ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ธรรมะตัวอย่าง

๗ พ.ย. ๒๕๕๓

 

ธรรมะตัวอย่าง
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

วันนี้มันเป็นคำถามที่ไม่ใช่คำถาม เพราะว่าคำถามที่เขาถามมา ข้อ ๒๖๓. ใจที่ไม่อิสระ แล้วตอนหลังนี้เขาเข้ามาใหม่ข้อ ๒๖๗. ว่ายกเลิกคำถามนี้ ฉะนั้นยกเลิกก็คือไม่ต้องตอบ ถึงบอกว่าเป็นคำถามที่ไม่เป็นคำถาม แต่เราจะตอบ แต่เราไม่ได้ตอบคำถามนี้ เราตอบเพราะว่ามันเป็นโลกธรรม

ถาม : คำถามนี้บอกว่า เขาพูดถึงว่าเขาอยู่ที่ทำงาน แล้วมีแรงกระทบเสียดสีมาก พอแรงกระทบเสียดสีมาก แล้วเขาก็ไปดูแลไง ดูแลหัวใจของคนรอบข้าง จนลืมดูแลหัวใจของตัว แล้วให้ตัวเองทุกข์มาก พอตัวเองทุกข์มาก แล้วคำถามบอกว่า..

“เพราะทุกข์มากนี่เขาคิดว่าเพราะเขาขาดการภาวนา.. เขาเคยภาวนามา สุดท้ายแล้วพอเขาภาวนาแล้วนี่เขาว่าเขาขาด เขาว่าเขาไม่จริงจัง มันก็เลยทำให้เขาไปแบกหามความทุกข์ของคนอื่น พอเขาแบกหามความทุกข์คนอื่นใช่ไหม นี่คือปัญหาของเขา !”

หลวงพ่อ : แล้วเราบอกว่าปัญหาบางปัญหาที่ถามเข้ามา.. ตอบแล้วตอบเล่า เขาก็พยายามจะเค้นเอาความจริงให้ได้ นี่พูดถึงเวลาคนเขาจะเอาผลประโยชน์ แต่นี้เขาบอกว่า “ปัญหานี้มันเป็นปัญหาส่วนตัว ไม่อยากให้ไปรบกวนคนอื่น เขาเลยยกเลิกคำถามนี้” เห็นไหม

นี่เวลาคนใจเป็นธรรมมันเป็นอย่างนี้.. ใจคนที่เป็นธรรม กลัวแต่เราจะไปกินเวลาคนอื่น กลัวแต่เราจะเป็นภาระคนอื่น แต่ถ้าคนเห็นแก่ตัวจะบอกว่า “ต้องปัญหาของฉัน ! ต้องปัญหาของฉัน ! ต้องเอาให้จบ”

ฉะนั้นพอเขาบอกว่าเขายกเลิกปัญหา เราบอกยกเลิกก็คือยกเลิกไปแล้ว เดี๋ยวจะบอกว่าพระนี่พูดไม่รู้เรื่อง เขายกเลิกไปแล้วก็ยังจะมาตอบอีก.. พระนี่พูดรู้เรื่อง ยกเลิกไปแล้วก็คือไม่ตอบ แต่เราจะตอบเรื่อง “โลกธรรม ๘”

เรื่องโลกธรรม ๘ มันเป็นธรรมะเก่าแก่.. เป็นธรรมะเก่าแก่ ! องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “เป็นธรรมะเก่าแก่” เวลาเราปฏิบัติใหม่ๆ หรือเราปฏิบัติมาแล้วนี่นะ เวลาเราทุกข์เรายากนี่.. เพราะว่าเราอ่านพระไตรปิฎก ในพระไตรปิฎกพระพุทธเจ้าบอกว่า

“ถ้าใครโดนโลกธรรมเสียดสี.. มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ มีคนติฉินนินทา มีคนกลั่นแกล้งรังแกนี่ ให้คิดถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นคนพูดเองบอกว่า “คนที่จะโดนโลกธรรมเสียดสีที่รุนแรงที่สุด ไม่มีใครเท่าเสมอเรา !” ไม่มีใครโดนรังแกเท่ากับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเผยแผ่ธรรม.. นี่เผยแผ่ธรรมเข้าไปในลัทธิที่เขายึดพื้นที่ไว้หมดแล้ว แล้วไปวางศาสนาใหม่นี่ ใครเขาจะให้เข้าไป

ที่เขาจ้างคนมาด่า.. เทวทัตให้นายแม่นธนู ๔ คนไปยิงพระพุทธเจ้า แล้วก็ให้นายแม่นธนูอีก ๔ คนไปยิง ๔ คนที่ฆ่าพระพุทธเจ้า แล้วให้อีก ๔ คนไปยิงอีก ๔ คน เป็น ๑๖ คน นี่ตัดตอน.. ตัดตอน.. ตัดตอนขนาดนี้ นี่พระพุทธเจ้าโดนขนาดนี้นะ พระพุทธเจ้าโดนทุกๆ อย่างเลย แต่พระพุทธเจ้าโดนนั้นมันเป็นเรื่องของการแบบว่าเขาปิดกั้นไม่ให้เผยแผ่พุทธศาสนา เขาปิดกั้นเพราะว่าพอพยายามเผยแผ่แล้วนี่ไปทำลายผลประโยชน์ของเขา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดนรุนแรงมาก

ฉะนั้นโลกธรรม ๘ นี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “เป็นธรรมะเก่าแก่” คำว่าเก่าแก่.. เวลาที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ตรัสรู้ธรรมขึ้นมานี่ ของอย่างนี้มันก็มีอยู่แล้ว

มีลาภเสื่อมลาภ ! คือเราได้มาแล้วก็เสียไป..

สรรเสริญ นินทา ! สรรเสริญ.. คนยกย่องสรรเสริญมันก็มี ใครมีอำนาจทุกคนก็เข้าไปพินอบพิเทาเพื่อสรรเสริญ เห็นไหม

นินทา.. คนที่นินทา คนที่ไม่ได้ประโยชน์เขาก็นินทาของเขา

ของอย่างนี้.. มันเป็นเรื่องประจำใจของสัตว์โลก ! จะมีศาสนาหรือไม่มีศาสนา สิ่งนี้มันมีคู่กับโลก

นี้ธรรมะเก่าแก่ ! ธรรมะเก่าแก่.. องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “เป็นธรรมะเก่าแก่” โลกธรรม ๘ เป็นธรรมะเก่าแก่ มีมาอยู่โดยดั้งเดิม จะมีศาสนาหรือไม่มีศาสนามันก็มีอยู่แล้ว นี้เพียงแต่ว่าพอเราเกิดมานี่ เราเกิดมาในกึ่งพุทธกาล เรามีศาสนาประจำใจของเราด้วย แล้วเราก็ต้องอยู่กับธรรมะที่เก่าแก่

ธรรมะเก่าแก่คือความรู้สึกอย่างนี้มันอยู่กับในหัวใจของสัตว์โลกมาตลอดเวลา มันมีอยู่โดยธรรมชาติของมัน ใครจะไปทำให้มันดีขึ้นหรือเลวลงมันก็มี เพราะมันเป็นจริตนิสัยของคน แล้วเราอยู่กับเขา.. เราอยู่กับเขา เห็นไหม เราอยู่กับเขานี่เรามีหน้าที่รักษาเรานะ ! เรามีหน้าที่รักษาเรา เรามีหน้าที่ป้องกันหัวใจของเรา

สิ่งนั้นมันมี มันเป็นของเก่าแก่ พระพุทธเจ้าบอกว่า “เป็นของเก่าแก่” มันมีอยู่โดยดั้งเดิม นี้เพียงแต่ว่าในเมื่อมันเป็นสังคมใช่ไหม เราจะทำคุณงามความดีได้มากได้น้อยแค่ไหน

ถ้าเราทำความดีของเราได้มาก ถ้าเรามีสติปัญญา เหมือนกับเราเป็นผู้ที่ชักนำเขา เราเป็นที่พึ่งอาศัยของเขา ถ้าเราเป็นที่พึ่งอาศัยนี่เหมือนจิตแพทย์เลย จิตแพทย์เวลารักษาคนไข้ไปนะเขาต้องเปลี่ยนหมอ เพราะหมอมันจะบ้าเองไง

นี่ก็เหมือนกัน เราจะไปเป็นที่พึ่งอาศัยของเขา เรามีจุดยืนแค่ไหน เราจะเป็นเตี้ยอุ้มค่อมไหม ถ้าจิตใจเราอ่อนแอขนาดนี้นะ แล้วเราบอกว่าเราจะไปโอบอุ้มคนนั้น โอบอุ้มคนนี้ เราแนะนำเขาได้.. เราแนะนำเขาได้ถ้าจิตใจเราเข้มแข้ง

แต่ถ้าจิตใจเราไม่เข้มแข็งนะ ดูสิในปัจจุบันนี้เรื่องการฉ้อฉล เรื่องการหลอกลวงกัน เห็นไหม นี่เขาจะหาคนดี.. คนทำบุญเยอะมากนะ เขาปิดชื่อเสียงเขาไม่ให้ใครรู้ ถ้าเขาบอกว่า นาย ก. ทำบุญ ๑๐๐ ล้านนะ นาย ก. นี้อยู่ไม่ได้เลยล่ะ มันจะมีคนหลั่งไหลไปบ้านนาย ก. เลยว่า “ขอบ้าง.. ขอบ้าง.. ขอบ้าง..” คนเดี๋ยวนี้เขาทำบุญนี่เขาทำบุญใต้ดิน เขาไม่มีชื่อ ไม่ออกชื่อ เพราะคนต้องการอย่างนั้น นี่เดี๋ยวนี้โลกมันกลายเป็นจัดฉากไปหมดแล้ว

“ฉะนั้นเวลาเขาทำดีกัน.. เขาทำดีเพื่อความดี !” เห็นไหม

ในปัญหานี้เขาบอกว่า “ในที่ทำงาน จิตใจของคนนี่มันรักษาตัวเองไม่ได้ แล้วเขาไปแบกรับไง คือเขาไปช่วยเหลือไง แล้วพอช่วยเหลือแล้ว ตัวเองก็เลยทุกข์แทนไง”

นี้เพราะว่าเราจะช่วยเหลือเขา เราจะเป็นหลักที่พึ่งของเขา มันก็เห็นตามสมควรเนาะ คนมีกำลังมากกำลังน้อย ถ้ามีกำลังมากเราก็จะเป็นที่พึ่งเขาได้มากขึ้น ถ้ากำลังเราไม่พอ เราก็ต้องช่วยตัวเราด้วย.. ฉะนั้นการช่วยตัวเรานี้ ในพุทธศาสนา เห็นไหม

“อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ.. ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน”

เมื่อก่อนนะ ดูสิ ดูในหลวง เห็นไหม เมื่อก่อนท่านก็ออกไปพัฒนา เดี๋ยวนี้ท่านบอกให้หมู่บ้านนั้นพัฒนาเอง เราให้ปลาเขากับเราให้เครื่องมือจับปลาเขา เราให้ปลาเขากับสอนเขาจับปลา นี้ต่างกัน

นี่ก็เหมือนกัน เราก็ให้ปลาเขา คือเราก็ช่วยเหลือเขา แต่เราก็ต้องสอนให้เขาช่วยเหลือตัวเขาด้วย ถ้าเขาช่วยเหลือตัวเขาได้ใช่ไหม เขาก็จะเป็นที่พึ่งของเขาได้ ถ้าเขาเป็นที่พึ่งของเขาได้นะ เราก็ไม่ต้องไปอุ้มเขาใช่ไหม แต่ถ้าเราไปอุ้มเขา ยิ่งอุ้มเขายิ่งอ่อนแอ ยิ่งอุ้มเขายิ่งช่วยตัวเองไม่ได้ ยิ่งอุ้ม โอ้โฮ.. เรา ก็หนัก เขาก็หนักนะ

ฉะนั้นเราก็ต้องช่วยเหมือนกัน แต่เราก็ต้องดูกำลัง.. ว่าธาตุนะ เวลาเข้ากันโดยธาตุนี่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเลยว่า ลูกศิษย์พระสารีบุตรนี่เข้ากันโดยธาตุ ผู้ที่ชอบพระสารีบุตร ผู้ที่เข้าไปอยู่กับพระสารีบุตร พวกนี้เป็นปัญญาชน ใช้ปัญญามาก.. ผู้ที่ไปเป็นลูกศิษย์ของพระโมคคัลลานะ พวกนี้ชอบฤทธิ์ชอบเดช.. เวลาผู้ที่เข้าไปอยู่กับพระเทวทัต พวกนี้ชอบลามก เห็นไหม มันเข้ากันโดยธาตุ !

ธาตุของคนถ้ามันเข้ากัน.. เหมือนน้ำกับน้ำมันมันเข้ากันไม่ได้.. ความดีกับความชั่วมันเข้ากันไม่ได้.. แต่ถ้าความดีนะเราทำความดีของเรา ถ้ามันโดยธาตุ เขาดีกับเรานี่เขาจะเข้ามา แล้วเขาจะเปลี่ยนแปลงของเขา ให้มันเป็นน้ำกับน้ำมันแยกออกจากกันได้

ถ้ามันแยกนะ.. นี้เพียงแต่ว่าเรายังไม่รู้ว่าเราเป็นน้ำหรือเป็นน้ำมัน เรายังไม่เข้าใจตัวเราเอง เรายังแยกตัวเราไม่ได้ ถ้ามีคนมาชี้นำ ถ้าเราเป็นน้ำหรือเป็นน้ำมันนี่เราแยกได้ชัดเจน เราก็จะไปตามธาตุนั้น คือไปตามความดีนั้น ถ้าเป็นความดีก็ไปเข้าสู่กับความดี

ถ้าเราอยากจะทำความดีมากเลย แต่สังคมไม่มีใครทำความดีเลย เราไม่รู้จะไปอยู่กับใคร แต่พอมันมีสังคมทำความดี โอ๋ย.. สังคมนี้ดี เห็นไหม เราก็อยากจะไปสังคมนี้ อย่างเช่น ! หลวงตา ทุกคนก็อยากจะช่วยชาติ อยากจะทำประโยชน์ แล้วใครจะไว้ใจใคร เวลาหลวงตาท่านมาเป็นผู้นำ ท่านก็สามารถเอาเงินเข้าไปอยู่ในคลังหลวงได้ แต่ถ้าเราทำเองไม่มีสิทธิ เราทำไม่ได้ เราไม่มีโอกาส

ถ้าเราอยากทำคุณงามความดีอยู่ แล้วสังคมนั้นเป็นสิ่งที่ดี เราจะเข้าสังคมนั้นได้ เราจะไปอยู่กับสังคมนั้นได้ สังคมนั้นที่ดี แต่ถ้าเราช่วยแล้วไม่ได้ ไม่ได้ก็ต้องปล่อยวางไง เห็นไหม ธรรมของผู้บริหาร นี่ถึงที่สุดแล้วต้องอุเบกขา ถ้าไม่อุเบกขา ในหลวงพูดถูก “ทำให้เป็นคนดีทุกคนไม่ได้” ไม่สามารถทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้หมด แต่ให้คนดีนั้นปกครองคนชั่ว

นี่ก็เหมือนกัน เราจะบอกทำให้เป็นคนดีไปทั้งหมด หรือทำให้สมความปรารถนาทั้งหมด เรารักคนนี้ ต้องการให้คนนี้เป็นคนดี แล้วก็หวังให้คนนี้เป็นคนดี แล้วถ้าเกิดมีกรรมกันมานะ คนนี้ธาตุเขาเป็นอย่างนั้น เขาก็ต้องเป็นอย่างนั้น แล้วเราปรารถนาดีกับเขา เราเจ็บนะ อู้ฮู.. ปรารถนาดี นี่ทุ่มแล้วทุ่มอีกนะ หมดเงินแล้วหมดเงินมหาศาลเลย แต่เขาก็ไม่ดีมา อย่างนี้เราจะทำอย่างไร

เราช่วยเขาได้ ในฐานะที่พอช่วยเขาได้ แต่ถ้าเขาเป็นอย่างนั้นโดยธาตุของเขา ! แล้วเราคาดหมาย เรานี่ผิด เห็นไหม

ตัณหาความทะยานอยาก.. ตัณหาคืออยากให้ได้เป็นอย่างที่เราต้องการ ถ้าเรามีตัณหา.. นี่มันผิดตรงนี้ไง มันผิดตรงที่เรามีตัณหาคือความอยาก ! อยากให้เป็นไปโดยความปรารถนาของเรา แล้วมันไม่สมความปรารถนา นี่ทุกข์เกิดตรงนี้ !

ทุกข์คือว่าเราปรารถนาดี เห็นไหม โทษนะ.. อย่างพ่อแม่ทุกคนก็ต้องปรารถนาให้ลูกเป็นคนดีหมดแหละ แล้วถ้าลูกเรามันเก๊ มันเกเรเกตุง พ่อแม่เจ็บช้ำไหม พ่อแม่เจ็บไหม.. เจ็บ ! นี่ไง แล้วพ่อแม่ก็ต้องปรารถนาให้ลูกเป็นคนดีใช่ไหม แล้วเราพยายามทำให้ลูกเป็นคนดีใช่ไหม แล้วลูกมันไม่ดีนี่ทำอย่างไร นี่ไงมันเป็นเวรเป็นกรรมนะ แต่เราก็ต้องช่วย เราไม่ทิ้งลูกเราหรอก แต่ถ้าเรารู้อย่างนี้ เห็นไหม เราเปรียบเทียบให้เห็นภาพไง

ฉะนั้นบอกโลกธรรม ๘ มันเป็นธรรมะเก่าแก่.. เขาเป็นของเขาอย่างนั้น เราอย่าไปยุ่งกับเขา เราดูแลของเรา แล้วเรารักษาใจของเรา ถ้าเรารักษาใจของเราได้ เห็นไหม โลกธรรม ๘ ! จะมีพุทธศาสนา ๒,๐๐๐ กว่าปี โลกนี้มันมีมาก่อนหน้านั้น มันมีมาก่อนหน้าที่จะมีศาสนา แล้วมีศาสนามันก็ยังมีอยู่ พอศาสนาสิ้นไปแล้วสิ่งนี้ก็มีอยู่ ในเมื่อยังมีคนอยู่ ยังมีมนุษย์อยู่มันจะเป็นอย่างนี้ มันยังมีอยู่อย่างนี้ตลอดไป

ฉะนั้นถ้ามันมีอยู่อย่างนี้แล้ว นี่โลกธรรม ๘ มันไม่เกี่ยวกับศาสนา มันไม่เกี่ยวกับว่ามีศาสนาหรือไม่มีศาสนาจะเป็นอย่างนี้หรอก มันเกี่ยวกับว่าของมันมีอยู่โดยดั้งเดิม.. ธรรมะเก่าแก่ แล้วเราพยายามรักษาใจเรา เพราะเราเกิดมากับโลกเราต้องอยู่อย่างนี้นะ แล้วถ้าเราภาวนาได้ สิ่งนี้จะเป็นความจริง

อันนี้เห็นไหม นี่เขายกเลิกแล้วนะเนี่ยไม่ให้ตอบ.. ตอบนิดหนึ่ง.. ก็อยากตอบ

อันนี้ดีกว่าเยอะเลย..

ถาม : ข้อ ๒๖๔. เรื่อง “มีกายที่จิตสร้างขึ้นมาหรือเปล่า”

มีกายที่จิตสร้างขึ้นมา อยู่กับกายเนื้อของเราตลอดเวลาหรือไม่ครับ

(นี้คือประสบการณ์ภาวนาของเขา) หลวงพ่อครับ วันหนึ่งในตอนเช้าผมเกิดโทสะขึ้น เป็นแรงอัดขึ้นมาที่กลางหน้าอก แต่ผมก็เฉยๆ ไม่ได้ทำอะไรตอบสนองไป พอสายๆ แล้วก็มานั่งสมาธิ จะพิจารณาว่า “เพราะอะไรเราจึงโกรธ”

ดูกายด้วยตา มันก็ไม่เห็นว่าส่วนใดที่มันจะสร้างความโกรธได้ นั่งสมาธิแล้วน้อมเข้าไปเอากระดูกออกให้หมด แล้วกรีดตั้งแต่ศีรษะลงมาถึงทวาร มีอวัยวะเหลวๆ ไหลกองอยู่บนเก้าอี้ เป็นที่น่าอเนจอนาถ นานๆ ไปอวัยวะเหล่านั้นก็แห้งเกรอะกรัง มีฝูงนกมาจิกกิน แต่อวัยวะข้างในมันก็อยู่เฉยๆ มันไม่มีอะไรก่ออารมณ์โทสะแต่อย่างใด

ผมก็จนใจ ไม่รู้ว่าโทสะมันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร จึงเลิกพิจารณา แต่กำหนดรู้ลมหายใจที่กระทบบริเวณปลายปากและจมูกต่อไปเรื่อยๆ พอดีเดินผ่านที่โต๊ะทานข้าว เห็นขวดซอสปรุงรสวางอยู่บนโต๊ะ (นี่ธรรมมันเกิด) จิตนี้นะครับเห็นว่าเป็นเหมือนตัวเราหยิบขวดซอสแล้วเดินไปเก็บที่ครัว แล้วเกิดสุขเวทนา เพราะพอใจที่โต๊ะกินข้าวสะอาดเรียบร้อย

ผมก็งงๆ แล้วมานั่งที่เก้าอี้ ข้างเก้าอี้ก็มีแก้วน้ำเย็น พอตามันเห็นเท่านั้น กายที่ผมกล่าว มันก็ฉวยแก้วน้ำขึ้นมาดื่ม แล้วปรุงออกมาเป็นความสุขเวทนาที่ได้ดื่มน้ำเย็นๆ ขอเรียนถามหลวงพ่อว่า

๑. กายแบบนี้มีจริงหรือไม่ครับ.. ในความรู้สึกผม ผมเห็นชัดเจนจริงๆ แต่รู้ว่าน่าจะเป็นจากผลที่จิตปรุงแต่งขึ้นมา เพราะรูปร่างหน้าตามันเหมือนตัวผมในปัจจุบัน เหมือนเป็นรูปร่างหน้าตาที่จิตมันปรุง จึงหล่อเหลาเหมือนเอาส่วนดีๆ ของอดีตเรามาปรุงขึ้นมาเป็นกายนี้

ถ้ากายแบบข้อที่ ๑ ..

๒. กายนี้มันมีครบ ๕ ขันธ์ด้วยใช่ไหมครับ รูปมันก็มีจริงๆ แต่เกิดจากจิตปรุงขึ้นมา ต่างจากรูปที่พ่อแม่ให้เรามา เพราะมันเป็นเนื้อเป็นหนัง เป็นรูปธรรม

๓. ขันธ์ ๕ ของกายนี้ มันเปลี่ยนแปลงไปตามการกระทำของรูปกายภายนอก ที่เรากระทำลงไป แล้วดูดซับเป็นสัญญาไว้ในกายนี้ใช่ไหมครับ

 

หลวงพ่อ : คือเขามีอารมณ์กระทบ แล้วเขาภาวนาอยู่ แล้วมันเกิดภาพไง ถ้าอย่างนี้นะ ถ้าเป็นอภิธรรมนะเขาบอกว่า “นี่จิตหลอน.. พวกพุทโธมันจะเกิดนิมิต..” เขาจะบอกว่าเป็นนิมิตไง

สิ่งนี้เป็นนิมิตใช่ไหม.. ก็จริงอยู่มันเป็นนิมิต แต่เวลาเราภาวนาไป แล้วเวลาธรรมเกิด.. ธรรมเกิด.. แต่ธรรมอันนี้เกิดมันเกิดที่เห็นใช่ไหม นี่มันทุกข์มาตลอด เราจะบอกว่า สิ่งที่จะเกิดมันต้องมีความสมดุลของมัน ดูอย่างเช่นฝนจะตกสิ ฝนจะตกนี่มันต้องมีเมฆ มันต้องมีอากาศแปรปรวนใช่ไหม มันพัดเอาก้อนเมฆนั้นมา สะสมก้อนเมฆนั้นมันถึงเกิดเป็นฝนขึ้นมาได้

จิตของเรานี่เวลามันโกรธ.. แล้วมีสติปัญญา เห็นไหม โกรธแล้วเรายับยั้งไว้ได้ แล้วพอภาวนาต่อเนื่องกันไป.. ต่อเนื่องกันไป.. มันก็เหมือนเวลาพายุมันจะเกิด ถ้าพายุมันจะเกิดนะอากาศมันจะเปลี่ยนแปลง มันจะมีลมมีฝน เห็นไหม นี่พอมันเกิดมันมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นมา

ทีนี้พอมันมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นมา จิตมันกำหนดพุทโธไปด้วย.. พุทโธไปด้วยนี่นะ เห็นเหมือนกายเรา ! เห็นเหมือนกายเรา มันก็เหมือนเวลาพวกเราเดินจงกรม เห็นไหม เราพิจารณากาย.. พิจารณากาย.. จนเห็นโครงกระดูกเดินอยู่ต่อหน้าเรา เคยเห็นไหมเวลาเราเดินจงกรมอยู่ มันมีโครงกระดูก มันมีเห็นนู้นเห็นนี่ นี่มันเห็นได้

การเห็นได้อย่างนี้มันเป็นนิมิตไหม... เป็น ! แต่นิมิตนี้ ถ้ามันนิมิตไม่จริงมันก็หลอก ความภาพหลอกภาพหลอนมันก็มี.. แต่ภาพหลอนนะ ภาพหลอนนี่เราดูไปแล้วมันสะเทือนใจ มันแบบว่าวูบวาบ แต่ถ้าเป็นความจริงนะ นี่เวลาหลวงปู่มั่นท่านพูดกับพระมหาเถระใช่ไหม

“หลวงปู่มั่น.. ท่านอยู่ของท่านในป่านี่ท่านมีอะไรเป็นที่พึ่ง เราอยู่กับตำรับตำรานี่เรายังงงเลย”

หลวงปู่มั่นบอก “ผมฟังธรรมทั้งวันทั้งคืนเลยครับ.. ผมฟังธรรมทั้งวันทั้งคืนเลยครับ”

นี้ก็เหมือนกัน จิตเวลาภาวนานี่ อารมณ์โกรธ เห็นไหม เรามีอารมณ์โกรธ เรามีความทุกข์ เราพยายามค้นหาความโกรธ เราพยายามค้นของเรานั่นล่ะ เราไม่รู้ว่ามันมีที่ไหนเพราะอะไร เพราะสิ่งนี้.. นี่ปัญญาของเรามีเท่านี้ไง เพราะความโทสะนี้มันไม่เกิดจากร่างกายหรอก มันเกิดจากจิต เกิดจากจริตนิสัย

ทีนี้โทสะมันเกิดขึ้นมานี่ ทุกอย่างเกิดจากจิต พอเกิดจากจิต แล้วความคิดเรานี่เกิดจากจิตไม่ใช่จิต... ความคิดเราเกิดจากจิตไม่ใช่จิต ! แต่เวลาเราภาวนาไป จิตมันสงบเข้าไปแล้วนี่ ถ้าปัญญามันเกิดมันเกิดจากจิต ! มันเกิดจากจิตเพราะความคิดไม่ใช่จิตนะ..ความคิดไม่ใช่จิต ดูสิเวลาเราคิดนี่ เวลาเราคิดโดยโลกนี่เขาเรียกว่าคิดโดยวิทยาศาสตร์ มันมีที่มาที่ไป มันมีข้อเท็จจริงของมันทางวิชาการ

ฉะนั้นทางวิชาการมันอยู่ที่ไหน อยู่ในตำราใช่ไหม ฉะนั้นถ้ามันอยู่ในตำรา เวลาเราคิดเราต้องเปรียบเทียบกับตำราใช่ไหม เปรียบเทียบทฤษฏี เห็นไหม ถ้าเปรียบเทียบทฤษฏีนี่คือคิดจากข้างนอกใช่ไหม มันไม่ได้คิดมาจากใจใช่ไหม.. นี่เราคิดต่างๆ จะทฤษฏีอะไรก็แล้วแต่ มันเป็นทฤษฏีที่จิตนี้เทียบคิดขึ้นมา.. สัญญาขึ้นมา.. มันไม่ใช่จิต !

พอมันไม่ใช่จิต นั่นล่ะเวลาจิตมันคิดขึ้นมา เวลาต่างๆ ขึ้นมา สิ่งนี้ที่เราว่าเป็นโลก ที่ว่าเป็นวิทยาศาสตร์ ทีนี้พอมันทุกข์ขึ้นมา เวลามันทุกข์ มันมีข้อมูลขึ้นมานี่ มันก็เพราะอะไรล่ะ คนเรานะมันบ้า ๕๐๐ จำพวก.. ถ้าเราบ้าอะไรก็แล้วแต่ แล้วเวลาใครมาแตะของเรานี่ เราจะมีความทุกข์ทันทีเลย

ของนี้เป็นของที่คนนี้ๆ รัก ใครไปแตะต้อง คนๆ นั้นก็ต้องมีความเสียใจ แต่ถ้าคนๆ นั้นไม่รัก แล้วไปทำลายเขา นี่เขายกให้เลย เขาไม่เอา.. นี่ไง คำว่าบ้า ๕๐๐ จำพวก คือความผูกพันของจิต ๕๐๐ อย่าง ใครไปสะกิดตรงที่มันผูกพันมันก็โกรธ มันก็กระทบเป็นธรรมดา

ฉะนั้นสิ่งที่มันโกรธนี่มันเกิดขึ้นจากตรงนั้น ร่างกายมันโกรธไม่ได้ ฉะนั้นเราพิจารณาร่างกายนี่มันเป็นธรรม ! เป็นธรรมหมายถึงว่า ถ้าเราพิจารณา.. นี่มันพิจารณาเอาร่างกายนี้มาผ่า แล้วเหลือแต่อวัยวะเหลวๆ พอมันแห้งเกรอะกรังไป นี้คือการพิจารณาแล้ว มันทำให้จิตฝึกหัด พอจิตมันฝึกหัดกับการกระทำอันนั้น พอฝึกหัดแล้วนี่มันเป็นแบบฝึกหัด

แบบฝึกหัดใช่ไหม ! พุทโธ ธัมโม สังโฆ นี่เป็นแบบฝึกหัดทั้งนั้นเลย.. ปัญญาอบรมสมาธิ ใช้ปัญญานี่เป็นแบบฝึกหัดของจิต ! ถ้าจิตมันได้ฝึกหัดใช่ไหม พอมันได้ฝึกหัด มันได้ปล่อยวางจากสิ่งนั้นเข้ามา มันจะเป็นอิสระเข้ามา.. พอมันเป็นอิสระเข้ามา เห็นไหม เพราะเวลาเราโกรธเราไม่รู้ว่าเราโกรธ

แต่เวลาเรากำหนดพุทโธ พอเราพิจารณากายของเรานี่ พอพิจารณาไปแล้วโทสะมันไม่มี สิ่งใดๆ มันไม่มี คำว่าไม่มี.. นี่แบบฝึกหัดนี้มันตอบสนองไม่ถึงจิตไง ! แบบฝึกหัดนี้มันเหมือนเราคิดโดยวิทยาศาสตร์ คิดโดยทฤษฏี แต่ข้อมูลความจริงมันอยู่ที่ใจ !

ทีนี้ข้อมูลความจริงมันอยู่ที่ใจ นี่จิตมันสงบเข้ามา พอสงบเข้ามาแล้วนี่มันเป็นเอกเทศของมัน มันถึงเห็นภาพอย่างนี้ไง พอมันเห็นภาพนี่ มันเห็นภาพเหมือนร่างกายเราเดินมา ร่างกายเราได้กินนู้นได้กินนี่ เห็นไหม แหม.. อิ่ม.. สุขใจมากเลย

มันเกิดขึ้นมาโดยข้อเท็จจริงของใจที่มันเป็นไป แล้วไม่ได้เป็นทุกคน แล้วไม่ได้เป็นเหมือนกัน แล้วไม่ได้เป็นแล้วจะเป็นเล่า เป็นแล้วจะเป็นซ้อนอีก เพราะมันเป็นปัจจุบัน มันมีได้หนเดียว ! ถ้าอนาคตข้างหน้าถ้ามันเป็น มันก็เป็นแบบปัจจุบันข้างหน้านั้น.. นี่ปัจจุบันธรรม !

ถ้าปัจจุบันธรรมแล้วมันได้ประโยชน์อะไรกับเราล่ะ มันได้ประโยชน์กับเรา เห็นไหม มันให้เรานี่ค้นหาว่าโกรธมันมาจากไหน! ร่างกายกับจิตใจมันต่างกันอย่างไร !

ถาม : ข้อ ๑ . กายแบบนี้มีจริงหรือไม่...

หลวงพ่อ : นี่คนเห็นคือมันเห็น แล้วมาถามคนไม่เห็น.. ไอ้คนที่เห็นว่ามันมีหรือไม่มีนี่คนนั้นเห็น แล้วเห็นเฉพาะคนๆ นั้น เหมือนเรานั่งกันอยู่ ๒ คน คนหนึ่งจิตตกเห็นผี ไอ้คนที่นั่งด้วยกันไม่เห็นนะ นั่งอยู่ด้วยกัน ๒ คน คนหนึ่งเห็น.. อีกคนหนึ่งไม่เห็น เห็นไหม

นี่ก็เหมือนกัน เวลาจิตของเรานี่เป็นคนเห็น.. นี่กายแบบนี้มีจริงหรือเปล่า.. กายแบบนี้มันเป็นกายนามธรรม ! ธรรมนะ.. หัวใจเรานี่เห็นไหม เวลามันสงบสงัด มันระงับเข้ามา พอระงับเข้ามาแล้วมันมีความชุ่มชื่นของมัน มันเห็นไป.. มันเคลื่อนไหวไป

แล้วไปหยิบซอส หยิบน้ำเย็นอะไรนี่ อันนี้มันเหมือนกับ “ทุกข์ควรกำหนด” ถ้าสุข เห็นไหม สุขเราก็เสวย จิตมันปล่อยวางเข้ามา มันเป็นอิสระเข้ามา แล้วมันแสดงออกมาอย่างนี้.. มันแสดงออกเป็นอย่างนี้ ! แล้วแสดงออกนี่มันแสดงออกได้หลายๆ วิธี มันแสดงออกได้หลายๆ อาการ

อาการของใจที่มันแสดงออกนี่ พอมันแสดงออกแล้วมีความสุขไหมล่ะ.. มันมีความสุขจนตื่นเต้น จนไม่เข้าใจว่าจิตมันมีหรือไม่มี.. กายซ้อนกายไง กายแต่งได้ไหม.. ไม่หรอก !

การจะพิจารณากายนะ “กายที่จิตสร้างขึ้น” ถ้าพูดอย่างนี้มันก็มีส่วน “กายที่จิตสร้างขึ้น” มันไม่ได้สร้างขึ้นหรอก มันเป็นภาพแล้วมันก็หายไป แล้วเวลาเราทำบุญกัน บุญนี้ที่เป็นโลกและเป็นทิพย์..

สิ่งที่เป็นทิพย์นี่กายสร้างขึ้น ดูทิพย์สมบัติสิ.. คำว่าทิพย์สมบัตินะ โลกเขายังไม่เชื่อกัน ทีนี้โลกไม่เชื่อกัน มันไม่ต้องบอกให้ใครพิสูจน์ พูดไปมันสองไพเบี้ย จิตของเราเราต้องพิสูจน์ของเราเอง.. เราต้องพิสูจน์ของเรา เรากระทำของเรา ถ้าเราเห็นได้อย่างนี้ มันก็เป็นอำนาจวาสนาของเรา

ถาม : อยู่กับกายเนื้อของเราเอง กายที่จิตสร้างขึ้น อยู่กับกายเนื้อของเราตลอดเวลาใช่หรือไม่ครับ

หลวงพ่อ : กายกับจิต.. ประสาเราว่ามันไม่มีอย่างนั้นอีก ถ้าบอกยืนยันว่ามันเป็นจริงนะ เราก็อยากได้ภาพนี้อีก เราอยากจะให้มีกายทิพย์ที่สร้างขึ้นนี้เรื่อยๆ มันไม่มีหรอก.. มันสมดุลอย่างไร มันจะเกิดขึ้นอย่างนั้น

ดูภูมิอากาศสิ อากาศเช้า สาย บ่าย เย็น เห็นไหม นี่อุณหภูมิมันแตกต่างกัน เวลาแดดร้อน พยับแดดนี่ บนถนนหนทางขับรถไปมีพยับแดดเพราะอะไร เพราะอุณหภูมิมันร้อน

นี่ก็เหมือนกัน อุณหภูมิของจิต จิตเราได้ครอบคลุมอย่างไร ได้รักษาอย่างไร ถ้ามันได้รักษาของมัน ถ้ารักษาของมันนะ จิตมันอุณหภูมิระดับนี้ เวลาอุณหภูมิระดับนี้เราไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร อุณหภูมินี้ก็เปลี่ยนแปลงมันไป.. อุณหภูมิระดับนี้ ความร้อนระดับนี้ ถ้าเราหุงหาอาหารนะ เราหุงหาอาหารนั้นสุก

จิตระดับนี้ ! จิตที่ต้องการสัมมาสมาธิ.. จิตที่ต้องการพลังงาน.. ถ้าจิตมันสงบเข้ามา แล้วรักษาอุณหภูมิ ดูสิพลังไฟฟ้าร่วม แม้แต่ความร้อนเขายังเอามาทำไฟฟ้า เห็นไหม ไฟฟ้าซ้ำซ้อนเลย นี่ไฟฟ้าโดยพลังงานความร้อน สะสมพลังงานความร้อนนี้มาทำไฟฟ้าอีกชั้นหนึ่ง

จิตเวลามันมีความสงบแล้ว.. ถ้าเราออกใช้ด้วยปัญญา มันจะเกิดผลมากกว่านี้ นี่พลังงานไฟฟ้า พลังงานความร้อนมันมี ถ้าจิตมันพัฒนาขึ้นมาแล้วนี่มันเห็นของมัน

แล้วเห็นนี่เพราะอะไร เพราะบางคนทำความสงบของใจ บางคนสงบเฉยๆ สงบแล้วไม่มีสิ่งใดเลย.. บางคนจิตสงบแล้วเห็นนิมิต เห็นต่างๆ ไอ้อย่างนี้มันเป็นโดยธาตุ มันเป็นโดยจริตนิสัย มันเป็นโดยบุญกุศลของจิตแต่ละดวง มันจะให้มันเหมือนกันไม่ได้

ฉะนั้นของเรามันเป็นอย่างนี้ เห็นไหม เราเป็นผลไม้ชนิดหนึ่ง เราเห็นผลไม้ชนิดอื่นที่มีคุณค่ากว่า เราอยากจะเปลี่ยนเราให้เป็นผลไม้ชนิดอื่น แล้วเราเป็นไปไม่ได้หรอก อาหาร.. ใครเคยชอบกินอาหารอย่างไร อาหารสิ่งใดคนนั้นกินแล้วอร่อย แล้วเราบอกว่าเห็นคนอื่นกินอาหารอย่างอื่นอร่อย เราจะเปลี่ยนไปกินอาหารอย่างอื่นที่เขาว่าอร่อย แล้วเราไม่อร่อยเลย

นี่ก็เหมือนกัน เราเป็นผลไม้ชนิดนี้ เราจะบอกว่าจิตที่มันเป็นอย่างนี้ มันเป็นเพราะคุณสมบัติของมัน ! คุณสมบัติหมายถึงว่า.. คุณสมบัติจิตใต้สำนึกบุญกุศลมันเป็นอย่างนี้ มันมีของมันอยู่ แต่มันจะไม่เกิดขึ้นมาหรอก !

ผลไม้ชนิดนี้มันมีคุณค่าของมัน มันดีของมันอยู่แล้วแหละ แต่เพราะความไม่เข้าใจ เราไม่เข้าใจว่าผลไม้ของเรามีคุณค่า เห็นไหม เราเปรียบตัวเราเป็นผลไม้ แล้วเปรียบคนอื่นเป็นผลไม้เหมือนกัน เราจะเอาตัวเรานี่เปลี่ยนผลไม้ของเราให้เป็นเหมือนคนอื่นไง

ฉะนั้นถ้าเรารู้คุณค่าของมันใช่ไหม คุณค่านี้มันก็อยู่ในใจของเรา แต่ผลไม้นี้มันแสดงตัวออกมาต่อเมื่อ ! ต่อเมื่อ เรากำหนดลมหายใจ เห็นไหม เรามีโทสะ มีความโกรธ แล้วเราพิจารณากายของเรา พิจารณากายนี่ เราแยกแยะกายของเราจนมันกลายเป็นอวัยวะเหลวๆ

นี่ไง เพราะมันมีการกระทำ พอมีการกระทำแล้วผลไม้ชนิดนั้นมันถึงแสดงตัวออกมา เพราะมันมีการกระทำ สิ่งที่เป็นจริตนิสัย สิ่งที่เป็นอำนาจวาสนา มันจะแสดงตัวออกมา ถ้ามันแสดงตัวออกมา นี่มันเป็นโดยข้อเท็จจริง ! ถ้าข้อเท็จจริงเป็นอย่างนั้นแล้ว มันจะไม่เป็นอย่างนี้อีก

มันจะเป็นอย่างนี้ได้ต่อเมื่อเราภาวนาของเรา เรากำหนดลมหายใจของเรา เราอยู่ที่ปลายจมูกต่อเนื่องกันไป.. ต่อเนื่องกันไป จนจิตมันเป็นของมันไป อย่างนี้มันเป็นผลไม้หมายถึงว่า มันเป็นธรรมชาติ มันเป็นโดยข้อเท็จจริง แต่ ! แต่เราไม่มีสติ ไม่มีปัญญา ไม่สามารถควบคุมได้

แต่ถ้าเราตั้งสติ พุทโธ พุทโธ พุทโธ ถ้าจิตของเราสงบเข้ามา เห็นไหม เราทำโดยของเรา เหมือนเราทำงานนี่ เราทำงานโดยของเรา เราทำงานโดยหน้าที่ของเรา เราควบคุมได้หมด เราบริหารจัดการได้หมด นี้พอบริหารจัดการได้หมด มันถึงเป็นสมถกรรมฐาน.. วิปัสสนากรรมฐานต่อเนื่องกันขึ้นไปไง

การทำอย่างนี้มันทำโดยพื้นฐาน ! โดยพื้นฐานโดยปกตินี่คนเกิดมามีหัวใจ มีความรับรู้ มีความรู้ดีรู้ชั่วทั้งนั้นแหละ ก็รู้ดีรู้ชั่วโดยสามัญสำนึก เห็นไหม มันมีสติ มันมีสมาธิโดยสามัญสำนึก แต่มันไม่พอเป็นอริยภูมิไง ถ้าพอเป็นอริยภูมินี่มันต้องทำสมาธิมากขึ้น พอทำสมาธิมากขึ้นปั๊บ เราใช้ปัญญามากขึ้น พอมากขึ้นไปแล้วมันก็เป็นสมถกรรมฐาน.. วิปัสสนากรรมฐาน

ที่ว่าเป็นปัญญาๆ นี่ปัญญาเกิดขึ้นมาจากการฝึกฝน ปัญญาเกิดขึ้นมาจากจิต ปัญญาเกิดขึ้นมาจากเรา แต่ตอนนี้เราไปจำธรรมะพระพุทธเจ้ามา ! นี่พุทธพจน์ว่าอย่างนั้น.. ต้องทำให้เหมือนอย่างนั้น.. มันเป็นแบบฝึกหัด ! เราจะเอาแบบฝึกหัดเป็นสมบัติของเรา แต่เราไม่ได้ฝึกตัวเราเองให้มันทำขึ้นมาเป็นเลย

ถ้าเราทำตัวเราขึ้นมาเป็น นี่แบบฝึกหัดของพระพุทธเจ้าบอกแล้ว สติปัฏฐาน ๔ เป็นอย่างนี้ ! อริยสัจเป็นอย่างนี้ ! นี่ข้อเท็จจริงเป็นอย่างนี้ ! แล้วเราทำของเรา เราฝึกหัดตัวเราขึ้นมา มันก็เหมือนเราทำของเราขึ้นมา ไม่ใช่ทำแบบฝึกหัด แต่มันเป็นจริงของมันขึ้นมา พอมันเป็นจริงขึ้นมา เห็นไหม มันก็แสดงออกมา

พอมันแสดงออกมาแล้วมันก็เป็นผลออกมา ถ้าเป็นผลออกมาแล้วนี่.. เพราะถ้ามันเป็นอย่างนี้ ที่เราตอบนี่เราตอบเป็น ๒ ประเด็น

ประเด็นหนึ่งถ้าตอบว่า “นี้ถูกต้อง.. นี้ดีงาม” อภิธรรมจะบอกว่า “นี่พระป่าเป็นอย่างนี้.. พุทโธ พุทโธแล้วเกิดนิมิตอย่างนี้.. พอเกิดนิมิตก็ติดนิมิตกัน.. นี่มันเป็นสมถะ.. มันไม่เกิดปัญญา” มันเตะหมูเข้าปากหมานะ เข้าทางนี้ก็โดนทางนี้แก๊กกัน เข้าทางนี้ก็โดน คือมันโดนเขาปิดหมดไง ออกทางนี้ก็ไม่ได้ ออกทางนี้ก็ไม่ได้

มันเป็นตามข้อเท็จจริงนั้น.. เราจะบอกว่าผู้ที่ปฏิบัติ มันเป็นประสบการณ์ของจิตแต่ละดวงไม่เหมือนกัน เห็นไหม ครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติเป็น ที่ท่านเป็นครูบาอาจารย์ของเรา เหมือนครูสอนนักเรียนเลย นักเรียนในห้องแต่ละคน นิสัย ความฉลาดหลักแหลมของเด็ก ไม่มีเหมือนกันซักคนหนึ่งเลย แล้วครูนี่จะดึงความสามารถของใครออกมาให้มันได้มากแค่ไหน

นี่ก็เหมือนกัน ในการประพฤติปฏิบัติของจิตแต่ละดวงมันไม่เหมือนกันเลย นี้คนกำหนดพุทโธเหมือนกันหมด แต่ไม่เหมือนกันเลย แล้วเวลามันทำเป็น เวลาจิตมันแสดงออกมา จิตมันมีอาการออกมาแล้ว มันเป็นอย่างไร

ฉะนั้นพอมันเป็นอย่างนี้แล้วนี่ เราจะบอกว่า สิ่งที่ปฏิบัติมาแล้ว มันเป็นประสบการณ์ของผู้ถามนี้คนเดียว นี้เพียงแต่เวลาพูดนี่เพื่อประโยชน์ของคนอื่น คือว่าคนอื่นเขาทำแล้วเขาเอาไปเป็นคติธรรม เอาไปเป็นตัวอย่างที่เขาจะได้ปฏิบัติบ้างเท่านั้นเอง

ฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นมาเฉพาะผู้ถามเป็นอย่างนี้ แล้วผู้ถามมันก็ผ่านไปแล้วใช่ไหม พอผ่านไปแล้วนี่ “กายที่เป็นจิตอย่างนี้มีไหม” ถ้ามันเห็นกายตามความเป็นจริงนะ ถ้าเห็นกายจริงๆ นี่มันจะเห็น ! เห็นแล้วมันอย่างนี้.. เราไปในสังคมนี่เราเห็นคนทั่วไปไหม.. เห็น ! แล้วคนทั่วไปกับเราเป็นอย่างไร

นี่ก็เหมือนกัน “กายนอก.. กายใน” กายนอก.. เราเห็นกายนอกเคลื่อนไหวอย่างนั้น มันเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าจิตมันสงบนะ จิตมันเป็นจิตนะแล้วเห็นกายใน เราเห็นมนุษย์ เราเห็นคนทั่วไปในสังคมไหม.. เห็น ! เราอยู่ด้วยกันเพื่อเป็นสังคมใช่ไหม แต่เขากับเรานี่มีความสุข ความทุกข์ร่วมกันได้ไหม

นี่มันก็อยู่ด้วยกันเพื่อเป็นสังคมเท่านั้น แต่ความสุข ความทุกข์มันอยู่ที่ใจของเรา ถ้าจิตมัน พุทโธ พุทโธ ถ้ามันสงบมากกว่านี้ ไอ้กายที่เวลาเราเห็นกาย สติปัฏฐาน ๔ กายานุสติปัฏฐานนี่ เวลาจิตมันสงบแล้วมันเห็นนะ เห็นแล้วมันสะเทือนหัวใจ

แต่อันนี้เห็นใช่ไหม เห็นแล้วมีความสุขมาก.. เห็นขวดซอส เห็นโต๊ะนี่ แหม.. มีความสุขมาก เห็นแก้วน้ำเย็น ได้ดื่มน้ำเย็นก็ยิ่งมีความสุขใหญ่เลย มันก็เหมือนกับถ้ามันเป็นอารมณ์ก็ได้ใช่ไหม เรานั่งอยู่นี่ แล้วเราคิดว่าเราได้ทำอย่างนั้นมันก็มีความสุข

แต่นี่ความสุข เห็นไหม แต่ถ้าจิตมันสงบมันมากกว่านั้น ! เหมือนกับจิตเราสงบแล้ว เวลาพิจารณาอะไรนี่มันจะทะลุทะลวง คือว่ามันจะปลอดโปร่งมาก แต่เวลาเราคิดโดยสามัญสำนึกเรานี่ คิดแล้วคุณภาพมันไม่เหมือนกัน ฉะนั้นถ้าจิตมันสงบแล้วก็เป็นอย่างนั้น

นี้โดยพื้นฐาน.. จะบอกว่ามันภาวนา... นี่ถูกต้อง ! ถูกต้องเฉพาะของเขา แต่ที่พูดไว้ก่อนเลยนี่เพราะมันเป็นนิมิต มันเป็นสิ่งที่เห็น อภิธรรมบอกว่า “นี่มันติดอีกแล้ว.. พุทโธนี่น่ากลัวมาก.. มันจะติดนิมิต มันจะติดไปหมดเลย”

ก็มันมีจริงให้ทำอย่างไรล่ะ ! แล้วคนที่ไม่มีนิมิตทำอย่างไร คนที่ไม่มีนิมิตก็คือเขาไม่มี แต่ถ้ามีก็แก้ตามมี ก็เหมือนกับนี่ โทษนะ.. เราเป็นคนแขนเดาะ กระดูกมันไม่ตรง มันไม่ตรงก็คือไม่ตรง ถ้าคนแขนตรงก็คือแขนตรง แล้วมันต่างกันไหมล่ะ เห็นไหม เวลาคนแขนคอกเพราะอะไร เพราะเรามีอุบัติเหตุใช่ไหม พอเสร็จแล้วแขนเราก็คอก แล้วเราบอกไอ้คนแขนคอกนี้ผิด แล้วมันผิดอย่างไรก็เรามีอุบัติเหตุ แล้วคนที่แขนเขาปกติล่ะ..

จิต ! จิตแต่ละดวงมันมีจริตนิสัยของมันมาแตกต่างกัน จะให้เหมือนกันหมด ไม่มี !.. ไม่มีหรอก ! ฉะนั้นถ้าเกิดจิตมันเป็นนิมิตก็เหมือนกับคนแขนคอก ก็มันล้มมา แล้วพอทำแล้วกระดูกมันไม่ตรงก็เลยเป็นอย่างนี้ ทำอย่างไร อ้าว.. มันก็ทำงานได้

จิตเป็นนิมิตเราก็แก้ตามนั้นไป ทีนี้เราก็ดึงให้มันเป็นประโยชน์ขึ้นมา ถ้าเขาไม่มีนิมิต จิตเขาเป็นปกติ แขนเป็นปกติ เรียบร้อยหมด อ้าว... จิตสงบไปเฉยๆ สงบโดยไม่มีนิมิตก็เยอะ ! มันอยู่ที่จิตนั้น มันไม่ใช่อยู่ที่แบบฝึกหัด.. ไม่ได้อยู่ที่แบบฝึกหัด แบบฝึกหัดนั้นฝึกหัดเพื่อให้ทำงานเป็น แล้วพอทำงานเป็นแล้วก็คือทำงานเป็น

นี่พูดถึงข้อที่ ๑ นะ..

ถาม : ๒. กายนี้มันมีครบขันธ์ ๕ ใช่ไหมครับ รูปมันมีจริงๆ แต่เกิดจากจิตปรุงแต่ง ต่างจากรูปที่พ่อแม่ให้มา เพราะมันเป็นเนื้อหนังมังสา

หลวงพ่อ : ไม่ใช่หรอก.. ขันธ์ ๕ มันอยู่ที่เรา ขันธ์ ๕ มันแบ่งเป็นสองไม่ได้ ขันธ์ ๕ นี่นะ มันมีขันธ์ ๕ นอก ขันธ์ ๕ ใน.. อย่างอายตนะนี่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เห็นไหม นี่อายตนะภายใน อายตนะภายนอก

อายตนะภายใน คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใช่ไหม.. อายตนะภายนอก คือรูป รส กลิ่น เสียงมากระทบกับตา หู จมูก ลิ้น กาย ใช่ไหม แล้วอายตนะภายใน อายตนะ ๖ อายตนะ ๑๒ อายตนะเห็นไหม นี่มันกระทบจากภายใน

ฉะนั้นกายนี้มันมีขันธ์ ๕ ครบไหม.. ไม่มี ขันธ์ ๕ มันอยู่ที่เรา ! กายนั้นเป็นอาการของใจ มันจะมีขันธ์ ๕ ได้อย่างไร ถ้ามีขันธ์ ๕ ก็คนสองคนน่ะสิ คนนี้นั่งอยู่นี่ใช่ไหม แล้วเห็นเราอยู่ยืนอยู่นู้น นั่นก็มีอีกคนหนึ่งหรือ ไม่ใช่ผีเนาะ.. คนหนึ่งนั่งอยู่นี่ ไอ้ที่ยืนอยู่นั่นเป็นผี.. ไม่ใช่ ! ขันธ์ ๕ มันอยู่ที่เรา อยู่ที่จิตเรา แต่จิตเรารับรู้ นั่นภาพที่เห็นไง

เวลาเราพิจารณากาย.. กายนอก กายในนี่ จิตนี้เป็นผู้รู้ กายนอกเป็นสิ่งให้ถูกรู้ เห็นไหม เสียงกระทบที่หูนี่ เสียงมีขันธ์ ๕ ไหม.. เสียงมีความรู้สึกไหม.. เสียงมีชีวิตไหม.. แต่เสียงนั้นกระทบที่หู เห็นไหม หูนี้ก็ไม่มีชีวิตนะ

นี่โสตวิญญาณ ! ถ้าจิตนี้ไม่รับรู้ เสียงกระทบหูมันไม่รู้อะไรเลย รู้ว่าเสียงแต่ไม่รู้ว่าเสียงนี้มีค่าอะไร แต่ถ้าจิตนี้มันรับรู้ เห็นไหม นี่อายตนะมันเข้าถึงจิต เสียงนี้กระทบเข้าไปถึงใจ ถ้าเข้าไปถึงใจแล้ว เสียงนี้.. เสียงดีหรือเสียงชั่ว

นี่ก็เหมือนกัน รูปที่ยืนอยู่ข้างนอกนั่นน่ะไม่มีขันธ์ ๕ มันเป็นภาพ มันเป็นสิ่งที่จิตมีคุณธรรม จิตที่มันมีนิสัยมันมีภาพของมันออกมา แล้วมันเห็นเหมือนตัวเรา

ฉะนั้นมันเป็นภาพนิมิต มันไม่มีขันธ์ ๕ หรอก ขันธ์ ๕ อยู่ที่เรานี้ ! ถ้าขันธ์ ๕ ไปอยู่ข้างนอกเราก็ตายน่ะสิ.. ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ !

ถาม : ๓. ขันธ์ ๕ ของกายนี้ มันเปลี่ยนแปลงได้ตามการกระทำของรูปภายนอกที่เรากระทำลงไป แล้วดูดซับเป็นสัญญาไว้ในกายนี้ใช่ไหมครับ

หลวงพ่อ : เราต้องบอกว่าขันธ์ ๕ นี้ตัดออกก่อน

“ขันธ์ ๕ ของกายนี้มันเปลี่ยนแปลง มันได้ตามการกระทำเป็นรูปภาพภายนอก เรากระทำลงไปแล้วดูดซับ” ไอ้ตรงดูดซับนี่ใช่ !

ผู้รู้.. สิ่งที่ถูกรู้.. ถ้ามีผู้รู้เห็นภาพมันซับแล้ว ถ้าผู้รู้นี้มันไม่ทำงาน เห็นไหม อย่างเช่นเสียงนี่ เสียงมันมีเสียงตลอดเวลา แต่ใจเรานี่ เราทำใจเราปกติ เราไม่รู้เสียงนั้น แต่ถ้าเราจำเสียงนั้นได้ อย่างเช่น เสียงนก เสียงกา เสียงลม นี่มันดูดซับแล้ว.. มันดูดซับเพราะอะไร เพราะสัญญามันรับแล้ว โปรแกรมนั้นเขียนแล้ว มันซับลงที่ใจแล้ว

ถ้ามันซับลงที่ใจ เห็นไหม ฉะนั้นภาพที่เห็น สิ่งที่เห็นนี่มันจะฝังใจมาก สิ่งที่เห็นมันดูดซับไปที่สัญญาแล้ว.. ใช่ ! มันดูดซับเป็นสัญญาไว้ที่ใจเราไม่ใช่กาย

เราจะบอกก่อนนะ กายนี้คือธาตุ ๔ ! กายนี้.. ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นเรื่องของกาย ฉะนั้นเวลาคนเราเกิดมา เห็นไหม เวลาเกิดเป็นเทวดา อินทร์ พรหม มันไม่มีกาย มีแต่ขันธ์ ๑ ขันธ์ ๔ นี่สิ่งนั้นมันไม่มีกาย ฉะนั้นกายคิดไม่ได้ ! บางคนทางการแพทย์ เห็นไหม บอกว่า “สมองคิดอย่างไร.. สมองทำงานอย่างไร”

แต่ถ้าโดยทางธรรม ! สมอง.. สมองเป็นสสาร สมองเป็นธาตุ.. เนื้อคิดได้ไหม ! เนื้อคิดได้ไหม.. เนื้อคนคิดได้หรือเปล่า สมองก็เป็นเหมือนเนื้อคนอันหนึ่ง แต่สมองนี่เป็นศูนย์รวมประสาท.. เอ็น เส้นเอ็นเส้นประสาทต่างๆ นี่หน้าที่ของมัน เซลล์ต่างๆ ทำหน้าที่แตกต่างกันไป

สมอง ! สมองมันเป็นศูนย์ประสาท แต่ถ้าเวลาคนที่เป็นเจ้าชายนิทรา เห็นไหม ดูสิ จิตมันยังมีอยู่แต่มันไม่ทำงาน นี่สมองสั่งการไม่ได้ สมองไม่ตอบสนอง สมองไม่รับรู้ ฉะนั้นร่างกายนี้คิดไม่ได้หรอก มันเป็นที่ขันธ์ ๕ นี่คือจิต ขันธ์ ๕ เห็นไหม อาการขันธ์ ๕ ความคิดไม่ใช่จิต พลังงานเป็นจิต ขันธ์ ๕ นี่โดยสัญชาตญาณของมนุษย์ ในสถานะของมนุษย์

ฉะนั้นสิ่งที่เป็นขันธ์ ๕ ... ขันธ์ ๕ นี่เป็นพลังงาน พอมีพลังงานปั๊บนี่สมองเป็นธาตุ แต่เพราะตัวจิต ตัวพลังงานมันเกี่ยวเนื่องกัน มันใช้ประโยชน์ร่วมกัน ดูสิความคิดของคนเร็วมากเลย เวลาคำพูด เวลาต่างๆ มันต้องใจมันสั่ง แต่ทำไมเวลาพูดนี่รัวเป็นปืนกลเลยล่ะ นี่มันเร็วขนาดนี้เลย ความเร็วของแสงไง

นี้จะพูดถึงเวลาภาวนา... ถ้าภาวนาไปแล้วเรื่องนี้จะไม่ติดใจเลย เรื่องนี้จะรู้หมดเลย เพียงแต่ตอนนี้ยังงงอยู่ เพราะเริ่มปฏิบัติ เพียงแต่เห็นอย่างนี้ ในการปฏิบัตินะ เห็นกาย.. คนที่ภาวนาเห็นกายไปนี่ มันจะลึกลับมหัศจรรย์กว่านี้อีกมาก เวลากายมันย่อยสลายเป็นไตรลักษณ์นี่นะ เวลาพิจารณากายเห็นกาย แล้วให้กายมันคืนสู่สภาพเดิม มันละลายออกเป็นดินเลยนะ น้ำนี่จะซึมไปในดิน ร่างกายจะเป็นเหมือนดิน แล้วทุกอย่างจะแสดงออกไป มันจะเห็นอย่างไร มันจะลึกลับกว่านี้ มหัศจรรย์กว่านี้เยอะมาก

ทีนี้ความมหัศจรรย์นี่ มันต้องเป็นมหัศจรรย์ที่ทำจริงไง แต่นี้เหมือนหนังตัวอย่าง ! เหมือนหนังตัวอย่าง.. เห็นกาย เห็นความเป็นไปโดยธรรม ! โดยธรรมไม่ใช่โดยอริยสัจ

ถ้าโดยอริยสัจ.. ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค.. อริยสัจ ! เราบริหารจัดการ มรรคญาณต้องมีสติชอบ ปัญญาชอบ เพียรชอบ.. มันเหมือนคนชำนาญการทำงาน ทุกอย่างมันจะชำนาญได้หมดเลย แต่นี้เราได้สินค้าตัวอย่างชิ้นหนึ่ง เห็นกายเราชิ้นหนึ่ง มันเป็นตัวอย่างไง เป็นตัวอย่างให้เราได้ตื่นเต้น

ขณะนี้เป็นธรรมะตัวอย่างนะ ! มันเป็นตัวอย่างให้เราได้เห็น มันเป็นตัวอย่างเตือนสติเรา นี่ตัวอย่างอย่างนี้มันจะเป็นประโยชน์กับเรา เพียงแต่ว่าเราภาวนาไม่เป็นก็งงอย่างนี้แหละ แล้วมันงงนะ... ไม่ใช่พูดนะ ถ้าไปถามคนอื่นนี่คนอื่นยังไม่รู้เรื่องหรอก แต่พอถามนี้ขึ้นมา เพียงแต่เราต้องการให้มันเคลียร์

ที่พูดนี้ต้องการให้ผู้ถามหรือสังคมเข้าใจ.. เคลียร์ว่าการประพฤติปฏิบัติ เหมือนคนทำไร่ทำสวน เริ่มต้นตั้งแต่บริหารจัดการพื้นที่ ต้องมีอุปกรณ์ ต้องมีจอบ มีเสียม ต้องมีทุกอย่าง แล้วพอทำขึ้นไป เราจะปลูกผลไม้ มันเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา.. ในการปฏิบัติมันก็มีหยาบ มีการเตรียมการ คนจะทำสวนต้องแข็งแรง คนง่อยเปลี้ยเสียขา คนไม่มีแรงจะไปทำอะไร เราก็ต้องฟื้นฟูร่างกายเราก่อน เราต้องเตรียมเมล็ดพันธุ์พืช ต้องเตรียมทุกๆ อย่างหมดเลย

การปฏิบัติก็เหมือนกัน ! นี่เรายังไม่มีอะไรเลย มาถึงก็จะปฏิบัติกันเลย แล้วจะรู้อะไรไปเลย แต่นี้พอปฏิบัติขึ้นมา เห็นไหม นี่มันได้ผลขึ้นมาบ้าง พอได้ผลขึ้นมาบ้าง เราก็บอกว่านี่มันเป็นเริ่มต้นที่ว่าเราจะเห็นผลงานของเรา แล้วเราปฏิบัติของเราไป เพื่อประโยชน์กับเราเนาะ

“นี้พูดถึงว่ากายที่มันซ้อนกายจริงไง”

เขาถามว่า “กายที่จิตสร้างขึ้นมีหรือเปล่า” เขาไม่เข้าใจ เขาเข้าใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้น “นี่มีกายที่จิตสร้างขึ้นมาอยู่กับกายเนื้อของเราตลอดเวลาหรือไม่ครับ” ถ้าพูดแบบทางวิทยาศาสตร์ ทางจิตแพทย์เนาะ ถ้ากายสร้างขึ้นมาเป็น ๒ คนนี่ หมอเขาต้องจับส่งโรงพยาบาลแล้ว เขากลัวว่าเดี๋ยวคนนี้จะเป็นคนผิดปกตินะ

แต่พวกเรามีสติพร้อม สิ่งที่เกิดขึ้นมีสติปัญญาพร้อม สิ่งที่เป็นนามธรรม สิ่งที่เป็นธรรมะ สิ่งที่เป็นความมหัศจรรย์ของจิต แล้วเราเข้าไปเผชิญ เหมือนกับผู้บริหาร ผู้ปกครองประเทศ ปัญหาของประเทศชาติเยอะมาก ! หนี้สิน หนี้สาธารณะ หนี้เอย.. เงินคงคลัง เขาบริหารจัดการอีกมหาศาลเลย

ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ! จิตใจของเราเกิดตาย.. เกิดตายมานี่ไม่รู้ต้นไม่รู้ปลาย มันหมักหมมมา สะสมมาในใจเรามากมายนัก ฉะนั้นเวลาปฏิบัติไปนี่มันมีปัญหามาให้เราแก้ไขอีกเยอะแยะนัก.. แต่เราก็ต้องทำ เราก็แก้ไขของเราไป

ฉะนั้นเวลาปัญหาที่มันเกิดขึ้น ปัญหาที่การปฏิบัติเกิดขึ้น คนหนึ่งบอกว่า “อู้ฮู.. พวกที่ปฏิบัตินี่ไม่สู้โลก ไปอยู่วัดอยู่วา” โอ้โฮ.. ไอ้สู้โลกนี่นะมันทำงานหน้าที่เดียว หน้าที่หาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ไอ้ที่ไม่สู้โลก ไอ้ที่มาอยู่วัดอยู่วานี่ โอ้โฮ.. มันรื้อค้นเข้าไปในหัวใจนะ ไอ้กรรมเก่า กรรมใหม่ในหัวใจที่มันเกิดตายอีกมหาศาลเลย ! เพราะเราจะทำความสะอาดมัน แล้วไอ้พวกที่ว่าไม่สู้โลก ไม่ทำงาน งานมหาศาล !

นั่งสมาธิ เดินจงกรม นั่งภาวนานี่ หลวงตาบอกว่า “งานฟากตาย” งานอะไรที่หนักกว่านี้ไม่มี ติดคุกติดตารางนะ วันๆ ก็อยู่ในนั้นเขาดูแลกันอยู่นั่นล่ะ ไอ้เรานี่ อู้ฮู.. ติดคุกด้วยศีลของเราเอง ติดคุกด้วยข้อวัตรของเราเองว่าไม่ไปไหน เราจะปฏิบัติของเรา

แต่ไอ้ความคิดนี่ ไอ้ความหมักหมมของใจนี่ ไอ้ความทุกข์ของใจนี่ มันไม่เคยจางลงเลย แล้วมันออกมานี้มหาศาลเลย แล้วเราต้องบริหารมัน เราต้องดูแลมัน.. จัดการมันจนกว่ามันจะสิ้นไป

ฉะนั้นการปฏิบัตินี่ อู้ฮู.. งานมันเยอะมากนะ ! ฉะนั้นสิ่งที่ทำมานี้จะบอกว่า มันเป็นอย่างที่เราอธิบายมาแล้วว่ามันเกิดขึ้นได้จริง แต่มันเกิดขึ้นมานี่เขาเรียกว่า “ธรรมมันเกิด” ให้เราเห็นได้ เป็นครั้งเดียว ครั้งต่อไปจะไม่เป็นอย่างนี้ ถ้าจะเห็นอีกมันก็ไม่เป็นอย่างนี้ เป็นครั้งเดียวๆ เขาเรียก “ปัจจุบัน” ไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต มันจะมาอย่างนี้เป็นครั้งคราว

“ธรรมเกิด.. ไม่ใช่อริยสัจ !” ถ้าเป็นอริยสัจเราจะตั้งทำความสงบของใจ แล้วจิตสงบแล้วเราออกรู้ออกเห็นด้วยการบริหารจัดการ มันจะบริหารจัดการ เห็นเป็นสติปัฏฐาน ๔ แก้ไขกิเลสเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป มันเลยต่างกันกับที่เขาบอกว่า “ทำสมถะแล้วจะเกิดนิมิต.. มันจะเกิดอะไรติดไปหมด” อันนั้นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะเขาไม่รู้ว่าธรรมเกิด กับอริยสัจ สัจจะความจริง อริยสัจที่จะทำให้เป็นอริยภูมินี่มันแตกต่างกันอย่างใด

ผู้ที่ปฏิบัติมันจะเห็นความแตกต่าง มันรู้หมดเลย แต่มันเป็นพื้นฐานไง เหมือนการพัฒนาการมันจะเป็นอย่างนี้ ! แล้วพอมันเป็นอย่างนี้แล้วเราจะทำอย่างไรต่อไป แต่ถ้าคนไม่เข้าใจ พอพัฒนาการมันเป็นอย่างนี้ปั๊บ เรานึกว่านี่คือเป้าหมายไง ทั้งๆ ที่มันยังไม่ทำอะไรเลย

ถ้ามันพัฒนาแล้ว เดี๋ยวมันจะพัฒนาขึ้นไปอีก มันจะดีขึ้นไปอีก แล้วมันจะเข้าสู่อริยสัจ แล้วมันจะเข้าสู่โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล มันจะเข้าสู่สัจธรรม มันจะเข้าสู่สัจจะความจริง.. อันนั้นมันจะเป็นความจริงของเรา ! เอวัง