เทศน์พระ

พอดี

๘ ต.ค. ๒๕๕๓

 

พอดี
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์พระ วันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรมนะ เราบวชพระมา เราเป็นพระ เป็นนักรบ นักรบสิ่งที่เขาเห็นข้าศึกเห็นไหม การรบในปัจจุบันนี้ การรบกันรบแบบกองโจร เขาไม่เห็นข้าศึกนะ เดินไปมีแต่ตายกับตาย ไม่รู้ว่าอาวุธจะมาจากทางไหน

นี่ก็เหมือนกัน เราว่าเป็นนักรบ รบกับอะไรล่ะ เรามาว่าเป็นนักรบ เวลาทางโลกเขานะ เวลาเขาออกข้าศึกกัน เขายังมีฝ่ายศัตรู ฝ่ายธรรมะ ฝ่ายอธรรม ไอ้เรานะเราไม่เห็นเลยว่าใจเรามันเป็นกิเลส ใจเราเวลาเราศึกษาพระไตรปิฎกเห็นไหม ไอ้นั่นก็เป็นกิเลส ไอ้นี่ก็เป็นกิเลส

อกุศล สิ่งใดก็มีทั้งหมดเลย แต่ทำไมเราทำล่ะ ทำไมว่าสิ่งที่เป็นอกุศลล่ะ สิ่งที่เป็นพิษเราต้องไม่จับไม่ต้องมันเป็นธรรมดา แต่นี่เวลาเราทำไป เราไม่รู้เลยว่าสิ่งนั้นเป็นอกุศลหรือไม่เป็นอกุศล มันเป็นอนุสัย มันนอนเนื่องมากับใจ แล้วว่าเป็นนักรบ!

เรามาบวชเพื่อจะมาเป็นคนสุกนะ เวลาคนไม่บวชเขาเรียกว่า “คนดิบ” คนดิบเกิดมาไม่ได้ศึกษาธรรมะ ไม่ได้ปฏิบัติธรรม ไม่มี ศีล สมาธิ ปัญญา เพราะเป็นคนดิบ สมัยโบราณเห็นไหม ถ้าผู้ชายไม่ได้บวช ถ้าบวชแล้วไปขอลูกสาวบ้านใครเขาถึงบอกว่า“เอ่อ..ได้บวชได้เรียนหรือยัง” ถ้าได้บวชได้เรียนแล้ว เขาว่าเป็นคนสุก

คนสุกคือคนที่ศึกษาธรรมะ คนที่ศึกษาธรรมะเห็นไหม “บัณฑิต” บัณฑิตคือได้ศึกษา บัณฑิตมีสติ มีปัญญา คนเป็นบัณฑิตรู้จักหลบจักหลีก สิ่งใดเป็นขวากเป็นหนามในชีวิต แต่ถ้าเป็นคนดิบเห็นไหม มันชนดะนะ มันชนไปเลย สิ่งใดเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์กับชีวิต ประกอบสัมมาอาชีวะเป็นผู้นำครอบครัวก็กลัวจะพาครอบครัวนั้นไปไม่รอด

ถ้าได้บวชได้เรียนมาแล้วเห็นไหม คารวะหก ทิศทั้ง ๖ เห็นไหมมีครูบาอาจารย์ มีพ่อมีแม่ มีเพื่อน มีหมู่คณะเห็นไหม “บริหารทิศ” เห็นไหม มีบ่าวมีไพร่ มีคนใช้ต่างๆ เราบริหารเขาอย่างไร นี่ไง ถ้าพูดถึงว่าเป็นบัณฑิต บัณฑิตคือได้ศึกษา ได้บวชได้เรียน แล้วออกมาเป็นบัณฑิต เป็นคนสุก

เป็นคนสุกแล้วสุกที่ไหน เวลาเราบวชมาแล้วเห็นไหม ถ้าบวชมาแล้วเป็นพระเป็นเจ้า เขาก็ศึกษาตามตำรากัน ศึกษาตามตำรานั่นมันก็เป็นแบบแผนว่าชีวิตต้องเป็นแบบนี้

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ เกิดมาแล้วตั้งแต่สวนลุมพินี ไปตรัสรู้ที่ในเนรัญชรา มันก็เป็นการท่องจำ เป็นนกแก้วนกขุนทอง ถ้าเราไม่เอาไปใช้กับชีวิตประจำวัน มันจะเป็นประโยชน์อะไรล่ะ

ถ้าเราเอาไปใช้กับชีวิตประจำวัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดขึ้นมาแล้วเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ออกรื้อค้นโมกขธรรม ตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้ว สิ่งนี้ตรัสรู้ธรรม ตรัสรู้ธรรมอย่างไร ดัดแปลงตนอย่างไร

ถ้าเรามีสติมีปัญญา เราใคร่ครวญของเรา เราจะเป็นนักรบ ! นักรบเพราะอะไร เพราะมันรู้มันเห็นไง มันรู้มันเห็นว่าเราจะรบกับใคร เราจะรบกับกิเลสตัณหาของเรานะ เวลาบวชเรียนมาแล้ว เราศึกษาของเรา เราจะรบกับกิเลสของเรานะ เราชนะตัวเราให้ได้ เราจะควบคุมอารมณ์ความรู้สึกของเราให้ได้ เราจะควบคุมจิตใจเราให้ได้ เห็นไหม เพราะจิตใจเรามันเป็นพลังงาน เป็นปฏิสนธิจิต มันเป็นคุณสมบัติของเรา มันเป็นจิตวิญญาณของเรา

แต่มันมีอวิชชา มันมีกิเลสตัณหาความทะยานอยากอยู่ มันถึงได้เวียนตายเวียนเกิดอยู่อย่างนี้ พอเวียนตายเวียนเกิดอย่างนี้ เวียนตายเวียนเกิดโดยบุญกุศล บุญกุศลก็เกิดเป็นมนุษย์พบพุทธศาสนา พุทธศาสนา ! เราเห็นภัยในวัฏสงสาร ถ้าเกิดมาในพุทธศาสนาเราก็ทำคุณงามความดีกัน ทำประโยชน์กัน มันเป็นบุญอำนาจวาสนา มันเป็นบุญกุศล มันก็เกิดดีเกิดชั่ว เกิดตามวัฏฏะนั้นไป

แต่เราเป็นนักรบเห็นไหม เราเป็นนักรบ เราบวช เราเรียนมา เราจะศึกษาขึ้นมา จะเห็น จะต่อสู้กับอวิชชา ไอ้ที่เราจะไปศึกษาไปเล่าเรียนมันเป็นชื่อทั้งนั้น เป็นชื่อเป็นเสียง เป็นการศึกษากันมา เราว่าเป็นบัณฑิตๆ บัณฑิตพกแต่ตำรามาทั้งนั้นเลยเห็นไหม พกมาแต่ตำรามาเลย

เวลาสึกไป แล้วไปเป็นหัวหน้าครอบครัว ไปไหนก็มีแต่วิชาการ แห้งผากในครัวเรือนนะ ครัวเรือนเราต้องมีปัจจัยเครื่องอาศัย ต้องมีเงินมีทองเพื่อจะหล่อเลี้ยงครอบครัวของเรา

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราปฏิบัติขึ้นมา เรามีอะไรเป็นผลประโยชน์กับเราบ้างล่ะ ถ้าเรามีแต่ตำราเห็นไหม บวชแล้วเราเป็นนักปราชญ์ ไปอยู่ที่ไหนมีแต่คนนับหน้าถือตานะ แต่ในหัวใจเราแห้งผาก ในครัวเราไม่มีปัจจัยเครื่องอาศัย เราจะอยู่ได้อย่างไรล่ะ

นี่ก็เหมือนกัน เวลามาบวชแล้ว มาศึกษาตามตำรา ศึกษามันก็เป็นทฤษฎี เป็นนักปราชญ์ “ปราศจาก” คือไม่มีอะไรเหลือเลย เป็นนักปราชญ์ที่เขามีวุฒิภาวะในหัวใจมันอีกเรื่องหนึ่งนะ

นี่...นักรบ ! สิ่งที่เป็นนักรบ ถ้าเขามีสติ มีศีล สมาธิ ปัญญา เกิดขึ้นมากับจิตของเรา จิตของเรามันมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา นี่ไง...ในครอบครัวของเรามีแก้วแหวนเงินทอง มีทรัพย์สมบัติไว้ใช้สอย

ในจิตใจของเรามีสมาธิ มีความร่มเย็นเป็นสุขในหัวใจของเรา สิ่งที่มันเกิดขึ้นมา ความร่มเย็นเป็นสุขของเรา มันจะนั่งเฉยๆ แล้วก็เสวยสุข มันจะนั่งเฉยๆ แล้วก็มีความสุข มีความสุขนะ มันไม่ใช่วิ่งไปหาคนโน้น วิ่งไปหาคนนี้ แล้วก็พากันเดือดร้อนกันไปหมด ไอ้นั่นมันความสุขของใคร ความสุขไง ความสุขกับความไม่พอดี ความพอดีของเรานะ ความพอดีน่ะมันความพอดีของใคร ความพอดีของเด็กมันได้กินนมแล้วก็นอน นั่นล่ะความดีของมัน

แต่ความดีของเด็กอายุซัก ๗ – ๘ ขวบขึ้นมา ความดีของเขา เขาเริ่มแสวงหา เขามีการศึกษานั่นคือความพอดีของเขา เขาต้องมีครูมีอาจารย์ของเขา เขาต้องฝึกวิชาชีพของเขา

ความดีของคนหนุ่มคนสาว ความดีของเขาคือ หน้าที่ อาชีพการงานของเขา ก็เพื่อเป็นที่พึ่งอาศัยในครอบครัว เป็นเสาหลักของครอบครัว

ความดีของพ่อของแม่ จะเลี้ยงลูกเลี้ยงหลานอย่างไร ให้ลูกหลานของเรามันไม่ให้เป็นภาระของสังคม ให้เป็นคนดิบคนดี ให้มันมีจิตใจเป็นสาธารณะ

ความดีของปู่ย่าตายาย เป็นคลังความรู้ ผู้เฒ่าผู้แก่ ปู่ย่าตายายในครอบครัวเห็นไหมประสบการณ์ชีวิต เขาจะคอยอบรมสั่งสอนลูกหลานของเราให้มีสติปัญญา เพราะว่าประสบการณ์ของคน คนมันมีประสบการณ์ยังมีไม่ถึงนั้น มันก็คิดโดยความเห็นของตัว

ความพอดีของใคร ความดีตามอายุขัย วัยวุฒิ ความดีของเขาก็แตกต่างกันแล้ว ความดีของเด็กเล็กเห็นไหม มันกินอิ่มมันนอนอุ่น มันมีความสงบสุขร่มเย็นของมัน ความดีของเด็กวัยรุ่น เขาก็ต้องมีการหนวกหูๆในบ้าน ความดีของผู้เฒ่าผู้แก่ก็อยากมีความร่มเย็นเป็นสุข อยากสงบเงียบ นี่มันขัดแย้งกันไปหมด

หัวใจของเราก็เหมือนกัน หัวใจของเรา เราปรารถนาสิ่งใด ความดีของเรา เราปรารถนานะ มีครูบาอาจารย์เห็นไหม เวลาในหมู่คณะ เขาจะถือหนังสือไว้เล่มหนึ่ง เวลาเข้ามาใกล้เขาจะเปิดหนังสือเลย เขาบอกว่า เป็นการบอกกล่าวว่า “อย่าเข้ามา ! ฉันดูหนังสืออยู่” เขาต้องการความสงัดนะ เขาไม่ต้องการให้คนไปจุ้นจ้านกับเขา

แต่ในเมื่อวิสาสะของมนุษย์ใช่ไหม สังคมมนุษย์ก็คิดว่าเราวิสาสะ เป็นเพื่อนกัน เราจะเข้าไปหาใครก็ได้โดยความสะดวกสบายของเรา เขาจะมีหนังสือไว้เล่มหนึ่ง เวลาเห็นพระเดินมาเขาจะเปิดหนังสือเลย ว่าเรากำลังอ่านหนังสืออยู่ นี่ไง..ความพอดีของคนไม่เหมือนกัน

ความพอดีของคนอื่น เขาต้องการความสงบสงัด ในเมื่อเขาห้ามไม่ได้ เขาก็ต้องใช้กิริยาของเขาเป็นการห้าม แต่คนที่เขาไม่เข้าใจ เขาก็ถือวิสาสะเข้าไป ด้วยความปัญญาทราม ปัญญาไม่มี ไม่มีสติปัญญา ไม่มีความพอดี นี่ไง แล้วทุกคนก็ว่าเป็นความพอดีของเราทั้งนั้น

มัชฌิมาปฏิปทา ความเศรษฐกิจพอเพียง ความพอดีทั้งหมด แต่ความพอดีของใคร วุฒิภาวะมันก็แตกต่างเห็นไหม แล้วความพอดีของจิต ถ้าจิตของเรามันหยาบ จิตของเราละเอียด คนหยาบ ! คนหยาบมันจะไม่รู้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์เลย

เหมือนคนเห็นไหม ดูสิ เราไม่เป็นโรคเป็นภัยนะ เราอยู่สุขสบายนะ คนที่เขามีโรคประจำตัวเขาต้องระวังตัวเขา นี่เป็นภูมิแพ้ อากาศเปลี่ยนแปลง จามฟุดฟิดๆ เลย ถ้าเป็นโรคภูมิแพ้ อะไรไม่ได้เลยนะ

ความพอดีของเขา เขาไม่พอดีเหมือนเรานะ ไอ้เรานี่คนแข็งแรงนะ แหม...ปึ๋งปั๋งไปหมด ที่ไหนก็ แหม..สุขสบายไปหมด นี่ความพอดีของเรา แต่ความพอดีของคนที่มีโรคภูมิแพ้ ความพอดีของคนที่เขามีโรคประจำตัวของเขา เขาพอดีไม่ได้อย่างกับเรานะ

ถ้าเขาพอดีไม่ได้อย่างเราเห็นไหม สมัยครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า สมัยอยู่กับหลวงปู่มั่น พระที่อยู่ด้วยกัน เขาจะรู้จริตนิสัย เขาจะรู้ถึงความพอดีอันนี้เลย

ใครกินอาหารอะไรได้หรือไม่ได้ อย่าเอาไปให้เขา เราจะเอาแต่สิ่งที่ถูกกับธาตุขันธ์เขาไปให้เขา เวลาเขาฉัน เขากินของเขาแล้ว เขาจะได้ภาวนาของเขาด้วยความสุขสบาย ถ้าฉันเข้าไปแล้ว กินเข้าไปแล้ว ถ้ามันไม่ตรงกับธาตุขันธ์นะ มันเกิดเจ็บไข้ได้ป่วยเห็นไหม มันบวม มันเจ็บ

นี่สิ่งมันเป็นไปเห็นไหม แล้วอยู่ด้วยกัน เขาจะมีความรักกัน ความผูกพันกัน อะไรเป็นความสมควรหรือไม่สมควร เขาจะช่วยเหลือเจือจานกัน เขาจะรู้ว่าคนนี้ควรจะเป็น... มีน้ำใจต่อกันว่าอย่างนั้นเลย

การมีน้ำใจต่อกัน การคิดเอื้ออาทรต่อกัน มันร่มเย็นเป็นสุขนะ แต่ถ้ามันไม่มีความคิดเอื้ออาทรต่อกัน ทื่อๆ เลย ถือว่า “ฉันมีความคิดอย่างนี้ ฉันมีความรู้สึกอย่างนี้ มันเป็นความพอดี ความรู้สึกของฉันนี่มันถูกต้อง”

มันเหมือนโจรนะ ! ดูสิโจร มหาโจรนี่นะ มันไปยิงเขาตายด้วยความเจ็บแค้นนะ มันยิงตายแล้วมันไม่สะใจ มันยิงศพนะ มันทำลายศพให้สะใจ นี่ความพอดีของมันไง มันทำเขาตายแล้วนะ มันยังไม่สะใจ มันต้องทำลายศพ ยิงแล้วสับให้เละเลย นี่ความดีของโจร เวลาโจรไพรความพอดีของเรามันสะใจเขา แล้วมาเป็นความอหังการในหัวใจเห็นไหม นี่จิตใจไม่เป็นสาธารณะ

ถ้าจิตใจเป็นสาธารณะนะ คำว่า “สาธารณะ” มันเปิดกว้าง ความเปิดกว้างของเรา ถ้าจิตใจเราเปิดกว้างเข้าไป มันจะทำประโยชน์กับเราได้

โลกนี้แสนกว้างขวาง โลกนี้ดูสิ อวกาศ ! เขาจะไปหาดาวเคราะห์ดวงใหม่ เพื่อเอามนุษย์ไปอยู่ดาวดวงใหม่ เพราะทรัพยากรของมนุษย์มันไม่พอใช้เห็นไหม เขาคิดจินตนาการกันไปถึงดาวเคราะห์นอกโลกโน่นนะ จักรวาลเขาคิดกันไป

จิตใจเขาหาที่พึ่งพาอาศัย ถ้าจิตใจกว้างขวาง โลกมันกว้างขวาง ถ้าจิตใจเราคับแคบนะ มันบีบหัวใจเราเอง เราไม่เข้าใจหรอก แต่ถ้าเราเปิดกว้างนะ เราเปิดกว้างเห็นไหม

สรรพสัตว์ ! เวลาเราสวดมนต์กัน “จงเป็นสุข เป็นสุขเถิด เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น จงเป็นสุข เป็นสุขเถิด.. จงเป็นสุข เป็นสุขเถิด.. จงเป็นสุข เป็นสุขเถิด” ให้เขามีความร่มเย็นเป็นสุขของเขา เขามีความร่มเย็นเป็นสุขของเขา แล้วเขาจะยืนตัวของเขาได้ เราก็ต้องการความร่มเย็นเป็นสุขเหมือนกัน

ถ้าเราต้องการความร่มเย็นเป็นสุขเหมือนกัน เราจะต้องรื้อค้นของเรา ความร่มเย็นเป็นสุขของเรา เราต้องแสวงหาของเรา อาหารถ้าใครไม่กิน คนนั้นก็ไม่ได้อาหารดำรงชีวิตของเขา

เราทำอาหาร เราทำไร่ไถนากันอยู่นี้ ก็เพื่ออาหารของเราเป็นอันดับแรก อันดับที่ ๒ เราใช้จ่าย ซื้อขาย เพื่อประโยชน์ในการแลกปัจจัยเครื่องอาศัยในการดำรงชีวิตของเรา

ชีวิตของคนแต่ละวิชาชีพต่างๆ กันไป เขาก็แลกสินค้ากันเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าในความสุขความทุกข์ของเราล่ะ มันพอใจเราไหมล่ะ เราพอใจไหม ดูสิ อาชีพของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เราก็ดูอาชีพของคนร่ำรวยนะ อาชีพของคนมีสุขสบาย มันคิดไปอย่างนั้นหมดนะ อาชีพนั้นก็ดี อาชีพนี้ก็ดี มันดูถูกอาชีพตัวเองเพราะอะไร เพราะอาชีพของตัวเอง ตัวเองเป็นคนสัมผัสใช่ไหม

ความทุกข์ ! เราก็เป็นคนที่เป็นทุกข์ เราคิดว่าคนอื่นจะมีความสุขนะ โอ้โฮ.. อาชีพอย่างนั้นมีความสุข ไม่มีอาชีพไหนมีความสุขเลย มันต้องรับผิดชอบทั้งนั้น ! ยิ่งเป็นผู้บริหาร ยิ่งเป็นเจ้าของกิจการใหญ่โต เขาเครียดมาก ! ความรับผิดชอบอันนั้นเขาต้องบริหารจัดการ

แต่โดยสังคมโลกเห็นไหม ว่าถ้ากิจการใหญ่โตขนาดไหน มันจะร่มเย็นเป็นสุข กิจการใหญ่โตขนาดไหนนะ ถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงของวัตถุดิบ เกิดการเปลี่ยนแปลงของกิจการต่างๆ แล้วปรับตัวไม่ทัน ! กิจการยิ่งใหญ่ยิ่งปรับตัวไม่ทัน พอปรับตัวไม่ทันนะ มันมีปัญหาไปหมด

เรื่องอย่างนี้มันเป็นเรื่องของกระแสเห็นไหม แล้วแต่กระแสที่มันจะเปลี่ยนแปลงไป นี่เป็นเรื่องของโลกนะ เป็นเรื่องของโลกเพราะอะไร เพราะเราอาศัยคนอื่น

แต่เป็นเรื่องของธรรมล่ะ ! เรื่องของธรรมนะ จะกิจการใหญ่โต กิจการเล็กน้อย กิจการอย่างไรก็แล้วแต่ ของของเราเห็นไหม ของของเราย่อมเป็นทุกข์ ทุกอย่างเป็นทุกข์เห็นไหม อันนี้ก็เหมือนกัน เวลาเดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนา ทุกคนเป็นทุกข์หมดล่ะ เพราะมันเป็นผลประโยชน์ของเราไง

การเดินจงกรม การนั่งสมาธิภาวนา มันเป็นผลของเรานะ เป็นผลของเราเพราะอะไร เพราะมันเป็นกิจการของเรา แล้วกิจการในหัวใจของเรา ถ้ากิจการอันนี้ เราไม่ต้องพึ่งพาอาศัยกระแสสังคม กระแสสังคมเห็นไหม ดูสิ ธุรกิจการตลาดทุกอย่าง เขาต้องอาศัยการซื้อขายแลกเปลี่ยน มันถึงเป็นประโยชน์ขึ้นมา

แต่เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราจะไปแคร์ใคร... องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทำขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสารีบุตรท่านยังไม่เชื่อเลย พระสารีบุตรไม่เชื่อธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พูดเวลาเทศนาว่าการ มีภิกษุไปฟ้ององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า

“พระสารีบุตร ! ไม่เชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า”

จนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเรียกมา “พระสารีบุตร ! เธอไม่เชื่อเราหรือ”

“ไม่เชื่อ ! เพราะความเชื่อแก้กิเลสไม่ได้ แต่เป็นความจริงในใจของพระสารีบุตรต่างหากล่ะ”

“เออ.. ถูกต้อง ! ถูกต้อง ! พระสารีบุตรพูดถูก”

นี่ถ้าเป็นความจริง เป็นความจริงอันเดียวกันไง ฉะนั้นเป็นความจริงอันเดียวกัน พระสารีบุตรก็เป็นธรรมของพระสารีบุตร องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์แต่ละองค์ ก็เป็นธรรมในหัวใจของพระอรหันต์แต่ละองค์

ในการประพฤติปฏิบัติของเราก็เหมือนกัน เราศึกษามาเป็นแค่คติตัวอย่างเท่านั้นครูบาอาจารย์เป็นแบบอย่างเห็นไหม

“กัสสปะ ! เธอก็อายุ ๘๐ เหมือนเรา ทำไมต้องถือธุดงควัตร ทำไมต้องถือผ้า ๓ ผืน ถือผ้าบังสุกุล เธอทำไปทำไม เธอเป็นพระอรหันต์แล้วทำไปทำไม”

“โอย...ข้ากระหม่อมถือไว้เพื่อเป็นคติแบบอย่างของอนุชนรุ่นหลัง ต่อไปภายภาคหน้าเขาจะได้เอาไปเป็นแบบอย่าง”

เห็นไหมครูบาอาจารย์ของเรา เป็นคติ เป็นแบบอย่างเราเท่านั้นนะ ความเป็นจริงหรือไม่เป็นจริง มันเกิดจากการกระทำของเราทั้งนั้นนะ สมบัติของครูบาอาจารย์ก็ สาธุ ! ถ้าเราไม่เคารพครูบาอาจารย์ ไม่เคารพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรามาบวชกันทำไม

เราจะคิดนอกกรอบอย่างไรก็ได้ เราจะใช้ชีวิตเป็นนักบวช เป็นฤๅษีชีไพร เราจะอยู่ถ้ำไหน อยู่สังคมไหน เราจะประพฤติปฏิบัติของเราก็ได้ ทำไมเรามาบวชเป็นพระเป็นเจ้าขึ้นมา เพราะอะไรล่ะ เพราะเราเป็นศากยบุตรพุทธชิโนรสใช่ไหม เรามีพ่อมีแม่ เรามีครูบาอาจารย์ เรามีคติ มีแบบอย่าง มีรูปแบบที่เราจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราถึงได้บวชได้เรียนขึ้นมา คติตัวอย่างของครูบาอาจารย์ เป็นคติตัวอย่างของเรา

แต่ในการเป็นแบบอย่างของเรา ในการประพฤติปฏิบัติของเรา มันทำขึ้นมาจากความจริงใจของเรา ถ้ามันเกิดความจริงใจของเรา เราตั้งสติของเรา เราทำของเราขึ้นมา การศึกษาขนาดไหน ก็เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การกระทำขนาดไหน ทฤษฎีคือทฤษฎี ความจริงเกิดขึ้นมาไม่ได้ ถ้าความจริงเกิดขึ้นไม่ได้ นี่ไง ถึงว่าปริยัติ ! ปฏิบัติ !

ครูบาอาจารย์ของเรา หลวงปู่มั่น เวลาท่านศึกษากับเจ้าคุณอุบาลี เจ้าคุณอุบาลีเป็นผู้วางรากฐานการศึกษานะ ผู้ที่วางรากฐานของการศึกษา วางตั้งแต่สมเด็จสมณะเจ้า แล้ววางรากฐานการศึกษาในสังคมไทยมา เป็นผู้ที่วางรากฐานการศึกษาทั้งทางโลกและทางธรรม

ทางโลก ! ทางโลกของการศึกษา ตั้งแต่สมัยพระปิยะฯเห็นไหม มีการศึกษาตั้งแต่ลูกเจ้าขุนมูลนาย แล้วก็เห็นเวลาไปประพาสยุโรปกลับมาเมืองไทย ชาติยุโรปเขาเจริญ เพราะการศึกษา ถึงได้วางรากฐานการศึกษาเห็นไหม

วัดวาให้วางการศึกษามา ให้ประชาชนชาวไทยได้มีการศึกษา พอมีการศึกษาขึ้นมา เพื่อให้ได้มีความฉลาด มีความรอบรู้ มีความรอบรู้เห็นไหม พอวางการศึกษา วางการศึกษาจากพระ วางการศึกษาจากวัด แล้ววางการศึกษาจากประชาบาล วางการศึกษามา ผู้นำวางการศึกษามา

สมเด็จสมณะเจ้า เจ้าคุณอุบาลีต่างๆ เป็นผู้วางรากฐานการศึกษา หลวงปู่มั่นกับเจ้าคุณอุบาลี ท่านเป็นหมู่คณะกัน ท่านนับถือกันเป็นครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ในทฤษฎีในการศึกษา หลวงปู่มั่นท่านประพฤติปฏิบัติขนาดไหน แล้วสิ่งใดที่มันมีความขัดข้อง เพราะเวลาปฏิบัติไปมันมีความขัดข้องเป็นเรื่องธรรมดา

พอเป็นธรรมดา จะปรึกษาใคร.. จะปรึกษาใคร.. ก็ปรึกษาท่านเจ้าคุณฯ เพราะเป็นนักวิชาการ เป็นนักการศึกษา เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านว่าไว้อย่างไร ท่านมีความรู้สึกอย่างไร เรานิยาม ตีความธรรมะกันอย่างไร แล้วการศึกษาที่เป็นการปฏิบัติขึ้นมา มันเป็นความจริงขึ้นมาไหม มันพิสูจน์ตรวจสอบกันมา พอพิสูจน์ตรวจสอบกันมาเห็นไหม

การปฏิบัติ.. มันปฏิบัติขึ้นมาจากเราทั้งนั้นนะ พอปฏิบัติขึ้นมาจากมัน มันจะเกิดความสมดุล ความพอดีขึ้นมาได้อย่างไร ความพอดีปฏิบัติมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้เองโดยชอบ

แต่ว่าหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ท่านมีตำรับตำราขึ้นมา ตำรับตำรามันเป็นปริยัติ แล้วปริยัติถ้าเราไปเกาะปริยัติไว้ เรามาไม่ได้ เราไปไม่ได้ เพราะมันไม่กล้าตัดสินใจสิ่งใด

ดูสิ เวลาคนทำงาน เวลาเกิดเหตุการณ์ขึ้นมาไม่กล้าตัดสินใจ ก็ต้องไปหาเจ้านาย แล้วให้เซ็นลงมาว่าจะเอาอย่างไร ให้เจ้านายรับรองมาว่าจะทำอย่างไร นี่มันตัดสินใจไม่ได้ เพราะเราไม่มีอำนาจ เพราะเราตัดสินใจไปแล้ว ถ้ามันเกิดผิดพลาดขึ้นมา เรามีความเสียหาย เรารับความเสียหายสิ่งนั้นไม่ได้

แต่ในการประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ความเสียหายมันขนาดไหนล่ะ เวลาจิตใจประพฤติปฏิบัติขึ้นมา แล้วจิตเป็นสมาธิขึ้นมา จิตเป็นปัญญาขึ้นมา ถ้าตัดสินผิดพลาดไป ความเสียหายมันอยู่ที่ไหนล่ะ

ความเสียหายมันก็คือความล้มเหลว ความล้มเหลวๆ ด้วยอะไร ล้มเหลวด้วยนามธรรมไง ล้มเหลวด้วยหัวใจที่มันไม่มีสิ่งใดเป็นผลประโยชน์ตอบแทนขึ้นมา แต่ถ้ามันเป็นความตัดสินใจ การใช้ปัญญาที่ถูกต้องขึ้นมาเห็นไหม มันเกิดผลนะ จิตเป็นสมาธิขึ้นมา ถ้าคนไม่เกิดเป็นสมาธิ แล้วเป็นสมาธิขึ้นมา มันเกิดความมหัศจรรย์ คนไม่เคยรู้ไม่เคยเห็นแล้วเห็นขึ้นมา มันเป็นความแปลกประหลาดมหัศจรรย์ !

แต่ของเรา เราศึกษามา.. ศึกษามา แล้วเรายึดขึ้นมา ปริยัติกับปฏิบัติจะเอาให้มันผูกพันกัน มันเป็นไปไม่ได้หรอก ! ปริยัติคือปริยัติ !

เวลาปฏิบัติเกิดขึ้นมา มันเป็นความจริงขึ้นมา เห็นไหม ดูสิ..น้ำ ! เวลาเกิดภัยแล้งเห็นไหม เขามีภาชนะใส่น้ำ แต่เขาไม่มีน้ำ เขาเรียกร้องหาน้ำนะ เวลาภาชนะของเรามีน้ำ แล้วภาชนะที่มีน้ำและไม่มีน้ำแตกต่างกันอย่างไร

เวลาภาชนะที่มีน้ำขึ้นมา มันใช้ประโยชน์กับสัมมาอาชีวะ มันใช้ประโยชน์กับชีวิตทางโลก แล้วมันยังหล่อเลี้ยงภาชนะนั้นไม่ให้แตก ไม่ให้เสียหายอีกด้วย

แต่ภาชนะไหนที่มันไม่มีน้ำ มันจะหล่อเลี้ยงให้ใครได้ มันไม่มีน้ำในภาชนะนั้น มันก็แตกร้าวในตัวมันเอง ภาชนะมันก็แตกร้าวของมัน เพราะว่ามันไม่มีน้ำเป็นความชุ่มชื้นของมัน มันก็แตกร้าวในตัวมันเองอยู่แล้ว แล้วมันก็เป็นประโยชน์กับคนอื่นไม่ได้อีกเห็นไหม

นี่เหมือนกัน ถ้าเราปฏิบัติขึ้นมา.. ปฏิบัติขึ้นมา มันมีหรือไม่มีขึ้นมา มันเป็นของมันขึ้นมา ถ้าจิตมันเป็นของมันขึ้นมาเห็นไหม นี่ปฏิบัติ !

คำว่า “ปฏิบัติ” อย่าละล้าละลัง น้ำกับไม่มีน้ำ ถ้าศึกษาขึ้นมามันก็ศึกษา มันมีน้ำขึ้นมาไม่ได้หรอก เราศึกษาขึ้นมา เราศึกษาแต่ชื่อของมัน น้ำ ! น้ำ ! น้ำ ! น. หนู สระอำ ไม้โท น้ำ ! น้ำ ! น้ำ ! น้ำ ! แต่มันไม่มีตัวน้ำจริงขึ้นมาเลย

แต่เราปฏิบัติขึ้นมา เวลาเราร่มเย็นเป็นสุขขึ้นมานะ คนที่เขาไม่เป็นสมาธิแล้วเป็นสมาธิมันแตกต่างอย่างนี้แหละ แตกต่างขึ้นมาจากไม่เคยเห็นน้ำ แล้วเราไปจับต้องสภาวะของน้ำ ของเหลว แล้วมันดำรงชีวิตนี่ มันตื่นเต้นมาก ความตื่นเต้นอันนั้นเห็นไหม นี่สันทิฏฐิโก ! นี่มันเป็นความจริง !

ความจริงมันเกิดขึ้นมาจากที่นี่ ความจริงเกิดขึ้นมาจากการประพฤติปฏิบัติ ความจริงไม่ได้เกิดขึ้นจากความเป็นไปของตัว ความจริงมันเกิดจากที่นี่ ! ถ้าเกิดจากที่นี่ขึ้นมาแล้วนะ ให้ความจริงมันเกิดขึ้นมา ถ้าความจริงมันเกิดขึ้นมา มันเป็นความจริงของเรา ถ้าเป็นความจริงของเราเห็นไหม ความจริงมันก็เป็นความจริง แต่ความไม่จริงของมันก็คือความไม่จริงของมัน นี่ความไม่จริงเห็นไหม

“ความพอดี” ถ้าจิตมันพอดีขึ้นมานะ มันเป็นมัชฌิมาปฏิปทา มัชฌิมาปฏิปทาของใคร โอ้..มัชฌิมาทั้งนั้นนะ แต่มัชฌิมาโดยความเห็นของตัวไง ทิฐิมานะของคนมันแตกต่างกันนะ พันธุกรรมทางจิต จิตของคนมีความนึกคิดแตกต่างกันไป

แต่ความแตกต่างกันไป มันแตกต่าง มันเป็นเวรกรรมของจิตดวงนั้น จิตแต่ละดวงมันก็มีเวรมีกรรมของมัน ถ้าเวรกรรมของมัน ของใครก็ของมันนะ จิตมันมีเวรมีกรรมของมัน

แต่เวลาสัจธรรมล่ะ สัจธรรมจะมีเวรกรรมมากน้อยขนาดไหน ศีล สมาธิ ปัญญา มันต้องลงสู่ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าลงสู่ ศีล สมาธิ ปัญญา มันเข้าสู่อริยสัจ !

แต่มันไม่เข้าสู่อริยสัจ มันเข้าสู่สภาวะความต้องการของตัว ถ้าสภาวะความต้องการของตัว เราต้องการสิ่งใดล่ะ ทุกคนก็ต้องการความสะดวกสบายของตัวใช่ไหม นี่ความพอดีของกิเลสไง

เวลากิเลสมันพอดีของมันนะ แล้วมันก็ยึดมั่นถือมั่นของมันใช่ไหม แล้วอะไรเปรียบเทียบว่าเป็นความพอดีหรือเป็นความไม่พอดี ถ้าเป็นความพอดี ศีล สมาธิ ปัญญาเห็นไหม

คนเราถือศีล ๕ มันเป็นการวัดคน ว่าศีลบริสุทธิ์หรือเปล่า แล้วก็มุสา ความโกหกมดเท็จ พูดซ้ำซาก โกหกซ้ำซาก แล้วบอกเป็นคนมีศีล มันเป็นไปได้อย่างไร ถ้าคนที่มีศีลขึ้นมาเห็นไหม มันจะไม่มุสา มันจะพูดตามสัจจะ

นี่สัจ ถ้ามีสัจเห็นไหม เริ่มต้นตั้งแต่มีสัจ ตั้งแต่เริ่มต้นเจตนา พอเจตนาก็เป็นสัจขึ้นมา สัจจะมันเกิดจากเจตนาขึ้นมา พูดออกไป พอพูดออกไป มันเป็นการรับรองกัน แล้ว เป็นการสัญญากันแล้ว แล้วมีทำต่อไปข้างหน้า มันทำตามนั้น ทำตามสัจนั้น

แต่ถ้าเราเริ่มต้นขึ้นมา สัจจะ.. เราเริ่มต้นตั้งแต่เจตนา แต่เวลากระทำก็ไปอีกอย่างหนึ่ง เวลากระทำก็คิดไปอีกอย่างหนึ่ง ทำไปอย่างหนึ่ง ทุกอย่างเป็นอย่างหนึ่งเห็นไหม มันผิดแล้ว มันผิดจากมุสา มันไม่มีสัจในตัวมันเองเห็นไหม

ไม่มีสัจในตัวเอง มันจะเกิดความดีขึ้นมาได้ไหม ความดีมันจะเกิดมาจากไหน ในเมื่อมันก็เหลวแหลกมาตั้งแต่ต้น มันก็เหลวแหลกมาตั้งแต่จิตดวงนั้น จิตดวงนั้นไม่มีสัจจะเลย เหมือนกับอวกาศเห็นไหม เขายิงออกไปในอวกาศ ถ้ามันผิดพิกัดของเขา มันจะออกจากแรงโน้มถ่วงของโลกไปไม่ได้ เป็นไปไม่ได้หรอก ! มันตกมาสู่โลกหมด

นี่ก็เหมือนกัน เราตั้งสัจจะ แล้วเรามีการกระทำ มันจะมีการกระทำมาจากไหนล่ะ มันก็ลงสู่กิเลสตัณหาความทะยานอยากของมันตลอดไป นี่พูดถึงความเป็นไปของจิตนะ ถ้าจิตมันเป็นความพอดี เป็นความพอดีของใคร ถ้าเป็นความพอดีของธรรมเห็นไหม มันสม่ำเสมอ ! มันมีความเริ่มต้น มันเกิดสัจจะจากเรา เราทำสิ่งใดออกไป ถ้ามันเกิดสัจจะจากเรา เกิดจากสมุฏฐาน เกิดจากต้นเหตุ

ถ้าต้นเหตุมันตรงนะ การกระทำออกไป มันทำออกไปเป็นขั้นตอนของมัน มันก็เสมอภาคของมัน มันก็จะส่งตรงสู่ความจริงของมัน ถ้ามันส่งตรงสู่ความจริงของมันเห็นไหม นี่ไง ปริยัติ.. ปฏิบัติ..

ความพอดีของใคร... ความพอดีของใจ ใจที่มันเป็นธรรมขึ้นมา มันจะมีความพอดีของมัน มันจะเป็นความจริงของมันขึ้นมา ถ้าใจมันเป็นความจริงของมันขึ้นมา มันเป็นประโยชน์กับใจดวงนั้น ใจที่เป็นสาธารณะนะ ใจที่มันเป็นบุคคลเห็นไหม บุคคลที่ใจไม่คับแคบ บุคคลที่ใจเป็นธรรม

บุคคลที่ใจเป็นธรรม มันจะเป็นธรรมของมันเห็นไหม แล้วสังคมร่มเย็นเป็นสุขเพราะผู้ที่มีจิตใจเป็นสาธารณะ เราเป็นผู้มีจิตใจที่เป็นสาธารณะนะ เราถึงมาบวชเป็นหมู่สงฆ์ หมู่สงฆ์เพราะอะไร หมู่สงฆ์เพราะเราบวชมาเป็นวัดอาราม เป็นที่อยู่ของผู้ทรงศีล ภิกษุไม่มีบ้านไม่มีเรือน คนที่มีบ้านมีเรือนไม่ใช่ภิกษุ ภิกษุไม่มีบ้านเรือน ภิกษุอยู่ในอาราม แล้วบวชเป็นพระเป็นสงฆ์

เราเป็นบุคคลสาธารณะ เพราะอะไร เพราะเรามีสิทธิตามกฎหมาย ไม่ต้องเสียภาษี ไม่ต้องทำสิ่งที่กฎหมายเขาบังคับทางโลกเห็นไหม เขายกเว้นไว้ เพราะว่าเป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส เป็นผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร

เราเป็นบุคคลสาธารณะ กฎหมายเขายกย่องให้เป็นบุคคลสาธารณะ ถ้าบุคคลสาธารณะ แล้วจิตใจเป็นสาธารณะหรือไม่ ถ้าจิตใจเป็นสาธารณะเห็นไหม นี่ไง เป็นบัณฑิต นี่ตบะธรรม ! ตบะธรรมมันจะแผดเผาให้บุคคลที่เป็นสาธารณะ ด้วยสมมุติ ด้วยทางโลก

ถ้าจิตใจมันเป็นสาธารณะขึ้นมาจากธรรมล่ะ จิตใจที่เป็นสาธารณะเห็นไหม จิตใจไม่เป็นของบุคคล ถ้าเป็นบุคคลมันมีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันจะยึดมั่นถือมั่นของมัน มันจะเป็นปุถุชน มันจะไม่เป็นกัลยาณปุถุชน มันไม่ยกขึ้นโสดาปัตติมรรค มันไม่เข้าสู่สัจธรรม

ถ้าเข้าสู่สัจธรรมเห็นไหม นี่อริยสัจ ! อริยสัจ ! สิ่งที่เป็นอริยสัจจะเกิดมา เพราะจิตนี้กลั่นออกมาจากอริยสัจ มันเป็นผลตอบสนองกลับมาจากใจดวงนั้น ถ้าใจดวงนั้นมันมีผลของมันขึ้นมา นี่ความพอดีของโลก ความพอดีของโลกเห็นไหม มันมีผลตอบแทนตอบสนอง

ความพอดีของธรรมล่ะ ถ้าธรรมมันไม่มีความพอดีของมัน ถ้าจิตใจมันไม่เป็นสาธารณะ มันจะเอาความเป็นมัชฌิมามาจากไหน

มันมีความยึดมั่นถือมั่นของมัน ยึดมั่นถือมั่น.. ยึดมั่นในภพไง ยึดมั่นมาสู่กิเลสไง ยึดมั่นมาสู่ความเป็นตัวตนของมันเห็นไหม ถ้าความเป็นตัวตนของมัน เอาตัวตนนี้เหยียบย่ำเข้าไป ถ้ามันเหยียบย่ำเข้าไป มันจะเป็นประโยชน์อะไรกับเราล่ะ มันไม่เป็นประโยชน์อะไรกับเรา

ถ้ามันจะเป็นประโยชน์กับเราเห็นไหม บุคคลสาธารณะ ! มันก็ต้องมีที่อยู่เป็นสาธารณะ ในเมื่อมีที่อยู่เป็นสาธารณะ ครูบาอาจารย์ของเราท่านถึงวางข้อวัตรปฏิบัติไว้ เพราะอะไร เพราะบุคคลอยู่ด้วยกัน

ดูสิ ดูกองทหาร เขาต้องมีผู้ดูแลของเขา เพื่อให้กองทหารนั้นให้เป็นกองทหาร ถ้าไม่มีผู้ดูแล มันก็เป็นกองโจร กองโจรที่ติดอาวุธ มันปล้นฆ่าทำลายเขาได้มหาศาลเลย

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราเป็นนักพรต นักบวชนะ ถ้ามีธรรมวินัยในหัวใจของเรานะ เป็นบุคคลที่เป็นสาธารณะให้บุคคลเขากราบไหว้บูชา เขากราบไหว้บูชาเพราะอะไร เพราะเป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส

ธงชัยพระอรหันต์ ! เราห่มอะไรกันอยู่นี้ ศากยบุตร ! เราห่มผ้ากาสาวพัตร์ผ้ากาสาวพัตร์เป็นธงชัยของพระอรหันต์ แล้วเราห่มมาทำไม

ดูสิ หลวงตาท่านบอกเห็นไหม ผ้าขี้ริ้วห่อทอง ! ผ้าทองห่อขี้ ! ผ้าขี้ริ้วห่อทองเห็นไหม ผ้าขี้ริ้วเห็นไหม ผ้ากาสาวพัตร์เป็นสิ่งที่เราเก็บผ้าบังสุกุลมา มาตัดมาเย็บมาย้อมของเรา ของเขาทิ้ง นี่ผ้าขี้ริ้วห่อทอง !

จิตใจของเรามันเป็นสาธารณะ จิตใจของเราเป็นผู้ที่เสียสละ จิตใจของเรามันอาศัยธาตุ ๔ นี้อยู่ดำรงชีวิตไปเท่านั้นนะ ถ้าจิตใจมันพัฒนาขึ้นมาแล้ว มันจะทิ้งหมด แต่มันจะทิ้งได้อย่างไร เพราะเราเกิดมาเป็นบุคคลใช่ไหม เราเกิดมาเป็นมนุษย์ใช่ไหม เราต้องมีปัจจัยเครื่องอาศัยเพื่อดำรงชีวิตนี้ไป

แล้วประพฤติปฏิบัติขึ้นมา จิตใจมันอาศัยธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ อยู่ แล้วธาตุ ๔ นี้มันต้องอาศัยปัจจัยเครื่องนุ่งห่ม เพื่อกันเหลือบ กันยุง กันร้อน กันหนาว กันความละอาย รักษาธาตุขันธ์นี้ให้มันดำรงชีวิตนี้ไป นี่ผ้าขี้ริ้วห่อทอง !

ผ้าทองห่อขี้ ! ผ้าทองห่อขี้เห็นไหม ผ้ากาสาวพัตร์สิ่งที่เป็นธงชัยพระอรหันต์ อวดดิบอวดดี.. อวดดิบอวดดี นี่ผ้าทองห่อขี้ ! ห่อขี้ ! ผ้าไหม ผ้าทอง โอ๊ย...ผ้าแพรพัน ห่อขี้... ขี้โลภ ขี้โกรธ ขี้หลง

พอขี้โลภ ขี้โกรธ ขี้หลง ข้างในมันเป็นขี้ มันจะอยู่บนอะไรล่ะ มันอยู่บนธาตุ ๔ขันธ์ ๕ ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ มันก็เป็นขี้ไปด้วยเห็นไหม นี่ผ้าทองห่อขี้ !

แต่ถ้าผ้าขี้ริ้วห่อทอง เราผ้าขี้ริ้วห่อทอง โลกเขาดูเป็นสิ่งที่ไม่มีค่าสิ่งใดๆ เลย เป็นของเหลือทิ้ง ผ้าบังสุกุลห่อศพ เราดึงมาจากซากศพ เราไปซักของเรา เราทำความสะอาดของเรา เพราะเราอาศัยโลกนี้อยู่เท่านั้น

เราอาศัยอยู่กับเขาไป อาศัยอยู่เพราะว่ามันเกิดมามีชีวิตใช่ไหม มันเกิดมาเป็นมนุษย์ใช่ไหม มนุษย์เกิดมามีความศรัทธามีความเชื่อ บวชออกมาเป็นพระเป็นเจ้า บวชมาเพื่อเห็นภัยในวัฏสงสาร เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา จิตใจมันสละ มันทิ้งมาตั้งแต่ต้น พอทิ้งมาตั้งแต่ต้นเห็นไหม แล้วจิตใจมันเป็นธรรมไง

พอจิตใจเป็นธรรม โลกเขาอยู่กันอย่างนี้ โลกเขาเป็นไปอย่างนี้ เราจะอยู่กับเขาไปทำไม โลกมันก็หมุนเปลี่ยนแปลงไปอย่างนี้เอง พอเปลี่ยนไป ชีวิตเรามันทุกข์มันยากไหม ชีวิตเขาทุกข์เขายากของเขา เพราะเขาต้องดำรงชีวิต

เพราะเราเห็นความทุกข์ยากอย่างนั้น เราถึงได้มาบวชเป็นพระเป็นเจ้า เพื่อจะพ้นออกไป หาช่องทางออกจากวัฏฏะ เมื่อหาช่องทางออกจากวัฏฏะ เราประพฤติปฏิบัติของเรา จนหาช่องทางออกของเราได้

ถ้าหาช่องทางออกไม่ได้ ชีวิตนี้มันเหลือไว้ทำไม ! สิ่งที่เหลือไว้ เพราะจิตใจมันปล่อยวาง มันรู้เท่า มันปล่อยวางในตัวของมันเอง พอมันปล่อยวางตัวของมันเองนะ มันเห็นของมันเอง มันรู้เท่าของมันเอง แล้วสิ่งนี้โลกเขาไม่มี !

อาวุธนิวเคลียร์เห็นไหม ดูสิ พลังงานเพื่อสันติ เขาเอาพลังงานนั้นออกมาเพื่อมาใช้ประโยชน์กับโลก แต่ถ้ามันเป็นอาวุธนิวเคลียร์เพื่อเป็นการทำลายล้างกัน มันทำลายล้างโลก !

จิตใจของเราถ้ามันเป็นกิเลสตัณหาทะยานอยาก มันเป็นอาวุธทำลายล้างเขา ถ้าจิตใจของมันเป็นความสันติเห็นไหม พลังงานเพื่อความสันติ มันจะย้อนกลับมาเพื่อดูแลตัวมันเอง ย้อนกลับมาทำลายตัวมันเอง ย้อนกลับมาเพื่อความสะอาดบริสุทธิ์ของมันเอง

ถ้ามันสะอาดบริสุทธิ์ของมันเองเห็นไหม มันทำลายสิ่งนี้แล้ว อาวุธนิวเคลียร์นี้นะ ถ้าการเก็บรักษาไว้ไม่ดีมันจะทำลายโลก มันจะทำลายทุกสิ่งทุกอย่างไปหมดเลย

ธรรมะในหัวใจที่เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา โลกเขาไม่มี ! อาวุธนิวเคลียร์เวลาเขาจะทดสอบ เขาจะทดลองของเขา เขาต้องหาที่ปลอดคน เพื่อพิสูจน์ว่ามันทำงานได้จริงหรือไม่ได้จริง เวลาเราวิปัสสนาไปในหัวใจของเราขึ้นมา มันเกิดพลังงานของมัน มีการกระทำของมัน โลกนี้เขาไม่เห็น !โลกนี้เขาไม่รู้ !

ถ้าโลกนี้เขาไม่เห็นเขาไม่รู้ เอาสิ่งใดไปพูดให้เขาเข้าใจได้ล่ะ ในเมื่อพูดให้เขาเข้าใจไม่ได้ แต่ในความเป็นจริงของเรามันมีใช่ไหม ความพอดีของใคร ความพอดีของโลก เป็นความพอดีของเขา ความพอดีของนักปฏิบัติขึ้นมา เขาก็เห็นของเขา

ความพอดีของพระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี พระอรหันต์ ความพอดีของมรรคญาณ ความพอดีของความเป็นไปของจิต จิตมันมีการกระทำของมัน มันมีปัญญาของมันเห็นไหม มันทำลายอวิชชา ทำลายความเป็นไป นี่...พุทธศาสนานะ!

ความพอดีๆ มันพอดีของใคร ความพอดีมันต้องกลับมาอยู่ที่ใจของเรา มันมาดูใจเรานะ ไม่ใช่พอดีส่งออก ไม่ใช่พอดีกับทุกๆ คน ทุกๆ คนมันเป็นสิทธิของคนอื่นทั้งนั้น !

เราอยู่กับโลกเห็นไหม ดูสิ เวลาคนเขาอยู่ในทะเลทราย เขาอยู่ในที่กันดาร การดำรงชีวิตของเขา ชุดความเป็นอยู่ของเขา เขาต้องรักษาความอบอุ่น รักษาความชุ่มชื้นในหัวใจของเขา เขาไม่ให้ความชุ่มชื้นออกจากร่างกายของเขาไป เขาจะอยู่ในทะเลทรายไม่ได้เห็นไหม เวลาคนอยู่ในเมืองมันชุ่มชื้น ในความร้อนมันชุ่มชื้น เขาก็อยู่กันอีกแบบหนึ่ง

นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อหัวใจของเรามันอยู่ในระดับไหน หัวใจของเรามันมีความรับรู้อย่างไร มันจะรักษาตัวมันเอง รักษาความสมดุลของมัน ถ้ารักษาความสมดุลของมันนี่ความพอดี ! ความพอดีของแต่ละคน ความพอดีของแต่ละจิตใจ มันไม่เหมือนกัน

สิ่งที่ไม่เหมือนกันเห็นไหม ความไม่เหมือนกัน แต่เราอยู่ด้วยกันเห็นไหม ดูสิ ว่าหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ท่านดูแลรักษาลูกศิษย์ของท่านอย่างไร ลูกศิษย์ของท่าน ท่านดูแลของท่าน ให้รู้จักให้อภัยต่อกัน ให้รู้จักให้จุนเจือต่อกัน ให้รู้จัก! ให้รู้จัก !

แต่ถ้ามันไม่มี มันเป็นโจรนะ มันเหยียบย่ำ มันทำลายโอกาส การทำลายโอกาสนะ บรรยากาศของการภาวนา.. บรรยากาศของการภาวนามันจะไม่มีการกระทบกระทั่งกัน ยิ่งกระทบกระทั่งกันเท่าไรนะ มันจะทำให้จิตใจมันวอกแวกวอแว จิตใจมันจะลงได้ยาก แต่ถ้าจิตใจมันเห็นว่าสิ่งใดส่งเสริม ทุกอย่างส่งเสริมหมด จิตใจมันภาวนาได้ง่ายเห็นไหม

การภาวนานะ ไม่ใช่ว่าถึงเวลาก็หลับหูหลับตา พุทโธ พุทโธ จะภาวนากัน มันมีที่มาที่ไปนะ มีที่มาที่ไปทุกอย่าง เวลาเราเกิดมาเราเกิดมาจากไหน เวลาเกิดมาเกิดมาจากพ่อจากแม่ พ่อแม่เป็นสายบุญสายกรรม แต่จิตใจของเราเอง มันสร้างบุญ สร้างเวรกรรมมาขนาดไหน แล้วเวลาปฏิบัติเราจะเข้ามาชะล้างหัวใจของเราเอง

พ่อแม่ก็คือพ่อแม่ ญาติพี่น้องก็คือญาติพี่น้อง เราก็คือเรา ใจก็คือใจ ใจดีก็คือใจดี ใจชั่วก็คือใจชั่ว จิตมันก็คือจิต ธรรมมันก็คือธรรม กิเลสมันก็คือกิเลส มันเป็นเอกเทศทั้งหมด เพียงแต่เรามีสติปัญญามากพอไหม เรามีความรู้มากน้อยแค่ไหน แล้วพอศึกษาธรรมะกัน ก็ว่าศึกษาธรรมะกันโดยสัญญา โดยทางโลกๆ

โลกๆ ก็คือโลกๆ โลกเขาอยู่อย่างไรมันเรื่องของโลก เราบวชมาแล้วไง บวชมาศึกษามามากน้อยขนาดไหน เขาก็ต้องภาวนา จะทำบุญมามากน้อยขนาดไหน เขาก็ต้องกำหนดพุทโธ เขาก็ต้องมีคำบริกรรม เขาก็ต้องใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ใครจะพูดถูกพูดผิดอย่างไร มันเรื่องของบุคคลคนนั้น

แต่ถ้าเราทำความเป็นจริงแล้ว มันต้องลงสู่ความจริงเหมือนกัน ถ้าลงสู่ความจริงเหมือนกัน ของที่เป็นจริงเหมือนกัน มันต้องพิสูจน์กันได้ทั้งนั้น ฉะนั้นเราเข้ามาถึงนี่ เข้ามาถึงในวัตรปฏิบัติแล้ว ถ้าวัตรปฏิบัติแล้วมันเป็นส่วนยอด

ส่วนยอดคือ.. ดูสิ ดูภูเขาเห็นไหม ยอดภูเขาก็มีเท่านี้แหละ แต่ภูเขาทั้งลูกมันมาจากไหน มาจากฐาน มาจากตีนภูเขาเห็นไหม มันกว้างมาก นี่ก็เหมือนกัน เราขึ้นมาถึงนี่แล้ว เราเองต่างหากสั่นไหว ไปอยู่บนยอดเขาเจอลมเจอแดดเข้าไป กลัวไปหมดเลย กลัวไปหมดเพราะอะไร เพราะเราไม่จริง

แต่ถ้าเราเป็นจริงขึ้นมา เราจะไม่กลัวสิ่งใดเลย สิ่งใดที่เกิดขึ้นมา ทุกอย่างมันมีที่มาที่ไปทั้งนั้น มีที่มาที่ไปทั้งหมด ถ้ามีที่มาที่ไปทั้งหมดเห็นไหม เราแก้ไขสิ่งใดๆ ก็ได้ เรามีความรู้ของเรา เรามีความพอใจของเรา เราทำสิ่งใดได้หมดเลย นี่คือประโยชน์ของเรานะ

แต่ถ้าไม่เป็นประโยชน์ของเรา ทำของเราไม่ได้จริง มันก็จะไม่ได้จริงเห็นไหม ความพอดีเราจะคิดให้คนอื่นพอดีกับเรา ต้องให้คนอื่นทำก่อน ให้เป็นความพอดีของเรา เราจะขีดเส้นให้คนอื่นเป็นพอดีกับเรา ไม่มี ! ในโลกนี้ไม่มี !

ความพอดีของเขาคือความพอดีของเขา แล้วเขาเป็นเด็กหรือเป็นผู้ใหญ่ หรือเป็นอายุพรรษามากน้อยแค่ไหน เขาจะรู้ของเขา ยิ่งอายุพรรษามากเขายิ่งผ่านโลกมามาก เขาต้องรู้ว่าสิ่งใดควรหรือไม่ควรมากขึ้น ถ้าอายุพรรษามากแล้วยังทำสิ่งใดไม่สมควรอย่างใดเลย นั่นมันแก่เพราะกินข้าว เฒ่าเพราะอยู่นาน ไม่มีเชาว์ปัญญาสิ่งใดๆ ติดหัวมาเลย

ถ้ามีเชาว์ปัญญาติดหัวมา มันจะรู้ว่าอะไรควรและไม่ควร เด็กควรทำตัวอย่างไร ผู้ใหญ่ควรทำตัวอย่างไร ผู้เฒ่าผู้แก่ควรทำตัวอย่างไร ควรทำตัวอย่างไร ! แต่การหยอกการเล่นกันนี้ มันเป็นความเมตตาความรักความถนอม ความหยอกเล่นกันนั้นอีกเรื่องหนึ่ง

แต่ความรู้ของตัวเองต้องมี ! ว่าเราเป็นเด็ก เป็นผู้กลางคน เป็นผู้แก่ผู้เฒ่า เราควรทำตัวอย่างใด เพราะมันมีธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางบัญญัติไว้แล้ว เราปฏิบัติมา เราต้องรู้ของเรา ไม่ใช่แก่เพราะกินข้าว ! เฒ่าเพราะอยู่นาน ! เอวัง