เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๙ ต.ค. ๒๕๕๓

 

เทศน์เช้า วันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๕๓
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ความไม่รู้ ! นี่ความไม่รู้ เด็กไม่รู้เรื่อง เห็นไหม “ความไม่รู้ก็คืออวิชชา” แล้วอวิชชาคือความไม่รู้เรื่องเลยหรือ... ไม่ใช่ !

ความไม่รู้ก็คือความไม่รู้ความผิดความถูกต้อง ไม่รู้ผิดชอบชั่วดี แต่ตัวมันเองรู้ตัวมันเองนะ อวิชชานี่..

ถ้าอวิชชามันคือสิ่งที่มีชีวิต เราถึงบอกว่าธาตุรู้นี่สำคัญมาก.. ธาตุรู้เป็นธาตุที่เป็นสิ่งที่มีชีวิต แต่พวกเราเข้าใจกันผิด ! เข้าใจกันผิดว่า “จิตดวงหนึ่งเกิดขึ้นแล้วตายไป.. จิตดวงเก่ามาจากจิตดวงใหม่” เพราะอะไร เพราะว่าเราเข้าไม่ถึงสัจธรรม.. ถ้าเข้าถึงสัจธรรมนะ ไม่มีหรอก !

สันตติ.. คำว่าสันตติ คือพระพุทธเจ้าพยายามจะอธิบายให้เห็นว่า การเกิดดับๆ ความสันตติ เราก็บอกว่าทุกอย่างโลกนี้เป็นอนิจจัง สรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจัง สรรพสิ่งมันแปรสภาพหมดเลย แล้วจิตนี้มันจะเป็นธาตุที่คงที่ตายตัวเข้ากับอนิจจังได้อย่างไร

การเข้ากับอนิจจังคือการเปลี่ยนแปลง แต่เปลี่ยนแปลงแบบคงที่ เปลี่ยนแปลงแบบมันมีของมันอยู่ ทีนี้พอเปลี่ยนแปลงแบบมีของมันอยู่ พระพุทธเจ้าถึงใช้คำว่า “สันตติ ! คือตัวมันเอง เกิดในตัวของมันเอง”

เหมือนพืชเห็นไหม ดูสิเวลามันออกช่อออกดอก มันเป็นดอกนี่ มันเกี่ยวเนื่อง ต่อเนื่องกันมา ทีนี้การเกี่ยวเนื่องต่อเนื่องกันมา พอมันหลุดออกจากขั้วแล้วมันก็จบ... แต่จิตนี้มันไม่จบไง จิตนี้มันไม่จบของมัน มันมีสันตติของมัน มันไม่จบของมัน เพราะมันเวียนตายเวียนเกิดของมัน

ทีนี้พอเกิดขึ้นมาแล้ว เกิดขึ้นมาในสภาพหนึ่งชาติหนึ่ง พอชาติหนึ่งก็ไร้เดียงสา ถ้าไร้เดียงสา แล้วทำไมเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดขึ้นมาแล้ว ทำไมเปล่งปฏิญาณว่า “เราจะเกิดชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย”

เพิ่งคลอดมาเหมือนกัน นี่วุฒิภาวะของจิตไม่เหมือนกัน เด็ก ๗ ขวบเป็นพระอรหันต์ได้อย่างไร คำว่าเป็นพระอรหันต์นะ คำว่าพระอรหันต์ของเราคือมันต้องมีมรรคญาณ พระอรหันต์มันต้องชำระกิเลสในหัวใจของมัน แล้วเด็ก ๗ ขวบนี้มันชำระกิเลสของมันได้อย่างไร แสดงว่าเด็ก ๗ ขวบนั้น มีวุฒิภาวะมาก เด็ก ๗ ขวบนั้นมีความรับผิดชอบมาก เหมือนที่ว่าไอคิวสูงๆ ไง

ไอคิวนี้มันเกิดชั่วคราวนะ... แต่ถ้ามันเป็นอริยสัจ มันเป็นความจริงนี่ มันเกิดจากจิต พอมันเกิดจากจิต แล้วมันอยู่กับจิต เห็นไหม ดูสิเราทำคุณงามความดีนี้เป็นอามิส สิ่งที่เราทำคุณงามความดี เราเสียสละต่างๆ ขึ้นมานี้เพื่อพัฒนาใจของเรา เพราะใจของเรานี่มันเป็นผู้เสียสละ พอเสียสละขึ้นมานี่ผลตอบสนอง ผลต้นขั้วมันอยู่ที่ใจ พอต้นขั้วอยู่ที่ใจแล้วมันก็ได้บุญ เห็นไหม

สิ่งที่เป็นการกระทำ นี่กรรมดีทำให้มันเกิดในสิ่งที่ดี ! กรรมดีทำให้เกิดในสิ่งที่ดีนะ

เวลาพูดถึง นี่พูดถึงเรื่องของวัฏฏะนะ เขามีนะคนที่เขาไปเห็นมา สมมุติว่าเรานี่นะ เราเสียสละเสื้อผ้า ผ้าผ่อนแพรพันให้คนอื่นได้ใช้ คนอื่นพอเขาใช้แล้วนี่ เวลาเขาได้แล้วเขามีความชื่นใจไหม อย่างเรานี่เป็นคนที่อัตคัดขาดแคลน แล้วมีคนเขาเจือจานเรามา เราได้ใช้สิ่งนั้นนี่เราจะภูมิใจไหม... เราภูมิใจไป พอตายไปแล้วไปเกิดในยมบาล

ฉะนั้นพอเกิดในยมบาลนะ แล้วคนที่ให้ตายไปพร้อมกัน พอตายไปพร้อมกันนะ เสื้อผ้าของคนที่ใส่อยู่ในยมบาลนี่หลุดมาเป็นของคนที่ให้หมดทันทีเลย

สิ่งนี้เวลาเราเจือจานกันในโลกนี้ เราเจือจานกันได้ บอกว่าสิ่งที่เราเสียสละออกไปนี่มันเป็นบุญของเรา... เป็นบุญของเรา เราก็ว่าเป็นบุญของเราได้อย่างไร เราเป็นผู้ที่เสียสละออกไป หลุดจากมือเราไป แล้วมันจะเป็นของเราได้อย่างไร...

มันเป็นของเราด้วยนามธรรม เป็นของเราด้วยความรู้สึก.. เป็นของเราด้วยหัวใจ เพราะหัวใจของเราเป็นผู้ที่เสียสละใช่ไหม แต่เสื้อผ้าสิ่งของนี้ไม่ได้อยู่กับเราหรอก มันไปอยู่กับผู้อื่นเพราะเราเสียสละ แต่ถ้าเราเก็บไว้กับเรา นี่มันเป็นของเรา

ถ้าเก็บไว้เป็นของเรา แต่เราไม่ได้อะไรเลยนะ เวลาเราตายไปนะ สิ่งของของเราที่หาไว้นี่มันจะตกอยู่กับวัฏฏะนี้ ตกอยู่กับภพชาตินี้ แล้วจิตใจของเราจะไปด้วยความแห้งผาก แต่เวลาเราเสียสละออกไป เห็นไหม ของที่มันหลุดจากเราไป ดูสิแต่ใจมันรับรู้ ! ใจมันรับรู้ นี่เวลาตายไปนะ คำว่าไปยมบาล ไปเจอสภาวะแบบนั้น...

ในวัฏฏะนี่นะ กรรมเป็นอจินไตย คำว่า “อจินไตย” นี้มันไม่ใช่วิทยาศาสตร์ ! ถ้าเป็นวิทยาศาสตร์นะ คนที่ปฏิบัติมาจะบอกว่า “เวลามรรคสามัคคี มรรครวมตัว สมุจเฉทปหานฆ่ากิเลส มันต้องใช้น้ำหนักของสตินี่น้ำหนักเท่าไร น้ำหนักของสมาธิเท่าไร น้ำหนักของปัญญาเท่าไร” นี่เราคิดแบบวิทยาศาสตร์ไง

แต่คำว่าน้ำหนักมันก็เหมือนกับรสชาติของอาหาร คนชอบรสเผ็ด ชอบรสหวาน ชอบรสเค็ม นี่คำว่าชอบแต่ละรส ความชอบมันก็แตกต่างกัน น้ำหนักมันแตกต่างกันตรงนี้ไง ตรงที่เกี่ยวกับความชอบไง นี้เกี่ยวกับความชอบ.. ชอบในรสอาหารนะ แต่เรื่องของกิเลสนี่ไม่ได้เกี่ยวกับความชอบ มันเกี่ยวกับจริตของมัน น้ำหนักของมันมีเท่าไร

ฉะนั้นน้ำหนักของมรรคญาณ น้ำหนักของมรรคสามัคคี นี่มันแตกต่างกันทุกคนแหละ ไม่เท่ากันหรอก ! พอมันไม่เท่ากัน เห็นไหม แต่นี้เราคิดแบบวิทยาศาสตร์ใช่ไหม พวกที่คิดแบบวิทยาศาสตร์เขาบอกว่า นี่ทำบุญแล้วต้องเป็นอย่างนั้น.. ต้องเป็นอย่างนั้น นี่วัฏฏะเขาบอกว่าตายแล้วต้องไปยมบาล..

เทวทัตไม่ต้องไปยมบาลนะ เทวทัตนี่เวลาทำชั่วของเขา เขาหลุดไปอยู่นรกอเวจีเลย ไม่ต้องไปยมบาล แต่เวลาพวกเรานี่นะ พวกกึ่งๆ นี่ต้องไปยมบาล แต่ถ้าทำดีสุดๆ นะ จิตตคฤหบดีนี่ไม่ต้องไปเลย เวลาจะตายนี่นะรถม้ามาหมดเลย สวรรค์เปิดหมดเลย จะไปชั้นไหนก็ได้เลือกเอาเลย ! เลือกเอาเลยนะ

แต่เวลาเลือกเอาเลยนี่ คนที่ไม่เป็นนะ... คนที่ไม่เป็น คนที่ไม่เข้าใจนะ พอเขาพูดอย่างนั้นเข้าหน่อยก็เพ้อนะ โอ้.. คนนี้ใกล้ตายแล้ว โอ้โฮ.. เพ้อ ! นี่เพราะเราไม่เชื่อ ถ้าคนไม่เชื่อก็มองไปอีกอย่างหนึ่ง มันมองไปอย่างนั้นเพราะอะไร เพราะมองเป็นประเพณีวัฒนธรรมไง

ดูสิวัฒนธรรมของชาวพุทธ เห็นไหม เราเห็นของเรา เราเข้าใจของเรา เราดูหนัง ดูละคร เห็นไหม เราเห็นภาพของเรา แล้วพอเราคิดจินตนาการไป นี่มันไปเหมือนหนังเหมือนละครไง

เหมือนกับในพระไตรปิฎก นี่ชาดก.. ชาดก ทุกคนดูถูกกันมาก นักวิทยาศาสตร์ดูถูกพระไตรปิฎกว่าชาดกนี่เป็นนิทาน.. นกแขกเต้าเลี้ยงแม่ เรื่องต่างๆ นี่ไปดูถูก แต่อันนั้นมันเป็นภพชาติของพระพุทธเจ้านะ ! พระพุทธเจ้าเกิดชาติหนึ่งๆ พระพุทธเจ้าก็อธิบายชาติหนึ่งๆ แต่เราไปมองกันว่าเป็นนิทาน มันไม่ให้ค่าเท่ากับอริยสัจ เท่ากับวิทยาศาสตร์ แต่มันเป็นความจริงของมันอย่างนั้น

นี่ไงผลของกรรม ! ผลของกรรม นี่ถ้าเป็นผลของวัฏฏะมันไม่ใช่วิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์มันเป็นทฤษฏี ต้องตายตัว ต้องพิสูจน์ได้ ! แต่นี้พอเราตายไปแล้วเราไปยมบาล นี่ไปพิสูจน์กันที่ไหนล่ะ พิสูจน์ว่าเราเป็นแล้วๆ ทุกทีเลย พอเราไปเป็นอย่างนั้นแล้วนี่ อ๋อ ! อ๋อ.. แล้วไปบอกใครก็ไม่ได้ แล้วไปเกิดชาติไหนก็บอกใครไม่ได้ แล้วก็อยู่อย่างนั้นแหละ แล้วพอตัวเองไปพบเอง ตัวเองไปสัมผัสเองนะ เวลาไปเกิดในภพชาติใหม่ ก็ว่าไม่มี นรก-สวรรค์ไม่มี ทุกอย่างไม่มี มันมีแต่ปัจจุบันนี้

นี่อวิชชาไง ! อวิชชามันปิดตา มันไม่เข้าใจของมันไง... แต่ว่าถ้ามันเข้าใจนะ บุพเพนิวาสานุสติญาณ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย้อนอดีตชาติไป ตั้งแต่พระเวสสันดรไป ทำไมถึงตั้งแต่พระเวสสันดรไปล่ะ.. เพราะความเสียสละอย่างนั้นใช่ไหม เพราะมีบุญกุศลอย่างนั้นใช่ไหม ทำให้จิตใจนี้เข้มแข็งขึ้นมาใช่ไหม นี่เราทำของเรา ดูสิ ดูอย่างเช่นผู้นำนะ ผู้นำนี่เวลาเขานำของเขา เขาดูแลสังคมของเขา เห็นไหม เขาควบคุมสังคมของเขา เขาดูแลของเขา แล้วพวกนั้นก็เชื่อผู้นำ แล้วผู้นำก็นำไป

จิตปัจจุบันมันเป็นผู้นำ ! นำสิ่งที่เราสะสมในหัวใจมาตลอด เห็นไหม นี่ภพชาติต่างๆ มันก็สะสมๆ มา แต่จิตที่เป็นปัจจุบัน จิตที่มันพัฒนาขึ้นมา มันมีนั่นรองรับมา มันรองรับสิ่งนี้มา พอรองรับสิ่งนี้มา นี่มันเข้าใจในตัวของจิตเอง... เข้าใจเองนะ ! แล้วจะพูดกับใครนะ...

คนที่ภาวนาส่วนใหญ่แล้ว เวลาไปกระทบสิ่งใดแล้วไม่ค่อยกล้าพูดกับใคร ที่ไม่กล้าพูดกับใครเพราะอะไร เพราะเราอธิบายไม่ได้ แต่เวลาครูบาอาจารย์ของเรานะ ดูสิอย่างเช่นหลวงปู่มั่นไง เวลาใครพูดอะไรนี่ท่านจะเข้าใจหมดเลย ดูสิเวลาแม่ชีกั้งที่ไปถามหลวงปู่มั่นใช่ไหม นี่ท่านไม่ค้าน แล้วท่านก็ไม่ส่งเสริมนะ

เวลาท่านบอก ทำไมนี่.. โอ้โฮ.. ทำไมตัวเหลืองๆ มา มีตั้งหลายหน้า มี ๔ หน้า ๕ หน้า ท่านก็บอกว่านี่เป็นพรหม ท่านก็พูดแค่นี้แหละ พูดแค่นี้เพราะอะไร เพราะคนที่พูดมากไป นี่มันไปยกจิตใจนี่ยกไม่ได้

เวลาอยู่กับครูบาอาจารย์นะ จะภาวนามาขนาดไหนนะ ไปรายงานท่านแล้วท่านไม่เคยชมเลย ท่านมีแต่กระหนาบเอา.. กระหนาบเอา มีแต่กระหนาบเพราะอะไร

“เพราะความดีที่มีกว่านี้ยังมีอยู่ ! ความดีต้องดีขึ้นไปกว่านี้มันยังมีอยู่” ทุกคนไม่ถึงที่สุดแล้ว นี่มันต้องพัฒนาความดีของเราไป..

แต่ถ้าบอกว่า โอ้โฮ.. ภาวนาดีนะ คนนี้เก่งมากนะ.. กลับไปมันไปปูเสื่อนะ แล้วมันก็นอนจมอยู่อย่างนั้นแหละ ว่าเก่งแล้วไง มันไม่ทำหรอก แต่ถ้าบอกว่านี่ภาวนามาแล้ว ต้องทำอย่างนั้นต่อไป.. ต้องทำอย่างนั้นต่อไป.. แล้วทำต่อไปแล้วต้องคอยขนาบ

เราอยู่กับครูบาอาจารย์มา เราโดนอย่างนี้มาตลอด ทำดีขนาดไหนไม่เคยชมเลย ไม่เคยได้รับคำชมเลย มีแต่ค้อนกับค้อน อัดอย่างเดียว อัดแล้วอัดอีก แต่เราเป็นคนดีขึ้นมาได้ เห็นไหม แต่ทางเรานี้จะชมจะอะไรต่างๆ

ทีนี้พอมันเป็นความจริงอันนั้นไปแล้ว เราจะรู้ของเรา ถ้าเรารู้ของเรานี่มันเป็นความจริงของเรา สิ่งนี้มันเป็นการปฏิบัติของเรานะ นี่พูดถึงผลไง !

เราเป็นชาวพุทธนะ ประเพณีวัฒนธรรมที่เขาทำๆ กันก็มี เห็นไหม ดูสิวันนักขัตฤกษ์เขาไปทำบุญกุศลกัน วันสำคัญทางพุทธศาสนา รัฐบาลต้องประกาศนะ ว่าให้ชาวพุทธนี่ให้รู้จักเข้าวัดเข้าวา ให้ชาวพุทธใกล้วัดใกล้วา ชาวพุทธจะได้มีศีลธรรม ชาวพุทธจะได้มีที่พึ่งอาศัย หัวใจมันจะได้ไม่ว้าเหว่จนเกินไปนัก เดี๋ยวเขาต้องชักนำกันมาเพื่อให้เราหาที่พึ่งกัน

นั่นเป็นศาสนาประเพณีวัฒนธรรม แล้วเราก็คัดเลือกของเรา เราจะเอาคุณงามความดีของเรา เราจะเอาแก่นของเรา เราจะหาความจริงของเรา

ถ้าหาความจริงของเรา เราก็ต้องเข้มข้นขึ้นมา แล้วเข้มข้นที่ไหนล่ะ เข้มข้นที่ความรู้สึกของเรา เข้มข้นที่หัวใจของเรา ใครจะติฉินนินทา ใครจะถากถาง นั่นมันเป็นเรื่องของเขานะ โลกธรรม ๘ มันมีโดยธรรมชาติของมันอย่างนั้นแหละ แต่ถ้าเราเข้มแข็งของเรานะ เรามีจุดยืนของเรา ความดีของเราแท้ๆ ! ดูสิเจ็บไข้ได้ป่วยทุกคนไม่อยากเป็น ทุกคนอยากแข็งแรง ทุกคนอยากปลอดภัย

นี่ก็เหมือนกัน หัวใจที่มันแข็งแรง เห็นไหม ดูนะเวลาโลภจริต.. คนโลภ คนโลภจริต นี่เขาหลอกลวงได้ เขาชักนำได้ง่าย เขาชักจูงกันไป แต่ถ้าคนมีปัญญา คนมีจุดยืน เวลาใครจะชักนำเราไป นี่เรามีปัญญาของเรานะ

นี้ก็เหมือนกัน เราจะแสวงหาของเรา ประเพณีวัฒนธรรมเราก็ไม่ได้ไปคัดค้านเขาหรอก เพราะอะไร ดูอย่างเช่นเด็กสิ กว่าเด็กมันจะโตขึ้นมานี่มันก็ต้องมีพ่อแม่เลี้ยงมันมา จิตใจของคนที่จะเข้าสู่วัดสู่วา เข้าสู่ศีลธรรม มันก็เป็นอย่างนี้ทั้งนั้นแหละ เราก็เป็นมาอย่างนี้ เราก็เป็นนะ เราก็ยังแปลกใจ ไปวัดไปวานี่เขาไปทำกันอย่างไร ตอนเป็นเด็กไม่เข้าใจหรอก ไม่รู้หรอก แล้วเวลาไปแล้วก็ยิ่งไม่เข้าใจใหญ่เลย

นี่เพราะไปดูแต่ตำรับตำรา ศาสนพิธีว่าพิธีต้องทำอย่างนั้น ทำอย่างนั้น... แล้วทำอย่างนั้นเราก็ติดพิธี เห็นไหม พอเราปฏิบัติไปนี่เราวางพิธีหมดเลย ดูอย่างอาหารสิ เวลาเราตักใส่ภาชนะแล้ว เราจะกินอย่างเดียว แต่กว่าจะใส่ภาชนะได้นะ โอ้โฮ.. เขาต้องตักต้องตวง ต้องทำ กว่าขั้นตอนที่กว่าจะได้เสริฟขึ้นโต๊ะ กว่าจะได้กินนะตั้งครึ่งวัน แต่ถ้าเราก็รู้ของเรา เราอยู่บ้านของเรา เราอยู่ในที่รโหฐานของเรา เราหิวเราก็กิน เราก็ทำของเรา เราก็รักษาของเรา

ปฏิบัติก็เหมือนกัน เวลาปฏิบัติขึ้นมา พิธีก็คือพิธี ! พิธีนี่เข้าได้ใจ เห็นไหม ดูสิเวลาโยมมานี้แตกต่างหลากหลายกันมานะ เหมือนดอกไม้หลากสี ถ้ามันมีด้ายร้อยขึ้นมามันก็เป็นพวงมาลัย

ความคิดของคนมันแตกต่างหลากหลาย พิธีนั้นเขาทำให้เหมือนกัน เพื่อให้เป็นพิธีนั้น ! แต่ถ้าเราเข้าถึงสัจธรรมแล้ว พิธีนั้นก็วางไว้ เราทำด้วยน้ำใจไง อย่างเช่นกรวดน้ำนี่ เขาต้องกรวดน้ำ เพราะจิตใจมันโลเล ก็ต้องเอาน้ำมาเพื่อให้จิตใจมันเพ่งที่น้ำนั้น ให้จิตใจมันนิ่ง แล้วได้อุทิศส่วนกุศลไป

เราฝึกของเรา เราเสียสละมาตั้งแต่ที่บ้าน เราคิดว่าเราจะทำบุญมาตั้งแต่ที่บ้าน น้ำนั่นมันเป็นภาระต้องหามา แต่น้ำใจนี่กรวดได้ ! ความคิดนี่ ! เวลาพระให้พร.. ความรู้สึกนี่นึกเลย ! พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย เจ้ากรรมนายเวร

เพราะน้ำที่เขากรวดน้ำกันเขาก็กรวดมาที่นี่ เขาก็กรวดมาที่หัวใจนี้แหละ เห็นไหม ดูสิประเพณีวัฒนธรรมมันแตกต่างหลากหลายขึ้นมา

นี่ก็เหมือนกัน หัวใจเราที่พัฒนาขึ้นมาแล้ว ทำไมเราต้องกลับไปสู่น้ำล่ะ... ถ้ากลับไปสู่น้ำ ถ้าตัวน้ำมันเป็นความดีได้จริง แม่น้ำแม่กลอง หรือแม่น้ำต่างๆ อู้ฮู.. มันไหลมาทั้งปีทั้งชาติ น้ำมันก็คือสสาร น้ำก็คือน้ำ แต่เพราะคนจับเอาน้ำมาใช้เป็นประโยชน์ เอาน้ำมากิน เอาน้ำมาใช้สอย

นี่ก็เหมือนกัน คนที่อุทิศส่วนกุศล แต่ตัวเองไม่มีหลักมีเกณฑ์ ก็เอาน้ำนี่มาเป็นที่พึ่ง ! แล้วเวลามีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมาแล้ว..

นี่ไงประเพณีวัฒนธรรมเป็นอย่างนั้น ! เรารู้.. เรารู้เราเข้าใจ เราไม่ปฏิเสธ เพราะ ! เพราะมันเป็นฉนวน มันเป็นช่องทาง เป็นการฝึกคน คนที่จะเป็นคนดีขึ้นมา นี่เขาต้องมีการฝึกฝนขึ้นมา อะไรที่เป็นแบบอย่างนี่ให้ฝึกฝนขึ้นมา แต่พวกเราฝึกแล้ว เราเข้าใจแล้ว เราก็ไม่ไปติฉินนินทาใคร เราก็ไม่ไปเยาะเย้ยถากถางใคร แต่เรารู้ เราเข้าใจใช่ไหม เพราะว่าเราผ่านเหตุการณ์อย่างนั้นมา

แต่นี้เราไม่มีหลักใช่ไหม พอเขาบอกว่า “นี่ไปทำบุญนะ.. ไม่ได้กรวดน้ำนะ โอ้โฮ.. นอนก่ายหน้าผากเลย โอ้โฮ... ทำบุญไปตั้งเยอะ แต่ไม่ได้กรวดน้ำ ก็ไม่ได้บุญ”

คนกรวดน้ำใจ.. เราคิดแล้ว เราอธิษฐานแล้ว นี่คือการกรวดน้ำ !

กรวดน้ำคือความคิดของเรานี้ไง ! ความคิดที่เรากรวด.. กรวดน้ำใจนี่ เรากรวดแล้ว แต่เพราะเราไม่มีจุดยืนเอง พอคนเขาพูดเขาทักหน่อยเดียวว่า “ไม่ได้กรวดน้ำนะนี่ทำบุญไม่ได้บุญนะ” เราก็นอนก่ายหน้าผากเลย

“ทั้งๆ ที่มีบุญอยู่นะ ! แต่เพราะอวิชชา เพราะความไม่รู้ เลยทำให้จิตใจมันขุ่นมัว” แต่ถ้าจิตใจมันไม่ขุ่นมัว นี่ปฏิคาหก.. ผู้ให้ ให้ด้วยความบริสุทธิ์ เห็นไหม

ให้ด้วยความบริสุทธิ์.. ให้แล้วมีความชื่นใจ.. ผู้รับ ! รับด้วยความบริสุทธิ์ ใช้สอยด้วยความดีงาม นี่สิ่งที่ใช้สอยแล้วเกิดประโยชน์ในการภาวนา เกิดจากการกระทำของเรา นี่ปฏิคาหก ! มันก็จบเป็นช่วงๆ ไป เพราะชีวิตนี้มันสืบต่อไป เห็นไหม

นี่สันตติ ! มันเกิดดับ.. เกิดดับไปตลอดไป นี่การเกิดดับ..

“แต่การเกิดดับของจิตมหัศจรรย์ที่สุด” เพราะมันเกิดดับแล้วมันต่อเนื่องระหว่างภพชาติ ต่อเนื่องพระโพธิสัตว์ ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย มันต่อเนื่อง มันไม่สูญหาย มันไม่ขาดไป ถ้าขาดไปมันต่อเนื่องไม่ได้ จะไม่เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ผู้ปฏิบัติ.. จริตนิสัย ความคิดความเห็นของคนมันแตกต่างหลากหลาย คิดดีทำดีต่างๆ นี้มันสะสมมา มันมีแต่คิดดีๆ มา ใครชักจูงไปทางที่ผิดที่ไม่สมควร มันก็ไม่อยากไป แต่คนเรานี่มันไม่ให้ใครชักหรอก มันจะไปอยู่แล้ว เห็นไหม พอคนมาแบบว่าขยิบตา นี่มันวิ่งตามเขาไปเลย เพราะจิตใจมันอ่อนแอ

จิตใจเข้มแข็ง.. จิตใจอ่อนแอ.. มันเป็นสมบัติของเรา เป็นประโยชน์กับเรา เพื่อหัวใจของเรานะ ! แล้วเราก็จะหัดประพฤติปฏิบัติกัน หัดกำหนดหัวใจของเรา รักษาดูแล.. แล้วหัวใจของเรา นี่เราเห็นแล้ว เห็นไหม

“ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต !”

เราอยากเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาก.. เราอยากเฝ้านะ ถ้าเราทำสมาธิกันได้ นี่เราจะได้เห็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “ผู้รู้.. ผู้ตื่น.. ผู้เบิกบาน..”

ผู้รู้คือพุทธะ ! พุทธะคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วสถิตอยู่ในกลางหัวใจของเรา.. เพื่อประโยชน์กับเรา.. ในชีวิตของเรา.. เอวัง