ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

บริกรรมสำคัญ

๒๙ ธ.ค. ๒๕๕๒

 

บริกรรมสำคัญ

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่  ๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๒

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

           

หลวงพ่อ :     เอ้า พูดมาใหม่

ถาม :            อยากจะถามว่าคำบริกรรมพุทโธ คำว่าบริกรรมนี่คืออะไร คือนึกขึ้นมาในใจ ท่องนึก..นึก..นึกขึ้นมา

หลวงพ่อ :     ใช่

ถาม :           หรือว่าท่องออกไป

หลวงพ่อ :     ใช่ คำบริกรรม คือมันเป็นการกระทำของจิต จิตมีการกระทำงาน ถ้าจิตไม่มีการทำงาน จิตมันเร่ร่อน จิตมันเร่ร่อนนะ ปกติเห็นไหมเรานั่งอยู่เฉยๆ  ความคิดเรามันจะผุดตลอดเวลา มันจะไปล่อกแล่กตลอดเวลาเลย ความคิดเราล่อกแล่กตลอดเวลา ทีนี้คำบริกรรม ก็คือคำบริกรรมไง  ทีนี้บริกรรมว่าอะไรล่ะ บริกรรมว่าพุทโธ ถ้าใช้พุทโธคือคำบริกรรม ทีนี้คำบริกรรมมันไม่ใช่เฉพาะที่มีแค่เฉพาะพุทโธ พุทธานุสสติ ธรรมานุสสติ สังฆานุสสติ มรณานุสสติ มันก็นึกทั้งหมดเป็นคำบริกรรมทั้งหมดเลย

ถาม :           ใช้นึกหรือว่าท่องออกมาครับ

หลวงพ่อ :     ใช้นึกหรือท่องนั้นมันอยู่ที่หยาบหรือละเอียด  ถ้าหยาบต้องท่องออกมาเลย ถ้าไม่ท่องมันนึกไม่ได้ มันนึกนี่นะมันนึกแล้วมันก็เร่ร่อน มันต้องท่องก่อน ท่อง ท่อง ท่อง ท่องจนชำนาญ พอเราท่องจนชำนาญแล้วเห็นไหม มันเหมือนกับ เขาขุดคลอง เขาเริ่มขุดคลอง เขาเริ่มปล่อยน้ำออกมาเห็นไหม พอน้ำไปตามคลองนั้นมันไหลไปตามคลอง มันชะตามคลองนั้นจนเป็นทางน้ำไปเลย

คำว่าท่องมันก็คือเริ่มต้นใหม่ใช่ไหม พอเริ่มต้นก็ต้องท่องไปก่อน จนมันชำนาญ มันชำนาญเห็นไหม มันนึกเองเห็นไหม นึกเอาหรือท่องมันอยู่ที่คุณภาพของคนทำ

ถาม :                     ครับ คือเรานึกก็นานเหมือนกัน แล้วก็..

หลวงพ่อ :     หายไป เพราะมันไม่ชำนาญเห็นไหม ถ้าไม่ชำนาญเราก็พูด เราก็ท่องออกมาได้ ท่องหรือนึกมันอยู่ที่ประสบการณ์ของจิตไง แล้วจำเป็นมาก จำเป็นว่าต้องมีสิ่งนี้อยู่ตลอดเวลา ถ้าไม่มีสิ่งนี้ตลอดเวลา จิตจะเกาะอะไร พอมันหายไปนั่นคือจิตไม่มีหลักแล้ว ถ้าจิตไม่มีหลักแล้ว  เวลาในเกมส์กีฬา ฟุตบอลในแมทช์หนึ่ง ๔๕ นาทีเขาจะหยุดพัก หยุดพักไม่เล่น หรือมาเริ่มต้นใหม่ได้ไหม ไม่ได้ เขาต้องเล่นจนหมดเวลาไปใช่ไหม  เว้นไว้แต่ว่ากรรมการเขายุติการแข่งขันต่อเมื่อมันมีเหตุการณ์ในสนามนั้น

นี่ก็เหมือนกันถ้าเราใช้คำบริกรรม พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ ไปแล้วมันจะหายไป เราหยุดเองไง เราไม่มีสิทธิ นักฟุตบอลไม่มีสิทธิที่จะหยุดใช่ไหม

ถาม :                        ใช่  แต่ว่านั่นคือว่าไม่มีสติมันอีกเรื่องหนึ่งด้วย

หลวงพ่อ :     ใช่ เราจะเปรียบเทียบให้เห็นว่า ถ้าเราขาดคำบริกรรม มันจะขาดการปฏิบัติอย่างไรไง ที่ทำไมมันถึงมีความจำเป็นไง เราจะบอกว่าถ้ามีความจำเป็นอย่างนี้ เพราะในเวลาแข่งขันกีฬาหนึ่งนัด เขาต้องมีเวลาของเขา ทีนี้เรากำหนดเวลาว่าเราจะภาวนา ๑๐ นาที ๒๐ นาที ๓๐ นาที เห็นไหมถ้าช่วง ๑๐  ๒๐  ๓๐  นาที เราภาวนา พุทโธ พุทโธ พุทโธ จนถึงที่สุดหมดเวลา เราไม่เผลอเลย เราไม่เผลอในสตินี้เลย เราไม่เผลอในการขาดคำบริกรรมนี่เลย อย่างนี้จิตเราจะพัฒนาไปเรื่อยๆ

แต่คนเราก็มีง่วงเหงาหาวนอน  มีการทำงานมา มีการกระทบจิตใจมา มันแตกต่าง การแข่งขันทุกรายการจะไม่ได้สม่ำเสมอตลอดไป นี่ไงกำหนด พุทโธ พุทโธ  เรากำหนดพุทโธ เดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็ไม่ดี มันอยู่ที่คุณภาพจิตของเราด้วย เราจะเน้นตรงนี้ไง เราจะเน้นให้เห็นความสำคัญของมัน คำว่าคำบริกรรม หลวงตาท่านจะเน้นย้ำประจำ ต้องมีคำบริกรรม ต้องมีคำบริกรรม

ถ้าไม่มีคำบริกรรมมันเลื่อนลอย พอเราเลื่อนลอยเราปล่อยมัน ก็เหมือนเด็กของเราเราจะฝึกเด็ก แล้วเด็กนี่เราไม่ควบคุมมันเลย เด็กมันไม่พัฒนา เด็กมันก็จะเป็นเด็กอย่างนั้น ทั้งที่ธรรมชาติของเด็กมันต้องพัฒนาของมัน มันต้องโตของมัน แต่โตโดยที่ว่าไม่มีสมอง กับโตโดยที่มีสมองต่างกันไหม จิตที่มันมีคุณภาพของมันกับจิตที่ปล่อย มันเร่ร่อนมันก็โตเหมือนกัน เด็กก็ต้องโตแต่จิตนั้นไม่โต  

เคยได้ยินคำว่าเฒ่าทารกไหม มีอายุจะเป็นจะตายอยู่แล้ว ยังไม่รู้จักจิตของตนเอง ยังไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษ มันโตไหม ภาคปฏิบัติในตอนนี้เวลาปฏิบัติก็ว่าพุทโธก็ยาก พุทโธ อย่างนี้โยมทำนี้มันยาก มันไม่ง่ายหรอก แต่มันเป็นวิสัยของมนุษย์ที่จะทำได้ มนุษย์ต่างจากสัตว์ สัตว์มันอาศัยมีอยู่มีกิน มันก็มีชีวิตอยู่ของมันเท่านั้นแหละ

แต่มนุษย์มีคุณธรรม มนุษย์มีสมอง มนุษย์มีการกระทำเห็นไหม มนุษย์มีความสามารถมนุษย์พัฒนาได้ มนุษย์มีสมอง มนุษย์มีความสามารถพัฒนาได้ ถ้ามนุษย์พัฒนาได้พัฒนาตรงไหน ที่ใช้พัฒนา พัฒนาที่เขาสอนเอาไว้ พอเรามาพุทโธปุ๊บเราก็ว่ายาก เราว่าลำบาก แล้วพอมีคนเสนอทฤษฎีใหม่ขึ้นมาว่า ไม่ต้องทำอะไรเลยอยู่เฉยๆ มันจะเป็นเอง ก็พอใจแล้ว

ถาม :           ก็ฟังอยู่ครับแต่ก็รู้สึกว่า มันรู้สึกเองว่าเหมือนกับมันไม่ไปทางนั้น ตัวผมเองนะว่า มันไม่ใช่นะ

หลวงพ่อ :     มันไม่ใช่ เราจะบอกว่ามนุษย์ไง ที่เวลาเราพูดออกไป ออกไป ทุกคนก็จะย้อนกลับมาว่า ทำไม เราออกไปพูดทำไม เพื่อประโยชน์อะไร แล้วมันเพื่อประโยชน์อะไรล่ะ เราไม่มีส่วนได้เสียกับเขาเลย เรามีส่วนได้เสียกับคนอื่นที่ไหนบ้าง การปฏิบัติ ปัจจัตตัง  สันทิฏฐิโกเฉพาะตนทั้งนั้น ส่วนได้เสียของเราคือ ความดีความชั่วของเรา เราทำดีจริงหรือเปล่า เรารู้จริงหรือ เราเห็นจริงเห็นจังหรือเปล่า

ทีนี้ถ้าเราเห็นมันจริงหรือเท็จ เราเห็นจริงของเรา เรามั่นใจของเรา เราเสนอทฤษฎีว่าเป็นความจริงความเท็จเพื่อสังคม  เรามีส่วนได้ส่วนเสียอะไรกับเขา เห็นไหม แล้วถ้าพูดถึงลูกศิษย์ของเราเองนะ หลวงพ่อไปเปลืองตัวทำไม ทุกคนก็ไม่อยากให้เราทำหรอก นี่เฉพาะถ้าพวกลูกศิษย์ที่เป็นพวกเรานะ แต่ถ้าฝ่ายตรงข้ามเขาก็บอกว่า เราหาเรื่อง คือลูกศิษย์เราเองก็บอกว่าพูดไปทำไม  ไอ้ของเขาก็ว่า เราไปพูดเพื่อไปชี้จุดบอดเขาทำไม

ถาม :           แต่ความคิดผมเหมือนกับว่า จะมีคนส่วนหนึ่งเขาได้ฟัง แล้วเขาอาจจะคิดว่าเหมือนกับมันไปทางไหนแน่ เขาเลยไปทางนั้นแล้วมันไม่ใช่ ก็มีส่วนหนึ่งที่กลับมา

หลวงพ่อ :     มีส่วนหนึ่งที่กลับมา  ใช่

ถาม :                     ก็ไปแล้ว  คือถ้าเขาไปเลยก็คงต้อง...

หลวงพ่อ :     วาสนาของเขา หลวงตาใช้คำว่า สายบุญสายกรรม เขาสร้างบุญกุศลกันมา เขาสร้างอย่างนั้นมามันก็เรื่องของเขา แต่ทีนี้เรื่องของเขามันก็สิทธิของเขา ถ้าสิทธิของเขาเนี้ยมันก็สายบุญสายกรรม ถ้ามันสร้างทำให้คนอื่นเดือดร้อนไปด้วยล่ะ ไอ้ตรงนี้เราเสนอออกไปเฉยๆ นะ เสนอออกไป เพราะอะไร ประสาเรา เราไม่เดือดร้อน ไม่เดือดร้อนว่าเราต้องถูกเพราะอะไร

เพราะถ้าเรามีสติสัมปชัญญะเห็นไหม กาลามสูตรไม่ให้เชื่อ ความเชื่อความศรัทธา ศรัทธาเป็นอริยทรัพย์ของมนุษย์นะ ถ้าไม่มีศรัทธาความเชื่อเราจะเข้ามาสู่ศาสนาได้อย่างไร มันเป็นอริยทรัพย์ส่วนหนึ่ง เราต้องเชื่อก่อน เวลาเราปฏิบัติเห็นไหม อย่างเช่นหลวงตา ท่านปฏิบัติมา ท่านจบมหามานะ แต่พอมาฟังหลวงปู่มั่นปั๊บเห็นไหม เอ๊ะเราฟังเทศน์สมเด็จก็ฟังมาแล้ว เราฟังเทศน์ปริยัติ ปริยัติคือวิชาการ เราฟังมารู้หมดนะ

แต่พอมาเจอหลวงปู่มั่นเทศน์ปฏิบัติ เทศน์ข้อเท็จจริงนี่ไม่รู้เรื่องเลย ท่านต้องปรับตัวท่านเองเข้าไปหาเห็นไหม ท่านจะปรับตัวเข้าไปหา เราก็ฟังเทศน์สมเด็จมาหมดแล้ว ครูบาอาจารย์เราฟังมาหมดแล้ว แต่ทำไมเราฟังเทศน์หลวงปู่มั่นไม่เข้าใจ ท่านพยายามปรับตัวของท่านเพราะอะไร  เพราะสิ่งนี้ปัญญาคนละชั้นกัน  เพราะอะไรเพราะมันสุตมยปัญญา จินตามยปัญญา ภาวนามยปัญญา ถ้าปัญญามันพัฒนาเข้าไปแล้วพอมันลงใจเห็นไหม เห็นไหมต้องมีความเชื่อไปก่อน

ถ้าเรายังไม่มีวุฒิภาวะ ถ้าเราเชื่อครูบาอาจารย์ แล้วเราต้องพิสูจน์ไง พอหลวงตาท่านอยู่กับหลวงปู่มั่นเห็นไหม ท่านฟังหลวงปู่มั่นท่านก็มั่นใจ แล้วท่านเก็บเล็กผสมน้อยเพราะทางวิชาการท่านแม่นอยู่แล้ว ท่านเป็นมหา ท่านจบมาเยอะ เรียนทางวิชาการมาพอสมควร ท่านสังเกตว่าทำดี ทำถูกต้องไหม แล้วพอทำเสร็จแล้วก็เปิดในวินัย ทั้งๆ ที่ในวินัยเรายังรู้ไม่ถึงท่านเลยนะ เราอยู่กับกองตำราแต่ท่านทำอะไรมันถูกต้องไปหมดนะ

แล้วพอไปดูในตำรา เช่น สมัยโบราณ สมัยหลวงปู่มั่นนะทางวิชาการก็บอกว่าไม้เกีย ไม้เกียหมายถึงว่าไม้แคะฟันต้องยาว ๔ นิ้ว ทางวิชาการนะเขาพยายามทำวิจัยว่ามัน ๔ นิ้วได้อย่างไร เพราะในพระไตรปิฎกเห็นไหม ไอ้ไม้สีฟันพระฉัพพัคคีย์นะ มันเหลาให้ยาวเป็นศอกนะ แล้วมันตีเณรร้องไห้ ในพระไตรปิฎกเขามี แต่พวกเราไม่เคยใช้ พวกเราไม่เคยใช้เพราะมันเป็นยุคสมัย แล้วนี่มันมีได้อย่างไร

พอเขาทำทางวิชาการปั๊บช่วงนั้นไม้เกียยาว ๔ นิ้ว มันเป็นอย่างไร พอถามพระปฏิบัติเรายกขึ้นมาเลย ไม้เกียเป็นอย่างนี้ แล้วไม้เกียมาจากใคร มาจากหลวงปู่มั่นเป็นผู้บุกเบิก ท่านทำมาไม้สีฟัน ไม้เกียมันเป็นไม้โกทา มันเป็นยาสีฟันพอตีทุบไปเห็นไหมข้างหนึ่งให้มันเป็นฝอย มันเป็นไม้ข่อยมันเป็นยาสีฟัน แล้วอีกข้างหนึ่งก็ใช้แคะฟัน

มันอยู่ในวินัยมุข มันมีไปหมดล่ะ แต่มันอยู่เป็นตัวหนังสือ ไม่มีใครเอาออกมาเป็นข้อเท็จจริงที่สามารถพิสูจน์ได้ แล้วหลวงปู่มั่นท่านเอามาให้เห็น นี่ไง เป็นอย่างนี้ไง วิชาการยังไม่รู้เรื่องเลย ทางวิชาการมันมีแต่มันไม่มีตัวตน มันไม่มีข้อเท็จจริงที่เราจะเข้าใจได้ แล้วเราบอกว่าไม่ให้เชื่อ ไม่ให้เชื่อ มันก็ต้องมีหลักเกณฑ์ของมันนะ

เราเชื่อเพื่อโอกาสของเรา เชื่อให้เราเข้ามาศึกษา เชื่อครูบาอาจารย์ไว้ก่อน แต่เวลาปฏิบัติไปแล้ว จริงไม่จริงมันพิสูจน์ได้ นี่ไงหลักการเราพิสูจน์ตรงนี้ไง ศาสนาพุทธสำคัญตรงนี้ไง ฉะนั้นเราต้องมี “คำบริกรรม” ต้องมีคำบริกรรมนะ เพราะคำบริกรรมมันเป็นการส่งต่อจิตเข้ามา ลูกศิษย์เราบอกเห็นไหม นาฬิกามีเข็มสั้น เข็มยาว

จิตคือพลังงานของเรา ความรู้สึกของเราคือพลังงานของเรากับความคิด เรายังมีความคิดอยู่ พุทโธคือความคิด โดยธรรมชาติของมนุษย์เป็นอย่างนี้ เข็มสั้น เข็มยาวมี ๒ เข็ม เราพุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ จนเข็มมันซ้อนกันเห็นไหม มันเป็นหนึ่งเดียวเห็นไหม จากความคิดกับจิตมันจะเป็นอันเดียวกัน นี่สมาธิเกิดตรงนี้ จากเดิมเข็มสั้นเข็มยาวมันแยกออกจากกันตลอดเวลา ความคิดกับพลังงานของเราจะแยกตลอดเวลา

ความคิดเกิดดับใช่ไหม แต่จิตไม่เคยดับถ้าดับคือตาย แม้แต่นอนหลับยังฝันเลย ทีนี้พอความคิดกับจิต พลังงานเห็นไหม ตัวพลังงานคือตัวจิตกับความคิด แล้วมนุษย์มันเป็นอย่างนี้ แล้วเราก็ใช้ปัญญากันอยู่อย่างนี้ ปัญญาที่เราใช้กัน แล้วพอความคิดดับไป มันก็ว่างหมดไม่มีอะไร ว่างๆ ว่างๆ เห็นไหม มันเข้าไม่ถึงจิตไง พอปัญญาเกิดอย่างนี้มันคือปัญญาเกิดจากสัญชาตญาณ ปัญญาเกิดจากตรรกะ มันไม่ใช่ปัญญาเกิดจากจิต

ถ้าปัญญาเกิดจากจิต คำบริกรรมมันสำคัญตรงนี้ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธจนมันเป็นเนื้อหาสาระคือตัวมันเป็นพุทโธเอง นายแดงเข้าใจว่านายแดงเป็นขโมยแล้วนายแดงลักของเขามา นายแดงเป็นคนเอา ทุกคนก็รู้ แต่จับตัวนายแดงไม่ได้ เห็นไหม นี่ก็เหมือนกัน เราจับตัวพุทโธไม่ได้ เราก็เอ๊อ สมาธิเป็นอย่างไร ความสุขเป็นอย่างไร แต่พอมันซ้อนกัน อืม... มันจะมีความสุขมากนะ แล้วความสุขอย่างนี้ มันจะมีความสุขอยู่แล้ว มันมีฐานของมัน ขนาดออกไปแล้ว นึกถึงก็ยังมีความสุขของมัน มันเกิดได้อย่างไร

เราจะอธิบายคำว่า “บริกรรม” นี่ไง พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ ส่วนใหญ่แล้วโดยกิเลส กิเลสคือความเคยใจของเรา พอมันว่างๆ สบายๆ เห็นไหม เราวิตกกังวล เราทุกข์ยากมากเลย เวลาเราฟุ้งซ่านความฟุ้งซ่านจะเกิดจากจิต พุทโธ พุทโธก็เอาความคิดจากความฟุ้งซ่านเอามาคิดพุทโธแทน ทีนี้พอพุทโธมันถึงไม่ยอมเพราะอะไร เพราะพุทโธเป็นพุทธานุสสติ พุทธานุสสติ เราระลึกถึงพระพุทธเจ้ามันเป็นธรรมะ

แต่ถ้าเราคิดถึงอารมณ์ความรู้สึก อารมณ์ที่ขุ่นมัวในใจมันชอบ มันมันของมันเห็นไหม พอมันจะเปลี่ยนแนวความคิดมันไม่ยอม ทีนี้พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พอมันสบาย สบายขึ้นมามันจะปล่อยแล้วมันขี้เกียจ คำบริกรรมสำคัญตรงนี้ไง มันถึงแว้บหายไปเลย ว่างๆ ว่างๆไง แล้วพุทโธ พุทโธจนเป็นเนื้อเดียวกันนะ คำบริกรรมสำคัญตรงนี้ สำคัญว่ามันต้องบริกรรมไป แต่เราจะไปหยุดมันก่อน หายก่อน เข้าใจว่ามันหยาบ พอจิตเราละเอียดเองความรู้สึกมันละเอียด เออ..ละเอียดแล้วโว้ย ถ้านึกพุทโธมันสั่น มันไหว มันไม่ดีนั่น

คำบริกรรมพิสูจน์กันตรงนี้ คำบริกรรมนะ ลูกศิษย์มาเยอะมากเลย บอกต้องพุทโธแล้วพุทโธไปเรื่อยๆ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธจนกว่าจะพุทโธไม่ได้ นึกอย่างไรตะโกนอย่างไรมันก็ไม่ออกมานะ นั่นคือตัวของมัน เพราะมันซ้อนกันแล้ว มันนึกไม่ได้เพราะมันไม่มีพลังงานส่งต่อ แต่ถ้ายังนึกได้แล้ว ถ้ามันแว้บหายไป มันยังไม่เข้าถึงนี่เห็นไหม แล้วแว้บหายไปก่อนใช่ไหม

คำบริกรรมของเรามันสะพานนะ สะพานที่จะให้เราไปสู่อีกฟากหนึ่งนะ สะพานมันขาด สะพานไม่ถึงอีกฟากหนึ่ง ไปถึงอีกฟากหนึ่งไหม เราจะบอกว่าบริกรรมคำ“พุทโธ”มันจะหดจิตเราเข้าสู่ความสงบได้เลย นี่แค่สมถะนะ นี่ยังไม่ใช่สมาธินะ แล้วพอไปแล้ว มันยังมีกรณีที่มันจะต้องไปอีกเยอะแยะเลย ถ้าปัญญามันจะเกิดนะ

ถาม :              เพิ่งจะเริ่มลงมาได้สักเดือนกว่านี่เองครับ แล้วก็ไหนๆจะมาเริ่มแล้ว ก็เลยจะถามให้ชัวร์ๆ ว่าต้องทำอย่างไร

หลวงพ่อ :     กอดมันไว้แน่นๆ พุทโธ พุทโธ พุทโธ กอดมันไว้แน่นๆ

ถาม :           เริ่มจากท่องเลยใช่ไหมครับ

หลวงพ่อ :     “ท่อง” ถ้ามันไม่เอา เห็นไหมอย่างเมื่อกี้นี้ถ้ามันฟุ้งซ่าน มันไม่พอใจ ท่อง แต่ถ้ามันละเอียดอ่อนมันนึกได้ มันนึกได้จากจิต อ้า..อยู่ตรงนั้น เราควบคุมเองไง เราเป็นคนควบคุมในการปฏิบัติเห็นไหม เรารู้เองนะ รถ เกียร์ ๑ เกียร์ ๒ เกียร์ ๓ เกียร์ ๔ ออกตัวก็ต้องเกียร์ ๑ แต่ถ้ามันไปแล้วเราจะอยู่แต่เกียร์ ๑ ตลอดไปมันก็ไม่ได้ ต้องตบเกียร์ ๒ เกียร์ ๓ เกียร์ ๔

ท่อง ท่องไปก่อน ท่องคือใส่เกียร์ ๑ ไปก่อน ถ้าจิตมันดีขึ้นเห็นไหม แล้วเราเห็นแล้ว เครื่องมันรอบมันได้แล้ว เราจะเหยียบอย่างนี้รอบมันก็ฟรี ท่องในใจ แต่ถ้ามันขึ้นถึงทางลาดชันมันไม่ไหวแล้วเครื่องมันจะดับ กลับมาท่อง  กลับมาท่อง

ถาม :           ในขณะที่เราทำครั้งหนึ่ง

หลวงพ่อ :     ใช่

ถาม :           เราก็สังเกตไปเลย

หลวงพ่อ :     ใช่ 

ถาม :           สุดท้ายก็คือเราท่องขึ้นมาแทน

หลวงพ่อ :     ใช่ เพราะไม่ท่องก็หลับ ไม่ท่องก็หาย มันต้องแก้ไขไปเรื่อยๆ ถ้าไม่ท่องมันไม่ชัดเจนไง พอเราไปๆ สติเราอ่อน จิตเราอ่อน พออ่อนไปๆ แว้บหายเลย พุทโธชัดๆ แล้วไม่ต้องไปฟังใคร ใครจะบอกว่ามันดีแล้ว ดีแล้ว อย่าเชื่อ อย่าเชื่อ อย่าเชื่อ มันจะเป็นเอง อย่าเชื่อใครทั้งสิ้น ให้เชื่อจิตที่มันเป็น ประสบการณ์ของเรา แน่ๆ เลย เอาให้แน่ๆ ชัดๆ คำบริกรรมไง

ถ้าใครจะพูดอย่างไรให้เขาพูด ทีนี้คนที่พูดนี่นะเวลาเขาพูดมันก็ร้อยแปด เขาจะพูดอย่างไรมันต้องคนแบบว่าถึงกันทันกันแล้วพูด ประสาเราตอนนี้นะคนตาบอดสอนคนตาบอด ทุกคนรู้ตามทฤษฎีแล้วคาดหมายกันไป แต่ถ้าไปเชื่อตรงนั้นนะ จบเลย เพราะเขาตาบอด เพราะเขาไม่เคยสัมผัส ถ้าคนเคยสัมผัสมันรู้เลยนะ มันรู้เลยว่าที่เราทำมาทั้งหมด มันไม่เข้าถึงตรงนี้ แล้วพอมาถึงพุทโธ จนเป็นพุทโธเอง อ๋อ... มันถึงตรงนี้ เห็นไหมที่ไม่เคยถึงกับถึงก็ต่างกันแล้ว ตรงนี้มันถึงว่าคนที่รู้คนที่เห็นมันถึงจะเป็นจริง จบไหม

ถาม :           ครับก็ที่เหลือคือต้องทำเองนะครับ

หลวงพ่อ :     ที่เหลือทำเองหมด  

ถาม :           แต่ก็คือว่ารู้ทางที่ต้องเป็นหรือว่าต้องทำ

หลวงพ่อ :     ต้องให้ความมั่นใจแล้วมั่นใจไหม แล้วมั่นใจเด็ดขาด เพราะอะไรรู้ไหม ถ้ามันมีปัญหาขึ้นมา การปฏิบัติของพวกเรานะ เริ่มต้นมาจากหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น แล้วถ้ามันผิดพลาดขึ้นมา หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ท่านนิพพานไปแล้วเผากระดูกเป็นพระธาตุหมด ถ้าท่านมีอะไรผิดพลาดตั้งแต่ท่าน ท่านบอกเราแล้ว

แล้วหลวงปู่มั่นก็สอน “พุทโธ” หลวงปู่เสาร์ก็สอน “พุทโธ” ครูบาอาจารย์ก็สอนพุทโธทั้งนั้นนะ มีอานาปานสติบ้าง มีคำบริกรรมแบบว่าสั้นบ้างยาวบ้าง มี แล้วแต่จริตนิสัยของคน บางอย่างพุทโธมันสั้นเกินไปมันไม่ดี อย่างเช่นหลวงปู่อ่อนได้คำบริกรรมที่หลวงปู่มั่น เป็นคนให้เองให้ยาว ฉะนั้นถึงบอกว่าคำบริกรรมจะว่าอะไร พุทโธ ธัมโม สังโฆ มรณานุสสติ เทวดานุสสติ ได้ทั้งนั้น แต่มันต้องมี ไม่มี ไม่งั้นไม่มีอะไรเกาะ

จิตเราทุกคนว่าตัวเองดีทั้งนั้น รักตัวเองทั้งนั้น แต่เวลาจะค้นหาตัวจริงๆ ทำไมหาไม่เจอ เพราะมันเป็นนามธรรมที่มันเหนือการควบคุมของเรา ถ้ามันเหนือการควบคุมต้องบังคับให้มันแสดงตัวไง ให้มันเกาะอะไรไว้ให้เรารับรู้ไง แล้วพอมันเป็นตัวมันเองนะ อือฮื้อ…ร้องอือฮื้อ.. แล้วอู้หูยทำไมครูบาอาจารย์เวลากราบพระพุทธเจ้านี่ แหม ทุกคนกราบด้วยหัวใจเลยนะ พอมันเป็น อือฮื้อ เหมือนว่าถึงบางอ้อไง ไอ้เรียนมาหัวทิ่มหัวตำมันเรื่องหนึ่ง เรียนมาหัวทิ่มหัวตำเลยนะ..จำเขามาทั้งนั้นเลย สินค้าสงวนลิขสิทธิ์นะ หลอกเขาเอามาขายนะ พอตัวเองทำได้เองนะ โอ้โฮ..คนละเรื่องเลย

ถาม :              ถามอีกเรื่องหนึ่งครับ ศีลนี่ ก็คือมีส่วนช่วยให้เหมือนกับว่าไม่ให้มีอะไรรบกวนเรามากขึ้น สมมุติว่าศีล ๕ กับศีล ๘ อย่าง แล้วศีล ๘ ก็เหมือนกับว่าไม่ให้มีอะไรมารบกวนใจเรามากเกิน

หลวงพ่อ :     ใช่ ใช่ ใช่ ศีลเป็นรั้วกั้น มีศีลจะดีมาก เพราะศีลเป็นรั้วกั้น ถ้าศีล ๘ เห็นไหมศีล ๒๒๗ ถ้าศีล ๒๒๗ มันยิ่งดีขึ้น อันนี้ถ้าเรามีศีล ๘ จะช่วยโยมได้เยอะมากเลย เพราะถ้าศีล ๕  เรากินข้าวเย็น ปกติมนุษย์ต้องมีศีล ๕ อยู่แล้ว พอศีล ๘  ไม่กินข้าวเย็นจะทำให้เราไม่ง่วงนอน

ถาม :           ผมเคยลองกินข้าวมื้อเดียวอยู่ประมาณเดือนหนึ่ง ก่อนที่จะมาที่นี่ เริ่มแรกมีคนที่สอนเป็นพวกที่เขาเรียกกันว่า “ร่าง” ครับ  

หลวงพ่อ :     เขาให้หายใจเข้าออกหรือ

ถาม :           หายใจแรงๆ ครับ

หลวงพ่อ :     เออ ว่าไป

ถาม :           เคยใช่ไหม ไม่รู้พอจะเข้าใจไหม เขาให้ทำอย่างนี้ (แสดงกิริยาให้ดู)

หลวงพ่อ :     เข้าใจ เขาจะให้ตื่นตัวตลอดเวลา ความรู้สึกเราเขาก็จะต้องให้ตื่นตัวตลอดเวลาใช่ไหม

ถาม :           พอสุดท้ายคือให้เป็นสมาธิครับ ให้เงียบลง

หลวงพ่อ :     เบาลง การหายใจให้เบาลง แปลกเนอะ

ถาม :           ตอนแรกคือหายใจแรงๆ แรงมากเลยนะครับ แรงมากเลยนะครับ ทีนี้บางทีเขาสอนให้ยกขึ้นมาทั้งตัว

หลวงพ่อ :     เออ แล้วพอเข้าสมาธิมันเบาลงอย่างไร

ถาม :           ก็มันดูเงียบนะครับ

หลวงพ่อ :     เราจะเบาไปเองใช่ไหม

ถาม :           แต่ว่าผมไปไม่ค่อยได้ ผมรู้ว่า คือมันเหมือนกับว่ามันไม่ใช่นะครับ คือลองๆ ดู

หลวงพ่อ :     ใช่ เราจะเอาอย่างนี้ไง เราจะฟังโยมพูดให้จบกระบวนการของโยม แล้วเรามาเทียบเคียงเอาไง อย่างเช่นอานาปานสติก็คือกำหนดลมหายใจเข้าออก การกำหนดลมหายใจเข้าออกของพระพุทธเจ้า อานาปานสติ การกำหนดลมหายใจเข้าออกนี้มันต่อเนื่อง ต่อเนื่องยาวนานเห็นไหม มันหรี่อ่อนไปเรื่อยๆ เห็นไหม ไอ้หายใจแรงๆ มันกระตุกขึ้นมาใช่ไหม เราเข้าใจนะ พอโยมพยายามพูดมา เราจะจับประเด็นนะว่าเขาทำเพื่อเหตุใด

ถ้าเราหายใจแรงๆ พอกระตุกขึ้นมา กระตุกให้ความรับรู้มันตื่นตัว นี่ก็คือการกระตุกให้ความรับรู้มันตื่นตัว ให้มันชัดเจนใช่ไหม แล้วให้เบาลง..เบาลง..เบาลง มันเป็นเทคนิคของใครคนใดคนหนึ่งที่ทำได้ แต่จะไปสอนให้คนอื่นทำอย่างนี้หมด ไม่ได้ เพราะพระพุทธเจ้าจำแนกไว้เลยว่าสัตว์โลกมันแตกต่างกันโดยกรรม

ถ้างั้นอย่างที่ว่าให้หายใจสะดุ้งตื่นขึ้นมา มันก็หมือนกับการ... เห็นไหมดูหลวงพ่อเทียนสิ ใช้การเคลื่อนไหวเห็นไหม ทีนี้การเคลื่อนไหวมันเกี่ยวกับการเดินจงกรม เราเดินจงกรมเราก็เคลื่อนไหวอยู่แต่ทำไมสงบได้ แล้วทีนี้เทคนิคการแก้หลับ เทคนิคการแก้การตกภวังค์ เทคนิคของครูบาอาจารย์แต่ละองค์ไม่เหมือนกัน อันนี้เป็นร่างทรง มันก็เป็นเทคนิคของเขาใช่ไหม

ถาม :           ก็..จริงๆ แล้วผมไปที่วัดๆ หนี่ง พระท่านก็สอนมาแล้วก็ ร่างทรงก็เป็นลูกศิษย์นะครับ

หลวงพ่อ :     เอ้อเฮอ..เป็นลูกศิษย์พระหรือพระเป็นลูกศิษย์ของร่างทรง เอ้อ เอาให้แน่

ถาม :           ร่างทรงเป็นลูกศิษย์พระ ความจริงพระ ผมพูดต่ออีกนิดได้ไหมครับ

หลวงพ่อ :     ได้

ถาม :           ผมเคยไปถามลูกศิษย์ว่า ไปถามคนขับรถนะสนิทกัน ก็ถามว่าทำไมพระถึงมีลูกศิษย์เป็นคนแบบนี้เยอะ คนขับรถก็บอกว่า พระท่านพยายามจะคุมพวกนี้ไว้ให้อยู่ภายในขอบเขตของศาสนา ไม่ให้ทำตัวให้มันเกินเลยข้ามไป อันนี้นะครับที่ผมถามคนขับรถมา

หลวงพ่อ :     ถ้าเขาคิดของเขาโดยพุทธภูมิเขาจะสร้างบารมีมันก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าเป็นพระเรากรณีอย่างนั้น เราต้องพยายามชักนำออกมาให้พ้นจากนั้นมาเลย เพราะว่าอะไร เพราะพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สูงกว่า พระรัตนตรัยนะถ้าพูดถึงโดยหลัก แต่ถ้าเขาคิดของเขาอย่างนั้นก็เรื่องของเขา

ถาม :           ผมเคยไปคุยกับเขา เขาก็บอกว่าผมมาคนละทางกับเขา ประมาณนี้

หลวงพ่อ :     ใช่ ถ้ามาคนละทางกับเขา เราก็มาตามสายของเราสิ เวลาของเราปฏิบัติ เราอยู่กับครูอาจารย์มาเยอะ แล้วเราพยายามจะตั้งหลักของเราให้ได้ ถ้าเป็นสมบัติของคนอื่นเราก็ อย่างที่ว่าเชื่อ เชื่อเพื่อที่จะให้ท่านชักนำเรา แต่ถ้าความจริงของเราก็ต้องเกิดจากเรานั่นแหละ สมบัติของครูบาอาจารย์กับสมบัติของเรามันคนละสมบัติกัน พระสารีบุตรไม่เชื่อพระพุทธเจ้า พระสารีบุตรเป็นพระอรหันต์เหมือนกัน พระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์เหมือนกัน เห็นไหมโดยหลักของใครของมัน

ถ้างั้นอย่างเวลาเข้าไป มันอย่างว่าถ้าคนยังไม่รู้เลยก็จะเข้าไปศึกษา ถ้าศึกษาแล้วจริงไม่จริงเราก็ออกมาเอง แล้วมาเอาความจริง  อย่างเช่นลมหายใจแรงชัดๆ พอชัดๆ มันก็เหมือนการเคลื่อนไหวเลย การพยายามตื่นรู้อยู่ พวกนี้มันต้องพยายามไม่งั้นมันจะตกภวังค์มันจะหายไป ตื่นรู้อยู่ แต่ทีนี้เป็นร่างทรงแบบประสาเราว่า สอนอะไรไม่ได้อยู่แล้ว

ถาม :           แต่เขาก็บอกเหมือนกัน เขาบอกว่านั่งสมาธิแล้วรักษาด้วยพอมีส่วนด้วยไหมครับ ผมขอถามของหลวงพ่อเทียนคือให้มีสติใช่ไหมครับ

หลวงพ่อ :     มีสติ เพื่อไม่ให้หลับ ไม่ให้มันหายไปไง

ถาม :           แล้วก็คือเหมือนกับว่า มีสตินั่นก็คือแค่รู้ ว่าตอนนี้กำลังเกิดอะไรขึ้นอยู่

หลวงพ่อ :     ให้ตื่นตัว

ถาม :           แล้วรู้ตลอด รู้ตั้งแต่ตอนต้นที่เกิด ไม่ใช่ไปรู้ตอนปลายใช่ไหมครับ แล้วก็ดับกันตอนต้นอย่างนี้ใช่หรือเปล่า

หลวงพ่อ :     ไม่หรอก ไอ้นี่มันอยู่ที่ความชำนาญอยู่ที่ใครปฏิบัติได้มากปฏิบัติได้น้อย ไอ้ต้นปลายนี้ถ้าคนที่ปฏิบัติไม่ถึงมันก็ไม่เห็นต้นปลาย เห็นแต่ปัจจุบันใช่ไหม แต่ถ้าคนปฏิบัติแล้วคำว่าไม่เห็นต้นปลาย นี้คือมันเห็นที่มาที่ไป  จิตละเอียดจิตหยาบต่างกัน อย่างนี้ดีกว่าอย่างเพื่อนเราเขาปฏิบัติกันเขามีลูกศิษย์ปฏิบัติใหม่ ลูกศิษย์ปฏิบัติปานกลาง ลูกศิษย์ปฏิบัติเข้มข้นมีไหม ต้องมีใช่ไหม

ถาม :           อืม ผมเพิ่งเข้าไปไม่นานครับ ส่วนมากเป็นงานวัด แล้วก็ในลักษณะที่เข้าไปไม่กี่ครั้ง

หลวงพ่อ :     ใช่ ถ้าอย่างนี้แล้วมันเป็นการปฏิบัติเป็นพิธีกันเฉยๆ เดี๋ยวนี้ในการประพฤติปฏิบัติมันแบบมันมีศักยภาพ เวลาเขาทำงานกัน เขาจะเอาการปฏิบัติมาเป็นไอ้นี่ แต่สำหรับเรา เราปฏิบัติมันต้องจริงจังของเรา ทำของเราเลย ผิดถูกมันอยู่ที่เราปฏิบัติจริงๆ จังๆ นี่แหละ พอถ้าเราเป็นจริงของเราแล้ว เรารู้ว่าสมบัติอะไร อะไรเป็นสมบัติจริง สมบัติโลก เราจะเอาจริงของเรา งั้นกรณีอย่างนี้แล้ว มันทั่วไปนะ แล้วเราจะเอาอย่างนี้เป็นประเด็นไม่ได้

ยิ่งเดี๋ยวนี้ทรงเจ้าเข้าผีมันเต็มไปทั่วประเทศไทย แล้วทรงเจ้าเข้าผี เวลาเขาทรงเจ้าเข้าผีแล้วเขามาสอนเรา พอเสร็จแล้วออกจากร่างทรงไปแล้ว ไปถามเขา ก็ถามไม่ได้แล้ว แล้วพอทรงใหม่มาอีก ทรงใหม่มันก็ตำราใหม่มา แล้วไอ้ที่สอนไว้ครั้งที่แล้ว กับไอ้คนที่มาในทรงใหม่ มันคนเดียวกันหรือเปล่าวะ เนอะ อันนี้วางไว้ อันนี้ไม่เกี่ยว แล้วเราไม่เอาอันนี้มาเป็นอารมณ์เลย

ขณะที่เราปฏิบัติกันซึ่งๆ หน้า เรายังจับประเด็นไม่ได้เลย ขนาดว่าจิตวิญญาณกับเราจะมาสื่อกัน แล้วจะมาสอนกัน ยิ่งยุ่งเข้าไปใหญ่เลย เราเป็นพระซึ่งๆ หน้า คุยกันอยู่อย่างนี้ ยังจับประเด็นกันไม่ถูก แล้วยิ่งทับทรงด้วย แล้วยิ่งมาคุยกันยิ่งไปใหญ่ อันนี้วางไว้ เพียงแต่ตอนนี้เราจับประเด็นตอนที่ว่ามันหายใจแรงๆ นี่ เราอ๋อหายใจแรงๆ แล้วค่อยผ่อนลงผ่อนลงถ้ามันดีก็ดี ถ้าไม่ดีก็หายไปเหมือนกัน

แต่พระพุทธเจ้าหรือหลักพุทธศาสตร์ มันต้องเสมอต้นเสมอปลาย แล้วทำต่อเนื่อง อย่างเช่นอานาปานสติ อย่างเช่นคำบริกรรมต้องต่อเนื่องแล้วเป็นเอง แต่พวกเรามันไม่ต่อเนื่องแล้วมันขาดช่วงขาดตอน ขาดช่วงขาดตอนในการกระทำอย่างหนึ่ง ขาดช่วงขาดตอนในการปฏิบัติขณะปัจจุบันนั้นอย่างหนึ่ง มันถึงตกภวังค์ มันถึงหายไป แล้วพอหายไป เราก็พยายามฟื้นฟูตรงนี้ แล้วพยายามทำให้มั่นคงตรงนี้ แล้วเดี๋ยวจะกลับมาได้ประโยชน์

ถาม :           แล้วก็ตอนที่นั่งสมาธิก็คือ ที่บ้านบางทีก็เป็นห้องเขาก็ดูหนังนะครับ ก็ดูประมาณสักห้าทุ่มเที่ยงคืนประมาณตีหนึ่ง

หลวงพ่อ :       หลบหลีกเอา

ถาม :           ถ้าในชีวิตประจำวันนะครับ  พอดีผมทำงานขับรถส่งของ ทำอะไรได้บ้าง

หลวงพ่อ :     ขับรถส่งของ ถ้าเราทำขับรถ เวลาถ้าเราขับรถเราก็มีสติ เรามีสติอยู่กับมัน สติอยู่กับงานนะ นี่คือการปฏิบัติอย่างหนึ่ง อย่างเช่น เช่นเราสวดมนต์ สวดมนต์ นะโม ตัสสะ ภควโต  พุทธัง ธัมมัง สังฆัง เห็นไหมนี่ก็คือคำบริกรรมนะ เรามีสติอยู่กับมันกำหนดพุทโธนะ ถ้าเราขับรถขับราเราอยู่กับสติยิ่งดีใหญ่ ยิ่งไม่ประมาทใหญ่ ยิ่งขับรถยิ่งถูกต้องเลย

แต่เหตุการณ์อย่างนั้นเราฝึกสติเราไปเรื่อยๆ แล้วพอถึงเวลามานั่ง มันมีเวลาเราก็มาภาวนาของเราให้ยิ่งจริงจังเข้าไปอีก คือเราทำมาจากโน้น เราทำมาจากชีวิตประจำวันไง เวลาขับรถถ้าสติสมบูรณ์เห็นไหม เราจะขับรถปลอดภัยมากเลย ก็อาชีพเราเลย ดีสิ เพราะหลวงปู่ฝั้นสอนไว้ ชีวิตประจำวันในรถเมล์เห็นไหมพอขึ้นรถนะนั่งรถไปก็พุทโธไปสิ ลมหายใจเข้าหายใจออกสิ

ไอ้นี้เราไม่ต้องขนาดนั้นเพราะเราต้องรับผิดชอบใช่ไหม เราก็อยู่กับงานนั้นล่ะ แล้วพอเผลอ นี่มึงหนึ่งเผลอ พอเผลอสองเผลอ วันนี้กี่เผลอ แล้ววันหน้าเอาใหม่ ฝึกไปอย่างนี้ มันก็เป็นประโยชน์กับเรา แล้วพอมานั่งภาวนามันอีกเรื่องหนึ่งเลย เขาเรียกวัวผูก รักษาจิตไว้ตลอดเวลา เวลามันจริงจังก็เข้าปั๊บนี่ หลับตาเลยพุทโธลงไม่ลง อันนี้ไม่มีความรับผิดชอบจากหน้าที่การงานแล้ว อันนี้รับผิดชอบตัวเราเอง จิตกับเรารับผิดชอบกันแล้ว เราคุมมาทั้งวันแล้ว เราดูแลใจเรามาตลอดเลย

แล้วปัจจุบันนี้เรารับผิดชอบ จิตกับเรานี่ฟัดกันเลย เราทำไปเรื่อยๆ ศีลสำคัญ ศีลคือความปกติของใจ แล้วศีลจะเป็นพื้นฐานของสมาธิ เพราะมีศีลมันถึงเป็นสัมมาสมาธิ เพราะขาดศีลเวลาเกิดสมาธิเป็นมิจฉาเพราะอะไร เวลาพวกคุณไสย พวกเข้าองค์ทรงเจ้าเขาก็ใช้สมาธิเหมือนกัน พอได้สมาธิแล้วเอาเป็นประโยชน์ในการทำเครื่องรางของขลัง เห็นไหม

กับเรามีสมาธิแล้วเราก็มีความสงบใจของเรา เพราะอะไร เพราะถ้าเราไปทำเครื่องรางของขลังมันเป็นโทษหรือเป็นคุณล่ะ ถ้าเราใช้เป็นคุณเราก็เป็นคุณ ถ้าใช้เป็นโทษเราก็มีส่วนร่วมกับเขาเห็นไหม ถ้าเรามีศีลนะ ศีลทำให้สมาธิเป็นสัมมาสมาธิ ถ้าไม่มีศีลเป็นระเบียงเครื่องกั้น เพราะการปาณาติปาตา การรังแก การเบียดเบียนกันเห็นไหม มันผิดศีลหมดล่ะ แต่แล้วเราเบียดเบียนตนหรือเปล่า เราเบียดเบียนกิเลสหรือเปล่า เราเบียดเบียนตัวเองหรือเปล่า

เรามีศีลนี่เราบังคับตัวเราเองหรือเปล่า อันนี้มันเป็นเรื่องส่วนตัวไง มันเป็นเรื่องความที่เราต้องการคุณงามความดีไง แล้วผิดศีลล่ะ นี่คือตัวศีลเลยล่ะ ตัวศีลคือความปกติของใจเห็นไหม ตัวศีลนี่เป็นพื้นฐานนะ พื้นฐานให้จิตมีรั้วกั้นไม่ให้จิตนี้ฟุ้งซ่านไปข้างนอก แล้วถ้ามันเป็นสมาธิขึ้นมา ไอ้ตัวศีลตัวพื้นฐานของศีล จะทำให้สมาธิเราเป็นสัมมาสมาธิ ถ้าไม่มีศีลแล้วเป็นสมาธิแล้ว แหมมีพลังแล้วนะทำอะไรก็ได้ อยากรู้โน้นรู้นี่ อยากเห็นไหม มันไม่มีรั้วกั้น งั้นเราก็รักษาของเราไป ศีลเป็นพื้นฐาน ทาน ศีล ภาวนา จบเนอะ  เอวัง