ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

กรรมเป็นอจินไตย 2

๓o ต.ค. ๒๕๕๓

 

กรรมเป็นอจินไตย ๒
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๓
ณ วัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี

 

หลวงพ่อ : ท่านไปให้คีโม เห็นไหม

โยม ๑ : ไปยิงเลเซอร์ใช่ไหมคะ

หลวงพ่อ : ยิงเลเซอร์เลย.. คือจะบอกว่าท่านป่วย แต่ก็ไป ท่านป่วย.. ถ้าเวลาไปหาแล้วนี่ ถ้าไปเยอะหรือไปยังไง ถ้ามีพรรคพวกไปถามปัญหาท่าน เราดูว่ามี.. ไม่ได้ว่านะ ก็มีเรา

หลวงพ่อจันทร์เรียนท่านจะพูดอะไรตรงๆ บ้าง ส่วนใหญ่แล้วพระเขาจะพูดอะไรให้มันเป็น... เพราะมันเป็นจริตนิสัยนะ ในพระไตรปิฎกทุกข้อ เห็นไหม เราควรพูดชมคนที่ทำความดี ควรกดขี่ คนที่ทำความชั่ว ในพระไตรปิฎกมีทุกข้อ แต่ ! แต่เวลาทำจริงๆ ขึ้นมาแล้ว มันมีผลตอบสนอง มันมีผลข้างเคียง เขาเลยไม่ค่อยได้ทำกัน

ส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นมารยาทสังคม เพียงแต่มันเป็นนิสัย.. แล้วถ้าคนไหนมันเป็นนิสัย มันก็พูดแบบว่าเข้าเป้า.. เข้าเป้ามาก ถ้าไม่เข้าเป้าก็พูดเป็นกลางๆ พูดเป็นกลางๆ ให้พวกเรารื้อหากันเองค้นกันเอง มันก็เป็นนิสัยใช่ไหม เพราะมันเป็นนิสัยก็อย่างที่เราพูดเมื่อกี้นี้ ก็เข้าเมื่อกี้อีกเหมือนกัน

เมื่อกี้เราพูดถึงจริตนิสัยของคน ! จริตนิสัยของคน.. คนที่มีอำนาจวาสนาบารมี จะมีความสัตย์ มีความจริง เช่นหลวงตา ! หลวงตานี้ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา เห็นไหม อยู่กับพ่อกับแม่นี่คำไหนคำนั้น สั่งงานเป็นงาน พวกนี้พวกมีสัจจะ แล้วนี่สัจจะ จะนั่งตลอดรุ่งก็ได้ เวลาตั้งสัจจะขึ้นมาแล้ว มันจะไม่คดโกงตัวเอง แต่ส่วนใหญ่คนที่ไม่มีบารมีนี้จะเรรวน พูดอะไรแล้วก็แล้วกันไป ไม่ค่อยถือคำสัตย์ของตัว แต่ถ้าคนมีคำสัตย์นะ ! คำสัตย์นั้นมีความสำคัญมาก

ถ้าคนมีบารมีอย่างนี้นะ ไม่ค่อยเชื่อคนง่ายๆ พอไม่เชื่อคนง่ายๆ ปั๊บมันก็ไม่เป็นเหยื่อของสังคม คนที่อ่อนแอนี่เป็นเหยื่อของสังคม แล้วไม่กล้าคิด.. ไม่กล้าคิด ไม่กล้าวินิจฉัย เพราะอะไรรู้ไหม

พระพุทธเจ้าบอก “กาลามสูตร.. ไม่ให้เชื่อ ! ไม่ให้เชื่อ ! ไม่ให้เชื่อ”

แต่พวกเรานี้ เพราะเราไม่มีบารมี แม้แต่ตัวเองก็เชื่อตัวเองไม่ได้ ถ้าตัวเองเชื่อตัวเองไม่ได้ เราก็เหมือนเศษฝุ่น เหมือนกับสวะ เหมือนกับสิ่งใดที่ช่วยตัวเองไม่ได้ จะหาที่เกาะตลอดไป พอมีสิ่งใดลอยผ่านมา ก็กระโดดเกาะๆ โดยไม่รู้ว่าสิ่งนั้นจริงหรือไม่จริงก็เกาะไปก่อน พอเกาะไปแล้วนี่เราไม่กล้าคิดไง

โดยธรรมชาตินะ เห็นพอพระพูดเราก็บอกว่าพระมีศีล ไม่กล้าโต้แย้ง แต่เราไม่รู้เลยว่าพระนั้นจริงหรือพระปลอม เรายังไม่รู้เลย ทีนี้พระจริงหรือพระปลอมนี่แล้วเราจะโต้แย้ง.. เราไม่ใช่โต้แย้ง ! เราคิดด้วยกาลามสูตร ว่าสิ่งนั้นเป็นไปได้จริงหรือเป็นไปไม่ได้จริง ถ้าเป็นไปไม่ได้จริงนะ สิ่งนั้นเราก็ไม่ต้องเชื่อแล้ว แต่พระพุทธเจ้าบอกว่า “เวลาเราพิสูจน์แล้วเป็นจริง เราถึงจะเชื่อ ! ” กาลามสูตรไง

ทีนี้คำว่ากาลามสูตร.. โดยธรรมชาติถ้าเราเป็นเด็กๆ ถ้ากาลามสูตรแล้วเราจะไม่มีหลักเกณฑ์เลย.. ก่อนจะเป็นกาลามสูตร.. มีศรัทธาก่อน ! เรามีศรัทธา ศรัทธาคือความเชื่อใช่ไหม พอมีความเชื่อขึ้นมา พอมีศรัทธา แล้วมีศรัทธาสิ่งใด เราจะพิจารณาสิ่งนั้น เราจะเอาสิ่งนั้นมาเป็นประเด็น

เพราะว่าเราศรัทธาใช่ไหม อย่างเช่นเราชอบอะไร เห็นไหม ไอ้บ้า ๕๐๐ จำพวกนี่มันบ้าอะไรล่ะ มันก็เล่นไอ้นั่นน่ะ บ้านก บ้ารถ บ้าอะไรมันก็บ้า ใครยิ่งบ้ามันยิ่งเก่งนะ ไอ้บ้านกนี่มันฟังออกของมันเลยนะ ขันอย่างไร รูปแบบเป็นอย่างไร นี่เพราะอะไร เพราะความเชื่อของเขา ศรัทธาคือความเชื่อ ! พอเราเชื่อเข้าไปแล้วนะ เราบ้า ! บ้าอะไรก็แล้วแต่ บ้าพระเครื่องหรือบ้าอะไรมันก็เล่น พอเล่นแล้วมันก็วินิจฉัย มันก็จะเข้าใจ

นี้เราบ้า.. เราบ้าศาสนา เราบ้าสัจธรรม เราบ้าแล้วเราก็ต้องพิจารณาของเราด้วย ไม่ใช่พอเราบ้าแล้วนะ เราบ้าเขาก็บ้า ไอ้บ้ากับไอ้บ้า มันเลยไปด้วยกันไง เราบ้า.. แต่ถ้าครูบาอาจารย์เราไม่บ้า เห็นไหม เฮ้ย.. กูบ้าเว้ย ! แต่ท่านไม่บ้า ท่านก็พยายามตะล่อมเราให้เข้าสู่ความจริง

เราบ้าแน่นอน ถ้าเราไม่ยอมบอกว่าเราบ้านี่นะเราจะแก้ไขเราไม่ได้หรอก คือว่าคนเรานี่ ถ้าเรารู้ว่าสิ่งใดผิดเราจะแก้ไขได้ ถ้าชี้ว่าสิ่งใดเป็นโทษ เราจะแก้สิ่งใดที่เป็นโทษให้เป็นคุณ ถ้าเราไม่รู้จักอะไรเป็นคุณอะไรเป็นโทษ เราจะแก้ไขอะไร นี่ก็เหมือนกัน เรารู้จริงในศาสนาหรือยัง... ไม่รู้หรอก แต่เรากำลังแสวงหากันอยู่

นี้การแสวงหากันอยู่ อย่างเช่นเงิน ! เงิน ! เงินนี่นะในท้องตลาดมันก็มีทั่วไปล่ะ แต่เงินของเรานี้มันเป็นเงินจริงหรือเงินปลอม เงินในกระเป๋าเราเนี่ย ! การปฏิบัติของเราเนี่ย ! สติของเราเนี่ย ! สมาธิของเราเนี่ย ! ปัญญาของเราเนี่ย มันเป็นของจริงหรือของปลอม มันพิสูจน์กันที่นี่ไง

ถ้าของเราเป็นของจริงนะ เราพิสูจน์ได้ถ้าเป็นของจริง ของจริงก็คือของจริง ! ของจริงตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้นะ แต่ของปลอมนี้มันไม่กล้านะ ที่สว่างมันยังไม่กล้ายืนเลย ของปลอมนี่ถ้าเอามาส่องกันแล้วนะ.. “ค่อยๆ ส่อง.. นิดเดียวก็พอ อย่าส่องมาก” แต่ถ้าของจริงนะ กล้องมันส่องแล้วส่องอีกนะมันก็คือของจริง !

นี่เหมือนกัน ถ้าเราว่าคำว่าบ้าของเรานี่ของเราจริงหรือยัง.. ถ้าเราไม่จริงเราก็ต้องพิสูจน์กัน แล้วยิ่งพิสูจน์ยิ่งดีนะ เอาประสบการณ์เราเลย.. ประสบการณ์เรา เราเป็นพระเด็กๆ เราไปอยู่กับครูบาอาจารย์องค์ไหนก็แล้วแต่ เราจะต้องเข้าไปทำข้อวัตร เราจะต้องสนิทกับท่าน เราจะไปนวดเส้นทุกคืนเลย.. สรงน้ำ ขัดน้ำ นวดเส้นขึ้นไป แล้วพอสนิทคุ้นเคยแล้ว เราก็ค่อยพูดแล้ว “ของผมเป็นอย่างนี้ครับ... ของผมเป็นอย่างนี้ครับ..” ผิดถูกให้ท่านว่ามา

เพราะเรากลัวความผิด ! ไปเจออาจารย์องค์นี้ ถ้าอาจารย์องค์นี้เขาก็ไม่เป็น เราก็ไปบอกเขา เขาก็แก้มา วินิจฉัยมา เราก็จำไว้.. เราไปเจออาจารย์องค์ใหม่ เราก็บอกของเราอีก “เอ๊ะ.. ทำไมอาจารย์แต่ละองค์ตอบปัญหาไม่เหมือนกันวะ” เราก็ได้วินิจฉัยแล้วว่าอาจารย์องค์ไหนตอบอย่างไร อาจารย์องค์ไหนตอบอย่างไร พอตอบอย่างไรปั๊บ อะไรถูกอะไรผิดนี้เราจะพิสูจน์ของเราแล้ว เราภาวนาของเราแล้ว

เราภาวนาของเรา ถ้าอะไรของเราเป็นจริงหรือไม่จริง แต่ถ้าเจออาจารย์ถูกนะ ไม่ต้องอ้าปากเลย “มึงผิด ! มึงผิด ! มึงผิด !” นี่ไอ้บ้าไง เพราะเราบ้า ! เพราะเราบ้า เพราะเรายังแก้ไขของเราไม่ได้ ถ้าครูบาอาจารย์แก้ไขของเราได้นะ โอ้โฮ.. ซึ้งมากนะ ! ซึ้งมากเพราะอะไร อย่างเช่นคนตาบอด แล้วมีคนๆ หนึ่งมาชักจูงให้เราไปในทางที่ถูกทาง เราจะซึ้งใจกับคนๆ นั้นไหม จะเป็นใครก็แล้วแต่ ถ้าสามารถจูงให้เราเข้าทางที่ถูก เราจะเห็นคุณเขาไหม

ฉะนั้นครูบาอาจารย์ของเรา เราถึงเคารพกันด้วยอย่างนี้ไง เราเคารพกันเพราะว่าเหมือนกับเราจะตกไปในน้ำ น้ำจะพาเราไปแล้ว น้ำท่วมมันพัดเราไปแล้ว มีคนช่วยชีวิตเราขึ้นมาได้ เราจะซึ้งใจไหม ครูบาอาจารย์เราเป็นอย่างนั้นนะ จิตของเรานี้มันจะไหลไป.. ไหลไปกับกระแส ไหลไปกับความไม่รู้ของเรา แล้วท่านดึงเรากลับมาได้ ฉะนั้นอะไรจะไม่มีค่าเลย ความผูกพันอันนี้มันจะฝังหัวเลยว่าชีวิตนี้ได้มาจากใคร ความถูกต้องนี้ได้มาจากใคร ถ้าความถูกต้องได้มาอย่างนั้นปั๊บ.. อันนี้เพราะคำว่ามีสัตย์ เราต้องพิสูจน์ของเราอย่างนั้น

มันไม่มีไมค์ช่วยมันเหนื่อย.. อยู่วัดมันมีไมค์ช่วยนะ มันเจ็บคอ.. มีอะไรอีกว่ามา

 

โยม ๑ : ค่ะ ทีนี้พอฟังจากพระอาจารย์ วันเกิดหลวงตาครั้งที่แล้ว แล้วก็เอาข้อมูลไปบอกเพื่อนๆ ที่บวชเป็นพระอยู่ในวัดค่ะ ท่านก็บอกว่า เรื่องว่าให้คนอื่นมันเป็นเรื่องที่ไม่ดี เป็นเรื่องร้อนค่ะ ท่านว่าไม่ควรจะเอามาพิจารณา ท่านว่าต้องพิจารณาข้างใน เราก็เลยว่า เอ๊ะ.. ทำไมมีผลเสียต่อตัวเอง ไม่รู้ถูกหรือผิด เส้นทางที่เราจะเดิน แล้วก็แถมยังดึงคนอื่นไปอีกเยอะเลยค่ะ แต่เราควรจะพิจารณาไหม... แต่ก็ยอมรับว่าเรื่องนี้มันก็วุ่นวาย ใจเราก็ไม่ค่อยสงบค่ะพระอาจารย์

หลวงพ่อ : มันก็ไม่สงบทั้งนั้นน่ะ ไอ้เรื่องที่ว่าดึงไป.. มันเป็นอย่างนี้นะ ดึงไปหลายคนนี่มันเริ่มต้น เริ่มต้นจะเป็นอย่างนี้ เริ่มต้นทุกคนนี่นะจิตใจฟุ้งซ่าน จิตใจเรามันมีปัญหามาก แล้วพอเราควบคุมใจเราได้.. แค่นี้เอง ! เขาว่าสิ่งนี้เป็นความดี

โยม ๑ : เราจะควบคุมใจอย่างไร คือบางทีเราก็รู้สึกฟุ้งซ่านเหมือนกันค่ะอาจารย์

หลวงพ่อ : ใช่ ! ควบคุมใจนี้มันเริ่มต้นจากการภาวนานี่นะ การภาวนาจะควบคุมใจของเราได้ ก็เหมือนคนเรานี่แหละเวลาเราเคลื่อนไหวอยู่กับเราหยุดนิ่ง ถ้าเราเคลื่อนไหวอยู่ มันจะมีการเคลื่อนไหวอยู่ ถ้าเราหยุดนิ่งได้มันก็จบใช่ไหม

จิตใจนี้มันยังฟุ้งซ่านอยู่มันก็ไปประสามันนั่นแหละ พอมันหยุดนิ่ง เขาว่าสิ่งนั้นดีแล้ว แต่ความจริงมันไม่ใช่.. มันไม่ใช่หรอก ! ไม่ใช่เพราะอะไรรู้ไหม คือว่ากระบวนการของความคิด เราดูกระบวนการของความคิด เราจัดกระบวนการความคิดให้มันเรียบร้อยก็เท่านั้นเอง มันยังไม่เป็นธรรมะอะไรเลย แล้วคนที่ภาวนาไม่เป็น ก็ทำได้แค่นี้เอง แล้วเขาบอกว่าดี ! ถูกต้อง.. ดี ! เพราะมันพิสูจน์ได้ไง จากที่มันฟุ้งซ่านแล้วมันสงบนั่นไง แล้วสงบๆ.. สงบแล้วทำอย่างไรต่อไป อ้าว.. สงบแล้วทำอย่างไรต่อไป

 

โยม ๑ : พิจารณา

หลวงพ่อ : มันยังไม่สงบด้วย ! เพราะความสงบนั้นมันไม่เป็นสัมมาไง ถ้าเป็นสัมมามันถึงจะพิจารณาได้ แต่ถ้ามันไม่เป็นสัมมานะ เขาจะอยู่กันตรงนั้นไง แล้วว่าตรงนั้นน่ะเป็นมรรคเป็นผล แล้วก็รอเสื่อมไง แล้วพอเสื่อมมันก็มีปัญหาไง

ฉะนั้น เพราะพูดคำว่า ! เขาดึงคนไป.. ส่วนใหญ่ที่ดึงไปได้ก็เพราะเหตุนี้ไง เหตุที่ว่าเมื่อก่อนมันมีการเคลื่อนไหวอยู่ แล้วเขาพูดให้หยุดนิ่งได้ นี้ถ้าพูดให้หยุดนิ่งได้นะ เอ็งดูกุฏิหลังนี้สิมันหยุดนิ่ง มันไม่ทำอะไรเลย แล้วมันเป็นอะไรล่ะ มันไม่เป็นอะไรเลย.. จิตใจก็เหมือนกัน เพราะมันยังมีกุฏิอยู่ใช่ไหม มันยังมีแรงกระทบอยู่ ลมพัด แดดออก มันยังรับรู้ได้อยู่

จิตก็เหมือนกัน มันเคลื่อนไหวแล้วมันหยุดนิ่ง ! หยุดนิ่งมันมีสัมมากับมิจฉา ถ้ามิจฉาคือหยุดนิ่งโดยก้อนหิน หยุดนิ่งโดยธาตุ หยุดนิ่งโดยความไม่รู้ตัว.. แต่ถ้าเป็นสัมมา มันหยุดนิ่งเป็นเอกัคคตารมณ์ หยุดนิ่งโดยสติปัญญา ถ้าการหยุดนิ่งมันมีการเคลื่อนไหวต่อไป การเคลื่อนไหวต่อไปนั้นถึงเข้าอริยมรรค

ถ้าการเคลื่อนไหวด้วยความหยุดนิ่ง ! แต่นี้เราการเคลื่อนไหวด้วยความฟุ้งซ่าน.. การเคลื่อนไหวด้วยความฟุ้งซ่านให้กลับมาหยุดนิ่ง แล้วเข้าใจว่าความหยุดนิ่งนั้นเป็นผล เอ้า ! ค่อยๆ คิด.. ค่อยๆ คิด..

การเคลื่อนไหวด้วยความฟุ้งซ่าน ! คือการเคลื่อนไหวด้วยจิตของเรา เห็นไหม แล้วให้มันหยุดนิ่ง แต่การหยุดนิ่งนั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิ หยุดนิ่งแล้วคิดว่าเป็นผล.. แต่การเคลื่อนไหวด้วยความฟุ้งซ่านแล้วให้มันหยุดนิ่ง แต่การหยุดนิ่งนั้นหยุดนิ่งด้วยสัมมา.. หยุดนิ่งด้วยสัมมาคือว่าการหยุดนิ่งนี้เป็นเอกัคคตารมณ์

จิตหยุดนิ่งนี้เป็นเอกัคคตารมณ์.. คือจิตตั้งมั่น ! ถ้าจิตตั้งมั่นแล้วค่อยวิปัสสนาเข้าไป.. วิปัสสนาเข้าไป แล้ววิปัสสนาในอะไร.. แล้วสิ่งนี้เขาไม่ได้พูดตรงนี้เลย ไอ้สิ่งที่วิปัสสนาต่อไป เพียงแต่ว่าพิจารณากายเข้ามา คือการเคลื่อนไหวให้หยุดนิ่ง !

เราจะบอกว่า ส่วนใหญ่เขาจะบอกว่า “ที่ไหนไม่ดีๆ น่ะ.. มันดีสิ ก็มันหยุดนิ่ง ! ก็มันนิพพานนั่นน่ะ” นิพพานของมึง นิพพานคิดเอง ! นิพพานด้วยการที่กูตั้งให้ ! แต่มันไม่ใช่นิพพานด้วยเนื้อหาสาระในอริยทรัพย์ ในธรรม มันก็เลยเป็นความง่ายไง มันก็เลยเป็นการควบคุมกันได้ไง แต่ความจริงไม่มี.. ความจริงไม่มีใครควบคุมได้ ความจริงคือความจริง ความจริงเป็นสิ่งที่ไม่ตาย ความจริงมันเป็นสัจธรรม แล้วมันจะเป็นความจริงขึ้นมา

ฉะนั้นอย่างที่โยมพูดว่ามันไม่มีใครพิสูจน์ได้.. มันไม่มีใครพิสูจน์ได้ เพราะว่าเราไม่มีกึ๋นไง ถ้ามันมีกึ๋นนะ โอ๋ย.. เรื่องนี้มันเป็นเรื่องไร้สาระมาก ! ฉะนั้นอย่างที่บอกว่าเรื่องของคนอื่นไม่ต้องดูๆ นี่เขาพูดต่อเมื่อ.. พูดต่อเมื่อมันจะมีการพิสูจน์สัจธรรมของตัว แต่ถ้าบอกว่าให้เขาไปพิสูจน์คนอื่น เขาจะไปทันทีเลย

 

โยม ๑ : หนูก็ว่าอยู่ว่า ถ้าหากว่าเราชมครูบาอาจารย์ของเขา เขาจะพูดแบบนี้หรือเปล่า แต่พอว่าไม่ค่อยดี เขาก็เลยว่าไม่ควรจะพิจารณาเพราะว่ามันร้อนน่ะค่ะพระอาจารย์

หลวงพ่อ : เออ.. มันก็พูดไป ไอ้อย่างนี้นะเราจะบอกว่า ไม่มีใคร.. ความจริงกับความไม่จริงนี่มันเป็นในตัวของมันเอง ไม่มีใครไปบอกให้ความจริงเป็นความไม่จริงได้ ความไม่จริงเป็นความจริงได้ มันเป็นในตัวของมันเอง

ความจริงคือความจริงในตัวมันเอง ความไม่จริงคือความไม่จริงในตัวมันเอง

ฉะนั้นเพียงแต่ที่เราพูด ที่มาคุยกับเรานี้ เราก็พูดให้เห็นว่า อะไรเป็นเหตุเป็นผลให้ไปพิจารณากันใช่ไหม ฉะนั้นเวลาเราพูด อย่างที่พูดนี่เพราะเราไม่เชื่อ ! เราไม่เชื่อที่พวกนั้นเขามาบอกว่า “ใครไปทำแล้วจะเป็นโสดาบันๆ” มันเป็นไปไม่ได้ ! มันเป็นไปไม่ได้ ! มันเป็นไปไม่ได้เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทำไม่ได้ !

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ต้องเล็งญาณ เล็งญาณนี่ไม่ใช่เล็งญาณไปที่มึงนะ เล็งญาณไปที่ใจของมึง ! ว่าในใจนี่มันมีอำนาจวาสนาหรือเปล่า พระพุทธเจ้านี่พุทธกิจ ๕ ! เล็งญาณ ดูสิพระองคุลิมาล เห็นไหม จะฆ่าแม่อยู่แล้วน่ะ เพราะเขามีบุญของเขา แต่ด้วยความที่เขาอยากได้วิชา เขาจะฆ่าแม่ของเขาในวันนั้น ถ้าพระพุทธเจ้าไม่ไปแก้นะ องคุลิมาลไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ! แต่นี่เขาบอกว่า “อู้ฮู.. ทำอย่างนั้นๆ แล้วจะเป็นโสดาบันๆ ”

โสดาบันมีขายที่ไหนบอกทีจะซื้อ ! ห้างไหนขายโสดาบันบอกด้วยโว้ย ! กูอยากซื้อซักโสดาบันหนึ่ง..

(ผู้ฟังหัวเราะ)

โยม ๑ : ตอนนี้พวกเราก็เข้าใจเยอะเลยค่ะ แล้วก็พระอาจารย์ไปเทศน์ต่อที่วัดวันที่ ๑๓ ก็ตามฟังกันในเว็บพระอาจารย์ ทีนี้ว่าเราจะจัดการกับอารมณ์ของพวกเรายังไง คือบางทีพวกเรามาวุ่นวายกับเรื่องนี้ จิตเราที่เคยสงบ พอมาวุ่นวายเราก็ไม่ค่อยสงบค่ะพระอาจารย์ แล้วเราจะรักษาจิตกันอย่างไรคะพระอาจารย์

หลวงพ่อ : เวลาเรื่องกระทบเรื่องข้างนอกมันก็มีนะ เรื่องของเราเราก็มี ฉะนั้นกรณีอย่างนี้ เวลางานนะ.. “งานนอก งานใน” งานนอกเป็นงานหนึ่ง แล้วทีนี้พองานนอก เวลาเรามาพุทโธ หรือเวลาเราพยายามทำความสงบนี้มันสงบได้ยาก ถ้ามันสงบได้ยากให้เดินจงกรม

เราจะบอกว่างานนอกนี่นะมันมีกุศล ! มันมีกุศล.. คนเราจะทำกุศลแล้ว มันต้องมีอำนาจวาสนา อำนาจวาสนาของเรา ถ้าเราทำขึ้นไปแล้ว ถึงเวลาแล้วนะมันจะส่งผล เหมือนนักกีฬา นักกีฬาที่ได้ออกกำลังกายด้วยความเข้มแข็ง นักกีฬาคนนั้นแหละสุขภาพต้องดีขึ้น

จิตใจของเรา ถ้าเราทำคุณงามความดีของเรา ! ทำความดีของเรา ถึงที่สุดนะเราจะเปรียบเทียบ เหมือนก่อนหน้านี้อยู่ที่วัดนี่เราก็พยายามชี้เรื่องที่สังคมเขาเป็นไป เรารู้มาหมดแหละแต่เราไม่พูดเลย แล้วเดี๋ยวนี้ก็ยังมีเยอะแยะแต่เราไม่พูดถึง แต่กรณีที่เรามาพูดถึงเรื่องดูจิตๆ นี้เพราะอะไร เพราะเขาพูดถึงพุทโธ ว่าพุทโธนี่เสียหายไปหมดเลย

ทีนี้เขาก็พูดแล้วพูดเล่า.. พูดแล้วพูดเล่า.. เราถึงว่าเขาทำอยู่ข้างเดียว เราถึงได้ออกมาพูดเรื่องว่าถ้าไม่มีพุทโธ ! เพราะหลวงตาบอกว่า “พุทโธนี่สะเทือนสามโลกธาตุ”

ไม่มีพุทโธ ! คือไม่มีเจ้าของพุทธศาสนา.. ไม่มีพุทโธ ! คือไม่มีผู้รับผลประโยชน์.. พุทโธคือพุทธะ ! พุทธะคือผู้รับผลประโยชน์ คือหัวใจ.. ถ้ามันไม่มีพุทโธ ไม่มีสิ่งใดๆ เลย ศาสนาไม่มีคุณค่าอะไรเลย !

เราก็เลยออกมาโต้แย้ง พอโต้แย้งไป..ตอนโต้แย้งใหม่ๆ เห็นไหม เราจะพูดกลับมา คือเรายกตัวอย่างอย่างที่โยมว่านี่แหละ เพราะพอมันออกไปข้างนอกแล้วมันยุ่งมากเลย ! มันยุ่งมากเลย พอออกไปนี่ โอ้โฮ.. เขายำกันเละเลย ! เละเลย ! สุดท้ายดูผล เพราะยำก็ยำไปสิ เพราะฉันพูดสัจจะ แล้วสัจจะนี้ใครจะพิสูจน์ก็ได้ ใครพิสูจน์เมื่อไหร่ก็ต้องเจอสัจจะนั้น

เราอยู่ที่วัดเดี๋ยวนี้นะเอาพวงมาลัยไปขอขมากัน อู๋ย.. เป็นแถบๆ เลย พวงมาลัยกูไม่มีที่วางเลย.. เวลาผลมันเกิด เห็นไหม เราจะบอกว่านี่อำนาจวาสนามันมี เราทำความดีก็เพื่อความดี

ฉะนั้นเวลาเราทำของเรา ถ้ามันเป็นสังคมของเรา เราทำของเราแล้วเพื่อประโยชน์กับเรา สิ่งที่เราแก้ไขไม่ได้.. ฟังนะ ! “สิ่งที่เราแก้ไขไม่ได้เขาเรียกว่าสายบุญสายกรรม” เวรกรรมของเขาผูกพันกันมาไง เราจะชักนำออกมาด้วยความยาก แต่ถ้าเรามีเวรมีกรรมกัน ถ้าเรามีทัศนคติ.. เห็นไหม ดูสิดูอย่างสังคมหรือกลุ่มชนอย่างนี้ กลุ่มชนของเขาเขามีความชอบ ความปรารถนาแตกต่างกันไป

ความปรารถนาของเขา ความชอบของเขา มันมาจากดีเอ็นเอ มาจากสามัญสำนึก มาจากสายบุญสายกรรม พันธุกรรมทางจิตของเขาได้เกี่ยวพันกันมา.. ความเกี่ยวพันกันมานี้ เราจะดึงอย่างไรมันก็ต้องมีการขัดแย้งกันบ้าง แต่ถ้าสิ่งใดเราทำแล้วให้มันเป็นประโยชน์กับเรา

กลุ่มชนกลุ่มนี้มีความเห็นอย่างนี้ นี่เขาเรียกโลกธรรม มันเป็นธรรมะเก่าแก่ ก่อนจะมีธรรมะของพระพุทธเจ้านี้เห็นไหม สิ่งนั้นมันมีอยู่แล้ว.. แล้วสิ่งที่เขาทำกันมา เขาเกื้อหนุนกันมา มันมีความเห็นกันมา แล้วเราจะดึงออกมา มันจะดึงออกมาได้อย่างไร แต่ถ้าเราจะช่วยเหลือเขา เราก็พยายามพูดกับเขา แล้วเรื่องเวรกรรมของเขา

เราจะทำของเรา เราดูใจของเรา แล้วถ้ามันฟุ้งซ่านหรือไม่ฟุ้งซ่านเราก็พิสูจน์กันนี่ ถ้าเราทำของเรา เราพิสูจน์ของเรา อันนี้เราบอกว่าเขาผิดๆ อยู่เนี่ย แล้วเราจะทำถูกๆ ล่ะ.. ถูกๆ ก็ทำให้มันถูกขึ้นมา ทำให้มันไม่ฟุ้งซ่านขึ้นมา เออ.. ถ้ามันถูกแล้วต้องไม่ฟุ้งซ่าน เออ.. ถ้ามันถูกแล้วมันต้องมีกุศลของมัน

กุศล-อกุศลนะ ! เขาคิดว่ากุศลเป็นอกุศล เขาก็กินตัวมันเอง ทำลายตัวมันเอง เรากล้าพูดคำนี้นะ “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” ความผิดมันต้องออกมาแน่นอน ช้าหรือเร็ว !

 

โยม ๑ : ทีนี้มันก็เหมือนมีอธรรมแทรกธรรมะอยู่ค่ะพระอาจารย์ คืออย่างครูบาอาจารย์ของเราเราก็ต้องกตัญญู มันคือธรรมะ แต่เขาพยายามเอามาแทรกอยู่ตรงนี้ บอกว่าเราต้องสามัคคีกันนะ คือไม่ให้ออกจากอาจารย์น่ะค่ะ คือเราต้องสามัคคีกันนะเวลาคนเขาทำอะไรมาแล้ว คือความกตัญญูหรือสามัคคีมันก็เป็นธรรมะค่ะพระอาจารย์ หรืออย่างเช่นบอกว่า “เรามาบวชนี้ดีแล้ว.. ฆราวาสไม่ได้อะไร..” อะไรอย่างนี้ค่ะพระอาจารย์ มันดูเหมือนดูดี เป็นธรรมะ แต่ว่ามันเหมือนซ่อนอยู่ค่ะพระอาจารย์

หลวงพ่อ : อ้าว ! ถ้าไม่อย่างนั้นมันจะมีเหยื่อเหรอ... มันก็ต้องอย่างนี้มันถึงมีเหยื่อไง นี่ไงมันก็ตรงนี้ คำว่าเหยื่อนะ เราถึงบอกว่าถ้าเรามีสติมีปัญญา เราจะเป็นเหยื่อเขาไหมล่ะ.. บวชนี่มันเป็นสิ่งที่ดี แต่บวชแล้วมันมีสัมมา มีมิจฉาทั้งหมดแหละ ถ้าบวชแล้วเราทำดีมันก็ดี แต่นี้เขามาทำดีนะ.. แล้วดีนี่ดีของใครล่ะ.. ถ้าดีนะ ดีกับโลก เพราะแค่เราทำดี อยู่ในธรรมวินัยนี่มันก็เป็นพระที่ดี

ทีนี้พระที่ดี ! พระที่ดีหมายถึงว่าพระที่ไม่ผิดศีลผิดธรรม แต่มีคุณธรรมในใจหรือเปล่า มันดีเป็นขั้น.. ขั้น.. ขั้นขึ้นมาไง อย่างพระเรานี่.. อย่างเช่นเรานี่ภาวนาไม่เป็นเลย กูภาวนาไม่เป็นนะ แต่กูเป็นพระกูไม่ได้ทำอะไรผิดเลย กูเป็นพระดีหรือเปล่า.. เป็นพระดี ! แต่เป็นพระดีปากจัดน่าดูเลย..

“นี่มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียดไง”

หลวงตาใช้คำนี้นะ “มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด” ถ้าเราติดความดีหยาบๆ เราจะละเอียดขึ้นไปไม่ได้.. ถ้ามรรคหยาบนะ คือเราทำอย่างนี้นี่เราทำดีแล้ว เราไม่ยอมทำอย่างอื่นเลยมันก็ไม่ดีขึ้นไป ถ้าเราดีขึ้นมานะ เราพัฒนาขึ้นไป มันก็พัฒนาขึ้นไป ก็เหมือนอย่างเด็กกับผู้ใหญ่นี่แหละ แต่นี้ถ้าวุฒิภาวะเขาได้แค่นั้น เขายอมรับแค่นั้นก็เรื่องของเขา

มันมีในสมัยพุทธกาล สมัยนี้ก็มี กลางวันเป็นเปรต กลางคืนเป็นเทวดา.. จิตเดียวนี่นะเป็นทั้งเปรตเป็นทั้งเทวดา อันนี้อันหนึ่ง.. ไอ้สามัคคีก็คือสามัคคี ถ้าสามัคคีมันก็ดีอยู่แล้ว แต่สามัคคีนี้สามัคคีไปปล้นเขา หรือสามัคคีทำความดีล่ะ ถ้าสามัคคีไปปล้นเขามันก็ไม่ถูกนะเว้ย

 

โยม ๑ : หนูมองว่าอย่างสมัยพุทธกาลที่ว่านอกศาสนา พวกเดียรถีย์เขาก็สามัคคีรักษาของเขาเหมือนกัน อันนี้ก็เลยว่าสามัคคีรักษาครูบาอาจารย์ของตัวเองไว้ค่ะ

หลวงพ่อ : เขายังเชื่ออยู่ มันอย่างนี้นะ.. ถึงเวลานะ เพราะว่าทางนู้นมีเหมือนกัน โอ้โฮ.. อาจารย์เขาปกป้องน่าดูเลย.. เขาปกป้องกันเต็มที่เลย แล้วตอนนี้นะ ตอนนี้ที่เขาปกป้องนี่เขาไปมองหรือเขาไปเห็น เพราะเขาปฏิบัติของเขามาเอง แล้วสุดท้ายแล้วตอนนี้ที่เขาทำกันอยู่นี่นะ เขาทำกันอยู่ ไอ้คนของเขาเองนั่นล่ะก็พยายามจะเอาให้เรื่องมันเปิดออกมา ไอ้คนของเรานี้ไม่ค่อยเท่าไหร่ คนของเขาคือเขาให้ไปหมดหัวใจแล้ว...

ไอ้อย่างนี้มัน.. โยมต้องคิดอย่างนี้ เห็นไหม นิ้วมือก็ไม่เท่ากัน.. นิ้วมือคนไม่เท่ากัน จิตใจของคนไม่เหมือนกัน เราทำเท่าที่ทำได้.. ที่เราทำได้ คือถ้าเขาฟังอย่างนี้ก็ดีไป ถ้าเขาจะไปทางนู้นเราก็บอกว่าเขาเป็นสายบุญสายกรรมกัน เขามีสร้างเวรสร้างกรรมกันมา เราก็ทำใจปล่อยเขาไป

คือเราไม่สามารถจะทำให้นิ้วเราเท่ากันได้ไง คือเราไม่สามารถทำให้คนมีความคิดเหมือนกันได้ ความคิดไม่เหมือนกันก็คือไม่เหมือนกัน แล้วในความคิดก็ส่วนความคิดนะ.. สัจธรรมก็ส่วนสัจธรรม.. สัจธรรมมีหนึ่งเดียว ! ที่เรากล้าพูด เรากล้ายืนยันเพราะอะไร เพราะเรายืนยันด้วยสัจธรรม

ถ้าเขาจะนิสัยอย่างดี อย่างปานกลาง หรืออย่างเลว แต่ถ้าเขาทำสัจธรรมตรงอันนี้นะ คือเข้าถึงสัจธรรมได้จริงเหมือนกัน แต่ถ้าเขาจะดีขนาดไหน แต่เขาพูดสัจธรรมนี้ผิดนะเราไม่ฟัง คือเขาเป็นคนดีก็คนดีเรื่องของเขา แต่สัจธรรม.. นี่เวลาเราพูดเราพูดถึงเรื่องธรรม เราพูดถึงเรื่องสัจจะ

สัจจะก็คือสัจจะ ! ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค.. มรรคญาณ.. ถ้ามันเข้ามาอันนี้นะ ใครก็แล้วแต่ถ้าพูดอันนี้ถูกต้อง คนนั้นเป็นคนที่เข้าถึงธรรมจริง... แต่ที่เราพูดอยู่นี้ ที่เรายืนยันคือยืนยันอันนี้ไง ยืนยันอันนี้ว่าเขาพูดอันนี้ผิดหมดไง !

 

โยม ๑ : พอเราจะไปพิสูจน์หรือไปถามครูบาอาจารย์ ท่านก็ว่าเราจะทำให้สงฆ์แตกแยกค่ะพระอาจารย์ บางคนก็เลยเกิดความกลัวขึ้นมาว่าจะทำให้สงฆ์แตกแยกหรือเปล่า

หลวงพ่อ : สงฆ์แตกแยกนะ.. เราโดนบ่อยมากคำนี้

โยม ๑ : จะเป็นบาปหนักค่ะพระอาจารย์

หลวงพ่อ : สงฆ์แตกแยก หมายถึงว่าพระสงฆ์ที่มีความสามัคคีในหมู่สงฆ์นั้น แล้วเราไปยุแหย่ให้เขาแตกแยก นี้ถึงเป็นสังฆเภท ! เขาบอกเลยว่าพระจอมเกล้าฯ นี้ทำให้สงฆ์แตกแยก เราบอกไม่มี ! ไม่มี ! ไม่มี ! ไม่มี ! เพราะพระจอมเกล้าฯ นี่นะ.. ตั้งธรรมยุตขึ้นมา แล้วเขาบอกว่า “พระจอมเกล้าฯ ทำให้สงฆ์แตกแยก.. พระจอมเกล้าฯ ตกนรกอเวจี...” ไม่จริง !

พระจอมเกล้าฯ ทำประโยชน์ ทำเพื่อศาสนา เพราะถ้าไม่มีธรรมยุตขึ้นมานะ เพราะเมื่อก่อนพระเรามันเหลวแหลกกันไปแล้ว แล้วพอพระจอมเกล้าฯ บวชมาแล้วนี่ก็อยากจะศึกษาความจริง แล้วปฏิบัติไม่ได้เพราะว่าข้อทฤษฎีคือพระไตรปิฎก กับพฤติกรรมของสงฆ์มันแตกต่างกัน

พอแตกต่างกันท่านก็พยายามสร้างตัวท่าน พยายามสร้างความดีของท่านขึ้นมา ก็เป็นหมู่คณะๆ หนึ่ง พอเป็นหมู่คณะหนึ่งขึ้นมา พอมีธรรมยุตขึ้นมา มันก็เลยทำให้ดึงให้สงฆ์ขึ้น.. พอสงฆ์ขึ้น แล้วพอมีคนทำความดีมา นิกายอื่นเขาก็พยายามทำความดีขึ้นมาคู่กัน มันเลยกลายเป็นการยกสงฆ์ขึ้น ! ไปทำให้แตกแยกตรงไหนวะ !

นี้ก็เหมือนกัน ในเมื่อเราเห็นว่าคนทำถูกทำผิด การพิสูจน์ความถูกความผิดไม่ได้ทำให้สงฆ์แตกแยก ! คำว่าสงฆ์แตกแยกคือพระสงฆ์หมู่นั้นเขาอยู่กันด้วยความสุขสบาย มีความสุขดีงาม แล้วเราเข้าไปยุไปแหย่ให้เขาแตกแยก นั่นถึงเป็นสังฆเภท !

สงฆ์ที่ไหนเขาทำตัวไม่ดี แล้วเราไปทำให้สิ่งนั้นเป็นสิ่งดีขึ้นมา เราทำให้ศาสนาดีขึ้นมา เป็นบุญกุศลมหาศาลเลย ไม่มีแตกแยกตรงไหน !

เราทำเพื่อความสะอาดในสงฆ์นี้มันแตกแยกเหรอ.. มันเป็นสูตรสำเร็จที่พูด มึงจะทำดีหรือไม่ดีก็ว่า “สงฆ์แตกแยก ! สงฆ์แตกแยก !” ถ้าอย่างนั้นทุกคนกลับบ้านนอน.. ห้ามทำอะไรเลยเดี๋ยวสงฆ์แตกแยก ! ต่างคนต่างนอนในบ้านมึงนั่นล่ะถูกต้อง !

(ผู้ฟังหัวเราะ)

มันไม่มี ! ทุกคนจะทำงานมันก็ต้องเป็นประโยชน์ทั้งนั้นล่ะ ไม่มีหรอก ! ทุกคนเอาตรงนี้มาอ้าง โอ้โฮ.. แล้วเขาก็บอกว่าพระสงบนี่ทำให้สงฆ์แตกแยก เราบอกไม่มี ! ไม่มีสงฆ์ มีแต่พระสงบกับพระองค์หนึ่ง พระ ๒ องค์ไม่ใช่สงฆ์ ระหว่างพระบุคคลกับบุคคล มันแตกแยกตรงไหนวะ !

คำว่าสงฆ์แตกแยกคือหมู่สงฆ์เขาอยู่กันด้วยความเป็นสุข เรามาทีหลัง แล้วเราอิจฉาตาร้อน เราต้องการผลประโยชน์ เรายุแหย่ให้แตกแยก นั้นถึงจะเป็นสงฆ์แตกแยก ! เอ็งไปยุแหย่ใคร เอ็งไปทำอะไรให้เป็นสงฆ์แตกแยก เพียงแต่ว่ากูกลัวความลับกูแตกแยกต่างหากล่ะ ! เดี๋ยวความลับกูแตกแยก ความลับกู แหม.. กูซ่อนไว้อย่างดีเลย มึงจะมาทำให้ความลับกูแตกแยก !

 

โยม ๑ : ตอนนี้มีคนไปเยอะมากไหมคะในวัดป่าบ้านตาด ก็ไปที่โน่นใช่ไหมค่ะพระอาจารย์

หลวงพ่อ : โยมอย่าไปเสียใจ อย่าไปคิดอะไร จะไปจะมานี้มันสิทธิของเขา เพราะสิทธิของคนไง.. มันเป็นสิทธิของคน.. เราไม่อยากจะพูดเลยว่าคนโง่มากกว่าคนฉลาดมาก.. แล้วคนโง่นี่เป็นเหยื่อตลอดไปนะ แล้วโยมคิดนะมันจะมีอย่างนี้ตลอดไป ศาสนาพุทธนี้มัน ๒,๐๐๐ กว่าปี มันมีอย่างนี้มาตลอด แล้วจะมีต่อไป

เราจะบอกว่าเดี๋ยวเราจะทำให้ศาสนานี้ขาวสะอาดไง พระพุทธเจ้ายังทำไม่ได้เลย แล้วเราเป็นใคร เราจะทำให้ศาสนานี้ขาวสะอาดโดยที่ไม่มีความเศร้าหมอง แม้แต่เราบวชเป็นพระนี่เรายังทำไม่ได้เลย เพราะอะไร เพราะเราไม่ใช่พระปกครอง พระปกครองเขาก็มีปกครองของเขา แล้วถ้าปกครองขึ้นมานี่ใครจะรับผิดชอบ

แมลงวันไม่ตอมแมลงวัน.. เพราะถ้าตอมไปแล้ว เดี๋ยวแมลงมันจะตอมกู ยุ่งไปหมดเลย ! แต่ถ้าเราทำอย่างที่หลวงตาท่านพูด เห็นไหม “ใครจะทำดีทำชั่วมันเรื่องของเขา เราจะทำดีว่ะ” พวกเราทำความดีของเรา ไอ้เรื่องไปหรือไม่ไปนี่มันเรื่องของเขา ถ้าเดี๋ยวเขารู้ของเขา หรือเขาเห็นของเขา มันก็เรื่องของเขา แต่ถ้าเข้าไปแล้วเขาพอใจของเขา เขามีความสุขของเขา ก็เรื่องของเขา เพราะเขาต้องการรสอาหารอย่างนั้น

รสอาหารอย่างนั้น รสธรรมอย่างนั้น เขาพอใจก็เรื่องของเขา ถ้าไปแล้วเขาแค่เห็นสิ่งต่างๆ ภายนอกมันเป็นเรื่องน่าชื่นใจ ก็เรื่องของเขา เพราะเราจะไปบอกว่าผิดๆๆ ทุกอย่าง เดี๋ยวก็หาว่า แหม... จ้องไม่เลิกเลย ! เขาว่าจ้องไม่เลิกเลย

ไอ้ของอย่างนี้ถ้ามันจะพิสูจน์กัน มันพิสูจน์กันมันต้องมีวาสนาของคนนะ คนมันชอบไง คนเขาชอบของเขา แล้วมันเกี่ยวกับเรื่องสังคมโลก... สังคมโลก เห็นไหม เรื่องของโลกมันสร้างได้ เดี๋ยวนี้มันเห่อ มันทำได้หมดแหละ ยิ่งเลเซอร์มันยิงได้หมด มันจะแสดงอภินิหารอย่างไรก็ได้

พระพุทธเจ้าบอกไว้แล้วนะ การบันลือสีหนาท.. แสดงอภินิหารต้องหลวงตา เทศน์ทุกวันนี่อภินิหาร เทศน์นี่แหละมันออกมาจากใจ อภินิหารทั้งหมดเป็นอภินิหารอย่างนี้ บันลือสีหนาท.. การแสดงธรรมนี้มันทำให้จักรมันเคลื่อน ไม่ใช่มาแสดงกันอย่างนั้น มันไม่ใช่หรอก..

อันนี้พูดถึงคนที่หูตาสว่างนะ ถ้าผู้ที่หูตาเขาไม่สว่าง เขาแค่เห็นอะไรที่เรียบๆ ร้อยๆ เห็นอะไรที่มันสะอาดสะอ้าน เขาก็พอใจแล้ว.. ช่างเขา ยิ่งคนไปเยอะยิ่งดี สาธุเลย อู้ฮู.. วาสนามึงดีเว้ย ! วาสนาคนที่ไปนะ ถ้าเขาไปแล้วเดี๋ยวเขารู้ของเขาเอง แต่มันจะรู้ได้ยาก.. รู้ได้ยากเพราะเขาไม่ปฏิบัติ

ไอ้อย่างนี้มันคนละมิติ.. มิติหนึ่งมันแค่สามัญสำนึก.. อีกมิติหนึ่งมันลึกกว่านั้น.. พอลึกกว่านั้นแล้วมันไม่มีใครที่.. แล้วทีนี้เขาก็ว่า... ก็อย่างที่เราพูดเมื่อกี้ เริ่มต้นมาเราพูดแล้ว แค่เคลื่อนไหวแล้วหยุดนิ่งเขาก็โอ้โฮ.. โอ้โฮ.. ใช้ได้เว้ย ! ไอ้ของเรานี่ยังไม่ทำอะไรกันเลย เพราะเขาไปได้ของเขาแค่นั้นไง แล้วเขาพิสูจน์ได้แค่นั้น...

ประสาเราว่าหน่วยตรวจสอบมันไม่มี พอตรวจสอบแล้วก็อย่างนี้ พอจะตรวจสอบจะเข้าหลักก็บอกว่า “เดี๋ยวทำให้แตกแยก.. เดี๋ยวจะไม่สามัคคี” เห็นไหม เขาไม่มีเหตุผล แต่ถ้าเป็นหลวงตานะ เวลาขึ้นธรรมาสน์แล้วนะ ได้เลย.. พิสูจน์ได้ตลอดให้มันจบกันไป ไอ้อย่างนี้ไม่ยอมให้พิสูจน์ “ของกูดีอยู่แล้วไม่ต้อง.. ของกูดีอยู่แล้ว” ก็ซ่อนความเห็นของตัวไว้

ถ้ามันไม่มีคนจริงนะเราพูดอะไรกันก็ได้ นี้บังเอิญมันมีของจริงอยู่ เช่นหลวงปู่จันทร์เรียน ของปลอมไม่กล้าเข้าหาของจริง แต่ที่หลวงตา เขาเข้าหามาเพราะอะไร ที่เข้ามาหาหลวงตาเพราะอะไร เพราะมันเป็นตลาดไง

 

โยม ๑ : ทำให้ดูดีใหญ่เลย

หลวงพ่อ : ยิ่งเข้ามาใกล้ด้วย ต้องเข้ามาเจ๊าะแจ๊ะด้วย เพราะเรามีความเห็นอย่างนั้นเราถึงไม่ไป กับหลวงตานี่ไม่เข้าใกล้เลย แต่มาหรือไม่มาหลวงตารู้หมด แล้วหลวงตานี่อย่างนี้มันอยู่ในใจกัน แต่ไอ้ที่มาเจ๊าะแจ๊ะ.. เจ๊าะแจ๊ะ.. ท่านรู้นะว่าไอ้นี่มันแค่... โยมเขาก็มาอย่างนี้ คือมันจะเอาโยมไง ต้องมาเข้าเฟรมหน่อยหนึ่งให้คนเห็นไง แค่นี้ก็รู้แล้ว

แต่ของเรานี่ไม่มีเลย มีแต่เวลาจำเป็น เวลาจำเป็นเราถึงเข้าไปหา ถ้าเป็นเมื่อก่อนท่านก็ไปดูเราเอง เราไม่มาไม่ได้ มันเป็นความผูกพันไง พอเรามาแล้วท่านก็รู้ของท่านเอง แต่ของเขาไม่มาอย่างนั้น โอ้โฮ.. เขามานี่เขาต้องเป็นสื่อ ต้องสื่อเพื่อตัวเองออกสื่อให้ได้ เขามากันแค่นั้น

เราถึงว่าของอย่างนี้เป็นของเรื่องโลกๆ เป็นเรื่องการประชาสัมพันธ์ การประชาสัมพันธ์ที่มั่นคง คือการประชาสัมพันธ์ความจริงจากตัวเขา การประชาสัมพันธ์ความจริงอันนั้นแน่นอน ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้

แต่พูดถึงถ้าอย่างนี้แล้วเรายังว่า ไอ้ที่ว่าเขาไปแล้ว คือไปแล้ว ไอ้ที่โยมทำไว้ ถือว่านี่ก็คือผลงานดีเยี่ยมอยู่แล้ว

 

โยม ๑ : ก็มาได้เยอะพอสมควร

หลวงพ่อ : ถ้าไม่มีตรงนี้มันก็ไปหมดเลยไง

โยม ๑ : (หัวเราะ) ก็แทบจะทะเลาะกันเหมือนกัน

หลวงพ่อ : ถ้าไม่มีอันนี้ก็ไปหมดเลย.. ทะเลาะสิ ! เพราะมันเป็นอุดมคติ ความคิดนี้มันเหมือนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ถ้าโปรแกรมมันอันเดียวกันมันก็ลิงก์ถึงกันหมด แล้วถ้าต้องไปเปลี่ยนโปรแกรมนี่แสนยาก ต้องไปเอาโปรแกรมนั้นนะแล้วมาเขียนใหม่ แล้วเขียนแต่ละคนๆ ยุ่งตายเลย.. แต่ถ้าเป็นเขาลิงก์กัน ผัวะ ! จบเลย

แล้วโลกก็เป็นอย่างนี้ เรื่องนี้มัน.. โยมยังมีเวลาทำ แต่เรานี้ ใครมาหาเราเราก็แก้นะ แต่จะให้เราลงไปลุยนี่... เพราะตอนนี้สังคมไทย ผิดถูกมันโยนให้กูคนเดียวเลย ไม่ไหวแล้ว.. ไม่ไหวแล้วเว่ย !

 

โยม ๑ : รุ่นพี่บางคนก็เหนื่อยก็ท้อเหมือนกันค่ะพระอาจารย์ โดนน้องด่ามา คนที่ไม่เห็นด้วย คนที่ศรัทธาทางนู้นเยอะๆ

หลวงพ่อ : ก็เพราะว่าเราไม่มีตัวอย่างเปรียบเทียบไง พอเราไปชี้เลยว่าอันนี้ผิด.. อันนี้ผิด.. ผิดแต่เขาใช้อยู่ทุกวัน เพราะอย่างที่เขาเรียกว่าอะไรนะ กาลเวลาหรือวัยนี่มันปิด คือความคิดของคน ทิฏฐิของคนมันปิดหมด แล้วเราจะไปพูดเลยนี่น่ะยาก !

โธ่.. สมัยหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นให้หลวงปู่ฝั้นไปแก้พระอะไรเราจำไม่ได้ อยู่แถวมุกดาหารหรืออะไรนี่แหละ ให้แม่ชีขึ้นมาปกครอง แล้วหลวงปู่ฝั้นท่านไป พอไปถึงปั๊บ ท่านต้องเข้าไปอยู่ในที่นั้นก่อน เข้าไปดูสภาพที่นั่นก่อน จนทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว เห็นหลักฐานหมดแล้วก็ประชุม พอประชุมปั๊บก็เอาประชุมทั้งวัดเลย ถามพระว่าทำไมให้แม่ชีปกครอง มันผิดวินัยไง ทำจนเรียบร้อยหมด

เวลาจะแก้ที่ใดที่หนึ่ง แต่ละที่นี่หลวงปู่มั่นท่านให้หลวงปู่ฝั้นไป แล้วหลวงปู่ฝั้นท่านสติปัญญาขนาดนั้น ต้องเข้าไปดูสภาพ ต้องเข้าไปดูแล้วก็แก้ แต่ตอนนี้มันเป็นได้อย่างนั้นได้ไหมล่ะ เห็นไหม เพราะถือว่าสายใครสายมัน พวกใครพวกมัน... เดี๋ยวจะแตกแยก เดี๋ยวจะอะไร ก็ว่ากันไป มันไม่มี..

คือเราจะบอกว่าเขาไม่มีความผูกพันกับศาสนาในหัวใจจริงๆ ถ้าใครมีความผูกพันด้วยใจจริงๆ นะ เขาจะดูว่าเราผิดหรือเราถูก ถ้าเราผิด มันจะแยกออกจากศาสนาไปเรื่อยๆ แต่ถ้าเราถูกเราจะเข้ากับศาสนา.. สัจธรรม ! ถ้าเราทำความถูกต้องมันจะเข้าสู่สัจธรรม ถ้าเราทำความผิดนะมันจะแยกไปเรื่อยๆ เลย มันจะเป็นฤๅษีชีไพรไง มันจะเป็นไสยศาสตร์ มันจะออกไปนอกลู่นอกทาง แต่เขาเข้าใจว่าถูก

 

โยม ๑ : ทางปทุมฯ ก็ดึงคนไปเยอะมากเหมือนกัน.. อันนั้นยิ่งเยอะใหญ่

หลวงพ่อ : เรามีพระในวงการพระพูดให้ฟังอยู่ว่าเขาเข้ามาในนี้ แล้วเขาเข้ามาทำอะไรต่ออะไร เขาก็เห็นกันอยู่ พระเรานี่รู้ แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้พูดกัน แต่ไอ้ที่เราพูด นี่เราไม่ได้พูดที่ว่าเรื่องพระ เราพูดถึงว่าข้อมูลที่ถูกที่ผิดในการภาวนาไง

ที่เรายืนยัน เรายืนยันตรงนี้ ! เรายืนยันเพราะว่า อย่างที่นู่นน่ะที่ดูจิตที่เขาพลาด เพราะเขาพลาดตรงนี้ไง เขาพลาดว่าไปอยู่กับเขานี่จะเป็นโสดาบันหมด.. เป็นโสดาบันหมด แล้วเราบอกว่าคนไหนเป็นโสดาบันล่ะ แต่ตอนนี้เขาบอก เขาไม่เคยบอกใครว่าเป็นโสดาบันแล้ว

 

โยม ๑ : ทางนู้นก็พูดเหมือนกันค่ะพระอาจารย์ ตอนนี้ไม่ได้พยากรณ์ใคร เขาพูดแบบนี้ค่ะ

หลวงพ่อ : เอ้า.. เห็นไหม เพราะอะไรรู้ไหม เพราะถ้าบอกว่าไม่มีผลนี่ คนที่เขาไปเพราะเขาอยากได้ผลกัน เขาเอาผลนี่มาล่อซื้อ ! พออยู่ที่นี่เดี๋ยวก็จะได้ผล เอาผลมาล่อซื้อ ! พอเอาผลมาล่อซื้อ ทุกคนก็เข้าไปที่ผล แล้วทีนี้พอทุกคนเข้าไปที่ผลมันก็ผูกคอตาย เงื่อนนี้เงื่อนผูกคอตาย

เอ้า ! เอามาที่ล่อซื้อนั้นมาพิสูจน์กันว่าจริงหรือเปล่า พอไม่จริงก็บอกว่าไม่มี... ไม่มีนี่ก็ฆ่าตัวแล้ว ก็ถือว่าคำพูดนั้นไม่มีความหมาย ถ้าคนมีสติสตัง ตรงนี้มันก็หมด ตรงนี้คือการทำลายตัวเองไง เอ็งบอกกูมาคนไหนเป็นโสดาบัน เอ็งบอกกูมาที กูจะเช็คเอง !

(ผู้ฟังหัวเราะ)

มันไม่มี.. นี่เอามาล่อซื้อ เห็นไหม ไอ้นี่ก็แชร์ลูกโซ่แล้ว.. แล้วเอ็งจะลงหุ้นเหรอ หุ้นชีวิตนะมึง เอาชีวิตนี้ไปลงหุ้นนี้

เรานี่นะ พระจะดีจะชั่วนะ.. คนเรานี่ภาวนาไม่ใช่ของง่ายหรอก แต่ถ้าใครภาวนาได้ ใครทำได้จริงนะ กูสาธุชิบหายเลย ! แต่ถ้าใครไปหลอกไปอะไรกัน มันก็ทนไม่ได้เหมือนกัน ไอ้ที่เราพูดนี่เราพูดตรงนี้เท่านั้นเอง ถ้าบอกว่าจะเป็นโสดาบันจะเป็นอะไรนะ กูขอดูหน่อยน้า... คนไหนเป็นโสดาบัน กูขอดูหน่อย.. ไม่เคยมี

เราพูดเราเทศน์อะไรไปนะ จิตจริงก็โสดาบันจริง ! นั่นล่ะเราค้านตรงนี้ เห็นไหม ที่ว่าโสดาบันๆ เราบอกเลย “ถ้าจิตจริงก็โสดาบันจริง.. ถ้าจิตปลอมก็โสดาบันปลอม”

สมาธิจริง ! สัมมาสมาธินี่ มันถึงจะเป็นรากฐานของโสดาบัน ถ้ามึงไม่มีตรงนี้นะ.. มึงจะมีตรงนี้ได้อย่างไร ในเมื่อมึงยังกะล่อนอยู่ มึงกะล่อน ! มึงปลิ้นปล้อน ! ในเมื่อศีลมันผิดพลาด ในเมื่อมันทุศีล มันจะเข้าสู่สัมมาสมาธิได้ไหม ถ้ามันเข้าสู่สัมมาสมาธิไม่ได้ แล้วโสดาบันมาจากไหน มันเป็นไปไม่ได้เลย ! มันเป็นไปไม่ได้ตรงไหนรู้ไหม มันเป็นไปไม่ได้ตรงพฤติกรรมนั่นล่ะ ถ้าพฤติกรรมอย่างนี้มันเป็นไปไม่ได้หรอก แต่ในเมื่อสังคมเขาเชื่อถือกัน แล้วมาคุยกับเรา เราก็พูดตรงนี้เท่านั้นเอง !

ถ้ามันยังกะล่อนอยู่.. โสดาบันนะ สีลัพพตปรามาสคือไม่ลูบคลำในศีล แล้วกะล่อนกับลูบคลำนี้ต่างกันไหม ถ้าเอ็งเป็นอริยบุคคลนี่มันไม่สีลัพพตปรามาส ศีลนี่มันเพี๊ยะ ! เพี๊ยะ ! เพี๊ยะ ! เพี๊ยะ ! แต่พฤติกรรมของมึงนี่แล้วมันจะเป็นสีลัพพตปรามาสหรือเปล่า เห็นไหม นี่ถ้าคนมีกึ๋นนะมันจะเทียบตรงนี้ได้

แล้วพฤติกรรมกับธรรมะนี่มันแตกต่างกัน มันเหมือนขาวกับดำ แต่บอกว่ามีโสดาบันเต็มวัดเลยนะ โอ๊.. กูก็ถึงได้บอกว่าโสดาตราสิงห์ไง ! เราไม่เชื่อเรื่องนี้เลย เพราะเราไม่เชื่อเรื่องนี้เลย เราถึงจะบอกให้คนนี่ถ้าไปแล้วคือจะได้เหมือนกับมาตรฐานการศึกษา มาตรฐานของธรรมะ มาตรฐานของสังคม

เราอยากได้ตรงนี้ ! ที่เราพูดนี่เราพูดตรงนี้ตรงมาตรฐาน.. เราทำแล้วเรามีมาตรฐาน เราได้มาตรฐานที่เป็นมาตรฐานแท้ เราได้คุณงามความดีจริง ชีวิตเราก็มีคุณค่า แต่ชีวิตเราทั้งชีวิตเลย เราไปทำสิ่งใดที่มันไม่มีมาตรฐานเลย ทำอะไรตามแต่สังคม แล้วชีวิตของเราล่ะ.. ชีวิตของเราก็คือสิทธิของเรา คือความเห็นของเรา

ไอ้เรื่องตรงนี้ถ้าเขาไม่พูดถึงมันก็จบ... อะไรนะ.. บอกว่าเดี๋ยวสงฆ์แตกแยก อย่างนี้โสดาบันมึงไม่แตกแยกแล้วเหรอ ถามมันกลับว่าโสดาบันพวกมึงแตกแยกกันแล้ว เพราะโสดาบันมึงไม่มีเนี่ย

เวลาว่าสงฆ์แตกแยก.. สังฆะ ! โสดาบันคือสังฆะ.. โสดาบัน ! สังคกรรม !

เราไม่กล้าทำหรอก อาย.. เขิน..

กรรมของเขา..

 

โยม ๑ : พระอาจารย์คะคราวนี้ถาม ส่วนใหญ่ที่มาก็มีทั้งที่จบไปแล้ว แล้วก็ยังเรียนไม่จบที่มหาลัยขอนแก่นค่ะ ทีนี้พวกที่จบไปแล้วปกติจะอยู่ชมรมพุทธค่ะพระอาจารย์ สังคมชมรมพุทธก็จะน่าอยู่ มีความเกื้อกูลต่อกัน พอเราจบไปแล้วก็เจอสังคมข้างนอกซึ่งมากระทบเยอะค่ะพระอาจารย์ แต่ละคนก็สะบักสะบอมกัน พอไปทำงานข้างนอกค่ะ พอเราจบไปทำงานเราจะรักษาจิตอย่างไรดีคะพระอาจารย์

หลวงพ่อ : ชมรมพุทธเนี่ย.. ชมรมพุทธนี่เห็นไหม สังคมเขาต้องการคนดี.. ชมรมพุทธนี่เราเรียนหนังสือ เราต้องการวิชาชีพ เพราะเราต้องมีการศึกษาเพื่อพยายามออกไปสู่สังคม

ทีนี้ชมรมพุทธเนี่ย ! ในการศึกษา.. การศึกษามันเป็นวิชาชีพ มันเป็นทางโลก.. นี้ถ้าพุทธศาสนาทำให้คนเป็นคนดี พุทธศาสนาจะมีความขาวสะอาด เราก็คิดว่าเราอยู่ในความขาวสะอาด เหมือนกับเราอยู่กับพ่อกับแม่ เราอยู่กับพ่อกับแม่นี่ปลอดภัยนะ พ่อแม่จะดูแลเราหมดเลย

ทีนี้พอโตขึ้นมาใช่ไหม เราจะออกไปสู่สังคมโลก เราต้องเผชิญกับความจริง ไม่มีพ่อแม่รักษาแล้ว ถ้าไม่มีพ่อแม่รักษา แล้วเราออกไปนี่จิตใจเราต้องเข้มแข็ง พอจิตใจเราเข้มแข็งขึ้นมา แต่สังคมคือการเอารัดเอาเปรียบกัน สังคมนี่เอารัดเอาเปรียบ เห็นไหม สังคมเอารัดเอาเปรียบเพราะมันเป็นการแข่งขัน ทีนี้พอเราไปอยู่ในการแข่งขัน ถ้าทางวิชาชีพในการแข่งขันนี่เราต้องทัน เพราะเราต้องมีวิชาการ เพื่อจะอยู่ให้หน้าที่การงานของเรา แต่ความดีของเรานี่มันมีอีกตาหนึ่ง เห็นไหม

หลวงตาบอกว่า “เราเกิดมานี่มี ๒ ตา ตาหนึ่งคือตาโลก.. อีกตาหนึ่งคือตาธรรม”

ตาหนึ่งคือตาโลก คือวิชาชีพ คืออาชีพของเรา..

อีกตาหนึ่งคือตาธรรม คือสิทธิของเรา คือร่างกายของเรา เราจะเอาความมั่นคงทางโลก เอาสมบัติพัดสถาน แต่เราทำความผิดความพลาดในหัวใจของเรา ตกเป็นกรรมกับเรานี่เราจะเอาไหม

แต่ถ้าเราจะเดินอีกตาหนึ่งคือตาธรรม เราต้องทำวิชาชีพด้วยคุณธรรม ทีนี้ทำวิชาชีพด้วยคุณธรรม มีการแข่งขันทางโลก แทนคุณธรรมเราไปนี่เห็นไหมมันก็จะไปเปิดแผลเขา การแข่งขันของเขานี่ การแข่งขันนะมันก็ต้องมีเทคนิคของเขา เขาก็ว่าอันนั้นถูกต้องของเขา แต่ความเห็นของเราล่ะ

นี่ไงที่เราจะบอกว่า ออกไปแล้วมันจะมีปัญหาตรงนี้ไง ถ้ามันมีปัญหาตรงนี้เราจะบอกว่า เวลาอยู่ในมหาวิทยาลัยนี่มันเป็นสังคมๆ หนึ่ง เป็นสังคมหนึ่งในมหาวิทยาลัย ตอนเราออกไปสังคมโลก ออกไปในประเทศนะ นี่ยังดียังไม่ไปทำงานอเมริกา ถ้าไปทำงานอเมริกานะมึงจะทุกข์กว่านี้อีก เพราะเป็นสังคมโลก

เราจะต้องเข้าใจไง ทีนี้พอเราเข้าใจแล้วเวลางานก็ต้องเป็นงาน เวลาเราหยุดจากงานแล้วเราก็มารักษาใจเรา ในหน้าที่การงานมันก็มีการแข่งขัน แต่ถ้าเรามีอย่างนี้ด้วยนะบุญกุศลจะส่ง.. แต่นี่เราบอก “ทำบุญก็ต้องได้บุญสิ.. เราไปทำงานถ้ามีบุญแล้ว บุญมันต้องขับเคลื่อนเราไปสิ.. ทำไมเราทำงานแล้วทุกข์ขนาดนี้ล่ะ” บุญนี่ส่งเรา ! ถ้าบุญไม่ส่งเรานะ เราจะเป็นเหยื่อมากกว่านั้นอีก

ทีนี้คำว่าบุญส่งเราขึ้นมาปั๊บ เราจะเห็นความขัดแย้ง อย่างที่ว่าน่ะโลกมันบีบคั้นเรามาก อ้าว.. ทำดีก็ต้องได้ดีสิ ! ทำดีแล้วนี่มีอาชีพด้วย แล้วถ้ามีคุณธรรมด้วยทำไมไม่เห็นเขาว่าเราดีเลย... ไม่มีใครว่าเราดีหรอก ! ไม่มีเพราะอะไรรู้ไหม เพราะหัวใจของคน จะยอมรับกันมันยากมาก นี่เขาเรียกว่าบารมี

ถ้าเราทำดีนะ เราทำดีภายใน ๑ ปี เจ้านายคนนี้เราทำดีมา ๒ ปี บารมีจะเกิดแล้ว เราทำดีมา ๓ ปี เออ.. ไอ้คนนี้มันจริงเว้ย ถ้ามันจริงแล้วนี่ ต่อไปเขาจะไม่กล้าสั่งให้เราทำผิดพลาดแล้ว มันต้องใช้กาลเวลาไง บารมีคนจะเกิดมันไม่ใช่เกิดในวัน ๒ วันหรอก แล้วเวลาบารมีจะเกิด เห็นไหม แล้วเราจะทนแรงเสียดสีไหวไหม เราจะทนความบีบคั้นของโลกไหวไหม.. นี่กำลังของใจ !

ฉะนั้นเวลาออกไปกับโลกแล้วนี่ เราต้องเข้าใจกับเขาก่อนไง เราจะเอาสังคมในมหาวิทยาลัย แล้วก็บอกว่าสังคมโลกต้องเหมือนสังคมมหาวิทยาลัยกูนะ มันไม่ใช่ ! สังคมหนึ่งสังคมนี้ สังคมข้างนอกมันใหญ่กว่า สังคมข้างนอกยิ่งใหญ่กว่า แล้วเราจะบริหารชีวิตเราอย่างไร

เราจะบอกว่าอย่างไรเราก็ต้องยึดคุณธรรมของเราไว้ เพราะอันนี้คือสมบัติจริงของเรา ไอ้สมบัติข้างนอกนี่สมบัติสาธารณะ สมบัติของสังคมเพื่อเอาไว้กับสาธารณะ ไม่ใช่สมบัติของเรา.. คุณงามความดี บุญและบาปนี่มันจะติดใจเราไป ไอ้หน้าที่การงานนี้เราทำไว้ให้กับโลก แล้วทีนี้เราจะมีสติปัญญาระดับนั้น สติของเรานี่จะยับยั้งแค่ไหน

นี่เวลาเราออกไปแล้ว... กงกรรมกงเกวียน ! รอยเกวียนนี้มันจะทับซ้อนกันไป ทุกๆ ชีวิต... กงกรรมกงเกวียน ! แล้วแต่มันจะหมุนทับกันไป.. ทับกันไป.. ทับกันไป..

 

โยม ๑ : แล้วมันก็ยังมีกรรมเก่าด้วยใช่ไหมเจ้าคะ ที่จะทำให้เราได้ไปเจอคนดีหรือเจอคนไม่ดี

หลวงพ่อ : ใช่ !

โยม ๒ : หลวงปู่ครับ.. อยากให้หลวงปู่บอกวิธีการพิจารณากายครับ

หลวงพ่อ : โอ้โฮ... พูดถึงเรื่องงานแหม็บๆ พิจารณากง..พิจารณากาย.. งานไปทางโลกเลย..

พิจารณากายนี่มันมีพิจารณากายเยอะมาก... ถ้าสอนเด็กๆ เลย การพิจารณาของเด็กๆ คือพิจารณากายนอก.. กายนอกเห็นไหม ที่เขาว่าพิจารณากายๆ กันน่ะ ไอ้นั่นมันเรื่องพื้นๆ เรื่องสามัญสำนึก สามัญสำนึกคือมันเห็นกายกันอยู่แล้ว จับต้องกายอยู่แล้วนี่คือกายนอก

พิจารณากายนอกคือพิจารณาเพื่อให้จิตใจมันไม่ฟุ้งซ่านไปทางอื่น ทีนี้การพิจารณากายนี่ต้องให้จิตสงบก่อน พอจิตมันสงบแล้ว.. ออกพิจารณากาย มันพิจารณากายโดยจิต มันไม่ใช่พิจารณากายโดยสามัญสำนึก

การพิจารณากายโดยสามัญสำนึก คือพอพิจารณากายไปแล้วเห็นสิ่งต่างๆ นี่มันจะไปชำระกิเลส แต่มันกลับเพิ่มกิเลส แต่พอจิตมันไม่ใช้สามัญสำนึก มันเป็นข้อเท็จจริง คือจิตที่เป็นสมาธินี่คือจิตที่เป็นสากล เหมือนสารเคมี... สารเคมีทางวิทยาศาสตร์ที่เขาทดสอบสารเคมีกัน ถ้าสารเคมีอย่างนี้ พิสูจน์อย่างนี้มันจะออกค่ามาอย่างนี้ นั้นคือตามข้อเท็จจริงที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ในเรื่องสติปัฏฐาน ๔

แต่ตอนนี้พวกเราไม่มีสารเคมีเลย ไม่มีอะไรเลย มีแต่มุมมอง มีแต่ความคิดไปมองๆ คิดว่ากูเป็นสารเคมีไง คิดว่ามีการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ไง แล้วแม่งพอผสมมาแล้วมันไม่ให้ค่า ยิ่งผสมยิ่งฉิบหาย ยิ่งพิจารณากายยิ่งทะลุไปเลย

นี่คนสอนมันไม่มีหลัก เห็นไหม เราพูดถึงคนสอนเมื่อกี้นี้ที่ว่าเป็นหรือไม่เป็นไง คนสอนถ้าไม่เป็นนะก็ว่าพิจารณากาย ! พิจารณากาย ! แล้วพิจารณาอย่างไรล่ะ.. ถ้าพิจารณากายกูก็ถ่ายรูปนี่ กล้องก็พิจารณากายกูอยู่เนี่ย แล้วไปลงในกระดาษเป็นแผ่นๆๆ

พิจารณากายนี่มันมี เขาเรียกกายนอก.. กายนอกคือพิจารณาแล้วมันสลดสังเวช อย่างเวลาไปเที่ยวป่าช้าแล้วไปเห็นซากศพ พอเห็นซากศพขึ้นมาแล้วนี่เราก็เป็นศพอย่างนั้น แค่นี้มันแค่สลดสังเวช ถ้าสลดสังเวชเขาเรียกกายนอก

กายนอกคือมันพิจารณาให้จิตมันกลับมาเป็นอิสรภาพ คือผลของมันคือสมถะ ผลคือสมาธิ ! พอเป็นสมาธิขึ้นมาแล้ว พอจิตเรามันสงบแล้วออกไปพิจารณากายอีกทีหนึ่งนะมันแตกต่างเลย แตกต่างคือหมายถึงว่าซากศพนั้นมันเคลื่อนไหวได้ เพราะจิตเราเห็นในนิมิตนี่มันวิภาคะ มันแยกส่วนขยายส่วนได้ มันเห็นเป็นไตรลักษณ์ได้

แต่ถ้าพิจารณากายโดยสามัญสำนึกนะมันไม่เป็นไตรลักษณ์หรอก ยิ่งพิจารณาก็ว่านี่ของกู ! ของกู ! อยู่นั่นแหละ.. ยิ่งพิจารณานะก็ว่ากูรู้ ! กูรู้ ! แต่ถ้าจิตมันสงบแล้วนะมันไปอีกมิติหนึ่งเลย พิจารณากายนี่

ฉะนั้นถ้าคนที่ไม่เป็นนะ... นี่ฟังให้ดีนะ ! ถ้าคนที่ไม่เป็น มันจะอธิบายการพิจารณากายเป็นวิทยาศาสตร์ ต้องเป็นอย่างนี้... เป็นอย่างนี้.. เป็นอย่างนี้.. นี่มันเป็นวิทยาศาสตร์ ! วิทยาศาสตร์มันเป็นสูตรสำเร็จ ! มันเป็นสิ่งที่มีผลตอบแล้ว !

ทีนี้ว่าธรรมะทุกคนรู้หมดเลยเพราะอะไร เพราะจิตมันจำของพระพุทธเจ้ามา มันเป็นวิทยาศาสตร์ ! จำได้หมดแล้ว นี่นิพพานหมดเลย.. นิพพานยังไงก็รู้ด้วยนะนี่.. แล้วนิพพานอย่างไรก็รู้อีก โอ้โฮ.. เก่ง แต่ไม่รู้อะไรเลย

วิทยาศาสตร์เป็นอย่างนี้ ! ธรรมะไม่เป็นอย่างนี้เลย... ธรรมะถ้าจิตสงบแล้วนี่มันซึมเข้าไปในจิต ซึมเข้าไปที่ผู้รู้ แล้วไปคลายไอ้ความติดข้องในหัวใจ ใจนี้เป็นนามธรรม ยิ่งกว่าคอมพิวเตอร์ เพราะมันระลึกอดีตชาติได้ไม่มีวันจบวันสิ้น

บุพเพนิวาสานุสติญาณ ย้อนอดีตชาติได้ไม่มีวันจบ สิ่งที่เกิดตายในใจนี้จะกี่ภพกี่ชาติ กี่ล้านกี่แสน กี่ร้อยล้านชาติ มันก็จะอยู่ในจิตของมันอันเดียวกันนี้ มันเป็นนามธรรมที่มันมีอยู่ตลอดไป แล้วพอพิจารณาไป พอพิจารณากายไปแล้วมันจะไปคลายตรงนี้ออก

มันสะเทือนมากนะ... คนละเรื่องเลย ! ไอ้ที่เขาสอนๆ กัน กูฟังแล้ว... เด็กมันเล่นขายของ !

 

โยม : ท่านอาจารย์.. เรียนถามอีกหน่อยค่ะ การที่เราจะอยู่เฉยๆ ไม่ได้นั่งสมาธิ จะสามารถวิปัสสนาได้หรือเปล่า

หลวงพ่อ : ถ้า ! ถ้าเลยเห็นไหม มันตอบไม่ได้เป็นตายตัวไง ถ้ายืนอยู่เฉยๆ ยืนอยู่เฉยๆ แล้วจิตเป็นสมาธิก็ได้ แต่ถ้ายืนอยู่แต่จิตไม่เป็นสมาธิก็ท่อนไม้ พิจารณาต่อไปได้ไหม..

โยม : แล้วการที่เห็นรูปผู้อื่นที่ไม่ใช่เรา จัดเป็นวิปัสสนาได้หรือเปล่า คือมันเห็นแล้วมันบอกตัวเองซัก ๒-๓ ประโยค แล้วมันก็...

หลวงพ่อ : ไอ้อย่างนี้นะเราใช้คำว่าส้มหล่น ! คำว่าส้มหล่น อย่างหลวงปู่มั่นท่านบอกธรรมมันจะเตือนตลอด อย่างนี้มันเป็นสภาวธรรม.. มันเป็นสภาวธรรมนะ ! สภาวธรรมกับธรรมไม่ใช่อันเดียวกันนะ สภาวธรรมคือสภาวะที่เกิดขึ้น.. ธรรมะคือข้อเท็จจริง คือเป็นอกุปปธรรมที่เป็นเนื้อธรรม

ฉะนั้นสิ่งที่มันเกิดขึ้นมานี่เป็นสภาวะ ฝันนี่เป็นสภาวะหนึ่งใช่ไหม ความคิดเป็นสภาวะหนึ่งใช่ไหม การเห็นก็เป็นสภาวะหนึ่ง

สภาวธรรม... สภาวะที่ถูกต้องเป็นสภาวธรรม แต่ไม่ใช่ธรรม ! เป็นสภาวะที่ให้เราแก้ไข เป็นสภาวะที่เรายังมีโอกาสได้กระทำไง มันเป็นกิริยา เป็นการที่อารมณ์มันยังเคลื่อนไหวอยู่ ที่เราจะบริหารมันไง.. ถ้าเรายิ่งบริหารมัน เวลาเราเห็นมันใช่ไหม ผลจากการบริหารนั้นคือความเข้าใจนั้น คือผลที่ใจรับรู้นั้น แล้วจะบอกให้เป็นวิปัสสนาเลย หรือไม่เป็นอะไรก็ว่า โอ้โฮ.. ไม่ได้ทำอะไรเลย... ทำ ! แต่มันยังไปได้อีกไง

ถ้ามันเกิดอย่างนี้ มันเกิดมาโดยที่ว่ามันเกิดเองโดยที่เราไม่สามารถจะควบคุมได้เวลามันเกิด นี่สภาวะมันเกิด.. เราฝึกบ่อยๆ ฝึกบ่อยๆ ฝึกบ่อยๆ ทำมันบ่อยๆ จนกว่าเราจะควบคุมได้หมดเลย เหมือนรถนี่เราขับได้เอง ทำได้เองหมดเลย แต่นี่นั่งรถแล้วมันวูบวาบไปไง

นี่พูดถึงผลของการปฏิบัตินะ ! แล้วบอกว่าที่เป็นวิปัสสนาหรือยัง.. นี่ครึ่งๆ หนึ่ง!

โยม : กราบลาพระอาจารย์ไปศาลาค่ะ.. ไปกราบหลวงตา

หลวงพ่อ : เออ.. ไป