เทศน์เช้า วันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๕๓
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
วันนี้วันพระ เรายังมีสติ เรายังเป็นคนปกติ เรายังรู้ว่าวันพระวันโกน เห็นไหม คนเจ็บไข้ได้ป่วย คนเวลาละเมอเพ้อพกนี่เขาจำวันคืนไม่ได้เลยนะ เวลาคนตายไปนะ วันคืนเขาเป็นอย่างนี้ อยู่คนละมิติไป เรายังมีสติสตังนะ รู้จักว่าวันใดเป็นวันพระวันโกน
วันพระ เห็นไหม วันพระเป็นวันหยุดจากงาน ถ้าเป็นชาวพุทธนะ สมัยโบราณของเรานะหยุดวันพระ แต่เพราะเราต้องการไปกับโลก ลัทธิ ศาสนาต่างๆ เขามีของเขา แต่ด้วยความที่ว่าเอาโลกเป็นใหญ่
คำว่าโลกเป็นใหญ่นะ ดูสิเราทำคุณงามความดีกัน ในพุทธศาสนาสอนง่ายๆ คือละชั่ว.. ทำดี ! ทำคุณงามความดีนี่คือละความชั่ว แต่ละความชั่ว เห็นไหม คนนี่มาพูดความจริง... ความจริงความสุจริตนี้จะคุ้มครองเรา แต่คนพูดความจริงนี่ตายหมดเลย ใครๆ ที่พูดความจริงนะ ความจริงของโลก แต่โลกเขารับกันไม่ได้ ความจริงของใครล่ะ โลกเขารับได้แต่ความสอพลอ มารยาสาไถย เรื่องอย่างนั้นเป็นเรื่องของโลกๆ นะ
แต่ถ้าเราพูดความจริงล่ะ... ความจริงเป็นสิ่งที่ไม่ตาย แต่คนพูดนี่ตาย ! พอคนพูดตาย เห็นไหม เพราะคนพูดความจริงนี่ทุกคนไม่ชอบใจหรอก ทุกคนต้องชอบความอ่อนหวาน ชอบความนุ่มนวลในสิ่งที่ไม่กระทบกระเทือนกัน อันนี้เป็นมารยาสาไถย เป็นมารยาทสังคม
แต่มารยาสาไถยนี้เราก็ทำได้ ! พระก็ทำได้ ใครๆ ก็ทำได้ แต่ทำไปแล้วนี่มันจะเข้าถึงสัจจะไหมล่ะ ถ้ามันเข้าสู่สัจจะ.. คือทำความจริง ต้องเข้าสู่ความจริง ! แล้วความจริงมันคือสิ่งใดล่ะ... ความจริงนะ คือผู้ที่พูดความจริง มันสู้กับสิ่งใดก็ได้ !
ผู้ที่มีศีลมีธรรม จะเข้าสังคมไหนก็ได้ อย่างเช่นมือเรานี่ไม่มีบาดแผล จะหยิบจะจับต้องสิ่งใด ไม่ต้องกลัวเชื้อโรคสิ่งใดๆ เลย แต่ถ้ามือเรามันมีบาดแผลนะ จับสิ่งใดๆ ไม่ได้เลย กลัวเชื้อโรคมันจะเข้ามือของเรา
ถ้าเราทำความบริสุทธิ์ใจ... ศีล ! ศีลคือความปกติของใจ ถ้าใจมีความปกติของใจ เรามีความสะอาดบริสุทธิ์ของเรา เวลาทำสิ่งใดเราจะอาจหาญ เข้าสังคมใดก็ได้.. จะเข้าสังคมใดก็ได้นะ แต่จะเข้าหรือไม่เข้านี่ต่างหากนะ
ถ้าคนเรามีจิตใจที่ละเอียดอ่อน เรารู้ว่าสังคมใดควรและไม่ควร สังคมที่เขาไม่ควร ดูสิอย่างเช่นสังคมที่เขาสำมะเลเทเมา นี่เราจะเข้าไปสังคมเขาไหมล่ะ เราเห็นแล้วเราก็ทนไม่ได้ ถ้าเราทนไม่ได้ แล้วเราจะเข้าไปสังคมกับเขาทำไม
จิตของเราก็เหมือนกัน ถ้าจิตของเรามีหลักมีเกณฑ์ของเรานะ เราจะไม่สำมะเลเทเมากับสังคมอย่างนั้น... ถ้าไม่เข้าสังคมอย่างนั้นนี่เพราะอะไร เพราะเรามีศีล มีความปกติของใจ เรามีความระลึกรู้ของเราอยู่
ถ้าจิตของเรามีความระลึกรู้ของเราอยู่... นี่เรามาเตือนตนของเรานะ เรามาทำบุญกุศลก็เพื่อเหตุนี้แหละ เพื่อตอกย้ำ ! ตอกย้ำคุณงามความดีของเรา
กระแสของโลกเขาเป็นอย่างนั้น คนเราเกิดมามีเวรมีกรรม เวรกรรมของแต่ละบุคคล ในเวรกรรมนั้นยังไม่ให้ผล ก็ยังปากแข็งได้ล่ะ ยังมีความองอาจกล้าหาญนะ แต่เวลากรรมมันมาถึงนะ กรรมมันมากับสิ่งใดล่ะ เราเป็นคนทำซะเอง.. เราทำซะเองแล้วเราไม่ยอมรับสิ่งที่เราทำ นี่มันเป็นไปได้อย่างไร
ถ้าเราทำของเราเอง เราต้องมีสติสิ ! ถ้ามีสติสตังนะ เวลาเราทำสิ่งใดมันก็เป็นคุณงามความดีไป
ความดีนี่ความดีของใคร... ความดีของโลกเขา เห็นไหม ดูสิเวลาเรามาทำบุญกุศล นี่เสียสละทาน โลกเขาเวลาขาดตกบกพร่องนะ เราเจือจานกัน เราช่วยเหลือเจือจานกัน นั้นมันเป็นเรื่องของโลกนะ เป็นเรื่องของวัตถุ เวลาเราเจ็บไข้ได้ป่วย เวลาสิ่งต่างๆ เขาจะเจือจานขนาดไหน แต่เรื่องเจ็บไข้ได้ป่วยมันก็เป็นเรื่องของบุคคลนะ
เรื่องของหัวใจก็เหมือนกัน เวลาความหมักหมมของใจ ใจที่มันหมักหมมในหัวใจของเรา เขาไม่รู้ภายในกับเราหรอก ! ความเล็กน้อย... ความเล็กน้อยของสายตาของคนที่เขาไม่เจ็บช้ำน้ำใจ แต่ความเล็กน้อยนี้ มันจะเป็นความหนักหนาสาหัสสากันของคนที่ตรงกับจริตนั้น
นี่เขาเห็นว่าเป็นของเล็กน้อย เขาไม่คิดหรอกว่าของแค่นี้จะทำให้เราเจ็บช้ำน้ำใจได้ แต่เราเจ็บช้ำน้ำใจมาก แล้วความเจ็บช้ำน้ำใจนี้ ใครจะแก้ไขให้เราได้ ถ้าจิตใจเราไม่แก้ไขจิตใจของเราเอง
ถ้าจิตใจเราแก้ไขจิตใจของเราเองนี่มันมาจากไหนล่ะ ถ้ามันไม่มาจากสามัญสำนึกของเรานี้ ! ถ้ามันมาจากสามัญสำนึกของเรานี้.. ถ้าเรามีสามัญสำนึกของเรา เห็นไหม นี่ความดีความชั่วมันเกิดจากเรา ความสุจริตของเรา ในหัวใจของเรา ศีลของหัวใจของเรานี้มันจะคุ้มครองเรา !
ผู้ใดกระทำสมควรแก่ธรรม... ธรรมะย่อมคุ้มครอง ! คุ้มครองตรงไหนล่ะ คุ้มครองที่มีศีล !
คนมีศีล... นี่มันมีศีลไปที่ไหน คนมีศีลมีสัตย์ที่ไหน..
นี่กลิ่นของศีลมันหอมทวนลมนะ
อย่างเช่นเด็กคนนี้เป็นคนดี สังเกตได้ไหมเด็กดีๆ นี่ผู้ใหญ่เขาจะชมกัน ว่าเด็กคนนี้เป็นคนดีนะ เด็กคนนี้กตัญญูนะ เลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่นะ เด็กคนนี้เขาดูแลบ้านของเขานะ เด็กคนนี้ขยันขันแข็งนะ เห็นไหม นี่กลิ่นของศีลมันหอมทวนลม... กลิ่นของคุณงามความดีมันหอมทวนลม
นี่ไงมันคุ้มครองเรา ! ถ้ามันคุ้มครองเรานะ เราไปที่ไหน ถ้าเราเป็นคนดีนะ มีแต่คนเมตตาอารี มีแต่คนเจือจาน แต่กลิ่นของบาปของกรรม นี่ไม่มีใครต้องการเลย เด็กคนนี้ ดูสิเข้าไปที่ไหนนี่สังคมแตกหมด.. สังคมแตกหมด
นี่เรื่องของโลกนะ ! ถ้าเรื่องของธรรมล่ะ นี่เรื่องความดีของธรรม...
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ทำดีก็คือต้องเป็นความดี แต่ความดีความสุจริตนี้จะคุ้มครองเรา ถ้าเราทำคุณงามความดีของเรา
อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ.. ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ถึงที่สุดแล้วนี่ความสุข ความทุกข์มันอยู่ในใจของเรา ความสุขความทุกข์ในใจของเรา นี่เราจะแก้ไขอย่างไร เราจะดูแลรักษาอย่างไร ถ้าดูแลรักษาหัวใจของเรา เราจะเริ่มจาก ความดีของโลกและความดีของธรรม
ความดีของโลก ! โลกก็มีแค่นี้.. โลกก็เห็นกันอย่างนี้.. เจือจานกันอย่างนี้.. นี่ความสุขของโลก สิ่งต่างๆ ปัจจัยเครื่องอาศัยมีแค่นี้แหละ ! ความสุขมีแค่นี้แหละ กี่ภพกี่ชาติก็มีแค่นี้แหละ ไม่เกินไปจากนี้เลย ไม่เกินจากสิ่งที่เรารู้เราสัมผัสนี่ โลกเป็นอย่างนี้ ทุกคนมีสิทธิเสมอภาค ทำได้เหมือนกันหมด แล้วก็มีเท่านี้แหละ แล้วก็เกิดตายๆ ก็จะมาเจอโลกเก่านี้แหละ
แต่ถ้าเรามีสามัญสำนึก พอเราทำความสงบของใจ นี่ฐาน.. กรรมฐาน คือฐานของโลก ! ฐานของโลกเพราะอะไร... โลกมีเพราะมีเรา เพราะเราเกิดปฏิสนธิจิต ปฏิสนธิจิตมันมี แล้วมันส่งออกไปรับรู้เรื่องต่างๆ ของโลกเขา มันไปยึดไปถือมั่นความเห่อเหิม ตัณหาความทะยานอยากของมัน แต่มันลืมตัวของมันเอง
นี่ทุกคนจะบอกว่าเงินของเรามีค่า ทุกคนจะบอกว่าทรัพย์สมบัติของเรามีค่า แต่ไม่มีใครบอกว่าเรามีค่า ทุกคนจะบอกว่าทรัพย์สมบัติของเรา แก้วแหวนเงินทองของเรา ยศถาบรรดาศักดิ์ของเรามีค่า ! แต่ไม่มีใครบอกว่าเรามีค่าเลย
สิ่งที่มีค่า... มันมีค่าเพราะมีเราใช่ไหม เพราะมีเรา เราถึงได้สิ่งนั้นมา.. ถ้าไม่มีเรา สิ่งนั้นมันก็เป็นสมบัติของโลก สมบัติของโลกคือว่ามันเป็นสมบัติผลัดกันชมของโลกเขา โลกเขามีของเขาอยู่อย่างนั้น นี่สมบัติของโลก... ความสุขมีเท่านี้แหละ !
แต่พอเราทำความสงบของใจเข้ามา เห็นไหม นี่สมบัติมีค่า แต่ไม่เห็นว่าตัวตนของเรามีค่า แต่พอเรามาสำนึกตัวของเราแล้ว สำนึกในตัวของเรา แล้วเราจะกลับมาที่เรา
นี่ไงความปกติของใจ ! ความดีของโลกมีเท่านี้เอง แต่ถ้าเป็นความดีของธรรมล่ะ ความดีของธรรมนะ ถ้าทำความปกติของใจไม่ได้ เวลาสอยเข็มไปสอยกันที่ไหน สอยเข็มเราต้องสอยที่เข็มของเราใช่ไหม นี่เราจะทำคุณงามความดีของเรา เราจะไปทำที่ไหน เราอาศัยครูบาอาจารย์นะ มาวัดมาวา เราเสียสละทานทำบุญกุศลกันนี่เพราะอะไร เนื้อนาบุญของโลก... เนื้อนาบุญ ! เห็นไหม เนื้อนาบุญ นี่ที่เราเสียสละทานขึ้นมา เพื่อให้เราได้ฟังธรรม.. เนื้อนาบุญ
แล้วเนื้อนาของเราล่ะ ! แล้วหัวใจของเราล่ะ ! ถ้าเราจะทำนา เนื้อนาบุญของเรานี่นะ ดูสิถ้าเราไม่มีนา เราก็เช่านาเขาทำ พอเช่านาเขาทำ เสร็จแล้วนี่เขาต้องเก็บค่าเช่าของเขาไป แล้วถ้านาของเราล่ะ เราทำของเรา เราได้ของเราหมดเลย แล้วเนื้อนาของเรามันอยู่ที่ไหน...
ถ้าเนื้อนาของเรา นี่สำนึกขึ้นมาว่าเราอยู่ที่ไหน เราอยู่ที่ทะเบียนบ้านใช่ไหม ที่เรามาประพฤติปฏิบัติกันนี้ เราก็มาค้นหาตัวเรานี่แหละ ถ้าจิตมันสงบเข้ามานะ อื้อฮือ... เราอยู่นี่เอง นี่จิตสงบเข้ามา ถ้าจิตสงบเข้ามาแล้ว เราอยู่นี่เอง ! เราอยู่นี่เอง แล้วทุกข์สุขมันก็เกิดจากตรงนี้ !
แต่เดิมอารมณ์ความรู้สึก ความสุขความทุกข์นี่มันปิดกั้นเราไว้ เพราะเราเอาแต่อารมณ์ความรู้สึก เห็นไหม นี่สัญญาอารมณ์ เรารู้ได้แค่อารมณ์ความรู้สึก เราไม่เคยเห็นพลังงานเลย เราไม่เคยเห็นตัวจิตเลย เราไม่เคยเห็นตัวจริงของเราเลย เราก็พยายามค้นคว้าของเรา
นี่เราตั้งสติของเรา เห็นไหม ตั้งสติของเรา แล้วพยายามมีคำบริกรรมของเรา ใช้ปัญญาอบรมสมาธิเข้ามา เพื่อหานาของเรา ถ้ามีนาของเราแล้ว เราหว่านพืชหวังผล เราทำนาของเรา มันจะเป็นประโยชน์กับเราหมดเลย ถ้าเป็นประโยชน์กับเราแล้ว นี่พุทโธ พุทโธ จนจิตสงบเข้ามาได้ นี่ความดีอย่างนี้ !
ถ้าความดีอย่างนี้มันเป็นความจริง จะพูดที่ไหน พูดกี่ร้อยหนพันหน ล้านหนมันก็คือความจริง ความจริงก็คือความจริง ! ความจริงเป็นสิ่งที่ไม่ตาย แล้วพูดที่ไหนมันก็อยู่ที่นั่นไง แล้วความจริงอย่างนี้เป็นความจริง อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ.. ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน แล้วความจริงอันนี้ ความจริงมันเป็นสันทิฏฐิโก มันเป็นปัจจัตตัง
นี่ไงบุคคล ๘ จำพวก ! บุคคล ๘ จำพวก นี่ดูสิเราโตขึ้นมา ตั้งแต่เป็นทารกขึ้นมาแล้วเป็นวัยรุ่น แล้วเราโตเป็นคนแก่ไป คนเก่านี่นะชราคร่ำคร่าแล้วตายไป แต่จิตเวลามันเป็นปุถุชนใช่ไหม
นี่ปุถุชนเป็นกัลยาณปุถุชน... ปุถุชนนี่คนหนา.. คนหนานี่รู้ได้แต่เฉพาะความคิด.. รู้ได้แต่เฉพาะสัญญาอารมณ์ ไม่เคยเห็นตัวตนของเราเลย
กัลยาณปุถุชน.. เป็นปุถุชนเหมือนกัน แต่เราใช้สติปัญญา เราใคร่ครวญของเรา เห็นไหม มันจะเข้ามาสู่ตัวตนของเรา
ปุถุชน.. กัลยาณปุถุชน.. ยกขึ้นเป็นโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล เห็นไหม มันจะพัฒนาไปแล้ว นี่หัวใจมันพัฒนาไปได้แล้ว แล้วการพัฒนาอย่างนี้มันมีขณะของมัน มันมีการเปลี่ยนแปลงของมัน มันมีการกระทำของมัน มันมีกิจจญาณ สัจจญาณ มันมีความจริงของมัน
แล้วความจริงอย่างนี้ ! ความจริงอย่างนี้ ! องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ตรัสรู้ความจริงอันนี้ พระศรีอริยเมตไตรยก็ตรัสรู้ความจริงอันนี้ องค์ศาสดาทุกองค์ พระอรหันต์ทุกองค์ต้องเป็นอย่างนี้หมดเลย... แล้วมันเป็นอย่างนี้หมด ความจริงมันเป็นอย่างนี้ ความจริงเป็นสิ่งที่ไม่ตายไง ถ้ามีความจริงอันนี้แล้วนี่ มันจะไปหวั่นไหวกับสิ่งใด
เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก ผู้ที่ตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้วเหมือนหลัก ๘ ศอก.. อยู่ในดิน ๔ ศอก.. ปักในดิน ๔ ศอก ลมหวั่นไหวขนาดไหน มันทำให้เอียงกะเท่เร่ไม่ได้หรอก
จิตใจที่เป็นความจริง... นี่ไงครูบาอาจารย์เราพูดอันนี้ไง หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ของเราท่านพูดถึงอันนี้ ! พูดถึงความจริงอันนี้ แล้วความจริงอันนี้เราทุกคนมีอยู่ แต่ไม่รู้ไม่เห็น แต่เวลาไปรู้ไปเห็นนะ เห็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า ต้องเป็นพุทธพจน์ ! พุทธพจน์.. พุทธพจน์มันก็เป็นทฤษฏี เป็นวิธีการที่ชี้เข้ามาที่ใจ
พุทธพจน์ เห็นไหม ดูสิเราบอกว่าเราอยากได้เงินๆ เราไปหาเงินในท้องตลาด แต่คนมันโง่ คนมันไปพิมพ์เงินเอง แล้วว่าพวกที่ไปทำมาหากินนี่โง่มากเลย เราก็ซื้อแท่นพิมพ์มาเลยนะ แล้วพิมพ์เงินเองเลย ตำรวจจับทันทีเลย เห็นไหม
นี่ก็เหมือนกัน สิ่งนี้เป็นธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ทำไว้ในท้องตลาด แล้วเราจะมาพิมพ์กันเองของเราได้อย่างไร เงินเราพิมพ์ไม่ได้ เพราะเราไม่มีสิทธิตามกฎหมาย เงินนี้รัฐบาลเขาต้องเป็นคนพิมพ์ใช่ไหม
สัจธรรม ! สัจธรรมที่มันเกิดขึ้นมา นี่มันเกิดขึ้นมาไม่ใช่เราไปพิมพ์แบงก์มา สัจธรรมเราเกิดขึ้นมาด้วยการทำมาหากิน ด้วยความมุมานะของเรา ด้วยความบากบั่นของเรา แล้วความบากบั่นของเรา นี่ดูสิเราเดินจงกรม นั่งสมาธิ ภาวนากันหลังขดหลังแข็ง เดินจงกรม อดนอนผ่อนอาหารกันจนฝ่าเท้า จนความทุกข์ยากขึ้นมา เห็นไหม
นี่คือการทำงาน ! ผลของมันคือความสงบของใจ ! ผลของมันคือเกิดปัญญา ! มันเกิดจากการกระทำ มันเกิดจากสัจจะ นี่ไม่ใช่ไปพิมพ์แบงก์ ! ถ้าไปพิมพ์แบงก์ติดคุก
นี่ก็เหมือนกัน พุทธพจน์... พุทธพจน์นี่ไปพิมพ์มาไง ! ไปก็อบปี้มาไงว่านี่สัจธรรมเป็นอย่างนี้... สัจธรรมเป็นอย่างนั้น... นั่นมันสัจธรรม นั่นมันเป็นหน้าที่ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ดูสิแบงก์ในเมืองไทยเรานี่มันเป็นหน้าที่ของธนาคารชาติ ประเทศไทยนี่รัฐบาลเขามีอำนาจในการพิมพ์มาเพื่อสมมุติให้เราใช้สอยกัน แต่เราไม่มีสิทธิ !
นี่ปริยัติ.. การศึกษามา แบงก์ก็คือกระดาษ แล้วกระดาษเราก็หาได้ แท่นพิมพ์เราก็ทำได้ เราทำได้ทั้งนั้นแหละ แต่เราไม่มีสิทธิ !
นี่ก็เหมือนกัน พุทธพจน์.. พุทธพจน์ เอ็งมีสิทธิอะไร ! เอ็งมีสิทธิอะไรว่าเอ็งจะรู้แจ้ง.. รู้แจ้ง เอ็งมีสิทธิอย่างนั้นไม่ได้ แต่การศึกษามา.. ศึกษามา เราเกิดมาในเมืองไทยใช่ไหม ถ้าไม่มีแบงก์ ไม่มีเงินหมุนเวียนในตลาด แล้วสังคมจะอยู่ได้อย่างไร
นี่ก็เหมือนกัน เราเกิดมาเป็นชาวพุทธ ถ้าเราไม่ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราจะเริ่มต้นกันได้อย่างไร แต่เราศึกษามาแล้ว ศึกษามาเพื่อเป็นความรู้ เป็นปริยัติใช่ไหม เป็นความรู้ที่เรารู้ แต่ ! แต่ต้องมีการกระทำ ไม่ใช่ว่าศึกษาแล้วรู้เลย แล้วเวลาทำขึ้นมาก็ใคร่ครวญกันไป แล้วก็รู้กันไปเลย
นี่มันอ่อนแอ มันอ่อนแอตรงนี้ ! นี่ความจริง... ความจริงเป็นสิ่งที่ไม่ตาย แต่คนพูดความจริง.. คนพูดความจริงกับสังคมโลก โลกเขาเข้าใจถึงสิ่งนี้ไม่ได้ แต่ครูบาอาจารย์เรารู้ได้นะ
เวลาหลวงปู่มั่นท่านอยู่ที่หนองผือ เวลาครูบาอาจารย์ท่านมากราบเคารพคารวะ ออกจากป่ามานี่มันต้องไปทำงานมา ดูสิเวลาลูกหลานเราไปทำงานมา ไปเมืองนอกมา ทำงานมา นี่มีเงินทองเข้ามาเท่าไร ไปทำงานแล้วขาดทุนหรือกำไรเข้ามา นี่มันก็มาบอกกล่าว
นี่ไงเวลาครูบาอาจารย์ท่านไประลึกเคารพกัน ออกจากป่ามา นี่ไปป่านั้นภาวนามาเป็นอย่างไร.. ไปป่านี้ภาวนาเป็นอย่างไร... นี่มันตรวจสอบกันได้ ! มันพูดได้ ความจริงเป็นสิ่งที่ไม่ตาย แล้วความจริงเป็นอันเดียวกัน
หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ของเราพูดเหมือนกัน ดูสิเวลาหลวงปู่มั่นท่านพูดกับครูบาอาจารย์เรามา บอกว่า หลวงปู่ขาวนี่ได้พูดกับเราแล้วนะ หมู่คณะจำหลวงปู่ขาวไว้นะ หลวงปู่ขาวนี้เป็นผู้ที่พูดกับเราแล้ว คำว่าพูดกับเราแล้วคือจบแล้ว ! นี่ครูบาอาจารย์ท่านได้คุยกันแล้ว เห็นไหม นี่ทำความจริง ! ความจริง !
ไม่ใช่ว่าความจริงนี่เอ้อระเหยลอยชาย.. ความจริงของเราจะไม่เหมือนกับความจริงของคนอื่นเลย.. ความจริงของเราจะขี่หัวเขาไปหมดเลย.. ของคนอื่นเป็นความเท็จหมด.. ความจริงของเราเป็นความจริงอยู่คนเดียว.. นี่มันไม่มีหรอก !
แล้วความจริงกับความจริงมันเข้ากันได้ แล้วความจริง นี่คนจริงเห็นไหม ดูสิถ้าคนดี.. คนดีจะอยู่ซีกโลกไหนก็แล้วแต่ เขาเป็นคนที่ทำคุณงามความดีนะ มันมาถึงนะ จนเดี๋ยวนี้ทางโลกเขาต้องให้รางวัลกัน ให้รางวัลโนเบล ให้ต่างๆ ให้รางวัลกัน เห็นไหม แต่ความจริงรางวัลนั่นมันเป็นโลกสมมุติ แต่ความดีเขาทำใจของเขาแล้ว...
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเป็นความจริง.. ความจริงของแต่ละบุคคล บุคคลทำคุณงามความดีแล้ว เป็นความจริงของเขาแล้ว นี่อันนี้เป็นความจริงแล้ว แล้วความจริงอันนี้มันเหนือโลกไง โลกเขารู้กับเราไม่ได้หรอก
ถ้าโลกเขารู้ไม่ได้ แต่เวลาเราพูดไปโลกเขายังพิสูจน์ความจริงของเราได้ นี่มันหน้าขายหน้า มันเป็นเรื่องไร้สาระ ในเมื่อโลกยังพิสูจน์ความจริงของเราได้เลย
แต่ถ้าโลกพิสูจน์ความจริงของเราไม่ได้ โลกพิสูจน์ไม่ได้... ไม่ได้จริงๆ เพราะไม่ได้จริงๆ มันถึงหลอกกันอยู่ได้นี่ไง การที่หลอกกันอยู่ได้เพราะอะไร เพราะเขาถือว่า สิ่งนี้เป็นความจริง.. สิ่งนี้เป็นพุทธพจน์ พอว่าเป็นพุทธพจน์ เห็นไหม ก็ด้วยความเคารพนะ
ความศรัทธา... ศรัทธาแล้วต้องมีปัญญา ทุกอย่างต้องมีปัญญา เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม กาลามสูตร
เวลาหลวงตาท่านไปอยู่กับหลวงปู่มั่น ท่านก็บอกเหมือนกันว่า ท่านจบมหามา ธรรมวินัยนี่ค้นคว้ามาหมดแล้ว แต่การกระทำมันก็ยังสงสัย เพราะเราได้ทฤษฏีมา แต่ภาคปฏิบัติเราไม่เคยทำ แล้วพอทำแล้วไม่เข้าใจ พอไปเจอหลวงปู่มั่นท่านทำสิ่งใดนะ นี่ดูไว้ สังเกตไว้ แล้วมาดูทางทฤษฏี... ตรงกันเปี๊ยะ ! ตรงกันเปี๊ยะ !
ตรงกันเปี๊ยะมันมีที่มาที่ไปไง... มันมีที่มาที่ไป ดูสิอย่างเช่นกฎหมาย มันมีนิยามของกฎหมาย ว่ากฎหมายบัญญัติไว้เพื่ออะไร มีเหตุผลสิ่งใดถึงบัญญัติกฎหมายข้อนี้มา
ในพระไตรปิฎก ในวินัยทุกข้อเลย มันต้องมีผู้ทำผิดแล้ว พอมีผู้ทำผิดแล้วนี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบัญญัติขึ้นมา แล้วถ้าบัญญัติแล้วมันยังแถอีก มันถึงมีอนุบัญญัติ... อนุบัญญัติมาเรื่อยๆ เลย
สิ่งนี้มันมีอยู่ ! อันนี้คือบัญญัติ อันนี้ก็แค่กรอบ เห็นไหม
ศีล สมาธิ ปัญญา... ศีลมันเป็นแค่กรอบไง แต่ศีลมันเป็นแค่กรอบนะ ดูคนเราสิ ถ้าเขาบอกว่าคนเราต้องเดินให้ตรงนะ ถ้าอย่างนั้นแล้วคนพิการมันเดินให้ตรงได้ไหมล่ะ คนพิการเดินตรงไม่ได้ใช่ไหม เวลาคนบอกว่าต้องเดินให้ตรงนะ เดิน ๒ เท้าต้องเดินให้ตัวตรง แล้วอย่างนั้นคนพิการก็เดินไม่ได้ พอเดินไม่ได้ นี่กฎหมายทุกข้อมันมีข้อยกเว้นของมัน
อาบัติ.. อนาบัติ
อาบัตินะ... คนๆ นี้ทำเป็นอาบัติหมดเลย แต่คนพิการไม่เป็นอาบัติเลย เป็นอนาบัติ.. มันมี ! กฎหมายนี่มีหมดแหละ ถ้าจะแถกันนะมันออกได้หมดแหละ แต่มันออกด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ล่ะ
ถ้าเจตนามันบริสุทธิ์ เห็นไหม อย่างเช่นวินัยยกเว้นแต่ภิกษุเป็นไข้ ภิกษุเฒ่า หรือยกเว้นต่อเมื่อภิกษุผีเข้า... นี่เวลาปฏิบัติ ในพระไตรปิฎกพูดชัดๆ เลย ภิกษุผีเข้า.. แล้วภิกษุผีเข้าได้อย่างไร อ้าว.. ภิกษุเวลาบวชใหม่นะ ศีลยังไม่บริสุทธิ์อยู่ แล้วเวรกรรมมันมาถึงนะ
เวลาภิกษุผีเข้าไม่เป็นอาบัติ แต่ถ้าผีออกแล้วเป็นอาบัติหมด.. ภิกษุผีเข้านะ กินเนื้อดิบก็ได้ กินเนื้อสดๆ ก็ได้ นี่เพราะมันมีเวรกรรมของแต่ละบุคคลมา เวลาปกติภิกษุฉันอาหารดิบเป็นอาบัติปาจิตตีย์ เป็นอาบัติทันทีเลย ! แต่เวลาภิกษุผีเข้า ยกเว้นไม่เป็นอาบัติ
นี่ไงมันมีอาบัติ มีอนาบัติ เห็นไหม พูดถึงถ้ามีความจริงขึ้นมาแล้ว นี่มันจะเข้าใจสิ่งนี้เองเพราะอะไร เพราะมันไม่มีเจตนา ! เราไม่มีเจตนาทำความผิด เรามีเจตนาจะทำคุณงามความดี แต่ถ้ามันเป็นเวรเป็นกรรม มันถึงวิกฤติอันหนึ่ง อันนี้มันเป็นอาบัติไง ถ้ามันเป็นอาบัติ เราไม่สบายใจเราก็ต้องปลงอาบัติ การปลงอาบัติคือสุภาพบุรุษ..
อริยวินัย วินัยนะ... ใครทำผิดแล้ว รู้ต่อความผิดของตัวแล้วปลงอาบัติ เขาเรียกอริยวินัย เหมือนกับสุภาพบุรุษ คือทำความผิดแล้วสารภาพว่า ฉันทำผิดแล้ว ! ฉันขอสารภาพผิด !
นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายกย่องมาก ! ยกย่องผู้ทำผิด แล้วรู้ว่าตัวเองผิด แล้วจะกลับใจกลับตัวจากการทำผิด
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายกย่องมาก ! ยกย่องคนทำผิดแล้วรู้จักผิดรู้จักถูกแล้วแก้ไข ไม่ใช่คนทำผิดแล้วแถๆๆ ไป อย่างนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ยกย่อง ให้พรหมทัณฑ์ ให้สงฆ์ยกออกจากหมู่ ให้สงฆ์ไม่พูดด้วย ให้สงฆ์ขับออกไป !
แต่ถ้าใครทำความผิดแล้วรู้จักความผิด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายกย่องว่าเป็นอริยวินัย
วินัย.. อริยวินัย
นี่เราฟังธรรม.. วันนี้วันพระนะ วันพระนี่เราต้องเตือนตัวเราเอง เรารู้จักวันพระวันเจ้า เรารู้จักวันหยุด นี่โลกก็เป็นอย่างนี้ โลกเป็นโลกอย่างนี้ เราทำมาหากินมันจะเป็นอย่างนี้.. เป็นอย่างนี้ ลุ่มๆ ดอนๆ กันอยู่อย่างนี้ เว้นไว้แต่คนที่ทำคุณงามความดีมาขนาดไหน เห็นไหม คนทำคุณงามความดีมาขนาดไหน มันก็มีวาระกรรมของมันเหมือนกัน
ฉะนั้นเวลาเราเห็นทางโลก.. เราเห็นทางโลกเราก็พยายามของเรา หลวงตาท่านสอนไว้ว่า คนเรามี ๒ ตา ตาหนึ่งคือมีอาชีพการงานของเรา อีกตาหนึ่งคือชีวิตของเรา.. อีกตาหนึ่งคือความรู้สึกของเรา อีกตาหนึ่งคือหัวใจของเรา เราต้องดูแลมันด้วย
แล้วเราลืม ๒ ตา ตาหนึ่งคือตาโลก.. ตาหนึ่งคือตาธรรม.. เราจะเอาชีวิตของเราเพื่อประสบความสำเร็จในชีวิต เพื่อชีวิตของเรามีความสุขพอสมควร เอวัง