เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๕ ต.ค. ๒๕๕๓

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๕๓
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นความจริง ! เป็นของจริงที่ประเสริฐ จะไม่มีใครแก้ไขได้ จะไม่มีใครบิดเบือนได้ ถ้าใครบิดเบือนนะ คนๆ นั้นมันจะห่างออกไปจากศาสนาเอง แล้วห่างออกไปจากศาสนา ก็คิดว่าตัวเองเข้าถึงสัจธรรมเป็นไปไม่ได้หรอก !

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติธรรมวินัยไว้ เวลาเราบวช เห็นไหม จตุตถกรรม.. นี่เราบวชมาโดยญัตติจตุตถกรรมขึ้นมาเป็นสงฆ์ เป็นสงฆ์นี้เป็นสมมุติทั้งนั้นแหละ ! สมมุติเพราะอะไร มันจริงตามสมมุติไง.. ถ้ามันไม่จริงตามสมมุตินะ เวลาเราเข้าสังฆกรรมนี่ สังฆกรรมเป็นโมฆะหมดเลย

ฉะนั้นเวลาบวช เห็นไหม แม้แต่อุปัชฌาย์ นี่วิบัติ ๔ ! อุปัชฌาย์วิบัติ.. กรรมวาจาวิบัติ.. อักขระวิบัติ.. สีมาวิบัติ.. บวชมานี้เป็นพระไหม.. เป็น ! เป็นพระ แต่ถ้าเรารู้วันไหนว่าอุปัชฌาย์เรา.. เราสงสัยในอุปัชฌาย์เรา เราขาดจากพระทันทีเลย เพราะอะไร เพราะบวชมาแล้วมันต้องทำสังฆกรรม ! มันเหมือนกับส.ส. เข้าประชุมในสภาไง แล้วถ้าส.ส. ไม่ได้รับการรับรอง กฎหมายนั้นใช้ได้ไหม กฎหมายมันใช้ไม่ได้หรอก แต่ถ้ากฎหมายจะใช้ได้ มันต้องมีการโหวต คะแนนเสียงนั้นต้องสะอาดบริสุทธิ์ แล้วสะอาดบริสุทธิ์มันต้องมี เห็นไหม นี้เวลาเราเข้าสังฆกรรมนี้ก็เหมือนกัน

ฉะนั้นเวลาบวชมาแล้วเป็นพระไหม... เป็น ! ถ้าไม่เป็นพระเวลาทำสังฆกรรมแล้วมันมีความเสียหาย ฉะนั้นถ้ามันเป็นพระมาแล้ว เห็นไหม ถ้าเราเป็นพระมาแล้ว การศึกษา.. ความเป็นไปนี้มันจะเป็นจริงหรือไม่จริงล่ะ นี่มันอยู่ที่กึ๋นไง !

เวลาเราบวชมาแล้ว เราก็ได้ฉายามาแล้วนะ ดูสิ หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน.. “ญาณสัมปันโน” นี่อุปัชฌาย์ตั้งให้ ! พ่อแม่ตั้งให้แล้ว ทำไมเรายังต้องมีนิกเนมใหม่อีกล่ะ ชื่อนู้น ชื่อนี้ ไอ้พวกนี้หากินทั้งนั้นแหละ ! ในเมื่อพ่อแม่เราตั้งชื่อให้แล้ว มันจะไปไหนล่ะ ไอ้พวกที่มีชื่อแปลกๆ ชื่ออะไรนั่นล่ะ ! นั่นล่ะ ! มันจะแถแล้วล่ะ ถ้ามันจะแถออกไปเพราะอะไร เพราะมันไม่ทำตามธรรมวินัยไง

ถ้าทำตามธรรมวินัยแล้วนี่ ถ้ามันทำตามวินัยไปแล้วมันไม่เสียหายหรอก นี้เพียงแต่เรานี่มันเหมือนเด็กไง ประสบการณ์เด็ก เห็นไหม เหมือนเรานี่นะเป็นสามล้อถูกหวย พอไปเจอเงินก้อนหนึ่ง เงินของใครตกอยู่นี่ อู้ฮู.. ดีอกดีใจนะ นี่สามล้อถูกหวย

นี่ก็เหมือนกัน พอเราไปศึกษาธรรมะ อู้ฮู.. นู้นก็สุดยอด นี่ก็สุดยอด ยังอีกไกลนัก.. ยังอีกไกลนักกว่าที่จิตใจเราจะเป็นธรรม จิตใจเรากว่าจะเข้าสู่สัจธรรมนะ เวลาศึกษาขึ้นมาขนพองสยองเกล้านะ ขนลุกขนพองนะ อ่านธรรมะนี่ขนลุกขนพองหมดเลย เพราะอะไร.. มันสะเทือนหัวใจ

ไอ้ขนลุกขนพองแล้วตัวเราล่ะ ตัวเราขนลุกขนพอง.. ก็ขนไง ! มันไม่ใช่ตัว มันไม่ใช่จิตไง พอจะเข้าถึงตัวนะ ขนลุกขนพองนั้นเป็นอาการความรู้สึก แต่พอจะเข้าไปถึงตัวของจิต แล้วเราจะไปแก้ไขจิตเราอย่างไร พอเราแก้ไขจิตเราอย่างไร เห็นไหม พอเราทำสิ่งใดไป ครูบาอาจารย์ของเรา.. เขาบอกเขาว่านี่พุทธพจน์ๆ อ้างพุทธพจน์ ! แล้วเราไปคัดค้านนี่รับไม่ได้เลย.. รับไม่ได้เลย

มันไม่ได้ค้านพุทธพจน์ ! พุทธพจน์ก็คือพุทธพจน์ใช่ไหม แต่เราทำได้จริงหรือเปล่าล่ะ.. มันไม่ได้ค้านพุทธพจน์ เพียงแต่ถ้าเราเข้าไปถึงความจริงอันนั้น มันลึกซึ้งกว่า

เวลาครูบาอาจารย์ของเราปฏิบัติมา อย่างเช่นหลวงปู่มั่น เห็นไหม ท่านบอกว่าแม้แต่ตัวอักษรท่านยังเคารพเลย เพราะตัวอักษรเป็นสื่อธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านเคารพมากนะ แต่เวลาคนที่มาพูด.. พูดด้วยกิเลสตัณหาความทะยานอยาก เห็นไหม

พูดด้วยขนพองสยองเกล้า ขน ! ขน ! ขน ! ไม่ใช่ตัวจริง เวลาพูดออกมาด้วยขน มันไม่ได้พูดออกมาด้วยเนื้อ มันไม่ได้พูดออกมาด้วยปาก มันไม่ได้พูดออกมาด้วยใจ นี่มันยังจะต้องออกมาอีกกี่ขั้นตอน เห็นไหม ฉะนั้นพอสิ่งนั้นที่อ้างกัน .. อ้างแล้วมันเป็นจริงหรือเปล่าล่ะ ถ้ามันเป็นจริงนี่มันเคารพบูชา ถ้าเคารพบูชาแล้วใจมันลงนะ

เวลาเราลงใจ เราลงพระพุทธ.. พระธรรม.. พระสงฆ์.. เราจะไม่คัดค้าน เวลามีอะไรนะ อย่างเช่นหลวงตาท่านพูด เห็นไหม “อย่าเถียงพ่อเถียงแม่ ! อย่าทำร้ายพ่อทำร้ายแม่ ! เพราะพ่อแม่นี้เป็นพ่อแม่ของเรา ถึงท่านจะผิด !”

นี่คำนี้ไง “ถึงท่านจะผิด ! ท่านก็เป็นพ่อเป็นแม่เรา”

ถึงท่านจะผิดนะ ! แล้วถ้าท่านถูกล่ะ เราไปเถียงได้ไหม.. ถึงท่านจะผิดท่านก็เป็นพ่อเป็นแม่ ความเป็นบุญคุณว่าเป็นพ่อเป็นแม่ที่ให้ชีวิตมานี้เป็นอันหนึ่ง.. ความผิดพลาดของท่านนั้นเป็นอีกอันหนึ่ง..

นี่ก็เหมือนกัน ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรามาบวชนี่ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสะอาดบริสุทธิ์ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้อันหนึ่ง.. ความเห็นของเราที่คัดค้าน เห็นไหม นู้นก็ผิด นี่ก็ผิด นี้อันหนึ่ง.. แต่เวลาครูบาอาจารย์ของเรา หลวงปู่มั่น เวลาครูบาอาจารย์ท่านประพฤติปฏิบัติไป มันเป็นเรื่องธรรมดานะ เรื่องพระไตรปิฎก เรื่องธรรมวินัยนี้ เพราะว่าอะไรรู้ไหม

การจดจารึกมา แม้แต่ทำสังคายนาครั้งแรก พระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ พอสังคายนาเสร็จนะ มีพระที่ไม่ได้เข้าสังคายนามาองค์หนึ่งก็มาบอกว่าให้ทำตามนั้นนะ นี่แค่สังคายนาเสร็จนะ เสร็จแล้วนี่ยังมีพระบอกว่าเราจะถือตามความเห็นของเรา.. เราถือตามความเห็นของเรา เห็นไหม

ความรู้ ความเห็น ความรู้สึกนี้มันละเอียดอ่อนมาก ! นี้พอมันละเอียดอ่อนมาก ความรู้ ความเห็นที่ตามความเป็นจริง แล้วพอจดจารึกมา เห็นไหม พอจดจารึกมาแล้วเกิดสงคราม เกิดการเผาผลาญ นี่พอมันทำสงคราม พอมันเผาบ้านเผาเมืองไปหมดนะ ไอ้ตำรานี้ก็ต้องจดกันใหม่.. ต้องจดกันใหม่ ความผิดพลาดนี้มันเป็นเรื่องธรรมดา เรื่องความผิดมันมีทั้งนั้นแหละ

การจดจารึกมา ๒,๐๐๐ กว่าปี เราถ่ายทอดมา.. ถ่ายทอดมา จริงๆ จะค้นคว้ากันขนาดไหนมันก็ผิดพลาดได้ ! นี้ความผิดพลาดอันนั้น เราจะเอาความผิดพลาดอันนั้นมาเป็นประเด็นให้เราลังเลสงสัย ให้เราปฏิบัติแล้วเราล้มลุกคลุกคลานหรือ

แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา นี่มันมีร่องมีรอย เห็นไหม เวลาธรรมในพระไตรปิฎกมันก็มีมาใช่ไหม มันจะผิดพลาดอย่างไร เราก็ทดสอบ เราก็ปฏิบัติของเรา ความผิดพลาดนั้นมันเป็นทฤษฏี มันเป็นตำรา เป็นเครื่องชี้มาที่ใจ.. ถ้าใจมันถูกต้อง ใจมันปฏิบัติขึ้นมาแล้ว ถ้ามันถูกต้อง เราก็รู้ว่าความผิดพลาดกับความจริงมันแตกต่างกันอย่างไร

ถ้ามันจะผิดพลาด.. ถ้ามันจะผิดพลาดนะ อันนั้นมันก็เป็นตำรา เป็นการชี้บอกใช่ไหม แล้วถ้าเราปฏิบัติขึ้นมา ถ้ามันเป็นความจริง ความจริงอันนี้มันสำคัญกว่าไหม ! ศีล สมาธิ ปัญญา ที่เกิดมาจากหัวใจ นี้มันสำคัญกว่าไหม ! แล้วถ้าเรารู้จริงขึ้นมาแล้ว มันก็แก้ไขกันแต่วงใน.. วงในที่ประพฤติปฏิบัติ !

ถ้าวงนอก.. ครูบาอาจารย์ของเราพูดเรื่องนี้มาเยอะ หลวงปู่มั่นท่านก็รู้ หลวงตาท่านก็รู้ เรื่องพระไตรปิฎกมันมีปัญหา แต่ก็เคารพบูชา เราไม่เคยคัดค้านเลย ! เราไม่เคยคัดค้าน

แต่เวลาคัดค้านคือคัดค้าน แต่คนที่อ้าง เห็นไหม บอกว่า

“ต้องสามัคคีนะ.. สามัคคีต้องสามัคคีกับกู สามัคคีกับคนอื่นไม่ได้นะ ต้องสามัคคีกับกู สามัคคีๆ นะ สามัคคีต้องให้กูเป็นผู้นำ.. สามัคคีนะ”

สามัคคีผลประโยชน์ไง มันสามัคคีแต่ตัวมันเอง แต่ถ้าทำขึ้นมา เห็นไหม ครูบาอาจารย์นี่จิตใจเป็นสาธารณะ เพื่อประโยชน์นะ

เราจำได้แม่นเลย หลวงตานะ ตอนหลวงปู่วัน อาจารย์วันเครื่องบินตกใช่ไหม ท่านเป็นเจ้าคุณ พอเป็นเจ้าคุณนี่ สมเด็จพระสังฆราชก็เอาพัดไปถวายหลวงตา หลวงตาท่านก็รับไว้ แล้วท่านก็กลับเอาไปไว้ที่วัดราชบพิธฯ ไปถวายองค์สมเด็จพระสังฆราชวาสน์ บอกว่า

“ขอคืนพัดยศนี้ พัดยศนี้มีคุณประโยชน์มาก พัดยศนี้มันเป็นยศถาบรรดาศักดิ์ มันเป็นสมณศักดิ์ มีคุณประโยชน์มาก ควรจะเอาไปให้ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติงาน... คนทำงานเพื่อศาสนา ถ้าเขาได้รางวัลตอบแทน เขาจะมีกำลังใจ เขาจะทำประโยชน์เพื่อศาสนา พัดยศนี้ควรให้ผู้ทำงาน”

“กระผม” นี่ท่านพูดเองนะ.. กระผมคือตัวหลวงตา

“กระผม ! มีหัวใจให้กับศาสนา ยกชีวิตนี้ถวายพุทธศาสนา ผมทำเพื่อศาสนาด้วยหัวใจ ผมไม่ต้องมีพัดยศ ผมก็สละชีวิตนี้เพื่อศาสนา ฉะนั้นสิ่งใดที่เป็นประโยชน์ควรเป็นประโยชน์กับผู้ที่เขาได้ประโยชน์” เห็นไหม เวลาท่านเอาไปคืนนะ สมัยนั้นนะ..

แต่พอสุดท้ายแล้วที่ท่านมารับ ท่านก็รับเพราะเห็นแก่ในหลวง ในหลวงอยากจะทำบุญกับท่าน เพราะว่าในหลวงบอกว่าสิ่งที่ถวายพัดยศนี้มีผู้ถวายได้คนเดียวคือในหลวง ในหลวงอยากจะถวาย ขอร้องให้หลวงตาท่านรับไว้ จริงๆ แล้วท่านก็ไม่อยากรับหรอก เพราะของอย่างนี้นะรับมาแล้วมันก็เป็นสมณศักดิ์ พัดยศใช่ไหม คุณงามความดีใช่ไหม

นี่เราพูดถึงหัวใจของคนที่เป็นสาธารณะไง หัวใจสาธารณะนี้มันทำประโยชน์ แล้วก็เพื่อประโยชน์ไง แต่ถ้ามันเป็นความเห็นแก่ตัว เห็นไหม นี่มันต้องเป็นความเห็นของเรา ทิฐิมันเกิด ความเห็นอย่างนี้ต้องเป็นอย่างนี้ๆๆ จะบังคับให้คนอื่นมีความเห็นเหมือนเราหมดเลย นี่มันเป็นไปไม่ได้หรอก !

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์นะ นี่เวลาทำกรรมฐานทั้ง ๔๐ ห้อง กรรมฐานทั้ง ๔๐ วิธีการ ทำความสงบ ๔๐ วิธีการ ขั้นของปัญญาไม่มีขอบเขต ! การทำความสงบนี่ ๔๐ วิธีการ แต่เวลาทำขั้นของปัญญาไม่มีขอบเขตเลย แล้วแต่จริตนิสัยของคนที่มันมีปัญญา แต่ต้องมีสมาธินะ ! ศีล สมาธิ ปัญญา.. แต่ถ้าขอบเขตของปัญญานี้ไม่มีขอบเขตเลย ไปได้สุดฤทธิ์สุดเดชเลย

ถ้าไม่มีขอบเขต.. ตรงนั้นแหละ ตรงขอบเขตนั้นแหละ กิเลสมันหลบอยู่ตรงนั้นแหละ มีเหลือบมีอยู่ต่างๆ มันสะอาดไม่ได้ มันทำความสะอาดไม่ได้ ! ทำความสะอาดนี้มันต้องชำระล้างจนไม่มีเหลือบ ไม่มีที่ให้กิเลสหลบ ไม่มีสิ่งใดๆ เลย ต้องชำระล้างสะอาดบริสุทธิ์หมดเลย !

“ฉะนั้นมันถึงไม่มีขอบเขต ขั้นของปัญญาไม่มีขอบเขต นี่คนภาวนาเป็นไง !”

นั้นคนภาวนาเป็น คนที่มีหัวใจเป็นธรรม เห็นไหม แล้วสิ่งที่เป็นธรรม.. สิ่งที่เป็นธรรม ถ้าใจเป็นสาธารณะ ใจเป็นธรรมนะ สิ่งใดเป็นความผิดพลาดหรือเป็นอะไร เราก็บอกกัน เราก็เตือนกัน แต่ถ้ามันจะบอกว่าปิดกั้นทั้งหมดมันไม่ใช่หรอก

นี่พูดถึงว่าเวลาพูดออกไปแล้ว ! เพราะคนเรามันไม่มีประสบการณ์ ถ้ามีประสบการณ์ อย่างเช่นครูบาอาจารย์ เห็นไหม หลวงตาเวลาท่านปฏิบัติที่วัดป่าบ้านตาด ท่านบอกว่า

“เราทำสิ่งใดนี่เราไม่สะท้านหวั่นไหวไปกับใครเลย เพราะอะไร.. เพราะเราไม่ได้ทำเอง !”

หลวงตาท่านบอกว่า “ท่านไม่ได้ทำเอง ท่านทำตามหลวงปู่มั่นมา”

ท่านอยู่กับหลวงปู่มั่น ที่หนองผือ หลวงปู่มั่นท่านทำเป็นแบบอย่างมา แล้วหลวงตาท่านก็มาทำที่วัดป่าบ้านตาด

เมื่อก่อนคนก็บอกว่า “นี่มันเคร่งเกินไป มันเข้มเกินไป มันรุนแรงเกินไป..”

ท่านบอกว่า “ใครจะพูดอย่างไรก็พูดไปเถอะ แต่ท่านทำตามหลวงปู่มั่นมา ท่านมีแบบอย่างมา ท่านไม่ได้คิดเอง ท่านไม่ได้ทำเอง ท่านทำตามแบบครูบาอาจารย์มา”

อย่างพวกเรานะ เราก็ทำต่อๆ กันมา เรามีครูมีอาจารย์.. ถ้าเรามีครูมีอาจารย์ เวลาเราผิดพลาด ครูบาอาจารย์ เห็นไหม หลวงตาท่านบอกว่า

“ถ้าใครเป็นพระที่ออกมาจากวัดป่าบ้านตาด ท่านก็จะคอยไปดู คอยชี้ คอยแนะ ถ้าผิดเราก็จะคอยบอก ถ้าผิดนักเกินไปเราก็จะกระหนาบ”

ถ้ามีครูบาอาจารย์ นี่เราผิดได้นะ ถ้าเราเป็นเด็กๆ เราปฏิบัติใหม่ สิ่งใดที่มันเป็นเหมือนสามล้อถูกหวย ไม่รู้สิ่งใด แล้วพอเจอสิ่งใดแล้วมันก็ตื่นเต้น สังเกตได้ไหมเวลาตื่นเต้น นั่นก็ไม่ได้.. นี่ก็ไม่ได้นะ.. สุดท้ายตอนหลังก็จะได้

จะได้เพราะอะไร เพราะเวลามันชราภาพขึ้นมาแล้ว เวลาแก่มันมีประสบการณ์ขึ้นมาแล้ว มันก็เห็นว่าทุกอย่าง.. เหมือนเหรียญมันมี ๒ ด้าน มันมีดีและมีชั่วในตัวมันเอง แล้วแต่คนจะเอาประโยชน์ความดีในสิ่งนั้น หรือคนจะเอาประโยชน์กับความชั่วในสิ่งนั้น

ทุกอย่างมันมีบวกมีลบในตัวของมันเอง คนใช้เป็นหรือคนใช้ไม่เป็น ถ้าคนใช้เป็นมันจะเป็นประโยชน์ทั้งนั้นแหละ แต่เพราะเวลามันโตขึ้นมา มันมีประสบการณ์ขึ้นมานะ มันจะรู้ตัวของมัน แล้วมันจะสำนึกตัวของมัน

พอมันสำนึกตัวของมันนะ “ก็ไม่ได้คิดอย่างนั้น.. ไม่ได้ทำอย่างนั้น” แต่เวลาทำ เห็นไหม เวลาทำมันสะเทือนกันไปหมด สิ่งที่สะเทือนไป แล้วเวลาพูดออกไปนี่หลักฐานมันชัดเจน มันมีหลักมีฐาน มันมีที่มาที่ไปทั้งนั้นแหละ

เวลาธรรมของครูบาอาจารย์ ท่านบอกว่ามันมีที่มาที่ไป เราพุทโธ พุทโธนี่ มันมีคำบริกรรม มีสติขึ้นมา มันก็เกิดสมาธิ.. สมาธิมันมาจากอะไร มันมาจากสติ มาจากมีคำบริกรรม มันเกิดมาจากปัญญาอบรมสมาธิ พอมันมีสมาธิขึ้นมาแล้ว มันก็เกิดปัญญาขึ้นมา เป็นโลกุตตรปัญญา.. มันมีที่มาที่ไปทั้งนั้นแหละ มันไม่ลอยมาหรอก

เราไปอ่านพระไตรปิฎกมา นั่นแหละที่มาที่ไป นั้นมันเป็นความจำ จำมาจากหนังสือ มันไม่เกิดเป็นความจริงขึ้นมาหรอก ถ้าเกิดเป็นความจริงขึ้นมา เห็นไหม มันต้องมีเหตุมีผล มีที่มาที่ไป

นี่สืบประวัติได้ว่าเราอยู่กับครูบาอาจารย์องค์ไหนมา ครูบาอาจารย์องค์ไหนเป็นคนควบคุมดูแลมา แล้วครูบาอาจารย์องค์ไหนชี้ถูกชี้ผิดมา นี่มันสืบประวัติได้ ! ของอย่างนี้มันสืบมาได้ทั้งนั้นแหละ ยิ่งทางราชการเขาสืบทีเดียวเขาก็รู้ มันเป็นไปอย่างนั้นแหละ

แต่ ! แต่พวกเราจะมีหลักเกณฑ์ไหม.. ถ้ามีหลักเกณฑ์ เรามีสติปัญญาของเรา เราใคร่ครวญของเรา หลักเกณฑ์ของเรา เราต้องสืบจากหัวใจของเรา สืบจากความเป็นจริงของเรา นี่เราเกิดมาจากไหน.. เราเกิดมาเพื่ออะไร แล้วเป็นไปนี้..

ถ้าเราสืบแล้วมันมีที่มาที่ไปอย่างไร มีเหตุมีปัจจัยขึ้นมานะ มันจะเข้าใจได้หมด แล้วมันจะไม่ทำลายตัวเอง จะพูดอย่างนี้นะไม่ทำลายตัวเอง การกระทำอย่างนี้คือการทำลายตัวเอง.. ทำลายตัวเอง ถ้าพิสูจน์ตรวจสอบ คือสืบแล้ว เหตุผลมันลบล้างทิฐิมานะของเราหมดแหละ ทิฐิความเห็นของเรานี้มันผิด ! แล้วเหตุปัจจัยของโลก แต่เราเข้าศึกษายังไม่ครบถ้วน !

ถึงที่สุดแล้วเหตุปัจจัยตามข้อเท็จจริง มันจะลบล้างทิฐิของเรา ! มันจะลบล้างทิฐิของเรา.. แต่เราก็ยังถือทิฐิของเราอยู่ เรายังตะแบงอยู่ มันก็จะขายตัวเองไปตลอด.. แต่ถ้าเป็นความจริง อันนั้นแหละมันจะรู้จริง ! แล้วถ้ารู้จริงมันจะเป็นความจริง ! ถ้าเป็นความจริงขึ้นมา.. ความจริงกับความจริงมันเข้ากัน เห็นไหม

“ข้อเท็จจริง กับ ธรรมวินัย”

ธรรมวินัยคือกฎหมาย วินัยคือกฎหมาย นี่วินัยข้อบังคับ.. แต่ข้อเท็จจริงในความจริง ข้อเท็จจริงกับกฎหมายมันคลาดเคลื่อนกันไปไม่ได้หรอก.. ข้อเท็จจริงคือข้อเท็จจริง ไม่ผิดกฎหมายหรอก เพราะกฎหมาย เพราะธรรมวินัยนี้บัญญัติไว้ก็เพื่อให้มันสิ้นสุดแห่งทุกข์ แล้วถ้ามันสิ้นสุดแห่งทุกข์แล้วมันก็จบนะ

นี่พูดถึงว่าใครทำสิ่งใดได้สิ่งนั้น “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” แล้วแต่ผู้ที่กระทำ แล้วจะเข้าถึงตัวเอง ถ้าตัวเองทำดีก็ต้องได้ดี.. ทำชั่วก็ต้องได้ชั่ว เราบอกว่าเราทำคุณงามความดีแล้วไม่ได้ซักที.. ต้องได้ ! ต้องได้ ! แต่จะช้าหรือเร็ว

ความดีคือความดี มันต้องให้ผลเป็นความดีแน่นอน ยิ่งประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เห็นไหม ถึงที่สุดถ้ามันเกิดตามความเป็นจริงแล้ว มันชำระกิเลสเป็นขั้นเป็นตอนเข้าไป ถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้ เอวัง