เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๔ ธ.ค. ๒๕๕๓

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๓
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

วันนี้วันพระ.. วันพระเห็นไหม เป็นวัฒนธรรม เป็นประเพณี ชาวพุทธรู้ว่าวันพระ.. วันโกนวันพระ วันโกนก็เตรียมอาหาร วันพระก็ทำบุญ

ทำบุญกุศล เห็นไหม เพราะคนเราเชื่อเรื่องการเกิดและการตาย เชื่อผลของวัฏฏะ การเกิดเป็นผลของวัฏฏะ บุญกุศลพาให้เราเกิด เวลาเราเกิดมาแล้วเราต้องการความสุข เราต้องการประสบความสำเร็จทางชีวิตนะ แต่ความสำเร็จในชีวิตของแต่ละคนมันมีเป้าหมายไม่เหมือนกัน

การประสบความสำเร็จชีวิตทางโลก เห็นไหม เวลาเราประสบความสำเร็จชีวิตทางโลก เวลาเราจะพลัดพราก.. ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด เวลาคนเฒ่าคนแก่ เห็นไหม แก่เฒ่าแล้วเข้าวัดเข้าวาเพื่อหาอริยทรัพย์ เพื่อจะดำรงชีวิตนี้ต่อไปข้างหน้า นี่พูดถึงเวลาเราเฒ่าเราแก่..

แต่ถ้าในปัจจุบันนี้ ถ้าโลกเจริญ ในการปฏิบัตินั้นเจริญ เขาปฏิบัติกันเพื่อที่สุดแห่งทุกข์ แล้วที่สุดแห่งทุกข์นะ สมบัติอันนี้เป็นสมบัติอันประเสริฐ ถ้าสมบัติอันประเสริฐ อยู่ที่คนมีคุณค่ามันถึงจะเห็นสมบัติอันประเสริฐได้ ถ้าคนไม่มีคุณค่ามันไม่รู้จักสมบัติอันประเสริฐ

สมบัติอันประเสริฐ เห็นไหม ความสุขความทุกข์ในหัวใจ ถ้ามีความสุขความทุกข์ในหัวใจ เราพยายามจะหลีกเร้นให้รอดพ้นไปจากความทุกข์ ความทุกข์คืออวิชชา คือความไม่รู้นั่นล่ะคือความทุกข์.. มีความลังเลสงสัย มีความทุกข์

เวลาเป็นพระโสดาบัน นี่สักกายทิฏฐิ ความเห็นผิดในกาย.. พอไม่มีสักกายทิฏฐิ มีสัมมาทิฏฐิความเห็นถูกต้องนะ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส คือความลังเลสงสัยมันสูญสิ้นไปเอง มันสูญสิ้นไปเพราะเราเป็นสัมมาทิฏฐิ เราเห็นความถูกต้องว่าสิ่งนี้เป็นมิจฉาทิฏฐิ นี่พอมีความเห็นถูกต้องความลังเลสงสัยก็หายไป

แต่ในปัจจุบันนี้เรามีแต่ความลังเลสงสัย ศึกษาขนาดไหนก็ศึกษามาด้วยความลังเลสงสัย ความลังเลสงสัยว่ามันจะมีจริงหรือเปล่า มันจะเป็นจริงหรือเปล่า ครูบาอาจารย์ของเราถ้าท่านเป็นจริงแล้วนะทำไมท่านยังฉุนเฉียวขนาดนั้น

ความฉุนเฉียวนะ ความฉุนเฉียวมันเป็นกิริยา ถ้าฉุนเฉียวด้วยกิเลสมันจะฆ่ามันจะแกง แต่ความฉุนเฉียวของพ่อของแม่นะเพื่อความปรารถนาดี นี่การแสดงออกมันหยุดยั้งได้ มันหยุดยั้งสิ่งที่เป็นกิเลสตัณหาความทะยานอยากของผู้ที่ไม่รู้ตัว เห็นไหม นี่สิ่งที่รู้ตัวอยู่ ถ้ารู้ตัวอยู่สิ่งนั้นมันก็แสดงออกไม่ได้ แต่การชี้นำว่านี่อารมณ์รุนแรงๆ ความที่อารมณ์รุนแรงนี้ รุนแรงด้วยธรรมหรือรุนแรงด้วยกิเลสล่ะ

ถ้ารุนแรงด้วยธรรม รุนแรงด้วยธรรมนี่ ความปรารถนาดี ความต้องการให้เป็นคนดี นี่ความปรารถนาที่รุนแรงขนาดนั้น เพื่อจะส่งเสริม เพื่อจะยกย่องเชิดชู แต่ถ้ามันเป็นความรุนแรงด้วยกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ถ้าเป็นกิเลสตัณหาความทะยานอยากความรุนแรงนี้แสดงออกด้วยการเผลอสติ

แต่ถ้ากิเลสตัณหาความทะยานอยากเห็นไหม การที่แสดงออกด้วยความนุ่มนวล.. นี่ดาบอาบน้ำผึ้ง มันทำลายทั้งนั้นล่ะ สิ่งที่มันทำลาย มันจะนุ่มนวลขนาดไหนมันก็ทำลาย มันทำลายอยู่ที่ไหนล่ะ มันทำลายอยู่ที่หัวใจ เห็นไหม มโนกรรม.. สิ่งที่จะมีการกระทำเราต้องมีความนึกคิดก่อน มันเผาตัวเราก่อนนะ.. พอมันตัวเราแล้วมันจะค่อยเผาคนอื่น นี่เราคิดเวลาเราวางแผน เราจะมีความสุขมีความสบายใจไหม กิเลสมันเผาเราก่อน

เวลากิเลสมันเผาเราก่อน เห็นไหม ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “ผู้ใดโกรธ เราเห็นกิริยาที่เขาแสดงความโกรธมา เราโกรธตอบเราโง่กว่าเขา” แต่เวลาสิ่งที่ว่าเวลาเขาโกรธมา นี่เราต้องโกรธตอบเพราะแสดงกิริยาให้เราไม่พอใจ ความไม่พอใจมันก็เกิดขึ้นมา ถ้าเรามีสติยับยั้งนะ แต่ถ้าไม่มีสติยับยั้งมันก็เป็นไฟไปด้วยกันทั้งคู่ การเป็นไฟไปมันก็มีการกระทบกระเทือนกัน

นี่เราเห็นโทษกันขนาดนั้น เราถึงเป็นวัฒนธรรม เราถึงพยายามยับยั้งของเรา พยายามยับยั้งสิ่งที่เราควบคุมมันไม่ได้ ฉะนั้นการยับยั้งคือการฝึกฝน การเสียสละทานนี้คือการฝึกฝน เห็นไหม การเสียสละทานคือดัดแปลงตน การดัดแปลงเห็นไหม ไม้คดเขายังจะดัดแปลงให้เป็นไม้ตรง เขาแค่ลนไฟ เขาพยายามดัดให้ตรง

จิตใจเรานี่มันคดในข้อ มันงอในกระดูก.. จิตใจทุกคนปรารถนาคุณงามความดี แต่กิเลสมันคดในข้องอในกระดูก เราไม่สามารถจะยืดให้มันตรงออกมาได้ แต่ถ้าคนเขาเป็น เห็นไหม ดูสิ เวลาหมอเขาเป็นเขาคลายเส้นของเขาได้ เขาจับเส้นของเขาได้ นี่มันคดในข้อ มันงอในกระดูก จับให้มันคลายออกมา นี่เราใช้สติปัญญายับยั้งมัน จะคลายมันออกมา จะคลายสิ่งนี้ออกมา

สิ่งที่คลายออกมามันมีความพร้อมไหม ถ้ามีความพร้อมนี่เราเสียสละทาน เราทำบุญกุศลของเรานี้เพื่อได้ฟังธรรม พอฟังธรรม ถ้าฟังธรรมนี้มันสะเทือนหัวใจของเรา มันเตือนเรานะ เห็นไหม สิ่งนี้มันรู้ๆ กันอยู่ นี่เรารู้กันอยู่ว่าคนเกิดมาแล้วต้องตาย ทุกคนพูดได้ทุกคนว่าเกิดมาแล้วต้องตาย แต่เวลามันตายจริงๆ ขึ้นมานี่มันสะเทือนหัวใจ เวลาพูดมันพูดเหมือนกับไม่รับผิดชอบไง มันปัดสวะให้พ้นจากหน้าบ้านมันไป

สิ่งใดๆ เวลาถึงที่สุดขึ้นมาแล้ว พอไปเผชิญกับความตายขึ้นมา นี่ทุกข์โศก เศร้าใจ เสียใจ ว่าสิ่งนั้นเราไม่น่าจะประมาทขนาดนี้เลย เราควรจะมีอะไรติดไม้ติดมือมา เห็นไหม ถึงเวลาตายขึ้นมาไม่มีสิ่งใดติดไม้ติดมือไปเลย แต่เวลาเราทำบุญกุศล นี่สิ่งนี้จะติดไม้ติดมือเราไป สิ่งที่เสียสละมานี้เป็นวัตถุ แต่สิ่งที่ได้มาคือหัวใจไง คือความรับรู้ไง

นี่มโนกรรม.. กรรมที่มันตอกย้ำเข้าไปแล้ว เวลาเราฟังข่าวต่างๆ ขึ้นมา เราฟังข่าวนั้นผิดพลาดขึ้นมา เราก็เข้าใจตามนั้นตามที่เวลาเราเข้าใจผิดพลาด เห็นไหม เราฟังขึ้นมาเราผิดพลาด หัวใจนี้ก็เหมือนกัน หัวใจเป็นผู้เสียสละ ถ้าหัวใจไม่คิดเสียสละนะ เราไม่คิดจะกระทำ สิ่งนั้นจะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร

แต่พอเวลาเสียสละนี้เสียสละเป็นวัตถุ สิ่งที่เป็นวัตถุ สิ่งที่เป็นบุญกุศลของเรา เป็นทานของเรานี่จิตใจมันเสียสละขึ้นมา สิ่งนี้มันซับลงมาที่ใจ ซับลงมาที่ใจ.. ใครทำขนาดไหน ทำเสียสละขนาดไหน สิ่งนี้มันซับมา นี่ล่ะสิ่งนี้จะติดตัวเราไป จะติดหัวใจนี้ไป

นี้มันเป็นบุญกุศลนะ ! บุญกุศล.. ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว แต่เวลาเราปฏิบัติขึ้นไปจนถึงที่สุดแล้วนี่มันข้ามทั้งดีและชั่ว สิ่งที่เป็นความดีต้องอาศัยความดีนั้นไป ถ้าอาศัยความชั่วไปไม่ได้ อาศัยความชั่ว ความชั่วมันทำลายเราตั้งแต่เริ่มต้น เวลาคิดขึ้นมานี่มันเผาเราตั้งแต่เริ่มต้นแล้วทำลายผู้อื่นไป.. ความชั่วนี่มันจะอาศัยไปได้ไหม ความชั่วมันมีแต่ดึงลงต่ำ ดึงลงนรกอเวจี แต่ความดีนี่จะดึงขึ้นสูง ดึงขึ้นสูง อาศัยความดีนี้ไป

เราทำความดี เรานั่งสมาธิ เราเดินจงกรม นั่งสมาธิ ภาวนา อยู่โคนต้นไม้ อยู่ที่ไหน เรานั่งของเราสงบเสงี่ยมของเรานี่ เราทำเพื่ออะไรล่ะ เห็นไหม กิริยานี่เป็นกิริยานะ เรานั่งนี้เราเอาหัวใจต่างหากล่ะ เวลาทำขึ้นมา นี่สิ่งที่เราทำกันอยู่นี้เราทำเพื่อหัวใจของเรา ถ้าหัวใจมันสงบร่มเย็นขึ้นมานะ มันมีความสุขของมัน ความสุขอันนี้ไม่ใช่อามิสนะ

เวลาเราทำบุญกุศลขึ้นมา นี่เราทำความพอใจของเรา เราทำแล้วมันมีความอิ่มเอมของเรา อันนี้มันเกิดจากอามิส เกิดจากการกระทำ เกิดจากอามิสมันต้องมีผลตอบแทนมันถึงมีการกระทำมันถึงมีสัมผัส เวลาเราภาวนาของเรา เห็นไหม พุทโธ พุทโธนี่ใจสัมผัสใจ.. แต่เราต้องสัมผัสด้วยวัตถุ เราไม่มีวัตถุไม่มีทรัพย์ วัตถุสัมผัสใจมันหยาบ เห็นไหม มันต้องอาศัยวัตถุที่ใจมันหยาบนั้นมันถึงได้พอใจ แต่เวลาเราปฏิบัติขึ้นมา ถ้ามันมีความขัดแย้งของใจนี่มันพอใจไม่ได้

เขาว่าสมาธิมันมีความสงบร่มเย็น นี่ถ้าสงบมันไม่ได้สงบซักที มันมีแต่ความฟุ้งซ่าน ความฟุ้งซ่านเพราะอะไร เพราะกิริยามันตั้งความสงบ แต่หัวใจมันเอาไฟมาเผามันเองไง แต่ถ้าเราพุทโธ พุทโธของเราไป เห็นไหม ดูสิเวลาเราติดไฟขึ้นมา หน้าที่เรา คือเรารักษาไฟของเราไม่ให้มันมอดมันไหม้ ตบะธรรมมันจะเกิด

แต่นี่จุดไฟนะจุดไม่ติด แล้วเราก็จะพัดให้ไฟมันติดขึ้นมา ให้ไฟมันติดขึ้นมา.. พุทโธ พุทโธก็สักแต่ว่า ทุกอย่างก็สักแต่ว่า มันทำไม่จริงไม่จังขึ้นมา ถ้ามันจริงจังขึ้นมา เห็นไหม นี่จุดไฟติดขึ้นมาแล้ว ถ้ามันพัดขึ้นมา เราจะรักษากองไฟเรา ไฟเรามันจะลุกขึ้นมา ไฟมันจะโชติช่วงขึ้นมา นี่ตบะธรรม ! พอตบะธรรมขึ้นมามันจะมีความสุขของมัน.. แล้วสุขเป็นอย่างไรล่ะ

ถ้าคนไม่เป็นสมาธิพูดเรื่องสมาธิไม่ได้ ถ้าคนไม่เคยมีปัญญาพูดปัญญาไม่ได้ นี่เวลาเป็นสมาธิว่างๆ ว่างๆ ว่างๆ นี้ลมมันก็ว่างทำไมมันไม่มีความสุขเลย ลมมันทำลายคนอื่นไปหมด เห็นไหม ลมมันก็ว่าง สุญญากาศมันก็ว่าง แต่สุญญากาศมันว่างแล้วมันได้อะไรขึ้นมาล่ะ

นี่มันเป็นธรรมะสาธารณะ.. ธรรมะเป็นธรรมชาติ ธรรมะเป็นธรรมชาติ การเกิดและการตายเป็นธรรมชาตินะ ธรรมชาติตรงไหน ธรรมชาติที่เราควบคุมไม่ได้ เราควบคุมไม่ได้เพราะอะไร กรรมดีกรรมชั่ว.. กรรมดีกรรมชั่ว เกิดสูงเกิดต่ำนี้มันเกิดโดยอำนาจของกรรม นี่อำนาจของกรรม แต่อำนาจของกรรม พระพุทธเจ้าสอนไว้นะ คนเราไม่ได้ดีเพราะการเกิด ไม่ได้ดีเพราะชาติ

การเกิดนะไม่ได้ดีเพราะชาติตระกูลไง มันดีที่การกระทำ.. นี่เกิดสูงๆ ต่ำๆ ขึ้นมาก็แล้วแต่ แต่มันมีจิตใต้สำนึก จิตใต้สำนึกของคน เห็นไหม จิตใต้สำนึกของคนที่ทำคุณงามความดีมา แล้วบุญกุศลพาไปเกิดเป็นมนุษย์ แล้วมนุษย์นี้ดูสิ มนุษย์คิดแตกต่างกันไป มนุษย์คิดหลากหลายกันไป แล้วถ้ามนุษย์มีจุดยืนขึ้นมา มนุษย์ที่ดีนะเขาจะชักชวนไปในทางที่ไม่ดีนี่มันไม่ไปหรอก มันละอายใจ

ความละอายใจนี่มันจะรู้ตัวของมัน เขาชักชวนไปในทางที่ไม่ดีมันไม่ไปหรอก แต่ถ้าชักชวนไปในทางที่ดีก็ไป แต่มนุษย์ เห็นไหม บางคนไม่ต้องชักชวนหรอกมันอยากของมันเอง.. นี่ไง นี่พื้นฐานของมัน พื้นฐานของจิต นี่บารมีธรรม ! บารมีธรรม.. ดูสิเราอยากมีเชาว์มีปัญญา มีเชาว์ปัญญามาจากไหนล่ะ มีการศึกษาแล้วก็ว่าฉลาด คนศึกษาขนาดไหนนะ ในสังคมทุกสังคมมีทั้งคนโง่และคนฉลาด ฉลาดมากหรือฉลาดน้อยนี่แล้วแต่บุญกุศลของเขา

นี่ก็เหมือนกัน เราทำของเรา เราอยากมีความฉลาดของเรา เห็นไหม เรานั่งภาวนาพุทโธ พุทโธ.. เขาบอกพุทโธนี้มันไม่มีปัญญา ไม่มีปัญญา ถ้ามันพุทโธขึ้นมา คนเราสำนึกถึงตัวเอง คนนั้นเป็นคนดีทุกคนแหละ

คนเรานี่ลืมตัว ! ลืมตัว ! มันฉลาดขนาดไหนมันก็เผาตัวมันเอง แต่ถ้าเราพุทโธ พุทโธ จิตมันมีหลักของมันใช่ไหม ทำดีก็รู้ว่าดี ทำชั่วก็รู้ว่าชั่ว มันรู้ตั้งแต่อยากกระทำ เพราะมันมีสติปัญญา มันสำนึกตัวมันเอง สำนึกเพราะอะไร สำนึกเพราะมันมีสติปัญญาของมัน สติ นี่พุทโธ พุทโธ มีสติของมัน.. มีสติของมัน นี่สติตัวนี้ ! ตัวมีสติ..

“ภิกษุทั้งหลาย.. เธอจงพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่เวลาธรรมครั้งสุดท้าย เห็นไหม “เธอจงพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด” เรามีสติปัญญา เรามีสติ เรากำหนดพุทโธของเรา.. สติเห็นไหม มีสติมีปัญญานี่มันตรงข้ามกับความประมาท ถ้าความประมาทชีวิตมันก็ไหลไปตามอำนาจของมัน ชีวิตไหลไปตามกระแส แต่ถ้ามันเป็นของเรานะเราฝืนเขา.. เราฝืนเขา

โลกเขาเป็นอย่างนี้ โลกเขามีการเอารัดเอาเปรียบกัน โลกเขาต้องต่างๆ กันไป.. นี่เราก็อยู่กับเขา ถ้าเรามีอำนาจวาสนาสิ่งนั้นจะไม่เกิดกับเรา สิ่งนั้นมันจะมีการแก้ไขของมันไปได้ แต่ถ้าสิ่งที่มันมานั้นเป็นเวรเป็นกรรมนั่นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าเรามีปัญญาของเรา เราแก้ไขของเราได้ นั้นมันอยู่ที่เวรที่กรรมๆ ถ้าอยู่เวรกรรมไม่ใช่บอกว่ากรรมๆ เป็นกรรมก็ต้องปล่อยมันไปตามกรรม

“กรรมดี-กรรมชั่ว” กรรมคือการกระทำ กรรมคือการกระทำ ทำดีทำชั่ว.. ถ้าทำดีทำชั่วมา นี่กรรมคือการกระทำ ไม่ใช่ว่ากรรมแล้วมันต้องเป็นอย่างนั้นไป เห็นไหม ถ้าทุกอย่างมันเป็นของตายตัวนะพระอรหันต์เกิดไม่ได้

คนเราเกิดมาด้วยอวิชชา คนเราเกิดมาเป็นปุถุชนทั้งนั้นแหละ แล้วมันภาวนาอย่างไร มันพ้นจากกิเลสไปได้อย่างไร มันทำได้.. มันทำได้ กรรมดีไง ทำความดี นี่กรรมดีมันจะพลิก ! พลิกวิกฤติ พลิกต่างๆ ที่เราเป็นอยู่นี้ให้มันเปลี่ยนแปลงได้.. ถ้ามันเปลี่ยนแปลงได้เพราะอะไร เพราะสติปัญญาของเรา

สติปัญญาของเรานะ ถ้ามันถึงที่สุด เห็นไหม เราอยู่กับโลกไง โลกเขาจะเอารัดเอาเปรียบขนาดไหน แต่ถ้าเราอยู่กับเขา เราอยู่กับเขาโดยที่ไม่ติดเขา แต่ต้องอยู่กับเขาเพราะเราเกิดมากับโลก คนเกิดมาเป็นมนุษย์มีพ่อมีแม่ มีชาติมีตระกูลทั้งนั้นล่ะ แต่ชาติตระกูลก็คือชาติตระกูล เห็นไหม แล้วทุกคนถึงชราคร่ำคร่าแล้วมันก็ต้องพลัดพรากจากไป เราอยู่ในชาติตระกูลด้วย แล้วเราถึงจิตใจของเราด้วย เราจะมีสิ่งใดพึ่งพาอาศัยของเราด้วย เราจะมีหลักเกณฑ์อะไรของเรา เห็นไหม

หลักเกณฑ์อะไรของเรานะ นี่มันเกิดแล้วต้องตาย ตายแล้วต้องเกิดตลอดไป ถ้าตลอดไปนะ แล้วความเกิดความตายนี้เราก็ว่ามันเป็นเวรเป็นกรรมที่เราไม่รู้ได้.. รู้ได้ต่อเมื่อเป็นเรานี่แหละ แต่เวลามันสุขมันทุกข์ล่ะ เวลามันไฟสุมขอน มันเผาหัวใจนี่ทุกคนรู้ได้ แล้วถ้าทุกคนรู้ได้ แล้วเราไม่ต้องการให้ไฟสุมขอนเรา เราไม่ต้องการให้ไฟหัวใจนี้มันเผาเรา นี่เราจะแก้อย่างไร

ถ้าแก้อย่างไร.. นี่เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก นี่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาองค์เดียว นี่เป็นผู้สอนตั้งแต่เทวดา อินทร์ พรหมลงมา แล้วสอนให้พวกเรานี้รักษาใจให้ได้ แก้ไขใจให้ได้

พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งพุทธะ พุทธะ.. ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เรายังหลับใหลอยู่นะ จิตใจยังหลับใหลอยู่กับความไม่รู้ อวิชชาในหัวใจของตัวมันปิดกั้นไว้ แล้วก็หลับใหลออกมาแต่สังคมโลก สังคมโลกเขากำลังหาอยู่หากินกัน เขาพยายามจะมีชื่อเสียงเกียรติคุณกัน เราก็จะไปแข่งขันกับเขา

แต่ถ้ามันพอนะ.. เรารู้ว่าเราต้องการอะไร ชีวิตเราต้องการอะไร เรารู้ว่าเราอยู่กับโลกอยู่เพื่ออะไร เรารู้ของเรา เรามีสติปัญญาของเรา นี่เขาเร่าร้อนนัก เราก็อยู่กับเขาแต่เราก็ไม่เร่าร้อนไปกับเขา แต่ในเมื่อมีอยู่ เห็นไหม สิ่งที่มีอยู่มันก็ต้องโดนแผดเผาเป็นธรรมดา

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ เป็นศาสดาของเรา เวลาจะปรินิพพาน เห็นไหม “อานนท์ ! ตักน้ำเถอะ เราหิวกระหายเหลือเกิน เราต้องการน้ำดื่มเพื่อประทังความหิวกระหาย” ในเมื่อมีร่างกายอยู่ ในเมื่อยังมีสอุปาทิเสสนิพพาน ยังมีร่างกาย มีธาตุขันธ์อยู่ มันต้องมีการบำรุงรักษา มันต้องมีการดูแลเยียวยากันไป

แต่หัวใจ.. หัวใจมันเป็นเรื่องของหัวใจนี้อีกเรื่องหนึ่ง ในเมื่อมี เราเกิดกับโลกก็เหมือนกัน เราอยู่กับเขามันมีทั้งนั้นแหละ เรื่องความกระทบกระเทือนกันต้องถึงแน่นอน แต่ ! เรารักษาหัวใจเราได้ไหม เราวางไว้ได้ไหม เราดูแลได้ไหม ถ้าเราฝึกเราหัดขึ้นมาเราทำได้ ถ้าเราไม่ฝึกไม่หัดของเรามามันจะเผาลนไปหมดเลย มันเผาลน เห็นไหม

แล้วก็มารยาทสังคมว่าสบายดีไหม.. สบายดีไหม แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถามว่า “ทนได้ไหม.. ทนได้ไหม เธอยังทนอยู่ได้ไหมชีวิตนี้.. เธอยังจะทนอยู่ได้ไหม เธอยังจะรักษาอยู่ได้ไหม ถ้าเธอยังทนอยู่ได้มันเป็นอย่างนี้เอง ของมันเป็นอย่างนี้เอง”

แต่ ! แต่ถ้ามันเป็นอย่างนี้เอง โดยปฏิเสธโดยไม่เข้าใจก็ไม่ได้สิ่งใดเลย.. มันเป็นอย่างนี้เอง ทำไมถึงเป็น มีเหตุมีผลอย่างไรถึงเป็น แล้วเป็นแล้วเราจะปลดเปลื้องมันอย่างไร พอปลดเปลื้องจบแล้วมันถึงเป็นอย่างนี้เอง..

แต่ถ้าไม่ได้ปลดเปลื้องเลยไม่ใช่เป็นอย่างนี้เอง ! เราเป็น.. เราเป็น.. เราเป็น.. แต่อ้างกันไป แต่ถ้าถึงที่สุดแล้วนะมันคือเป็นอย่างนี้เอง เพราะเราปลดเปลื้องแล้ว เราแก้ไขแล้ว เป็นความจริงในหัวใจแล้ว เราถึงจะมีที่พึ่ง

วันพระ.. วันพระ เห็นไหม พระเป็นผู้ประเสริฐ หัวใจเราถ้ามีหลักมีธรรมมันจะประเสริฐ วันพระเป็นผู้ประเสริฐ.. พระแปลว่าความประเสริฐ หัวใจเราประเสริฐแล้ว เรามีที่พึ่งที่อาศัยของเรา เรามีที่พึ่งที่อาศัย มีที่เกาะนะ ไม่อย่างนั้นมันเร่ร่อน.. วันพระเราทำบุญกุศลของเรา เพื่อหัวใจของเรา เพื่อพุทธะในหัวใจของเรา เอวัง