ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

สวนของเรา

๑๓ พ.ย. ๒๕๕๓

 

สวนของเรา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

มันข้อ ๒๖๕. เนาะ มันปัญหาข้อ ๒๖๕.

ถาม : ลูกมีคำถามฝังใจเกี่ยวกับปัญหาจิตใจคือ ลูกทำทุกอย่างเพื่อบิดา มารดาให้มีความสุข ทำให้ได้ทุกเรื่อง และเป็นเด็กดี ให้ท่านพึงพอใจอยู่เสมอ และไม่เคยทำให้ท่านเสียใจมาก่อนเลย แต่มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ลูกขัดใจท่านอยู่ตลอด และลูกเองก็ไม่สบายใจ (สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ท่านต้องการเป็นอย่างมาก) คือท่านอยากให้ลูกแต่งงาน โดยที่ลูกไม่ชอบหรือไม่อยากทำ และลูกก็ไม่พร้อมที่จะมีครอบครัว แต่ท่านก็กดดันทุกวิถีทาง

ทั้งๆ ที่ลูกเองก็ทุกข์ใจ ไม่สบายใจเลย แต่ลูกไม่เคยแสดงออกให้ท่านเห็นว่าลูกมีความทุกข์ ต่อหน้าท่านลูกก็ทำตัวสบายๆ เหมือนไม่มีอะไร แต่แท้ที่จริงแล้วลำบากใจมากกับเรื่องนี้ ลูกจะทำอย่างไรดีคะเพื่อให้ท่านมีความสุข เพราะท่านทั้งสองก็ป่วยอยู่ตลอดเวลา

ถ้าลูกขัดใจท่าน จะทำให้ท่านไม่สบายใจและจะบาปไหมคะ.. และลูกจะตัดสินใจเชื่อบิดา มารดา ทั้งๆ ที่ลูกเองไม่พร้อมที่จะมีครอบครัว ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต ลูกจะทำตัวอย่างไรดีคะเพื่อให้ท่านทั้งสองและลูกสบายใจ และควรแก้ปัญหาชีวิตนี้อย่างไร

หลวงพ่อ : เราจะบอกว่าปัญหาอย่างนี้นะ ถ้าพูดกันโดยพื้นฐานนี่เราคุยกันได้.. แต่พูดกับพระนี่นะ ถ้าพระพูดกับส่วนใดส่วนหนึ่งหรือข้างใดข้างหนึ่งนี่พูดได้ แต่พูดนี่เพราะอะไร เพราะพระมีธรรมวินัยบังคับไว้.. บังคับไว้หมายถึงว่า

ภิกษุชักสื่อให้ผู้หญิงและผู้ชายแต่งงานกัน เป็นสังฆาทิเสสนะ..

ภิกษุให้ครอบครัวที่ดีต่อกันแตกแยกต่อกัน ก็เป็นสังฆาทิเสสนะ..

ฉะนั้นถ้าพูดตามวินัยแล้วพระพุทธเจ้าไม่ให้ทำ เรื่องนี้แบบว่ามันเป็นเรื่องของโลกไง ทีนี้เราจะพูดเป็นธรรมะ.. ถ้าพูดนี่พูดเป็นธรรมะไง พูดก่อนว่านี่มันเกี่ยวกับธรรมวินัยด้วย เพราะว่าอะไรรู้ไหม เพราะว่าพระพุทธเจ้าให้พระสงฆ์นี้เป็นหมู่สงฆ์ใช่ไหม แล้วก็ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกานี่มันมีขอบเขตของมัน

ถ้ามีขอบเขตของมัน เพราะว่าภิกษุนี้มันแบบว่า “ภิกษุผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร” บวชแล้วนี่สังคมให้สิทธิกับผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ มันก็ต้องมีคุณค่าสูงกว่า นี้การที่มีคุณค่าสูงกว่า เวลาทำอะไรสิ่งใดมันก็มีขอบเขต นี้มีขอบเขตคือถือพรหมจรรย์..

นี่โลกเป็นอย่างนั้นนะ เพียงแต่ว่านี่เราจะตอบปัญหาเป็นปัญหาธรรมะ.. ปัญหาธรรมะคือพ่อแม่นี่เป็นพระอรหันต์ของลูก ชีวิตนี้เราได้มาจากพ่อแม่ ฉะนั้นสิ่งที่ว่ากตัญญูกตเวทีนี่เป็นเครื่องแสดงออก เป็นเครื่องหมายการแสดงออกของคนดี คนดีจะมีความกตัญญูกตเวที แล้วพ่อแม่นี่เราควรต้องกตัญญูไหม.. ต้อง ! ต้องกตัญญู เห็นไหม

หลวงตาท่านพูดอย่างนี้นะ “พ่อแม่เรา.. พ่อแม่นี่อย่าเถียง ! อย่าเถียง อย่าต่อว่า อย่าคัดค้านพ่อแม่ของเรา.. ถึงพ่อแม่เราจะผิด ! ถึงพ่อแม่เราจะผิดเราก็ไม่ควรโต้เถียง เพราะบาปกรรมมันก็ตกอยู่กับเรา”

ถึงจะผิดนะ ! เห็นไหม เพราะพ่อแม่จะถูกหมดไม่มีหรอก พ่อแม่ก็ปุถุชน พ่อแม่เราก็ผิดได้ แต่ถ้าพ่อแม่ต้องการสิ่งใดเราก็ไม่ควรโต้เถียง นี่หลวงตาท่านพูดอย่างนั้น.. ถ้าพูดในสังคมของฆราวาส เพราะธรรมดาเรื่องอย่างนี้แล้วพ่อแม่ เห็นไหม ยิ่งเป็นลัทธิศาสนาอื่นนี่เขาเชื่อพ่อแม่ พ่อแม่เขาจะจัดการให้จบหมดล่ะ

ฉะนั้น แต่เวลาของเรานี่เราเป็นชาวพุทธ ชาวพุทธนะถ้าในครอบครัวของเรามีความเห็นร่วมกัน มีการกระทำเหมือนกันนี่มันก็จบได้ นี้เพียงแต่ถ้าลูกที่เป็นอภิชาตบุตร คือลูกที่สูงกว่าพ่อแม่ไง

เพราะว่าเรื่องการครองเรือน เรื่องการอยู่ในครอบครัว เรื่องชาติตระกูลนี้มันเป็นเรื่องสังคมใช่ไหม นี่กามคุณ ๕ ! มันเป็นคุณ.. เป็นคุณเพราะสืบทอดวงศ์ตระกูล วงศ์ตระกูลจะมั่นคง ทุกอย่างจะเป็นคุณงามความดี นี้มันเป็นเรื่องของวงศ์ตระกูล

นี่พูดถึงสังคม พูดถึงโลก... แต่อภิชาตบุตร คือบุตรที่ดีกว่าพ่อแม่ บุตรที่ไม่ต้องการอยู่กับโลกใช่ไหม อยากถือพรหมจรรย์ อยากจะพ้นจากวัฏฏะไป เห็นไหม

พุทธศาสนา.. ศาสนาพุทธนี้หลวงตาท่านบอกว่า “ศาสนาพุทธ มีแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นที่ปฏิญาณตนเป็นพระอรหันต์ ลัทธิศาสนาอื่นไม่มีศาสดาองค์ใดว่าเป็นพระอรหันต์เลย” ไม่ได้เป็นพระอรหันต์ก็คือสอนด้วยความรู้สึกของตัว พูดถึงความเห็นของตัวเท่านั้น

แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์นะ ! องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม ดูสิพระนันทะนี่เป็นน้องชาย แล้วน้องชายเพิ่งแต่งงาน พอแต่งงานเสร็จแล้วนิมนต์พระพุทธเจ้าไปในงานด้วย เวลาพระพุทธเจ้ากลับมาให้พระนันทะถือบาตรกลับมา พอมาถึงวัด “นันทะเธอจะบวชไหม” พูดไม่ออกเลยบวชก็บวช

เพิ่งแต่งงาน.. เพิ่งแต่งงานเสร็จ พอกลับมาพระพุทธเจ้าถามบวชไหม.. บวช พอบวชเสร็จแล้ว เห็นไหม โอ้โฮ.. มันเร่าร้อน ก็เพิ่งแต่งงาน ก็คิดถึงที่บ้านยังไม่ได้ร่ำไม่ได้ลาเลยถือบาตรมาส่ง พอถือบาตรมาส่งพระพุทธเจ้าก็บอกว่านันทะเธอบวชไหม แล้วพระนันทะก็ว่าบวช ทีนี้พอบวชไปก็โอ้โฮ.. ใจนี่เร่าร้อนตลอดเวลา ภาวนาไม่ได้หรอก ภาวนาไม่ลง

แต่พระพุทธเจ้า เห็นไหม เราจะบอกว่าพระพุทธเจ้านี่เห็นประโยชน์ที่สูงกว่า เห็นประโยชน์ที่ดีกว่า แต่นี้ความเห็นประโยชน์ที่ดีกว่า นี่กระวนกระวายไหม.. กระวนกระวาย ต้องกระวนกระวาย ทำไมจะไม่กระวนกระวาย คนเราเพิ่งแต่งงานใครไม่คิดถึง มันเป็นไปไม่ได้หรอก อย่ามาโกหก เรื่องจริงก็คือเรื่องจริงนั่นล่ะ กระวนกระวายไหม.. กระวนกระวาย แต่พระพุทธเจ้าก็ให้กระวนกระวาย ก็ปล่อย.. ปล่อย พอถึงเวลา เห็นไหม

“นันทะเป็นอย่างไร อยากกลับบ้านไหม”

“อยาก”

“กลับไปทำไม”

“กลับไปหานางชนบทกัลยาณี”

“เธอจำไว้นะ ดูนี่สวยไหม นางกัลยาณีสวยไหม.. จำภาพไว้นะสวยไหม ไป.. เราจะพาไปดู”

แล้วพระพุทธเจ้าก็เหาะขึ้นไปเลยนะ ไปเห็นเทวดา

“เมื่อกี้นี้สวยไหม”

“สวย”

“แล้วนี่ล่ะ”

“นี่สวยกว่า”

แล้วเมื่อกี้นี้ยังกับลิงเลยล่ะ ก็ว่านี่สวยกว่า พอนี่สวยกว่าพระพุทธเจ้าก็ว่า

“อยากได้ไหม.. อยากได้ไหม” อ้าว.. ธรรมดาก็ต้องอยากได้ใช่ไหม

“ถ้าอยากได้นะกำหนดพุทโธ พุทโธสิ”

ด้วยความมีเป้าหมายนะ เป้าหมายคือเทวดา เป้าหมายคืออยากได้นางฟ้านะ.. ด้วยเป้าหมายนั้นนะ กำหนดพุทโธ พุทโธให้จิตมันสงบเพราะอยากได้อันนั้น ตัวนั้นเหมือนกับเราพุทโธ พุทโธ.. พอพุทโธแล้วจิตมันสงบไง จิตสงบเข้าไปนี่เพราะมีอำนาจวาสนา นี่พระพุทธเจ้าเห็นประโยชน์ที่เหนือกว่า เหนือกว่าตรงนี้ไง

คนเรานี่นะถ้าจิตสงบแล้วเป็นปัญญาขึ้นมาได้เองนะ.. อาฬารดาบส อุทกดาบสเป็นผู้สอนพระพุทธเจ้ามาก่อนนะ ได้สมาบัติ ๘ ทำไมเขาไม่มีปัญญาล่ะ ทำไมฤๅษีชีไพรในสมัยพุทธกาลเขาเป็นพระอรหันต์ไม่ได้ล่ะ เพราะอะไร เพราะเขาไม่ได้สร้างบุญมา เขาไม่มีปัญญาของเขา

พระนันทะพอจิตสงบเข้ามานี่มันย้อนกลับไง พอย้อนกลับเข้ามาแล้วมันก็ชำระกิเลส เห็นไหม พอชำระกิเลสเสร็จแล้ว.. เพราะธรรมดานะคนเรานี่เหมือนสามล้อถูกหวย คำว่าสามล้อถูกหวย คือสามล้อนี่อาชีพเขาอัตคัดขาดแคลน พอเขาถูกหวยขึ้นมาเขาต้องมีเงินทองใช่ไหม อย่างพวกเราภาวนา อย่างพวกเราทำอะไรนี่ คำว่าสามล้อถูกหวย คือมันเจอสิ่งใดแล้วมันก็อยากจะพูดสิ่งนั้น มันมีสิ่งใดมันก็พูดสิ่งนั้น

ทีนี้พระนันทะ ก่อนจะภาวนา พุทโธ พุทโธนี่ พุทโธเพื่ออะไร.. พุทโธเพื่ออยากได้นางฟ้า ก็ประกาศไปทั่ว “อยากได้นางฟ้า.. อยากได้นางฟ้า” เพราะมันคิดอย่างไรก็พูดอย่างนั้น ทีนี้พระเขาก็ว่า พระนันทะนี่พุทโธเพื่อนางฟ้า.. พุทโธเพื่อนางฟ้า คำว่าเพื่อนางฟ้าคือเพื่อจะเอานางฟ้า พอถึงเวลาเขาก็แหย่กัน “ได้นางฟ้ารึยัง.. เห็นนางฟ้ารึยัง..”

ทีนี้พอพระนันทะภาวนาไปแล้ว... พอภาวนาไปแล้ว พอจิตมันชำระกิเลสแล้วนี่ก็บอก “ไม่เอาแล้ว.. นางฟ้าไม่เอา ไม่ต้องการนางฟ้า” คนก็ไปฟ้องพระพุทธเจ้าไงว่าพระนันทะนี่อวดอุตริ

สมัยพุทธกาล แค่นี้เขาก็มีความละอายนะ.. นี่บอกว่าไม่ต้องการนางฟ้าแล้ว ไม่ต้องการอะไรเลย พูดทำนองให้รู้ได้ว่าสิ้นกิเลสไง พอว่าสิ้นกิเลสนะพระไม่เชื่อ.. พระไม่เชื่อก็ไปถามพระพุทธเจ้า บอกพระนันทะพูดอย่างนี้ว่าไม่ต้องการนางฟ้าแล้ว เหมือนกับวางได้หมดแล้ว ปล่อยได้หมดแล้ว

ฉะนั้นพระพุทธเจ้าก็เลยนิมนต์มา “นันทะ.. นันทะเป็นอย่างนั้นจริงไหม” “จริง” พระพุทธเจ้าว่าจริง.. จริงหมดเลย

นี่เราถึงบอกว่าประโยชน์ที่เหนือกว่า ประโยชน์ที่สูงกว่าโดยอภิชาตบุตร นี้คำว่าอภิชาตบุตรนี่นะ มันมีอยู่ ๒ กรณี กรณีอย่างนี้หนึ่ง.. แล้วกรณีอย่างพระกัสสปะ..

พระกัสสปะเป็นลูกคนเดียว.. เป็นลูกเศรษฐีเป็นลูกคนเดียว พอเป็นลูกคนเดียวขึ้นมานี่ พ่อแม่ก็หวังให้แต่งงานทั้งนั้นแหละ อยากให้มั่นคงทั้งนั้นแหละ ทีนี้นี่คนเรามีบุญนะ มีบุญพอพ่อแม่อยากให้แต่งงานก็แต่ง.. แต่ก็แต่งนะ เวลาขอผู้หญิงมานี่ต้องคุยกันก่อนว่าเราแต่งนี้.. โทษนะ ถ้าแบบทางโลกนี่เราแต่งกันแบบแต่งหลอก

เราจะแต่งงานกันเพื่อให้พ่อแม่ได้มีความสุข แต่เราจะสัญญากันว่าเราจะอยู่กันแบบพรหมจรรย์ คืออยู่กันแบบเพื่อนไม่ให้มีอะไรกันเลย แล้วอธิษฐาน ที่นอนนี่เอาดอกไม้.. ในตำราว่าเป็นดอกกุหลาบหรือดอกอะไรจำไม่ได้ เอาดอกไม้นี่ปักไว้ในแจกัน ว่าเราสองคนนี่จะถือพรหมจรรย์ คือจะไม่ยุ่งต่อกัน แต่งงานกันในนาม แต่เราจะไม่ยุ่งกันเลย เพราะต่างคนต่างคิดจะออกบวชเหมือนกัน แต่เพราะความสุขของพ่อแม่

พ่อแม่ของพระกัสสปะกับพ่อแม่ของผู้หญิงนี่เขาจับแต่งงานกัน เพราะพ่อแม่อยากให้ลูกมั่นคง เพื่อความสุขของพ่อแม่ก็ยอมแต่ง แต่สัญญากันว่า.. สัญญากันว่าเราจะอยู่กันแบบพรหมจรรย์ ก็อยู่ดูแลกันมาอย่างนั้นล่ะจนพ่อแม่ตายหมดไง ส่งพ่อแม่แล้วพ่อแม่ก็ปลื้มเนาะ ปลื้ม.. ลูกเรามีครอบครัว ลูกเรามีทุกอย่างพร้อม อู๋ย.. พ่อแม่ปลื้มมาก ตายไปพร้อมกับความสุขเขาก็ไปเป็นเทวดาของเขานะ ไปเป็นความสุขของเขา

พอพ่อแม่ตายเสร็จแล้วนะ ลูกที่อยู่เบื้องหลังนะตกลงกันแล้วแจกของ สมบัติของ ๒ ตระกูลแจกหมดเลย แจกเสร็จแล้วต่างคนต่างออกบวช ภรรยาบวชเป็นภิกษุณี พระกัสสปะบวชเป็นภิกษุ แล้วออกประพฤติปฏิบัติ จนพระกัสสปะมาเป็นพระอรหันต์ช่วงท้าย เห็นไหม

กรณีอย่างนี้มันเกิดมา มันมีในพระไตรปิฏก เราจะบอกว่าในสมัยพุทธกาลมันก็มีเรื่องอย่างนี้ เรื่องที่ว่าบุตรที่มีความเห็นมีความคิดอย่างนี้ แล้วเราจะบริหารจัดการเรื่องนี้อย่างใด ถ้าเราคล้อยตามนะ เราบอกคล้อยตามเพื่อความสุขของท่าน จะแต่งงานเพื่อท่าน แล้วพอแต่งไปแล้วนะ..

มันจะมี นี่เพราะคนในอยากออก คนนอกอยากเข้านะ เวลาเห็นเขาแต่งงานกันก็นึกว่าเขามีความสุข แต่ไอ้คนที่แต่งแล้วนี่แหม.. เพราะเรามีลูกศิษย์เยอะ ลูกศิษย์จะมาบอกทุกคนเลย “หลวงพ่อ.. ถ้าคิดได้นะ ถ้ารู้ว่าเป็นอย่างนี้นะหลวงพ่อ ไม่เอาดีกว่า” แล้วคนมาพูดอย่างนี้เยอะ

นี้เราไม่เคยมีอย่างนั้น.. เพียงแต่ว่า ถ้าพูดถึงถ้าตามใจไป พอถึงอย่างนั้นไปปั๊บมันจะไปเรื่อยๆ ไปเรื่อยๆ แล้วจิตใจเราไม่เข้มแข็งพอ

ฉะนั้น.. เห็นไหม เวลาทำดีนี่มันทำยากอย่างนี้แหละ ความกตัญญูกับพ่อแม่นี่มันเป็นสิ่งที่ดี ทุกอย่างมันเป็นสิ่งที่ดี แต่เป้าหมายของเรา เราจะคุมเป้าหมายชีวิตเราได้ไหม.. ถ้าคุมเป้าหมายชีวิตไม่ได้ เราก็ต้องเข้มแข็งของเรา.. ทีนี้คำว่าเข้มแข็งนี่นะ เวลาบวชไปแล้ว หรือว่าเวลามาประพฤติปฏิบัติ ถ้าจิตใจของเรานี่เวลามันอยู่กับความเพียร มันอยู่กับความทุกข์ความยาก มันจะนึกย้อนหลังไหม.. มันจะท้อถอยไหม..

เวลาเขาบอกว่านี่พระโพธิสัตว์ ใครๆ ก็ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า.. ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า.. ปรารถนานี่เยอะมาก ! แต่จะถึงเป้าหมายนี่ หลวงตาบอกในหลายๆ ล้านคนนี่มีซัก ๑-๒ คนไหม

นี่ก็เหมือนกันมันไปอีกไกลมากนะ การที่เราจะสร้างบารมี เรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก ฉะนั้นเวลาเรื่องพ่อแม่นี่.. เพราะจริงๆ แล้วเรื่องอย่างนี้ในวงการพระ ในพุทธศาสนาเราเรื่องนี้มันมีมาก

ฉะนั้นเราถึงบอกว่ามันอยู่ที่ว่าเราจะเข้มแข็งแค่ไหน จิตใจเรานี่เข้มแข็งแค่ไหน เรื่องทุกข์นี่ทุกข์ ! ทุกข์ใจมันเป็นเรื่องธรรมดาเลย เวลาคนที่มีความทุกข์ใจ อย่างพระเรานี่นะ คนที่อยากออกบวชแล้วพ่อแม่ก็รั้งไว้มันก็มีปัญหาของมันเหมือนกัน แล้วกรณีอย่างนี้มันก็เป็นเรื่องแบบว่าเวรกรรม.. มันต้องมีสิ่งใดกันมา มันถึงมาเกิดแล้วร่วมกันอย่างนี้

ฉะนั้นเราถึงบอกว่า... เราฉะนั้นหลายทีแล้วนะ เพราะมันจะฟันธงลงไปนี่ มันเป็นชีวิตของคนๆ นั้นไง คนๆ นั้นเขาจะเลือกอย่างไร แล้วจิตใจเขาเข้มแข็งมากน้อยแค่ไหน ถ้าจิตใจเขาเข้มแข็งนี่เขาจะทรงตัวอยู่ได้

คำว่าจิตใจเข้มแข็ง เวลาเจอสิ่งใดนี่มันเป็นบททดสอบไงมันจะยืนอยู่ได้.. ถ้าจิตใจเราไม่เข้มแข็งนะ พอเจอบททดสอบสิ่งใดแล้วนี่มันอ่อนแอ.. นี้ก็ข้อ ๑. ๒. พอเราเจอบททดสอบมากๆ เข้าไปแล้วนี่มันจะคิดย้อนหลังไง แหม.. ตอนนั้นถ้าแต่งไปก็ดี.. บอกตอนนั้นถ้าแต่งไปก็ดี แต่คนที่แต่งแล้วนะบอกตอนนั้นถ้าไม่แต่งก็ดี

อันนี้มันเป็นเรื่องเวรกรรมที่เราสร้างมา เราไม่เห็นว่ามีความ.. เพราะว่าเวลาผู้ชายนะเขียนปัญหามานี่บอกว่าอยากบวชมาก.. อยากบวชมาก แต่พ่อแม่ไม่ให้บวช.. บางคนก็มีภาระรับผิดชอบอะไรต่างๆ นี่ก็ทำไป

มีพระหลายองค์นะ เพราะเวลาพระในสมัยพุทธกาล พระนี่บิณฑบาตเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ได้ “ภิกษุห้ามจับต้องกายหญิง แต่ภิกษุจับต้องกายแม่ได้.. ภิกษุสามารถเช็ดขี้เช็ดเยี่ยวแม่ได้” ภิกษุนี่จับแม่ได้ อุปัฏฐากแม่ได้ ในพระไตรปิฏกนะ.. แต่นี่เป็นประเพณี พวกเราไม่เคยทำ ก็ไม่เคยเห็นกัน แต่เราเห็นอยู่ มันมีทางใต้อยู่องค์หนึ่งเช็ดขี้ให้แม่เหมือนกัน.. อันนี้พูดถึงมันเป็นเวรกรรมของคนนะ !

 

ตอนนี้เราจะเข้าปัญหานี้แล้ว.. ข้อ ๒๖๖. อันนี้มันเป็นผลการปฏิบัติ

ถาม : โยมได้รับคำตอบ “เรื่องไม่ยินดียินร้าย” ของหลวงพ่อ ในเรื่อง “ธรรมะคาดไม่ถึง” (มันได้ประโยชน์มากไง)

สำหรับการปฏิบัติของโยมต่อไป ก็พอเป็นผลการปฏิบัติให้เกิดกำลังใจอยู่บ้าง แต่ก็เป็นลักษณะที่หลวงพ่อเรียกว่า “ส้มหล่น” ทุกครั้ง เพราะสภาวธรรมที่เกิดขึ้นไม่เคยซ้ำกันเลย และเกือบทุกครั้งที่โยมได้รู้ว่าเป็นไปได้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาเวทนาทางกายในขณะนั่งสมาธิ ที่โยมพยายามหาว่าความเจ็บปวดมันอยู่ตรงไหน แต่ก็หาไม่เจอ

จนอ่อนใจ และคิดจะเปลี่ยนท่านั่งอยู่แล้ว ความเจ็บปวดก็กลับดับแว็บหายไป เหมือนไม่เคยมีความเจ็บปวดเกิดขึ้นมาก่อน ทำให้รู้ว่า “เวทนาไม่ใช่เรา.. บังคับบัญชาไม่ได้นั้นคืออย่างไร” หรือสภาวะอื่นที่เคยเขียนมาหาหลวงพ่อ จะได้รับความรู้ที่อย่างน้อยก็ทำให้เข้าใจคำพูดของหลวงพ่อที่ว่า “ธรรมะเหนือธรรมชาติ” ขึ้นบ้างแล้ว

โยมคิดว่า ความจำเป็นที่ต้องปลูกต้นไม้ เพื่อให้ได้ผลไม้ของเราเอง แม้มันจะช้า แต่เราก็จะได้เห็นการเจริญเติบโต ไม่ว่าจะเป็นกิ่ง ก้าน ดอก ใบ ก็ล้วนเป็นสิ่งที่เราควรจะได้เห็น ได้รู้จัก ก่อนที่จะเก็บเกี่ยวผลในที่สุด

แต่ทุกวันนี้มีคนใจร้อน ด่วนได้ มักง่าย ไม่สนใจวิธีปลูกต้นไม้ และไม่อยากปลูก เพราะต้องอดทนและใช้เวลามาก แต่อยากได้ผลไม้มาเป็นของตัว เพราะรู้ว่าผลไม้มีประโยชน์ มีคุณค่า สุดท้ายจึงใช้วิธีลัด ด้วยการสอยผลไม้ต้นอื่นของคนอื่น แล้วนำมาอวดอ้างว่า ได้รับผลไม้เหมือนกัน

โยมไม่มีโอกาสไปกราบหลวงพ่อตามธรรมเนียม..

หลวงพ่อ : นี่พูดถึงเวลาเขาปฏิบัติ ! เวลาเขาปฏิบัติไปแล้วนี่ เพราะว่าทุกคนก็ต้องอยากได้ผล ฉะนั้นเวลาได้ผลนี่เราจะพูดว่า.. คำว่าส้มหล่นของเรานี่นะ คำว่าจะส้มหล่นมันก็ต้องมีส้มใช่ไหมมันถึงจะหล่นใส่เราได้ ถ้าไม่มีส้มอะไรจะหล่นล่ะ

คำว่าส้มหล่นหมายถึงว่าจิตมันลง แต่คำว่าจิตมันลง.. โดยทั่วไปนี่คำว่าส้มหล่นมันคือสิ่งที่เป็นจริงนั่นแหละ แต่ ! แต่เพราะขาดการควบคุม ขาดการบริหารจัดการ เราบริหารจัดการกันยังไม่ได้ เรายังบริหารจัดการกันยังไม่เป็น เราบริหารจัดการไม่เป็นเพราะอะไร เพราะเรายังไม่เคยได้มีความชำนาญ

ฉะนั้นเวลาทำสมาธิ หรือเวลาทำสิ่งใดๆ สิ่งที่เกิดขึ้นนี่โยมไม่ต้องปฏิบัติหรอก โยมอยู่เฉยๆ นี่โยมก็มีสมาธิกันอยู่แล้ว บางทีเราสบายใจ เรามีความสุขใจ นั่นก็คือสมาธิอันหนึ่งนะ.. แต่สมาธิอย่างนี้มันชั่วครั้งชั่วคราวแล้วมันก็เปลี่ยนไป เพราะมันเป็นอนิจจัง

ฉะนั้นเวลาเขามาปฏิบัติ เห็นไหม คำว่าส้มหล่นนี่จิตมันลง จิตมันเป็นไป นี่มันเป็น แต่มันบริหารไม่ได้.. มันบริหารไม่ได้เพราะมันไม่มีความชำนาญไง

ฉะนั้นเวลาเราพุทโธ พุทโธ พุทโธ หรือเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ มันจะหยุดบ่อยครั้งเข้าหรือมันจะเกิดอะไร นี่เรามีความชำนาญบ่อยๆ เข้าไป.. บ่อยๆ เข้าไป.. เราจะรู้จะเห็นไง เวลามันเจ็บมันปวด เห็นไหม เราเห็นมันว่ามันปวด แล้วถ้ามันอยากหายนะ กิเลสนี่มันเอาธรรมะของพระพุทธเจ้ามาอ้างอิง เวลาเราอยากจะหายนะ.. เราอยากหายคือตัณหาซ้อนตัณหา คือความอยากซ้อนความอยาก

โดยสัญชาตญาณ โดยความเป็นจริงของมนุษย์นี่... มนุษย์มีความอยากโดยธรรมชาติ แต่เพราะความอยากได้ธรรมะ อยากให้มันหาย นี่มันเป็นตัณหาซ้อนเข้าไป ความปวดนั้นเป็นสอง ความปวดนั้นเพิ่มขึ้นมา.. เพิ่มมาทันทีเลย

แต่ถ้าเราปวดก็คือปวด ปวดโดยข้อเท็จจริง ปวดก็ปวดแค่นี้แหละ.. แล้วเราสู้ตามข้อเท็จจริงคือเราจะปวดแค่นี้ แต่พอมันปวดอย่างนี้ปั๊บ แล้วเราอยากให้มันหาย อยากให้มันไม่เป็น อย่างนี้มันจะปวดเป็นสองเท่า สามเท่า.. นี่เวลาตัณหามันซ้อนเข้าไป

ฉะนั้นเวลาเราอยากหาย อยากให้มันเป็นไปมันถึงไม่หาย แต่ถ้าเราปล่อยไป.. ปล่อยไปโดยข้อเท็จจริง นี่มันเปลี่ยนแปลง เห็นไหม มันเกิดแว็บ “เวทนาไม่ใช่เรา เราไม่ใช่เวทนา” แล้วบังคับบัญชาไม่ได้ ! บังคับบัญชาไม่ได้.. ต้องการให้เป็นไม่ได้..

ฉะนั้นความต้องการให้เป็นคือการสร้างภาพ ! การต้องการให้ว่าง การต้องการให้เป็นความรับรู้คือการสร้างภาพหมด สร้างภาพเพราะอะไร สร้างภาพเพราะมันรู้อยู่แล้ว.. มันรู้อยู่แล้วนะว่านี่คือการปล่อยวาง เรารู้โจทย์แล้ว เรารู้ทุกอย่างหมดแล้ว แล้วเราปฏิบัติตามที่เราตั้งเป้าไว้ คือเรามีเป้าหมายแล้วเราปฏิบัติตามที่เราจะให้มันเป็นอย่างนั้น

มันก็เป็นไปได้ทั้งนั้นแหละ มันก็เลยเป็นจินตมยปัญญา เป็นจินตนาการ เป็นสิ่งที่มันไม่เป็นความจริง... ไม่เป็นความจริงในพุทธศาสนานะ ! แต่มันเป็นความจริงของผู้ปฏิบัติ มันเป็นความจริงของผู้ปฏิบัติเพราะมันเกิดขึ้นเดี๋ยวนั้น มันเป็นความจริงกับประสบการณ์ของจิตนั้น แต่มันไม่เป็นความจริงจากอริยสัจ ไม่เป็นความจริงจากความเป็นจริง

ฉะนั้นที่ว่าเวลาผลไม้นี่ มันผลของใคร.. มันเป็นผลขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันไม่ใช่เป็นผลของเรา.. ถ้าเป็นผลของเรา เห็นไหม เวลาเวทนามันเกิดขึ้น นี่หาทุกข์ หาเวทนานะหาไม่เจอหรอก แต่พอเวลาคิดจะเปลี่ยนท่านั่ง พอจะเปลี่ยนท่า.. มันเหมือนพระอานนท์ไง พระพุทธเจ้าบอกพระอานนท์

“อานนท์.. เราตายไปแล้ว ๓ เดือนจะมีการสังคายนา เธอจะเป็นพระอรหันต์วันนั้น”

พอเขาเตรียมที่จะสังคายนา วันนั้นนะพระอานนท์นั่งทั้งวันทั้งคืนเลย นั่งจนทนไม่ไหวนะ เพราะอะไร เพราะพระพุทธเจ้าบอกไว้ เห็นไหม นี่มันมีเป้าหมาย สุดท้ายพอมันเต็มที่แล้ว ฮ้า.. ขอพัก ! ขอพักคือพักยกแล้วปล่อยหมดเลย พอปล่อยหมดมันก็กลับไปสู่ความจริง พอมันกลับเข้าสู่ความจริง มันก็เข้าสู่ใจพระอานนท์

พอปล่อยหมดเลย.. เพราะเราคิดนี่ดูสิพลังงานส่งออก เห็นไหม พลังงานพอเราคิดนี่ ความคิดเกิดจากอะไร.. ความคิดเกิดจากจิต พลังงานทุกอย่างเกิดจากจิต พอเราปล่อย.. ปล่อยทุกอย่างหมดเลย ปล่อยพลังงานทั้งหมดเลย พลังงานนี้มันขับกลับไปสู่ที่เดิมของมัน พอปล่อยหมดปั๊บ เออ.. จะพักผ่อน มันเหมือนกับเรากำลังออกแรงเต็มที่เลย แล้วเราวางหมดเลย พอวางหมดก็เข้ามาสู่ตัวเรา พอเข้าสู่ตัวเราแล้ว พอเอนลงเท่านั้นแหละเป็นพระอรหันต์เลย

สิ่งที่เกิดขึ้นมา เห็นไหม นั่นเป็นความจริง.. ถ้าเป็นความจริงแล้วมันจะเป็นความจริง แต่ถ้ามันเป็นเวทนาๆ แล้วเราไปหามันนี่ไม่มีเจอหรอก ! แต่เวทนามันเป็นเวทนาเพราะอะไร เพราะเวทนามันเกิดจากจิต.. พอเวทนาเกิดจากจิต จิตมันรู้จากจิตแล้วมันจะเกิดขึ้นมานะ ถ้ามันกลับมาที่นั่นแล้วมันใคร่ครวญของมันนะ มันปล่อยของมันเอง

แต่นี้เราไปหาเวทนาๆ จนมันเคลื่อนออกมา คือมันมีของมันอยู่ใช่ไหม เหมือนกับปมเชือกนี่ ปมเชือกที่ผูกอยู่เราต้องไปแก้ที่ปมนั้น แล้วปมเชือกมันอยู่ที่ไหน มันอยู่ที่ภวาสวะ มันอยู่ที่ภพ มันอยู่ที่พลังงาน มันอยู่ที่ใจ มันไม่ได้อยู่ที่เวทนา

เวทนาเป็นอาการใช่ไหม เป็นอาการที่ไปรับรู้ใช่ไหม แต่จริงๆ ปมมันอยู่ที่ไหน.. ที่มันผูกเวทนากับจิตไว้มันอยู่ที่ไหน.. มันอยู่ที่สังโยชน์ไง ! สังโยชน์คือสักกายทิฏฐิ คือความเห็นผิดอันนั้นไง ถ้ามันปล่อยเข้ามา อันนั้นมันก็ปล่อยเข้าไปสู่ปม ปล่อยเข้าไปสู่ที่ใจ

ถ้าปล่อยเข้าไปสู่ที่ใจนี่ใจมันเป็น... แต่มันเป็นอย่างนี้มันก็เหมือนที่ว่านี่ ไอ้คำที่เขาพูด เห็นไหม “ถึงเข้าใจคำพูดของหลวงพ่อว่า ธรรมะเหนือธรรมชาติ ขึ้นมาบ้าง.. ขึ้นมาบ้าง”

“ธรรมะเหนือธรรมชาติ”

คำว่าเหนือธรรมชาตินี่ เพราะธรรมะเหนือธรรมชาติ ! ดูทฤษฎีทุกอย่างนี่มันต้องมีข้อเท็จจริงรองรับ มีเหตุมีผลรองรับ.. แต่ถ้าความเป็นจริงอันนี้ ถ้าความเป็นจริงโดยสัจธรรม มันมีตัวสัจจะอันนั้นมารองรับ.. มันไม่ใช่เราไม่ใช่อะไรไปรองรับ พอมีเราขึ้นมาปั๊บมันก็เป็นธรรมชาติๆ ถ้าธรรมชาติมันก็หมุนเวียนนั่นล่ะ ถ้าเป็นเหนือธรรมชาติมันเหนือการสืบต่อไง.. มันเหนือการสืบต่อทั้งหมด

ฉะนั้นพอมันรู้เห็น เห็นจริงแล้วมันจะปล่อยของมันเอง แต่ปล่อยของมันเองต้องมีการกระทำนะ นี่พูดถึงว่าถ้าเป็นผลของเรานี่มันจะมีผล แล้วมันจะรู้จักขึ้นมา พอรู้จักขึ้นมามันจะซึ้งใจ เพราะสิ่งอย่างนี้มันไม่มีในตำรา ตำราเป็นปริยัติ แต่การปฏิบัติมันเป็นความจริงที่เกิดขึ้นมาจากเรา

ถ้าเกิดขึ้นมาจากเรา เห็นไหม มันถึงบอกว่า “นี่เปรียบเหมือนการปลูกต้นไม้.. ถ้าเราปลูกต้นไม้นี่มันเป็นผลไม้ของเรา ถึงมันจะช้า แต่เราเห็นความเจริญเติบโต”

พูดถึงถ้าฟังธรรมะนะแล้วปฏิบัติไป ปฏิบัติอย่างนี้.. นี่เวลาฟังธรรม เห็นไหม เวลาครูบาอาจารย์เราไปหาหลวงปู่มั่น ถ้าใครปฏิบัติไปแล้ว จะปฏิบัติไปอย่างไรขนาดไหน พอไปถึงท่าน เวลาท่านตอบปัญหานี่มันตรงหมดเลย ! มันตรงแล้วเถียงไม่ได้ ท่านจะเอาหัวใจเรานี่มาตีแผ่ให้เราฟัง ตีแผ่อย่างไร

บันไดมี ๔ ขั้น.. คนขึ้นบันไดขั้นที่ ๑ ใช่ไหม

ถ้าก้าวเท้าครั้งที่ ๒ ก็คือขึ้นขั้นที่ ๒

ก้าวเท้าครั้งที่ ๓ ก็คือขึ้นขั้นที่ ๓

ก้าวเท้าครั้งที่ ๔ ก็คือขึ้นขั้นที่ ๔

จิตมันเริ่มพัฒนาขึ้นไปเป็นขั้นที่ ๑ ความเป็นไปข้างหน้ามันจะไปสู่ขั้นที่ ๒ สู่ขั้นที่ ๓ ขั้นที่ ๔... การปฏิบัติไปนี่ในขั้นที่ ๑ นั้นยกเท้าอย่างไร.. ยกเท้าอย่างไรหมายถึงว่า เวลาเป็นโสดาบันนี่พิจารณาอย่างไร จนกว่าจะขึ้นมายืนบนขั้นที่ ๑ ด้วยความคงที่

นี่ก็เหมือนกัน เวลาวิปัสสนาไป ใช้ปัญญาไปนี่มันทำอย่างไร.. ทำอย่างไรมันจะถึงที่สุด เพราะการกระทำนี่มันมีตทังคปหาน มันมีการพิจารณาแล้วปล่อยวาง.. ปล่อยวาง มันปล่อยวางเป็นชั้นเป็นตอนเข้ามา เห็นไหม อันนี้เป็นความจริง

ถ้าเป็นความจริงคือมันจะเป็นผลไม้ของเราไง “มันจะมีกิ่ง มีก้าน มีดอก มีใบ เราล้วนแต่มีความเห็น.. เราควรจะได้เห็น ได้รู้จักก่อนที่จะเก็บเกี่ยวผลในที่สุด” นี่มันจะเก็บเกี่ยวผลของมัน มันพิจารณาอย่างนี้.. ถูก ! แล้วไม่ใช่ถูกธรรมดานะ เพราะคนภาวนาแล้วมันจะย้อนกลับมาที่คำพูดเราไง ว่า “ธรรมะเหนือธรรมชาติ”

“เริ่มเข้าใจคำพูดหลวงพ่อว่าธรรมะเหนือธรรมชาติขึ้นมาบ้าง” ขึ้นมาบ้างนะ.. เพราะมันซึ้งไง มันขึ้นมาบ้างเพราะมันเข้าไปประสบของมันเอง ถ้ามันขึ้นมาบ้างแล้วมันขยันทำ.. ขยันทำเข้าไป มันจะเป็นความจริงขึ้นมา

นี่แล้วผลไม้เป็นผลของเรา เป็นผลการปฏิบัติ เป็นปัจจัตตัง.. สันทิฏฐิโก.. มันเป็นผลของเรา ! เราถึงพูดอยู่ว่า “ธรรมะส่วนบุคคล”

ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า.. เวลาพระพุทธเจ้าบอกกับพระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะ เวลาท่านจะตาย เห็นไหม “อานนท์.. เราไม่ได้เอาธรรมะของใครไปเลย ! เราไม่ได้เอาธรรมะของใครไปนะ เราเอาแต่ของเราไปเอง” ธรรมะเราเป็นของเรา.. นี่จิตใจที่มันเป็นเอาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไป

“ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม.. โลกนี้จะไม่ว่างจากพระอรหันต์เลย”

เพราะมันอยู่ที่จิตไง ! คือจิตที่มันผูกปม.. ปมมันอยู่ที่จิตของทุกๆ คน แล้วถ้าทุกๆ คนไปแก้ที่ปมนั้น คลายที่ปมนั้นออกมา มันก็เป็นผลของจิตดวงนั้น หมายถึงว่ามันเป็นธรรมส่วนบุคคล.. เป็นธรรมะของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ

ถ้าใครปฏิบัติจริง.. รู้จริง ตามความเป็นจริง.. มันก็ได้ผลตามความเป็นจริงนั้น ถ้าได้ผลตามความเป็นจริงนั้น มันก็จะเป็นประโยชน์กับตรงนั้น.. นี่ถ้าปฏิบัติตามความเป็นจริงแล้วมันจะทุกข์มันจะยาก เพียงแต่ว่า ! เพียงแต่ว่านะเวลาปฏิบัติไป ถ้าเราไม่มีครูบาอาจารย์ยืนยัน

ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ยืนยันนะ เวลามันเป็นอย่างนี้ เห็นไหม ที่ว่า “เวทนาไม่ใช่เรา เราไม่ใช่เวทนา” เพราะมีคนเขาเอามาให้ดูมาก เวลาพอเข้าใจว่าทุกอย่างไม่ใช่เราปั๊บนี่เขาว่าเป็นโสดาบันหมดเลย เพราะตามตำราเขียนไว้อย่างนั้นจริงๆ ตามตำรานะว่า

“สักกายทิฏฐิ... ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕” เห็นไหม

ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ นี้สิบ ! ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕

เวทนาไม่ใช่เรา สัญญาไม่ใช่เรา สังขารไม่ใช่เรา ทุกอย่างไม่ใช่เราเลย แล้วความเข้าใจอย่างนี้เราคิดขึ้นมาเองได้ไหม.. ได้ ! เวลาเราคิดขึ้นมา เราใช้ปัญญาของเราขึ้นมา ความคิดอย่างนี้เราคิดให้เข้าใจได้ไหม.. ได้ ! แล้วปล่อยวางในอารมณ์ความรู้สึกนั้นได้ไหม.. ได้ ! แต่ชั่วคราว ได้เฉพาะตอนนั้นแหละ

ได้เพราะอะไร.. ได้เพราะมันยังไม่มีสิ่งใดมากระทบ ได้เพราะมันยังไม่มีสิ่งใดโต้แย้ง แต่พอมันไปเจอสิ่งเร้า สิ่งเร้าที่มันมีคุณค่าขึ้นมานะ “ไหนว่าได้ไง.. ได้แล้วทำไมไปยึดมั่นมันล่ะ..” แต่ตอนที่สติมันดีนี่ได้

แต่ถ้ามันเป็นความจริงนะ เวลามันขาดแล้วมันไม่ใช่ได้หรือไม่ได้.. มันไม่ใช่แล้ว เวลามันขาดคือมันขาดไปเลย.. พอมันขาดไปเลย สิ่งนั้นจะเกิดขึ้นอีกไม่ได้เลย จะมีสิ่งใดเร้าก็ไม่เกี่ยว.. สิ่งเร้าคือสิ่งเร้า ไม่เกี่ยวกับใจดวงนี้เลย แต่ถ้ามันไม่ใช่ความจริงนะ พอมีสิ่งใดเร้านี่มันไปไง

ฉะนั้นพอมันไป แล้วพอบอกว่าเราทำความเข้าใจได้ไหมว่าสิ่งนั้นไม่ใช่เรา เราไม่ใช่สิ่งนั้น นี่เราทำความเข้าใจได้ แต่พอเจอสิ่งเร้าไง พอเราเจอสิ่งอะไรมากระตุ้นมันไม่เป็นตามนั้นแล้ว พอมันไม่เป็นตามนั้นแล้ว อย่างนี้เป็นโสดาบันได้ไหม..

แต่ตอนนี้โลกเข้าใจกันว่า.. โลกเข้าใจกันว่าถ้าเรารู้สิ่งนั้นไง เรารู้สิ่งนั้นไม่ใช่เรา เราไม่ใช่สิ่งนั้น เห็นไหม เขาว่าเป็นโสดาบันแล้ว.. นี่ไงเราบอกว่าที่เป็นปัญหากัน มันเป็นปัญหาเพราะอะไร เพราะสิ่งนี้..

ธรรมวินัยนี้พระพุทธเจ้าให้ศึกษานะ ธรรมวินัยเป็นศาสดาของเรา.. นี่ธรรมวินัยเป็นศาสดาเรา ! แต่มันเป็นปริยัติไง ปริยัตินี่เป็นผลไม้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผลไม้ในสวน ผลไม้ในพุทธศาสนา เป็นผลไม้สาธารณะ แต่ผลไม้ของเราไม่มี

“ภวาสวะ.. ภพ..” ภพคือสัมมาสมาธิ ภพคือตัวจิตของเรา พื้นฐานที่เราจะปลูกต้นไม้ไม่มี สมถกรรมฐาน.. ฐานที่ตั้งแห่งการงาน

เวลาเกิดนี่อะไรมาเกิด.. ปฏิสนธิมาเกิด เกิดในไข่ ปฏิสนธิเกิดมาแล้วมีความรู้สึก ความรู้สึกอันนั้น... เพราะตัวจิตตัวนั้น ตัวความรู้สึกอันนั้นมันมาเกิด มันเป็นภพ เวลามันเป็นขึ้นมานี่มันอยู่ที่นั่น

ทีนี้พอมันเกิดขึ้นมาแล้วนี่มันผูกมาจากตรงนั้น นี้เวลาจิตมันสงบเข้ามา.. เวลาจิตสงบเข้ามา นั่นล่ะสัมมาสมาธิ มันจะไปแก้กันที่นั่น ถ้ามันแก้กันที่นั่นมันก็เป็นของจิตดวงนั้น พอเป็นของจิตดวงนั้น นี่ไงส่วนตน ! ส่วนตน ! ส่วนตน !

แล้วส่วนตนนี่.. ถ้าตรงนี้มันเป็นแล้วนะ ตำราก็คือตำรา ตำราที่เราจำมาทางนักวิชาการ เห็นไหม เวลาจะไปสัมมนานี่ต้องรื้อค้นตำราตลอด แต่ถ้าเป็นความจริงแล้วนะ เราจริงอยู่แล้ว เราพูดอย่างไรมันเป็นความจริงอยู่แล้ว แล้วพูดตามความเป็นจริงนั้นถ้าพูดตามความเป็นจริงนั้น มันจะเป็นตามความเป็นจริง.. นั่นล่ะเป็นของจิตดวงนั้น !

แล้วจิตดวงนั้น.. ดูสิเวลาครูบาอาจารย์ของเรา เห็นไหม อย่างเช่นหลวงปู่มั่น หรือครูบาอาจารย์ของเรา ประวัติของท่านแต่ละองค์ๆ นี่มันก็เป็นประสบการณ์ของท่าน ! ประสบการณ์นะ แต่เวลาเราไปศึกษามา.. ศึกษามาเพื่อเป็นคติธรรม เป็นคติให้เรามีกำลังใจ ! ให้เรามีกำลังใจว่าครูบาอาจารย์ท่านทำอย่างนั้น

มันเหมือนกับทางวิชาการ คือมันมีแนวทางเลือกไง เวลาเราไปอ่านประวัติครูบาอาจารย์ขึ้นมานี่เพื่อให้กระตุ้นไง กระตุ้นว่านี่ท่านประสบการณ์อย่างนี้.. ประสบการณ์อย่างนี้.. แล้วประสบการณ์นี้เราเอามาเป็นแบบทดสอบเราได้ เราทำได้ แต่ผลเวลาเกิดนี่ไม่เป็นอย่างนั้น ! ไม่เป็นอย่างนั้น !

พระอรหันต์ล้านองค์นะ ไม่เหมือนกันสักองค์หนึ่งเลย.. ไม่เหมือนกันเลย ! มันเหมือนกันที่ผลที่เป็นพระอรหันต์นะ แต่วิธีการไม่เหมือนกันเลย เวลาทำงานขึ้นมานี่ไม่มีใครเหมือนกัน

ฉะนั้นมันเป็นแบบทดสอบได้ เวลาเราศึกษาประวัติครูบาอาจารย์นี่เป็นแบบทดสอบ แต่ถ้าเราทำแล้วมันจะเกิดกับเรา แล้วยิ่งเกิดกับเราเท่าไร มันยิ่งซึ้งครูบาอาจารย์นะ แล้วประสาเรานะประสาเราว่าเราไม่อยากได้ธรรมะของครูบาอาจารย์ด้วย ถ้าเราได้มาก็คือเราปลอมไง ถ้าคนมันปฏิบัติจริงนะไม่อยากได้ธรรมะของครูบาอาจารย์เลย.. มันอยากได้ของเราไง อยากได้ของเรา.. อยากได้ของจิตดวงนั้นน่ะ !

จิตดวงไหนที่ปฏิบัติเราอยากเป็นจริงไหม เราอยากได้จริงๆ แต่เราไม่อยากได้ของครูบาอาจารย์มาเป็นของเราเลย เพราะได้มานี่มันมีเรากับของครูบาอาจารย์ มันจะปะทะกัน แต่ถ้าได้ของเราขึ้นมานี่มันเป็นของเราขึ้นมาเลย เห็นไหม

“ธรรมะส่วนบุคคล” จะได้ของเราขึ้นมาเลย ของครูบาอาจารย์เป็นแบบทดสอบ เป็นคติธรรม เป็นตัวอย่าง เป็นสิ่งที่เราเอามาเชิดชู เราเคารพบูชากันนะ.. เราเคารพครูบาอาจารย์มาก เรากราบไหว้ครูบาอาจารย์มาก เพราะครูบาอาจารย์นี่ หลวงตาท่านบอกว่าหลวงปู่มั่นเป่ากระหม่อมท่านมา

ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์คอยทดสอบ คอยบอกเรา เราต้องเข้าข้างตัวเองตลอด เราจะหลง ! ทุกคนปฏิบัติไปนี่มันเป็นเรื่องลึกลับ พอจิตเราไปสัมผัส.. นี่ไงที่เขาบอก

เห็นจริงไหม... จริง ! แต่ความเห็นนั้นไม่จริง..

เราเห็นจริงๆ ! เรารู้จริงๆ ! แล้วเราจะไม่เชื่อความรู้เราเหรอ..

แล้วถ้าความรู้นั้นไม่จริง ! ไม่จริงเพราะอะไรล่ะ..

ไม่จริงเพราะผู้รู้ เพราะครูบาอาจารย์ที่ท่านรู้จริงท่านจะบอกเลยว่า นี่พัฒนาการของจิตมันเป็นอย่างนี้ ! เวลามันยึดมั่นกิเลสมันก็ว่ากิเลสเป็นอย่างนั้นๆ พอมันปล่อยเข้ามานี่ มันปล่อยเข้ามา แต่ยังไม่สะอาดบริสุทธิ์ มันเป็นพัฒนาการ.. เป็นพัฒนาการของมัน ระหว่างที่มันจะพัฒนาการ ที่มันจะเป็นมามันจะเป็นอย่างนี้ๆ

ถ้าคนมีประสบการณ์จะรู้ ! พอจะรู้ขึ้นมานี่ พอรู้ขึ้นมานะระหว่างพัฒนาการ.. คำว่าพัฒนาการกับไม่พัฒนาการก็ต่างกันแล้วใช่ไหม คำว่าไม่พัฒนาการคือจิตดิบๆ พอพัฒนาการขึ้นมาก็คือระหว่าง.. ระหว่างที่มันจะเปลี่ยนแปลง แล้วถ้าเราเชื่อมั่นว่าระหว่างที่มันเป็นผลปั๊บนี่ เรายึดอันนั้นปั๊บมันจะถอยไปสู่จิตดิบๆ มันจะเสื่อม

แล้วครูบาอาจารย์ท่านจะห่วงตรงนี้ ห่วงว่าขณะที่มึงไม่พัฒนาขึ้นมานี่มึงก็ทุกข์แล้วนะ ! แล้วมึงพัฒนาขึ้นมานี่ มันกำลังพัฒนาขึ้นมานี่มันนิ่งดีแล้วนะ แต่ ! แต่มันต้องพัฒนาไปอีกไง แต่ถ้าเราไม่รู้นี่เราจะบอกว่าพัฒนานั่นคือเป้าหมายแล้ว.. คือผลแล้ว.. แล้วเราจะเชื่อ

ทีนี้คำว่าระหว่างนี่ มันยังกลับไปสู่ของเดิมได้ใช่ไหม คือมันยังไม่เป็นจริงไง.. ฉะนั้นครูบาอาจารย์ที่ดุ ครูบาอาจารย์ที่คอยชี้นำพวกเรา ตรงนี้แหละ ! ตรงนี้ที่ครูบาอาจารย์ท่านห่วงพวกเรา แล้วครูบาอาจารย์ท่านพยายามจะคอยชี้นำ จะคอยประคองพวกเรา ให้เข้าไปสู่เป้าหมายให้ได้ไง !

นี้ถ้าเราไม่เข้าใจนะเราก็บอกว่าครูบาอาจารย์ดุ.. ครูบาอาจารย์คอยจะฆ่า ! คอยจะฆ่า ! แต่มึงไม่เคยคิดเลยนะว่าระหว่างที่มันพัฒนาขึ้นมา มันจะมีเล่ห์กลอย่างไรของทิฐิมานะของเราเอง เห็นไหม.. เห็น ! รู้ไหม.. รู้ ! แต่ผิดหมด ผิดเพราะมันบวกด้วยกิเลสเรา ผิดเพราะมันบวกด้วยสมมุติบัญญัติ

เวลาครูบาอาจารย์ท่านพูดมันเป็นความจริงนะ แต่เราเอาสมมุติบัญญัติเราเข้าไปเทียบ ไปให้ค่า แล้วเราบอกว่าต้องเป็นอย่างนั้น.. ต้องเป็นอย่างนั้น โดยความเห็นของเราไง “ก็เราเห็นจริงๆ ! อู้ฮู.. เหมือนเปี๊ยะเลย ! ธรรมวินัยของพระพุทธเจ้ายิ่งเหมือนใหญ่เลย ” ทำไมจะไม่เหมือนล่ะ เพราะเราสร้างให้มันเหมือนไง

แต่พอเป็นความจริงขึ้นมาปั๊บ โอ๊ะ ! ไม่พูดสักคำนะ... ไม่พูดสักคำถ้าคนไปรู้นะ เพราะมันพูดไม่ได้ ! มันพูดไม่ได้.. ถ้ามันพูดได้ มันไม่พ้นไปวิมุตติหรอก

มันพูดออกมาเป็นสมมุติบัญญัติไม่ได้ ! เพียงแต่เทียบเคียงให้เห็นเท่านั้น ครูบาอาจารย์ท่านจะเทียบเคียง บอกให้เห็นว่ามันเป็นอย่างนี้ๆ คือมันเทียบเคียงไง แต่จะบอกให้เป็นอย่างนั้น เป็นไปไม่ได้.. ถ้าเป็นไปได้พระพุทธเจ้าบอกแล้ว

ในปัญญาในพุทธศาสนา จะไม่มีปัญญาของใครเหนือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ! ในพระไตรปิฎกไม่มีบอกว่านิพพานเป็นอย่างไร เพราะมันบอกไม่ได้.. บอกไม่ได้ ! แม้แต่พระพุทธเจ้ายังบอกไม่ได้

แล้วสาวกนี่เก่งกว่าพระพุทธเจ้าเยอะมาก เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็บอกว่านิพพานเป็นอย่างนั้น.. นิพพานเป็นอย่างนั้น แต่ไม่เคยเห็นพระพุทธเจ้าบอกนะ นี้ถ้าเป็นกรรมฐานเรานี่ เขาเรียกว่าล้ำหน้าพระพุทธเจ้าไปแล้ว.. พวกนี้ออฟไซด์ ยกธงแดง มันล้ำหน้าพระพุทธเจ้าไปหมดแล้ว

ฉะนั้นถ้าใครรู้จริงขึ้นมาแล้วนี่ พอรู้แล้วก็พยายามจะมาเป็นครูบาอาจารย์ของเรา.. คำว่าครูบาอาจารย์เพราะอะไร เพราะเวลาใครรู้จริงนี่เหมือนคณะกรรมการ เวลาแข่งขันฟุตบอล ถ้ากรรมการเที่ยงธรรมเกมส์นั้นจะมีค่ามาก ถ้ากรรมการนั้นลำเอียงเข้าข้างใดข้างหนึ่ง เกมส์นั้นจะแทบไม่มีค่าเลย

ถ้าครูบาอาจารย์ของเราท่านพยายามเป็นกรรมการ พยายามเป็นผู้ชี้นำให้เราเข้าถึงธรรมนี่ เพื่อให้คุณค่าของศาสนานี้มันสะอาดบริสุทธิ์.. นี่ครูบาอาจารย์ท่านทำตรงนี้ ! ครูบาอาจารย์ของเราไม่ใช่กรรมการขี้โกง จะโกงให้ข้างใดข้างหนึ่งเพื่อจะให้ศาสนามั่นคง.. มันเป็นไปไม่ได้ !

เพราะเวลาอริยสัจ.. ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค สัจธรรม นี่มันเป็นสัจจะ ฉะนั้นถ้ากรรมการขี้โกง มันจะทำให้เกมส์นั้นหรือศาสนานั้นเศร้าหมอง มัวหมอง แล้วเกมส์นั้นสังคมเขาไม่ยอมรับ

แต่ครูบาอาจารย์ของเรานี่สะอาดบริสุทธิ์ แล้วพยายามจะทำให้พวกเราเป็นนักกีฬาที่ดี เป็นสุภาพบุรุษ เป็นผู้ที่ทำแล้วเข้าสู่สัจจะความจริง... นี้คือครูบาอาจารย์ของเรา ! ครูบาอาจารย์ของเรา พยายามจะสร้างพวกเราขึ้นมาให้เป็นศาสนทายาท ให้ศาสนานี้มั่นคง ให้ศาสนานี้เป็นที่พึ่งของสังคม ให้ศาสนานี้เพื่อเป็นที่อาศัยของโลก ! เอวัง