๒,๐๐๐ ปี

เพราะว่าการสะสมมาจากประเพณีวัฒนธรรมไง สะสมความเชื่อนั้นมา ในเมื่อเขาเกิดมาในความเชื่อนั้นก็เป็นความโง่อันนั้น ความโง่อันนั้นก็ยังทำให้เราไม่เข้าใจหลักความเป็นจริง ในเมื่อเราไม่เข้าใจตามหลักความเป็นจริง เห็นไหม ผู้ใดเห็นธรรม ธรรมเท่านั้นเข้ามาชำระได้ เราไม่เห็นหลักของไตรลักษณ์ เราไม่เห็นความแปรสภาพของอันนั้นไป

นี่เพราะในเมื่อทฤษฎี แผนที่มันบอกกล่าวไว้อย่างนั้น ถึงว่าโง่ไง แผนที่บอกไว้อย่างนั้น เราก็ต้องทำไปตามแผนที่นั้น เราเดินตามแผนที่เราถึงไปเป้าหมายถูกทาง ถ้าความเชื่อนั้นว่าเป็นนิรันดร์ เห็นไหม ความอยู่นิรันดร์ มันก็เหมือนเป็นอัตตา นี้ความเป็นอัตตาศาสนาเราไม่ให้สอน

“โมฆราช ให้มองโลกนี้เป็นความว่าง แล้วให้ย้อนกลับมาถอนอัตตานุทิฏฐิความเห็นนั้น” ความเห็นนั้นเป็นความรับรู้ ข้อมูลรับรู้นั้นก็เป็นอัตตาอยู่แล้ว ว่าไม่ให้เชื่อความเห็นอันนั้น อันนั้นมันเป็นความยึดมั่นถือมั่น

ธรรมดาของใจมันอยากให้เรามีอยู่ อยากให้เราคงที่อยู่ อยากให้เราเป็นไป ความเป็นกิเลสมันเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว คำสอนมันซ้ำเข้าไปอีก เห็นไหม คำสอนมันซ้ำเข้าไป มันก็เลยเป็นอย่างนั้นไป นี้ความเห็นของเรา พอมันซ้ำเข้าไปมันก็เห็นตามนั้นไป แต่ในเมื่อพอมันเป็นในตัวมันเอง เพราะกิเลสเป็นอย่างนั้น มันไม่เห็นอัตตา ไม่เห็นอนัตตา

“ความแปรสภาพ” ความแปรสภาพมันเห็นว่าสิ่งนั้นพึ่งไม่ได้ เห็นไหม มันถึงจะยอมทิ้งสิ่งนั้น เพราะสิ่งนั้นพึ่งไม่ได้ แต่ในเมื่อเราเข้าใจว่าสิ่งนั้นพึ่งได้เพราะมันเป็นทฤษฎี ในความเห็นเรามีอยู่แล้ว ความเห็นมันอยากจะมีที่พึ่ง อยากมีที่เกาะเกี่ยว อยากมีที่ว่าเป็นอัตตาที่พึ่งได้ ความเห็นคือว่ากิเลสมันมีอยู่ดั้งเดิมในหัวใจ แล้วคำสอนแผนที่เป็นอย่างนั้นอีก มันก็ไปด้วยกัน ถึงไม่เห็นธรรมตามความเป็นจริง ไม่เห็นธรรม

ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม แต่คำว่าปฏิบัติของเขา ลัทธิศาสนาต่างๆ มีการประพฤติปฏิบัติทั้งนั้น แต่ประพฤติปฏิบัติเพื่อไง เพื่อเข้าไปอยู่ถึงจุดหนึ่ง จุดที่ว่ามีความเป็นเอกัคคตารมณ์ จิตตั้งมั่น จิตมีอยู่ เป็นสมาธิอยู่ ตั้งมั่นอยู่อย่างนั้น นั่นเป็นแค่สัมมาสมาธิในศาสนาของเราเท่านั้นเอง

ในหลักศาสนาของเรามัน ๒,๕๔๒ ปี สิ้นวันนี้เหมือนกัน เห็นไหม ๒,๕๔๒ ปีแล้วนี่ก็เป็นประเพณีวัฒนธรรมเหมือนกัน แล้วว่าเป็นผู้ฉลาดมา ฉลาดมาทั้งนั้นนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ฉลาด เป็นผู้ชี้ให้เห็นก่อนไง แต่ทำไมความเห็นของเราถึงไปเชื่อทางโลกเขาทางนู้นน่ะ เชื่อทางโลกเขา ตื่นกับทางโลกเขา ๒,๕๔๒ ปี แล้วศาสนาเราสอนว่าโลกนี้อยู่ถึง ๕,๐๐๐ ปี

โลกนี้ เห็นไหม ศาสนานี้อยู่ถึง ๕,๐๐๐ ปี แล้วโลกนี้อยู่ต่อไป ศาสนามีหรือไม่มีโลกก็มีอยู่ ถึงว่าสิ่งที่เขาว่าจะเป็นไป เห็นไหม ข่าวตื่นตูมจะเป็นไป มันจะไม่เป็นไปอย่างนั้นหรอก จะเป็นไปขนาดไหนโลกก็มีอยู่ ความเป็นไปต้องมีอยู่ หลักของศาสนาต้องมีอยู่

หลักของศาสนาคือธรรมนี้มีอยู่โดยดั้งเดิม แต่ขนาดธรรมนี้มีอยู่โดยดั้งเดิม พระพุทธเจ้าเป็นผู้มาแสวงหานะ แล้วมาตรัสรู้ธรรมอันนั้น เห็นไหม แล้วพระพุทธเจ้าปรินิพพานไป ธรรมนั้นก็ยังมีอยู่ดั้งเดิม แต่ทำไมเขาสอนขัดจากหลักของศาสนาล่ะ?

หลักของไตรลักษณ์ หลักของสิ่งที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์จะรู้ธรรมอย่างนี้ พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์นะ องค์ที่ดับขันธ์ไปแล้ว ปรินิพพานไปแล้ว พระพุทธเจ้ามานี้ก็นิพพานไปแล้วองค์ที่ ๔ องค์ที่ ๕ มาก็ยังมีอยู่

เราน่าภูมิใจตรงนี้ไง ตรงที่ว่าหลักผู้ที่มีปัญญา ผู้ที่ฉลาด พระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ เป็นสยัมภูตรัสรู้ด้วยตนเอง แล้วปฏิญาณตนว่าเป็นศาสดา มีศาสดาองค์เดียวที่ว่าสิ้นจากกิเลสแล้วถึงจะรู้ตามความเป็นจริง แต่หลักศาสดาขององค์อื่นไม่สิ้นกิเลส เห็นไหม คำว่าไม่สิ้นกิเลสมันถึงครอบงำไว้ไง ไม่สิ้นกิเลสถึงว่าไม่มีความรู้แจ้งภายใน มันยังปกคลุมความเห็นของตัวเองอยู่ แต่ความเห็นที่ว่าทำความสงบเข้ามา มันรู้ชั่วคราวขึ้นมา ถึงบอกสอนมาอย่างนั้น เห็นไหม

เราถึงว่าเราติดอยู่ในว่าเป็นนิรันดร์มาตลอด แล้วในความเห็นของเรามันก็เป็นว่าจะต้องเป็นนิรันดร์เหมือนกัน มันถึงจะเข้ากันเป็นนิรันดร์ไป เป็นนิรันดร์ เป็นอัตตา เป็นที่มีอยู่ แล้วถ้าทำไมนิพพานมีอยู่ไหม? นิพพานมีอยู่ แล้วไม่ใช่เพราะอะไร เพราะนิรันดร์หรือทุกอย่างนี้มันเป็นสมมุติทั้งหมด

ทีนี้ว่าเป็นสมมุติทั้งหมด คำว่านิพพานมีไหม? นิพพานมี ถ้าว่ามีอีกมันก็เป็นสมมุติอันหนึ่ง แต่สมมุติอันนี้สมมุติเพื่อจะมาสื่อกันเฉยๆ เห็นไหม แต่ว่าคำว่าวิมุตติมันพ้นจากสมมุติออกไป คำว่าวิมุตตินะ มันไม่อยู่ในสมมุตินั้น จะบอกว่านิรันดร์ก็ไม่ได้ จะบอกว่าเป็นอะไรก็ไม่ได้

แต่ถ้าบอกว่าเป็นไปไม่ได้แล้ว ความเห็นของเราว่าไม่มีอีก ว่าไม่มีก็จะไม่ยอมประพฤติปฏิบัติไป หรือประพฤติปฏิบัติไปแล้วก็อ้างอิงกันไง พยายามปฏิเสธกัน สิ่งนั้นเหนือกว่าสิ่งนี้ สิ่งนั้นต่ำกว่าสิ่งนั้น ปฏิเสธกันไปแล้วก็จับต้องไม่ได้

แต่! แต่นิพพานนี้จับต้องได้ สื่อได้ ถ้าสื่อไม่ได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสื่อให้ปัญจวัคคีย์รู้ได้อย่างไร? สื่อให้ยสะ สื่อให้ลูกศิษย์เป็นพระอรหันต์ไปได้อย่างไร? สิ่งที่สื่อได้วุฒิภาวะของใจมันจะสูงขึ้นไปๆ มันถึงสื่อได้ เห็นไหม อย่างเช่น นิมิต ความเห็นนิมิตนี่ปกติ เมื่อวานเขามาถามว่าเห็นนิมิตอย่างนี้กับที่ว่าครูบาอาจารย์เราเห็นครั้งสุดท้าย มันจะเหมือนกันไหม? ถ้าเห็นนิมิตอย่างนั้นแล้วถึงว่าทำถูกต้อง

เราบอก “นิมิตแยกเป็น ๒ ส่วน ส่วนที่เป็นนิมิตเลยนี่นะ นิมิตธรรมดานี่ เขาเรียกนิมิตธรรมดา เราเข้าไปเห็นเอง แล้วเราก็หลงใหลในความคิดของเราเอง เราต้องเคลิบเคลิ้มไปกับความคิดเพราะอะไร เพราะทุกคนไปเห็นเองจะซึ้งใจมาก เหมือนกับเงินในกระเป๋าเรา เราจับเงินในกระเป๋าเราเอง เรารู้อยู่ของเราเอง ของของเรา เราต้องจับต้องได้ เข้าไปเห็นนิมิตก็เหมือนกัน”

ทีนี้เงินในกระเป๋าเรามันซ้อนด้วยเงินปลอมหรือเปล่า? เงินในกระเป๋าเราจะเป็นของแท้หมดไหม?

นี่ก็เหมือนกัน พอเข้าไปเห็นนิมิต ก็นิมิตนั้นเราเห็นเอง มันถึงซึ้งใจ แต่เห็นแล้วมันจริงหรือว่ามันปลอม เหมือนเงินที่ในกระเป๋าเรา มันของจริงหรือของปลอม เห็นๆ จริง แต่ความเห็นนั้นไม่จริง เห็นไหม หลวงปู่ดูลย์ว่าไว้อย่างนั้น ความเห็นนั้นเห็นจริง

แล้วในความเห็น ต้องทำให้สงบเข้ามาก่อน ต้องทำความสงบเข้ามา พ้นจากนิมิตนั้น นิมิตนั้นมันเป็นความเห็นของเราออกไปก่อน พอออกไป ความเห็นของเราเห็นเดิม ความเห็นเราออกไปเห็นเข้าๆ ต้องให้สงบเข้ามา พอสงบเข้ามามันก็เป็นกลาง ไอ้ความที่ว่าเราจะเข้าไปแบ่งแยกว่าถูกหรือผิด คือว่าเห็นโดยอุปาทานมันจะน้อยลงๆ เห็นไหม

อุปาทานในหัวใจมันมีโดยธรรมชาติของมัน จิตใต้สำนึกมีโดยธรรมชาติของมัน นี้จิตใต้สำนึกนี้ไปเห็นเข้า มันสงบเข้าแล้วมันเห็น พอมันเห็นเข้ามันก็เห็นไปๆ นั่นนิมิตธรรมดา แล้วพอเห็นเข้าไป จิตสงบเข้าไป ถึงจะเริ่มเห็นกายไง เห็นกาย เห็นจิตแล้วแบ่งแยกออกไปเป็นชั้นเข้าไปนะ แล้วก็แบ่งเข้าไป กายกับใจแยกออกจากกัน เห็นเป็นอสุภะเข้าไป แยกออกจากกัน พอแยกออกเข้าไปข้างใน พอเข้าไปข้างใน แล้วพอแยกขันธ์ในออกทั้งหมด ขันธ์ในหัวใจทั้งหมดแยกออกจากกันหมดเลย เหลือแต่จิตล้วนๆ ไอ้จิตล้วนๆ ตัวนี้มันทำอะไรไม่ได้ไง

ความเห็นที่เป็นขั้วดอกบัวที่หลุดออกไป ขั้วดอกบัวนี่หลุดออกไปจากขั้ว คำว่าดอกบัวหลุดออกไปจากขั้ว แล้วเข้าใจว่าอันนี้ถึงว่าเป็นนิมิตไง เราบอกนิมิตอันนี้ต่างกับนิมิตปกตินั้น นิมิตปกตินั้นเราเห็นธรรมดา แต่นิมิตอันนี้มันพ้นออกไป ถ้าอย่างนั้นถึงว่าเวลาสาวกของพระพุทธเจ้าไปถามพระพุทธเจ้าไง จะไปถามพระพุทธเจ้าว่าเป็นปัญหาในหัวใจ กำลังวิปัสสนานี่จะไปถามพระพุทธเจ้า พอไปถึงชายคาเห็นหยดน้ำลงมา ตกลงไปในชายคาเกิดเป็นฟองขึ้นมาแล้วแตก เกิดเป็นฟองขึ้นมาแล้วแตก เห็นการว่าเป็นฟองแล้วแตกอันนั้นน่ะ เห็นเป็นฟองแล้วแตก ฟองแล้วแตก ปล่อยผลัวะ ไม่ขึ้นไปถามพระพุทธเจ้าเลย กลับ

นี่เห็นไหม มันก็เป็นนิมิตใช่ไหม ก็นิมิตเหมือนกัน ของครูบาอาจารย์น่ะนิมิตเป็นรวงข้าว เป็นอะไร นิมิตอันนั้นมันไม่ใช่นิมิตปกติ วุฒิภาวะของใจมันสูงขึ้นไป เห็นไหม มันพ้นจากขันธ์ พ้นจากขันธ์หมายถึงว่าพ้นจากความคิดไง ความคิดมันคิดไม่ได้ แต่เดิมมันมีความคิด เราคิดได้เห็นไหม มีความคิด เราคิดขึ้นมาได้ มันตอบโต้กับความคิด ความคิดกับใจ ความคิดมันเหมือนกับคอมพิวเตอร์ มันต้องมีพลังงานไฟฟ้าเข้าไปใช่ไหม พลังงานไฟฟ้าเข้าไปมันถึงจะให้คอมพิวเตอร์นี้เกิดทำงานได้ ถ้าพลังงานไฟฟ้าไม่มี คอมพิวเตอร์นั้นก็ใช้งานไม่ได้ ต้องมีตัวพลังงาน จิตนี้คือตัวพลังงาน ไอ้ความคิดเราคือเครื่องคอมพิวเตอร์นั้น มันจะแปรสภาพไปโดยตลอด

นี้พอไอ้คอมพิวเตอร์นั้นหมดไป เราทำลายคอมพิวเตอร์ทั้งหมด คือว่าขันธ์มันแยกออกจากกันหมดแล้ว คอมพิวเตอร์ออกหมด มันเหลือแต่พลังงานไฟฟ้าเฉยๆ พลังงานไฟฟ้าเฉยๆ นี่ นิมิตตัวนี้มันถึงไม่เหมือนนิมิตข้างล่าง นิมิตข้างล่างนี่จอคอมพิวเตอร์ขึ้นเลย เห็นไหม คอมพิวเตอร์เราทำอะไรจอมันขึ้น นี่นิมิตธรรมดา

แต่ถ้านิมิตข้างบนนั้น ความเห็นอันนั้นถึงต่างกัน นิมิตกับนิมิตก็ต่างกัน ต่างกันคือว่าความเห็น เห็นไหม ความเห็นของใจที่วุฒิภาวะของใจมันสูงขึ้นมา มันเห็นแบบนั้น มันปล่อยมาๆ จนมันเห็นคนละส่วนกันเลย ความเห็นนี้จะลึกซึ้ง วุฒิภาวะของใจจะสูงต่างกัน นี่หลุดออกไป

เขาถามว่า “ถ้าเห็นนิมิตอย่างนั้นถึงจะแก้ไหม”

บอกว่า “ไม่ใช่ ถ้าดอกบัวนะ ขั้วหลุดออกไปจากนั่นน่ะ ถ้านิมิตข้างล่างมันเป็นธรรมดา แต่ถ้าจะให้เป็นอย่างนั้น เป็นแบบครูบาอาจารย์ที่ว่าเห็นรวงข้าวหรือว่าลูกศิษย์พระพุทธเจ้าเห็นฟองน้ำแตก...” เพราะใจมันพร้อมอยู่ไง ใจคนเรานี่มันพยายามหาทางออก มันปล่อยมาๆ เหมือนเรานี่พยายามจะหาทางออก เราหนีอะไรมาแล้วแต่ หนีจนไปถึงประตูสุดท้ายแล้ว มันจะผ่านพ้นออกไป มันยังหนีผ่านประตูนี้ไม่ได้ พอมันผ่านประตูนี้ไม่ได้ มันก็ต้องขวนขวายออกไป

คนเราเห็นโทษของการหนี หนีมาเห็นไหม หนีมาคือหนีกิเลสมาตลอด คนเห็นโทษของการหนีมากับคนที่ว่าไม่เห็นโทษของกิเลส คำว่าไม่เห็นโทษ ทุกคนว่าเห็นโทษของกิเลสแล้วอยากจะพ้นจากกิเลส แต่มันไปไม่ได้เพราะอะไร เพราะกิเลสกับเรามันเป็นอันเดียวกัน มันไม่เคยเห็นโทษไง อย่างเช่น หมอ เวลาอาหารหรือว่าอาหารที่เป็นพิษ เขาจะไม่กินอาหารนั้น แต่ถ้าคนไม่รู้ อาหาร คำว่าอาหารจะกินทั้งหมดเลย

ถ้าคนเรายังไม่เห็นโทษของกิเลส มันจะหนีอะไร มันหนีไม่ได้ มันต้องหนีความคิดของตัวเองไง หนีกิเลสในใจของตัวเอง แต่คนที่เริ่มแยกเห็น พิจารณากายจนปล่อยกายไปแล้ว พิจารณากายจนกายกับใจแยกออกจากกัน พิจารณาอสุภะ-อสุภังจนปล่อยออกมา มันหนีมา ๓-๔ ชั้น คนหนีมาสุดชีวิตสุดแดน มันกำลังจดจ่ออยู่ พอจดจ่ออยู่ พอเห็นอะไรกระทบเข้าถึงจิตดวงนั้น มันจะปล่อยผลัวะเลย เห็นไหม นิมิตอันนั้นถึงต่างกับนิมิตข้างล่างนี่

นิมิตข้างล่างนี่ก็เหมือนกับอุทธัจจกุกกุจจะ อุทธัจจกุกกุจจะนี้เป็นนิวรณธรรม ๕ อุทธัจจกุกกุจจะคือความฟุ้งซ่าน ความฟุ้งซ่านเป็นความคิดมาก เป็นความติด แต่อุทธัจจะในสังโยชน์เบื้องบน เห็นไหม รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา อุทธัจจกุกกุจจะกับอุทธัจจะนี่ไม่เหมือนกัน ถ้าอุทธัจจกุกกุจจะนี้มันเป็นความฟุ้งซ่านของเรา เป็นความรำคาญ เป็นความที่เราติดพันของเรา ยุ่งไปหมดเลย หัวใจนี่ฟุ้งซ่านมาก แม้แต่ทำความสงบยังทำไม่ได้เลย แต่พอจิตมันขึ้นไปถึงข้างบน เห็นไหม อุทธัจจะนี่มันเพลินในงาน มันเหมือนกับความเห็นเดียวกัน

คำว่า “วิญญาณ” วิญญาณยังมีวิญญาณต่ำๆ วิญญาณในวิญญาณรับรู้ในโสตวิญญาณ เวลาพูดออกไป เสียงกระทบหู ความรู้สึกเกิดขึ้น เขาเรียกวิญญาณนี้เกิดจากหูนะ โสตะคือหู ฆานวิญญาณ นี่วิญญาณหยาบๆ แล้วปฏิสนธิวิญญาณ วิญญาณที่ไปตายไปเกิดมันก็อีกคนละอัน แต่ชื่อวิญญาณเหมือนกัน

ไอ้อุทธัจจกุกกุจจะก็เหมือนกัน นิมิตก็เหมือนกัน นิมิตต่ำๆ นี้เป็นนิมิตปกติ ที่เราเห็นกันนี้นิมิตปกติ แต่ถ้าเห็นกายนี้ไม่ใช่นิมิต เห็นกายนี่เห็นโดยนิมิตนะ เห็นกาย พอมันเห็นธรรมดา เห็นกายเราเห็นกาย เห็นเหมือนนิมิต เห็นไหม แต่นิมิตอันนี้มันเกิดจากหลักความจริง มันสะเทือนถึงกิเลส มันสะเทือนถึงหัวใจ

แต่ถ้าเราไปเห็นนิมิตธรรมดา เราไปเห็นมันเฉยๆ คนเห็นจะเข้าใจเลย เวลาเห็นนะ เพราะถ้าเห็นนิมิตอย่างนี้มันจะขนพองสยองเกล้า มันสะเทือนถึงขั้วหัวใจไง คนเห็นกายนี่เห็นด้วยนิมิตเหมือนกัน แต่เห็นด้วยสายที่ว่าพลังงานคอมพิวเตอร์ที่เรามีส่วนด้วย แต่ถ้าเห็นนิมิตธรรมดา มันเหมือนกับไปดูหนังดูละคร ดูหนังดูละครมันไปอีกเรื่องหนึ่ง เห็นไหม

แต่ถ้าเราเห็นนิมิตของกาย มันจะขนพองสยองเกล้า จะย้อนกลับมา แล้วหลุดมือไปเลยด้วยความที่มันแปลกประหลาด แต่ก็จับตั้งใหม่ มันต่างกันไปเป็นชั้นๆๆ เข้าไปนะ ไม่ใช่ว่าเห็นแล้วจะเห็นเหมือนกัน เห็นแล้วถ้าเห็นคนนี้ต้องย้อนกลับมาที่ว่าคือว่าคนเห็นนั้นเด็กเห็น ผู้ใหญ่เห็น คนมีอายุเห็น ความเห็นนั้นมันจะต่างกันออกไปหมด แล้วพอเห็นขึ้นมา มันจะจับขึ้นมา

อันนี้ใครเป็นคนสอน? องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องผ่านอันนี้มาก่อน ถึงบอกว่าชี้ถูกชี้ผิดได้ไง ถ้าไม่ชี้ถูกชี้ผิดได้ ความเห็นอันนั้นเราจะซับมาเป็นความเห็นของเรา นี่มันเป็นนิรันดร์ เห็นไหม ความเห็นของเรา แต่ความเห็น มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด มรรคหยาบๆ คือความเห็นที่หยาบๆ นี่เราก็ยึดมั่นถือมั่น มันจะละเอียดกว่านั้นไป เราจะห่วงความคิดอันเก่าไง ว่าความเราเคยเห็น อันนี้เป็นความคิดที่ถูกต้อง คนที่แบกเงินมา เห็นไหม พอเดินไปข้างหน้าไปเจอทอง ต้องทิ้งเงินไปแบกทอง แบกทองไปข้างหน้าไปเจอเพชร ต้องทิ้งทองไปเอาเพชร

นี่มรรคหยาบๆ ไง ความเห็นหยาบๆ ขึ้นมา ทีแรกมันจะถูกขึ้นไปก่อน แต่ทีนี้พอเห็นความเห็นที่พูดว่านิมิตมันต่างกันเพราะว่า ถ้าไปเห็นตรงนี้ปั๊บ เข้าใจว่าเป็นข้างบน เข้าใจว่านี่เป็นเพชรแล้วนะ มันไม่ผ่านเงิน ผ่านทอง ผ่านเพชร เห็นไหม มันต้องผ่านเงินก่อน ความเห็นของเราเป็นเงินก่อน เงินหมายถึงว่าความเห็นข้างๆ ตัวเรานี่ละสิ่งที่ว่าความเห็นหยาบๆ นี้ออกไปให้ได้

พอขึ้นไปก็ผ่าน ก็ขึ้นไปทอง ขึ้นไปทองก็ขึ้นไปเพชร พอเพชรแล้วยังไปเห็นอีก ไปเห็นความว่างของมันแล้ว สิ่งที่เก็บเพชรนั้นไว้ก็เป็นเรื่องภาระของเรา ทิ้งทั้งหมดเลย นี่นิพพานมีไง ทิ้งไปแล้วมันมีตรงไหน มีตรงความรู้สึกที่มันปล่อยวางหมด ปล่อยวางสักแต่ว่ารู้ มีความสุขมากในนิพพานนั้น ไม่ใช่นิรันดร์ ไม่ใช่อะไรทั้งสิ้น

ถ้าเป็นนิรันดร์ มันอยู่ไปแล้วมันอัตตา มันต้องแปรสภาพ สิ่งใดที่มีเกิดขึ้นอยู่ สสารนี้อยู่ในตัวมันเองไม่ได้ มันต้องอาศัยเกาะอิงกับสิ่งต่างๆ ต่อไป มันต้องแปรสภาพในตัวมันเอง ไม่มีสิ่งใดเลยที่ไม่ต้องแปรสภาพ ไม่มี แต่นี้มันหลุดพ้นออกไป ถึงไม่ใช่นิรันดร์ ไม่ใช่อะไรทั้งสิ้น ไม่ใช่อัตตา ไม่ใช่อนัตตา อัตตา-อนัตตานี้เป็นทางผ่าน เป็นทางสุดท้ายที่ว่าพ้นออกไปจากประตูสุดท้ายแล้ว พ้นออกไปเลย เป็นวิมุตติ

แต่เดี๋ยวนี้ธรรมมันกำลังเจริญไง ทุกคนอยากจะแสดงธรรม ทุกคนอยากจะเอาธรรมะนี้ เอาคำว่าธรรมมาอวดกันไง ว่าอะไรเป็นธรรม พอพูดออกมาปั๊บมันเป็นสมมุติทั้งหมด แต่ถ้าผู้ที่มีหลักอันนี้เป็นตัวอย่าง สิ่งที่เป็นของตัวอย่างไม่ใช่ของจริง สิ่งที่เป็นของจริงพูดไม่ได้ แต่เอามาเป็นตัวอย่างมาพูด เราวิเคราะห์ตัวอย่าง เหมือนพระไตรปิฎก เราเอาพระไตรปิฎกมาแล้วเราวิเคราะห์พระไตรปิฎก เราก็ว่าเป็นอย่างนั้นๆๆ แต่พระไตรปิฎกนี้เป็นแค่แผนที่ชี้เข้าไปให้ถึงธรรมของหัวใจ อาจารย์มหาบัวบอกว่า “พระไตรปิฎกนี้เป็นกิริยาของธรรม เป็นกิริยาของธรรมไม่ใช่ตัวธรรม”

ตัวธรรมคือใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วรู้มามากมายขนาดนั้น แต่ตรัสไว้แค่พอเป็นชี้แนวทางในพระไตรปิฎกนั้น แล้วธรรมในหัวใจพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว ธรรมของพระพุทธเจ้าไปแล้ว แต่เพราะท่านเป็นศาสดาท่านถึงวางแนวทางเอาไว้ให้เราเดินไง นี้พอเราเดินขึ้นไปแล้ว เดินไปตามแผนที่ แต่ผู้ที่เข้าไปรู้ รู้มากกว่าแผนที่นั้นมากมายนัก หลวงปู่มั่นบอกเลยว่า “แผนที่นี้ ในพระไตรปิฎกนี้เหมือนกับน้ำในตุ่มในไห แต่น้ำในทะเล น้ำในแม่น้ำลำคลองนี้มหาศาลเลย ผู้ที่เข้าไปเห็นมันจะมหาศาล สิ่งที่ไม่มีในพระไตรปิฎกมหาศาลเลย” นั่นธรรมแท้ๆ เห็นไหม รู้เห็นมหาศาลแต่ไม่พูดออกมา เพราะพูดออกมาแล้วนี่เป็นสมมุติสัจจะ สมมุติสัจจะ วิมุตติสัจจะ เห็นไหม

สมมุติสัจจะ อริยสัจจะ วิมุตติสัจจะออกจากอริยสัจ ออกจากหลักความจริง สมมุตินี้มันยังหยาบเกินไป เป็นอริยสัจนะ ทุกข์นี้เป็นความจริง เหตุที่เกาะเกี่ยวนั้นเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เห็นไหม นิโรธคือความดับทุกข์ ดับด้วยวิธีอะไร? วิธีมรรค มรรคคืออะไร? นี่ความดับทุกข์

มันก็มีอยู่ไง มันเข้าใจสัจจะทั้งหมด แล้วมันพ้นหลุดออกไปสัจจะ แล้วมันไม่มีการเกิดและการตาย การเกิดและการตายนี้หมุนเวียน ตายนี่ ๒,๐๐๐ ปีที่มันสะสมมา เรานึกว่าเราไม่ได้เกิดตายในนี้เหรอ เราก็เกิดตายใน ๒,๐๐๐ ปีนี้ เราเกิดๆ ตายๆ อยู่ตลอดเวลา จิตมันสะสมมา

นี้จริตนิสัยคนถึงไม่เหมือนกันไง ถึงเชื่อสิ่งนี้ บางคนไม่เชื่อสิ่งนี้ เชื่ออย่างอื่น เพราะ! เพราะเบื้องหลัง การสะสมมาของเบื้องหลังๆๆ มันก็ซับมาๆ ในหัวใจนั้น อันนี้เป็น อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ มันเป็นสัญญาซ้อนสัญญาอยู่ภายใน มันเป็นสันดานของใจดวงนั้น เป็นจริตนิสัยของใจดวงนั้น แล้วออกมาถึงเป็นขันธ์ข้างนอก

ฉะนั้นจิตแพทย์เวลาเขาจะรักษา เขาจะถึงผ่านขันธ์นี้เข้าไป เห็นไหม ผ่านความคิดเข้าไปก่อนให้ถึงเด็ก ผ่านเข้าไปๆ เพื่อจะไปข้อมูลภายใน เพื่อจะชำระข้อมูลภายในอันนั้นนั่นไง จิตแพทย์เขาจะสอนกันอย่างนั้น ทีนี้ไอ้อย่างนี้พอเขาสอนกันเฉยๆ เขาไม่มีวิชาการที่ว่าปฏิจจสมุปบาท เห็นไหม มัคคอริยสัจจัง การทำลายไอ้ปฏิจจสมุปบาท อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารานี่ นี้พระพุทธเจ้ารู้นี่นา พอพ้นจากตรงนี้ไปต่างหาก พ้นจากที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว แล้วเอามาแนะนำ มันว่างหมด มันพ้นออกไป พ้นออกไปเลย

นี่มันไม่พ้นอยู่ก็นี่แหละ ไม่พ้นอยู่เพราะว่าเราเชื่อความว่าจะอยู่ที่ไหน จะเชื่อผลไง ผลนี้ต้องเป็นหลักความจริง แต่เป็นนามธรรมนะ บุญนี้เป็นนามธรรม เวลาทำบุญ โยมทำบุญน่ะเป็นนามธรรม สัจจะอันนี้เป็นนามธรรม ขับเคลื่อนไปๆ เป็นนามธรรมอยู่

แต่ที่ว่าพอมันใช้แล้วมันหมด เห็นไหม บุญที่มันใช้แล้วหมด แต่เวลาทำสมาธิขึ้นมา บุญนี้ใช้หมดไหม? ทำสมาธิขึ้นมามันฝังอยู่ที่ใจ สมาธิขึ้นมานะ แล้วสมาธินี้แค่เป็นอาวุธไง เป็นอาวุธ เป็นปัญญาเข้าไปชำระล้างเข้าไปอีก ดูสิ มันจะละเอียดเข้าไปขนาดไหน สิ่งที่ว่าเป็นนามธรรม ทำไมมันลึกลับซับซ้อนขนาดนั้น?

นี่ขนาดขั้นต้นนะ แล้วมันผ่านเข้าไปๆ เลาะเป็นชั้นๆ เข้าไปนะ อย่างว่าสายของกิเลสให้มันสั้นเข้าไปๆ จนมันไปถึงถ้ำที่อยู่ของคูหาของจิตไง คูหาของจิตคือตัวที่อยู่ของ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ระเบิดคูหานั้นทั้งหมด มันไปพ้นกันข้างใน แต่ต้องตัดตอนจากข้างนอกเข้ามา จากข้างนอกเข้ามา

อันนี้ใครสอน อันนี้อยู่ในหลักของศาสนาพุทธเท่านั้น เพราะศาสนาพุทธนี้เป็นศาสนาเดียวที่มีมัคคอริยสัจจัง “สุภัททะ เธออย่าถามให้มากเรื่องไปเลย ถ้า…(เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)”