เทศน์บนศาลา

เห็นขัดแย้งแตกต่างที่จิต

๖ พ.ย. ๒๕๕๓

 

เห็นขัดแย้งแตกต่างที่จิต
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรม เราตั้งใจ เราปฏิบัติธรรม เพื่อเราจะเข้าสู่สัจธรรม “สัจธรรม” จะทำให้เราเห็นความจริง ในปัจจุบันนี้ เราปฏิบัติธรรมกันด้วยสมมุติบัญญัตินะ ชีวิตเราเกิดมาด้วยสมมุติ โดยสมมุติว่า เกิด แก่ เจ็บ ตาย มันเป็นความจริงโดยสมมุติไง

แต่ถ้าเป็นสัจจะ ! สัจจะ อริยสัจ... เกิด แก่ เจ็บ ตาย ถ้าไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย แล้วดูอย่างไร นี่อริยสัจ ! ความจริงที่มันประเสริฐจะเกิดขึ้นมา กับเรา เราพยายามขวนขวายกันอยู่นี้เพื่อเราจะพ้นจากทุกข์ ถ้าไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย

ที่ไหนมีการเกิดที่นั้นมีการยึดมั่นถือมั่น เวลาเด็กเกิดขึ้นมาพร้อมกับการร้องไห้ กำมือไว้ ของกู.. ของกู.. ของกู.. แต่เวลาตายแบมือทุกคนเลย ไม่มีอะไรติดไม้ติดมือไปเลย นี่สัจธรรม เตือนอยู่ตลอดเวลา แต่ ! แต่เราจะเห็นโทษตอนเวลาญาติผู้ใหญ่หรือใครเสียไป จะร้องห่มร้องไห้ด้วยความเสียใจ ด้วยความไปอาลัยอาวรณ์ แต่เราไม่ได้คิดให้มันเป็นมรณานุสติตลอดไป

แต่เวลาในปัจจุบันนี้เราจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมาเพื่อให้พ้นจากทุกข์ ถ้าพ้นจากทุกข์ เพราะมีสัจธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราถึงได้มีโอกาสได้ประพฤติปฏิบัติกัน ถ้าเราได้มีโอกาสประพฤติปฏิบัติ โอกาสนี้เป็นความสำคัญมาก เพราะโอกาสนี้ถ้าเราทำได้จริง โอกาสนี้จะทำให้เราได้ประสบกับความจริง

ฉะนั้น เราถึงจะต้องมีความเข้มแข็ง เวลาครูบาอาจารย์ของเราประพฤติปฏิบัตินะ ธรรมะอยู่ฟากตาย เพราะฟากตายจริงๆ นะ เพราะแก่นของกิเลสมันร้ายนัก แก่นของกิเลสมันอยู่กับใจเรา เวลาถึงที่สุดมันเอาความตายของเราเข้ามาต่อรอง จะเป็นหรือจะตาย มันเอาความเป็นหรือความตายเข้ามาต่อรองกับเรา เราอ่อนแอทุกที เรายอมแพ้มัน

ถ้ามันจะเป็นจะตายขึ้นมา ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติมีหลักมีเกณฑ์นะ สิ่งใดมันจะตาย อะไรมันตายก่อน ขอดูสิว่าอะไรตายก่อน สุดท้ายแล้วมันก็ไม่มีอะไรตาย เพราะว่าการตายกิเลสมันก็กลัว มันก็ไม่อยากตาย แต่มันก็เอาคำว่า “ตาย” มาหลอกเรา ฟากตาย.. ฟากตาย

แต่ถ้าผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริงนะ มันจะเป็นจะตายจริงๆ เพราะถึงที่สุดแล้วเราเข้มแข็งขนาดไหน ถึงที่สุดแล้วถ้าเราตายไป เรายังไม่บรรลุธรรม อยู่ในอำนาจของเขา เขาก็ทำได้อย่างนั้น

ฉะนั้นเวลาสิ่งที่เป็นความจริง ความจริงถ้าเรามีสติปัญญาอยู่ มันไม่เป็นหรอก ไม่เป็นอย่างนั้น แต่มันเป็นคำหลอกคำลวงของกิเลสตัณหาความทะยานอยากหลอกลวงเรา ว่าจะเป็นอย่างนั้น.. จะเป็นอย่างนั้นนะ ถ้าเราตั้งใจทำของเรา เราทำความจริงของเราเพื่อความจริง

ฉะนั้น เวลาเรามีความมุมานะบากบั่น พอเราบากบั่นด้วยความไม่รู้นะ ว่าเราปฏิบัติธรรมด้วยสมมุติบัญญัติ สมมุติด้วยความไม่รู้ ความไม่รู้จริงๆ เวลาศึกษาธรรมขึ้นมานะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา มันแตกต่างกับโลกมาก มันแตกต่างจนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทอดอาลัยเลยล่ะ

แต่เวลาเสร็จแล้วนะ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนามารื้อสัตว์ขนสัตว์ ต้องทำตามหน้าที่ แต่ด้วยความที่มันละเอียดลึกซึ้ง จนทอดอาลัยเลยว่าจะสอนได้อย่างไร จนพรหมมาอาราธนา แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็สร้างสมบุญญาธิการอย่างนั้นมาด้วย ฉะนั้นสิ่งที่ทำนี้มันละเอียดลึกซึ้งนัก

ฉะนั้นพอมันละเอียดลึกซึ้งนัก เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมวินัยไว้ เราก็ศึกษาด้วยสมมุติบัญญัติ สมมุติบัญญัติจริงๆ สมมุติด้วยความรู้สึกของเรา ดูสิ ภาษาบาลี ภาษาไทย ภาษามคธ ภาษาต่างๆ มันเป็นภาษาสมมุติ โลกเขาสมมุติกัน เราก็เอาภาษาของเรา เอาภาษาไทยของเรา เข้าไปศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันก็เป็นสมมุติ มันเป็นสมมุติบัญญัติ เราจะเข้าได้ลึกซึ้งมากน้อยขนาดไหน

ฉะนั้นในทางปริยัติ เขาเรียนบาลีกัน เขาแต่งบาลีกันได้ต่างๆ นี่ เขาบอกว่า “มันเป็นกุญแจไขเข้าไปสู่พระไตรปิฎก” นี่เขาต้องศึกษาบาลีให้ได้ภาษานั้นเพื่อเป็นกุญแจเข้าไปสู่พระไตรปิฎก แต่เวลาเข้าไปแล้ว พระไตรปิฎกเห็นไหม จะว่าเป็นสมมุติบัญญัติก็ถูกต้อง เป็นสมมุติบัญญัติอันหนึ่ง เวลาใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอันหนึ่งนะ

ฉะนั้นเวลาเราศึกษา เราประพฤติปฏิบัติด้วยสติปัญญาของเรา มันก็จะเป็นกุญแจเหมือนกัน กุญแจไขเข้าไปสู่ในหัวใจของเรา เราเปิดตู้พระไตรปิฎก เปิดหัวใจของเรา ถ้าเราเปิดหัวใจของเราได้ ความรู้ความแตกต่างมันจะเกิดขึ้น ความขัดแย้งความแตกต่างในการปฏิบัตินะ แต่นี้เพราะมันไม่มีความขัดแย้งความแตกต่าง เราศึกษาด้วยสมมุติบัญญัติ สมมุติคือหัวใจของเรา ไม่เคยมีความขัดแย้ง ไม่เคยมีความแตกต่าง ไม่มีความเห็นต่าง เห็นต่างในอะไร

ถ้าในความรู้สึกของเรา เราศึกษาไปด้วยสมมุติบัญญัติมันก็เป็นอย่างนี้ เราศึกษาธรรม ในทางปริยัติ ถ้าเราได้บาลีมันจะเป็นกุญแจไขเข้าไป เขาแต่งบาลี เขาทำต่างๆ แต่เขาก็มีความทุกข์ของเขา เขาก็มีความลังเลสงสัยของเขา นี่ได้ศึกษาธรรมนะ เหมือนเราเจ็บไข้ได้ป่วย เรารักษาโรคนี้หาย เราก็มีความสุขเป็นธรรมดา เราหิวกระหาย เรามีอาหารตกถึงท้อง เราก็มีความอิ่มหนำเป็นธรรมดา

จิตใจมันว้าเหว่ จิตใจมีความทุกข์ จิตใจมีกิเลสบีบคั้นอยู่ เวลาศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ มันก็เหมือนกับรักษาโรคนะ มันก็หายเป็นบางโรคความหาย ความเข้าใจ มันก็มีความสุขเป็นธรรมดา แล้วมันมีอะไรแตกต่างล่ะ ความเห็นอย่างนี้หรือเป็นการฆ่ากิเลส ความเห็นอย่างนี้หรือเป็นสิ่งที่เราจะบรรลุธรรม เราจะพ้นจากกิเลส เราจะไม่เกิดไม่ตาย เราศึกษาธรรมแล้วเราซาบซึ้งนะ

ดูสิ เวลาเรากินอาหารเข้าไป เวลาอิ่มหนำสำราญเรามีความสุขไหม มันก็มีความสุข สิ่งนี้มันก็เป็นเรื่องธรรมดา ถือว่าไม่มีความแตกต่าง นี่ไง สุตมยปัญญา จินตมยปัญญา มันไม่เกิดภาวนามยปัญญา ถ้าเกิดการภาวนามยปัญญา มันมีความแตกต่างขัดแย้งอย่างไร มันมีความขัดแย้งกับความรู้สึกของเราอย่างไร เราไม่เคยรู้ ไม่เคยเห็น

ความไม่รู้ไม่เคยเห็นของเรา เราปฏิบัติของเราด้วยสมมุติบัญญัติ ด้วยสมมุติ ด้วยความไม่รู้ เราไม่รู้หรอก เราปฏิบัติธรรมนี่ เราตั้งใจ ! เราตั้งใจจะพ้นจากทุกข์ เราตั้งใจจะทำคุณงามความดี เรามีตัวอย่าง มีครูบาอาจารย์ของเราเป็นแบบเป็นอย่าง เวลาครูบาอาจารย์ของเราพูดออกมา เราก็ฟังธรรมะครูบาอาจารย์ ธรรมะป่า ธรรมะที่ออกมาจากใจทั้งนั้นล่ะ มันก็ออกมาจากใจ เราก็ต้องรู้สิ เราต้องรู้

ธรรมะออกมาจากใจนะ เวลาหลวงปู่มั่นท่านเทศน์ ครูบาอาจารย์ท่านเล่าให้ฟังอยู่ หลวงปู่มั่นท่านจะเทศน์ถึงเหตุทั้งนั้นเลย เวลาอยู่กับหลวงปู่มั่นท่านไม่พูดถึงผลเลย ท่านพูดแต่เหตุ ให้เราปฏิบัติไป พอเรารู้จริงขึ้นมานี่ ใช่แล้ว ! ใช่แล้ว ! นี่ไง กิเลสนี้ร้ายนัก เวลาฟังเทศน์จากครูบาอาจารย์เป็นเทศน์จากหัวใจนี่แหละ แต่มันรู้โจทย์ก่อน นักเรียนมันมีข้อสอบ มันรู้ข้อสอบหมดแล้ว ยิ่งรู้ขนาดไหน ศึกษานี่เป็นปริยัติ แล้วเวลาปฏิบัติต้องวางไว้

ถ้าศึกษาเราเป็นปริยัติ เวลาปฏิบัติเราเอาสิ่งนั้นมาด้วย เหมือนทหารเลย เวลาทหารเขาออกรบนะ เวลาเขาศึกษายุทธวิธีต่างๆ เขาศึกษายุทธวิธีขนาดไหน เขาฝึก เขาซ้อม จนมีความชำนาญนะ เวลารบเขาต้องเข้าไปด้วยอาวุธของเขา เขาไม่มีเอาตำราไปกางหรอก ไอ้นี่นะ เราศึกษา เราประพฤติปฏิบัติเหมือนทหารออกรบ เราเป็นนักรบ รบกับกิเลส สุดท้ายแล้วละล้าละลังนะ มันจะผิดอย่างนั้น มันจะผิดอย่างนี้ กลัวแต่จะผิดไปจากตำราทั้งนั้นล่ะ

ใช่ ! พระไตรปิฎกเป็นธรรมและวินัย เป็นศาสดาของเรา แต่ยังไม่เป็นธรรมะของเรา ! ถ้ามันไม่ใช่ธรรมะของเรา ถ้าเราศึกษาแล้วเราปฏิบัติไป มันก็ปฏิบัติคล้อยตามไปตลอด มันเป็นเรื่องสัญชาตญาณ มันเป็นเรื่องความรู้สึก เป็นเรื่องสามัญสำนึกอย่างนี้ทั้งนั้น

แต่ถ้าเป็นความจริงนะ วางให้หมด ! ปริยัติแล้วเราปฏิบัติ ขณะที่ปฏิบัติเห็นไหม พุทโธ พุทโธนะ เวลาเรากำหนดพุทโธนี่ เหมือนโลกนี้ไม่มีสิ่งใดเลย เหมือนมีเรากับพุทโธเท่านั้น แต่ขณะที่เราพุทโธ พุทโธ เห็นไหม เราพุทโธด้วยความเป็นจริงของเรา นี่วางหมดเลย.. ถ้ามันเป็นสติก็เป็นสติ เป็นสมาธิก็เป็นสมาธิ เป็นปัญญาก็เป็นปัญญาขึ้นมาตามความเป็นจริง

แต่ขณะที่ปฏิบัติด้วยความไม่รู้นี่ ความไม่รู้ ! เราไม่รู้อะไรเลย ศึกษาธรรมมาขนาดไหนก็ไม่รู้ ศึกษามานี้เป็นปริยัติก็ไม่รู้หรอก ปริยัติเป็นความจำ เราศึกษามาตามความจำ จำไว้แล้วไม่จำมาเปล่านะ ดูแผนที่สิ พิกัดของแผนที่ ถ้าเราอ่านพิกัดผิด แล้วถ้าเราลงไปในพื้นที่ผิดหมดน่ะ

นี่ก็เหมือนกัน ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านพูดอะไร ท่านพูดเพื่อใคร ท่านพูดปรารถนาไปเพื่อสิ่งใด ในพระไตรปิฎกทั้งหมด เวลาชี้ก็ชี้เข้ามาสู่ใจ ชี้เข้ามาสู่ใจ ! ภาชนะที่รับรู้มีความรู้สึกต่างๆ มันเป็นหัวใจของสัตว์โลกเท่านั้นล่ะ หัวใจของสัตว์โลก ทุกข์ก็รู้ว่าทุกข์ สุขก็รู้ว่าสุข แล้วทุกข์สุขอย่างนี้ มันเป็นทุกข์สุขในเวทนา ทุกข์สุขในขันธ์ ๕ มันไม่ทุกข์สุขโดยข้อเท็จจริง โดยสัจธรรม

ถ้าทุกข์สุขในสัจธรรม เราทำความสงบของใจเราเข้ามา ถ้าใจมันสงบเข้ามาได้ “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต” ถ้าเรามีสมาธิขึ้นมา มีสมาธิธรรม มีสติธรรม สมาธิธรรม ปัญญาธรรม ธรรมแต่ละข้อ แต่ละแขนงแตกต่างกันไป

ดูต้นไม้สิ เวลาปลูกขึ้นมา เมล็ดพันธุ์เม็ดเดียวเวลามันเจริญงอกงามขึ้นมา มันมีรากแก้ว รากฝอย มีต้นไม้ มีกิ่งมีก้าน มีไปหมดเลย นี่ก็เหมือนกัน เราศึกษาธรรมขึ้นมาโดยสิ่งใด โดยพื้นฐานนะ เราจะทำการเกษตร เราจะต้องปรับพื้นที่ของเรา

กรรมฐาน ! ฐานที่ตั้งแห่งการงาน นี่กรรมฐาน เวลาทางโลกเขาบริหารจัดการกัน เขาบริหารจัดการด้วยสมอง กรรมกรเขาก็อาบเหงื่อต่างน้ำ เขาใช้กำลังของเขาทำหน้าที่การงาน เพื่อแลกปัจจัยเครื่องอาศัยของเขา ผู้บริหารจัดการเขาก็ใช้สมองของเขาเพื่อบริหารจัดการ เขาคุมนโยบาย เขาวางแผนของเขา เพื่อประโยชน์ของเขา

แล้วเราปฏิบัติ เราจะพ้นจากทุกข์ เงินทองมันซื้อมรรคผลไม่ได้นะ ปัจจัยเครื่องอาศัยก็อาศัยเพื่อดำรงชีวิต แต่เวลาเกิดนี่ปฏิสนธิจิตไปเกิดในไข่ ในน้ำคร่ำ ในครรภ์ ในโอปปาติกะ เวลามันไปเกิดนี่ มันไปด้วยเวรด้วยกรรม มันไม่ได้ไปแบบเรา ดูสิ เราจะไปไหน เรามีเงินมีทอง เราบริการตัวเองได้ทั้งนั้นล่ะ แต่จิตมันมีสิ่งใดที่เข้าไปชำระสะสางมัน นี่กรรมฐาน สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน งานของเราเป็นงานชำระล้างนะ

ดูสิ เราอยากบรรลุธรรม เราอยากมีสัจธรรม เราอยากจะมีปัญญา เราอยากฆ่ากิเลส ทุกคนบอกอยากฆ่ากิเลส ทุกคนอยากพ้นทุกข์ วิมุตติสุขนี่มันสุขอย่างไร เวลาสุขเวทนา ทุกขเวทนา น้ำหูน้ำตาไหลอยู่นี่ ทุกข์อยู่อย่างนี้สัมผัสได้ เวลาสุขเราก็สัมผัสได้ เวลาสุขเห็นไหม มีความรื่นเริง มีความสุข หัวเราะยิ้มแย้มแจ่มใสกัน ก็ ความสุขเท่านั้นแหละ

ทุกข์ที่สุดแห่งทุกข์ก็มีความสุข ที่สุดแห่งสุขก็เป็นความทุกข์ มันก็มีเท่านั้นเอง ถ้าอุเบกขาเดี๋ยวมันก็จะไปลงสู่สุขและทุกข์ แต่ถ้ามันเป็นความจริงนะ สมถกรรมฐาน ถ้าสมถกรรมฐาน มันเห็นความแตกต่างว่าสัญญาอารมณ์นี่เราศึกษามานี่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้ปล่อยวาง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนว่า

“เธอจงมองโลกนี้เป็นความว่าง มันเป็นความว่างอยู่แล้ว โลกนี้มันก็เป็นอจินไตย โลกนี้มันก็เป็นไตรลักษณ์ ”

จินตนาการได้หมดล่ะ แต่ไม่มีฐานแห่งการงาน ไม่มีคนเก็บข้อมูล คอมพิวเตอร์เวลามันเสีย เขาต้องไปซ่อมนะ ยิ่งโปรแกรมมันเสีย เขาต้องเขียนของเขาใหม่ ใจของเราเห็นไหม เราก็มี ความรู้สึกโดยสมมุติ โดยความไม่รู้ โดยอวิชชา โดยอวิชชานี่มันไม่รู้หรอก ตัวมันเองมันไม่รู้ตัวมันเอง แต่มันรู้ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเราศึกษาธรรมะด้วยความจำ ด้วยขันธ์ ไม่ใช่ด้วยจิต ด้วยขันธ์ ด้วยสัจจะ ด้วยสมอง ด้วยการศึกษา

พอศึกษาขึ้นมานี่มันเป็นปริยัติ เราศึกษาเพื่อมาเป็นแนวทาง ก็กลัวว่าเราปฏิบัติแล้วถ้าไม่ศึกษามามันจะหลง มันทำแล้วมันจะไม่ประสบความสำเร็จ ทำแล้วมันจะไม่เข้าสู่สัจธรรม ศึกษา.. ศึกษา.. ศึกษาขึ้นมาแล้วนี่ เวลาปฏิบัติขึ้นมา สิ่งนั้นศึกษามาเป็นความจำ สมถกรรมฐาน แล้วมันอยู่ที่ไหน ผลประโยชน์ที่มันจะเข้ามา สัญญามันจำมา จำมามันก็ลืม จำได้มากขนาดไหนก็ลืม สังขารเวลามันปรุงมันแต่งขึ้นมานี่ คิดถูกคิดผิด คิดแล้วคิดเล่า คิดหน้าคิดหลัง คิดจนป้ำ เป๋อๆ ไปนั้นนะ

แต่ถ้ามันมีสติ มีปัญญาขึ้นมา พุทโธ พุทโธ จนเข้ามาสู่ใจ ถ้ามันเข้ามาสู่ใจเห็นไหม ความขัดแย้งมันทำไมเป็นอย่างนี้ ดูสิ คนเรานะมันเคย ใครตั้งแต่เด็กมาพ่อแม่เลี้ยงด้วยอาหารสิ่งใด โดยความฝังใจ ชอบอาหารสิ่งนี้ ถูกใจนัก.. ถูกใจนัก..

จิต ! จิตมันได้ฝึกฝนของมันมา จิตมันได้สร้างเวรสร้างกรรมมา ถ้ามันได้สร้างเวรสร้างกรรมของมันมา มันมีจริตนิสัยอย่างใด มันมีความพอใจสิ่งใด สิ่งที่ฝังใจมัน สิ่งที่อยู่กับมัน มันเคยตัวมัน กิเลสคือความเคยใจ ใจที่มันทำแล้วทำเล่า ซับแล้วซับเล่ามันเป็นจริตนิสัยของมัน มันคิดของมันตามนั้นล่ะ แล้วมันคิดธรรมะมันก็คิดเข้าข้างตัวมันมันจะเป็นอย่างนั้นตลอดไป

แต่เวลาเราพุทโธ พุทโธ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิเข้ามา ถ้าจิตมันสงบเข้ามานะ มันเห็นความขัดแย้งกัน ระหว่างอารมณ์ความรู้สึกของเราที่ว่าสิ่งนี้เป็นธรรม สิ่งนี้เป็นธรรม ถ้ามันคิดโดยความฟุ้งซ่าน จินตนาการไป โอ้โฮ ! ธรรมะนี่เพริศแพร้วเลยนะ โอ้โฮ ! ธรรมะนี่ นิพพานเป็นอย่างนั้นเลยนะ แต่เวลาจิตมันสงบเข้ามานี่ ฮึ....นี่มันอะไร นี่มันอะไร.. นี่สมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน

ถ้าเราไม่มีฐานที่ตั้งแห่งการงาน งานจะตั้งอยู่บนอะไร.. งานจะเกิดอยู่บนอะไร งานมันจะเกิดมาได้จากที่ไหน เราทำงานกันอยู่นี่ ตอนนี้เราไม่มีสิ่งใดทำงาน ไม่มีสิ่งใดเลย จิตก็ไม่รู้จักจิตว่าจิต สิ่งใดก็ไม่รู้จัก แม้แต่ตัวเองก็ไม่รู้จักตัวเองนะ

ชื่อ ที่อยู่ ทะเบียนบ้าน มันได้มาจากกรมการปกครอง มันได้มาจากโลกทั้งนั้นล่ะ มันเป็นการสมมุติกันขึ้นมา พอเวลาตายเขาก็จำหน่ายทิ้ง คนนี้ตายแล้ว มันเป็นทะเบียน เหมือนสัตว์ ! เวลาสัตว์เขาจะฆ่านะ ถ้าตัวนี้ฆ่าก่อน เขาเอาสีแดงขีดไว้เลย ตัวนี้ฆ่าก่อน ต้องฆ่าตัวนี้.. ต้องฆ่าตัวนี้ เหมือนสัตว์.. นี่ก็เหมือนกัน เป็นคน ! ตัวเองก็ไม่รู้จัก ต้องให้นายทะเบียนเขาบอกว่า ชื่อนาย ก. นาย ข. นาย ง. เป็นคนๆ นั้น

แต่ใจมันไม่รู้ตัวมันเอง เวลาคิดมันก็คิดตามสามัญสำนึกอย่างนั้น นี่ไงที่บอกว่าโดยอารมณ์ความรู้สึก เวลาศึกษาธรรมะขึ้นมานี่ เหมือนคนหิวกระหาย เวลาเขาได้กินมันก็มีความสุขความรื่นเริง มันเป็นไปโดยสัญชาตญาณ มันไม่มีความขัดแย้ง มันไม่มีความแตกต่างของหัวใจเลย

แต่ถ้าเรา พุทโธ พุทโธ พุทโธ พอจิตมันเริ่มสงบเข้ามานี่ แม้แต่มันจะเป็นคุณงามความดี ทุกคนปรารถนาสัมมาสมาธิ ปรารถนาปัญญา ปรารถนาศีล สมาธิ ปัญญา “มรรคโค ..ทางอันเอก” ที่จะเอาหัวใจนี้พ้นออกไปจากกิเลส เราพยายามปฏิบัติกันก็เพื่อเหตุนี้ เหตุที่ให้มันเกิดกิจจญาณ สัจจญาณ ให้จิตนี้มันได้พัฒนาการของมัน เวลาจิตมันไปคุ้นเคยกับอารมณ์ความรู้สึกของตัว คุ้นเคยกับจริตนิสัยของตัว สิ่งใดถ้าสมความปรารถนา สิ่งใดที่คิดแล้วนี่ สิ่งนี้เป็นธรรม สิ่งนี้เป็นธรรม ด้วยความหลง ด้วยความไม่รู้ นี่มันพอใจ

แต่สิ่งใดพอมันเป็นสัจจะความจริง มันตกใจนะ เวลาจิตจะ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พอจิตมันเริ่มสงบนะ มันจะลงสู่ฐานของมัน อู้ ! มันวูบลง สะดุ้งเลยล่ะ ถอนออกมาหมดเลย เวลาจะเข้าไปในความจริงมันไม่รู้จัก แต่เวลาเป็นความจอมปลอม เป็นความทุกข์ เป็นสิ่งที่มันเผาใจนี่ โอ้โฮ ! ธรรมะๆๆ มันจะตายอยู่แล้วยังจะเป็นธรรมะ ธรรมะมันกระทืบอยู่ มันนึกว่าเป็นธรรมะอยู่ แต่เวลามันจะเป็นจริงขึ้นมานี่ แต่เวลาจิตมันสงบขึ้นมากลับไม่เข้าใจ กลับไปกลัว นี่ไง เพราะอะไร เพราะเราไม่เคยเห็นความแตกต่าง ความขัดแย้ง ขัดแย้งสิ ! โลกกับธรรมขัดแย้งกันแน่นอน !

ในเมื่อมันเป็นสมมุติบัญญัติ ในเมื่อมันเป็นโลกนี่ มันเป็นเรื่องโลกๆ โลกียปัญญา โลกุตตรปัญญา สิ่งที่เป็นโลกียปัญญา ความเคยชิน ความคุ้นเคยกับมัน นั้นน่ะเป็นความฝังใจ แล้วพอมันจะไปสู่ความจริง มันเห็นความแตกต่างขึ้นมา ตกใจเห็นไหม เริ่มต้นแม้แต่สมถกรรมฐาน ที่ตั้งแห่งการงาน เราจะเข้าไปสู่ฐานที่ตั้งแห่งการงานนะ ถ้าเราพุทโธ พุทโธนี่ มันโดยสัญชาตญาณมันกลัว เวลาจิตสงบ เราไปในสิ่งที่ๆ ไม่เคยไป

ดูสิ นักสำรวจขนาดไหน เวลาเขาจะไปสำรวจเขาต้องเสี่ยงภัย เพื่อจะค้นคว้าสิ่งใด เขาก็ต้องเตรียมพร้อมของเขา เขามีสติปัญญาของเขา เขาจะมีการวินิจฉัยว่าอันนั้นควรหรือไม่ควร เวลาจิตของเรานี่ พอพุทโธ พุทโธ ถ้ามันสงบเข้ามา มันมีหลักมีเกณฑ์เข้ามา เรามีสติปัญญา เราจะไปกลัวสิ่งใด ถ้าเวลามันลงมา มีสติปัญญาพร้อม เห็นไหม

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะปรินิพพานนี่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฝากไว้เป็นธรรมะครั้งสุดท้าย

“ภิกษุทั้งหลาย ! เธอจงพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด ”

นี่เราพยายามต่อสู้กันด้วยมีความประมาทไหน ถ้ามีความประมาทสมถกรรมฐานมันก็เกิดขึ้นมาไม่ได้ ถ้าสมถกรรมฐานไม่มี... วิปัสสนากรรมฐานไม่มี ! สมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน ฐานที่ตั้ง แล้วผลจะเกิดจากใจดวงนั้น ความขัดแย้งแตกต่างมันเกิดที่ใจ ถ้าใจมันรับรู้ มันเกิดที่นี่

ถ้ามันเกิดที่นี่นะ ธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันเป็นความจริงในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเวลาวางธรรมวินัยไว้ เป็นศาสดา เป็นเครื่องชี้เข้ามาสู่ใจเรา ถ้ามันชี้เข้ามาสู่ใจเรา

ดูสิ เขาเขียนคำว่า “น้ำ” น้ำก็คือน้ำ เราไม่เคยมีน้ำสักแก้วหนึ่ง เราไม่เคยได้สัมผัสน้ำเลย เราก็ไม่เคยดื่มน้ำเลย แต่ถ้าเราได้ดื่มเคยดื่มน้ำสักขึ้นมาสักแก้วหนึ่ง หรือเคยสักครั้งหนึ่ง รสของน้ำ กับชื่อว่าน้ำมันแตกต่างกัน

พระไตรปิฎก ! มันก็เป็นทฤษฎี เป็นสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาสู่ใจ แล้วใจที่เกิดเข้ามาเดี๋ยวนี้ ใจที่ปฏิบัติเดี๋ยวนี้ มันเป็นความจริงขึ้นมาเดี๋ยวนี้ แล้วเราจะไปตื่นเต้นกับสิ่งใด

ฉะนั้น สิ่งที่เป็นความจริง ถ้าพุทโธ พุทโธ พุทโธ จนจิตมันสงบเข้ามา ถ้ามันสงบเข้ามา มันจะมากหรือจะน้อย มีสติปัญญา มีสติพร้อม เรานะ เราตั้งใจทำกัน เราตั้งใจพ้นจากทุกข์ เราตั้งใจเพื่อสู่สัจธรรม เราลงทุนลงแรงตลอดเวลา ฉะนั้นการลงทุนลงแรง มันต้องให้มีความสมดุลของมัน ใจมันจะสมดุลของมัน

เวลาเราอดนอนผ่อนอาหารกัน เพื่อจะบังคับไม่ให้ธาตุขันธ์ทับจิต ไม่ให้สิ่งที่ว่าธาตุขันธ์ เราอยู่ด้วยความสุขความสบายของเรานี่ เราจะปรนเปรอ อยากอยู่ด้วยความสุขสบาย แต่เวลามาภาวนา ขันธ์.. ธาตุขันธ์.. ธาตุคือร่างกายเรา ถ้าเรามีพลังงานเหลือใช้ มีต่างๆ มันสัปหงกโงกง่วงนะ มันทับจิต

ขันธ์คือความคิด ความปรุง ความแต่ง เราคิดหยาบๆ คิดแต่เรื่องโลกๆ คิดแต่เรื่องเป็นวิทยาศาสตร์ นี่ต้องเป็นวิทยาศาสตร์ ธรรมะต้องเป็นวิทยาศาสตร์ เป็นวิทยาศาสตร์หมดล่ะ เวลาปฏิบัติมันละล้าละลัง เพราะว่ามันไม่เคยได้สัมผัส

แต่ถ้าเราปฏิบัติของเราบ่อยครั้งเข้า อารมณ์เป็นอย่างนี้.. เป็นอย่างนี้ เวลาจิตมันจะลงขึ้นมานี่ อารมณ์มันแตกต่าง พอความแตกต่างขึ้นมานี่ เรามีสติปัญญาพร้อมไหม เหมือนนักสำรวจเลย นักสำรวจธรณีวิทยานี่ เขาลงไปในถ้ำ เขาขุดดินลงไป เขาพิสูจน์ของเขา เขาเข้าไปในป่าดงพงไพร เพื่อพิสูจน์ของเขา

จิตของเรา สติปัญญาของเรามันจะเข้าสู่ความสงบ สติปัญญาของเรานี่มันจะเข้าสู่ศรัทธาของเรา เราไปกลัวสิ่งใด ถ้าเรามีสติปัญญาขึ้นไป เรากำหนดพุทโธไปเรื่อย มันจะเป็นอย่างไรให้มันเป็นไป มันจะเป็นอย่างไรให้มันเผชิญต่อหน้าของเรา พุทโธ พุทโธ พุทโธ มันจะเป็นอย่างไรให้มันเป็นไป มันจะเข้าสู่ความสงบ เข้าสู่ใจของตัว นี่สมถกรรมฐาน !

ถ้าสมถกรรมฐานนะ วิปัสสนากรรมฐานเกิดขึ้นมาได้อย่างไร เพราะจิตมันสงบ จิตมันถึงออกรื้อ ออกค้นคว้า ออกพิจารณา ถ้าเกิดออกค้นคว้าออกพิจารณา ถ้าออกค้นคว้า พิจารณาๆ ในเรื่องสิ่งใด กาย เวทนา จิต ธรรม พิจารณาสิ่งที่หัวใจมันข้องเกี่ยวกันอยู่นี่

คนเรานะ เราไม่รู้จักหน้าค่าตาของใคร เราจะไม่ไปผูกไปโกรธไปเกลียดใครหรอก เพราะเราไม่รู้จักเขา แต่คนที่รู้จักเรานะ เป็นคนดีเราก็รัก เป็นคนชั่วเราก็เกลียด ทำไมเราถึงเกลียด เราถึงไม่พอใจล่ะ ทำไมเราถึงไม่พอใจและพอใจคนที่เรารับรู้ล่ะ ทำไมเราไม่พอใจหรือพอใจคนที่เราไม่รู้จักล่ะ

นี่ก็เหมือนกัน จิต ! ถ้ามันเข้าสู่ใจของเรา มันรับรู้.. พอใจและไม่พอใจ ถ้ามันพอใจหรือไม่พอใจนี่คือความผูกพันของใจ ถ้าความผูกพันของเรา มันผูกพันกับสิ่งใด มันผูกพันในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม สิ่งที่มันรับรู้ สิ่งที่มันผูกพันอยู่ ถ้าจิตมันจับต้องสิ่งนี้ได้ วิปัสสนามันเกิดตรงนี้ ถ้าวิปัสสนาเกิดมันแยกแยะของมัน

เวลาภาวนากันนะ ทุกคนอยากจะฆ่ากิเลส ทุกคนอยากจะหากิเลส กิเลสอยู่ไหน จะทำลายกิเลส ไม่รู้จักกิเลสนะ กิเลสมันขี่หัวอยู่ก็ไม่รู้จักมัน ถ้าจิตมันสงบขึ้นมานะ พอจิตมันสงบขึ้นมา มันไปเห็นกาย ไปเห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม มันสะดุ้ง มันสะเทือนใจ เพราะเหตุใด เพราะจิตมันเป็นสัมมาสมาธิ จิตโดยธรรมชาติ โดยสามัญสำนึกของมนุษย์ ที่ไม่ได้เป็นสมาธินี่ มันมีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ สัญญาอารมณ์ไง จิตมันเป็นพลังงาน สิ่งที่เป็นขันธ์ ๕ นี่

จิต ! ถ้าจิต พลังงาน ถ้ามันเป็นพลังงานมันมีสัญญา สัญญามันจำได้หมายรู้ มันมีสังขารปรุงแต่ง มันก็คิดของมันไปเรื่อยเฉื่อย มันก็มีสัญญาอารมณ์ขึ้นมา มันก็เป็นความรู้สึกนึกคิด สิ่งนี้โดยสามัญสำนึกของมนุษย์นี่ พลังงานมันใช้อยู่อย่างนี้ แต่พอจิตมันสงบเข้ามามันเป็นพลังงาน พอเป็นพลังงานมันออกรู้ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม ทำไมมันสะเทือนหัวใจล่ะ

สิ่งที่มันสะเทือนหัวใจ เพราะจิตมันเป็นสัมมาสมาธิ เพราะจิตมันมีสมถกรรมฐาน เพราะมีฐานที่ตั้งแห่งการงาน พอมีฐานที่ตั้งแห่งการงาน งานมันจะเกิด งานอะไร.. งานอะไรจะเกิด งานที่เราบำเพ็ญเพียรกันอยู่นี่ไง ตบะธรรมนี่ไง ที่เราประพฤติปฏิบัติกันอยู่นี่ เราประพฤติปฏิบัติกันเพื่อเหตุนี้ ให้จิตมันสงบเข้ามา พอจิตมันสงบเข้ามา จิตมันเห็น

ถ้าจิตมันออกพิจารณา เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม นี่ไง ถ้าเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม มันสะเทือนหัวใจเพราะเหตุใด เพราะมันเห็นว่าสิ่งนี้เป็นโทษ นี่ไง มันแตกต่างไง มันเห็นว่าเป็นโทษ

แต่โดยสามัญสำนึกของมนุษย์ มนุษย์จะเห็นว่าเราเป็นโทษไหม มนุษย์นี่นะจะเห็นว่าเราเป็นคุณ เราเป็นของเรา สรรพสิ่งนี้เป็นของเรา ร่างกายก็เป็นของเรา ความคิดก็เป็นของเรา ผลประโยชน์ก็เป็นของเรา ทุกอย่างเป็นของเราหมดเลย มันเป็นโทษที่ไหน มันเป็นลาภ ! ลาภที่ควรได้ด้วย ! ลาภที่แสวงหาด้วย ลาภที่เป็นสมบัติของตนด้วย ! นี่ความคิดโดยสามัญสำนึกมันคิดอย่างนี้

แต่เพราะสิ่งใดมันเป็นประโยชน์ทั้งนั้นล่ะ แต่ถ้ามันเป็นโลกนะ เป็นสามัญสำนึก เราศึกษาธรรมนี่ เหมือนที่ว่า คนเราหิวกระหาย เราได้ดื่มน้ำมันก็มีความสุข นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราโดยสามัญสำนึก เราศึกษาธรรมะ พระพุทธเจ้าก็บอกไว้แล้ว โลกนี้มันเป็นอนิจจัง ทุกอย่างนี่มันเป็นอนิจจัง มันเป็นไตรลักษณ์ มันไม่เป็นของๆ เราหรอก

เราศึกษามันก็ได้แค่นี้ ความรู้สึกรับรู้ มันก็ได้แค่นี้ ! ได้แค่ธรรมสังเวช ได้มีความสังเวช มีความเศร้าหมอง ก็เท่านั้นล่ะ ! ไม่เข้าถึงใจหรอก ถ้าคิดแบบนี้ มันไม่มีความแตกต่าง ไม่มีความขัดแย้ง ขัดแย้งกับใคร.. ขัดแย้งกับกิเลส ขัดแย้งกับใจของเรา

ถ้าจิตมันไม่สงบ จิตไม่มีพื้นฐาน คิดได้เท่านี้จริงๆ เวลาคิดได้แค่นี้ คิดว่ามันไม่ใช่ของเรา มันเป็นอนิจจัง คิดได้เท่านี้แหละ แต่ไม่สะเทือนหัวใจ มันไม่เข้าถึง ไม่มีสมถกรรมฐาน ไม่มีที่ตั้งแห่งการงาน มันไม่สะเทือนใจ.. ไม่สะเทือนใจ

แต่ถ้าเรามีสติปัญญาของเรา แล้วเราทำความสงบของใจ ถ้าใจมันไม่สงบถึงที่สุด มันสงบเข้ามา พอมีกำลังขึ้นมา เราพิจารณาของเรา ความคิด ความรู้ ความเห็น นี่นะ ความเห็นนี่นะ คือปัญญา เราต้องฝึกปัญญา ปัญญาต้องฝึกฝน ปัญญาจะเกิดขึ้นเองไม่ได้

น้ำเต็มแก้วแล้วตั้งไว้นี่ น้ำมันทำอะไรได้ น้ำเต็มแก้วก็คือน้ำ สัมมาสมาธิคือน้ำแก้วหนึ่ง สัมมาสมาธิคือพลังงานที่เราแสวงหาขึ้นมา แต่พลังงานที่เราไม่ใช้ประโยชน์ พลังงานนั้นก็คือพลังงานนั้น แต่ถ้าจิตเรามันแสวงหาน้ำแก้วหนึ่งใช่ไหม น้ำยังไม่เต็มแก้ว น้ำมี ๑ ใน ๔ ของแก้ว มี ๕๐ เปอร์เซ็นต์ มี ๗๕ เปอร์เซ็นต์ก็แล้วแต่ มีมากหรือมีน้อย

ในเมื่อมีน้ำสัก ๒๕ เปอร์เซ็นต์ในก้นแก้วนั้น มันก็เป็นประโยชน์กับแก้วนั้นแล้ว จิตเราสงบพอสมควร เราใช้ปัญญาของเราใคร่ครวญสิ่งนี้ได้ เราใช้ปัญญา ปัญญาต้องฝึก พอฝึกขึ้นมานี่ มีปัญญาเกิดขึ้นมา ปัญญาก็จะส่งเสริมหัวใจกลับขึ้นมา

พอส่งเสริมเข้ามานี่ ขณะที่จิตไม่มีน้ำมันจะแห้งผาก ความคิดโดยสามัญสำนึกมันเป็นสามัญสำนึกอย่างนั้นน่ะ มันคิดไปโดยอำนาจวาสนา โดยปฏิภาณของจิต โดยจริตนิสัยของจิต จิตมีจริตนิสัยหยาบและละเอียดแตกต่างกันไป ความคิดและความจินตนาการในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงแตกต่างกันไป

แต่ถ้าจิตมันสงบนะ จิตมันเริ่มมีน้ำ ๒๕ เปอร์เซ็นต์ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ๗๕ เปอร์เซ็นต์ นี่ มันคิดของมันเป็น พอมันคิดของมัน มันไม่แตกต่างจากใครทั้งหมด มันเป็นเรื่องของจิตเราเท่านั้น มันเป็นเรื่องเรากับเราเท่านั้น

การประพฤติปฏิบัติๆ เพื่อเรา “อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ถ้าตนไม่ได้ประพฤติปฏิบัติ ตนไม่เกิดสัจธรรม ไม่เกิดกิจจญาณ ไม่เกิดสัจจญาณ ไม่เกิดสัจจะความจริงขึ้นมา จิตของเราจะไม่รู้สิ่งใดๆ เลย พอไม่รู้จักสิ่งใดเลย มันก็เกิดมาโดยชีวิตของมนุษย์ๆ หนึ่ง คนๆ หนึ่ง ปฏิบัติโดยหัวใจดวงหนึ่ง ก็หมุนไปอย่างนั้นล่ะ มันเป็นเรื่องโลกๆ ไง มันเป็นเรื่องสิ่งที่มันเป็นอริยทรัพย์ ทรัพย์ที่เราได้เป็นมนุษย์มา มันมีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕

ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ก็มีหัวใจนะ ถ้ามีหัวใจขึ้นมา มันก็หมุนไป ปัญญาไป มันจะรับรู้ไปโดยสามัญสำนึกนี้ แต่เพราะมีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหนึ่ง ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาปรินิพพานไปแล้ววางธรรมและวินัยไว้ เราก็ศึกษาธรรมวินัย เราบอกว่าเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องทำตามนี้เลย ต้องปฏิบัติ ต้องไม่มีความอยาก ไม่มีสิ่งใดเลย ทำตามธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย มันก็เป็นการก๊อบปี้ เป็นการทำซ้อน ก็ให้เหมือนพระพุทธเจ้า แต่ไม่เหมือนเรา ไม่เหมือนใจเรา

แต่ถ้าเป็นเรา ถ้าเราทำของเราล่ะ เราทำสมถกรรมฐาน ถ้าเราทำของเรา จิตของเราสงบเข้ามา ปัญญามันแตกต่าง มันเห็นความแตกต่าง ความแตกต่างนี้เราจะเห็นกิเลสไง ที่เราปฏิบัตินี่ เราปฏิบัติเพื่อจะค้นหากิเลส เราจะชำระกิเลส ทำให้เกิดความสะอาดบริสุทธิ์ขึ้นมา แล้วกิเลสมันอยู่ที่ไหนล่ะ แล้วอะไรเป็นกิเลสล่ะ

เราบอกว่า ความโลภ ความโกรธ ความหลง เวลาโกรธขึ้นมานี่ หัวฟัดหัวเหวี่ยงเลยนะ เวลามันมีความหลง หลงไปแล้ว เขาฉ้อโกงไปจนหมดตัวแล้วนี่ถึงว่าหลง นี่ความโลภ ความโกรธ ความหลงอย่างนี้ มันก็เป็นเรื่องจริตของคนเหมือนกัน

แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ว่าอะไรเป็นกิเลสล่ะ แล้วเราจะชำระกิเลสที่ไหนล่ะ ชำระกิเลสนะ เขาบอกว่า สมถกรรมฐาน แล้วเราหาที่ตั้งแห่งการงาน เขาบอกว่า หินทับหญ้า.. หินทับหญ้า..

เวลาคนทำไร่ไถนานี่ วัชพืชเขาต้องเก็บตลอดเวลา โดยเฉพาะวัชพืชนะ เพราะมันแย่งอาหารกับผลพืชไร่ของเรา วัชพืชเขาก็รังเกียจ เขาก็ต้องถอน เขาก็ต้องพยายามกำจัดมัน เพื่อให้เป็นผลประโยชน์ในการทำพืชไร่ของเราขึ้นมา เขาว่าหินทับหญ้า.. หินทับหญ้า นี่มันก็เหมือนวัชพืช สิ่งที่เขาไม่ต้องการ สิ่งที่เราไม่ต้องการ ความเศร้า ความฟุ้งซ่าน สิ่งต่างๆ เราก็ไม่ต้องการทั้งนั้นล่ะ

เราทำสมถะนี่ เราจะรื้อวัชพืช รื้อสิ่งที่เป็นสิ่งที่กิเลสตัณหาความทะยานอยากของเรา แต่ความสงบของเรา จิตที่มันสงบมันก็ได้เท่านี้ แต่ถ้ามันได้เท่านี้ขึ้นมา มันมีวัชพืช ดินดี น้ำดี อากาศดี ในการการทำพืชผลการเกษตรมันก็ได้สมความปรารถนา

แต่บอกว่า หินทับหญ้า.. หินทับหญ้า.. ไม่ต้องหินทับหญ้าเลย ใช้ปัญญาไปเลย ในป่าในเขา ป่ารกชัฏ เราเอาไปทำการเกษตร ในป่านี่นะ สิ่งที่เกิดขึ้นในป่ามันเป็นธรรมชาติของเขา เขายึดพื้นที่ไว้หมดแล้ว เราจะเอาข้าว เอาสิ่งต่างๆ ไปหว่าน มันจะงอกขึ้นมานะ มันก็โดนอย่างอื่น โดนวัชพืชมันทำให้ลีบหมดล่ะ มันเกิดประโยชน์ขึ้นมาไม่ได้

เพราะฉะนั้น ถึงจะเป็นหินทับหญ้า เขาดูถูกดูแคลนว่า หินทับหญ้า ! หินทับหญ้านี่แหละ มันเป็นมรรคองค์หนึ่งในมรรค ๘ สัมมาสมาธินี่ ! หินทับหญ้านี่แหละ ! เพราะเป็นหินทับหญ้า มันถึงไม่มีวัชพืช มันถึงจะเกิดความแตกต่าง มันจะเห็นความขัดแย้งระหว่างใจ ใจที่มันอยู่กับสัญญาอารมณ์ กับใจที่มันเป็นหินทับหญ้า ทับหญ้า.. มันจะรู้ว่าอะไรเป็นมิจฉาสมาธิ หรืออะไรเป็นสัมมาสมาธิ

ในปัจจุบันนี้ ทำเพราะไม่มีความเห็นแตกต่างขัดแย้ง ทำเพราะความสะดวกสบาย ทำเพราะว่าสิ่งที่เป็นประโยชน์กับเรา ทำง่ายๆ ทำด้วยความพอใจของเรา ทำสิ่งใดเป็นประโยชน์กับเรา เราใช้วิปัสสนาแล้วนี่มันจะเกิดปัญญา

ปัญญาในวัฏฏะนะ.. ปัญญาที่เกิดขึ้นมาเป็นโลกียปัญญา ปัญญาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คอมพิวเตอร์มันจำดีกว่าเราอีก คอมพิวเตอร์มันจำได้หมดล่ะ คอมพิวเตอร์มันเข้าใจ กดสิ่งใดออกมาหมดล่ะ แล้วนี่มันมีปัญญาไหม แล้วเราไปจำมันทุกคำ เรามีปัญญาไหม ปัญญาอย่างนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนาไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ต้องการปรารถนาปัญญาอย่างนี้เลย

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องการปัญญาที่เกิดขึ้น เรารู้สึกระลึกตัวเราเองนี่ เรามีสติปัญญาพร้อมกับในจิตของเรานี่ การเคลื่อนไป การเคลื่อนย้ายไปด้วยมีสติมีปัญญาตลอดไปนี่ สิ่งต่างๆ ที่ทำไป ปัญญาที่เกิดมันมาจากที่นี่

ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าน่ะวางเป็นหลักเกณฑ์ไว้ หลักเกณฑ์จริงๆ นะ แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมาถึงที่สุดแล้ว มันจะเข้าไปเป็นสิ่งเดียวกัน สิ่งเดียวกันต่อเมื่อเราได้ชำระล้างในหัวใจของเรา แต่นี้ในหัวใจเราไม่ได้ชำระล้าง แล้วเราคิดว่าสิ่งนั้นเป็นเพราะอะไร

เพราะว่าเราขาดครูบาอาจารย์ที่รู้จริงไง เราประพฤติปฏิบัติโดยความไม่รู้กัน แต่ถ้าเรามีครูบาอาจารย์ที่รู้จริง ศึกษามาแล้วให้วางไว้ก่อน วางไว้นะ แล้วเราพยายามทำให้มันเป็นจริงขึ้นมา ถ้ามันเป็นจริงขึ้นมา จริงตามโลก จริงตามสมมุติบัญญัตินี่

เวลาเราปฏิบัติขึ้นมา มันก็จากเรานี่แหละ เราเกิดมา นาย ก. นาย ข. นาย ค. นาย ง. เราเกิดมาจากพ่อจากแม่ เราบวชขึ้นมาเป็นพระ ก. พระ ข. พระ ง. ก็เกิดจากอุปัชฌาย์อาจารย์ อุปัชฌาย์อาจารย์ยกเข้าหมู่ สิ่งนี้มันสมบูรณ์ ! มันสมบูรณ์ ! พอมันสมบูรณ์ขึ้นมานี่ แต่ทำให้มันตามความเป็นจริง

ถ้าความเป็นจริงขึ้นมา สติก็ต้องเป็นสติ มีคำบริกรรมหรือปัญญาอบรมสมาธิ ก็ต้องทำให้มันเป็นความจริงขึ้นมา พอมันมีความจริงขึ้นมา เราเห็นความแตกต่างระหว่างสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิไม่ใช่มิจฉาสมาธิ มิจฉาสมาธินี่อ้างเอา กดเอา ว่างๆ ว่างๆ ก็ว่าตามภาษามันไป แล้วเวลาเกิดปัญญาขึ้นมา มันก็เป็นปัญญาโลกๆ มันไม่มีความแตกต่าง ความแตกต่างระหว่างว่า สิ่งที่เป็นมิจฉาสมาธินี่ สมาธิของปุถุชน สมาธิของเรามันมีอยู่แล้ว คนเราถ้ามันมีสมาธิของเรา แต่มันเป็นสมาธิของมนุษย์ไง

ปุถุชน กัลยาณปุถุชน กัลยาณปุถุชนคือผู้ที่ทำสมาธิได้ง่าย ทำสมาธิได้ง่ายเพราะเหตุใด เพราะเรารื้อค้นวัชพืช วัชพืชคือความฟุ้งซ่าน ความคิดที่มันสอดส่ายเข้ามาในหัวใจ เรากำหนด พุทโธ พุทโธ พุทโธ ให้มันเกิดเลย ไม่ให้สิ่งใดเกิดขึ้นมาเลย ให้อยู่กับพุทธานุสติ บังคับใจให้มันทำ พอมันเป็นไปเราเห็นความแตกต่าง ความแตกต่างมันเป็นอย่างนี้ เป็นอย่างนี้ สติปัญญามันเป็นอย่างนี้ พอสติปัญญาอย่างนี้ เราฝึกฝนจนมีความชำนาญ พอชำนาญขึ้นมานี่ จากปุถุชนเป็นกัลยาณปุถุชน

กัลยาณปุถุชนผู้ที่จะเดินเข้าสู่โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติมรรค ทวนเข้ากระแส กระแสมันคืออะไรล่ะ กระแสแห่งมรรคผลไง ถ้ามันจะทวนสู่กระแส ถ้าจิตมันสงบขึ้นมาล่ะ มันจะพิจารณากาย พิจารณากายเพราะเหตุใด การพิจารณากายนะ โอ้โฮ.. มันกว้างขวางมากนะ

หลวงตาท่านบอกเลย เวลาทำสมถกรรมฐาน กรรมฐาน ๔๐ ห้อง แต่ขั้นของปัญญานี่ไม่มีขอบเขตเลย อยู่ที่จริต อยู่ที่นิสัย อยู่ที่กำลังของสมาธิ อยู่ที่เป็นปัจจุบันธรรม ปัจจุบันสิ่งใดเกิดขึ้นมา พอสิ่งใดเกิดขึ้นมานี่ ถ้าจิตมันสงบขึ้นมา พอมันพิจารณากาย เห็นกายครั้งแรก ถ้าเห็นกายตามความเป็นจริงนี่ มันสะเทือนหัวใจมาก

ถ้าพิจารณา ถ้าจิตมันสงบ จิตเห็นอาการของจิต ถ้าจิตมันสงบเข้ามาแล้วนี่ จิตเห็นอาการของจิต จิตมันจับธรรมารมณ์ จับความคิดไง โดยสามัญสำนึกความคิดกับจิตมันเกิดด้วยกัน ถ้าไม่มีความคิด เราไม่รู้ว่าเรามีจิตเลย คนเรานี่เวลามันเผลอนะ มันเวิ้งว้างไปหมดเลย แต่ไม่มีสิ่งใดเลย มันจะรู้ก็ต่อเมื่อ เรามีหัวใจ เรามีความรู้สึกอยู่ เพราะเวลาเราคิด เพราะเราคิด จิตมันแสดงตัวออกมา ฉะนั้นเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ หรือ เราใช้ พุทโธ พุทโธ จนจิตมันสงบเข้ามา จิตมันเป็นจิต !

พอจิตมันเป็นจิต สติปัญญาของมันพร้อม ถ้ามันออกไปจิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นกาย พอจิตเห็นกาย จิตมันเป็นเอกเทศ จิตมันเป็นเอกัคคตารมณ์ จิตมันตั้งมั่น พอจิตมันตั้งมั่น เพราะจิตมันตั้งมั่น จิตออกไปวิปัสสนา เวลามันจับได้ปั๊บ มันสะเทือนเพราะมันมีกิเลสไง

ดูสิ เวลาคนไข้ เวลาคนป่วย คนป่วยเขาเจาะเลือด เอาเลือดไปเพาะเชื้อต่างๆ ว่ามีเชื้อโรคไหม มีสิ่งใดไหม แต่ถ้ามันอยู่กับเราๆ รู้ไหม เวลาเชื้อโรคอยู่ในร่างกาย เรารู้ว่าเรามีเชื้อโรคไหม เราก็รู้โดยสามัญสำนึกว่าเราเจ็บไข้ได้ป่วย แต่ไม่รู้ว่าเป็นโรคอะไร นี่ก็เหมือนกัน เวลาความคิดมันเกิดมาจากจิต เวลาไม่มีความคิดเข้ามา เราก็ไม่มีจิต พอมีความคิดขึ้นมาเราก็มีความทุกข์ เราก็ว่าเราเป็นทุกข์ เราทุกข์ นี่เป็นสัจธรรม

นี่ไง มันก็ไม่รู้ว่าโรคอะไร แต่เวลาจิตมันสงบขึ้นมา พอสงบขึ้นมามันวางกันระหว่างความคิดกับจิต ถ้ามีความคิดอยู่เป็นสมาธิไม่ได้ พอเราพุทโธ พุทโธ พุทโธ จนคำบริกรรมมันละเอียดเข้าไป จนจิตมันคิดอะไรไม่ได้ มันอยู่ในคำบริกรรม คำบริกรรมครอบงำมันไว้ จนมันปล่อยวางสิ่งใด มันเป็นเอกเทศ นี่ไง เราเจาะเลือดเอามาเพาะเชื้อว่ามันเป็นโรคสิ่งใด เพราะเราก็รู้ว่าเราเป็นโรคอะไร นี่ก็จิตเหมือนกัน พอจิตมันปล่อยหมด พอจิตมันเป็นสมถกรรมฐาน มันออกไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม มันถึงสะเทือน มันไปเห็นกิเลส มันถึงได้รู้ไง

มันถึงได้รู้ว่า อ้อ ! นี่ไงกิเลสอยู่ที่นี่ กิเลสมันอยู่กับกาย อยู่ในเวทนา อยู่ในจิต ในธรรม มันอยู่ที่นั้นจริงๆ เหรอ กิเลสมันอยู่ที่ใจ ถ้าใจมันสงบขึ้นมา แล้วมันไปรู้ไปเห็นของมัน มันก็กระเทือนสิ นี่ไง นี่ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก จิตรู้เอง !

จิตไม่เคยเห็นกิเลสก็ไม่รู้ว่ากิเลสมันคืออะไร แล้วก็บอกว่านี่มาปฏิบัติธรรมกัน จะฆ่ากิเลส จะฆ่ากิเลส โอ้โฮ.. เท้าพองเลยนะ นั่งจนหัวทิ่มดินเลย ไม่เห็นกิเลสสักที แต่ถ้าจิตมันสงบ ใครจะอยู่อย่างไรก็แล้วแต่จิตมันสงบเข้ามา พอสงบเข้ามามันปล่อยวาง โดยสามัญสำนึก จิตมันแสดงตัวต่อเมื่อออกมีความคิด

เหมือนไฟฟ้า ดูสิ เวลามันไฟสว่าง ถ้ามันก็มีไฟฟ้า มันมีดวงไฟ มันก็สว่างของมัน จิตธรรมดามันเป็นอย่างนั้น แต่พอพูดถึงไฟฟ้านี่มันเป็นพลังงานที่เราสร้างขึ้นมา แต่จิตนี่เวลาเกิดขึ้นมา เวลาปฏิสนธิขึ้นมาแล้วนี่ มันเป็นธรรมชาติแล้ว มันตายตัวแล้ว มันตายตัวอย่างนั้นแล้วมันไม่เคยหยุด คนเวลาเกิดขึ้นมานะ มันติดเครื่อง แล้วเครื่องนี่มันไม่เคยดับเลย ดับเมื่อไรก็ตาย จิตมันต้องเป็นอย่างนั้นตลอดไป

ที่นี้ เรามาพุทโธ พุทโธ พุทโธ เพื่อวาง เพื่อปล่อยให้มันเป็นโอกาส นี่ไงดูความขัดแย้งสิ มันก็มีความขัดแย้ง ความขัดแย้งๆ เพราะเราต้องการให้เห็นว่าอะไรเป็นโลก อะไรเป็นธรรม โดยสามัญสำนึกมันเป็นโลก เป็นโลกเพราะเราเกิดมาเป็นมนุษย์ มันเป็นชีวิตหนึ่ง ชีวิตหนึ่งเป็นอย่างนี้ ! เป็นอย่างนี้ตลอดไป !

แต่เพราะเรามีคุณธรรม ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมและวินัยเป็นศาสดาของเรา แล้วเราปฏิบัติของเรา เรามีครูบาอาจารย์เป็นที่ยืนยันว่าต้องทำอย่างนี้ ! ถ้าไม่ทำอย่างนี้จะไม่ได้ผล ไม่ได้เห็นสัจจะความจริง ใจนี้จะไม่ได้สัมผัสธรรม เพราะทำตามอารมณ์ ทำตามโลก ทำตามสิ่งที่เป็นสามัญสำนึกนี้ มันก็มีแต่ความสังเวช มันเป็นธรรมอย่างนั้นล่ะ ไม่มีทางเข้าถึงสัจธรรมได้เลย

มันจะเข้าถึงสัจธรรมได้ มันต้องทำสมถกรรมฐาน ต้องจิตสงบ แม้แต่จิตสงบ ความเห็นระหว่างจิตสงบและไม่สงบ แล้วถ้าจิตสงบเข้ามาแล้วนี่ สงบโดยมารยาสาไถย ถ้าสงบโดยมารยาสาไถยมันก็จะสงบโดยมิจฉาสมาธิ ตกภวังค์ !

แม้แต่สงบนี้ เดี๋ยวนี้ทำสมาธิกันไม่เป็น ! แม้แต่สมาธิยังทำกันไม่ได้ แต่ที่มันเป็นมิจฉาสมาธิ คือสมาธิคิดเองสร้างเองว่าเป็นสมาธิ แล้วปัญญาก็คิดเองสร้างเอง มันไม่เป็นความจริงไง ถ้าเป็นความจริง เราก็คิดเป็นใช่ไหม

คนภาวนาทุกคนมันจะมีการผิดพลาดมา ในเรื่องคิดเองสร้างเอง ทุกคนเป็นทั้งนั้นล่ะ แต่ถ้าคิดเองสร้างเองแล้วเห็นโทษ เราถึงต้องมีสติปัญญา แล้วทำความจริงของเรา ทำมันไป.. ทำมันไป

เวลาครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า “เหมือนโลกนี้ไม่มี เหมือนเรากับการกระทำนี้เท่านั้น” เราต้องสู้ตามความเป็นจริง แล้วพอมันเป็นความจริงขึ้นมา เราเห็นความแตกต่างมากเลย พอเห็นความแตกต่าง นี่ข้อเท็จจริงของเรา แล้วเห็นความแตกต่าง แตกต่างจริงๆ เพราะธรรมมันเหนือโลก

โลกุตตรธรรม ธรรมเหนือโลก ไม่ใช่ธรรมใต้โลก ไอ้เรานี่ ทำอยู่ใต้โลก อยู่ใต้เพดานให้โลกมันกระทืบเอา แล้วบอกว่านี่เป็นธรรม ๆ เพราะมันใต้โลกไง ถ้าธรรมเหนือโลก มันเหนือที่ไหนล่ะ มันเหนือบนหัวใจเรา หัวใจเรามันปล่อยวางแล้วมันเหนือกว่าเขา ถ้ามันอยู่เหนือกว่าเขานะ ทุกอย่างมันเข้ามากระทบกระเทือนใจเราไม่ได้ ถ้ามันกระทบกระเทือนใจไม่ได้ มันจะทำได้อย่างไรล่ะ

มันทำได้นะ มันทำได้ ดูสิ เวลาหลวงตาท่านพูด พระโสณะเดินจนฝ่าเท้าแตกน่ะ เพราะเหตุใด เพราะจิตมันมันมีการกระทำ มันมีงานของมัน มันหมุนเข้ามาข้างใน พอหมุนเข้ามาข้างใน งานกระทำมันเกิดขึ้นมา ฉะนั้นถ้าเราทำของเรา มันเป็นปัญญาของเรา เรารับรู้ได้ ฉะนั้นพอรับรู้ได้นะ เท้านี่เดินจงกรมไปมันเป็นอัตโนมัติเลย มันเดินโดยสัญชาตญาณของมันเลย แต่จิตมันสงบอยู่ข้างใน พอสงบอยู่ข้างในเราพิจารณาของเรา ถ้าจิตสงบแล้วให้ออกใช้งาน ถ้าออกใช้งานเป็นนะ คำว่าออกใช้งานเป็น ออกใช้งานไม่เป็น เวลาเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ

คนเรากินข้าวแล้ว เราจะต้องกินข้าวมื้อแล้วมื้อเล่าๆ เพื่อดำรงชีวิตไป เวลาประพฤติปฏิบัติเราจะต้องเข้าสู่ความสงบของใจ ให้ใจนี้เข้มแข็ง ให้ใจนี้มีโอกาสได้ทำ เสร็จแล้วเราออกใช้ปัญญา มันใช้พลังงานไปแล้ว มันทอนกำลังเรา เราต้องกลับมาทำความสงบของใจ แล้วเราพิจารณาไป แล้วเราต้องกลับมาสู่ความสงบ แล้วทำบ่อยครั้งเข้าๆ มันจะละเอียดลึกซึ้งเข้าไป นี่ ตทังคปหาน

เวลาเจโตวิมุตติ ถ้าจิตมันสงบแล้วมันน้อมไปสู่กาย มันจะเห็นเป็นภาพ เป็นกระดูก เป็นกะโหลกศีรษะ เป็นเนื้อ เป็นหนัง หรือเป็นศพทั้งร่าง หรือเป็นใครทั้งร่าง สิ่งนี่เป็นเจโตวิมุตติ

ถ้าเป็นเจโตวิมุตติ ถ้ามันจับได้ ถ้าจิตมันน้อมมันไปเห็นสภาวะแบบนั้น มันตื่นเต้นนะ ถ้ามันเป็นสัจจะความจริง มันสะเทือนหัวใจมาก เพราะอะไร เพราะอวิชชามันอยู่ที่นั่น ความไม่รู้อยู่ที่นั่น กิเลสมันอยู่ที่นั่น พออยู่ที่นั้นเพราะสิ่งนี้ไม่เคยเห็น กิเลสมันอยู่หลังความคิดเรา แล้วมันจับเราเดินหน้าไป ตาเราจะมองไปข้างหน้าตลอดเวลา เราไม่เคยรู้เบื้องหลังเราเลย

แล้วถ้าจิตไม่เคยสงบ มันก็ไม่เห็นเบื้องหลัง เมื่อใดเราเห็นเบื้องหลังนี่เราสะเทือนหัวใจ ว่าเราเห็นแต่เบื้องหน้า เรามองไปแต่ข้างหน้า โดยสามัญสำนึกของจิตมันส่งออก มันใช้สามัญสำนึกมันคิดไป โดยธรรมะมันก็ส่งออก ส่งออกมาศึกษาธรรม ส่งออกมารับรู้สิ่งต่างๆ มันส่งออกมาหมดเลย

แต่ถ้าจิตสงบเห็นไหม พอจิตสงบมันเห็นเบื้องหลัง ว่าสิ่งใดที่มันให้ความคิดอย่างนี้ออกมา ความคิดอย่างนี้ ความคิดยึดมั่นถือมั่นนี่ สักกายทิฏฐิความเห็นผิดในความเป็นจริงของเรา ความเห็นผิดในชีวิตมันเป็นสิ่งใด พอจิตมันสงบแล้ว มันเห็นทั้งเบื้องหน้า เห็นทั้งเบื้องหลัง เห็นทั้งหมดเลย พอมันเห็นทั้งหมด มันใคร่ครวญของมัน มันใช้ปัญญาของมัน พอใช้ปัญญาของมัน มันเห็นว่า ถ้าจิตมันสงบเห็นว่าสิ่งนี้เป็นของชั่วคราว

เราเกิดมาเป็นมนุษย์ เราเกิดมานี่เป็นมนุษย์มีร่างกาย มีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ มันเป็นจริงๆ แต่เพราะมนุษย์เขาเพลิดเพลินกัน เขาใช้ชีวิตของเขาไป เขาถึงต้องหมดอายุขัยของเขา ชีวิตหนึ่งๆ ก็ต้องจบไปโดยที่เขาไม่ได้ประโยชน์หรือสัจธรรมขึ้นมา

เราทำความสงบของใจขึ้นมา เราประพฤติปฏิบัติของเราขึ้นมา พอจิตเราเห็นอย่างนี้ เพราะมันเห็นกิเลสอย่างนี้ เห็นทุกข์อย่างนี้ พอเห็นขึ้นมามันปล่อย เป็นตทังคปหาน มันปล่อย ๆ ความปล่อยอย่างนี้ ถ้าพอปล่อยมันมีรสชาตินะ “รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง” รสของสัจธรรม แม้แต่ทำความสงบของใจ ขัดแย้งระหว่างสัมมาสมาธิกับมิจฉาสมาธิ ระหว่างสัมมาสมาธิกับกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ระหว่างสัมมาสมาธิมันก็มีความขัดแย้ง มันก็มีความแตกต่าง

เวลาปฏิบัติขึ้นมา เวลาพิจารณากายขึ้นมา ผลของมันก็มีความสงบของใจ พอพิจารณาแล้วมันปล่อย.. มันปล่อย.. มันปล่อยนะ มันปล่อยแต่มันไม่ขาด เพราะมันยังไม่สมดุลของมัน ถ้ามันปล่อยนี่เขาเรียกตทังคปหาน เพราะมันปล่อยเห็นไหม

เราจะต้องเดินหน้า เราจะต้องมีการกระทำของเราต่อเนื่องไป เราทำของเราต่อเนื่องกันไป นี่ขั้นของปัญญา ขั้นของสมถกรรมฐานทำความสงบของใจเข้ามา พอใจสงบแล้ว ใจที่หลักมีเกณฑ์แล้วนี่ เราออกทำงานของเรา ออกทำงานโดยสมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน

ฐานที่ตั้งแห่งการงานคือปฏิสนธิจิต คือภวาสวะ คือตัวภพ ถ้าฐานที่ตั้งแห่งการงาน เพราะกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันสุมกองกันอยู่ที่นี่ ถ้าเราใช้ปัญญาขึ้นไป มันก็ชำระล้างด้วย คนเรานะ คนหยาบๆ มันยึดมั่นถือมั่นมาก มันยึดติดมาก เวลาเราใช้พิจารณาไป ความยึดติด.. ความยึดติด..นั่นมันชักเริ่มปล่อย เริ่มปล่อย พอเริ่มปล่อยมันก็เริ่มเบาลง.. เบาลง

แต่ถ้าคนเราละเอียดอ่อน ..ละเอียดอ่อนค่อยพิจารณาไป ไม่กี่ครั้งนี่ มันปล่อย มันเห็นแจ้ง พอมันเห็นแจ้งมันปล่อยได้ มันแตกต่างหลากหลายในการประพฤติปฏิบัติ พอมันแตกต่างหลากหลาย มันแตกต่างหลากหลายตั้งแต่คุณสมบัติของมันเลยล่ะ

คุณสมบัติของจิตที่เป็นโลกกับเป็นธรรม คุณสมบัติที่เป็นสัมมาสมาธิกับมิจฉาสมาธิ คุณสมบัติปัญญา ปัญญาที่เป็นสัมมาสมาธิ ปัญญาที่เป็นมรรค เป็นมรรคโคทางอันเอก กับปัญญาที่เราจำมา ปัญญาที่เราสร้างมา แตกต่างหลากหลายทั้งนั้นล่ะ มันแตกต่างหลากหลายที่จิต แตกต่างหลากหลายที่ภวาสวะ ที่ภพ ที่จิตของเรา

พอจิตมันพิจารณาของมัน มันใคร่ครวญของมัน พอมันขยันหมั่นเพียรขึ้นไป มันปล่อย มันพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ตทังคปหาน ซ้ำแล้วซ้ำเล่านะ แล้วต้องมีอุบาย อุบายนะ กิเลสนะ อนุสัยมันนอนเนื่องมากับจิต กิเลสอาศัยจิต เราปฏิสนธิจิตของเรานี่ปฏิสนธิ ภวาสวะภพนี่ คือจิตเดิมแท้ ความวิญญาณของเรานี่มันอยู่ที่นี่ แล้วข้อมูล เวรกรรมที่สร้างมานั้นน่ะ ตั้งแต่ไม่มีต้นไม่มีปลาย มันก็สร้างมาอยู่ที่นี่ อนุสัยน่ะ มันเคลื่อนมาพร้อมกัน มันออกมาพร้อมกับใจเรานี่

ฉะนั้นสิ่งที่มันออกมาพร้อมกับใจ สิ่งที่เป็นอนุสัย กิเลสมันอยู่กับเรานี่ แล้วมันทำสิ่งใดไปมันรู้ตัวทั้งนั้น ฉะนั้นเวลาทำของเรานี่ เราจะต้องมีสติมีปัญญา พิจารณาแล้วถ้ามันไม่ได้ดั่งใจ ไม่ได้ต่างๆ เราต้องกลับไปทำความสงบ แล้วทำความสงบ พิจารณาของเราไป บ่อยครั้งเข้า มันเริ่มปล่อยนะ มันเริ่มจาง เริ่มต่างๆ ไป ทำบ่อยครั้งเข้า คำว่า ทำบ่อยครั้งๆ เข้า เพราะว่าแก่นของกิเลส กิเลสเห็นไหม เวลาเราจะฆ่ามัน เราจะทำลายกิเลส เวลาเรื่องของคนอื่น เรื่องของสัตว์โลก เป็นเรื่องของคนอื่นเขา เรื่องความหมักหมมของใจ เรื่องความทุกข์ยากของใจมันเป็นเรื่องของเรา สิ่งที่เราจะปลดเปลื้อง

ชีวิตหนึ่งเกิดมาด้วยบุญกุศลนะ การเกิดเป็นมนุษย์นี่แสนยาก เป็นอริยทรัพย์ มีคุณสมบัติมาก แล้วโลกเขาใช้ชีวิตของเขาหนึ่งชีวิต เขาใช้เพื่อประโยชน์ของเขา ใช้เพื่อความร่มเย็นของเขา เขาคิดของเขาเพราะเขาไม่มีปัญญาจากภายใน ปัญญาจากภายในคือปัญญาทวนกระแส ปัญญาจากธรรมะนี้

ฉะนั้นเราเห็นคุณค่า.. เราเห็นคุณค่านะ เราถึงมาประพฤติปฏิบัติของเรา แล้วถ้าประพฤติปฏิบัติของเรานี่ ถ้ามีสติมีปัญญา มีความมั่นคงของเรา เราต้องทำได้ ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกตลอดเวลา ถ้าใครมีความขยันหมั่นเพียร ทำตามความเป็นจริง ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี อย่างน้อยต้องเป็นพระอนาคามี อย่างน้อยนะ ! ถ้าเป็นพระอนาคามีเราก็ไม่มาเกิดบนโลกนี้แล้ว เราไปเกิดบนพรหม ถ้าเราทำความจริงของเรา

ฉะนั้น ในเมื่อเรามีสติ มีปัญญาอย่างนี้ เรามีความตั้งใจ มีความจงใจอย่างนี้ เรามีความมั่นคงของเรา เราต้องทำของเรา ถ้าเราทำของเราใครจะติใครจะว่านะ กระแสโลก ! โลกถ้าไปตามกระแสเขา ทำตามกระแสเขา เขาก็ชิงนำหน้าเราไป แล้วก็บอกให้เราเดินตามเขาไป เราก็เป็นเหยื่อเขามาตลอด

แล้วเวลาเราอยู่กับโลก เราก็ต้องมีปัจจัยเครื่องอาศัย เราก็อยู่กับเขาแต่ใจของเราไม่ต้องไปช่วงชิงอะไรกับเขา เราจะช่วงชิงกับใจของเรา เราจะทำให้ความรู้สึกของเรา เราจะทำให้หัวใจของเรา เราจะทำความสงบของใจของเรา แล้วถ้ามันเกิดปัญญาขึ้นมา เราพิจารณาของเราซ้ำแล้วซ้ำเล่า ๆ ทำของเราที่นี่ ไม่มีใครรู้ใครนะ

เราอยากเห็นครูบาอาจารย์ว่าเป็นผู้มีคุณธรรม เราเดินชนท่าน เรายังไม่รู้ว่าท่านมีคุณธรรมหรือไม่มีคุณธรรม คุณธรรมมันอยู่ในหัวใจนะ มนุษย์ก็คือมนุษย์ แล้วใครมันเหนือใคร แต่ถ้าเหนือที่นี่ เหนือที่เวลาแสดงออกที่ธรรมไง ถ้าไม่มีคุณธรรมในหัวใจ เอาอะไรมาพูด พูดออกไปนะ สัญญานี่จำได้ พูดนี่ แหม.. สุดยอดเลยนะ ๕ ครั้ง ๑๐ ครั้งก็จบแล้ว เพราะพูดซ้ำๆ ซากๆ

แต่ถ้ามันมีคุณธรรมในหัวใจนะ ความเป็นไง มันพลิกแพลงได้ตลอดเวลา มันพลิกแพลงมันแก้ไข มันพลิกแพลงได้ตลอดเวลา คนเป็นอย่างนั้น ฉะนั้น สิ่งที่มันเกิดขึ้นมาจากภายใน เราต้องแสวงหาสิ่งที่ปฏิสนธิจิต เวลาเราเกิด เราเกิดจากพ่อจากแม่ มันมีสายบุญสายกรรม มันมีบุญมีกรรมต่างๆ มาเกิดมาจากพ่อจากแม่ มันได้ร่างกายนี้มา ได้กรรมพันธุ์มา ได้พันธุกรรมมา ได้สิ่งต่างๆ มา

แต่หัวใจล่ะ หัวใจมันมีเวรมีกรรมของมัน ถ้าหัวใจไม่มีเวรมีกรรม มันก็ไม่มาเกิดกับพ่อกับแม่ การเกิดกับพ่อกับแม่เพราะมันมีสายบุญสายกรรม แต่เพราะตัวจิตมันมีเวรมีกรรมของมันเหมือนกัน ฉะนั้นเวลาเราเกิดมานี่ เราเกิดมาเป็นสายบุญสายกรรม ก็ชาติตระกูลของเรา เราก็ดูแลชาติตระกูลของเรา

แต่หัวใจของเราล่ะ.. หัวใจของเราล่ะ.. มันจะเป็นอิสระที่นี่ มันไม่เป็นอิสระที่ชาติตระกูลหรอก ชาติตระกูลเป็นอิสระไม่ได้ เพราะพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยายนี่จิตตั้งกี่ดวง แล้วจิตของเราดวงเดียว จิตของเรา เราจะแก้ไขจิตของเรา ฉะนั้นเวลาทำงาน งานของโลก งานชาติ งานครอบครัว งานตระกูลต่างๆ นี่งานของโลก

ถ้างานของเราล่ะ เราทำงานของโลกด้วย แล้วทำงานของเราด้วย ! เพราะเราทำงานของเรา เรามีสติมีปัญญา เรากำหนดของเราได้ตลอดเวลา เรากำหนดจิตของเราได้ตลอดเวลา ถ้าจิตเรากำหนด ลมหายใจเราก็มี ความรู้สึกของเราก็มี ถ้ากำหนดสิ่งนี้มา งานภายในก็ทำได้

เวลาครูบาอาจารย์ท่านพูดนะ เวลาจะฉันอาหารนั้นอยู่ บอกกิเลสมันอยู่ที่ไหน มันกระโจนใส่กิเลสเลย นี่ก็เหมือนกันถ้าเราทำงาน ถ้าเราจิตใจภาวนาเป็นขึ้นมานะ มันมีงานของมัน มันจะหมุนกลับมา เวลาจักรมันหมุนนะ เวลาโลกมันหมุนมันเป็นกงจักร มีแต่ความเร่าร้อน มีแต่ความทุกข์

แต่ถ้าเป็นธรรมจักร มันมีแต่ความร่มเย็น มันถอดมันถอนนะ เวลาจักรมันหมุน ถ้าปัญญามันหมุนนะ ถ้าภาวนาเป็น ปัญญามันจุดติดแล้วนะมันจะหมุนของมัน พอหมุนของมัน มันจะถอดมันจะถอน เวลามันจะถอดมันจะถอน ตทังคปหาน พอถอดถอน วงงานรอบหนึ่งมันก็หนหนึ่ง พอถอดถอนวงงานรอบหนึ่งมันก็ปล่อยหนหนึ่ง นี่ความปล่อย

ความปล่อย ! ความแตกต่างนี่เป็นความปล่อย เห็นว่าปล่อยมีความสุขมาก ถ้าคนมีสติปัญญา เรียกว่าอินทรีย์ ! ความอ่อนด้อยของอินทรีย์ เข้าใจว่าสิ่งนี้เป็นธรรม ถ้าเข้าใจว่าสิ่งนี้เป็นธรรมนะเราก็หยุดไง เพราะสิ่งนี้เป็นธรรมแล้ว เพราะพวกเราทำงานเราอยากจะถึงเป้าหมาย เมื่อไรจะถึงเป้าหมาย เมื่อไรจะได้พักสักที พอมันปล่อยมันมีความสุข มันมีความพอใจ เราก็ปล่อย ปล่อยก็เสื่อม พอเสื่อมขึ้นมาเราก็คอตก เพราะอะไร

เพราะถ้าเราจะประพฤติปฏิบัติเราก็ต้องเข้ามาจุดนี้ เราเข้าไปสู่จุดที่ว่า มรรค ! ปัญญามันเคลื่อน จักรมันเคลื่อน จักรมันเคลื่อนเพราะอะไร งานชอบ ความเพียรชอบ สติชอบ ระลึกชอบ ความชอบธรรมของมัน ถ้าความชอบของธรรมมันเกิดขึ้นสัมมาสมาธิก็ชอบ เราทำสติชอบ เพราะมีสติชอบเราถึงจะทำสมาธิขึ้นมาได้ เพราะมีสติชอบ มีสมาธิชอบ มันถึงเกิดปัญญาชอบ

แล้วปัญญาชอบในอะไร... ปัญญาชอบในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม ถ้าเกิดปัญญาขึ้นมา ปัญญามันจะไปนรกสวรรค์ ปัญญามันอยากจะรู้จิตคนอื่น ปัญญามันออกรับรู้ นั้นคือปัญญาไม่ชอบ ปัญญาไม่ชอบเพราะอะไร เพราะปัญญามันไม่ได้แก้กิเลสในใจของเรา มันจะไปรู้นรกสวรรค์ มันจะไปแก้ใจคนอื่น

ถ้าแก้คนอื่น เพราะภวาสวะ ปฏิสนธิจิต เพราะจิตมันมีเวรมีกรรมของมัน มันมาเกิดเป็นมนุษย์ เกิดจากสายบุญสายกรรมจากพ่อจากแม่ แล้วเราจะแก้ เราต้องแก้ที่จิตของเรา ถ้าแก้ที่จิตของเรา ถ้ามันไม่ชอบมันก็ออกนอก ถ้ามันชอบมันก็เข้ามา แล้วมันจะชอบได้อย่างไร มันจะเข้ามาได้อย่างไร เข้ามาเพราะมันมีสัมมาสติ สัมมาสมาธิ

สัมมาคือความถูกต้องชอบธรรม สัมมาคือมรรค มิจฉาคือส่งออก สัมมามันก็ย้อนกลับ พอย้อนกลับมันก็เข้ามาสู่ใจ ถ้าเข้ามาสู่ใจมันก็ย้อนกลับเข้ามา มันก็เป็นธรรมจักร พอธรรมจักร มันก็ถอดก็ถอน พอถอดถอนมันก็ปล่อย ถ้ามันเสื่อมไป เราก็ต้องพยายามทำขึ้นมาให้ถึงจุดนี้ ถ้าไม่ถึงจุดนี้ มันก็ฆ่ากิเลสไม่ได้

เหมือนกับ ดูสิ เมื่อเชื้อโรคมันอยู่ในที่ลึก เชื้อโรคมันอยู่ภายใน เวลาเราจะชะล้าง เราต้องชะล้างภายใน ภายในคือก้นบึ้งของใจ ภายในคือคูหาของจิต ภายในคือสิ่งที่มันรับรู้อยู่ภายใน ถ้ารับรู้ มันจะย้อนกลับขึ้นมา ถ้ามันทำขึ้นมาถึงระดับนี้ได้มันก็ทำถึงต่อเนื่อง ถ้ามันเสื่อมก็เสื่อมแต่นี้ลงไป

แต่ถ้ามันขึ้นมา เวลาเราสร้างสัมมาสมาธิ เราสร้างสติขึ้นมา มันก็ต้องขึ้นมาสู่จุดนี้ พอมาถึงจุดนี้ เราก็ต่อสู้ขึ้นไป เราก็ทำต่อเนื่องขึ้นไป ธรรมจักรมันก็หมุนขึ้นไป มันก็ถอดมันก็ถอนต่อเนื่องขึ้นไป

พอต่อเนื่องขึ้นไป จิตเสื่อม ! เวลาสมาธิเสื่อม สมาธิก็เสื่อมได้ ปัญญาถ้าไม่มีสมาธิรองรับมันก็เสื่อมเหมือนกัน พอมันเสื่อมขึ้นมา.. เพราะครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติมา ล้มลุกคลุกคลานมาทั้งนั้น เพราะอะไร เพราะธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันเป็นสูตรสำเร็จ มันเป็นเรื่องธรรมและวินัย แต่เวลาทำขึ้นมานี่ มันทำขึ้นมาจริงๆ นะ

ดูสิ ทำอาหารขึ้นมานี่ ดูหน้าเตามันร้อนไปทั้งนั้น มันมีความร้อน มันมีกลิ่น มันมีเครื่องเทศ มันต้องมีไปหมด แต่ในพระไตรปิฎกมันไม่มี เวลาเราศึกษาขึ้นมามันไม่มีกลิ่น ไม่มีสิ่งต่างๆ เลย แต่เราทำมันมีจริงๆ นะ มันทำจริงๆ มันเป็นจริงๆ อาหารมันจะสุกจริงๆ แล้วเราได้สัมผัสจริงๆ นี่ความขัดแย้งระหว่างกิเลสกับธรรมก็เป็นเรื่องที่หนักหนาสาหัสสากรรจ์แล้วนะกิเลสมันอยู่กับใจเรามาตลอด มันครอบใจเรามาตลอด มันครอบงำมา

“มารเอย ! เธอเกิดจากความดำริของเรา เราจะไม่ดำริถึงเจ้าอีกแล้ว เจ้าจะเกิดจากใจของเราไม่ได้อีกเลย”

ดูมารสิ เธอเกิดจากความดำริของเรา เธอเกิดเพราะความดำริของเรา แล้วถ้าเราไปศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราก็จำธรรมมา แล้วมารมันอยู่ข้างหลัง มารมันก็บอกว่า นี่คือถูกต้อง ๆ เป็นพระอรหันต์ตั้งแต่ยังไม่ได้ปฏิบัตินะ

แต่ถ้าเป็นความจริง ไม่มีอะไรเลย .. ยังไม่ได้อะไรเลย.. ถ้าเราทำขึ้นมาตามความเป็นจริงเรามีสติปัญญา แล้วพอเราทำขึ้นมามันเป็นสมบัติของเรานะ ถ้าเป็นสมบัติของเรา เป็นความจริงของเราขึ้นมา เพราะเรามีครูมีอาจารย์คอยชี้แนะ เรามีครูมีอาจารย์คอยส่งเสริมให้เรามีกำลังใจ ส่งเสริมให้มีการกระทำ เรามาบำเพ็ญธรรมกัน เรามาประพฤติปฏิบัติกันเพื่อจะพ้นจากทุกข์

แล้วพ้นได้จริงๆ นะ พ้นได้ ! ถ้าเราไม่พ้นได้จริงๆ เราจะมาทุกข์มายากกันทำไม ดูสิ เขามีเงินมีทอง เขาแลกสินค้ามา มันยังทำได้ เรามีสติมีปัญญา เรามีหัวใจ เรามีความทุกข์ เรามีสติปัญญา เรามีหัวใจ แล้วความทุกข์มันอยู่ในหัวใจของเรา เราจะชำระล้าง ทำไมมันจะทำไมได้ ทำไมจะทำไม่ได้ มันทำได้ทั้งนั้นล่ะ ถ้ามันทำได้ขึ้นมา เราทำจริงจังหรือเปล่าล่ะ

ถ้าทำจริงจัง.. เขาบอกทำจริงจัง มันเกร็งเกินไป มันเคร่งเกินไป มันไม่เป็นมัชฌิมาปฏิปทา ให้มันเกร็งไปก่อน น้ำนี่ตักมาให้มันมากไว้ก่อน ใช้น้อยก็ไม่เป็นไร น้ำจะใช้น้อยก็ตักมาหยดเดียว หยดเดียวทำอะไรไม่ได้หรอก นี่ก็เหมือนกัน จะทำอะไรก็กลัว กลัวมันจะเกร็ง กลัวมันจะเคร่ง กลัวมันจะเป็นทุกข์จะยากไปหมด

เราจะบอกว่า ถ้าทุกข์ยากก็ไม่เป็นไร ทุกข์ยากก็จะสู้ เราเกิดมามีชีวิตนี้ แค่เรามีโอกาส เรามีสติปัญญา เราเข้ามาฝึกฝน เราเข้ามามีสติปัญญา อันนี้เป็นอำนาจวาสนานะ แม้แต่ครูบาอาจารย์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเผยแผ่ธรรมกับใคร

สมัยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเผยแผ่ธรรม มันก็มีแต่เดียรถีย์นิครนถ์ทั้งนั้นนะ มันยังไม่มีใครนับถือศาสนาพุทธเลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเผยแผ่ธรรมขึ้นมา เพื่อให้เขามีศรัทธา ให้เขามีความเชื่อของเขา เพื่อให้เขาได้ประพฤติปฏิบัติของเขา นี่ไง ประพฤติปฏิบัติของเขาเพื่อประโยชน์กับเขา แล้วเราประพฤติปฏิบัติเพื่อประโยชน์กับเรา

แล้วเรามีครูมีอาจารย์ เป็นเครื่องยืนยันว่าสิ่งนี้ทำได้จริง ถ้าทำได้จริงเราทำของเรา เราปฏิบัติของเรา เราจะไม่น้อยเนื้อต่ำใจ โอกาสมันสำคัญไง โอกาสที่เราจะมาประพฤติปฏิบัติ การกระทำมันสำคัญอยู่แล้ว ถ้ามันสำคัญขึ้นมานี่ เราทำได้จริง ถ้าเราไม่มีอำนาจวาสนาโอกาสอย่างนี้

ดูสิ มนุษย์มีขนาดไหน ในโลกนี้มีกี่พันล้าน มีใครบ้างเขาจะย้อนกลับมา เอาตัวเขารอดด้วยการประพฤติปฏิบัติ ไม่ใช่เอาตัวรอดแบบโลกๆ เอาตัวรอดเป็นยอดคน ไอ้นั้นมันเห็นแก่ตัว อยู่บนความทุกข์ยากของคนอื่น เอาตัวรอด แต่การเอาใจเรารอดล่ะ นี่การเอาใจเรารอด เอาเป็นความจริงรอด

ฉะนั้นความแตกต่าง.. ความขัดแย้งแตกต่างที่ใจ โลกเขามีความขัดแย้งกันทางโลก มันมีความขัดแย้งอย่างนั้น มันทำให้โลกปั่นป่วน ฉะนั้นความขัดแย้ง ดูสิ ในบ้านเรือนของเรา สิ่งใดที่มันไม่เป็นประโยชน์ สิ่งใดที่มีปัญหา เราพยายามจะทำให้มันเข้าที่เข้าทาง ให้มันเป็นคุณงามความดี นี่ในบ้านของเรานะ

แต่ในใจของเราล่ะ นี่ในใจของเรา ความขัดแย้งในใจของเรามันเป็นการกระทำ ยิ่งมีความขัดแย้ง มีการกระทำ มีความแตกต่าง เพราะถ้าเราไม่เห็นโทษของมัน เราจะปล่อยวางได้อย่างไร เพราะเราเห็นโทษใช่ไหม.. เราถึงวาง เพราะเราเห็นคุณใช่ไหม.. เราถึงประพฤติปฏิบัติ เพราะเราเห็นว่า มันเป็นโทษใช่ไหม สิ่งที่เป็นตัณหาความทะยานอยากมันเป็นโทษ หลอกหัวใจเรา เป็นโทษหลอกหัวใจ แล้วหัวใจดวงนี้ก็เชื่อเขา ! เชื่อเขา.. ตามเขาไปตลอด

แล้วในปัจจุบันนี้ เรามีสติมีปัญญา เรายับยั้ง.. เรายับยั้งใจของเราให้เป็นอิสระ อิสระคือสัมมาสมาธิ อิสระคือเป็นการชั่วคราว แล้วเราใช้ปัญญาของเราขึ้นมา ปัญญาของเรา ให้มันปลดปล่อย สักกายทิฏฐิความเห็นผิด

ถ้าเวลามันละสักกายทิฏฐิ ละความเห็นผิดมันก็เป็นธรรม เป็นธรรมก็สิ่งที่เป็นสัจธรรม เป็นธรรม สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส เพราะมันมีสักกายทิฏฐิ.. ทิฏฐิในกายของเรา ทิฏฐิในตัวตนของเรา ถ้ามีตัวตนของเรา เราใช้ปัญญาใคร่ครวญบ่อยครั้งเข้าๆ จากที่เป็นตทังคปหาน ทำบ่อยครั้งๆ ๆ หน้าที่ของเราทำอย่างเดียว

คนที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมานะ เวลามันปล่อย มันเป็นความมหัศจรรย์ พอปล่อยแล้วมันจะสุขมาก แล้วบอก นี่ใช่ ! นี่ใช่ !

ถ้าว่านี่ใช่... นี้ไม่ใช่ !

ถ้าอย่างนี้ใช่อยู่นะ... ไม่ใช่ ! ไม่ใช่ !

แต่ถ้ามันถึงที่สุดนะมันขาดของมัน มันต่างกัน ต่างจริง มันแยกของมันออกไป ส่วนจริงออกไปเป็นความจริงของมัน ไม่ต้องบอกว่าใช่ ! มันเป็นเนื้อแท้ ! ข้อเท็จจริงของมันเป็นอย่างนั้น ถ้าข้อเท็จจริงเป็นอย่างนั้นนะ ใครก็ค้านไม่ได้ มันเป็นอกุปปธรรมเห็นไหม สัพเพ ธัมมา อนัตตา สัมเพนี่เป็นกุปปธรรม สรรพสิ่งนี้เป็นอนัตตา เป็นกุปปธรรม

โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี อรหันต์นี่มันเป็นอกุปปธรรม อกุปปธรรมคือพ้นจากความเป็นอนัตตา ! มันจะเคลื่อน มันจะเปลี่ยนแปลงอีกไม่ได้ !

ฉะนั้นสิ่งที่บอกนี่ใช่ ! นี่ใช่ ! พอนี่ใช่นี่ เอ๊อะ เอ๊อะ เอ๊อะ พอนี่ใช่ใช่ไหม เดี๋ยวก็ไม่ใช่.. เดี๋ยวก็ใช่ นี่ไง มันถึงจะเป็นสัพเพ ธัมมา อนัตตา มันยังเปลี่ยนแปลงอยู่ นี่กุปปธรรม

“อกุปปธรรม” เราทำถึงที่สุด เรามีความเจริญงอกงามของเรา เราพัฒนาของเรา จนถึงที่สุดมันเป็น อกุปปธรรม ! กุปธรรม อกุปปธรรม

ถ้าเป็นอกุปปธรรมแล้ว มันถึงจะเป็นความจริงขึ้นมา ถ้าใช่ความจริงขึ้นมา มันถึงจะเป็นความจริง

แต่ถ้าปฏิบัตินะ นั้นก็ใช่ ! นี่ก็ใช่ !... ไม่ใช่สักอย่าง ! ไม่ใช่สักอย่างเพราะมันไปตามกิเลสไง แต่ถ้าเราทำของเรานี่ มันนี่ก็ใช่ นั่นก็ใช่

ในการประพฤติปฏิบัติเราก็ต้องหมั่นเพียร ความหมั่นเพียรของเรา เราขยันหมั่นเพียรของเรา มันลองผิดลองถูกไป มันก็ใช่หรือไม่ใช่อย่างนี้ไปเรื่อยๆ มันก็ใช่หรือไม่ใช่ไปเรื่อยๆ การปฏิบัติมันมาจากไหน การปฏิบัติก็มาจากใจที่ล้มลุกคลุกคลาน การปฏิบัติก็เกิดจากจิตของเรา จิตของเราๆ เกิดมาเรามันก็มีกิเลสกันทุกคน

แต่เราก็มีบุญกุศล เพราะเราเกิดมาพบพุทธศาสนา เราเกิดมาพบพุทธศาสนา แล้วเราก็มีความหมั่นเพียร มีความจงใจของเรา เราจะประพฤติปฏิบัติของเรา เราก็เอาจิตของเรา เอาใจของเราที่มีอวิชชา มีความไม่รู้นี่แหละ เพราะความไม่รู้ของเราปฏิบัติไปนี่แหละ

นี่พอปฏิบัติไปนี่ก็ใช่.. โน่นก็ใช่.. เพราะเราไม่รู้ แต่ไม่รู้แล้ว เราต้องมีสติปัญญา ไม่รู้แล้วมีสิ่งใดขึ้นมาไม่เอาๆๆ จะเดินหน้าอย่างเดียว จะเดินหน้าด้วยสติด้วยปัญญา มันจะลึกลับซับซ้อน มันจะละเอียดขนาดไหน มันจะผ่านเข้ามาในใจของเรา

ใจของเรามันจะได้ผ่าน จะได้เห็น ได้พิสูจน์ พอพิสูจน์ขึ้นมาเห็นไหม นี่ประสบการณ์ ถ้าประสบการณ์มันได้ผ่าน ได้พิสูจน์ขึ้นมาแล้วนี่ เราเคยผ่านอย่างนี้มาแล้ว สงบอย่างนี้ใช้ไม่ได้ ถ้าสงบอย่างนี้ใช้ได้ ปัญญาอย่างนี้ใช้ไม่ได้ ปัญญาอย่างนี้ใช้ได้ ประสบการณ์มันจะผ่าน ผ่าน ๆ

เพราะอะไร เพราะความหมั่นเพียร เพราะเรามีสติ เพราะมีปัญญา เพราะมีความหมั่นเพียร เพราะมีความหมั่นเพียร เราพยายามที่จะทำต่อเนื่องของเราไป ต่อเนื่องขึ้นไป ต่อเนื่องขึ้นไป จิตมันจะพัฒนาขึ้นไป มันจะเป็นประโยชน์ของมันขึ้นไป

ทำได้ ! ถ้าเราทำของเราขึ้นไป มันเกิดมาจากไหน ก็เกิดมาจากไอ้ขี้ทุกข์ขี้ยาก เกิดมาจากหัวใจที่มันต่ำต้อย ทุกคนจะบอกว่าตัวเองต่ำต้อย ตัวเองไม่มีโอกาส ครูบาอาจารย์ท่านมีโอกาส

ครูบาอาจารย์ของเรานะ ดูสิ ครูบาอาจารย์ของเราเกิดที่ไหน ลูกชาวนาทั้งนั้นล่ะ ส่วนใหญ่จะเป็นลูกชาวนา แต่เป็นสัมมาทิฏฐิ เพราะพ่อแม่มีโอกาสให้ได้บวช เราเกิดขึ้นมานี่ด้วยปัญญาชน ด้วยสถานะทางสังคม กว่าจะได้บวชแต่ละคนทุกข์ยากน่าดูเลย แต่ครูบาอาจารย์ของเราท่านสร้างบุญกุศลของเรามา ท่านเกิดกับชาวไร่ชาวนา พ่อแม่ส่งเสริมให้บวช ให้บวชขึ้นไปแล้วนี่ มีความเข้มแข็งในหัวใจ ถ้าคนนี้มีความเข้มแข็งในหัวใจ มันมีหลัก มีจุดยืน มีการกระทำ

แต่ถ้าคนอ่อนแอ มักง่าย เอาสะดวก เอาสบาย เอาเยี่ยงไม่เอาอย่าง เอาแต่สิ่งที่เป็นโมฆะบุรุษ โมฆะบุรุษตายเพราะลาภ ตายเพราะเหยื่อ สิ่งที่เป็นลาภเป็นสักการะ ต้องการสิ่งนั้น แต่ถ้าเรามีจุดยืนของเรา เราเกิดเป็นลูกชาวนา ลูกคนทุกข์คนจน แต่เรามีอำนาจวาสนา เราบวชของเรา เรามีจุดยืนของเรา

มนุษย์ ! คนดี.. มันดีที่หัวใจ คนดีมันดี.. ดีที่คุณธรรม มันยืนหลักของมัน แล้วมันปฏิบัติของเรา ปฏิบัติที่ว่านี่ มันมีประสบการณ์ของจิต จิตมันจะพัฒนาของมันออกไป จะทุกข์จะยาก จะทุกข์จะยาก เราจะหาที่ทุกข์ๆ ยากๆ อย่างนั้น เพราะเราอยากจะเผชิญหน้ากับกิเลส เราอยากให้เห็นว่ากิเลสมันซุกซ่อนอยู่ที่ไหน

เวลาสุขเวลาสบายมันยิ้มแย้มแจ่มใส มันหลบซ่อน เวลาเราเผชิญภัยที่ไหน กิเลสอยู่ไหน กิเลสอยู่ไหน มันจะออกมา เกิดกลัวผี กลัวเสือ กลัวช้าง กลัวสิ่งที่สงบสงัด มันจะแสดงตัวออกมา เราอยู่กันนี่คลุกคลี อยู่ที่สุขสบายนี่ กิเลสมันตัวอ้วนๆ มันกินอิ่ม นอนอุ่น มันมีความสุข แต่ถ้าเราปฏิบัติของเรา เราตั้งใจของเรา เราจะทำของเรา

ฉะนั้นเวลาปฏิบัติไป มันจะเห็นความขัดแย้งแตกต่างในจิตของเรา ! จิตของเรามันจะพัฒนาขึ้นมา แต่เพราะเราเกลียดการขัดแย้ง ความแตกต่างที่เราจะไปประสบมัน เราถึงไปตามสัญญาอารมณ์ คิดเอง.. เออเอง.. มักง่าย.. ตรงกระทำตามพุทธเจ้า ตรงพระไตรปิฎก ตรงเปี๊ยะ ! ตรงจริงๆ เลย ! ตรงกิเลสไง แต่ถ้ามันขัดแย้ง ธรรมกับกิเลสกับใจเรามันจะขัดแย้งแตกต่าง เห็นผลประพฤติปฏิบัติ เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข เพื่อความเจริญของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เอวัง