เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๔ ต.ค. ๒๕๕๓

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๕๓
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถ้าหัวใจมันรื่นเริงนะ โอ้โฮ.. เดินจงกรมมีความสุขมาก ถ้าหัวใจมันเศร้าหมองนะ มันทุกข์นะ คอตกเลย...

จะยืนรอหน้าวัด หรือจะมานั่งรอที่นี่ เลือกเอา ถ้าธุดงค์ต้องยืนรอหน้าวัด ถ้าอย่างนี้ต้องมายืนรอที่นี่ มาไหม..

เมื่อวานเขาเอาหนังสือมาให้ ตั้งแต่ปี ๒๘ ของหลวงตา “สมาธิกับปัญญา” ท่านพูดถึงเหตุผลว่า “ทำไมต้องมีสมาธิ” “ทำไมต้องมีปัญญา” แล้วก็พูดในนั้นด้วย ถ้าสมาธิอย่างเดียวก็ติดสมาธิ ! แต่นี่เขาบอกว่าสมาธิไม่ดีอย่างนู้น.. ไม่ดีอย่างนี้ ไม่ได้หรอก !

ข้าวกับอาหาร.. ข้าวก็จำเป็น กินข้าวเปล่าๆ ก็ไม่ได้ กินข้าวก็ต้องมีอาหาร อาหารเปล่าๆ ก็ไม่ได้ต้องมีข้าว แล้วมันจะไปกันได้...

สังคมมันบิดเบี้ยวไป ความเห็นของสังคมมันบิดเบี้ยวไป แล้วพวกนี้มันจะมาจัดระเบียบความรู้สึกของคนไง เรื่องศีล สมาธิ ปัญญาเนี่ย แล้วเขาขวนขวายธรรม เราก็เห็นด้วยกับเขา ฉะนั้นใครจะพูดมันไม่มีน้ำหนักเหมือนหลวงตาหรอก ! มันไม่มีน้ำหนักเหมือนคนรู้จริง

ฉะนั้นพิมพ์มาแล้วนี่แจกๆ กันไป สังคมบิดเบี้ยวไง เพราะคนมันชักนำให้บิดเบี้ยวกันไป เราถึงทำให้มันกลับเข้ามาเป็นความปกติ ฉะนั้นเราถึงแจก !

เพราะว่าเราอยู่กับครูบาอาจารย์นะ ครูบาอาจารย์ท่านเคยเตือนประจำ เด็กรู้ เด็กก็พูดได้.. ผู้ใหญ่รู้ ผู้ใหญ่ก็พูดได้.. แต่เด็กพูดมันไม่มีน้ำหนัก ความเชื่อถือของสังคมไง ถ้าเรายังเด็กอยู่ แล้วเรารู้จริงอยู่ แต่เราก็ต้องมีผู้ใหญ่ ฉะนั้นถ้ามีผู้ใหญ่ เห็นไหม ครูบาอาจารย์ของเราเวลาเทศนาว่าการถึงอ้างพระไตรปิฎก อ้างพระพุทธเจ้าตลอดเลย เพราะธรรมเป็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เราเกิดมา นี่เราเกิดมาเป็นสาวก สาวกะ แค่ให้เรามีศรัทธาความเชื่อในศาสนา นี้มันก็เป็นเรื่องยากแล้วนะ ดูสิเวลาเขาทำมาหากินกันเขาว่าทุกข์ยากอยู่แล้วนี่ ลำบากขนาดนี้แล้ว ทำไมจะต้องมาศึกษาธรรมะอีกล่ะ นี่เพราะลำบากนั่นแหละ เพราะเราไม่ศึกษาธรรมะมันถึงได้ลำบากไง แต่ถ้าเรามาศึกษาธรรมะแล้วมันจะหายลำบาก มันหายลำบากเพราะอะไรล่ะ เพราะมันเข้าใจ.. เข้าใจว่าเวรกรรมมันเป็นอย่างนี้ นี่มันเป็นความจริง

ถ้าเราเข้าใจถึงสิ่งต่างๆ เราทำสิ่งใดด้วยความสบายใจ ด้วยความรื่นเริงอาจหาญนะ แต่ถ้าเราน้อยเนื้อต่ำใจ เราคิดว่ามันไม่ควรจะเป็นอย่างนี้.. มันควรจะเป็นแบบที่เราพอใจ.. มันควรเป็นแบบที่เราปรารถนา.. มันควรเป็นแบบที่เราต้องการทั้งนั้นแหละ.. ทุกข์น่าดูเลย ทำไปด้วยความทุกข์ !

แต่ถ้าเราทำด้วยความเข้าใจ เห็นไหม นี่ชีวิตก็เป็นอย่างนี้ ! เราคิดเอาเองว่าคนอื่นมีความสุข.. คนอื่นมีความสุข ไอ้คนอื่นก็อิจฉาเราน่าดูเลยว่า เรามีความสุข.. เรามีความสุข เขาก็มองว่าชีวิตเรามีความสุขมากนะ แต่เราก็มองว่าคนอื่นมีความสุขๆ ทั้งนั้นแหละ เห็นไหม มันไม่เป็นความจริง

ถ้าเราศึกษาธรรมะแล้วนะ เราศึกษาธรรมะ จิตหนึ่ง.. เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ก็ตรัสรู้ธรรมในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “จากใจดวงหนึ่ง” ใจดวงหนึ่ง เห็นไหม นี่แกนของโลก แกนของจักรวาล จากใจดวงหนึ่ง.. ถ้าเราเข้าใจใจดวงนี้แล้วนะ ใจดวงอื่นๆ เหมือนกันหมดแหละ !

ทีนี้ถ้าเราเข้าใจเรื่องใจของเราแล้ว ที่เราพูดออกไป พูดออกมาจากประสบการณ์ของใจเรานี่แหละ ทุกดวงใจเป็นอย่างนี้ ! ทุกดวงใจเป็นอย่างนี้ ! เราเข้าใจตัวเราคนเดียวเท่านั้นแหละ เราเข้าใจคนทั้งโลก.. เข้าใจจักรวาล.. เข้าใจหมดเลย

แต่เพราะเราสงสัยตัวเราเองเท่านั้นเอง เราไม่เข้าใจตัวเราเองเท่านั้นเอง เราจะสงสัยทุกๆ เรื่องเลย ทุกคนสงสัย เห็นไหม ดูสิต่างคนต่างมองว่าสิ่งอื่นดีกว่า.. สิ่งอื่นดีกว่า แต่มันไม่เข้าใจตัวมันเอง แต่ถ้าเราเข้าใจตัวเราแล้วนะ มันจะมีอะไรดีกว่าหัวใจ มีอะไรดีกว่าความรู้สึกอันนี้

ถ้าความรู้สึกอันนี้เราเข้าใจแล้วนะ นี่เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ก็ตรัสรู้ธรรมในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาครูบาอาจารย์ของเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ก็รู้ในใจของครูบาอาจารย์ของเรา เห็นไหม

รู้ใจดวงหนึ่ง.. พอรู้ใจดวงหนึ่งจบขบวนการแล้ว นี่ใจดวงอื่นๆ ไม่มีความลับเลย ถ้าใจดวงนี้มันเข้าใจแล้วนะ ใจดวงอื่นจะมีความลับที่ไหน ที่มันมีความลับ มันมีความลับที่ใจของเรานี้ก่อนไง เพราะเราไม่รู้เรื่องใจของเรา เราไม่รู้ถึงการเกิดการตายของเรา เราสงสัยไปหมดเลย ถ้าเราสงสัยในหัวใจของเรา แล้วเราจะไปศึกษาเอาข้างนอก มันจะไปศึกษาเอาที่ไหน ยิ่งศึกษายิ่งโง่ ยิ่งศึกษายิ่งงง

ทฤษฏีในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศึกษามานี้ ศึกษามาเป็นปริยัติ.. ปริยัติศึกษามา คือศึกษาธรรมและวินัย แต่ถ้ามันไม่ปฏิบัติขึ้นมา ไม่เป็นความจริงขึ้นมา ศึกษามาขนาดไหนมันก็เป็นความจำไง ความจำมันแก้ไม่ได้นะ ความจำยิ่งจำมากเท่าไรยิ่งงงนะ ยิ่งศึกษามากเท่าไร อันนี้ก็ผิด.. อันนี้ก็ผิด.. อันนี้ก็ผิด หาทางออกไม่ได้นะ พระไตรปิฎก.. มรรค ๘.. นี่มืดแปดด้านเลย ไปทางไหนก็มืด นู้นก็ไม่จำเป็น.. นี่ก็ไม่ต้องทำ มันจะเป็นอย่างนั้นแหละ ยิ่งศึกษายิ่งมืด

แต่ถ้าศึกษามา ศึกษามาเป็นปริยัติ ศึกษามาเป็นทางวิชาการ มันไม่มืดหรอก ! พอศึกษามานะ คนเรามีความทุกข์ความยาก เห็นไหม คนเรานี้พอมันมีความหมักหมมใจ พอไปศึกษาธรรมะขึ้นมา พระพุทธเจ้าชี้เข้ามาที่ใจ “อ๋อ ! มันเป็นอย่างนี้เอง” มันก็สบายใจ.. สบายใจ มันก็เท่านั้นแหละ !

คำว่ามืด.. มืดเพราะว่าถ้าเราลังเลสงสัย คนยังไม่ได้ปฏิบัตินะ นี่ถ้าคนทำครัวไม่เป็น เห็นไหม เขาบอกให้ทำครัว พอเข้าไปในครัวมือไม้สั่นหมด จับมีดจับอะไรนี่มือไม้สั่นหมด ทำอะไรไม่ถูกเลย เวลาอยู่ข้างนอกครัวนะก็ว่า ต้องทำอย่างนั้นสิ.. อันนู้นไม่ดี.. อันนี้ไม่ดี มันติเขาได้หมดเลยนะ แต่พอเข้าไปในครัวแล้วทำไม่ถูก

จิตของคน ! ถ้ายังไม่เข้ามาหาสู่ความสงบของใจ ถ้าเรายังไม่เข้าสู่ขบวนการของการปฏิบัติ เรารู้ไปหมดแหละ.. เรารู้ธรรมะไปหมดแหละ แต่พอจิตมันจะสงบเข้ามานี่งงนะ “เอ๊ะ.. มันจะสงบอย่างไรเนาะ โอ๋ย.. แล้วถ้าจิตมันเป็นปัญญา มันจะเป็นปัญญาอย่างไรเนาะ” มันงงไปหมด เห็นไหม

มันงงเพราะอะไรล่ะ.. มันงงเพราะมันจะทำ ! แต่ถ้ามันไม่ทำนะมันฉลาด มันไม่ทำมันจะรู้ไปหมดเลย สั่งสอนเขาได้หมดเลย ต้องทำอย่างนี้.. ต้องทำอย่างนี้.. ทำอย่างนี้ แต่ตัวเองทำไม่เป็น ทำไม่เป็นหรอก แต่สอนเขาเก่งมากเลย แต่พอจะทำนี่งงนะ ทำไม่ได้ เห็นไหม นี่มืด.. มืดตรงนี้ !

เราจะบอกว่า การศึกษาปริยัติไม่ใช่ของเสียหาย ปริยัติเป็นของดี เพราะพระพุทธเจ้าวางไว้ ถ้าไม่มีการศึกษาธรรมวินัยเลย นี่เราจะมากันได้อย่างไร มันต้องมีการศึกษาธรรมวินัยมา แต่ศึกษามา เห็นไหม ดูสิคนเรียนจบมาแล้ว.. ถ้าเราเรียนจบมาแล้ว จบหรือยังล่ะ.. ยังเลยน่ะ ยังเลย.. เรียนจบแล้วต้องหางานทำ ต้องทำงานให้ได้ ต้องดำรงชีวิตให้ได้

นี่ก็เหมือนกัน เราศึกษามาแล้วนี่มันเรียนมา แล้วจบหรือยัง.. จบแล้วนะ ทำงานเป็นหรือยัง.. ถ้าทำงานขึ้นมา นี่ทำงานให้ได้ ถ้าทำงานให้ได้.. นี่เราเข้าครัวไปแล้วนะ อย่างเช่นพ่อครัวใหญ่ จะทำอะไรนี่จับต้องได้หมดเลย หมุนไปหมุนมาเป็นอาหารมาถ้วยหนึ่ง.. หมุนไปหมุนมาเป็นอาหารมาชามหนึ่ง.. หมุนไปหมุนมาเป็นอาหารมาตลอดเลย เพราะอะไร เพราะเขาชำนาญ

นี่ก็เหมือนกัน จิตของเรา เวลาเข้าไปนี่เรากลัวนะ เราไม่กล้าเข้าไป พอไม่กล้าเข้าไป เห็นไหม มันมืดบอด.. มันมืดบอดเพราะเราไม่มีการกระทำ แต่ถ้าเราทำขึ้นมา พอเราทำขึ้นมาแล้วมันจะผิดพลาดไหม.. ผิดพลาด ! ก่อนเราจะเป็นพ่อครัว เราต้องไปเป็นลูกมือเขาก่อน เป็นลูกมือเขาคือเราต้องฝึกหัดขึ้นมาก่อน ฝึกหัดจนเรามีความชำนาญแล้ว เราก็จะฝึกหัดคนต่อๆๆ ไป “ศาสนทายาท.. ธรรมทายาท”

ทีนี้เวลาเราปฏิบัติขึ้นมา ผิดไหม... ผิด ! ผิดก็เป็นผิด.. ผิดก็คือผิด เพราะเรามีกิเลส เรามีความไม่เข้าใจ มันก็ผิดเป็นธรรมดา ทีนี้ถ้าผิดเป็นธรรมดา แต่ผิดแล้วเราต้องมีสติปัญญา “กาลามสูตร.. อย่าเพิ่งเชื่อสิ่งต่างๆ ต้องพิสูจน์ ! พิสูจน์ ! พิสูจน์ !” พอพิสูจน์แล้วว่าสิ่งนี้ผิดใช่ไหม เราก็แก้ไขให้มันถูกต้อง ! ถูกต้อง !

มันต้องทำอย่างนี้ พอทำแล้วถูกนี่มันมาจากไหน.. เราไม่ใช่ลอยมาจากฟ้า เราไม่ใช่เทวดามา ทำอะไรจะไม่ให้ผิดเลย ไม่มีหรอก เราก็เป็นมนุษย์ มีคนละ ๒ เท้า ๒ เท้ามันก็มีความผิดพลาดเป็นธรรมดา ความผิดพลาดก็คือความผิดพลาด มันจะเสียใจไปทำไม เราปฏิบัติมา เราฝึกมาก็เพื่อจะให้มันเข้มแข็งขึ้นมา

ฉะนั้นผิดก็คือผิด ผิดก็แก้ไขไป.. เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ

“อริยวินัย ! ผู้ใดรู้สึกว่าตัวเองผิดพลาดแล้วแก้ไข ผู้นั้นประเสริฐที่สุด”

วันมหาปวารณา เห็นไหม ถ้าทำผิดแล้วนะ ปวารณา... “ถ้าเราทำผิดขอให้บอกนะเรามีความผิดอย่างไรขอให้บอก บอกแล้วถ้าเรารู้ว่าผิด เห็นว่าผิดแล้วเราจะแก้ไข”

เราจะแก้ไข เห็นไหม นี่สัมมาทิฏฐิ ! ถ้ามิจฉาทิฏฐิ.. ความเห็นผิดของเรานี่มิจฉาทิฏฐิ ! ทิฐิที่ผิด มันก็พากันผิดเรื่อยๆ ไป

มิจฉาทิฏฐิ.. ความเห็นผิดนี่สำคัญมากเลย นี่เราเองมีกิเลสอยู่ กิเลสมันจะทำให้เราเป็นมิจฉา ไอ้กิเลส ไอ้ความไม่รู้นั่นแหละ ไอ้ตัวนั้นจะทำให้เราเป็นมิจฉา... แต่ถ้าเราทำไปแล้ว เราทดสอบตรวจสอบ เห็นไหม ถ้ามันไม่ใช่ขึ้นมาเราก็แก้ไขของเราสิ ! เราจะแก้ไขของเรา เราปรารถนาดีของเรา เรารักตัวเรา เราต้องการคุณงามความดีของเรา

อาหาร.. เราต้องกินอาหารที่ดีที่ประณีต อาหารที่ดีที่ประเสริฐกับเรา เวลาปฏิบัติขึ้นมานี่จะเอาเรียบง่าย.. เรียบง่ายนี่มันเรียบง่ายโดยธรรมนะ ถ้าสิ่งที่ประณีตเรียบง่าย อย่างเช่นผลไม้นี่มันเรียบง่าย มันก็มีคุณสมบัติในตัวมันเอง

ถ้าจิตของเรานี้มันขิปปาภิญญา เราทำบุญกุศลมามันจะเรียบง่าย.. เรียบง่ายก็เรียบง่าย มันเรียบง่ายแล้วเราจะบังคับให้มันลำบากก็ไม่ใช่ ไอ้ลำบากจะบังคับให้เรียบง่ายก็ไม่ใช่

มัชฌิมาปฏิปทา ความเป็นกลาง.. ใครทำได้ขนาดไหน นั่นก็เป็นบุญของเขา มันเป็นบุญกรรมของคน ! มันเป็นจริตนิสัยของคน ! มันเป็นข้อเท็จจริง ! ไม่มีใครไปบังคับหรือไปแบ่งแยก แล้วให้มันเป็นไปตามความเห็นของตัว.. ไม่มี ! ไม่มีหรอก !

ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “อริยสัจนี้เป็นความจริง” แต่มันเป็นเพราะบุญกรรมของเรา เป็นเพราะจริตนิสัยของเรา เป็นเพราะความหยาบความละเอียดของเรา แล้วเราต้องแก้ไขความหยาบความละเอียดของเรา ให้มันเป็นความจริงขึ้นมา ถ้ามันหยาบก็ให้มันเป็นมัชฌิมา เป็นความสมดุลของมัน เป็นความดีของมัน

เราต้องแก้ไปตามอำนาจวาสนาของเรา เราไม่ใช่ว่าเรียนปริยัติมา นี่พระพุทธเจ้าว่าอย่างนั้น แล้วก็บังคับตัวเองให้เป็นอย่างนั้น ปั๊มเอาเลย ! ปั๊มเอาเลย ! มันเป็นไปไม่ได้ ! มันเป็นไปไม่ได้ เพราะมันเป็นความจำไง มันเป็นไปไม่ได้นะ

นี่พูดถึงสังคมมันบิดเบี้ยวไป เพราะว่าคนเอาแต่ความรู้สึก แต่ถ้าเราเอาสัจธรรม เห็นไหม นี่ว่าธรรมะเป็นธรรมชาติ แล้วอากาศก็เป็นของสาธารณะ ทุกคนก็ต้องหายใจใช่ไหม สมบัติสาธารณะก็เป็นของสาธารณะ.. ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นของสาธารณะ.. แต่เราเนี่ย อากาศเราได้หายใจไหม อากาศที่หายใจเป็นพิษหรือไม่เป็นพิษไหม แล้วถ้าเป็นพิษแล้วปอดเราชำรุดไหม นี่มันยังมีตัวแปร.. ตัวแปรก็คือเวรกรรมของคน

คนเกิดมาแตกต่าง โรคภัยไข้เจ็บก็แตกต่างกันไป ถ้าคนที่แข็งแรง อากาศที่ไหนเขาก็อยู่ได้ คนที่เป็นภูมิแพ้นะเขาต้องหาอากาศที่บริสุทธิ์ เห็นไหม จิตใจของคนมันแตกต่างหลากหลาย ความแตกต่างหลากหลาย แต่ต้องการอากาศฟอกเลือดเหมือนกัน ต้องการสัจธรรม ต้องการสิ่งที่เป็นมรรคญาณเข้าไปฟอก เข้าไปทำลายกิเลสเราเหมือนกัน ถ้าเหมือนกัน เห็นไหม เราจะต้องมีสติปัญญา ใคร่ครวญให้มันเป็นความจริงของเรา

มันเป็นสันทิฏฐิโกนะ ! เราเจ็บไข้ได้ป่วยเอง เราจะต้องหายด้วยตัวเราเอง ถ้าเราเจ็บไข้ได้ป่วยเอง เราจะไม่ไปหายที่คนอื่น เราไปหายที่หมอ หรือไปหายที่คนอื่นมันจะไม่หาย ถ้ามันเป็นความลังเลสงสัย มันมีอวิชชาปักเสียบหัวใจอยู่ มันต้องถอดถอนขึ้นมาด้วยใจของเรา มันจะรู้ขึ้นมาจากใจของเรา มันเป็นสันทิฏฐิโก มันเป็นปัจจัตตัง แล้วสุดท้ายเราจะเคารพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยหัวใจ

ทำอะไรก็แล้วแต่ พอเข้าไปเผชิญ “องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้แล้ว ! บอกไว้แล้ว ! เรามันโง่เอง ! เรามันโง่เอง” ถ้าไปรู้นะ พอมันซึ้งใจมาก จะกราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยหัวใจ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่บอกแล้ว ! บอกแล้ว ! เหมือนเราเลย พ่อแม่ปู่ย่าตายายบอกแล้วนะ มันดื้อ ! มันดื้อ ! มันดื้อ ! พอมันทำอะไรแล้วประสบขึ้นมานะ คิดถึงพ่อคิดถึงแม่ตลอดเลย

ใครปฏิบัติไปนะ พอจิตมันเป็นไปจะคิดถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะกราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยหัวใจ จะลงใจ จะเคารพบูชาด้วยหัวใจ แต่ถ้ามันเป็นประเพณี มันก็เคารพบูชาตามประเพณี เป็นมารยาทสังคมนะ

พูดถึงเราออกพรรษาแล้ว คำว่าออกพรรษา ในพรรษาหนึ่งก็ว่าให้มีโอกาสได้มาประพฤติปฏิบัติ พระก่อนเข้าพรรษานี่ธุดงค์มา พอเข้าพรรษาแล้วก็ต้องอยู่จำพรรษา แล้วก็ให้ประพฤติปฏิบัติด้วยความเข้มแข็ง ออกพรรษาไปแล้วก็ยังจะแสวงหา ออกไปหาที่วิเวก หาที่ต่างๆ เพื่อจะดัดแปลงมา

นี้ก็เหมือนกัน ชีวิตเรามันยังดำเนินต่อไป นี่สิ่งที่เป็นประเพณีวัฒนธรรมให้เป็นความหนักเบา เห็นไหม เวลาหนักก็ต้องหนัก ต้องเข้มแข็ง เวลาเบา เวลาสบาย เวลาอากาศปลอดโปร่ง เราก็ทำก็ปฏิบัติของเราไป มันต้องมีหนักมีเบา มีจริงมีจัง มีการกระทำของมันมา เพื่อประโยชน์กับเรา เพื่อประโยชน์กับชีวิตนะ คนมีสติปัญญา สิ่งไหนก็เป็นประโยชน์ ถ้าจับเป็นประโยชน์ ถ้าไม่เป็นประโยชน์มันก็จะเสียหายกับเรานะ

เราตั้งสติกับเรา นี่ปัจจัตตัง.. สันทิฏฐิโก.. เราจะรู้ของเรา ทั้งๆ ที่เราอาศัยธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อาศัยครูบาอาจารย์เป็นที่พึ่ง สุดท้ายแล้วเราจะมีที่พึ่งของเรา เราจะมีความสุขสงบในหัวใจของเรา เพื่อประโยชน์กับเรา ! เอวัง