เทศน์พระ

ใจคว่ำ

๒๓ ก.ย. ๒๕๕๓

 

ใจคว่ำ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์พระ วันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจ ทำความสงบของใจ เรามาบวชเพื่อให้ได้ศึกษาศีลธรรม หลวงตาท่านบอกเลย “ศีลธรรม จริยธรรม เป็นสมบัติของพระ” สมบัติของโลกเขามีแก้วแหวนเงินทอง ตำแหน่ง หน้าที่การงาน เป็นสมบัติของเขา

แต่ถ้าเป็นพระ โลกธรรม ๘ ! มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ เราเห็นการเปลี่ยนแปลงของโลก ดูสิ ผู้ที่มีอำนาจวาสนาเห็นไหม หมดวาระ เกษียณราชการไป ก็ไปอยู่กันแบบเหงา ว้าเหว่ เพราะเขาอยู่กันด้วยหัวโขน เพราะเราเห็นว่ามันเป็นเรื่องของอนิจจัง มันเป็นเรื่องของโลก

เรามีสติปัญญา เราถึงได้มาศึกษาเห็นไหม ดูสิ ในทางโลกเขา ถ้าใครได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า โรคต่างๆ ก็ฉีดเพื่อป้องกันไว้ อันนั้นเพื่อประโยชน์กับเขาเวลาไปเผชิญกับพิษสุนัขนั้น

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเรามาศึกษาธรรม เพื่อเป็นบัณฑิต จากคนดิบให้เป็นคนสุขขึ้นมา เพื่อเป็นวัคซีนในการดำรงชีวิตของเรา ถ้าชีวิตของเรามีวัคซีนป้องกัน เราเจอสิ่งเชื้อโรคต่างๆ มันก็จะป้องกันของเราได้ เวลาเราอยู่กับทางโลก เรามาเจออะไรกระเทือนใจ เราเจอความทุกข์ใจ ถ้ามันมีศีลธรรมในหัวใจ เราก็จะมีหลักมีเกณฑ์ของเรา เพื่อถนอมชีวิตของเราให้ผ่านพ้นจากวิกฤตอันนั้นไปได้

แต่คนที่บวชมา เพื่อความพ้นจากทุกข์ เราบวชมาเราต้องมีเป้าหมาย เราไม่ใช่บวชมาเล่นๆ เราบวชมาเพื่อจะพ้นจากทุกข์ ชีวิตนี้มีคุณค่ามากนะ ชีวิตนี้เขาอยู่ทางโลกเขา เขามีครอบครัวของเขา เขาประสบความสำเร็จทางโลกเขา เขาหาแก้วแหวนเงินทองของเขา เขาก็ยังมีทรัพย์สมบัติของเขา

เราบวชมาเป็นพระ เพื่อประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เพื่อจะพ้นจากทุกข์ เราต้องจริงจังกับเรา ถ้าเราจริงจังกับเรา ความจริงจังกับเรานั่นล่ะ มันจริงจังกับกิเลส แต่เพราะว่าเราไม่จริงจังกับเราเห็นไหม

ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาเทศนาว่าการ พูดบอกว่า “เหมือนหงายภาชนะที่คว่ำอยู่” หงายภาชนะที่คว่ำอยู่ ถ้าคนที่มันปิดใจก็เหมือนภาชนะที่คว่ำไว้ ถ้าใจของเราคว่ำไว้ เราปิดใจของเราเอง เราคว่ำใจของเราเอง เราจะพ้นจากทุกข์ได้อย่างไร.. เราจะแก้ไขหัวใจของเราได้อย่างไร..

ถ้าเราจะแก้หัวใจของเรา เราจะต้องพยายามหงายหัวใจของเราขึ้นมา ถ้าเราหงายหัวใจของเราเห็นไหม ทิฏฐิอันนั้นมันคว่ำใจเราไว้ มันกดหัวใจเราไว้ เพราะทิฏฐิมานะ คิดว่ารู้ เพราะคิดว่ารู้ คิดว่ามีการศึกษา นี่ไง กิเลสมันกดขี่อีกชั้นหนึ่ง พอกิเลสกดขี่อีกชั้นหนึ่ง ทำให้สังคมในปัจจุบันนี้วุ่นวาย

เวลาพูดธรรมะขึ้นมา ทุกคนว่าเป็นธรรมะเห็นไหม แต่เป็นธรรมะของใครล่ะ มันธรรมะของกิเลส ทั้งๆ ที่แสดงธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยความไม่รู้ไง ด้วยอวิชชา ฉะนั้น เราศึกษา โลกมันถึงได้ปั่นป่วน โลกมันปั่นป่วนเพราะอะไร เพราะคนเราเข้าถึงได้ในระดับนั้น

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาเห็นไหม ระดับของทาน ระดับของศีล ระดับของภาวนา ระดับของโลกเห็นไหม ระดับของสุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา

โลกนี้ร้อนนัก ! ทุกคนก็ว่าโลกนี้เร่าร้อนนัก ทุกคนก็อยากจะพ้นจากทุกข์ทั้งนั้น จะพ้นจากทุกข์ด้วยการไม่ได้ประพฤติปฏิบัติ ด้วยการกระทำแบบนั้น มันจะพ้นจากทุกข์ได้อย่างไร

มันพ้นจากทุกข์ด้วยความคิด ด้วยความจินตนาการ ด้วยความคาดหมายของตัว ดูสิ เวลาคนจมน้ำ ก็อยากจะขึ้นจากตลิ่งให้ได้ พ้นจากการจมน้ำได้ คนจมน้ำไป.. เขาต้องหาคนช่วยให้พ้นจากการจมน้ำ

เวลาจิตของเรา เราอยู่ในอวิชชา อยู่ในกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ก็อยากจะพ้นจากกิเลส.. แต่ด้วยความฉ้อฉล ด้วยความไม่เข้าใจของผู้ชี้นำเห็นไหม เขาบอกว่า ยืนอยู่เฉยๆ อยู่ด้วยความปกติของใจ อยู่ในน้ำก็ประคองตัวไว้อย่างนั้น มันจะพ้นจากกิเลส มันจะขึ้นจากฝั่ง มันเป็นไปไม่ได้เห็นไหม

มันเป็นไปไม่ได้ ! เพราะนี่คือความสัมพันธ์ของโลก ความไม่เข้าใจของโลก โลกเขาเข้าใจกันอยู่ ในสังคมใดก็แล้วแต่ ถ้ามีความเข้าใจกันอย่างนั้น แล้วเราไปขัดขวางในสังคมนั้น เราแหลกลาญนะ

นี่ก็เหมือนกัน กระแสของโลกเขารุนแรง เขาเข้าใจของเขาอย่างนั้น แต่เข้าใจ การจะชี้นำ การจะบอกกล่าว มันต้องมีเทคนิค ต้องมีวิธีการของเขา จะบอกกล่าวโดยคนตื่นคน แล้วจะบอกให้ หยุด ! หยุด ! หยุด ! มันเป็นไปไม่ได้เห็นไหม

ดูสิ ดูแบบกระต่ายกับเต่าเห็นไหม กระต่ายตกใจที่ลูกตาลตก นี่ “ฟ้าถล่ม ! ฟ้าถล่ม !” ว่าไปอย่างนั้นน่ะ พูดไป.. คนก็เชื่อกันไป.. คนก็เชื่อกันไป.. จนเวลาไปถึงราชสีห์เห็นไหม ราชสีห์บอกว่า “หยุดก่อน ! หยุดก่อน ! ที่ไหนฟ้าถล่ม ให้ไปดูที่ต้นเหตุนั้น” ..ลูกตาล ! ลูกตาลตกใส่ก้านตาล..

นี่ก็เหมือนกัน เราไปตื่นกับสังคมไง สังคมว่าเป็นอย่างนั้น ทุกอย่างว่าเป็นอย่างนั้น เราไปตื่นกับเขา แล้วมันเป็นความจริงหรือเปล่า มันไม่เป็นความจริงอันหนึ่งเห็นไหม มันไม่เป็นความจริงเพราะอะไร เพราะผู้นำไม่มีวุฒิภาวะ ผู้นำตื้นมาก.. ตื้นเขินในธรรม

พอตื้นเขินในธรรม ความตื้นเขินในธรรม แต่เราเข้าใจของเราเองว่า สิ่งนั้นเป็นธรรม เพราะด้วยความพอใจ ด้วยความพอใจเพราะอะไร เพราะเราชอบความสะดวกสบายไง แล้วเราว่างๆๆๆ ความว่างของเราเห็นไหม วิมุตติสุขมันไม่เป็นอย่างนั้นหรอก

นี่สุขเวทนา เวลามีความสุข มันจะละเอียดอ่อนกว่าที่เราว่าว่างๆๆ กันอีก ว่างๆๆ กันไปนี่มันเป็นมิจฉา มิจฉาเพราะอะไร เพราะมันสำคัญตน แล้วมันรักษาตัวเองไว้ไม่ให้เกาะเกี่ยวกับสิ่งใด

แต่ถ้ามันมีการกระทำ มันลึกซึ้งกว่านั้นอีกเยอะมาก เพราะความตื้นเขินในธรรม เพราะผู้นำเป็นผู้มีความตื้นเขิน ก็ทำให้สังคมนั้นมีความตื้นเขินไปหมด แล้วเราศึกษามา เราก็เป็นคนตื้นเขิน ตื้นเขินแล้วยังคว่ำหัวใจไว้อีกต่างหาก ด้วยทิฏฐิมานะ กิเลสของคนมันอยากจะนั่งอยู่บนหัวคน กิเลสทุกตัว กิเลสทั้งนั้นน่ะ

ถ้ากิเลสมันต้องการนั่งอยู่บนหัวคน แล้วเวลาครูบาอาจารย์สั่งสอน ต้องการให้นั่งอยู่บนหัวคนหรือเปล่า เวลาครูบาอาจารย์เราสั่งสอน ไม่ต้องการนั่งอยู่บนหัวคนนะ ต้องการให้คนนั้นรู้สำนึกในตัวเอง ให้คนสำนึกถึงคน ถ้าคนสำนึกถึงคนมันจะมีความละอายใจนะ

มันมีหิริ โอตตัปปะ มีความละอายใจ ถ้ามีความละอายใจนะ เวลากิเลสมันขี่หัวเรา เราก็ทุกข์ เราก็ร้อน แล้วเราจะไปขี่หัวคนอื่น มันจะเป็นประโยชน์สิ่งใด เราจะขี่หัวด้วยอะไร ขี่หัวด้วยทิฏฐิมานะ ขี่หัวด้วยความเห็น ขี่หัวเขาไปหมดล่ะ มันขี่หัวเราอยู่แล้ว นี่มันคว่ำหัวใจ หัวใจทิฏฐิมานะมันคว่ำใจ มันปิดใจเห็นไหม มันปิดตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ปิดไปหมด

แต่ถ้าคนมันเปิดตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เห็นไหม ครูบาอาจารย์ท่านบอก “มีหู มีตา ไว้ทำไม”.. มีหู มีตา ไว้ศึกษาสิ เวลาเขาทำข้อวัตรต่างๆ มันมีการศึกษาได้ ถ้ามันศึกษา มันเข้าใจได้ ถ้ามันเข้าใจได้ มันทำได้ มันทำเพื่ออะไร.. ทำเพื่อลดทิฏฐิมานะของใจ

ถ้าใจมันมีการกระทำ มันจะลดทิฏฐิมานะของมัน ถ้ามันไม่ลดทิฏฐิมานะของมัน มีแต่ความอหังการ พอใจมีความอหังการเห็นไหม ดูสิ มันกดขี่หัวใจของเรา นี่มันคว่ำใจ ใจมันคว่ำด้วยทิฏฐิมานะของตัว

ถ้าใจมันคว่ำด้วยทิฏฐิมานะของตัว มันจะไปขี่หัวเขาอีกนะ มันจะไปเหยียบย่ำ มันจะไปขี่หัวคนอื่นเห็นไหม มันเป็นโทษไปหมดเลย นี่ “อัตตาหิ อัตตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ถ้าตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ต้องมีสติปัญญา ต้องยับยั้งสิ่งนี้ได้ ยับยั้งนี่หงายมันขึ้นมา หงายหู ตา จมูก ลิ้น กาย หงายขึ้นมาดูสังคมเขา

ถ้าเราไม่มีสังคม จะเข้าสังคมไม่ได้ สังคมนะ.. สังคมเขาเป็นอย่างไร นี่สังคมเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ เราจะนั่งอยู่บนหัวเขาทั้งหมดเลย จะเหยียบย่ำ จะขี่หัวเขาไปหมด มันเป็นไปไม่ได้หรอก มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่ ! แต่เขามีจารีต เขามีประเพณีของเขา ในเมื่อเขามีจารีต คนมันรู้เท่าทันกันทั้งนั้นล่ะ เพียงแต่จะพูดหรือไม่พูด

นี่หัวใจ ดูสิ เวลาใจเรา มันเต็มหัวใจ มันรู้สึกไปหมด ใครดีหรือใครชั่ว.. มันรู้ ! แม้แต่สัตว์ยังรู้เลย ดูสิ หมา ให้อาหารมันกินทุกวัน เห็นสบตามันก็รู้แล้ว ดูสิ หมานี่ เวลาเราเดินไปนี่ มันรู้นะว่าใครเดินมา มันจำเสียงเท้าได้ นี่ถ้าเสียงเท้านั้นที่มันไม่เคยได้ยินมา มันเห่าทันทีเลย มันหวงถิ่นมัน แต่ถ้าเป็นคนคุ้นเคยนะ เสียงเท้าที่เดินมา เสียงมันยังจำรู้เลย เสียงหนัก เสียงเบา เหยียบอย่างไรนี่ หมามันรู้ นี่ไง มันยังสำนึกบุญคุณ ! เวลาเราให้อะไรมันกิน มันยังรักเรานะ มันยังรักได้

นี่เหมือนกัน คนเหมือนคน ข่มขี่กันไม่ได้หรอก อย่าเอากิเลสกับกิเลสมาข่มขี่กัน มีแต่ความเมตตากัน เราต้องเมตตา ต้องเสียสละต่อกัน เรายอมรับกันที่นี่ เรายอมรับกันด้วยความดีนะ คนน่ะแพ้ความดี ความดีชนะได้หมดล่ะ ความดีเข้าที่ไหน ที่นั่นก็ต้องการ ที่ไหนก็ต้องมีความต้องการ ถ้าเราเสียสละ เราดูแล เราคุ้มครองเขา เราเมตตาเขา

เวลาครูบาอาจารย์เรา.. องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า.. มีแต่ความเมตตานะ เมตตามหากรุณาธิคุณ เมตตาอยากรื้อสัตว์ขนสัตว์ อยากจะสอน อยากจะบอกกล่าว แต่บอกไปมีใครเชื่อ เพราะคนมันเชื่อไม่ได้ เพราะอะไร เพราะคนเขาคิดไม่ถึงเรา เขาคิดเรื่องใจของเขาไม่ได้ เขาคิดแต่ว่าความดำรงชีวิต

ชีวิตมนุษย์นี่ จะอยู่กันอย่างไร ชีวิตมนุษย์นี่จะมีความสุขอย่างไร เขามองแต่สิ่งหยาบๆ ไง เขามองแต่ความสัมผัส ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กินก็ลิ้นสัมผัสใช่ไหม กินอิ่มนอนอุ่น นอนในที่อบอุ่น นอนในที่ต่างๆ นี่ เขามองแค่นี้

แต่เวลาเราประพฤติปฏิบัติกัน เราอดนอนผ่อนอาหาร มันตรงข้ามหมดเลย นอนก็นอนในที่ลำบาก เราอยู่กับครูบาอาจารย์นะ กลางคืนนี่ ไม่ให้กางที่นอนเลย เวลาจะนอนก็ต้องเอากลดมากางกันทีหนึ่ง ถ้ามันกางไว้ตั้งแต่หัวค่ำ มันจะนอนก่อนไง ที่นอนไม่ให้ปู เวลาเช้าขึ้นมาเก็บที่นอนหมดเลย เวลาจะนอนค่อยเอาลงมาปู เพื่อไม่ให้มันสะดวกสบายเกินไปไง

แต่ทางโลกเขาไม่มองอย่างนี้ ทางโลกเขาบอก ที่ไหน ใครบริการให้ดี สิ่งนั้นเป็นประโยชน์กับเขา นี่ไง ความสุขอย่างหยาบๆ เขาเห็นความสุขอย่างหยาบนี้เป็นประโยชน์กับเขา มันถึงเห็นความละเอียดไม่ได้ เห็นถึงความรู้สึกของใจไม่ได้

ดูสิ เวลาดูลูกศิษย์ลูกหาของครูบาอาจารย์ เขาเสียสละเป็นล้านๆ นะ เงินสด เงินต่างๆ เขาเสียสละได้หมด เพราะเหตุใด เพราะจิตใจเขาสูง มีคุณค่ามากกว่าของปัจจัยนั้น เพราะจิตใจเขาเสียสละได้เห็นไหม เขาเสียสละได้ด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใส เขาเสียสละได้ด้วยความพอใจของเขาเลย นั่นไง เพราะจิตใจเขาสูงค่ากว่านั้น

แต่สิ่งที่เขาเสียสละมา คฤหัสถ์นี่เขาเสียสละมา เป็นทานมานี่ เศษทิ้งของเขา สมณะหัวโล้นๆ !!สมณะหัวโล้นๆ ที่ว่าเราจะปฏิบัติให้พ้นจากกิเลส สิ่งที่เขาโยนทิ้ง สิ่งที่เป็นเสลด ที่เขาขากทิ้งเห็นไหม อสรพิษ !

สิ่งที่เป็นอสรพิษ แล้วเราเอง สิ่งที่เขาทิ้งมาแล้ว แล้วเราไปเก็บมันอายเขาไหม.. อายโลกเขาไหม.. ถ้ามันอายโลกเขา เพราะเราไม่ต้องการสิ่งนั้น เราบวชมาเพราะชีวิตเรามีค่ามากกว่านั้น ถ้าเราไม่บวชมา เราประกอบสัมมาอาชีวะขึ้นมานี่ เราจะหาเงินหาทองได้มากกว่านี้อีก

เราเสียสละสิ่งนี้มาเพื่ออะไร ก่อนบวชมาเราเสียสละมาแล้ว เราเสียสละมาเพื่ออะไร.. เสียสละมาเพื่อโมกขธรรม เสียสละมาเพื่อความสุขระงับในหัวใจ ความสุข ความสงัด มันระงับจากกิเลสมาในหัวใจ ถ้าสิ่งที่มันจะระงับจากกิเลสในหัวใจนี่ มันต้องทำสิ่งใด มันต้องสะอาดบริสุทธิ์ของมัน

ถ้าศีล มันก็ต้องมีศีลสะอาดบริสุทธิ์ของมัน ถ้ามีสมาธิก็ต้องเป็นสมาธิ นี่ศีลที่สะอาดบริสุทธิ์ ทำให้เกิดสมาธิที่มีคุณค่า สมาธิที่มีคุณค่าทำให้เกิดโลกุตตรปัญญาที่จะชำระกิเลส ฉะนั้น สิ่งนั้นมันเป็นอสรพิษ สิ่งนั้นมันเป็นการทำลาย สิ่งที่ทำลายน่ะ นิวรณธรรม การปิดกั้นสมาธิ

สิ่งใดที่มันเป็นประโยชน์กับโลก กินอิ่ม.. กินอิ่มนอนอุ่น กิเลสตัวอ้วนๆ กิเลสตัวใหญ่ๆ เห็นไหม สิ่งนั้นนะมันเป็นประโยชน์กับสิ่งใด

แต่ในเมื่อเราเป็นชาวพุทธนะ เรามีอายุ ๒๐ ปี เรามีอายุเกินกว่านั้น แล้วเราบวชไปเป็นพระ บวชไปเป็นพระนี่ เรามีการศึกษาเห็นไหม ในหลักวิทยาศาสตร์ ในตามความเป็นจริง สิ่งที่มีชีวิต มันต้องมีอาหาร เครื่องดำรงชีวิตของมัน

ฉะนั้น ชีวิตนี้.. เราดำรงไว้เพื่อชีวิตนี้เท่านั้นเอง เมื่อดำรงชีวิตนี้ เราไม่มีการสะสม สิ่งใดมันจะมีคุณค่าล่ะ ถ้าเราดำรงชีวิต สิ่งใดมันก็เสมอภาคใช่ไหม เราก็จะเจือจานกันใช่ไหม ในสังคมของเรา มันก็ไม่มีสูงมีต่ำใช่ไหม นี่ครูบาอาจารย์ของเรานี่ด้วยเคารพของเราเท่านั้นเอง เราจัดให้มันเป็นสิ่งที่มีระเบียบ

ดอกไม้ ! ถ้ามันมีเชือกร้อยไป มันก็เป็นพวงมาลัย.. ศีลธรรม จริยธรรม มันเหมือนร้อยรวมความคิด ความคิดของเรานี่ เรามีความคิด มีความรู้สึกต่างๆ มันเป็นความคิดของเราเห็นไหม เราร้อยรวมกันด้วยธรรมและวินัย นี่กฎหมาย กฎระเบียบมันก็ร้อย ความพร้อมเพียง การกระทำ สิ่งใดที่มันพร้อมเพียงกันเห็นไหม ร้อยเรียงให้มันสวยงาม ธรรมวินัยนี่ ร้อยเรียงให้มันสวยงาม

แต่ทุกคนร้อยเรียงมาก็เพื่อหัวใจของเราเห็นไหม หัวใจของเราร้อยเรียงมาแล้วนี่ ไม่มีสิ่งใดพอใจหมดหรอก โดยธรรมชาติของกิเลส มันขัดใจไปหมด ไม่มีอะไรได้ดังใจ !! สิ่งที่ทำไม่มีสิ่งใดได้ดังใจเราเลย แล้วเราทุกข์ตลอด

สิ่งที่ทำมาเห็นไหม อยากได้เย็น ก็ได้ร้อน.. อยากได้ร้อน ก็ได้เย็น.. อยากได้อุ่นๆ มันก็ได้ของเน่าๆ ..นี่มันไม่มีอะไรได้ดังใจหรอก ! เราต้องการสิ่งใด เวลาบิณฑบาตมา อยากได้เย็น อยากได้ร้อน อยากได้ของที่ปรารถนา มันจะไม่มีอะไรสมความปรารถนาเลย ไม่มี ! ไม่มีเพราะเราไม่ได้ทำของเราไว้ ถ้าเราทำของเราไว้มันถึงจะมี

ฉะนั้น สิ่งที่มันเกิดขึ้นมาในสังคมของเราเห็นไหม มันก็ได้ตามมีตามได้ แล้วตามมีตามได้ พวกเรามีศีลธรรมกันหรือเปล่า เราเป็นสังฆะ เราเป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส เราอยู่ด้วยกัน เราดูแลรักษากันหรือเปล่า สิ่งใดมันมีเสมอภาคหรือเปล่า สิ่งใดสมควรกันหรือเปล่า เหตุสมควรและไม่สมควรหรือเปล่า

คนเราเห็นไหม ธรรมวินัยมันเป็นอย่างนี้ “กาลิก” เห็นไหม สิ่งใดกาลิก การเก็บไว้อย่างไร กาลิกเห็นไหม สิ่งนี้ชั่วกาล สิ่งนี้สัตตาหกาลิก ๗ วัน สิ่งนี้เป็นชีวิต ยาวชีวิก ได้ตลอดชีวิต สิ่งนี้ได้เป็นกาลิก สิ่งนี้เป็นกาลิกแล้วเข้ามาในหมู่คณะ

พอเข้ามาในหมู่คณะแล้วนี่ ดูสิ เวลาของของสงฆ์ เวลาเราอุปโลกน์เห็นไหม พระเถระ จากเถระ จากหมู่คณะ จากภิกษุ สามเณร จากคฤหัสถ์ นี่เจือจานกัน พวงมาลัยที่ร้อยไว้ด้วยความมีระเบียบไง นี่เจือจานกันตามธรรม แล้วเถระ หรือสมณะ หรือพระนี่ เขาเสียสละให้กับผู้ที่มีโอกาสน้อยกว่า เพื่อประโยชน์กับเขา เพราะเถระมันได้บ่อยครั้ง มันเป็นหัวหน้า ใครๆ ก็ต้องเข้ามาหาหัวหน้าก่อน

เห็นไหม ถ้าจิตใจมันเป็นธรรม สิ่งนั้นจะเป็นประโยชน์หมดเลย สิ่งที่เป็นธรรมเห็นไหม มันเป็นธรรม ทั้งๆ ที่ใจเรามันไม่ได้ดังใจหมด แต่ด้วยเป็นธรรม ด้วยหัวใจที่เป็นหมู่คณะ มันจะเจือจานกัน มันจะถนอมรักษากัน เหมือนร่างกายเลย ร่างกายถ้ามันปกติสมบูรณ์นี่ โอ้.. มันสุขสบายมาก ถ้าร่างกายเจ็บปวดที่ไหน มันทำให้ร่างกายทั้งร่างกายเสียหายไปหมดเลย

นี่ก็เหมือนกัน กิเลสมันคว่ำใจไว้ !! มันเอารัดเอาเปรียบ !! มันจะขี่หัวคน !

ถ้ามันจะขี่คนอื่นเห็นไหม นี่มันเรื่องหยาบๆ นะ นี่ยังไม่ได้ทำความสงบของใจเลย ถ้าใจมันสงบเข้ามาเห็นไหม เราต้องชนะตรงนี้ให้ได้ ถ้าเราชนะตรงนี้ให้ได้ เราจะเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา เราจะเดินจงกรมด้วยตัวลอยเลย แต่ถ้าเราไปติดตรงนี้นะ พอเข้าทางจงกรมนะ เสียเปรียบ.. ได้เปรียบ.. ควรจะเป็นอย่างนั้น.. มันขี่หัวเห็นไหม เพราะคว่ำใจไว้

เราคว่ำใจไว้ ใจมันกระทืบเราซ้ำนะ แต่ถ้าเราหงายหัวใจเราขึ้นมานะ เราเดินจงกรมด้วยความปลอดโปร่งโล่งเลย นี่แค่นี้ มันเป็นพิษ เป็นพิษหรือว่าเป็นธรรม ถ้าเป็นพิษมันทำให้การกระทำของเรา ..

การเดินจงกรมเห็นไหม ในทางเดินจงกรมนี่ มันคิดร้อยแปดเลย มันจะเอาตรงนั้น จะเอาตรงนี้ จะได้อย่างนั้น เสียเปรียบอย่างนั้น ได้เปรียบอย่างนี้ เพราะใจมันคว่ำไว้ เพราะด้วยกิเลสตัณหาความทะยานอยาก แล้วมันก็เผารนทำลาย !

นี่มันทำลายหัวใจนั่นแหละ มันทำลายหัวใจที่มันคิดขึ้นมานั่นแหละ แล้วมันทำลายขึ้นมาน่ะ ใครทำ.. ใครทำ.. เพราะกิเลสมันทำใช่ไหม กิเลสในหัวใจมันทำลายเราใช่ไหม ใครทำ.. ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือ.. ครูบาอาจารย์ทำเราหรือ.. หมู่คณะทำเราหรือ.. ไม่มี !! ไม่มีใครทำลายเรา !

.. ใจเรามันทำลายเราเองเห็นไหม .. แล้วเราก็เสียใจ ! อยู่ที่นู่นก็ไม่สะดวก อยู่ที่นี่ก็ไม่สบาย อยู่ที่ไหนไม่ปลอดโปร่งเลย ไม่มีอะไรปลอดโปร่งสักอย่างเลย มันจะปลอดโปร่งได้อย่างไรล่ะ ก็ในเมื่อ “มารเอย.. เธอเกิดจากความดำริของเรา” ความคิดความดำริมันเกิดจากใจ แล้วใจมันอยู่กับเรา ความคิดมันเกิดจากใจนี้

ในเมื่อเรามีชีวิตอยู่นี่ เพราะมันมีใจ ถึงมีชีวิตอยู่ แล้วมีชีวิตอยู่ก็เพราะมีหัวใจนี้ แล้วหัวใจนี้คว่ำมัน ปิดมันด้วยอวิชชา แล้วมันก็เผารนมัน แล้วจะมีที่ไหนที่เป็นธรรม ! จะมีที่ไหนที่ตามความพอใจ จะมีที่ไหนที่จะมีความสุข จะมีที่ไหนที่มันจะปลอดโปร่ง

อากาศ โลกธาตุ วัดวาอาราม หมู่คณะทั้งหมด เขาปลอดโปร่งของเขาอยู่แล้ว แต่มันมาคับแคบที่ใจเรานี่ เพราะมันคว่ำไว้ เพราะหัวใจเรานี่ ที่บวชมาก็บวชมาเพื่อชำระใจดวงนี้ ที่ปฏิบัติกันก็ปฏิบัติกันเพื่อชำระใจดวงนี้ แต่ด้วยอวิชชา ด้วยกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ด้วยความพลิกคว่ำพลิกหงาย มันไม่ยอมรับสิ่งใด มันก็เลยเหยียบย่ำหัวใจอยู่นี่

ถ้ามันเหยียบย่ำหัวใจอยู่นี้ แล้วการปฏิบัติของเรา มันปฏิบัติเพื่ออะไร แค่ปฏิบัติเพื่อดูแลรักษามัน ก็ยังเจ็บปวดขนาดนี้ ฉะนั้น เราจะต้องหงายหัวใจของเราขึ้นมา อย่าไปคว่ำมันไว้ ภาชนะที่คว่ำไม่มีสิ่งใดเข้าไปหามันเลย ถ้าเราหงายภาชนะขึ้นมา อากาศมันก็เข้าได้เต็มที่

นี่ฝนตกแดดออกเห็นไหม น้ำชำระความสกปรกของมันขึ้นไป นี่เราต้องเปิดโอกาสหัวใจของเรา ให้หัวใจของเรานี่มันเป็นสาธารณะ ให้มันเห็นคุณค่า ให้มันเห็นถึงสิทธิของความเป็นมนุษย์ ให้มันเห็นคุณค่าว่าทุกคนก็มีสิทธิความเป็นมนุษย์เหมือนกัน

ทุกคนบวชมาด้วยศีล ๒๒๗ เท่ากัน แต่ด้วยใจที่เป็นธรรม ถึงเปิดหัวใจที่กว้างขวาง สิ่งใดเป็นประโยชน์กับเรา เราก็เอาสิ่งที่เป็นประโยชน์กับเรา สิ่งใดที่ไม่เป็นประโยชน์กับเรา ก็สิทธิของเรา มันไม่ใช่ของเรา มันก็ไม่ใช่ของเรา

อย่างเช่น เราเป็นกรรมฐานกัน “เราขอโอกาส” เห็นไหมเวลาจะคุยกับอาจารย์ ขอโอกาสก่อน เพราะครูบาอาจารย์ของเรา ท่านรับผิดชอบงานทั้งหมด แล้วงานของท่านมีมหาศาลเลย เราจะขอโอกาสเพื่อจะปรึกษาของเรา เราก็ขอโอกาส แล้วเราก็ปรึกษาธรรม ทุกอย่างเราปรึกษาของเราได้

นี่ไง การขอโอกาสต่างๆ มันเป็นเพราะอะไรล่ะ เป็นเพราะว่าท่านมีเวลามาก หรือมีเวลาน้อยล่ะ เราเป็นผู้ที่เป็นพระบวชใหม่ เราเป็นผู้ที่ปฏิบัติใหม่เห็นไหม เราไม่ต้องมีสิ่งใดที่รับผิดชอบเลย เรามีโอกาสภาวนาได้ทั้งนั้นล่ะ

แต่เวลาเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา มันมีภาระรับผิดชอบไปหมดล่ะ หันซ้าย หันขวา มันก็เป็นภาระ มันต้องรับผิดชอบ นี่การรับผิดชอบอย่างนั้น เขาจะไม่มีเวลากับเราเห็นไหม สิ่งที่เราจะรับผิดชอบ หรืออะไรขึ้นมา เราก็ต้องรู้เหตุผิดหรือถูก อะไรควรหรือไม่ควร เราต้องรู้ของเราขึ้นมา แล้วมันเห็นควรหรือไม่ควรในสถานะไหน

สถานะของทางโลก เห็นไหม ดูสิ เวลาโยมเขาเข้ามานี่ เขาเข้ามาเพื่ออะไร เขาเข้ามาเพื่อบุญกุศล เขาเข้ามาเพื่อลาภสักการะ เขาเข้ามาเพื่อการประพฤติปฏิบัติ เขาเข้ามาเพื่อท่องเที่ยว เขาเข้ามาเพื่อศึกษา คนเข้ามามันร้อยแปดพันเก้า เราจะเอาอะไรรองรับเขา

สิ่งที่รองรับเขาเห็นไหม นี่รองรับเขาด้วยหลักการของเรา ว่าอะไรควรหรือไม่ควร ก็เท่านั้น ไม่มีการยืดเยื้อ เยิ่นเย้อ เพื่ออะไร นี่ไง ถ้ามันยืดเยื้อ เยิ่นเย้อ นี่พระอยู่ไม่ได้ วัดอยู่ไม่ได้ก็เพราะเหตุนี้ เหตุที่ว่าเวลาเข้ามาก็ยืดเยื้อ เยิ่นเย้อ แล้วเราก็ยืดเยื้อไปกับเขา นี่ไง มันก็ลากกันไปแต่ถ้าเขาจะมาโดยทิฏฐิมานะ ด้วยความเห็นต่างๆ ของเขา นั่นก็เป็นเรื่องของเขา

แล้วเรื่องของเราล่ะ หลักการของเราล่ะ สมควรและไม่สมควร มันเป็นกาลเทศะ มันเป็นการควรและไม่ควร ถ้าควรหรือไม่ควรนี่ สิ่งนั้นมันก็จบกันไปที่นั่น

นี่พูดถึงประสบการณ์ที่ขึ้นมาจะเป็นหัวหน้า ถ้าเป็นหัวหน้าขึ้นมานี่ จากโลก.. เรื่องของโลกเห็นไหม แล้วเรากลับมาเรื่องของธรรม เพราะเราบวชมาใหม่ เราก็มาจากโลกทั้งนั้นล่ะ มาจากความคุ้นชินในทางวิทยาศาสตร์ ในทางข้อมูลข่าวสาร

ธรรมะเป็นความเสมอภาค ประชาธิปไตย สิทธิเสมอภาค เราบวชเข้ามาแล้วก็สิทธิเสมอภาค สิทธิเสมอภาคในศีล ๒๒๗ สิทธิเสมอภาคด้วยความเป็นพระ แต่ด้วยกิเลส ด้วยตัณหาความทะยานอยาก ด้วยความเห็นโลก กับความเห็นธรรม

ความเห็นของโลกเห็นไหม นี่นิสัยของฆราวาส นิสัยของคฤหัสถ์ ถ้านิสัยของฆราวาสนี่ มันก็ติด แสง สี เสียง มา ความรู้ ความเห็น เป็นเรื่องของโลก เป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ กฎตายตัว แต่พอทำความสงบของใจ ถ้าใจสงบขึ้นมาได้ มันจะเป็นกลาง เป็นธรรม เป็นสัมมาสมาธิถ้ามีสติ

แต่ความเป็นกลางของโลกมันไม่มีสติ คำว่าเป็นกลาง.. เป็นกลาง.. บังคับให้เป็นกลาง ถ้าบังคับให้เป็นกลางด้วยความควบคุม เป็นกลางด้วยความควบคุม ดูสิ ต้นไม้นี่ เราเอาถุงพลาสติกครอบไว้ หรือเอาสิ่งใดครอบไว้ มันจะอยู่ในกรอบนั้น

นี่ก็เหมือนกัน ด้วยความเป็นกลางของโลก โลกเป็นโลกพลาสติก โลกสิ่งต่างๆ ที่ครอบคลุมไว้ มันไม่เจริญงอกงาม แต่ถ้าเป็นกลางโดยปัจจุบันเห็นไหม นี่สิ่งนี้เป็นกลาง แต่มันไม่มีสิ่งใดควบคุมมัน มันมีอิสรเสรีภาพที่จะแสดงออกอย่างไรก็ได้ ตามสัจธรรมอันนั้น

ถ้ามีสติ มีปัญญาขึ้นมา ถ้าเป็นสัมมาสมาธิเห็นไหม มันเป็นกลางโดยสัจจะความจริง มันไม่เป็นกลางแบบพลาสติก มันไม่เป็นกลางแบบตามที่เราควบคุม นี่เพราะเหตุใด เพราะเรามีสติ ไม่ใช่ว่าเป็นวิทยาศาสตร์แบบว่า นี่ประชาธิปไตย มีสิทธิเสมอภาค สิทธิเสมอภาคของกิเลสนะ !

ในเมื่อคว่ำใจไว้ กิเลสมันขี่หัวอยู่ มันแสดงออกมาด้วยกิเลสตัณหาความทะยานอยาก แล้วมันอยากจะขี่หัวคนอื่น การที่ขี่หัวครอบคนอื่น เป็นเรื่องที่ไร้สาระมาก เพราะมันไม่มีใครยอมใครหรอก เพราะมนุษย์ สัตว์เท่ากับมนุษย์ สิทธิเสมอภาคความเป็นธรรม เวลาจิตมันเป็นมัธยัสถ์ นั่นนะจิตตัวเอง ถ้ามันเข้าถึงความเป็นมัธยัสถ์ของมัน มันถึงจะเกิดโลกุตตรธรรม มันถึงจะเกิดปัญญาขึ้นมา

คำว่า ความมัธยัสถ์คือความเป็นกลางไง ความสิทธิเสมอภาคของจิตไง แม้แต่จิตเรามันยังไม่เสมอภาคเลย มันเอียงกระเท่เร่ เดี๋ยวโกรธ เดี๋ยวโลภ เดี๋ยวหลง ความโกรธ ความโลภ ความหลง มันเหยียบให้จิตนี้มันเอียงกระเท่เร่ คว่ำคะมำหงาย

ศึกษาธรรมะ เวลาพูดๆ ถึงธรรมทั้งนั้น แต่ความเป็นจริง ตัวมันเองมันยังรักษาตัวมันเองไม่ได้เลย ถ้าตัวเองมันรักษาตัวมันเองได้ มันจะรู้ว่าสิทธิเสมอภาคมาจากไหน ถ้ามันไม่รู้ว่าสิทธิเสมอภาคมาจากไหน มันก็จะกดขี่ข่มเหงไง มันไม่ควรมีนะ มันไม่ควรมีการกดขี่ข่มเหงใคร เพราะทุกคนก็ทุกข์มาเหมือนกัน !

ทุกคนบวชมาเพื่อเสรีภาพ ทุกคนบวชมาเพื่อเป็นอิสรภาพ แต่ในเรื่องของข้อวัตรปฏิบัตินี้มันเป็นความเห็นร่วมกัน มันเป็นสมบัติสาธารณะ มันเป็นสิ่งที่เราต้องรักษาดูแลด้วยกัน เพราะเราใช้สอยเหมือนกัน

ดูสิ น้ำทุกหยด ทุกหยาด มันมาจากไหน อาหารแต่ละคำข้าวที่เรากิน เราออกไปบิณฑบาตด้วยปลีแข้งใช่ไหม แล้วเขาใช้.. น้ำนี่มันมาจากไหน มันก็มาจากการแสวงหา มาจากการกระทำของหมู่คณะ มันต้องมีผู้ดูแล ผู้รักษา มันคิดว่าน้ำนี่มันเป็นสาธารณะ น้ำนี้ใช้กัน...

เราจะใช้สิ่งใดนะ เราควรคิดว่ามันมาจากไหน พวกเรานี่ไม่เคยออกธุดงค์นะ ออกธุดงค์ไปนะ น้ำ ๑ กระติกนี่ ไปข้างหน้านี่ต้องใช้ทั้งอาบ ทั้งดื่ม ทั้งล้างบาตร ทุกอย่างต้องอยู่ในกระติกใบนั้น น้ำทุกหยด ทุกหยาดที่เรานำไปนี่ เราต้องแบกของเราไปเองในกระติกเรา มันจะไม่เกิดมาจากไหนหรอก

ไอ้นี่เปิดก๊อกก็ไหล เปิดที่ไหนก็มี สิ่งนี้มันมาจากไหนนะ มันมีคนทำให้เรานะ แค่นี้นะ เราก็จะเห็นคุณของเขาแล้ว เห็นคุณของที่หาของที่เป็นคุณประโยชน์มาให้เราใช้สอยนี่ เปิดก๊อกทีไรน้ำก็ไหลทุกที ! ทำสิ่งใดก็มีไว้พร้อม อันนี้มันมาจากไหน..

ถ้าจิตใจมันเป็นธรรม มันจะคิด ทางโลกเขานะ เขายังเสียค่าน้ำ ค่าไฟ ส้วมเต็มก็ต้องเสียค่าดูดส้วม ทุกอย่างเขาเสียเงินหมดนะ แต่ในวัดนี่ เราทำกันอยู่นี่ แล้วมันมาจากไหน มันมาจากผู้ดูแลรักษา ถ้าเรามีใจเป็นธรรม เราจะช่วยกันดูแลรักษาสิ่งที่ใช้ประโยชน์ของเราทุกๆ คน

เวลาเป็นธรรมนะ ของของสงฆ์ภิกษุเอาไปใช้แล้วไม่เอามาคืนนะ เป็นอาบัติปาจิตตีย์ ภิกษุเอามุ้ง หมอน ทุกอย่างของสงฆ์ไปใช้ แล้วจะธุดงค์ไป ไม่เก็บเองก็ดี ไม่ใช้ให้ผู้อื่นเก็บก็ดี จากไปโดยที่ไม่ได้เก็บ เป็นอาบัติปาจิตตีย์ เดี๋ยวจะสวดปาฏิโมกข์ อยู่ในปาฏิโมกข์นี่..

ปาฏิโมกข์นี่สวดทุก ๑๕ ค่ำ แล้วพฤติกรรมที่ทำ มันเหมือนกับปาฏิโมกข์ไหม ! ฉะนั้น ของที่ใช้อยู่นี่ มันมาจากไหน มันมาจากสงฆ์ สงฆ์ดูแล สงฆ์รักษา ฉะนั้น ถ้าใจเรามีธรรมนะ แต่นี้มันไม่เหมือนทั่วๆ ไปไง

เราไปบวชวัดบ้านใช่ไหม วัดบ้านเขาก็น้ำไหล ไฟสว่าง มันก็สะดวกสบายทั้งหมดล่ะ แต่นั่นเป็นเรื่องของเขา แต่วัดป่าเรานี่ เราไม่ได้อยู่ในเขตเทศบาล ไม่ได้อยู่ในสิ่งที่มันจะมีหรอก นี่ยังดีนะ มันยังมีไฟมา ไม่อย่างนั้นมันจะต้องปั่นหมดนะ

เวลาเราจะดูดน้ำนี่ เราต้องใช้เครื่องติดมันขึ้นมาเลยล่ะ ดูดน้ำขึ้นมา แล้วเราอยู่กับครูบาอาจารย์ไม่มี ใช้รอกชัก น้ำทุกหยด ทุกหยาด ใช้รอกชัก เรานี่ชักน้ำมาตลอด ใช้โยกมาตลอด ไม่มีไฟ อยู่กับครูบาอาจารย์ น้ำทุกอย่างจะต้องแบกต้องหาม น้ำราดส้วม น้ำทุกอย่าง จะต้องมาจากน้ำพักน้ำแรง ไม่มีไหลอย่างนี้หรอก !

แต่นี่เพราะว่า ภูมิประเทศมันเป็นป่าเป็นเขา มันทำอย่างนั้นไม่ได้ มันก็มีมา แต่เดิมเราอยู่กับครูบาอาจารย์ ไม่มีหรอก ต้องทำเองทั้งหมด ทำเองเพื่ออะไร เพื่อเข้าไปสู่สัจจะความจริงไง เพื่อหงายหัวใจของเราขึ้นมาไง ถ้าเราทำเอง น้ำทุกหยดทุกหยาด เราเป็นคนหามาเอง เราจะใช้เราก็ประหยัดเอง เราจะใช้เราก็ดูแลเอง

ไอ้นี่เปิดไปไหล.. เปิดไปไหล.. เปิดไม่ไหลก็โวยวาย ! น้ำไม่ไหล ไฟไม่สว่าง ข้าวไม่มีจะกิน ไม่มีใครเอาใจ ภาวนาไม่ได้ อู้ย.. ถ้าคนนั่งพัดลมให้ กินข้าวก็ป้อนไปด้วย โอ้โฮ.. ที่นี่ภาวนาดี น้ำไหล ไฟสว่าง โอ้โฮ.. ทางจงกรมดี ที่นี่พระอรหันต์เยอะ !

ใจมันคว่ำ ! ถ้าใจมันหงายนะ ทุกอย่างเราต้องมีที่พึ่งของเรา ใจของเราจะเป็นของเรานะ ถ้าใจของเราไม่เป็นของเราเห็นไหม มันอาศัยโลก สิ่งที่พูดมันเป็นเรื่องโลกๆ ทั้งนั้นนะ แล้วโลกเพราะอะไรล่ะ โลกเพราะเราเองเป็นโลก เราเองหวังพึ่งคนอื่นไปทั้งหมด แล้วพึ่งคนอื่นไม่ใช่พึ่งคนอื่นโดยเฉพาะนะ เอาสิ่งต่างๆ เป็นเรื่องโลกๆ นี่มากดขี่กัน เอาสิ่งต่างๆ นี่มาต่อรองกัน มันมีแต่ความเห็นใจกันต่างหากล่ะ

นี่ดูสิ ดูผู้บวชใหม่มาเห็นไหม ในทางโลกก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ในทางธรรมเห็นไหม เขาบวชมาใหม่ สิ่งต่างๆ ที่เขามาใช้สอยในวัดนี่ เราดูแลรักษาของเราทั้งนั้น สิ่งที่ดูแลรักษาเพื่ออะไรล่ะ เพราะมันมีอาจริยวัตร อาคันตุกวัตร สิ่งต่างๆ คารวะ ๖ มันมีของมัน มีของมันเพื่ออะไร นี่ไง มันเป็นเครื่องแสดงออกของน้ำใจ

ถ้าคนมีหัวใจเห็นไหม นี่สัจธรรม ถ้าใจเขางดงาม ใจเขาดีงาม สิ่งที่เขาแสดงออกมานี่ มันจะงดงาม มันจะดีงามด้วยความเป็นธรรม แต่ถ้าจิตใจมันไม่งดงามเห็นไหม มันแฝงไว้ด้วยยาพิษ สิ่งใดก็เหยียบย่ำกัน ด้วยกฎกติกานี่แหละ

ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาหลวงปู่มั่นท่านถ่ายทอดมา ท่านบอกว่า “ให้มีข้อวัตรติดหัวมันไป ให้มันรู้จักธรรมและวินัย ให้รู้จักสิทธิและเสรีภาพ ด้วยความเป็นธรรม” แต่ถ้าเราศึกษามา.. ศึกษามาเพื่อรักษาใจเรา ศึกษามาเพื่อค้นคว้าหัวใจของเรา ศึกษามาเพื่อเอาสิ่งนี้มาวัดค่าใจของเรา ว่าใจของเราตรงไหม ไม้บรรทัดนี่ต้องวัดความรู้สึกของเรา ไม้บรรทัดต้องวัดหัวใจของเราว่า มันเป็นจริงหรือไม่เป็นจริง

แต่ถ้ามันเป็นยาพิษ มันเอาสิ่งนี้มากดขี่กัน เห็นไหม ธรรมและวินัยนี้เขาเอาไว้เพื่อดัดแปลงกิเลสของเรา ไม่ใช่เอาดัดแปลงกิเลสของคนอื่น ถ้าดัดแปลงกิเลสของเรามันเป็นประโยชน์กับเราทั้งหมด สิ่งใดนี่โทษหัวใจของเรา โทษความรู้สึกของเรา ถ้าโทษหัวใจของเรา โทษความรู้สึกของเรานี่ มันจะแก้ไขหัวใจของเรา

อย่างอื่นมันเป็นเรื่องของคนอื่น ธรรมะเขาไม่ได้ไปสอนคนอื่น ธรรมะเขาไว้สอนเรานะ ธรรมะนี่เขาไว้สอนหัวใจเรา ไม่ได้ศึกษามาสอนคนอื่น คนอื่นเขาจะเกิดมาจากหัวใจนั้น เขาจะเกิดมาจากประสบการณ์นั้น เขามีสติขึ้นมาในหัวใจ ปัญญาที่จะเกิดขึ้นมา ก็จะเกิดเป็นปัญญาในหัวใจนั้น ทำไมจะต้องเอาไปสั่งสอน ทำไมต้องไปเอาอะไร..

เว้นไว้แต่การปรึกษานะ ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ ศึกษาสนเทศ ... เราปรึกษาหารือกัน ความปรึกษาหารือกันเป็นครั้งเป็นคราว แล้วศึกษาหารือกันเราก็จบ แล้วเราทำของเราขึ้นมา เพราะมันไม่พร่ำเพรื่อ ความพร่ำเพรื่อเป็นอาจิณ ทำผิดเป็นอาจิณจนเขาเบื่อหน่าย

ถ้าเป็นอาจิณ เขาเบื่อหน่ายใช่ไหม แต่การผิดบ้างเป็นครั้งคราวนี่ ทุกคนให้อภัยกันทั้งนั้นล่ะ ทุกคนเกิดมาก็มีความผิด เราก็ผิดบ่อย เราก็เผอเรอ มันเป็นอำนาจวาสนาของคน นี่ไง สิ่งที่ผิดก็คือผิด เราก็ผิดอยู่แล้ว เราก็ยอมรับว่าผิดอยู่แล้ว แต่สิ่งที่มันถูกล่ะ สิ่งที่ทำไมถึงถูกล่ะ มันมีเหตุอะไรขึ้นมามันถึงถูก แล้วมันทำอย่างไรถึงเป็นไปได้

ตรงนี้ไง เราต้องมาแก้ไขตรงนี้ เรามาจัดการของเรา นี่ดัดแปลงเรา เปิดหัวใจ.. หงายภาชนะขึ้นมา.. หงายหัวใจขึ้นมา.. ถ้าหัวใจเราเปิดนะ สรรพสิ่งในโลกนี้ แสงแดดมันก็มีภาษาของมัน แดดลมมันก็มีของมันใช่ไหม เราไปยืนกลางแดดกลางลม มันก็หนาวก็ร้อนใช่ไหม

นี่ก็เหมือนกัน หัวใจถ้ามันเปิดขึ้นมานี่ มันจะแก้ไขมันได้ ถ้ามันไม่เปิดขึ้นมานะ มันก็ว่ามันถูกอยู่วันยังค่ำล่ะ เห็นไหม นี่มันคว่ำหัวใจไว้ แล้วกิเลสเหยียบมันไว้ กิเลสคือความไม่รู้จริง อวิชชาคือความไม่รู้จริง อวิชชาพลังงานมันมี อวิชชา กับวิชชาล่ะ

วิชชาก็พลังงานนั้นแหละ พลังงานนั้นมีสติปัญญา แล้วมันรู้จริง เทียบเคียงจริงเห็นไหม อวิชชานี่มันเหยียบย่ำ กิเลสอวิชชานี่ ใจมันคว่ำอยู่ แล้วกิเลสอวิชชาเหยียบย่ำมัน พอเหยียบย่ำมันนะ ถูกไปหมดเลย ความคิดความอ่านนี่สุดยอด กิเลสไม่มีสักตัว มีความสุขความสบายทั้งหมดเลย ทำไมหมู่คณะพรรคพวก ทำไมมันดิ้นรนขนาดนั้นว่ะ ทำไมภาวนากัน อู้ฮู.. หัวปักหัวปำ เรามันไม่มีเลยนี่ เห็นไหม นั่นแหละความไม่รู้ตัว แต่ถ้าความรู้ตัวนะ เห็นเขาทำคุณงามความดี เห็นเขาเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา มันจะ ฮื่อ.. เขาทำ เราก็ต้องรีบทำ มันเตือนตัวเรานะ

นี่ถ้าเราบอกว่าคืนนี้เราจะตาย แล้วพรุ่งนี้เช้าเราไม่มีชีวิตแล้ว เราจะคิดอย่างไร นี่ความคิดเปลี่ยนเลยนะ พรุ่งนี้เช้านี่เราจะตาย คืนนี้นอนแล้วพรุ่งนี้ไม่ตื่นแล้ว แล้วจะทำอย่างไร เราจะดูแลชีวิตอย่างไร ไอ้นี่บอกว่าอีก ๕๐๐ ปีตายไง มันเลยสบายใจ นอนสบาย กินสบาย

แต่บอกว่า พรุ่งนี้จะตาย พรุ่งนี้จะตาย คืนนี้จะทำอย่างไร โอ้ย.. มันขวนขวายนะ สั่งลาใหญ่เลยนะ นี่จีวรนี้ บริขารนั้น จะให้คนนั้น จะให้คนนี้ ฉันจะตายแล้วล่ะ ถ้ามันเป็นจริงนะ มันก็ดีสิ นี่มันไม่จริงนะสิ คิดแต่คิดนะสิ จริงๆ พอบอกว่าจะตาย มันสั่นหมดนะ

นี่ก็เหมือนกัน กาลเวลานี่ ไอ้เรื่องที่มันคิด มันหา มันคิดอยู่ในหัวใจนี่ มันเรื่องไร้สาระ มันชั่วคราวไง ความคิดเกิดดับ สิ่งที่มันมีปัญหานี่เกิดดับ หู ตา นี่สังเกต สิ่งที่เขาทำ มันต้องมีที่มา ศึกษาสิ ศึกษาขึ้นมาแล้ว ให้มันรู้จริงขึ้นมา ถ้ามันรู้จริงขึ้นมานะ มันจะเห็นความผิดของทุกๆ คน แม้แต่เราขยับเขยื้อน มันมีเหตุมีผลทั้งนั้นล่ะ เราขยับเขยื้อน เราก้าวไปก้าวมานี่ มันมีเหตุมีผลของมัน

ถ้ามีเหตุมีผลเป็นเพราะเหตุใด ไปเพราะทำไม มาเพราะทำไม แล้วเขาไปเพราะทำไม มาเพราะทำไม นี่ไง มีหู มีตา มันเทียบเคียงขึ้นมานี่ มันจะมีส่วนต่าง มันจะมีว่าสิ่งใดผิดหรือถูก ไม่ใช่ว่าเราถูกอยู่คนเดียว แล้วเราก็จะขี่เขาไปอยู่คนเดียว มันไม่ใช่สัจธรรมเลย แล้วไม่ใช่นักปฏิบัติ

นักปฏิบัตินะ เป็นสุภาพบุรุษ เขาจะเทียบเคียงด้วยเหตุด้วยผล ถ้าเทียบเคียงด้วยเหตุด้วยผล สิ่งนั้นมันมีเหตุมีผลเพียงพอไหม ถ้ามีเหตุเพียงพอ เราต้องเชื่อเหตุผล เหตุผลรวมลงเป็นธรรม เหตุและผล จริงและไม่จริง

ถ้ามันเหตุและผลรวมลงเป็นธรรม สิ่งนั้นเป็นธรรม เอาตรงนั้นเป็นหลัก เพราะเราอยู่กันด้วยสัจธรรม ด้วยเหตุด้วยผล คุยกัน ปรึกษากันด้วยเหตุด้วยผล เหตุผล.. แล้วจบ ! อย่าพร่ำเพรื่อ ! เพราะจริตนิสัยคนไม่เหมือนกัน บางคนชอบพูด บางคนชอบปรึกษา บางคนชอบความสงัด บางคนไม่พูดเห็นไหม บางคนเฉยไม่พูด แต่รู้นะน่ะ เขารู้ เขามีหัวใจเหมือนเรานี่แหละ เขามีความหยั่งรู้หมดล่ะ แต่เขาไม่พูด เรานึกว่าเขาโง่หรือ เรานึกว่าเขาไม่รู้ เขารู้ดีกว่าเรา แต่เรามันคนบ้า รู้แล้วอยากพูดไง พร่ำๆๆๆๆๆ นี่ เขาว่าไอ้นี่มันบ้า แต่มันบอกว่า เอ้ย..กูนักปราชญ์นะเว้ย กูพูดเก่งนะ

สังเกตสิ สังเกตแล้วมันจะรู้ว่ามันเป็นประโยชน์กับใคร หรือไม่เป็นประโยชน์กับใคร มันเป็นจริตนิสัยนะ พันธุ์ไม้.. พืชพันธุ์ไม้แต่ละพืชพันธุ์ไม้ เวลาไปปลูกแล้วมันก็ออกตามพืชพันธุ์นั้น พันธุกรรมทางจิต จิตของคนมันก็เหมือนกัน

แต่ ! แต่มันกระทบกระเทือนคนอื่นน่ะ จิตของเราก็คือจิตของเรา ความรู้สึกของเราก็คือความรู้สึกของเรา แต่เราพูดไปเราทำไปนี่ คนอื่นเขาเจ็บช้ำ คนอื่นเขาสะเทือน ฉะนั้น เราอย่าให้คนอื่นสะเทือนไง

มันเป็นพันธุกรรมของเรา มันเป็นความเคยชินของเรา เราก็พยายามเก็บไว้ในใจของเรา แล้วเราใช้สติปัญญาของเรา แก้ไขของเราไง ถ้าเราแก้ไขของเรา นี่ไง ปัญญาเห็นไหม ปัญญาอย่างนี้ นี่โลกุตตรธรรม

โลกุตตรธรรม เพราะมันมีความสำนึก มีสติ มีสมาธิ มีปัญญา แล้วมันก็เข้ามาแก้ไขหัวใจของเรา นี่ไง มรรคญาณ เห็นไหม ยถาภูตัง ญาณทัสสนะ ญาณรู้ใจเรา ญาณแก้ไขเรา นี่เรามาค้นคว้าขึ้นตรงนี้ ในตำรับตำรา ในวิชาการ พูดไปเถอะ พูดไปไร้สาระ

แต่ถ้ามันเกิดศีล สมาธิ ปัญญา เกิดปัญญาญาณ เกิดสติ เกิดปัญญาในหัวใจเรา อันนี้.. อันนี้.. แล้วมันจะเห็นผิดเห็นถูก แล้วมันจะแก้ไขเราเห็นไหม นี่ถ้าเราหงายหัวใจของเราขึ้นมา อย่าคว่ำใจไว้ ว่าเราถูกหมด.. ถูกหมด.. แล้วดื้อดึง !

เวลาหมู่คณะอยู่ด้วยกันนะ บัณฑิตนี่ทุกข์มาก ! ทุกข์มากเพราะอยู่ใกล้คนพาล.. พาลชนมันเอารัดเอาเปรียบ.. พาลชนมันหน้าด้าน ! บัณฑิตนี่ทุกข์มาก.. ทุกข์อย่างเดียว.. ทุกข์เพราะอยู่ใกล้พาลชน ! เอวัง