ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

รู้เพื่ออะไร

๒๕ ต.ค. ๒๕๕๓

 

รู้เพื่ออะไร
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถาม : คำถามที่ ๒๕๖. เรื่อง “ขอคำแนะนำสำหรับผู้เริ่มปฏิบัติ” ขอแนวทางเริ่มปฏิบัติสำหรับคนใหม่ค่ะ เป็นคนที่นั่งสมาธิและเดินจงกรมไม่ได้

หลวงพ่อ : มันปิดทางไม่ให้สอนเลยเนี่ย

ถาม : เป็นคนที่นั่งสมาธิและเดินจงกรมไม่ได้ (แล้วบอกว่าให้สอนปฏิบัติใหม่นะ) เป็นคนที่คิดมาก ฟุ้งซ่านมาก ไม่ว่าจะใช้วิธีไหน จิตก็ไม่เคยสงบเลยค่ะ ยุบหนอ.. พุทโธ.. ขยับมือ.. หรือสวดมนต์ ก็ใช้มาหมดแล้ว เวลานั่งสมาธิก็ง่วงด้วย ให้บอกการปฏิบัติเริ่มต้น

หลวงพ่อ : นี่พูดถึงนะ ถ้าพูดถึงการปฏิบัติเริ่มต้นเราก็คิดนะ ดูสิเวลาเขารับคนเข้ารับราชการ เขาต้องดูวุฒิการศึกษา เขาต้องสอบประวัติ ว่าวุฒิการศึกษานี้ถูกต้องหรือเปล่า ประวัตินี่ดี หรือประวัติเคยเสียมาไหม เคยมีคดีอาญามาหรือเปล่า

นี่พูดถึงคนที่เขาจะรับเข้าทำหน้าที่การงานนะ.. แต่นี้เราจะเป็นคนปฏิบัติ เราจะเริ่มปฏิบัติมันก็ต้องเตรียมหัวใจมา ถ้าพูดถึงว่าทำอะไรไม่ได้เลย ไปอ่านหนังสือธรรมะ ไปอ่านหนังสือประวัติครูบาอาจารย์เยอะๆ ไปอ่านประวัติหลวงปู่มั่น ไปอ่านปฏิปทาพระธุดงค์กรรมฐาน ว่าแต่ละองค์ท่านบุกบั่นมาอย่างไร ท่านทุกข์ยากมาอย่างไร แล้วถ้าเราเห็นความบุกบั่น มันจะเกิดศรัทธา ถ้ามันเกิดศรัทธาเกิดความเชื่อ มันเกิดความตั้งมั่น แล้วเวลาทำสิ่งใดมันก็จะประสบความสำเร็จ

แต่นี่บอกว่าอยากปฏิบัตินะ แล้วปฏิบัติใหม่ด้วย... แล้วเวลาเขียนเห็นไหม “เป็นคนที่นั่งสมาธิไม่ได้ ! เดินจงกรมไม่ได้ !” ก็คนเราเกิดมา โทษนะ เวลาทารกเกิดมา นี่ปากติดกันกินข้าวไม่ได้แล้วเขาต้องเจาะปากหรือเปล่า เขาก็ให้อาหารทางท้องใช่ไหม เขาให้อาหารทางอื่นใช่ไหม

นี่ก็เหมือนกัน สมาธิกับเดินจงกรม มันเป็นช่องทางที่ให้อาหารร่างกาย แล้วก็ปฏิเสธเลยบอกว่าทำสมาธิไม่ได้ เดินจงกรมไม่ได้ มันก็ปฏิเสธว่ากินไม่ได้ แล้วจะอยู่กันอย่างไรล่ะ ชีวิตนี้จะอยู่อย่างไรล่ะ แล้วทำอย่างไรถึงจะอยู่ได้ล่ะ... ชีวิตมันอยู่ได้ ! ชีวิตมันอยู่ได้เพราะว่าเขาหาทางเอาอาหารเข้าไปสู่ร่างกาย ถ้าไปหาหมอนะ

อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้ามันปฏิบัติไม่ได้ นี่พูดถึงเขาบอกว่าขอแนวทางการปฏิบัติใหม่.. เริ่มต้นพอปฏิบัติแล้วมันไม่ได้ผล ทำมาทุกอย่างแล้ว ยุบหนอ-พองหนอ พุทโธ ขยับมือ หรือสวดมนต์ก็ใช้มาหมดแล้ว

ทีนี้คำว่าใช้มาหมดแล้ว ก็ความตั้งใจไง ถ้าความตั้งใจนะ บางทีเราคิดของเราเอง พอเราคิดของเราเองนี่เราจะได้ประโยชน์ไหม เวลาเราปฏิบัติ เราจะอ่านประวัติของครูบาอาจารย์ ถ้าครูบาอาจารย์องค์ไหนมีประวัตินะ เราอ่านหมด.. อ่านหมดเลย แล้วดูว่าประสบการณ์ของท่านผิดหรือถูกอย่างไร แล้วไปดูประวัติหลวงปู่มั่นสิ

นี่ให้อ่านหนังสือประวัติครูบาอาจารย์ว่าเห็นว่าท่านสมบุกสมบั่นมา ท่านมีทุกข์มาอย่างไร เวลาหลวงตาท่านอ่านประวัติของพระพุทธเจ้า ท่านน้ำตาไหลเลย ท่านร้องไห้เลย มันซาบซึ้งเห็นไหม พอมันซาบซึ้งขึ้นมา การทำสิ่งใดเพราะความซาบซึ้งอันนั้นแหละ ต่อจากที่ว่านั่งสมาธิไม่ได้ เดินจงกรมไม่ได้ นี่มันจะทำได้ !

ถ้ามันทำได้เพราะอะไร เพราะหัวใจอันนั้นมันมีแรงปรารถนา นี่อธิษฐานบารมี ! โดยธรรมชาติของธรรม โดยธรรมชาติของคนที่เขาแสดงธรรมกันบอกว่า “ไม่ให้มีความอยากนะ.. คนปฏิบัติอยากมากนี่มันเป็นการค้ากำไรเกินควร” นี่เขาว่ากันไปนะ

ในสมัยพุทธกาล ทุคตะเข็ญใจจนมาก ไม่มีเงินทองเลย ใส่บาตรพระสารีบุตร ๑ ทัพพี แล้วอยากบวชมาก ไปบวชที่ไหนเขาก็ไม่ให้บวช เพราะเป็นคนจน ไม่มีบริขารไม่มีอะไรเลย แต่อยากบวชมาก ! อยากบวชมาก ทีนี้ไปหาพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเรียกพระมาถามว่า

“ทุคตะเข็ญใจคนนี้ เขามีบุญคุณกับใครบ้าง” พระสารีบุตรยกมือเลยนะ

พระพุทธเจ้าถามพระสารีบุตรว่า “มีบุญคุณอะไรกับท่าน”

พระสารีบุตรบอกว่า “เคยมีบุญคุณกับเกล้ากระผมครับ เพราะเคยใส่บาตรเกล้ากระผมทัพพีหนึ่งครับ”

“อย่างนั้นให้เธอเอาไปบวช เธอต้องเป็นอุปัชฌาย์บวชให้ทุคตะเข็ญใจคนนี้”

พอบวชไปแล้วนะ เวลาบวชไปแล้วก็ฝึกภาวนา พอภาวนานะก็มาเฝ้าพระพุทธเจ้าบ่อย พระพุทธเจ้าก็ถามพระสารีบุตร

“สารีบุตร.. สัทธิวิหาริกของเธอสอนง่ายหรือ”

เพราะธรรมดาภิกษุบวชตอนเฒ่ามันสอนยาก แต่นี้กลับสอนง่าย.. สอนง่ายมาก สอนทุกอย่างหมด สอนจนภิกษุเฒ่านี้เป็นพระอรหันต์

ภิกษุเฒ่านี้เป็นพระอรหันต์ เกิดจากข้าว ๑ ทัพพี เห็นไหม แล้วเราตักบาตรกันนี่ข้าวกี่ทัพพี แล้วปรารถนามรรคผลไม่ได้ มันปรารถนาไม่ได้จริงๆ หรือ นี่เราพูดถึงเวลาเขาว่ากันไง ว่านี่ค้ากำไรเกินควร.. ตักบาตรทัพพีหนึ่งก็อยากจะไปสวรรค์.. ไปสวรรค์ก็ต้องซื้อสวรรค์มาแลกสวรรค์ใช่ไหม มันถึงไม่ค้ากำไรเกินควร คำพูดอย่างนี้มันจะตัดทอนความมุ่งมั่น ความปรารถนา

ความมุ่งมั่นความปรารถนาคืออธิษฐานบารมี บารมี ๑๐ ทัศขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าไม่มีอธิษฐานบารมี ไม่มีการตั้งเป้า จะไม่มีพระพุทธเจ้า จะไม่มีศาสนา จะไม่มีครูบาอาจารย์ของเรา แต่ถ้าเขามีความตั้งมั่น เขามีเป้าหมาย เห็นไหม เป้าหมายว่าเราอยากจะสิ้นทุกข์

คำว่าสิ้นทุกข์ก็คืออยากนิพพาน แต่บอกว่าคิดนิพพานนี่คิดไม่ได้นะ มันใหญ่เกินไป พอคิดว่าเราอยากจะเป็นพระอรหันต์ อยากจะนิพพาน เขาบอกว่านี่คนบ้า คิดเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่บอกว่าอยากสิ้นทุกข์นี่คิดได้นะ บอกว่าไม่อยากมีความทุกข์นี่คิดได้ เห็นไหม บอกไม่อยากทุกข์เลย อยากให้พ้นจากทุกข์นี่คิดได้ แต่บอกว่าเป็นพระอรหันต์ เป็นไม่ได้ ถ้าบอกว่าถึงนิพพานบอกเป็นไปไม่ได้นะ เรื่องมันใหญ่โตเกินไป แต่บอกว่าพ้นจากทุกข์ได้ไหม เออ.. ใครๆ ก็อยากจะพ้นจากทุกข์ไง

นี่ก็เหมือนกัน เวลาพูดถึงศัพท์ เพราะชาวพุทธเราเคารพบูชาใช่ไหม สิ่งใดเป็นคุณธรรม เราก็บูชาไว้สูงส่ง จนเราไม่กล้าแตะกันเลยนะ แล้วเราอยากพ้นทุกข์ไหม.. อยาก แต่อยากเป็นพระอรหันต์ไหม.. ไม่กล้า ! ไม่กล้าคิดอยากเป็นพระอรหันต์ ไม่กล้านะ แต่อยากพ้นจากทุกข์

ฉะนั้นเวลาเราไปศึกษา ไปอ่านตำรับตำรา อ่านประวัติครูบาอาจารย์ ท่านจะสมบุกสมบั่นมา ท่านจะทุกข์มา พออย่างนั้นปั๊บมันก็จะมาให้เรามีกำลังใจ พอให้เรามีกำลังใจ เห็นไหม ครูบาอาจารย์ท่านก็ทุกข์มา ทุกอย่างก็ทุกข์มา ถ้าเรามีกำลังใจขึ้นมาแล้ว การนั่งสมาธิ ภาวนา หรือการเดินจงกรมมันก็มีแก่ใจไง

นี่มันทำสักแต่ว่า เขาบอกว่าทำสมาธิ เดินจงกรมแล้วมันจะจิตสงบ แล้วก็เดินจงกรม ๕ ปีเลยนะ แล้วบอกว่า “มันจะสงบ ! มันจะสงบ !” ... มันไม่สงบหรอก มันคิดไปข้างนอก... แต่พอเดินจงกรมนะ อยู่กับ พุทโธ พุทโธ นี่มันจะเป็นอะไรช่างมัน

หลวงตาท่านสอนนะ “เวลาอยู่กับพุทโธ.. โลกนี้มีเหมือนไม่มี มีเรากับพุทโธเท่านั้น ! มีเรากับพุทโธเท่านั้น !” พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ นี่ล่ะ !

นี้พุทโธก็ทำมาแล้ว... ทำมาแล้ว.. แต่ทำสักแต่ว่าทำไง ทำโดยหัวใจที่ไม่มั่นคง เจตนาไม่แน่วแน่ มันไม่มีเป้าหมายของมันไง ทำอะไรก็ทำไม่ได้ผล ถ้าทำไม่ได้ผลให้ย้อนกลับมาดูสิ.. ย้อนกลับมาดูที่ใจของเรา

การปฏิบัติเริ่มต้น ! เบื้องต้นของคนปฏิบัติใหม่ มันจะได้หรือไม่ได้ เราปฏิบัติแล้วนี่ปฏิบัติบูชา ถ้าเราบอกว่าเราปฏิบัติแล้วเราจะได้สมาธิ เราปฏิบัติแล้วจะได้นู้นได้นี่ นี่ทุกข์ตายเลย ! เวลาเราเข้าไปทำบุญกัน เขาทำบุญกุศลเพื่อบุญของเขา

“ทำทานร้อยหนพันหน ไม่เท่าถือศีลบริสุทธิ์หนหนึ่ง.. ถือศีลบริสุทธิ์ร้อยหนพันหน ไม่เท่าเกิดสมาธิหนหนึ่ง.. สมาธิร้อยหนพันหน ไม่เท่าเกิดปัญญาในภาวนามยปัญญาขึ้นมาหนหนึ่ง”

หนหนึ่งนะ เห็นไหม ถ้าบอกว่าหนหนึ่ง ทำไมต้องเกิดหลายๆ หนไง ถ้าบอกว่าหนหนึ่ง... ทีนี้เรานั่งสมาธินี่ ดูสิเรากระเสือกกระสนทำบุญตักบาตรมาเท่าไร แล้วถ้าเรานั่ง พุทโธ พุทโธ นี่เราเสียสละ เห็นไหม กิริยาวัตถุ.. มันเป็นกิริยาของเราใช่ไหม เราจะนั่งสุขสบายอย่างไรก็ได้ เรานั่งขัดสมาธิ แล้วเรากำหนด พุทโธ พุทโธ ถวายองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แค่นี้มันก็ได้บุญแล้ว !

เราถวายนะ เราเอาตัวเราถวายพระพุทธเจ้าเลย เป็นการทำบุญเลย เสียสละ.. เสียสละ.. ชั่วเวลา ๑๐ นาที ๒๐ นาที นี่ขนาดนั้นเลย ! เราทำบุญเหมือนกับเราตักบาตร เราตักบาตรเราต้องมีทุกอย่างใส่ไปในบาตรใช่ไหม แต่นี้เรามีตัวเราไง ! เรามีตัวเรา เรามีสติ เรามีปัญญาของเราถวายพระพุทธเจ้า นี่ได้บุญหรือยัง

ถ้าแค่นี้ได้บุญนะ อู้ฮู.. ได้บุญทำไมมันปวดอย่างนี้ล่ะ ได้บุญทำไมมันเมื่อยนักล่ะ.. อ้าว ! ก็ต้องลงทุนสิ อ้าว.. มันจะได้บุญนี่มันก็ต้องได้บุญใช่ไหม ถ้าบุญอย่างนี้เกิดขึ้นมา นี่มันก็ได้บุญแล้ว ถ้าว่าได้บุญแล้ว ถ้าจิตมันสงบ จิตมันพอใจ มันสงบขึ้นมาได้ อันนั้นมันก็เป็นขึ้นมา

นี้เราถึงบอกว่าการปฏิบัติใหม่ เราคิดว่านี่คือการปฏิบัติ เราจะคิดเหมือนธุรกิจใช่ไหม ๑ บาทไปแล้วได้สิ่งของที่แลกมาใช่ไหม นี่ถ้าพูดเปรียบเทียบมันก็ได้ แต่เวลานั่งสมาธิ เดินจงกรมแล้วจะได้ตามที่เราปรารถนา เพราะความปรารถนานั้นเราถึงไม่ได้ไง เพราะความปรารถนานั้นมันถึงไม่เป็นไปไง แต่ถ้าเราปรารถนาจะปฏิบัติ พอปรารถนาแล้วเราทำของเราไป ผลมันจะเกิดขึ้นตามนั้น ! ผลมันจะเกิดขึ้นตามนั้นนะ

นี่พอบอกนั่งสมาธิก็ไม่ได้ เดินจงกรมก็ไม่ได้ ยุบหนอ-พองหนอ ก็ทำมาแล้ว พุทโธก็ทำมาแล้ว ขยับมือก็ทำมาแล้ว สวดมนต์ก็ทำมาแล้ว... ถามด้วยนะ แล้วก็ไม่ให้ตอบด้วยนะ ปิดหมดเลย ไม่ให้ตอบแม้แต่คำเดียวเลย ห้ามตอบพวกนี้นะเพราะทำมาหมดแล้ว แล้วผู้ปฏิบัติใหม่ซะด้วย !

เรากลับมานี่ กลับมาให้เรามีศรัทธา ให้มีความเชื่อ ให้มีความมั่นคง แล้วเราค่อยเริ่มต้นปฏิบัติของเราใหม่ ถ้าปฏิบัติของเราไป มันไม่มีสิ่งใดหรอกที่จะมีคุณประโยชน์กับเราในโลกนี้

การปฏิบัติมาก็เหมือนกับเราดูแลอุปัฏฐากหัวใจของเรา มันจะฟุ้งมันจะซ่าน มันจะทุกข์มันจะยากมันเป็นเรื่องธรรมดา ดูสิเวลาร่างกายเราสกปรก เราก็อาบน้ำชำระร่างกายเพื่อความสะอาด แล้วหัวใจของเรามันมีความขุ่นใจ มันมีความข้องใจ มันมีความหมองใจทั้งนั้นเลย..

พุทโธ พุทโธ นี้เห็นไหม คือพุทธานุสติ ! พุทธานุสติ... นี่เราอาบน้ำ เราทำความสะอาดหัวใจของเรา ถ้ามันสะอาดได้มันก็เป็นสมาธิ มันสะอาดได้มันก็สงบไง ถ้ามันสงบได้มันก็มีความร่มเย็น เราไม่มีความสามารถทำความสะอาดหัวใจของเราเอง เราจะโทษใครไม่ได้หรอก

หลวงตาท่านบอกไว้ “เวลาปฏิบัตินี่โทษธรรมะ นู้นก็ไม่ได้.. นี่ก็ไม่ได้.. พุทโธก็ไม่ได้” พุทโธนี้คือพุทธานุสติ นี่เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าข้อหนึ่งนะ ! นั่งสมาธิ เดินจงกรมนี้เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นวิธีการทั้งหมดแหละ นี่เราไปติเตียนธรรมหมดเลย แต่เราไม่ติเตียนกิเลสเราเลย เราไม่ติเตียนตัวเราเลย ถ้าเราติเตียนกิเลสเราสิ ..

ธรรมของพระพุทธเจ้าสอนมานี่ถูกต้องหมดแหละ มันเหมือนค่าของเงิน ๑ บาทก็คือ ๑ บาท เราจะเอาไปใช้จ่ายอะไรก็เท่านั้นเอง ค่าของเงิน ๑ บาทก็คือ ๑ บาทใช่ไหม เราไปติเตียนค่าของเงินไม่ได้หรอก เราติเตียนผู้ใช้สิ เงิน ๑ บาทแล้วไม่รู้จักใช้ เงิน ๑ บาทแล้วก็ไปซื้อยาพิษมากิน ก็ตายน่ะสิ

นี่ก็เหมือนกัน เราต้องติเตียนตัวเราสิ ติเตียนกิเลสของเราสิ เราเป็นคนหนา เราเป็นคนไม่เอาไหน เราเป็นคนที่ไม่มีความเชื่อมั่น เราก็ต้องหาสิ่งที่เป็นความมั่นใจ ถ้าหาสิ่งที่เป็นความมั่นใจนะ เราถึงแนะนำให้อ่านประวัติหลวงปู่มั่นนะ..

“อ่านมาแล้ว ๕๐ รอบ” นี่ตอบมาทันทีเลย คือมันจะไม่ให้เราตอบเลยนะ นี่คือผลข้างเคียง เวลาให้ยาแล้วมันแพ้ยา เวลาแพ้ยาแล้วมันช็อกตายเลย บอกให้อ่านประวัติหลวงปู่มั่น บอกว่า “อ่านมาแล้ว ๕๐ รอบ”

อ่านมีสติสิ อ่านแล้วคิด อ่านแล้ววินิจฉัย อ่านแล้ววิเคราะห์ ว่าหลวงปู่มั่นท่านก็ทุกข์ยากมาก่อน หลวงปู่มั่นเป็นพระอรหันต์ไปแล้ว ผลงานของท่านคือท่านเป็นครูบาอาจารย์ของเรา ท่านทำให้เราเป็นครูบาอาจารย์ของเรานี้มหาศาลเลย นี่คือผลงานของท่าน ท่านทำมาได้จริง ท่านทุกข์มาจริงๆ แล้วท่านก็ปฏิบัติจริงๆ แล้วท่านก็พ้นไปแล้วจริงๆ

แล้วเรานี่เราจะทำอย่างไร เราเป็นผู้ปฏิบัติใหม่ เห็นไหม เราเอาประวัติครูบาอาจารย์มาอ่าน อ่านเพื่อเสริมความมั่นใจ อ่านเพื่อเสริมกำลังของเรา

เราก็ทุกข์ ! โอ้โฮ.. เดินจงกรมใครบ้างจะไม่เมื่อย เดินกลางแดดกลางฝนใครจะไม่ทุกข์ยาก แล้วเวลาเราปฏิบัติ อย่างเช่นนักกีฬาอาชีพปฏิบัติเป็นปี เป็นหลายๆ ปี มันจำเจอยู่อย่างนั้นแหละ มันอยู่ได้อย่างไร เดินจงกรมวันแล้ววันเล่า.. วันแล้ววันเล่า มันอยู่ได้อย่างไร

แต่ถ้าเป็นผู้ปฏิบัตินะ รู้ทันทีเลย “อ๋อ ! มันอยู่ได้เพราะใจมันมีรสชาติของอาหาร.. ใจมันได้สัมผัสสมาธิ.. ใจมันได้สัมผัสความสุขความรื่นเริง นี่มันอยู่ได้ !” มันอยู่ได้เพราะใจมันสัมผัส พออยู่ได้ด้วยใจสัมผัส ขามันจะรีบเดินใหญ่เลย มันต้องการให้ใจได้รับรสยิ่งกว่านี้

สิ่งที่อยู่ได้ เขาเรียกว่ามันมีเครื่องอยู่.. จิตใจมีเครื่องอยู่ มีสติมีปัญญาเป็นเครื่องอยู่ มีสมาธิ มีผลของธรรมเป็นเครื่องอยู่ พอมีเครื่องอยู่แล้วมันเดินจงกรมได้ทั้งวันทั้งคืนเลย เพราะมันมีเครื่องอยู่ แต่เพราะเราไม่มีเครื่องอยู่มันแห้งแล้งไง โอ้โฮ.. เดินจงกรมก็เหนื่อย.. เหนื่อยมากๆ เขามีเครื่องอยู่ในใจ เพราะเดินจงกรมแล้วมีความสุขในใจ..

แต่นี่บอกเดินจงกรมแล้ว อู้ฮู.. ปวดเมื่อย อู้ฮู.. เมื่อยเท้าๆ เราจะบอกว่าสมาธิไม่ได้อยู่ที่ปลายเท้านะ สมาธิไม่ได้อยู่ที่ฝ่าเท้า... สมาธิอยู่ที่ใจ !

ฉะนั้นการเดินจงกรมนี้ “เดินจงกรมเพื่อให้ใจสงบ.. การเคลื่อนไหวเพื่อความสงบ” นี้เราบอกว่าเดินจงกรมแล้วจะเอาสมาธิไว้ที่ฝ่าเท้า โอ้โฮ.. นี่มันร้อนหมดเลย อู้ฮู.. มันเจ็บไปหมดเลย สมาธิอยู่ที่นั่นหรือ สมาธิอยู่ที่ใจนะ แต่เพราะใจมันรื่นเริงอาจหาญมันถึงทำได้

ฉะนั้นให้มีกำลังใจ มันอยู่ที่กำลังใจ อยู่ที่เจตนา แต่วิธีการก็เป็นวิธีการเพื่อจะพัฒนาจิตเข้าไป นี้เราไปอยู่ที่วิธีการ แล้วก็เอาวิธีการนั้น ให้วิธีการนั้นมันเป็นอย่างนั้น เราไปติดที่วิธีการไง แต่วิธีการนี่มันจะทำให้เข้าสู่จิตสงบ !

มันไม่ใช่อยู่ที่วิธีการ เห็นไหม นั่งสมาธิ เดินจงกรมไม่ได้ต่างๆ นี่คือวิธีการ.. พอเป็นวิธีการ เราไปแค่วิธีนี่เราก็แหยงแล้ว อย่างเช่น เราจะทำครัว พอไปเจอมีด จับมีดแล้วมือไม้สั่นเลยเพราะกลัวคมมีด คมมีดเขาเอาไว้สับเนื้อ เอาไว้หั่นผัก แต่นี้พอจับมีดขึ้นมาแล้วสั่น

นี่ก็เหมือนกัน อู๋ย.. นั่งสมาธิก็กลัวๆ... กลัวคมมีด ! กลัวคมมีด กลัวสิ่งที่จะทำประโยชน์กับเรา นั่งสมาธิก็ไม่ได้ เดินจงกรมก็ไม่ได้ ยุบหนอ-พองหนอก็ไม่ได้ พุทโธก็ไม่ได้ ขยับมือก็ไม่ได้ สวดมนต์ก็ไม่ได้ กลัวไปหมดเลย แต่ถ้าเราตั้งใจ จับ ! จับให้มั่น ! จับให้มั่น.. จับให้มั่นแล้วใช้ประโยชน์ เห็นไหม

วิธีการ.. มีดเอาไว้ใช้ประโยชน์ ใช้ทำอาหาร..เพื่อให้ร่างกายของเรา จิตใจมันต้องเข้มแข็ง มันต้องมั่นคงขึ้นมา แล้วค่อยๆ ปฏิบัติไปสิ ! นี้เราอ่อนแอมาก.. เราอ่อนแอมากแล้วเราก็โทษธรรมะนะ นี่โทษนะ เดินจงกรม.. นั่งสมาธิ.. พุทโธ.. โทษไปหมดเลย แต่กิเลสไม่โทษ ! แต่เพราะความไม่เอาไหนของเราไม่โทษ ! แล้วความไม่เอาไหนคือกิเลส กิเลสมันพาให้เราเกิดตายมามากมายแล้ว

ฉะนั้นกิเลสอยู่กับเรา เราปฏิบัติเพื่อให้กิเลสสงบตัวลง พอกิเลสสงบตัวลงแล้ว ให้ออกฝึกหัดใช้ปัญญา ปัญญาพร้อมกับศีล สมาธิ.. ปัญญาไม่ใช่ปัญญาเพรียวๆ ปัญญาพร้อมกับปัญญาที่มีสมาธิ มีจิตที่สะอาดบริสุทธิ์ มีจิตที่มั่นคง มันจะเริ่มเห็นเหตุเห็นผล เห็นการชำระกิเลส เห็นธรรมให้จิตใจมั่นคงขึ้นมา แล้วพอมาปฏิบัติคราวนี้โล่งเลย..

โล่งเลยนะ เพราะคนที่ปฏิบัติเป็น เช่นที่หลวงตาท่านพูดว่า “อดอาหาร ๗ วัน ๘ วัน อดอาหารจนบิณฑบาตไปนี่จะช็อกตาย” คือว่าพอเดินไม่ไหวมันจะช็อกตาย คือมันหมดไง เห็นไหม สิ่งนี้มันเป็นเพราะเหตุใดล่ะ เพราะว่ามันมีเป้าหมายไง

นี่ไม่อยากมาฉัน ไม่อยากเลย เพราะเวลาอดอาหารนี่ อู้ฮู.. จิตใจมันนั่งแน่ว เวลานั่งเหมือนหัวตอเลยนะ นิ่ง... ไม่มีสัปหงกโงกง่วงเลย ปัญญาก็ใช้ได้ดีเลย แต่ ! แต่คนไม่กินมันก็จะตาย ฉะนั้นคนมันต้องกิน ทีนี้พอต้องกินมันก็เถียงกัน ใจหนึ่งไม่อยากกิน เพราะกินแล้วมันเหนื่อยหน่าย มันเนือยนาย มันปฏิบัติยาก แต่ไม่กินก็จะตาย เห็นไหม นี่อยู่กับโลก !

มันต้องอยู่กับโลกกับธรรม โลกมันต้องกินต้องอยู่ต้องอาศัย แต่ก็กินพอประมาณ กินอย่าให้มันทับถมหัวใจ ถ้าพอกินขึ้นมาปั๊บ ร่างกายคือธาตุ ! ธาตุ ๔.. ดิน น้ำ ลม ไฟ พอมันเข้มแข็งขึ้นมามันก็ทับจิต พอทับจิตขึ้นมาก็เนือยนาย โอ้โฮ.. จะคิดก็ลำบาก เห็นไหม เหตุที่เวลาจะไม่กินก็ตาย ถ้าพอกินขึ้นมาแล้วภาวนามันก็ยาก

นี่ก็เหมือนกัน เวลาร่างกายแข็งแรงขึ้นมา ภาวนาก็ไม่ได้ นี่กิเลสไง กิเลสมันทับจิต ธาตุขันธ์มันทับจิต เวลาเราให้ธาตุขันธ์มันอ่อนลง คือเราอดมัน เราผ่อนมัน.. พอผ่อนมันแล้วการภาวนานี่แจ่มชัดเลย นั่งเป็นหัวตอ ท่านบอกว่านั่งเป็นหัวตอเลย อู้ฮู.. ปัญญานี้มันเกิดตลอดไปเลย

เวลาไปกินมันละล้าละลัง ไม่อยากกิน ! ไม่อยากกิน.. ไม่อยากกินเลย แต่ไม่กินก็ตาย เพราะมีสติไม่ใช่คนบ้า ! คนมีสติมีปัญญานะ เวลาทำอะไรสติมันชัดเจนใช่ไหม ก็รู้ๆ อยู่ว่าร่างกายต้องการอาหาร ไม่กินก็ต้องตาย ก็ต้องกิน.. ก็เดินไปภาวนา คำนวณว่าวันไหนยังบิณฑบาตได้ เดินไหวก็เดินไปบิณฑบาตมากิน พอกินเสร็จแล้วท่านบอกเลยเหมือนม้าแข่งเลย ร่างกายนี้ฟุดฟิต.. ฟุดฟิตเลย พอฟุดฟิตขึ้นมาจิตใจก็โดนกดไว้

เราจะบอกว่าเวลาคนปฏิบัติ.. พอปฏิบัติไปแล้วมันมีเครื่องอยู่ คือมันคำนวณได้ ว่าร่างกายมันควรจะมีกำลังแค่ไหน แล้วหัวใจมันจะมีทางเดินได้มากน้อยแค่ไหน นี่คนปฏิบัติเขาคำนวณขนาดนี้นะ ! แล้วนี่พูดถึงเราปฏิบัติใหม่ เราคำนวณอะไรไม่ได้เลย เรายังทำอะไรไม่เป็นเลย เราก็ต้องมีศรัทธา มีความมั่นคง มีการกระทำ เราปฏิบัติของเราไป

นี่พูดถึงผู้ที่ปฏิบัติใหม่ !

 

พูดซะยาวเชียว... ต่อไปข้อ ๒๕๗.

ถาม : ๒๕๗. เรื่อง “ไม่แน่ใจว่าใช่ตัวรู้จริงหรือเปล่า”

(นี่ผลของการปฏิบัตินะ) จากการภาวนาและการตามรู้ในชีวิตประจำวัน ลูกสังเกตเห็นว่า เมื่อมีสติจะมีตัวผู้รู้ ทำให้เรารู้ตัวอย่างมีสติกับปัจจุบัน แต่ลูกก็ไม่สามารถที่จะมีสติได้ตลอด ลูกจึงมีทั้งรู้สลับกับหลง

ทุกวันนี้ลูกรู้ว่าในชีวิตเรามีเพียง “รู้” กับ “หลง” เท่านั้น ไม่ทราบว่าลูกสรุปผิดหรือถูก... เพราะสติที่เกิด.. สติมีเกิดและดับไม่เที่ยง ตัวผู้รู้ก็มีเกิดและมีดับไม่เที่ยงเหมือนกัน หรือเพราะลูกปฏิบัติยังไม่ถูกจึงไม่สามารถจะรู้ตัวได้ตลอด

และในขณะที่ลูกมีสติตามทันความคิด ทำให้ลูกรู้ว่า “ชีวิตทั้งหมดของเราก็คือสภาวะที่มันเกิดและดับ อยู่ที่ว่าสติเราจะตามทันเร็วแค่ไหน ถ้าสติเร็วก็ดับเร็ว ถ้าช้าก็หลงไปนาน”

และการที่ลูกได้รู้การตื่น รู้ของจิตขณะที่กายหลับ ทำให้ลูกรู้ว่า “ตัวผู้รู้เขาแค่รู้ แค่ได้ยิน.. แต่ไม่คิด ไม่มีอดีต ไม่ปรุงอะไรๆ เลย” เมื่อลูกรู้ตามกายและความคิดในชีวิตประจำวัน ลูกก็รู้สึกว่า “ตัวผู้รู้ขณะกายหลับและขณะตื่นเป็นแบบเดียวกัน เขาทำหน้าที่รู้อย่างเดียว ไม่มีอย่างอื่น และในขณะนั้นจะไม่มีสุขและทุกข์ ไม่มีถูกหรือผิด ไม่มีดีใจหรือเสียใจ เป็นเพียงผู้รู้สภาวะในขณะนั้น”

ลูกอยากขอกราบเรียนถามหลวงพ่อดังนี้..

๑. ทำอย่างไรจึงจะมีสติรู้ทันในทุกสภาวะ.. หลงน้อยลง และมีสติรู้เร็วมากขึ้น

หลวงพ่อ : นี่คำถามนะ แล้วยังมีข้อ ๒ ,ข้อ ๓ อีก แต่เราเอาตรงนี้ก่อน

ความรู้ความเห็น... การศึกษาธรรมะ พอศึกษาธรรมะแล้วคาดหมายธรรมะ การคาดหมายธรรมะด้วยตัวเอง การคาดหมายธรรมะด้วยกิเลส แล้วด้วยความไม่รู้จริงก็จะประพฤติปฏิบัติให้รู้ตามความคาดหมาย

นี่เขาคาดหมายมรรคผลแล้ว คาดหมายมรรคผลตรงไหน... ตรงที่ว่า “สิ่งที่รู้ๆ อยู่นี้มันก็ไม่มีอะไรถูก มันก็ไม่มีอะไรผิด มันไม่มีอะไรเลย” มันไม่มีสิ่งใดเลย มันก็เป็นธรรมะไปแล้วไง ! มันไม่มีอะไรเลย มันไม่มีปัญญาอะไรเลย

เวลาเขารู้ทัน สิ่งที่เขารู้ตามสภาวะนี่รู้แล้วก็จบไง รู้รูป รู้นาม แล้วก็ว่ารู้แล้วๆ รู้แล้วนี่รู้อะไร.. นี่ก็เหมือนกัน รู้เพื่ออะไร รู้เกิด รู้ดับ รู้จนไม่รู้อะไรเลย เห็นไหม

มีเกิด มีดับ.. เราก็พูดกับเขาว่ามีเกิดมีดับเหมือนกัน แต่จริงๆ แล้วเราว่ามีเกิด.. ดับไม่มีหรอก ! ดับไม่มี ! ถ้าดับมีนี่ตายหมดแล้ว อะไรมันดับ มันมีแต่ความคิดเกิดดับ แต่ตัวจิตมันเคยดับไหมล่ะ ถ้าดับก็ตายเกลี้ยงเลยสิ ไม่เหลือหรอก แต่นี่มันไม่มีหรอกเกิดดับๆ อะไรเกิด อะไรดับ

แล้วนี่เห็นไหมสิ่งที่รู้..

ถาม : ๑. ทำอย่างไรจึงจะมีสติรู้ทันในทุกสภาวะ.. สภาวะหลงน้อยลง และมีสติรู้เร็วมากขึ้น

หลวงพ่อ : มันรู้อย่างนี้มันไม่ใช่รู้ด้วยปัญญา ! ถ้ามันรู้อย่างนี้ ดูการเกิดและการดับ คือรู้ไปเรื่อยๆ เราไม่อยากจะพูดว่ามันเป็นมิจฉาสมาธิไง ถ้ามันรู้นี้มันรู้แบบไม่มีปัญญา มันรู้แบบซื่อบื้อไง อ้าว.. รู้เฉยๆ ใช่ไหม รู้ว่าหลงแล้วไม่หลง แล้วรู้อะไรต่อไป รู้มีสติหรือเปล่า

แต่ถ้าเป็น พุทโธ พุทโธ พุทโธ เห็นไหม พุทโธ พุทโธ หรือปัญญาอบรมสมาธินี่มันตามความคิดไป มันดูความคิดไปว่าความคิดถูกหรือคิดผิด.. แล้วคิดดีหรือคิดชั่ว.. พอคิดดีหรือคิดชั่วแล้วเห็นโทษของมันใช่ไหม มันก็ปล่อย.. พอมันปล่อยแล้วนี่มันปล่อยมีสติ เพราะคำว่ามีความคิดนี่มันมีสติตามไปใช่ไหม มันมีการทำงานใช่ไหม พอมีการทำงานแล้วมันมีปัญญาเคลื่อนไหว

ไอ้นี่รู้เฉยๆ เราว่าไฟฟ้ามันก็รู้นะ ไฟฟ้านี่มันมีพลังงาน จับแล้วช็อตตายเลย ไม่รู้ได้อย่างไร ก็มันมีพลังงานมันดูดเราเนี่ย แล้วนี่ก็เหมือนกัน รู้เฉยๆ นี้มันไม่ใช่หรอก ! รู้เพื่ออะไร

แต่ถ้ามีปัญญา.. ความรู้ในปัญญา ปัญญาอบรมสมาธินี่ตามความคิดไป.. ตามความคิดไป หรือพุทโธนี่ พุทโธมีสติ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธเริ่มละเอียดลงก็รู้ พุทโธเริ่มจะขาดก็รู้ แล้วพอพุทโธขาดไปแล้ว ตัวรู้อยู่ จะรู้อยู่คือรู้สติ ไม่ใช่ว่ารู้แล้วแต่ไม่รู้อะไรเลย

รู้ ! เห็นไหม นี่ที่เขาบอกว่า “มีสภาวะเกิดดับ ชีวิตมีแต่ตามรู้ ทุกอย่างเกิดดับ แม้แต่กายหลับ ขณะรู้ว่ากายหลับ แต่ขณะจิตตื่นอยู่เห็นกายหลับ ขณะที่จิตหลับมันเหมือนกัน” เขาอธิบายคำนี้ออกมา นี่มันแตกต่างกันอย่างไร

ถาม : แล้วจะทำอย่างไรให้มีสติรู้ทันในสภาวะความหลงน้อยลง และมีสติรู้ตามความเป็นจริง

หลวงพ่อ : ความหลงน้อยลง... เขาคิดว่าความหลงอันนี้ คือว่าถ้ามันรู้ทันมันก็ละกิเลสไง ไม่หลงคือชัดเจนไง

มันจะมีหลงอยู่ตลอดไป ตะกอนในน้ำ เวลาตะกอนมันนอนก้นขึ้นมา แล้วตะกอนจะไม่มีในน้ำนั้นไหม ถ้าตะกอนมันอยู่ในน้ำนั้นน่ะ เวลาตะกอนมันนอนก้นแล้วมันจะมีอยู่ในน้ำนั้นไหม.. มี ! เวลาขยับขึ้นมามันก็มีใช่ไหม

นี่ก็เหมือนกัน รู้สภาวะหลงหรือไม่หลง มันก็เหมือนกับตะกอนในน้ำนั่นล่ะ ถ้าในน้ำนั้นตะกอนมันไม่ได้เอาออกมา ตะกอนมันก็ต้องอยู่ในน้ำนั้นตลอดไป.. จะหลงหรือไม่หลงก็คือกิเลส ! มันก็อยู่ในใจนั้นตลอดไป แล้วหลงน้อยลง คือตะกอนนั้นอยู่ก้นแก้ว ตะกอนนั้นอยู่ก้นภาชนะ น้ำใสแจ๋วเลย แล้วมันได้อะไร.. แล้วมีอะไรต่อไปล่ะ.. มีอะไรต่อไป

แต่ถ้าทำสัมมาสมาธินะ พอจิตมันสะอาดบริสุทธิ์ จิตมันใส น้ำมันใส เห็นไหม แล้วเราต้องมีปัญญา ตะกอนในนี้เราจะทำอย่างไรให้เอาตะกอนนี้ออกไป ถ้าเอาตะกอนนี้ออกไป นี่คือการทำความหลงให้มันไม่มีไง แต่ถ้ารู้เฉยๆ แล้วให้ความหลงมันหมดไปเอง มันเป็นไปไม่ได้ ! รู้เพื่ออะไร.. หลงเพื่ออะไร..

ฉะนั้นเราถึงบอกว่าศีล สมาธิ ปัญญา.. สิ่งต่างๆ ศีล สมาธิ ! สมาธิไง ความสงบของใจนั่นคือสมาธิ ถ้ามันเกิดปัญญา.. ปัญญานี้มันจะต้องเห็นตัวกิเลสว่ากิเลสมันอยู่ที่ไหน กิเลสคือตัวทิฐิมานะ ที่เห็นสักกายทิฏฐิ ที่เห็นผิด

ถ้าเห็นผิดขึ้นมาแล้วมันต้องจับตัวนี้ไง จับที่กาย เวทนา จิต ธรรม.. ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม นี่ที่ว่ารู้กายๆ คือรู้ถอยไง นักหลบ ! หลบมา ทุกอย่างพอผ่านไป.. ผ่านไป.. ให้เข้ากับธรรมะ นี่คือคาดเดาธรรมไว้แล้วไง

อันนี้เราพูดถึงความเห็นนะ... มันเป็นความเห็น ! ถ้าเป็นความเห็นแล้วคือว่าเหมือนกับเราตั้งเป้าไว้ที่ไหน จิตเราจะไปสู่เป้าหมายนั้น นี่ถ้ามีความเห็นอย่างนี้ จิตมันก็จะเป็นอย่างนี้ มันไม่ใช้ปัญญา... ถ้ามันใช้ปัญญา “ก็ใช้แล้ว ก็ดูรู้เท่าไง.. รู้รูปรู้นาม มันก็รู้รูปรู้นาม”

รูปนามนี้มันก็เหมือนกับพลังงานกระแสไฟฟ้า กระแสไฟฟ้านี้ถ้าพลังงานมันยังไม่ได้เข้าไปในเครื่องใช้ไฟฟ้า เราไม่ได้เอาพลังงานนั้นมาใช้ประโยชน์ พลังงานก็คือพลังงาน พลังงานนี้มันจะสูญเปล่าไป

นี่ก็เหมือนกัน รู้ ! รู้ ! รู้ ! รู้ ! นี่รู้อะไร.. รู้อะไร มันต้องทำความสงบของใจให้มากกว่านี้ พอสงบใจมากกว่านี้แล้วพิจารณากาย พิจารณากาย ! ไม่ใช่ว่ากายหลับ กายหลับหรือกายไม่หลับนี้มันเป็นขั้นของสมถะไง กายนอก-กายใน.. ถ้ากายหลับนี่มันให้หลับเข้ามา แต่ถ้าเรามีสตินะ เราต้องจับกาย แล้วพิจารณากาย

การพิจารณากายด้วยเจโตวิมุตติ คือว่าต้องมีสมาธิ พอมีสมาธิแล้วมันจะเห็นภาพกาย ถ้าเป็นเจโตวิมุตติมันจะเห็นสภาพกายในนิมิตนั่นแหละ ถ้าเห็นสภาพกาย แล้วถ้าสมาธิมีกำลังมันให้เป็นวิภาคะคือการขยายส่วนนิมิตนั้น ถ้าขยายส่วนในนิมิตนั้นมันจะเป็นไตรลักษณ์เพราะอะไร เพราะมันขยายส่วนแยกส่วน อันนั้นคือการพิจารณา !

แต่ถ้าเป็นปัญญาวิมุตตินี่ พิจารณากายด้วยปัญญา.. ใช้ปัญญาเทียบเคียง พอจิตมันสงบแล้วมันจับขันธ์ จับความคิด

ความคิดคือธรรมารมณ์ ! อารมณ์.. อารมณ์คือความคิด

ความคิด.. ถ้ามีสมาธิมันจะเป็นธรรมารมณ์

กาย เวทนา จิต ธรรม.. นี่สติปัฏฐาน ๔ ! ถ้าจับตรงนี้ได้แล้วแยกแยะมัน.. ถ้าแยกแยะมัน นี้เป็นการพิจารณากายโดยใช้ปัญญาเปรียบเทียบ ! ปัญญาเปรียบเทียบที่มันมีสมาธิเปรียบเทียบนี่มันจะลึกซึ้งกว่า ถ้าเราคิดเรื่องร่างกาย ปกตินี่มันเป็นการคิดโดยสามัญสำนึก แต่ถ้าเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ คือจิตมันสงบเข้าไปแล้ว แล้วจิตมันจับขันธ์ได้ การเห็นพิจารณาจิตนี่มันจับขันธ์ได้ คือจับตัวจิต

“จิตเห็นอาการของจิต ! เห็นอาการของความคิด” เพราะมันจะจับมาเปรียบเทียบ ถ้าจับมาเปรียบเทียบนี่มันต้องจับธรรมารมณ์.. อารมณ์ความรู้สึกนี่จับได้ พอจับได้แล้วแยกแยะไป นี้คือการพิจารณากาย ถ้าการพิจารณากายอย่างนั้น มันถึงจะถอนความหลงหรือความไม่หลง มันจะไปชำระกันที่นั่น แต่ถ้ารู้เฉยๆ นะไม่มีอะไรชำระได้เลย ! ไม่มีอะไรชำระได้เลย.. ไม่มี ! ไม่มี !

นี้ถ้ามันจะมีแล้วมันจะพัฒนาไปอย่างนั้น !

นี่ข้อที่ ๑... ต่อไปข้อที่ ๒ คำถามมันยาว

ถาม : ๒. จิตของลูกไม่เคยสงบ จนเห็นตัวจิตในขณะนั่งภาวนา (นี่มันก็ตอบหมดแล้วแหละ) จิตของลูกไม่เคยสงบจนเห็นตัวจิตในขณะนั่งภาวนา แต่ลูกสังเกตเห็นจิตผู้รู้ว่าเป็นแบบที่เขียนมา ไม่ทราบว่าลูกเห็นถูก เข้าใจถูก และพอจะเชื่อในสิ่งที่ลูกเห็นได้หรือไม่ (นี่ยังไม่เชื่อตัวเองเนาะ)

ทำอย่างไรเราถึงจะเห็นเหมือนกับที่จิตผู้รู้เห็นตลอดไป เพราะลูกสังเกตได้ว่า ในขณะนั้นเราจะไม่มีเศร้า เสียใจ หรือดีใจ เราจะไม่ให้ค่าอะไรเลย ไม่มีอะไรเป็นอะไรกับอะไร เป็นเพียงสภาวะนั้นๆ ลักษณะที่จิตผู้รู้เป็นนี้ ถือว่าจิตแยกขันธ์ได้หรือยัง (โอ้โฮ !) และอาการที่จิตทิ้งขันธ์เป็นอย่างไร

“ไม่มีอะไรเป็นอะไร เป็นเพียงสภาวะนั้นๆ ลักษณะที่จิตรู้นี้ใช่จิตแยกขันธ์หรือยัง”

หลวงพ่อ : ไอ้จิตที่แยกจากขันธ์.. ธรรมะนี่มันมีหยาบมีละเอียด ! เราอยู่กับครูบาอาจารย์มานะ ครูบาอาจารย์บอกว่า

“มีดเชือดไก่ มีดเชือดโค มีดเชือดสัตว์เล็ก สัตว์ใหญ่ มันแตกต่างกัน… กิเลสในหัวใจเรานี้มันมีตัวเล็ก ตัวใหญ่แตกต่างกัน”

ฉะนั้นเวลาที่พูดว่าจิตแยกจากขันธ์.. คือเวลาเป็นพระโสดาบันไง พระโสดาบัน เห็นไหม

“ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕... ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕... คือสักกายทิฏฐิ ๒๐ ไง”

นี่มันเป็นบรรทัดฐาน ! สิ่งที่เป็นบรรทัดฐานว่าถ้าผลของมัน สิ้นโครงการสุดเป้าหมายแล้วมันต้องมาจบลงตรงนี้ !

ความจบของการปฏิบัติขั้นเริ่มต้น มันต้องถึงที่สุดว่า “ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕.. ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕”

ขันธ์ ๕ ! รูป.. คือความคิดเรา รูปคืออารมณ์ความรู้สึก

เวทนา.. คือสุข คือทุกข์ คือความสุขความทุกข์ในใจเรานี่แหละ

สัญญา.. คือข้อมูลที่ใจมันเก็บข้อมูลไว้

สังขาร.. คือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วมันปรุงมันแต่ง

วิญญาณ.. รับรู้ในอารมณ์ความรู้สึกอันนี้..

นี่คือขันธ์ ๕ ! “ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕.. ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕... นี้คือเป้าหมายเบื้องต้นของผู้ที่ปฏิบัติ !”

ฉะนั้นคำว่า “จิตกับขันธ์นี้แยกจากกัน” เพราะว่าสังคมสงฆ์เขาสับสน สังคมปฏิบัติมันสับสนกันมาว่านู้นก็ได้โสดาบัน นี่ก็ได้โสดาบัน ได้อะไรกันไปหมดเลย

ฉะนั้นเราถึงบอกกันว่า “จิตกับขันธ์แยกอย่างไร.. โสดาบันเป็นอย่างไร” มันถึงเป็นประเด็น พอเป็นประเด็นขึ้นมาแล้วเราก็จับว่าเราจะเอาสู่เป้าหมายนั้นๆ การสู่เป้าหมายนั้น สมมุติว่าเราจะทำธุรกิจ เราจะซื้อสิ่งของใด เราต้องมีเงินทุนขนาดนั้นเราถึงจะได้สิ่งนั้นมา

จิต ! ถ้าเราจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราจะมีพื้นฐาน เราจะมีสัมมาสมาธิ เราจะมีคุณสมบัติให้เป็นอย่างนั้นแล้วหรือ... ถ้าเรายังไม่มีคุณสมบัติจะเป็นอย่างนั้น เราทำอย่างไร เราคาดหมายอย่างไร มันก็ไม่มีคุณสมบัติเป็นอย่างนั้นหรอก !

ที่พูดนี่พูดถึงคุณสมบัติไง นี้พอเราปฏิบัติไป เพราะว่านี่เราพูดออกไปเยอะเรื่องนี้ เราพูดออกไปเพราะอะไร เพราะสังคมเขากำลังเข้าใจผิดกัน สังคมเขามีมุมมองแตกต่างกันไป เราถึงพูดสิ่งนี้ออกมาเป็นพื้นฐานว่ามันต้องตัดสินกันด้วยตรงนี้ !

ถ้าตัดสินกันด้วยตรงนี้ แล้วทีนี้คำถามมันก็จะมาตกที่เราแล้ว ทุกอย่างเราก็ต้องเข้าไปรับผิดชอบหมดเลย เพราะเราเป็นคนพูดเองว่า ต้องเป็นอย่างนี้.. ต้องเป็นอย่างนี้ ก็ต้องกลับมาที่เราหมดเลยใช่ไหม ว่าจิตแยกจากขันธ์หรือยัง... ยัง ! ยัง ! ยังเพราะอะไร ยังเพราะไม่รู้อะไรเลย

จิตมันแยกออกจากขันธ์ได้ เหมือนเราจะรู้ได้ว่าเรามีเงินหรือไม่มีเงิน นี่เราต้องมีเงินในกระเป๋าเราใช่ไหม ถ้าเรามีเงินของเราแล้ว เราจะเอาเงินของเราไปใช้จ่ายสิ่งใดก็ได้ใช่ไหม นี่เงินเราไม่มีเลย เงินเราไม่มีเพราะอะไร เพราะว่าพอเห็นไป นั่นก็ไม่ใช่เรา.. เราก็ไม่ใช่อะไร.. ไม่มีอะไร..ไม่เป็นอะไร.. กับอะไรทั้งสิ้น !

โอ้โฮ.. ก็ไม่รู้ว่ามันจะเป็นอะไรที่ไหนเหมือนกันนะ.. มันต้องค่อยๆ ทำไปไง สิ่งนี้มันเป็นธรรมดานะ ทุกคนพอปฏิบัติไปแล้ว.. เพราะสิ่งที่เราปฏิบัติไปนี้มันเป็นอีกมิติหนึ่ง พูดอย่างนี้เลยนะ.. มิติสามัญสำนึกของเราหรือปรัชญาต่างๆ เป็นมิติที่เราสามารถรับรู้ได้ด้วยความเป็นมนุษย์ พอเวลาจิตมันสงบไปแล้วมันเป็นอีกมิติหนึ่ง

“มิติระหว่างโลกกับธรรม” ตรงนี้แบ่งแยกให้ถูกระหว่างโลกกับธรรม

โลกคือสามัญสำนึก โลกคือความคิดที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ เกิดขึ้นโดยสิ่งที่มันเกิดดับ.. เกิดดับ นี่มิติหนึ่ง.. มิติของสามัญสำนึก มิติของมนุษย์ !

มิติของธรรม.. มิติของธรรมนี่จิตมันต้องสงบเข้ามา พอจิตสงบเข้ามาแล้ว มันสงบเข้ามามากหรือน้อยก็แล้วแต่ เราฝึกหัดได้ พอจิตมันสงบเข้ามา แล้วถ้าเราใช้ความคิด หลวงตาท่านใช้คำนี้ หลวงตาท่านบอกว่า

“โลกุตตรปัญญามันก็คือสังขารนี่แหละ.. มันก็คือความคิดนี่แหละ.. แต่มันเป็นความคิดบนสมาธิ ! แต่ถ้าเป็นความคิดของมนุษย์มันก็เป็นสังขารนี่แหละ.. แต่สังขารนี้คิดโดยสามัญสำนึก คิดโดยจิต คิดโดยเรา”

แต่ถ้าเป็นโลกุตตรธรรม เป็นภาวนามยปัญญามันก็สังขารนี้แหละ เห็นไหม มันถึงมีจิต.. มีจิตคือตัวพลังงาน กับมีขันธ์ เพราะมันต้องมีสิ่งที่ชำระล้างกัน ฉะนั้นสิ่งที่เป็นโลกุตตรธรรมมันก็คือสังขารนี่แหละ แต่สังขารนี้มันมีสมาธิรองรับ ! นี้คำว่ามีสมาธิรองรับ แต่นี่เรานึกว่าเฉยๆ เฉยๆ ไง สิ่งนี้มันถึงบอกว่า ถ้าเป็นสมาธินี่จะบอกว่าเป็นมิจฉาก็ได้

ถ้าเป็นสมาธินะมันไม่เฉยๆ ! มันจะมีสติ มันจะมีกำลังของมัน พอมีกำลังของมัน เห็นไหม เวลามีความคิดขึ้นมา นี่โลกุตตรธรรม ! นี่โลกกับธรรม..โลกกับธรรม !

เพราะธรรมอันนี้ สังขารความคิดนี้มันเกิดจากสมาธิ พอมันเกิดจากสมาธิใช่ไหม แล้วเกิดสมาธิ นี่สมาธิเห็นกาย เวทนา จิต ธรรมหรือเปล่า... ถ้าเห็นกาย เวทนา จิต ธรรม นี่เริ่มต้นวิปัสสนา ถ้าจับตรงนี้ได้ มันใช้พิจารณาได้ มันจะไปแยกขันธ์กันตรงนั้นไง ! มันจะแยกขันธ์กันต่อเมื่อเรารู้เราเห็นแล้วมันเป็นความเป็นจริง เราต้องมีการทำจริง

ถ้าเรายังขาดสติ เรายังไม่มีกำลังของเราเลย เรายังไม่รู้เลยว่าอะไรเป็นขันธ์หรือไม่เป็นขันธ์นี่ เราแยกได้อย่างไร

เราบอกว่าเราจะไปอเมริกากัน อเมริกาอยู่ที่ไหน อเมริกาอยู่ใต้บาดาล อู้ฮู.. ไปตั้งอีกกี่ชาติก็ไม่ถึงหรอก ! ถ้าเราจะไปอเมริกากัน เราต้องรู้ว่าอเมริกาอยู่ที่ไหนใช่ไหม นี่อยากจะไปอเมริกา แล้วอเมริกาอยู่ไหน อเมริกาอยู่ใต้บาดาล อู้ฮู.. ต่างคนต่างดำน้ำลงไป มันจะทะลุโลกไปอยู่อเมริกาไง ไม่มีทาง !

อันนี้ก็เหมือนกัน ไม่รู้อะไรเลย ไม่เป็นอะไรเลย ไม่ใช่อะไรเลย แล้วจะจับอะไรล่ะ.. แล้วจะจับอะไร นี้ถ้าจะแยกขันธ์ได้มันต้องเห็นขันธ์ ต้องรู้จักขันธ์ก่อน แล้วจับขันธ์ได้ รู้จักขันธ์ ไอ้นี่แยกหรือยัง.. ยังหรอก

อันนี้เราจะบอกว่ามันเป็นสมถะนะ ถ้าพูดถึงกำหนดอะไรต่างๆ มีสติเข้ามานี่ มันจะปล่อยเข้ามา.. ปล่อยเข้ามา ถ้าปล่อยเข้ามาแล้วเป็นสมาธิ ถ้าเป็นสมาธิยังดีกว่านี้เลย สมาธิมันจะรู้ตัวมันเอง นี่มันไม่รู้ตัวมันเอง มันถึงบอกว่า “เป็นการแยกขันธ์หรือยัง” ยัง !

 

มันมีอีกหลายข้อ จะตอบปัญหานี้ให้จบ

ถาม : ๓. ชีวิตประจำวันของเรา ลูกสังเกตเห็นว่า สิ่งต่างๆ หรือเรื่องราวต่างๆ ในความจริงแล้วไม่มีถูก ไม่มีผิด มันเป็นเพียงสภาวะหนึ่งที่เกิดขึ้นในขณะนั้น และก็เป็นแบบนี้หมุนเวียนไปตลอด แต่ด้วยเพราะเรายังอยู่กับโลก อยู่ในสังคม จึงต้องมีการให้ค่าว่าถูกหรือผิด และมีการลงโทษตามกฎของสังคม ที่ลูกเขียนมานี้ไม่ทราบว่าเห็นถูกเห็นผิดหรือเปล่า ทำไมเนื้อธรรมจริงๆ จึงแยกจากความเป็นโลก

หลวงพ่อ : “เนื้อธรรมจริงๆ มันต้องมีเหตุมีผลมา เนื้อธรรมจริงๆ นี้ ไม่ใช่เกิดขึ้นโดยความเห็นของเรา”

ที่มันเป็นอย่างนี้ เห็นไหม นี่ตอบคำถามที่ว่า ถ้าจิตเป็นสักแต่ว่า มันไม่เป็นอะไรเลย.. ถ้าเป็นสมาธิมันจะเข้ามาอยู่ในสมาธิ มันจะไม่เป็นธรรมหรอก ถ้าไม่เป็นธรรมนี่มันแก้ไขสิ่งใดไม่ได้ เพียงแต่ว่ามันมีสติ แล้วก็จิตใจมันสงบพอสมควร มันถึงมีอารมณ์ความรู้สึกอย่างนี้ไง... มันมีอารมณ์ความรู้สึก อย่างเช่นเรานี่ปกติเราเห็นคนเขาฉ้อโกงกัน เขาทำร้ายกัน พอเห็นแล้วเราไม่ควรทำเลย เห็นไหม เราก็เห็นได้

อันนี้ก็เหมือนกัน มันเห็นจิต จิตของเรานี้มันเดี๋ยวก็ถูก เดี๋ยวก็ผิด เดี๋ยวก็มีการยึดมั่นถือมั่นในชีวิตประจำวันไป อันนี้มันเป็นสภาวธรรมเฉยๆ ถ้าเป็นสภาวธรรมนี่ เราจะต้องมั่นคง เพราะเห็นสภาวธรรมนี้

ถ้ามันเป็นไปได้ก็เป็นแค่ศรัทธา เรามีศรัทธามีความเชื่อมั่นในศาสนา ถ้ามีศรัทธามีความเชื่อในศาสนานี่เราทำมากเข้าไป เรามีศรัทธามีความเชื่อในศาสนา แล้วตัวเราเป็นธรรมนะ ตัวเราเป็นธรรมคือมันจะแยกถูกแยกผิด พอแยกถูกแยกผิดแล้ววางไว้ เห็นไหม

“จิตนี้กลั่นออกมาจากอริยสัจ ! คือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค”

ทุกข์ ! ทุกข์ควรกำหนด.. สมุทัยควรละ ละด้วยมรรค เกิดนิโรธธาตุ.. นิโรธ ! นิโรธคือดับทุกข์ทั้งหมดเลย แล้วจิตนี้มันกลั่นออกมา ถ้ามันกลั่นออกมา มันสมุจเฉทปหานคือมันขาด นี่เป็นธรรมแท้ !

ธรรมแท้อันนี้ถึงเป็นอกุปปธรรมที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่มีการเคลื่อนไหว จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง โสดาบันเป็นโสดาบันตลอดไป สกิทาคามีเป็นสกิทาคามีตลอดไป อนาคามีเป็นอนาคามีตลอดไป พระอรหันต์เป็นพระอรหันต์ตลอดไป

โสดาบันเป็นโสดาบันตลอดไป หมายความว่า เป็นโสดาบันแล้วไม่เสื่อมจากโสดาบัน แต่เป็นสกิทาคามี เป็นอนาคามีได้นะ ไม่ใช่เป็นโสดาบันแล้วเป็นโสดาบันตลอดไป เป็นอะไรไม่ได้ โสดาบันคือมันไม่เสื่อม ไม่ถอย ไม่ด้อยค่าลงมา แต่เพิ่มขึ้นได้ ! สกิทาคามีเพิ่มเป็นอนาคามีได้ อนาคามีเพิ่มเป็นพระอรหันต์ได้ พอถึงพระอรหันต์แล้วจบหมดเลย ! อันนั้นเป็นความจริง !

แต่นี้มันไม่มีเหตุผลรองรับ นี้มันเป็นความรู้สึกไง มันเป็นความรู้สึกที่เราศึกษา เราปฏิบัติมาแล้วได้อันหนึ่ง เราจะไม่บอกว่าอันนี้ผิดหมดนะ อันนี้มันเป็นพื้นฐาน ในการปฏิบัติของคน มันก็ต้องมีลองผิดลองถูกไปอย่างนี้ อย่างเช่น เราสอนการคำนวณ เห็นไหม การคำนวณนี่เราก็ต้องคำนวณผิดคำนวณถูกมาก่อนจริงไหม นับเลขมันต้องนับผิดมาก่อนมันถึงจะถูกได้

จิตเวลาปฏิบัติไปมันต้องคำนวณ นับผิดนับถูกก็คือตัวเลขไง ปฏิบัติแล้วก็คือปฏิบัติ ผิดหรือถูกนี้เพียงแต่ผลคำนวณนั้นออกมาถูกหรือผิด ฉะนั้นถ้าผลที่คำนวณออกมาผิดมันก็คือผิด ถ้าผลคำนวณออกมาถูกก็คือถูก

ฉะนั้นเวลาปฏิบัติไปแล้ว เราจะบอกผิดไปหมดเลยก็ไม่ใช่ เพราะพอผิดหมดเลยแล้วไม่ต้องคำนวณกันเลยหรือ ไม่ต้องมานับเลขกันเลยหรือ... มันต้องนับ ! ทีนี้พอนับไปแล้ว มันเป็นอย่างนี้แล้ว นี่นับแล้ว.. แต่ตัวเลขมันยังคลาดเคลื่อนกับสัจธรรมไง ตัวเลขมันยังไม่เป็นความจริง

มันไม่ใช่ลงกับพระพุทธเจ้าได้ด้วยความเป็นจริง แต่มันลงกับความเห็นของเรา เห็นไหม ที่ว่าชีวิตประจำวันไม่มีอะไรเลย มีแต่การหมุนเวียนไปอย่างนี้ ถูกหรือผิดก็ตามกฎสังคมลงโทษ.. อันนี้มันเป็นตรรกะ มันเป็นความคิดได้ แล้วเราเกิดความคิดขึ้นมาได้ ฉะนั้นบอกว่าผิดไหม... ไม่ผิด !

ถ้าบอกว่าไม่ผิดนี่ ! เขาอีเมล์กลับมาต่อว่าเยอะ อะไรก็บอกว่าไม่ผิด แล้วให้รับก็ไม่ยอมรับ จะบอกว่าถูกก็ไม่ยอมรับว่าถูก จะบอกว่าผิดหลวงพ่อก็ไม่บอกว่าผิดซักที ก็หลวงพ่อพูดมาชัดๆ ว่าถูกหรือผิด

เขาอีเมล์กลับมา บอกว่าหลวงพ่อตอบชัดๆ สิ บอกว่าผิดหรือถูก ! ถ้าเราบอกว่าผิด มันก็ล้มไปหมดเลยใช่ไหม เราก็บอกว่าที่ปฏิบัติมานี้ไม่ผิด.. แต่ถ้ามันจะให้ถูกมันยังจะมีข้างหน้าไปอีกไง

เราจะบอกว่าเริ่มต้นมา อย่างเช่นคำนวณนี่ไม่ผิดหรอก แต่ผลมันน่ะผิด เพราะตัวเลขมันออกมาผิด แต่การคำนวณไม่ผิดหรอก เอ็งทำมานี่ไม่ผิดหรอก เพราะถ้าคำนวณผิดแล้วเราไม่คำนวณกันเลย เราไม่ทำกันเลย มันก็เกิดเป็นคนดีขึ้นมาไม่ได้

ฉะนั้นเอ็งต้องหัด ต้องฝึกหัด.. อย่างนี้ไม่ผิด ! แต่ผลที่ตอบออกมานี่ผิด !! ผลที่ตอบมันยังไม่ใช่ !! ถึงต้องคำนวณต่อไป.. ! ที่ตอบคืออย่างนี้ !

แต่เขาไม่ยอม เขาบอกว่าต้องให้ตอบมาเลยว่าถูกหรือผิด หลวงพ่อนี่ไม่ใช่ลูกผู้ชาย ไม่ตอบจริงๆ ซักที

กลับกันนะ... ลูกศิษย์มาวันนั้น เราก็บอกว่าเราเปิดเว็บไซด์ไปนี่ มีแต่คนด่าเข้ามาเขาบอกว่า ทำไมคนอื่นเขาไม่ด่าล่ะ ลูกศิษย์เขาบอกว่า “หลวงพ่อ.. เว็บไซด์ของคนอื่นนี่นะ เขาตอบกลางๆ แล้วให้ไปคิดกันเอาเอง นี้ของหลวงพ่อฟันธงไปอย่างนี้ ใครๆ เขาก็ด่ามาสิ เขาด่ามาก็เพราะว่าตอบตรงๆ นี่แหละ !”

แต่ไอ้นี่มันบอกว่าหลวงพ่อไม่ตอบตรงๆ ซักที ไอ้ลูกศิษย์ก็บอกว่าที่เขาด่าหลวงพ่อมานี่ก็เพราะว่าหลวงพ่อตอบตรงๆ นี่แหละ ที่หลวงพ่อโดนด่าทุกวันนี้ก็เพราะตอบตรงๆ นี่แหละ ในโลกนี้เขาไม่มีใครตอบตรงๆ หรอก เขาพูดกลางๆ แล้วให้ไปคิดกันเอง แต่ของเรานี่ตอบตรงๆ แต่เวลาเขาอีเมล์เข้ามานะบอกว่า

“หลวงพ่อตอบตรงๆ สิ ! หลวงพ่อตอบตรงๆ สิ ! ไม่ตอบตรงๆ ซักที”

ถ้าตอบตรงๆ เอ็งก็ร้องไห้น่ะสิ ! ตอบอยู่นี้ก็ตอบเพื่อให้เอ็งมีกำลังใจกันไง ถ้าตอบตรงๆ แล้วเอ็งก็ผิดกันหมด เอ็งก็ร้องไห้ใช่ไหม แล้วพ่อแม่เวลาเขาจะเลี้ยงลูก จะให้ลูกโตขึ้นมา แล้วลูกมันก็ไม่โตซักที เราตอบปัญหาอยู่นี้ก็ตอบปัญหาเพื่อให้พวกเอ็งภาวนากันเป็น ให้พวกเอ็งภาวนากันได้ จะฝากศาสนาไว้ให้กับพวกเอ็งน่ะ แล้วก็ไปทำลายพวกเอ็งไม่ให้ภาวนากันเลย แล้วกูจะฝากศาสนาไว้กับใครล่ะ !

 

ต่อไปข้อ ๔ เข้าเรื่องๆ

ถาม : ๔. ในขณะที่ลูกนั่งภาวนา ลูกทำได้เพียงแค่ตามรู้ความคิด บางวันจะสงบลึกบ้าง ก็มีเหตุที่จะต้องให้ออกจากสมาธิ เป็นแบบนี้เสมอๆ ลูกจึงไม่มีโอกาสได้พิจารณาอะไรในขณะนั่งภาวนา นอกจากตามรู้ความคิด เมื่อออกจากการภาวนา ลูกจึงได้พิจารณาในสิ่งที่ลูกเห็นในสมาธิ คิดทบทวนเหตุการณ์ สังเกต พิจารณา วิเคราะห์ สิ่งที่พบในชีวิตประจำวันร่วมด้วย แต่ ! ลูกไม่มั่นใจว่าสิ่งที่ทำอยู่ถูกทางหรือไม่ ความรู้ที่เกิดจากการพิจารณานี้พอจะเชื่อถือได้หรือไม่ ขอความเมตตาหลวงพ่อด้วยค่ะ

หลวงพ่อ : ใช้ได้ ! ใช้ได้ ! เมื่อกี้ว่าผิดหมดเลย ตอนนี้ว่าใช้ได้อีกแล้ว เพราะอะไร เพราะถ้าบอกว่าใช้ไม่ได้แล้วเขาจะเลิกเลยไง กลัวเขาไม่ภาวนา.. กลัวเขาไม่ภาวนา กลัวเขาจะเลิก เลยบอกว่า อู๋ย.. เก่งๆ ใช้ได้ๆ ดีที่สุด ดีที่หนึ่งในโลกเลย เพราะกลัวเขาไม่ภาวนา

“สิ่งที่ลูกทำมานี้เชื่อถือได้หรือไม่ ขอความเมตตา”

เรานี่เชื่อถือตัวเราเองไม่ได้หรอก แม้แต่พระเรานี้เราจะเชื่อมั่นตัวเราเองไม่ได้ เราต้องเชื่อมั่นในธรรมวินัย เรายังต้องเทียบเคียงเลย เห็นไหม ถึงเวลาต้องลงอุโบสถทุก ๑๕ ค่ำ ก็เพื่อให้พระมาสัมมนาเรื่องธรรมวินัย ใครผิดหรือใครถูกจะได้เข้าหมู่ได้ชัดเจน

อันนี้ก็เหมือนกัน นี่เราเชื่อถือได้หรือไม่ได้.. ความเห็นนี้มันเห็นอยู่แล้วแหละ ที่หลวงปู่ดูลย์ท่านพูดว่า

“เห็นจริงไหม... จริง ! เห็นจริงๆ ความรู้ความเห็นนี่เห็นหมดเลย แต่ความเห็นนั้นไม่จริงเลย” 4

หลวงปู่ดูลย์พูดเอง “ความเห็นนั้นจริงไหม... เห็นจริงไหม...” เห็น ! นิมิตเห็นหมดแหละ เห็นจริงๆ แหละ แต่มันเป็นจริงหรือเปล่า... ไม่จริงเลย

นี่ก็เหมือนกัน เราปฏิบัติมา เรารู้เราเห็นมา เราพินิจพิเคราะห์มา เราพิจารณามานี่จริงไหม... จริง ! แต่มันเชื่อถือได้หรือยัง ทีนี้คำว่าเชื่อได้หรือยัง.. คำว่าเชื่อถือนี่ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะว่าถ้าเชื่อถือมันจะพัฒนาดีขึ้นไม่ได้เลย

ถ้ามันพัฒนาดีขึ้น ค่ามันดีขึ้น ก็เหมือนกับเรามีเงินอยู่ ๑๐๐ บาท แล้วเราบอกว่าเงิน ๑๐๐ บาทนี่ถูก แล้วเขาเอาแบงก์ ๑,๐๐๐ มาแลกเอาไหม ก็เขาขอเอาแบงก์พันมาแลกแบงก์ ๑๐๐ เอาหรือเปล่า “ไม่เอา เพราะแบงก์ ๑๐๐ ฉันถูก !” อย่างนี้หรือ ถ้าเรามีแบงก์ ๑๐๐ อยู่ แล้วเขาเอาแบงก์ ๑,๐๐๐ มาแลกนี่... เอา ! ทิ้งแบงก์ ๑๐๐ เลยจะเอาแบงก์ ๑,๐๐๐

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าความเชื่อถือนี่เชื่อถือโดยแบงก์ ๑๐๐ แต่มันยังมีแบงก์ ๑,๐๐๐ อีกนะ แบงก์ ๑,๐๐๐ หมายถึงว่าถ้าเราปฏิบัติขึ้นไป ถ้าเราละเอียดลึกซึ้งขึ้นไป เราก็จะไปเชื่อถืออันนั้นมากกว่าไง เราเชื่อถืออันนี้ เราเชื่อถือไว้ เพราะเราเห็นแล้วมันเป็นพื้นฐาน เห็นไหม แต่ถ้าเราภาวนาดีขึ้นแล้วเราต้องไปเอาอันนั้น.. ต้องไปเอาอันนั้น ! การปฏิบัติของเราจะมีการพัฒนา จะดีขึ้น.. ดีขึ้น !

“มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด”

มรรคหยาบๆ... เวลาไม่มีมรรคเลย เกือบเป็นเกือบตาย พอมีมรรคขึ้นมาแล้วเป็นมรรคหยาบๆ ของหยาบๆ นี่เป็นพื้นฐาน แล้วมรรคละเอียดล่ะ ! พอเราติดมรรคหยาบแล้วเราก็กอดไว้เลย แบงก์ ๑๐๐ นี่กอดไว้เลยไม่ให้ใคร ไม่แลกกับใคร เขาเอาแบงก์ ๑,๐๐๐ มาก็ไม่เอา

มรรคละเอียดคือแบงก์ ๑,๐๐๐ ถ้าอย่างนี้มรรคละเอียดไม่เกิด.. มันต้องมีมรรคหยาบ พอมรรคมันพัฒนาขึ้นไปแล้วมันจะเป็นมรรคละเอียด.. ละเอียดขึ้นไปเรื่อยๆ !

ฉะนั้นเวลาเราภาวนาขึ้นไป สิ่งที่เห็นนั้นถูกไหม.. ถูก ! ถูกขณะที่เห็นนั่นแหละ แต่ปฏิบัติขึ้นไปจะเห็นละเอียดกว่านี้ เห็นดีกว่านี้ พัฒนาขึ้นไปกว่านี้ ถ้ามันไม่เห็นได้ดีกว่านี้ เราก็ตั้งสติไว้ ตั้งสมาธิไว้ พัฒนาให้มันดีขึ้นมา

เมื่อวานมีคนมาถาม บอกว่าภาวนาไปแล้วมันจะเป็นอย่างไรต่อไป เราบอกว่าถ้ามันดีขึ้นมาแล้วก็มาถึงจุดนี้แหละ แล้วถ้ามันมาถึงจุดนี้ไม่ได้.. ถ้ามาถึงจุดนี้ไม่ได้เราก็พยายามหาเหตุของเรา ถ้ามันดีขึ้นไป มันดีขึ้นไปกว่านี้ก็ได้ หรือเข้ามาที่จุดนี้ก็ได้ แต่ต้องการจุดนี้.. จุดนี้.. ไม่ได้ !

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราต้องการสมาธิ.. ถ้าเราต้องการนี่ไม่ได้ ! ไม่ได้เพราะอะไร เพราะธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ.. แล้วสิ่งที่ได้มานี้ได้มาเพราะอะไร ได้มาเพราะสติ ได้มาเพราะสมาธิเรา แล้วถ้าสติกับสมาธิเรามันดีขึ้นล่ะ สติกับสมาธิเราเป็นสติ มหาสติ.. เป็นสมาธิ มหาสมาธิ.. มหาสมาธิมันต้องใหญ่กว่า มันต้องมีความรับรู้ดีกว่านี้ ถ้าดีกว่านี้มันก็พัฒนาขึ้นไป

แล้วสิ่งนี้เชื่อถือได้ไหม.. เชื่อถือได้ ! แต่ต้องพัฒนาขึ้นไปมากกว่านี้.. ภาวนาไปนะ ! ภาวนาไปแล้วจะเป็นประโยชน์กับเราเนาะ นี่พูดถึงการปฏิบัติ เห็นไหม การปฏิบัติเบื้องต้น ความแน่ใจในตัวผู้รู้เนาะ เอวัง