เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๘ ก.ย. ๒๕๕๓

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๕๓
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรม เรามาทำบุญกุศล การฟังธรรมเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะการฟังธรรม การได้ยินได้ฟังเป็นของที่ลำบากมาก เพราะอะไร เราว่าลำบากมาก ครูบาอาจารย์ท่านเทศน์มานี่ อัดอยู่ในเทปเห็นไหม ออกวิทยุกันทั้งวันทั้งคืน อันนั้นมันเป็นธรรมจากครูบาอาจารย์ที่เราไว้ใจได้นะ

แต่ธรรมนี่เราต้องฟังแล้วเข้าใจได้ว่า ถ้ามันฟังแล้วมันไม่มีทางขัดแย้งกันได้ ธรรมะจะเดินไปในแนวทางเดียวกัน แต่ถ้าเป็นอธรรม มันมีแต่ความขัดแย้ง มันไปไม่ได้

ดูวังน้ำวนสิ มันจะหมุนวนของมันอยู่อย่างนั้น แล้วมันจะดูดสิ่งต่างๆ เข้าไปสู่วังน้ำวนนั้น แต่ถ้าแม่น้ำมันจะไหลไปตามปกติของมัน สิ่งที่อยู่ข้างแม่น้ำนั้นจะได้ผลประโยชน์จากแม่น้ำนั้น ได้สารอาหารจากแม่น้ำนั้น

“การฟังธรรม” เห็นไหม สิ่งที่ไม่เคยได้ยินได้ฟัง สิ่งที่เคยได้ยินได้ฟังแล้วตอกย้ำ สิ่งที่ทำความข้องใจของเรา สุดท้ายแล้วทำให้หัวใจผ่องแผ้ว คือมันไม่มีสิ่งใดลังเลสงสัย มันทะลุปรุโปร่ง มันเป็นสิ่งที่เราไม่มีอะไรเป็นกังวลในหัวใจเลย อันนั้นคือผลของการฟังธรรมนะ

การฟังธรรมเห็นไหม เราสร้างบุญกุศลขึ้นมานี่ บุญกุศลนี่เป็นทาน “ทาน ศีล ภาวนา” การภาวนา จะเอาอะไรภาวนา ถ้าเราไม่มีเหตุมีผล เอาอะไรมาภาวนาเห็นไหม

เวลาคนเราเกิดขึ้นมามันเกิดมาแต่ตัว ไม่มีใครเอาทรัพย์สมบัติสิ่งใดมาเลย มันมาแต่ตัวล่อนจ้อนนะ เราเกิดมาแล้วนี่ พ่อแม่ ญาติพี่น้องสั่งสอนให้มีปัญญา ให้มีการศึกษา ให้เครื่องนุ่งห่มอาศัย

นี่ก็เหมือนกัน ในหัวใจ จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี่ .. มันมีอะไร อาภรณ์ของจิต เครื่องนุ่งห่มอาศัยของมันคือความคิด ถ้ามีความคิดนะ แม้แต่ความคิดกับตัวจิตยังไม่เข้าใจ แม้แต่ความคิดกับสมาธิ..

คนเราเห็นไหม เรานุ่งเสื้อผ้าอาภรณ์เราก็รู้ว่าเรานุ่งเสื้อผ้าอาภรณ์ เวลาเราทำความสะอาดร่างกายของเรา เราปลดเสื้อผ้าเครื่องอาภรณ์ออก เราก็รู้ว่าเราปลดเสื้อผ้าอาภรณ์ เราปลดทำไม เพราะเราจะอาบน้ำ เราจะทำความสะอาด

คนเจ็บไข้ได้ป่วย เข้าโรงพยาบาล เวลาเขาจะผ่าตัด เขาต้องทำความสะอาดร่างกาย ใครจะผ่าจากเสื้อผ้านั้นเข้าไป ใครจะผ่าจากสิ่งที่เราใช้อยู่เห็นไหม

นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อสังคมของเรา เราเกิดมามีแต่ตัวล่อนจ้อน เกิดมาแล้วพ่อแม่ก็เลี้ยงดูอาศัย นี่ก็เหมือนกัน จิตเดิมแท้นี่ผ่องใส จิตเดิมแท้นี่มันล่อนจ้อน มันไม่สิ่งใดเลย แต่เวลาเกิดขึ้นมาแล้ว เราต้องศึกษา ขันธ์ ๕.. ขันธ์ ๕.. นี่เราต้องมีการศึกษา มีการกระทำ มีการจำ มีการฝึกฝน สิ่งนี้เราฝึกฝนมาจากสัญชาตญาณของเรา แล้วเอาสิ่งนี้ไปศึกษาธรรมกัน.. ศึกษาธรรมกัน.. ว่าธรรมะๆ ที่ฟังธรรมกัน

ธรรมะนี่ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านวางธรรมไว้ สุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญา เพราะอะไร เพราะมันขั้นของคฤหัสถ์ ขั้นของทารก ขั้นของเด็กแรกเกิด เด็กแรกเกิดมันช่วยตัวเองไม่ได้หรอก

เราไม่รู้สิ่งใดเลย เราปฏิบัติธรรม..ปฏิบัติธรรม.. ดูนั่งสมาธิสิ เวลาทำความสงบของใจนี่ ทำเกือบเป็นเกือบตาย แล้วมันได้ผลขึ้นมาไหมล่ะ.. ไม่เห็นมันได้ผลสิ่งใดขึ้นมาเลย นี่เราเอาเด็กทารกมาทำงาน เอาเด็กทารกมาบริหารประเทศชาติ มันเป็นไปไม่ได้หรอก คนที่จะบริหารประเทศชาติ มันต้องมีการฝึกฝนมา มันต้องมีปฏิภาณไหวพริบขึ้นมา นี่คือคนที่จะบริหารประเทศชาติ

อันนี้เราบริหารภพชาติของเรา ภพชาติของเรา ชีวิตของเราจะบริหารอย่างไร เราจะจัดการชีวิตของเราอย่างไร ชีวิตของเรา.. พุทธศาสนาเห็นไหม “อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ตนเท่านั้นเลย

.. จิตเท่านั้นเลยที่แก้จิต .. คนอื่นแก้ให้ไม่ได้หรอก

สิ่งที่จะแก้ให้มีครูบาอาจารย์คอยชี้นำแนวทางให้เรา ถ้าครูบาอาจารย์คอยชี้แนวทางให้เรา มีคนคอยชี้แนวทาง เราไม่รู้นะ ดูสิ เราจะเปลื้องผ้า เราจะทำความสะอาดของเรา เรายังไม่รู้เลยเพราะอะไร เพราะเราเปรียบเทียบไม่ได้ เพราะความรู้สึก จิตก็คือจิต ในปกติ ความรู้สึกเราคือความรู้สึกเรา เวลาเราจะอาบน้ำ เราจะทำความสะอาดเพราะจิตของเรา

นี่ก็เหมือนกัน เวลาจิตเป็นสมาธิ ก็ไม่รู้ว่าเป็นสมาธิ แต่เวลาทุกข์ยากมันรู้นะ เสื้อผ้าเวลาใช้สอยขึ้นมาแล้วนี่ มันเหม็น มันไม่ได้ซัก ไม่ได้เอามาทำความสะอาด มันเหม็นคุ้งไปหมด

อารมณ์ความรู้สึกของความคิด เวลามันอยู่กับใจมันเดือดร้อนไปหมด พอเรามาประพฤติปฏิบัติกัน พอเราเริ่มต้นปฏิบัติ ตั้งสติกัน “โอ่.. มันสบายนะ เมื่อก่อนเราเป็นคนที่ฟุ้งซ่านมาก เดี๋ยวนี้มันสุขสบาย.. สุขสบาย” เสื้อผ้าเราได้ซัก ได้ใช้สอยแล้ว ได้เอามาซักทำความสะอาดแล้วมันก็ไม่มีกลิ่นเหม็น ก็เท่านั้นน่ะ แล้วมันจะทำอย่างไรต่อไป.. สมาธิยังไม่เป็นสมาธิเลย

ถ้าเป็นสมาธิขึ้นมา เราเปลื้องออกหมดเลย จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส มันไม่มีอาภรณ์ อาภรณ์คือประดับร่างกาย นี่พูดถึงเปรียบเทียบให้เห็นชัดๆ ไง ว่าการปฏิบัติ การกระทำ แค่ฟังก็รู้แล้ว นี่ไง ธรรมะ กับ อธรรม !

ถ้าธรรมะนะ ศีล สมาธิ ปัญญา ธรรมของพระพุทธเจ้าไม่มีคัดค้านกันหรอก แต่ถ้าเป็นอธรรม มันค้านไปหมดล่ะ มันค้าน.. เป็นวังน้ำวน ไปถึงก็วนอยู่อย่างนั้นล่ะ วนแล้วก็อยู่กันไปตายอยู่นั่นแหละ แล้วสิ่งที่ทำขึ้นมาเห็นไหม มันไม่มีใครชี้นำ

ในพุทธศาสนา ธรรมและวินัยนี้ จะไม่มีสิ่งใดตกอยู่ในธรรมวินัยนี้ ธรรมวินัยนี้เหมือนกับทะเล มันจะซัดทุกสิ่งเข้าสู่ฝั่ง วัตถุสิ่งใดคลื่นมันจะซัดเข้าหาฝั่งหมดเลย มันจะไม่เก็บไว้ในทะเล

ธรรมและวินัยนี้ก็เหมือนกัน ถ้าทำดีทำชั่ว ความชั่ว ความอกุศล ในธรรมวินัยนี่ มันจะพัดเข้าสู่ฝั่ง รู้อยู่.. รู้อยู่.. เราเจ็บไข้ได้ป่วยเราก็รู้นะ เวลาเราสุขสบายเราก็รู้นะ คนทำดีทำชั่วรู้ทุกคน มันเป็นแต่ว่าพาลหรือบัณฑิต เท่านั้นเอง

ถ้าเป็นพาล พาลชนเห็นไหม “อเสวนา จ พาลานํ ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา” บัณฑิตนะ ทุกข์มากเวลาอยู่กับคนพาล เพราะคนพาลมันไม่มีเหตุมีผล มันทำตามแต่ความพอใจของมัน มันเอาสีข้างเข้าถู มันไม่เอาเหตุผลเข้าว่า สีข้างเท่านั้น ถูไปแถกไปอย่างนั้น นี่คนพาล ! คนอยู่กับคนพาลเป็นความทุกข์อย่างยิ่ง ถ้าคนพาลมันไม่มีเหตุผล

แต่ถ้าเป็นบัณฑิตเห็นไหม บัณฑิตถ้ามีความเข้าใจผิด บัณฑิตที่ยังปฏิบัติไม่ถึง ครูบาอาจารย์ท่านชี้ ท่านบอก มันจะพัฒนาของมัน มันจะปล่อยวางของมัน มันไม่ใช่เอาทิฏฐิมานะเข้าไปถู มันจะเอาเหตุเอาผล

“ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ” การสนทนาธรรมเป็นมงคลอย่างยิ่ง แต่ต้องสนทนาธรรมแบบมีเหตุมีผล ไม่ใช่หมากัดกัน

หลวงตาบอก “เวลาแสดงธรรม เวลาธมฺมสากจฺฉา นี่หมากัดกัน !” โอ้โฮ.. น้ำลายแตกฟองเลย แต่มันไม่รับเหตุรับผลไง เหตุผลมันไม่ยอมฟัง ดื้อ ! แล้วเอาสีข้างเข้าถูไปอย่างนั้น ทั้งๆ ที่รู้ ทั้งๆ ที่รู้เพราะอะไร เพราะหัวใจนี่มันรู้

คนเราไปอยู่กลางแดดแล้วไม่ร้อน มันเป็นไปไม่ได้หรอก ! ดูสิ ในจักรวาลนี้ มีพระอาทิตย์ดวงเดียว ศูนย์กลางคือจากพระอาทิตย์ แล้วส่งให้พลังงานทั้งหมด ในความรู้สึกของจิต ทุกอย่างเกิดจากจิต แล้วจักรวาล คือเรื่องของสสาร คือเรื่องของจักรวาล เรื่องของดวงดาว

แต่เรื่องของภพชาติ เรื่องของจิต เวลาหลวงตาท่านพูดนะ “เวลาทำลายกิเลสหมดสิ้นไปจากหัวใจแล้วนะ หัวใจนี่มันเวิ้งว้าง มันกว้างขวาง มันเป็นเหมือนสิ่งที่เหมือนกับว่าไม่มี ๓ แดนโลกธาตุนะ กามภพ รูปภพ อรูปภพ มันกว้างขวาง จิตนี้มันครอบคลุมไปหมดเลย”

หลวงตาบอก “จิตนี้มันครอบคลุม ๓ โลกธาตุ” เราไปเห็นแค่จักรวาลนี้เท่านั้นเอง กามภพ รูปภพ อรูปภพ เรายังไม่รู้จักมันเลย แล้วจิตนี้มันครอบ ๓ โลกธาตุ เวลามันทำลายอวิชชา ทำลายความไม่รู้ในหัวใจของมันแล้ว นี่ไงมันเป็นไป เวลาจิตมันพ้นจากกิเลสไปเห็นไหม แล้วพระอาทิตย์มีดวงเดียว .. จิตนี้มีหนึ่งเดียว .. แต่จิตของใครของมัน ..

“จิตของใครของมัน” คือ จักรวาลของมัน นี่แกนของโลก แกนของอวิชชา แกนของจิต ถ้ามันเข้าไปสู่นั้น มันจะไปทำลายอวิชชานั้น ถ้าเป็นสัจจะความจริง มันจะเป็นความจริงของมันขึ้นมา

แต่ถ้าไม่เป็นความจริง เห็นไหม คนพาล เวลาพาลมันไม่มีเหตุมีผลไง แล้วไม่มีเหตุผลนี่ มันทำลายตัวเองก่อน เพราะอะไร เพราะแกนของโลกเห็นไหม จักรวาลนั้น แรงดึงดูดของโลก ดูสิ โยนอะไรออกไป แรงดึงดูดของโลก แรงโน้มถ่วงมันดึงกลับมาหมดล่ะ

นี่ก็เหมือนกัน โลกนี้ สภาวะแวดล้อมของโลก มวลสารต่างๆ พระอาทิตย์ส่องมานี่ มันมีโทษไปหมดล่ะ นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันมีคนพาล พาลชน แล้วทำกันไป มันจะเสียหายกับสังคมไง สังคมอ่อนแอ สังคมไม่รู้ อย่างนี้ไง เนี่ยทารก เห็นไหม ดูสิ เด็กทารกเกิดมาถ้าพ่อแม่ไม่เลี้ยงก็ตายหมด จิตของผู้ที่ปฏิบัติเป็นอย่างนั้นหมด !

สติก็ไม่รู้นะ สติยังไม่รู้จักตัว ถ้ามีสติสตังขึ้นมา คนมีสติแล้วมีปฏิภาณ สิ่งใดมันก็รู้ สิ่งที่มันเกิดมาเห็นไหม ดูสิเขาเข้าใจได้ ดูแสงแดด มีความร้อน มียูวี ทุกคนกลัวเป็นมะเร็งผิวหนัง โอ๋ย.. ออกไปน่ะกันแล้วกันอีกนะ อู้ฮูย.. กลัวมะเร็งผิวหนัง กลัวมันทำไม! …กลัวเพราะรู้

แต่คนที่เขาไม่รู้ คนเขาไม่รู้เขาก็ไม่กลัวของเขา ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ทารก.. ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ สังคมมันอ่อนแอเห็นไหม ออกไปนี่เป็นโทษเป็นภัย ...ไม่รู้ สิ่งใดก็ไม่รู้ ไม่รู้อะไรผิด อะไรถูก แล้วพอปฏิบัติก็ว่า สบาย.. สบาย.. ก็ทารก !!

เอ็งเกิดมาเอ็งไม่ต้องทำอะไรเลย เอ็งโตมาแล้วนี่เอ็งจะมีกินตลอดชีวิต ...ก็พ่อแม่เลี้ยงอยู่นะ ถ้าพ่อแม่ตายไปจะทำยังไง นี่ก็เหมือนกัน การประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ถ้าตัวเองยังพึ่งตัวเองไม่ได้ “อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน”

ถ้าตนเป็นที่พึ่งแห่งตน สมาธิตัวเองก็ต้องรู้ว่าเป็นสมาธิ ถ้าเกิดเป็นปัญญาก็ต้องรู้ว่าเป็นปัญญา แล้วเกิดปัญญา.. แต่นี้มันปัญญาโลกๆ ปัญญาโลกๆ เพราะเหตุใด

ทารกคุยกับทารก ก็เฒ่าทารก ! โตจนจะแก่ตายอยู่แล้วนะ คุยกับทารกรู้เรื่อง อ๋อแอ๋... อ๋อแอ๋... อยู่งั้นน่ะ ไม่มีสติปัญญาขึ้นมาเลย

ถ้ามันไม่ใช่เฒ่าทารก ทารกก็รู้ว่าทารก เราโตขึ้นมาเราก็รู้ใช่ไหม จิตที่มันอ่อนแอ จิตที่ไม่มีกำลัง จิตที่มันไม่เป็นสิ่งใดเลย มันก็เป็นเฒ่าทารก มันก็เป็นทารกอ่อนๆ อยู่อย่างนั้น แต่ถ้ามีสมาธิขึ้นมา มันขัดแย้งแล้ว มันขัดแย้งว่า เวลาร่างกายปรกติเรานุ่งเสื้อผ้าอาภรณ์ก็เป็นอย่างนี้ เวลาเราปลดเปลื้องออกแล้ว มันโล่งโถงเป็นอย่างนี้ มันชัดเจนมากนะ

เราถึงบอกว่า แม้แต่สมาธิก็ทำไม่เป็นไง

ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าไม่มีสมาธิ ไม่มีพื้นฐาน ไม่มีบุคคลเลย ดูสิ เราทำเวรทำกรรมขึ้นมา ใครเป็นเจ้าของ จิตนี้เป็นเจ้าของนะ อย่าว่าแต่เราเลย เรานี้เป็นสมมุติอันหนึ่ง ภพชาติหนึ่งนี้มันเป็นแค่เศษเสี้ยว

แต่ “ฐีติจิต” คือตัวจิตปฏิสนธิจิตที่มันเกิดตายมาตั้งแต่อดีตชาติมาจนเป็นชาติปัจจุบัน แล้วจะไปชาติข้างหน้า จากอนาคตไปนี้ ไอ้ตัวนี้สิเป็นเจ้าของ ! ตัวจิตเนี่ย ตัวภวาสวะ ตัวภพ มันเป็นเจ้าของความดีความชั่วทั้งหมด

แต่ขณะที่เกิดเป็นปัจจุบันนี้มันมีอวิชชา มันมีความไม่เข้าใจของมัน แล้วมันทำดีทำชั่วของมันไป ทำดีทำชั่วเห็นไหม ทำดีมันก็เป็นผลดีกับจิตดวงนี้ ทำชั่วก็เป็นผลกับจิตดวงนี้ ทำให้จิตดวงนี้ จิตดวงนี้มันเป็นเจ้าของชีวิตเรานะ เป็นเจ้าของภพชาติเรา แต่เราไม่รู้จักมันหรอก ! เราไม่รู้จักมันเห็นไหม มันก็เวียนไปตามแต่อำนาจของกิเลส นี่ไง สิ่งที่ทำมา สิ่งที่ทำไป..

“ชีวิตนี้เป็นแค่เศษเสี้ยวของจิตเท่านั้นเอง ! ”

เพราะเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนาพุทธภูมิ เห็นไหม ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย ทำแล้วทำเล่า เกิดแล้วเกิดตาย ๆ ๆ พันธุกรรมทางจิตมันเปลี่ยนแปลงมาตลอด พันธุกรรมมันเปลี่ยนแปลงมาจนมันมีความพร้อม มันมีความสามารถ มันถึงกระทำถึงที่สุดแห่งทุกข์ เป็นสมุจเฉทปหาน ทำด้วยสยมภูตรัสรู้เองโดยชอบ

พวกเรานี้มันมีธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คนก็อ้างอิงไง มันพาลชน.. พาลชนอ้างอิงท่านไป แล้วเราก็คล้อยตามกันไป เพราะ ! เพราะเราไม่สามารถแยกแยะสิ่งใดได้ เราไม่รู้อะไรผิดอะไรถูกล่ะ ว่างๆ ว่างๆ ทุกคนพูดอย่างนี้ “ เมื่อก่อนเลวหมดเลย เดี๋ยวนี้เป็นคนดีหมดเลย ”

ดูไอ้คนติดยาเสพติดสิ คนติดยาเสพติดดีไหม เวลามันเลิกยาเสพติดแล้วมันเป็นอะไรขึ้นมาล่ะ มันเลิกยาเสพติดขึ้นมาแล้วมันต้องมาฟื้นฟูร่างกายของมันอีกนะ จิตก็เหมือนกัน ! เวลามันฟุ้งซ่าน เวลามันทุกข์ยาก เวลามันไม่มีสิ่งใดๆ มันก็เป็นอย่างนี้ แต่เวลาศึกษาธรรมะขึ้นมาแล้ว มันก็เท่านั้นน่ะ !

เพราะอะไร เพราะว่าความคิดเป็นอาภรณ์ “ความคิดเป็นอาภรณ์ของใจ” ถ้ามันปล่อยความคิด ปล่อยอาภรณ์นั้น มันถึงจะเข้าไปสู่สัมมาสมาธิ ความเป็นสมาธิไง ดูสิ ร่างกายล่อนจ้อนนี้คือสมาธิ คือจิตเดิมแท้ แต่ถ้าร่างกายมันสวมอาภรณ์ของมันก็คือสวมความคิด พอสวมความคิดไปแล้วมันได้อะไรขึ้นมา

เวลาทำขึ้นมาทำไม่เป็นนะ เวลาถอดอาภรณ์ออก แต่มันไม่เป็นสมาธิก็มี มันไม่เป็นสมาธิเพราะอะไร เพราะไม่มีสติ ดูสิ เขาถอดเสื้อผ้า เขาทำความพร้อมเพื่อจะฟื้นฟูร่างกาย เพื่อจะผ่าตัด เพื่อจะทำสิ่งใด แต่ไอ้นี่เปลื้องผ้ามาแล้วไปทำความชั่ว ทำต่างๆ เห็นไหม จะบอกว่า เป็นมิจฉากับสัมมาไง

ถ้าเป็นมิจฉา มันจะรู้จักว่าเป็นสมาธิ พอเปลื้องผ้าแล้ว คนเจ็บนะ เห็นไหมดูสิ คนเราเจ็บไข้ได้ป่วย แล้วบอกว่า ถ้าผ่าตัดแล้วมันจะหาย ถ้าไม่ผ่าตัดแล้วมีโอกาสจะตาย คนเราพอจะตายนะ มันไม่คิดอะไรหรอก มันคิดแต่ว่าจะหาย จะหาย ไปหาหมอ “หมอ หายมั้ย ๆ ” คนเข้าไปหาหมอจะถามคำแรกเลย “หายเมื่อไหร่ เมื่อไหร่จะหาย” คนนะมันกลัวตาย พอมันกลัวตายขึ้นมา เวลามันมีสติปัญญาขึ้นมามันจะมีคุณค่ากับชีวิตไง เห็นชีวิตนี้มีคุณค่า แต่คนมันเพลินนะ ขาดสตินะ มันไม่หาหมอ มันกินแต่ของแสลง มันทำร้ายแต่ตัวมันเอง

นี่ก็เหมือนกัน เวลามีสติปัญญา พุทโธ พุทโธ สัมมาสมาธินี้ มันเหมือนกับเวลาเขาเปลื้องผ้ามาแล้วมีสติสัมปชัญญะ มันก็เป็นสัมมาสมาธิ มันก็เป็นสมาธิ

แต่ถ้าไม่มีสติปัญญามาเลย สติมันจะเกิดเองเป็นอัตโนมัติ มันจะลอยมาจากฟ้า มันจะ... มันก็เปลื้องผ้า เปลื้องผ้าแล้วมันก็ทำความชั่วของมัน เป็นมิจฉา !! มิจฉาสมาธิ

มิจฉาเพราะไม่มีสติ ไม่มีปัญญา ไม่มีการควบคุม ถ้าเป็นมิจฉาขึ้นมา ว่างๆ เมื่อก่อนเลวมาก.. เดี๋ยวนี้เป็นคนดี มิจฉา !! มิจฉาเพราะไม่มีสติว่าทำคุณงามความดียังไงต่อไป

ถ้าเป็น ศีล สมาธิ ปัญญา เวลาเกิดสมาธิจะเกิดปัญญา จิตเกิดเป็นสมาธิขึ้นมาแล้ว จิตมันมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมาแล้ว หมอเขาทำการฟื้นฟูร่างกายแล้ว เราจะมีการผ่าตัด เราจะมีการทำให้เราหายจากเจ็บไข้ได้ป่วยเห็นไหม มีสติปัญญาเพราะอะไร เพราะมันกลัวตาย ! มีสติปัญญา มรณานุสสติ เห็นไหม มีสติชีวิตนี้จะมีค่า พอมีค่าขึ้นมา มันออกไปใช้ปัญญาขึ้นมา เห็นไหม หมอรักษาทำให้ร่างกายนี้หายได้

จิตก็เหมือนกัน จิตถ้าเป็นสัมมาสมาธิแล้วมันออกใช้ปัญญา นู่นนน ปัญญามันอยู่ที่ นู่นนน... ปัญญาที่มันเป็นสัมมาสมาธิแล้วออกค้นคว้าในอริยสัจ ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม เห็นไหม

แล้วบอกว่า เนี่ยพิจารณากาย.. เห็นกาย..

ไปดูสิ แผงค้าสัตว์ มันสับทุกวัน ไอ้นั่นก็กายน่ะ กระดูกนี้เอาไปต้มพะโล้ ขาหมูนี้เอาไปตุ๋น นั่นเห็นกายไหม เห็นกายรึเปล่า เอามืดสับทุกวันยังไม่เห็นเลย ! นี่ว่าพิจารณากาย.. พิจารณากาย.. เฒ่าทารก !!

กายนอก กายในนะ มรณานุสสติ การระลึกรู้สึก การดูแล เห็นไหมนี้เป็นกาย พิจารณากายอย่างนั้น หลวงปู่เจี๊ยะพูดประจำ “ให้กำหนดกายตลอดเวลา จิตนี้อยู่ในกายตลอดเป็นชั่วโมงๆ นี้เป็นสมถะ สมถะเพราะจิตมันไม่แล็บออก มันจะอยู่กับโครงกระดูกนี้ตลอดเป็นชั่วโมงๆ นี้เป็นสมถะ ! แล้วพิจารณากายไปเรื่อยๆ จากสมถะ พอจิตมันสงบแล้ว พอมันเห็นกายตามความเป็นจริงขึ้นมา มันจะสะเทือนหัวใจของมัน” นี่ ผู้รู้จริงเห็นไหม !

คนรู้จริงพูดน่ะถูกหมด เฒ่าทารกพูดน่ะผิดหมด

นี่ไง ที่ว่า หลวงปู่เจี๊ยะท่านบอกว่า “อยู่ในกายเป็นชั่วโมงๆ” คำว่าเป็นชั่วโมงๆ นี้ก็เหมือนเราพุทโธเป็นชั่วโมงๆ นี้แหละ พุทโธๆ ก็เหมือนพิจารณากาย พุทโธๆ นี้ก็เหมือนจิตอยู่กับพุทโธ

จิตนี้ให้ไปตามข้อ อยู่ในกายเป็นชั่วโมงๆ จิตนี้ถ้ากำหนดพุทโธเป็นชั่วโมงๆ จิตถ้ามันไม่แล็บออกเลย นี่คือสมาธิ หลวงปู่บอก “นี่คือสมถะ” แล้วพิจารณาไปเรื่อยๆ พอจิตเราเป็นสมถะแล้วก็พิจารณากายซ้ำไป ซ้ำไปเรื่อยๆ .. พอเราเปลื้องอาภรณ์ออกหมดแล้ว เราจะฟื้นฟูร่างกายเราแล้ว พอมีร่างกายแข็งแรง เราจะผ่าตัดละ

จิตมันมีกำลังของมัน มันพัฒนาการของมัน เห็นไหม นี่ไง พอพัฒนาการของมัน มันจะเห็นของมัน แล้วมันจะเข้าใจของมัน ปัญญาไปเกิดที่นู่น แล้วปัญญาเกิดขึ้นมาไม่ใช่ว่า

“ เนี่ยเมื่อก่อนเป็นคนเลวมากเลย เดี๋ยวนี้เป็นคนดี... ”

แล้วคนดีเป็นทำไม คนดีมันก็ตาย คนดีมันต้องดีขึ้นไป จากดีเป็นปุถุชน เป็นกัลยาณปุถุชน แล้วเป็นอริยบุคคล เป็นโสดาบัน สกิทาคา อนาคา... คนดีมันอยู่ที่นู่น! ผลการปฏิบัติมันอยู่ที่นู่น ไม่ใช่คนดีหรือคนเลว ผลก็คืออริยสัจ ผลคือความจริง ผลที่เกิดจากความจริง ใจมันเกิดขึ้นจริงๆ มันเป็นความจริง เป็นความจริงอย่างนี้ มันถึงเป็นสัจธรรม

นี่พูดถึงธรรมะไง การฟังธรรมนี้ ทีนี้การฟังธรรม ถ้าพูดธรรมะลึกเกินไป มันก็บอกว่า อู้ฮูๆ เลยนะ ...ไม่ใช่หรอก มาทำบุญก็อยากได้บุญน่ะ อยากไปสวรรค์ อยากร่ำอยากรวยเท่านั้นน่ะ เอวัง