ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

เวรกรรม

๓๑ ต.ค. ๒๕๕๓

 

เวรกรรม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ข้อ ๒๕๘ เนาะ คำถามนี้มันแปลก

ถาม : ๒๕๘. เรื่อง “พันธุกรรมหรือเวรกรรม”

(ข้อ ๒๕๘ เด็กที่ยังสงสัย) หนูเป็นนักศึกษาที่ไปปลูกป่าเมื่อวันที่ ๙ และวันที่ ๑๐ ที่ผ่านมา แต่นึกคำถามไม่ออกไม่รู้ว่าจะถามอะไร มาตอนนี้หนูนึกออกแล้ว คือหนูอยากทราบว่าคนที่เกิดมาไม่ครบ บ้างก็สมองไม่ดี บ้างก็เป็นโรคพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับโครโมโซม แท้จริงแล้วเป็นเพราะเรื่องเวรกรรม หรือเป็นดั่งที่ทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์มาแล้วว่าเป็นเพราะพันธุกรรมที่เกี่ยวกับโครโมโซมที่เกิดจากการผิดปกติกันแน่ หนูข้องใจมากๆ ถามใครต่อใครก็ยังไม่มีข้อสนับสนุนที่เพียงพอให้หนูเชื่อเลย.. ช่วยให้หลวงพ่อตอบหนูที

หลวงพ่อ : มันถูกต้อง ! มันถูกต้องทางวิทยาศาสตร์นะ ทางวิทยาศาสตร์ก็ต้องบอกอยู่แล้ว ทางวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์นี่เขาต้องชัดเจน เป็นทางวิทยาศาสตร์ ทีนี้ทางวิทยาศาสตร์เขาบอกแล้ว เห็นไหม คนที่เกิดมาที่สมองพิการบ้าง เกิดมาไม่สมบูรณ์บ้าง เป็นเพราะโครโมโซมบกพร่อง ทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์แล้วว่ามันเกี่ยวกับโครโมโซม

มันเกี่ยวกับโครโมโซมก็ถูกต้อง ! เพราะคำว่าวิทยาศาสตร์... วิทยาศาสตร์คือปัจจุบันนี้ วิทยาศาสตร์คือโลกนี้ไง ถ้าวิทยาศาสตร์คือโลกนี้ เห็นไหม โครโมโซม นี่ดูสิดีเอ็นเอต่างๆ ที่มันเกิดขึ้นมา ดูยีนส์หรืออะไรที่ทำให้พันธุกรรมมันผิดเพี้ยนไป พอเวลาเกิดขึ้นมาแล้วก็มีโรคทางพันธุกรรม

ถ้าโรคทางพันธุกรรมนี่มันก็ถูก ! โรคพันธุกรรม.. ถ้าโรคพันธุกรรม แล้วโรค พันธุกรรมมันมาจากไหนล่ะ เห็นไหม นี่เพราะอะไร เพราะคำว่าทางวิทยาศาสตร์นะ ทางวิทยาศาสตร์เขาศึกษาทำวิจัยก็เพื่อว่าต้องอย่างนี้ ! ต้องอย่างนี้ ! แล้วต้องมีการแก้ไข เช่นการค้นคว้าหายา หาเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อมารักษาโรคไง

พอรักษาโรค.. เพราะเขาถือว่าโรคคือโลกไง ! โรคคือโลก โลกคือต้องเป็นแบบนั้นใช่ไหม ถ้าโรคต้องเป็นแบบนั้น แล้วแบบวิทยาศาสตร์นี่มันใช้ได้มาก มันใช้ซ้ำใช้ซ้อนได้

นี่คือโลก.. โลกคือตลาด.. ถ้าทางเทคโนโลยี นี่คือตลาดที่เอาออกมาซื้อขายกันได้ แต่ถ้าทางธรรมมันไม่มี เราใช้คำว่าพันธุกรรมทางจิต เห็นไหม เราบอกคำว่าพันธุกรรมทางจิตกับพันธุกรรมทางร่างกาย นี้พันธุกรรมทางร่างกายมันเป็นข้อเปรียบเทียบของเรา ถ้าเราเปรียบเทียบอย่างนี้ คือเราเปรียบเทียบให้เห็นว่า จริตนิสัย หรือความคิดของคนมันก็มีที่มาที่ไป

มันมีที่มาที่ไป อย่างเช่นพันธุกรรมทางโลก เห็นไหม พันธุกรรมทางพ่อแม่.. นี่พ่อแม่นี้ปกติหมดเลย พอเกิดลูกขึ้นมาแล้วลูกเกิดความบกพร่อง ถ้าลูกเกิดความบกพร่องเขาก็สาวหาเลยนะว่ามันบกพร่องมาทางสายพ่อหรือสายแม่.. ถ้าทางสายพ่อ นี้มันก็ยังสืบต่อกันไปได้

ไอ้อย่างนี้มันเป็นการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ คิดว่าวิทยาศาสตร์คือโลก.. โลกคือตลาด.. เห็นไหม ถ้าโลกคือตลาด คือคิดสิ่งใดขึ้นมาแล้วต้องคุ้ม.. คุ้มกับการลงทุน ถ้าไม่คุ้มกับการลงทุน สิ่งนั้นเขาไม่ใช้ประโยชน์ เห็นไหม ถ้าคุ้มกับการลงทุน คุ้มกับต่างๆ อันนี้เป็นวิทยาศาสตร์ เป็นโลก

แต่ถ้าพันธุกรรมทางจิต... คำว่าพันธุกรรมทางจิต นี่เราเปรียบเทียบไงเราเปรียบเทียบเฉยๆ มันเป็นเวรเป็นกรรม ถ้ามันเป็นเรื่องจิตคือมันมีเวรมีกรรมใช่ไหม

นี้เขาบอกว่า “เป็นพันธุกรรมหรือเพราะเวรกรรม”

มันเป็นเพราะเวรกรรม แต่เวรกรรมนี้เวลามันจะสนองตอบ มันสนองตอบด้วยวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ไง พิสูจน์ว่ามันบกพร่องทางโครโมโซม หรือมันบกพร่องเพราะสิ่งใด พิสูจน์แล้ว.. แล้วแก้ไขอย่างไร ถ้าแก้ไขก็พยายามรักษา บางคนก็หาย บางคนก็ไม่หาย คำว่าบางคนก็หาย คือพยายามทำให้มันกลับาใช้งานได้ตามปกติ

นี่พูดถึงพันธุกรรมใช่ไหม แต่เวรกรรมล่ะ... ถ้าเวรกรรม เห็นไหม แม้แต่ว่าเป็นพันธุกรรมนะ พันธุกรรมมันบกพร่องแล้ว ที่เกิดมานี้มันก็เกิดมาเพราะเวรกรรมนั่นล่ะ เพราะมันมีเวรมีกรรมมันถึงเป็นอย่างนั้น ถ้าเป็นอย่างนั้น ดูสิเวรกรรมนี้บางคนกรรมหนัก กรรมปานกลาง กรรมอย่างเบา กรรมนี้มันก็ทำให้ตัวเองได้ประสบ.. ประสบแล้วมันแก้ไขได้หรือแก้ไขไม่ได้ล่ะ

นี่ไงที่เขาบอกว่ากรรมแก้ไขได้ ! กรรมแก้ไขได้ ! แต่กรรมแก้ไขได้ด้วยการทำกรรมดี ! กรรมดีมันเจือจานกับสภาวะกรรมแบบนั้น เราก็ทำความดีของเราไป.. ทำความดีของเราไป

ทีนี้ทำความดีของเราไป เราจะคิดแบบวิทยาศาสตร์อีกแหละ เห็นไหม ค่าของมัน อย่างเช่นค่าของความร้อน อุณหภูมิเท่าไหร่ ค่าของต่างๆ แล้วเราก็บอกว่าค่าของมัน ! ค่าของมัน แล้วค่าของมันนี้ สิ่งที่ทนความร้อนได้มากได้น้อยก็อีกเรื่องหนึ่ง

จิตใจของคนก็เหมือนกัน ! กรรมหนา.. กรรมกลาง.. กรรมอย่างเบา.. นี่ความคงทนของมันมีมากน้อยแค่ไหน ความมีมากน้อยแค่ไหน สิ่งนี้มันจะพิสูจน์กัน

ฉะนั้นถามว่ามันเป็นเพราะเวรเพราะกรรม หรือมันเป็นเพราะพันธุกรรมล่ะ

ถ้ามันเป็นพันธุกรรมนี่ไม่ต้องพูดเลยเพราะหมอพิสูจน์แล้ว หมอพิสูจน์แล้วว่าเป็นทางพันธุกรรม เป็นเพราะมันผิดพลาดทางโครโมโซม.. ถูกต้อง ! ถูกต้องหมดแหละ

แต่ทำไมมันถึงเป็นล่ะ ! นี่ไงเวรกรรมมันเป็นตรงนี้ต่างหากล่ะ แล้วทำไมเรามาเกิดกับพ่อแม่คู่นี้ล่ะ ทำไมเราไม่เกิดกับพ่อแม่คู่อื่นล่ะ นี่มันก็มีเวรมีกรรมมา เห็นไหม แล้วทีนี้คำว่าเวรกรรม อย่างเช่นคำว่าอุบัติเหตุคือกรรม เขาบอกว่ามันเป็นอุบัติเหตุหรือเป็นเวรกรรม.. ถ้ามันบอกเป็นเวรกรรม แล้วเวรกรรมมันคืออะไรล่ะ แต่ถ้าบอกว่าเป็นอุบัติเหตุนี่มันจับต้องได้เพราะมันเป็นโลก เห็นไหม

มันเป็นอุบัติเหตุ ! แต่อุบัติเหตุนี้ทำไมมาเกิดกับเราล่ะ ทำไมไม่เกิดกับคนอื่นล่ะ คนอื่นเขาก็เพิ่งผ่านหน้าเราไป เขาพ้นจากอุบัติเหตุนี้ไป แล้วทำไมเรามาเจออุบัติเหตุนี้ล่ะ อุบัติเหตุนี้มันเป็นเพราะความประมาทนะ บางคนนี่ดูถนนหนทางนะ เขาขับด้วยความไม่ประมาท เขาไม่มีอุบัติเหตุเลย แต่นี้เพราะความประมาทของเราใช่ไหม ความประมาทเขาบอกว่าเป็นความประมาท มันก็เป็นเวรกรรมทั้งนั้นแหละ แล้วเวรกรรมนี้มันอยู่ที่การกระทำ

เขาถามว่า “มันเป็นพันธุกรรมหรือมันเป็นเวรกรรม”

มันเป็นพันธุกรรม ! มันเป็นพันธุกรรม แต่มันซ้อนมาด้วยเวรกรรมไง เวรกรรมมันซ้อนมา ทำไมเรามาประสบสภาวะอย่างนี้ ทีนี้พอประสบสภาวะอย่างนี้แล้วนี่เพราะอะไร เพราะทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว.. แล้วพอทำมาอย่างนี้ ประสบมาอย่างนี้ เราเป็นคนชั่วเหรอ

ความชั่วหรือความดีนี้มันเป็นอาการ มันเป็นการกระทำ เพราะทุกคนต้องมีที่ทำดีบ้างและชั่วบ้างเป็นธรรมดา ไม่มีใครทำความดีตลอดหรือความชั่วตลอด มันมีความผิดพลาดนี้เป็นธรรมดา ทีนี้พอธรรมดาแล้วเราจะแก้ไขอย่างไรเท่านั้นเอง

ฉะนั้นนี่พูดถึงว่า มันเป็นพันธุกรรมหรือมันเป็นเพราะเวรกรรมนะ แต่เวลาเราพูดถึงพันธุกรรมทางจิต ! พันธุกรรมทางจิตมันซับซ้อนกว่านี้อีก คำว่ามันซับซ้อน.. มันซับซ้อนเพราะอะไร มันซับซ้อนเพราะมันเป็นสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ทางวิทยาศาสตร์ไง

วิทยาศาสตร์นี่เขาพิสูจน์ได้นะ วิทยาศาสตร์เขาพิสูจน์ได้เรื่องพันธุกรรม เรื่องโครโมโซม เรื่องยีนส์ เรื่องต่างๆ เขาพิสูจน์ได้หมดแหละ

คำว่าพิสูจน์ได้นะ พิสูจน์ได้แล้วแก้ไข เห็นไหม บางคนเขาแก้ไขได้ อย่างเช่นนะ วิทยาศาสตร์ก็คือวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์นี่เป็นสิ่งที่โลกยอมรับ เราคุยกันด้วยสุภาพบุรุษไง เราคุยกันด้วยเหตุด้วยผล เราไม่ได้คุยกันด้วยว่าเอาอารมณ์ หรือเอาแต่ความเห็นของตัว แล้วว่าความเห็นของตัวนี้ถูกต้อง

ฉะนั้นถ้าเป็นวิทยาศาสตร์นี่ก็ยอมรับ แต่วิทยาศาสตร์มันมีขอบเขตของมันไง.. มันมีขอบเขตของมันอย่างเช่นโรคร้าย เห็นไหม โรคร้าย อย่างโรคมะเร็งหรือโรคต่างๆ พอรักษาแล้วถ้าไม่หายก็คือไม่หาย แล้วทางวิทยาศาสตร์เขายอมรับกัน.. ยอมรับกันว่า สิ่งนี้ถึงที่สุดแล้วถ้ารักษาไม่หายก็คือไม่หาย

ถ้าเป็นโรคร้ายอย่างนี้แล้วยอมรับกันอย่างนั้นเลย แต่ถ้าเป็นโรคปกติ โรคพื้นๆ ถ้าพูดถึงการรักษาบกพร่อง เห็นไหม เขาฟ้องหมอเลย ฟ้องหมอว่าหมอมีความประมาท หมอมีความผิดพลาด แต่ถ้าเป็นโรคร้ายอย่างนี้ฟ้องหมอไม่ได้ เพราะถือว่าทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์แล้วว่าโรคร้ายอย่างนี้มันจะต้องตาย เห็นไหม วิทยาศาสตร์ทำได้แค่นี้ไง แต่ถ้าเป็นเรื่องเวรกรรม เรื่องกรรม เรื่องการกระทำ เรื่องพันธุกรรมทางจิต

เวลาพระอรหันต์ในสมัยพุทธกาลนะ... ดูสิองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีพุทธลักษณะ โอ้โฮ.. สุดยอดเลย แต่เวลาพระอรหันต์สมัยพุทธกาล ดูสิที่ว่าเป็นปุ่มเป็นอะไรนี้มันเป็นพันธุกรรม เห็นไหม พันธุกรรมที่ไม่เหมือนกัน แต่ทำไมเป็นพระอรหันต์เหมือนกันล่ะ ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีพุทธลักษณะนะ โอ้โฮ.. สวยงามมาก แต่พระอรหันต์บางองค์จะได้ระดับอย่างพระพุทธเจ้าก็มี อย่างเช่นพระนันทะนี่เหมือนพระพุทธเจ้าเลย แล้วพระอรหันต์ที่ว่าเป็นเตี้ยเป็นค่อมนี่มี.. มีทั้งนั้นแหละ

ฉะนั้นพันธุกรรมอย่างนั้นมันเป็นพันธุกรรมทางร่างกาย แต่จิตใจเป็นพระอรหันต์เหมือนกันหมดเลย เห็นไหม พระนันทะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือพระอรหันต์สมัยพุทธกาลก็คือความเสมอภาค ทำไมพันธุกรรมร่างกายนี้ไม่เหมือนกัน พันธุกรรมทางร่างกายคือเรื่องของพุทธลักษณะ เรื่องของร่างกายของสาวกต่างๆ ทำไมมันไม่เหมือนกันล่ะ แต่ทำไมหัวใจมันเหมือนกัน เหมือนกันได้เพราะอะไร เหมือนกันได้เพราะว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสั่งสอน แล้วประพฤติปฏิบัติขึ้นมาใช่ไหม แล้วที่มาที่ไปล่ะ.. ที่มาที่ไปว่าทำไมถึงเป็นพระอรหันต์ล่ะ

ดูสิอย่างองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย แล้วสาวก-สาวกะล่ะ.. นี้เป็นพันธุกรรมทางจิตไง แต่นี้เขาบอกว่าเป็นเพราะพันธุกรรม... เพราะเราเองเป็นคนหาเรื่อง พันธุกรรมทางจิตก็เลยถามมาเลยว่า “มันเป็นพันธุกรรมหรือมันเป็นเพราะเวรกรรม.. แล้วหนูหาคำตอบไม่ได้”

หนูจะหาคำตอบไม่ได้หรอก เพราะหนูจะสงสัยตลอดไป คนที่หาคำตอบได้ต้องภาวนา ! ต้องภาวนา ! เพราะว่าเรารับรู้ได้ เรามีการศึกษา เห็นไหม ทางวิทยาศาสตร์นี่เราพิสูจน์ได้ สิ่งที่เราพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ก็คือมันเกี่ยวกับโครโมโซม เกี่ยวกับสิ่งต่างๆ

ทีนี้ไอ้ความที่ว่าหนูข้องใจ...

ต้องข้องใจตลอดไป เพราะอะไร เพราะความข้องใจของเรานี้เรามีความลังเลสงสัย พอมีความลังเลสงสัยมันมีเหตุผลไง เหตุผลทางวิทยาศาสตร์นี้มันเชื่อถือได้ มันเชื่อถือได้แต่เฉพาะในภพนี้ มันเชื่อถือได้ในเฉพาะปัจุจบัน แต่จิตนี้.. องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าไม่ใช่เกิดเฉพาะในปัจจุบัน

ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าล่ะ เพราะได้สร้างสมบุญญาธิการมา เวลาวิชชา ๓ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ย้อนตั้งแต่อดีตชาติ เห็นไหม บุพเพนิวาสานุสติญาณ เป็นสิ่งใดมา แล้วบอกว่าเราเคยเป็น.. เราเคยเป็น

พระพุทธเจ้าบอกไม่ได้เป็น.. พระพุทธเจ้าเป็นพระพุทธเจ้า แต่เราเคยเป็นมาเพราะพันธุกรรมของจิตมันพัฒนามา พัฒนามาเป็นชาติสุดท้าย แล้วชาติสุดท้ายเป็นพระเวสสันดร พระเวสสันดรนี่วิกฤติขนาดไหน โดนไล่ออกจากราชวังนะ โธ่.. ต้องเอากัณหา ชาลี เอามเหสีออกจากราชวังไป โอ๋ย.. ไปสมบุกสมบัน ไปทุกข์ไปยาก แล้วเวลาเขามาขอกัณหา ชาลี

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกองค์ ! ต้องเสียสละลูกเสียสละเมีย เสียสละทุกๆ อย่าง เสียสละมานี้ เพราะความผูกพันของคนมันผูกพันที่นี่ ความผูกพันของมนุษย์เรา ความผูกพันในครอบครัวนี่ผูกพันกันมาก ความผูกพันอันมากอย่างนี้ ถ้ามันมีความผูกพันอยู่ ถ้ามันไม่โดนตัดขาด เห็นไหม โดนตัดขาดด้วยการกระชาก ตัดขาดนี่มันสร้างบารมี พอสร้างบารมีนี้เพราะสละสิ่งนี้ไปเราถึงจะได้โพธิญาณ สิ่งนี้คือพันธุกรรม !

พันธุกรรมอย่างนี้เฉพาะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สาวก สาวกะไม่มี ไม่ต้องขนาดนั้น แล้วถ้าไม่ต้องขนาดนั้นแล้ว เวลาทำมานี้ทำมาอย่างไร นี่ถ้าทำมาอย่างนี้ปั๊บ มันก็เลยย้อนมาในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช่ไหม ถ้าเป็นทางโลก เป็นโครโมโซม เป็นวิทยาศาสตร์ทางจิต มันก็เป็นวิทยาศาสตร์ของมันไป แต่ถ้าอย่างนี้แล้วมันก็ต้องมีความลังเลสงสัย มันลังเลสงสัยเพราะมันเป็นสิ่งที่เรายังไม่รู้ แม้แต่วงการแพทย์ เห็นไหม ทางวงการแพทย์ วิชาการใหม่ๆ มันจะมีมาตลอด ในการทำวิจัยเขาจะมีวิชาการออกมาใหม่ๆ ตลอด นี่มันจะพัฒนาของมันไปเรื่อย

แต่ถ้าในทางธรรม.. ในทางธรรมนี่จริตนิสัยของคนมันแตกต่างกันไป แล้วเวลาภาวนาไปมันจะเห็นนะ อย่างเช่น คนทำสมาธิได้ง่าย ขนาดคนที่ทำสมาธิได้ง่าย ทำแล้วยังตั้งสมาธิได้หรือไม่ได้ ตั้งสมาธิแล้วลุ่มๆ ดอนๆ เห็นไหม ทำสมาธิแล้วเกิดปัญญาหรือไม่เกิดปัญญา เกิดปัญญามากน้อยแค่ไหน ดูสินางวิสาขาเป็นพระโสดาบันก็ตายไปพร้อมกับเป็นพระโสดาบัน

พระอานนท์เป็นพระโสดาบันเหมือนกับนางวิสาขานี่แหละ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว พระอานนท์ยังเสียใจมากเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน เพราะว่าต้องการคนสั่งสอน เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธจ้าบอกไว้เอง “อานนท์.. ถ้าเราปรินิพพานไปแล้ว อีก ๓ เดือนจะมีการสังคายนา เธอจะเป็นพระอรหันต์ในวันนั้น”

พระอานนท์ปฏิบัติไป เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้พยากรณ์อย่างนั้น พอถึงวันนั้นก็ว่า “เราจะเป็นพระอรหันต์.. เราจะเป็นพระอรหันต์” พอมันทิ้งที่ว่าเราจะเป็นพระอรหันต์ มันถึงได้เป็นพระอรหันต์ ถ้ามันไม่ทิ้งความที่ว่าเราจะเป็นพระอรหันต์นะ อยากเป็นพระอรหันต์ เลยยึดความที่ว่าเราจะเป็นพระอรหันต์นั้นไว้ มันไม่ได้เป็นหรอก ! ไม่ได้เป็น เพราะจิตกับความเป็นพระอรหันต์นี้มันคลุกเคล้ากัน

จิตกับความอยากเป็นพระอรหันต์นี้มันคลุกเคล้ากัน ! จิตมันยึดมั่นถือมั่น เวลามันปล่อยหมดเลยจิตมันเป็นอิสระ เห็นไหม พอจิตเป็นอิสระแล้วนี่ก็ว่าพอกันที เหนื่อยมากแล้วขอพักซักหน่อย พอพักแล้วมันปล่อยเป็นอิสระหมดเลย พอปล่อยเป็นอิสระแล้ว ตัวจิตมันเป็นอิสระ ตัวจิตมันก็เข้ามาในตัวมัน พอเข้ามาในตัวมันแล้วมันทำลายตัวมัน พอทำลายตัวมันแล้วนี่เป็นพระอรหันต์ขึ้นมา

สิ่งที่เป็นพระอรหันต์ขึ้นมานี้คือความเสมอภาค ! ความเสมอภาคอย่างนี้จะพิสูจน์ได้ด้วยการปฎิบัติ จะพิสูจน์ได้ด้วยการภาวนา

ถ้าภาวนาแล้วจะเห็นเลย.. เห็นว่าเวรกรรมมันเป็นอย่างไร ระหว่างนางวิสาขาที่เป็นพระโสดาบัน แล้วพอใจกับความเป็นโสดาบัน แล้วก็ตายไปพร้อมกับโสดาบัน กับพระอานนท์ที่เป็นพระโสดาบันตั้งแต่อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ แล้วฟังธรรมมามหาศาลเลย แต่เวลาจะปฏิบัติขึ้นมา เห็นไหม นี่พ้นจากโสดาบัน เป็นสกิทาคา อนาคา เป็นถึงสิ้นกิเลสไป

เพราะคำว่าพันธุกรรมทางจิตนี่มันเป็นการเฉพาะ.. ถ้าโครโมโซมหรือทางวิทยาศาสตร์นี้มันเป็นเรื่องของการตลาด มันเป็นเรื่องเทคโนโลยีที่ใช้ทับซ้อนกัน หรือเทคโนโลยีอย่างนี้ เครื่องมือการแพทย์หรือเคมีทางยานี่เอาไว้รักษาโรค เห็นไหม ถ้าพิสูจน์แล้ว วิจัยแล้ว ต้องรักษาโรคนี้ได้ตลอดไป แต่การประพฤติปฏิบัติ อริยสัจ มรรคญาณนี้มันเกิดขึ้นเฉพาะ ! เฉพาะจิตดวงนั้น เฉพาะจิตของใครจิตของมัน แล้วมันทำลายอวิชชาในจิตใจของผู้นั้นเท่านั้น

ฉะนั้นนี่พันธุกรรมทางจิต.. พันธุกรรมทางจิตมันถึงได้ตรงจริตนิสัยของจิตนั้น ถ้าตรงจริตนิสัยของจิตนั้น มันจะไปฆ่าและไปทำลายกิเลสอาสวะในหัวใจของจิตดวงนั้น ฉะนั้นมันเป็นการใช้เฉพาะไง มันไม่เป็นเหมือนวิทยาศาสตร์

ถ้าเป็นวิทยาศาสตร์ เห็นไหม ดูสิอย่างเช่นใครศึกษาทางวิชาการมาอย่างไรก็เอาวิชาการทางนั้น ใช้ซ้ำใช้ซ้อน ใช้ได้ตลอดไป เพียงแต่ว่ามันเป็นเหตุปัจจัยในสถานที่ ในพื้นที่ ว่าเราจะเปลี่ยนแปลงหรือทำอย่างไรให้ผลงานนั้นสำเร็จลงได้ แต่ในการประพฤติปฏิบัติ ! เห็นไหม เรื่องเวรกรรม.. กรรมชั่วทำให้เราทุกข์ยาก กรรมดีทำให้เราพ้นจากความทุกข์ยาก ทำให้เราพ้นจากกิเลสได้นี่คือกรรมดี

เวรกรรม ! เวรกรรมไง ฉะนั้นจะบอกว่า ถ้าคำถามแบบนี้เขาจะคิดว่า ถ้ามันเป็นวิทยาศาสตร์แล้วมันจะพิสูจน์กันระหว่างเวรกรรมกับพันธุกรรม..

คำว่าพันธุกรรม เห็นไหม พันธุกรรมนี้มันพิสูจน์ได้โดยวิทยาศาสตร์ แต่เวรกรรมนี้มันจะพิสูจน์ได้อย่างไร หนูก็เลยสงสัย พอสงสัยแล้วหนูก็ยังไม่คิดว่าจะไปทางโลกหรือจะไปทางธรรมใช่ไหม แต่ถ้าหัวใจนี่เราต้องอยู่กับทางโลกอยู่แล้ว

ถ้าจะไปทางธรรม.. ทางธรรมนี่พระก็ยังต้องออกบิณฑบาต พระก็ต้องใช้ปัจจัย ๔ เหมือนกัน แต่ปัจจัย ๔ นี้เอามาเพื่อดำรงชีวิต แล้วก็ออกประพฤติปฏิบัติมาเพื่อ ! เพื่อให้เกิดปัญญา เกิดมรรคโคในหัวใจ เพื่อจะมาชำระ พอชำระเข้าไปแล้วมันจะเห็นไง เพราะถ้าไม่มีการชำระมันไม่รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด

ถ้ามีการชำระนะ จากไม่เคยเป็นสมาธิก็เป็นสมาธิ เป็นสมาธิแล้วเกิดปัญญาขึ้นมา พอเกิดปัญญาขึ้นมาก็จะไปปรับแต่งความเชื่อ ปรับแต่งสิ่งที่อยู่ในหัวใจ แล้วสิ่งนี้มันก็จะถอดจะถอน.. จะถอดจะถอนออกไป ฉะนั้นปฏิบัติไปอย่างนี้แล้วมันถึงจะเข้าใจ

ฉะนั้นเรื่องโครโมโซม เรื่องดีเอ็นเอ หรือเรื่องต่างๆ เราไม่ค้านนะ วิทยาศาสตร์ก็คือวิทยาศาสตร์ บอกแล้วว่าเวลาแสดงธรรมนี้ ก็แสดงธรรมโดยวิทยาศาสตร์ คือพยายามพูดให้เป็นปัจจุบัน พูดให้เป็นสื่อที่ทำความเข้าใจกันได้ แต่เวลาปฏิบัติแล้วนี่มันเหนือวิทยาศาสตร์ ! มันเหนือวิทยาศาสตร์เพราะมันเป็นองค์ความรู้โดยเฉพาะ เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโกเฉพาะจิตดวงนั้น

จิตดวงนั้นชำระจิตดวงนั้น ! แล้วจิตดวงอื่นจะใช้วิทยาศาสตร์ จะใช้ปัญญา จะใช้มรรคญาณ จะใช้สิ่งนั้นไปชำระกิเลสจิตดวงอื่น หรือทำให้เป็นประโยชน์กับจิตดวงอื่นไม่มี ! เป็นไปไม่ได้

ฉะนั้นมันเป็นไปไม่ได้ เพียงแต่ครูบาอาจารย์ท่านจะเทศนาว่าการ.. เทศนาว่าการเหมือนอย่างที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดไว้ในพระไตรปิฏก ในพระไตรปิฎกนี้เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เรื่องพันธุกรรม หรือเรื่องเวรกรรม เรื่องมรรคญาณนี้ ในหัวใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำสำเร็จเรียบร้อยหมดแล้ว แล้วก็บอกวิธีการ แล้วไม่ได้บอกวิธีการโดยธรรมดานะ “กรรมฐาน ๔๐ ห้อง” บอกวิธีการด้วยจริตนิสัยด้วยความกว้างขวาง เพราะ ! เพราะจิตขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้กว้างขวาง เข้าใจจิตดวงอื่นหมด เพราะปรารถนามาเป็นศาสดา

ทีนี้ศาสดา เห็นไหม นี่บอกว่าวิทยาศาสตร์หรือเวรกรรมนี้ใช้เฉพาะๆ มันก็เป็นความเฉพาะในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เพราะใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้เป็นพระโพธิสัตว์ เห็นไหม ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย มันได้เพิ่มอำนาจวาสสนาบารมีมา ถึงได้มีการชี้แนะ ! ให้จิตดวงอื่นทำ

แล้วบอกว่าถ้าเพื่อจิตดวงอื่นทำไม่ได้มันใช้เฉพาะจิตดวงนั้น แล้วเราจะทำเพื่อใครล่ะ เราก็ทำเพื่อจิตของเราไง ถ้าทำเพื่อจิตของเรา เห็นไหม พอเราทำเพื่อจิตของเรา ถ้าปัญญามันเกิดขึ้นมา มันก็เกิดเฉพาะ ! เพราะว่าอะไร เพราะว่าเราเป็นสาวก สาวกะ เป็นผู้ที่ได้ยินได้ฟัง เป็นผู้ที่เดินตาม เป็นผู้ที่พยายามทำเลียนแบบจะให้ได้เหมือนไง จะให้ได้เหมือนเป็นพระอรหันต์... จะให้ได้เหมือนแต่ต้องทำด้วยความเฉพาะสำหรับตน แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำเฉพาะสำหรับตนแล้ว ก็วางธรรมวินัยไว้ให้เราก้าวเดินตาม

ถ้าสิ่งนี้เป็นธรรม สิ่งนี้เหนือเรื่องเวรเรื่องกรรม ถ้ามันทำสิ่งนี้ได้ พิสูจน์สิ่งนี้ได้ เราจะไม่มีความสงสัยเลย !

แต่นี้เขาว่า “ทำให้หนูข้องใจมาก ถามใครต่อใครก็ไม่มีข้อสนับสนุนเพื่อจะทำให้หนูเชื่อ”

เขาก็ไม่ต้องการให้หนูเชื่อ ! เพราะหนูเชื่อก็เป็นเรื่องของหนู หนูเชื่อหรือไม่เชื่อคนอื่นก็ไม่เดือดร้อน หนูไม่เชื่อมันก็เป็นเรื่องของหนู คือหนูไม่เชื่อ.. ถ้าหนูเชื่อมันก็เป็นประโยชน์ของหนูไปเอง มันก็ไม่เห็นเกี่ยวเลย

นี่ไง ธรรมเป็นอย่างนี้ ! ธรรมเป็นอย่างนี้จริงๆ จะเชื่อหรือไม่เชื่อ ครูผู้สอนหรือคนอื่น เขาก็ไม่ได้ดิบได้ดีไปกับเรา

ถ้าเราเชื่อหรือไม่เชื่อแล้ว นี่มันเป็นประโยชน์กับเราหรือเป็นโทษกับเราต่างหาก.. ถ้าเป็นประโยชน์กับเรา เราก็ได้ประโยชน์ แต่ถ้ามันไม่เป็นประโยชน์กับเรา คือเราไม่เชื่อคนอื่นก็ไม่เสียหายอะไรกับเรา มันก็เป็นโทษกับเราเท่านั้นเอง แต่ถ้าเราเชื่อแล้วเราปฏิบัติมันก็เป็นผลของเรา

แล้วทีนี้พอเชื่อขึ้นมา เราก็บอกว่าเราเป็นคนล้าหลัง เราเป็นคนที่ไม่ทันสมัย เดี๋ยวนี้เขาเชื่อวิทยาศาสตร์ เขาไม่เชื่อเรื่องโลกของวิญญาณ โลกของความลี้ลับ.. โลกของวิญญาณนี้เป็นไสยศาสตร์ ! แต่โลกของจิตไม่ใช่โลกของไสยศาสตร์ มันเป็นโลกของพุทธศาสตร์

พุทธะ... คือปัญญาของพระพุทธเจ้า ! เราเป็นลูกศิษย์ลูกหานะ เราเป็นสาวก สาวกะ สิ่งนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารื้อค้นมาขนาดนี้ แล้วเราจะประพฤติปฏิบัติ มันจะเป็นเรื่องจิตวิญญาณไปที่ไหน มันจะเป็นเรื่องไสยศาสตร์ไปที่ไหน

มันเป็นเรื่องความทุกข์.. มันเป็นเรื่องความรู้สึก.. มันเป็นเรื่องอริยทรัพย์.. มันเป็นเรื่องความเป็นจริง ! แต่มันจะเป็นความจริงต่อเมื่อเราพิสูจน์ตรวจสอบไง มันไม่ใช่ความเป็นจริงที่เราไปจำมา ถ้าไปจำมาก็เป็นวิทยาศาสตร์ไง

วิทยาศาสตร์นี่ใครเป็นคนคิด.. เจ้าของทฤษฏีเขาเป็นคนคิดขึ้นมา แต่มันก็มีผู้ที่คิดต่อยอดๆ กันขึ้นไป พอคิดต่อยอดขึ้นไปจากที่เขาพิสูจน์กันมา แล้วเราก็ใช้สิ่งนั้นเป็นทางวิชาการมาเพื่ออธิบาย อธิบายเรื่องงานของเรา อธิบายเรื่องความเป็นจริงของเรา เราจะทำสิ่งใดต้องอธิบาย แล้วอธิบายด้วยเหตุผลอย่างนั้นต่อยอดกันขึ้นไป แล้วถ้าต่อยอดกันขึ้นไปมันจบเมื่อไหร่ จบอย่างไร ต่อยอดขึ้นไปเราก็ตาย ต่อยอดขึ้นไปเราก็แก้ไขเราไม่ได้

แต่ถ้าเป็นความจริงขึ้นมานะ หนูจะไม่มีความข้องใจ แล้วหนูจะเชื่อหรือไม่เชื่อนี้มันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ความเชื่อแก้กิเลสไม่ได้ แต่ความเชื่อนี้จะทำให้เราพิสูจน์ ถ้าเราจะพิสูจน์ตรวจสอบนะ มันจะเป็นประโยชน์กับเรา

ระหว่างเรื่องกรรมกับเรื่องโครโมโซม.. พันธุกรรมกับเวรกรรม.. พันธุกรรมนี้ เพราะคำว่าพันธุกรรมมันเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ นี่พันธุกรรม เห็นไหม มันเป็นเรื่องการส่งต่อ.. การส่งต่อของสายพันธุ์นี้มันเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ มันไม่เกี่ยวอะไรกับทางธรรมะเลย เพียงแต่เราเท่านั้นแหละ เราเอามาเปรียบเทียบ ! มันก็เลยเป็นธุระเลยใช่ไหม เราเอามาเปรียบเทียบว่าจิตมันก็เหมือนกัน เห็นไหม อธิบายธรรมะเป็นวิทยาศาสตร์ไง

จิตนี้ก็เหมือนกัน ! เรื่องพันธุกรรม เรื่องเวรเรื่องกรรมนี้ แต่มันเป็นการทับซ้อนมาลึกซึ้งกว่า ระหว่างภพชาติ ระหว่างการตัดแต่ง

อย่างเช่นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาปรารถนาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วถึงได้สร้างมา สร้างมานั่นล่ะตัดแต่งพันธุกรรมของจิตมาตลอด

เราพูดให้เห็นไง เราจะพูดเป็นทางวิทยาศาสตร์ ให้วิทยาศาสตร์เห็นว่า แม้แต่จิตมันก็มีเวรมีกรรมของมัน มันก็มีพันธุกรรมของมัน มันได้สร้างความดีความเลวในใจของเขา แล้วใจของเขามันก็จะมีผลกับใจของเขา มันก็มีบุญกุศล มีบาปอกุศลมากับใจดวงนั้น

ฉะนั้นพอมาพูดถึงธรรมะใช่ไหม แล้วจะบอกว่าเอาพันธุกรรมอันนั้น แล้วก็เอาเวรกรรมนี้มาเป็นอันเดียวกัน

ระหว่างร่างกายกับจิตใจไม่เหมือนกัน ! พันธุกรรมนี้เป็นเรื่องของร่างกาย.. เป็นเรื่องของร่างกาย เรื่องของธาตุ เป็นเรื่องที่พิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องของจิตใจ เป็นเรื่องของหัวใจ เป็นเรื่องของความสุข ความทุกข์ มันต้องพิสูจน์กันด้วยมรรค มันต้องพิสูจน์กันด้วยอริยสัจ มันพิสูจน์กันด้วยธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราต้องพิสูจน์ของเรา

เวลาวิทยาศาสตร์นี่เราเชื่อนะ ทางตำราวิทยาศาสตร์เราเชื่อหมดเลย แต่เวลาพระไตรปิฏกนี่เราอ่านแล้วก็ไม่เชื่อ อ่านแล้วก็ไม่เชื่อเพราะอะไร เพราะเราอ่านโดยทางโลกไง แต่พอเราปฏิบัติเข้าไปแล้ว ความเป็นจริงจากใจที่มันเป็นจริง ความเชื่อหรือไม่เชื่อนี้มันจะหายไปเลย เพราะมันเป็นจริง ! เราจับต้องเอง เราพิสูจน์เอง เราตรวจสอบเอง มันก็จะเป็นความจริงขึ้นมา

อันนี้เราตอบเท่านี้ เรื่อง “พันธุกรรมหรือเวรกรรม”

 

ถาม : ๒๕๙. กราบเรียนถามพระอาจารย์เรื่อง “ศีล” ครับ

เนื่องด้วยผมมีข้อสงสัยในศีลข้อที่ ๔ กราบเรียนขอถวายคำถามพระอาจารย์ครับ หากผมมีอาชีพเป็นนักเขียนนิยาย “เขาพูดอย่างนี้จริงๆ นะ !” (เป็นนิยายทางโลกไม่ใช่นิยายทางธรรมะครับ) อย่างเช่นเรื่องแฮร์รี่ พอตเตอร์ หรือพวกนิยายทั่วไปที่สอดแทรกคุณธรรม จริยธรรมเข้าไปบ้าง แต่เรื่องทั้งหมดล้วนเป็นเรื่องสมมุติที่แต่งขึ้นไม่ใช่เรื่องจริง อย่างนี้ถือว่าผิดศีลไหมครับ เห็นควรหรือไม่เห็นควร ขอพระอาจารย์พิจารณาด้วยครับ

หลวงพ่อ : อันนี้ข้อที่ตอบอันแรก เราถือว่ามันเป็นเวรกรรมก่อน เห็นไหม เราพูดแล้วสรุปเข้าเวรกรรม.. เวรกรรมหมายถึงว่า เวลาคนเขาอ่านไปแล้ว เขาถือว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่จริงล่ะ ถ้าเขารู้กันแล้วว่าเป็นเรื่องไม่จริง นี่มันไม่ผิดศีลหรอก แต่นี้มันอยู่ที่วุฒิภาวะของคนอ่าน ว่าคนอ่านนี่เขามีความรู้แค่ไหน นี้เพียงแต่ว่าถ้าพูดถึงนะ นี่พูดถึงเรื่องผลกระทบ แต่ถ้าเอาตามความเป็นจริงมันผิดศีลไหม... ไม่ผิดหรอก

ผิดศีลข้อ ๔ คือ มุสาใช่ไหม มุสา.. ถ้าเรามุสา นี่โดยหลักนะ มุสามันต้องมีเหตุมีผลไง คือเรามุสาใคร ทำไมเราถึงไปมุสาเขา แล้วมุสาขึ้นมานี้เพื่อผลประโยชน์อะไรกับเรา มันมีผลประโยชน์ไง แต่ถ้าครูบาอาจารย์เรานี่ท่านไม่ใช่มุสานะ เวลาครูบาอาจารย์ของเราจะใช้อุบาย.. ใช้อุบายให้เราไปเจอสิ่งที่ดี

อย่างนี้เป็นอุบายนะ ! อุบายให้ไปเจอสิ่งที่ดี อย่างเช่นพ่อแม่นี่โกหกลูกทุกวันเลย บอก “จะเป็นอย่างนั้น.. จะเป็นอย่างนั้น” คือจะให้ลูกทำดีไง อย่างนี้เป็นมุสาไหม... ไม่ใช่ ! ไม่ใช่นะ.. บอกว่า “อย่าไปนะ ตรงนั้นไม่ดี ที่นี่ไม่ดี” แม่ก็ไม่รู้ว่าที่นั่นดีหรือไม่ดีแต่ก็บอกว่าที่นั่นไม่ดี แล้วให้ไปแต่ที่ดีๆ ทีนี้เด็กมันบอกว่าแม่บอกไม่ดีเลย แต่เราว่าดีๆ เพราะเรามาแล้วเราสนุก พ่อแม่ไม่ให้มา แต่มาแล้วมันมาโครตสนุกเลยแต่ว่าไม่ดี

มันดีของเขา เขายังเด็กเกินไปไง ฉะนั้นมันก็ต้องมีเหตุผลใช่ไหม นี่ก็เป็นอุบาย ! ถ้าอุบายอย่างนี้ไม่ผิดหรอก ผิดศีลข้อที่ ๔ นี้มันเพราะว่า หนึ่ง.. เราตั้งใจโกหก แล้วเราโกหกใคร เขาเรียกว่าองค์ประกอบของศีล

แต่ถ้ามันเป็นอย่างที่เขาเรียกว่า ศีลด่าง.. ศีลพร้อย.. ศีลทะลุ.. ศีลขาด..

ถ้ามันเป็นอย่างที่ว่านี้ เอาแบบเป็นวิทยาศาสตร์อีกแหละ ถ้าเป็นวิทยาศาสตร์ก็ต้องบอกว่า “ใช่ ! ไม่โกหกเลย.. พูดขาวก็ขาว ดำก็ดำ” ก็เหมือนเรานี่แหละพูดขาวก็ขาว ดำก็ดำ ที่เขาด่ากันอยู่ทุกวันนี้ไง

บอกว่าไม่ให้โกหก ! ไม่ให้โกหก ! แล้วพูดเรื่องจริงทำไมโดนตอบสนองขนาดนี้ ก็พูดเรื่องจริงไม่ได้เลย

เพราะพูดเรื่องจริงโดยที่เขาไม่รู้ไง เราพูดเรื่องจริง แต่เขายังไม่รู้ความจริงอันนั้น เขาก็ว่าเราพูดไม่จริง แต่ถ้าเขามารู้เรื่องจริงขึ้นมาแล้วจะ โอ้โฮ ! โอ้โฮ ! เลยนะ แต่ในเมื่อเขายังไม่รู้ เขาก็ไม่รู้ว่าเราพูดเรื่องจริง

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าพูดขาวเป็นขาว ดำเป็นดำเลย อย่างนี้ถ้ามันถือศีลนี่มันถือศีลด้วยการเกร็ง เห็นไหม บางคนถือศีล ๕ นี่ไม่ยอมฆ่าสัตว์ แล้วพอไปตลาดนี่ประกาศเลยว่าฉันถือศีล ๕ ไม่ยอมฆ่าสัตว์ ฉันจะกินปลาตาย.. ทีนี้พอเขาเห็นเดินมานี่เขาทุบหัวปลาไว้ก่อนเลย ปลาตัวนี้เขาขาย ๕ บาท พอทุบให้ตายขึ้นมาแล้วนี่ขาย ๒๐ ด้วยความอยากกินเขาก็ต้องซื้อ ๒๐ ก็ต้อง ๒๐ นี่เพราะอะไรล่ะ เพราะถือศีลไง ถือศีลด้วยเถรตรงไง

...ถือศีลมันก็ต้องมีปัญญานะ...

นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อเป็นอาชีพของเรา เราเขียนขึ้นมานี้ เห็นไหม เราสอดแทรกคุณธรรม สอดแทรกจริยธรรมเข้าไปบ้าง แต่ทั้งหมดมันเป็นเรื่องสมมุติก็สมมุติสิ แต่ในเรื่องสมมุตินี้ เค้าโครงเรื่องเราสอดแทรกเรื่องคุณธรรม เรื่องศีลธรรมเข้าไป ถึงสมมุติเราก็สมมุติให้เขาเห็นใช่ไหมว่าอะไรดีอะไรชั่ว

ก็เหมือนเทศน์นี่แหละ เวลาครูบาอาจารย์เทศน์ก็เทศน์อย่างนี้ เวลาเทศน์ขึ้นมานะ บอกว่าอันนี้เป็นอธรรม ! อันนี้เป็นธรรม.. ถ้าอันนี้เป็นธรรมนะ แล้วธรรมมีประโยชน์อย่างไร อธรรมมันผิดพลาดอย่างไร

นี่ก็เหมือนกัน เราสอดแทรกเข้าไป อย่างนี้ไม่ถือว่าผิดศีล.. ไม่ผิด ! ศีลข้อ ๔ นี้ไม่ผิด ! แต่ถ้าผิดศีล เห็นไหม สิ่งนี้เป็นธรรมะแต่บอกว่าอธรรม แล้วอธรรมบอกว่าเป็นธรรม นี่ผิดศีล ! สิ่งที่ไม่จริงบอกว่าจริง สิ่งที่จริงบอกว่าไม่จริง แต่เวลาเราเขียนนิยายเข้าไปแล้วนะ เราก็สอดแทรกเข้าไปใช่ไหม ศีลธรรม จริยธรรม

คำว่าจริยธรรมนะ นี่คนนี้เป็นคนพาล คนนี้ทำผลตอบสนองต่อสังคมอย่างนี้ เวลาถึงที่สุดแล้ว พอเรื่องมันจบแล้วคนๆ นี้จะได้โทษอย่างนี้ๆๆ มันก็เหมือนกับเรายกตัวอย่าง ถ้าเขาศึกษาแล้วเขาได้ประโยชน์ของเขา

นี้เพียงแต่ว่าสิ่งที่พูดออกไป ไอ้ผิดศีลนี้มันไม่ผิดศีลหรอก แต่ ! แต่เรื่องทางธรรมะ เห็นไหม เรื่องทางธรรมะนี้หลวงตาท่านพูดอย่างนี้ ท่านบอกว่า “อ่านหนังสือธรรมะนี่ อ่านแล้วหัวใจมันเบิกบาน แต่ถ้าอ่านนิยายประโลมโลก เราดีใจเราเสียใจไปกับเขา”

หลวงตาท่านพูดอย่างนี้นะ หนังสือเวลาท่านให้ไปนี่ท่านให้ไปอ่าน อ่านแล้วมันจะสะเทือน มันจะซักฟอก.. ซักฟอกให้ใจของเรามันผ่องแผ้ว แต่ถ้าอ่านหนังสือโลก อ่านหนังสือนิยาย มันมีได้มีเสีย พอมีได้มีเสีย เราก็ดีใจกับเขา ถ้าเวลาถึงบทที่เขาได้ เราก็ดีใจกับเขาว่าเขาได้ เวลาบทที่เขาเสีย เราก็เสียใจไปกับเขา

หลวงตาท่านพูดอย่างนี้ อันนี้มันเป็นธรรม !

คำว่าเป็นธรรม เห็นไหม เวลาอ่านนิยายทางโลก เรามีอารมณ์ร่วมไปกับเขา เราดีใจไปกับเขา เราเสียใจไปกับเขา เราเร่าร้อนไปกับเขา มันไม่มีประโยชน์เลย ท่านถึงบอกให้อ่านหนังสือธรรมะ ! เพราะหนังสือธรรมะนี้มันจะมาตรวจสอบใจของเรา

ถ้ามันเป็นคุณธรรม.. เรื่องธรรมนี่มันเป็นอย่างนี้ เราเห็นด้วย แต่นี้คำถามนี่ถามว่า “มันผิดศีลข้อ ๔” ถ้าผิดศีลข้อ ๔ เราว่าไม่ผิด ! แต่ถ้าเป็นธรรมะ เห็นไหม ดูสิเวลาทางโลกนี่สัมมาอาชีวะ.. สัมมาอาชีวะนะว่าห้ามขายอาวุธ ห้ามขายเครื่องมือฆ่าสัตว์ อย่างนี้ท่านบอกว่ามันไม่เป็นสัมมาอาชีวะ สัมมาอาชีวะเป็นธรรม แต่ถ้าเป็นศีล ! เป็นศีล เห็นไหม เป็นศีลนี่มันผิดข้อไหน แล้วทีนี้เรื่องมุสานั่นก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่เรื่องคุณธรรมมันก็เรื่องหนึ่ง

ฉะนั้นเราบอกว่าเราสอดแทรกคุณธรรม เราสอดแทรกจริยธรรม.. ถ้าเราสอดแทรก เห็นไหม ทั้งหมดบอกว่าเป็นเรื่องสมมุติ ใช่ ! เป็นเรื่องสมมุติ แล้วทีนี้พอสอดแทรกเข้าไป เหมือนกับพระเอกนางเอก เสียใจ ดีใจมากขนาดไหน คนอ่านจะน้ำตาไหลมากน้อยขนาดไหน อันนี้มันเป็นประโลมโลก เห็นไหม อันนี้มันเป็นอารมณ์ มันเป็นธรรม

ฉะนั้นคำว่าอารมณ์ของคน.. ธรรมดาของคนมันก็ประมาทกันอยู่แล้ว ธรรมดาของคน มันใช้ชีวิตบนความประมาทอยู่แล้ว แต่ถ้ามันเป็นนิยาย หรือเป็นสิ่งใดที่ว่าปลุกเร้าให้คนเป็นคนดี เราก็ว่ามันเป็นประโยชน์นะ แต่ถ้ามันเป็นนิยายประโลมโลกโดยที่ไม่มีศีลธรรม จริยธรรม ไอ้อย่างนั้นมันจะทำให้คนประมาทมากขึ้น ชีวิตของเราก็ประมาทอยู่แล้วนะ แล้วเรายังประมาทไปอีกเหรอ นี่พูดถึงธรรม

“ศีลและธรรม” มันคนละเรื่องกัน ! ศีลคือข้อบังคับ ถ้าผิดศีลไหม เราว่าไม่ผิด.. แต่ถ้าผิดธรรมไหม อืม.. คิดเอาเอง เพราะมันเป็นอาชีพเนาะ ถ้าเป็นธรรมนี่เราจะเลือกของเรากันเอง ถ้าเราเลือกได้ก็ดี ถ้าเรามีความจำเป็น หรือว่ามันเป็นหน้าที่การงาน ไอ้อย่างนี้มันก็ต้องเลือกเอานะ

คนเราเกิดมามันไม่มีใครจะได้อย่างที่เราปรารถนาหรอก เราปรารถนาสิ่งใด แล้วสิ่งใดที่มันไม่สมความปรารถนา ถ้ามันเป็นเวรเป็นกรรมเราก็ต้องแก้ไขของเราไป เราจะเลือกชีวิตของเราเอง เลือกทางเดินของเราเอง จบเนาะ

 

อีกข้อหนึ่ง ข้อ ๒๖๐. คนเดิมนะเขาถาม เขาว่าพบวิธีภาวนาพุทโธ.. คนเดิม !

ถาม : ๒๖๐. คนเดิม พบวิธีที่จะภาวนาพุทโธแล้วค่ะ (คำถามเขาดีอยู่นะ)

เมื่อก่อน คือยังไม่ได้ฟังหลวงพ่อเลย แต่พยายามอ่านธรรมะ และปฏิบัติไปเรื่อยๆ จนตอนนี้พบได้เอง หลังจากที่กำลังเดินและเกิดคำถามว่า “ทำไมยังคิดอยู่เวลาเดิน” ก็พบว่าความคิดไม่ได้จดจ่ออยู่กับการเดิน ให้ตัวเองเห็นรูปเดิน คือนอกจากใจรู้ตัวว่าเดิน สติทางความคิดก็รู้ว่าเดินด้วย จากนั้นไม่กี่วันก็พบว่า จะภาวนาพุทโธโดยการใช้รูปสติทางความคิดจดจ่ออยู่กับคำภาวนา จนเกิดสมาธิขึ้นมาได้ค่ะ (แต่ใช้บ้างไม่ใช้บ้าง ถ้าหากว่ามีสติทางความคิดจดจ่อกับการกระทำเป็นปกติก็ใช้.. แต่ถ้าเริ่มไม่มีสมาธิ สติเริ่มน้อยลง ก็จะจดจ่อกับคำบริกรรมค่ะ)

ตอนนี้ก็ภาวนาได้เป็นระบบขึ้นจากที่เคยมั่ว หนูอ่านวิธีการการจิตตานุปัสสนาจากหลวงพ่อแล้วลองไปทำตาม ก็ง่ายขึ้นตามลำดับ เพราะมีหลักในการดูว่า จะดูขันธ์ ๕ ในจิตอย่างไร จะดูย้อนไปถึงสาเหตุทำให้ขันธ์ในจิตดำรงอยู่ และปรุงแต่งให้เกิดอารมณ์ก็พบว่า เป็นเพราะจิตยึดขันธ์เอาไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือความคิดและอารมณ์ที่จำได้จิตจะพึงใจและยึดตรงนั้นเป็นพิเศษ

ตอนแรกๆ ก็ดิ้นรนอยากให้ที่ยึดนั้นคลายไป ซักพักก็หยุดพิจารณาว่าทำไมจึงยึด ก็แว็บไปถึงตัวอวิชชา จึงเห็นว่า “เพราะจิตไม่รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นทุกข์” สิ่งนั้นจะทำให้จิตไม่เป็นอิสระจิตจึงยึดไว้ จึงได้รู้ความจริงในสิ่งที่จิตยึด ที่ต้นตอนั้นว่าเป็นทุกข์และไม่เป็นอิสระ จิตก็จะคลายจากสิ่งยึดนั้นได้ค่ะ

หลวงพ่อ : มีคำถามไหม อ่านมาทั้งหมดนี่เป็นคำถามหรือเปล่า เขาจะบอกว่าแต่เดิมเขามั่วมาตลอด แล้วพอมาฟังจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานจากหลวงพ่อแล้วลองทำตาม.. อันนี้เพียงแต่เขาบอกว่า “ค้นพบวิธีการภาวนาพุทโธแล้วค่ะ ! แต่เดิมมั่วมาตลอดเพราะไม่ได้เคยฟังหลวงพ่อ ก็มั่วมาตลอดแล้วลองทำดู..”

ไอ้ทำนี่มันเป็นประสบการณ์ของตัว แต่เวลาฟังที่เราพูดหรือเวลาเราอธิบาย เห็นไหม เวลาหลวงตาท่านพูดอย่างนี้นะว่า “จากใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง”

ใจดวงหนึ่งที่ได้มีประสบการณ์ ใจดวงหนึ่งที่ประพฤติปฏิบัติมา มันมีวิธีการของมัน ใจดวงนั้นได้ส่งต่อ เห็นไหม ส่งต่ออย่างที่พูดเมื่อกี้ว่าพระพุทธเจ้าเวลาเทศนาว่าการ มันเป็นวิธีการ มันเป็นการชี้นำ บอกวิธีการ เหมือนคนหลงทาง แล้วคนนี้เป็นคนบอกทาง เราไปถามทางเขาแล้วแต่เราไม่เดินนะ มันก็ไปไม่ถึงไหนหรอก เราถามทางแล้ว เราจะไปให้ถึงเป้าหมายเราต้องขวนขวายของเราไป

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เวลาฟังเทศน์ทางวิธีการแล้ว เราพยายามทำของเรา เห็นไหม “ตั้งแต่หนูอ่านวิธีการจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานแล้วลองไปทำตาม ก็ง่ายขึ้นตามลำดับ เพราะมีหลักการในการดู ว่าดูขันธ์ ๕ ในจิตอย่างไร ดูย้อนไปถึงสาเหตุที่เกิดขันธ์อย่างใด ปรุงแต่งเกิดอารมณ์อย่างใด” เพราะเวลาเทศน์ไว้..

ไอ้อย่างนี้มันเหมือนกับเราทำตาม “ตามรู้ตามเห็น.. รู้เท่ารู้ทัน.. รู้แจ้งแทงตลอด” ให้ทำบ่อยครั้งเข้า จากรู้ตามนี่มันเหมือนกับเราฝึกงาน พอเราฝึกงานแล้วเราทำงานของเราเป็นขึ้นมานี่รู้ตาม.. ถ้ารู้เท่ารู้ทันนี่เราทำเองเป็นแล้ว.. รู้แจ้งแทงตลอดนะเป็นผลงานของเราเลย เราจะตามทันความรู้สึก ตามทันความคิดเราตลอดไป

อันนี้มันเป็นพุทโธก็ได้ เป็นปัญญาอบรมสมาธิก็ได้ ให้ปฏิบัติไปของใครของมัน แล้วถ้าปฏิบัติแล้วมันจะได้ประโยชน์กับตัวเองนะ ! แล้วถ้าเขาทำแล้ว เขาฟังแล้ว เขาปฏิบัติแล้ว เขาได้ผล ก็โอเคไง สิ่งนี้เป็นประโยชน์

ถ้าทำแล้วเราจะเป็นประโยชน์ ถ้าเราฝึกหัด เราปฏิบัติ เราฟังแล้วเราหาประสบการณ์ของเรา เราจะได้ประโยชน์กับเรานะ ถ้าเราฟังแล้วหรือเราไม่ประพฤติปฏิบัติหรือเราไม่ทำขึ้นมา... ดูนะเราเปรียบเหมือนอาหาร เมนูอาหารนี่มันมีภาพเลย แต่มันกินไม่ได้หรอก แต่ถ้าอาหารเราทำขึ้นมาแล้วมันเป็นอาหารนี่เรากินได้

จิตของเรา.. ที่เราศึกษานี่มันเป็นเมนูอาหารนะ ไปดูที่ร้านอาหารเขาจะมีภาพสวยงามมาก อาหารนี้น่ากินมาก แต่มันเป็นกระดาษกินไม่ได้หรอก ! ถ้าเราศึกษา เราปฏิบัติมานี้มันเป็นเมนูอาหาร แต่ถ้าเราปฏิบัติขึ้นมามันมีอาหาร เราได้สัมผัสอาหารนี่คือปัจจัตตัง

อันนี้สำคัญมาก ! สำคัญมากเพราะอะไร เพราะอันนี้มันไม่มีใครบอก “กาลามสูตร.. ไม่ให้เชื่อใคร ! ไม่ให้เชื่อใคร” ให้เชื่อที่จิตเป็น ให้เชื่อที่สัมผัสเป็น ถ้าเป็นความจริงขึ้นมา มันจะจริงจังมาก แล้วมันจะเป็นประโยชน์กับเรามาก

อันนี้ในการประพฤติปฏิบัตินะ ถ้าเขาเห็นทางแล้ว เขาปฏิบัติแล้วได้ผล เราก็สาธุ ! เพราะหลวงตาท่านพูด ท่านบอกว่า ท่านอยู่กับโลกท่านไม่เห็นอะไรเป็นประโยชน์เลย ท่านเห็นหัวใจของสัตว์โลก ไปไหนก็ไปเอาใจคน ! ไปไหนก็ไปเอาใจคน !

อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราปฏิบัติ คือหัวใจมันปฏิบัติ หัวใจมันรู้.. ศาสนาพุทธมันอยู่ที่นี่ไง “ค่าของน้ำใจ” หัวใจที่รู้นี้สำคัญมาก ! ถ้าหัวใจที่รู้.. พอมันรู้แล้วมันก็ไม่ทุกข์ไง

ถ้ามันรู้แล้ว คนรู้ไม่ทุกข์นะ ที่ทุกข์กันอยู่นี่เพราะไม่รู้ ! ไม่รู้แล้วอยากรู้ อยากได้ อยากให้มันเป็น นี่ทุกข์น่าดูเลย.. แต่ถ้ามันรู้แล้ว มันรู้เท่าทันหมดนะ อะไรมาหลอกมันไม่ได้ มันเป็นอิสระ แล้วมันจะพ้นจากทุกข์.. ให้ปฏิบัติ ให้ขยันหมั่นเพียร

ฉะนั้นถ้าทำได้.. ทำได้ก็ดีมาก ยิ่งเข้าใจมากยิ่งดีใหญ่เลย ยิ่งถ้าปฏิบัติได้ยิ่งยอดเยี่ยมเลย เอวัง