เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๗ ต.ค. ๒๕๕๓

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๓
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถ้าประสาโลกเขาว่าจ้ำจี้จ้ำไช... ความว่าจ้ำจี้จ้ำไชนะ ถ้าจ้ำจี้จ้ำไชนี่ให้มันถูกต้อง ให้มันเข้าถึงหลักการ ถ้าไม่จ้ำจี้จ้ำไชเราก็ไม่สนใจ ต้องให้จ้ำจี้จ้ำไช เห็นไหม นี่เตือน ! เตือนตลอด...

หลวงตาท่านบอกเลยนะว่า “เวลาอยู่กับครูบาอาจารย์นี่ เหมือนครูมวยกับนักมวย ปิดซ้าย.. ปิดขวา..” คือคอยเตือนไง จ้ำจี้จ้ำไช คอยเตือนคอยบอก แล้วถ้าเตือนถ้าบอกแล้วมันยังไม่กระทำ มันก็ทิ่มเข้าตรงนั้นเลย

พอทิ่มเข้าตรงนั้น มันก็เหมือนถ้าเวลาครูมวยเตะครูมวยต่อย ท่านบอกว่าเตะสั่งเตะสอน เพื่อบอกให้ปิด.. ให้ปิด.. ให้ปิด.. แต่ถ้าขึ้นไปบนเวที เวลาเราโดนคู่ต่อสู้นี่น็อคเลยนะ แล้วมันเสียด้วยที่เราฝึกฝนมา

นี่ก็เหมือนกัน เวลากิเลสกับเรา เราพยายามจะต่อสู้กับมัน เราว่าเราจะชำระกิเลส เราจะต่อสู้กับกิเลส แต่เวลาเราผิดพลาดขึ้นมา ก็คอยบอกคอยสอน.. คอยบอกคอยสอน แล้วเวลาบอกเวลาสอน ถ้าเรายังผิดพลาดอีกท่านก็เตือน ก็หนักขึ้น.. หนักขึ้น นี่ไงจ้ำจี้จ้ำไช !

แต่เราไม่เห็นว่าการจ้ำจี้จ้ำไชนี้ มันเป็นเรื่องที่น่าเอือมระอา แต่ความเอือมระอานะ ใครอยากจะจ้ำจี้จ้ำไช... ทุกคนก็อยากจะอยู่สุขสบายทั้งนั้นแหละ เราคอยบอกคอยเตือนเขา นี่มันต้องคอยบอกคอยเตือนด้วยโอกาสนะ ว่ามันสมควรหรือไม่สมควร

ถ้าไม่สมควร เห็นไหม ดูสิพวกเรานี่ ระลึกกันทั้งนั้นแหละ ใครๆ ก็ปรารถนาว่าอยากพบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า... พุทธกิจ ๕ นะ ! องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เช้าขึ้นมาเล็งญาณว่าจะโปรดสัตว์คนไหนก่อน เราก็อยากให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาโปรดเราทั้งนั้นแหละ ใครๆ ก็อยากให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาโปรดเรา เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะมาโปรดสัตว์นี่ ยังเล่นตัวนะ บอกว่า ต้องเทศน์ดีๆ สิ.. ต้องคอยบอกให้ดีสิ..

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านเล็งญาณพุทธกิจ ๕.. พูดถึงกิเลสของเรา ความไว้ใจของเรา เราจะรู้ได้อย่างไร.. แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านเล็งญาณแล้วว่าท่านจะมาโปรดสัตว์นี่ เราก็ยังรับไม่ได้ ยังไม่เข้าใจ

ถ้าเราไม่เข้าใจนั่นก็เป็นเรื่องของเรานะ แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านเล็งญาณนี่ต้องความเหมาะสม ว่าเวลาไปแล้วจะได้ประโยชน์หรือไม่ได้ประโยชน์ เพราะพระโมคคัลลานะต่อว่าพระพุทธเจ้าบ่อยมาก คำว่าต่อว่านะ บอกว่า

“ทำไมไม่ไปเอาคนนู้น.. ทำไมไม่ไปเอาคนนี้..”

เพราะว่าด้วยความเห็นว่า เขาควรจะได้เข้าถึงธรรม เขาควรจะได้ประโยชน์ เห็นไหม

แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “ไม่ได้หรอก !”

ไม่ได้เพราะอะไร...ไม่ได้เพราะเขาไม่รับรู้ ไปบอกเขาแล้วเขาไม่ฟัง หรือบอกแล้วเขาไม่ได้ประโยชน์สิ่งใด

พระโมคคัลลานะมีฤทธิ์ยังไม่เชื่อนะ พระโมคคัลลานะเวลาจะไปทรมานคฤหัสถ์ ทรมานคือการชี้นำ การชี้ให้เห็นความถูกต้อง นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้พระโมคคัลลานะไปเที่ยวบางกาล อยู่ในพระไตรปิฎก พอพระโมคคัลลานะไปเที่ยวบางกาลแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปบริหารจัดการเอง

นี่สิ่งต่างๆ อย่างนี้มันเพื่ออะไรล่ะ ก็เพื่อความมั่นคงของศาสนา.. เพื่อความมั่นคงของหลักการ... เพื่อความมั่นคง เพราะถ้ามีผู้รู้จริง ต้นไม้ ! ถ้ามันมีแก่นเห็นไหม ในป่าถ้าต้นไม้มีแก่น ต้นไม้มีคุณภาพ ป่านั้นจะมีคุณภาพ ถ้าป่านั้นเป็นป่าที่ไม่มีไม้เบญจพรรณ ไม้ที่ไม่มีคุณภาพเลย

ในศาสนา ผู้ที่มีหลักมีเกณฑ์ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมามีหลักมีเกณฑ์ คำว่ามีหลักมีเกณฑ์นี้คือมันเข้าใจได้ มันชี้นำได้ มันบอกได้ว่าควรและไม่ควร... สิ่งใดที่เราทำ เห็นไหม คำว่าเป็นอาบัติ ! อาบัตินี่ ! ต้องอาบัติได้ ๓ อย่าง

อย่างที่ ๑ คือทำผิดพลาดเป็นอาบัติ..

อย่างที่ ๒ ทำเพราะลังเลสงสัย...

อย่างที่ ๓ ทำเพราะควรและไม่ควร..

สิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ ถ้าฝืนทำนี้เป็นอาบัติหมด สิ่งที่เป็นอาบัติ เห็นไหม นี่ถ้าพูดถึงว่าควรและไม่ควร สิ่งที่เรามีหลักมีเกณฑ์ เราจะเข้าใจสิ่งนี้ได้.. ถ้าเข้าใจสิ่งนี้แล้วเราจะค้นคว้า เราจะหาแสวงหาของเรา..

ถ้าแสวงหา นี่พุทธศาสนานะ ศาสนาแห่งปัญญา.. เราบอกว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา แต่พอเรามาใช้ปัญญากัน เราบอกว่าทำไมมันยุ่งยากขนาดนี้ล่ะ เพราะปัญญามันมีหลายระดับชั้นนะ

ปัญญาของแค่เสียสละทาน ปัญญาแค่เอาความคิดของเรา ที่ว่าสิ่งใดควรและไม่ควร เราอยากจะทำคุณงามความดีของเราไหม เราเสียสละวัตถุออกไป เพื่อความมั่นคงของหัวใจ

ถ้าหัวใจมันมั่นคงนะ เราเสียสละได้ เรามีความชุ่มชื่นนะ เราเสียสละออกไปด้วยความศรัทธา ด้วยความเชื่อ เราจะมีความพอใจ แต่ถ้าเราโดนขโมย ของเราหายไป เราจะมีความขุ่นใจมากตลอดเลย

นี่ของหลุดจากมือเราไปเหมือนกัน แต่หลุดจากมือไปอันหนึ่งด้วยความพอใจ ด้วยความแช่มชื่น ด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใส มันจะมีความสุข มีความพอใจของมัน อีกอย่างหนึ่งเวลามันสูญหายไปโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ เราจะมีความกังวลใจ เห็นไหม

นี่สิ่งที่เป็นบุญกุศล เวลาเราเสียสละด้วยความพอใจของเรานี่ บุญจะเกิดขึ้นจากสภาวะนั้น วัตถุเป็นวัตถุ แต่หัวใจของเราที่มันได้สิ่งที่เป็นบุญกุศลขึ้นมา อันนี้จะเป็นประโยชน์มาก.. แล้วเป็นประโยชน์มาก เห็นไหม พอเป็นประโยชน์มาก แล้วเราทำบุญกันบ่อยครั้งเข้า.. บ่อยครั้งเข้า ทำบุญจนอิ่มหนำสำราญนะ แล้วเราจะทำสิ่งใดต่อไปล่ะ นี่เขาก็ต้องอยากภาวนา

คนทำบุญก่อนนี่ทาน.. ระดับของทาน ระดับพื้นที่ของเรา เรานี่เป็นคนหยาบ คนหนา เวลาเราจะปฏิบัติเลย เราจะมาปฏิบัติก็ได้ จะทำอย่างไรก็ได้ แต่หัวใจมันยังไม่พร้อม ความไม่พร้อมของใจนี่มันจะมีปัญหาของมันนะ ความไม่พร้อมของใจมันเป็นมิจฉาทิฏฐิไง !

ความรู้สึก เห็นไหม ดูสิคนละเอียดอ่อน ความรู้สึกของเขาละเอียดอ่อนมาก.. คนหยาบ ความรู้สึกของเขาจะหยาบมาก.. แล้วความรู้สึกที่เข้าไปถึงสู่ใจ ความหยาบๆ อย่างนั้นมันจะเข้าสู่ใจได้อย่างไร ถ้าความหยาบๆ เข้าไป มันก็เข้าไปสู่กิเลส เข้าไปสู่ตัณหาความทะยานอยาก เข้าไปสู่ความคิด

อาการของใจไม่ใช่ใจ ! มันเป็นสภาวะแวดล้อมของใจ เห็นไหม เป็นสภาวะแวดล้อม เพราะสภาวะแวดล้อมนี่คือความคิด ถ้าสภาวะแวดล้อมคือความคิด เราเข้าได้แค่สภาวะแวดล้อมนั้น แล้วเราก็ว่าสิ่งนั้นเป็นธรรม แต่คนที่ละเอียดอ่อนเขาเข้าไปสู่ตัวใจ เขาผ่านสภาวะแวดล้อมนั้นเข้าไป

“รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ! ขันธ์ ๕ ไม่ใช่จิต.. จิตไม่ใช่ขันธ์ ๕”

รูปคืออารมณ์ความรู้สึก อารมณ์ความรู้สึกที่เป็นรูปขึ้นมาเลย..

เวทนา ! เวทนาคือความรับรู้.. สัญญา นี่สังขารปรุงแต่ง คือวิญญาณรับรู้..

โลกคือความรู้สึก ความรู้สึกเป็นความคิด แต่พลังงานล่ะ พลังงานที่ความรู้สึกนึกคิดละเอียดเข้าไปล่ะ นี่สิ่งที่เราทำทาน ทำบุญกุศล สิ่งที่เราทำก็เกิดจากขันธ์ ๕ เกิดจากรูป เกิดจากเวทนา เกิดจากความพอใจนี่แหละ

แต่ความพอใจเราทำบ่อยครั้งเข้าจนมันอิ่มหนำสำราญ มันมีความพอใจ เห็นไหม เราอยากภาวนา เราตั้งสติขึ้นมา มันผ่านขันธ์ ๕ เข้าไป... ผ่านขันธ์ ๕ ! เข้าไปเพราะเรารู้ของเรา เราชัดเจนของเรา มันผ่านขันธ์ ๕ เข้าไปสู่พลังงาน

ถ้าสู่พลังงาน นี่จิตเดิมแท้.. จิตเดิมแท้ ปฏิสนธิจิต เห็นไหม วิญญาณในปฏิสนธิจิต กับวิญญาณในขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

วิญญาณนี่วิญญาณรับรู้.. วิญญาณรับรู้นี่วิญญาณในอายตนะ

แต่วิญญาณนี่ความรู้สึก อวิชชา ปัจจยา สังขารา สังขารา ปัจจยา วิญญาณัง.. คือวิญญาณในปฏิจจสมุปบาท.. วิญญาณในจิตเดิมแท้ กับวิญญาณในขันธ์ ๕ มันแตกต่างกัน ถ้าคนภาวนาเป็น มันจะรู้ มันจะเห็น มันแตกต่างกัน... ความแตกต่างอย่างนี้ นี่จิตหยาบจิต-จิตละเอียด มันจะเข้าสัมผัส !

แล้วเราบอกว่าวิญญาณก็เหมือนกัน.. กินข้าว , ทานอาหาร , เสวย นี่ก็กินเหมือนกันนั่นแหละ แต่สถานะของคนแตกต่างกัน คำพูดหรือศัพท์ถึงแตกต่างกัน

นี่วิญญาณเหมือนกัน ! วิญญาณรับรู้ วิญญาณในขันธ์ กับวิญญาณในปฏิจจสมุปบาท วิญญาณในปฏิสนธิจิต.. ปฏิสนธิจิตที่มันเกี่ยวเนื่องไปกับเทวดา อินทร์ พรหม เวลาเวียนเกิดเวียนตายโดยกามภพ รูปภพ อรูปภพ นี่ในวัฏฏะ ! จิตนี้มันจะเวียนของมันไป

แต่ในปัจจุบันนี้ ถ้าเวียนไปอย่างนี้ มันเวียนของมันไปตามอำนาจวาสนา ตามเวรตามกรรมในวัฏฏะ นั้นเป็นผลของวัฏฏะ เราเกิดเป็นผลของวัฏฏะ ! แต่เวลาในปัจจุบันนะ อารมณ์ความรู้สึก ความนึกคิดนี่เห็นไหม คิดหนึ่งก็ภพชาติหนึ่ง ! เวลาภาวนานะ คิดหนึ่งๆ ก็เกิดชาติหนึ่ง เกิดในความคิดนั้น เกิดในอารมณ์นั้น เกิดในความรู้สึกนั้น

คิดหนึ่งก็ภพชาติหนึ่ง.. แล้วคิดหนึ่งก็ภพชาติหนึ่ง.. ถ้าเรามีสติปัญญา เราพยายามทำความคิดแล้วความคิดมันหยุด !

เขาบอกว่า “ความคิดหยุดไม่ได้...”

คนที่บอกว่า “ความคิดหยุดไม่ได้นี่ ภาวนาไม่เป็น !”

ถ้าความคิดหยุดไม่ได้ แล้วมันเกิดสมาธิได้อย่างไร.. แล้วคนเรา เวลาเราสบายอกสบายใจ เราไม่มีความคิดเลย เราอยู่ของเราเฉยๆ ความคิดมันไม่มี มันจางไป จนเหลือแต่ตัวพลังงาน แต่ไม่มีสติ แล้วมันก็เลยเกิดสมาธิไม่ได้ มันเป็นมิจฉา !

แต่เพราะเรามีสติมีปัญญา มันคิด เราก็รู้ว่าคิด..

แล้วเวลามันหยุดคิด เราก็รู้ว่าหยุดคิด.. เราไม่ให้คิด มันรู้ว่าเราไม่ให้คิด.. เราไม่ให้คิด !

ไม่ให้คิดจริงๆ นะ ! มีสตินี่ไม่ให้คิดเลย ถ้ามันชำนาญแล้วนี่ไม่ให้คิดได้เลย พอมันมีสติแล้วควบคุมได้หมดเลย มันคิดไม่ได้หรอก !

ถ้ามีสตินะ ดูสิถ้าเรามีสติ ความทุกข์ ความคิด ของเรานี่จะจบหมดเลย แต่ว่าแป๊บเดียวมาอีกแล้ว.. แป๊บเดียวมาอีกแล้ว เพราะเราขาดสติ เพราะเราฝึกไม่เป็น ถ้าเราฝึกเป็นนะ นี่มันจะคิดก็รู้ว่าคิด มันจะไม่คิดก็รู้ว่าไม่คิด ถ้าไม่ให้มันคิดเราก็บังคับมันได้.. บังคับมันได้นะ ถ้าผู้ที่ชำนาญบังคับมันได้หมดเลย บังคับได้ด้วยสติ ด้วยปัญญาของตัว

พอใคร่ครวญอย่างนี้ พอมันกลับไปสู่พลังงาน กลับไปสู่ตัวฐีติจิต ตัวปฏิสนธิจิต.. ปฏิสนธิจิต คือเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม ที่ตัวปฏิสนธินี้ ตัวนี้คือตัวโปรแกรม ตัวนี้คือตัวข้อมูล ตัวนี้คือตัวทำให้เกิดในวัฏฏะ ! ผลของวัฏฏะ.. ถ้าเราเข้าไป นี่ศาสนาพุทธสอนที่นี่ !

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่งอยู่โคนต้นโพธิ์ เห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ที่โคนต้นโพธิ์ แต่ตรัสรู้ที่นี่ ! ตรัสรู้ที่หัวใจนี้ ! บุพเพนิวาสานุสติญาณ นี่คนภาวนาเป็น...! บุพเพนิวาสานุสติญาณคือเครื่องยนต์ ดูสิเวลาเครื่องยนต์มันติด มันมีพลังงานของมัน มันจะหมุนของมัน

นี่ก็เหมือนกัน พอไปสู่จิตเดิมแท้ นี่คือพลังงานของมัน คือข้อมูลของมัน นี่พลังงานของจิตไง ! บุพเพนิวาสานุสติญาณ.. นี่เวลาเครื่องยนต์มันติดมันจะมีพลังงานใช่ไหม เวลาจิตเข้าไปสู่ฐีติจิต นี่บุพเพนิวาสานุสติญาณเข้าไปสู่ข้อมูลทั้งหมด

เครื่องยนต์มันหมุนในตัวมันเอง แล้วมีพลังงานในตัวมันเอง แต่เวลาเราต่อสายพานเข้าไป เครื่องยนต์จะถ่ายพลังงานไปที่อื่น เวลาเราเกิดสติ ขันธ์ ๕..! ขันธ์ ๕ คือว่ามันถ่ายพลังงานออกมาที่ขันธ์ ๕ แต่เวลาเราผ่านขันธ์ ๕ เข้าไปสู่ตัวจิต ตัวจิตคือตัวเครื่องยนต์ คือพลังงาน

นี่บุพเพนิวาสานุสติญาณ เห็นไหม บุพเพนิวาสานุสติญาณคือข้อมูลในตัวมันเอง พลังงานในเครื่องยนต์นั่นไง แล้วถ้าพลังงานในเครื่องยนต์นี้ ถ้าเวลาเราจุตูปปาตญาณ มันเกิดภพชาตินี่ปฏิสนธิจิต เราไปแก้กันที่นี่ไง นี่ไปแก้กันที่นี่

ดูเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อาสวักขยญาณ เห็นไหม ชำระตรงนี้เกลี้ยง สะอาดหมดเลย ! นี่เครื่องยนต์ก็ไม่มี สรรพสิ่งก็ไม่มี เป็นเรืองแสงหมดเลย เพราะมันไม่มีวัตถุ ไม่มีสิ่งใดเลย... นี่มันปฏิบัติของมัน เห็นไหม

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า วางธรรมและวินัยไว้ มันละเอียดลึกซึ้งขนาดนี้ ! แต่นี้เราจะประพฤติปฏิบัติเราก็ต้องเริ่มจากฟังธรรม

ฟังธรรม ! เห็นไหม นี่ภาคปฏิบัติ การฟังธรรมของครูบาอาจารย์ “จากใจดวงหนึ่ง” คือใจดวงนั้นได้ประสบการณ์ของใจดวงนั้น ได้ผ่องแผ้ว ได้มีการกระทำ มีกิจญาณ มีการกระทำในหัวใจนั้นออกมาเป็นภาคปฏิบัติ

แต่เราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยความรู้ของเรา ศึกษาจากขันธ์ ๕ ศึกษาจากสัญญาคือความจำ สังขารคือสามัญสำนึกของมนุษย์ เราศึกษาด้วยสามัญสำนึก เรารู้ด้วยอาการของขันธ์ รู้ด้วยการสถิติ รู้ด้วยการศึกษา.. แล้วเวลาปฏิบัตินี่มันจะย้อนกลับมา วางขันธ์ ๕ เข้ามาสู่จิต พอเข้าสู่จิตแล้วจิตมันออกวิปัสสนา นี่มันเป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง ถึงบอกว่ามีโลกียธรรมกับโลกุตตรธรรมไง

โลกียะคือการศึกษาค้นคว้า..แต่ถ้าโลกุตตระคือตัวจิต ปฏิสนธิจิต... จะเข้าสู่ตัวนี้ ! ถ้าเข้าได้ ทำได้ มันจะมีประสบการณ์ของมัน.. จะเป็นความจริงของจิตนะ !

นี่พูดถึงทาน ศีล ภาวนา.. เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธกิจ ๕ ! นี่เราอยากพบอยากเห็น เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเล็งญาณ เราก็อยากให้เราอยู่ในข่ายขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะมาเทศนาว่าการนี่ มันจะเล่นตัวนะ ! มันจะต้องให้เทศน์ให้เข้าใจนะ เทศน์ให้ซึ้งใจนะ มันยังเล่นตัวมันอีกนะ...

แต่ถ้าเป็นความจริง ! จะเกิดทันหรือไม่ทันนะ ธรรมและวินัยเป็นศาสดาของเรา ! เราจะต้องค้นคว้าของเรา เพื่อประโยชน์ของเรา เพื่อคุณงามความดีของเรา เราจะทำเพื่อประโยชน์กับเรา เราเลือกของเราเอง เราทำของเราเอง เพื่อประโยชน์กับเราเอง เพื่อชีวิตของเรา เพื่ออุดมคติของเรา เพื่อจิตวิญญาณของเรา

ผลของวัฏฏะ....คือการเวียนตายเวียนเกิด

แล้วผลของวิวัฏฏะล่ะ.. วิวัฏฏะ ! คือมันไม่ไปอีกแล้ว ! มันมีของมัน ! มันรู้ของมัน ! ด้วยหัวใจของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เอวัง