เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๙ ส.ค. ๒๕๕๓

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๕๓
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เราเป็นชาวพุทธ พุทธศาสนา พุทธะ ผู้รู้ ผู้มีสติปัญญา ผู้เอาตัวเองรอดจากความทุกข์ ถ้าพ้นจากทุกข์ได้ แต่ถ้ายังไม่พ้นจากทุกข์ ต้องเผชิญกับความทุกข์ เพราะความทุกข์เป็นสัจธรรม ทุกข์นี้เป็นอริยสัจ ทุกข์นี้เป็นความจริง

แต่พูดถึงว่า เราบอก “เราต้องการความสุข เราไม่ต้องการเผชิญกับความทุกข์” เราจะแก้ทุกข์ไม่ได้ เพราะเราไม่รู้ถึงเหตุปัจจัยที่ให้เกิดเหตุแห่งทุกข์ “ชาติปิ ทุกขา” ชาติเป็นความเกิด เป็นความทุกข์อย่างยิ่ง แต่เพราะมีการเกิดถึงมีการตาย ตายแล้วก็ต้องเกิด เพราะสิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ เพราะเรามีจิต เรามีปฏิสนธิจิต มันจะเวียนตายเวียนเกิดไปตามกรรมตามเวรต่างๆ

แต่เพราะเราเกิดมาพบพระพุทธศาสนา พุทธศาสนาสอนให้เรา... “พุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน” ผู้รู้ ผู้ตื่นนี้ ทำให้เรามีสติปัญญา หาช่องทางที่เราจะเอาชีวิตเรา เพื่อความสุขพอสมควรในอัตภาพ ในการต่อสู้กับกิเลส

เราเกิดมาจากพ่อจากแม่ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย เราให้มรดกตกทอดกันมา ให้ชีวิตมา ให้การศึกษามา ให้มรดกตกทอด ให้เป็นการดำรงชีวิตต่อไป

ในสังคมศาสนา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บริษัท ๔ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เราเป็นอุบาสก อุบาสิกา เป็นเจ้าของศาสนา ได้รับมรดกตกทอดมา ถ้าเราเปลี่ยนศาสนา เราไปถือศาสนาอื่น เราก็เปลี่ยนแปลงไป แต่ถ้าเราไม่เปลี่ยนแปลงไป เราจะเข้าถึงพุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน

ผู้รู้ ผู้ตื่นเห็นไหม เรามีการศึกษา เราหาวิชาชีพกัน เราศึกษาทางวิชาการมา วิชาการนี้เป็นการดำรงชีวิต เป็นความอยู่ของวิทยาศาสตร์ ความอยู่ของปัจจัยเครื่องอาศัย ความอยู่ของโลก มันจะตกทิ้งไว้แต่โลกนี้ เราไม่เกิดมาโลกก็มีอย่างนี้ เราเกิดมาเราก็เจอสภาพโลกอย่างนี้ เราตายไปโลกนี้ก็ยังมีอย่างนี้ วิทยาศาสตร์มันก็จะคงที่ของมันไปอย่างนี้ มันเปลี่ยนแปลงไปตามแต่สภาพแวดล้อมของมัน

แต่จิตนี้เวลาเปลี่ยนสถานะ เกิดแต่ละภพ แต่ละชาติได้สถานะหนึ่ง ชีวิตหนึ่ง ความเห็นหนึ่ง มันเปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะแวดล้อมเหมือนกัน

ถ้าเราไปเกิดในลัทธิต่างๆ ถึงบอกว่าเกิดเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนา แต่ไม่สนใจในพุทธศาสนา สนใจในลัทธิ ในคำสอนอย่างอื่น เราก็เชื่อถือเห็นไหม

ความเชื่อเป็นศรัทธา ดึงให้เราเข้ามาฟังธรรม เข้ามาประพฤติปฏิบัตินะ ความเชื่อ! ความเชื่อไม่ใช่แก้กิเลส... ถ้าเราจะแก้กิเลสของเรานี่ มันต้องเป็นสัจจะความจริง เราต้องเข้าเผชิญกับความจริง ความจริงเห็นไหม เราไม่กล้าเผชิญกับความจริง แต่เวลาเราไปหาครูบาอาจารย์ จะให้แต่ครูบาอาจารย์เอาแต่ความสะดวกสบายมาให้เรา เอามรรคผลที่ชุบมือเปิบมาให้เรา มันเป็นมรรคผลชุบมือเปิบ มันก็เป็นมรรคผลของโลกไง

เป็นโลกเพราะอะไร เป็นโลกเพราะเรารู้ได้ใช่ไหม พ่อแม่สั่งสอนเรามา ต่อไปเราโตขึ้นมา เรามีครอบครัวขึ้นมา เราก็จะเป็นพ่อแม่ เราก็จะสอนลูกของเราไป

ความรู้ของโลก คือสามัญสำนึก ความรู้สามัญสำนึก ความรู้วิทยาศาสตร์นี่มันศึกษาได้ มันเรียนกันได้ มันเข้าใจได้ ความเข้าใจได้เห็นไหม นี่มรรคผลชุบมือเปิบ! มันไม่เป็นความจริง

ถ้ามันเป็นความจริง มันต้องล้วงลึกเข้าไปในหัวใจของเรา ในหัวใจของเรานะ ปฏิสนธิจิตมันมีสามัญสำนึกครอบงำมันอยู่ ความที่สามัญสำนึก อวิชชา ความไม่รู้เท่าในตัวมันเองครอบงำมันอยู่ แล้วความรู้เกิดบนสามัญสำนึก ในอวิชชาออกมานี่ มันจะเป็นมรรคผลนิพพานไปได้อย่างไร มันเป็นมรรคผลนิพพานไปไม่ได้ มันเป็นสามัญสำนึก

แต่เพราะเราเกิดมาเป็นชาวพุทธ พบพระพุทธศาสนา พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ของเราก็เป็นชาวพุทธ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ก็พาเราทำบุญกุศล พาเราหัดภาวนา นี่พ่อแม่ของเรา ปู่ ย่า ตา ยาย ของเรา ก็นับถือศาสนาพุทธ ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา

แต่ในปัจจุบันนี้ ในกึ่งพุทธกาล เราเกิดมาเป็นชาวพุทธ พบพระพุทธศาสนา เรามีครูมีอาจารย์ไง ครูบาอาจารย์ของเรานะ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ของเราบอกว่า “ฟากตาย” เวลาปฏิบัติไปนะ กิเลสของเรานี่ เวลามันจะต่อสู้กับเรา อวิชชา ความไม่รู้ สามัญสำนึกนี่ เวลาเราต่อสู้กับมัน มันบอกว่า “เอ็งต้องตายนะ! เอ็งทรมานตัวเองมากเกินไปแล้วนะ! เอ็งทำอย่างนี้ไปนี่ เอ็งจะมีปัญหากับชีวิตตัวเองนะ!” มันจะหลอกเราตลอดเวลา

ฉะนั้นเวลาจิตของเรา มีสมาธิของเรา มีปัญญาของเรานะ เราจะต่อสู้กับความตาย เราจะเผชิญกับความตาย เราต้องการหาว่าความตายมันเป็นอย่างไร นี่ธรรมะฟากตาย! ฟากตาย! เพราะกิเลสถึงที่สุดแล้ว มันไม่มีอะไรที่เป็นอาวุธที่ร้ายแรงที่สุดกับความตายนี่หรอก

เวลามันข่มขู่เรานะ “จะเจ็บไข้ได้ป่วยนะ! จะเป็นจะตายนะ...ตายแน่ๆ!! ตายแน่ๆ!!” ไอ้เรา เออ! ถ้าตายก็พักไว้ก่อนเนาะ นี่เห็นไหม แค่นี้มันก็พ่ายแพ้กับกิเลสของเราแล้ว นี่การพ่ายแพ้กับกิเลสเห็นไหม นี่ศาสนทายาท เราเป็นธรรมทายาทนะ เราจะประพฤติปฏิบัติธรรมกัน เราจะมีความเข้มแข็ง

ดูสิ ทางโลกเขา ใครมีความเพียร มีความวิริยะ มีความอุตสาหะ แล้วถ้ามีปัญญาด้วย เขาจะประสบความสำเร็จของเขา

เราจะประพฤติปฏิบัติธรรม เราจะรื้อภพรื้อชาติของเรา เราจะทำด้วยความอ่อนแอ เราจะทำด้วยความชุบมือเปิบ เราจะทำด้วยความเห็นแก่ตัวของเรา เห็นแก่ตัวนะ! มนุษย์ทุกคนเห็นแก่ตัว! เห็นแก่ตัวคือเข้าข้างตัวเองไง ถ้าเข้าข้างตัวเอง ตัวเองคิดว่าสิ่งใดชอบใจ คิดว่าสิ่งใดเข้ากับความคิดเรา

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนไว้ “กาลามสูตร” ไม่ให้เชื่อ เว้นไว้แต่เราคิดแล้วมันเปรียบเทียบได้ เราคิดแล้วมันเข้ากันได้ เราคิดว่าเป็นครูบาอาจารย์เราสอน เราคิดว่าสังคมเขามีคนเชื่อถือมากมาย นี่กาลามสูตรทั้งนั้น พระพุทธเจ้าไม่ให้เชื่อ...ไม่ให้เชื่อ...

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราประพฤติปฏิบัติไป หัวใจของเรามันเข้าไปสัมผัส มันก็จะเชื่อของมันเห็นไหม นี่คืออะไรล่ะ กิเลสอย่างหยาบๆ ดูสิ คนเขาไม่เข้าวัดเข้าวากัน เขาไม่ทำบุญกุศลกัน เขาเรียกว่าคนนั้นไม่มีศาสนา

พอเราเข้าวัดเข้าวา เราทำบุญกุศลของเรา เรามีศาสนาแล้วเห็นไหม นี่มันก็ละเอียดเข้ามา แล้วละเอียดเข้ามานี่ ทาน ศีล ภาวนา เห็นไหม มีทาน มีศีล มีภาวนา แล้วภาวนาของเรา เวลาเกิดปัญญาของเราขึ้นมานี่ มันจะเกิดปัญญาขึ้นมาจากไหนล่ะ นี่ธรรมทายาท ศาสนทายาท

เราบำเพ็ญธรรมบารมีกัน เพื่อจะประพฤติปฏิบัติ จะเข้าไปสู่สัจธรรมอันนี้ ถ้าเราเข้าสู่สัจธรรมอันนี้ นี่พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ให้มรดกตกทอดเรามานะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมและวินัยไว้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสียสละมา ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย เพื่อความพร้อม เพื่อความเป็นศาสดา เพื่อความรื้อสัตว์ขนสัตว์

คำว่ารื้อสัตว์ขนสัตว์ เห็นไหม จะรื้อขนพวกเรานี่ไป รื้อสัตว์ขนสัตว์พวกเรา นี่ให้มรดกตกทอดมา พอให้มรดกตกทอดมา เวลาพ่อแม่เราให้มรดกตกทอดมา เป็นแก้วแหวนเงินทอง เป็นมรดกตกทอด เราได้เป็นสมบัติ เราก็อยากได้

แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ศีล ให้ทาน ให้ภาวนามา ให้ศีล ให้ทาน ให้ภาวนานี่ เราต้องประพฤติปฏิบัติ เราต้องพยายามค้นคว้า เราต้องพยายามต่อสู้ เราต้องพยายามกระทำ เห็นไหม ตบะธรรม เรามีสติปัญญาขึ้นมานี่ แผดเผาหัวใจของเรา จากคนดิบให้มาเป็นคนสุก หัวใจที่มันดิบ หัวใจที่มันดื้อ เราต้องแผดเผามันด้วยสติปัญญาของเรา เราต้องมีตบะธรรม เราจะเข้าต่อสู้

นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้มรดกไว้ แต่เราจะใช้มรดกนั้นอย่างไร ถ้าเราจะใช้ให้ความเป็นจริงของเรา ใช้ให้เป็นสมบัติของเรา เราต้องเผชิญกับความจริงทุกๆ อย่าง เผชิญกับความจริงนะ เราจะหลบไม่ได้ เวลาต่อสู้ เราเป็นนักรบ รบกับกิเลสตัณหาความทะยานอยากของเรา

ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “ในการศึกสงคราม ชนะศึกสงครามคูณด้วยพัน คูณด้วยล้าน ไม่มีประโยชน์ใดเลย มันสร้างเวรสร้างกรรม ผู้แพ้มีความอาฆาตมาดร้ายผู้ชนะ” นี่ก็สร้างกรรมสร้างเวร มันจะมีเวรมีกรรมกันตลอดไป

แต่ถ้าชนะใจของเรา ดูสิ บังคับให้นั่งสงบๆ นี่ บังคับให้เดินจงกรมนี่ มันไม่มีเวรมีกรรมนะ ไม่มีภัยต่อใครเลย มันมีประโยชน์กับเราทั้งนั้นเลย การฆ่า การทำลายล้าง ในทางโลก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บังคับห้าม เห็นไหม ปาณาติปาตา ห้ามทำร้ายกัน...ห้ามส่อเสียดกัน ห้ามเสียดสีกัน...ห้ามทำทุกๆ อย่างเลย

แต่การชำระล้างเห็นไหม ตัดผ่าความรกชัฏของใจ การฆ่ากิเลส องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสรรเสริญ การฆ่ากิเลส การทำลายทิฐิมานะของเรา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสรรเสริญนะ

การทำลายทางโลก การทำลายล้างกันนี่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีแต่ห้าม มีแต่ติเตียน แต่การทำร้าย เอาชนะตนเอง ทำร้ายทิฐิมานะ มันเป็นนามธรรม กิเลสเป็นนามธรรมนะ มันอาศัยหัวใจเรานี่เกิด มันเกิดบนใจนะ

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ เวลาเยาะเย้ยมัน “มารเอย...เธอเกิดจากความดำริของเรา” ฟังสิ! ฟังว่ามารน่ะ มันเกิดบนดำริ...เกิดบนดำริ...พอดำริ มารมันอาศัยสิ่งนั้นแสดงตัวออกมา นี่ “เราจะไม่ดำริถึงเจ้าอีกแล้ว เจ้าจะเกิดบนใจของเราอีกไม่ได้เลย” เจ้าจะเกิดบนใจเราอีกไม่ได้เลยเห็นไหม มารนะ มันอาศัยใจเราเป็นที่พักที่อาศัย ที่อยู่ที่กินของมันเห็นไหม

หลวงตาท่านบอกว่า “เวลาเรามีความเข้มแข็ง มีความฮึกเหิม แหม! มีความกระฉับกระเฉง จะภาวนานะ” กิเลสมันยังไม่ตื่นไง... พอกิเลสมันตื่นขึ้นมานะ ล้มกลิ้งเลยนะ “เอ่อ! ไม่ไหวแล้ว! โอ๊ย! เมื่อยแล้ว โอ๊ย! ไม่มีเวลาแล้ว” ถ้ากิเลสยังไม่ตื่นนะ กระฉับกระเฉง เห็นไหม

“มารเอย...เธอเกิดจากความดำริของเรา” มันอาศัยหัวใจของเราอยู่ พอมันนอนหลับสบายนะ เราก็ แหม! ภาวนาดีเนาะ อู้ฮู...หัวใจสดชื่น แจ่มใส พอมันตื่นขึ้นมานะ มันกระทืบทีเดียวนะ เลิกหมดเลย เห็นไหม

นี่มันอยู่กับเรา มันเป็นนามธรรม มันเกิดจากหัวใจของเรา ฉะนั้น เราจะต่อสู้กับมัน ต่อสู้กับกิเลสของเรา เราก็ต่อสู้กับความเคยชินของเรานี่แหละ ต่อสู้กับทิฐิมานะของเรานี่แหละ สิ่งใดที่มันไม่สมควร ไม่เป็นคุณงามความดี ไม่เข้ากับธรรมได้ เราฝืนมัน เราอย่าทำ เราทำสิ่งใดก็แล้วแต่ที่เข้ากับธรรมได้

อย่างเช่น เรามาวัดมาวา พอมาวัดมาวาแล้วนี่ วัดที่ไหนล่ะ ข้อวัตรปฏิบัตินะ วัดถึงจริตนิสัย คนขยันหมั่นเพียรเขาจะทำของเขาเรียบร้อย วัตร ข้อวัตรปฏิบัติ มาวัดวัดใจ เราตั้งกติกาของเราขึ้นมา เราจะนั่งสมาธิกี่ชั่วโมง เราจะเดินจงกรมกี่ชั่วโมง เราจะทำสิ่งใดเห็นไหม เรามีกติกาขึ้นมา นี่มีวัตรขึ้นมาแล้ว

มาวัดก็มานั่งอยู่ในศาลา กระเบื้องมันคลุมอยู่นี่ แต่ถ้าเรามาวัดจริงๆ มันเกิดที่หัวใจเรานะ มันวัดถึงคุณงามความดีของเรา วัดถึงความขยันหมั่นเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะ ความอดทน ความต่อสู้ ถ้ามีการต่อสู้ สติปัญญามันจะต่อสู้ เวลาต่อสู้กับกิเลส เวลาธรรมกับกิเลสนะเก้าอี้ดนตรี ถ้าธรรมมันนั่งนะ นั่งได้เต็มก้นนะ โอ้โฮ...มีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข

ถ้ากิเลสมันตั้งอยู่เต็มหัวใจ เก้าอี้นั้นคือภพ เก้าอี้นั้นคือภวาสวะ เก้าอี้นั้นคือหัวใจ แล้วกิเลสมันนั่งเต็มก้นมัน ถ้ากิเลสมันนั่งเต็มก้นนะ ไม่มีสิ่งใดเลย หายใจไม่ออกเลยนะ มีแต่ความทุกข์ร้อน เราต้องฝึกฝน มันเกิดกับเรา

เหรียญมี ๒ ด้าน กิเลสกับธรรมต่อสู้กัน ถ้ามีสติปัญญาเราจะแยกแยะได้ว่า อะไรเป็นกิเลส อะไรเป็นธรรม ถ้าเราแยกแยะได้เห็นไหม เรามีทางออก แต่นี่เราแยกแยะไม่ได้ กิเลสเป็นเรา ทุกสิ่งเป็นเรา อะไรไม่ได้เลยนะ ลุกขึ้นนั่งก็เมื่อย จะเดินก็ขี้เกียจ มันเป็นเรา ทุกอย่างเป็นเราหมดเลย

แต่เราพักไว้ก่อน ถ้าทิฐิมานะมันสงบตัวลง เป็นสัมมาสมาธิ มันปลอดโปร่งโล่งโถงหมดเลย แล้วถ้ามันเกิดปัญญาขึ้นมา คำว่าเกิดปัญญาต้องฝึกฝนนะ ปัญญาไม่เกิดเอง ปัญญาเกิดเองเป็นปัญญาของกิเลส ปัญญาเกิดเอง มันเกิดบนจิต เกิดบนภพ มันเกิดโดยสามัญสำนึก มันเกิดโดยธรรมชาติ

แต่ถ้าเป็นปัญญาโดยโลกุตตรปัญญา ปัญญาเกิดจากสมาธิ สมาธิไม่มีตัวตน สมาธิเป็นกลาง ใจเป็นกลาง เป็นสัมมา มันเป็นมัชฌิมา มันเป็นกลาง พอเป็นกลางขึ้นมา กลางเพราะไม่มีเรามีเขา มีเรามีเขาเราเข้าข้างตัวเอง กิเลสมันก็เข้าข้างเรา

ปฏิบัติมา ๒ ชั่วโมงได้เป็นพระอรหันต์แล้ว ถ้าปฏิบัติอีก ๕ ชั่วโมงนะ จะเป็นอาจารย์ของพระอรหันต์ นี่มันให้คะแนนของมัน เห็นไหม มันไม่เป็นกลาง มันเข้าข้างตัวมันเอง

แต่ถ้ามันเป็นกลางขึ้นมาเห็นไหม มัชฌิมาปฏิปทา มันเป็นสัมมาสมาธิ แล้วถ้ามันเกิดปัญญาด้วยการฝึกฝน ด้วยการโน้มใจเราไปโลกุตตรธรรม โลกุตตรปัญญา ปัญญาเกิดขึ้นมา เราเห็นความแตกต่าง คนภาวนาเป็นจะรู้ โลกุตตรปัญญาเป็นอย่างไร โลกียปัญญาเป็นอย่างไร เห็นชัดเจนมาก

พอเห็นชัดเจนมันถึงเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก พระพุทธเจ้าพยากรณ์ หรือไม่พยากรณ์ เราปฏิบัติเป็นสมาธิก็เป็นสมาธิของเรา เราเกิดเป็นปัญญาของเราก็เป็นปัญญาของเรา เราเป็นพระอรหันต์ก็เป็นพระอรหันต์ของเรา พระพุทธเจ้าเป็นเพียงแต่รับฟัง แล้วเห็นด้วยเท่านั้นเอง แต่ความเป็นจริง อยู่ที่การประพฤติปฏิบัติของเราทั้งหมด

นี่ไง พระพุทธศาสนาถึงไม่ให้เชื่อ...ไม่ให้เชื่อใครเลย “ให้เชื่อปัจจัตตัง” โอปนยิโก... ร้องเรียกสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม! ร้องเรียกสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม!

ถ้าหัวใจเราโอปนยิโก ใจของเราเป็นธรรมขึ้นมา มันเป็นธรรมขึ้นมาด้วยความขยันหมั่นเพียรของเรา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้มรดกเราไว้กับบริษัท ๔ เราเป็นบริษัท ๔ นะ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา มีสิทธิที่จะทำสิ่งนั้นเกิดขึ้นมาในใจของเราได้

มรดกอันนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนามาก เพราะเป้าหมายขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ รื้อสัตว์ขนสัตว์ เราเป็นสัตตะผู้ข้อง สัตตะผู้หนา เราพยายามจะทำให้เป็นธรรมขึ้นมา พยายามจะฝึกฝนเราขึ้นมา ได้มรดกมา คือธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราต้องฝึกฝน ต้องประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ให้เป็นธรรมของเรา เราจะได้สมบัติ สมความปรารถนา เอวัง