ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

คาดไม่ถึง

๒๓ ต.ค. ๒๕๕๓

 

คาดไม่ถึง
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

อันนี้มันก็เหมือนกัน ปัญหามานี่... เพราะมันมีคนมาถามด้วยปากหลายคน มันก็เกี่ยวกับเรื่องนี้ นี่เขาถามมาด้วยมารยาทผู้ดี เขาเขียนดีมากเลยนะ เดี๋ยวฟัง

ข้อ ๒๕๑. เนาะ เรื่อง “ไม่ยินดียินร้าย” เขาบอกว่าเขามาฟังในเว็บไซต์ แล้วเราตอบไตรลักษณ์ไป เรื่อง “ตื้นเขินในธรรม” แล้วเขาได้คติมาก เขาก็เลยเขียนมา เพราะธรรมดาเขาก็ยังไม่เปิดหมดไง พอเขาถามปัญหามาแล้วเราบอกว่าตื้นเขินมาก.. มันเป็นเรื่องพื้นฐานมาก.. มันไม่ใช่เรื่องที่เป็นธรรมะเลย.. ตื้นเขินในธรรม !

ถาม : โยมได้รับความรู้จากการถามเรื่องไตรลักษณ์ ที่หลวงพ่อเมตตาตอบให้ใน “ตื้นเขินในธรรมะ” แล้วกราบขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ โยมมีเพื่อนที่ตั้งใจปฏิบัติธรรมอยู่หลายคน ครั้งหนึ่งโยมถามเพื่อนคนหนึ่งว่า “เวลามีสิ่งมากระทบใจและเกิดความรู้สึกขึ้นมา ไม่ว่าจะโกรธหรือจะดีใจ จะทำอย่างไร”

เขาตอบว่า “เขาไม่ให้ค่ากับความรู้สึกนั้น ไม่ไปยินดียินร้ายกับมัน”

โยมจึงถามต่อว่า “แต่มันเกิดความยินดีหรือยินร้ายแล้วใช่ไหม”

เขาก็ตอบว่า “ใช่ ! แต่ปล่อยมันไป”

โยมก็เลยถามต่ออีกว่า “ถ้าเกิดความรู้สึกยินดียินร้ายแล้ว ก็แสดงว่าอนุสัยกิเลสก็เกิดขึ้นแล้วน่ะสิ แล้วอย่างนี้จะขจัดอนุสัยได้อย่างไร” เขาก็ตอบโยมไม่ได้

โยมจึงพิจารณาว่า การปฏิบัติแบบนั้นน่าจะพอละได้สำหรับกิเลสที่อย่างหยาบๆ ซึ่งก็คงเป็นเพราะเขามีจิตใจที่ดีที่รู้ว่าสิ่งใดเป็นกุศล สิ่งใดเป็นอกุศลอยู่แล้ว แต่ก็ไม่น่าจะใช่ การไม่ยินดียินร้ายที่เกิดขึ้นเพราะเป็นผลของการปฏิบัติ โยมเข้าใจว่าการที่เราไม่ยินดียินร้ายใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ได้บ้างนั้น เป็นเพราะเราปฏิบัติจนละอุปาทานได้บ้างแล้ว จึงเกิดสภาวะที่ไม่หลงในนิมิต ไม่หลงเพลินในอารมณ์

อย่างเช่น มีคนมาว่าเราต่อหน้าต่อตาว่า เราอ้วน.. น่าเกลียด.. เหมือนอึ่งอ่าง.. เราไม่ยินดีคำพูดของเขา แต่เหมือนไม่รับรู้ถึงคำแปรความหมายของคำพูดนั้น เมื่อไม่มีคำแปร คำพูดนั้นจึงเป็นแค่เสียงที่เราได้ยิน แต่ไม่มีความหมายให้รู้สึก จนต้องมาปรุงแต่งต่อ มันจึงไม่รู้สึกยินดียินร้ายได้จริงๆ เพราะใจมันไม่ไปยึดกับความหมายของคำพูดนั้นนั่นเอง

หรือในทางกลับกัน อาจจะเป็นเพราะเราไม่มีสติและสมาธิมากพอ ที่จะจับความคิดที่เจือไปด้วยกิเลสอย่างละเอียดนั้นได้ทัน มันจึงกลายเป็นความหลงที่คิดว่าไม่ยินดียินร้าย.. หลวงพ่อช่วยเมตตาให้ความกระจ่างด้วยค่ะ

หลวงพ่อ : เห็นไหม มันตอบเสร็จแล้ว !

“มันจึงกลายเป็นความหลงคิดไปว่าไม่ยินดียินร้าย” นี่เห็นไหม เพราะเขาอ่านไง เขาถามเข้ามาในเว็บไซต์ เพราะตอนนี้มันมีอย่างนี้มากใช่ไหม บอกว่า “ไม่ยินดียินร้าย.. ปล่อยวาง.. ว่าง.. ว่างหมด” ว่างเพราะอะไรล่ะ ว่างเพราะเรารู้โจทย์อยู่แล้วว่าว่าง เราก็คิดว่ามันว่าง แต่มันว่างจริงหรือเปล่าล่ะ

“นี่ธรรมะคาดไม่ถึง.. ธรรมะคาดไม่ได้”

แต่นี้มันมีผลตอบอยู่แล้วไง พระพุทธเจ้าสอนให้ปล่อยวางใช่ไหม พระพุทธเจ้าสอนไม่ให้ยึดติดใช่ไหม... เราก็ไม่ยึดติดไง !ไม่ยึดติดแล้วทำอย่างไรต่อไปล่ะ..

ก็ไม่ยึดติดไง ก็ปล่อยวาง ก็ว่างหมดไง..

ว่างต่อไปแล้วทำอย่างไร..

ก็ว่างแล้วไง ! แล้วทำอย่างไรต่อไปล่ะ..

เพราะอะไร เพราะมันมีคำตอบอยู่แล้ว พอมีคำตอบอยู่แล้ว นี่เพราะเราศึกษาปริยัติมาแล้ว เรามีคำตอบอยู่แล้ว พอมีคำตอบอยู่แล้ว เราก็ทำใจของเราให้มันเป็นเหมือนคำตอบนั้น พอทำให้เหมือนคำตอบนั้น พอมีสิ่งใดมาแล้วเราก็ปฏิเสธเลย แต่ ! แต่ไม่มีการกระทำเลย

คำตอบนั้นเป็นคำตอบขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ! คำตอบนั้นมันเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันเป็นธรรม ! มันเป็นสัจธรรม แต่ของเรามันไม่มีไง

ธรรมะสาธารณะ เห็นไหม เราบอกว่า “ธรรมสาธารณะกับธรรมส่วนบุคคล”

ธรรมสาธารณะ.. นี่เราบอกว่าธรรมะเป็นธรรมชาติ.. ธรรมะเป็นธรรมชาติ นี่มันเป็นธรรมสาธารณะ ! ธรรมสาธารณะคือเป็นของสาธารณะไม่ใช่ของๆ เรา... ธรรมส่วนบุคคลต่างหาก ! ธรรมของเราต่างหาก ! แล้วเราว่างจริงหรือเปล่า.. เราว่างจริงหรือเปล่า ถ้าเราว่างจริง.. เหตุผลทำไมถึงว่าง ? ทำอะไร ทำไมถึงว่าง ?

แต่ไอ้นี่ว่า “อ้าว.. ก็รู้แล้ว ก็มันว่างไง แหม.. ท่านนี่ยึดติดมาก ท่านนี่เป็นคนมีทิฐิมาก ท่านนี่ใช้ไม่ได้เลย ก็เราปล่อยวางหมดแล้วไง.. ก็เราปล่อยวางหมดแล้ว” ธรรมะคาดไง ! คาดเดาเอาไง !

นี่ไงตอนนี้มันเป็นอย่างนี้ พอมันเป็นอย่างนี้ปั๊บ คือมันรู้โจทย์หมดแล้ว มันรู้คำตอบหมดแล้ว พอรู้คำตอบหมดแล้ว เราก็สร้างภาพของเราไปตามคำตอบหมดแล้ว แล้วพระก็สอนกันอย่างนี้ เห็นไหม

นี่พูดถึงนะเขามีหลักของเขา คำถามของเรานี่มีไม่กี่คนหรอก เพียงแต่พอถามแล้วนะมันถามต่อเนื่อง เพราะคำถามที่เริ่มมันหยาบๆ แล้วพอเราตอบไป มันก็จะมีคำถามซ้ำกลับมา.. ซ้ำกลับมา

นี่เขาก็ถามมาแล้วเรื่องไตรลักษณ์ แล้ววันนี้เขาถามว่า เรื่อง “ไม่ยินดียินร้าย” ตอนนั้นเราตอบไป “ตื้นเขินในธรรม” วันนี้เราบอกว่า “ธรรมะคาดไม่ได้.. ธรรมะคาดไม่ได้”

นี่ธรรมะคาดหมาย ! พอธรรมะมันคาดหมาย คือมันรู้โจทย์อยู่แล้วมันก็คาดหมายของมันไป เพราะมันรู้โจทย์อยู่แล้ว พอรู้โจทย์อยู่แล้วนะเราก็ตอบโจทย์ของเราเอง พอเราตอบโจทย์ของเราเองแล้วเราก็ว่าเราสบาย

สบายสิ ทำไมจะไม่สบาย.. สบายก็อย่างที่ว่านี่ สบายเพราะมันมีสติ มันมีสมาธิอยู่บ้าง มันก็เลยสบาย แต่พอเดี๋ยวมันเสื่อมนะ เรียบร้อย ! พอมันเสื่อมขึ้นมาแล้วเอาไม่อยู่หรอก ! เอาไม่อยู่ เราเอาความคิดของเราไว้ไม่อยู่หรอก เวลาฝนตกแดดออกพอประมาณ เห็นไหม ทำไร่ไถนาก็ดี แต่เวลาน้ำท่วมแรงๆ นี่เสร็จหมด ท่วมมา ๓ เมตร ๔ เมตร อะไรก็อยู่ไม่ได้ แล้วถ้าขังเป็นเดือนนะ ตายหมด

นี้ก็เหมือนกัน ลองกระทบแรงๆ สิ ไปหมด ! แต่นี้เพราะว่าพอกระทบอย่างนี้ ก็มันไม่ยินดียินร้ายไง.. ก็มันรู้เท่าไง.. ก็มันปล่อยหมดไง.. มันไม่ง่ายอย่างนี้หรอก แต่มันก็เป็นพื้นฐานนะ

พื้นฐานเริ่มต้นทุกคนก็ต้อง.. นี่จริตนิสัย การฝึกก็ฝึกอย่างนี้แหละ ฝึกเพื่อกดไว้ บอกว่าหินทับหญ้า.. หินทับหญ้า ขอให้มันทับไหวเถอะ ถ้าหินทับหญ้ามันก็ทำให้บ้านเราสะอาดนะ ทำให้หญ้าไม่ขึ้นรกบ้านเรา ถ้ามันทับได้นะขอให้มันทับไปก่อน แต่เพราะเรากำจัดได้ เราก็กำจัดจนมันหมดสิ้นไป แต่นี้ไม่เป็นหินทับหญ้าเลย ปล่อยให้บ้านรกชัฏเลยมันก็ไม่ใช่

ฉะนั้นหินทับหญ้า เห็นไหม กิริยามารยาทเรียบร้อยนี่หินทับหญ้าไว้ทั้งนั้นแหละ มันเป็นมารยาท ถ้ามารยาทเป็นอย่างนั้นก็คือเราทำเพื่อสังคม แต่ถ้าถึงเวลาทำ ต้องทำตามความเป็นจริงนะ

ฉะนั้นให้ขยายความ “โปรดเมตตาให้ความกระจ่างด้วย” ให้ความกระจ่างเราต้องตามข้อเท็จจริง ถ้าตามข้อเท็จจริง นี่ของเราทำนะ ศีล สมาธิ ปัญญา.. ศีล สมาธิ ปัญญา นี้เขาไปรังเกียจศีลกับสมาธิ แต่เขาชอบปัญญา ถ้าเขาชอบปัญญา นี่มันเป็นไปไม่ได้ !

“ศีล สมาธิ ปัญญา รวมแล้วก็คือมรรค ๘”

มรรค ๘ แยกออกมานะ แยกออกมาด้วยศีล.. ศีล คือมันมีของมัน คือสัมมาอาชีวะต่างๆ นี่มันก็เป็นศีล.. ศีลในมรรค !

สมาธิ.. สมาธิก็ความเพียรชอบ งานชอบ สิ่งต่างๆ นี่งานชอบ.. นั่นก็เป็นสมาธิชอบ !

ปัญญา.. ปัญญาความดำริ ความเห็นต่างๆ

ศีล สมาธิ ปัญญา... นี่เราจะตัดศีลกับสมาธิออกไป แล้วว่าจะให้เกิดมีปัญญาอย่างเดียว นี้มันเป็นไปไม่ได้หรอก ! มันเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าอย่างเช่นเงินของเรา เห็นไหม ถ้าเราทำให้เงินชำรุด แล้วเงินเราใช้ได้ไหม เงินของเรานี่เราทำให้มันชำรุดหมดเลย แล้วบอกว่าเอาไปใช้ในท้องตลาด มันเป็นไปไม่ได้หรอก !

เงินมันก็ต้องสมบูรณ์ของมัน ถูกต้องของมัน เงินนี้ถึงจะเป็นประโยชน์ได้.. มรรคก็เหมือนกัน ! “มรรคก็คือศีล สมาธิ ปัญญา” เวลาเราบอกว่ามรรค ๘ ทุกคนก็อยากได้มรรค ๘ แต่บอกว่าศีล สมาธิ นี่อยากตัดทิ้ง สมาธิเป็นสมถะอยากจะตัดทิ้ง แล้วจะเอาแต่ปัญญา.. เอาแต่ปัญญา มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ! แต่ที่มันเป็นไปได้เพราะมันคาดเอา.. มันคาดเอา มันสร้างภาพเอา

“ธรรมะจัดตั้ง ! ธรรมะตัดแปะ !” มันตัดมาแปะเลย ธรรมะตัดแปะมันเป็นไปไม่ได้หรอก มันตัดแปะมันก็สวยงาม ถ้าคนทำงานไม่ได้มันก็รู้ไง แต่ถ้าเราทำของเราจริงๆ นะ

นี่ให้ความกระจ่าง เราก็ต้องเริ่มตั้งแต่ตั้งสติของเรา แล้วเราฝึกฝนของเราไป มันเหมือนแม่ครัว เหมือนคนทำงานนี่แหละ คนทำงานนะเราเข้าครัวของเรา ถ้าไม่มีวัตถุดิบเลยทำอะไรไม่ได้หรอก ในครัวมีแต่ถ้วยโถโอชาม ไม่มีวัตถุดิบจะนำมาทำอาหาร ก็เป็นไปไม่ได้ ! มีวัตถุดิบแล้วทำไม่เป็น ก็เป็นไปไม่ได้ ! มีวัตถุดิบ ทุกอย่างพร้อม แต่ทำไม่เป็น ก็เป็นไปไม่ได้ !

มันเป็นไปไม่ได้ทั้งนั้นเลยถ้ามันไม่มีการฝึกฝน เห็นไหม ฉะนั้นพอเราฝึกฝนขึ้นมา เราบอกว่าโอ้โฮ.. มันเป็นเรื่องลำบาก มันเป็นเรื่องความยาก..

มันจะลำบากจะยากขนาดไหนเราก็ต้องทำถ้าคนอยากพ้นทุกข์ ถ้าไม่อยากทำก็ธรรมะตัดแปะนี่แหละ ตัดแปะกันไป ว่างๆ.. สบายๆ.. เอาตามสบาย ตามสบายเลย.. แล้วพอเวลาธัมมสากัจฉา พูดกับคนเป็นนะ คนเป็นเขารับไม่ได้ ! คนเป็นเขารับไม่ได้หรอก

อาหารของเราทำขึ้นมา สดๆ ร้อนๆ ออกมาจากครัวนี่มันมีคุณภาพของมัน ไอ้เราเอาเมนูอาหารมา ถ่ายรูปมาแล้วบอกว่า ดูของฉันสิส๊วย.. สวย แต่กินไม่ได้ไง มันเป็นกระดาษ กินไม่ได้หรอก ! แต่ของเราทำขึ้นมา มันอยู่ในถ้วยในชามนี่มันกินได้

ฉะนั้นเราอย่าไปตื่นเต้น.. เราอย่าไปตื่นเต้นกับสิ่งที่เขาพยายามชักนำไป เห็นไหม แต่ถ้าเราเอาตามความเป็นจริง คือเราพิสูจน์ของเราไง ! เราพิสูจน์ของเรา... ธรรมะคาดเดาไม่ได้นะ ! ธรรมะคาดเดาคือสัญญา.. สัญญานี่นะ ปริยัติ.. ปฏิบัติ..

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกให้เรียนปริยัติ เห็นไหม เพราะเรียนแล้วนี่นะ เวลาพระผู้เฒ่าที่บวชเมื่อแก่ พอไปถึงบอกว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกให้กรรมฐานแล้วเข้าป่าไปเลย นั่นคือประสบการณ์เลย ปริยัติแล้วปฏิบัติ !

ปริยัติจะรู้มากรู้น้อยแค่ไหนนะ มันก็นี่ไงธรรมะเป็นธรรมชาติ.. ธรรมะต่างๆ.. มันก็ศึกษานี่แหละ ธรรมะเป็นธรรมชาติมันก็สร้างภาพตัดแปะไว้ในใจนั่นไง มันก็เป็นอย่างนั้นแหละ

แต่ถ้าเป็นความจริงนะ ถ้าเป็นธรรมชาติ เราก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เป็นผลของวัฏฏะนะ แต่เวลาถ้าเราพ้นจากธรรมชาติไปนะ.. พ้นจากธรรมชาติ ! เหนือธรรมชาติ ! วางธรรมชาติไว้ ! เราบอกว่าธรรมะจริงๆ มันเหนือธรรมชาติ

ถ้าธรรมะเป็นธรรมชาตินะ ธรรมะก็ตกอยู่ในวัฏฏะ อยู่ในวังวนของมัน.. แต่ถ้าเราพ้นออกไป มันเหนือธรรมชาติมันถึงวางธรรมชาติไว้ แล้วพ้นจากธรรมชาติไปได้ แล้วมันพ้นอย่างไร.. มันพ้นอย่างไร..

มันจะพ้นจากธรรมชาติ มันมีวิธีการพ้น แล้วมันพ้นได้ด้วย แล้วตรวจสอบได้ ! ไม่ใช่พูดลอยๆ หรอก คนพูดลอยๆ ไม่มีเหตุมีผล ศาสตราจารย์.. ถ้าไม่มีผลงานจะเป็นศาสตราจารย์ไม่ได้หรอก ศาสตราจารย์เขาต้องมีทางวิชาการของเขา มีผลงานของเขา เขาถึงได้เป็นศาสตราจารย์ !

ธรรมะเหนือธรรมชาติมันต้องมีเหตุผลรองรับของมัน มันเหนืออย่างไร..! แล้วมันตรวจสอบได้ ! มันตรวจสอบได้ ผู้รู้มี.. ผู้รู้เขามีจริง

ฉะนั้นสิ่งที่ว่าให้เมตตา เราก็เมตตา.. ให้เมตตาหมายถึงว่า เราต้องทำตามข้อเท็จจริงของเราไป เรารักษาศีล เราทำสมาธิของเรา แล้วถ้าปัญญามันเกิด เพราะปัญญามันเกิดนะ เวลาปัญญามันเกิด “โลกุตตรปัญญา กับโลกียปัญญา นี้ก็แตกต่างมหาศาลเลย”

แล้วอย่างมรรคหยาบ-มรรคละเอียด หลวงตาท่านพูดไว้ในมุตโตทัย เห็นไหม หลวงปู่มั่นพูดไว้ในมุตโตทัย แล้วหลวงตาขยายความ บอกว่า “ทองคำ... ทองคำที่สะอาดบริสุทธิ์ กับทองคำในเหมือง มันก็ยังแตกต่างกัน”

แล้วทองคำนะ.. ทองคำของโสดาบัน มันก็มีพวกแร่ธาตุต่างๆ เจือปนอยู่ ๗๕ เปอร์เซ็นต์ เป็นทองคำแท้ ๒๕ เปอร์เซ็นต์..

ธรรมะของพระสกิทาคามี เนื้อทองคำ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ส่วนผสมแร่ธาตุอื่นๆ อีก ๕๐ เปอร์เซ็นต์..

ทองคำของพระอนาคามี ธรรมะแท้ๆ ๗๕ เปอร์เซ็นต์ ส่วนผสมของแร่ธาตุอีก ๒๕ เปอร์เซ็นต์..

ทองคำของพระอรหันต์ เป็นทองคำแท้ ทองคำบริสุทธิ์ ทองคำ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์..

แม้แต่มรรคหยาบ-มรรคละเอียด.. แม้แต่โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี.. ความคิดนะ ความเข้าใจในธรรมะยังแตกต่างกันเลย ! แล้วมันมีเหตุผลแตกต่างเพราะอะไร.. แตกต่างเพราะเหตุใด..

นั่นพูดถึงตามข้อเท็จจริงนะ ไม่ใช่ว่าเราจะปล่อยวางกันโดยที่ว่าไม่มีอะไรเลย นั่นเรื่องของเขา..

 

ถาม : ๒๕๒. เรื่อง “พิจารณาเวทนาอย่างเดียว”

หลวงพ่อ : อันนี้อ่านก็ยาวเนาะ แต่มันก็ต้องอ่านหน่อยหนึ่ง เพราะอะไร เพราะว่ามันถามมาเยอะ แล้วมันต่อต้านมาเยอะ แบบว่ามันมีปัญหากันมามาก

ถาม : ผมเคยพิจารณาด้วยวิธีปัญญาอบรมสมาธิ เดินจงกรม ๑ ชั่วโมง แล้วมานั่งกำหนดพุทโธแต่ไม่สงบนัก จึงพิจารณากำหนดแยกเป็นเนื้อหนังต่างๆ คิดทบไปทบมาให้ถูกหมารุมทึ้งซากศพนั้นจนเหลือแต่กระดูก หรือให้ช้างเดินทับกระดูกจนแหลกเป็นผง จิตเริ่มสงบลงเป็นลำดับ แล้วพิจารณาเป็นอุบายทบทวนไปมาอยู่นานพอสมควร พอจิตสงบจึงตัดแขนตัวเองออก (นี่เขาก็พิจารณาของเขาไปเรื่อย)

ความสงบที่ค่อยๆ เลื้อยมา (นี่ไง !) พอถึงตัดแขน ถ้าพิจารณาวิธีนี้อย่างไรก็ไม่ลง แต่พุทโธเข้ามาตลอดจนพิจารณาสงบทันกับความคิดที่เลื้อยมาโกหกเรา จนไปถึงปัญญาแว็บหนึ่งขาดอยู่ ๒ วันก็เห็น..

หลวงพ่อ : ปัญญาแว็บ... เขาพยายามคิดว่าเขาปฏิบัติแล้วเขาได้คุณธรรม แล้วเขาพยามจะมาหาเราหลายรอบแล้ว แล้วเราปฏิเสธไป แล้วเขาก็ไม่เชื่อ เขาก็เขียนมาในเว็บไซต์นี่หลายรอบ

สุดท้ายนะ..

ถาม : ผมตั้งใจเลยครับว่าชีวิตนี้ขอทำอย่างเต็มที่ ถ้าไม่ได้พ่อแม่ครูบาอาจารย์มาเตือนสติ ป่านนี้คงหลงไปกับของปลอมว่าเป็นจริงไปแล้ว กระผมขอขมา ที่ผมเอาความดื้อความโง่มาอวด ถ้าผมยังล่วงเกินครูบาอาจารย์อยู่อีก กรรมอันนั้นผมขอขมาด้วยครับ

หลวงพ่อ : นี่แบบว่าเขาสำนึก เขาว่าเขาสำนึกไง เขามาบอกว่าที่เขาเคยมาที่นี่ แล้วเขาบอกว่าเขาได้ขั้นได้ตอน แล้วเราบอกว่าไม่ใช่ อย่างไรก็ไม่ใช่.. เขาโกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยงเลยนะ มันเหมือนกับว่าเรานี่เหมือนกับหมาหวงก้าง ใครบรรลุธรรมไม่ได้นะ เราจะหวงไปหมดเลย

มันไม่ใช่ ! ใครจะบรรลุธรรมได้ หรือใครจะบรรลุธรรมไม่ได้ มันเป็นสิทธิของคนอื่น เป็นสิทธิของเขา แต่ถ้ามาคุยกับเราโดยข้อเท็จจริง มันก็ต้องว่ากันตามข้อเท็จจริง ฉะนั้นข้อเท็จจริงนั้นมันรับไม่ได้ เราก็บอกว่ามันไม่ใช่.. มันไม่ใช่ แล้วก็บอกให้เขาไปพิจารณา แต่ตอนนี้เขาพิจารณาแล้วนะ เขาถามมานะ ตอนนี้เขาสำนึกแล้วว่าเขาผิด !

“ถ้าไม่มีพ่อแม่ครูบาอาจารย์มาเตือนสติ ป่านนี้คงหลงไปนานแล้ว” นี่เขายอมรับผิด พอยอมรับผิดแล้วเขาก็ถามมา...

ถาม : ๑. ผมควรพิจารณาขันธ์ทุกตัวเลยหรือเปล่าครับ หรือเอาความรู้จริงกับเวทนาอย่างเดียว เวทนาที่เฉยๆ กับสุขพิจารณาอย่างไรครับ

หลวงพ่อ : การพิจารณานี่นะ การพิจารณาอย่างที่เราพูดเมื่อกี้นี้ เริ่มต้นจากที่ว่า “ไม่ยินดียินร้าย” นี่มันเป็นเรื่องพื้นๆ ! มันเป็นเรื่องพื้นๆ ของคนทำสมาธินะ

คนทำสมาธินี่เวลามันปล่อยสิ่งต่างๆ เข้ามา มันปล่อยความรู้ความเห็นเข้ามา มันเป็นสมาธินี่มันก็ปล่อยเข้ามา.. แต่มันปล่อยอย่างนี้มันเป็นสมถะ นี่มันปล่อยเข้ามา มันเป็นเรื่องพื้นๆ

ถ้าเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิมันก็ปล่อยเข้ามา ถ้ามันปล่อยเข้ามาแล้วเวลาเราจะออกไปพิจารณาเวทนา พอพิจารณาเวทนามันก็ปล่อยเวทนา พอมันปล่อยเวทนาขึ้นมา มันเป็นตทังคปหาน คือมันปล่อยชั่วคราว.. ปล่อยชั่วคราว คำว่าปล่อยชั่วคราวกับปล่อยจริงมันต่างกันอย่างไร

นี่คนภาวนาไปมันจะรู้นะ ถ้าคนภาวนาเป็นโสดาบัน เป็นต่างๆ มันจะมีเหตุการณ์อย่างนี้มา อย่างเช่นเด็ก.. เรามีลูกนะ เราบอกให้พาเอาเด็กเข้าครัวเลย แล้วทำอาหารให้ได้ครั้งเดียวมันจะทำอาหารได้ นี่ทอดไข่ยังทอดไม่ได้เลย เป็นไปไม่ได้หรอก ! เว้นไว้แต่ขิปปาภิญญา ที่ทำทีเดียวแล้วสำเร็จเลย มีขิปปาภิญญา.. แต่โดยธรรมชาติไม่มี !

ในอริยสัจนี้ทำแล้วทำเล่า.. ทำแล้วทำเล่า ทีนี้พอทำแล้วทำเล่า พอมันพิจารณาไปนี่มันปล่อยเวทนาอย่างไร ถ้ามันปล่อยเวทนาไปแล้ว มันตทังคปหาน มันปล่อยแล้วโล่ง แล้วมันคิดจนมันโล่งโถงมากเลย เพราะมันใช้ปัญญา

มันใช้ปัญญาโดยมีสมาธิ มันไม่เหมือนกับใช้ปัญญาโดยปุถุชน.. ใช้ปัญญาโดยปุถุชนเหมือนเราคิดโจทย์นี่ เราทำการบ้านนี่ เราคิดโจทย์เราตอบโจทย์ เราทำการบ้านพอจบแล้วมันก็จบ

นี่ถ้าปัญญาอบรมสมาธิพอจบแล้วมันก็จบ แต่พอจิตมันสงบแล้ว พอมันจบแล้ว นี่พอมันจบแล้วใช่ไหม จบแล้วมันก็หาโจทย์ใหม่ทำ หาโจทย์ใหม่ที่ว่า นี่พอจิตมันสงบแล้วมันออกพิจารณาเวทนาอย่างไร.. พอพิจารณาเวทนาไปแล้วมันก็ปล่อยอีก..

นี่เวลาเราทำการบ้าน พอการบ้านมันจบแล้วก็คือจบใช่ไหม พอจบแล้วทำอย่างไรต่อ พอจบแล้วก็ต้องส่งครูใช่ไหม ครูจะให้ว่าถูกหรือผิด..

นี่พอมันเป็นสมาธิแล้ว พอเราออกไปรื้อค้นเวทนา พอพิจารณาเวทนาแล้วมันก็ปล่อย.. มันก็ปล่อย ปล่อยก็ตทังคปหาน พอปล่อยแล้วเดี๋ยวเวทนามันก็เกิดอีก.. ปล่อยแล้วเดี๋ยวเวทนาก็เกิดอีก.. อยู่อย่างนั้นแหละ

พอเวทนาแล้วมันมีหลานเวทนา.. ลูกเวทนา.. พ่อเวทนา.. ปู่เวทนา.. นั่ง ๒ ชั่วโมงนี่หลานเวทนา.. นั่ง ๔ ชั่วโมงนี่ลูกเวทนา.. นั่ง ๖ ชั่วโมง ๘ ชั่วโมงนี่มันพ่อเวทนา มันปู่เวทนา มันเจ็บปวดคนละระดับ คนละชั้นทั้งนั้นแหละ

ฉะนั้นเอ็งฆ่าหลานมันตาย พ่อมันบอก เฮ้ย.. เอาหลานไปอ่อยเหยื่อไว้ก่อนเว้ย เสร็จแล้วเดี๋ยวปู่มันจะมาตลบหลังเว้ย พิจารณาเวทนาแล้วปล่อยแล้วก็คิดว่าเป็นโสดาบัน.. ไม่เป็นหรอก ! ไม่เป็น มันเป็นตทังคปหาน คือมันปล่อยชั่วคราว.. มันปล่อยชั่วคราว

ฉะนั้นเขาบอกว่าพิจารณาเวทนาอย่างไร.. ก็พิจารณาซ้ำอย่างไร..

เวทนาในเวทนา เห็นไหม เวลาพูดออกมานี้มันเป็นโวหาร ในเวทนานี่เวลาโยมนั่งสมาธินะ แล้วเกิดเวทนาขึ้นมา โยมว่ามีเวทนาเปล่าๆ เหรอ... มันมีรูปไหม ? ถ้าไม่มีรูปแล้วมันเป็นเวทนาได้อย่างไร.. มันมีสัญญาไหม ? ถ้ามึงจำเวทนาได้ แล้วมึงจำสุขไม่ได้บ้างเหรอ

อ้าว.. มึงจำไม่ได้เหรอ มีสัญญาไหม.. มี ! มีสังขารไหม.. มี ! มีวิญญาณไหม... มี !ครบเลย ! ถ้ามีครบ เพียงแต่มันไปเด่นที่เวทนา พอไปเด่นที่เวทนาก็ว่า โอ๋ย.. ปวด.. ปวด.. แต่ในเวทนานั้นขันธ์ ๕ ครบ ! ขันธ์ ๕ ครบ

ทีนี้พอเวลาพิจารณาไปแล้วถ้ามันปล่อย มันปล่อยขนาดไหนนะ มันปล่อย มันมีลูกเล่น คำว่าลูกเล่น.. ตัณหาความทะยานอยากนี่ละเอียดนัก พอละเอียดนัก พอมันปล่อยเวทนา มันตทังคปหาน คือมันปล่อยชั่วคราว... พอมันปล่อยชั่วคราวแล้วเดี๋ยวเวทนาก็เกิดอีก.. เกิดอีกก็กลับมาพิจารณาอีก.. พิจารณาอีก.. พิจารณาซ้ำไป ซ้ำแล้วมันก็ปล่อยอีก.. ปล่อยอีกก็พิจารณาอีก

แต่นี้พวกเราไม่คิดอย่างนั้นไง พอปล่อยเวทนาแล้วว่าเป็นโสดาบัน.. โสดาบัน ใครก็ว่าเป็นโสดาบัน “เวทนาไม่ใช่เรา เราไม่ใช่เวทนา.. รู้หมดแล้ว.. รู้หมดแล้ว” รู้หมดแล้วเดี๋ยวก็กลิ้ง เดี๋ยวก็ล้ม

นี่เพราะคำถามเขาถามไง “ถ้าปล่อยเวทนาแล้ว จะพิจารณาตัวเดียวอย่างไร”

เราจะพูดอย่างนี้นะ เวลาใครมาถามปัญหา บางคนบอกพิจารณาเวทนา ผ่านเวทนา ผ่านกาย.. มันผ่านอริยสัจ ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม..

เวลาธรรมะ... นี่ธรรมารมณ์ คืออารมณ์ความรู้สึก เราพิจารณาได้..

ถ้าเป็นสติปัฏฐาน ๔.. สติปัฏฐาน ๔ นี่เขาบอกว่าเป็นสติปัฏฐาน ๔ เห็นไหม แล้วเวลาที่เขาพิจารณากันแล้วบอกว่าเป็นสติปัฏฐาน ๔ เราบอกว่าโกหกหมด.. ที่เขาพิจารณาด้วยปัญญา ที่ว่ารู้พร้อม ทั่วพร้อมนี่เป็นวิปัสสนา.. พุทโธ พุทโธ นี่เป็นสมถะ พิจารณาไม่เป็นนั่นน่ะ

ไอ้ที่ว่ารู้สึกตัวทั่วพร้อมนี่โกหกทั้งนั้นแหละ ! เพราะอะไร คำว่าโกหกเพราะมันเป็นสมมุติไง ! มันสมมุติว่ารู้ไง ! มันรู้โจทย์หมดแล้ว มันรู้คำตอบหมดแล้วไง มันตั้งโจทย์เองใช่ไหม แล้วก็ตอบโจทย์เองไง กิเลสมันก็มีโจทย์มาให้ใช่ไหม แล้วกิเลสมันก็ตอบให้เสร็จเลย แล้วก็ว่ารู้ตัวทั่วพร้อมว่านี่เป็นวิปัสสนา... โกหก !

ถ้ามันจะเป็นสติปัฏฐาน ๔ จิตต้องสงบก่อน คำว่าจิตสงบก่อน มันไม่มีการโกหก คำว่าโกหกนี่นะคือกิเลส คือความเห็นแก่ตัว คือการเข้าข้างตัวเอง คือโกหก ! โกหกก็ด้วยจินตนาการของตัว ด้วยความเห็นของตัว ด้วยความรู้สึกของตัว เห็นไหม นี่โกหก ! คือเราโกหกตัวเราเอง

แต่ถ้าจิตสงบ.. ใครพุทโธ หรือปัญญาอบรมสมาธิจนจิตสงบ นี่โกหกตัวเองไม่ได้ จิตมันจะสงบตัวมันเอง มันเป็นสัจจะ.. สมาธิมันเป็นสัจจะ มันปล่อยวางของมัน มันโกหกตัวมันไม่ได้ เราจะโกหกว่าเราได้สมาธิไม่ได้หรอก ถ้าได้สมาธิ.. อย่านั่งปวดนะ

ใครโกหกว่าตัวเองได้สมาธิไม่ได้ มันจะต้องได้สมาธิด้วยตัวมันเอง ถ้าได้สมาธิด้วยตัวมันเอง มันออกวิปัสสนานี่มันจะออกด้วยตัวของมัน ออกด้วยสัจธรรม ออกด้วยอริยสัจจะ นี่ไม่โกหก ! ถ้าไม่โกหก นี่ไง สติปัฏฐาน ๔ เกิดตรงนี้ !

“สติปัฏฐาน ๔ เกิดจากจิตที่สงบแล้วออกพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม โดยข้อเท็จจริง นั้นถึงเป็นสติปัฏฐาน ๔ !”

แต่ที่บอกว่าสติปัฏฐาน ๔ อู้ฮู.. รู้กายทั่วพร้อม.. แบบนั้นก็ยังโกหกตัวเองอยู่ เดินยังสะดุดล้มเลย มึงเดินๆ อยู่เดี๋ยวก็กลิ้งน่ะ มึงจะรู้ตัวมึงเองได้อย่างไร ตัวมึงเองยังไม่รู้จักตัวเองเลย แล้วสติปัฏฐาน ๔ จะเกิดได้อย่างไร.. มันเกิดไม่ได้หรอก !

ฉะนั้นบอกว่าสติปัฏฐาน ๔ พิจารณาแล้วมันเป็นวิปัสสนา.. เวลาพุทโธ พุทโธ นี่เป็นสมถะ สมถะจะไม่มีปัญญา... นั่นเขาว่ากันไป เราเป็นแม่ครัว เราเป็นชาวไร่ชาวนา เราจะทำไร่ไถนาของเรา เราจะฝึกฝนขึ้นมาจากข้อเท็จจริง ชาวไร่ชาวนาเราก็ต้องมีที่ดินของเรา มีน้ำ มีอากาศของเรา แล้วเราจะทำนาของเราขึ้นมา โดยได้ผลตอบแทนจากพื้นนานั้น

การปฏิบัติของเรามันจะปฏิบัติจากจิตของเรา จากความทุกข์ยากของเรา.. จิตของเราออกไปประพฤติปฏิบัติขึ้นมา แล้วมันจะได้ผลตามความจริงนั้น เราไม่ได้ผลตามตำรา.. ตามตำรานี่ศึกษามาแล้วเอาปริยัติวางไว้ แล้วเราปฏิบัติให้มันเกิดขึ้นตามความเป็นจริง สติปัฏฐาน ๔ จะเกิดที่นี่ แล้วทำไปตามข้อเท็จจริง

เราเกิดมามีอำนาจวาสนามาก ที่ถามมานี่ เพราะอะไร เพราะว่าเอากองทัพมาค้านเราก็ไม่ยอม บอกว่าปฏิบัติอย่างนั้นๆ แล้วว่าเป็นโสดาบัน.. วันนั้นเขามานี่ พอเขาบอกว่าเขาถามปัญหามา

เราก็ถามเขาว่า “คิดว่าได้โสดาบันใช่ไหม..”

เขาก็ผงกหัว..ฮื่อ..

เราก็บอกว่า “ไม่ใช่หรอก !”

วันนั้นเขามาที่นี่ แล้วเราก็ถามเขาเลย เพราะปัญหานี่เรารู้อยู่แล้ว แต่ยังไม่เจอตัวเราก็ไม่อยากจะพูด วันนั้นเจ้าตัวเขาตีรถมาเอง พอเจอหน้า.. เจอคนนี้นี้ปั๊บ เราก็ถามเขาเลย “คิดว่าได้โสดาบันใช่ไหม” เขาไม่ตอบนะ.. แล้วเขาก็(ทำท่าผงกศีรษะ) เราก็บอกว่า “ไม่ใช่ ! ไม่ใช่” ก็เถียงกันเต็มที่

ถาม : ผมตั้งใจเลยครับว่าชีวิตนี้ขอทำอย่างเต็มที่ ถ้าไม่ได้พ่อแม่ครูบาอาจารย์เตือนสติ ป่านนี้คงหลงไปกับของปลอมว่าเป็นของจริงไปแล้ว

หลวงพ่อ : นี่เขาเพิ่งเขียนมา เพราะตอนนั้นมานี่เขาหัวฟัดหัวเหวี่ยงเหมือนกัน ไม่ยอม หาว่าเราเป็นหมาหวงก้าง หวงธรรมะ ใครมาก็บอกว่าธรรมะของกู คือว่าคนอื่นห้ามรู้ไง เหมือนกับกูนี่มันเป็นหมาหวงก้างเลยนะ ใครมาก็บอกว่าธรรมะไม่ใช่.. ธรรมะไม่ใช่

มันไม่ใช่หรอก ! กูนี่มันเป็นหมาเฝ้า เพียงแต่ถ้าใครมีมาก็เรื่องของเขา เราไม่ได้พูดแบบว่าให้คุณค่าเขา แต่มันเป็นข้อเท็จจริงที่เขาทำไง ถ้าข้อเท็จจริงมันเป็นจริง มันก็เป็นจริงไง เราก็แค่รับฟังเฉยๆ

ถาม : ๒. ช่วงที่ผ่านมา ๒ เดือนนี้ ทำสมาธิแล้วมักไปหวังผล เลยพุทโธไม่ค่อยสงบ ผมตามรู้ปัจจุบันไปเรื่อยๆ จะเป็นสมาธิได้ไหมครับ

หลวงพ่อ : ตามรู้ปัจจุบันไปเรื่อยๆ นะ ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธินี่ตั้งสติไว้.. ตั้งสติแล้วมีสติตามไป เป็นปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าปัญญาอบรมสมาธินะ มันมีปัญญาแยกแยะไง

“คำว่าปัญญาอบรมสมาธิกับดูเฉยๆ มันต่างกัน”

การดูเฉยๆ มันมีแต่หลับกับหลับ เพราะดูเฉยๆ เหมือนเราไปนั่งดูสายน้ำ นั่งดูอะไรสิ ดูแล้วมันก็ไหลไปเดี๋ยวก็หลับ แต่ถ้าเราดูสายน้ำนะ แล้วเราเอาขึ้นมาวิจัย ในสายน้ำนั้นมันมาจากไหน มันมาอย่างไร มันให้เราใช้สมองนี่มันไม่หลับ

นี้ก็เหมือนกัน ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธินะ “ความคิดมันเกิดมาจากไหน.. ความคิดนี่มันคิดเรื่องอะไร.. คิดแล้วมันดีหรือมันชั่ว.. ถ้ามันดีขึ้นมานี่เราก็ดีไปตามมัน เราก็โง่ ! แล้วถ้ามันชั่วนะ เวลามันชั่วทำให้เราเดือดร้อน เราก็โง่ !”

สุดท้ายนะครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติไปนะ เวลาท่านสำนึกตัวท่านได้ ท่านจะบอกว่า “ทำไมเราโง่ขนาดนี้ ! ทำไมเราโง่ขนาดนี้” คนที่ปฏิบัติเป็นนะจะไม่โทษใครเลย จะโทษใจเรานี่แหละ “มึงนี่มันโง่ ! มึงนี่มันโง่ ! โอ้โฮ.. มึงโง่ ทำไมโง่ขนาดนี้นะ” พอเราฉลาดขึ้นมาแล้วนะ.. แต่ถ้าไม่ฉลาดนะ ถ้าเราโง่อยู่นะมันบอกว่า “กูเก่ง ! กูเก่ง ! กูเก่ง !” ทั้งๆ ที่มันโง่

เวลามันโง่นี่มันจะอวดว่ามันเก่งมากเลย แต่ถ้าวันไหนมันรู้ตัวมันเองนะ มันจะสลด “มึงโง่ ! มึงโง่ !” สำนึกตัวว่าเรานี่โง่.. จิตนี้โง่มาก เวลาปัญญามันไล่ทัน แต่ถ้าวันไหนมันโง่นะ มันว่ามันฉลาด “อู้ฮู.. ปัญญานี่แยกแยะ อู้ฮู.. เก่ง เก่ง ทั้งนั้นเลยนะ คนอื่นไม่เท่าเรา... คนอื่นไม่เท่าเรา”

ถ้าวันไหนพอสติปัญญามันทันนี่สลดใจนะ “ของก็อยู่กับเรา.. อยู่ใกล้ๆ กัน นี่คิดกันมาอย่างนี้ทั้งปีทั้งชาติ.. ทำไมมันพาเราหลงมาขนาดนี้.. ทำไมมันพาเราทุกข์ยากขนาดนี้.. ทำไมมันพาเราเสียหายขนาดนี้.. ลุ่มๆ ดอนๆ ขนาดนี้.. ทำไมมึงโง่ขนาดนี้” นี่ถ้ามันสำนึกตัวนะ

แต่ถ้าไม่สำนึกตัวนะ มันว่า “ยอดคน ! ยอดคน !” จะเหยียบหัวเขาเรื่อยเลย “กูเก่ง ! กูเก่ง !” นั่นล่ะยังโง่อยู่

แต่ถ้าวันไหนมันรู้ทันตัวเองนะ สลดเลย ธรรมสังเวช.. สลดใจมาก

นี่ไง นี่คือปัญญาอบรมสมาธิ ! ปัญญาอบรมสมาธิ คือเห็นความผิดพลาดของเราไง “โอ้โฮ.. จิตมันเร็วมากนะ โอ้โฮ.. เวลามันเกิดขึ้นมาอย่างนี้เนาะ” นี่มันทันจริงๆ นะ มันเห็นอย่างนี้จริงๆ ! พอจิตมันคิดปั๊บ ถ้ามันไม่ทันนะตามรู้ตามเห็น มันคิดจบแล้วถึงคิดได้ เอ๊อะ ! เอ๊อะ ! แต่มันจบไปแล้วนะ

หลวงตาบอกว่า “มันขี้บนหัวใจเรา แล้วมันก็ไปแล้วนะ.. เรามาดมขี้มัน” ฟืด.. ฟืด.. “โอ๋ย... มันคิดอย่างนี้เนาะ.. มันคิดอย่างนี้เนาะ” ไม่ทันหรอก ! ตามรู้ตามเห็นไปก่อน แล้วพอมันจะมาขี้เราก็ดูตามมันให้ทัน.. ตามมันให้ทัน คือพอมันจะคิดไงตามให้ทัน ไม่ให้มันขี้

รู้เท่ารู้ทันคือไม่ให้มันขี้.. ไม่ให้คิด ไม่ให้มึงขี้ ! ก็เบียดกัน.. รู้แจ้งแทงตลอดนะ ไม่ให้คิดเลย ไม่ให้มันเดินมาในหัวใจเราเลย ในหัวใจเรานี่จะไม่ให้ความคิดเกิดเลย จะไม่ให้ความคิดเดินมาในหัวใจเราเลย นี้เป็นปัญญาอบรมสมาธินะ !

หลวงตาท่านเขียนอยู่ว่าปัญญาอบรมสมาธิ.. ปัญญาอบรมสมาธิ ท่านสอนอย่างนี้ ! สอนให้เรารู้เท่าความคิด ความคิดมันเป็นกิเลส กิเลสอาศัยความคิด พอมันจะเกิดขึ้นมานี่มันถ่าย... มันถ่าย มันขี้.. ขี้รดบนหัวใจเรา แล้วมันก็ไปแล้ว เราเพิ่งมาคิดได้.. เราเพิ่งคิดได้ไง คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้แล้วเสียใจ.. เราเพิ่งคิดได้ มันขี้ มันถ่าย แล้วมันไปแล้ว ค่อยมาคิดได้.. แต่ก็ยังคิดได้

แต่ถ้าคนคิดไม่ได้นะ มันขี้ มันถ่ายไว้แล้วนะ เราก็สะใจ แล้วเราก็จะทำตามนั้น นี่คือความคิดลากเราไป นี้คือตัณหาลากเราไปไง เราคิดเรื่องสิ่งใด เราก็จะทำตามนั้น เราคิดว่าเรื่องนั้นดี เรื่องนี้ดี แล้วเราก็ทำตามนั้น เห็นไหม

มันขี้แล้วนะ แล้วเราก็กินขี้มันนะ แล้วบอกว่าขี้มันอร่อย พอมันคิดแล้วใช่ไหม เราก็กินขี้มัน แล้วเราก็คิดตามมันไป... แต่ถ้าพอมันขี้แล้วนี่เราตามรู้ตามเห็น นี่คือปัญญาอบรมสมาธิ !

อบรมสมาธิหมายถึงว่า ไล่ต้อนความคิด เอาความคิดเรามาใคร่ครวญว่ามันดีหรือชั่ว นี่ขี้... มันขี้แล้ว ขี้โลภ ขี้โกรธ ขี้หลง นี่ถ้ามันรู้เท่า.. นี่ตามรู้ตามเห็น มันคิดแล้ว มันไปแล้ว ก็เอาความคิดเดิมๆ เรามาคิด คิดว่ามันถูกต้องไหม มันดีไหม นี่ปัญญาอบรมสมาธิ !

แต่บอกว่า ถ้าเราตามรู้ไปเฉยๆ เห็นไหม เราตามไปเฉยๆ เรารู้ไปเฉยๆ นี่เราไม่มีสติ... เราจะรู้ได้ต่อเมื่อมีเหตุมีผล ดีหรือชั่ว เราคิดถูกหรือคิดผิด..

๑. คิดถูกหรือคิดผิด

๒. ความคิดมันเกิดมาจากไหน ความคิดมันเกิดบนจิตที่มันเร็วมาก ความคิดที่มันเร็วมาก มันเร็วเพราะอะไร จิตมีคุณภาพขนาดนี้เชียวหรือ

สิ่งที่เคลื่อนที่ที่เร็วที่สุด จิตนี้เร็วที่สุด แล้วมันหยุดนิ่งคือสัมมาสมาธิ.. สัมมาสมาธินี่มันจะมีกำลังขนาดไหน กำลังที่เกิดจากพลังงานตัวที่นิ่งที่สุด จากพลังงานมหาศาลที่สุด เห็นไหม

นี่พอพลังมันนิ่ง.. นิ่งคือสัจธรรม นิ่งคือสัมมาสมาธิ ถ้าสัมมาสมาธิเกิดขึ้นมานี่มันไม่โกหก คำว่าไม่โกหกเพราะมันไม่มีตัวเราบวก ไม่มีตัณหาความทะยานอยาก ไม่มีข้อมูล ไม่มีความอยากจากเรา

มันไม่มีความอยากจากเรานี้มันเกิดขึ้นชั่วคราว เพราะมันเกิดสมาธิได้มันถึงเกิดปัญญาได้.. พอเกิดปัญญา แล้วพอเราออกใช้ปัญญาปั๊บ มันก็จะเสื่อม พอเสื่อมแล้วเดี๋ยวมันก็มีความคิดเราบวกขึ้นมา ต้องกลับมาทำสมถะอีก กลับมาทำสมาธิอีก ให้มันเป็นสากล ให้มันเป็นตัวมันเองตลอดเวลา อันนี้มันถึงเป็นโลกุตตรธรรม !

ความคิดทั้งหมด ! ความคิดทั้งหมดเป็นโลกียะหมด ! เกิดจากโลก เกิดจากตัณหาความทะยานอยาก แต่อยากอย่างนี้เขาเรียกว่ามรรค.. มันว่า “ต้องไม่มีความอยากนะ.. ต้องให้เป็นขอนไม้.. ต้องให้เป็นอากาศค่อยมาใช้อบรมสมาธิได้.. นี่ไม่มีความอยากเลย.. ไม่อยากอะไรเลย” แต่มันคิด ! นี่เขาพูดของเขานะ.. แต่ของเรานี่มันคิด มันอยาก แต่อยากทำคุณงามความดี

“กามฉันทะ” กับ “กามราคะ”

กามราคะ มันเป็นเรื่องของโลกๆ... กามฉันทะ คือความพอใจของเราเอง

กามเหมือนกัน กามอันหนึ่งให้อยู่ในตัวตนของเรา ทำคุณงามความดีของเรา.. กามอันหนึ่งเป็นเรื่องของโลก เป็นสามัญสำนึกของโลก

นี่ก็เหมือนกัน ความอยาก.. อยากเพื่อช่วยเหลือตัวเอง อยากเพื่อจะให้ตัวเองรู้เท่าทันตัวเอง ความอยากอย่างนี้เป็นมรรค ! แต่ถ้าเป็นความอยากของโลก มันอยากคิดออกไปข้างนอก อยากคิดออกไปถึงปัจจัยเครื่องอาศัย อยากคิดออกไปถึงโลกธรรม ๘ นี้มันเป็นอยากออกนอกตัว ! เห็นไหม

ถ้าอยากในตัวเรา คืออยากสงบในหัวใจของเรา อยากเกิดปัญญาที่ใคร่ครวญในหัวใจของเรา ความอยากอันนี้เป็นมรรค ! เพราะความอยากอย่างนี้ไม่ทำลายใคร จะนั่งสมาธิ ๗ วัน ๘ เดือน หรือจะทำอย่างไร เราก็ทำเพื่อตัวเราเอง ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน ความอยากอย่างนี้สาธุ ! ทำเต็มที่เลย

ถ้าความอยากอย่างนี้ อยากเพื่อตัวตน อยากเข้าทางจงกรม อยากนั่งสมาธิ ไม่มีใครเดือดร้อนกับเราหรอก ! ไม่ไปทำให้ใครเดือดร้อน “อยากอย่างนี้คืออยากแบบกามฉันทะ”

“กามฉันท์” ความกาม กามคุณ.. กามฉันท์ ฉันด้วยตัวของเรา เราทำความดีของเรานี่มันต้องมีความอยาก ถ้าไม่มีความอยากเลยทำไม่ได้หรอก แต่นี้ความอยากอย่างนี้คืออยากด้วยมรรค อยากด้วยคุณงามความดี

“กุศล-อกุศล” อยากด้วยกุศลมันก็ไม่ผิดไปไหน... แต่ถ้าอยากด้วยอกุศลนี่ผิด ! อยากด้วยกุศล คืออยากจะทอดกฐินไง อยากจะเปิดบัญชีนี่ผิด ! เพราะคนอื่นเดือดร้อนแล้ว แต่ถ้าอยากจะทอดกฐินนะมาเลย เอาเงินใส่สิบล้อมาตั้งใส่นี่เลย ไม่ผิด ! เพราะเงินของเรา แต่ถ้าอยากแล้วไปเปิดบัญชีนี่ผิด !

อยากนอก-อยากใน เราจะบอกว่า “ไม่มีความอยาก.. ไม่มีความอยาก” มันเป็นไปไม่ได้หรอก พลังงานที่เคลื่อนที่.. มันมีการกระทบอยู่แล้ว จิตของคนมันมีอยู่ เวรกรรมของคนมันมีอยู่ สรรพสิ่งมันมีอยู่ บอกว่าไม่ให้มีอะไรขยับเลย มันเป็นไปไม่ได้ ! เว้นไว้แต่คนตายเท่านั้น ถ้าคนเป็น.. เป็นไปไม่ได้ !

ฉะนั้นสมาธินี่ถ้าจะพุทโธไม่ได้ แล้วจะให้อยู่กับปัจจุบันไปเรื่อยๆ... คำว่าเรื่อยๆ นี่ตัดทิ้ง ! ให้อยู่กับปัจจุบันแล้วมีสติพร้อม แล้วใคร่ครวญ.. ใคร่ครวญไป ถ้ามันหยุดใช่ไหม พอใช้ปัญญาไปนี่ถ้ามีสติปั๊บความคิดหยุดทันทีเลย... ความคิดนี่ พอมีสติความคิดจะหยุดเลย พอหยุดปั๊บเราก็มีความสงสัย หยุดปั๊บ ! พอขยับหน่อยความคิดไปอีกแล้ว.. ความคิดไปอีกแล้ว แล้วไล่มันไป

พอไล่มันไปนี่ใช้ความคิด พอมีสติปัญญานี่ไล่ปั๊บ ความคิดหยุดหมดนะ ขณะที่ว่ามันจะคิด “แหน่ะ ! แหน่ะ ! แหน่ะ ! แหน่ะ !” มันไม่กล้าคิดนะ สติทันขนาดนั้นนะ ถ้าคนทันไวๆ นะจะคิดไม่ได้เลย สตินี้ทันหมดเลย นี่ปัญญาอบรมสมาธิ !

ปัญญาอบรมสมาธิไม่ใช่วิปัสสนาหรอก ! ถ้าไปปฏิบัติใหม่นะ พอความคิดเกิดขึ้นแล้วมันรู้ทันนะ มันว่า “ไม่ยินดียินร้าย... เป็นพระอรหันต์เพราะมันไม่คิด” นี่มันยังไม่ได้ปฏิบัติเลย !

การคบครูบาอาจารย์มีประโยชน์ตรงนี้ คบผู้เฒ่าผู้แก่.. ผู้เฒ่าผู้แก่ผ่านโลกมามาก ไม่เชื่อใครง่ายๆ เด็กๆ มันคุยกันมันก็เชื่อกันนะ แต่คบผู้ใหญ่ เราคบครูบาอาจารย์ พ่อแม่ครูอาจารย์นี่ เราปฏิบัติถูก ปฏิบัติผิด พ่อแม่ครูอาจารย์คอยเตือนเรา คอยบอกเรา เพียงแต่เราจะเชื่อหรือไม่เชื่อเท่านั้น.. นี่ไงการคบครูบาอาจารย์นี่สุดยอดเลย

ฉะนั้นสิ่งนี้ถ้าเป็นประโยชน์ได้ให้เป็นประโยชน์ไป นี่ถ้าทำนะต้องมีสติตามปัญญาไป ทำซ้ำไป.. ทำซ้ำไป ถ้าทำซ้ำไปแล้ว พอรู้ว่าผิดถูกอันนี้ก็คุ้มค่าแล้ว ! คุ้มค่ามากนะ ไม่อย่างนั้นนะ.. เขาเรียกว่าติดไง ติดคือคิดว่าเราได้มรรคได้ผลแล้ว เวลาทำมันก็เป็นสักแต่ว่า คือทำไว้เฉยๆ มันไม่ก้าวเดินต่อไป.. ถ้ามันก้าวเดินต่อไป นี่มันจะเป็นประโยชน์ต่อมัน

นี่พูดถึงทำตามความเป็นจริงนะ “ธรรมะคาดไม่ได้... ธรรมะคาดไม่ถึง” ถ้าธรรมะเป็นการคาดได้คาดถึง อย่างนั้นเป็นเรื่องโลกๆ ทั้งหมด ! เอวัง