เทศน์เช้า

วิธีเรียนรู้ธรรม

๒๑ พ.ย. ๒๕๔๒

 

วิธีเรียนรู้ธรรม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๒
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เขาค้านอยู่ เมื่อก่อนนะ ค้านว่า ใครก็แล้วแต่ถ้าเข้าศาสนา เข้าวัดเข้าวาดีกว่าไปบาร์ไปคลับ ดีกว่าไปเที่ยวศูนย์การค้า ใครๆ ก็คิดแบบนั้นหมดนะ คิดว่าคนเรานี่เข้าวัดเข้าวาดีกว่าไปเที่ยวศูนย์การค้า ไปเที่ยวเสเพล เราบอกว่า “ใช่อยู่ ถ้าเข้ามาทางวัดนี่ แต่ควรจะเข้ามาถูกต้องด้วย” ถ้าเข้ามาผิดนะ ความดำริผิดนี่แล้วมันจะเป็นความลำบากมาก เพราะการแก้ไข เพราะเราแก้ไขมามากแล้ว เขาบอกว่า “เขาไม่เชื่อหรอก” เขาก็คิดไปอย่างนั้นน่ะ แต่พออยู่กับเรานานๆ ไปนี่ เดี๋ยวนี้ความเห็นเหมือนเราเลย

กลับไปที่บ้าน แม่เอาหนังสือมาอ่าน ของสุราษฏร์น่ะ เอามาอ่านนะ ข้ามกาย ผ่านกาย ผ่านขันธ์ ผ่านอะไรนี่ “แม่อย่าอ่าน! แม่อย่าอ่าน!” มันไม่ได้อะไรหรอก มันผ่านไปเฉยๆ มันผ่าน มันไม่รู้เรื่อง แม่บอกว่า “เอ้า! อ่านหนังสือธรรมะนี่ดีนะ”

“พูดเหมือนผมเลย เมื่อก่อนผมก็พูดอย่างนี้ แต่เพราะผมมาอยู่กับท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้ผมเห็นเหมือนท่านอาจารย์เลย” มันทำให้ตัวเองมึนชาไง ผ่านแล้วอ่านแล้วเราเข้าใจ รูป นาม ผ่านรูปนามแล้ว ผ่านรูปผ่านนามผ่านแล้ว พอผ่านแล้วก็เข้าใจว่าผ่านแล้ว พอเข้าใจว่าผ่านแล้วเราจะไม่ทำอะไรไง

มันเป็นความเห็นผิด พอความเห็นผิด มันเหมือนกับเรานี่ เราเข้าไปในงาน เราได้รับสูจิบัตร สูจิบัตรในงานเป็นเรื่องของลิเก เราอ่านเรื่องลิเก เราเข้าใจเรื่องลิเกเลย แต่การแสดงนั้นเป็นอะไร แสดงโขน ต่างกันไหม เรื่องของลิเกมันเป็นเรื่องแต่งใช่ไหม แต่เรื่องโขนมันเรื่องรามเกียรติ์มาเลย แต่งตัวเหมือนกัน การแสดงเหมือนกัน แต่ความเห็นต่างกัน ความเข้าใจต่างกัน เพราะสูจิบัตรเขียนอย่างหนึ่ง จริงไหม แล้วที่แสดงอยู่บนเวทีนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แล้วมันจะเข้ากันได้อย่างไร

ในเมื่อเราอ่าน เราอ่านสูจิบัตร เรื่องของลิเก แต่การแสดงอย่างนั้น แล้วเราจะตีความหมาย เราจะเข้าความหมายเรื่องของโขนได้ไหม อันนี้ก็เหมือนกัน ในเมื่อเราเข้ามา อ่านผ่านนี่ บอกว่าเข้าวัดดีกว่าไปเข้าบาร์เข้าคลับ เราบอกว่า “ถ้าไม่เข้าเสียเลยดีกว่า” คือว่าเหมือนคนสะอาด เหมือนคนที่ผ้าขาวยังไม่เลอะอะไรเลย ถ้าเข้ามาแล้วซับเอาของจริงเข้าไปเลยนี่

อย่างเมื่อวานพูด เห็นไหม พระไตรปิฎกนี่อาจารย์มหาบัวบอกว่าถูก พระไตรปิฎกนี่ถูกทั้งนั้นเลย แต่ถูกในพระไตรปิฎก ฟังสิ! ถูกเฉพาะเนื้อหา พระไตรปิฎกนี่ถูกต้อง แต่ผู้ที่ถอดพระไตรปิฎกมาน่ะผิด ถอดมา ตีความไง เข้าใจ ความเข้าใจของเราผิด ถอดความจริงมาก็เอาความเห็นของเราเข้าไป เอาความเห็นเข้าไปมันก็เป็นความเห็นผิด เห็นไหม

อันนี้ยังไม่มีโทษนะ เพราะอะไร? เพราะพระไตรปิฎกนี่ถูกอยู่ในตัวเองอยู่แล้ว แต่นี้ตำรามันไม่ถูกในตัวมันเอง มันผิดอยู่แล้ว มันผิดอยู่ว่า ผ่านกาย เห็นไหม ผ่านกาย ผ่านไปแล้วปล่อย ปล่อยแล้วก็ข้ามไป ถึงขั้นนั้น ผ่านขั้นนั้นไป ผ่านไปๆ แต่ความเป็นจริงมันไม่ได้ผ่าน ความผ่านนี้เป็นความเห็นภายนอกไง

อย่างเช่นเราพิจารณา อย่างเช่นเราไปโรงพยาบาล เราไปในโรงพยาบาลเราไปเห็นคนเจ็บ คนแก่ คนป่วยนี่ เราเห็นแล้วเราสลดสังเวชไหม นั่นน่ะ เราไปเห็นอย่างนั้นเข้าเราสลดสังเวชใช่ไหม มันปล่อยเข้ามา นี่เราดูกายเขา ผ่านกายอย่างนั้นเหรอ ถ้าผ่านกาย ผ่านกายตรงนี้ไง เราไปโรงพยาบาล ไปเห็นนะ คนเจ็บมันน่าสลดน่าสังเวช มันปลงอนิจจัง นี่แค่นั้น! ถ้าการผ่านกายด้วยความเห็นนะ ความเห็นที่ว่า อ่านหนังสือว่าผ่านกาย เราพิจารณา

เหมือนกัน! ถ้าเราพิจารณาว่าผ่านกาย มันผ่านอย่างนั้นเพราะอะไร? เพราะว่ามันเป็นความเห็นเดิมใช่ไหม จิตนี้ยังไม่ทำความสงบ จิตนี้ยังไม่ได้ปรับ ถึงความเป็นความสงบก่อน ให้เป็นพื้นฐานก่อน พอจิตนี้ปรับ มันถึงต้องมีสมาธิไง เขาดูถูกกันว่าสมาธินี้ไม่สำคัญ วิปัสสนาเลยสำคัญกว่าสมาธิ แต่ถ้าไม่มีสมาธิอยู่ วิปัสสนาไปนี่เป็นโลกียะ เป็นความเห็น มันเป็นความเห็น มันผ่านได้ ความเห็นเราเข้าใจ ความเข้าใจ

สุตมยปัญญา ศรัทธานี้ชำระกิเลสไม่ได้ ศรัทธานี้เป็นหัวรถจักร ศรัทธานี้ทำให้เราเข้ามาในศาสนา ศรัทธานี้ทำให้เราเข้ามา แล้วเรามาศึกษาธรรมะ ศรัทธา ความเชื่อความศรัทธา จินตมยปัญญา เห็นไหม สุตมยปัญญา ความเชื่อความศรัทธา จินตมยปัญญา นี่จินตนาการเกิดขึ้น ความเห็นการใคร่ครวญเกิดขึ้น ปัญญาอย่างกลางเกิดขึ้น แก้กิเลสได้ไหม? ยังไม่ได้เลย แต่มันเป็นความเข้าใจ แต่ไม่ได้ทำเพื่อแก้กิเลส เข้าใจขนาดไหน กิเลสมันก็นอนอยู่ใต้จิตใต้สำนึก กิเลสมันอยู่ที่หัวใจเลย

ความเข้าใจ เข้าใจอยู่บนผิวเผินนั้น แต่กิเลสอยู่ข้างล่าง ต้องทำใจสงบ สงบเข้ามา พอใจมันสงบ พวกนี้มันจะเปิดโล่งถึงกันหมด พอเปิดโล่งถึงกันหมด นี่จิตนี้เป็นสมาธิไง จิตเป็นสมาธิ ยกขึ้นวิปัสสนา จิตนี้เป็นสมาธิ มันว่างหมด มันไม่ไปยึดติดแล้วนะ ถึงว่าจิตนี้สงบเต็มที่แล้ว ถ้าจิตนี้มีบารมี ไปเที่ยวสวรรค์ได้ ไปไหนได้ ไปได้หมด แต่ไปมันก็ไปแบบเก็บไว้ไง คือว่าไปสวรรค์ ไปนรก ไปรู้วาระจิตนี้มันเป็นอภิญญา ฟังสิ! คำว่าอภิญญา อภิญญามันส่งออกไหม ความเป็นอภิญญา ความรู้เรื่องของโลก ความรู้เรื่องต่างๆ แต่มันไม่รู้เรื่องของตัวเอง ตัวเองอยู่ตรงไหน? ตัวเองมันอยู่ที่ตรงภวาสวะ อาสวะ ๓ ไง กิเลสวะ อวิชชาสวะ ภวาสวะสำคัญที่สุด ภพของใจไง

นี่แก้ภพแก้ชาติเขาแก้กันที่ตรงนี้ แล้วว่าเราเป็นชาติไทย เราเป็นคนไทย แก้ภพแก้ชาติไปแก้กันที่ทะเบียนบ้าน แก้กันที่เรา แก้กันที่พ่อแม่ ไม่ใช่! เราเกิดจากพ่อแม่นะ ถ้าไม่มีผู้หญิงไม่มีผู้ชายก็ไม่มีคนเกิด เกิดเป็นโอปปาติกะ เกิดเป็นเทวดา เกิดไม่ต้องผ่านครรภ์ของมารดา การเกิด ๔ อย่าง เห็นไหม ไม่มีพ่อไม่มีแม่มันก็ยังเกิดได้อยู่ แต่มันต้องมีเป็นไปจนได้เพราะธรรมชาติต้องสร้างให้เป็นไปได้ โลกนี้ถึงเก่าแก่ เห็นไหม นี่ถึงว่าต้องมีสมาธิ แต่เขาว่าการทำสมาธินี่ หลับหูหลับตาเฉยๆ นี่เป็นคนที่โง่ เป็นคนที่ทำให้ตัวเองโง่ไง ทำให้ตัวเองไม่มีปัญญาเลย

แต่หารู้ไม่ จิตนี้เป็นสมาธิขึ้นมา มันจะทำให้เกิดเป็นโลกุตตระ โลกุตตระหมายถึงว่า การเห็น ที่ว่าเห็นกายๆ ผ่านกาย ผ่านอันนั้นมันผ่านจากความเห็นภายนอก ผ่านความเห็นจากขันธ์ ผ่านความเห็นจากจินตนาการ ผ่านความเห็นแบบการเทียบเคียง มันไม่ใช่ผ่านแบบความรู้เท่า ความรู้เท่ามันอยู่ในจิต มันจะผ่านๆ ในหัวใจ จิตนี้ต้องเป็นสมาธิก่อน พอจิตนี้เป็นสมาธิขึ้นมา มันมีสว่าง มันมีความสุขมาก นี่แค่เป็นสมาธิก็ติดสุข ถ้าลองวิปัสสนาเข้าไป มันจะเห็นเลยว่า การวิปัสสนานี่เป็นงานที่ว่า งานรื้อภพรื้อชาตินี่เป็นงานใหญ่มาก เป็นงานที่มหัศจรรย์เหนือโลก เหนือสงสาร เหนือทุกอย่างเลย

แล้วมาแค่จินตนาการกันว่า อ่านหนังสือผ่านเห็นผ่านตา เขาค้านแม่เขาเลยนะ “แม่อย่าอ่าน! แม่อย่าอ่าน!” แม่เขาเถียง “เอ้า! ก็อ่านหนังสือธรรมะนี่เยี่ยมอยู่แล้ว” เขาบอกเลย “เมื่อก่อนนี้ผมก็คิดอย่างนั้น ผมก็ต้องว่าอย่างนั้น” แต่เพราะผมมาหาอาจารย์บ่อยๆ เมื่อก่อนผมก็เถียงอย่างนี้ แต่เดี๋ยวนี้เอาคำพูดของอาจารย์ไปว่าแม่ของตัวเอง แล้วตัวเองก็มีความเห็นเปลี่ยนไป มันภูมิใจ มันภูมิใจตรงนี้ไง ภูมิใจตรงแก้ความเห็นเขาได้ ความเห็นเขาเปลี่ยนไปเลยว่า ถ้ามันรู้เรื่องสิ่งที่ว่าเข้ามาเป็นภาระ รู้สิ่งที่เข้ามาแล้วนี่ เหมือนกับเด็กนะ เด็กคนหนึ่งติดยาเสพติด กับเด็กคนหนึ่ง เด็กที่ร่างกายแข็งแรง เราจะฝึกเด็กคนไหนได้ดีกว่ากัน

ความรู้ที่เป็นยาเสพติด ความรู้ที่เข้ามาให้ร่างกายอ่อนแอ ความรู้ที่ติดยึดมั่นถือมั่นในความเห็นผิด นี่มิจฉาทิฏฐิ ทิฏฐิที่ความเห็นออกไง ทั้งๆ ที่ประพฤติปฏิบัติอยู่นะ ปฏิบัติธรรมอยู่ ว่าฉันเป็นนักปฏิบัติธรรม ฉันนี่ประพฤติปฏิบัติอยู่ ฉันอยู่ในหลักการของพระพุทธเจ้า มันจะผิดไปตรงไหน ขนาดเขาว่าขนาดนั้นนะ ข้างบนนั้นน่ะ เวลาไปว่าเขาผิด เขาบอก จะผิดไปได้อย่างไร เพราะว่าฉันปรารถนาจะมาสอนคน ฉันปรารถนามาจะเป็นอาจารย์ของเขา ความปรารถนากับการชำระกิเลสต่างกัน ความปรารถนานี้เป็นอธิษฐานบารมี

พระพุทธเจ้าจะสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้ายังต้องตั้งอธิษฐานมาเป็นพระพุทธเจ้า อธิษฐานบารมี แล้วสะสมบุญญาธิการมา สะสมบุญญา บุญกุศลมาขึ้นเป็นพุทธภูมิ กว่าจะเป็นพุทธภูมิ กว่าจะปรารถนา ความปรารถนานี้เป็นแค่เริ่มต้น แล้วนี้บอกว่าตัวเองปรารถนาจะมาสอนเขา ปรารถนาจะเป็นอาจารย์เขา แต่เป็นอาจารย์เขาแล้วสอนเขาไปไหน ตัวเองยังแก้ตัวเองไม่ได้ “อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” มันต้องมองใจของตัวทะลุ

อาจารย์บอกว่า “ใจดวงหนึ่งกับใจดวงต่างๆ กัน เหมือนกันๆ แก้กิเลสดวงใจนี้ ดวงใจนั้นเหมือนกัน ความแก้กิเลส กิเลสในใจนี้เหมือนกันหมด”

ถ้าไม่เหมือนกัน ทำไมพระสารีบุตรสำเร็จแล้วไม่เชื่อพระพุทธเจ้าเลย ไม่เชื่อเลย เพราะอะไร? เพราะเห็นเหมือนกัน เหมือนกันเลย เหมือนเป็นอันเดียวกัน ถึงบอกว่าเป็นเนื้อเดียวกันเลย ไปถึงธรรมที่เดียวกัน วิมุตติธรรมเป็นที่สุดที่อยู่ที่อันเดียวกัน อันเดียวกันเหมือนกันทั้งหมด แต่การเข้ามันจะมีการต่างกันบ้างเล็กน้อย วิธีการไง แต่เนื้อหาสาระ ผลต้องเป็นเหมือนกัน แต่นี้ความว่าเป็นเหมือนกันอันนั้น มันถึงว่าต้องเป็นใจเหมือนใจ คำว่าเหมือนกัน ใจดวงนี้ถ้าชำระกิเลสพ้นแล้ว กิเลสในดวงใจนั้นต้องเหมือนกัน ความเหมือนกันอันนี้ มันถึงว่าเป็นปัจจัตตัง อกาลิโก เห็นไหม

ไม่มีกาล ไม่มีเวลา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไปสองพันห้าร้อยสี่สิบกว่าปีแล้วนะ หลวงปู่มั่นเพิ่งมาสำเร็จเอาเมื่อกึ่งพุทธกาล เวลาสองพันกว่าปีนี้ไม่ใช่เวลาเลย มันเป็นอันเดียวกัน รู้เดียวกัน เราเคยกินเค็มในสมัยพุทธกาล แล้วคนปัจจุบันนี้เอาลิ้นรับรสเค็ม เค็มเหมือนกัน ความเค็มสมัยพุทธกาลกับความเค็มเดี๋ยวนี้เหมือนกัน แตะถึงลิ้นของใครเหมือนกันเลยเห็นไหม ถึงว่าเป็นปัจจัตตัง เป็นอกาลิโก ไม่มีกาล ไม่มีเวลา กาลเวลานี่สมมุติ สมมุติทั้งนั้นเลย ความเข้าใจถูกต้องอันนี้ มันถึงจะเข้ามาหลักการอันนี้ได้ แต่ถ้าความเข้าใจถูกต้องอันนี้ไม่ได้ เพราะอย่างที่ว่าเทียบเคียงนี่มันเป็นอดีต มันเป็นอนาคต คาดการณ์หมายอนาคตไปใช่ไหม

ธรรมะจะเป็นอย่างนั้น จะเป็นอย่างนั้น อ่านหนังสือจินตนาการไปสิ อนาคตไปนู่น แล้ว โอ๊ย มันจะเหมือน ชักอนาคตมาเทียบกับของอดีต พระไตรปิฎกว่าไว้อย่างนั้นเมื่อสองพันห้าร้อยกว่าปีแล้ว ว่าไว้อย่างนั้น ธรรมะเราเข้าไปประสบแล้วจะเหมือน เอาอนาคตไปเทียบกับอดีต แล้วตัวเองอยู่ไหน ธรรมะนี่แก้ที่ปัจจุบันธรรมไง ความที่เป็นปัจจุบัน จิตสงบเดี๋ยวนี้นะ มันได้ความสุขเดี๋ยวนี้ แต่ความสงบเดี๋ยวนี้เป็นแค่หนึ่งในอริยมรรคเอก สัมมาสมาธิไง เห็นไหม มันต้องมีสัมมาสมาธิก่อน แยกจากความเป็นโลกียะไง ความเห็นเดิมๆ ความเห็นจากขันธ์ ความเห็นจากความคิด ความปรุง ความแต่ง

ความคิด ความปรุง ความแต่งนี้เป็นความคิดในกรงขัง ขันธ์ ๕ มันขังจิตไว้ จิตนี้เป็นพลังงานผ่านใช้ขันธ์ ๕ เท่านั้น ขันธ์ ๕ นี้คิดออกไป แต่พลังงานมาจากจิต ขันธ์ ๕ ไม่ใช่จิต จิตนี้ไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ นี้สัญญา สัญญาคือความจำ ความปรุง ความแต่งของสังขารปรุงไป นี่ความปรุงของสังขารไป ถ้าไม่มีสมาธิ ตัวใจที่สงบไป ขันธ์ ๕ กับใจมันจะเป็นเนื้อเดียวกัน มันแยกกันไม่ออก แต่ถ้าจิตสงบไป มันแยกระหว่างขันธ์ ๕ กับขันธ์ ๕ ความคิด ความปรุง ความแต่งที่เป็นสัญญา เป็นความคิด เป็นสิ่งที่เป็นเนื้อเดียวกับจิต แยกออกจากกัน เพราะจิตสงบจะไม่มีความคิด

ฟังตรงนี้สิ! จิตที่สงบไป ความคิดไม่มีใช่ไหม ความคิดจะหลุดออกไป ระหว่างขันธ์ ๕ ความคิดเดิมที่เป็นขันธ์ ๕ อยู่นี่ มันเป็นความคิด มันเป็นสัญชาตญาณเดิม มันก็คิดออกไปเป็นตามสัญชาตญาณ ตามกิเลสมันพาคิด จิตมันก็คลุกไปอีกอยู่ตรงนั้น จิตสงบเข้าไปๆ สงบผ่านขันธ์ ๕ นี่เข้าไป มันถึงความสงบก่อน พอจิตมันสงบมันเป็นอิสระจากขันธ์ ๕ มันพ้นจากกรงขัง พ้นจากความคิดเดิม นี่ความคิดเดิม ความจินตนาการแล้วแต่ ถ้าเป็นภาวนามยปัญญาก็ใช้ความคิดไล่เข้าไป ความคิดจะหลุดจากขันธ์ ๕ หลุดจากความคิดเดิม เข้าไปเป็นอิสระกับตัวมันเอง

นั่น! นี่ถึงเป็นสมถะไง สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน จะต้องมีสมถกรรมฐานนี่เป็นพื้นฐานก่อน มันถึงจะเป็นโลกุตตระตรงนี้ ยกขึ้นวิปัสสนา ถ้าไม่ยกขึ้นวิปัสสนา จิตนี้สงบ “สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป” ธรรมนี้เกิดขึ้นมา ตั้งอยู่ และดับไป สมาธิธรรม จิตตั้งมั่น มันมีมาก่อนพุทธกาล ในเมื่อที่เขาทำ ฤๅษีชีไพรทำใจสงบ เขาทำมาได้อยู่โดยดั้งเดิมอยู่แล้ว แต่เขาไม่มีมัคคะอริยสัจจัง ไม่มีความดำริเข้ามาในภายในหัวใจ ไม่มีการชำระกิเลสที่ภพนี้ ภวาสวะไม่มีใครเคยเห็น พระพุทธเจ้านี่เห็นก่อน ชำระก่อน ถึงได้ยกกลับมา มัคคะอริยสัจจังอยู่ตรงนี้ไง อยู่ตรงยกใจขึ้น มรรคนี้ไม่ใช่มรรคในกระดาษ ไม่ใช่มรรค ๘ ที่ว่าเราจำมา ไม่ใช่มรรคต่างๆ

มรรคนี้เกิดจากใจ ตัวจริงของมรรค มรรคแท้ๆ ไง มรรคแท้ๆ คืออาการของใจที่มันเสริมสร้างขึ้นมา ธรรมจักร จักรอยู่ที่ไหน? จักรอยู่ที่ใจ ใจนี้มันจะหมุนเข้าไป พร้อมต้องมีฐานของสมถะอันนี้ก่อน ฐานของงานมันต้องมี ภวาสวะนี้เป็นภวาสวะของกิเลส แต่ความสงบนี้มันเป็นความสงบเข้ามา มันหดตัวร่นเข้ามาจากกิเลสนั้นช่วงหนึ่งแล้ว มันก็จะมาหมุนตัวของมันขึ้นมา ขึ้นมาเป็นภาวนามยปัญญา ภาวนามยปัญญานี่ก้าวเดินไปด้วยความดำริชอบ ความเห็นชอบ ความงานชอบ งานอย่างนี้ถึงเป็นงานชอบ งานอ่านมา งานจำมา งานจำอดีตอนาคตที่ผิดมาด้วย มันจะเป็นงานชอบที่ไหน มันถึงเป็นยาเสพติดไง เสพติดแล้วทำให้คนหลงใหลเคลิบเคลิ้มไป มันไม่เข้าถึงเนื้อหาสาระ ตามความเป็นจริงของสัจธรรม

ในอริยสัจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันต้องหันกลับมาตรงนี้ หันกลับมา วิปัสสนาเข้าไป มันถึงว่าพอเข้าไปภาวนานี่มันเป็นภาวนามยปัญญา ก้าวเดินออกไปแล้วมันจะเห็นเอง คราวนี้ต่างหากมันถึงว่า ธรรมเริ่มก้าวเดิน พอธรรมเริ่มก้าวเดินแล้วมันเป็นอัตโนมัติ แต่อัตโนมัติส่วนหนึ่งเกิดที่มันเป็นไป มันเผาไหม้เชื้อแล้ว แต่จะต้องทำไป มันจะเป็นอัตโนมัติไม่ได้ แต่คำว่าเป็นอัตโนมัติหมายถึงว่า มันมีพลังงานของมันเพิ่มขึ้น พลังงานของธรรมกับพลังงานของกิเลส

พลังงานของกิเลสคือพลังงานในกรงขัง กรงขังในขันธ์ ๕ ในความคิดเดิม ในความคิดที่จำอยู่ นี่ความคิดในกรงขัง มันถึงเป็นโลกียะ ถ้าธรรมมันเดินแล้วมันถึงเป็นโลกุตตระ อาศัยความคิดนี้เป็นโลกุตตระหมุนตามออกไป มันมีตัวคิดนี้ มันมีสมาธิมาเป็นกั้นออกระหว่างโลกียะกับโลกุตตระ เพราะจากสมถกรรมฐาน ฐานของการงาน ฐานที่ตั้งควรแก่การงาน ควรแก่การงาน ฟังสิ! ควรเฉยๆ แต่ไม่ใช่การงาน มันต้องยกขึ้นวิปัสสนา มันถึงจะเป็นวิปัสสนา วิปัสสนานี่ถึงเป็นวิปัสสนากรรมฐาน มันจะวนเข้าไป วนเข้าไปๆ แล้วมันจะมาขาดระหว่างจิตกับขันธ์นี่

แต่เดิมสมาธิสงบตัวเข้าไปเฉยๆ ขันธ์กับจิตนี้มันติดกันอยู่ แต่เพราะสมาธิแยกออก แยกออกนี้เป็นหินทับหญ้า มันแยกออกแล้วมันยังเกิดขึ้นได้อีก แต่วิปัสสนากรรมฐานมันหมุนเข้าไป หมุนเข้าไป หมุนจนตัดตัวนี้ขาดออกไป พอมันขาดออกไป ระหว่างขันธ์กับจิตขาดกันเลย ขาดออกไป นี่สังโยชน์มันขาด ขาดอย่างนี้ พอขาดเข้าไปแล้ว แต่การเห็นนี่หลักการนะ แต่วิปัสสนามันต้องมีพื้นฐาน มันต้องเอามีดฟันลงไปที่เหตุนั้น ปัญญาต้องฟันไปตรงที่สังโยชน์ที่มันเกาะเกี่ยว ถึงต้องเป็นกายกับจิตไง มันเกาะระหว่างกายกับจิตนี้ แต่ที่มันเป็นอุบายธรรม ถึงว่าเป็นบารมีธรรม เป็นแต่ละบุคคลที่จะหมุนเข้าไป เป็นภาวนามยปัญญา นี่ความจริงมันเกิดขึ้นอย่างนี้ไง

สิ่งที่ในพระไตรปิฎกนี่ พูดไว้เป็นหลักการ หลักการให้เราก้าวเดินขึ้นมาเพื่อเจอสิ่งนี้ เจอสิ่งนี้ๆ เพราะการเจอนั่นคือสมบัติของส่วนตน สมบัติของใครเป็นปัจจัตตังของคนๆ นั้น คนๆ นั้น ผู้ปฏิบัติคนนั้นต้องขึ้นไปพบเองเห็นเอง แล้วชำระล้างเอง หลักการนั้นถือว่าเป็นหลักการที่เป็นกลาง ไม่ใช่หลักการที่ว่าเป็นอดีตอนาคต ผ่านนาม ผ่านรูป ผ่านด้วยความตรึก ผ่านด้วยความวิเคราะห์ ผ่านด้วยความเทียบเคียง แล้วมันก็หมกกิเลสไว้ในหัวใจ กิเลสไม่ได้ชำระแม้แต่นิดเดียว

แล้วก็อ่านไป ภูมิใจไป ภูมิใจไปในความรู้ของตน ความรู้ของกิเลสมันหลอกใช้ ให้เป็นดอกเตอร์ ให้เป็นศาสตราจารย์คนไหนก็แล้วแต่ ศึกษาวิชาการมาทั้งหมด กิเลสมันอยู่หลังดอกเตอร์นั้น กิเลสมันขี่หัวดอกเตอร์ไว้ กิเลสมันขี่หัวศาสตราจารย์ไว้ แล้วมันก็คิดความเห็นของตัว เอาความเห็นของตัวผูกมัดเข้าไป ดอกเตอร์ ศาสตราจารย์ก็หลงใหลในโลก ในโลกียะ ในโลกีอารมณ์ หลงใหลไปหมด ไม่สามารถเอาตัวออกจากกิเลสได้เห็นไหม ถึงว่านี่... (เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)