เทศน์เช้า

ธรรมไม่ใช่ทั้งวัตถุหรือจิต

๑๓ ต.ค. ๒๕๔๒

 

ธรรมไม่ใช่ทั้งวัตถุหรือจิต
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๔๒
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ปัจจัย ๔ เครื่องอยู่อาศัย ฟังสิ เครื่องอยู่อาศัย ปัจจัย ๔ เป็นเครื่องอยู่อาศัยเท่านั้น เพราะกายนี่มันอาศัยกัน แต่อาหารใจ อาหารของใจ เราก็ว่าบุญกุศลนี่เป็นอาหารของใจที่ใจไปกินนะ กินเข้าไปแล้วมันจะมีคุณมีโทษ เพราะว่าเดี๋ยวนี้เรากินอาหารกันเป็นยา อาหารที่เรากินนี่ให้เป็นยาเข้าไปด้วย อาหารเป็นยาเพื่อให้ร่างกายอุดมสมบูรณ์ ให้มันไม่มีโทษมีภัยกับร่างกายของเรา

ความคิดก็เหมือนกัน ความคิดนี่มันเข้ามา มันให้คุณหรือให้โทษล่ะ อาหารของใจ แล้วประพฤติปฏิบัติเหมือนกัน ยิ่งมาประพฤติปฏิบัตินะ เขาว่าอันนี้เป็นธรรมแล้ว ควรจะได้ประโยชน์ทั้งหมด เมื่อวานก็คุยกันเรื่องนี้แหละ เขาบอกว่าเขาสอนนะ นามรูปนี่เป็นสติปัฏฐาน ๔ ของเรานี่ไม่ใช่สติปัฏฐาน ๔ นะ ของเราเป็นสมถกรรมฐาน เป็นสมถะ กำหนดพุทโธก่อน แต่การพิจารณานามรูปนี่คือการสอนสติปัฏฐาน ๔ เรางงเลยนะ สอนสติปัฏฐาน ๔ เห็นไหม เราบอกว่า ถ้าสติปัฏฐาน ๔ นี่เป็นสติปัฏฐาน ๔ ภายนอก มันไม่ใช่เป็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเห็น ตามที่มีของพระพุทธเจ้าหรอก

พระพุทธเจ้าบอกว่า ต้องทำจิตให้สงบก่อน เห็นไหม ที่เราทำสมถกรรมฐานกันเข้ามา สมถะเพื่อให้จิตมันสงบเข้ามา เพื่อจะให้เห็นด้วยตาของ...เห็นสติปัฏฐาน ๔ นะ เห็นกาย เวทนา จิต ธรรม แต่เวทนา ถ้าเห็นน่ะมันเห็นง่ายๆ อยู่แล้ว เพราะมันเจ็บปวด แต่กายกับจิตที่จะเห็นได้นี่เห็นได้ยากมาก

แต่เห็นง่ายๆ ที่ว่าเวทนานี่ก็เห็นข้างนอกไง แต่ถ้าคนไม่มีหลักของใจ คือไม่มีความสงบเลย มันก็เห็นแต่ตาเนื้อ ถ้าเห็นกายนี่เปรียบเหมือนหมอ หมอนี่เห็นกาย เห็นกายตลอดเลย เพราะผ่าตัดกายมาตลอด แล้วเขาได้อะไรขึ้นมา แต่ถ้าคนที่เห็นกายจากตาธรรมนะ นี่สติปัฏฐาน ๔ ความมุ่งหมายของพระพุทธเจ้าอยู่ตรงนี้ไง

ถ้าเห็นสติปัฏฐาน ๔ ด้วยตาของธรรม ใครเห็นก็แล้วแต่นะ มันจะขนพองสยองเกล้า มันจะโอ้โฮ! ตื่นเต้นมาก มันไม่เหมือนกับการนึกภาพหรอก นี่ไง อย่าว่าแต่สติปัฏฐาน ๔ ที่ว่านามรูปๆ มันเป็นความนึกขึ้นมา มันเป็นเหมือนอารมณ์โลกเฉยๆ ไง นี่สติปัฏฐาน ๔ เราบอกว่า สติปัฏฐาน ๔ นี้เป็นสติปัฏฐาน ๔ พิมพ์เขียว ถ้าสติปัฏฐาน ๔ ตามความเห็น ตามสัมผัสเข้ามาก่อน มันไปสะเทือนหัวใจ มันสะเทือนหัวใจ เห็นไหม

เราบอกว่า อาหารที่เรากินเข้าไป ของร่างกายนี่มีคุณมีโทษ ยาที่เข้าไปจะมีผลข้างเคียง มีผลข้างเคียงกับใจของตัว นี่อาหารของใจ

สติปัฏฐาน ๔ เขาว่าเขาสอนสติปัฏฐาน ๔ อยู่แล้ว เป็นสติปัฏฐาน ๔ แต่เวลาเขาพิจารณานามรูป ฟังนะ พิจารณานามรูปแล้วปล่อยวาง พิจารณานามรูปแล้วปล่อยวาง ไม่ให้นามรูปนั้นเกิดขึ้น ไม่ให้เกิดดับได้เลย พิจารณานามรูปแล้วปล่อยวาง ไม่ให้นามรูปนั้นเกิดขึ้น ไม่ให้เกิดดับได้เลย พิจารณานามรูปแล้วปล่อยวาง ปล่อยวาง แล้วว่างไปเลย ว่างไปเลย

แต่ของเรานะ ทำให้จิตสงบก่อน จิตเป็นเอกัคคตารมณ์ แล้วจิตนี้เห็นกาย เห็นสติปัฏฐาน ๔ พิจารณาสติปัฏฐาน ๔ จนปล่อยวางสติปัฏฐาน ๔ แล้วเหลืออะไร? เหลือความรู้เห็นตกผลึก ความรู้ตกผลึกก่อน มันจะปล่อยวางเข้าไปเรื่อย ความรู้เห็นที่ตกผลึกในใจ มันเป็นแผนที่ของตัวเองเลย เป็นความเห็นเป็นความเข้าใจของตัวเอง นี่กินอาหารเข้าไปแล้วร่างกายนี้มันเจริญเติบโตขึ้นมา ความคิดมันเจริญเติบโตขึ้นมา มันตกผลึกลงมาที่ใจเรื่อยๆ นี่พิจารณาไปๆ มันเหลือตรงนี้ไง

แต่ถ้าเป็นพิมพ์เขียว มันเห็นแต่พิมพ์เขียวข้างนอก เห็นไหม ว่าง ว่าง พอว่างไป ปล่อยวาง จนตัวเองนี่ก็ว่างด้วยไง มันไม่มีตัวที่จะไปพิจารณา มันไม่มีตัวจิตนี้ไปพิจารณา เออ! พอว่างไปนี่เขาบอก เขาฝากกันมาถามเยอะไง ถามว่า เขาก็พิจารณาอยู่แล้ว นามรูปแล้วปล่อยวาง ปล่อยวางหมดเลย ให้ทำอะไรอีก บอกให้ขุดคุ้ย

จะไปขุดคุ้ยได้อย่างไร จะไปหาได้อย่างไร เพราะสติปัฏฐาน ๔ ของเขานี่มันปล่อยวางเข้ามา แล้วมันจับไอ้ตัวนี้ นี่น่าเห็นใจตรงนี้ไง ตรงนี้มันว่างปั๊บ ความเห็นของเราก็ว่างด้วย

แล้วก็ว่า ก็เราทำให้เพื่อเป็นความว่างไม่ใช่เหรอ

อ้าว! เป็นความว่าง สัมมาสมาธิใช่ไหม เงินของเรา เราต้องเป็นคนเซ็น เซ็นเบิก เซ็นจ่าย เราหามาเท่าไหร่ เงินนี้เอาเสียภาษีหมดเลย เสียภาษีหมดเลย เข้ารัฐบาลไปหมดเลย แล้วเราไม่มีสิทธิเบิกจ่ายแม้แต่สตางค์แดงเดียว อย่างนั้นเหรอ ก็เหมือนกันไง ว่างหมดเลย เราไม่มีอะไรเลย เขาเก็บหมด รัฐบาลเก็บหมด เก็บหมด จนเราไม่มีอะไรเลย ทำอะไรไม่ได้เลย

กับเราหาเงินของเรามา จะเสียภาษีก็เสียภาษีกันไป แต่เงินส่วนใหญ่ ถ้าเป็นของเราสิ หักลบแล้วเหลือของเรามหาศาลเลย เราจะใช้จ่ายอะไรก็ได้ เห็นไหม นี่มันยกขึ้นไง ยกขึ้นเวลาเราวิปัสสนา

จิตที่เป็นเอกัคคตารมณ์ จิตที่เป็นหนึ่ง ความรู้สึกอันนี้มันยกขึ้นวิปัสสนา เป็นผู้เห็นกาย เวทนา จิต ธรรม เห็นสติปัฏฐาน ๔ จากตาของธรรม ตาธรรมคือเห็นจากญาณภายใน ไม่ใช่ตาเนื้อกระทบไง แต่นี่ว่าเขาก็ว่าเป็นจักขุญาณเหมือนกัน จักขุญาณคือว่านึกมโนภาพ ก็เป็นความนึกเหมือนกัน แต่ความนึกนี่มันเป็นเหมือนกับอันที่ว่าเข้าไปเหมือนกับเราจะไปช่วยเหลือคน คนที่จมน้ำอยู่ เราหาเชือกหาผ้าโยนไป ดึงคนจมน้ำขึ้นมา กับเราจะช่วยเหลือคนจมน้ำ เราโดดไปกอดคนจมน้ำ เราจะจมพร้อมกับคนจมน้ำไหม

การเห็นกาย มันมีส่วนที่คนไปเห็นไง จิตที่จะไปช่วยคนจมน้ำขึ้นมา นี่เครื่องมือมันมี คือว่าคนมีสติ คนมีสัมปชัญญะ การที่คนเขาตกใจอยู่ เราโดดไป เขาจะเกาะกันจมน้ำตาย รักขนาดไหนก็ต้องต่างคนต่างเอาชีวิตรอด การวิปัสสนาก็เหมือนกัน มีผู้เข้าไปทำไง ถึงว่า จิตนี้ต้องแยกออกมาก่อนไง แยกออกมาเป็นเรา แยกออกมาตั้งไว้ให้มันสงบก่อน แล้วมันถึงจะเป็นผู้ที่มีปัญญาจะช่วยเหลือใครได้ไง ช่วยเหลือตัวเองนั่นล่ะ แต่วิธีการต้องเป็นแบบนั้น ไม่ใช่ว่าเข้าไปคลุกคลีกันหมดเลย แล้วจมน้ำไปด้วยกัน ว่างหมด ไม่มีอะไรเลย ไม่มีอะไรเลย เห็นไหม

ก็ว่าเขาเห็น นั่นคือการสอนสติปัฏฐาน ๔ ความเห็นของเขา เสร็จแล้วเขาถึงถามว่า “แล้วจะให้ผมทำอย่างไรต่อ ผมก็ทำแล้ว พิจารณากายก็พิจารณาแล้ว ว่างหมด ว่างหมดเลย เข้ามากระทบไม่ได้เลย ปล่อยวางหมด”

“แล้วเหลืออะไร จับต้องอะไรได้?” ว่างหมด ไม่มีอะไร แล้วจะเอาอะไรไปขุดคุ้ย จะช่วยเหลือคนจมน้ำอย่างไร จะเอาอะไรไปช่วยเหลือคนจมน้ำ เพราะมันกอดคอกับคนจมน้ำไปแล้ว

นี่ไง ถึงบอกว่า การที่ว่าเราต้องเข้าใจตรงนี้ ถึงเขาจะว่าต่ำต้อยขนาดไหน เขาจะว่าต่ำต้อยนะ เพราะว่าเราไม่ใช่สติปัฏฐาน ๔ เป็นสมถกรรมฐาน ต้องเป็นสมถกรรมฐานก่อน แล้วค่อยยกขึ้นวิปัสสนากรรมฐาน ไอ้นั้นน่ะที่ว่าเป็นสติปัฏฐาน ๔ เป็นการวิปัสสนา ความจริงแล้วเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ถึงปัญญาอบรมสมาธิเข้ามาแล้ว เพราะมันพิจารณาใช่ไหม เป็นปัญญาเหมือนกัน เห็นรูป เห็นเสียง เข้าใจหมด แล้วปล่อยวางๆ

ถึงบอกว่า ที่ว่าเราไม่ยอมรับว่าเป็นปัญญาอบรมสมาธิทั้งหมด เพราะว่าถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ มันจะเหลือสิ่งที่เป็นสมาธิไว้ไง สิ่งที่เป็นเอกัคคตารมณ์ สิ่งที่ใจนี้ตั้งมั่น สิ่งที่ใจนี้เป็นเรา สิ่งนี้เป็นคนจะไปช่วยคนจมน้ำไง

แต่นี้มันว่างหมด ว่างจนตรงนี้ก็ไม่มี “พิจารณานามรูปสิคะ แล้วปล่อยวางทั้งหมด”...แล้วเหลืออะไร อะไรเป็นแก่นสารของผู้ปฏิบัติ

เราถึงบอก มรรคผลก็พูดไม่ได้ ผลพูดถึงไม่ได้นะ ถ้าผลพูดนี้เป็นตัณหา ถึงบอก เออ ตำราเขียนไว้แปลกเนาะ ว่าจะพูดถึงผลก็เป็นตัณหาความทะยานอยากในผล แต่ถ้าผู้ปฏิบัติ เวลาทดสอบอารมณ์กัน อารมณ์จะเป็นอย่างนั้นๆ นั่นคือผลของมัน แต่ถ้าพูดถึงผลที่ว่าเป็นผล ผลที่ตกผลึกในใจ

ถึงบอกว่า กลั่นออกมาจากอริยสัจ เห็นไหม เรากลั่นออกมาจากอริยสัจ ใจนี้จากทุกข์ๆ อยู่นี่ แต่กลั่นออกมาจากอริยสัจ ออกจากอริยสัจไป แล้วถึงเป็นผลความรู้อันนั้น เป็นผลความรู้ไง นี่คืออาหารที่ว่าเป็นยานะ เป็นยาที่จะมารักษาใจเรา กินข้าว คำข้าวเป็นอาหาร อาหารของใจคือบุญกุศลเป็นอาหารนะ บุญกุศล จากกิเลสเป็นบุญกุศล ไปวัดไปวาไปทำอย่างไรกัน มันเป็นสังคมสังคมหนึ่งที่พึ่งกันด้วยร่างกายได้ สังคมของพระนี่ มันเมตตาธรรมค้ำจุนโลก เห็นไหม ถ้าพูดกันอย่างนั้น

แต่สังคมที่จะพึ่งกันด้วยใจ พึ่งกันด้วยใจนะ อาลัยอาวรณ์ คิดถึง ความอาลัยอาวรณ์ ความคิดถึง การแผ่ส่วนกุศล ใจ เวลาทำบุญกุศลแล้ว มันถึงมีขึ้นมา อยากให้คนมีความสุขอย่างนั้น อยากให้คนมีความเข้าใจอย่างนี้ ความวิตก ความกังวล ความหงอยเหงา ความระแวง ความเศร้าสร้อยของใจ ฟังสิ ไม่มีใครช่วยเอาออกให้ได้เลย มันสุมอยู่ที่ใจนั้นน่ะ มันสุมอยู่ที่ใจของเรา แล้วพอมันอิ่มเข้าไปจากสมาธิธรรม ต้องสมาธิธรรมนะ บุญกุศลมีขนาดไหน เราทำบุญขนาดนี้แล้วบุญจะมีขนาดไหน เราจะทำบุญแล้วทำไมไม่ประสบความสำเร็จ นี่มันน้อยอกน้อยใจ มันไปคิดตรงนั้น เห็นไหม พอคิดตรงนั้นมันเกิดตรงไหน นี่ความเศร้าสร้อย แต่ถ้าสมาธิเข้ามา มันจะแก้ตรงนี้ได้

บุญกุศลนี้มันจะเป็นโอกาส เป็นจังหวะ เห็นไหม สร้างบุญกุศลไป ให้มีการประพฤติปฏิบัติ หน้าที่การงานให้มันผ่านพ้นไป อุปสรรคมันจะผ่านพ้นไป บุญกุศลให้ผลอย่างนั้น แต่ความเศร้าสร้อยของใจ มันตกผลึกอยู่ที่ใจ ต้องสมาธิธรรมเข้ามาให้มันอิ่มได้ไง หิว โหย กระหาย ความพร่องของใจ ถ้าสมาธิเข้ามาให้ใจนี้อิ่มเต็มขึ้นมา มันก็ความเศร้าสร้อยนั้นก็หมดไป เพราะมันเต็ม พอมันเต็มนี่มันก็สุขใจ ความสุขใจอันนี้ เพราะมันอิ่มเต็ม นี่เป็นคุณประโยชน์มากเลย แต่ถ้าติดปั๊บ เป็นโทษทันทีแล้ว ติดในสมาธิไง ถ้าเข้าไปถึงสมาธิแล้วติดในสมาธินั้น อันนี้ทำให้เราก้าวเดินไปไม่ได้อีกแล้ว

แต่มันก็เป็นคุณประโยชน์สำหรับเป็นขั้นเป็นตอนขึ้นมา เป็นจากนับหนึ่ง ไม่มีหนึ่งนับสองไม่ได้ ถ้าว่าจะผิดหมด...ไม่ผิด จะเริ่มต้นจากตรงนั้น เพราะว่าการแสวงหาน้ำมัน เขาต้องใช้คลื่นวิทยุหาก่อน เห็นไหม แน่ใจว่าตรงนั้นมีแล้ว ถึงเอาเครื่องบินขึ้น แน่ใจว่าตรงนั้นมีแล้ว ถึงได้ลง เอาคนลงภาคพื้นดิน หายากขนาดนั้น ทั้งๆ ที่ว่าเราจะหาใจของเรา ใจของเรานี่แหละ หายากขนาดนั้น

ถึงบอกว่า เปิดอิสระให้เข้าได้ทุกช่องทาง ให้พลิกแพลงได้ตลอด การเข้าหาใจถึงว่านับหนึ่ง ทำอย่างไรก็ได้ให้เข้ามาเถอะ แต่อย่างที่ว่านี่แหละ เป็นสิ่งที่เหลืออะไรในใจ ทำแล้วเราได้ผลประโยชน์ไหม ไม่ใช่ทำแล้วเราไม่ได้อะไรเลย ได้แต่ศีลธรรมจริยธรรมไง คนคนนี้เป็นชาวพุทธ คนคนนี้ประพฤติปฏิบัติธรรม คนนี้เป็นคนที่มีเมตตาธรรม เห็นไหม นี่ศีลธรรมจริยธรรม กับอริยภูมิต่างกันนะ

การเข้าหาอริยภูมิ พูดนี้ไม่ใช่ว่าต้องการให้เป็นอย่างนั้นทั้งหมด แต่ในเมื่อศาสนาเรามีสมบัติขนาดนั้น อาจารย์มหาบัวบอกว่า ศาสนาพุทธเราเปรียบเหมือนห้างสรรพสินค้า มีของทุกอย่างเลย จากราคาเล็กน้อยจนราคาสูงส่งมาก เราเข้าไปแล้ว ถึงเราจะไม่ได้ เราก็ต้องมองสินค้า ให้ตาเรามองก็ยัง เออ! เราก็เคยเห็น

นี่ก็เหมือนกัน เราเชื่อในธรรมของพระพุทธเจ้าว่ามีระดับ ว่าอริยภูมิ มีความสูงส่งขึ้นไป มันเปิดโอกาสว่า ถ้าวันไหนมีเงิน เราซื้อได้สินค้านั้น ไม่ใช่เราปฏิเสธอำนาจวาสนาของเรา เข้ามาก็ซื้อนี่เฉพาะกระดาษทิชชู่ เพราะเรามีเงินแค่นี้ไง วันหลังค่อยมาค่อยเอากระดาษทิชชู่ กระดาษทิชชู่ บุญกุศลก็เหมือนกัน วันไหนก็ทำบุญๆ เราดูถูกวาสนาเราได้หรือ

อาหารของใจ อาหารของใจเราเสวยแล้วเรากิน ดื่มกินแล้วมันจะพัฒนาขึ้นไป ถึงบอกอันนี้ถึงว่ากายกับใจ แยกเลย ศาสนาพุทธเรานี่แยกเรื่องของใจ มีพระหลายองค์บอกเลย “ถ้าแยกเรื่องของใจแล้ว ให้เรานึกว่ากินข้าวแล้วสิ” เขาพูดอย่างนั้นจริงๆ เขาไม่เห็นด้วย เขาบอกว่า “ถ้าศาสนาพุทธเราเน้นที่ใจนะ เราไม่ต้องหุงหาอาหารกินกัน ให้นึกว่ากินข้าวแล้ว” เขาว่าอย่างนั้น โอ้โฮ! เขาพูดอย่างนั้น พูดต่อหน้าเราเลยนะ เราบอก โอ้! พระคิดอย่างนี้เนาะ

“เน้นที่ใจ” ใจนี้สัมผัสกับธรรม นิพพานอยู่ที่ใจ อริยภูมิทุกอย่างอยู่ที่ใจ คำว่าภพภูมิของใจ สูงต่ำอยู่ที่ใจ พระพุทธเจ้าเท่านั้นจะรู้เลยว่าใจนี้สูงต่ำขนาดไหน ใจเท่านั้น เลื่อนฐานะจากสถานะของปุถุชนเป็นอริยภูมิขึ้นไป ใจเท่านั้นเลย แต่การกินคำข้าวนี่มันเป็นการให้กระเพาะเรามีอาหารเท่านั้นเอง ให้ร่างกายเราแข็งแรงเท่านั้นเอง นี่ภพของมนุษย์ไง ภพของปุถุชน แต่ทำไมมันคิดแต่เรื่องหลักของวิทยาศาสตร์

ที่ว่าวิทยาศาสตร์ เรื่องของวิทยาศาสตร์ เรื่องของกฎ ทฤษฎีนี่สุตมยปัญญา จินตมยปัญญาคือจินตนาการนี้ไม่มีกฎทฤษฎีที่จะมาบังคับจินตนาการอันนี้ได้เลย แล้วจินตนาการนี้หมุนเข้าไป หมุนเข้าไป จนมันเป็นภาวนามยปัญญา แต่ถ้าสุตมยปัญญา มันจะคิดเฉพาะกรอบ กรอบอันนี้ต้องอธิบายให้ได้ แต่จินตนาการขึ้นไปนี่ยังอธิบายไม่ได้ แต่จินตนาการจนเห็นจริงตามนั้นน่ะ ก็ออกมาเป็นสุตมยปัญญา ก็ทำเป็นทฤษฎีขึ้นมาได้ แต่หมุนขึ้นไปก่อน ถ้าไม่มีจินตมยปัญญา มันจะหมุนไม่ออก มันจะคิดเฉพาะในกรอบ กรอบนั้นกิเลสคลุมไว้ กรอบนั้นกิเลสครอบคลุมไว้หมดเลย เขาอยู่ในกรอบอันนี้ไง

เขาถึงบอกว่า เราเน้นเรื่องใจ เน้นเรื่องใจ ถ้าเน้นเรื่องใจนี่มันไม่เห็น เพราะถ้าเราไม่เคยภาวนา พระไม่เคยภาวนา มันจะเน้นเรื่องนี้ เน้นบุญกุศล เรื่องอะไร เพราะว่าความเห็นขนาดนั้น ภพภูมิของใจเขาเป็นอย่างนั้น ฉะนั้นไม่ว่ากัน แต่เน้นที่ใจจริงๆ ศาสนาเราสำคัญตรงนี้เลย เน้นที่ใจ แต่ใจก็อาศัยกาย

เมื่อก่อนเราเจอคอมมิวนิสต์ เราเจอคอมมิวนิสต์บ่อย เราเข้าป่า วัตถุนิยมหรือจิตนิยม เขาถามเลย เขาบอกว่า “พระพุทธเจ้าเป็นคอมมิวนิสต์คนแรกของโลก”

เราบอก “ไม่ใช่ พระพุทธเจ้าไม่ใช่คอมมิวนิสต์คนแรกของโลก”

ดูนิ้วมือสิ นิ้วมือ ๕ นิ้วนี้ไม่เท่ากัน เห็นไหม พระพุทธเจ้าจะโง่ขนาดนั้นหรือ พระพุทธเจ้านี่ฉลาดแสนฉลาด เรื่องของกรรมมันไม่เหมือนกัน จะเสมอภาคไม่ได้ จะเสมอภาคหมายถึงว่า นิพพานเท่านั้น เสมอกันด้วยนิพพานคือเสมอกัน พระอรหันต์นี่เสมอกันด้วยความเสมอกัน แต่พระอรหันต์นี้ก็บารมีต่างกัน เห็นไหม พระอรหันต์เสมอกันด้วยความบริสุทธิ์นะ

แต่ดูสิ พระสีวลี รวยมากเลย ไปไหนมีแต่คนทำบุญเลย พระโลสกติสสเถระ เห็นไหม เป็นพระอรหันต์ ไม่เคยกินข้าวอิ่มเลย เป็นลูกศิษย์ของพระสารีบุตร จนพระสารีบุตรต้องจับบาตรไว้ “อ้าว! ฉันซะ” คนเราเกิดมานะ เป็นพระอรหันต์ด้วย แต่เกิดมาไม่เคยกินข้าวอิ่มแม้แต่มื้อเดียว ฟังสิ ทุกข์ไหม ทั้งๆ ที่เป็นพระอรหันต์นะ วันสุดท้ายพระสารีบุตรจับบาตรไว้ “ฉัน ฉัน” ฉันอิ่มมื้อนั้นแล้วก็นิพพานไปเลย

เห็นไหม ร่างกายไม่เสมอกัน บุญกุศลไม่เสมอกัน แต่เสมอกันด้วยนิพพาน คือว่าจบปริญญาตรีเหมือนกันหมด แต่คนละสาขา จบปริญญาตรีเท่ากัน ถึงจบปริญญาตรีถึงได้เป็นปริญญาตรี นั่นเสมอกันด้วยใจ ไม่ใช่เสมอกันด้วยวัตถุ แต่คอมมิวนิสต์เขาเสมอกันด้วยวัตถุใช่ไหม นิ้วทั้ง ๕ ให้มันเท่ากันได้ไหม แต่ถึงที่สุดแล้วมันไม่ใช่

เราถึงบอกกับเขาบอกว่า “ไม่ใช่จิตนิยมและไม่ใช่วัตถุนิยม ศาสนาพุทธเราไม่ใช่จิตนิยม และไม่ใช่วัตถุนิยม เพราะกายกับใจมันเกี่ยวเนื่องกัน มันระหว่างกลางนั้นไง ใจคือจิตนิยม กายคือวัตถุนิยม”

บุญกุศลมันเกิดที่ไหน ถ้าไม่มีร่างกาย ใครจะทำบุญกุศล แต่ถ้าไม่มีเจตนาคิด ใครจะไปทำ เห็นไหม มันอยู่ระหว่างจิตนิยมกับวัตถุนิยมต่างหาก ศาสนาเรานี่มัชฌิมาปฏิปทา ไม่เน้นหนักลงไปที่กายหรือใจ แต่ถ้าพูดถึงเวลาเราเชื่อขึ้นมาแล้ว เรามีกายขึ้นมาก่อน แล้วเราฟังขึ้นมาก่อน แต่เวลาเราปฏิบัติ โอ้โฮ! มันเรื่องของใจล้วนๆ แต่ก็ตั้งอยู่บนกายนี่

พระพุทธเจ้าถึงได้บอกไง ภิกษุบวชเมื่อแก่ ภิกษุบวชแก่ว่าง่ายสอนง่าย ไม่เคยเห็น ภิกษุบวชเมื่อแก่ เป็นภิกษุที่ว่ายากสอนยาก เห็นไหม ใช้ร่างกายเสียจนง่อยเปลี้ยแล้วนะ แล้วพอแก่แล้ว อายุเจ็ดสิบแปดสิบนั่งก็ปวด ขยับก็ปวด ถึงเวลาจะออกสงครามสู้กับกิเลส มันต้องร่างกายตั้งแต่กำลังเข้มแข็ง

นี่มันถึงว่า กายกับใจ ถ้าร่างกายนั้นแก่แล้ว มันเจ็บไข้ได้ป่วยตลอดเวลา ภาวนาก็ยาก เห็นไหม มันอยู่ระหว่างกายกับใจ แต่เวลาออกรบแล้วใจสำคัญกว่า แต่ก็ต้องอาศัยกายนี่ไป หลวงปู่มั่นบอกอาจารย์มหาบัวอดอาหารมาก ลงมาจากเขาน่ะ “โอ้โฮ! ทำไมเป็นอย่างนั้นน่ะ” ดีซ่าน เหลืองหมดเลย เห็นแล้วก็กลัวลูกศิษย์จะไม่มีแรง ไม่มีกำลังใจไง “เอ้อ! นักรบต้องเป็นอย่างนั้นสิ”

แต่ตบท้าย เห็นไหม “กิเลสมันอยู่ที่ใจนะ กิเลสไม่ได้อยู่ที่กาย การมุมานะขนาดไหนก็ต้องรักษากายไว้ เพื่อให้ใจนี้อยู่ในร่างกายนั้นไง เพื่อจะให้พ้นกิเลสไป ถ้ารุนแรงจนเกินไป ร่างกายมันก็จะเสียไป” ทุกข์ขนาดนั้น นี่หลวงปู่มั่นสอนอาจารย์มหาบัว ท่านพูดให้ฟังบ่อยเลย ประจำเลย เรื่องอย่างนี้

ถึงบอกระหว่างกายกับใจ อาหารของใจ อาหารของกายก็ยอมรับอยู่ แต่ในเมื่อเราจะเน้นถึงความทุกข์ เน้นถึงว่าไม่ให้มีความเฉาในหัวใจเลย ไม่มีความเฉา ไม่มีอะไร เราก็ต้องเอาจริงเอาจัง แต่ก็อาศัยกายนั่นแหละ อาหารกายและอาหารใจ