เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๖ ก.ย. ๒๕๕๓

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๕๓
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ฟังธรรมนะ แต่เดิมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อยู่ในป่าองค์เดียว ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีปัญจวัคคีย์อุปัฏฐากอยู่ ๕ องค์นะอุปัฏฐากอยู่ ดูแลรักษากันอยู่ มันก็มีความรับผิดชอบ แต่เวลาปัญจวัคคีย์ทิ้งไปนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ตรัสรู้ธรรมขึ้นมา

นี่คนที่ประพฤติปฏิบัติต้องการความสงบ ต้องการความสงัด ต้องการความวิเวก ต้องการความไม่คลุกคลี ในพระกรรมฐาน พระป่า เขาจะเห็นลวดลายกันตรงนี้ไง ..ตรงที่คลุกคลีและไม่คลุกคลี.. สุมหัวกันทั้งวัน ! คุยกันทั้งวัน ! แล้วบอกว่า .. ภาวนาแล้วเป็นพระอรหันต์ มันเป็นไปไม่ได้หรอก !

คนที่เขาภาวนาเขาจะต้องแยก.. เขาสงวนความสงบสงัดนัก นี่ก็เหมือนกัน ในโรงพยาบาลเห็นไหม โรงพยาบาลเป็นแหล่งที่เขาพยายามจะไม่ให้ติดเชื้อนะ ในรอบห้องผ่าตัด เขาต้องรักษาความสะอาด ฆ่าเชื้อให้สะอาดบริสุทธิ์มหาศาลเลย แต่ในโรงพยาบาลนั่นนะ เป็นแหล่งเพาะเชื้อเลย เพราะเชื้อโรคมันเข้าไปอยู่ที่นั่น

นี่ก็เหมือนกัน เวลาไปวัดเห็นไหม วัดเป็นที่สงบสงัด วัดเป็นที่จะประพฤติปฏิบัติ แต่คนเข้ามา มันก็มีเชื้อทั้งนั้นล่ะ เชื้อกิเลสไง ! เชื้อกิเลส ! ความพอใจของตัว ความชอบใจของตัว อันนี้เป็นเรื่องของโลกๆ นะ

เวลามานะ อย่างน้อยเขาต้องฆ่าเชื้อก่อน แม้แต่เครื่องมือผ่าตัดเขายังฆ่าเชื้อเลย เพราะจะได้ไม่ติดเชื้อ แต่เชื้อในหัวใจของเราล่ะ เต็มหัวใจเลย ! แล้วบอกว่าจะประพฤติปฏิบัติ บอกว่านี่คือธรรมะ ! ธรรมะ ! ดูสิ เด็กๆ มีความรู้อันหนึ่งนะ ความเห็นของเขาอันหนึ่ง เขาสะอาดบริสุทธิ์ของเขา มันเป็นความเห็นของเด็ก แต่ความเห็นของเด็กนี่ มันเผชิญกับโลกไปไม่ได้หรอก

เราเป็นผู้ใหญ่ เวลาเราทำหน้าที่การงานอะไรก็แล้วแต่ บอกไร้เดียงสา การไร้เดียงสาในทางโลก ไร้เดียงสาในทางวิชาการ ไร้เดียงสาในความประพฤติ การไร้เดียงสามันก็มีแตกแขนงไปมากมาย ไร้เดียงสาทางไหน... ฉลาดมหาศาลเลยนะ ฉลาดมหาศาลทางโลก.. แต่ไร้เดียงสาทางธรรม !! ไร้เดียงสามาก !

ในคติธรรม “ปัญญาท่วมหัว เอาตัวไม่รอด” มีความรู้ท่วมหัวนะ มีแต่ทิฏฐิมานะ มีแต่ความเห็นผิดไง แล้วความเห็นผิดมีแต่ความลังเลสงสัย ยิ่งศึกษามาก ยิ่งสงสัยมากนะ เพราะเราศึกษามาก เราเทียบเคียงมาก แต่เวลาจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมานี่ มันเป็นปัจจัตตัง..

มันเป็นปัจจัตตัง คือ มันสัมผัสเอง มันรู้เอง ขนาดที่สัมผัส เราก็สัมผัสด้วยความลังเลสงสัย นี่สัมผัสความจริง แต่ลังเลสงสัยนะ ดูสิ สิ่งที่เป็นสินค้าทางโลก ของที่เป็นของจริง ดูมันไม่สวยงามเหมือนของเลียนแบบเลย ของเลียนแบบดูรูปลักษณ์ภายนอกน่าใช้สอยมาก ดูว่ามันดีมาก แต่คุณภาพมันใช้ไม่ได้เรื่องเลย ใช้ไม่ได้เลย เพราะมันไม่ใช่ความจริง

อันนี้ก็เหมือนกัน เวลาศึกษามานี่ มันความจำทั้งนั้นล่ะ ความจำไม่ใช่ความจริง ! ความจำน่ะ จำมาเห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า.. หลวงตาท่านพูดบ่อย “ปริยัติ ปฏิบัติ” ปริยัติมันต้องไปคู่กันกับการปฏิบัติ ปริยัตินั้นต้องไปคู่กันนะ.. การศึกษามันต้องไปคู่กันกับการปฏิบัติ

แต่การศึกษาแล้วนี่ ! เวลาปฏิบัติไป การศึกษานั้นล่ะมันจะสร้างภาพ การศึกษานั่นล่ะ.. ปริยัติมันต้องขาดไง ทีนี้มันไม่ขาดกัน เวลาเราปฏิบัติระหว่างปริยัติกับปฏิบัติมันไม่ขาดกัน เวลาปฏิบัติก็จะเอาปริยัติมาเทียบเคียง นี่มันขาดกันไหม.. ?

พอมันไม่ขาดกัน มันก็ก้ำกึ่ง กึ่งๆ ไปอย่างนั้น เวลาปฏิบัติกึ่งๆ ตลอด กึ่งธรรม กึ่งโลก กึ่งโลก กึ่งธรรมอยู่อย่างนั้น ทำไมถึงโลกล่ะ ดูโลกกับธรรม..

โลก.. เรื่องของโลก เรื่องของวัฏฏะ เรื่องของเวรของกรรมเป็นเรื่องของโลก เรื่องของจริตนิสัยเป็นเรื่องของโลกทั้งนั้นล่ะ ถ้าเรื่องของธรรมล่ะ ถ้าเรื่องของธรรมไม่ใช่โลกเพราะอะไร เวลาเป็นโลก ดูสิ จริตนิสัยของคนไม่เหมือนกัน ความชอบของคนไม่เหมือนกัน เราอยู่ในภูมิประเทศต่างๆ ก็ไม่เหมือนกัน สภาวะแวดล้อมก็ไม่เหมือนกัน นี่เรื่องของโลก !

โลกนี้สามารถทำให้จริตนิสัยของคนแตกต่างกันไป โลกนี้ ! ความคุ้นเคย สิ่งแวดล้อม ทำให้นิสัยคนเป็นอย่างนั้นไป นี่เรื่องของโลก !

เรื่องของธรรมล่ะ.. เรื่องของธรรมมีหนึ่งเดียว จะอยู่ในภาวะแวดล้อมใดก็แล้วแต่ จะไปอยู่สิ่งใดก็แล้วแต่ จะเป็นจริตนิสัยใดก็แล้วแต่

มันต้องเข้าไปสู่ศีล.. สมาธิ.. ปัญญา.. มีหนึ่งเดียว !!

ธรรมไม่แตกต่างหลากหลายเหมือนโลก โลกนี้แตกต่างหลากหลายนะ แตกต่างหลากหลายไป เพราะเป็นเรื่องของเวรของกรรม เรื่องของจริตนิสัยแตกต่างกันไป

แต่เรื่องของธรรม ถ้าไม่เข้ามาสู่จุดนี้ ฆ่ากิเลสไม่ได้ ! ถ้าไม่เข้ามาสู่จุดของศีล สมาธิ ปัญญา ของมรรคญาณ ของอริยสัจ ของสัจจะความจริง เป็นไปไม่ได้ !

แล้วถ้าคนเข้าสู่สัจธรรม ..ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค.. ทุกข์ !ทุกข์ !ทุกข์ ! บ่นว่าทุกข์ เรามันทุกข์โลกๆ ทุกข์ประสาโลกไง ทุกข์ในวัฏฏะไง ทุกข์แล้วก็สุข สุขแล้วก็ทุกข์ ทุกข์แล้วก็พอใจ พอใจแล้วก็ทุกข์ นี่มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

แต่เวลาเราเข้าไปสู่สัจจะความจริงนะ ทุกข์อันนี้มันคงที่ ชาติปิ ทุกขา เห็นไหม ชาติเป็นความทุกข์อย่างยิ่ง ชราปิ ทุกขา มันเกิดชาติ เกิดชรา เกิดมรณะ เกิดต่างๆ อันนี้เป็นความทุกข์อย่างยิ่ง ความทุกข์เพราะเหตุใด.. ความทุกข์เพราะมันมีความรู้สึก ความทุกข์เพราะมันมีสภาวะกรรม สภาวธรรม สภาวะความรู้สึกต่างๆ มันรับรู้ได้

สภาวะของวัตถุเห็นไหม ดูสิ แก้วแหวนเงินทอง วัตถุนี่มันไม่มีความทุกข์หรอก นี่ ดูสิ บ้านเรือนต่างๆ ตึกรามบ้านช่องมันทุกข์ไหม .. มันไม่เคยทุกข์เลย มันเป็นวัตถุ มันไม่มีชีวิต นี่ไง มันถึงไม่ทุกข์ไง แต่เราทุกข์ เราไม่พอใจสิ่งต่างๆ เราถึงทุกข์ไง ทุกข์มันอยู่ที่ไหน.. ทุกข์มันอยู่ที่ไหน.. ทุกข์เห็นไหม เข้าโรงพยาบาลเจ็บไข้ได้ป่วยอยู่ที่ไหน ก็รักษาร่างกายกัน

เขาบอกว่า เวลาปฏิบัติไป มันก็ขบวนการพัฒนาของมัน จิตมันก็พัฒนาการของมัน อย่างนั้นจิตแพทย์มันดีกว่าอีก จิตแพทย์มันก็พัฒนาของมัน จากคนเสียสติมันพัฒนาขึ้นให้มีสติขึ้นมาเหมือนเดิม.. คนที่ขาดสติ คนที่ใบ้บ้า คนที่ไม่มีปัญญา เขาพัฒนาขึ้นมาจนเป็นปกติ นั่นไง เขาก็ทำได้ แต่มันก็เรื่องโลกเห็นไหม นี่เรื่องโลก ไม่ใช่เรื่องธรรม !

ถ้าเรื่องธรรม ต้องเข้ามาสู่ต้นเหตุ “ต้นเหตุ” คือ ตัวภวาสวะ ตัวภพ ตัวปฏิสนธิจิต ปฏิสนธิจิตนะ ถ้าเราแก้ตรงนี้ไม่ได้ มันยังเกิดอีก.. เราไปแก้ที่ปลายเหตุ เราไปแก้ที่สภาวะแวดล้อม ต้นเหตุไม่ได้แก้ !

ถ้าต้นเหตุไม่ได้แก้ไปไหนไม่รอดหรอก ! เพราะตัวต้นเหตุนั่นล่ะ เป็นตัวพาไปเกิด.. ตัวต้นเหตุ ตัวภวาสวะนี่ ตัวความรู้สึกนี่ ตัวความรู้สึกไม่ใช่ความคิด ตัวความคิด ตัวจินตนาการ ตัวต่างๆ มาจากข้างนอกเห็นไหม

นี่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเป็นชาวพุทธกันนี้ นี่ศาสนาเสื่อม ! ศาสนาเสื่อม ! แต่ตัวศาสนาไม่เสื่อม ใครก็บอกว่าศาสนานี้ไม่เสื่อม อริยสัจไม่เสื่อม แต่ความรู้สึกของคนมันเสื่อม มักง่าย .. ! อยากได้ ! อยากให้มันเป็นไป ! เสื่อมตรงนี้ไง.. เขาปฏิบัติกันเพื่อความจริง

นี่ตะครุบแต่เงากัน ว่าสิ่งนี้เป็นธรรม ! เป็นธรรม ! ทำอะไร ทำเป็นโลกๆ ไง ทำด้วยความรู้สึกไง ทำบนความพอใจของตัวไง แล้วก็บอกว่า “เมื่อก่อนมันอึดอัดขัดข้องไปหมดเลย เดี๋ยวนี้มันดีไปหมดเลย” ไม่ต้องทำมันก็ดี..

คนเราทุกข์นะ คนนี่ทุกข์จนสุดที่ว่าจะทนได้ เขาจะทำร้ายตัวเขาเอง แล้วจับเขามัดไว้สิ กาลเวลานะ เดี๋ยวมันหายเองล่ะ พอมันคิดได้นะ.. ปล่อยเถอะ.. คิดได้แล้ว ไม่ทำอะไรแล้ว นี่ไง มันก็พัฒนาตัวมันเอง ! ไม่ต้องมีใครสอนหรอก ! มันเป็นธรรมชาติของมันเองอยู่แล้ว

แต่อริยสัจสิ ต้องสอน ..สมาธิก็ต้องสอน.. แม้แต่เราเข้าสมาธิยังว่า “นี่เป็นอะไรครับ.. นี่เป็นอะไรครับ..” เข้าสมาธิยังไม่มีรู้ว่าเป็นสมาธิเลย เพราะมันไม่เคยรู้ ไม่เคยเห็น มันเป็นความมหัศจรรย์ไง มันเป็นความที่เราไม่เคยสัมผัสเลย โลกนี้ไม่มี

สินค้าทางโลก เขาซื้อขายกันได้นะ ดูทางโลกเขาสิ เจ็บไข้ได้ป่วย เขายังช่วยเหลือเจือจานกันนะ แต่ในการประพฤติปฏิบัติ เวลาเกิดกิเลสขึ้นมา ทุกข์ขึ้นมาในหัวใจนี่ ไม่มีใครช่วยเหลือใครได้เลย ได้แต่ปลอบประโลมกันอยู่ข้างนอก มันเป็นความจริงไม่ได้ เพราะอะไร.. ไม่เข้าถึงต้นเหตุ

เราจะเข้าถึงต้นเหตุ เราต้องฟังธรรม การที่มาวัดมาวานี่มาฟังธรรม.. ฟังธรรมเพื่ออะไร ฟังธรรมเพื่อให้มีสามัญสำนึกเท่านั้นเอง เวลาฟังธรรมขึ้นมา ฟังธรรมแล้วมันสะเทือนใจ เวลาฟังสะเทือนใจ ดูสิ คนเรามีความคิด มีจริตนิสัย มันเป็นนโยบายที่มันบริหารจัดการชีวิตของเราทั้งหมดเลย

แล้วเราฟังธรรม! ฟังธรรม ! นี่มันไปเปลี่ยนอันนี้ ถ้าเราฟังธรรมขึ้นมาแล้วมันสะกิดใจ มันไปเปลี่ยนความรู้สึก ความนึกคิด มันเปลี่ยนโปรแกรมในความรู้สึกนึกคิดในชีวิตของเรานี่ มันเปลี่ยนจากคนหนึ่งเป็นอีกคนหนึ่งเลย สิ่งที่เราเคยย้ำคิดย้ำทำ เคยอยู่กับความจำเจอย่างนี้

แต่พอเรามีสติปัญญาขึ้นมานี่ ทำไมชีวิตเป็นอย่างนี้ ทำไมต้องมาอยู่ตรงนี้ ทำไมเราเปลี่ยนแปลงชีวิตเราไม่ได้เหรอ ทำไมเราไม่เปลี่ยนแปลงของเรา ทำไมเราไม่มีสติปัญญาควบคุมตัวเราเองได้ นี่ไง ฟังธรรม ! ฟังธรรม ! ฟังธรรมเพื่อให้มีความสำนึก สำนึกให้เราเข้าใจว่า สิ่งที่เรามีค่าที่สุด คือความรู้สึก !.. คือหัวใจของเรา !

สภาวะร่างกายนี้ต้องตายแน่นอน คนเกิดมาทุกคนตายหมด เกิดเท่าไหร่ ตายเท่านั้น! แต่ตายแล้วก็เกิดอีก ไม่มีต้นไม่มีปลาย จะปฏิเสธ จะไม่ยอมรับรู้เรื่องต่างๆ อันนี้มันเป็นความรู้สึก ความนึกคิด สัจจะความจริงเป็นอีกอย่างหนึ่ง สัจจะความจริง คือ สัจจะความจริง

ในเมื่อมีเหตุ มีปัจจัย มันต้องเป็นไปตามธรรมชาติของมันอย่างนั้น ใครจะปฏิเสธหรือไม่ปฏิเสธมันก็เป็นอย่างนั้น ฉะนั้น พอเราฟังธรรม.. ฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นมา เราได้สติหรือมีสามัญสำนึก เรารู้สึกตัวของเรา ถ้ารู้สึกตัวของเรา แล้วสิ่งที่เราแสวงหาอยู่นี้.. แสวงหามาเพื่ออะไร แสวงหามาเพื่อความดำรงชีวิต แล้วสิ่งที่มีคุณค่ากว่านี้ล่ะ

สิ่งที่มีคุณค่ากว่านี้คือ ความรู้สึก ดูสิ ดูอย่างเช่นต้นไม้ เห็นไหม ต้นไม้มันมีชีวิต มันมีความรับรู้สึกของมัน เวลาเราเข้าไปทำร้ายมัน ตัดต้นมัน มันก็มีความรับรู้ของมัน เห็นไหม นี่ก็เหมือนกัน พอมีคุณธรรมขึ้นมานี้ ทำเรื่องโลกๆ โลกคือความรู้สึกนึกคิด

โลก คือความรู้สึกนึกคิด เพราะเราเกิดมาเป็นมนุษย์ มีธาตุ ๔ และ ขันธ์ ๕ พอเราฟังธรรมขึ้นมานี้เรามีสามัญสำนึกขึ้นมา เราจะเขาสู่ฐีติจิต เข้าสู่สิ่งที่เกิดก่อนสามัญสำนึก ก่อนเกิดเป็นความรู้สึกความนึกคิด แล้วก่อนความรู้สึกนึกคิดมันคืออะไร ตัวพลังงานตัวจิตนี่ ก่อนที่จะคิดนี่ ก่อนคิด ก่อนรู้ ก่อนที่มันจะออกมาเป็นความรู้สึกของเรานี่ มันอยู่ที่ไหน เห็นไหม

มันอยู่ในหัวใจของเรานี่ไง มันเป็นภวาสวะ มันเป็นตัวภพ มันเป็นตัวจิตไง แต่ความรู้สึกนึกคิดมันเกิดจากจิต เกิดจากจิต !

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนเข้ามาที่นี่ เวลาฟังธรรมให้มีสามัญสำนึก สามัญสำนึกถึงชีวิตเรา ชีวิตของเรานี่ ถ้าเราทำบุญกุศลของเราอยู่อย่างนี้ เราทำคุณงามความดีของเราอยู่อย่างนี้ มันก็เวียนตายเวียนเกิดอยู่อย่างนี้

ความดีผลของมันก็คือความดี ความชั่วผลของมันก็คือความชั่ว มันคือแรงขับ คือเหตุปัจจัย เหตุปัจจัยขับจิตดวงนี้ให้เวียนตายเวียนเกิดต่อไป !

แต่เพราะเรามีสามัญสำนึก ฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช่ไหม เราจะทำคุณความดีขึ้นมา ต้องอาศัยความดี สรรพสิ่งทั้งหลายต้องมีเหตุมีผล ต้องมีที่มาที่ไป เราก็ต้องมีสติปัญญา ถ้ามีสติมีปัญญาขึ้นมาก็มีสามัญสำนึกขึ้นมาระลึกรู้สึกตัวเรา รู้สึกตัวเราเห็นไหม แล้วเราตั้งสติของตัวเรา เราระลึกถึงตัวเรา

ระลึกตัวเรา.. ระลึกในขั้นของอะไร ในขั้นของเด็กๆ ในขั้นของความคิด ในขั้นของความรู้สึก แต่มันไม่เข้าถึงฐีติจิต มันไม่เข้าถึงตัวต้นเหตุ ถ้าเข้าถึงต้นเหตุ เราถึงต้องตั้งสติเห็นไหม เราถึงต้องภาวนากัน ต้องกำหนดพุทโธกัน เพื่อหาความจริงกัน

แล้วถ้าจิตมันสงบเข้ามาเห็นไหม เข้าถึงตัวตนของมัน เข้าถึงตัวจิตของมัน นี่ไง ศีล สมาธิ ปัญญา มันเกิดจากสมาธิขึ้นมา เดี๋ยวนี้มันเป็นสามัญสำนึกในการรับรู้ มันเป็นเรื่องโลกๆ ไง ปฏิบัติแบบโลกๆ ความรู้สึกแบบโลกๆ แล้วบอกว่ามันดีขึ้นๆ

คนเรานะ.. จัดระบบความคิด ดูสิ คนที่มีการศึกษา ที่เขามีความรับรู้อยู่นี่ เขาเห็นสิ่งใด เขาไม่ตื่นเต้นไปกับสิ่งนั้น เพราะเขารับรู้ไง แต่คนที่ไม่มีการศึกษานะ เราไม่รู้เหตุรู้ผลใช่ไหม ว่าสิ่งใดเกิดขึ้นมา เราจะตกใจมาก เราจะตื่นเต้นมาก

นี่ก็เหมือนกัน พอเรามาศึกษาธรรมะนี้ เราก็รู้เหตุรู้ผล อ๋อ....จิตเป็นอย่างนั้น ความคิดเป็นอย่างนั้น มันก็จัดระบบความคิดเท่านั้นน่ะ แล้วบอกว่า “โอ้โฮ ดีขึ้นมากเลย” ... ดีขึ้นสิ ของจัดให้เป็นระเบียบทำไมจะไม่ดีล่ะ

ของกองไว้เห็นไหม ดูสิ สินค้ากองน่ะ เขาไม่เอาหรอก สินค้าห้างเขาอยากได้ สินค้ากองรวมกันไว้น่ะ ทุกคนว่า “โอ้ย.. ไม่มีค่า ไม่มีค่า..”

ความจริงรู้สึกว่า จิตของเราที่มันคิดอยู่ ก็เหมือนกับสินค้าที่มันกองไว้ในหัวใจ ไม่มีค่าเลย พอจัดระเบียบขึ้นมาโดยธรรมะนะ โอ้โฮย .. สุดยอดเลย โลกๆ ! ไม่มีสิ่งใดเลย.. ไม่มีสิ่งใดเป็นสัจธรรมเลย

.. เป็นสัจธรรมนี้มันรับรู้ลึกกว่านั้น ตั้งแต่ฐีติจิต ..

นี่ทำไมถึงบอกว่า เวลาปฏิบัติธรรมมันถึงยาก คำว่ายากเห็นไหม ดูสิ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้ว “จะสอนใครได้หนอ.. จะสอนใครได้หนอ..” แต่สอนมาก็ยังมีพระอรหันต์เต็มโลก เต็มสงสารนะ แต่เราปฏิบัติกัน เราต้องเข้าสู่ความจริง

เราเกิดมาเป็นชาวพุทธนะ ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา ปัญญาของเรานี่มันต้องกลั่นกรอง มันต้องดูว่าสิ่งใดควรและสิ่งใดไม่ควร สมบัติทางโลกก็เป็นสมบัติทางโลก

นี่เราเกิดมาเห็นไหม พระก็มาจากมนุษย์ พระก็มาจากคน พอบวชขึ้นมาแล้วก็มีศีล ๒๒๗ นี่ศีลธรรมเป็นสมบัติของพระ แล้วเรามีปัญญาขึ้นมา เราก็ต้องไตร่ตรองของเรา ว่าอะไรเป็นจริงและไม่เป็นจริง

“กาลามสูตร” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนไว้แล้ว เป็นจริงแล้วเราพิสูจน์ของเราเอง แต่นี่เขาบอกว่า “เขาเป็นอยู่แล้ว” .. มันเป็นอยู่แล้ว ! แต่มันเป็นของโลกๆ ไง มันเป็นแบบสามัญสำนึก เป็นของมนุษย์ มนุษย์คิดได้แค่นี้เอง ฆราวาส ! เขาเป็นมนุษย์ เขาไม่ใช่พระ เขาไม่ใช่นักปฏิบัติ

ทางวิชาการเขาคุยกันโดยนักวิชาการนะ นักกฎหมายเขาก็คุยกัน เซียนกฎหมายเขาต้องคุยกันรู้เรื่องนะ ไอ้คนจบใหม่มันก็จำตำรากันมาท่องปากเปียกปากแฉะ แต่เซียนกฎหมายเขามองออกหมด ! ว่ามันจะดำเนินไปอย่างไร มันจะจบกระบวนการของมันอย่างไร

แต่เวลากฎหมายไม่ถามเซียนกฎหมายนะ ไปถามสามัญสำนึกของประชาชน เขาจะรู้อะไร ประชาชนเขาก็รู้ว่ากฎหมายต้องยอมรับกันทุกคนแหละ แต่เขาจะเข้าใจด้วยความลึกซึ้งอย่างนั้นไม่ได้หรอก

นี่ก็เหมือนกัน ในการปฏิบัติก็เหมือนกัน เวลาเขาไปคุยกัน สามัญสำนึก คนปฏิบัติก็ดีขึ้นมาหมดแหละ เอาตรงนั้นเป็นต้นเหตุหรือ เอาอันนั้นเป็นข้อมูลชี้ความเป็นจริงใช่ไหม ทำไมไม่เอาผู้รู้จริงล่ะ ทำไมไม่เอาสัจธรรมล่ะ สัจธรรมนี่มันแสดงออกได้หมดล่ะ สิ่งที่สัจธรรมมันแสดงออก มันเป็นความจริงขึ้นมานี่มันเป็นปัจจัตตังนะ

นี่พูดถึงธรรมะ ฟังธรรม ! ฟังธรรม ! เห็นไหม ฟังธรรมเพื่อให้ระลึกรู้สึกตัว สามัญสำนึกของเรา ให้ตัวตนของเราขึ้นมา พวกเราจะภูมิใจว่าพุทธศาสนา เป็นศาสนาที่มีมรรค มีผล พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา พุทธศาสนาเป็นศาสนาวิทยาศาสตร์ เห็นไหม กาลเวลาทั้งหลายพิสูจน์ได้ ศาสนาอื่นถึงเวลากาลเวลาวิทยาศาสตร์ขึ้นมา ตอบโลกเขาไม่ได้ แต่พุทธศาสนานี้ตอบโลกได้ แล้วเวลาเป็นความจริงขึ้นมามันเป็นความจริง

แต่ถ้าเป็นความจำขึ้นมา แล้วเป็นความฉ้อฉลขึ้นมา มันก็ยิ่งไปไกลเลย ไปไกลเพราะอะไร เพราะมันอ้างอดีตอนาคต แล้วใครจะเอาเวลาอะไรพิสูจน์ล่ะ มันพิสูจน์เรื่องนามธรรมน่ะ แต่ถ้าคนเป็นกับคนเป็น มันพิสูจน์ได้หมดล่ะ

เพราะ ! เพราะถ้ามันไม่เป็นความจริงนะ มันขัดแย้งกันในตัวมันเอง.. มันขัดแย้งกัน เวลาพูดไปแล้วนะ วิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้นะ โลกนี้กี่ร้อยล้านปีก็พิสูจน์ได้เห็นไหม ฟอสซิล เรื่องทรัพยากรธรณี เขาพิสูจน์ได้ทั้งนั้นน่ะ อายุกาลเวลาเขาพิสูจน์ได้ ถ้าพิสูจน์ได้ เรื่องแร่ธาตุนี้พิสูจน์ได้หมดล่ะ

ถ้าพิสูจน์ได้กับการกระทำ เห็นไหม ดูสิ การกระทำ กับการรู้ จิต นามธรรม มันจะเข้ากันได้ ถ้าเป็นความจริงคือความจริง ครูบาอาจารย์เราท่านรู้อะไรเป็นความจริงนะ ท่านจะพูดเป็นวงใน ท่านจะพูดอะไรพูดให้มั่นใจ

เวลาหลวงปู่มั่นท่านพูดเรื่องภพเรื่องชาติ ท่านจะพูดให้พวกเรามั่นใจว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงๆ แล้วถ้าเราพิสูจน์ไปถึงที่นั้นนะ เราจะกราบท่านด้วยหัวใจ หลวงตาท่านพูดประจำกับพระนะ “ กระบวนการของการพัฒนา กระบวนการของจิต มันต้องเป็นอย่างนั้นๆ ขั้นตอนของมัน แล้วถ้าใครปฏิบัติไปแล้วนะ ถ้าใครปฏิบัติถึงที่สุดแล้ว ถึงกระบวนการนั้น จะมากราบศพผม ” ท่านพูดเอง ! หลวงปู่มั่นก็เหมือนกัน !

จะมากราบศพ หมายถึงว่า มันซาบซึ้งไง มันซาบซึ้งบุญ ซาบซึ้งคุณ ฉะนั้นเวลาครูบาอาจารย์เราเวลากราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเห็นไหม

พวกเราบอกว่า.. “กราบทองเหลือง”

วิทยาศาสตร์บอกว่า.. “กราบทองเหลือง... กราบทองเหลือง.. กราบทำไม ? ”

แต่ครูบาอาจารย์ของเรา ท่านกราบด้วยความซาบซึ้ง กราบด้วยหัวใจ กราบด้วยบุญคุณ ! บุญคุณที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเข้ารื้อค้นสิ่งนี้มา แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้มา ๒,๐๐๐ กว่าปี แล้วเราเข้าไปเห็นสิ่งนั้น มัน...หนีไม่พ้น มันหนีไม่พ้น

.. ว่าสิ่งนั้นเหมือนมรดกตกทอด ถ้าไม่มีคนรื้นหนทางไว้ ไม่มีคนเปิดช่องทางไว้ เราจะมาได้อย่างไร พอมาได้นี่มันซึ้งคุณมาก นี่การกตัญญูกตเวที มันซาบซึ้ง แก้วสารพัดนึก “พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นี้เป็นแก้วสารพัดนึกของเรา”

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราทำของเรา เราต้องมีสติปัญญาของเรา เราเห็นคุณค่าของเรา มนุษย์เหมือนกัน พิสูจน์ตรวจสอบกันด้วยหัวใจ พิสูจน์ตรวจสอบกันด้วยการประพฤติปฏิบัติ แล้วจะเป็นคุณประโยชน์กับเรา

นี่พุทธศาสนา ศาสนาแห่งเหตุและผล ไม่ใช่ศาสนาแห่งกระแส ศาสนาแห่งเหตุผล เราประพฤติปฏิบัติของเราเพื่อประโยชน์กับเรา จะเป็นความจริงของเรา เอวัง