เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๓๑ ต.ค. ๒๕๕๓

 

เทศน์เช้า วันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๓
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เมื่อวานไปที่นู้นมา เห็นไหม มีแต่คนมาถามแต่เรื่องกรรม ว่าทำดีแล้วทำไมไม่ได้ดี ทำแล้วผลตอบสนองมาไม่ได้สมความปรารถนา เราอธิบายเรื่องกรรมนี้ โอ้โฮ.. ยาวมาก

เรื่องกรรมไง ! กรรมเป็นอจินไตย อจินไตยจนเราเรียงลำดับไม่ได้หรอก แต่เวลาให้ผลขึ้นมานะ มันให้ผลกับเรา แต่ถ้าเรามีสติปัญญานะ เช่น อุทกภัย เวลาน้ำท่วมขึ้นมา เห็นไหม เวลาน้ำท่วมนี่ไม่แบ่งคนจนคนรวยนะ มันท่วมเสมอหน้ากันหมดเลย จะมั่งมีศรีสุขมันก็ท่วม จะคนทุกข์คนเข็ญใจมันก็ท่วม แล้วเวลาน้ำท่วมขึ้นมา เห็นไหม เวลาน้ำท่วมขึ้นมา เวลาเกิดอุทกภัยขึ้นมา คนมีน้ำใจ.. คนแสดงน้ำใจกัน

ค่าของน้ำใจนี้สำคัญมาก.. เวลาทุกข์ ถ้าคนทุกข์ก็เครียดมาก เพราะอะไร เพราะรับสภาวะไม่ได้ แต่ถ้าคนรับสภาวะได้... ถ้ารับสภาวะ เรามองไปมันมีคนทุกข์ คนจน คนเผชิญกรรมเสมอกัน คือไม่มีคนจนคนรวย รถติดก็ไม่มีคนจนคนรวย

น้ำนี้มันให้ค่าเสมอภาคนะ มันไม่แบ่งแยกว่า ท่วมบ้านคนจน.. แต่บ้านคนรวยมันไม่ท่วม มันท่วมหมดเลย เห็นไหม แล้วเวลาเราจะทำบุญกุศลกัน เราทำบุญกุศลก็เพื่อเหตุนี้ เหตุที่ว่ามีค่าของน้ำใจ ถ้าเราศึกษาธรรมะแล้วเราจะเข้าใจ.. เราจะเข้าใจนะเวลาเป็นครั้งเป็นคราวขึ้นมา มันเป็นวิกฤตขึ้นมา เราจะเผชิญกับสิ่งที่เป็นวิกฤตในหัวใจเราได้ แต่ถ้าหัวใจเราอ่อนแอนะ มันมีสิ่งใดเกิดขึ้นมานะเราอ่อนแอไปหมดเลย

นี่เราทำบุญกุศลกันก็เพราะเหตุนี้นะ เราทำกุศลกันมา เราเสียสละขึ้นมา เห็นไหม ให้หัวใจนี้มันเป็นสาธารณะ ถ้าหัวใจมันไม่เป็นสาธารณะนี่มันเห็นแก่ตัว เวลาน้ำท่วมขึ้นมา คนที่เข้าไปหาผลประโยชน์จากอุทกภัยนั้นก็มี คนที่เห็นแก่ตัว เห็นไหม พยายามจะเปิดน้ำให้ออกจากบ้านของตัว เอาตัวไม่รอดหรอก !

มันเป็นไปไม่ได้หรอก เพราะน้ำมันมหาศาลขนาดนั้น มันจะไปพ้นจากบ้านไปได้อย่างไร แต่ถ้าร่วมมือร่วมใจกัน เห็นไหม ใครที่มันอยู่ในสภาวะที่ลุ่มที่ดอนมันก็แตกต่างกันไป ความแตกต่างอย่างนั้น แล้วความเสมอภาค นี่ดูระดับของน้ำมันเสมอภาคของมัน

ถ้าหัวใจของเรา.. หัวใจของเรานี้เรามีค่าของน้ำใจ เห็นไหม เราแสดงออก ค่าของน้ำใจนี้สำคัญมาก ! ถ้ามีน้ำใจขึ้นมา เห็นไหม คนทุกข์คนยากนี้ แค่เราไม่มีอะไรจะช่วยเหลือเขา แต่เราแสดงค่าของน้ำใจด้วยความเห็นใจเขา ทุกข์เขาเบาลงเยอะเลยนะ

ความเห็นใจ.. ความเห็นใจกัน ความช่วยเหลือเจือจานกัน.. ค่าของน้ำใจ เห็นไหม ค่าของสิ่งของมันก็มีความจำเป็น ปัจจัยเครื่องอาศัยมีความจำเป็นมาก มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต แต่ค่าของน้ำใจนะ ถ้าจิตใจของมันชุ่มชื่นขึ้นมานะ สิ่งนั้นมันก็ค่อยๆ มาบรรเทา แต่ถ้าค่าของน้ำใจมันตกต่ำ เห็นไหม สิ่งนั้นยิ่งขาดแคลน พอยิ่งขาดแคลนมันยิ่งมีความทุกข์ มันยิ่งบีบคั้นหัวใจ

คำว่าหัวใจ เห็นไหม สิ่งนี้มันมีสติปัญญา ถ้าเรามีสติปัญญาแล้วเราจะเข้ามาที่หัวใจของเรา เราจะบอกว่าเป็นคราวเป็นกาล เวลาเป็นกรรมมันให้ผล แล้วทางวิทยาศาสตร์เขาก็บอกว่า ๓ ปีท่วมหนหนึ่ง ๔ ปีท่วมหนหนึ่ง นั่นทางอุทกวิทยาของเขา เขาคิดของเขา อันนี้มันเป็นเรื่องของเขา แล้วทำไมเราไม่หลบล่ะ

แล้วเวลาจิตใจเรามั่นคงขึ้นมา ทำไมสภาวะแบบนี้เรารับได้ล่ะ.. แต่เวลาจิตใจเราอ่อนแอ ทำไมสภาวะแบบนี้เรารับไม่ได้ล่ะ ทำไมเรารับได้หรือไม่ได้ เห็นไหม นี่มันอยู่ที่อำนาจวาสนา บารมีของใจ.. ถ้าบารมีของใจ เวลาอารมณ์กระทบขึ้นมาทำไมเรามีสติปัญญายับยั้งมันได้ล่ะ ถ้าใจเราอ่อนแอ บางอารมณ์พอมันกระทบขึ้นมาแล้วทำไมเราคุมใจเราไม่ได้ล่ะ เพราะอะไร เพราะขาดการฝึกฝน

ทาน ศีล ภาวนา... เวลาทำทานกันนะ คือเราทำบุญกุศล เราเสียสละ.. การเสียสละคือเราให้ความสุขคนอื่น เราให้สิ่งต่างๆ เพื่อประโยชน์กับเรา นี่เราทำอยู่แล้วเรื่องทาน เห็นไหม แต่เรื่องของอารมณ์เราคุมไม่ได้

ทาน ! ศีล ! ศีลคือความปกติของใจ ถ้าใจมันปกติขึ้นมาแล้ว มันควบคุมของมันได้ มันจัดการของมันได้ แล้วถ้าไม่มีปัญญา ปัญญาเราช่วยเหลือใครล่ะ.. ปัญญาเราจะช่วยเหลือใคร เวลาคนทุกข์คนยาก เห็นไหม เวลาเราตกทุกข์ได้ยากขึ้นมา นี่เรายังจะต้องช่วยเหลือเขาอีกเหรอ ! มันก็คนทุกข์มาก เห็นไหม คนทุกข์น้อยก็ต้องช่วยคนทุกข์มาก คนทุกข์มากถ้าพอจะช่วยเหลือตัวเองได้ ก็พยายามช่วยเหลือตัวเอง ถ้าช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ก็ต้องอาศัยคนอื่นต่อไป

นี่คือการอาศัยกันจากข้างนอกนะ แต่เวลาหัวใจล่ะ.. หัวใจเราอาศัยใคร เวลานั่งสมาธิ ภาวนานี่อาศัยใคร เวลาเดินจงกรมนี่อาศัยใคร เราต้องอาศัยตัวเราเอง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ชี้ทางเท่านั้นเอง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นคนบอกทางเท่านั้นเอง มันไม่มีใครช่วยเหลือใครได้

เวลาเรื่องของเวรกรรมนี้มันใครช่วยเหลือของใครได้ มันเป็นเรื่องของการกระทำมาตั้งแต่อดีตชาติ ตั้งแต่การบำเพ็ญของเรามา ผู้ที่ปฏิบัติง่ายรู้ง่าย.. ผู้ที่ปฏิบัติยากรู้ง่าย.. ผู้ปฏิบัติง่ายรู้ยาก.. ผู้ที่ปฏิบัติยากรู้ยาก.. เห็นไหม นี้มันเป็นเพราะอำนาจวาสนาบารมี แล้วอำนาจวาสนาบารมีนี้มันเกิดมาจากไหนล่ะ

“ทำบุญ ๑๐๐ หน ๑,๐๐๐ หน ไม่เท่ากับถือศีลบริสุทธิ์หนหนึ่ง.. มีศีลบริสุทธิ์ ๑๐๐ หน ๑,๐๐๐ หน ไม่เท่ากับเกิดปัญญาหนหนึ่ง”

ปัญญาอย่างนี้ที่มันเกิดขึ้นมา.. ปัญญาอย่างนี้ที่เวลาเรา “อ๋อ !” เวลาเราอ๋อนี่มันกระเทือนหัวใจนะ ถ้าเราไม่อ๋อไม่กระเทือนหัวใจหรอก การกระเทือนหัวใจนี้มันเปิดสิ่งที่เป็นความหมักหมม แล้วโปรแกรมมันเปลี่ยนไง

คนเราเห็นไหม ถ้าพูดถึงเรามีความฝังใจ แล้วถ้าเราไม่ได้แก้ไขโปรแกรมของเรา ไอ้ความคิดนี้มันจะตอกย้ำ.. ตอกย้ำแล้วตอกย้ำอีก แล้วมันแก้ไม่ได้ ! แต่ถ้าเวลาเราภาวนาเข้าไป เวลาปัญญามันเกิดขึ้นมาแล้วมันเข้าไปเห็นนะ โอ๊ะ ! นี่เวลาผู้ที่บรรลุธรรม ทุกคนจะบอกเลย จะติตัวเองว่าทำไมเราโง่ขนาดนี้ ! ทำไมเราโง่ขนาดนี้ !

ความคิดความเห็นเราเอง เราเปลี่ยนแปลงความรู้สึกเราไม่ได้ ! ถ้าเราเปลี่ยนแปลงความรู้สึกไม่ได้ สิ่งนี้มันก็กดทับหัวใจเราอยู่นั่นแหละ มันก็ทุกข์อยู่อย่างนั้นแหละ.. นี่คนนอกเขาก็ช่วยกันนะ ปลอบประโลมอยู่ข้างนอกนะ บอกไม่เป็นไร.. ไม่เป็นไร ไอ้คนพูดมันไม่เป็นไรนะ แต่เราทุกข์เกือบตาย.. แต่ถ้าเราเปิดขึ้นมาแล้วนะ เราเข้าใจของเราแล้วมันปล่อยหมดเลย คนจะเข้ามาก็ไม่เป็นไร ไม่ต้องบอก ไม่ต้องพูด ไปไกลๆ เราช่วยตัวเราเองได้ เราทำของเราเองได้

การช่วยเหลือคนจมน้ำ เห็นไหม เราจะจมน้ำ หัวใจเรากำลังจะจมน้ำอยู่แล้ว หัวใจเรานี้เราจะช่วยเหลือตัวเองอย่างไร.. ถ้าเราช่วยเหลือตัวเอง เวลาเราศึกษาธรรม เห็นไหม

“ผู้ใดเห็นธรรมะ ผู้นั้นเห็นตถาคต” ผู้ใดเห็นหัวใจของเรา ผู้ใดเห็นผู้รู้ของเรา ผู้ใดเห็นความรู้สึกของเรา.. ความรู้สึก ความนึกคิด แล้วตัวจิตอีกล่ะ !

แต่ตรงนี้เราเข้ากันไม่ถึงไง เราเข้าถึงแต่อารมณ์.. เห็นไหม เวลาอารมณ์มันแปรปรวน อารมณ์มันกระชากหัวใจเราไป เราก็ไปตามอารมณ์เรานั่นล่ะ มันไม่ถึงตัวใจนะ แต่ถ้าเราทำความสงบของใจ ความปกติของใจนะ ศีลคือความปกติของใจ ! นี่จิตมันปกติของมัน ศีลมันก็สมบูรณ์ของมัน

ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ อันนี้คือข้อห้าม คือกฎหมายข้อห้าม แต่ตัวศีลแท้ๆ คือตัวจิตเป็นปกติ ถ้าจิตเป็นปกติแล้วมันไม่ผิดสิ่งใดเลย มันคงที่ของมัน ถ้ามันคงที่ของมัน เห็นไหม นี่ความปกติของใจ ถ้าใจมันปกติขึ้นมา เราทำความสงบของใจเราเข้ามาได้ เราจะเห็นตัวนี้ได้ ถ้าเห็นตัวนี้ได้นะ เราจะรู้ว่าความคิดไม่ใช่จิต

ความคิดเวลาฟุ้งซ่านนี้ไม่ใช่เรา ความฟุ้งซ่านคืออารมณ์มันแปรปรวนมา พอความแปรปรวนมันไปแล้ว ดูสิอย่างเช่นน้ำท่วม พอน้ำลดไปแล้วนะมันไม่เห็นมีอะไรเลย มันทิ้งไว้แต่ตะกอน มันทิ้งไว้แต่ความเสียหาย แต่ทีนี้เวลาความรู้สึกของเรา เห็นไหม พอมันมา แล้วเวลามันดับไปแล้วไม่เห็นมีอะไรเลย

เวลาความรู้สึกเกิดขึ้นมา อารมณ์เกิดขึ้นมา แล้วเวลาอารมณ์มันผ่านไปแล้วไม่เห็นมันมีอะไร... แต่มี ! มีถ้าอารมณ์มันเกิดขึ้น แล้วถ้าเราบริหารมันไม่เป็น อารมณ์เกิดขึ้นแล้วเราทำสิ่งที่มันมีแรงปรารถนา มันมีแรงขับของตัณหาความทะยาน เห็นไหม ถ้าเราทำกรรมดีหรือกรรมชั่วนี่มันตกผลึกอยู่ที่ใจ สิ่งนี้มันตกผลึกลงที่ใจ ถ้ามันตกผลึกลงที่ใจแล้วมันมีตรงนี้ไง มันมีกรรม ! กิเลสมันสร้าง กิเลสมันกระตุ้นตัณหาความทะยานอยาก

กิเลส เห็นไหม เกิดกิเลสวัฏฏ์ วิปากวัฏฏ์.. เกิดการกระทำ แล้วก็เกิดวิบาก เกิดผล.. นี่ไงผลอันนี้มันซับซ้อน มันมีตรงนี้ ! แต่ถ้าเราทำคุณงามความดีของเราล่ะ เราทำบุญของเรา เราปฏิบัติของเรา เราเกิดปัญญาของเรา แล้วปัญญาของเรานี่มันมาแก้ตรงนี้ ถ้าไม่ใช้ปัญญามันแก้ตรงนี้ไม่ได้

ทำบุญกุศลนะ.. บุญกุศลมันก็เป็นสมบัติ คนมีเงินมากๆ โทษนะ.. คนมีเงินมากๆ ที่ฉลาดก็มี คนมีเงินมากๆ ที่โง่ก็มีนะ เขามีเงินมากๆ แต่บริหารเงินเขาไม่เป็น คนโง่มีเงินก็มี.. คนฉลาดมีเงินก็มี..

นี่ก็เหมือนกัน เรามีบุญกุศลมากขนาดไหน ถ้าจิตใจมันโง่ มันจะเอาตัวมันรอดได้ไหม.. ถ้าจิตใจมันโง่ จิตใจเราไม่รู้ เวลาเราทำบุญกุศลมีคนล้อมหน้าล้อมหลัง มีคนเข้ามาคอยอุปัฏฐากเรา แต่หัวใจเราโง่ หัวใจเราเอาตัวเราเองไม่รอด นี่ไงบุญกุศล !

เนี่ยบุญกุศล... กุศล-อกุศล เกิดจากการกระทำ นี่เป็นอามิส ! แต่ถ้าเกิดมีปัญญาล่ะ ถ้าคนฉลาดล่ะ ของเขานี่เขามีเงินมีทองมากมหาศาล เขาบริหารจัดการของเขาได้ เกิดมาถ้าเรามีบุญกุศล เห็นไหม เราทำความสงบของใจเราได้ เรามีสมาธิของเรา แล้วเรามีปัญญาของเราด้วย

นี่คนฉลาด ! คนฉลาดเท่านั้นนะ มันต้องมีปัญญาเท่านั้นมันถึงจะแก้เราได้ ถ้ามีปัญญาขึ้นมาเพราะจิตมันสงบ เวลาเรามีปัญญาขึ้นมาแล้วมันจะแก้ไขหัวใจของเรา

นี่ไง พอแก้หัวใจของเราแล้วเรารู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก แล้วเรารู้เห็นไหม เรารู้ผลของมัน เราทำสิ่งที่ผิด ทำสิ่งที่เป็นอกุศล แล้วเราต้องรอไปรับผลเอาข้างหน้ามันไม่คุ้มกันหรอก มันไม่คุ้มกันเลย ให้เรามีสติยับยั้ง

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “สิ่งใดทำแล้วเสียใจภายหลัง สิ่งนั้นไม่ดีเลย”

เวลาเราทุกข์เราร้อนกันอยู่นี่ เราบ่นกันอยู่นี่ มันมาจากไหนล่ะ.. ที่ว่าทุกข์ๆ ยากๆ กันอยู่นี้มันมาจากไหน เราเห็นคนอื่นทำไมเขามีความสุขพอสมควรของเขาล่ะ เขาทำของเขามาทั้งนั้นแหละ ! นี่เราก็ทำของเรามา เราทำของเรามาอย่างนี้ ! เราทำของเรามาลุ่มๆ ดอนๆ อย่างนี้ ! ปัจจุบันนี้เราถึงต้องกัดฟัน

สิ่งที่เป็นกรรมนะเขาเปรียบเหมือนเกลือ.. เกลือนี้อยู่ในภาชนะ ถ้าน้ำมันมาก รสของเกลือนั้น รสของความเค็มนั้นก็อ่อนลง ถ้าน้ำมันน้อย รสของความเค็มก็เข้มข้น... อันนี้ก็เหมือนกัน เรื่องของกรรม เห็นไหม สิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้ว ถ้าเราทำคุณงามความดีก็เหมือนกับน้ำ คุณงามความดีนี้เราเจือจานมัน เรารักษามัน

เราเจือจานมันด้วยความมีสติปัญญา.. จะบอกว่าให้มีขันติ ! ไม่ไปตามกับมัน ถ้าเราไม่มีขันติ พอน้ำมันน้อยรสมันก็เข้มข้นขึ้นมา ความทุกข์มันบีบคั้นขึ้นมา สิ่งที่บีบคั้นขึ้นมานี้เราก็จะไปกับมันนะ... สิ่งที่เราไปกับมัน เห็นไหม นี่คืออำนาจวาสนา ถ้าอำนาจวาสนาอย่างนี้มันมี จิตใจมันจะเข้มแข็ง แล้วมันเผชิญกับอะไรได้ทั้งสิ้น อะไรก็เผชิญได้

เวลาเรานั่งสมาธิภาวนาอยู่ในห้องของเราคนเดียว อยู่ในกุฎิของเราคนเดียว เราอธิษฐานไว้ ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมง นี่เราบังคับเรานะ ! มันอดทนได้ มันมีขันติ มันมีการอดทนได้

เวลาเรามีกติกา เรามีข้อบังคับกันข้างนอก เราก็ต้องยอมรับกันตามกฎหมาย แต่เวลาสัจจะเราตั้งของเราขึ้นมา แล้วเราบังคับตัวเราเองว่าเราจะทำคุณงามความดี ! เราจะไม่ทำสิ่งนั้น... จะไม่ทำสิ่งนั้น ! แล้วเราบังคับตัวเองได้ไหม เพราะเราอ่อนแอไง เราบังคับเราไม่ได้ซักอย่าง เราตั้งสัจจะของเรา แล้วเราทำไม่ได้อย่างสัจจะของเราซักอย่าง

ถ้าเราตั้งสัจจะของเรา แล้วเราทำตามสัจจะนั้น เราก็เป็นพระอรหันต์หมดเลย เราต้องถึงเป้าหมายหมดเลย เพราะเราตั้งสัจจะของเรา แล้วเราพยายามทำของเรา มันต้องถึงเป้าหมายนั้นแน่นอน แต่เราไม่ได้เพราะว่าเราอ่อนแอ เพราะไม่มีการฝึกฝน เพราะขาดสติ เห็นไหม

เด็ก.. มันก็ทำความดีของมันได้เล็กน้อย ผู้ใหญ่ก็ทำความดีได้มากขึ้น.. จิตเรานี่นะถ้ายังล้มลุกคลุกคลาน ถ้ายังเป็นปุถุชนอยู่นี่สิ่งใดไม่ได้เลย ถ้าจิตมีความเข้มแข็งขึ้นมา เห็นไหม “ปุถุชน.. กัลยาณปุถุชน”

พอเป็นกัลยาณปุถุชน มันควบคุมตัวเองได้ง่ายขึ้น มันเริ่มมีปัญญาของมัน พอเริ่มมีปัญญาของมันแล้ว มันจะเข้าสู่โสดาปัตติมรรค.. พอเข้าสู่โสดาปัตติมรรคแล้ว มันจะเข้าสู่โสดาปัตติผล.. สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล.. อนาคามิมรรค อนาคามิผล.. อรหัตตมรรค อรหัตตผล.. นี่มันพัฒนาของมัน เป็นชั้นเป็นตอน.. เป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป

เป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไปนะ เว้นไว้แต่ขิปปาภิญญา ทีเดียวเป็นพระอรหันต์เลย อย่างเช่นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่งอยู่โคนต้นโพธิ์ เห็นไหม อาสวักขยญาณทีเดียว แต่เวลาสอนท่านก็สอนมรรค ๔ ผล ๔ เหมือนกัน เพราะคนเรามันมีหลากหลาย กำลังของคนแตกต่างกัน จิตใจของคนมีมากมายมหาศาล มันจะไม่มีอะไรเหมือนกันหรอก

ความเหมือนกัน.. จริตนิสัยคนไม่เหมือนกัน ความชอบของคนก็ไม่เหมือนกัน ใกล้เคียงกันแต่ไม่เหมือนกัน เหมือนลายนิ้วมือเลย ลายนิ้วมือไม่มีเหมือนกันเลย นี่กรรมของคนไม่มีเหมือนกันเลย ! ถ้าไม่เหมือนกันเลย การกระทำนี้ผลตอบสนองมันต้องแตกต่างกัน

ฉะนั้นให้เป็นผลของเรา.. ผลของคนอื่น ใครทำดีได้ดี ใครทำชั่วได้ชั่ว มันเป็นเรื่องของเขา เราดูเป็นแบบอย่าง แต่เราปฏิบัติเอาแบบนั้นไม่ได้ เราเห็นลายนิ้วมือเขาสวย ก็อยากให้ลายนิ้วมือเหมือนกับของเรา เราก็เอามีดเลาะเอาสิให้มันสวยเหมือนเขา มันเป็นไปไม่ได้หรอกเพราะเราเจ็บ มันเป็นไปไม่ได้หรอก ! แต่ถ้าเรารักษาของเรา เราทำของเรา เพื่อประโยชน์กับเรา เห็นไหม

จิตใจของเรา เราต้องรักษาของเรา.. ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “อริยสัจนี้เป็นความจริง” พอเป็นความจริง แล้วเราปฏิบัติของเราเป็นความจริงของเราขึ้นมา แล้วย้อนกลับมาดูที่เรา ทำให้ใจของเรา.. เอาที่ผล ! เอาที่ผล เห็นไหม ผลที่เป็นความสุข ผลที่เกิดขึ้นมาจากเรา เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก อันนี้สำคัญมาก

ฉะนั้นแนวทางปฏิบัติให้ได้คือตั้งสติของเรา เป็นปัจจุบันของเรา เรามีเงินอยู่เท่านี้ แล้วเราปรารถนาจะต้องให้เงินมากกว่าคนอื่น หรือมากกว่าจำนวนที่มีอยู่มันเป็นไปไม่ได้ !

เรามีเงินเท่านี้ เรามีวาสนาแค่นี้ เรามีสติแค่นี้ เรามีปัญญาเท่านี้ เราทำของเราแค่นี้ เงินของเรานี่เราพัฒนาได้.. ถ้ามีเท่านี้ สติ มหาสติ.. ปัญญา มหาปัญญา.. ปัญญามันพัฒนาได้ ของมันเกิดขึ้นมาได้.. มันทำได้ ! แล้วถ้ามันทำได้ขึ้นมานี่รู้จริงๆ ไม่ใช่รู้โดยตำรา ไม่ใช่รู้โดยใครมอบให้ มันรู้ขึ้นมาจากใจ.. ใจนี้มันคำนวณของมัน แล้วมันพัฒนาของมัน มันพัฒนาได้ !

สติ มหาสติ มันเป็นไปได้อย่างไร.. ปัญญา มหาปัญญา มันเกิดขึ้นได้อย่างไร.. อันนี้ปัญญาเรายังไม่เกิดเลย ปัญญาของเรากิเลสพาใช้หมดเลย ปัญญาเห็นแก่ตัว ปัญญาเหยียบย่ำตัวเอง ปัญญาเอาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เหมือนกู้ยืมมา มันมีดอก มันต้องใช้ผลทั้งดอกทั้งต้น

นี่ก็เหมือนกัน “ธรรมะ.. กูรู้ๆ ! ว่างๆๆๆ !” นั่นล่ะ กู้ยืมมาหมดเลย มันไม่เป็นความจริง.. ถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมานะ เงินของเรา เงินเย็นๆ ในกระเป๋านี้มันไม่มีดอกใช่ไหม มันมีผลแต่มันไม่มีดอก เห็นไหม มันไม่เพิ่มค่าโดยการเสียหาย... จิตของเราก็เหมือนกัน มันพัฒนาของเราขึ้นมา มีสติปัญญาของเราขึ้นมา มันไม่ต้องไปชดใช้ใคร

แล้วเวลามันพัฒนา เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบอกว่า “ให้ปฏิบัติ..ให้อุปัฏฐากหัวใจของเรา” ใครอุปัฏฐากหัวใจของเรา ใครดูแลความรู้สึกของเรา คือเท่ากับดูแลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า... พุทธะ ! คือผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน คือจิต คือความรู้สึกของเรา คือจิตวิญญาณ

จิตวิญญาณนะ ! เวลาน้ำท่วม เห็นไหม เขาน้ำท่วม เขาเกิดอุทกภัยกัน เขาก็มีความลำบากลำบน พระเราก็มีนะ นี่พระเราเห็นไหม ดูสิในวัดต่างๆ ก็น้ำท่วมเหมือนกัน วัดต่างๆ ก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน ในวัดก็มีน้ำท่วม ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ผลมันตอบสนองไปกับสังคมทั้งหมดเลย แล้วคนไปเห็นนี่สะเทือนใจไหม ทุกคนสะเทือนใจทั้งนั้น เห็นไหม มันมีผลตอบสนองทั้งนั้นเลย

ถ้าเราสะเทือนใจของเรา ถ้าเราช่วยเจือจานใครได้ เราก็จะเจือจานของเรา พระก็เหมือนกัน.. คนเหมือนคน มันมีความรู้สึกกันทุกคน ทุกคนมีหูมีตานะไม่ใช่คนตาบอด นี้มีหูมีตาพอมันเห็นแล้วมันคิดอะไร เห็นแล้วมันทำอะไร

สิ่งต่างๆ เราเห็นแล้วย้อนกลับมาดูชีวิตของเรา ชีวิตของเรายังไม่ทุกข์ยากขนาดนั้น แต่มันทุกข์ยากที่เราเป็นอยู่นี่แหละ แต่คนอื่นเขามองเขาก็บอกว่าเรื่องเล็กน้อยนะ แต่เราทุกข์มากเลยเพราะเราจำเจกับมัน แต่คนอื่นเขาจะไม่บอก เขาว่าของอย่างนี้มีความสุข.. มีความสุขมหาศาลเลย เขาก็มองว่าอยู่ได้

นี่ก็เหมือนกัน เรามองไปคนข้างนอกต่างคนก็ทุกข์แล้วนะ มันก็พยายามเหยียบย่ำตัวเอง มันไม่มีกำลังใจ มันไม่มีค่าน้ำใจ.. สรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจัง มันต้องแปรสภาพแน่นอน มันต้องเปลี่ยนแปลงแน่นอน ไม่มีสิ่งใดคงที่หรอก

ฉะนั้นสิ่งใดที่เป็นทุกข์ สิ่งใดที่เกิดอะไรขึ้นมานี้ เรามีขันติ มีความอดทน แล้วมีสติปัญญา สิ่งนี้มันต้องแก้ไข มันต้องเปลี่ยนแปลงไปแน่นอน แต่อย่าให้มันมีแต่ความเจ็บช้ำตกอยู่ในหัวใจของเรา ล้มลุกคลุกคลานก็เริ่มต้นสู้ใหม่

การภาวนาแต่ละครั้งแต่ละคราว เห็นไหม ถ้าจิตใจไม่มีหลักมีเกณฑ์ เราก็พยายามสร้างของเราขึ้นมา ล้มก็ลุก.. ล้มก็ลุก.. เราต้องสู้ ! ไม่มีทางหรอก เราเป็นปลาเป็นไม่ใช่ปลาตาย ต้องทวนน้ำ ทวนเข้ากระแส ทวนเข้าหาจิตใจของเรา ให้มีหลักมีเกณฑ์ของเราขึ้นมา

ในชาตินี้เกิดมาก็เป็นอย่างนี้แล้ว.. แล้วชาติต่อๆ ไป หรือในปกติที่หัวใจที่มันมีความมั่นคงขึ้นมา มันจะมีความสุขกับเรา มันจะทำให้เราหูตาสว่าง ไม่ต้องมาซ้ำๆ ซากๆ ในความเป็นอยู่อย่างนี้ ความเป็นอยู่มันจะพัฒนาขึ้นเพราะการกระทำของเรา

การกระทำของเราทั้งนั้นนะ ! ไม่มีใครช่วยเราได้หรอก จิตใจของเรานั่นล่ะ.. การกระทำของเรา จิตใจของเรา เพื่อประโยชน์กับเรา ! เอวัง