ทาสกิเลส
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
เทศน์บนศาลา วันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ตั้งใจฟังธรรมนะ ธรรมะจะกล่อมหัวใจ เราตั้งใจ เรามาฝึกปฏิบัติ เราต้องการความหลุดพ้น ต้องมีแรงปรารถนา เราปรารถนากันนะ เวลาเราปฏิบัติ เราไม่กล้าคิดว่าเราจะพ้นจากทุกข์ เราคิดว่ามันสุดความสามารถ มันสุดวิสัยของเรา
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะไม่คิดแบบนี้ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเที่ยวสวน เห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย มันต้องมีฝ่ายตรงข้าม คือไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย พ้นไปจากทุกข์ได้ แต่ทีนี้เราเป็นสาวก สาวะกะ เราก็ได้ยินได้ฟังอยู่
เราก็ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม ครูบาอาจารย์ของเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เหมือนกับผู้นำทาง เวลาเราไปเที่ยวป่า เราต้องมีผู้นำทางเพราะเราเดินป่าไม่เป็น นี่มีครูบาอาจารย์เดินนำหน้า ถ้าเรามีความมั่นใจของเรา เราจะท้อใจได้อย่างไรว่าเราจะไม่มีโอกาส
ถ้าคนคิดนะ ความคิดของเราน่ะคิดคับแคบ ความคิดของเราน่ะไม่กล้าคิด ให้มันถึงเป้าหมาย คิดให้เราพ้นจากทุกข์ ถ้าเราจะพ้นจากทุกข์ได้ เรามีหน้าที่การงาน อันนี้เป็นหน้าที่การงานของเรา แต่ถ้าหัวใจของเราๆ รักษาของเรา โลกเขาจะมีแรงเสียดสีขนาดไหน โลกจะมีความทุกข์ร้อนขนาดไหน เราเกิดมากับโลก มันหนีไม่พ้นหรอก
ในเมื่อมันหนีไม่พ้นนะ เรามีจุดยืนของเราใช่ไหม ความบีบคั้นขนาดไหน มันจะบีบคั้นชีวิตของเรา นั่นมันก็เป็นแค่เรื่องโลก เพราะในหัวใจของเราไม่มีใครบีบคั้นเราได้ ความรู้สึกในหัวใจมันเป็นอิสระนะ ความรู้สึก ความนึกคิดของเราเป็นของเรา
แต่ขณะที่ว่าเราอยู่กับโลก ด้วยมารยาทสังคมเราก็อยู่กับเขาไป สิ่งนี้ถ้าเรามีหลักมีเกณฑ์ของเรา เราคิดของเราได้ ชีวิตของเรา เราเป็นผู้ที่กำหนดชีวิตของเรา ถ้าเราจะนึกคิดชีวิตของเรา
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาตรัสรู้ธรรมขึ้นมา พ้นจากความเป็นหนี้ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ที่บรรลุธรรม เหมือนคนเป็นหนี้ที่พ้นจากความเป็นหนี้ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำหัวใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้สิ้นสุดกิเลสตัณหาความทะยานอยาก แล้ววางธรรมและวินัยไว้ จนเป็นที่เคารพศรัทธา เป็นที่เคารพบูชาของบริษัท ๔ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้นำนะ
ในโลกปัจจุบันนี้ จะเห็นว่าการประพฤติปฏิบัตินี้เจริญขึ้นมาอีกหนหนึ่ง กึ่งพุทธกาลแล้ว เราก็เกิดมาในกึ่งพุทธกาล ในเมื่อกึ่งพุทธกาลเราก็มีโอกาส เราก็มีความตั้งใจของเรา เรามีความมุมานะของเรา เราต้องมีความคิดที่เราจะปฏิบัติได้
ถ้าเราคิดปฏิบัติได้ เราทำของเราได้กำลังใจมันก็มา แต่ถ้าเราคิดว่ามีแต่ความอ่อนแอ เราไม่มีโอกาส เราทำของเราไม่ได้ แล้วความรู้สึกเราไม่มีเหรอ เวลาทุกข์ขึ้นมาทุกคนก็รับรู้ได้ว่ามันเป็นความทุกข์
เวลาความสุขล่ะ ความสุข ! สุขนี่มันอยู่ที่จริตนิสัยของคน ว่ามีความปรารถนา มีความพอใจขนาดไหน มันก็ได้ความสุขของเขา แต่ความสุขจริงๆ มันมีที่ไหนล่ะ
สิ่งใดเป็นอนิจจังสิ่งนั้นเป็นทุกข์.. สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นเป็นอนัตตา
โลกสภาวะมันเป็นอนิจจังทั้งหมด มันเปลี่ยนแปลงทั้งนั้น เราจะมีสมบัติพัสถานขนาดไหน หมดทุกข์หมดกาล สิ่งนั้นมันก็แปรสภาพไปเป็นเรื่องธรรมดา.. มันเป็นเรื่องธรรมดา แม้แต่ร่างกายของเรามันก็ต้องแปรสภาพไปเป็นธรรมดา
แต่ในปัจจุบันนี้เรามีชีวิตอยู่ เรามีสัจจะมีความจริงของเราอยู่ มันมีโอกาสนะ ถ้าเรามีโอกาส เราจะทำให้เราพ้นจากทุกข์ได้ ถ้าเราพ้นจากทุกข์นะ เราจะมีความปรารถนา เราคิดไปถึงที่สุด การกระทำของเรามันจะไป มันไม่อยู่ในกรอบเหมือนกับอึ่งอ่างในกะลา
ถ้าอึ่งอ่าง ความรู้มันก็อยู่ในกะลานั้น ถ้ามันเปิดกะลานั้น ดูสิ มันเปิดกะลานั้นออกไป โลกมันกว้างขนาดไหน นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อเราปฏิบัติขึ้นมาความรับรู้ของเราจะมีมากขนาดไหน ถ้าความรับรู้ของเรามีมากขึ้นมาขนาดไหน ความเป็นไปเรารู้ของเราได้
ฉะนั้นวันนี้เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา วันนี้เป็นวันออกพรรษา เป็นวันมหาปวารณาว่า ถ้าในหมู่สงฆ์ของเรามีความผิดพลาด มีแต่สิ่งใดให้บอกกันกล่าวกัน ให้ชี้ความบกพร่องของแต่ละบุคคล เพื่อประพฤติปฏิบัติไป
วันนี้เป็นวันสำคัญในวันปิยมหาราช สมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เป็นวันเลิกทาส ถ้าเลิกทาสนะ เพราะวันนี้ครบ ๑๐๐ ปี ถ้าวันเลิกทาส ความเป็นทาสไง ถ้าเป็นทาสนะ มันมีความทุกข์นะ เพราะว่าความเป็นทาสมันไม่เป็นอิสระ
พระปิยมหาราชกว่าจะเลิกทาสได้ เพราะอะไร เพราะมันไปขัดผลประโยชน์กับทางโลก โลกเขามีผลประโยชน์กัน เราจะไปหักพร้าด้วยเข่า สังคมมันจะปกครองได้อย่างไร
ถ้าสังคม ผู้ที่ฉลาด เริ่มต้นตั้งแต่แบบว่าถ้าอายุขัยเกิน ๖๐ ให้พ้นจากการเป็นทาสได้ ใครมีเงินก็มาไถ่ถอนได้ ถ้าใครไถ่ถอนขึ้นไปพ้นจากการเป็นทาส เริ่มต้นตั้งแต่ว่าให้ไปเป็นขอบเขตเข้ามา ให้เป็นขอบเขตเข้ามา ไม่หักพร้าด้วยเข่า
ที่นี่เหมือนกัน ถ้าหัวใจเราเป็นทาสล่ะ เราเกิดมาเป็นทาสนะ เพราะว่าเขาเลิกทาสกันไปแล้ว จิตใจเรายังไม่เลิกเลย เพราะจิตใจเราเป็นทาสของกิเลสไง เราเป็นทาสของกิเลส กิเลสตัณหาความทะยานอยากมันปกครองหัวใจของเราอยู่ ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเราเป็นทาส เขาเลิกทาสกันแล้ว แต่เรายังเลิกทาสในหัวใจของเราไม่ได้เลย เราไม่เป็นไทกับเรานะ
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาน่ะเป็นไท เวลาตรัสรู้ธรรม ธรรมชำระกิเลสออกไปจากหัวใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหมดสิ้น เสวยวิมุติสุข พ้นจากทาส พ้นจากกิเลสตัณหาความทะยานอยาก แต่เราเป็นทาสของกิเลสไง กิเลสมีอำนาจเหนือเราไง
ถ้าอย่างนั้นเราทำสิ่งใด มันถึงล้มลุกคลุกคลานไปหมดเลย แม้แต่ทางโลกเขา เขาจะทำสิ่งใด เขายังต้องมีปัญญา ถ้าทำสิ่งใดให้สังคมร่มเย็นเป็นสุข ต้องค่อยๆ ทำ ค่อยๆ ทำทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าสังคมนั้นจะยอมรับขึ้นมาว่าสิ่งนั้นเป็นประโยชน์กับสังคม
มนุษย์เกิดมามีศักดิ์ศรีเท่ากัน มนุษย์เป็นมนุษย์เหมือนกัน แต่มนุษย์เกิดมาด้วยอำนาจวาสนา ด้วยลูกทาส ลูกทาสเกิดในเรือนเบี้ยก็เป็นทาสต่อไป เขาเกิดมาโดยเวรโดยกรรมของเขา แต่เวลาเขาเกิดในนั้นเขาก็ต้องเป็นทาสต่อไป ชีวิตของเขาจะมีความทุกข์ตลอดไป
เวลาคนเราทางโลกเขายังว่าสิ่งนี้มันเป็นการเหลื่อมล้ำ ถึงทำให้มีความเสมอภาค แต่มนุษย์มีศักดิ์ศรีเท่ากัน การกระทำมันต้องมีเหตุมีผล ต้องทำให้คนเข้าใจได้ถึงมีเหตุมีผล นี่พูดถึงสังคม สังคมคือทุกคนถ้าเห็นความเสมอภาค ทุกคนเห็นความเหลื่อมล้ำนั่นแหละ แต่ เพราะประโยชน์ของสังคม เพราะประโยชน์ของผู้ที่ได้ประโยชน์ นั่นพูดถึงเขาเอารัดเอาเปรียบ
แล้วกิเลสในหัวใจของเราล่ะ ! เวลากิเลสในหัวใจของเรามันเอารัดเอาเปรียบเรา เราว่ามันเอารัดเอาเปรียบเรา ไม่มีใครเห็นเลย เวลาคนเขาเหลื่อมล้ำกัน เราเห็นว่าสิ่งนั้นเหลื่อมล้ำกัน สิ่งนั้นไม่ถูกต้อง แต่เวลากิเลสในหัวใจของเราน่ะ มันเอาเปรียบเราตลอดเวลา มันข่มขี่เราตลอดเวลา เราเห็นมันไหม เราไม่รู้จักมันเลย
นี่เราเป็นทาสกิเลสนะ เรายังไม่พ้นจากการเป็นทาสกันเลย เขาเลิกทาสมา ๑๐๐ ปีแล้ว เรายังเป็นทาสในกิเลสตัณหาทะยานอยากของเรา เราปลดความเป็นไทของเราไม่ได้เพราะอะไร เพราะเราไม่จริงไม่จังไง
เขาเลิกทาสเพราะเขามีกฎหมาย เขาออกกฎหมายบังคับใช่ไหม เรื่องสุดท้ายแล้วทุกคนต้องมีความเสมอภาค อันนี้มันมีผลตามกฎหมาย กฎหมายทำให้คนเสมอภาคในทางกฎหมาย แต่ความเป็นจริงล่ะ ในความเป็นจริงมันก็มีการเอารัดเอาเปรียบกันเป็นเรื่องธรรมดา นี่เป็นเรื่องของโลก
ถ้าเรามองโลกแล้วเราก็น้อมมาดู เราเกิดมาเป็นโลกนะ เราเกิดมามีชีวิต เราเกิดมาจากพ่อจากแม่ เกิดมาจากสังคม พ่อแม่อยู่ในสังคมนี่แหละ ถ้าพ่อแม่อยู่ในสังคม เราต้องเกิดมาเพราะชีวิตเป็นอย่างนี้ ผลของวัฏฏะ เราต้องเกิด แล้วเกิดเป็นมนุษย์นี่ เราเกิดมานี้มีคุณค่า เพราะเราเกิดเป็นมนุษย์ เรามีสมอง เรามีสิทธิ มีเสมอภาค เรามีต่างๆ เรามีความพร้อมหมดเลย เพียงแต่ว่าเราเป็นทาสกิเลส กิเลสมันก็ทำให้เราน้อยเนื้อต่ำใจ กิเลสมันทำให้เราคิดไปตามกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ไม่เป็นตามความเป็นจริง
ถ้าความเป็นจริงเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพ้นจากความเป็นทาสของกิเลส องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสร้างสมบุญญาธิการมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้เองโดยชอบ
แต่เราเกิดมาเป็นสาวก สาวะกะ เรามีหลักการ มีกฎหมาย กฎหมายบังคับว่าไม่ให้เป็นทาส ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า เราเป็นญาติกันโดยธรรม แล้วเสียสละ วางธรรมและวินัยไว้ ให้คนเจือจานกัน ให้คนเสียสละกัน ให้คนช่วยเหลือเจือจานกัน เพื่ออำนาจวาสนา เพราะคนเป็นสุขสังคมย่อมเป็นสุข สมณะชีพราหมณ์ประพฤติปฏิบัติมันจะมีโอกาสเพิ่มขึ้นมา
สังคมเขามีความทุกข์ เรามีทรัพย์สมบัติ เรามีความที่เหนือกว่า เราเสียสละมา เราเจือจานเขาไป เพื่อประโยชน์กับเรา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพยายามวางธรรมและวินัยไว้ เหมือนกับกฎหมาย เลิกทาส ! เราไม่ยอมเลิก เราเลิกของเราไม่ได้
เราเลิกไม่ได้เพราะอะไร เราเลิกไม่ได้เพราะเราทำของเราไม่ได้ กฎหมายก็มี กฎหมายบังคับไว้ทางสังคมว่าให้เสมอภาค ให้มีความร่มเย็นเป็นสุข แต่มันก็มีคนเอารัดเอาเปรียบในสังคมนั้น ทำให้สังคมนั้นเดือดร้อน อันนี้เป็นเรื่องของสังคม เรื่องของข้างนอก
เรามองตรงนั้นนะ มองแล้วย้อนกลับมาในหัวใจของเรา ถ้าเรามีร่มเย็นเป็นสุข ถ้าหัวใจเรามีความร่มเย็นเป็นสุข อันนี้สังคมก็จะสงบร่มเย็น แต่เวลาสังคมมีความเปลี่ยนแปลงล่ะ นี่ก็เหมือนกัน ดูสิ เวลาหัวใจของเรา มันไม่เห็นความเป็นไปนะ คนเราชนชาติใด เขาก็เห็นแก่ชนชาตินั้น ในหัวใจของเราก็เหมือนกัน ใครชนชาติใด ภาษาใด วัฒนธรรมใด เขาก็รักสงวนของเขา ถิ่นเกิดของใครๆ ก็รัก
นี่ก็เหมือนกัน ภวาสวะภพ ปฏิสนธิจิต กิเลสมันอยู่ในจิตนั้น ถ้ากิเลสมันอยู่ในจิตนั้นมันก็เป็นถิ่นเกิดของมัน มันก็คิดว่าเป็นของมัน แล้วเราจะประพฤติปฏิบัติ เวลาเข้าข้างตัวเองไง เวลากิเลสมันคิดขึ้นมา เชื่อกิเลสไปหมด
ดูสิ ชนชาติใดวัฒนธรรมใด เขาก็หวงแหนของเขา เขาก็รักของเขา เขาก็สงวนของเขา เขาก็มีความภูมิใจของเขา เวลากิเลสมันเกิดในหัวใจของเรา เราก็ภูมิใจนะ กิเลสมันก็ภูมิใจ เราก็หลง เราก็ไม่เข้าใจ เราเป็นขี้ข้ามัน เราเป็นทาสมัน มันก็ขี่หัวเรา
มันบอกว่าชีวิตเป็นของมัน ทุกอย่างเป็นของมัน ทุกข์ก็เป็นของมัน ชีวิตนี้ก็เป็นของมัน แล้วเราเกิดมา เราเป็นขี้ข้ามัน แสวงหาสิ่งใดมาก็เพื่อปรนเปรอมันทั้งนั้น แต่ถ้าเรามีหูตาสว่าง แต่ถ้าเราจะพ้นจากความเป็นทาส.. พ้นจากความเป็นทาสเพราะอะไร เพราะเรามีสติปัญญานะ
เพราะในสังคมไทย สังคมของชาวพุทธ พุทธในทะเบียนบ้าน เขาไม่เชื่อ ! นี่ไง เขาไม่เชื่อนะ เขาเป็นทาสกิเลสของเขา เขาก็พอใจในความเป็นทาสนั้น เราก็ทำบุญกุศลแล้ว เราก็ทำดีแล้ว เราต้องทำอะไรมากไปกว่านี้อีกล่ะ
แต่พวกเรามีหูตาสว่าง พวกเราไปทำบุญกุศลมา มีอำนาจวาสนา มันคิดทะลุเป้า คิดถึงว่าจะพ้นจากทุกข์ คิดเหนือเขา ถ้าคิดเหนือเขาเราก็มีโอกาสมากกว่า เรามีความคิดมากกว่า มันจะเข้ามาสู่ใจของเราไง
ในเมื่อชนชาติใด วัฒนธรรมใด เขาก็หวงแหนของเขา จิตใจมันเป็นทาสของกิเลส กิเลสมันก็หวงแหนไปของมัน มันไม่ให้คิดมากไง คนไม่เชื่อนรกสวรรค์ก็ไม่เชื่อ ธรรมะก็ไม่เชื่อ สิ่งใดก็ไม่เชื่อ คนก็เหมือนคน พระมีมาจากไหน ก็มนุษย์โกนหัวห่มผ้าเหลือง ก็ใช่ ! ก็มนุษย์โกนหัวห่มผ้าเหลืองนั่นแหละ เพราะอะไร เพราะเกิดจากจตุตถกรรม เกิดจากสมมุติบัญญัติ เกิดจากธรรมและวินัย คนนี้แหละ !
แต่คนเขามีความคิด ทำไมเสียสละล่ะ เสียสละชีวิต ชีวิตนี้เป็นส่วนตัวของเรา เรามีสิทธิเสรีภาพทั้งนั้น เกิดมาทุกคนมีสิทธิเสรีภาพ จะครองเรือนอย่างไรก็ได้ ท่านเสียสละของท่านออกไปถือพรหมจรรย์ นี่ไง ตามธรรมและวินัย
ในเมื่อก็คนเหมือนกันนี่แหละ ทำไมท่านมีความคิดอย่างนั้น แล้วทำไมท่านแสวงหาของท่านล่ะ ท่านทำของท่าน นี่ไง ครูบาอาจารย์ของเรา ถ้ามันคิดได้ไง ถ้าคิดไม่ได้ ไม่เชื่อสิ่งใดเลย ไม่เชื่อใดๆ ทั้งสิ้น คำว่าไม่เชื่อมันก็ทำลายโอกาสของตัว ไม่เชื่อคือไม่มีศรัทธา... ศรัทธาความเชื่อนะ เรามีศรัทธาของเรา เรามีความเชื่อของเรา เราต้องพิสูจน์สิ
ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้แต่ทำทานก็ต้องมีปัญญาว่าควรทำที่ใด ทำอย่างใด เพื่อประโยชน์มากน้อยขนาดไหน ถือศีลก็ต้องมีปัญญา ยิ่งทำสมาธิ ยิ่งทำความสงบของใจปัญญายิ่งเกิดมากกว่านั้นอีก เพราะถ้าปัญญาไม่เกิดมากกว่านั้น เราจะมานั่งทรมานกันทำไม เราจะมานั่ง ก็นั่งทรมานกิเลสไง ก็เราเป็นขี้ข้ามัน มันจะเอาแต่ความสะดวกสบายของมัน
ถ้ามันจะเอาแต่ความสะดวกสบายของมัน มันก็คิดภาษามัน สะดวกสบาย มีความเพลิดเพลิน ชีวิตนี้มันน่ารื่นเริง โอ้โฮ.. มีความสุข มีความพอใจ ตายเปล่า ! เวลาตายเปล่าๆ ไป แต่เพราะเรามีความคิดมากกว่านั้น เรามีปัญญามากกว่านั้น
ชีวิตเกิดมาแล้ว หน้าที่การงานการกระทำของเรา มันก็เป็นหน้าที่การงานเพื่อดำรงชีพ มนุษย์ ! ชีวิตของมนุษย์ต้องการอาหาร ปัจจัยเครื่องอาศัย แม้แต่เทวดา อินทร์ พรหม เขาก็ต้องการอาหารของเขาเพื่อการดำรงชีวิต
ถ้าการดำรงชีวิตของเรายังทำไม่เป็น แม้แต่ชีวิตเรายังไม่เห็นคุณค่าของมัน แล้วเวลาตรัสรู้ขึ้นมา ชีวะ ! สิ่งที่เป็นสัจธรรม สิ่งที่เป็นชีวะ ที่มันสืบต่อ แล้วมันทำประพฤติปฏิบัติขึ้นมา สิ่งนี้มันจะเป็นผลที่รองรับธรรม ที่มันจะพ้นจากความเป็นทาส มันจะเป็นอิสระ มันจะพ้นจากการเวียนตายเวียนเกิด เรายังรักษามันไม่เป็น เรายังรู้จักหาอาหารไปให้ดำรงชีวิตนี้ อยู่มาเพื่อจะประพฤติปฏิบัติ เราไม่มีปัญญาขนาดนั้นเชียวเหรอ
ฉะนั้น เรามีปัญญาเราหาสิ่งนี้มา ถ้ามันเป็นปัจจัยเครื่องอาศัยมันพออาศัยของเรา สิ่งนี้อาศัยแล้วเราไม่ตื่นไปกับมัน เป็นหน้าที่การงานของเรา รักษาชีวิตนี้ไว้เพื่อประพฤติปฏิบัติ รักษาชีวิตนี้ไว้เพื่อปลดความเป็นทาส ปลดชีวิตนี้ให้ความเป็นทาสให้มันเป็นไทขึ้นมา เราจะปลดชีวิตนี้ไหม
เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ชนชาติใดเขาก็ภูมิใจในชนชาตินั้น กิเลสเกิดขึ้นในหัวใจของใคร คนๆ นั้นก็ต้องเชื่อมัน คนๆ นั้นก็ภูมิใจ แล้วความภูมิใจ เวลาเราไปศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ใช่ธรรมของเรา ไม่ใช่ธรรมของเรา
ในเมื่อเรามีกิเลสตัณหาความทะยานอยากอยู่ในหัวใจของเรา เราก็เข้าข้างตัวเรา เวลาศึกษาขึ้นมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมวินัยไว้เป็นปริยัติ ปฏิบัติ ปริเวธ ทีนี้ปริยัติมีการศึกษามาเพื่อประพฤติปฏิบัติ ทีนี้พอมันศึกษามา เราศึกษาด้วยกิเลสตัณหาความทะยานอยากเพราะชนหมู่ใด ชนชาติใด มันก็ภูมิใจในตัวของตัวเอง
นี่ก็เหมือนกัน พอศึกษาธรรมมา โอ๊ย ! นิพพานเป็นธรรมชาติ ธรรมะเป็นธรรมชาติ ทุกสิ่งเป็นธรรมชาติ มันเป็นเช่นนี้เอง โอ้โฮ.. มันก็เป็นเช่นนี้เอง ก็นอนจมกับกิเลส ให้กิเลสมันขี่หัวเอา ทุกอย่างมันเป็นเช่นนี้เอง ปฏิบัติมันก็เป็นเช่นนี้เอง สมาธิมันก็เป็นเช่นนี้เอง มันเป็นเช่นนี้แล้วเป็นอย่างไร นี่ไง ความเป็นทาส !
ทั้งๆ ที่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กฎหมายเขามีไว้บังคับให้ชุมชนนั้น ให้ประเทศชาตินั้นร่มเย็นเป็นสุข นี่ก็เหมือนกัน ธรรมวินัยไว้ให้เขาบังคับกิเลส ศีลก็เพื่อให้เป็นปกติของใจ การเสียสละก็ต้องการให้กิเลสมันตระหนี่ถี่เหนียว มันต้องมีการปฏิบัติเพื่อขัดแย้งมัน คัดง้างกับมัน มันมีตระหนี่ถี่เหนียว
สมบัติของเราหามาเกือบเป็นเกือบตาย เราจะเสียสละให้ใคร เสียสละทำไม ทำไมเราไม่เอาเก็บไว้ใช้สอยเพื่อประโยชน์ของเราล่ะ ถ้าเก็บเอาไว้ใช้สอย กินเข้าไปก็ถ่ายออกมาหมด ของใช้ขึ้นมา ใช้เสร็จแล้วก็ทิ้ง
แต่ถ้าเสียสละออกไปล่ะ มันเป็นบุญกุศลๆ เพราะสรรพสัตว์เขาได้อาศัยสิ่งที่แสวงหามาของเรา เขาได้ใช้เขาได้มีความสุขของเขา ระหว่างนามธรรมกับนามธรรม ระหว่างใจกับใจ ระหว่างความรู้สึกกับความรู้สึก ในเมื่อความรู้สึกของเขา ทุกข์ยากของเขา แล้วมีคนมาเจือจานกัน สิ่งต่างๆ นี้มันเป็นความสุขของเขา ด้วยความสุขของเขา มันก็ได้บุญกุศลขึ้นมา สิ่งนี้เป็นบุญกุศล นี่ไง การเสียสละ !
แต่มันคิดได้แค่นั้น เวลากิเลสมันขี่หัวใครมันก็คิดได้แค่นั้น แต่ถ้าเรามีการศึกษาธรรม เราศึกษาเพื่อประโยชน์กับเรา นี่ไงมันจะเป็นไทไง ความเป็นไทนะ ถ้าความไม่เป็นไทขึ้นมา ไม่เป็นสมาธิไม่ได้ สมาธิแก้ความเป็นไทเท่านั้นล่ะ
ความเป็นไทขึ้นมาแล้วเราจะทำอย่างไรให้เป็นอิสระต่อไป เพราะความเป็นไทนี้มันเป็นเรื่องของนามธรรม ความเป็นไทขนาดไหนกิเลสมันเป็นอนุสัย มันนอนเนื่องมากับใจ มันอาศัยสถานที่เป็นเครื่องอาศัย นี่เรื่องของจิตนะ แต่ถ้าเรื่องของมนุษย์เรา เราเกิดมา ดูสิ เวลาเขาเลิกทาสแล้ว เราไม่เป็นทาสใช่ไหม เราเป็นปุถุชน เราเป็นปัจเจกชน เรามีสิทธิเสรีภาพก็ว่ากันไป
แต่นี่มันเป็นเรื่องโลกๆ ไง เรื่องโลก ! เรื่องโลกเขายังมีความร่มเย็นเป็นสุข เขาได้เห็นคุณประโยชน์ขนาดนั้น แล้วเรื่องภาวนา เรื่องจะเอาตัวเองพ้นจากกิเลส มันละเอียดลึกซึ้งมากกว่านั้นเยอะนัก
ถ้ามันละเอียดลึกซึ้ง ดูสิ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เวลาเป็นชาติไง เวลาเป็นชาติขึ้นมา ชนกลุ่มใดรวมกันเป็นชาติ แล้วตัวศาสนาเพื่อให้สังคมร่มเย็นเป็นสุข เพราะศาสนาจะชี้เข้ามาถึงความเป็นคนดี ความเป็นคนดีก็เป็นเรื่องของโลกไง ผู้ที่เป็นกษัตริย์ ผู้ปกครอง ผู้นำ ถ้าผู้นำร่มเย็นเป็นสุขนี้มันก็สังคมหมุนไป นี่เรื่องของโลก เรื่องของวัฏฏะ
ถ้าเราทำดีแค่นี้ ก็เรื่องของโลกใช่ไหม มันก็หมุนไป มันไม่จบ แต่ถ้า เราจะพ้น เราจะปลดความเป็นทาสจากอวิชชา อวิชชาคือความไม่รู้ สิ่งที่ไม่รู้ ศึกษาสิ่งใดมามันก็เป็นสมบัติของมันหมดเลย ตรึกธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาก็รู้แล้ว
นิพพานมันมีอยู่โดยดั้งเดิม แม้แต่พระโพธิสัตว์ปรารถนามาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สร้างอำนาจวาสนามา ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย เวลาสร้างอยู่ จิตนี้จะไม่เข้าสู่อริยสัจเลย จิตนี้จะเป็นฌานโลกีย์ จะเป็นสิ่งที่สร้างสมบุญญาธิการเพื่อจิตใจดวงนั้น
มันมีมันอยู่ ถ้าไม่ได้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ แล้วเราเป็นสาวก สาวะกะ มันมีมาอยู่ไหน ถ้ามันอยู่แล้วมันก็เป็นของมันอยู่แล้วสิ นี่มันไม่มีของมัน นี่ไง อวิชชา กิเลสตัณหาทะยานความอยากมันครอบงำ แล้วเราก็ไปเชื่อมัน นึกว่าเพื่อธรรมขนาดไหน จะทำสิ่งใดก็บูชามัน บูชากิเลส เป็นขี้ข้ามัน เป็นทาสมันตลอดไป
แต่ถ้าเราจะประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริงของเรา เราต้องตั้งสติของเราขึ้นมา ถ้าเราตั้งสติของเรามา ใช้การบริกรรมก็ได้ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิก็ได้ คำว่า ก็ได้ ก็ได้เพราะอะไร เพราะมันเป็นจริตนิสัยของคน คนมันมีจริตมีนิสัยแตกต่างกันไป การกระทำของคนแตกต่างกันไป แม้แต่ เทวดา อินทร์ พรหม ก็เหมือนกัน
เทวดา อินทร์ พรหม เวลาฟังเทศน์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เทศน์ครูบาอาจารย์ของเรา ฟังเทศน์แต่ละกัณฑ์ก็แตกต่างกันไปเพราะเป็นจริตนิสัยของเขา นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อเราจะประพฤติปฏิบัติ เราต้องหาแง่มุมของเรา
ถ้าแง่มุมของเรา ถ้ามันเข้ามาสู่ใจของเราได้ เราจะรู้สึกตัวของเรานะ คำว่ารู้สึกตัวขึ้นมามันจะเกิดธรรมสังเวช มันจะสลดสังเวชในตัวของเรา ดูสิ คนที่มีคุณธรรมในหัวใจเขาจะนิ่งของเขา เขาจะไม่ตื่นเต้นไปกับกระแสสังคม กระแสสังคมมันเป็นเรื่องของโลกไง
สิ่งที่เป็นปัจจุบันนี้มันก็เป็นสมมุติอยู่แล้ว ในสังคมโลกมันเป็นสมมุติบัญญัติทั้งหมดอยู่แล้ว ถ้ามันเป็นสมมุติบัญญัติเราก็อยู่กับข้อเท็จจริงอยู่แล้ว กระแสสังคมมันก็เป็นสมมุติบัญญัติขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง เป็นกระแส เป็นความพอใจ เป็นความชอบใจของเขา เราก็อยู่กับสมมุติอยู่แล้ว เราก็อยู่กับความเป็นอนิจจังอยู่แล้ว แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นมา มันก็เป็นอนิจจังซ้อนเข้ามา เราจะไปตื่นเต้นอะไรกับเขา
ถ้าเราไม่ตื่นเต้นกับเขา เราจะไม่เป็นทาสของเขา ไม่เป็นขี้ข้าของเขาให้ตามกระแสสังคม เราหาอยู่หากินของเราเพื่อการดำรงชีวิตของเรา เพื่อแสวงหาความจริง เพื่อปลดความหมักหมมในหัวใจ
ถ้ามันปลดความหมักหมมในหัวใจ มันจะเปิดโล่งออกมาตลอดไป ใช้คำบริกรรมก็ได้ ต้องใช้คำบริกรรม มันไม่เป็นเช่นนั้นเองหรอก มันต้องเป็นการกระทำ มันต้องมีความเพียรชอบ มันมีความเพียรชอบ ความเพียรชอบและความเพียรไม่ชอบ ความเพียรอุตสาหะในทางที่ผิด ความเพียรวิริยะอุตสาหะในทางที่ถูก
ถ้ามันมีความวิริยะอุตสาหะในทางที่ถูก ทางที่ถูกเข้าสู่สิ่งใด.. ก็เข้าสู่หัวใจ เข้าสู่สัจจะความจริง เพราะศีล สมาธิ ปัญญา ที่ไหนก็ไม่มี ในตำรับตำราเขียนไว้คือเป็นชื่อเท่านั้น กฎหมาย ! กฎหมายบังคับใคร ถ้าไม่มีคนกฎหมายจะเขียนไปบังคับใคร กฎหมายเขาเขียนมาเพื่อบังคับมนุษย์ที่อยู่ในสังคมให้มันร่มเย็นเป็นสุขเท่านั้นเอง
นี่ก็เหมือนกัน ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันก็เหมือนกฎหมายบังคับ บังคับใคร.. ในเมื่อไม่มีหัวใจ ไม่มีการกระทำ จะไปบังคับใคร ศีล สมาธิ ปัญญา มันเกิดที่ไหน กฎหมายมันบังคับใคร กฎหมายเป็นตัวอักษร คนใช้กฎหมายนั้นใช้กฎหมายบังคับ บังคับด้วยกฎหมายตามเป็นธรรม แล้วไปใช้กฎหมายในทางที่ผิด
นี่ก็เหมือนกัน ศีล สมาธิ ปัญญา อริยสัจ ทุกข์ สิ่งต่างๆ เกิดขึ้นมา มันก็เป็นทฤษฎี เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันไม่มีตัวจริงเลย ถ้ามีตัวจริงขึ้นมา สติเราต้องฝึกขึ้นมา เป็นสมาธิขึ้นมา สมาธิก็จะเกิดขึ้นมาจากใจของเรา ถ้าสมาธิก็จะเกิดขึ้นมาจากใจของเรา เราพ้นจากความเป็นทาสชั่วคราวนะ
ถ้าเราไม่พ้นจากความเป็นทาสชั่วคราว เราจะไม่มีอิสระทำงานตามความเป็นจริง ถ้าเราเป็นทาสในอวิชชาของเรา อวิชชามันจะบังคับเราตลอดไป ความคิดขึ้นมา ไปศึกษาธรรมมาก็ศึกษาด้วยอวิชชา นี่ไง ศึกษาโดยกิเลสตัณหาความทะยานอยาก เป็นทาสกิเลสไปหมด ถ้าคนที่เป็นทาส ทำประโยชน์สิ่งใดมา ผลประโยชน์ก็ต้องตกเป็นของนายทาสนั้น
นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อกิเลสในเมื่อหัวใจของเรามันเป็นทาสของอวิชชา ในเมื่อศึกษาธรรมขึ้นมา มันจะไปศึกษาเป็นสัจธรรมไหม มันศึกษาธรรมขึ้นมามันก็ไปศึกษาธรรมนั้นเพื่อกิเลส เพื่อความเห็นผิด อวิชชา ความไม่รู้สึกตัวมันเอง ศึกษามามันก็ตีความเข้าข้างตัวมันเอง มันถึงบอกว่าเป็นเช่นนั้นเอง ! มันเป็นเช่นนั้นเอง ! มันมีของมันอยู่แล้ว
แล้วมันเป็นจริงไหม ในเมื่อมันเป็นเช่นนั้นเอง มันเป็นของมันอยู่แล้ว ในเมื่อมันมีอวิชชาครอบงำมันอยู่ ผลมันจะเป็นของใคร ผลที่ปฏิบัติมา ผลที่ศึกษามาจะเป็นของใคร มันก็เป็นของกิเลสเท่านั้น ฉะนั้นเราจะพ้นจากกิเลส เราจะต้องทำความสงบของใจเราเข้ามาก่อน ถ้าจิตใจเราสงบเข้ามา เราเป็นไทชั่วคราวเท่านั้นเอง เพราะอะไร เพราะมันพ้นจากการบังคับ พ้นจากการเห็นผิดของอวิชชา
ถ้าพ้นจากความเห็นผิด พุทโธ พุทโธ พุทโธ คำบริกรรมของเรา เราบริกรรม พุทโธพุทโธ ของเรา จากที่อวิชชามันครอบงำอยู่ มันคิดไปตามประสาของมัน มันคิดบวกอวิชชามาตลอด คิดพุทโธ พุทโธ เป็นคำบริกรรม พุทโธ พุทโธ พุทโธ ให้จิตมันอยู่กับพุทธานุสติ อนุสติ ๑๐ พุทธานุสติ ! เราอยู่กับพุทโธ พุทโธ อยู่กับอนุสติของเรา อยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันคิดแยกคิดแยง คิดไปทางไหนก็แล้วแต่ ไม่ให้มันไป พุทโธ พุทโธ ไว้
เวลาถ้ามันสงบเข้ามา มันสงบจากอะไร.. สงบจากกิเลส ถ้าสงบจากกิเลสเข้ามา เราทำความสงบของใจของเรา แล้วใช้ปัญญาของเราใคร่ครวญของเราบ่อยครั้งเข้า จิตสงบขนาดไหนแล้วเราออกใช้ปัญญา ปัญญาน่ะ ชีวิตประจำวันก็ได้ ใช้ตรึกในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ได้ การใคร่ครวญด้วยที่ความเป็นไท
ความเป็นไทคือจิตมันพ้นจากอวิชชาครอบงำ พ้นจากกิเลสตัณหาความทะยานอยากชั่วคราว เราพิจารณา มันจะมีความดูดดื่ม เราทำงานอาบเหงื่อต่างน้ำได้ผลประโยชน์มาเท่าไร เราก็ต้องให้เจ้านายเราหมด เพราะเราเป็นทาส มันเป็นของนายทาสหมด
คิดแบบโลก คิดโดยอารมณ์ความรู้สึก สิ่งใดได้มามันว่างเปล่า มันมีแต่ผลบุญผลกรรมเท่านั้น แต่ถ้าเราเป็นไทเราทำสิ่งใดมา ผลประโยชน์มันตกกับเราเพราะเราเป็นไท เราไม่มีเจ้านาย เราไม่เป็นทาสใคร เราเป็นไทชั่วคราว เราทำสิ่งใดเราจะได้ผลประโยชน์สิ่งนั้น
จิตถ้ามันมีความสงบขึ้นมา พ้นจากความเป็นไทชั่วคราว มันคิด มันตรึกในธรรม มันก็ซาบซึ้ง เวลามันคิดในทางโลก ทางโลกคือสิ่งที่การดำรงชีวิตของเรา แต่เรามีสมาธิ เรามีความเป็นไทชั่วคราว คิดสิ่งใด คิดเรื่องโลกมันก็ซาบซึ้ง คิดเรื่องธรรมมันก็ซาบซึ้ง
ความซาบซึ้งนั้น ดูสิ ดูที่ชาวพุทธทะเบียนบ้าน ความคิดนี่เขาหยาบๆ เขาไม่เชื่อนรกสวรรค์ เขาไม่เชื่อว่าการเกิดการตายมี ไม่เชื่อว่าจิตนี้ตายแล้วจะไปเกิดต่อไป มันจะมีความทุกข์ยาก เขาไม่เชื่อ ! เขาไม่เชื่อเพราะอะไร เพราะเขาหยาบใช่ไหม
แต่จิตใจพอเรามีอำนาจวาสนา เราถึงว่าเราเชื่อ เรามีศรัทธาเรามีความเชื่อ แล้วในปัจจุบันเรามาประพฤติปฏิบัติ เราก็จะมาพิสูจน์ความเชื่อของเราอยู่นี่ พอเราจะมาพิสูจน์ความเชื่อของเรานี่แหละ เรามาปฏิบัติ มันเป็นปัจจัตตัง มันเป็นสันทิฏฐิโก ความเชื่อมันเป็นศรัทธา
แต่ความเป็นจริงเวลาปฏิบัติขึ้นมา ถ้าจิตมันสงบเข้ามาแล้วพอมันเกิดปัญญา ปัญญาที่เราออกใคร่ครวญในชีวิตประจำวัน คิดแบบโลก ตรึกในธรรม คิดแต่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันก็สะเทือนใจ มันสะเทือนใจใช่ไหม เพราะเราคิดแบบโลกๆ โลกียปัญญา พอจิตมันสงบขึ้นมา มันจะเป็นโลกุตตระเพราะมันเป็นไท พอมันเป็นไทก็เพราะมันเป็นสัมมาสมาธิ
เวลาเราคิด เราตรึกในธรรม เราจะตรึกในเรื่องโลกๆ มันก็กินใจ มันก็ซาบซึ้งกว่ากัน มันจะละเอียดเข้าไปเรื่อยๆ ผลของการประพฤติปฏิบัติทุกแนวทาง ผลของมันคือสมถะ ผลของมันคือสมาธิ มันไม่มีหรอกที่สติปัฏฐาน ๔ ที่ว่าเป็นปัญญาที่จะฆ่ากิเลส ไม่มี ! ไม่มีหรอก !
เพราะอะไร เพราะมันเป็นทาส ! จิตนี้มันเป็นทาส ! แล้วมันเป็นทาสอะไร.. ทาสอวิชชา เพราะอวิชชามันครอบงำอยู่ มันคิดขนาดไหนมันก็เป็นโลกๆ ทั้งนั้น มันไม่เข้ามาถึงสันทิฏฐิโก มันไม่เข้ามาถึงความรู้สึกที่เรามีสติปัญญา เรามีความรู้สึกของเราแล้วเราพิจารณาของเรามันจะซาบซึ้ง
ความซาบซึ้งอันนี้มันเป็นการยืนยัน.. มันเป็นการยืนยันตอกย้ำศรัทธาให้มันมั่นคง ความกระทำของเราจะองอาจกล้าหาญ องอาจกล้าหาญในทางจงกรม องอาจกล้าหาญในการนั่งสมาธิภาวนา เพราะว่าความเพียรชอบ ความเพียรอย่างหยาบ ความเพียรอย่างละเอียด ละเอียดสุด ความเพียรน่ะมันวิกฤตินะ
เวลาวิกฤติ ทำไมครูบาอาจารย์ของเรา หลวงตาท่านพูดบ่อย ทำไมพระโสณะเดินจนฝ่าเท้าแตก เดินจนฝ่าเท้าแตก แล้วเลือดขนาดนั้น ยังคลานไป ยังกลิ้งไป เพราะอะไร เพราะจิตใจมันเป็นไง เพราะปัญญามันเกิด เพราะผลหัวใจมันมีความสุข เพราะผลหัวใจมันได้ลิ้มรสของธรรม
ฉะนั้นเรื่องความทุกข์ภายนอกมันเป็นของเล็กน้อยหมดเลย เวลาผู้ที่ภาวนาเป็น ครูบาอาจารย์ของเราเวลาภาวนาขึ้นมา อดนอนผ่อนอาหาร เดินจงกรม มันจะต่อเนื่องแล้วมันเห็น ถ้าเราเห็นประโยชน์ของมันใช่ไหม เราจะมีความองอาจกล้าหาญ เราจะมีความกระทำของเราสืบต่อเนื่อง
การประพฤติปฏิบัติในพระไตรปิฎกทุกข้อนะ การปฏิบัติของเราที่ลุ่มๆ ดอนๆ กันอยู่นี้ เพราะการปฏิบัติไม่สม่ำเสมอ ไม่เสมอต้นเสมอปลาย การปฏิบัติสม่ำเสมอ เสมอต้นเสมอปลาย จะทำการให้การปฏิบัติของเราให้ต่อเนื่อง ดูสิ ของเรานะ อย่างผลไม้ เขาเอามาบ่มเพื่อให้มันสุก ถ้ามันบ่มถูกต้องมันก็สุก ถ้ามันบ่มด้วยความไม่ถูกต้อง ผลไม้นั้นอ่อน มันเน่าหมดล่ะ
อันนี้ก็เหมือนกัน ในการปฏิบัติของเราลุ่มๆ ดอนๆ มันเน่าหมด มันไม่ต่อเนื่อง พอมันไม่ได้ต่อเนื่อง เราก็ไม่ได้สัมผัส ถ้าเราสัมผัสสภาวธรรม สัมผัสความรู้สึก รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง รสของสติ รสของสมาธิ รสของภาวนามยปัญญา รสของมันมีนะ มันรู้ของมัน ถ้าคนปฏิบัติแล้วรสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง
ดูสิ เวลาเราโกรธมาก เรามีความฟุ้งซ่านมาก พอเรามีสติขึ้นมามันหยุดหมด ถ้าใครมีสติพวกนี้มันหยุดหมด พอเผลอคิดอีกแล้ว เราได้ผ่านประสบการณ์อย่างนี้ เราจะเห็นว่าสติมีคุณสมบัติอย่างนี้ ! สติมีคุณสมบัติว่าให้เราหยุดความคิดของเราได้ทั้งหมด สติมีคุณสมบัติในการควบคุมดูแลจิต สติมีคุณสมบัติ ถ้าเรามีสติ
เวลามีคำบริกรรมล่ะ รสของคำบริกรรม คำบริกรรม พุทโธ พุทโธ จนคำบริกรรมมันเริ่มละเอียดขึ้นๆ มันใจจะขาดนะ มันหวิวๆ เลย เดี๋ยวพุทโธมันจะขาด มันพยายามรักษา ขณะที่พุทโธ พุทโธ พุทโธ ขึ้นมา จนพุทโธมันเริ่มจางลงๆ จางลงแล้วสติยิ่งชัดเจน
แต่ทีนี้เราปฏิบัติกัน เวลาพุทโธจางลงๆ สติก็จางลงๆ แล้วกิเลสมันเป็นเจ้านายใช่ไหม มันก็ครอบงำใช่ไหม หายไปเลย.. พอสะดุ้งขึ้นมา โอ้โฮ.. สมาธิเป็นอย่างนี้เองๆ นั่นน่ะมิจฉา มันลงภวังค์ไปแล้ว
แต่ถ้ามันพุทโธ พุทโธ พุทโธ พอมันมีคำบริกรรม จิตมันละเอียดเข้ามาๆ พุทโธ พุทโธ สติชัดเจน ! สติกลับชัดเจน ความเห็นชัดเจน ละเอียดก็เลยชัดเจน ดูเราซักผ้าสิ เวลาผ้าสกปรก เราซักน้ำแรกก็มีความสกปรกของมัน เราซักน้ำที่สองมันเริ่มสะอาดขึ้นมา ซักน้ำที่สาม น้ำที่ซักน้ำแรกกับน้ำที่สามแตกต่างกันไหม
พุทโธ พุทโธ น้ำแรกขึ้นมาหยาบๆ พอมันละเอียดเข้าไปๆ มันละเอียดเข้าไป จิต สติมันพร้อม มันตามเข้าไป พุทโธ พุทโธ จนละเอียดเข้าไป พุทโธ พุทโธ จนลมหายใจหาย จนพุทโธเริ่มจางลงจนพุทโธขาด แต่สติชัดเจน ! สติชัดเจน ! สมาธิชัดเจน ! ความเป็นไทที่ละเอียดลึกซึ้ง ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิเข้าไปถึงที่สุด แล้วมันคลายออกมา
เวลาคลายออกมา เวลาพุทโธถึงอัปปนา พุทโธถึงรวมใหญ่แล้ว เราอยู่กับความสุขอย่างนั้น รวมอยู่กับความสุขจนกว่าความสุขมันจะคลายออกมาจากสมาธินั้นเอง พอมันคลายออกมากลายเป็นอุปจาระ เพราะมันยังมีสมาธิอยู่แต่มีรับรู้ได้ น้อมไปเลย น้อมไปกาย เวทนา จิต ธรรม สติปัฏฐาน ๔ เกิดตรงนี้ไง
สิ่งที่เป็นสติปัฏฐาน ๔ พอเวลามันเกิด.. มันเกิด มันเห็น มันรู้ของมัน เวลาพิจารณาของมันนะ พิจารณากาย กายมันจะแปรสภาพของมัน พอแปรสภาพของมัน มันจะเข้ามารู้สึกถึงหัวใจ หัวใจเวลาแปรสภาพมันปล่อยวางขนาดไหน สิ่งต่างๆ ขนาดไหน นี่การเกิดอย่างนี้
เวลาบอกว่าเราเป็นทาสของกิเลส แล้วเราก็ไม่รู้จักกิเลส เราก็ไม่รู้จักสิ่งใดเลย แล้วเราจะไปปลดเปลื้อง เราจะไปเป็นไทได้อย่างไร เราเป็นทาสของกิเลสใช่ไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกกิเลสอย่างหยาบ กิเลสอย่างกลาง กิเลสอย่างละเอียด โทสะ โมหะ เป็นกิเลสทั้งนั้นเลย
เวลาเราเกิดขึ้นมากิเลสเป็นเรานะ เรามีความโกรธ เรามีความหลง เป็นเราไปหมดแล้ว แล้วกิเลสไปอยู่ไหน กิเลสเป็นอย่างไร เราจับมันไม่ได้เลย เวลามันขี้ มันถ่ายจากหัวใจเราไปแล้วนะเราถึงได้รู้ เราเป็นขี้ข้ามันมาตลอด เราไม่เคยรู้จักตัวมันเลย
แต่พอเราพุทโธ พุทโธ จิตมันสงบเข้ามา พอมันเป็นอิสระมันเห็นของมัน มันรับรู้ของมัน นี่ไง ผลของสมาธิธรรม มีสมาธิมันก็มีความร่มเย็นเป็นสุขแล้ว แล้วถ้าคนหยาบบอกว่าสมาธิเป็นนิพพาน เขาว่าสมาธิเป็นนิพพาน
ถ้าไม่มีสมาธิ ไม่มีสติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ เกิดสัมมาสมาธิออกไปค้นคว้า ถ้าไม่มีสัมมาสมาธิสิ่งที่เกิดนั้นเป็นโลกียะหมด มันเป็นเรื่องของกิเลสหมด เพราะกิเลสมันขี่ หัวใจนี้อยู่แล้ว ถ้าหัวใจมันเป็นขี้ข้าของกิเลสอยู่แล้ว กิเลสมันคุมหัวใจนี้อยู่ ทำสิ่งใดก็เป็นผลของกิเลสหมด นี่ไง พอผลของกิเลสหมด พูดสิ่งใดมันเลยเป็นปรัชญา พูดสิ่งใดมามันเลยเป็นเรื่องโลกๆ
ทีนี้พอมันเป็นเรื่องโลกๆ ใช่ไหม ดูสามัญสำนึกของโลก พวกเรามีกิเลสทั้งนั้น ชาวพุทธเกิดมามีกิเลสทุกคน ชาวพุทธเกิดมามีแต่กิเลสเต็มหัวใจ ฉะนั้นเวลาครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติมาโดยกิเลส โดยเป็นทาสของกิเลส พูดธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเขาก็มีกิเลสพูด เราก็มีกิเลสฟัง เพราะฟังสิ่งใดขึ้นมามันซาบซึ้งทั้งนั้น มันเป็นปรัชญา มันเป็นเรื่องของตรรกะ มันไม่เป็นความจริงเลย
ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ของเราที่เป็นผู้ประพฤติปฏิบัติให้เป็นความจริงขึ้นมา พอทำความสงบของใจเข้ามาแล้วออกวิปัสสนา เวลาพูดให้เราฟังเราไม่เข้าใจนะ เราพูดให้เขาฟัง เราจะบอกว่าทำไมมันเรื่องมาก ทำไมมันต้องทำอย่างนั้น ทำไมไม่ทำเรียบง่าย ทำไมไม่ทำที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนไว้แล้ว
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนไว้แล้ว ! สอนนี่เป็นธรรมและวินัย แต่มันไม่เป็นของเราหรอก ฉะนั้นความเป็นของเรา ภาชนะนะ ! ภาชนะสิ่งใดที่มันมีพิษ อะไรที่ตกลงไปในภาชนะนั้นก็เลอะสารพิษนั้นไปด้วย
จิตใจของเรามันมีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก เวลาปฏิบัติก็อยากจะได้ผล ทำสิ่งใดก็อยากจะได้ตามความปรารถนา แรงปรารถนาอันนี้มันเป็นเรื่องโลกไง แต่ทีนี้พอแรงปรารถนาความอยากนี้ เราทำความสงบของใจ อยากในทางความสงบ ถ้าความอยากในทางความสงบมันเป็นความถูกต้อง ความถูกต้อง ! เราจะล้างภาชนะของเราให้สะอาดก่อน ถ้าเราล้างภาชนะของเราให้สะอาด ถ้ามันมีสิ่งใดตกสู่ภาชนะนั้น มันก็จะเป็นความสะอาดบริสุทธิ์
ฉะนั้นถ้าเรากำหนดพุทโธ พุทโธ หรือปัญญาอบรมสมาธิ ให้จิตของเราเป็นไทขึ้นมา มันก็รักษาภาชนะนั้น ทำความสะอาดภาชนะนั้น ถ้าทำความสะอาดภาชนะนั้นแล้ว ภาชนะส่วนภาชนะ ที่ใส่ของนี่มันเป็นบุคลาธิษฐาน
แต่หัวใจของเรามันเป็นภาชนะ สิ่งที่จะเกิดขึ้นมาก็หัวใจนั้นจะต้องเป็นผู้รื้อค้น เพราะหัวใจนั้นเป็นทาสของกิเลส กิเลสมันครอบงำอยู่ ศึกษาสิ่งใดขึ้นมา เหมือนคนบ้า คนบ้า ! ดูสิ เราดูคนบ้าตามสี่แยกสิ มันพะรุงพะรังด้วยของๆ มันทั้งหมดเลยนะ มันก็เก็บหอมรอมริบอยู่อย่างนั้น มันเก็บเข้าเก็บออกอยู่อย่างนั้น นับแล้วนับอีกก็ไม่มีวันจบ นี่ไง จิตบ้า !
จิตบ้าก็เหมือนกัน จิตบ้า ! มันศึกษาธรรม ศึกษาสิ่งใดมา มันก็ว่ามันรู้ของมันหมด จิตมันบ้า ! ถ้ามันไม่เป็นปกติ.. แต่คนเป็นปกตินะ มนุษย์เราๆ จะทำความผิดพลาด เราไม่มีสติสตัง เราไปทำในที่ชุมชนอย่างนั้น เราก็มีความละอายเป็นเรื่องธรรมดา
จิตของเราเวลามันมีสติปัญญาขึ้นมา มันมีคำบริกรรมของเราขึ้นมา มันไม่ใช่จิตบ้า มันมีสติสตังขึ้นมา พอมีสตังขึ้นมาถ้ามันเป็นสัมมาสมาธิ มันมีหลักมีเกณฑ์ของมันขึ้นมา จะทำสิ่งใดเราก็จะไม่ทำเหมือนคนบ้า พอไม่ไปทำเหมือนคนบ้าก็พ้นจากการครอบงำของกิเลสอย่างหยาบๆ
ถ้ากิเลสอย่างหยาบๆ แต่เวลาเรามาใช้สติปัญญา ถ้าจิตมันสงบแล้วออกวิปัสสนานะ พอวิปัสสนามันปล่อยวางสิ่งใด.. ปล่อยวางสิ่งใด.. มันมีรสชาติ มันพอปล่อยวางแล้ว เราทุกคนจะมั่นใจว่าสิ่งนี้เป็นธรรมๆ ใช่ ! มันเป็นธรรมแต่ยังไม่ถึงเป้าหมาย กุปปธรรม อกุปปธรรม กุปปธรรม สัพเพ ธัมมา อนัตตา สภาวธรรมนี่เป็นอนัตตา
เถียงกันประจำว่าสภาวธรรมนี่เป็นอนัตตา กุปปธรรม อกุปปธรรม
อกุปปธรรมพ้นจากความเป็นอนัตตา.. ถ้ากุปปธรรมมันเป็นอนัตตา..
เริ่มต้นจากขบวนการ พอจิตเราเป็นไทขึ้นมา เราพยายามค้นคว้า เพราะจิตเป็นไทแล้ว จิตมันเป็นสัมมาสมาธิ เรารำพึง เรามีสติปัญญา ถ้ามันมีอำนาจวาสนามันจะเห็น เห็นโดยบุญนะ.. เห็นโดยบุญโดยกรรม มันจะเห็นเลย
แต่ถ้าอำนาจวาสนาเราอ่อนแอ ไม่ถึงขบวนการของมัน เราต้องรำพึง ต้องนึกขึ้นมา แล้วนึกขึ้นมาก็เป็นความอยากสิ นึกก็เป็นสมมุติ นึกก็เป็นของหยาบๆ
ความนึกมันเป็นการฝึกหัดถ้าจิตของเรามันเป็นไท แล้วจิตของเราไม่ได้ฝึกหัด ไม่ได้แยกแยะ จิตของเราจะพ้นจากความเป็นทาสได้อย่างไร
ขณะที่เป็นทาสนะ โลกนะ.. พอพ้นจากความเป็นทาส เขามีกฎหมาย พ้นโดยกฎหมาย ธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้เราฝึกประพฤติปฏิบัติธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
แต่เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราพิสูจน์ของเรา เราตรวจสอบของเรา เรามาปฏิบัติ เรามาตรวจสอบตามธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้หัวใจมันได้แก้ไข มันได้ฝึกหัดของมัน มันได้ซักฟอกในใจของมัน นี่มรรคเกิดอย่างนี้ มรรคญาณ ! มรรคญาณ เวลาบอกมรรคเกิด ! มรรคเกิด !
เราทำหน้าที่การงานนะ เราอาบเหงื่อต่างน้ำ ผู้บริหารเขาใช้สมอง แต่ผู้ปฏิบัติเขาใช้จิต เวลาจิตมันทำงาน จิตมันเกิดปัญญาขึ้นมา มันแยกแยะของมัน ถ้ามันทำของมันวิปัสสนาขนาดไหนแล้วมันปล่อย วิปัสสนานะ.. วิปัสสนาว่าความรู้แจ้ง ความรู้พิเศษ แล้วมันพิเศษที่ไหน
ถ้ามันพูดโดยปากมันก็เหมือนกับแรงงานสมอง แรงงานผู้บริหาร ๆ เขาใช้แรงงานสมอง เขาคุมนโยบาย เขาทำได้หมด แต่ไม่เป็นความจริงหรอก ไม่เป็นความจริง มันเป็นปรัชญา เป็นเรื่องโลก เพราะชาวพุทธเกิดมามีกิเลสทุกคน แล้วคนมีกิเลสพูดธรรมะโดยกิเลส กิเลสมันชอบใจ
มันเป็นปรัชญา มันฟังแล้วมันซึ้งใจ มันดูดดื่ม..มันดูดดื่มโดยกิเลสไง ดูดดื่มโดยความเป็นทาสไง อวิชชามันครอบงำหัวใจอยู่ไง สิ่งนี้ความเป็นทาส เวลาพูดๆ สิ่งที่เป็นของแสลง สิ่งที่กิเลสมันชอบ โอ้โฮ.. ดูดดื่มมาก ทั้งๆ ที่พูดธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ
แต่พอจิตเราสงบเข้ามาโดยการประพฤติปฏิบัติ โดยที่มีครูบาอาจารย์คอยชี้นำเรา พอจิตเราสงบแล้วเราออกใช้ปัญญา ถ้ามีการออกใช้ปัญญาของเรา ปัญญานี้มีถิ่นกำเนิด
ถิ่นกำเนิด ! ดูสิ ความเป็นไทย ชนชาติใด วัฒนธรรมใด เขาจะภูมิใจในชนชาติของเขา ในวัฒนธรรมของเขา ชนชาติของจิต ชนชาติของเรา มันมีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก กิเลสตัณหาความทะยานอยากมันถึงเนื้อถึงตัว มันตรึกในธรรม มันประพฤติปฏิบัติ มันศึกษามามันว่าเข้าใจ
ฉะนั้น สิ่งที่ชนชาติใดสงวนรักษาสิ่งใดด้วยความผูกพัน กิเลสมันก็ผูกพันกับจิต ฉะนั้นพอเราใช้คำบริกรรม ใช้สติปัญญาเข้ามาให้มันไม่เข้าข้างตัวเองไง ชนชาติใดมันเข้าข้างกลุ่มชนนั้น กิเลสมันอยู่ในหัวใจมันยังยึดมั่นถือมั่นในความเห็นของมัน ทั้งๆ ที่เวลาศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามามันก็บวกด้วยความเห็น ด้วยชนชาติ ด้วยความเห็นแก่ตัว
ความเห็นแก่ตัว มันก็เป็นความเห็นของกิเลสไง แต่พอจิตมันสงบ เราใช้คำบริกรรม จนจิตมันเป็นไทขึ้นมา เวลาเราออกไปด้วยใช้ปัญญา ด้วยคำว่าวิปัสสนา ด้วยความรู้แจ้ง ด้วยวิปัสสนาคือความรู้แจ้ง ถ้าความรู้แจ้งที่รู้แจ้งโดยจิต ถ้าจิตมันใช้วิปัสสนา ความรู้แจ้งอย่างนี้มันจะปล่อยวาง มันจะทำให้กิเลสเริ่มคลายตัวออก
ถ้าเริ่มคลายตัวออกมันเลยเป็นความมหัศจรรย์ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เวลาจิตมันเป็นอย่างนี้มันจะมีความมหัศจรรย์ พอความมหัศจรรย์มันก็เข้าใจว่านี่เป็นธรรม ! นี่เป็นธรรม ! พอมันว่านี่เป็นธรรมเพราะอะไร เพราะจิตมันอ่อนแอ เพราะการประพฤติปฏิบัติของเรามันอ่อนแอ เพราะจิตของเรา วุฒิภาวะของจิตมันยังไม่เข้มแข็งพอ อินทรีย์ไม่แก่กล้า ความเป็นไปมันก็ว่าสิ่งนี้เป็นธรรม
พอว่าสิ่งนี้เป็นธรรมมันก็ติดไง พอว่าสิ่งนี้เป็นธรรมๆ มันก็ปล่อยหมด มันติดตรงนี้ พอติดตรงนี้ขึ้นไป.. โลกนี้สิ่งใดเป็นอนิจจังสิ่งนั้นเป็นทุกข์.. สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นเป็นอนัตตา..
มันเป็นอนิจจัง สิ่งที่ว่าเป็นธรรมๆ มันก็เป็นอนิจจัง มันก็เปลี่ยนแปลงของมันตลอด ถ้ามันเปลี่ยนแปลงของมัน.. เพียงแต่ว่าถ้ามันเป็นทาส กิเลสมันขี่หัวอยู่ ความเปลี่ยนแปลงมันก็เข้าข้างตัวมันเอง มันเป็นอย่างนี้เอง ธรรมก็เป็นอย่างนี้ มันก็รู้แล้ว มันก็ปล่อยวางแล้ว
ดูสิ เพราะว่ากิเลสเราเป็นทาสของมัน มันก็ยังคิดว่าเราวิปัสสนาแล้วนะ เรามีสัมมาสมาธิจนจิตเราเป็นไทชั่วคราว แล้วเราใช้ปัญญาของเราใคร่ครวญของเราไปแล้ว แล้วมันก็ปล่อยวางจริงๆ เป็นตทังคปหาน มันปล่อยวางชั่วคราวเป็นกุปปธรรม มันยังไม่เป็นอกุปปธรรม
สัพเพ ธัมมา อนัตตา.. สภาวธรรมเป็นอนัตตา !
แม้แต่ความเป็นไปก็เป็นอนัตตา ความรู้ก็เป็นอนัตตา สิ่งที่รู้ขึ้นมามันก็ยังแปรสภาพของมัน มันก็ยังเป็นอนัตตา ! แต่มันยังไม่ถึงที่สุดใช่ไหม แต่ถ้าเรามีครูบาอาจารย์ของเรานะ ครูบาอาจารย์บอกว่าให้ซ้ำ..! ให้ซ้ำคือว่าให้ทำความสงบของใจเข้ามาให้มากขึ้นไปกว่านั้น
เพราะถ้าทำความสงบของใจเข้ามาให้มากขึ้นไปกว่านั้น เพราะเหตุใด เพราะว่ากิเลส เวลามีโรคภัยไข้เจ็บเราให้ยาแล้ว ถ้ามันดื้อยาเราก็ต้องให้ยามากไปกว่านั้น กิเลส ! พอเราทำใจของเราจนเป็นไทขึ้นมาแล้วเป็นสัมมาสมาธิ แล้วออกวิปัสสนา ออกใช้ปัญญา มันได้ต่อสู้กับกิเลส
กิเลส ! กิเลสมันเป็นอนุสัย มันเกิดมาจากจิต มันอยู่กับจิตของเรา มันเป็นชุมชนของกิเลส แล้วชุมชนของกิเลสมันก็แฝงตัวอยู่กับใจของเรา ถ้ามันแฝงตัวอยู่กับใจของเรา เวลาเราใช้ปัญญาวิปัสสนา มันปล่อยวางขนาดไหน มันปล่อยวาง.. มันปล่อยวาง.. แต่ยังไม่สิ้นสุดของมัน ไม่สิ้นสุดของมันๆ ก็หลอกลวงเพื่อความเป็นที่อยู่ของมันไง เพื่อให้ใจนี้เป็นเรือนของมัน ให้ใจนี้ยังเป็นกุปปธรรม เป็นสัพเพ ธัมมา อนัตตา มันก็เป็นอนัตตา มันก็มีความเปลี่ยนแปลง แต่มันไม่ถึงที่สิ้นสุดขบวนการของธรรม
ถ้ามันสิ้นสุดขบวนการของธรรมนะ ครูบาอาจารย์ท่านมีครูบาอาจารย์อยู่ ครูบาอาจารย์บอกว่า ให้ซ้ำนะ ! ทำความสงบของใจให้มั่นคง แล้วออกไปใช้ปัญญาใคร่ครวญมันให้ชัดเจน
ความชัดเจน ! เวลาพุทโธก็ พุทโธชัดๆ ! ชัดเจนออกมาด้วยความพุทโธ ด้วยการทำงาน ด้วยสติ ด้วยปัญญา ทีนี้ด้วยปัญญาก็ด้วยความชัดเจน ด้วยความมุ่งมั่น ด้วยความเพียรชอบขึ้นมา มันต้องสงบเข้ามาได้ ฉะนั้นเวลาพอสงบเข้ามาแล้วเราออกใช้ปัญญาเพื่อวิปัสสนา
ถ้าออกใช้ปัญญาเพื่อวิปัสสนามันก็ต้องชัดเจน ! ชัดเจนด้วยการทำสมาธิตั้งมั่น .. แล้วเราออกไปวิปัสสนาด้วยสติปัญญาที่ชัดเจน ถ้ามันชัดเจนของมัน มันมีปัญญาของมัน กิเลสสู้ไม่ได้ กิเลสกลัวความจริง กิเลสกลัวสัมมาสมาธิ กิเลสกลัวปัญญาที่เกิดจากความเป็นไทของใจนี้
ถ้าใจนี้มันเป็นไทขึ้นมาด้วยความสะอาดบริสุทธิ์ ด้วยการกลั่นกรองที่บริสุทธิ์ มันจะออกใช้ปัญญาใคร่ครวญบ่อยครั้งเข้า ความซ้ำ ! ซ้ำคือซ้ำอย่างนี้ไง ซ้ำว่ามันปล่อยวางมาขนาดไหน มันปล่อยวางมาแล้ว มันทำมาแล้ว เพราะว่าเราทำมาด้วยกำลังของเราเอง เราก็รู้อยู่
มันรู้อยู่ขนาดไหน แต่มันเป็นกุปปธรรม สัพเพ ธัมมา อนัตตา สภาวธรรมที่มันกำลังก้าวเดินกันอยู่ สภาวธรรมที่มันเกิดขึ้นมาแล้ว เพราะความจริง สภาวธรรม ! สภาวธรรม ! มันไม่ใช่ธรรม
สภาวธรรมคือสิ่งที่สติปัญญา สิ่งที่การกระทำมันเริ่มเคลื่อนตัว มรรคญาณมันเกิด ปัญญามันเกิด ธรรมจักรมันเกิด ถ้าจักรมันเกิดแล้วมันหมุนเข้ามาในหัวใจของเรา มันจะชำระล้างหัวใจของเราให้มันสะอาดบริสุทธิ์บ่อยครั้งเข้า
ความสะอาดบริสุทธิ์บ่อยครั้งเข้า เวไนยสัตว์ในบัว ๔ เหล่า เวไนยสัตว์ ! ทำซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ ใคร่ครวญบ่อยครั้งเข้า ใช้ปัญญาบ่อยครั้งเข้า มันปล่อยบ่อยครั้งเข้า ตทังคปหาน ! ปล่อย.. ปล่อยก็มีความสุข ความสุขอันนี้สำคัญ เพราะมีความสุข
ถ้าสติปัญญามันอ่อนแอ ได้ขั้นได้ตอนนะ มันเป็นธรรม.. เป็นธรรม.. สภาวะไม่ใช่ธรรม ! เพราะสภาวะยังเปลี่ยนแปลง ถ้าไม่มีสภาวะเลย เราจะรู้ได้อย่างไรว่าอะไรเป็นอะไร ถ้าไม่มีสภาวะเลย ไม่มีการเปลี่ยนแปลง เราจะรู้ได้อย่างไรว่าอะไรถูกอะไรผิด อะไรเป็นกิเลส อะไรเป็นธรรม เพราะการกระทำมันเป็นกิเลส เราเป็นขี้ข้ามัน กิเลสมันคุมหัวใจเราอยู่แล้ว
แต่ในการกระทำของเราขึ้นมา เพราะเราเกิดมาพบพระพุทธศาสนา เราเกิดมาด้วยบุญกุศล เราเกิดมาด้วยกำลัง ด้วยอำนาจวาสนา ด้วยความจริงจังของเรา เราถึงได้กระทำของเรา เราพิสูจน์ตรวจสอบธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เป็นศาสดาของเรา แล้วเราประพฤติปฏิบัติของเรา มันพิสูจน์ตรวจสอบขึ้นมาจนมันเป็นสติ เราก็รู้ว่าเป็นสติ มันเป็นสมาธิเราก็รู้ว่าเป็นสมาธิ
พอเป็นสมาธิขึ้นมา พอออกใช้ปัญญาขบวนการมันก็ครบ ศีล สมาธิ ปัญญา มันก็เกิดมรรคญาณ พอเกิดมรรคญาณเรากำลังตรวจสอบอยู่นี้ เรากระทำกันอยู่นี้ มันใช้ปัญญามากขนาดไหน เราก็ต้องมีการกระทำบ่อยครั้งเข้า.. บ่อยครั้งเข้า..
ความละเอียดลึกซึ้ง การกระทำของมัน เราต้องตั้งสติว่า ขณะผู้ที่ประพฤติปฏิบัติสติจะดีมาก สติจะดี ปัญญาจะดี จะดีขนาดไหนกิเลสมันเป็นเจ้าวัฏจักร มันควบคุมหัวใจนี้มานมนาน มันไม่ปล่อยให้เราไปสะดวกสบายแน่นอน
ในการประพฤติปฏิบัติของเรา ความสะดวกสบายเป็นไปไม่ได้ ! ความสะดวกสบายมันเป็นชนชาติใด ชนกลุ่มใด มันต้องภูมิใจในชนกลุ่มนั้น ถ้าความสะดวกสบายมันเป็นกิริยา มันเป็นความชอบใจของกิเลส กิเลสมันต้องการความมักง่าย กิเลสมันต้องการสุกเอาเผากิน กิเลสมันต้องการให้สิ่งใดได้มาด้วยการชุบมือเปิบ กิเลสมันชอบของมันอยู่แล้ว
แล้วเราทำสิ่งใดไม่เข้ากับกิเลส เข้ากับชนกลุ่มใด เข้ากับความชอบธรรมของกิเลส มันไม่มีความชอบธรรมของธรรมไง ถ้ามันความชอบธรรมของธรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าความเพียรชอบ มีสติปัญญาขึ้นมา ความชอบธรรมของธรรม
ถ้าเราเอาความชอบธรรมของธรรม เรามีความวิริยะอุตสาหะ เพื่อเป็นความชอบธรรมของธรรม มันไม่ใช่กิเลสหรอก เขาบอกมันเป็นการทำด้วยความอยาก คนเรามีความอยากทำอย่างนี้ มันจะไม่เป็นมัชฌิมาปฏิปทา อันนี้เป็นความเห็นของกิเลสทั้งนั้น เป็นความเห็นของโลก โลกพูดไป โลกพูดขนาดไหน คนโง่พูด
คนโง่กับคนฉลาดจะเชื่อใคร.. ในเมื่อคนฉลาดคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้ที่วางธรรมและวินัยไว้นี่เอง แล้วครูบาอาจารย์ของเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมาก็ตรวจสอบ.. ตรวจสอบ.. จนมันเป็นขึ้นมา เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโกในใจครูบาอาจารย์ของเรา ถ้าครูบาอาจารย์ของเราท่านได้พยานหลักฐานขึ้นมาจากการกระทำของท่าน ท่านได้พิสูจน์ตรวจสอบของท่านมาแล้ว
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพ้นจากความเป็นทาสมาเป็นไทโดยตลอด จนฆ่ากิเลส ปลดเปลื้องหมดเลย เลิกกิเลสตัณหาความทะยานอยากในหัวใจทั้งหมดเลย แล้วครูบาอาจารย์ประพฤติปฏิบัติขึ้นมาด้วยความมุมานะ ด้วยการไปพิสูจน์ตรวจสอบก็มีผลงานขึ้นมา แล้วเราก็มีครูบาอาจารย์ของเรา
ทีนี้ครูบาอาจารย์ของเราเป็นผู้ชี้นำของเรา แล้วปฏิบัติมาขนาดไหน เราก็มั่นใจของเรานี่แหละว่าเราถูกต้อง แต่ชนกลุ่มใดในเมื่อยังมีกิเลสตัณหาความทะยานอยากอยู่ มันต้องเข้าข้างตัวมันเองเป็นเรื่องธรรมดา ทีนี้เรื่องธรรมดา.. ธรรมดาของมันนะ แต่ไม่ได้ธรรมดาของเรา เพราะเข้าข้างเราก็ต้องเป็นความจริงสิ แต่มันเป็นธรรมดาของมัน
ธรรมดาของมันคืออนุสัยไง ธรรมดาคือธรรมชาติ ! ธรรมชาติของกิเลส ! กิเลสมันมาพร้อมกับใจ มันควบคุมใจมาอย่างนั้นแล้ว มันธรรมชาติกับกิเลสมันมาด้วยกัน แล้วเราจะไปแยกมันได้อย่างไร ถ้าเรามีปัญญาของเรา เราแยกแยะของเรา การกระทำซ้ำของเรา การวิปัสสนา การแยกแยะของเรา มันเป็นคุณสมบัติของเรานะ
คุณสมบัติของธรรม คุณสมบัติทางการกระทำ คุณสมบัติของสติปัญญา มีสติมีปัญญา มีสัมมาสมาธิขึ้นมา คุณสมบัติของธรรม นี่ไง มรรคญาณ ! ธรรมจักร ! จักรที่มันเคลื่อน ! ปัญญาที่มันเคลื่อน กิจญาณ สัจญาณ มันเกิดที่นี่
ถ้ามันเกิดที่นี่ มีการกระทำนี่ มันทำขนาดไหน มันปล่อยวางขนาดไหน ต้องทำอย่างเดียวๆ มันอยู่ที่อำนาจวาสนาของคน ขิปปาภิญญา ทำหนเดียวผ่านได้ แต่อย่างเราเป็นเวไนยสัตว์ ถูลู่ถูกัง แล้วครูบาอาจารย์ถ้ามีอำนาจวาสนา ครูบาอาจารย์ของเรานะ แม้แต่ประพฤติปฏิบัติกันมาถ้ามันเป็นความจริงก็รู้ขึ้นมาในใจ
เพราะว่า พิจารณากาย... กายเป็นกาย.. จิตเป็นจิต.. ทุกข์เป็นทุกข์.. พิจารณาเวทนา เราไม่ใช่เวทนา เวทนาไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เวทนา จิต.. จิตเศร้าหมอง จิตผ่องใส จิตมีทุกข์มากน้อยขนาดไหน พิจารณาธรรม ธรรมอารมณ์ อารมณ์กับธรรมะ ธรรมะที่เกิดขึ้นมาจากใจ มันเป็นปัญญา ปัญญาวิมุติ พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ ถึงที่สุดแล้วมันมีขบวนการของมัน.. กายเป็นกาย.. จิตเป็นจิต.. ทุกข์เป็นทุกข์.. นี่มันขาด ! เวลามันขาด นี่ไงกุปปธรรมและ อกุปปธรรมมันเกิดตรงนี้นะ
กุปปธรรม ! สัพเพ ธัมมา อนัตตา สภาวธรรมเป็นอนัตตา นิพพานก็เป็นอนัตตา ทุกอย่างเป็นอนัตตาหมดเลย นี่มันเป็นตรรกะ ! มันเป็นธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยกิเลสมันขี่หัวอยู่ เราเป็นทาสนะ เราเป็นทาสกิเลส !
ทีนี้กิเลสมันขี่หัวอยู่ มันต้องคิดโดยกิเลส กิเลสมันไม่ให้คิด มันไม่ให้เรารู้จริงหรอก ถ้ามีกิเลสขี่หัวอยู่นะ กิเลสมันครอบงำอยู่นะ เราจะเห็นสัจธรรมตามความเป็นจริงไม่ได้ ! ไม่ได้ ! เพราะเราเป็นทาสของกิเลส มันจะเห็นตามความเป็นจริงไม่ได้เลย
เพราะเรามีอำนาจวาสนา เราต้องมั่นใจว่าเรามีอำนาจวาสนา เราคิดไกลได้ เราคิดถึงการพ้นทุกข์ได้ เรากระทำของเราได้ แล้วเรามีความเพียร มีความวิริยะ มีความอุตสาหะ แล้วเรามีการขยันหมั่นเพียร เราประพฤติปฏิบัติของเราเข้ามา นี่ปริยัติ ปฏิบัติ !
มันเป็นการปฏิบัติของเราขึ้นมา มันเป็นจากใจดวงนี้ ใจดวงที่เป็นขี้ข้า เป็นทาสอยู่นี้ เพราะมันเป็นทาส มันเกิดมาเป็นมนุษย์ มันมีความเพียร มีวิริยะมีความอุตสาหะ มีความตะเกียกตะกาย มีการกระทำ มีการพิสูจน์ธรรมและวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำจนมันเป็นสัจธรรมขึ้นมาในหัวใจ มันเกิดมรรคญาณ เกิดความเป็นไป
ถึงที่สุดมันพิจารณา กายเป็นกาย.. จิตเป็นจิต.. ทุกข์เป็นทุกข์.. ถึงที่สุด มันขาด ! สังโยชน์มันขาด ! อกุปปธรรมไม่ใช่สภาวธรรม
สภาวธรรมคืออารมณ์ สภาวะความเปลี่ยนแปลง ธรรมะ ! อกุปปธรรม อฐานะไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่มีการถดถอยมา นี่ไงถึงว่าโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี มันเป็นธรรม เป็นสภาวธรรมที่แท้จริง ไม่ใช่สภาวะ คำว่าสภาวธรรมๆ นั้นยังเป็นอนิจจัง มันยังเป็นการฝึกฝน เป็นการที่ว่า สัพเพ ธัมมา อนัตตา
สัพเพ ธัมมา อนัตตา ความเป็นอนัตตาของมัน ความเปลี่ยนแปลงของมันๆ เปลี่ยนแปลงทางดีก็ได้ เปลี่ยนแปลงทางชั่วก็ได้ สิ่งนี้เปลี่ยนแปลงทางชั่ว มันก็เปลี่ยนแปลง มันก็เป็นอนัตตาเหมือนกัน ความชั่วก็เป็นอนัตตาเพราะมันไม่มีอะไรคงที่ มันก็เป็นอนัตตาเหมือนกัน แต่อนัตตาโดยอกุศลไง
แต่ถ้าเป็นกุศล ความเป็นอนัตตาใครเห็นอนัตตาล่ะ.. นี่ไง จิตมันกลั่นออกมาจากอริยสัจ จิตมันเป็นผู้กระทำ จิตมันเป็นผู้รู้ จิตมันเป็นผู้เห็น จิตมันก็พ้นจากความเป็นทาส มันเป็นขั้นตอนมา มันพ้นจากความเป็นทาส
เราจะเลิกทาสกันนะ สมเด็จพระปิยะฯ เลิกทาสมา ๑๐๐ ปีแล้ว เราว่าเราเลิกทาส เราภูมิใจนะ ว่าเราเกิดมานี่เป็นประเทศชาติที่เจริญ เราเกิดมาแล้วมีสิทธิเสรีภาพ แต่หัวใจยังไม่มีสิทธิเสรีภาพ หัวใจมันยังโดนอวิชชาครอบงำอยู่ อวิชชาครอบงำ ! โดนกิเลสตัณหาทะยานอยากครอบงำเราอยู่
พุทธศาสนา ! พุทธศาสนาสอนถึงที่สุดแห่งทุกข์ พุทธศาสนาสอนถึงความเป็นอิสรภาพ ถ้ามีอิสรภาพนะ ภราดรภาพต่างๆ เกิดขึ้นมาจากการกระทำของเรา เราทำตัวของเราเอง เวลาเราเกิดขึ้นมาเราทำตัวของเราเองทั้งนั้น เรามีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก เราถึงได้เกิดได้ตาย พอเกิดตายขึ้นมาเราก็มา เราเกิดเราตายด้วยบาปบุญกุศล เราก็ยังทำต่อเนื่องกันไป
ในปัจจุบันนี้ เราจะไม่ไปไหนอีกแล้ว เราจะประพฤติปฏิบัติของเรา เราจะทำคุณงามความดีของเรา ในเมื่อหน้าที่อาชีพการงานนั่นก็เป็นหน้าที่การงาน อันนี้คืออาชีพการงาน เราก็ทำเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง แต่ถ้าหัวใจของเรา เราจะเลี้ยงหัวใจของเราให้มันมั่นคงขึ้นมา
ถ้าหัวใจของเรามันมั่นคงขึ้นมา เราทำคุณงามความดีของเราขึ้นมา ทำความเป็นจริงขึ้นมา แล้วมันละเอียดของมันขึ้นมา ดูสิ เวลาคนประพฤติปฏิบัติ มันจะไม่ไปไหนหรอก มีแต่เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนาเท่านั้น เพียงแต่ว่าจะเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนาด้วยสติปัญญา หรือจะเดินด้วยกิเลสตัณหา
กิเลสตัณหา ! เดินด้วยกิเลสตัณหา เดินด้วยรูปแบบ พ้นจากรูปแบบนั้นไปไม่ได้ การเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนามันเป็นกิริยา ความว่าเป็นกิริยานะ แต่ถ้ามีสติขึ้นมามีปัญญาขึ้นมา คำว่ากิริยา.. ถ้ามีสติปัญญา มีการกระทำขึ้นมา มันจะย้อนกลับไปสู่ใจ
ถ้าย้อนกลับไปสู่ใจได้ การย้อนกลับไปสู่ใจ ดูสิ ดูคนผู้ที่มีความชำนาญของเขา เขาชำนาญการของเขา เขาทำอะไรด้วยความสะดวกสบายทั้งนั้นเลย แต่ถ้าเราไม่ชำนาญการ เราไม่รู้ของเราขึ้นมา เราเป็นกิริยาเฉยๆ ทำรูปแบบให้เหมือนเขา แต่เราไม่ใช่ผู้ชำนาญการ มันจะทำงานไม่ประสบความสำเร็จหรอก
นี่ก็เหมือนกัน การเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา มันเหมือนกัน แต่ถ้าทำไปแล้ว เพราะการทำไป เพราะการทำจิตมันมีระหว่างไง ระหว่างจิตที่มันพัฒนาขึ้นไป ถ้าจิตพัฒนาขึ้นไปแล้ว เราจะรักษาจิตนี้อย่างไร กิริยาข้างนอกมันจะฟ้องถึงว่า การกระทำมันจะรักษาอย่างไร
เหมือนร่างกายเราเลย ถ้าร่างกายอ่อนแอก็ยกของหนักไม่ได้ ถ้าร่างกายเข้มแข็งขึ้นมาก็ยกของหนักได้ จิตที่มันเป็นสัมมาสมาธิ จิตที่มีหลักมีเกณฑ์ของมัน กิริยาที่แสดงออกมา มันแสดงออกมาจากจิต จิตมันจะมีกำลังของมันขึ้นมา ทำโดยกิริยาของเขาแบบเขาไม่ได้ มันแสดงออกตามกำลัง เต็มกำลังของมันเลย
ถ้ามันแสดงออกตามกำลังของมัน มันเป็นอะไรน่ะ มันเป็นอะไร มันเป็นปัจจุบันธรรม มันเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง มันไม่ใช่ว่าเราเป็นขี้ข้าของกิเลสนะ พอเป็นขี้ข้ากิเลส ทำสิ่งใดมันจะเป็นการลุกลี้ลุกลน มันจะไม่เป็นมารยาทสังคม มันจะไม่สะดวก ไม่สวยงาม กิเลสทั้งนั้น ! ขี้ข้า !
เพราะมันเป็นขี้ข้าของกิเลส แล้วกิเลสมันครอบงำใจอยู่ ชนกลุ่มใด จิตใจใดอยู่ในอำนาจของกิเลส มันก็คิดออกมาด้วยกิเลสทั้งนั้น แต่ถ้ามันคิดออกมาโดยธรรม คือออกโดยธรรม เพราะเราจะเอาชนะกิเลส
กิเลสชอบอะไร เราจะทำตรงข้ามกับมัน มันอยากกินไม่ให้กิน มันไม่อยากทำเราจะทำ มันบอกมันจะทำตามอำนาจของกิเลส ทำด้วยกิริยา เราจะทำจริงๆ ทำให้มันเห็นดำเห็นแดง ทำให้มันรู้กันว่าสิ่งใดจริงหรือสิ่งใดไม่จริง ให้หัวใจนี้เป็นปัจจัตตัง ให้หัวใจนี้เป็นสันทิฏฐิโก
หัวใจนี้เราปฏิบัติขึ้นมาก็เพื่อหัวใจของเรา หัวใจที่มันเกิดตายๆ หัวใจที่น่าสงสาร แล้วมันก็ต้องการการบำรุงรักษา แล้วเราก็เป็นเจ้าของหัวใจของเราเอง หัวใจที่มันน่าสงสารนะ ทุกข์ๆ ยากๆ
แล้วเราก็ทำโดยกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ด้วยมารยาท ด้วยต่างๆ เหมือนเล่นละคร สมมุติซ้อนสมมุติไง ชีวิตนี้ก็สมมุตินะ ทุกข์ยากอยู่นี่ก็เกิดขึ้นมาจากผลของวัฏฏะ เกิดขึ้นมาแล้ว ยังจะต้องให้กิเลสมันครอบงำขนาดนั้นอีกเหรอ เราปฏิบัติธรรมเพื่อจะล้างมัน เราปฏิบัติธรรมเพื่อจะฆ่ากิเลส กิเลสมันชอบสิ่งใด สังคมชอบสิ่งใด เราไม่ชอบอะไรกับมัน โลกเขาชอบอย่างใด เราจะคิดแบบธรรม เราจะทะลุทะลวงให้พ้นออกไปจากสมมุติบัญญัติ
โลกเขาชอบสมมุติบัญญัติ หลอกแล้วหลอกเล่า สมมุติก็หลอกไปชั้นหนึ่ง แสดงกิริยามาก็ยังเป็นมารยาทสังคม ยังเป็นมารยาสาไถยหลอกอีกชั้นหนึ่ง แล้วเราจะปฏิบัติกันด้วยความเป็นจริง เราจะเอามารยาสาไถยนี้มาหลอกเราทำไม มารยาสาไถยนี้เป็นของโลกใช่ไหม โลกเขาจะยกย่องขนาดไหน มันเป็นเรื่องของโลกไป เราอยู่ของเรา เราจะปฏิบัติของเรา เราจะเอาตัวเราพ้นออกจากกิเลส เราจะทำความเป็นจริงของเรา
ดูสิ เวลาเขาจะตีเหล็ก เขาต้องเผามันจนเหล็กมันจะแดงขึ้นมา เขาถึงได้ตีเหล็กได้ จิตใจของเราจะเผาไฟก็ไม่ได้ จะปฏิบัติก็ไม่ได้ จะทำอะไรไม่ได้สักอย่างเลย ! เพราะอะไร เพราะว่ามันเป็นกิเลส มันไม่นุ่มนวล มันไม่เป็นมารยาสาไถยแบบเขา นี่ไง ถ้าเรายังติดอยู่ในอำนาจของกิเลส เราก็ปฏิบัติโดยบูชากิเลส ก็อยู่ในกิเลส ก็เป็นกิริยาเฉยๆ
กิริยาว่าฉันเป็นชาวพุทธนะ.. ฉันก็ได้ปฏิบัติธรรมนะ.. ปฏิบัติธรรมแล้วเป็นคนดีนะ..
มันพ้นจากอำนาจกิเลสแม้แต่นิดหนึ่งไหม... แต่ถ้าเราทำของเราจะทำให้เราพ้นจากกิเลส กิเลสมันชอบสิ่งใด ไม่ทำตามสิ่งนั้น ความเป็นกระทำ กระทำขึ้นมาให้มันเป็นความจริงขึ้นมา ถ้าเป็นความจริงขึ้นมาแล้วมันอยู่ไหนก็อยู่ได้ จะอยู่ด้วยกิริยาอย่างใดมันก็แค่กิริยาเฉยๆ
สอุปาทิเสสนิพพาน พระอรหันต์ที่สิ้นกิเลสแล้ว มันไม่มีกิเลส มันเป็นกิริยา มันเป็นเรื่องนามธรรม มันเป็นเรื่องสิ่งที่ไม่มีเป้า ถ้าเรามีกิเลสอยู่ กิเลสของเรา ความเห็นของเรา นี่ไง มันมีเป้าไง มันมีที่หมายของมัน
เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา ความดำริ ความคิด ความมีภพ มีสถานที่ มารมันหัวเราะเยาะทั้งนั้น บ้านของมัน มันเกิดมันตายพร้อมกับหัวใจนี้ ภาวสวะ ภพ ปฏิสนธิจิต มันเกิดมันตายมาพร้อมกับกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันเกิดมากี่ภพกี่ชาติ
ดูสิ เวลาย้อนอดีตชาติไป องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บุพเพนิวาสานุสติญาณ ไม่มีต้นไม่มีปลาย มันเกิดตายๆๆๆ มันขี่หัวมาตลอดไม่รู้กี่ภพกี่ชาติ แล้วจะพ้นจากมันไป มันเป็นไปได้อย่างไร เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา เยาะเย้ยมัน ถากถางมาร จนมารเจ็บปวดมาก
สุดท้ายเรื่องมาร.. พญามาร มันก็เป็นผลของวัฏฏะนะ เทพ ! เทพฝ่ายดี เทพฝ่ายมาร เวลาเกิดขึ้นความคิดความเห็นต่างๆ อันนั้นเป็นเรื่องจริงอันหนึ่งนะ เรื่องผลของวัฏฏะอันหนึ่ง แต่ขณะที่เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ผลของวัฏฏะ ! เราเคยเกิดเคยตาย เราเป็นเทพเป็นมารมามหาศาลแล้ว นี่ขณะที่เราเกิดในภพในชาตินะ
แต่ในการประพฤติปฏิบัติขึ้นมา มันจะเป็นเทพเป็นมารในหัวใจของเราล่ะ มันจะเป็นฝ่ายเทพหรือฝ่ายมาร เวลาปฏิบัติขึ้นมา มันจะเป็นมารหรือเป็นเทพ ถ้าเป็นเทพขึ้นมา ถ้าวันไหนเป็นเทพขึ้นมา เราทำปฏิบัติมาด้วยความยิ้มย่องผ่องใส สิ่งใดสะดวกจะปฏิบัติโดยสมความปรารถนา
ถ้าวันไหนเป็นมารนะ ล้มลุกคลุกคลาน มันมีมาอย่างนี้ มันมีมาในหัวใจของเราตลอด ถ้ามันมีมาในหัวใจของเราตลอด เราจะต้องเข้มแข็ง เราต้องทำตามความเป็นจริงของเรา ถ้าเราทำตามความเป็นจริงของเรา เรามีศาสดา มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีครูบาอาจารย์ของเราเป็นแบบอย่าง
เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปฏิบัติ ๖ ปี เวลาออกมาปฏิบัติ ไม่มีครูไม่มีอาจารย์นะ แต่เพราะเป็นบุญญาธิการตรัสรู้เองโดยชอบ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสร้างสมบุญญาธิการมาแล้วก็ถูกต้อง..
แต่เอามาเปรียบเทียบเป็นคติสิ เป็นคติเป็นตัวอย่างให้หัวใจเราเข้มแข็ง ถ้าเราไม่มีคติ ไม่มีตัวอย่างเลย ไม่มีแบบอย่างสิ่งใดเลยเหรอ ดูนะ เวลาพระกัสสปะ เป็นพระอรหันต์เหมือนกัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถามนะ
กัสสปะเอย ! เธออายุก็อายุ ๘๐ เหมือนเรา เธอก็เป็นพระอรหันต์แล้ว ไม่มีกิเลสในหัวใจเลย ทำไมต้องทำตัวแบบนี้ล่ะ ทำไมต้องถือธุดงควัตร ทำไมต้องถือผ้า ๓ ผืน ทำไมถือผ้าบังสุกุลอย่างนี้
ข้าพเจ้าถือไว้เป็นคติแบบอย่างให้กับอนุชนรุ่นหลัง
ท่านไม่ได้ทำเพื่อตัวท่านเองเลย ท่านทำไว้ให้อนุชนรุ่นหลัง จะได้ถือเป็นคติแบบอย่าง ให้ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติมันมีแบบอย่างขึ้นมา เราก็ทำได้ถ้ามันมีแบบอย่าง เป็นคติแบบอย่างขึ้นมา เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา มันมีคติแบบอย่างอยู่แล้ว
ถ้ามีคติแบบอย่างอยู่แล้วเราก็ตั้งใจของเรา เราจะไม่น้อยเนื้อต่ำใจ เราจะไม่เอนเอียงไป เวลาปฏิบัติไปเดี๋ยวลุ่มๆ ดอนๆ น้อยเนื้อต่ำใจ เราไม่มีอำนาจวาสนา เราทำแล้วมีความทุกข์ความยาก คนอื่นเขาประพฤติปฏิบัติแล้ว เขาพ้นจากกิเลสไป
พ้นจากกิเลสของใคร ! เราเองเรามีวุฒิภาวะแค่ไหนว่าใครพ้นจากกิเลสหรือใครไม่พ้นจากกิเลส แต่ถ้าเราปฏิบัติเพื่อหัวใจของเรา จากใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมาด้วยใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใจทุกดวงก็เป็นอย่างนั้น แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดา พอเป็นศาสดาอำนาจวาสนาบารมี เอตทัคคะ ! องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ตั้ง แล้วเล็งญาณพุทธกิจ ๕ สิ่งต่างๆ แบบนี้มันเป็นขึ้นมาเพราะอะไร เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้สร้างมามากกว่าเรา
ฉะนั้นสิ่งที่เราทำ สาวก สาวะกะ ในพระไตรปิฎก ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย สาวก สาวะกะ คนหนึ่งแสนกัป คำว่าแสนกัปนั้น ทำความดีต่อเนื่องๆ นี่ในพระไตรปิฎกนะ ถ้าเราพูดในพระไตรปิฎก แล้วเราทำถึงแล้วเหรอ จะทำถึงหรือไม่ถึงใครรู้ได้
ถ้าไม่มีใครรู้ได้ เราประพฤติปฏิบัติของเราด้วยความเป็นจริงของเรา เราก็ต้องผ่านความทุกข์ความยากนี้ได้เหมือนกัน ถ้าผ่านความทุกข์ความยากนี้ได้เหมือนกัน ด้วยความองอาจด้วยความกล้าหาญ มันทำด้วยความพอใจนะ ถ้าใจมันพอใจทำสิ่งใดก็ประสบความสำเร็จ
ถ้าใจมันอ่อนแอ.. อ่อนแอมาตั้งแต่ต้น อ่อนแอทำอะไรก็ไม่ได้ แต่เห็นเขาทำก็จะทำตามเขา ถ้าทำตามเขา นี่ไงเราเป็นชาวพุทธ ในการประพฤติปฏิบัติกำลังมีความนิยม ก็ปฏิบัติกันว่าเราก็ได้ปฏิบัติด้วยคนหนึ่ง มันเสียเวลาไง มันทั้งเสียเวลาทั้งต่างๆ เพราะเราได้ปฏิบัติคนหนึ่ง แค่รูปแบบไง.. แต่ถ้าเราปฏิบัติแล้วเราปฏิบัติด้วยความเป็นจริง มันไม่เสียเวลานะ
เวลานั่งสมาธิ ผู้ที่หัดใหม่เวลานั่งสมาธินะ ๕ นาที ทำไมเข็มนาฬิกามันช้านัก มันไม่ไปสักที แต่พอผู้ที่ปฏิบัติขึ้นมาแล้ว.. พอปฏิบัติ ยิ่งมีความชำนาญขึ้นมาแล้ว เขาไม่ได้ปฏิบัติเพื่อ ๕ นาทีนั้น จะ ๕ นาที ๑๐ นาที เขาปฏิบัติเพื่อหัวใจไง ถ้าเราปฏิบัติเพื่อ ๕ นาที เราไปมองแต่นาฬิกา นาฬิกามันเดินช้านัก ดูหัวใจทุกข์ยากมาก ทั้งๆ ที่ ๕ นาทีก็คือ ๕ นาที มันก็ ๕ นาทีนั้น มันไม่ช้าไม่เร็วไปกว่า ๕ นาทีนั้นหรอก มันก็อยู่แค่นั้นแหละ
แต่เพราะใจไปตั้งไว้ พอตั้งไว้มันก็เป็นความทุกข์ความยาก จะต้องให้ไป นี่ไง แต่ถ้าเราปฏิบัติด้วยความชำนาญของเรา ๕ นาที หรือกี่นาทีก็แล้วแต่ ถ้าจิตมันนิ่งอยู่ เรายิ่งอยู่กับจิต เข็มมันก็เป็นอย่างนั้น นั่งแป๊บเดียว มันออกไป ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมง มันเป็นเพราะอะไร
มันเป็นเพราะผู้ปฏิบัติใหม่ มันก็ไปมองแต่รูปแบบ ไปมองแต่ข้างนอก แต่ผู้ที่ปฏิบัติของเรา เราปฏิบัติตามความเป็นจริง จริงมันจะจริงตามใจของเราขึ้นมา ถ้ามันปฏิบัติตามจริง เริ่มต้นจากมีครูบาอาจารย์ แล้วครูบาอาจารย์ก็จะพาเราไป
วันนี้วันสำคัญในทางโลก วันปิยมหาราช เลิกทาสใครเป็นคนพาเลิกล่ะ พระปิยมหาราชเป็นกษัตริย์ พาเลิกทาส พาเลิกได้ ต้องให้สังคมเห็นดีเห็นงามด้วย สังคมนั้นมันถึงจะร่มเย็นเป็นสุข
ฉะนั้น มีครูบาอาจารย์คอยชี้แนะ เราจะพาหัวใจของเราพ้นจากทาสกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ถ้าเราจะพ้นจากทาสกิเลสตัณหาความทะยานอยาก เราจะหักพร้าด้วยเข่า เราบอกว่าเรานิพพานอยู่แล้วทุกอย่างไม่มี มันจะเลิกกันไปเฉยๆ ให้กิเลสมันยอมเลิกกันไป มันเป็นไปไม่ได้หรอก
การเลิกทาสของพระปิยมหาราชยังต้องทำให้นุ่มนวลแนบเนียน เพื่อความเป็นอยู่ของสังคม ในการที่เราจะชนะใจของเราเอง แล้วใจของเรามันก็รู้ทันอยู่ตลอดเวลา มันจะเลิกทาส มันจะหักพร้าด้วยเข่าว่ามันมีอยู่แล้ว มันเป็นไปไม่ได้ !
ฉะนั้น การตั้งสติ การมีคำบริกรรม ก็ด้วยความนุ่มนวล ให้จิต ให้กิเลสตัณหาความทะยานอยากมันเห็นคล้อยตาม พอเห็นคล้อยตามให้มันเปิดโอกาสให้ใจนี้ได้ทำงาน ถ้าใจได้ทำงานเข้ามา มันเริ่มจากทำงานเป็นอิสรภาพ มีปัญญาเข้ามา ใคร่ครวญขึ้นมา เป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมานะ พิจารณาซ้ำ !
ถ้าพิจารณาใช่ไหม เป็นโสดาบัน เป็นอกุปปธรรมแล้ว ถ้าพิจารณาเข้าไป มันก็พิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม เหมือนกัน ถ้าพิจารณากาย.. สักกายทิฏฐิความเห็นผิดในกาย
ถ้าความเห็นผิดในกาย เป็นพระโสดาบัน ทิฏฐิ.. ความเห็นผิด แก้ความเห็นให้เป็นความเห็นถูกด้วยมรรคญาณ สังโยชน์มันก็ขาดไป แต่เวลาพิจารณาซ้ำเข้าไป กาย เวทนา จิต ธรรม มันจะพิจารณาเข้าไปด้วยอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นของใจ ใจมันยึดมั่นถือมั่นตัวมันเองด้วย ยึดมั่นถือมั่นร่างกายนี้ด้วย แล้ววิปัสสนาบ่อยครั้งเข้าๆ มันจะแยกออกไป กายเป็นกาย.. จิตเป็นจิต.. ทุกข์เป็นทุกข์.. นี่เป็นโสดาบัน !!
เวลาพิจารณา นี่กาย.. สภาวะของธาตุ สภาวะของร่างกาย มันคืนสู่สภาพเดิมของมัน จิตนี้จะปล่อยออกมา ความอุปาทานยึดในกายมันจะขาดไป กามราคะปฏิฆะมันอ่อนไป แล้วทำความสงบของใจให้มากขึ้น จากสติเป็นมหาสติ.. จากสมาธิเป็นมหาสมาธิ.. จากปัญญาเป็นมหาปัญญา.. เคลื่อนเข้าไปสู่กามราคะ
ความเป็นกามราคะ ความละเอียดอ่อนของใจ ใจมันละเอียดอ่อนๆ เพราะกามฉันทะมันพอใจตัวมันเอง มันก็เป็นกามโดยตัวมันเองอยู่แล้ว ดูสิ ใจมันมีกิเลสมันถึงมีอวิชชาครอบงำมันอยู่ มันถึงแสดงออกมาด้วยกิเลสตัณหาความทะยานอยากทั้งหมด ถ้าใจมันเป็นกามฉันทะอยู่แล้ว มันเป็นกามโดยตัวมันเองอยู่แล้ว พอมันคลายตัวออกมาจนถึงขันธ์ ขันธ์อย่างละเอียด ก็เพราะมันเป็นสัญญา เป็นข้อมูล เป็นปฏิฆะกามราคะ
ทีนี้ปฏิฆะกามราคะ เพราะกามฉันทะมันเป็นกามอยู่แล้ว พอออกมาถึงกามฉันทะ กามราคะมันก็เป็นกาม เป็นโอฆะ ถ้าเราพิจารณาเข้าไป มันปล่อยวางเข้ามาเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป ถึงที่สุดมันขาด ! ขันธ์อย่างละเอียดขาดไป พอขันธ์อย่างละเอียดขาดไป กามราคะปฏิฆะ สังโยชน์ขาด กามราคะปฏิฆะขาดไป
เวลาเข้าไปสู่ตัวจิต ..จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส.. จิตเดิมแท้นี้ผ่องใสเป็นรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา จิตใสๆ เป็นรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา มันตามเข้าไปๆ ด้วยความเป็นจริง ด้วยความจะพ้นจากความเป็นทาสของกิเลส สติปัญญามันจะตามเข้าไป
พอตามเข้าไปๆ ด้วยมีครูมีอาจารย์นะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดานะ มีความเป็นจริงนะ ถ้าความเป็นจริงเข้าไปจนถึงที่สุดของมัน ขบวนการของมันสิ้นสุด มันพลิกฟ้าคว่ำดินนะ ! พอพลิกฟ้าคว่ำดิน นี่ไง ความพ้นแล้วเป็นธรรมธาตุ !
ถ้าความเป็นจิต เป็นภพ ถ้ามีจิต มีภพ ถ้ามีภพ ก็มีอวิชชา อวิชชามันอาศัยบ้านเราเป็นที่อยู่ ถ้าเราทำความสะอาดหมด ไม่มีภพ.. ไม่มีภพแล้วธรรมธาตุมันอยู่ที่ไหน ไม่มีภพนิพพานมันอยู่ที่ไหน ไม่มีภพวิมุตติมันอยู่ที่ไหน นี่ไง ความพ้นจากความเป็นทาส ! ถ้าจิตมันพ้นจากความเป็นทาส
โลกเขาเลิกทาสกันแล้ว เรากำลังประพฤติปฏิบัติกันอยู่ เราจะทำให้ใจเราพ้นจากความเป็นทาส ทาสของกิเลส ! ทาสของตัณหาความทะยานอยากให้มันเป็นไท เป็นความสมบูรณ์ ให้เป็นชาวพุทธด้วยความสมบูรณ์ ให้เป็นชาวพุทธ เป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส เป็นลูกศิษย์ เป็นธรรมทายาทขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยความสมบูรณ์ เอวัง