ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ภพในภพ

๒๖ ธ.ค. ๒๕๕๓

 

ภพในภพ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

มันข้อ ๒๙๙.

ถาม : ๒๙๙. เรื่อง “จิตที่มีกำลังและส่งออกไปจับสิ่งต่างๆ แล้วให้ค่าชอบ-ไม่ชอบจึงเกิดภพใช่ไหมครับ”

หลวงพ่อ : อารัมภบทก่อนเลยนะ มันต้องมาที่นี่ก่อน นี้การพิจารณาของเขา

ถาม : หลวงพ่อ.. วันหนึ่งผมเดินจงกรมแล้วปรากฏภาพ (ขออภัย) เป็นอุจจาระแห้งขึ้นมา โดยปกติเวลามีภาพเกี่ยวกับกายขึ้นมา ผมจะพิจารณาไปข้างหน้าตลอด เช่นมีกระดูก ผิวหนัง ก็จะพิจารณาไปข้างหน้าก็จะเห็นว่ามันแห้ง กรอบ ผุพัง เป็นเศษเล็กๆ แล้วเป็นผงปลิวหายไป แต่วันนั้นไม่ทราบว่าเป็นอย่างไรอยากพิจารณาย้อนกลับไปข้างหลังบ้าง ก็พบว่าจากอุจจาระแห้งเป็นอุจจาระเหลว แล้วเป็นเศษอาหารเล็กๆ ป่นชุ่มด้วยน้ำลาย แล้วกลายเป็นเม็ดข้าวในปาก แล้วกลายเป็นต้นข้าวที่ปลูกอยู่ข้างบ้านผม พิจารณาต้นข้าวเข้าไปเห็นว่ารากมันกำลังดูดน้ำสกปรกที่อยู่ในดิน ใจก็สงสัยว่าน้ำอะไรหนอ มันมาจากไหนช่างสกปรกแท้ ทันใดนั้นเองภาพอุจจาระแห้งที่ปรากฏตอนแรกกลายเป็นผงแล้วก็ลอยไปในดินผสมกับขี้ดิน แล้วรากต้นข้าวก็ดูดเศษดินเล็กๆ และเศษอุจจาระแห้งเล็กๆ เหล่านั้นไปทุกๆ ส่วนของต้นข้าว ซึ่งรวมถึงเม็ดข้าวด้วย แล้วเม็ดข้าวที่ประกอบด้วยดินสกปรกนั้นก็กลับมาอยู่ที่ปากของผม แล้วกลายเป็นเม็ดข้าวแตกหักที่ปาก แล้วพอตกไปถึงท้องมันระเบิดกระจายออกไปเร็วมากแบบมองแทบไม่ทัน กลายเป็นทุกส่วนของตัวผมเป็นดินสกปรก ไม่เว้นแม้กระทั่งน้ำลายและเลือดยังกลายเป็นดินสกปรกเลยครับ

หลังจากวันนั้นหากผมทำสมาธิแล้วถ้าภาพกายไม่ปรากฏขึ้น ผมมักใช้วิธีเอาจิตไล่ไปตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่นไล่มาที่กะโหลก โหนกแก้ม ส่วนใหญ่จะเห็นและรู้สึกว่ามันประกอบขึ้นมาจากดินสกปรก ก็รู้สึกปลอดโปร่งดี เพราะเหมือนจิตยอมรับได้ว่าตัวเราไม่ได้วิเศษอะไรเกินจากดินสกปรกๆ จิตนั้น.. จิตไม่เห่อเหิมลุ่มหลงทะยานอยากไปมากมาย

พักหลังนี้เวลาเดินจงกรม ถ้าเห็นกายทั้งตัวเป็นดินทุกส่วน ตาที่ลืมอยู่นี้จะเห็นสิ่งแวดล้อมเป็นดินไปหมด จิตนี้เหมือนไม่ยึดติดอะไรที่เป็นดินสกปรก มันจะหดตัวเข้ามาเลยเหลือแต่จิต กายและสิ่งแวดล้อมเช่นบ้าน รถ ต้นไม้ที่ตาเห็นจะหายไปด้วย ผมจึงมีคำถามเรียนถามหลวงพ่อว่า

๑.การที่กายและสิ่งแวดล้อมที่จิตเห็นครั้งแรกว่าเป็นดินสกปรกนี้หายไป แสดงว่าจิตปล่อย จิตไม่สนใจสิ่งที่เป็นดินสกปรกมันจึงหดกลับมาเป็นตัวจิตของมันเองใช่หรือไม่ครับ

หลวงพ่อ : นี่วิธีการปฏิบัติ สิ่งที่เขาพิจารณามาเวลามันปล่อย เห็นไหม สิ่งที่มันปล่อยนะเป็นดินสกปรกเป็นอะไรนี่ พอเวลาจิตมันปล่อยมันไม่สนใจสิ่งสกปรก มันหดเข้ามาที่ตัวจิตใช่ไหมครับ.. ใช่ !

เวลามันปล่อย.. คำว่ามันปล่อย เวลาพิจารณานี่พิจารณาไปข้างหน้า เราเคยพิจารณาไปข้างหน้า เราไม่เคยพิจารณาไปข้างหลัง พอพิจารณาคือย้อนกลับไง เวลาอุปัชฌาย์สอนพระ เห็นไหม เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ ให้ย้อนหน้าย้อนหลัง ให้ย้อนกลับไง เพราะถ้าเราพิจารณาหน้าเดียวกิเลสมันจะรู้ทัน มันจะหลอกลวงเราได้ ถ้าเราย้อนกลับบ้างมันจะทำให้เรามีทางแยกแยะได้

ฉะนั้นเวลาเราพิจารณาไปแล้ว พิจารณาไปข้างหน้าแล้วย้อนกลับ พอย้อนกลับนี่เราไม่เคยทำ เราไม่เคยทำหรือนานๆ ทำหนหนึ่ง เวลาเราเปลี่ยนวิธีการขึ้นมากิเลสมันกลับตัวไม่ทัน กิเลสมันไม่ทันที่จะมายับยั้งได้ มันก็ปล่อย พอมันปล่อยนี่จิตมันหดกลับมาที่ตัวมันใช่ไหม.. ใช่ ! จิตมันหดกลับมาที่ตัวมัน พอหดกลับมาที่ตัวมัน เห็นไหม นี่สมาธิอบรมปัญญา ปัญญาอบรมสมาธิ.. ถ้ามีสมาธิ เวลามีสมาธิเราใช้ปัญญาพิจารณา แล้วถ้ามันปล่อย นั้นเป็นวิปัสสนา แต่ถ้าเราใช้สามัญสำนึกเรา เวลาพิจารณาเรายังจับต้นชนปลายไม่ได้นี่เป็นปัญญาอบรมสมาธิ

มันมีปัญญาอบรมสมาธิ กับปัญญาวิปัสสนา.. ปัญญาอบรมสมาธิคือปัญญาสามัญสำนึก ปัญญาของเรานี่ ในปัจจุบันนี้เราใช้ปัญญาพิจารณาเลย เขาบอกพิจารณาไม่ได้เพราะยังไม่มีสมาธิ พิจารณาแล้วมันฟั่นเฟือน แต่ถ้าเรามีสติขึ้นมามันใช้ปัญญาอย่างนี้พิจารณาได้ แล้วมันก็ปล่อยเข้ามา ทีนี้คำว่าปล่อยเข้ามา เห็นไหม นี่มันปล่อยเข้ามา มันหดตัวเข้ามาใช่ไหม.. ใช่ ! แล้วหดตัวเข้ามานี่มันมีระดับของมัน ถ้าโดยที่เรายังไม่มีสมาธิอยู่ นี่ใช้ปัญญาขนาดไหน ตรึกในธรรมะพระพุทธเจ้าขนาดไหน ตรึกไปแล้วนะมันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ

เวลามันปล่อยเข้ามา นี่ปล่อยเข้ามาใช่ไหม.. ใช่ !

ถาม : ๒. แสดงว่าหากจิตรวมอยู่เฉพาะจิต จิตไม่ออกจับต้องและให้ค่าสิ่งแวดล้อมต่างๆ ว่าชอบ-ไม่ชอบ ภพก็ไม่เกิดใช่ไหมครับ

หลวงพ่อ : ข้อนี้ผิด ! เห็นไหม ข้อแรกถูก ข้อแรกที่ว่าจิตเวลามันพิจารณาแล้วมันปล่อยเข้ามาใช่ไหม.. ใช่ ! ทีนี้พอปล่อยเข้ามาแล้วนี่ความเข้าใจ ความเข้าใจว่าถ้าจิตมันปล่อยเข้ามาแล้ว พอมันปล่อยทุกอย่างแล้วแสดงว่าภพมันก็ไม่มีสิ..

นี่เขาถามนะ ข้อ ๒. แสดงว่าหากจิตรวมอยู่เฉพาะจิต จิตไม่ออกไปจับต้องและให้ค่าสิ่งแวดล้อมต่างๆ ว่าชอบ-ไม่ชอบ ภพก็ไม่เกิดใช่ไหม

ถ้าเราตอบว่าใช่นะจบเลย เพราะว่ามันปล่อยวางมาแล้วนี่มันว่างหมดไม่มีอะไรเลย ภพไม่มีใช่ไหม.. ไม่ใช่ ! มี.. ภพในภพนะ สามัญสำนึกภพของเรา.. ถ้าครูบาอาจารย์เวลาท่านพูดนะ “เวลาความคิดเกิดหนึ่งนี่ จิตเกิด เห็นไหม เกิดดับ.. มีความคิดหนึ่งเกิดหนึ่งนั่นคือภพหนึ่ง” ภพน้อย ภพใหญ่.. มหาภูตรูปคือรูปของร่างกาย นี่รูปจากภายนอก-รูปจากภายใน

ทีนี้ถ้าครูบาอาจารย์ไม่เคยปฏิบัติมามันก็ต้องว่าภพก็คือภพ ภพก็ตายตัวไง แต่เวลาปฏิบัติขึ้นมาแล้วนี่ภพในภพ ! ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ.. ความหยาบ ละเอียดของภพ ! แล้วถ้าภพมันละเอียดขนาดไหนก็แล้วแต่ เวลาบอกว่าไม่ยึดมันไม่มีสิ่งใดเลย.. มี ! ภพน้อย ภพใหญ่.. ภพในภพมันซ้อนกัน สมาธิก็เป็นจิตกับมันนั่นล่ะคือตัวภพ แต่มันไม่รู้จักตัวมันเอง พอมันไม่รู้จักตัวมันเองนี่ มันมีภพ

ภวาสวะนี่แหม.. เรื่องภพนะ นี้ว่าพอมันปล่อยเข้ามานี่มันไม่ภพ.. มันปล่อยเข้ามามันก็หดเข้าตัวของมัน เหมือนกับผู้ร้าย โจรผู้ร้ายมันปล้นมันจี้แล้วมันหนีไป ผู้ร้ายไม่มีใช่ไหม มันไม่มีแล้ว มันหายไปแล้ว ผู้ร้ายมันปล้นเสร็จแล้วมันก็กลับไปบ้านมันแล้ว ผู้ร้ายไม่มีใช่ไหม.. มี มันกลับไปอยู่บ้านมัน

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่ความคิดเกิด.. สิ่งที่เกิดนี่ภพไม่มีใช่ไหมมันปล่อยมา ปล่อยมาแล้วมันเหลืออะไร.. มันเหลืออะไร มันไม่เหลืออะไร มันยังไม่เห็นไง แต่ถ้ามันปล่อยมานะ เวลาถ้ามันเป็นความจริงนี่มันมีภพ เพราะอะไร เพราะเวลามันปล่อยหมดแล้วเดี๋ยวมันก็คิดอีกใช่ไหม เพราะมันปล่อยแล้วเดี๋ยวมันก็มาอีก แต่สิ่งที่มันมานั่นล่ะคือตัวมัน สิ่งที่มันมาแต่มันมาเป็นเรานะ

นี่ถึงบอกว่าเวลาปัญญานะ.. ปัญญาขั้นโสดาบัน ปัญญาขั้นสกิทาคา ปัญญาขั้นอนาคานี่เป็นความคิด ความคิดเกิดจากจิต.. หลวงตาบอกว่าในวิปัสสนาญาณมันก็เป็นสังขารเหมือนกัน สังขารความคิดความปรุงความแต่ง ความคิดสามัญสำนึกเรานี้มันบวกด้วยอวิชชา บวกด้วยความรู้ความเห็นของเรา บวกด้วยทิฐิมานะของเรา เราชอบเราก็ว่าถูก เราไม่ชอบเราก็ว่าผิด อะไรไม่ชอบก็ว่าไม่ดี อะไรชอบก็ว่าดี เห็นไหม อย่างที่ว่าอุจจาระๆ นี่มันเป็นปุ๋ยนะต้นไม้มันชอบ แต่คนมันไม่ชอบ โฮ้.. เขาขายปุ๋ยเขารวยนะ ฉะนั้นสิ่งที่ว่าไม่ชอบนี่ภพเกิดใช่ไหม แล้วถ้าไม่ชอบล่ะ ไม่ชอบมันเพราะไม่มีเหรอ.. มันมีของมัน

ทีนี้คำว่าภพนี่เวลาขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ.. เวลาวิปัสสนา เวลามันปล่อยเข้ามา ปล่อยเข้าไปบ่อยครั้งเข้า เดี๋ยวก็คิดอีก พอคิดอีกเราก็พิจารณาซ้ำเข้าไป ซ้ำเข้าไป มันจะละเอียดเข้าไป ละเอียดเข้าไปจนถ้ามันทำลาย คำว่าทำลายนะเราจะบอกว่าโสดาบันก็ต้องทำภพ ทำลายภพๆ หนึ่งเหมือนกัน จิตมันมีสถานะ.. ถ้าเป็นปุถุชนมันจะเวียนตายเวียนเกิดไม่มีต้นไม่มีปลาย คือมันจะเวียนไปแบบธรรมชาตินี่ไม่มีขอบเขต ไปตามอำนาจของกรรมดีและชั่ว พอเป็นโสดาบันตูม.. มันไม่ไปอีกแล้ว มันไม่ไป เพราะมันเกิดอีก ๗ ชาติเท่านั้นไง คือมันไปนะแต่มันมีขอบเขต

พระโสดาบันนี้มีขอบเขตแล้วนะ คือจิตนี้อย่างมากเกิดอีก ๗ ชาติต้องเป็นพระอรหันต์แน่นอน เขาเรียกว่าพระโสดาบันคือพาดกระแส คือจิตนี้มันเข้าสู่ธรรมแล้ว ถ้ามันเกิดตายๆ นี่ถึงที่สุดมันต้องสิ้นสุดแห่งทุกข์ในอีก ๗ ชาติไม่เกินนั้นเลย เห็นไหม กับถ้าเป็นปุถุชนนี่มันไม่มีขอบเขต ฉะนั้นพอไม่มีขอบเขต.. คำว่าภพนี่ระหว่างที่ว่ามีขอบเขตและไม่มีขอบเขตมันแตกต่างกันแล้ว เวลามีขอบเขตและไม่มีขอบเขตแตกต่างกัน

นี่ไงมันทำลายภพของที่มันไม่มีขอบเขตไปแล้ว มันมีขอบเขตละ แล้วพอทำลายอีกทีหนึ่ง ทำลายอีกทีหนึ่งพระอนาคาไปเป็นพระสกิทาคานี่มันก็เข้าไปอีกภพหนึ่ง ภพละเอียดเข้าไป เห็นไหม เวลาทำลายพระอนาคาทำลายนี่มันไม่เกิดบนกามภพแล้ว มันก็ยังมีภพละเอียด ภพละเอียดคือภวาสวะ คือจิตเดิมแท้นั้นผ่องใส ถ้าทำลายตัวนี้ปั๊บเป็นพระอรหันต์.. นี่มันภพในภพ ! นี้เขาจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจล่ะ

มันไม่มีตำรานะ หลวงพ่อพูดนี่มันไม่มีตำราเลย เอาจากไหนมาพูดมันผิดพระไตรปิฎก.. ไม่ผิด ! ตำราสอนมาที่นี่แหละ แต่มันเป็นภาษาที่เราเข้าใจไม่ได้ แต่ถ้าเราเข้าใจได้เราจะรู้เลยว่าถ้าจิตมันหดเข้ามาแล้วมันไม่เกิดภพใช่ไหม.. ถ้าเวลาเขาถามปัญหาธรรมะกัน แค่นี้เขาจะรู้เลยว่าจิตนี้มันเป็นหรือไม่เป็น ถ้าจิตเป็นหรือไม่เป็นนี่มันจะพูดไง คำพูดอย่างนี้ปั๊บนี่ที่บอกว่า ถ้ามันจะได้ผล..

นี่ข้อ ๒. นะ “แสดงว่าหากจิตรวมอยู่เฉพาะจิต จิตไม่ออกไปจับต้องและไม่จับสิ่งใด มันจะไม่มีภพใช่ไหม”

ไม่ใช่.. มีภพตลอดไปจนสิ้น ! เราถึงบอกว่าพระอรหันต์ไม่มีจิตไง.. ภพคือจิต ภพคือสถานะธาตุรู้ ธาตุทำลายภวาสวะ.. กิเลสสวะ อวิชชาสวะ ภวาสวะ นี่อาสวะ ๓ ! อวิชชาสวะ กิเลสสวะนี่รู้ได้ ภวาสวะภพที่มันมีนี่รู้ไม่ได้ แต่ถ้าทำลายตรงนี้ปั๊บ จบ !

อันนี้เป็นเรื่องภพนะ นี่เราไปจับเฉพาะตรงนั้น ไอ้ที่เราพูดเรื่องอาสวะ ๓ เรื่องภพเรื่องชาติต่างๆ นี้เพื่อยืนยัน เพื่อยืนยันกับผู้ที่แบบว่าพวกที่ตีกิน เวลาตีกินนี่ว่างๆ ไม่มีอะไรเลย.. ไม่มีอะไรเลยนี่ใครเป็นคนพูด ใครเป็นคนพูดว่าไม่มีอะไรเลย ใครเป็นคนรู้ว่าว่าง ใครเป็นคนอธิบายออกมา นั่นคือภพทั้งนั้น นั้นเพียงแต่ว่าพูดออกไปอย่างนั้นแต่วิธีการ วิธีการจะเข้าไปทำลายมัน วิธีการจะเข้าไปจัดการกับมันนี่มันมีของมัน

คนไม่เป็นพูดไม่ได้ จะศึกษามาขนาดไหนก็พูดไม่ได้ การศึกษา การกระทำนี่พูดไม่ได้ แต่เวลาปฏิบัตินี้ผิดถูกไม่สำคัญ “ผิด ถูก” คำว่าไม่สำคัญ ไม่สำคัญคือว่ามันต้องมีการฝึกหัดไง ถ้าเรากลัวผิดอยู่เราไม่ทำอะไรเลยนี่เราจะถูกไม่ได้ ทำทีเดียวแล้วถูกมันก็ก้อปปี้มาเท่านั้นแหละ แล้วไม่ได้ด้วย ไม่มีด้วย

ถาม : ๓. ในขณะที่จิตหดเข้ามา ผมสังเกตได้ว่ากำลังของจิตมันแรงไม่มีตกลงไปเลย มันพยายามจะวิ่งออกไปข้างนอกไม่ให้จิตรวม ตัวผมก็พยายามฝืนเอาไว้จะให้จิตมันรวมอยู่แต่สู้ไม่ไหว พอจิตมันกระจายออกไปได้ มันให้ค่าสิ่งแวดล้อมแบบเป็นชุดๆ เลย เช่นรถสีนี้สวยชอบ บ้านหลังนั้นเก่าไม่ชอบ ดอกไม้อันนี้ชอบ แล้วกลายเป็นผมคนเดิมคือเคยเห็นกายเป็นดินสกปรกก็ไม่เห็นแล้ว สิ่งที่มันเกิดจากกำลังแรงของจิตหรือกิเลสในใจมันหนาอยู่ แล้วเราต้องทำอย่างไรต่อไปครับ จิตจึงจะรวมอยู่ได้ ไม่ส่งออกไปสร้างภพเพราะมันสร้างภพแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ต่อให้กายนี้ตายไป ธรรมชาติของจิตมันก็ไม่หยุดสร้างภพแน่ มันต้องหมุนไปในวัฏฏะ ก็ทุกข์ร้อนกันไปไม่จบสิ้น

หลวงพ่อ : นี่คำถามอันนี้ เห็นไหม คิดว่าพอจิตไม่ออกไปสร้างมันก็ไม่มีภพ พอไม่มีภพมันก็สิ้นกิเลส.. นี่ปัญญามันคนละปัญญาไง ปัญญาเราคิดนี่ เราไปคิดเป็นสูตรสำเร็จ มันเป็นวิทยาศาสตร์ ในธรรมของพระพุทธเจ้า ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารื้อภพรื้อชาติ นี้ภพชาติมันเป็นภวาสวะเป็นภพ นี่เป็นฐานของความคิด เป็นฐานของพลังงาน อันนี้ภพหนึ่งนะ แต่เวลาภพของมนุษย์นี้เป็นอีกภพหนึ่ง ฉะนั้นเวลาเราคิดว่าเราใช้ปัญญา พอยับยั้งไม่ให้มันคิดมันก็ไม่มีภพ ไม่มีภพเราก็บรรลุธรรมไง

แต่ความจริงมันไม่ใช่ ความจริงคือมันพิจารณา ทำลายล้าง จิตมันรวมลงนี่ธรรมจักรมันเคลื่อน จักรมันหมุนเข้าไป นี่วิปัสสนามันเกิดตรงนี้ ที่ว่าสติปัฏฐาน ๔ เราถึงได้บอกว่า สติปัฏฐาน ๔ พูด สติปัฏฐาน ๔ ตำรานี่มันไม่มีจริงไง สติปัฏฐาน ๔ โดยที่เขาพูดกันอยู่มันไม่มีอยู่จริง มีอยู่จริงต่อเมื่อจิตเป็นสัมมาสมาธิ แล้วพอจิตมันพิจารณา นี่ที่พิจารณาเห็นจนเป็นอุจจาระ เห็นไหม เวลาพิจารณาเข้าไปแล้วมันใช้กำลังของมัน มันใช้ปัญญาของมัน พอพิจารณาไปแล้วมันปล่อย นี่สดชื่นมาก ดีมาก ว่างมากแต่เดี๋ยวมันก็เกิดอีก

เขาเรียกตทังคปหาน การใช้ปัญญาชั่วคราว ตทังคปหานมันไม่ใช่สมุจเฉทปหาน แต่สมุจเฉทปหานนี่เราก็ต้องพิจารณาซ้ำเข้าไปอีก พิจารณาอย่างเดิมพิจารณาอุจจาระนี่แหละ พิจารณาอุจจาระ หรือพิจารณาเส้นผม พิจารณาอะไรก็ได้ที่จิตมันจับ แล้วพิจารณาบ่อยครั้งเข้านี่มันเป็นการฝึกจิต การฝึกจิตคือหัดใช้ปัญญา ปัญญาการใช้ปัญญา ปัญญาในการวิปัสสนาในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม

สติปัฏฐาน ๔ มันเกิดตรงนี้ ! สติปัฏฐาน ๔ มันเกิดต่อเมื่อจิตสงบแล้วจิตออกวิปัสสนา จิตออกใช้ปัญญา นี้ถึงเป็นสติปัฏฐาน ๔ โดยข้อเท็จจริง แต่สติปัฏฐาน ๔ โดยความคิดของเรานะ นี่กายเป็นอย่างนั้น พิจารณาเป็นอย่างนั้น.. อันนั้นมันเป็นปัญญาอบรมสมาธิไม่ใช่สติปัฏฐาน ๔ นั้นพอมันสงบเข้ามา เห็นไหม มันนิ่งแล้วมันมีกำลังของมัน แล้วมันจะพุ่งออก.. มันพุ่งออกอยู่ธรรมชาติ มันพุ่งออกอยู่แล้ว เพราะอย่างเช่นเราทำอาหารใช่ไหม ถ้าเราใส่เครื่องไม่สมบูรณ์รสก็จืด เราใส่ปานกลางรสก็กลมกล่อม เราใส่มากเกินไปรสก็เข้มข้นจนกินไม่ได้

วิปัสสนานี่.. พอเราทำอาหารนี่เราใช้ปัญญา รสชาติมันพอปล่อยหมดมันก็ว่าง แล้วอาหารนี้พอรสชาติมันเจือจางไป มันเจือจางไปมันก็ส่งออก นี่ไงการปรุงอาหารปรุงด้วยอะไร ปรุงด้วยมรรค ๘ ไง ปัญญาชอบ งานชอบ เพียรชอบ.. ฉะนั้นเวลาพิจารณาอุจจาระโดยที่เรารู้หรือไม่รู้ก็แล้วแต่ แต่เพราะความสมดุลของปัญญา เพราะจิตมันพิจารณาของมันแล้วมันเห็นผลของมัน.. นี่การปรุง ! ปรุงด้วยมรรค ๘ ไง

งานชอบ.. งานชอบในการพิจารณาเป็นกรรมฐาน พิจารณาเป็นอสุภะ พิจารณาเป็นอุจจาระ นี้ก็คือการพิจารณา พิจารณาด้วยสติ ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา มันสมบูรณ์ในตัวมันเองมันก็ปล่อย มันก็เห็นว่ารสก็ไม่ใช่เรา เราก็ไม่ใช่รส พอมันปล่อยขึ้นมานี่สุขไปหมดเลย แต่มันปล่อยชั่วคราว การปฏิบัติมันมีระหว่างจิตที่พัฒนาเป็นอย่างนี้ ระหว่างจิตที่มันจะพัฒนาไปมันจะเป็นของมันอย่างนี้ พอมันเป็นอย่างนี้ปั๊บ พอมันปล่อยนี่ปรุงอาหารเสร็จ..

คนไม่เคยทำอาหารเป็นนะ ทำอาหารจานแรกเขาบอกว่าโอ้โฮ.. อาหารนี้ต้องสุดยอดเลย แล้วใครจะติไม่ได้ พอพิจารณาอุจจาระมันปล่อย พอมันปล่อยปั๊บมันก็มีกำลังเต็มที่เลย แล้วอาหารจานต่อไปล่ะ ! อาหารจานต่อไปล่ะ ทีนี้พอปรุงอาหารจานแรกเสร็จปั๊บเราก็บอกว่าบังคับเลยอาหารนี้ต้องอยู่ตลอดไปไม่เน่าไม่เสีย ทุกอย่างอยู่ตลอดไปเลย แล้วมันก็ไม่มีภพ คือพยายามจะสร้างว่าไม่ให้มันมีภพไง แต่มันเป็นไปไม่ได้

อาหารเก็บไว้ก็บูดก็เน่าก็เสีย แล้วเวลาจะกินอาหารก็ต้องทำอาหารจานต่อไป อาหารจานต่อไปคือฝึกใช้ปัญญาตลอดไป พอทำจานที่สอง จานที่สาม จานที่สี่ เห็นไหม คือเราพิจารณา เราใช้ปัญญาของเราบ่อยครั้งเข้ามันจะชำนาญมากขึ้น มันจะทำอาหารได้คล่องตัวขึ้น ต่อไปนี่หลับตาทำได้เลย พอหลับตาทำได้เลย นี่ไงที่ครูบาอาจารย์บอกให้ซ้ำ ! ให้ซ้ำ ! ให้ทำขึ้นมา พอทำขึ้นมามันจะเป็นตอนนั้นไง มันไม่ใช่ว่าเราไปยับยั้งมัน ไอ้การยับยั้งนี่มันเป็นสมุทัย

ตัณหา วิภวตัณหา.. ตัณหาคืออยากให้เป็นไปอย่างนั้น สิ่งที่อยากให้มันเป็นมรรค เวลามันเป็นกิเลสก็ผลักไส เห็นไหม มันเป็นสมุทัย.. ทุกข์นี่ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ ควรละตัณหาความทะยานอยาก ควรละการคาดหมาย.. นี่พอเราคาดหมายไป เห็นไหม สิ่งที่มันมีนี่กำลังของจิต กำลังของจิตมันมีของมัน มันเป็นสติปัญญาของมัน.. ค่อยๆ ทำ เพราะเราอธิบายไปนะ อธิบายไปยิ่งจะงงใหญ่นะ คำว่างงใหญ่นี่มันแบบว่าเราไม่เคยเห็น ไม่เคยเข้าใจ ธรรมะมันละเอียดมันจะละเอียดเข้าไปเรื่อยๆ เพราะว่าถ้าจิต..

“นี่สิ่งที่มันเกิดขึ้นมากำลังแรงของจิตมันเป็นกิเลสใช่ไหม” มันใช่อยู่แล้ว

“แล้วเราต้องทำอย่างไรต่อไปครับ” ก็พยายามทำความสงบของใจแล้วพิจารณาซ้ำ พอพิจารณาซ้ำไปนี่มันทำลายนะ ทำลายขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ นี่มันทำลายไปพร้อมกับภพ เห็นไหม วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส.. จิตพบ ตัวมันพบ ตัวในใจเรามันมีวิจิกิจฉา มันมีสีลัพพตปรามาสอยู่แล้ว เวลามันทำลายนะ อุจจาระมาจากไหน อุจจาระมันเกิดจากสัญญา สัญญากับสังขารมันปรุงขึ้นมา

อุจจาระข้างนอกนะ อุจจาระข้างนอกมันอยู่ในฐานในส้วม แต่อุจจาระที่เห็นในนิมิตมันเป็นภาพ มันเป็นภาพแต่เพราะเรามีความสงสัยในหัวใจภาพมันต่อเนื่อง พอภาพมันต่อเนื่อง พอมันมีสติมีปัญญามันก็พิจารณาต่อเนื่องกันไป พอต่อเนื่องกันไปนี่อุจจาระมันอยู่ในฐาน แต่สิ่งที่เป็นนิมิตเกิดจากจิต เกิดจากการกระทำ เกิดจากจิตที่เป็นสมาธิ พอมันพิจารณาไป นี่เพราะตัวจิตมันพิจารณาไปใช่ไหม พอถึงจุดหนึ่งมันก็ปล่อยใช่ไหม ว่างหมดเลย เห็นไหม ว่างมันก็ไม่มีภพ

มันใช้ปัญญารอบหนึ่ง ภพมันมีอยู่.. ภพน้อย ภพใหญ่ ภพในภพ ! มีภพในภพนะ เพราะที่ไหนมีเกิดความคิดที่นั่นมีภพ แต่มันมีภพละเอียด เพราะความที่เป็นภพนั่นมันเกิดมาจากภพอันละเอียด แล้วมันจะมีของมันต่อไป

ฉะนั้นสิ่งที่ว่าถ้าจิตมันสร้างภพแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ต่อให้กายนี้ตายไป ธรรมชาติของจิตมันก็ยังไม่หยุดสร้างภพแน่ๆ มันก็หมุนไปในวัฏฏะ..

เพราะเวลาคนตาย เห็นไหม มันตายแต่ความเป็นมนุษย์แต่จิตมันไม่เคยตาย แต่ถ้าเราพิจารณาตอนนี้พอจิตมันตาย หลวงตาท่านพูดอย่างนี้ ตอนที่โครงการช่วยชาติแล้วมีคนแบบว่าจะคิดทำร้ายท่าน ท่านบอกว่าถ้าใครจะทำร้ายมันก็ทำร้ายแต่ร่างกายนี้ มันทำร้ายได้แต่ธาตุนี้แต่มันทำลายหัวใจไม่ได้ ไม่มีใครทำลายหัวใจได้เพราะมันไม่มีภพไม่มีสิ่งต่างๆ ที่ให้จับต้องได้ มันจะทำสิ่งใดไม่ได้เลย

นั่นเพราะอะไร เพราะเขาทำลายภพหมดแล้ว แต่นี้เราไปทำลายที่ร่างกายแล้วบอกว่า “เวลาคนตายไปแล้ว จิตมันก็ยังฟุ้งซ่านต่อไป มันก็มีภพต่อไป” ถูกต้อง ! เวลาคนเราตายนะตายไปพร้อมกับสังขาร คือขันธ์ ๕ ไง ตายไปพร้อมกับความวิตกกังวล แต่พระอรหันต์นะ ความวิตกกังวล กิเลสมันตาย ภพชาติไม่มีตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่

เวลาตายไปนี่พระอรหันต์ตายกับปุถุชนตายมันแตกต่างกัน แตกต่างกันเพราะพระอรหันต์ตายกิเลสมันตายแล้ว มันไม่มีสิ่งใดเลย แต่ปุถุชนตายนะมันตายพร้อมกับกิเลส เห็นไหม มันถึงตายไปพร้อมกับความยึดมั่นถือมั่น ฉะนั้นพอยึดมั่นถือมั่นมันก็ไปสร้างภพสร้างชาติต่อไปไม่มีวันจบ นี้ถูกต้องตามหลักเลย.. แล้วจิตถ้าเราสงสัย ถ้าสงสัยแล้วเราภาวนาไปตรงนี้จะเข้าใจหมด

นี่มันจะเข้าใจของมันเองถ้ามันเป็นไปได้ แต่นี้มันเข้าใจไม่ได้เพราะว่า ! เพราะว่าเราจะให้มันเป็นอย่างที่เราคาดหมายไง.. คือจะบอกว่าอย่างนี้นะ ปริยัตินี่ศึกษาแล้ววางไว้ ทีนี้เวลาปฏิบัติปั๊บ ปฏิบัติไปพร้อมกับปริยัตินี่มันก็กีดขวางกันไป ที่หลวงปู่มั่นท่านบอกกับหลวงตาตอนที่เข้าไปหาท่าน เพราะหลวงตาท่านเป็นมหาใช่ไหมท่านบอกว่า

“มหา.. สิ่งที่เรียนมานี่ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทิดใส่หัวเชิดชูไว้นะ แต่เก็บเอาไว้ก่อน”

มันเป็นโทษอย่างนี้ไง เป็นโทษเพราะเวลาถ้าปฏิบัติไปพร้อมกับปริยัติ คือสิ่งที่เราคาดหมายไว้นี่มันจะเตะ มันจะถีบกันอย่างนี้ไง มันจะเตะมันจะถีบกันคือมันสงสัยไง คือมันคิดว่าควรเป็นอย่างนั้น การปฏิบัติเรานี่เรามีประสบการณ์อย่างนี้ มันจะขัดแย้งกัน มันจะสงสัย เห็นไหม ท่านบอกว่า “มันจะเตะมันจะถีบกัน”

ฉะนั้นสิ่งที่เรียนมานี่สาธุ.. เชิดชูไว้บนศีรษะนะ แล้วเก็บใส่ในลิ้นชักไว้แล้วลั่นกุญแจมันไว้ก่อน แล้วเราปฏิบัติไป พอปฏิบัติไปถึงที่สุดสิ่งนั้นมันจะวิ่งมาสมานกัน.. สิ่งที่เป็นปริยัติคือธรรมะของพระพุทธเจ้า กับการปฏิบัติจริงกับความรู้จริงของเรานี่มันจะเป็นเนื้อเดียวกัน มันจะวิ่งมาประสานกันเลย เห็นไหม

ถึงที่จุดเป้าหมายแล้วอันเดียวกันแต่ขณะที่การเข้าสู่เป้าหมายนี่มันจะขัดแย้งกัน พอมันขัดแย้งกันนี่ครูบาอาจารย์ท่านสงสารเรานะ สงสารเวลาผู้ที่ปฏิบัติพอมันขัดแย้งนี่เราจะเหนื่อยมาก คนปฏิบัตินั้นจะมีความสงสัยมาก คนปฏิบัตินั้นจะละล้าละลังมาก คนปฏิบัตินั้นจะล้มลุกคลุกคลานมาก แล้วครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นท่านสอนเราให้วางไว้ก่อน ! วางมือให้ว่างๆ แล้วทำงานให้เต็มไม้เต็มมือ

ไม่ใช่เดินมานี่มือก็ถือปริยัติมาเลย ถือธรรมะพระพุทธเจ้ามาหมดเลยเต็มไม้เต็มมือเลย แล้วพยายามจะทำให้มันมีอีก เหมือนเด็กมันกอบยาคูลท์ไปไม่หมดนี่เหมือนกันเลย ! นี่มันจะเตะมันจะถีบกันอย่างนี้ ถึงบอกว่าให้วางไว้ก่อน ให้มือว่างๆ หยิบจับอะไรโดยเต็มไม้เต็มมือ เดี๋ยวเราจะรู้โดยปัจจัตตัง แล้วพอหยิบจับอันเดียวกัน มันเหมือนกันชัดเจนมาก !

ฉะนั้นอย่าลังเลสงสัย สิ่งที่ทำมานี่ถูกต้อง เพียงแต่ว่าต้องทำต่อไป ! ทำต่อไปแล้วสิ่งที่มันผ่านไปแล้วมันก็คือว่าอาหารจานแรกผ่านไปแล้ว จะต้องฝึกอาหารจานที่สอง จานที่สาม จานที่สี่ จานที่พัน จานที่ล้าน ! มันฝึกบ่อยครั้งเข้าจนถ้าถึงที่สุดแล้วมันคล่องแล้วนะ เดี๋ยวผลมันตอบสนองเองว่าขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ เป็นอย่างใด นี่ภพอันหยาบๆ นี้มันจะหลุดออกจากจิตไปอย่างใด เวลากิเลสขาดดั่งแขนขาด.. ดั่งแขนขาด !

เวลาตัดกิเลสนี่ดั่งแขนขาด มันตัดภพชาติดั่งแขนขาด ! ตัดแขนตัวเองทิ้ง คนตัดแขนตัวเองทิ้งแล้วไม่รู้ว่าแขนขาด นี่คนๆ นั้นไม่มีสติ.. แต่นักปฏิบัติสติพร้อมนะ เป็นโสดาบันนี่ดั่งแขนขาดเลย ! ฉะนั้นไอ้นี่มัน..

“ถ้าจิตยังสร้างภาพแบบนี้ต่อไป ต่อให้กายนี้ตายไป ธรรมชาติของจิตมันก็ไม่หยุดสร้างภาพแน่นอน มันก็หมุนไปในวัฏฏะ ก็ทุกข์ร้อนไม่มีวันจบสิ้น” เห็นไหม นี่สงสัยมันไม่ขาดไง ไม่ได้ตัดไม่ได้ทำสิ่งใดเลย.. ฉะนั้นทำซ้ำไปบ่อยๆ เข้า นี่พูดถึงข้อ ๒๙๙ เนาะ “จิตมีกำลังและส่งออกไปจับต้องสิ่งต่างๆ แล้วให้ค่าชอบ-ไม่ชอบจึงเกิดภพใช่ไหมครับ”

มันก็เป็นภพหยาบ แต่ว่าไม่ใช่เลยมันก็ใช่..

ข้อ ๓๐๐. นี้ไม่มีเนาะ.. ข้อ ๓๐๑. อันนี้สิ อันนี้นะเขายกตูดมา เขายกก้นมาเต็มที่เลยนะ.. กำลังใจ ! เขาให้กำลังใจมา

ถาม : สมัยลูกเรียนและแข่งกีฬาลูกไม่เคยได้ที่หนึ่งเลยค่ะ ได้แต่ที่สอง สาม สี่ ห้า ลูกขอเป็นที่หนึ่งคนแรก กราบถวายกุศลจากจิตหนึ่งแด่หลวงพ่อ เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ รวมถึงวันครบรอบ ๑ ปี (ในเว็บไซต์ของเรา) เว็บสุดยอดของหลวงพ่อเจ้าค่ะ และขอส่งขอบคุณด้วยแรงใจถึงลูกศิษย์เอกทุกคนของหลวงพ่อ ทีมงานที่บันดาลและสื่อสารจากใจดวงหนึ่งถึงใจดวงหนึ่งด้วยเจ้าค่ะ

ลูกไม่มีคำถามแต่หลวงพ่ออย่าเพิ่งโยนทิ้งนะคะ คือว่าไม่ใช่ลูกไม่รู้หรือเข้าใจคำตอบหลวงพ่อทั้งหมดจนไม่มีคำถามหรอกเจ้าค่ะ เพียงแต่ว่าลูกฟังหลวงพ่อตอบคำถามคนอื่นคนละเรื่องเดียวกันมาจะครบ ๑ ปีแล้ว หลวงพ่อสอนบางคนให้อ่านธรรมะและประวัติของหลวงพ่อ หรือครูบาอาจารย์ที่เป็นบุคลาธิษฐาน เพื่อให้เป็นกำลังใจในการปฏิบัติภาวนาลูกขออนุญาตเสนอแนะ

ความจริงลูกชอบ ลูกอยากรู้อยากฟังเจ้าค่ะ ประวัติ ประสบการณ์ และภาวนาทางโลกและทางธรรมของหลวงพ่อเอง เริ่มตั้งแต่ฆราวาสเลยเจ้าค่ะ เรื่องพลิกผัน เรื่องสั่นคลอน เรื่องอดทน ผ่อนอาหาร เรื่องธุดงค์ เรื่องประทับใจ (ความเจ็บป่วย ความกลัว ความหิว ความคิดถึง ความทรมานเจ้าค่ะ เอาทุกๆ เรื่องเลยเจ้าค่ะหลวงพ่อ)

หลวงพ่อ : คือว่าเราให้อ่านประวัติคนอื่น เขาจะขอประวัติเราเองไง

ถาม : หลวงพ่อเป็นสงฆ์ที่ถูกใจลูก (นี่เขาว่านะ) ให้อยู่ศรัทธาตลอดไป เรื่องของหลวงพ่อจะเป็นกำลังใจสุดยอด ลูกได้สัมผัสรับรู้จากองค์จริงเสียงจริง เทศน์เจ็บจริงๆ ลูกไม่ต้องการจินตนาการซ้อนจินตนาการจากการอ่านเจ้าค่ะ.. ศรัทธาและบูชา ลูกศิษย์นะ

หลวงพ่อ : นี่เขาพูดถึง.. เวลาพูดมันก็คิดได้ ความคิดได้นี่ เวลาคนด่าได้ เวลาคนด่าเขาก็ด่าได้ เวลาคนเขาได้ประโยชน์เขาก็พูดได้ สิ่งที่เขาพูดนี่เขาก็คิดปรารถนาว่ามันเป็นประโยชน์.. เราก็พูดบ่อย พูดถึงว่าให้อ่านเพราะเราได้ประโยชน์มาไง เราบวชใหม่ๆ นะเราอ่านประวัติของครูบาอาจารย์ ก่อนบวช.. ก่อนบวชหลงทางไปพอสมควร ไปตามที่ว่า ตามความชอบของคฤหัสถ์นี่ ไปตามความชอบของปุถุชน ก็ชอบ อยากรู้อยากเห็นว่าอย่างนั้นเถอะ แต่พอมาเจอประวัติหลวงปู่มั่นนี่ทำให้ชีวิตผันเปลี่ยนเลย พอมาเจอประวัติหลวงปู่มั่น อ่านประวัติหลวงปู่มั่นแล้วมันบอกกับตัวเองว่า “อย่างนี้เราทำได้”

แต่เดิมไปอ่านของครูบาอาจารย์องค์อื่น มันแบบว่าเป็นฤทธิ์เป็นเดชไปไง บวชแล้วบิณฑบาตต้องบิณฑบาตกับเทวดา บวชแล้วต้องอยู่ไกลบ้าน.. อย่างนี้กูอดตายแน่ๆ เลย เทวดาไม่ใส่บาตรเด็ดขาด คนอย่างเราเทวดาไม่ใส่บาตรหรอก ไม่มีทางที่จะอยู่ได้ ก็ละล้าละลังอยู่พักใหญ่ พอมาเจอประวัติหลวงปู่มั่นเท่านั้นล่ะ มันอ่านจบนะมันบอกว่า “อย่างนี้เราทำได้ ! อย่างนี้เราทำได้ !” มันถึงมาทางนี้ไง

เพราะเราเคยได้ประโยชน์มาจากทางนี้ แล้วเวลาปฏิบัติไป ประวัติหลวงปู่มั่นนี่สุดยอด กับปฏิปทาหลวงปู่มั่น.. นี่ถ้าอ่านนั้นแล้วตรึกตามนั้น นี่ปัญญาอบรมสมาธิเกิดจากตรงนั้น เวลาเราตรึกในธรรม ตรึกถึงข้อคิด ตรึกถึงเกร็ดของธรรมที่ครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติ แล้วเราเอามาตรึก เอามาตรึกหมายถึงว่าเราคิดตามแล้วเดินจงกรมนี่มันจะตรึกอยู่ในธรรม

นี่เราได้ประโยชน์มาจากตรงนี้เยอะมากๆ เพราะเราได้ประโยชน์มาเอง ฉะนั้นเวลาคนปฏิบัติใครทุกข์ใครยากเราถึงให้อุบายไงว่าให้อ่านหนังสือประวัติครูบาอาจารย์ที่เป็นธรรมนะ อย่าไปอ่านประวัติครูบาอาจารย์ที่ไม่เป็นธรรม ไม่เป็นธรรมนี่อ่านรู้ เราเคยอ่านประวัติครูบาอาจารย์หลายองค์ ถ้าคนเขียนประวัติครูบาอาจารย์โดยที่ความไม่เคารพจริง แต่อ้างประวัติครูบาอาจารย์นี่มันเขียนโดยอ่านรู้ว่าเหมือนกับยกตัวเองสูงกว่า ยกตัวเองเหยียบย่ำ แบบว่าเราดีกว่า เราแน่กว่าครูบาอาจารย์องค์ที่เราเขียนถึง อย่างนั้นเราวางเลยเราไม่อ่าน แล้วรู้เลยว่าคนเขียนมีเป้าหมายอย่างไร.. แต่ถ้าเป็นของประวัติครูบาอาจารย์ ถ้าจิตใจมันลงมันจะเชิดชูครูบาอาจารย์ด้วยความเป็นจริง อันนั้นจะได้ประโยชน์มาก แล้วตรึกตาม.. ตรึกตาม

อันนั้นจะเป็นประโยชน์ เพราะเราได้ประโยชน์จากสิ่งนั้นมา เราถึงพยายามเสนอแนะ แต่เขาบอกว่า อู้ฮู.. ประวัติเราเขียนออกไปนี่ อู้ฮู.. ตายเลย ฉะนั้นเราจะไม่มี เราเคยตั้งใจไว้ว่าเราจะไม่เขียน ประวัติเราจะไม่มี เพราะหลวงตาท่านก็ไม่เขียนประวัติท่าน เวลาใครจะเขียนประวัติ..โทษนะ อย่างประวัติงานศพ งานศพเขาต้องเขียนในแง่ดี ศพคนไหนก็แล้วแต่เขาจะบอกว่าคนนี้เป็นคนดี จะเลวขนาดไหนคนอ่านประวัติบอกเป็นคนดี

ฉะนั้นถ้าเราเขียนเองเราก็ต้องเขียนว่าเราเป็นคนดี มันก็เหมือนประวัติงานศพ ฉะนั้นประวัติเราจะไม่มี เราเคยตั้งใจว่าประวัติเราจะไม่มีจากเรา แต่ ! แต่ให้เอาเนื้อหาสาระ เอาผลงานของเรา เอาที่เราสอนไป ที่เราพูดออกไป ถ้าเป็นประโยชน์เอาตรงนั้นเป็นประโยชน์

ถ้าจะรอประวัติเรานะ ถ้าชีวิตเรามีอยู่ประวัติเราจะไม่มี เว้นไว้แต่เราตายไปแล้ว ใครจะไปแอบเขียนอย่างไรมันช่วยไม่ได้ แต่ถ้ายังมีชีวิตอยู่นี่ประวัติเราจะไม่มี เพราะเราเห็นคนที่เขาเขียนประวัติครูบาอาจารย์ด้วยการยกตนข่มครูบาอาจารย์มาหลายองค์มาก เราเห็นแล้วมันปฏิเสธในหัวใจ คัดค้านในหัวใจ

ฉะนั้นเราจะไม่เขียน แต่ถ้าเป็นของหลวงตา เห็นไหม ท่านเขียนประวัติหลวงปู่มั่น ท่านเชิดชูหลวงปู่มั่นด้วยหัวใจ ท่านเสียสละชีวิต เสียสละนะไปถามถึงประวัติหลวงปู่มั่น ท่านบอกว่า “เขียนประวัติหลวงปู่มั่น ช่วงที่ท่านไม่อยู่นี่ ท่านจะเขียนโดยที่ว่าอนุมานเอาท่านทำไม่ได้”

ท่านถึงพยายามศึกษาว่าตั้งแต่หลวงปู่มั่นบวชใครยังมีชีวิตอยู่สมัยหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นอยู่กับใครท่านไปหาองค์ๆ นั้นเลย ท่านเขียนเสร็จแล้วต้องไปให้พระองค์นั้นตรวจทาน ไปคุยกับองค์นั้นแล้วให้องค์นั้นพูดออกมาแล้วอัดเทปไว้ แล้วท่านเขียนเสร็จแล้วท่านยังเอาไปให้ตรวจทานอีก

ฉะนั้นเวลาท่านไปทำอย่างนั้นพระที่เห็นด้วยเขาบอกว่าหลวงตาท่านจะเชิดชู ทำเพื่อครูบาอาจารย์ พระองค์ที่ไม่เห็นด้วยท่านก็ติเตียนหลวงตา หลวงตาพูดให้ฟังอยู่ มีคนติเตียนหลวงตาอยู่มากพอสมควร.. นี้ขนาดจะทำเพื่อประโยชน์นะ

แล้วถ้าเขียนประวัติส่วนบุคคล อย่างชีวิตของครูบาอาจารย์ท่านเขียนมาแล้ว ท่านเขียนของท่านไปก็จบกันไป แต่สำหรับของเรานะ ประวัติงานศพมีแต่คนเขียนในแง่บวกทั้งนั้นล่ะ แง่ลบไม่เขียนหรอก ดูสิแหม.. ฉันเป็นพระนะ ไปเกิดที่ไหนนะจะอุดมสมบูรณ์ เมล็ดข้าวเมล็ดหนึ่งเท่ากับสอง เมล็ดข้าวเมล็ดเบ้อเริ่ม เมล็ดข้าวจะต้องเป็นเมตรๆ นู้น เขาเขียนกันมานะเราไปอ่านเจอเยอะแยะ ไปเกิดที่ไหนที่นั่นจะอุดมสมบูรณ์ ข้าวไร่จะดีสวย ดีงามไปหมดแหละ

ประวัติพระพุทธเจ้านะ พระนางมหามายานะ เวลาท่านจะท้องนี่ท่านฝันถึงช้างเผือก ฉะนั้นไปดูประวัติคนอื่นสิ แม่ฝันถึงช้างเผือก.. แม่ฝันถึงช้างเผือก ไม่รู้ว่าช้างเผือกนี่เผือกในไร่หรือช้างเผือกก็ไม่รู้.. เขียนกันมาได้โดยไม่มีความละอาย !

อันนั้นเราจบแล้วนะ นี่เพราะเขาอยากให้เราเขียน เราเลยพูดออกมาว่าไม่มีทาง ให้ดูผลงานของเรานะ ดูที่เราเทศน์ ดูที่ประโยชน์อันนั้น เอาอันนั้นดีกว่า ประวัติของคนๆ หนึ่งไม่มีประโยชน์อะไรหรอก แต่ผลงานที่ทำมาอันนั้นจะเป็นประโยชน์กับโลก.. เอาตรงนั้น ประวัติเราไม่มี

ถ้ายังมีชีวิตอยู่นี้ประวัติไม่มี มีคนพูดถึงบ่อยแต่เราไม่เอา แต่สิ่งที่เราพูดไป ในเว็บไซต์ที่เราเทศน์ออกไปนี่ เอาตรงนั้นเป็นประโยชน์ ศึกษาตรงนั้นแล้วปฏิบัติตรงนั้น แล้วโยมจะได้ประโยชน์จากตรงนั้น ! เอวัง