เทศน์เช้า

โทษของนิมิต

๒๖ ธ.ค. ๒๕๔๑

 

โทษของนิมิต
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๑
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

นี่ก็สัตว์ นี่ก็น้องไง พี่เขาบอกว่าพี่ทำบุญมาก พี่ทำบุญมากเลย ไอ้พี่ทำบุญมากพี่เป็นกษัตริย์ ชื่ออะไรเราจำไม่ได้ น้องบอกว่าเขาไม่เชื่อ เขาไม่เชื่อเลย เพราะเขาไปเป็นพรานไง เขาเข้าไปในป่าแล้วไปเจอฤๅษี ไปถามฤๅษีเลยว่าอยู่ในป่านานๆ อย่างนี้ เห็นผู้หญิง เห็นอะไรอย่างนี้ยังคิดไหม? ฤๅษีบอกทำไมจะไม่เห็นๆ สัตว์มันยังคิดเลย เขาก็ดีใจมากไง เพราะยืนยันว่าขนาดฤๅษีอยู่ป่ามาตลอดยังมีกามราคะ ฉะนั้น พวกพระที่อยู่เมืองทำไมจะไม่มี

ก็เลยกลับมาบอกว่า ไม่เชื่อ ทีนี้พี่ชายด้วยความรักน้องมาก ก็บอกว่าถ้ารักน้องมากนะ น้องนี่มีนิสัยที่ผิด ใจนี่รักน้อง แต่แกล้งอยากจะสอนน้องไง สอนด้วยความจริง ทำโกรธขึ้นมาเลยนะ

“ถ้าพูดอย่างนี้สบประมาทครูบาอาจารย์เรา สบประมาทพระพุทธเจ้า จะตัดหัวทิ้ง จะฆ่าทิ้ง”

ให้โทษประหารไง ภายใน ๗ วันนี้จะประหาร แต่ภายใน ๗ วันนี้ให้ไปเป็นกษัตริย์ก่อน ให้เป็นกษัตริย์แค่ ๗ วัน แล้วครบ ๗ วันจะฆ่าทิ้ง ก็ตั้งให้เป็นกษัตริย์เลย ก็ขึ้นเป็นกษัตริย์อยู่ ๗ วันนะ ทีนี้ก็คิดสิ โอ๊ย มัวแต่คิดถึงว่าพี่ชายจะฆ่า พี่ชายจะฆ่า พอครบ ๗ วันไง ครบ ๗ วันมันก็ไม่มีความสุขเลย เป็นกษัตริย์ไม่มีความสุขเลย พอครบ ๗ วันพี่ชายก็สอนไง สอนบอกว่า

“เป็นอย่างไร? เป็นกษัตริย์ ๗ วันนี่เป็นอย่างไร?”

“โอ๋ย ไม่มีความสุขเลย คิดแต่กลัวตาย คิดแต่ว่าต้องตาย”

พี่ชายก็เลยสอนว่า “ถ้าพระที่เขาปฏิบัติอยู่ เขากำหนดความตายอยู่ เขากำหนดคิดถึงความตายอยู่ เขาจะมีความสุขไหม?” เรื่องแบบว่าปรนเปรอความสุขให้พระ พระจะมีความสุขไหม? เพราะเขาเห็นโทษของการเกิดและการตายไง พยายามคิดถึงความตาย มรณานุสติคิดถึงความตายตลอดเวลา แล้วตัวเองไม่ได้คิด ตัวเองหลงระเริง ถึงได้คิดไง

ถึงบอก อ๋อ เพราะตัวเองไปคิดถึงอารมณ์คนอื่น คิดถึงว่าคนอื่นต้องเป็นอย่างนี้ๆๆ ไง เราคิดอย่างนี้ใช่ไหม ว่าพระก็ต้องเสวยสุขก่อน มีแต่คนปรนเปรอความสุขให้ แต่คิดแต่ว่าปรนเปรอให้ แต่ไอ้คนๆ นั้นเขาไม่ได้คิดว่าปรนเปรอให้ เขาคิดว่าเขาจะเอาตัวรอดไง เขากำหนดมรณานุสติอยู่ เห็นไหม กำหนดความตายทุกลมหายใจเข้าออก เขาจะมาหลงตรงนี้ได้อย่างไร?

ไอ้นั่นก็เหมือนกัน พอครบ ๗ วันแล้วก็เลยเปลี่ยนความคิดของตัว นั่นน่ะก็เพราะว่าเราไปคิดแทนเขา อย่างที่ว่า เห็นไหม ที่บอกว่าเทวดากินอาหารทิพย์ คือนึกเอาเองไง ก็นึกแทนเขา เพราะตัวเองยังไม่อยู่ในสภาพแบบนั้น เราอยู่ในสภาพที่เลือกได้ ถึงว่าภพมนุษย์นี้สำคัญที่สุด มนุษย์นี่ภพที่ประเสริฐที่สุด เราเทียบเหมือนออกมาจากคุก ถ้าเราตกนรกก็เหมือนในคุก ในคุกนี้ไม่มีความสุขเลย แต่ถ้าอยู่บนสวรรค์ก็เหมือนมีจัดงานเลี้ยงอยู่ งานเลี้ยงต้องเลิกรา

แต่เราเป็นมนุษย์ นี่คุกหรือสวรรค์เลือกเอา คือว่าความดีและความชั่วเราเลือกเอา เรามีสิทธิทำได้ เราสร้างเหตุ ผลต้องให้แน่นอน เราทำอย่างนี้คือการสร้างเหตุ เห็นไหม พระพุทธเจ้าสอนเรื่องสัจจะความจริง การสร้างเหตุ เหตุไง ทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว แล้วเราทำอย่างนั้นมันต้องได้หมด ได้ตามหลักเลย จะเชื่อศาสนาหรือไม่เชื่อศาสนา คนทำดีต้องได้ดี คนทำชั่วต้องได้ชั่ว แต่! แต่รัตนตรัยนี่การบอกไง การบอกคือว่าสอนธรรมะ สอนแต่สิ่งที่ว่าโลกเห็น

ศาสนา เห็นไหม เรานี่เกิดมาเกิดตายๆ เรารู้ว่าเกิดมาภพชาตินี้ เอาภพชาติปัจจุบันนี้ก็พอ อย่างอื่นช่างหัวมัน แต่ศาสนาจะสอนว่านี้มาจากไหน? สร้างคุณงามความดีถึงได้เกิดเป็นมนุษย์ มนุษย์ตายแล้วจะไปไหน? นี่ศาสนาบอกถึงชีวิตการดำเนินมาทั้งหมดเลย ทีนี้เรื่องของศาสนานี้เรื่องเยี่ยม แต่วันนี้ว่าจะคุยเรื่องที่ว่า เขาบอกว่าเวลาการภาวนา เห็นไหม นี่หนังสือพิมพ์ลงว่าการภาวนา แล้วมีคนเสียสติไป ฟุ้งเฟ้อไป แล้วไปถามพระที่เป็นอาจารย์เขา เขาบอกว่า

“ในหนึ่งแสนคน จะมีกรรมเก่าจะต้องเพี้ยนไป ๑๐๐ คน”

นี่เขาว่าอย่างนั้นนะ ต้องเพี้ยนไป ๑๐๐ คน ๑๐๐ คนนี้แก้ไขไม่ได้ เรื่องนี้เป็นความจริงหรือ? ไม่จริง ทุกคนมีกรรมทั้งหมด การเกิดมานี่ กรรมหมายถึงว่าในพลังงาน พลังงานพระอรหันต์ เห็นไหม จิตบริสุทธิ์ พลังงานนี้ขับเคลื่อนบริสุทธิ์ พลังงานนี้เป็นพลังงานสะอาด จะไม่ต้องไปตกที่ไหนอีก แต่คนยังเกิดอยู่ ในจิตนี้คืออวิชชา พลังงานนี้พลังงานสกปรก พลังงานนี้ยังไม่บริสุทธิ์ไง ถึงต้องเกิดตายๆ ไป พลังงานที่เกิดตาย คือว่ากรรมทำให้ทุกคนเกิด

ฉะนั้น ทุกคนที่เกิดมามีกรรมทั้งหมด แม้แต่พระพุทธเจ้าก็มีกรรม เพราะเกิดมาเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ แต่พอมาตรัสรู้ตรงนั้นถึงได้หมดกรรม หมดกรรมแล้ว เห็นไหม ถึงว่าพอหมดกรรมนี่แก้ไขกรรมอย่างนั้นนะ ถึงว่ากรรมแก้ไขไม่ได้ ถ้าในหนึ่งแสนคน จะมีคนที่ว่าเพี้ยนไป ๑๐๐ คน กรรมแก้ไขไม่ได้เลย พระอรหันต์เกิดขึ้นไม่ได้ พระอริยเจ้าเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะมีกรรมทุกคน แล้วไปชนะกรรมได้อย่างไร?

ถ้ากรรมนี้มาแต่อดีตชาติ การชำระจะเป็นพระอรหันต์ต้องไปเป็นที่อดีตชาติไง ต้องมีชาติที่แล้ว แล้วเกิดมาเป็นพระอรหันต์ ถึงจะเกิดมาเป็นพระอรหันต์ มันขัดกับหลักความจริงไง ตัวเองไม่รับผิดชอบตัวเองไง ในการสอน ในการเห็นนิมิต พระพุทธเจ้าสอนถึงสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน แล้วก็ให้พวกเราหัดภาวนา

“ทาน ศีล ภาวนา”

ทาน การทำทาน การทำบุญกุศล ทำแล้ว ถ้าบุญกุศลดีทำให้เกิดบนสวรรค์ เกิดเป็นพรหม เกิดสูงขึ้นไป นี่เป็นทาน แต่เวลาหมดถึงตรงนั้น หมดถึงพลังงานขับเคลื่อนที่เราเกิดขึ้นไป พลังงาน เห็นไหม พลังงานบุญก็ต้องขับเคลื่อนขึ้นไป ก็ต้องกลับมาเกิดอีก พระพุทธเจ้าสอนให้มีทาน มีศีล แล้วมีภาวนาไง

ภาวนานี่ภาวนาขึ้นไปถึงจิต เห็นไหม มันไปชำระกรรมตรงนี้ไง ไปชำระจนจิตที่ว่าไม่บริสุทธิ์ จิตที่ว่าไม่สะอาดให้สะอาดได้ สะอาดได้ด้วยอะไร? ด้วยวิปัสสนาญาณไม่ใช่สมถะ ต้องใช้สมถะเข้าไปเพื่อจะเตรียมงานไง เตรียมโครงการ การเตรียมโครงการ เราจะทำโครงการอะไรเราต้องเตรียมโครงการ เราต้องมีการวางแผนใช่ไหมถึงจะเป็นโครงการได้ แล้วเข้าไปทำ ต้องสะสม ต้องมีวัตถุดิบใช่ไหม?

จิตที่เราปกติ เราภาวนาอยู่นี้ภาวนาไม่ได้ ถ้าคนภาวนาไป หรือว่าภาวนาโดยจิตเราโน้มนึกไปก่อน โรงพยาบาลศรีธัญญาถึงได้เปิดรอรับไว้เลยไง เพราะอะไร? เพราะจิตเราไม่ปกติแล้วเราจินตนาการจนหลอนตัวเองไง พระพุทธเจ้าถึงสอนให้มีศีล ให้มีความบริสุทธิ์ก่อน มีศีลแล้วถึงให้มีภาวนา ภาวนาเพื่อทำจิตให้สงบ จิตสงบด้วยวิธีใดก็ได้ แล้วถ้าจิตสงบแล้วเห็นนิมิต ตรงนี้สำคัญ ถ้าเห็นนิมิตแล้วการแก้ไขนิมิตไง ไม่ใช่ไปส่งเสริมนิมิต

การแก้ไขนิมิต การเห็นนิมิตกับการเห็นกายคนละเรื่องกัน การเห็นนิมิตกับการเห็นกาย เวทนา จิต ธรรม คนละอย่างกัน ไม่ใช่เห็นเหมือนกัน การเห็นนิมิตนะ เหมือนเราเปิดทีวี เห็นไหม เราเห็นภาพ จะเป็นอะไรก็แล้วแต่ ทีวีนี่ แล้วแต่ทีวีเขาส่งมาใช่ไหม? แล้วแต่เครื่องส่งเขาส่งมาเป็นรูปภาพนั้น แต่การเห็นกายเห็นจากเราเป็นคนเห็น เราเป็นคนเห็น เราเป็นคนพลิกแพลง เราเป็นคนจัดการ มันไปเห็นอยู่ในอำนาจของเรา การเห็นกายกับการเห็นนิมิตถึงไม่เหมือนกัน

การเห็นนิมิตเราควบคุมไม่ได้ ในหลักของพุทธศาสนา ในหลักของพระพุทธเจ้าถึงบอกว่า เห็นนิมิตแล้วต้องไม่ติดในนิมิตนั้นไง ต้องให้ผ่านลึกเข้าไป อาจารย์มหาบัวใช้คำว่า

“เราจะไปไหนก็แล้วแต่ เราไม่ให้จิตติดข้างทางนั้น”

ติดบริเวณข้างทาง เราติดแสง สี เสียง สิ่งที่เราผ่านไป เช่น จะไปไหนก็แล้วแต่มันจะมีแสง สี เสียง อยู่ข้างๆ นั้น เราไปติดตรงนั้นเราก็ไปไหนไม่ได้ การติดนิมิตก็คือติดตรงนั้นไง พอติดแสง สี เสียงนะ ติดแสงอยู่ แล้วติดแล้วไม่ติดธรรมดา ติดแล้วก็ส่งเสริมไง ไปส่งเสริมให้เราใจแตก ส่งเสริมให้แสง สี เสียงนั้นทำให้เราฟุ้งซ่าน เห็นไหม มันถึงได้เป็นอย่างนั้นไป การแก้ไข การแก้ไขต้องกำหนดกลับมาที่ตัวเราสิ

การเห็น ฟังสิ สิ่งที่มันมีอยู่โดยธรรมชาติมันก็มีอยู่ในตัวของมันเอง โลกนี้มีเพราะมีเรา สรรพสิ่งมีเพราะมีเรา แสง สี เสียง มีเพราะมีเรา เราไปเห็นแสง สี เสียงนั้น มันต้องกลับมาที่เรา ไม่ใช่ไปจับที่แสง สี เสียงนั้น แต่เขาสอนให้จับที่ตรงนั้น แล้วเพ่งที่ตรงนั้นทะลุเข้าไป เพิ่มเข้าไปเรื่อยๆ เขาส่งเสริมให้หลงไปตลอดทาง เขาส่งเสริมให้ออกจากตัวตนไปตลอดเวลา เขาไม่ย้อนกลับมา ไม่ย้อนกลับถึงที่ตัวเราไง

ให้เราปล่อยแสง สี เสียงนั้น เราจะปล่อยหรือไม่ปล่อยสิ่งนั้นมันต้องคลาดเคลื่อนไป มันเป็นกฎของไตรลักษณ์ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป โดยธรรมชาติอยู่แล้ว นี้เราไปรั้งไว้หนึ่ง เราไม่เจอมัน เราไม่เห็นมัน เราก็นึกขึ้นมาหนึ่ง เห็นไหม ทำให้ภาพนั้นหลอกหลอนเรา ต้องกลับมาตรงนี้สิ มันไม่ใช่ว่าตามไปอย่างนั้น ถึงว่ามันต้องแก้ไขได้ มันต้องรับผิดชอบสิ ไม่ใช่ผลักภาระให้เป็นกรรมเก่า

ถ้าเป็นกรรมเก่า แล้วทำไมก่อนที่เขามา ทำไมไปกว้านเขามาล่ะ? กรรมเก่าก็ต้องปล่อยให้เขาเป็นของเขาเองสิ ทำไมไปดึงเขามา ไปดึงให้เขามาอยู่ตรงนี้ ในเมื่อไปแนะนำเขา ไปสอนเขา พอเป็นอย่างนั้นมาไปอ้างว่าเป็นกรรมเก่าได้อย่างไร? อ่านไปแล้วเห็นแล้วสลดใจ สังเวชมากนะ สงสารเพราะอะไร? หมดทั้งทรัพย์สินเงินทอง หมดทั้งหัวใจ หมดทั้งความเป็นพื้นฐานของการประพฤติปฏิบัติ หมดทั้งโอกาส

มีในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าเดินผ่านไปแล้วพระพุทธเจ้ายิ้ม เดินผ่านไป ยาจกเข็ญใจขอทานอยู่ ๒ คน ยิ้ม พระอานนท์เห็น รู้แล้วพระพุทธเจ้ายิ้มเพราะเหตุอะไรก็เก็บไว้ก่อน ตอนเย็นถึงถามไง ตอนเย็นมาถามที่วัดว่าตอนที่พระพุทธเจ้ายิ้มนั้นยิ้มเพราะอะไร?

“อานนท์ เห็นไหม ขอทาน ๒ คนนั้นแต่เดิมเป็นเศรษฐีนะ เป็นคนมีฐานะมากเลย แต่เพราะเขาหลงใหลในการพนัน เขาเล่นจนหมดเนื้อหมดตัว จนกลับมาเป็นขอทาน”

ฟังนะ นี่โอกาส หมดทั้งเงิน หมดทั้งโอกาส ถ้าเศรษฐี ๒ คนนี้ได้เจอเราตถาคตก่อน อย่างน้อย ๒ คนนี้จะได้เป็นพระอนาคามี อยู่ในพระไตรปิฎกไปเปิดดูได้ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ได้ หมดโอกาส เพราะอะไร? เพราะว่าจิตใจแข็งกระด้างไง คนเคยเป็นเศรษฐีแล้วหมดเนื้อหมดตัวไปหมดเลย แล้วใจก็แข็งกระด้างใช่ไหม มาเป็นขอทาน

แม้แต่พระพุทธเจ้าเดินผ่านหน้า เห็นไหม แต่เมื่อก่อนถ้าเจอพระพุทธเจ้าจะได้เป็นพระอนาคามี พระพุทธเจ้าจะเทศน์ จะสอน จะพลิกใจนี้ให้เป็นพระอนาคามี เพราะใจนี้มันมีสุข ใจมันนิ่มควรแก่การงาน แต่พอมันทุกข์มากมันปิดกั้นหมดนะ มันปิดกั้นหมด จนเดี๋ยวนี้เจอพระพุทธเจ้าอยู่ เดินผ่านหน้าไปก็ไม่ได้อะไรเลย หมดโอกาส

นี่หมดทั้งเงินทอง หมดทุกอย่างเลย แล้วยังมาปฏิเสธอีกว่าไม่รับ ปฏิเสธว่าเป็นกรรมเก่า กรรมเก่าก็ไปกว้านมา ไปกว้านเขามาเอง แล้วนั่งสร้างขึ้นมาอย่างนี้ นี่เขาหมดทั้งโอกาส หมดทุกอย่าง น่าสงสารมาก แล้วจะเป็นอย่างนี้ไปหมดเลย

นี่เมื่อวานพูดเหมือนกัน เห็นไหม หมอ.....บอกเลย บอกว่าเรานี่โดนนักการเมืองกับโดนพระหลอก ทำอย่างไรให้พวกเรามีปัญญาขึ้นมา ให้ทันนักการเมืองกับทันพระไง ทันพระคือว่ามีพื้นฐานตรงนี้ การกำหนดกรรมฐานนี่ การทำใจนี่ แล้วดึงกลับมา

ตรงนี้เพราะว่าคนมันไม่เคยเป็น คนมันไม่เคยภาวนาเป็น ยังไม่เคยเห็นไง ถ้าคนเคยเห็นมันก็หลงกันไปหมด หลงกันไปหมด แล้วหัวหน้าก็ส่งเสริมกันไปนะ ต้องเห็นนะ ก่อนจะนั่งก็ต้องอย่างนั้น ถ้าถามต้องเห็นต้องอย่างนั้น ต้องว่าตามไป ถ้าไม่ตามไปธาตุเห็นมันจะปิด ว่าอย่างนั้นเลยนะ ธาตุไม่เห็นมันจะปิดไง ธาตุที่ไม่เห็นมันจะปิด มันจะไม่ให้เห็นตลอดไป ต้องบอกว่าเห็น เห็นไหม โน้มลึกไปเรื่อยๆ แล้ว

เพราะเริ่มต้นมันก็ผิดตั้งแต่ตรงนั้นแล้ว แล้วเวลาเป็น พอเห็นขึ้นมาแล้ว พอเวลามันเห็นจนเกินกว่าเหตุไปทำไมไม่ดึงกลับมา เพราะอะไร? เพราะตัวเองอยากให้เห็น เห็นหรือไม่เห็น เราบอกเลย นั่งกันอยู่นี่ การทำสมาธินี่บางคนจิตสงบเฉยๆ บางคนจิตสงบแล้วถึงจะเห็น มันไม่จำเป็นว่าต้องเห็นทุกคนไง สมาธิ เห็นไหม การทำสมาธิแล้วยกขึ้นวิปัสสนา

ไม่ใช่ว่าสมาธิเป็นสเต็ปนะ สเต็ปสมาธิ สมาธิ ๕ ขีด ปัญญา ๒ ขีด ตามด้วยความเพียร ๕ ขีด แล้วจะเป็นมรรคสามัคคี ไม่ใช่! บางคนสมาธิมากหน่อย เพราะคนๆ นี้แบบว่ากามราคะแล้วต้องใช้สมาธิตัดให้มากหน่อย กามราคะถึงคิดมากอะไรมาก ต้องใช้สมาธิหยุดยั้งความคิดตรงนี้ให้ได้ แล้วใช้ความคิดมาเป็นโลกียะ

บางคนแบบว่าจิตมันอ่อน สมาธิพอสงบก็พิจารณาได้เลย เห็นไหม มันไม่จำเป็นว่าสมาธิต้องเท่านั้นๆ นิมิตต้องเท่านั้น ไม่ใช่ มันเป็นที่ว่าแต่ละบุคคลไง ถึงว่าแต่ละบุคคลของคนๆ นั้น เป็นจริตนิสัยของแต่ละหัวใจที่จะสมควรแก่การงานไง สมควรแก่ของเขา เป็นประสบการณ์ตรงของบุคคลคนนั้น ไม่มีการผุด ไม่มีการขีดขั้นแน่นอนว่าต้องเท่านี้ๆ ไม่ใช่ ไม่ใช่เลย

ถึงเป็นประสบการณ์ตรง ถึงเป็นการประพฤติปฏิบัติ นี่มันถึงบอกว่าถ้าเป็นการจัดตั้งมาเป็นแสนคนอย่างนี้ แล้วภาวนาให้เห็นเหมือนกันหมด แล้วจะเป็นพระพุทธเจ้าเหมือนกันหมด นี่เก่งกว่าพระพุทธเจ้านะ พระพุทธเจ้ายังทำไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าเทศน์สอน เวลาเทศน์ทีหนึ่งบรรลุเป็นแสนเป็นล้านอะไรอย่างนี้ นั้นเป็นพวกเทวดา เป็นพวกจิตเขาพร้อมกัน พระพุทธเจ้าเข้าไปพอดีไง แต่นี้มันไม่ใช่ นี้กำหนดเอา แบบว่าจัดตั้งเอามาให้เป็นแบบนั้น แล้วต้องให้เป็นแบบนี้ เป็นไปไม่ได้ นี้ถึงบอกว่าให้เรากลับมาคิดดู ว่าถ้าเป็นอย่างนั้นหมดกำหนดมา

พ่อแม่คนเดียวกัน เห็นไหม ลูกทั้งหมดอยากให้เหมือนกันยังเป็นไปไม่ได้เลย แต่จริตนิสัยมากำหนดแล้วจะให้เป็นเหมือนกัน เป็นไปไม่ได้ ฉะนั้น พอเป็นไปไม่ได้ การประพฤติปฏิบัติมันถึงว่าให้เป็นการประพฤติปฏิบัติ เป็นความจริงของแต่ละบุคคลไง ไม่ใช่ว่ามาจัดตั้งแบบนี้ พอจัดตั้งอย่างนี้ พอเสียหายไปนะ พยายามจะบ่ายเบี่ยงไม่รับผิดชอบ พยายามจะบ่ายเบี่ยง กันออกไปเลย ออกไปจากรูปแบบ กลัวรูปแบบนั้นเสียหายไป

นี่คน เห็นไหม ชาวพุทธโดนหลอก โดนหลอกเพราะอะไร? โดนหลอกเพราะไปเห็นแค่รูปแบบนี้เท่านั้นเอง ศาสนามันหยาบขนาดนั้นเชียวหรือ? ให้เห็นแค่มันนั่งกันเป็นแถวๆ แล้วก็เห็นแต่ว่านั่งแล้วเยี่ยมๆ แล้วพอเสียหายขึ้นมามันก็เสียหายเข้ามาตรงนี้ เสียหายเข้ามาตรงนี้ เพราะอะไร? เพราะว่าไปติดที่รูปแบบ ไม่เน้นที่หัวใจ ไม่เน้นที่ความเป็นจริง

ถ้าพูดประสาเราว่าหัวหน้าไม่รู้จริง ไม่รู้จริงว่าควรจะเป็นอย่างไรมันถึงจะเป็นประโยชน์ไง ควรจะเป็นอย่างไรเป็นประโยชน์ใช่ไหม? ถึงว่าให้เฉพาะคนๆ นั้น เฉพาะเหตุการณ์อันนั้น แล้วแก้ไขอย่างนั้น เข้าไปถึงความรู้สึกพลิกเลยใช่ไหม? มีปัญหามานี่ตอบพั่บ พั่บ พั่บ นี่แล้วแก้ไขไป ไม่ใช่ว่าเป็นรูปแบบอย่างนี้เลย แล้วจะให้เป็นความเป็นจริง ไม่เชื่อ

เราถึงว่าการสอนก็ผิด เริ่มต้นก็ผิด ถึงว่าเป็นอัตตาไง เป็นอัตตา เห็นไหม เป็นรูปแบบเข้าไปจัดตั้ง เหมือนกับออกมาเป็นสิ่งที่ประกอบเสร็จมาเลย แต่ถ้าประกอบเสร็จมาเลยมันเป็นไปไม่ได้ พระพุทธเจ้าถึงได้สอนอนัตตาไง อนัตตา เห็นไหม อนัตตาคือความแปรสภาพสูงขึ้น อย่างเช่นที่ว่าเราแบกตะกั่วมา มาเจอเงิน เราต้องทิ้งตะกั่วเอาเงิน เราแบกเงินมา เราต้องทิ้งเงินเอาทอง เราแบกทองมา เราทิ้งทองแล้วเอาเพชรไป เอาสิ่งที่มีคุณค่าสูงขึ้นไป

นี่คือว่าเป็นการอนัตตาคือการแปรสภาพ แต่ถ้าเราดึงไว้ตัวเองมันไม่แปรสภาพ ไม่แปรสภาพเลย จะดึงอยู่ตรงนั้นเลย อย่างที่พูดเมื่อกี้นี้ พูดที่ว่าถ้ามีความเห็นอย่างนั้น เขาปิดกั้นอย่างนั้น อย่างที่ว่าเขาเห็นว่าเสวยสุขอยู่แล้วจะคิดอย่างนั้นไม่ได้ เพราะเขาไม่เปลี่ยนความคิดของเขา

อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าลองใจคิดอย่างนั้นแล้ว “มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด” ฟังสิ มรรคหยาบ ความคิดที่เป็นความหยาบ มันคิดของมันอยู่แค่นี้แหละ มันไม่ยอมปล่อยวางความคิดนี้ ความคิดที่มันละเอียดขึ้นไปมันจะเกิดขึ้นมาไม่ได้

“มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด”

ความหยาบนี้เป็นมรรคเหมือนกัน แต่พอมันจะละเอียดขึ้นไป เราต้องทิ้งมรรคหยาบเพื่อเอาสิ่งที่ละเอียดขึ้นไป ละเอียดขึ้นไป ใจที่พัฒนาสูงขึ้น เห็นไหม นี่คืออนัตตาไง พระพุทธเจ้าสอนอนัตตา ไม่ได้สอนอัตตาเลย สอนอนัตตา แต่ตัวอนัตตานั้นก็เป็นแค่ทางเดินไง เป็นแค่สะพาน เป็นแค่รถยนต์กลไกที่ส่งเรามาตรงนี้ไง นี่อนัตตา ถึงสุดท้ายแล้วไม่ใช่อัตตาและไม่ใช่อนัตตาทั้งหมด

ถ้าเป็นอัตตามันก็เป็นสิ่งที่เป็นวัตถุที่เราจะจับต้องได้ ถึงจะลงก็จับต้องได้ แล้วแปรสภาพได้ ถ้าเป็นอนัตตามันก็แปรสภาพในตัวมันเองอยู่แล้ว แต่ต้องเป็นอนัตตา เพราะอนัตตานี้มันส่งเสริมสูงขึ้นมาได้ไง มันแปรสภาพขึ้นมาเรื่อยๆ จิตนี้แปรสภาพ เห็นไหม ถึงบอกว่าแก้กรรมได้

กรรมแปรสภาพไปเรื่อยๆ แปรสภาพไปเรื่อย แปรสภาพไปจนถึงที่สุดไม่มีอะไรจะแปรไง แปรจนหมดสิ้น แปรจนสิ้นไป เป็นนิพพานก็ไม่ใช่อัตตา แต่มันเป็นนิพพาน เป็นที่คงที่ตรงนั้นต่างหาก แต่ไม่ใช่อัตตา (เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)