เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๖ ต.ค. ๒๕๕๓

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๓
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรมเนาะ ธรรมะ.. ธรรมะเป็นกระแส เวลาเราพูดธรรมะอย่างนี้ คือการฟังธรรม.. ฟังธรรมไง เวลาเราอยู่บ้านเราคุยกันทั้งวันเลย นี่เป็นฟังธรรมไหม เวลาเราคุยกัน เราคุยกันเพื่อสื่อสารภาษา การฟังธรรมก็สื่อออกมาจากเสียงนี่แหละ แต่มันมีคุณธรรม.. มันมีข้อเท็จจริงออกมาจากเสียงนั้น..

เสียงนะ ! เสียงก็คือเสียง เสียงลมพัด เสียงใบไม้ไหว เสียงต่างๆ ก็คือเสียง แต่คุณธรรมนี่มันออกมากับเสียง เห็นไหม ตั้งใจฟังธรรม.. ถ้าธรรมนี่มันสะเทือนหัวใจนะ ! มันสะเทือนหัวใจ.. ถ้ามีการสะเทือนหัวใจนะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน

“ภิกษุทั้งหลาย.. เธอจงพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด ! เธอจงพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด”

ความประมาทเลินเล่อ ความไว้เนื้อเชื่อใจ ความนอนใจของเรา เห็นไหม ทำให้ชีวิตเรานี้ด้อยค่า เราทำบุญกุศลกันอยู่นี้ เราทำบุญกุศลเพื่ออะไร.. เราทำบุญกุศลเพื่อเรานะ นี่การเกิดเป็นมนุษย์สมบัตินี้มีคุณค่ามาก ดูสิเวลาโลกเขาเกิดกัน เห็นไหม โลกเขาเกิดกันตั้งแต่ในวัฏฏะ ต้องเกิดแน่นอน ! จิตต้องเกิดแน่นอน ! จิตไม่มีการเว้นวรรค ดูสิเวลาอากาศมันพัดไป นี่ลมพายุมันจะหมดไปได้ไหม อีกกี่ร้อยกี่พันปีมันก็จะอยู่ของมันอย่างนี้ เพราะมันมีเหตุมีผลของมัน

จิตของคน ! มันมีพลังงานของมัน มันมีอวิชชา.. มันมีมารครอบคลุมอยู่ มันต้องไปตามเวรตามกรรมอันนั้น ! มันเป็นไปตามเวรตามกรรม มันถึงเวียนตายเวียนเกิด แล้วเรามาเกิดเป็นมนุษย์ในปัจจุบันนี้ เห็นไหม เกิดมาเป็นมนุษย์แล้วพบพุทธศาสนา.. พุทธศาสนาสอนถึงตัวมัน ! สอนถึงปฏิสนธิจิต ! สอนถึงตัวจิตที่ตัวเกิดตัวตายนี้ !

เราทำบุญกุศลเพื่อชีวิตเรา.. ถ้าเราทำบุญกุศลเพราะเราต้องการคุณงามความดี เราต้องการทุกๆ อย่าง.. ถ้าเรามีสตินะ ! แต่เวลาเราทุกข์ยากขึ้นมา เห็นไหม ก็ว่า “นี่เราทำดีขนาดนี้.. ไม่ได้ดี ! เราทำสิ่งใดไม่ได้ตามความปรารถนาเลย”

ถ้าเราทำสิ่งใดแล้วไม่สมความปรารถนาเลย แล้วสมความปรารถนานี้สมความปรารถนาเรื่องอะไรล่ะ... เราปรารถนาเรื่องอะไร.. เราปรารถนาแต่สิ่งที่กิเลสตัณหาความทะยานอยากมันแสวงหา เราต้องการตามกิเลสตัณหาความทะยานอยาก เราไม่ได้ต้องการตามธรรมไง !

เวลาฟังธรรมนะ “สุขใด.. เท่ากับจิตสงบไม่มี ! สุขใด.. เท่ากับหัวใจมันมีความสุขของมัน มันมีความสงบสงัดของมันนี้ไม่มี !”

เรารู้จักตรงนี้ไหมล่ะ.. เราไม่รู้จักสุขนี้นะ เวลาเข้าไปถึงหัวใจของตัวเองก็กลัวผี เวลาไปภาวนาแล้วมันก็กลัวทุกๆ อย่างเลย จะเข้าหาตัวเองก็ไม่กล้าเข้าหาตัวเอง จะเข้าหาสู่ข้อมูลแท้ไง จะเข้าสู่หัวใจของเรา เรายังทำของเราไม่ได้ เห็นไหม

เวลาทำเราอาศัยพึ่งแต่สิ่งภายนอก เวลาเราอยู่ในสังคม เราต้องการให้สังคมนี้ร่มเย็นเป็นสุข เราอยากให้สังคมดีก่อน แล้วเราจะมีความสุขในสังคมนั้น เราอยู่ในบ้านในเรือนของเรานี้ ถ้าบ้านข้างเรือนเคียงเราเป็นคนดี บ้านข้างเรือนเคียงเราเป็นคนพูดจาอาศัยเข้าใจกัน อย่างนี้เราจะมีความสุขมากเลย !

เรามีความสุขนะถ้าบ้านข้างเรือนเคียงเรานี่พูดกันรู้เรื่อง เราอยู่กันด้วยความร่มเย็นเป็นสุข นี่เป็นสุขทั้งนั้นเลย เห็นไหม เราอาศัยแต่สิ่งภายนอกไง เวลาความคิดล่ะ..

เวลาความคิดนี่เห็นไหม หัวใจมันจะอาศัยความคิดเพื่อแสดงออก ! หัวใจคือตัวพลังงานนะ เวลาเราไม่คิด เรามีความรู้สึกเฉยๆ คือพลังงานเฉยๆ นี่มันอยู่ที่ไหนล่ะ.. เวลาเราคิดขึ้นมา นี่เรารู้แล้วว่าเราคิดอย่างนั้น เราคิดอย่างนี้.. เรามีความทุกข์อย่างนั้น เราคิดแล้วมีความสุขอย่างนี้.. นี่มันเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ !

เพราะเราทำบุญกุศล เราถึงเกิดมาเป็นมนุษย์... มนุษย์สมบัตินะ เราต้องมีค่า ควรแก่การเป็นมนุษย์ มันถึงมาเกิดเป็นเราที่นั่งกันอยู่นี่ไง ! ถ้ามันมีค่าไม่ควรแก่มนุษย์นะ มันก็ไปตกในวาระของเขา... ค่าของความเป็นมนุษย์นะ คือมนุษย์สมบัติ !

ถ้าค่าของความเป็นมนุษย์ นี่คือเราสร้างกุศลมา ค่าของมนุษย์ถึงเกิดมาเป็นเรา เพราะค่าของความเป็นมนุษย์มันถึงมีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ถ้าค่าของมนุษย์มันมีสัญชาตญาณของมัน สัตว์มันก็มีสัญชาตญาณของมัน มันมีภาษาของมัน มันมีความรู้สึกของมัน สัตว์ทุกชนิดมันมีของมัน สัตว์นี่นะ ! ในวัฏฏะ... กวฬิงกวราหารคืออาหารเป็นคำข้าว อาหารมนุษย์นี่แหละ.. วิญญาณาหารคืออาหารของเทวดา.. ผัสสาหารคืออาหารของพรหม..

คนเกิดมานี้ในภพใดชาติใด กินอาหารอย่างใด อยู่อย่างใด นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าใจหมดเลย เห็นหมดเลย ฉะนั้นเราเกิดมานี่เห็นไหม วิญญาณาหาร อาหารนี้คืออาหารของเทวดา.. แต่เพราะเราเป็นมนุษย์ มนุษย์มีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ มันมีความรู้สึกความนึกคิด เห็นไหม มันมีความรู้สึกว่านี่เป็นอาหารของใจ วิญญาณาหารนี่เทวดาเขากินทิพย์ เขาแบบว่านึกเอา เขามีสุขเป็นทิพย์ของเขา

แต่เวลาของเรานี่เราเป็นมนุษย์ เห็นไหม เราต้องอาหารเป็น กวฬิงกวราหาร คืออาหารเป็นคำข้าว แต่เวลาถ้าจิตเราสงบขึ้นมา เราเห็นความรู้สึกของเรา เรามีความคิดของเรา นั่นแหละ.. นั่นแหละมรรค !

มรรคคืออะไร มรรคคือเลี้ยงชีพชอบ ! ความเลี้ยงชีพชอบ คือเลี้ยงชีพด้วยร่างกาย เลี้ยงชีพด้วยจิตใจ เลี้ยงชีพด้วยอะไร เห็นไหม เวลาบ้านข้างเรือนเคียง เราก็ต้องการให้เขาดีกับเรา เราอยากให้เขาเป็นคนดีเราจะได้ดีด้วย... เวลาถ้าความคิดเราดี นี่สิ่งที่เป็นอาหาร สิ่งที่ใกล้ใจที่สุด สิ่งที่เป็นสภาวะแวดล้อมของเรา คิดดีคิดชั่วของเรา

นี่ไงพุทธศาสนาสอนที่นี่ ! สอนในหัวใจของเรานะ “อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ.. ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน.. ตนเอาจิตของเราไว้ในอำนาจของตน ตนเอาไว้นะ ถ้าเรารักษาของเราได้ ใครจะมีประโยชน์อะไร

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดานะ วางธรรมและวินัยไว้ให้เรากราบเคารพบูชา แต่เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ครูบาอาจารย์ก็เป็นคนชี้แนวทาง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธบอก “เราเป็นแค่ผู้ชี้ทางเท่านั้น เธอต้องปฏิบัติเอา”

ทีนี้เราปฏิบัติเอา เห็นไหม การปฏิบัติเอา.. นี่อาหารเราก็กินของเราเอง ความดีเราก็แสวงหาของเราเอง ความชั่วเราก็แสวงหาของเราเอง ความถูกต้องดีงามเราก็แสวงหาของเราเอง ความผิดพลาด.. ความผิดพลาดเราก็แสวงหาของเราเอง แต่เราไม่รู้.. เพราะเรารู้และไม่รู้นี่แหละมันสำคัญมาก ! เพราะความไม่รู้ใช่ไหม.. เราเข้าใจว่าดี เราเข้าใจว่าถูกต้อง เราเข้าใจว่าดีงาม แล้วเราทำเต็มที่ของเราไปเลย แต่มันไม่เป็นความจริง เห็นไหม

“มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด”

ดูสิเวลาเราทำงานอาบเหงื่อต่างน้ำ เราทำงานนี่ เขาว่าพระไม่ทำอะไรเลย.. ดูสิบวชแล้วก็ไม่ทำอะไรเลย.. เรานี่เป็นฆราวาส ต้องทำมาหากิน ทุกข์ยากเดือดร้อนไปหมดเลย.. เวลาพระเดินจงกรม นั่งสมาธิ ภาวนา นี่คืองานของพระ ! งานของพระคือนั่งนิ่งๆ แล้วเอาความรู้สึกไว้ในใจให้ได้ !

งานที่การกระทำนะ งานของเราคืออาบเหงื่อต่างน้ำ เราก็ทำของเรา เห็นไหม แล้วงานของพระ งานของพระมีงานหยาบ งานละเอียด แล้วพองานละเอียดขึ้นมา นี่ความคิดหยาบๆ ขันธ์อย่างหยาบ.. ขันธ์อย่างกลาง.. ขันธ์อย่างละเอียด.. แล้วพลังงานไม่ใช่ขันธ์ ตัวพลังงานไม่ใช่ความคิด

“จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส.. จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส”

“จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส.. จิตเดิมแท้นี้เป็นผู้ข้ามพ้นกิเลส !”

แม้แต่ผ่องใสนั่นก็คืออวิชชา ! ความเป็นอวิชชาของมัน เห็นไหม

งานหยาบ.. งานละเอียดนี้เพราะมันมีการกระทำ เพราะได้ฟังธรรมอย่างนี้ เพราะเราได้เตือนสติเรา เราทำงานของเรา ดูสิทางโลกเขาทำงานอาบเหงื่อต่างน้ำ นี่พวกกรรมกร แต่ผู้บริหารจัดการนี่ใช้แรงงานสมอง.. แรงงานสมองนี่พวกผู้บริหารจัดการ เขาได้ค่าตอบแทนมาก แล้วถ้าเราปฏิบัติล่ะ...

นี่อาบเหงื่อต่างน้ำทำมาหากิน ฆราวาสเขาทำงานอาบเหงื่อต่างน้ำของเขา ไอ้เรานั่งนิ่งๆ... นิ่งนั่งๆ แต่เอาความคิด ! เอาความคิดของเราให้อยู่ให้ได้ นี่มันเป็นงานที่ละเอียด พอเป็นงานที่ละเอียดขึ้นไป สิ่งที่ละเอียดเห็นไหม เวลาถ้าใครยังไม่นั่งสมาธิ ภาวนา ยังไม่รู้ว่างานละเอียดมันอึดอัดแค่ไหน เวลาจิตใจมันฟุ้งซ่าน เวลาจิตใจมันไม่อยู่กับเรา เห็นไหม ให้นั่งแล้วบังคับมันไว้

เวลาหลวงปู่เจี๊ยะท่านพูดอย่างนี้นะ เวลาท่านภาวนาของท่าน ท่านถือเนสัชชิกของท่าน แล้วท่านอธิษฐานเลย “วันนี้นั่งต้องไม่ลุก.. ถ้าพระอาทิตย์ไม่ขึ้น ถ้าอรุณไม่ขึ้นยังไม่ลุกจากที่นั่ง.. ถ้ามันลุกขึ้นไปขอให้มันฟ้าผ่าตาย ขอให้ธรณีมันสูบ” นี่ไงท่านคิดขนาดนั้นนะ

ถ้าตัวเองทำไม่ได้ให้ฟ้าผ่า.. อันนี้คือสัจจะนะ ! ทีนี้คำว่าสัจจะ คือเราพูดกับตัวเราเอง เวลาเราพูดถึงคือเราตั้งสัจจะ เราพูดกับตัวเราเอง เราสัญญากับตัวเราเอง เวลาเราสัญญากับคนอื่น เราต้องการให้คนอื่นถูกต้องให้ทำตามสัญญานั้น แต่เวลาเราสัญญากับตัวเราเองนี่เราล้มทุกทีเลย เราไม่จริงจังกับเราเลย เราสัญญากับตัวเราเอง แล้วเราก็รักษาสัญญากับตัวเราเองไม่ได้ เห็นไหม

หลวงปู่เจี๊ยะท่านถึงได้ตั้งกติกาของท่าน ว่าถ้าลุกต้องให้เป็นอย่างนั้นๆ แต่ท่านก็ทำได้ ท่านทำของท่านได้ เพียงแต่ว่าท่านตั้งของท่านอย่างนั้น แล้วท่านมาเล่าให้เราฟังใช่ไหม เราก็ว่ามันเกินไปๆ มันเกินไปเพราะเราไม่กล้าสัญญากับตัวเราเองขนาดนั้น เพราะเรารู้ว่าเราอ่อนแอไง แต่ท่านเข้มแข็ง ท่านกล้าสัญญากับตัวท่านขนาดนั้น แล้วท่านทำได้ตามสัญญานั้น

นี่คือสัญญาที่ทำไว้นะ ! แล้วผลล่ะ... ผลของมันเวลาปฏิบัติแล้วมันได้ผลหรือไม่ได้ผล จิตมันลงหรือไม่ลงนะ ปัญญามันเกิดหรือไม่เกิด นั่นอีกกรณีหนึ่งนะ เราทำสัญญาครบขบวนการนั้นแล้ว ผลตอบสนองคือทำแล้วมันได้ผลขึ้นมาหรือไม่ได้ผลขึ้นมา นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง !

เราปฏิบัติก็เหมือนกัน เราตั้งใจทำบุญกุศลของเรา เห็นไหม เราทำเพื่อเรา ! เราทำเพื่อเรา บ้านข้างเรือนเคียงเขาจะเป็นอย่างไร มันก็เป็นเวรกรรมของเขา เพราะมันเป็นเวรเป็นกรรมของเรา เราถึงมาเจอบ้านข้างเรือนเคียงแบบนี้

ความคิด... เวลาความคิดกับเราก็คือบ้านข้างเรือนเคียงของใจ ถ้ามันคิดผิดพลาดเพราะความไม่เข้าใจ เพราะความไม่รู้ของเขา เราทำบุญกุศลของเรา ให้มันมีสติมีปัญญา เวลาคนมีจุดยืน คนมีปฏิภาณไหวพริบ เห็นไหม โลกเขาจะหลอกลวงเราไปไม่ได้ เวลาเป็นเหยื่อของโลก โลกเขาหลอกลวงอย่างไร เราก็เชื่อเขาไป.. เชื่อเขาไป

แต่ถ้าเรามีสติปัญญานี่เราไตร่ตรองก่อน ที่เขาพูดนี้มันจริงหรือไม่จริง ถ้าของเขาดี ของเขาเป็นประโยชน์ เขาก็แสวงหาของเขาก่อน ไม่ถึงเราหรอก.. แต่ถ้าของถึงเรานี่มันจะดีจริงหรือไม่จริง มันอยู่ที่วาสนาของเราว่ามันจะเป็นจริงตามนั้นหรือไม่

ความคิด ! ความคิดที่เกิดจากเรา มันคิดขึ้นมาแล้วนี่ มันเป็นความจริงตามที่เราคิดหรือไม่ ถ้ามันเป็นความคิด ทำไมคิดซ้ำคิดซากอย่างนั้น แล้วความคิดซ้ำคิดซากอย่างนี้ เดี๋ยวก็คิดดี เดี๋ยวก็คิดชั่ว มันเป็นเพราะเหตุใด มันมีพลังงานอย่างไร มันมีสิ่งใด มีสติยับยั้งอย่างใด มันมีวุฒิภาวะอย่างใด

นี่พอเรามีสติยับยั้ง ย้ำคิดย้ำทำ แล้วก็พยายามพิจารณาใคร่ครวญของเรา มันจะรู้มันจะเห็นว่าความคิดอย่างนี้ไม่ถูกต้อง.. ความคิดอย่างนี้ไม่ถูกต้อง มันแยกแยะของมันไปเรื่อยๆ มันจะคัดเลือกของมันไป เห็นไหม จิตเรานี่แหละ มันจะคัดเลือกความคิดของเราไป

ความคิดอย่างนี้ เราเคยคิดอย่างนี้แล้ว ทำตามมันอย่างนี้แล้ว มันให้ผลตอบแทน มันถึงมีความเสียหาย... ความคิดอย่างนี้ เวลาเราทำแล้วทำไม่ได้ เพราะความคิดสิ่งที่เป็นดี แล้วเราทำตามความคิดนี้ไม่ได้.. เราทำตามความคิดนี้ไม่ได้เพราะอะไร เพราะเราไม่มีสติ เราไม่มีปัญญา เราไม่มีขันติ เราไม่มีความอดทน เราไม่มีการกระทำ เห็นไหม

นี่งานละเอียดไปเรื่อยๆ งานละเอียดไปเรื่อยๆ มันจะแยกแยะของมันไป นี่ปัญญาอบรมสมาธิไง !

“ภิกษุทั้งหลาย.. เธอจงพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด”

สังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่ง.. เราคิด เราแยกเราแยะ เราใคร่ครวญของเรา เห็นไหม นี่มันจะพัฒนาของมันเอง !

ถ้าจิตมันพัฒนาของมันเองอัตโนมัติจะไม่มีอะไรเลย แต่นี้คำว่าพัฒนาของมันเองคือมันแยกมันแยะแล้ว พอมันแยกแยะแล้ว เราเห็นความคิดอย่างนี้มันผิดพลาดบ่อยครั้งเข้า... บ่อยครั้งเข้า มันจะเอียดขึ้นไหม มันจะพัฒนาขึ้นไหม เรารู้ว่าสิ่งนี้ผิดแล้วเราจะวางไหม

แต่เพราะเราไม่รู้ว่ามันผิด เราคิดว่าเราถูก เราเคยทำแล้ว แล้วครั้งนี้ทำแล้วมันไม่ได้ดั่งใจ เราจะทำซ้ำอีก.. ซ้ำอีก มันก็ยิ่งผิดมากขึ้นๆๆ แต่ถ้าเราคิดว่าทำแล้วมันไม่ได้ประโยชน์ ทำแล้วมันไม่เป็นความจริง ความคิดเราถูกต้องแล้วหรือ ถ้าความคิดเราถูกต้อง เราเห็นมันเป็นความผิดพลาดที่ความคิด ถ้าผิดพลาดที่ความคิด แล้วความคิดมันพัฒนาขึ้นไหม

สิ่งนี้ที่มันพัฒนาขึ้นเพราะมันมีการกระทำ พัฒนาขึ้นเพราะมันแยกแยะของมัน มันเห็นถูกเห็นผิดของมัน นี่มันพัฒนาของมัน มันทำของมันขึ้นมา เห็นไหม พอมันทำขึ้นมา นี่ปัจจัตตัง !

เวลาหลวงตาท่านพูดไงว่า “กุสลา ธัมมา อกุสลา ธัมมา นี่อย่าพามาหาเรานะ.. เราเป็นสิ่งใดไม่ต้อง กุสลา ธัมมา อกุสลา ธัมมา” นี้ในอภิธรรมเวลาเขาสวดไง เขาสวดสอนเรา

กุสลา ธัมมา คือทำคุณงามความดี ! อกุสลา ธัมมา คือความชั่ว !

ความคิดที่มันคิด นี่กุสลา ธัมมา อกุสลา ธัมมา ความคิดดีเป็นกุสลา ธัมมา คือความคิดดี พัฒนาดี นี่เป็นคุณงามความดี.. ไอ้คิดชั่วนี่อกุสลา.. คือมันคิดแต่ผิดพลาด..

นี่ไงมันเป็นที่นี่ ! กุสลา.. อกุสลา.. มันเป็นที่ความคิดที่จิตมันเสวย จิตมันคิดมันเสวยอารมณ์ มันไม่มีสติไม่มีปัญญา แล้วไม่ได้แยกแยะมัน เพราะเราไม่แยกแยะ เราไม่มีสติ นี่ไงวุฒิภาวะ เห็นไหม จิตเวลามันพัฒนา มันพัฒนาอย่างนี้ มันมีปฏิภาณไหวพริบอย่างนี้ มันพัฒนาขึ้นมาอย่างนี้ มันเป็นคนดีอย่างนี้ขึ้นมา นี้มันพัฒนาขึ้นมา.. แล้วใครสอนใคร ! นี่ไง จิตแก้จิต.. จิตสอนจิต..

นี่ปัจจัตตัง ! นี่มรรคญาณมันเกิดที่นี่ มันเกิดจากความรู้สึก เกิดจากนึกคิด มันแยกแยะของมัน มันพัฒนาของมัน แล้วมันอบอุ่นของมัน เพราะมันรู้ของมันเอง

มันอบอุ่นนะ ! เวลาใครฟังครูบาอาจารย์เทศน์แล้วว่า “โอ๋ย.. เหมือนเลย ! ใช่เลย !” แต่ถ้าใครฟังเวลาครูบาอาจารย์เทศน์แล้วนี่ “ไปไหนมา.. สามวาสองศอก” อันนั้นผิดเลย เห็นไหม เราถูกเลย เพราะเรารู้ของเรา ถ้าเรามีวุฒิภาวะนี่เรามองสังคมออก เรามองความรู้สึกของคนออก

“ใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง” ใจเหมือนใจ เพียงแต่หยาบละเอียดต่างกันเท่านั้นเอง แต่ใจเหมือนใจ ใจคือความคิดเหมือนกัน มันมีกิเลสตัณหาความทะยานอยากทุกคน คนเกิดมามันมีอวิชชาครอบงำมาทั้งนั้น แต่คนดีคนชั่ว หรือคนพิจารณาอย่างไร ถ้าเราแก้ไขนี่เราแก้ไขของเราได้ ถ้าเราแก้ไขตรงนี้ เห็นไหม

โปรแกรมนี่เราเปลี่ยนเลย คอมพิวเตอร์ถ้ามันเสีย มันเสียที่โปรแกรม โปรแกรมอย่างไรก็แล้วแต่ คุณภาพมันมีเท่านั้น แล้วเราเปลี่ยนที่โปรแกรมเลย ! เปลี่ยนที่ความคิดเลย ! เปลี่ยนที่หัวใจเราเลย ! เราจะดีขึ้นมาแค่ไหน เราจะพัฒนาขึ้นมาแค่ไหน เพื่อประโยชน์กับเรานะ

นี่ทำบุญกุศล ! เราทำบุญกุศล เราต้องการให้บ้านข้างเรือนเคียง ต้องการสังคมให้สังคมร่มเย็นเป็นสุข แล้วเราจะร่มเย็นเป็นสุขไปด้วย..

แต่ถ้าบ้านข้างเรือนเคียงนี้มันเป็นสิ่งเราแก้ไขเขาไม่ได้ เราก็ต้องแก้ไขที่ตัวเรา ความคิดความรู้สึกของเรา เราพัฒนาของเราขึ้นมา ใจของเราพัฒนาขึ้นมา เพื่อประโยชน์กับเรานะ ! แล้วเวลาพิจารณาไป ถึงที่สุดแล้วมันแก้กิเลสของมันไป เป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป สิ้นสุดแห่งทุกข์ได้นะ เรามีความสามารถทำได้

ของสกปรกมันสามารถรักษาให้สะอาดได้ จิตที่มันเกิดมากับอวิชชา สามารถทำให้มันสิ้นจากอวิชชาได้ อวิชชานี้มันสำรอกคายออกได้จากดวงจิต.. พระไตรปิฎกเป็นแผนที่ เป็นเครื่องดำเนิน ชี้เข้ามาสู่ที่หัวใจของทุกๆ คน แล้วหัวใจของเรา เราแก้ไขที่นี่ ทำที่นี่ จบที่นี่ แล้วเราจะได้ผลที่นี่ ! เอวัง