เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๖ ก.ย. ๒๕๕๓

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๕๓
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

อันนี้เป็นธรรมนะ เป็นธรรม สมัยโบราณมานี่ เขาบอกว่า “ชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์” เมื่อก่อนเขาพูดกันอย่างนี้เห็นไหม นี่สังคมเขาบอกว่า ชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์ เราก็ปล่อยกัน เราปล่อยกันเพราะอะไร.. เพราะเรากลัวว่าเราไปทำสิ่งใดแล้วจะเป็นบาปเป็นกรรม

แต่ในพุทธศาสนา ธรรมและวินัยมันจะเป็นคลื่นซัดสิ่งต่างๆ เข้าฝั่งหมด ทะเลไม่ยอมรับสิ่งสกปรก มันจะพัดทุกๆ อย่างเข้าฝั่ง ธรรมและวินัยนี่ถ้าทำสิ่งใดไปแล้ว กรรมมันจะให้ผลเอง แล้วครูบาอาจารย์ก็บอกว่า “ปล่อยให้เวรกรรมมันจัดการกันเอง”

อันนี้ก็เป็นเวรกรรมมันจัดการนะ เวรกรรมนี่มันจัดการมันเอง เราก็ดิ้นรนกันไป แล้วก็บอกว่า “นี่ทำดี.. ทำดี ..ทำดีทำไมเป็นอย่างนี้”

ถ้าทำดีเห็นไหม ดูสิ ดูครูบาศรีวิชัย ครูบาศรีวิชัยนี่ทำดี.. ทำดีขนาดไหนนะ เพียงแต่เวลาบวชพระ.. เหตุเพราะบวชพระไม่ได้บอกพระผู้ใหญ่ ก็อยู่ในป่าในเขาก็บวชกันเอง เขาหาว่า “แข็งข้อ” ก็แค่นั้นน่ะ เหตุแค่นั้น..

แต่ความจริงแล้วนี่ ครูบาศรีวิชัย ท่านตั้งสัจจะของท่านมาเป็นพระโพธิสัตว์ ก็จะทำดีของท่าน เพียงแต่ผู้ปกครองเขามีอำนาจ มีตำแหน่งต่างๆ แต่เขาไม่มีชื่อเสียงพอ คนเขาไม่นับถือศรัทธาคนที่ไม่มียศฐาบรรดาศักดิ์ไง ไม่มียศฐาบรรดาศักดิ์ แต่เขาทำสัจจะความจริง นี่สุดท้ายแล้วนี่ เวรกรรมมันให้ผลของมันเอง

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่เวรกรรมมันจะให้ผลนี่ ใครทำสิ่งใดมา แล้วก็จะบอกว่าอิจฉา.. อิจฉา..ใครไปอิจฉาใคร !! โอ่..กูไม่อิจฉานรกใครหรอก กูไม่เอานรกใครมาเป็นของกูหรอก อู้ย.. อิจฉาคนได้นรกอเวจีนี่ แล้วกูอิจฉาเขา กูอยากจะแย่งชิงเขามา.. กูไม่เอาล่ะ ใครจะไปอิจฉานรก ! โอ้ย... นรกอเวจีใครอยากได้ ไม่มีใครอยากได้หรอก

เอ่อ.. สายตาของคนมันคนละสายตา โลกธรรม ๘ มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ ครูบาอาจารย์ของเรา หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ท่านอยู่ในป่าในเขาเห็นไหม ท่านอยู่ในป่าในเขาท่านมีความสุขของท่านนะ แล้วมีความสุข ไม่มีความสุขเปล่าๆ นะ ...

หลวงปู่มั่น เวลาท่านพูดกับหลวงตา เวลามีพระมา “ธมฺมสากจฺฉา” หรือมาถามธรรมะนะ หลวงปู่มั่นท่านเทศนาว่าการได้ทั้งวันทั้งคืนเลย แต่เวลามีโยมมานะ ท่านบอกให้หลวงตาเป็นคนรับ ท่านไม่พูดด้วยนะ ท่านไม่อยากเสียเวลากับพวกญาติโยมเลย เพราะญาติโยมน่ะ วุฒิภาวะเขาจะเข้าถึงธรรมได้ขนาดไหน นี่วุฒิภาวะ !

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เผยแผ่ธรรม.. เผยแผ่ธรรมนี่ พระมันปฏิบัติได้หรือยัง พระนี่เป็นนักรบนะ แล้วออกมาเพื่อจะเอาชนะกิเลส เพื่อจะต่อสู้กับกิเลส สอนพระสิ.. สอนพระเราให้ได้ แต่นี่ไปสอนโยม

สอนโยมก็ใช่ ! นี่ดูสิ โยมมาทำบุญกุศลก็สอนโยมนี่แหละ แต่สอนโยมนี่ โยมมีโอกาสแค่ไหน ถ้าพูดอย่างนี้บอกแบ่งแยก โยมนี้มีโอกาส ...คนก็มีหัวใจนะ มีการรับรู้ความรู้สึกทุกคน ทุกคนเข้าถึงสัจธรรมได้ทั้งนั้น

แต่ของเขาเห็นไหม ในพระไตรปิฎกองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้ “ทางของนักบวช ทางของนักรบนี่กว้างขวาง ภาวนาได้ ๒๔ ชั่วโมง ทางของคฤหัสถ์เขาเป็นทางคับแคบ”

คับแคบเพราะเขาทำมาหากิน เขาจะภาวนาของเขาได้ช่วงกลางคืน นั่นทางของเขาคับแคบ คนที่มีโอกาสน้อย คือคนที่ทางคับแคบนะ

โอ้โฮ.. เผยแผ่ใหญ่เลย ไอ้พระนี่ไม่เคยดูแลเลย เวลาพระเขาจะเอาจริงเอาจัง พระนี่เคยดูแลพระบ้างไหม.. ถ้าดูแลพระนี่ พระปฏิบัติอย่างไร พระกับพระมันรู้ทันกัน คนปฏิบัติด้วยกันนี่มันเห็นไส้เห็นพุงกัน ถ้าเห็นไส้เห็นพุงนี่ การลงใจหรือไม่ลงใจ มันอยู่ที่นั่น นี่เรื่องของโลกๆ เห็นไหม ใครไปอิจฉา มันไม่มีความสุขหรอก

ความสุขนะ.. หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ท่านอยู่ในป่าในเขา หลวงปู่มั่นอยู่เชียงใหม่ ไม่ออกมาข้างนอกเลยนะ นี่มีงานทั้งวัน รับเทวดา อินทร์ พรหม ตลอด แล้วก็อบรมพระ นี่ท่านมีความสุขของท่าน ความสุขอย่างไร..

ดูสิ นักกีฬาชนิดใดก็แล้วแต่ ถ้าคู่ต่อสู้ของเขามีความเสมอกัน มีวุฒิภาวะระดับเดียวกัน กีฬานั้นจะสนุกครึกครื้น นักกีฬาทุกชนิด ถ้านักกีฬาสูสีกัน นั่นนะกีฬานั้นจะมีสีสัน

พระกับพระ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติด้วยกัน คุยธรรมะมัน “ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ” มันรื่นเริงนะ ไม่ใช่นักกีฬากระดูกคนละเบอร์เลยนะ ไม่ต้องชก ไม่ต้องขึ้นไป เขาก็รู้แล้วว่ามันแพ้อยู่วันยังค่ำ ญาติโยมเขารู้อะไรด้วย เขาปฏิบัติอะไร เขาก็ได้เงินทองเต็มกระเป๋าของเขานั่นนะ เขาปฏิบัติเขาได้โสดาบัน สกิทาคา อนาคา.. อทาคายี่ห้อ เงินทองนั้นมีนี่..

แล้วเวลาพระพูด โสดาบัน สกิทาคา อนาคา.. อนาคาอะไร.. มันคาขื่อ คาอะไรนั่นนะ มันมวยคนละชั้น ไม่มีใครรู้ใครหรอก มันรับรู้อะไรไม่ได้หรอก ญาติโยมเขาจะไม่รับรู้ โสดาบัน สกิทาคา อนาคา ของใครเป็นอย่างไร เขาไม่รับรู้หรอก แต่ก็ตั้งกัน...!

อย่างนี้หรืออิจฉา... ? มันคนละชั้น ดูสิ ดูเด็กต่อยกับผู้ใหญ่ ดูทุเรศมาก ! แต่นักมวยที่กระดูกเบอร์เดียวกัน น้ำหนัก ชั้นเชิงลีลา เหมือนกันนะ แล้วชิงแชมป์กัน โอ๊ย ! สนุกมาก

ในการประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน ผู้ที่ปฏิบัติมีวุฒิภาวะ ครูบาอาจารย์ท่านชี้นำนะ แล้วนี่ มันจะเข้าได้เข้าเข็ม มันจะได้เสียนะ นี่ไง มีความสุขไง มันรื่นเริงอาจหาญไง มันมีความสุขคึกคักในธรรมไง ธรรมเป็นที่พึ่งอาศัยไง นี่อย่างนี้สิถึงจะเป็นธรรม

ถ้าเป็นคฤหัสถ์ ดูนางวิสาขาสิ ดูครูบาอาจารย์เราสิ ดูหลวงตาท่านมาอยู่ที่เมืองจันทร์เห็นไหม ผู้ที่ปฏิบัตินะ รู้วาระจิต ขนาดว่าดูใจพระออกหมดเลย ดูสิ ที่อาจารย์สิงห์ทองไปถาม นี่ดูใจใคร.. ดูใจใคร.. ให้ดูใจเราด้วยสิ ดูใจพระเห็นไหม เขาดูเขาทายเพี๊ยะๆๆ เลย เห็นไหม

นี่มีที่เมืองจันทร์น่ะ เวลาหลวงตาท่านไปเทศนาว่าการ ท่านไปรื้อสัตว์ขนสัตว์น่ะ นั่นนะภาวนาเป็นจริง

“นิพพานหนองเสม็ด เห็นไหม”

“โอ๊ย.. หลวงตารู้แล้ว นิพพานหนองเสม็ด นิพพานหนองเสม็ด”

หลวงตาท่านบอก “นิพพานหนองเสม็ด มันเป็นอย่างไร” ก็อธิบายใหญ่เลย

หลวงตาบอก “เอาอย่างนี้นะ ต่อไปให้กำหนดอย่างนี้นะ.. กำหนดอย่างนี้นะ..”

พอมาหาหลวงตาอีกรอบหนึ่ง “โอ่.. นิพพานหนองเสม็ดมันผิดน่ะหลวงตา โอย.. นิพพานของหลวงตาถูกต้องกว่า”

นี่มัน ธมฺมสากจฺฉา ให้เหตุให้ผล เวลาให้ผู้ที่ปฏิบัติ เขาก็พัฒนาของเขา มันเป็นจริงของเขา นี่ไง สิ่งนี้ถึงเป็นธรรม อย่างนี้ถึงไม่อิจฉา อย่างนี้ถือเป็นความจริง

ไอ้อย่างนั้นอิจฉานรก ไม่เอาล่ะ ใครจะไปอิจฉานรก โอย.. นรกอเวจีใครจะไปอิจฉามัน ไม่ดีใครจะอยากได้ ของไม่ดีใครก็ไม่อยากได้.. ทุกคนก็อยากได้ของดี ถ้าของดีเป็นความจริงขึ้นมานะ แล้วของดี ดูสิ ดูครูบาอาจารย์สิ ของดีเห็นไหม เราทำอะไรก็แล้วแต่ เราจะรู้เลยว่าสังคมเห็นไหม

เราออกไปสังคมสิ เรามาวัดมาวานี่ เราไปคุยให้ใครฟังได้ไหม เขาบอก พวกนี้โง่ มาวัดมาวานี่ หาเงินหาทองแล้วไปวัดไปวา.. โง่ ! เขามีความสุขความสบายกัน ไปพูดกับเขา เขาเข้าใจเขาไหมล่ะ สังคมเป็นอย่างนั้น ลองไปพูดสิ

นี่เขาบอก พวกนี้ไม่รู้คุณค่าชีวิต ของเขานี่ทำมาหากินอาบเหงื่อต่างน้ำนะ โอ้โฮ.. เงินทองไหลมาเทมา ไอ้พวกนี้ไปไหนกันนี่ !! โอย.. เวลาเหลือเฟือ โอย.. ไปนั่งๆ นอนๆ ไม่มาทำมาหากิน แล้วคุยกันรู้เรื่องไหม นี่แล้วสังคมเป็นอย่างนั้นนะ นี่แล้วก็เผยแผ่ธรรม เผยแผ่ธรรม

จิตใจควรแก่การงานนะ หลวงปู่มั่นเวลาท่านจะสั่งสอนของท่านเห็นไหม ให้ทาน เพื่อเข้ามาได้ฟังธรรม พอฟังธรรมแล้วเราก็ไปวินิจฉัยของเรา แล้วเราก็คัดแยกคัดเลือกของเรา อะไรดีไม่ดีเห็นไหม จิตใจมันก็เลือก ถ้าสิ่งใดที่ดีขึ้นมามันก็จะมั่นคงขึ้น จะถือศีลขึ้น จะปรกติขึ้น พอปรกติขึ้นก็อยากจะภาวนา ถ้าภาวนาขึ้นมาเห็นไหม มันก็ได้มีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา มันจะรู้เข้ามา มันจะเห็นจริงเข้ามา

ความจริงมันก็คือความจริง ความจริงเป็นสิ่งที่ไม่ตาย แล้วความจริงพิสูจน์ได้ แล้วถ้าเป็นความจริงขึ้นมา นี่กุศล – อกุศล ความคิด เห็นไหม ความคิดในหัวใจเกิดขึ้น มันรู้หมดน่ะ ถ้าความเป็นจริงขึ้นมาได้ แต่ ! เวลาเราประพฤติปฏิบัติกันเห็นไหม เราจะบอกว่า กรรมเก่า กรรมใหม่

มันมีพันธุกรรมทางจิต จิตของเราทำบุญกุศลมานี่ ๕๐ % แล้วในปัจจุบันนี้อีก ๕๐ % สิ่งนี้มันเป็นพันธุกรรมมา ครูนี่สอนนักเรียนจะเข้าใจได้ง่ายๆ เด็กเห็นไหม ดูสิ เราสอนสิ่งใด เด็กมันมีเชาว์มีปัญญาของมัน นี่เด็กคนนี้มีเชาว์ปัญญาดีมาก แต่เด็กบางคนนะโอ้โห หัวทึบมาก.. บอกแล้วบอกอีก.. บอกแล้วบอกอีก อย่างนี้พันธุกรรมของเขามาอย่างนั้น จิตของเราแต่ละคนเป็นอย่างนั้น

ถ้าจิตของเราทุกคนเป็นอย่างนั้น เวลามาปฏิบัติ มันจะได้จริงหรือไม่ได้จริง ถ้าพันธุกรรมของเราเป็นเด็กที่หัวทึบมาก เวลาครูบาอาจารย์สอนขนาดไหน เราไม่เข้าใจ เราก็พยายามของเรา เราก็ต้องพยายามของเราเพื่อจะให้เราสอบผ่านให้ได้

นี่ก็เหมือนกัน ในการประพฤติปฏิบัติของเรา ถึงเราจะปฏิบัติแล้วมันจะยากเย็นแสนเข็ญขนาดไหน เราก็ต้องมุมานะของเรา ทาน ศีล ภาวนา เพราะมันไม่มีสิ่งใดหรอกที่จะทำให้พ้นจากทุกข์ ไม่มีสิ่งใดหรอกที่จะมีบุญกุศลเท่ากับการนั่งพุทโธๆ นี่การภาวนา

ทำทานร้อยหนพันหน ไม่เท่าถือศีลบริสุทธิ์หนหนึ่ง ถือศีลบริสุทธิ์ร้อยหนพันหน ไม่เท่าเกิดสมาธิขึ้นหนหนึ่ง สมาธิร้อยหนพันหนไม่เท่าปัญญาที่จะเกิดวิมุตติขึ้นหนหนึ่ง นี่สิ่งที่เกิดปัญญา แล้วเรานั่งทำพุทโธๆๆ อยู่นี้ มันเป็นงานอันละเอียด มันเป็นงานที่ทำได้ยาก เพราะว่าจับนั่งเฉยๆ ให้จิตนิ่งๆ นี้ทำได้ยากมาก

ฉะนั้นสิ่งต่างๆ อย่างนี้ เวลาเราปฏิบัติขึ้นมาเห็นไหม นี่พันธุกรรม สิ่งนี้ ๕๐ % มาจากอดีตชาติ สิ่งที่จิตเกิด.. ใครจะบอกว่าเกิดแล้วสูญ เกิดมาชาติเดียวไม่มีสิ่งต่างๆ นั่นมันขี้โม้ มันพูดด้วยสัญญาอารมณ์ แต่ถ้าเป็นข้อเท็จจริง จิตมันมีของมัน มันพิสูจน์ของมันด้วยใจ ด้วยพันธุกรรมของมัน

ถ้าพันธุกรรมของมัน มันมีเชาว์ปัญญาของมัน นี่มันจะไม่โดนหลอกอย่างนี้ไง !! มันจะไม่ตามกระแสไปอย่างนี้ไง มันจะคัดเลือกของมัน เห็นไหม เพราะอะไร เพราะว่าเรามีจุดยืนของเรา พันธุกรรมของเรามันมั่นคงขึ้นมา เราจะแยกผิดแยกถูกได้ชัดเจนขึ้น เราจะรู้เห็นได้ว่าสิ่งใดผิดสิ่งใดถูก นี่พันธุกรรมของมันดีขึ้นมาเห็นไหม มันก็ไม่ไหลไปตามกระแสโลกเห็นไหม มันจะเข้าสู่ธรรม

ถ้าเข้าสู่ธรรมด้วยสติปัญญาของเรา ถ้าสติปัญญาของเรา เราพยายามของเรา เราตั้งสติของเรา เห็นไหม มันต้องเกิดที่นี่! มันไม่ใช่จำมาหรอก สาธุ! ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธพจน์น่ะสาธุ.. สาธุพุทธพจน์ นี่พระพุทธเจ้าสอนถูกต้อง ถูกต้องจริงๆ แต่กิเลสของเรามันตีความเข้ากิเลสเราหมดล่ะ เรานี่โง่เป็นควายเลย แต่พูดพุทธพจน์นะ พุทธพจน์บอกว่าให้กินหญ้าๆ พอพุทธพจน์บอกให้ทำสมาธิ มันบอกกินหญ้าดีกว่าทำสมาธิ มันโง่เง่าขนาดนั้นน่ะ แต่มันอ้างพุทธพจน์ๆ

แต่คนมันเห็นมันรู้ คนทำจริงมันรู้ได้ แต่คนทำไม่จริง ไอ้ที่อ้างแต่ตำราๆ นี่...

ปริยัติศึกษามาเพื่อความรับรู้นะ ดูสิ นักศึกษาเวลาจบมาได้รับปริญญากันแล้วนี่ ถ้าทำงานไม่เป็นก็คือทำงานไม่เป็นนะ เขาต้องมาฝึกงานกันนะ นี่ก็เหมือนกัน พุทธพจน์ก็เหมือนกับได้จบปริญญามาน่ะ เรียนมาจนไบร์ทมากเลย แต่ทำงานไม่เป็นก็คือทำงานไม่เป็นนะ

ดูสิคนฝึกงานมาเห็นไหม เขาฝึกงานมาตั้งแต่เด็กแต่น้อยนะ ดูสิ อย่างหนองโพนี่ เวลาพวกตรวจราชการมา เขาบอกให้ฝึกหัดเด็ก ให้เด็กมันมารีดโคนมนะ โอ้โฮ เด็กมันรีดชั้นหนึ่งเลยนะ เขาบอก โอ๋ย อาจารย์นี้สอนดีมากเลย แต่ไม่รู้หรอกว่าไอ้เด็กพวกนี้มันทำมาตั้งแต่เด็ก บ้านมันเลี้ยงวัวทั้งนั้นน่ะ

นี่ไงประสบการณ์ของมัน ประสบการณ์ของการกระทำ ครูนี้ทึ่งมากนะ เขาให้คะแนนได้ ๑๐ คะแนน นี่เขาจะให้ ๑๐๐ คะแนน มันให้ไม่ได้ เพราะคะแนนมันให้ได้แค่ ๑๐ คะแนน เพราะมันทำได้จริง

มันทำได้จริง มันไม่ได้จำมา จำมามันไร้สาระ! จำมาเดี๋ยวก็ลืม จำมาทำไม ทำไมไม่ทำให้เกิดขึ้นมา ให้เป็นความจริงขึ้นมา ถ้าเกิดความจริงขึ้นมาสิมันถึงเป็นความจริง สมาธิเป็นอย่างไร? สติเป็นอย่างไร? ถ้าสติมันมีนะ เราจะมีสติพร้อม เราจะไม่ลอกแลก เราจะไม่กวนใคร เพราะอะไร

เพราะว่าเราจะฝึกสติได้ขนาดนี้ ทุกข์เกือบเป็นเกือบตาย คนที่ทำสมาธินี้เขาต้องการความสงบสงัดของเขา ไม่ใช่หมาบ้า! พล่าม! พล่าม! พล่าม! อยู่ทั้งวัน เขาต้องการความสงบก็ไปพล่ามๆ ใส่เขา “นี่พุทธพจน์” จะพล่ามพุทธพจน์ใส่เขา มันจะเห่าใส่เขา จะกัดเขา “นี่พุทธพจน์นะ” เขากลัวหมาบ้า หมาบ้าจะไปกัดเขา

แต่ถ้าเป็นความจริง สติพร้อมนี่ไม่พูดกับใคร เห็นไหม ดูสิ ในสมัยพุทธกาลที่ว่า พระปฏิบัตินะ เวลาเขาไปถึงที่วัดไม่มีใครเลย เขาบอกว่า วัดนี้ทะเลาะกันหรือ พระไปไหนหมด เขาก็บอกให้เคาะระฆังสิ พอเคาะระฆังก็ต่างคนต่างมา พอต่างคนต่างมาขึ้นมานี่ ก็ไปฟ้องพระพุทธเจ้าว่าพระทะเลาะกัน พระพุทธเจ้าบอกว่า “นี่สุดยอด สุดยอดของคนมีสติปัญญา ต่างคนต่างรักษาใจของตัว สงบนิ่งในใจ”

พอสงบนิ่งแล้วต้องการความสงบสงัด มันกลัวไง มันกลัวการกระทบกระทั่ง มันกลัวจิตส่งออก เพราะพอกระทบแล้วจิตมันก็ออก เขารักษาของเขา นี่พระปฏิบัติเขาเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่ พล่าม! พล่าม! พล่าม! เหมือนคนบ้า ไอ้นั่นไม่ใช่พระปฏิบัติหรอก ถ้าเราไปวัดปฏิบัติ เราต้องการความสงบสงัด เราต้องเห็นใจเขา ทุกคนต้องการอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างนั้น

นี่พูดถึงว่าสังคมโลก สังคมโลกเป็นอย่างไร เราก็เข้าใจ เพราะโลก วุฒิภาวะของสังคมเขาได้แค่นั้นแหละ ความถูก ความผิดนะ เราถึงพูดเมื่อวานเห็นไหม กรณีนี้เป็นการเตะหมูเข้าปากหมา ชี้อันนี้ผิดๆๆ เขาก็แสวงหา มันก็ผิดทั้งนั้นน่ะ จากผิดไปสู่ผิดไง ก็ชอบความสะดวกสบายไง ไม่ต้องทำอะไรเลยจะได้เป็นพระอรหันต์.. แล้วก็ไปนะ โอ๋ย อยู่เฉยๆ สักแต่ว่า ทุกอย่างไม่มีอะไรเลย นี่ไงเป็นพระอรหันต์

จุ๊ๆๆๆๆ ไร้สาระ.. ไร้สาระมาก...

นี่เรื่องของเขา นี่พูดถึง เพราะวุฒิภาวะของสังคมมันได้แค่นั้น สังคมมันรู้ขึ้นมาไม่ได้ พอรู้ขึ้นมาไม่ได้ พูดเท่าไรมันก็เป็นอย่างนั้น พูดกับคนตาบอดมันก็เป็นอย่างนั้นน่ะ เพียงแต่ว่า ในเมื่อเหตุการณ์มันเกิดขึ้นมาแล้ว เราก็ดูแลไปเท่านั้นน่ะ

นี่ดูแลกันไป ดูแลกันไป... ทำไมครูบาอาจารย์.. เขาบอกว่าหลวงตาไม่เห็นพูด ใครไม่เห็นพูด.. พูดออกมานี่มันเหมือนพูดกับคนตาบอด มันก็เท่านั้นแหละ แต่คนรู้จริงมี แต่คนรู้จริงมีส่วนน้อย

ฉะนั้นถึงบอกว่า ถ้าเป็นอิจฉานะ ไม่อิจฉา ไม่อิจฉาความชั่วของใคร แต่อิจฉาความดีสิ ความดีอยากได้ ใครทำดีอยากได้ดีด้วย แต่ถ้าใครทำชั่ว ไม่อิจฉาเด็ดขาด เอวัง