ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

เป็นหรือไม่เป็น

๑๖ ต.ค. ๒๕๕๓

 

เป็นหรือไม่เป็น
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถาม : ๒๔๑. ทำไมภาพปฏิกูลที่เกิดขึ้นมาให้พิจารณาจึงไม่เกิดทุกครั้งครับ

ผมทำสมาธิเป็นแบบอัปปนาไม่ค่อยได้หรอกครับ แต่ก็ทำสมาธิแบบอานาปานสติ ไม่ให้มีนิวรณ์มากวนใจเท่านั้น แล้วเดินจงกรม เน้นลมรู้สึกสัมผัสตรงปากและจมูก ส่วนเวลาเดินเท้าก็เดินไปไม่สนใจอย่างอื่น

วันหนึ่งมันเริ่มเกิดเหงื่อ.. เกิดเหงื่อไคลเหงื่อออกมาจากท้ายทอยต่างๆ อยู่ในร่างกายขนาดนี้ เรายังไม่สามารถบังคับได้ (คือว่าเขาเห็นสภาพของเขา) เหงื่อจะออกของมันเอง มันจะเหม็นของมันเองบังคับไม่ได้ แล้วเราจะไปบังคับอะไรที่อยู่นอกกายได้ ที่อยู่นอกกายมันเป็นอนัตตาจริงๆ เห็นแจ่มแจ้งจริงๆ (นี่ความเห็นเขานะ)

ตัวเบาสบาย.. เบาสบายติดต่อกันมาหลายวันแล้วครับ เหมือนการถอดถอนปมกิเลสตัวที่ทำให้เราถือเนื้อถือตัว บ้าอำนาจออกไปได้ เหมือนกับตั้งแต่เราเกิดมา ไม่เคยมีนิสัยบ้าอำนาจ ถือตัวมาก่อนเลย กลับมานั่งสมาธิก็เห็นภาพเหงื่อออก เนื้อหนังมันเหี่ยวย่น กระดูกดำ มีสุนัขมากัดกินศีรษะ เข้าใจว่ากายเป็นอนัตตาจริงๆ ครับ เรียนถามหลวงพ่อว่า...

๑.ผมมั่นใจว่าเกิดปัญญาจากวิปัสสนา แต่อยากให้หลวงพ่อเมตตาพิจารณาว่า เป็นปัญญาจากวิปัสสนาจริงหรือเปล่าครับ

๒.ทำไมภาพปฏิกูลที่เกิดขึ้นมาให้จิตพิจารณาจึงไม่เกิดทุกครั้งครับ..แล้วทำอย่างไรจึงจะเกิดภาพปฏิกูลแบบนี้ให้จิตพิจารณาได้ทุกครั้ง ต้องทำสมาธิเพิ่มให้ลึกไปอีก หรือต้องเพิ่มมุมมองในการพิจารณาอย่างไรเพิ่มเติมไหมครับ

 

หลวงพ่อ : ข้อ ๑. ผมมั่นใจว่าเป็นปัญญาวิปัสสนา ! แต่อยากให้หลวงพ่อพิจารณาว่าเป็นปัญญาที่เกิดจากวิปัสสนาจริงหรือเปล่าครับ...

ตรงนี้ ! ตรงที่แบบว่า.. ปัญหานี้ถามมาหลายปัญหามาก ปัญหาแต่ละปัญหาที่ถามมา ก็แบบว่า “นี่พิจารณาไปแล้วมันดีอย่างนู้น.. ดีอย่างนี้ แล้วมันเป็นไปอย่างนั้น” แต่พอเวลามันเป็น เห็นไหม แล้วทุกคนก็จะถามว่า “มันเป็นสมถะหรือเป็นวิปัสสนา”

เราถึงบอกว่าถ้าเป็นวิปัสสนาหรือเป็นสมถะ ดูอย่างเช่นนักกอล์ฟ เห็นไหม เวลาเล่นกอล์ฟนี่เราตีกอล์ฟนะ เวลาไม่มีลูกกอล์ฟนี่เราจะตีอะไร เราก็ตีอากาศใช่ไหม แล้วมันเป็นการตีกอล์ฟไหม เราถือไม้กอล์ฟนี่แหละ แล้วตีกอล์ฟวืด ! วืด ! วืด ! อยู่อย่างนั้น เป็นการตีกอล์ฟไหม อ้าว... เป็นนะ เพราะเราก็ตีกอล์ฟไงแต่ไม่มีลูกกอล์ฟ เป็นการตีกอล์ฟไหม เราตีเทนนิส เราถือไม้เทนนิสแล้วก็หวดไปกับอากาศอยู่อย่างนี้เป็นการตีเทนนิสไหม ได้ตีเทนนิสหรือเปล่า.. ก็ตี ตีลมไง แล้วตีเทนนิสหรือเปล่า

ที่พูดนี่เราจะยกให้เห็นว่าสมถะกับวิปัสสนามันแตกต่างกันอย่างใด.. ทีนี้เวลามันเกิดปัญญาอย่างนี้ นี่ได้ตีเทนนิสไหม ได้ตีกอล์ฟไหม... ตี ! ตีเทนนิส ตีกอล์ฟ.. ตี ! แล้วมีลูกด้วย ตีเป็นอากาศด้วย แต่ได้แต้มหรือไม่ได้แต้ม เล่นกีฬาเป็นนัดแข่งขันหรือไม่ได้แข่งขัน หรือว่าเป็นการซ้อมกีฬา

ถ้าซ้อมกีฬานะมันเป็นอย่างนี้ไง ที่บอกว่าเวลามันพิจารณาไปนะ เราภาวนาของเราไปนี่เราเห็นภาพ เราเห็นความรู้สึก แล้วมันสะเทือนใจ.. มันสะเทือนใจนะ ! เวลาเราพูดเราพูดอย่างนี้ เราพูดแบบว่าไอ้ความที่ว่าเหงื่อไหลไคลย้อยนี่เด็กก็คิดได้ แล้วเราก็สอนเด็กด้วย ลูกหลานเราเห็นไหม “ตัวสกปรกนี่ต้องอาบน้ำ.. ร่างกายของเราต้องดูแลนะ.. ร่างกายสกปรกนี่เข้าบ้านใครไม่ได้นะ” มันเป็นเรื่องพื้นๆ ใครก็รู้ได้ เห็นไหม มันไม่มีเรื่องพิสดารอะไรเลย แต่ ! แต่ถ้าจิตมันมีพื้นฐานนะ จิตมันสงบนะ มันสะเทือนใจเอง

ไอ้จิตสงบนั้นคืออะไร... คือสมาธิ ถึงบอกว่าขาดสมาธิไม่ได้ ! แต่พวกคนที่เขาภาวนานี่เขาไม่เป็น นี่ไงถึงบอกว่ามันอยู่ที่ “เป็น” หรือ “ไม่เป็น” ถ้าไม่เป็นนะคือเราท่องพระไตรปิฎกหมดเลย เราท่องทั้งตู้เลยนะ เราท่องได้หมดเลยวรรคใดตอนใด บรรทัดใดพระพุทธเจ้าสอนอย่างไร เราท่องได้หมดเลย แล้วสอนคนอื่นได้หมดเลย แต่ตัวเองไม่รู้อะไรเลย เพราะเราภาวนาไม่เป็น

นี่ก็เหมือนกัน แต่เวลาจิตมันสงบเห็นไหม เหงื่อไหลไคลย้อยมา บอกว่าเหงื่อออกมานี่มันเหม็น ! มันเหม็นนะแล้วมันสะเทือนหัวใจ... มันพูดถึงนะ เวลาเข้าไปถึงมันถึงบอกว่า ถ้ามันมีกิเลสอย่างนี้ เวลาพิจารณาแล้วมันเข้าใจ “มันเหมือนกับถอดถอนปมกิเลส ที่ทำให้คนเราถือตัว บ้าอำนาจ” นี่ไง มันรู้เลยว่าเราบ้าอำนาจ.. แต่คนบ้าอำนาจมันไม่รู้ตัวนะ

เวลาคนบ้าอำนาจมันใช้อำนาจเหยียบย่ำคนอื่น มันทำไปมันไม่รู้ตัวหรอก แต่พอมีสมาธิ เห็นไหม ที่เขาบอกว่า “เหมือนกับการถอดถอนความบ้าอำนาจของเราเลย... เหมือนตัวบ้าอำนาจ” มันคิดเลยว่ามันบ้าอำนาจเพราะมันจะบังคับเขา นี่เพราะอะไร เพราะมันขาดสมาธิไง

ทีนี้พอมันขาดสมาธิ แล้วพอจิตมันเป็นอย่างนี้มันเป็นวิปัสสนาไหม จะบอกว่าถ้ามันเป็นวิปัสสนาก็ได้ นี่เล่นเทนนิสไหม เล่นได้แต่ไม่ได้แข่งขัน ไม่มีรางวัล แต่ว่าถ้าเราพิจารณาไปนะ คำว่าสมถะกับวิปัสสนานี่มันจะเกี่ยวเนื่องกัน แต่เหตุที่เราบอกว่าถ้าไม่มีสมถะ.. เรายืนยันอย่างนี้เพราะอะไร เพราะแบบว่าถ้าคนเป็นนะ “สมถะกับวิปัสสนานี่มันเกี่ยวเนื่องกัน” มันใช้ประโยชน์ร่วมกันเหมือนคนมี ๒ ขา มี ๒ แขน แขนซ้ายและแขนขวา เท้าซ้ายและเท้าขวานี่ทำงานร่วมกัน แล้วมันจะเป็นประโยชน์กับบุคคลคนนั้น

ถ้าคนภาวนาเป็น อาจารย์ที่เป็นนะเขาจะบอกให้ทำความสงบของใจ พอใจสงบแล้วเราใช้ปัญญาขึ้นไป นี่มันจะพัฒนาขึ้นไป มันจะเกี่ยวเนื่องกัน มันจะช่วยเหลือกัน เช่น ! เช่นเรายกของด้วยมือเดียวกับเรายกของด้วย ๒ มือ มันแตกต่างกันไหม ยกของด้วยมือเดียวนี่มันยกได้ไหม.. ได้ แต่ไม่ถนัดหรอก แต่ถ้าเรายกของ ๒ มือ นี่เราช่วยกันประคอง ของนั้นจะไม่มีการตกหรือไม่มีความเสียหายไป

เราทำสมถะ.. มือหนึ่งเรามีกำลังขึ้นมา อีกมือหนึ่งเราช่วยประคอง นี่ก็เหมือนกัน มันต้องอาศัยสมถะ แล้วก็ใช้ปัญญาแล้วก็จะเป็นวิปัสสนา..

ฉะนั้นด้วยความเฉ ด้วยความฉ้อฉล ด้วยความเฉไฉของนักปฏิบัติทั่วๆ ไป อันหนึ่งเขาจะบอกว่า “ไม่ต้องทำสมถะ.. ไม่ต้องทำสมาธิ ใช้ปัญญาไปเลย” ไอ้อีกอันหนึ่งก็บอกว่า “นี่ทำสมถะไม่เป็นประโยชน์.. จะใช้ปัญญาแล้วจะวิปัสสนาไปเลย”

ผิดทั้ง ๒ ฝ่าย ! ผิดทั้ง ๒ ฝ่ายเพราะอะไร ผิดทั้ง ๒ ฝ่ายเพราะเขาใช้เฉพาะส่วน ! เหมือนจะตีกอล์ฟไง เห็นเขาตีกอล์ฟนะ โอ้โฮ.. เป็นมือหนึ่งของโลกเลยนะ เราก็ถือไม้กอล์ฟมา กูก็ตีของกูด้วย กูก็วืด ! วืด ! วืด ! อยู่ทั้งวันเลย แล้วบอกว่ากูก็มือกอล์ฟเหมือนกัน..

นี่มันใช้ไม่ได้หรอก ! ไอ้คนที่เขาจะตีกอล์ฟนี่เขาแบบว่ามันมีเหตุผล แล้วเหตุผลมาจากที่ไหน.. เหตุผลที่มันมาจากอริยสัจไง ! ถ้ามันเข้าทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มันเข้าสู่อริยสัจ แล้วจิตมันกลั่นออกมาจากอริยสัจ มันจะเป็นความจริง

ถ้าเป็นความจริงอันนั้น เห็นไหม เราถึงบอกว่ามันไม่ใช่วิปัสสนา ไม่มีวิปัสสนาเลย ตอนนี้เลยกลายเป็นภาระเราหมดเลย จะถามมาเลยว่า “เป็นวิปัสสนาหรือไม่เป็นวิปัสสนาครับ.. เป็นสมถะหรือเป็นวิปัสสนา”

เราไม่มีหน้าที่อะไรเลยนะ มันไม่ใช่หน้าที่อะไรของเราเลย มันเป็นหน้าที่ของผู้ที่ปฏิบัตินั้นเท่านั้น เราจะไม่มีสิทธิไปให้คะแนน หรือไปตัดคะแนนของใครๆ เลยในโลกนี้ ! ในโลกนี้เราไม่มีสิทธิจะไปหักคะแนนของใคร จะไปเพิ่มคะแนนของใคร จะให้ใครได้คะแนนจากเรา ไม่มีเลย ! เพียงแต่ผู้ที่ปฏิบัตินั้นเขาปฏิบัติของเขาไป เขาจะให้ความรู้ของเขา ให้ความเห็นของเขา แล้วเขามาถามเราแค่เป็นที่ปรึกษา ให้เราแค่ฟังเท่านั้นเอง

โยมมีเงินในกระเป๋ากันมาคนละ ๕๐๐ บาท แล้วเราจะหักออกให้เหลือ ๔๐๐ บาท ๓๐๐ บาท มันเป็นไปได้ไหม.. มันเป็นไปไม่ได้หรอก ! เงินในกระเป๋าโยมมีเท่าไรก็คือเท่านั้นแหละ

นี่ก็เหมือนกัน ในการปฏิบัติมันเป็นของผู้ที่ปฏิบัติเท่านั้น เพียงแต่ว่า “เป็นหรือไม่เป็นไง” โยมมีเงิน ๕๐๐ บาทนะ แต่โยมไม่เข้าใจว่าโยมมีเงิน ๕๐๐ บาท ทำตกหล่นตกหายไปหมดเลยเงิน ๕๐๐ บาทนั้น ไอ้เราเป็นคนบอกว่านั่นเงินนะ.. นั่นเงินนะ เก็บให้ดีนะ เงินนี้ใส่กระเป๋าไว้นะ เงินนี่จะใช้ประโยชน์ไปข้างหน้านะ.. เราบอกโยมเท่านั้นเอง

นี่ก็เหมือนกัน สังคมนี่ด้วยความเฉไฉของเขา เห็นไหม ฝ่ายหนึ่งก็บอกว่าสมาธิไม่ต้องทำ ใช้ปัญญาไปเลย.. อีกฝ่ายหนึ่งก็บอกว่า ถ้าไม่ทำมันใช้ปัญญาแล้วมันจะเป็นวิปัสสนา.. ก็ว่ากันไป

ฉะนั้นสิ่งที่เขาถามว่า “ปัญญาของผมมั่นใจว่าเป็นวิปัสสนา.. หลวงพ่อมีมุมมองในการพิจารณาอย่างไร”

ปัญญาอย่างนี้ ปัญญาอย่างที่เขาว่า นี่ถ้ามีสมาธิ.. มีสมาธิหมายถึงว่าใจเราสงบ พอมันเกิดอย่างนี้ขึ้น ทำไมตั้งแต่เด็กจนโตมาจนป่านนี้ จนเป็นผู้ปฏิบัตินี่ไม่เคยรู้จักว่าเหงื่อนี้มันสกปรกเหรอ.. ก็รู้จักกันทุกคนแหละ แต่ทำไมมันไม่กินใจล่ะ ทำไมมันไม่สะเทือนใจล่ะ เพราะมันไม่มีสมาธิ เพราะมันไม่มีหลักเกณฑ์ไง แต่ถ้าวันไหนเรามีหลักเกณฑ์ขึ้นมา นี่มันสะเทือนใจเราเองเพราะอะไร เพราะสมถะไง เราถึงบอกว่าสมถะสำคัญมาก ! สมถะสำคัญ !

หลวงตากับหลวงปู่มั่นก็บอกว่า “สมาธิแก้กิเลสไม่ได้.. สมถะแก้กิเลสไม่ได้” เราก็รู้ๆ กันอยู่ไง แต่ถ้าไม่มีสมถะ วิปัสสนาเกิดไม่ได้.. วิปัสสนามันเกิดบนสมถะ ! ถ้าไม่มีสมถะ.. ปัญญาที่รู้ว่าเป็นเหงื่อไหลไคลย้อยนี่ใครก็รู้ โธ่.. พ่อแม่สอนลูกก็สอนมาตั้งแต่เด็กๆ ว่าให้ทุกคนอาบน้ำนะ ทำความสะอาดนะ ใครจะไม่สอน พ่อแม่ก็สอนลูกมาตั้งแต่เด็กๆ ไอ้เด็กๆ มันก็อาบน้ำมาตั้งแต่เด็กๆ มันก็รู้ว่าอะไรสะอาดหรือสกปรก มันก็รู้ทั้งนั้นแหละ แต่ทำไมมันไม่สะเทือนใจล่ะ.. ทำไมมันไม่สะเทือนใจ

บทมันสะเทือนใจ มันสะเทือนใจเพราะมันรู้สึกสำนึกตัว แล้วมันมีสมาธิขึ้นมามันก็สะเทือนใจ แล้วสะเทือนใจนี่เป็นวิปัสสนาหรือยัง.. ถ้าจะบอกว่าเป็นวิปัสสนาก็ได้ เราใช้คำว่าก็ได้ ! ก็ได้เพราะอะไร เพราะมันก็ใช้ปัญญาที่เกิดจากสมาธินั่นแหละ แต่คำว่าวิปัสสนานี้มันอยู่ที่

ข้อ ๑. ว่าเป็นวิปัสสนาหรือไม่เป็นวิปัสสนา

ข้อ ๒. เวลาครูบาอาจารย์เรานะ กรรมฐานเรานี่เขาเรียกว่า “ภาวนาเป็นหรือไม่เป็น” ถ้าคนภาวนาเป็นนะมันจะเดินได้ มันจะพัฒนาของมันไปได้เลย ถ้าคนภาวนาเป็นนี่ไปได้แล้ว

เวลาเราสอนกัน ครูบาอาจารย์ท่านสอนนี่สอนให้คนภาวนาเป็น คำว่าภาวนาเป็นนะ คือทำความสงบเป็น แล้วหัดใช้ปัญญาเป็น มันจะก้าวเดินไปแล้ว.. นี่ภาวนาเป็น ! เป็นมาก เป็นน้อยนี้อีกเรื่องหนึ่ง.. พอเป็นแล้ว เป็นถึงที่สุดไหม กิเลสมันจะขาดไหม นั้นอีกเรื่องหนึ่งนะ

นี่ไง เราถึงบอกว่า “เป็น” หรือ “ไม่เป็น” ถ้าเป็นนะ กรณีอย่างนี้ถ้าบอกว่าเป็นวิปัสสนาได้ไหม.. ได้ ! ได้ ! แต่.. แต่พอเราใช้บ่อยๆ ทีนี้พอบอกว่าได้ใช่ไหม มาข้อ ๒ นะ..

 

ถาม : ๒. ทำไมภาพปฏิกูลที่เกิดขึ้นมาให้จิตพิจารณาจึงไม่เกิดทุกครั้งครับ

หลวงพ่อ : นี่ไง ! ทำไมภาพที่เกิดขึ้น ทำไมมันไม่เกิดทุกครั้งครับ... แล้วมันเกิดไหมล่ะ อ้าว.. ถ้าวิปัสสนาแล้วถามทำไมล่ะ วิปัสสนามันต้องรู้สิ ก็โยมมั่นใจไง ข้อ ๑ บอกว่า “ผมมั่นใจว่ามันเป็นวิปัสสนา” แต่ข้อ ๒ ว่า “ทำไม ! ทำไมภาพปฏิกูลนั้น เมื่อเกิดขึ้นมาให้จิตพิจารณาแล้ว จึงไม่เกิดทุกครั้งครับ”

นี่ถ้าจิตมันสงบนะ ! จิตสงบแล้วถ้าคนพิจารณากายเป็น เห็นไหม พอจิตสงบแล้วน้อมไปหากาย กายจะขึ้นมาเลย แล้วมันจะเห็นของมันเลย นี่ภาวนาเป็น ! วิปัสสนาแล้วภาวนาเป็น... คำว่าภาวนาเป็น เหมือนนักกีฬาเลย พอเล่นเป็นแล้วเราจะเล่นอย่างไรก็ได้ใช่ไหม เราเล่นเป็น แต่ถ้าเล่นไม่เป็นก็ต้องจัดเปลี่ยนตำแหน่งใหม่

 

ถาม : ๒. ทำไมภาพปฏิกูลที่เกิดขึ้นมาให้จิตพิจารณาจึงไม่เกิดทุกครั้งครับ จะทำอย่างไรจึงจะเกิดภาพปฏิกูลแบบนี้ให้จิตพิจารณาได้ทุกครั้งครับ ต้องทำสมาธิให้เพิ่มลึกขึ้นไปอีกหรือไม่ หรือต้องเพิ่มมุมมองในการพิจารณา

หลวงพ่อ : เวลาถ้าเป็นนะ พอจิตสงบแล้วนี่ให้รำพึง ! ให้คิดไป ให้น้อมไปที่ภาพนั้น ถ้าภาพนั้นขึ้นมาก็ใช้ได้ แต่ถ้าภาพนั้นไม่ขึ้นมา เห็นไหม ถ้าภาพนั้นไม่ขึ้นมาแต่ขณะที่เป็นนี่เรียกว่าส้มหล่น !

“ผมมั่นใจว่าเป็นวิปัสสนา” คำว่าส้มหล่นหมายถึงว่า พอจิตมันสงบแล้ว มันเห็นเหงื่อเห็นไคลนี่แบบว่าภาพมันเดี๋ยวนั้น แล้วมันจับได้มันเป็นปัจจุบัน แต่ถ้ามันไม่เป็นใช่ไหม พอจิตเราสงบแล้วเราก็น้อมไป.. น้อมไปให้เห็นสภาวะของกาย ถ้าเห็นสภาวะของกาย อยู่ที่การเห็นปัจจุบัน มันจะเห็นเป็นเหงื่อ เป็นขน เป็นกระดูก เป็นเนื้อ เป็นเอ็น มันจะเห็นของมัน

ถ้าเรารู้โจทย์ก่อน นั่นแหละคืออดีต อนาคต.. แต่ถ้ามันขึ้นมาเป็นปัจจุบันมันจะสะเทือนหัวใจมาก นั่นแหละวิปัสสนาเป็นอย่างนั้น !

วิปัสสนา.. นี่จิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นกาย นี่จิตเห็น ! แต่ปัจจุบันนี้จิตกับเราเป็นอันเดียวกัน จิตกับอารมณ์เป็นอันเดียวกัน มันไม่เห็นสิ่งใดเลย เราทำความสงบของจิตจนจิตเป็นอิสรภาพ พอจิตเป็นอิสรภาพแล้ว จิตมันเสวยอารมณ์ จิตเสวยความคิด จิตเสวยเวทนา จิตเสวยภาพ จิตเสวยกาย จิตเสวย...

ถ้ามีสติ มันเห็นการเสวยนี่เป็นวิปัสสนา ! แต่ถ้าไม่มีสตินะ มันเป็นโดยความพลั้งเผลอของเรา เห็นไหม นี่ไงวิปัสสนามันเป็นอย่างนั้น !

ฉะนั้น มันอยู่ที่ไม่ต้องแบ่งแยกว่าอันนั้นเป็นสมถะ อันนั้นเป็นวิปัสสนา เราก็ทำความสงบของใจเข้าไป ถ้าจิตมันสงบมันพอแล้ว นี่มันเป็นไปได้.. ถ้ามันเป็นไปได้หมายถึงมันเห็นภาพอย่างนี้ ถ้าเห็นภาพอย่างนี้แล้วเรายังไม่พร้อมใช่ไหม ถ้าเรายังไม่พร้อมให้เรากลับมาที่พุทโธ หรือกลับมาอานาปานสติ กลับมาอะไรก็ได้ ชัดๆ ไว้ อย่าให้มันไปใช้งานก่อน

เหมือน ! เหมือนเรามีเงินสะสม เราจะมีเงินสะสมมากน้อยแค่ใด ถ้าเราจะเก็บไว้เงินสัก ๑ บาท พอเรามีเงิน ๑ สลึงเราก็ใช้แล้วใช้เล่า ใช้แล้วใช่เล่า นี้มันจะเกิดถึง ๑ บาทไม่ได้ ถ้าเราจะเก็บเงินถึง ๑ บาทใช่ไหม เรามี ๑ สลึง ๒ สลึง ๓ สลึง ๔ สลึง เก็บเรื่อยๆ มันจะครบ ๑ บาท

จิต... ถ้าสงบแล้ว ถ้ามันออกวิปัสสนา มันจะออกไปใคร่ครวญ ถ้าจิตเรายังไม่แข็งแรงพอเราบังคับได้ด้วยสติ พุทโธ พุทโธ พุทโธ.. พุทโธดึงไว้นี่มันออกไปไม่ได้หรอก มันจะเพิ่มจาก ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ จนครบกำลังของมัน แล้วเราค่อยใช้สอย

นี่การวิปัสสนาเป็นอย่างนี้ไง ! การวิปัสสนาหมายถึงว่ามีสมาธิคือเงิน คือทุน พอมีสมาธิแล้วเราจะลงทุนอย่างไร เราจะแก้ไขอย่างไร เราจะทำสิ่งใด.. แต่ถ้าเวลาจิตมันเห็นภาพนี่มันมาไง มันมาเหมือนกับการอนุเคราะห์ การสงเคราะห์ อย่างนั้นก็ได้

วิปัสสนาหรือสมถะนี้มันเป็นแค่ชื่อ ! แค่ชื่อ.. หลวงตาบอกว่าไก่มันยังมีชื่อ เห็นไหม ดูไก่สิไอ้แข้งทอง ไก่มันยังมีชื่อเลย ! แล้วอารมณ์ความรู้สึก.. เราจะเอาอารมณ์ความรู้สึกนี้ให้ชื่อมันทุกอารมณ์เลย มันจะเอามาจากไหน โอ้โฮ.. อารมณ์อย่างนี้นะเป็นสมถะ.. อารมณ์อย่างนี้เป็นวิปัสสนา.. แต่ในการกระทำนี่มันก็พัฒนาของมันไป

สมถะกับวิปัสสนา นี้เพียงแต่ว่าในสังคมเขาเถียงกัน ! เขาโต้เถียงกันไปเห็นไหม ว่าไม่ต้องทำสมาธิ.. ไม่ต้องทำสมถะ.. สมถะมันโง่เง่าเต่าตุ่น.. ต้องใช้วิปัสสนาไปเลย.. ไอ้วิปัสสนาไปเลยก็ย่องๆๆ กันอยู่นั่นไง วิปัสสนาอะไรกับของอย่างนั้น หุ่นยนต์มันยังดีกว่าอีก หุ่นยนต์มันก็ย่องๆๆ เพราะมีเหตุนั้นเราถึงพูดคำว่า “สมถะกับวิปัสสนา”

โลกียะกับโลกุตตระนี่เราพยายามจะชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่ทำกันเป็นโลก ! เป็นโลกหมายถึงสมมุติ เป็นโลกคือการสร้างภาพ สิ่งที่ทุกคนสร้างภาพกันอยู่นั้นไม่ใช่การวิปัสสนา ไม่ใช่การชำระกิเลสอะไรกันเลย ! เพียงแต่เห็นว่าชาวพุทธต้องปฏิบัติ เราก็สร้างภาพว่าปฏิบัติกัน มันไม่เป็นความจริง !

พอเป็นความจริงขึ้นมา เราพยายามจะชี้ให้เห็นว่าสิ่งนี้เป็นสมถะ.. สมถะ เราไม่ต้องสร้างภาพ มันจะรู้เองว่าเรามีทุนหรือไม่มีทุน ทุกคนนี่ในกระเป๋ามีตังค์หรือไม่มีตังค์เรารู้กันทั้งนั้นแหละ คนมีเงินมากมีเงินน้อย ตัวเองก็รู้ตัวเองว่ามีเงินมากเท่าไร จิตที่มันสงบเข้ามา คนนั้นก็จะรู้เองว่าเรานี่มีทุนเท่าไร พอเรามีทุนเท่าไรแล้วเราก็ใช้ปัญญาของเราเข้าไป เราถึงออกไปสมถะกับวิปัสสนา แล้วก็โลกียะกับโลกุตตระนี่

แล้วก็ว่าอะไรเป็นโลกียะ.. อะไรเป็นโลกุตตระ.. แหม ! เราก็เลยเป็นจำเลยสังคมเลยเนาะ ใครๆ ก็ต้องให้กูตอบ โอ๋ย.. ตาย เพียงแต่ว่าเขาเข้าใจผิดกัน ! แล้วเราก็ลงไปชี้ให้ แบ่งให้เขาเห็นว่าอะไรผิดอะไรถูก แล้วก็อยู่ที่เขาทั้งนั้นแหละ

เราจะไปให้ค่าใคร เราไม่ใช่ตำรวจที่จะเที่ยวไปจับเขา เขาไม่ได้ทำผิดเอาตำรวจไปจับไม่ได้นะ คนเขาไม่ได้ทำอะไรผิดเลยแล้วตำรวจจะไปจับใครได้ เขาปฏิบัตินี่มันเป็นสิทธิของเขา มันเป็นเรื่องในหัวใจของเขา เขาภาวนาของเขา แล้วเราเป็นศากยบุตร พุทธชิโนรส เราเป็นพระ เราเป็นลูกศิษย์ของครูบาอาจารย์ เราก็มาคุยกัน มาชี้นำกันให้มันถูกต้องเท่านั้นแหละ

เราจะบอกว่าเราไม่ใช่จำเลยสังคมนะ ! แหม.. ต้องให้กูเป็นจำเลยหมดเลย ใครจะมาจับกูไม่ได้หรอก เราไม่มีสิทธิ์จะไปบอกว่าใครถูกใครผิด เพียงแต่เราพูดความจริงของเราไป ถ้ามันถามว่านี่เป็นวิปัสสนาไหม... อ้าว เป็น ! เป็น ! ให้เป็นเลย.. แล้วทำไปนะ ทำอย่างนี้แหละ ภาวนาไปเรื่อยๆ

ไอ้ที่เห็นนั่นมันเห็นโดยส้มหล่น.. ส้มหล่นคือเห็นมันมาเอง แต่ถ้าคำว่าเป็นนะ พอจิตสงบแล้วนี่เรารำพึงไปเลย รำพึงไปที่ภาพ แล้วรำพึงไปที่ภาพนี่มันจะเกิดขึ้นโดยปัจจุบัน ไม่ต้องไปหวังว่ามันจะเกิดภาพสิ่งใด มันจะเกิดในปัจจุบัน แล้วเกิดแล้วนี่ถ้าสมาธิดีเราใคร่ครวญมันไป นั่นเป็นวิปัสสนา !

แล้ววิปัสสนาไปเรื่อยๆ เห็นไหม วิปัสสนาแก่อ่อนขนาดไหน ถึงที่สุดแล้วมันจะสมุจเฉท.. มันยังมีตทังคะอีกนะ ตทังคะคือปล่อยๆๆๆ ปล่อยแล้วไม่ขาด ปล่อยแล้วมันมีส่วนเหลือ แต่ถ้ามันสมุจเฉท..คือมันปล่อยขาด แล้วปล่อยขาดนี่สังโยชน์ขาดอย่างไร

ถ้าสังโยชน์ขาดนี่เป็นโสดาบัน.. แล้วถ้าพิจารณาต่อไป ก้าวต่อไป จับกิเลสให้ได้ สังโยชน์ขาดอีกเป็นสกิทาคา.. แล้วก้าวเดินต่อไปสังโยชน์ขาดอีกเป็นอนาคา.. แล้วก้าวเดินต่อไป สังโยชน์ขาด ! สังโยชน์ ๑๐ ขาดหมด ! เป็นพระอรหันต์.. วิปัสสนาแท้ๆ อยู่ตรงนี้ !!

นี่ไงที่บอกว่า “เป็น” หรือ “ไม่เป็น”

 

ถาม : เรื่อง “สภาวธรรมมรรคผลหรือเปล่า”

๒๔๒. วันหนึ่งขณะเดินจงกรมสลับนั่งสมาธิ ในช่วงหนึ่งนั่งสมาธิ... เบื้องต้นปรากฏภาพมีภูเขา ท้องฟ้า แม่น้ำ และทะเล ไม่แน่ใจว่าสักพักก็รู้สึกว่าภูเขานั้นพังครืน !ลงไปรวมกับสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ แล้วก็หายไปกลายเป็นความว่าง แต่แปลกตรงที่ว่าความว่างมีแสงสว่างในตัวเอง ปรากฏอยู่สักพักจิตก็ถอนสมาธิออกมา ก่อนหน้านี้รู้สึกว่าสมาธิจะไม่เหมือนกับที่ผ่านมา คือสมาธินี้นุ่มลื่นสบายแบบบอกไม่ถูก

หลวงพ่อ : สภาวธรรม... ใช่ ! เพราะว่าเวลาจิตมันสงบแล้ว สภาวธรรมนะ สภาวธรรมมันเกิดจากความสงบของใจ !

“สภาวธรรมหมายถึงธรรมะที่แสดงออกมาโดยหัวใจของเรา”

แสดงออกมาในหัวใจของเรา แล้วก็สอนหัวใจของเรา ให้เราซาบซึ้ง เห็นไหม นี่ถ้าคนเคยภาวนา คนเคยเห็นสภาวะแบบนี้ไปแล้วนะ เวลาทำสมาธิจะนุ่มลึก สบายใจอย่างนี้แหละ นี่เป็นการประพฤติปฏิบัติ

มันเหมือนกับเด็กไง เด็กเวลามันโตขึ้นมา มันพัฒนาขึ้นมานี่มันจะรู้ เห็นไหม เด็กโตขึ้นมา พัฒนาขึ้นมา พ่อแม่รู้ดีมาก เสื้อผ้ามันใส่ไม่ได้มันคับ ต้องซื้อเสื้อผ้าใหม่เลย

จิตเวลามันเป็น มันรู้มันเห็น เห็นไหม นี่มันนุ่มลึก มันนุ่มนวลอย่างนี้แหละ.. เรามีสติเราพร้อมอยู่นะ คนภาวนาสติจะสมบูรณ์มาก

นี่สภาวธรรมมรรคผลหรือเปล่า... สภาวธรรมกับมรรคผลคนละเรื่องนะ ! สภาวะ เห็นไหม เขาบอกว่าสภาวธรรม.. สภาวธรรม นี่โสดาบันเป็นสภาวธรรมไหม.. ไม่ใช่ ! โสดาบันไม่ใช่เป็นสภาวธรรม

โทษนะ.. สภาวธรรมคืออารมณ์นี่แหละ ! อารมณ์ความรู้สึกกระทบนี่แหละเป็นสภาวะ เป็นความรับรู้.. มรรคผลนี่มันพ้นจากสภาวะนั้นไป มรรคผลไม่ใช่สภาวธรรมนะ

โสดาบัน สกิทาคา อนาคา อรหัตตผลนี้ไม่ใช่สภาวธรรม.. เป็นตัวธรรม ! คือตัวใจที่เป็น ! ไม่ใช่สภาวะ.. แต่สภาวะคือขณะที่จะเป็น ขณะที่มันเกิดสภาวะ มันมีการเปลี่ยนแปลง นี่คือสภาวะ !

สภาวธรรมหรือมรรคผล.. สภาวธรรมเป็นอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลง.. มรรคผลคือ อกุปปธรรม อฐานะ สิ่งที่จะแปรปรวน อฐานะคือมั่นคง มรรคผลคือมั่นคง !

สภาวะ นี่เขาว่าสภาวะโสดาบัน... เราฟังดูแล้วนี่ภาวนาไม่เป็น เป็นหรือไม่เป็นมันฟ้องหมด ถ้าไม่เป็น ถ้ากำลังก้าวเดิน ก็เหมือนกับกินข้าว ขณะที่กินข้าวอยู่นี่สภาวะ.. ถ้าอิ่มแล้วไม่เป็นสภาวะ อิ่มแล้วนั่งอยู่เฉยๆ ถ้วยจานเก็บหมด นี่ธรรม ! แต่ขณะกินอยู่นี่สภาวะ ! สภาวะ ที่กำลังกินอยู่นี่สภาวะ แล้วกินๆ ไปแล้วนี่หิวอีก แต่ถ้ามรรคผลนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง..

นี่เขาถามมาว่าเป็นมรรคผลหรือเป็นสภาวธรรม.. กูก็เป็นจำเลยอีกแล้ว ไม่ใช่ ! สิ่งที่ได้แล้วคือได้แล้ว คือเขาทำไปแล้ว แต่ถ้าให้เราวินิจฉัย เราว่านี่เป็นสภาวธรรม.. สภาวธรรมที่มันเกิดขึ้นไง มันเกิดขึ้น อารมณ์ยังดีขึ้น ยังพัฒนาขึ้น สถานะเพิ่มขึ้น

 

ถาม : ๒๔๓. เรื่อง “ความจริงหรือความลวง”

หลวงพ่อ : โอ้โฮ.. นี่พูดถึงเรื่องพระเนาะ... ความจริงหรือความลวง พูดถึงเรื่องพระ

ถาม : ลูกกลัวค่ะหลวงพ่อ ความรู้สึก ความชั่ว ความดี กลับมารู้สึกสะเทือนใจ เพราะลูกเฝ้ารอสายรุ้งปรากฏบนท้องฟ้าอยู่เจ้าค่ะ ลูกไม่มีคำถาม..

หลวงพ่อ : ลูกไม่มีคำถามเนาะ เขาเขียนมาถึงสภาวะที่เขาเห็นมา อันนี้ผ่านเลย...

 

ถาม : ๒๔๔. “อยากทราบว่าลักษณะอย่างนี้เป็นการแยกรูปแยกนามหรือไม่”

หนูนั่งสมาธิพุทโธทุกวัน ช่วงนี้โดยเฉพาะชีวิตประจำวันหนูจะรู้สึกว่า ขณะมีสติจิตมันเป็นจิต กายมันเป็นกาย แต่ถ้าเผลอสติ กายกับจิตจะรวมเป็นหนึ่งเดียวค่ะ พอจิตเป็นจิต กายเป็นกาย มีความรู้สึกสุขสงบดีมาก

หนูสงสัยอยากถามหลวงพ่อว่า.. ลักษณะที่ว่ากายเป็นกาย จิตเป็นจิต เป็นการแยกรูปแยกนามหรือไม่คะ

หลวงพ่อ : ขันธ์ ๕ ไม่ใช่จิต.. จิตไม่ใช่ขันธ์ ๕ ! ความคิดไม่ใช่เรา.. ความคิดกับเราไม่ใช่อันเดียวกัน... ความทุกข์-ความสุขไม่ใช่เรา ถ้าความทุกข์-ความสุขเป็นเรา เวลาเราสุขเราจะกอดไว้เลยไม่ให้ความสุขไปจากเรา เวลาทุกข์เราจะผลักไม่ให้มันมาหาเราเลย

ฉะนั้นมันไม่ใช่เราแต่มันเป็นอาการ... มันเป็นอาการ เป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ มนุษย์มีสภาวะแบบนั้น

ฉะนั้นเวลาแยกรูปแยกนามอย่างนี้ จิตเป็นจิต กายเป็นกาย นี่เราสร้างภาพได้นะ... เราจะบอกเลย เราจะสร้างภาพเลย อย่างเช่นเราบอกเลยนะ นี่เราเป็นพระดีมากเลย เราเป็นคนที่ไม่มีความโกรธเลย แล้วเราบอกลองก็ได้นะ นี่มาแหย่ฉันเลย ฉันจะไม่โกรธ ใครจะมาด่าอย่างไรฉันก็นั่งกดไว้เลยว่าไม่โกรธ.. ไม่โกรธ.. ไม่โกรธ นี่เราสร้างได้ไหม...ได้ !

อันนี้ก็เหมือนกัน จิตเป็นจิต กายเป็นกาย พอเราศึกษาตำรามาแล้ว เราจะสร้างภาพอย่างไรก็ได้ ! นี่เราเป็นพระที่ดีมากเลย ดูสิไม่มีอารมณ์ความรู้สึกเลย ใครจะมาด่าอย่างไรก็ไม่โกรธ ให้ ๑๐ คนมานั่งด่าเลย เราก็อดทนไว้ อืม.. ไม่โกรธ.. ไม่โกรธ.. ไม่โกรธ เห็นไหม นี่เป็นพระที่ดีมากเลย

นี้ก็เหมือนกัน กายเป็นกาย จิตเป็นจิต นี่มันรู้แล้วไง เรารู้โจทย์แล้วเราก็ทำได้ ฉะนั้นกรณีอย่างนี้มันก็ต้องมี ! มันก็ต้องมีหมายถึงว่า เรารู้โจทย์แล้วใช่ไหม เราศึกษาธรรมะแล้วใช่ไหม นี่ปริยัติ.. ศึกษาแล้วนี่รู้โจทย์แล้ว แต่ปฏิบัติมันอีกคนละเรื่องเลย

ฉะนั้นอย่างที่เราว่าไง เราไม่โกรธ.. เราไม่โกรธ แต่จริงๆ แล้วโกรธไหมล่ะ ไอ้ไม่โกรธ.. ไม่โกรธนี่ก็อึดอัดเต็มทีแล้วนะ นั่งอยู่นี่ก็แหม.. อัดเต็มทีแล้ว ไม่โกรธนี่แหละแต่มันเต็มทีแล้ว

นี่ก็เหมือนกัน รู้ธรรมะๆ นี่แหละ.. แยกๆ นี่แยกจริงหรือเปล่า.. แต่เราก็ต้องอาศัยขันติ อาศัยการกดไว้

นี่ระดับปฏิบัติมันมีตั้งแต่ระดับอนุบาล มีฝึกหัดใหม่ ประถม มัธยม มันก็พัฒนาไปเรื่อยๆ จิตมันพัฒนาไปเรื่อยๆ เวลาคุยธรรมะกัน เห็นไหม คนนี้ปฏิบัติมา ๔๐ ปี คนนี้ปฏิบัติมา ๓๐ ปี คนนี้เพิ่งปฏิบัติ นี่มันมีการพัฒนาของมันไง.. ฉะนั้นเราปฏิบัติใหม่ เราไปเจอสิ่งใดเราก็ตื่นเต้นไง

ฉะนั้น อยากทราบว่าแยกรูปแยกนามจริงหรือเปล่าคะ... จริงสิ ! ก็เราแยกไว้ได้จริงๆ ไง แต่มันเป็นจริงหรือเปล่า ! ถ้าเป็นจริงนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แยกได้ไหม.. ได้ ! สมมุติให้แยกก็ได้ ! ทำอย่างไรก็ได้ ได้ทั้งนั้นแหละ แต่มันเป็นจริงหรือเปล่า !

ถ้ามันเป็นจริงนี่เรารู้เอง ปัจจัตตัง.. สันทิฏฐิโก.. รู้จำเพาะตน ! มั่นคงแข็งแรง ! ใครจะทำอย่างไรก็ไม่รู้สึก !

นี่พูดถึงในเรื่องของความจริงนะ แต่ที่ถามว่าอย่างนี้ได้ไหม.. ได้ ! นี่เวลาตอบมันตอบเรื่องอย่างนี้ได้..

 

ถาม : ๒๔๕. เรื่อง “จิตลงขณะเดินจงกรม”

๑.โยมขอกราบเรียนถามหลวงพ่อเจ้าค่ะเรื่องการเดินจงกรม เมื่อเดือนที่ผ่านมาโยมได้มีโอกาสไปภาวนาที่วัด ๗ วัน ขณะที่โยมเดินจงกรมอยู่จิตมันลงจิตมันละเอียดจนเดินไม่ได้ โยมเลยหยุดพิจารณา แล้วค่อยพุทโธไปใหม่ ต่อมาโยมไปฟังเทศน์หลวงพ่อคำถามที่ว่า ถ้าจิตมันละเอียดในขณะเดินจงกรม นี่ภาวนาไปและเดินจงกรมไปด้วย เท่ากับว่าเวลานี้สภาวธรรมที่เกิดขึ้นให้นั่งเลยไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น แต่โยมหยุดยืนเฉยๆ เพราะเดินต่อไปไม่ได้ จิตมันค่อยๆ กลับมาพุทโธ

หลวงพ่อ : นี่พูดถึงเดินจงกรม.. เราพูดถึงการเดินจงกรม แล้วจิตลงสมาธิไง.. จิตลงสมาธิ อย่างขณิกสมาธิ.. อุปจารสมาธิ.. อัปปนาสมาธิ..

ถ้าขณิกะกับอุปจาระนี่มันยังเดินจงกรมได้.. ขณะเดินจงกรมถ้าพูดถึงเวลาอัปปนา แบบว่าอัปปนานี่จิตมันจะหดตัวเข้ามาเป็นอิสระ มันเหมือนกับมันถอนความรู้สึกเข้าไปอยู่ในตัวมันเอง มันสักแต่ว่า.. ร่างกายนี้จะเคลื่อนไหวไม่ได้ เพราะมันไม่มีระบบประสาทสั่งงานมัน

ฉะนั้นเวลาจิตมันลงนะ เวลาจิตมันลงเข้าอัปปนานี่มันสักแต่ว่า คือมันดับหมด อายตนะดับหมด มันถึงต้องนั่งลง

การว่านั่งลง การทำอย่างนี้มันทำได้ยากเพราะอะไร เพราะเวลาจิตมันไหว มันมีความรู้สึกอะไรนี่เราจะสะดุดหมดเลย แม้แต่อารมณ์ความรู้สึก ถ้าเราประคองไม่ดีมันก็ไหวแล้ว.. แล้วถ้าเราค่อยๆ นิ่งลง แล้วค่อยๆ หยุดลง แล้วค่อยๆ.. ไอ้นี่มันต้องคนชำนาญมากนะ

เวลาเราพูดนี่เราพูดถึงเป้าหมายไง คือการพัฒนา จิตมันมีระดับของมันอย่างนี้ๆ แล้วโยมจะทำให้มันเป็นจริงนี่มันทำได้ยาก แต่ไม่สุดความสามารถของคนหรอก

นี้พอเราพูดอย่างนี้ แล้วพอเขามาฟังเราไง มาฟังเวลาเราพูดไอ้ที่ว่าจิตสงบ.. อันนั้นมันสงบก็ให้มันสงบไป แต่ถ้าทำแล้วนี่มันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

 

ถาม : ๒.“ส้มหล่นหรือติดสุข”

เหตุการณ์ที่เกิดก่อนในข้อที่ ๑ ในช่วงวันอาสาฬหบูชาที่ผ่านมา โดยโยมภาวนาอยู่กับหลวงพ่อ ในช่วงเวลากลางคืนเวลาประมาณตี ๒ เกิดอาการง่วงมาก โยมนั่งเฉยๆ จิตมันก็เตือนตัวเองให้นั่งภาวนา แล้วจิตมันก็ตื่น โยมจึงตั้งสติพุทโธ แล้วก็เกิดเห็นก้อนสีดำวิ่งเข้ามาหาตัว มันเหมือนกับคลื่นพลังงานโถมเข้าใส่ แต่โยมตั้งสติพุทโธโดยไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น อยู่ต่อไปจนจิตมันสว่าง มีอาการเกิดขึ้น จิตมีคำบริกรรมจนออกจากภาวนา ซึ่งเช้าวันต่อมาทั้งวันรู้สึกว่ามีความสุขมาก.. มีความสุขมากถือเนสัชชิกมีโอกาสไป.. จะมีความง่วงตอนกลางวัน พิจารณาแล้วมีอาการของความเพลีย ความสดชื่นต่างๆ (อันนี้เราภาวนาไปนะ) พอเหตุการณ์ผ่านไป คืนผ่านไปต้องเจอสภาวะอีก โยมก็ข้องใจ.. ก็อยากเจอสภาวะนั้นอีก แต่โยมก็ข้องใจค่ะ

หลวงพ่อ : พอเวลาเราภาวนาไปมันจะไม่เกิด.. ถ้ามันเกิดนี่มันเกิดมาเหมือนเดิม เรามีสติเป็นปัจจุบันก็เป็นปัจจุบัน

กรณีอย่างนี้นะเวลาภาวนาไปแล้วนี่มีผล.. ผลคือจิตมันมีผลตอบสนองนิดหน่อย แล้วเรามีความอยากได้ตรงนั้นไง เขาเรียกว่า “ตัณหาซ้อนตัณหา” คือเราไปคิดถึงที่ผลไง สิ่งที่เราภาวนานี่มันได้ผล ฉะนั้นพอเราทำแล้วเราคิดถึงผลนั้น ขณะที่ทำนี่มันก็ไปยึดอดีตไว้ตลอดเวลา พอยึดอดีตนี่จิตมันส่งออกแล้ว ส่งออกไปอดีต มันแทบจะไม่ได้ผลอะไรเลย แต่ขณะที่ว่าอดีตนั้นคือผลที่เราเคยได้มา แต่เวลาเราปฏิบัติเราจะต้องอยู่กับปัจจุบัน กลับมาที่ปัจจุบันตลอด ! กลับมาที่พุทโธตลอด กลับมาที่เหตุ

“ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ”

สติสมบูรณ์.. คำบริกรรมสมบูรณ์.. ผลมันจะเกิดของมันเอง ! ผลจะเกิดของมันเอง.. นี่คำว่าเกิดของมันเอง คำว่าเอง.. เองหมายถึงว่ามันบริกรรมพุทโธอยู่ แล้วผลมันจะเป็นของมัน.. เป็นของมันเพราะเหตุ.. เหตุเพราะเราบริกรรมพุทโธ

ทีนี้พอผลจะเกิดของมันเอง ทุกคนเข้าใจว่าถ้าเกิดของมันเองใช่ไหม ทุกคนก็นอนหมดเลย เดี๋ยวผลจะเกิดเอง.. นี่ไง เวลาคนฟังธรรม แค่นี้คนก็เข้าใจผิดแล้ว บอกว่าผลจะเกิดของมันเอง แต่เกิดเองจากการปฏิบัติ ไม่ใช่เกิดเองโดยที่เราไม่ต้องทำอะไร !

ทีนี้พอบอกว่าผลจะเกิดของมันเองนะ อ๋อ.. เกิดจากมันเองเนาะ ปูเสื่อๆ นอน ! เดี๋ยวผลจะเกิดเอง !

นี่คนไม่มีครูบาอาจารย์มันเป็นอย่างนั้น มันเสียหายหมดไง ฉะนั้นเวลาจะตอบปัญหาเราต้องระวังตลอด เพราะ ! เพราะอัดเขาไว้เยอะ จับผิดเขาไว้เยอะ พอจะตอบขึ้นมาก็กลัวผิดไปหมดเลย พูดอะไรนี่พูดไม่ได้เลย

มันจะเกิดเองต่อเมื่อมันมีเหตุไง ! ฉะนั้นจะบอกว่าสิ่งที่มันเป็นนี่นะคือมันเป็นมาแล้ว.. มันเป็นมาแล้วก็คือผล เป็นการยืนยันว่าเราปฏิบัติ แล้วเราทำได้ผลแล้ว ไม่ต้องไปกังวลกับมันอีก แล้วเราก็สร้างเหตุของเราไปเรื่อยๆ สร้างเหตุของเราไปเรื่อยๆ นะ !

 

ถาม : ๒๔๖. เรื่อง “อาการปีติ”

ได้อ่านธรรมะของหลวงพ่อทางอินเตอร์เน็ต ฝึกสมาธิมาต่อเนื่อง จริตชอบอานาปานสติ เพราะรู้สึกว่าสงบได้ง่ายและเข้าใจว่า... (นี่โยมเขาถามปัญหามา)

๑. การฝึกอานาปานสติ แบบดูลมเคลื่อนไหวไปทั่วกาย เป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ เมื่อได้เคลื่อนลมไปทั่วกาย จะพบว่าร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เหมือนรู้สึกได้ถึงอาการสั่นเล็กๆ ในเซลล์ของร่างกาย อันนี้ถูกไหม

หลวงพ่อ : ฝึกอานาปานสติ.. คำว่าฝึกอานาปานสติ นี่มันเราฝึกลมหายใจใช่ไหม เราฝึกลมหายใจให้มาอยู่ที่ปลายจมูก กำหนดลมหยาบ ลมละเอียด ลมสั้น ลมยาว.. แต่ถ้าอย่างนี้นะมันเหมือนกับที่เขาเรียกว่า “ลมปราณไง”

นี่จะฝึกลมปราณ ถ้าฝึกลมปราณเพราะ ! เพราะเขาบอกว่า “ลมไปทั่วกาย ร่างกายเปลี่ยนแปลง.. ลมเข้าไปทั่วกาย เห็นไหม รู้สึกถึงอาการสั่นเล็กๆ ในเซลล์ของร่างกาย... รู้สึกถึงอาการสั่นของเซลล์เลยนะ ! รู้สึกถึงอาการสั่น”

กรณีอย่างนี้นะ นี่พูดให้ชัดๆ นะ เราภาวนากันทุกๆ อย่าง เราภาวนาเพื่อให้จิตสงบ แต่ในเมื่อจิตอาศัยอยู่ในร่างกายนี้ กำหนดคำบริกรรมพุทโธ พุทโธ นี่พุทธานุสติ ! ธัมโมสังโฆ.. มรณานุสติ คิดถึงความตาย.. นี่เป็นอารมณ์ความรู้สึก

แต่เวลาอานาปานสติ กำหนดลม เห็นไหม ถ้าลมเข้าไปที่ตัว คือเราต้องการอาศัยลม.. อาศัยคำบริกรรม.. อาศัยกรรมฐาน ๔๐ ห้อง เพื่อให้จิตสงบไม่ใช่เพื่อร่างกายสงบ.. ร่างกายสงบไม่มี !

พอร่างกายสงบไม่มี แล้วเราเข้าไปในเซลล์ในร่างกาย นี่เราจะไปหาความสงบในเซลล์เลยเหรอ.. จะไปหาจิตที่ไหนกัน จะไปหาจิตในกระดูกเหรอ.. มันไม่มี ! เพียงแต่จิตเราอาศัยพวกนี้เพื่อแสดงตัว แล้วให้จิตมันสงบเข้ามา..

นี่เราทำกันเอาจิตนี้เกาะต่างๆ เพื่อให้จิตสงบนะ แล้วที่เขาพูดกัน เห็นไหม บอกว่าเวลาย่างไปนี่ต้องรู้กระทบๆ จิตมึงอยู่ที่กระทบเหรอวะ.. จิตมันอยู่ที่จิต ! ความรู้สึกมันอยู่ที่จิตนะ แล้วเราเคลื่อนไหวนี่เพื่อความสงบนะ

เขามาถามปัญหาอยู่ บอกว่ารู้อาการย่างเท้า นี่ต้องรู้กระทบ.. โทษนะ เราบอกว่าสมาธินี่มันอยู่ที่ส้นเท้าเหรอ? สมาธินี้มันลงที่ส้นเท้าพอดีเนาะ.. ไม่มีหรอก ! สมาธิลงที่จิต ! แล้วมันส่งออกกันหมดไง

นี่เพราะมีคำถามมาพอดี เห็นไหม อันนี้พูดถึงเขาบอกว่า “ลมอานาปานสติ.. เกาะลมเพื่อให้จิตสงบ” ทีนี้พอไปพอเข้าถึงร่างกายแล้ว..

เราจะบอกว่าอย่างนี้นะ หลวงตาท่านสอนว่าอย่างนี้ “ไม่ต้องตามลมไปตามลมมา ให้อยู่ที่ปลายจมูก เวลาลมเข้าก็รู้ว่าเข้า ลมออกก็รู้ว่าออก” เหมือนกับคนเฝ้าบ้าน เรานั่งอยู่ที่ประตู คนจะเข้าประตูหรือออกประตูเราก็เห็น.. คนเข้าประตูบ้านเราก็ตามเขาไป เขาเข้าไปในห้องน้ำ ห้องรับแขก ประตูเราก็ทิ้งไว้ ไอ้คนที่ ๒ คนที่ ๓ มานี่มันก็จะเข้าบ้านเราได้

ถ้าเราเฝ้าที่ประตูบ้านเรา เห็นไหม คนที่ ๑ เข้าไป เข้าไปเลยนี่บ้านฉัน เวลาออกก็ออกที่ประตูนี่เราก็รู้ คนที่ ๑ ออกแล้ว คนที่ ๓ เข้า คนที่ ๔ ออก.. นี่รู้หมดเลย ! เห็นไหม รู้หมดเลยนี่รู้เพื่ออะไร.. รู้เพื่อรู้.. รู้คืออะไร.. รู้คือผู้รู้.. รู้คือจิต !

“นี่ไง คนเป็นหรือไม่เป็น”

ถ้าเป็นสอน... เพราะเราภาวนาเพื่อจิตกันนะ ที่เราทำกันอยู่นี้เพื่อความร่มเย็นนะ เพื่อหัวใจนะ เพื่อค้นคว้าที่ตัวเรานะ เราไม่ใช่ไปค้นคว้าที่ร่างกาย ร่างกายให้หมอมันรักษาก็แล้วกัน

ถาม : “เหมือนรู้สึกถึงอาการสั่นเล็กๆ ในเซลล์ของร่างกาย อันนี้ถูกหรือไม่”

หลวงพ่อ : ไอ้กำหนดอย่างนี้ เราจะบอกว่าการทำงานของคนนะ ทุกคนทำงานมันมีความผิดเป็นธรรมดา อย่าเสียใจ และไม่ได้ว่าใคร เพียงแต่บอกถึงหลักการ บอกถึงความถูกต้อง

ฉะนั้นสิ่งที่ผิด.. เรานี่ผิดมาเล่า ๓ ปีไม่จบหรอก เราผิดมาเยอะมาก.. ผิดแล้วอู้ฮู.. ทดสอบจนว่ารู้ว่าผิดถึงปล่อยนะ ผิดแล้วก็ไม่ยอมรับว่าผิด ต้องเอาเต็มที่ ไม่อย่างนั้นมันจะคาใจอยู่ เวลาเราผิดแล้วเราจะพิจารณาของเราเต็มที่เลย จนถึงที่สุดนะ อันนี้จบแล้ว.. ทดสอบจนจบแล้ว ทิ้ง ! เอาใหม่.. เอาใหม่ เราทำอย่างนี้มาตลอดนะ เราผิดมาเยอะมาก ! เยอะจริงๆ ถ้าไม่ผิดมาเยอะ มันจะไม่มีประสบการณ์ขนาดนี้หรอก ไอ้ที่พูดนี่พูดประสบการณ์ ผิดมาเยอะมากจริงๆ นะ

 

ถาม : ๒. เมื่อได้ฝึกสมาธิช่วงเวลาหนึ่ง อาการตัวสั่นและหมุน ซึ่งสังเกตพบว่าเกิดตอนที่รู้สึกสงบและตามรู้ลมไปต่อเนื่อง อาการสั่นที่มีหลายรูปแบบ คือบางทีสั่นเฉยๆ ทั่วตัว บางทีสั่นเฉพาะช่วงไหล่บ้าง บางทีหมุนรอบกาย รอบแขน รอบแกนกระดูก.. เคยฝืนนั่งต่อไป เหมือนเห็นแกนกระดูกตัวเองหมุนขบกัน

อาการเหล่านี้คือ “หญ้าปากคอก” หรือเจ้าคะ ทำไมถึงเกิดขึ้น เคยสอบถามไปหลายที่ บางที่บอกว่าเป็นเพราะสังขารเก่าที่สะสมมา เพราะเคยฝึกสมาธิโลดโผนมา เคยทำกรรมฆ่าสัตว์มาเป็นประจำมาก หรือแม้กระทั่งบอกว่าเป็นอาการหนึ่งของปีติ

โยมอยากได้คำตอบ เพราะรู้ว่าเวลาปฏิบัติพอเกิดอาการจะมีความคิด ๒ อย่าง คือ๑. สงสัย และ ๒. กลัว.. จะเลิกปฏิบัติและท้อใจ แต่พอลืมๆ ก็กลับมานั่งสมาธิดูค่ะ แล้วก็เกิดอีก อาการนี้เป็นมา ๗ ปีแล้ว แต่ไม่ได้ฝึกสมาธิทุกวัน เกี่ยวหรือเปล่าคะบางท่านว่าฝึกทุกวัน จะตั้งใจไว้แล้วจะหายเร็วๆ

หลวงพ่อ : ถ้ามันการสั่นการไหวอย่างนี้.. ถ้าเรากำหนดอานาปานสติ ก็อานาปานสติไว้ กำหนดลมไว้เฉยๆ ชัดๆ ! เราใช้คำว่าพุทโธชัดๆ ! ลมหายใจชัดๆ ! แล้วถ้าอะไรจะเกิดให้เกาะอานาปานสติไว้ สิ่งนั้นจะจางไป.. จางไป.. จางไป..

ไม่ต้องไปรับรู้อาการไหว ไม่ต้องไปรับรู้สิ่งใดๆ เลย เพราะอาการไหวนี้เป็นอาการของมาร.. อาการไหว อาการโยก อาการคลอนเป็นอาการของมาร เพราะมารเอาสิ่งนี้ สมมุติว่าเรานั่งอยู่นี่จิตจะลงแล้ว อ้าว.. ไหว ก็ลุกทีหนึ่ง อ้าว.. ไหว ก็ตื่นทีหนึ่ง เห็นไหม เป็นอาการของมาร จะให้เรากลับมาที่จุดสตาร์ทตลอดเวลา พอเราเริ่มเคลื่อนตัวไปมันจะเกิดอาการไหวเกิดอาการต่างๆ

จำไว้ ! พุทโธชัดๆ ! ลมหายใจชัดๆ ! โยมทำอะไรก็ได้ขอให้ชัดๆ !

พอชัดๆ แล้วอาการไหวนี่มันจะไปรู้บ้าง เพราะนั่งมา ๗-๘ ปีนี่มันเคยตัว เคยชอบย้ำคิดย้ำทำ ยิ่งคิด.. คิดจนเป็นจริต คิดจนเป็นนิสัย แล้ว ๗-๘ ปีจิตนี้มันมีข้อมูลของมันอยู่ ฉะนั้นให้พุทโธชัดๆ หรืออานาปานสติชัดๆ

ทีนี้คำบริกรรมชัดๆ นี่มันชัดๆ อยู่ พอจิตมันเริ่มมีความสงบมันจะไปรับรู้สิ่งนั้น ต้องฝืนไว้ ชัดๆ ไว้ ! ชัดๆ ไว้ ! ทำไปเรื่อยๆ แล้วมันจะหาย.. มันจะหายไป เพราะว่าจิตหนึ่ง จิตเหมือนมือ พอมือกำสิ่งใดอยู่แล้วมันจะกำสิ่งที่สองไม่ได้ ปัจจุบันนี้มันมีข้อมูล ในฝ่ามือนี้มันมีอาการสั่นไหว มีอาการสั่นอยู่ในหัวใจ เรากำสิ่งใด สิ่งนั้นก็อยู่ในฝ่ามือนี้ พยายามสลัดมัน แล้วพยายามพุทโธไว้ หรือกำหนดไว้ชัดๆ แล้วมันจะหาย... จะหาย ! หายแน่นอน !

คนเจ็บไข้ได้ป่วย รับประกันได้ว่ารักษาแล้วต้องหายเด็ดขาด จะช้าหรือเร็ว.. จิตมันมีอาการของมัน ต้องหายเด็ดขาด ! เพียงแต่ว่ามีสติหรือตั้งใจมากน้อยแค่ไหนเท่านั้น

 

ถาม : ๓. บางท่านบอกว่าถ้าปล่อยให้สั่นไปเรื่อยๆ จิตจะเคยตัว และสั่นตลอดไปด้วย เลยบอกว่าพอเกิดอาการให้หยุด แล้วถอนออก จริงๆ แล้วควรทำอย่างไรคะ เท่าที่อ่านที่หลวงพ่อตอบไว้บอกว่าเหมือนกำลังเครื่องไม่พอ หมายถึงกำลังสมถะไม่พอ ไม่ควรไปวิปัสสนา

หลวงพ่อ : ที่เราพูดว่ากำลังไม่พอนี่มันอยู่ที่การกระทำ แต่นี้มันเป็นอาการสั่นไหวอย่างนี้มันไม่ใช่กำลังไม่พอ มันเป็นตัวเครื่อง ตัวเครื่องมันเป็น ถ้าตัวเครื่องมันเป็น เห็นไหม เราต้องแก้ที่นี่

อาการสั่นไหวต่างๆ ไม่ใช่วิปัสสนา.. วิปัสสนามันใช้ปัญญา ปัญญาคือการรู้การเห็น ไม่ใช่การสั่นการไหว นี่สิ่งต่างๆ จะต้องกลับมาอย่างข้อที่ตอบเมื่อกี้นี้ คือกลับมาที่คำบริกรรมชัดๆ ปรับตัวเครื่องให้หายสั่นก่อน รถยนต์เวลาเครื่องมันสั่น ศูนย์มันเสียนี่เขาต้องไปตั้งศูนย์ใหม่หมดนะ เวลาศูนย์มันบิดขนาดไหน วิ่งไปปุเลง ปุเลง ก็บอกว่าโอ๋ย.. วิปัสสนา.. วิปัสสนา.. มันไม่ใช่ ! มันต้องกลับไปถ่วงล้อ ตั้งศูนย์ใหม่หมด ทำให้มันเที่ยงตรงก่อนแล้วค่อยวิ่งไป

จิตของมันยังสั่นอยู่นี่ จะวิปัสสนาอะไร ! รถมันจะลงคลองอยู่แล้ว ไปตั้งศูนย์ใหม่ จัดกระบวนการใหม่ ศีล สมาธิ ปัญญา.. ถ้าสมาธิดีมันจะเกิดสิ่งที่ดี ฉะนั้นกลับไป ทำสิ่งใดอยู่กลับไปทำให้ชัดๆ ตรงนั้นแหละ... ให้ชัดๆ !

คำว่าชัดๆ คือมันพร้อมทั้งสติ พร้อมทั้งคำบริกรรม พร้อมทุกๆ อย่าง มันถึงชัดเจน ! แต่พอมันจะสั่นนะ ความชัดๆ จะหายไปแล้ว มันจะกลับมาสั่น ไอ้ชัดๆ นั้นหายไปแล้ว แต่ถ้ามันชัดๆ อยู่ ไอ้สั่นๆ มันจะไม่มี เพราะสติมันอยู่ที่คำบริกรรม มันจะมาสั่นตรงนี้ไม่ได้

นี่มันมีเหตุมีผลของมันไง แต่ตัวเราไม่รู้เรื่องของมันก็ไปเอาที่ผลอย่างเดียว เอาที่วิบาก

 

ถาม : ๔. การทำสมถะกับวิปัสสนา เป็นสิ่งที่เราเลือกที่จะฝึกได้ หรือเมื่อฝึกจิตให้เกิดสมถะแล้ว จิตจะพาไปวิปัสสนาเอง อ่านๆ ไปแล้วก็งงค่ะ (นี่เขาอ่านในเว็บไซต์เยอะ) อ่านๆ ของหลวงพ่อไปแล้วก็งงค่ะ แล้วจริงๆ นี่เราตั้งใจสมถะหรือวิปัสสนาเจ้าคะ

หลวงพ่อ : โธ่ ! “ในสมถะก็มีวิปัสสนา.. ในวิปัสสนาก็มีสมถะ” นี่เราพูดไว้แล้ว.. เราพูดไว้แล้วนะ

การทำสมถะกับวิปัสสนา.. นี้เราไม่ต้องไปแยก สิ่งที่เหตุมันเกิดเพราะเราไปแยกกันว่าสมถะนี้มันไม่เกิดปัญญา แล้วเราก็ไปคิดกันว่าวิปัสสนาคือการแก้กิเลส ทุกคนก็เลยรังเกียจสมถะ แล้วไปชอบวิปัสสนา ทุกคนก็ไปตั้งแง่รังเกียจสมถะ แล้วไปชอบวิปัสสนา ทั้งๆ ที่สมถะและวิปัสสนานี่มันเป็นสมมุติทั้งนั้นเลย !

มันแค่ชื่อ ไก่โต้งกับไก่อูมึงจะเอาไก่อะไรล่ะ กูกินไก่เนื้อ.. มันก็แค่ชื่อ แล้วชื่อนี่มันไปแบ่งกันอย่างไร ใครจะเป็นคนแบ่งว่าอะไรเป็นสมถะ อะไรเป็นวิปัสสนา แต่ถ้าเป็นแล้วเรารู้หมดเลย ! เพียงแต่เวลาเขาพูดกันมันเฉไฉ เราถึงมาพูดให้ฟังว่าอันนี้เป็นสมถะ.. อันนี้เป็นวิปัสสนา.. แล้วมันต้องมีพื้นฐานของสมถะมันถึงจะเกิดวิปัสสนา.. ถ้าสมถะแล้วทำดีๆ วิปัสสนามันก็มาได้ถ้าเรามีหลักมีเกณฑ์

โยมมีเงินสัก ๕๐๐ ล้านนะ โยมนั่งอยู่บ้านนี่แหละ เดี๋ยวคนนู้นก็จะมาหา คนนี้ก็จะมาหานะ เสนอขายไอ้นู้น เสนอขายไอ้นี่

นี่ก็เหมือนกัน มึงทำสมถะไปเถอะวิปัสสนามันเกิดเลยล่ะ นี่เราขึ้นประกาศไว้หน้าบ้านเลย กระผมมีเงินอยู่ ๕๐๐ ล้านบาท ไม่รู้จะทำอะไร ใครมีสิ่งใดโปรดแนะนำด้วย อู้ฮู.. คนเข้ามาเยอะแยะเลย

นี่ก็เหมือนกัน มึงทำสมถะไปเถอะ ! มึงเขียนป้ายไว้เลยมีเงินอยู่ ๕๐๐ ล้าน อยากจะซื้อของแต่ซื้อไม่เป็น อู้ฮู.. เดี๋ยวคนวิ่งเข้ามาเต็มเลย

เราจะบอกว่า ถ้าทำสมถะแล้วจะไม่เกิดวิปัสสนา นี่มึงบอกกูมาว่าเป็นอย่างไร.. มึงบอกกูมา ! มีแต่คนโกหก !

นี่ว่าอะไรเป็นสมถะ อะไรเป็นวิปัสสนา มันก็แค่ชื่อ ! แค่ชื่อ แต่เพราะไม่เป็น ! ไม่เป็นแล้วก็ไปหลอกกันว่าอันนั้นเป็นสมถะ อันนั้นเป็นวิปัสสนา.. แล้วอะไรเป็นสมถะ อะไรเป็นวิปัสสนาล่ะ.. เพราะมึงไม่เป็นอยู่แล้ว ! ไม่เป็นก็คือไม่เป็นตั้งแต่ต้นจนจบ.. แต่ถ้ามันเป็นนะมันจะรู้ว่าเป็น ไม่ต้องไปห่วงหรอก

ในเมื่อสังคมมันมีการขัดแย้ง เราก็ลงไปพูดเท่านั้นเอง เราไม่มีสิทธิจะไปชี้ว่าใครผิดใครถูกหรอก เราไม่มีสิทธิ ! เราเป็นพระองค์หนึ่งในพุทธศาสนา พุทธศาสนาเป็นของสังคมไทย เราเป็นพระองค์หนึ่งแค่ในหมู่คณะเราก็พูดกันเท่านั้นเอง เราพยายามจะพูดว่าสังคมไม่ใช่ของเรา จะให้ไปแบกอยู่คนเดียวไม่ได้หรอก

 

ถาม : ๒๔๗. เรื่อง “รู้สึกร่างกายเป็นพลังงาน”

ผมภาวนาบริกรรมพุทโธจนจิตเริ่มสงบรวมมากขึ้น จนมีความรู้สึกเหมือนฝัน แต่มีสติอยู่นะครับ แล้วก็ภาวนาบริกรรมพุทโธไปเรื่อยๆ ลมหายใจก็ละเอียดมากขึ้น คำบริกรรมพุทโธก็แผ่วเบาลง ละเอียดขึ้นและเห็นเป็นแสงสว่างเกิดขึ้น แต่ก็กลับมาที่คำบริกรรมพุทโธต่อเรื่อยๆ จนหายใจเบาลงจนลมหายใจขาด แต่ก็ไม่รู้สึกอึดอัด แต่กลับรู้สึกเบาสบาย รวมทั้งคำบริกรรมพุทโธก็เบาและละเอียดเพิ่มมากขึ้น จนรู้สึกว่าร่างกายนี้เหมือนพลังงาน จิตจะมีสติอยู่กับพลังงานนี้โดยที่ไม่ออกไปรับรู้ภายนอก

สภาวะนี้เกิดในช่วงเวลาหนึ่งก็รู้สึกถอยออกมา และผมก็พุทโธต่อเนื่อง ก็กลับไปเกิดสภาวะเหมือนเดิม คือรู้สึกว่าร่างกายเหมือนพลังงาน และจิตก็รับรู้พลังงานนั้นโดยที่ไม่ได้รับรู้สิ่งภายนอก

กราบเรียนถามหลวงพ่อว่า สภาวะที่เกิดขึ้นนี้ถูกหรือไม่ครับ และผมควรทำอย่างไรต่อไป

หลวงพ่อ : ถูกต้อง ! ถูกต้องเพราะพลังงานไง ทีนี้พลังงานถ้ามีสติ เห็นไหม พอมีสติ ตัวพลังงานคือตัวจิตนั่นแหละ เวลาออกมาจากความคิด ความรู้สึกต่างๆ นี่มันหยาบ พอพุทโธ พุทโธคือเข้าไปสู่พลังงาน นี้พลังงานถ้ามีสติ เห็นไหม เราอย่าทิ้งพุทโธ ถ้าไม่ทิ้งพุทโธนะ ตัวพลังงานมันละเอียดเข้าไปได้อีก.. ตัวพลังงานละเอียดได้อีก !

ทีนี้พอรู้ว่าพลังงาน หรือพอจิตมันสงบแล้วนี่เราไม่ทิ้งเองไง ส่วนใหญ่คนปฏิบัติพุทโธ พุทโธ พุทโธ พอจิตมันเริ่มสบายๆ แล้วทิ้งหมดเลย พอทิ้งหมดเลยนี่มันเข้าไม่ถึงไง อย่างเช่นเราจะเดินทาง พอไปถึงตรงนี้แล้วสะพานขาดๆ ไปแล้วไปไม่ได้ ก็กลับ! พอไปถึงสุดทางแล้วไปไม่ได้ก็กลับ.. ไปไม่ได้ก็กลับ

นี่ก็เหมือนกัน ไปถึงพลังงาน.. ไปถึงพลังงาน คำว่าไปถึงพลังงานนี่จิตมันเริ่มพัฒนา มันเปลี่ยนแปลงแน่นอนถึงได้รู้ได้ แต่รู้ขนาดไหนนะ มันยังมีมากกว่านั้นอีก ! มีมากกว่านั้นเพราะว่าพอไปถึงทางที่ขาด ทางที่มันเป็นไปไม่ได้ แล้วถ้าเราถมถนน เราทำสะพานข้ามไป เราจะไปได้มากกว่านั้น จะไปได้ไกลกว่านั้น... ถ้ามันไปได้ไกลกว่านั้น จิตมันจะมีความรู้มากกว่านี้

ฉะนั้นทำได้ ! ทำเข้าไป ! ถามว่าถูกไหม.. ถูก ! ถูก ! ถูกมาก แล้วทำต่อเนื่อง.. ทำต่อเนื่องไป ทำต่อเนื่องไปเนาะ

 

ถาม : วิธีเข้าสมาธิและการถอนสมาธิ เป็นวิธีเดียวกันหรือไม่

หลวงพ่อ : ไม่หรอก วิธีเข้าสมาธิกับการถอนสมาธิ เห็นไหม ถ้ามันเป็นวิธีเดียวกัน นี่มันก็เป็นอันเดียวกันสิ

วิธีการเข้าสมาธิ... นี่ถนนเส้นเดียวกัน มีไปและกลับ เห็นไหม ถนนเส้นเดียวกันนี่แหละ ถนนนี้ไปแล้วกลับ.. ถนนเส้นเดียวกันแต่ไปกับกลับเหมือนกันไหม

นี่ก็เหมือนกัน คำว่าเข้าสมาธิ.. เข้าสมาธิคือพุทโธ พุทโธ พุทโธ แล้วอัปปนาเข้าสู่สมาธิ ! แต่เวลามันถอนนะ บางทีเราถอน คำว่าเข้า-ออกนี่เราจะคิดว่ามันเป็นประตูเป็นที่ แต่พอมันเข้า-ออกนี่จิตมันสงบไง เราจะบอกว่าเหมือนตะกอนในน้ำ นี่ตะกอนในน้ำถ้าเราวางนิ่งๆ ตะกอนจะนอนก้น เห็นไหม แต่พอเราขยับตะกอนในน้ำมันจะขึ้นมา

จิตเวลาพุทโธ พุทโธ พุทโธนี่มันเริ่มสงบ.. สงบเข้าไป แต่เวลามันออกนี่มันเหมือนตะกอน เห็นไหม ตะกอนคือว่ามันจะซ่าออกมา ถ้าเคยเข้าสมาธินะ เวลาจิตเข้าถึงสมาธิ เวลาออกนี่ไม่ใช่ว่าเราจะลุกขึ้นมาที่ไหน จิตมันจะซ่าออกมา มันจะกระจายตัวออกมา คือว่ามันเริ่มถอนออกมา.. การถอนออกมา

นี่คือออกจากสมาธิ แล้วตั้งสติไว้.. หลวงตาบอกว่า “เวลาเข้าสมาธิแล้ว เวลาจะออกจากสมาธินี่อย่าพรวดพราด.. อย่ารีบด่วน.. ถ้าเกิดการพรวดพราดรีบด่วนแล้ว วันหลังจะเข้าสมาธิได้ยาก”

การออกจากสมาธิต้องค่อยๆ ออก ตั้งสติ.. เหมือนกับเราเข้าสมาธิใช่ไหม พอเรานั่งสมาธิ ส่วนใหญ่นะ ! ส่วนใหญ่ที่เข้าสมาธิได้ และออกสมาธิได้นี่น้อยมาก แต่ส่วนใหญ่พอเข้าสมาธิแล้วมันคลายตัวเองโดยที่เราไม่ได้ออก มันออกเอง ! มันออกเองคือว่ามันหมดกำลังไง พอมันหมดคำบริกรรมแล้วมันก็ออกมา

แต่คนที่ชำนาญแล้ว เวลาเข้าสมาธินะ แล้วเข้าไปนี่หยุดเท่าไรก็ได้ พัก.. พักเพราะอะไรรู้ไหม พักเพราะเรามีงาน งานเรายังไม่เสร็จ เราทำไม่ไหว เราพิจารณาอยู่นี่มันเหนื่อยมาก เราก็พุทโธ พุทโธ พุทโธ ครั้งแรกพัก.. พอพักสักพักหนึ่ง เฮ้อ ! พอแล้ว.. จะทำงานต่อ มันก็ค่อยๆ ปล่อยออกมา แล้วทำงานต่อ

นี่ภาวนาเป็น ! ภาวนาเป็น สมาธินี่กำหนดเข้าไปพัก พอพักสักพักหนึ่ง งานยังมีอยู่พักไม่ได้ งานยังไม่เสร็จ มันก็ปล่อย สติมันก็เบาลง พอเบาลงแล้วจิตมันก็เริ่มคลายออกมา พอคลายออกมาปั๊บมันมาเจองาน มันก็ล่องานอีก.. ล่องานอีก พอมันเหนื่อนเต็มทีนะ มันเหนื่อยจนไม่ไหวแล้ว.. ไม่ไหวโว้ย ! ทิ้งเลย ! กลับมาพุทโธต่อ คือกลับไปพักอีก ! พักเข้าไป พุทโธ พุทโธ พุทโธจนจิตมันสงบ เฮ้อ !... สักพักหนึ่งจนมันมีกำลังแล้ว เอ้อ.. พอ ! แล้วมันค่อยปล่อยออก

นี่ไง เข้า-ออกสมาธิอย่างนี้จริง ! แต่พวกเราไม่ใช่หรอก พุทโธ พุทโธ พุทโธกว่าจะได้สมาธิ.. พอได้แล้วก็ยังไม่รู้นะ พอสักพักหนึ่ง โอ๋ย.. หลุดออกมาแล้ว พอหลุดออกมาโอ๋ย..

นี่คือเข้า-ออก.. เข้า-ออกของทั่วไป ทั่วไปเข้า-ออกอย่างนี้ ! กว่าจะเข้าได้เกือบตาย พอเข้าไปสักพักหนึ่งมันก็คลายตัวออกมา เฮ่อ ! ออกแล้ว..

นี่ผู้ที่ไม่ชำนาญ ถ้าผู้ชำนาญนะ อย่างที่พูดเมื่อกี้นี้ อย่างนี้จริงๆ เพราะหลวงตาหรือครูบาอาจารย์ของเราท่านภาวนาทั้งปีทั้งชาติ มันจะสู้ตลอด มันจะมีกำลังของมัน มันจะมีงานของมัน

ฉะนั้นการเข้าการออกเป็นอย่างนั้น การเข้าการออกอยู่ที่ความชำนาญของเรา อยู่ที่การปฏิบัติของเรา ! เราฝึกไปเถอะ ทุกคนมาจากเรานี่แหละ ครูบาอาจารย์ก็มาจากเรา มาจากไม่เป็นทั้งนั้นแหละ ถ้าคนเป็นแล้วมันก็เก่งไปหมดแล้วสิ ก็เพราะทุกคนมาจากไม่เป็นนี่แหละ แล้วพยายามฝึกเอา ใช้สติใช้ปัญญารักษาของเราไปเรื่อยๆ

 

ถาม : เห็นภาพต่อไปเรื่องอื่น คือเรื่อง ๓ ต่อ เรื่อง ๔ ว่ามีตัวสมาธิเล็กๆ เข้ามาจะพักในเวลาคิดเรื่องนี้ แล้วความคิดมันถอยกลับไปคิดเรื่องนี้เพราะจากเรื่องที่ ๓ ที่ ๔

หลวงพ่อ : มันเกี่ยวเนื่องกัน.. การเกี่ยวเนื่องกันอย่างนี้มันจะเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ! คำว่าอบรมสมาธิมันเป็นอย่างนี้นะ พอเราคิดเรื่องอะไรอยู่ก็แล้วแต่ พอคิดเรื่องนี้แล้วสติมันทันเรื่องนี้จะหยุด.. พอหยุดแล้วเดี๋ยวเกิดเรื่อง ๒ เรื่อง ๓ ต่อไป

ปัญญาอบรมสมาธิ.. นี่สมมุติว่าเราคิดอยู่ เราคิดเรื่องนี้อยู่ แล้วสติเราตามความคิดไป พอตามความคิดไปนี่ด้วยเหตุด้วยผล พอด้วยเหตุด้วยผลนี้มันสมควรแล้ว จิตมันมีเหตุผลพอมันก็หยุด พอหยุดปั๊บนี่กำลังมันไม่พอ หรือจิตมันเริ่มละเอียดขึ้น มันก็คิดเรื่องที่ ๒ ต่อไป พอคิดเรื่องที่ ๒ สติเราก็ตามเรื่องไป พอเรื่องที่ ๒ จะหยุด.. เรื่องที่ ๒ หยุดมันก็จะคิดเรื่องที่ ๓ ต่อไป ถ้าเราไล่เข้าไปเรื่อยๆ แล้วเรื่องที่ ๓ มันจะหยุด.. หยุด.. แล้วคิดต่อไป

นี่คือปัญญาอบรมสมาธิไง ! นี่พูดถึงการหยุดนะ แต่เราเทียบให้เห็นว่าหยุดครั้งที่ ๑ หยุดครั้งที่ ๑ นี่กำลังของจิต โดยธรรมชาติของจิตเหมือนกับลมนี่มันมา ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เลย ทีนี้พอลมมันเริ่มอ่อนตัวลง เพราะด้วยสติปัญญา เห็นไหม พอลมเริ่มอ่อนตัวลง เรื่องที่ ๑ หยุดไป.. เรื่องที่ ๒ นี่ลมเริ่มอ่อนตัวลง มันก็เกิดเรื่องที่ ๒ ขึ้น พอเรื่องที่ ๒ เกิดขึ้น สติมันตามเรื่องที่ ๒ จนจบกระบวนการแล้วมันก็หยุดไป ลมก็เริ่มอ่อนลงอีก พอเริ่มอ่อนลงก็เกิดเรื่องที่ ๓ พอเรื่องที่ ๓ นี่สติมันก็ตามไปมันก็คิดต่อเนื่องไป พอเรื่องที่ ๓ จบอารมณ์มันก็อ่อนลง

อารมณ์มันต่างกันอย่างนี้ไหม เพราะอะไร เพราะเรื่องที่ ๑ อารมณ์ความรู้สึกมันรุนแรง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แต่สติเราตามไล่เข้าไป.. ไล่เข้าไป ไล่กับความคิดนี่แหละ ตามความคิดเข้าไป

ทีนี้พอสติปัญญาไล่กับความคิด แล้วความคิดมันหยุด พอหยุดปั๊บมันหยุดไม่หมดใช่ไหมมันยังมีลมอยู่ พอมีลมอยู่มันจะเกิดเรื่องที่ ๒ เพราะมันมีสัญญาข้อมูลของมัน พอเรื่องที่ ๒ เกิดขึ้น สติมันก็ตามไปๆ ตามด้วยปัญญาไป พอปัญญามันทันกัน เรื่องที่ ๒ ก็หยุด พอเรื่องที่ ๒ หยุดปั๊บ ทีนี้กำลังของจิตมันยังมีอยู่ใช่ไหม ลมมันละเอียดเข้าไปก็เกิดเรื่องที่ ๓ เรื่องที่ ๔ ก็ใช้สติตามไป.. ตามไป นี่หยุดหนึ่งก็สมาธิเล็กๆ.. สมาธิเล็กๆ.. สมาธิเล็กๆ ตลอดไป

นี่คือปัญญาอบรมสมาธิ ! ที่ทำๆ กันอยู่นี่สูงสุดแค่นี้.. สังคมไทย นักปฏิบัติที่ทำกันอยู่ อย่างมากคือปัญญาอบรมสมาธิ คือผลเป็นสมถะหมด ! ผลคือการหยุดลม ผลของมันคือการหยุดพลังงานเท่านั้นเอง.. แต่ความรู้สึกของเขาว่า “สมถะไม่มีประโยชน์ ไม่มีวิปัสสนา”โอ้โฮ.. ปวดหัว วิปัสสนาอะไรก็ไม่รู้

นี้คนไม่เป็นเขาก็พูดในความรู้สึกของเขา แล้วเทียบกับตำรา แต่ถ้าคนเป็นนี่มันรู้หมดเลย เป็นนะ.. เป็นหมายถึงว่าพิจารณามาอย่างนี้แล้ว นี่คือสมถะนะ พอหยุดมาขนาดนี้แล้วนะมันยังไม่วิปัสสนาเลย มันจะวิปัสสนาต่อเมื่อหยุดลมหมดเลย ! วิปัสสนาต่อเมื่อเราพิจารณาจนเข้ามาเรื่อยๆ

ลมที่ ๑ จนลมที่ ๒.. ลมหยาบๆ จนลมละเอียด.. จนลมหยุดนิ่ง.. จนลมหยุดนิ่งคือตัวจิตเดิมแท้ ! พอลมหยุดนิ่ง.. หยุดนิ่งแล้ว จิตเห็นอาการของจิต ! จิตคือมีความคิด.. ความคิดเกิดจากจิต.. ลมจะเริ่มขยับตัว

ลมเริ่มขยับตัวคือขันธ์ ๕ คือความคิดเริ่มจะเกิดจากจิต.. พอความคิดเริ่มเกิดจากจิต นี่จิตเห็นอาการ การเกิดของลมพายุไง ลมพายุจะเกิดอีกรอบหนึ่งแล้วถ้าจิตมันเห็นทัน.. นี่ไง ถ้าจับตรงนี้ได้วิปัสสนาเกิดตรงนี้ !

นี่พูดถึงความคิดไง เห็นไหม ถ้ามันมาอย่างนี้แล้ว เราอธิบายปั๊บเรื่องนี้ก็จบแล้ว.. จบหมายถึงว่าไม่สงสัยแล้ว แต่นี้มันจะสงสัยทำไมเกิดเรื่องที่ ๑ ทำไมเกิดเรื่องที่ ๒ ทำไมเกิดเรื่องที่ ๓ มันจะเกิดเป็นล้านๆ เรื่อง.. ล้านๆ เรื่องเพราะอะไร เพราะจิตมันเร็ว ความคิดไม่เคยตายไง วันหนึ่งความคิดจะเกิดผุด ! ผุด ! ผุด ! ขึ้นมาในใจนี่อีกเยอะมหาศาลเลย ทีนี้พอเกิดแล้วเป็นอะไรไปล่ะ ถ้าเกิดแล้วสติตามทันมันก็จบ

จบ..หยุด..นั่นคือสมาธิ แต่มันยังอ่อนๆ... แล้วอยู่ต่อไปเรื่อยๆ พิจารณาเรื่อยๆ ความหยุดจะขยายเวลามากขึ้นเพราะสติมันทัน หยุดแป๊บ ! เดี๋ยวคิดอีกแล้ว.. หยุดแป๊บ ! เดี๋ยวคิดอีกแล้ว..

แต่ถ้าเราฝึกบ่อยครั้งเข้า ความหยุดนี้มันจะเริ่มขยายตัวให้หยุดได้นานขึ้นๆ คือจิตเราจะเริ่มดีขึ้น เราจะเริ่มรู้ขบวนการของมัน แล้วตามเข้าไป ! ตามเข้าไปจนหยุดได้หมด ให้คิดก็ได้.. ไม่ให้คิดก็ได้.. ขนาดนั้นเลย

นี่สมถะหมดนะ ! คือทันความคิด แล้วความคิดหยุดเท่านั้นเอง

นี่ปัญญาอบรมสมาธิ ! พระสารีบุตรปฏิบัติอย่างนี้ แต่ถ้าพระโมคคัลลานะ พุทโธ พุทโธ พุทโธ.. พุทโธ พุทโธนี่ฤทธิ์ พระโมคคัลลานะ แต่ถ้าปัญญาวิมุตติออกอย่างนี้ นี่คือปัญญาอบรมสมาธิ.. สมาธิอบรมปัญญา..

ถ้าสมาธิอบรมปัญญา.. พุทโธ พุทโธ พุทโธนี่สมาธิอบรมปัญญา พุทโธ พุทโธ พุทโธจนเป็นสมาธิแล้วอบรมปัญญา

แต่ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ.. นี่ใช้ปัญญาไล่เข้ามาๆ จนปัญญาไล่จิตเป็นสมาธิ ! ปัญญาไล่จิตเข้ามาเป็นสมาธิ ! ปัญญาไล่จิตเข้ามาเป็นสมาธิ ! นี่ไล่เข้าไปแล้ว พอจิตสงบแล้วพอออกไปเห็นอริยสัจ นั้นจะเป็นวิปัสสนา ! วิปัสสนามันจะเกิดขึ้นตอนนั้น

 

ถาม : นี่พูดถึงเรื่องที่ ๓ ที่ ๔ เรื่องเข้ามา ทำไมถึงมีแบบนี้.. แม่ชีตอบว่า “จุดเกิด ! จุดเกิด แต่ยังไม่ทันเกิดดับ” แม่ชีตอบว่าจะรู้สึกตัวเมื่อเกิดดับ.. แม่ชีชี้ให้ภาวนาต่อไป

หลวงพ่อ : ให้เกิดดับ.. คำว่าเกิดดับนี่ก็ส่วนเกิดดับ คำว่าเกิดดับนี่ก็พูดต่อได้.. คำว่าเกิดดับ นี่อะไรเกิดดับ.. อะไรเกิด อะไรดับ..

คำว่าเกิดดับนะ คือวิปัสสนาเห็นการเกิดและการดับ มันเป็นไตรลักษณ์ ! ถ้าเห็นอย่างนั้นมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เกิดดับอย่างนี้มันเป็นเกิดดับกำปั้นทุบดิน ฉะนั้นไอ้เกิดดับอย่างนี้ เห็นการเกิดดับนี่มันเห็นเฉยๆ มันไม่ใช่ปัญญา อย่างที่เราพูดนี่มันใช้ปัญญาไล่

คือเราจะบอกว่าปัญญาอบรมสมาธิ.. ถ้าเราเห็นเกิดดับ ประสาเราว่าถ้าเห็นเกิดดับเราก็เห็น นี่ไงพระอาทิตย์ขึ้นพระอาทิตย์ตกนี่เกิดดับ.. เกิดดับ

พอเห็นเกิดดับ เราเห็นเกิดดับแล้ว นี่มันเห็นโดยสมมุตินะ มันไม่เห็นโดยจิต.. เห็นโดยสมมุติคือเห็นโดยความคิด พอเห็นโดยความคิดแล้วความคิดมันก็หาเหตุหาผลตอบกันได้ แต่มันไม่สะเทือนหัวใจหรอก ! ไม่สะเทือนกิเลสหรอก ! ไม่สะเทือนถึงเราเลย

มันเห็นการเกิดได้ไหม เราคิดได้เห็นไหม เวลาเราคิดถึงสังคมได้หมดเลย ทำไมดีทำไมชั่ว.. ทำไมดีทำไมชั่ว.. แล้วได้อะไรล่ะ ก็เป็นเรื่องของสังคมไง

แต่ถ้าจิตเราสงบมาถึงตัวเรา ถึงเขาดีเขาชั่วนะมันสะเทือนเรา.. มันสะเทือนเราเพราะอะไร เพราะมันเป็นการเกิดมาร่วมสมัยร่วมยุค ทำสิ่งใดแล้วมันมีผลกระทบไปหมดแหละ

ทีนี้พอมันสะเทือนเข้ามา นี่มันสะเทือนเราไง ! มันสะเทือนเรา มันแก้ไขที่เรา.. ทุกอย่างจะแก้ไขที่เรา

 

จบแล้ว.. มีอีกไหม เนาะ

โยม : (เสียงถามไม่ชัดเจน)

หลวงพ่อ : อันนี้เขาจะเห็น..ให้มันครบ.. ไม่เป็นหรอก ! เพราะว่าถ้าพูดอย่างนี้มันเข้าใจ ! เข้าใจถึงบอกว่า “คิดโดยสมมุติ-คิดโดยโลก”

ถ้าคิดโดยโลก.. ถ้าหยุดคือสมถะ ถ้าคิดคือวิปัสสนา..

คนคิดโดยวิทยาศาสตร์ ถ้าหยุดนี่เป็นสมถะ คิดคือวิปัสสนา แต่ความจริงแล้วในการปฏิบัติไม่ใช่ ! ไม่ใช่เพราะอะไร ไม่ใช่เพราะว่าโลกียปัญญา คือความคิดแบบโลก ! ความคิดแบบโลก คือความคิดแบบกิเลส... ความคิดแบบธรรม !

ความคิดแบบโลก แบบกิเลสคือความคิดแบบนี้ แบบโลก.. ทีนี้แบบโลกนี่มันจะเป็นธรรมไปไม่ได้ แต่นี่เขาเอาโลกกับธรรมมาบวกมารวมกัน ถ้าคนไม่เป็นเขาจะเอาโลกกับธรรมมารวมกัน.. คนไม่เป็น ! คนไม่เป็นจะพูด เห็นไหม อย่างที่เขาบอกว่าวิทยาศาสตร์เรื่องบนโต๊ะไง ต้องเป็นวิทยาศาสตร์ ! วิทยาศาสตร์ !

เราบอกว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องบนโต๊ะ แต่กิเลสมันอยู่บนโต๊ะ อยู่ใต้โต๊ะ มันอยู่ขาโต๊ะ ! มันอยู่ในดินไง เพราะกิเลสมันพลิกแพลงไง

ฉะนั้นพอบอกว่าจุดเกิดจุดดับ นี่เขาจะตอบเป็นวิทยาศาสตร์ เพราะถ้าคนภาวนาไม่เป็นนะมันอยู่ในมิติของโลก ! แต่ถ้าคนภาวนาเป็นนะ เราเกิดมาในมิติของโลก แต่เราพิจารณาไปเป็นมิติของธรรม !

“โลกกับธรรม ! โลกียปัญญากับโลกุตตรปัญญา”

โลกียปัญญาคือปัญญาของโลก ! ถ้าปัญญาของโลกจะพูดอย่างนี้แหละ มันต้องมีเกิดต้องมีดับ แล้วมันเกิดที่ไหนดับที่ไหนไม่รู้.. แต่ถ้าเป็นธรรมนะ ธรรมมันรู้ ! ธรรมมันรู้ !

ฉะนั้นก่อนที่จะรู้ได้มันต้องใช้อย่างที่เราอธิบายไง คือปัญญาอบรมสมาธิเข้ามาก่อน ! ปัญญาอบรมสมาธิเข้ามาก่อนเพื่อให้จิตมันสู่ฐานข้อมูล ! ฐานข้อมูลคือตัวจิต ! ปฏิสนธิจิตคือตัวเกิดตัวตาย

ฉะนั้นมันต้องเข้ามาสู่ฐานข้อมูลตัวนี้ ! ถ้าสู่ฐานข้อมูลตัวนี้ แล้วมันออกรู้ ! ออกรู้ ! จิตเสวยอารมณ์ จิตออกรู้ นี่เข้าไปอยู่ที่ฐานข้อมูล ไปชำระกันที่ฐานข้อมูล !

แล้วฐานข้อมูลมันเกิดดับๆ เกิดดับอย่างที่เขาพูดนี่มันไม่มีเหตุผล.. เกิดดับไม่มีเหตุผลนี่มันกำปั้นทุบดินไง กิเลสไม่ยอมรับหรอก ! กิเลสมันฉลาดกว่าเราหลายร้อยเท่า ! กิเลสมันขี่หัวมาตลอดเวลา จะไม่ทำสิ่งใดให้กิเลสมันยอมรับได้ !

แต่พอเราเข้าไปขี่หัวกิเลสบ้าง พอจิตมันสงบเข้าไป นี่เหยียบกิเลสลงแล้วไปขี่หัวมันอยู่ พอขี่หัวมันอยู่ แล้วพอปัญญามันเกิดขึ้นมาทัน นี่โลกุตตรปัญญา.. เพราะอะไร เพราะปัญญานี้จะฆ่าหัวมึง ! ปัญญานี้จะเหยียบหัวมึง ! ปัญญานี้กำลังจะข่มขี่มึง ! นี่แล้วข่มขี่ที่ไหนล่ะ.. ข่มขี่ที่บุคคลคนนั้น.. ข่มขี่ที่ใจดวงนั้น.. ดวงอื่นไม่มี ! ดวงอื่นไม่มี !

ถ้าภาวนาเป็นจะเป็นอย่างนี้ แล้วเวลาตอบนี่ตอบเหมือนๆ กัน แต่ความละเอียดแตกต่าง เพราะอะไร เพราะตอบอย่างหนึ่งตอบแบบวิทยาศาสตร์ อ้าว.. ต้องเกิดต้องดับ นี่ไงเกิดพั่บ ! ต้องดับให้เห็นด้วยนะ เดี๋ยวไม่เป็นวิทยาศาสตร์ เดี๋ยวอธิบายไม่ได้ กลัวจะไม่รู้ไง ต้องกดสวิตซ์ปั๊บ ! อ้อ.. ติดแล้ว ปิดสวิตซ์ปั๊บ ! อ้อ.. นั่นดับแล้ว ถ้าไม่กดสวิตซ์เดี๋ยวมันเกิดดับไม่มีเหตุไม่มีผลนะ ต้องกดสวิตซ์... โลกๆ ! โลก ๆ !

แต่ถ้าเป็นความจริงไม่เป็นอย่างนั้น ! ไม่เป็นอย่างนั้น ! เกิดดับมันมีเหตุมีผลของมัน มันมีที่มาที่ไปของมัน มันลากเข้าไปสู่ฐีติจิต ลากเข้าไปสู่ก้นบึ้งเลย แล้วไปชำระล้างมันที่โปรแกรมนั้นเลย นี่ถึงโลกุตตระไง

นี่ไงภาวนามยปัญญา ที่พูดนี่คือภาวนามยปัญญา แล้วไม่มีใครเคยเห็นภาวนามยปัญญา.. ภาวนาไม่เป็นพูดไม่ได้ ! ศึกษาจนหัวแตก เอาสมองให้อีก ๒๐ ก้อนแล้วไปศึกษาพร้อมกันก็ไม่รู้ ! ไม่รู้ ! โลกรู้ไม่ได้ ! รู้ได้ด้วยการภาวนา

ฉะนั้นเวลาพูดถึงตรงนี้ไง รอให้จริงกับจริงเจอกัน เป็นหรือไม่เป็น..

“ภาวนาเป็นหรือไม่เป็น” ถ้าไม่เป็นก็อย่างนั้นแหละ ไม่เป็นนะเวลาตอบมานี่นะ แหม ! มันน่าฟัง มันเป็นปรัชญาไง มันเป็นตรรกะ โอ้โฮ.. ลึกซึ้ง จุ๊ๆๆๆ สุดยอด ! ซู๊ด... แต่ไม่เป็น แล้วไปทำจนตาย ! ตายคาปรัชญานั้นแหละ

ถ้าเป็นปรัชญานะ ตอบมานะ ปัญญาชนนี่ซู๊ด... จุ๊ๆๆๆ แต่ไม่ใช่ ! ไม่ใช่ ! แต่ถ้าเป็นหลวงตาตอบนะงงไปหมดเลย เอ้อ.. ตอบอะไรก็ไม่รู้.. ตอบอะไรก็ไม่รู้ อู๋ย.. ตอบอะไรน่ะ.. นั่นแหละของจริง ! เพราะของจริงเรารู้ไม่ได้ เรายังเข้าสู่ความจริงนั้นไม่ได้ เรายังขี้โง่อยู่ ขี้เท่ออยู่ แต่อวดรู้ ! เอวัง