ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

จิตไม่รู้

๖ พ.ย. ๒๕๕๓

 

จิตไม่รู้
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

คำถามข้อ ๒๖๑. เรื่อง “ประสบการณ์หางอึ่ง” เขาถามมาเอง ผู้อยากพ้นทุกข์ แต่เขาตั้งชื่อว่าประสบการณ์หางอึ่ง เขาพูดถึงประสบการณ์ของเขา

ถาม : ๒๖๑. จากที่ผมปฏิบัติมาเริ่มต้นตอนอายุ ๑๙-๒๐ ปี นั่งสมาธิเอง ไม่ได้ฟังครูบาอาจารย์สอน ครั้งละ ๕-๑๕ นาทีไม่ได้จริงจัง ใช้ชีวิตประจำวันไป อยู่ๆ นึกถึงความตายขึ้นมา คิดว่าทุกคนต้องตาย เห็นทุกคนดิ้นรนแล้วปลงๆ อยู่ในใจ จะเกิดความกล้าหาญบางอย่างขึ้น นึกถึงว่าตัวเราและทุกคนต้องตาย อะไรๆ ในโลกนี้ไม่มีความหมาย เราไม่จำเป็นต้องกลัวอะไร

เมื่อคิดแบบนี้ใจมันตื่นและมีความกล้าขึ้น ความรู้สึกมันหดตัวเข้ามา มันตั้งนิ่งอยู่ในอารมณ์แบบนี้ไปตลอดหลายวัน จนเกิดอาการนอนไม่หลับ และเริ่มกังวลและเครียด เพราะกลัวมีปัญหากับการเรียน อารมณ์แบบนี้ยังเป็นอยู่ต่อเนื่องและเริ่มมีความเครียดมากขึ้น

วันหนึ่งจึงไปโรงพยาบาลเพราะเริ่มทนไม่ไหว อารมณ์นั้นเด่นอยู่ตลอด จนรู้สึกว่ามีแต่ความรู้สึกนั้นตลอดเวลา เมื่อถึงโรงพยาบาลก็นั่งรถเข็นไป เพราะตอนนั้นเริ่มสั่งร่างกายไม่ได้ แล้วมีแต่ความรู้สึกนั้นอย่างเดียวจึงนั่งรถเข็น ผมก้มหน้าหลับตาอยู่กับความรู้สึกนั้น และรู้สึกเป็นหนึ่งอยู่ตลอดเวลา ไม่รับรู้อาการภายนอกทั้งสิ้น

จนเมื่อรถเข็นถูกใส่ขึ้นลิฟต์ และได้ยินเสียงลิฟต์เข้าไปในหัว เพราะลิฟต์กำลังเลื่อนขึ้น ความเป็นหนึ่งนั้นก็ไปจับที่เสียงลิฟต์ และนึกอยากลองให้ลิฟต์นั้นหยุด เมื่อนึกแบบนั้น ในใจมันมีความมั่นใจแบบเต็มที่ว่า “ลิฟต์นี้ต้องหยุดตามเราสั่งแน่ๆ ไม่สงสัย” แล้วลิฟต์ก็หยุดจริงๆ การสั่งให้ลิฟต์หยุดนี้เกิดขึ้น ๒ ครั้งทั้งตอนขึ้นและลง อยากทราบว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นคืออะไร

แต่หลังจากนั้นก็ทำแบบนั้นไม่ได้อีก เพราะความรู้สึกเป็นหนึ่งแบบนั้นไม่ได้อีกแล้ว ต่อมาได้ฟังเทศน์หลวงตา และเกิดความศรัทธาหลวงตามาก และได้ภาวนาพุทโธ พุทโธ พุทโธบ้าง.. กำหนดลมหายใจเฉยๆ บ้าง.. เริ่มนั่งนานขึ้นเป็นชั่วโมง แต่ไม่ได้นั่งต่อเนื่อง เกิดความสงบพอสมควร บางทีมีความรู้สึกเฉพาะหน้า และมีความสุกใสอยู่ตรงหน้า บางทีก็กำหนดลมไปจนมีความรู้สึกเป็นช่วงจังหวะ ๑ , ๒ แทนการกำหนดลมหายใจเข้าออก และมีความรู้สึกว่ามีร่างกาย บางทีก็รู้สึกเหมือนรถสตาร์ทติด คือสติ สมาธิมันไปด้วยกันต่อเนื่อง

นี่คือประสบการณ์ของผมครับ อยากทราบว่าผมมีจริตอย่างไรและภาวนาให้ถูกจริตที่สุด เพื่อทำให้ถูกต้องอย่างไร

หลวงพ่อ : อันนี้เราพูดถึงโดยทั่วไปนะ.. โดยทั่วไปนี่เวลาถามปัญหา มันมีปัญหาแบบนี้มาตลอด แล้วถามปัญหามานี่มีแต่เรื่องแบบนี้ เมื่อวานเจ้าตัวก็มา เจ้าตัวก็ถามปัญหามาเยอะมาก เขาบอกว่า “จะละความหลงอย่างใด.. จะไม่ให้มีความหลงเลยนี่ทำอย่างใด” นี่เราจะพูดว่าเวลาประพฤติปฏิบัติ.. เริ่มต้นของคนมันเป็นอย่างนี้ทั้งนั้นแหละ !

ความว่าเป็นอย่างนี้นะ.. การเข้าสมาธิ ! เราจะบอกว่าการทำความสงบของใจนี่ เวลาใจของคนมันเป็นจริตนิสัย ถ้าใจของคนมันเป็นจริตนิสัย ในเมื่อจริตนิสัยของคนมันมีแตกต่างหลากหลาย เวลาเราไปประสบต่างๆ เห็นไหม เราประสบแล้วพอเรากำหนดเฉยๆ พอจิตมันหดเข้ามา แล้วเรากำหนดให้มันนิ่งอยู่ เรามีความกังวล มีความต่างๆ สิ่งนี้มันเป็นสมาธิไหม

เวลาเขาพูดกันในทางโลก เห็นไหม “อารมณ์ทำให้จิตรู้” สิ่งที่รู้.. จิตคือผู้รู้ ! อารมณ์เป็นสิ่งที่ถูกรู้ ! นี้เราไปอยู่กับสิ่งที่ถูกรู้ เราไปอยู่กับอารมณ์ความรู้สึก พอเราอยู่กับความรู้สึก แต่เดิมเวลาเราคิดสิ่งใด เรามีความรู้สึกสิ่งใด ความคิดมันจะต่อเนื่อง เหมือนภาพเคลื่อนไหวมันจะมีการต่อเนื่องไปตลอดเวลา ความคิดมันไหลเวียนไปใช่ไหม เราก็อยู่กับความคิดมันก็ไหลไปเวียนไปตลอดเวลาอย่างนั้น

แต่นี้พอเราเอาความคิดนี่ไปอยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง เห็นไหม คำว่าอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง แต่เราเข้าใจว่าอารมณ์นั้นเป็นสมาธิไง ! เราเข้าใจว่าอารมณ์นั้นเป็นสมาธิ มันเป็นสมาธิไปไม่ได้หรอก เพราะอารมณ์กับจิตมันเป็นสอง

จิตหนึ่ง.. สมาธิคือจิตหนึ่ง ! แต่นี้จิตมันมีพลังงานใช่ไหมแต่ไปอยู่ที่อารมณ์ แต่อารมณ์นั้นไม่ใช่อารมณ์เคลื่อนไหว อารมณ์หยุดนิ่ง ฉะนั้นอารมณ์หยุดนิ่งนี่สิ่งที่ถูกรู้ เห็นไหม ผู้รู้ ! กับสิ่งที่ถูกรู้ ! พอสิ่งที่ถูกรู้ปั๊บ นี่เราทำอย่างนี้ พอเราทำไป.. แล้วอารมณ์ของคนมันแตกต่างหลากหลาย ผู้ที่จิตใจปกตินะเวลาภาวนาไปนี่จิตเป็นปกติ ถ้าจิตมันเป็นปกติ คือถ้ามันมีความสงบ ความระงับต่างๆ นี่มันจะมีความปกติ

แต่จิตคนที่ไม่ปกติ.. จิตคนที่ไม่ปกตินะ ! เวลามันกำหนดนี่เขาจิตไม่ปกติ แล้วพยายามจะทำความสงบของใจ พยายามจะภาวนา จะให้เป็นพระอรหันต์ด้วยจิตไม่ปกตินี่ พอจิตไม่ปกติปั๊บ มันจะรู้มันจะเห็นออกไป มันจะเคลื่อนไหวไปเรื่อย มันจะรู้ไปเรื่อย แล้วมันจะบอกว่าสิ่งนั้นเป็นมรรคผลนิพพานเลย

จิตไม่ปกตินี่ก็มาหาเราเหมือนกันนะ เวลาเขาภาวนาไปเขามีความทุกข์มาก บางคนนี่อยากจะควบคุมตัวเอง แล้วควบคุมตัวเองไม่ได้ เป็นนักบริหารด้วยนะ วันนั้นมาคุยกับเราเสร็จ บอกว่าต้องรีบกลับแล้วจะไปประชุม นี่เป็นนักบริหารด้วย แต่เขาคิดว่าเขาได้ธรรมะไง แต่เป็นเพราะความที่จิตไม่ปกติ.. พอจิตไม่ปกติ เห็นไหม

ผู้รู้ ! สิ่งที่ถูกรู้ !

ทีนี้จิตไม่ปกติมันไปรู้สิ่งใดนี่ พอมันไปรู้สิ่งใดแล้วมันก็สร้างภาพ สร้างของมันไปเรื่อย พอสร้างของมันไปเรื่อย.. สร้างของมันไปเรื่อย เห็นไหม พอคำว่าสร้าง ! คำว่าสร้างแล้วมันมีความพอใจใช่ไหม ก็บอกว่านี่เป็นความว่าง นี่เป็นขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ นี่คือปัญญา.. ปัญญานี่มันเป็นจินตนาการไง ! แล้วมันไปเลย ถ้าจิตไม่ปกตินะ !

แล้วนี้คำว่า “จิตปกติ” กับ “จิตไม่ปกติ”

ถ้าจิตปกติมันจะรู้ตามข้อเท็จจริง.. ถ้ารู้ตามข้อเท็จจริง ว่าจริงหรือไม่จริง แล้วอารมณ์มันเคลื่อนไหว เห็นไหม อารมณ์นิ่ง อารมณ์เคลื่อนไหว แต่ไม่ใช่สมาธิ สมาธิไม่ใช่อารมณ์ สมาธิคือจิตหนึ่ง พอเป็นจิตหนึ่งนี่มันจะหดสั้นเข้ามา ถ้าหดสั้นเข้ามา..

นี่พอบอกว่าประสบการณ์หางอึ่ง ! ประสบการณ์หางอึ่งของเขานะ แล้วจิตของเขาเวลาเขาภาวนาไป แล้วสุดท้ายเห็นไหม สุดท้ายพอมาฟังหลวงตาแล้วกำหนดพุทโธ หรือกำหนดลมไว้... ถ้ากำหนดลมไว้ หรือกำหนดพุทโธไว้นี่มันมีที่เกาะ ถ้าจิตมันมีคำบริกรรม จิตมันมีที่เกาะ นี่เหมือนกับเราออกกำลังกายเลย

ถ้าเราออกกำลังกายโดยปกตินี่เราออกกำลังกายอย่างหนึ่ง ถ้าเราออกกำลังกายโดยที่มีอุปกรณ์ด้วย อุปกรณ์นั้นเป็นที่เกาะ.. ถ้าอุปกรณ์นั้นเป็นที่เกาะ เราจะออกกำลังกายโดยที่มีอุปกรณ์นั้นกับการออกกำลังกาย เห็นไหม เราจับนี่เราจะรู้ว่าเริ่มต้นมันแล้วหยุดได้เมื่อไร แต่ถ้าเราวิ่งหรือเราเดินนี่มันอยู่ที่เรา ทีนี้จิตมันมีที่เกาะ มันมีคำบริกรรม.. คำว่าเกาะคำบริกรรม พุทโธ พุทโธ ที่จิตมันสงบ

ฉะนั้นเราจะบอกว่าจิตไม่รู้.. สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นนี่มันเป็นอาการ มันเป็นเริ่มต้นไง เราเรียก “หญ้าปากคอก” หญ้าปากคอกนี่ถ้าจิตมันจะหดตัวเข้ามา เห็นไหม เหมือนคนจะเข้าบ้าน ถ้าคนทุกคนจะกลับบ้านตัวเองต้องเข้าประตูบ้าน การจะเข้าสู่บ้านของเรานี่มันต้องเข้าประตูบ้าน.. การเข้าสู่จิต ! ถ้าการเข้าสู่จิตมันต้องมีคำบริกรรมของมัน มันถึงจะเข้าสู่จิต

เราจะบอกว่า แม้แต่สัมมาสมาธินี่เรายังเข้าใจไม่ได้เลย เรายังไม่รู้จักว่าอะไรเป็นจิตหนึ่ง.. อะไรเป็นสิ่งที่เป็นผู้รู้.. สิ่งที่ถูกรู้ที่ว่านี่ ที่มันเป็นอารมณ์.. ทีนี้เป็นอารมณ์ เห็นไหม เราจะบอกว่าสิ่งที่ว่าเป็นสัมมาสมาธินะ การทำสมาธินี่ยังทำกันไม่ได้เลย

ฉะนั้นการทำสมาธินี่สิ่งที่เวลาจิตมันเป็นหนึ่ง.. นี่เขาจะเอาจิตมันเป็นหนึ่ง เห็นไหม นี่มันรู้อยู่สิ่งใด มันได้ยินเสียงลิฟต์ แล้วก็บอกให้ลิฟต์นั้นหยุด ลิฟต์นั้นมันหยุดโดยที่ว่าเป็นเรื่องของลิฟต์ก็ได้ หยุดโดยสิ่งใดก็ได้ มันหยุดโดยความรู้สึกเราก็ได้ เรื่องนี้มันเป็นเรื่องเล็กน้อยมาก

ฉะนั้นเรื่องเล็กน้อยมากนี่ เพราะคำว่าจิตหนึ่ง คำว่าสิ่งที่ว่าพอจิตมันเป็นหนึ่ง เห็นไหม กำหนดให้ลิฟต์หยุด หรือกำหนดให้ทำอะไรก็ได้ เราคิดว่าเราทำได้ เราทำลิฟต์หยุด เราทำสิ่งต่างๆ นี้มันเป็นคุณสมบัติพิเศษของจิต

ถ้ามันเป็นคุณสมบัติพิเศษของจิต อย่างนี้นะมันก็เข้าสู่นิยายธรรมะ เห็นไหม เขาทำเรื่องทวิภพ เขาทำเรื่องอะไร เขาเอาเรื่องธรรมะนี่แหละแล้วมาเขียน พอมาเขียนเข้าไปแล้วมันก็บวกด้วยอารมณ์ความรู้สึก บวกด้วยนิยาย พอนิยายเข้าไปนี่มันมีข้อมูลนะ เหมือนกับนิยายอิงประวัติศาสตร์ นิยายอิงต่างๆ มันมีข้อมูลของมันแล้วอิงไปไง แล้วพอเวลาทางโลกพูดถึงละครน้ำเน่า คำว่าละครน้ำเน่านะ แต่ถ้าเอาความจริงชีวิตบางคนเน่ากว่านั้นก็มีนะ

ฉะนั้นเราจะบอกว่า ถ้าชีวิตของคนที่เน่ากว่านั้นก็เป็นชีวิตจริงของเขา นิยายอิงประวัติศาสตร์ ! แล้วเวลาเราเห็นว่าจิตเห็นที่สิ่งถูกรู้ จิตอะไรนี่ มันก็อิงไง.. มันอิงจิตของเรา ถ้ามันอิงจิตของเรานี่มันส่งออกหมด พอมันส่งออกไปแล้วมันจะมีอาการต่างๆ อย่างใดไปก็แล้วแต่

เราจะบอกว่า สิ่งที่ทำอย่างนี้มันเป็นเรื่องโลกๆ มันเป็นเรื่องสามัญสำนึก.. สามัญสำนึกคนมีแล้ว ดูสิเขาเขียนนิยายอิงประวัติศาสตร์ดีกว่าเราอีกนะ ผู้ชนะสิบทิศนี่เป็นอมตะเลย แล้วความรู้ของเรามันจะเป็นอมตะสำหรับที่โลกเขายอมรับไหม ถ้ามันไม่เป็นอมตะนะ ฉะนั้นเราบอกว่านิยายอิงธรรมะ.. แต่เวลาเราประพฤติปฏิบัติกันนี่นิยายอิงพระไตรปิฎก

เราจะบอกว่าเรารู้ เห็นไหม ที่ว่านามรูปต่างๆ สิ่งที่รู้นี่.. เราจะบอกว่านะ แม้แต่จิตมันเป็นอย่างนี้ เวลาเราจะออกไปวิปัสสนา เราจะออกไปปฏิบัตินี่ มันจะเป็นความจริงไหมล่ะ แล้วเราอารมณ์ความรู้สึกอย่างนี้แล้วท่องแม่นๆ ให้แบบว่าแม่นในพระไตรปิฎก แม่นในทางวิชาการ

มันก็เหมือนกัน ! มันก็เหมือนกันนะ ถ้าเราแม่นทางวิชาการ เห็นไหม นี่สิ่งที่มันเป็นรูป มันเป็นนาม.. พ้นจากเป็นรูปเป็นนามไปไม่มีอะไร.. พ้นจากรูปและนามไปเป็นปรมัตถ์ ! นี่เวลาเป็นปรมัตถ์นะ เวลามรรคผลมันพ้นจากรูปและนามไป ถ้ามันยังเป็นรูปเป็นนามอยู่ เห็นไหม เป็นรูปเป็นนามอยู่มันก็เหมือนจิตผ่องใส จิตเดิมแท้นั่นล่ะ !

มันพ้นจากนามและรูปนั้นไป แล้วทุกอย่างลงที่รูปที่นาม.. รูปนามนี้มันเป็นปรมัตถ์... ไม่ใช่เป็นปรมัตถ์ ! เป็นถึงรูป.. เป็นถึงนาม.. มันปรมัตถ์ตรงไหน ! รูปมันก็จับต้องได้ นามก็รับรู้ได้ มันเป็นปรมัตถ์ที่ไหน ! ปรมัตถ์มันพ้นจากรูปและนามไป

ฉะนั้นสิ่งที่บอกว่าถ้ายังทำสมาธิไม่ได้ เห็นไหม เราจะบอกว่าเวลาเราทำสมาธิกัน ปัญหาอย่างนี้มันเกิดมาก ! ถ้าปัญหาของแต่ละบุคคล หญ้าปากคอกของแต่ละบุคคลมันไม่เหมือนกัน

ฉะนั้นเวลาเราประสบสิ่งใด พุทโธ.. เราพุทโธไว้ ! เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิไว้ สิ่งที่มันรู้สิ่งใดก็แล้วแต่ เหมือนชีวิตเราตั้งแต่เด็ก ใครมีความฝังใจกับชีวิตของเรานะ มันมีปมด้อย มันมีปมเด่นอะไรในจิต พอเวลาจิตมันปล่อยวางต่างๆ หรือจิตมันหดเข้ามา มันจะเอาเรื่องอย่างนี้มาคิด มันมีปมในใจของมัน

จิต ! จิตที่มันสร้างเวรสร้างกรรมมานี่ มันมีเวรมีกรรมของมัน พอมันเริ่มภาวนาไป มันจะออกรู้ต่างๆ นี่ร้อยแปดพันเก้าเลย สิ่งนี้เวลาที่จิตออกรู้ สิ่งที่จิตออกรู้อย่างนี้มันเป็นจริต มันเป็นนิสัย มันเป็นกรรมของคน... ถ้าเป็นกรรมของคน ถ้าเราตามสิ่งนี้ไป เห็นไหม เพราะเราตามสิ่งนี้ไปด้วยความไม่รู้

จิตมันไม่รู้นะ ! พอเราตามสิ่งนี้ไปเราคิดว่าจิตเราเป็นหนึ่ง ! เราคิดว่าจิตเราเป็นหนึ่ง.. เราคิดว่าจิตเราเป็นสมาธิ.. เราคิดว่าจิตเราเป็นพื้นฐาน.. พอมันออกรู้ไปนี่มันเป็นความมหัศจรรย์ใช่ไหม มันเป็นนิยายธรรมะใช่ไหม เพราะจิตมันแต่งขึ้นมา พอจิตมันแต่งขึ้นมา มันรู้มันเห็นเข้าไปนะ “อู้ฮู.. นี่ว่าง ! นิพพาน !” นี่มันไปเลยนะ แล้วมันเป็นความเห็นของตัว

เวลาครูบาอาจารย์ท่านแก้ ท่านจะแก้ตรงนี้ ! ถ้าจะแก้ตรงนี้ แก้ให้มันกลับมาเป็นจิตปกติให้ได้ แก้เข้ามาให้จิตให้มีสติให้ได้.. ถ้าแก้ให้มีสตินะ มันแก้ง่ายๆ โดยที่ไม่ต้องมีใครแก้เลย

๑. เวลาเราเริ่มภาวนานี่เรากำหนด พุทโธ พุทโธ พุทโธ ของเราไว้ เห็นไหม มันไม่ไปไหนแล้ว.. พุทโธ พุทโธนี่นะ เรากำหนดพุทโธนี่จิตมันมีคำบริกรรม เหมือนคนออกกำลังกายด้วยอุปกรณ์ มันมีอุปกรณ์อยู่ ถ้ามันปล่อยก็ตกใส่เท้านะ มันต้องยกของมัน มันปล่อยไม่ได้ตกใส่เท้า

พุทโธนี่มันปล่อยไม่ได้ ถ้าปล่อยแล้วจิตมันเลื่อนลอย มันต้องพุทโธ พุทโธ พุทโธของมันไป เห็นไหม ถ้าพุทโธมันมีหลักของมัน.. เนี่ย ! เหมือนคนออกกำลังกาย เราออกกำลังกายด้วยอุปกรณ์ เราออกกำลังกายร่างกายมันต้องแข็งแรงแน่นอน

ถ้าจิตมันมีคำบริกรรมไป พอจิตมันเป็นปกติ เห็นไหม เขาบอกว่า “มันเป็นสมถะ.. เป็นหินทับหญ้า.. มันไม่เกิดปัญญา” ไอ้ปัญญาอย่างนั้นมันก็เหมือนปัญญาในลิฟต์นี่ไง ไอ้ปัญญาที่ว่านามรูป รูปนาม ไอ้ปัญญาที่ว่ามีการเคลื่อนไหว มันก็ปัญญาเหมือนนี้แหละ มันไม่ต่างจากนี้หรอกเพราะอะไร เพราะมันไม่มีสมาธิ มันไม่เข้าสู่มิติของจิต

เวลามันเข้ามาสู่สามัญสำนึกนะ ที่ว่า “นี่มันเป็นวิปัสสนา.. รู้ตัวทั่วพร้อม” มันเหมือนกัน ! มันเหมือนกัน เพียงแต่ว่าเขาแม่นในธรรมะ คือว่าเขาพูดแม่น เขาแม่นในหลักการ ถ้าแม่นอย่างนั้นแล้วมันได้อะไรขึ้นมาล่ะ ถ้าแม่นในหลักการนะคอมพิวเตอร์มันดีกว่าเรา คนที่จำทางวิชาการได้มันจะดีกว่าเรา

เราจะบอกว่าเวลาจะปฏิบัติเข้าไป เวลาจิตมันจะเป็นสมาธินี่มันจะมีอุปสรรคอย่างนี้ แล้วอุปสรรคอย่างนี้มันมีเยอะมาก.. นี้คำว่าเยอะมาก มันเป็นพื้นฐาน ! มันเป็นพื้นฐานของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เหมือนเราเป็นชาวตะวันออก เราไปยุโรป เราจะไปกินอาหารฝรั่ง เห็นไหม จับมีดจับช้อนไม่เป็นกันทุกคน ถ้าคนไม่เคยเลย

จิตของเรา ! นี่จิตของเราเป็นสามัญสำนึก.. เป็นปุถุชน.. เป็นเรื่องโลกียะ.. แล้วเราจะเข้าสู่ธรรมะนี่เราทำอย่างไร มันจะรู้เองโดยธรรมชาติ.. มันจะรู้เองโดยธรรมชาติเลยหรือ ! ดูสิเวลาทางยุโรปเขากินอาหารกันนี่เขามีมีด เขามีช้อน อู้ฮู.. เขามีอุปกรณ์ของเขามหาศาลเลย นั่นคือวัฒนธรรมของเขา ! แล้วของเราไม่ต้องเลย เราเอามือเปิบ.. มาเถอะ จับได้หมดแหละ นี่เรากินด้วยมือ ตะวันออกเรากินด้วยมือ มือเปิบได้หมดแหละ

ฉะนั้นจิตถ้ามันยังไม่เป็นสัมมาสมาธิ มันไม่มีการฝึกสิ่งใดเลย จะให้มันเป็นวิปัสสนาไปเลยนี่ไม่มีหรอก ! จำได้ขนาดไหน มันก็เหมือนเรานี่ศึกษาการกินของทางตะวันตกแต่ไม่เคยกิน.. ไม่เคยกิน ศึกษาขนาดไหนพอไปเข้าจริงๆ เข้านี่งง

ฉะนั้นเวลาปฏิบัติมันก็มีปัญหา เวลาจิตมันจะลงสมาธินี่นะ มันจะมีปัญหาของมัน เพราะความไม่รู้ของมัน ! ถ้าความไม่รู้ของมัน.. พอยิ่งไม่รู้มันก็ยิ่งงงใช่ไหม พองงขึ้นมานี่เราก็เอาสามัญสำนึกของโลกียะ คือมันรู้ได้โดยสามัญสำนึกนี่แหละว่าจิตเป็นอย่างนี้.. ความรู้สึกเป็นอย่างนี้.. แต่เราไปเทียบกับธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง ว่าจิตพอเป็นหนึ่งนี่มันรู้ เห็นไหม หยุดลิฟต์ได้ หยุดสิ่งนั้นได้

เราเข้าใจกันว่าฌานโลกีย์.. อภิญญา ๖ นี้เป็นธรรมะ.. ไม่ใช่ ! ความรู้อย่างนี้นะ เดี๋ยวนี้เครื่องจักรกลไก เครื่องจับเท็จมันดีกว่าเราอีก วิทยาศาสตร์เขาคิดนะ G3, G4อะไรของเขานี่ โอ้โฮ.. มันดีกว่าหูทิพย์ตาทิพย์อีก เดี๋ยวนี้วิทยาศาสตร์มันล่วงไป จนเรื่องอย่างนี้มันไม่มีความหมายแล้ว !

นี่มันพิสูจน์ได้ว่าถ้าจิตมันสงบ.. ถ้าจิตเราดี ถ้าจิตเราสงบเราจะรู้เรื่องของเราเอง เราจะทุกข์เราจะร้อน อย่างเช่น ถ้าจิตมันไม่รู้.. ตัวจิตมันไม่รู้ตัวมันเอง แต่มันรู้อารมณ์ มันรู้ข้างนอก ! พอมันรู้ข้างนอก.. มันรู้โดยสามัญสำนึกนี่คือมันรู้ข้างนอก อย่างนั้นมันไม่เป็นสมาธิหรอก !

ถ้าจิตมันเป็นสมาธินะ มันจะปล่อยข้างนอกเข้ามา ดูสิเวลาเราร้อนมาก แล้วพอเราอาบน้ำนี่เรามีความสดชื่นไหม.. เวลาเราเหนื่อยล้ามา แล้วเรามาพักผ่อน เราอาบน้ำอาบท่านี่มันมีความสดชื่นขนาดไหน

จิต..! มันแบกหามอารมณ์อยู่ตลอดเวลา แล้วถ้ามันปล่อยอะไรเข้ามาหมดเลย มันจะรู้สึกตัวมันไหม... ชัดเจน ! มันจะรู้สึกตัวมัน มันจะมีสติพร้อมชัดเจนมาก ! แต่นี้ว่า “นั่นคืออะไร.. นี่คืออะไร..” รู้แบบไม่รู้เลย นี่มันไม่รู้ตัวมันเอง เห็นไหม มันถึงไม่ใช่สมาธิ ไม่ใช่สิ่งใดๆ เลย

ฉะนั้นเพราะอะไร เพราะมันไม่มีสติ มันไม่กำหนดพุทโธ.. ทีนี้สุดท้ายแล้วพอมาฟังหลวงตา เห็นไหม หลวงตาท่านให้พุทโธ พุทโธ นี่เดี๋ยวนี้เป็นชั่วโมงขึ้น จิตดีขึ้น แล้วพอพุทโธ พุทโธไป มันเป็นจังหวะ หนึ่ง สอง , หนึ่ง สอง มันไม่เป็นพุทโธ.. สิ่งนี้เวลาเราทำไปนี่สติมันอ่อนลง มันเป็นอย่างนี้ได้

พอเรา พุทโธ พุทโธ พุทโธ นี่เราอยู่กับพุทโธของเราไป.. เราอยู่กับพุทโธของเราไป.. อยู่กับพุทโธ เห็นไหม มันจะละเอียดขนาดไหน เราก็มีสติกำหนดพุทโธไปเรื่อยๆ จนมันพุทโธไม่ได้ เหมือนเวลาทำงานเสร็จแล้ว เราเอาของเข้าสู่ชั้นของเรา ถ้ามันเต็มหมดแล้วนี่เรายัดเข้าไม่ได้หรอก ถ้ายัดเข้าไม่ได้เราจะเอาไว้ที่ไหน

พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธจนไม่ได้นี่จิตมันเต็ม ถ้าจิตมันเต็ม มันพุทโธไม่ได้หรอก มันพุทโธไม่ได้โดยตัวมันเอง ! แต่ในปัจจุบันนี้ คนเรามันชิงสุกก่อนห่าม มันไปบอกว่าพุทโธ พุทโธ พุทโธแล้วมันก็ปล่อยวางไป แล้วบอกพุทโธไม่ได้ จริงๆ แล้วมันได้ ! เหมือนกับเราเก็บของในชั้นนี่ ในชั้นนี่ อู้ฮู.. ที่ว่างยังมีอีกมหาศาลเลย แต่มันบอกว่าใส่ไม่ได้แล้ว มันไม่ใส่แล้ว มันขี้เกียจ มันไม่ทำ แล้วในชั้นมันจะเต็มได้ไหม.. ไม่เต็ม

พุทโธก็เหมือนกัน พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ เรามีหน้าที่พุทโธอย่างเดียว แล้วเวลามันมีสติพร้อมนะ เวลาจิตมันเป็นนะ มันเป็นของมันชัดเจนมากเลย แล้วสิ่งที่ถามมานี่นะจะไม่มีปัญหาเลย แล้วถ้าพุทโธไปอย่างนี้ปั๊บ พอมันเป็นขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธินี่ ความหยาบ ความละเอียดมันจะแตกต่างกัน แล้วถ้าเข้าอัปปนาไปแล้วนะ ฉะนั้นคำว่าอัปปนา.. การทำอัปปนาสมาธิคือการเข้าไปพักเฉยๆ

ฉะนั้นเวลาทำสมาธินี่เป็นแค่อุปจาระ เวลามันเป็นสมาธิแล้วนี่มันคิดได้ เราใช้ปัญญาได้แล้ว พอเราใช้ปัญญาเข้าไป นี่มันใช้ปัญญาใคร่ครวญในสัจธรรม ใช้ปัญญาใคร่ครวญในชีวิตเรานี่แหละ สัจธรรมก็คือการเกิดและการตาย ! สัจธรรมก็คือชีวิตนี่แหละ ! สัจธรรมก็คือทุกข์นี่แหละ !

ไม่ใช่พอบอกว่าพิจารณาสัจธรรม.. พิจารณาสัจธรรม.. แล้วเวลาเราพิจารณาสัจธรรมก็ไปในพระไตรปิฎกเลย แล้วตัวเราเองก็ทิ้งไปเลยนะ สัจธรรมก็คือการเกิดการตายนี่แหละ ! สัจธรรมก็คือชีวิตเรานี่แหละ ! นี่คือสัจธรรม !

ฉะนั้นพอจิตมันสงบแล้วนะ ก็เอาชีวิตเรานี่มาใคร่ครวญเลย “เกิดมาจากไหน.. เกิดมาทำไม.. แล้วเกิดมานี่อยู่เพื่ออะไร.. ตายแล้วไปไหน..” นี่มันจะชัดเจนมาก ! ชัดเจนเพราะอะไร ชัดเจนเพราะมันมีพลังงาน ชัดเจนเพราะจิตมันเป็นสมาธิแล้ว เห็นไหม ถ้าจิตเป็นสมาธิ.. นี่เขาบอกว่าสมาธิเป็นสมถะ มันไม่เป็นวิปัสสนา มันไม่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นสิ่งใดๆ เลย

เราจะบอกว่า “ทำสมาธินี่แสนยาก ! ทำสมาธินี่แสนยาก !” คนที่ทำสมาธิอยู่นี่มันเป็นเรื่องไสยเวทย์หมดเลย ไสยศาสตร์ ! มันทำสมาธิโดยทั่วไป เห็นไหม อย่างเช่นปัจจุบันนี้.. ขอโทษนะถ้าใครมีอาชีพหมอดู อาชีพต่างๆ เขาก็ต้องใช้ประสบการณ์ ใช้สมาธิของเขา เขาต้องใช้จิตของเขามั่นคงของเขา พอจิตของเขามั่นคงของเขา นี่เขาก็พูดด้วยประสบการณ์ของเขา

ฉะนั้นถ้าจิตของเรานี่เราทำสมาธิมันก็เป็นแค่นั้นแหละ คือจิตนี้มันไม่เข้าสู่อริยสัจ จิตนี้มันไม่เข้ามาสู่หลักเกณฑ์เอกัคคตารมณ์จิตตั้งมั่น แล้วเราออกวิปัสสนาด้วยใช้ปัญญา.. จิตพอมันสงบเข้ามา มันรู้อะไรแปลกๆ อย่างนี้แหละ มันก็เหมือนฤๅษีชีไพร พวกไสยเวทย์ พวกทำคุณไสย พวกหมอดู พวกอาชีพใช้จิต... มันก็เท่านั้นแหละ !

มันเป็นเรื่องพื้นๆ นะ การเข้าสมาธินะ.. สมาธิ สัมมาสมาธิ พระพุทธเจ้าไม่ได้ปรารถนาอย่างนี้เลย สัมมาสมาธิของพระพุทธเจ้านะในศีล สมาธิ ปัญญา สมาธิขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ใช่ทำฌาน ไม่ใช่ทำอภิญญา ไม่ใช่ทำตัวแข็ง ไม่ได้ทำความรู้ ไม่ได้ทำหูทิพย์ ไม่ได้ทำอะไรเลย !

สิ่งนี้พระพุทธเจ้าไม่ต้องการเลย เพราะมันไม่ใช่อริยสัจ มันเป็นไสยศาสตร์.. มันเป็นเรื่องคุณไสย.. ไม่เข้าสมาธิเลย !

ถ้าเข้าสมาธินะ.. พุทโธ พุทโธ พุทโธไปนี่ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิเข้ามานี่ ถ้ามันเป็นสมาธิของมัน เห็นไหม นี่ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาไปศึกษามากับอาฬารดาบส ก็เข้าสมาบัติ ๘ ไปเที่ยวกับพวกเดียรถีย์ชีไพร นี่ปฏิบัติมากับเขาทั่วเลย แต่เวลาพระพุทธเจ้าจะได้ผลขึ้นมา พระพุทธเจ้ากำหนดอานาปานสติที่โคนต้นหว้า

อานาปานสติ.. นี่สัมมาสมาธิ ! อานาปานสติ.. สะอาดบริสุทธิ์ ไม่เกี่ยวเนื่องกับใครเลย ไม่เกี่ยวเนื่องกับอะไรเลย นี่กำหนดลมหายใจเข้าและลมหายใจออก

นี่ไงถ้าพูดถึงที่ว่าเป็นฌานหรือเป็นอะไรนี่ ไม่เป็น ! ฌานส่วนฌาน ถ้าฌานมันเป็นฌานพระพุทธเจ้าชำนาญแล้ว พระพุทธเจ้าอยู่กับอาฬารดาบส อาฬารดาบสบอกเลยว่า “พระพุทธเจ้านี่มีความรู้เสมอเรา มีความเห็นเสมอเรา” อาฬารดาบส อุทกดาบสบอกว่า “พระพุทธเจ้ามีความรู้เหมือนกับเรา” สมาบัตินี่เข้าได้ออกได้ตลอดเวลาเลย

ทีนี้สมาบัติเข้าได้ออกได้ตลอดเวลาเลยนี่มันมีพลังงานไง แล้วเหาะเหินเดินฟ้านี่มันรับรู้อะไรได้ ถ้ามันใช้พลังงานนั้นไป ดูสิ ดูเทวทัตสิ เทวทัตก็ได้สมาบัติ เห็นไหม แปลงตัวเป็นงูเป็นอะไรนี่ทำได้หมดเลย แต่ทำไมเทวทัตไม่เห็นใจของตัวเอง ทำไมเทวทัตยังคิดมักใหญ่ใฝ่สูง ทำไมเทวทัตจะคิดลบล้างพระพุทธเจ้า คนได้สมาบัติทำไมคิดอย่างนั้น ! คนได้สมาบัติทำไมทำอย่างนั้น ! พระพุทธเจ้าถึงไม่ทำอย่างนั้น

พระพุทธเจ้าไม่ทำอย่างนั้น... อานาปานสติ เห็นไหม มันไม่ใช่มีกำลัง เพราะพอเรามีกำลังแล้วนี่ก็เหมือนคนอ่อนแอกับคนเข้มแข็ง คนเข้มแข็งก็ต้องข่มขี่คนอ่อนแอกว่า จิตของเรามันเป็นปกติ เห็นไหม แต่คนที่เป็นฌานสมาบัติมันมีความเข้มแข็ง พอเข้มแข็งมันก็จะกดขี่เขา มันจะทำลายเขา

แต่ถ้ามันเป็นอัปปนาสมาธิ ดูสิกำหนดอานาปานสตินี่ มันเหมือนกับว่าพวกเรานี้ใครจะเข้มแข็ง ใครจะอ่อนแอ แต่ทุกคนเป็นคนดีใช่ไหม เห็นอกเห็นใจกันใช่ไหม ทำเพื่อคุณงามความดีใช่ไหม

นี้สัมมาสมาธิเราจะบอกว่า ที่เขาบอกว่า “สัมมาสมาธิ นี่สมาธิเป็นสมถะ.. พุทโธนี้มันไม่มีปัญญา.. พุทโธเหมือนฤๅษีชีไพร..” ไม่ใช่ ! ฤๅษีชีไพรส่วนฤๅษีชีไพร ! สัมมาสมาธินี่มันศีล สมาธิ ปัญญา... ถ้าไม่มีสมาธิ ปัญญาที่เกิดที่บอกว่าไม่มีสมาธิแล้วคิดเลยนี่ มันก็เหมือนคิดแบบฤทธิ์เหมือนกัน

เราจะบอกว่า ถ้าจิตมันไม่รู้นะ เพราะว่าตัวเองนี่ไม่เข้าใจว่า ตัวเองมันมีสติปัญญาแค่ไหน ไม่รู้ถึงคุณสมบัติของจิตของเราเอง นี้พูดถึงพวกทำสมาธิ ! แต่ถ้าพวกที่ว่าใช้ปัญญา เข้าใจว่าสิ่งที่เป็นปัญญาเพราะขาดสมาธิ เพราะจิตมันไม่รู้ เพราะไปตรึกในธรรมของพระพุทธเจ้า เห็นไหม

ตรึกในธรรมที่ว่าเป็นนาม เป็นรูป เป็นสัจจะ เป็นอะไรต่างๆ ก็ตรึกไป มันก็อันเดียวกัน เพราะมันใช้อารมณ์ ! มันใช้อารมณ์ความรู้สึก มันไม่ใช่วิปัสสนา มันใช้อารมณ์ความรู้สึก ทั้งๆ ที่บอกธรรมะนี่แหละ ! ทั้งๆ ที่พูดว่าธรรมะ ! ธรรมะ ! ทั้งๆ ที่ว่าใช้ปัญญา เป็นวิปัสสนา เป็นปัญญา เป็นการตรึกในธรรม การใคร่ครวญในธรรม เป็นสติปัฏฐาน ๔ เป็นปัญญา เป็นวิปัสสนา... มันก็ประสบการณ์หางอึ่งนี่เหมือนกัน มันเหมือนกันเลยเพราะมันไม่มีสมาธิ

ฉะนั้นถ้ามันมีสมาธินะ เวลามันเป็น ตำราส่วนตำรานะ เวลาเราใช้เงิน เวลาเราจ่ายเงินนี่เราจะต้องใช้ตำราจ่ายเงินไหม เห็นเขาจ่ายเงิน แล้วเวลาเราจ่ายเงินต้องใช้ตามตำราไหม... จิตเวลามันวิปัสสนา มันเป็นปัจจุบันนะ มันไม่เหมือนตำราหรอก ในพระไตรปิฎกนี่เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาเกิดกับเรานะมันไม่เป็นตามสเต็ปอย่างนั้นหรอก มันจะเป็นของมันเลย

ฉะนั้นคนที่เขาบอกว่าต้องทำให้เป็นสเต็ปแบบนั้น เราจะบอกว่าประสบการณ์หางอึ่ง.. การทำสมาธินี้แสนยาก ! แต่ผู้ที่ใช้ปัญญาโดยไม่มีสมาธิ มันเป็นอันเดียวกันไง มันเป็นประสบการณ์หางอึ่งเหมือนกัน หางอึ่งของกิเลสเพราะจิตมันไม่รู้ ถ้าจิตมันรู้นะมันจะเป็นขั้นตอนของมัน มันจะไม่มีการขัดแย้ง

ฉะนั้นเรื่องทำสมาธินี่เราถึงบอกว่า ตั้งสติไว้แล้วกำหนดพุทโธไป แล้วให้พุทโธชัดๆ ! ถ้าพุทโธชัดๆ นะ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ก็ให้เห็นความคิดชัดๆ ถ้าเห็นความคิดชัดๆ มันเป็นแบบว่าจับเต็มไม้เต็มมือ เหมือนกับเวลาเราจับปลานะ จับให้มั่นคั้นให้ตาย.. ถ้าเราจับให้มั่นคั้นให้ตาย ทำตามความเป็นจริง ทำหน้าเดียว

แต่นี้สักแต่ว่าทำกัน ๑.กลัวเป็นบ้า ๒.กลัวผิดพลาด ๓.กลัวทำแล้วไม่ได้ผล มันไปวิตกกังวลไว้ก่อน พอวิตกกังวลนี่พอไปทำอะไรแล้วก็ทำละล้าละลัง ห่วงหน้าพะวงหลังจะไม่ได้สิ่งใดเลย นี่ทำให้มันจริงให้มันจัง

เราเดินไปบนถนน ถ้าเรามีสติ สติกับเราพร้อมนี่เราจะผิดพลาดไหม ถ้ามันจะผิดพลาดนะ เว้นไว้แต่ว่าเราเดินบนถนนแล้วมันมีรถหรือมีสิ่งใดมาชนเราโดยสุดวิสัย อันนั้นมันเป็นเรื่องของกรรม.. แล้วนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเรามีสติปัญญานี่ เราตั้งใจของเรา แล้วเราทำตามความเป็นจริงของเรา

ฉะนั้นถ้าทำตามความเป็นจริงของเรา สิ่งที่เกิดขึ้นนี่ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก นี่คือการปฏิบัติ ภาคปฏิบัติ.. ภาคปฏิบัติจะเกิดขึ้นตามความเป็นจริง ฉะนั้นถ้าตามความเป็นจริง เห็นไหม มันถึงจะรู้จริง ถ้ามันรู้จริงขึ้นมา นี่มันจะเป็นปัจจัตตัง มันจะรู้ขึ้นมาโดยความเป็นจริงของมัน แล้วมันจะเป็นประโยชน์กับตัวเราเอง

นี่พูดถึงจริตนิสัยไง พูดถึงทำสมาธิ เห็นไหม พูดถึงทำสมาธินี่ความสงบของใจ แต่เดิมเขาบอกว่าสมาธิไม่ต้องทำ แล้วเขาก็ข้ามกันไป ใช้ปัญญากันไป คือคิดว่ามันจะเป็นผล แล้วสุดท้ายเป็นอย่างไร ถ้ามันไม่มีสมาธินี่มันเข้าไม่ได้หรอก นักวิทยาศาสตร์เขาก็ตรึกของเขา เขาก็ใช้ปัญญาของเขา มันก็เป็นเรื่องบนโลกทัศน์ บนโลก บนหัวใจ บนความรู้สึก

แต่ถ้าทำความสงบของใจเข้ามา เห็นไหม ทำความสงบของใจเข้ามานะ ถ้าปัญญามันเกิดมันจะเกิดโลกุตตรธรรม มันจะเกิดสิ่งที่เหนือโลกทัศน์ เหนือภพ เหนือการควบคุม.. เพราะถ้ามันเป็นโลกทัศน์นะ เรื่องโลกทัศน์คือเรื่องภพ คือเรื่องของเรา นี่มารอยู่ที่นั่น

“มารเอย.. เธอเกิดจากความดำริของเรา”

ถ้ามันคิดออกมาจากใจ ก็คือคิดออกมาพร้อมกับมาร ออกมาพร้อมกับทิฐิมานะ ออกมาพร้อมกับตัณหาความทะยานอยากของตัว แต่ถ้าความสงบของใจนี่มันเป็นสงบระงับตรงนี้ ! ถ้าเป็นสงบระงับตรงนี้ นี่สังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่ง เหมือนกัน แต่มีสัมมาสมาธินี่มันจะเป็นปัญญา แต่ถ้าขาดสมาธิมันจะเป็นสัญญา

สัญญาคือความจำ สัญญาคือข้อมูล สัญญาคือการศึกษา คือทฤษฏี คือการเก็บข้อมูล... นี่คือสัญญา ! แล้วปัญญาอย่างนี้ ปัญญาที่เขาใช้กันอยู่อย่างนี้ เห็นไหม ดูสิว่าตรึกในธรรมนี่ใช้วิปัสสนา.. วิปัสสนาในรูป ในนาม ในธรรม ในสัจธรรมโดยใช้ปัญญา

ปัญญาอย่างนี้เพราะมันขาดอะไร เพราะมันขาดสมาธิ เห็นไหม ถ้าขาดสมาธิมันมีตัวตน ! มันไม่มีภาวะอะไรแตกต่างเลย ฉะนั้นถ้าจิตมันไม่รู้นี่มันก็เป็นไปไง

เราจะบอกว่าทำสมาธิก็ยาก.. เวลาใช้ปัญญาวิปัสสนาไปเลยนะยิ่งยากเข้าไปใหญ่ ! เพราะอะไร เพราะคิดว่าตัวเองเป็นวิปัสสนา คิดว่าตัวเองจะทำเป็นประโยชน์ แต่มันไม่เป็นประโยชน์หรอก

 

ข้อ ๒๖๒. เนาะ เรื่องนอกกาย... จะให้มันจบไปเลย

ถาม : ๒๖๒. เรื่อง “นอกกาย”

ผมพยายามปฏิบัติธรรมโดยท่องพุทโธในใจอยู่เสมอ แต่บางทีพอสติเผลอ กลับโดนกามกิเลสมันตีกลับ เคยใช้วิธีดูอารมณ์ยิ่งตามไม่ทันกิเลส ผมควรใช้อุบายใดครับ

หลวงพ่อ : กามกิเลสมันตีกลับนะ ! กามกิเลสนี่ โดยที่จะกำหนดพุทโธและไม่กำหนดพุทโธ มันตีกลับตลอดเวลาอยู่แล้ว.. มันตีกลับตลอดเวลาอยู่แล้ว !

จิตของคน เห็นไหม โอฆะ ! ถ้าจิตของคนจะข้ามโอฆะได้.. สิ่งที่โลกมันอยู่นี่ มันอยู่ในโอฆะ อยู่ในกามภพ เห็นไหม เหมือนเราอยู่ในกลางทะเลนี่ สัตว์ร้ายมันมีมหาศาล ฉลามเอย.. มันฉกกัดเราอยู่ตลอดเวลา

จิตของเรา ! จิตของเรานี่ ตัวจิตแท้ๆ เห็นไหม “จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส” แต่มันอยู่ในโอฆะ ทีนี้พออยู่ในโอฆะ ดูสิกามคุณ ๕.. กามที่เป็นคุณ ! กามเป็นคุณ ๕ เพราะอะไร เพราะสิ่งที่เขามีศีลมีธรรม กามคุณ ๕ เพื่อประโยชน์กับสังสารวัฏ เห็นไหม นี่เวลาพระบวชหมดเขาบอกว่า “พระถือศีล ๕ พระบวชหมดเลย” แล้วมนุษย์จะไม่ขาดโลกไปเลยหรือ นี่ทุกคนวิตกกังวลเองไปหมดเลยนะ

นี่ก็เหมือนกัน จิตนี่โดยธรรมชาติของมัน มันอยู่ในกามโอฆะอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเราจะข้ามพ้นจากมัน คือเรามาประพฤติปฏิบัติของเรานี่ ฉะนั้นบอกว่า “พอพุทโธแล้วมันตีกลับ” ไม่พุทโธมันก็มีของมันอยู่แล้ว !

พวกเรานี่นะ เวลาวิทยาศาสตร์ยังไม่เจริญ ยังไม่มีวัคซีน ไม่มีอะไรต่างๆ นี้ เราก็อยู่กันโดยปกติ พอวิทยาศาสตร์เจริญนะ ก็ว่าโรคนั้นก็โรคร้ายต้องฉีดวัคซีน โรคนี้ก็โรคร้าย กลัวกันไปหมดเลย อู้ฮู.. ฉีดวัคซีนกัน แหม.. ๒ แขน ๓ แขนนี่ฉีดกันไม่มีที่ว่างเลย

อันนี้ก็เหมือนกัน พอไม่กำหนดพุทโธนี่มันก็เหมือนวิทยาศาสตร์ยังไม่เจริญ มันก็คิดว่าไม่มีโรคอะไรเลย พอมาพุทโธ พุทโธนี่ เห็นไหม กามมันตีกลับ ! กามมันตีกลับก็ยังดีมันรู้จักไง แต่ถ้าเราไม่มีสตินะ เวลากามมันตีกลับนะ ที่โลกเขามีปัญหากันก็เพราะเหตุใดล่ะ..

ฉะนั้นสิ่งที่เรามีสติปัญญาขึ้นมาแล้วนี่ ถ้ากามมันตีกลับ เราก็รู้ว่ากามมันตีกลับ ถ้ากามมันตีกลับเราก็ต้องบังคับ ! การบังคับ เห็นไหม การฝืน การทวนกระแส คือการควบคุมใจเรา มารยาทสังคม.. เขาอยู่กันด้วยมารยาทสังคม

ฉะนั้นเรามีสติปัญญาของเรา.. เรามีสติปัญญาของเรานะ สิ่งนี้มันมีอยู่แล้ว ถ้าสิ่งนี้มีอยู่แล้วนะ เราใช้ปัญญาของเราสิ เราใช้ปัญญาของเราว่ามันควรและไม่ควร สิ่งที่ว่าจิตใจสูงส่ง จิตใจไม่คิดแต่เรื่องอกุศล จิตใจไม่คิดแต่เรื่องต่ำทราม เห็นไหม เราฝึกใจของเราไว้

ถ้ามันคิดสิ่งใดนี่มโนกรรมเกิด เวลาความผิดมันเป็นอาบัติ เราทำสิ่งใดผิดพลาดไปนี่เป็นอาบัติ แต่ความคิดไม่มีอาบัติ ถ้าความคิดไม่มีอาบัติ เราจะทำอย่างไรควบคุมความคิดเรา เห็นไหม ความคิดไม่มีอาบัติ แต่มันมีมโนกรรมนะ ย้ำคิดย้ำทำจนเป็นจริตนิสัย ถ้าเราไม่ย้ำคิดย้ำทำนะ เราก็แก้ไขของเรา

ฉะนั้นสิ่งนี้มันมีอยู่แล้ว สิ่งที่มันมีนี่โทสจริต โมหะจริต กามจริต จริตของคนมันไม่เหมือนกัน ถ้าจริตของคนไม่เหมือนกันนี่เราต้องแก้

โทสจริตเขาให้พยายามแผ่เมตตาไว้.. โทสจริตคือความโกรธ ความผูกโกรธ ความอาฆาตมาดร้ายนี่ให้แผ่เมตตา ให้คิดว่าสรรพสัตว์นี้เราเป็นญาติกันโดยธรรม ตอนนี้วิทยาศาสตร์เขาพิสูจน์นะ ว่ามนุษย์เกิดมาจากคนๆ เดียวกัน ดีเอ็นเอพิสูจน์แล้วนะมาจากต้นตอเดียวกัน เราเป็นญาติกันหรือเปล่า

มนุษย์นี่ต้นตอมาจากดีเอ็นเอเดียวกัน เขาพิสูจน์มาหมดแล้วมาจากแอฟริกา มานั่งกันอยู่นี่ไม่ต่างกันเลย ทุกคนนี่เป็นญาติกันเลย แล้วเวลาเรามาคิดถึงว่าเราเป็นญาติกันโดยธรรม ถ้าเราเป็นญาติกัน ความโกรธมันจะมีมากขึ้นไหม นี่ธรรมะของพระพุทธเจ้าพูดมาตลอดเวลาว่ามนุษย์นี่นะเป็นญาติกัน มนุษย์เกิดมาทุกคนต้องเคยเป็นญาติเป็นพี่น้องกัน เราเป็นญาติกันโดยธรรม

พระพุทธเจ้าประกาศมา ๒,๐๐๐ กว่าปีนะ ตอนนี้ทางการแพทย์เขารื้อค้นได้แล้ว ว่ามนุษย์เกิดมาจากคนๆ เดียวกัน ดีเอ็นเอคนๆ เดียวกันหมดเลย แล้วเราแยกมารบกันเอง เหมือนเราเกิดมาจากพ่อแม่เดียวกันแล้วแบ่งข้าง แล้วรบกัน ฉะนั้นถ้าเราคิดอย่างนี้ได้ โทสะมันก็เบาลง

กามราคะนะมันเป็นจริต มันเป็นเรื่องธรรมชาติ ถ้าเขาบอกว่าโลกเป็นธรรมชาติ ธรรมะเป็นธรรมชาติ ธรรมะเป็นธรรมดานี่เขาว่ากันไป เราไม่เคยฟังเลย ถ้าเป็นธรรมชาติ เราจะไหลเป็นธรรมชาติ เราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ แต่ถ้าเราจะออกจากธรรมชาติ ออกจากวัฏฏะ ฉะนั้นเรื่องอย่างนี้มันเป็นเรื่องของโลก

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดถึงเรื่องกาม ท่านบอกเลยนะ “เหมือนหลุมถ่านเพลิง” มันมีความสุขแค่ปลายเล็บ แต่มีความทุกข์มหาศาลเลย มันมีเรื่องแบกรับภาระไปอีกไม่มีวันจบสิ้น มันมีความสุขแค่เล็กน้อย แต่ความที่ต้องแบกรับภาระไปนี่ ไม่มีวันจบวันสิ้น ถ้าเราคิดได้อย่างนี้ เราจะถือพรหมจรรย์

ถ้าเราคิดของเราได้.. ถ้าเราคิดของเราไม่ได้นะเราก็ตามอารมณ์ไป เพราะอารมณ์เดินใช่ไหม พออารมณ์นี้เกิดขึ้นมาในใจนะ เราก็เป็นขี้ข้ามันนะ มันก็ขี่หัวไปเลย.. แต่ถ้าเราพลิก เอาธรรมะพลิกกลับเลย

นี่หลุมถ่านเพลิงนะ ! เหมือนเราตกไปในหลุมถ่านเพลิง แล้วเราจะตกไหม.. ดูสิในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม เวลานักโทษนี่เขาบอกว่าจะฆ่า ถ้าไปเป็นเทวดาแล้วให้มาบอกด้วย พอไปแล้วนี่ไม่เคยมาบอกเลย แล้วพอเวลาเขาไปเจอนาคเสนใช่ไหมถึงบอกว่า “เขาไม่มาหรอก เพราะเขาจะมาได้อย่างไร เขาพ้นขึ้นไปจากฐานส้วมแล้ว เขาอาบน้ำชำระล้างสะอาดแล้ว ไม่มีใครกระโดดลงมาอีก”

เขาเปรียบว่าโลกมนุษย์นี่เหมือน ! เหมือนกับในฐานส้วม ! มันมีอุจจาระเต็มไปหมด มันมีแต่ของเหม็น แต่เวลาพ้นจากฐานส้วมไปคือเป็นพวกเทวดา เขาไม่กลับหรอก เขาไม่มาบอกเราหรอก นี่พูดถึงเวลาธรรมเขาพูดอย่างนั้นนะ แต่เราไม่เห็น.. เราไม่เห็น.. เราเห็นหนอนนะ เห็นหนอนมันกินใบไม้ก็ว่า โอ๋ย.. หนอนมันต่ำกว่าเรา

เทวดาเขาก็มองเราอย่างนั้นเหมือนกันแหละ โอ๋ย.. มนุษย์นี่ มนุษย์ขี้เหม็น มนุษย์มีแต่กลิ่นคาว เทวดาเขาก็มองเราอย่างนั้นเหมือนกัน แต่เราอยู่ในภพชาติใดล่ะ..

นี้พูดถึงว่าเราจะมีวิธีการอย่างใด วิธีการนี่มันอยู่ที่เวรกรรมนะ ถ้าเวรกรรมของคน เรื่องเขาเป็นโทสจริต เขาเป็นโมหะจริต ถ้าเรื่องนี้เขาไม่ค่อยมี เขาก็ไม่ได้คิดเรื่องอย่างนี้ แต่ถ้าคนจริตอย่างนี้ มันก็จะคิดมาก มีอะไรหรือเจอสิ่งใดมันก็จะบวกมาก

นี่พูดถึงมีจริตนะ ! แต่ถ้าไม่มีจริตเลย มันก็เป็นธรรมชาติ เพราะกามโอฆะนี้เป็นเรื่องสัจธรรมเลย เรื่องธรรมชาติของจิต จิตทุกดวงมี.. จิตทุกดวงมี ! ทุกดวง ! แต่เราจะแก้ไขกันอย่างไรเท่านั้นเอง เวลาเราแก้ไขของเรา

หลวงตาบอกว่า “ให้มันเป็นไฟในเตา” คือให้เราควบคุมมันเพื่อประโยชน์กับเรา พอสิ่งนี้เพื่อประโยชน์กับเราแล้ว สิ่งนี้มันก็เป็นเรื่องของโลก เห็นไหม นี่กามคุณ ๕ ความเผ่าพันธุ์.. ไม่สูญพันธุ์ไง เขากลัวสูญพันธุ์มนุษย์ ทุกคนกลัวมนุษย์สูญพันธุ์ ฉะนั้นถ้ามันไม่สูญพันธุ์นะ นี่มันเป็นประโยชน์ตรงนั้น

แต่ถ้ามันเป็นทุกข์ของใจเราล่ะ.. บางบ้านมีลูก ๕ คน ๑๐ คนแล้ว เลี้ยงไม่ไหวแล้ว มันไม่ควรจะมีแล้ว ฉะนั้นมันเป็นทุกข์ของเราแล้ว

แต่ถ้าเป็นเรื่องของโลก เห็นไหม เรื่องของโลกก็เป็นเรื่องของโลก มันไม่มีที่ไหนหรอก ประเทศชาติบางประเทศเป็นสังคมคนชราภาพ เขาไม่มีคนเกิดใหม่ ในเมืองจีนเขามีนโยบายลูกคนเดียวนะ เห็นไหม นี้มันอยู่คนละกาลเทศะ คนละสถานที่ มันก็แตกต่างกันแล้ว

ฉะนั้นมันไม่มีอะไรเสมอภาคหรอก เกิดในประเทศที่อันสมควร แล้วเราจะเกิดในธรรมใช่ไหม เราจะมีสติปัญญาของเรา เราควบคุมใจของเรา แล้วเราดูแลใจของเรา เราบริหารใจของเรา เราจะเอาตามใจเรา แต่เราจะมีความภาระรับผิดชอบ ความทุกข์อีกมหาศาลเลยนี่มันไม่ไหวหรอก

ฉะนั้นถ้ามันไม่ไหว สิ่งนี้มันเทียบเคียงกันว่า ถ้าทำอย่างนี้.. ผลตอบสนองมันมีอีกมหาศาลเลยนี่ มันจะทำให้เราตื่นกลัว ทำให้เราอดกลั้น ! อดกลั้นว่าถ้าเราทำสิ่งนี้ มันจะมีความผิดอย่างนี้ ! อย่างนี้ ! อย่างนี้ ! แล้วมันจะให้โทษเราอย่างนี้ ! อย่างนี้ ! อย่างนี้ ! สิ่งนี้เราก็ไม่ทำ ถ้าเราไม่ทำตั้งแต่ต้น ผลที่มันจะเป็นโทษกับเรามันก็จะไม่มี

ถ้าเราตัดปัญหาตั้งแต่ต้น ปัญหาที่จะตามมามันก็ไม่มี ถ้ามันไม่มีอย่างนี้ นี่พูดถึงโดยใช้ปัญญานะ ! ใช้ปัญญาโดยปุถุชน แต่เวลาครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติไป เวลาพูดถึงโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี.. นี่อนาคามีจะไปตัดตรงนี้แหละ ! เพราะมันตัดตรงนี้ไปนะ.. ตัดตรงนี้เพราะอะไร ตัดตรงนี้เพราะมันไม่มีปฏิฆะ กามราคะ มันไม่มีข้อมูล สเปคมันไม่มี

ถ้าเรามีสเปค เราชอบสิ่งใดถ้ามันถูกใจ เห็นไหม ถ้าเราไปชอบสิ่งที่ไม่ถูกใจเราเลย ให้มาเป็นคู่ครองก็ไม่มีใครเอา แล้วถ้ามันไม่ชอบนี่สิ่งนี้มันไม่มี พอมันไม่มีปั๊บมันก็เป็นจิตเดิมแท้ ! จิตเดิมแท้มันก็จะมีตัวของมันเอง แล้วพอมันทำลายจิตเดิมแท้นี่มันสิ้นไปเลย มันหมดไปเลย.. นั้นอีกกรณีหนึ่ง

เราจะบอกว่าถ้าเราเป็นปุถุชน.. เราเป็นชาวพุทธ เราจะบังคับใจเรานี่มันเป็นใช้ปัญญาอีกกรณีหนึ่ง กรณีหนึ่งคือเราต้องใช้สติปัญญาควบคุม เราจะต้องควบคุมและคิดให้มันเห็นโทษ ! เห็นโทษของผลของมันไง

ผลของมันถ้าเราเห็นโทษว่า นี่สุขแค่เล็กน้อย ในพระไตรปิฎกบอกว่า “เหมือนกับวิดทะเลทั้งทะเลเพื่อเอาปลาตัวเดียว” ทะเลนี่วิดทั้งทะเลเลย ได้ปลาตัวเล็กๆ ตัวหนึ่ง.. ชีวิตครองเรือนเป็นอย่างนั้น ! ทะเลนี่วิดหมดเลย ได้ปลาตัวหนึ่ง กว่าจะวิดทะเลนี้หมดนะ เหนื่อยเกือบตาย.. แล้วได้ปลาตัวเดียว แล้วปลาตัวเล็กๆ

นี้พระพุทธเจ้าเปรียบเทียบว่าชีวิตของเรานะ ชีวิตการครองเรือนทุกข์อย่างนั้น ฉะนั้นถ้าเราเห็นว่าตรงนั้นมันเป็นทุกข์.. เราพูดอย่างนี้พ่อแม่เขาก็ไม่พอใจนะ พ่อแม่บอกจะให้ลูกมีฝั่งมีฝา หลวงพ่อบอกไม่ให้ครองเรือน พ่อแม่เขาบอกว่าลูกฉันต้องมีฝั่งมีฝาสิ ไอ้ลูกก็กลัวจะทุกข์... ไม่หรอก.. เป็นฝั่งเป็นฝานั้นมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ชีวิตอย่างไรมันก็ทำของมันได้

ฉะนั้นถ้าเป็นเรื่องโลกก็ใช้ปัญญา แต่ถ้าปฏิบัติไปแล้วนะมันไม่ต้องใช้ปัญญา มันเป็นข้อเท็จจริง ! มันเป็นจริงๆ มันเห็นโทษจริงๆ มันรู้จริงๆ ว่าอะไรควรและไม่ควร แล้วชีวิตนี้เราจะสร้างภาระไว้ให้ใคร.. ชีวิตนี้เราจะสร้างภาระไว้ให้ใคร ชีวิตเราก็เป็นภาระกับตัวเราเองอยู่แล้ว เราจะมีภาระต่อไปหรือ.. แต่นี้เป็นเรื่องโลกใช่ไหม ก็มีพ่อ มีแม่ มีลูก ก็ดูแลกันไป นี่พูดถึงความเป็นอยู่ของโลกนะ

ฆราวาสธรรม.. ธรรมของฆราวาสอย่างหนึ่ง ! ธรรมของนักบวชอย่างหนึ่ง ! ธรรมของครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติมันอีกอย่างหนึ่ง ! มันละเอียดลึกซึ้งขึ้นไป จนเราเห็นว่าไม่มีคุณไง เราคิดกัน นี่เขาบอกว่าไม่อยากไปสวรรค์หรอก สวรรค์ไม่สนุกเลยอยากอยู่โลกนี่แหละ.. เห็นไหม นี้ความคิดหยาบๆ ไง

นี่ก็เหมือนกัน พอเราคิดว่าครูบาอาจารย์เรามีธรรมอย่างหนึ่งๆ ดูหลวงตาท่านบอกเลย ท่านอยู่สุขของท่านนะขออยู่คนเดียว.. อยู่คนเดียวมีความสุขมาก ไอ้เราก็ว่าอยู่คนเดียวมีความสุขอย่างไรเนาะ งงตายเลย ! แต่ครูบาอาจารย์ท่านมีความสุขของท่าน เห็นไหม ธรรมมันมีหยาบ มีละเอียดของมันขึ้นไป

ฉะนั้นเวลาเราบอกว่า “ผมปฏิบัติธรรมโดยพุทโธในใจอยู่เสมอ บางทีพอสติเผลอกลับโดนกามกิเลสตีกลับ เคยใช้วิธีดูอารมณ์จิตยิ่งไม่ทันกิเลส ผมควรใช้อุบายอย่างใด”

ใช้อุบายพอสมกับฐานะ เราเป็นฆราวาส เราเป็นผู้ปฏิบัติใหม่ เราก็มีสติปัญญายับยั้งเอา เปรียบเทียบเอา.. เปรียบเทียบอย่างที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ในธรรม ว่า “คุณมันมีแค่นี้.. โทษมันมีเท่านั้น”

แล้วโทษอย่างนั้นนะ แค่มองไปในโลก เห็นไหม ดูสิเวลาเราบาดหมางกัน เขามีปัญหากัน เขาฆ่ากัน เขาทำลายกันก็เพราะเรื่องอย่างนี้ แล้วเราเห็นโทษมันไหมล่ะ แล้วเราไปทำผิดใจคนนู้น ผิดใจคนนี้นะ เดี๋ยวเราก็มีปัญหาขึ้นมา ถ้าเราไม่ทำอย่างนี้ไปมันก็จบ เห็นไหม

เราใช้ชีวิตของเรา แล้วถ้ามันจำเป็นจะต้องอยู่ครองเรือนมันก็ไปอีกเรื่องหนึ่ง เราก็ดูให้มันสมฐานะ ให้มันเป็นไปตามฐานะของเรา แล้วถ้าถึงเวลาแล้วนี่ “คนในอยากออก.. คนนอกอยากเข้า” มีคนในมาบอกเยอะมากเลยว่าอยากออกๆ ถ้าคิดได้อย่างนี้ไม่ยอมๆ แต่ก็เป็นคนในไปแล้ว

คนนอกมันอยากเข้า ! คนในมันอยากออก ! อันนี้มันก็แล้วแต่แหละ นี้พูดถึงเรื่องข้อ ๒๖๒. เนาะ.. จบ เอวัง