เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๓๑ ธ.ค. ๒๕๕๓

 

เทศน์เช้า วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๓
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

วันนี้วันสิ้นปีเนาะ เวลาผ่านไปรวดเร็วมาก กาลเวลาผ่านไป เห็นไหม ชีวิตเราล่ะ นี่เวลาน้ำมันไหลแรง น้ำป่าจะไหลแรงมาก น้ำที่มันไหลเอื่อยก็มี น้ำไหลแรงก็มี ชีวิตนี้ผ่านไปทุกวันๆ นะ นี่กาลเวลามันกินไปหมดเลย

ถ้ากาลเวลากินไปหมดเลย ชีวิตเราเกิดมาพบพุทธศาสนา พุทธศาสนาสอนทำบุญกุศล เพราะว่าการเกิดนี่เป็นอริยทรัพย์ เพราะกำเนิด ๔ กำเนิดในครรภ์ กำเนิดในไข่ กำเนิดในน้ำคร่ำ กำเนิดในโอปปาติกะ โอปปาติกะนี่เทวดา อินทร์ พรหม เขาเกิดไม่ต้องเป็นเด็กหรอก เขาเกิดโอปปาติกะคือสำเร็จรูปเลย

แต่ของเรา เห็นไหม นี่เทวดา อินทร์ พรหม สัตว์นรกอเวจีเขาเกิดเป็นโอปปาติกะคือสำเร็จรูป แต่ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานต้องเกิดมาเป็นทารก เกิดมาเป็นตัวอ่อน แล้วพัฒนาการของมัน มันเป็นวิวัฒนาการของธรรมชาติ นี่ผลของวัฏฏะ

บุญกุศล เห็นไหม พุทธศาสนาสอนเรื่องการเสียสละ การทำบุญกุศล การเสียสละด้วยศรัทธา ด้วยความเชื่อมีบุญกุศล การเสียสละโดยสักแต่ว่า การเสียสละโดยภาษีสังคม ภาษีสังคมเวลาเกิดขึ้นมาเราเสียสละโดยความไม่ตั้งใจ.. ความไม่ตั้งใจเพราะเจตนาอันนี้สำคัญ นี่เป็นอุบายไง อุบายการเสียสละ พระพุทธเจ้าให้เสียสละเพื่อการดัดแปลงหัวใจ

ความตระหนี่ความผูกพันมันมีเป็นธรรมดา แต่ความผูกพันถ้ามีเป็นธรรมดา ความผูกพันของเรา เห็นไหม แล้วทรัพย์สมบัติหรือสิ่งของที่หามาเราก็ว่าเป็นของๆ เรา ความเป็นของๆ เราแล้วเรามีเหตุผลสิ่งใดเราต้องให้คนอื่นล่ะ เรามีเหตุผลสิ่งใด.. มีการให้นะ

เพราะเทวดามาถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าบุญคืออะไร นี่เขาบอกบุญคืออะไร ทำบุญกุศลเป็นอย่างไร ท่านบอกการทำบุญกุศลนะ แม้แต่ ! แม้แต่การล้างถ้วยล้างจาน เราราดน้ำที่เราล้างภาชนะลงไปในน้ำคร่ำ สัตว์มันได้กินนั้นก็เป็นทานแล้ว แต่ถ้าจะเอาเนื้อหาสาระล่ะ ถ้าเอาเนื้อหาสาระมันต้องคุยกันด้วยเหตุด้วยผล

ด้วยเหตุด้วยผล เห็นไหม ถ้าการเสียสละ แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเนื้อนาบุญ.. ปฏิคาหก เราเป็นเจ้าของทรัพย์ เราหามาด้วยความสุจริต เราให้ด้วยความชื่นใจ เราให้แล้วเรามีความพอใจ.. ปฏิคาหก ผู้รับบริสุทธิ์ผุดผ่อง ผู้บริสุทธิ์นั้นเป็นประโยชน์ เนื้อนานั้นเพื่อหว่านพืชไปในเนื้อนานั้น เนื้อนาจะเป็นประโยชน์ นี้คือการเสียสละ

การทำบุญกุศลคือเป็นอุบายวิธีการขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเป็นชาวพุทธ เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมและวินัยไว้ ภิกษุให้เลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง คฤหัสถ์เช้าขึ้นมาให้หุงข้าว ให้ตักบาตร เพราะข้าวปากหม้อเราหุงหาอาหารมานี่เราจะใช้จ่ายอย่างไรก็ได้ แต่เป็นอุบายไง ข้าวปากหม้อนี่เราตักปากหม้อ จากที่เราเอามาแล้วถวายพระ พระเป็นผู้ที่ทรงศีล ผู้ที่ไม่มีอาชีพได้ดำรงชีวิต

นี่เพราะอะไร เพราะเขาเห็นประโยชน์ เห็นประโยชน์เพราะอะไร เห็นประโยชน์เพราะฉันอาหารนั้นแล้วได้นั่งสมาธิภาวนา ได้นั่งสมาธิภาวนาเพื่ออะไร เพื่อความสะอาดบริสุทธิ์ของใจนั้น เห็นไหม ถ้าเพื่อความสะอาดบริสุทธิ์ของใจนั้น ถ้าพูดถึงพระจะต้องมาทำมาหากิน พระนี่มันก็กินความผูกพันใจอันนั้น มันก็ไม่ไปอีกระดับหนึ่ง..

แต่ของเราๆ ทำบุญกุศลของเรา เห็นไหม ถ้าเราทำบุญกุศลเราทำด้วยความศรัทธา ด้วยความเชื่อ ด้วยความเคารพศรัทธา อันนั้นเป็นบุญอีกระดับหนึ่ง ถ้าเราทำเป็นภาษีสังคม เป็นการบังคับต้องทำนี่มันก็เป็นอีกระดับหนึ่ง.. แล้วจิตใจของมันจะพัฒนาของมันขึ้นไป

เรามีทรัพย์สมบัติของเรา เราจะเสียสละที่ไหนล่ะ เราเลือกเราเฟ้นของเรา เห็นไหม นี่ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา เขาบอกศาสนาพุทธนี้เป็นเรื่องยุ่งมากเลย ถ้าเป็นศาสนาอื่นอ้อนวอนเอาก็จบ เวลาขอนี่อยู่ที่พระเจ้าจะตัดสิน พอพระเจ้าตัดสินแล้วใจมันก็อยู่ที่นั่นใช่ไหม เพราะว่าเราทำของเราไป มันไม่มีโอกาสต้องให้พระเจ้าตัดสินเท่านั้น แต่ความกังวลมันมีใช่ไหม

แต่พุทธศาสนา เห็นไหม โอปนยิโก.. เรียกร้องสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม มาดูความตระหนี่ถี่เหนียว เวลาเราถี่เหนียวเราก็รู้ของเรา เวลาเราเสียสละไปนี่ เรามีความเข้าใจ เราได้ฟังธรรม เราเห็นผลประโยชน์ของเรา ความตระหนี่ถี่เหนียวมันก็จางไป

นี่เรียกร้องสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม.. มาดูความรู้สึก ความนึกคิด ความนึกคิดที่พัฒนาขึ้น ความนึกคิดที่มันยึดมั่นแล้วมันเสียสละของมัน มันฝึกฝนของมัน เห็นไหม นี่พุทธศาสนาสอนที่นี่ สอนถึงการกระทำ ไม่ให้เชื่อสิ่งใดๆ เลย ไม่ให้เชื่อแม้แต่คนพูด ไม่ให้เชื่อแม้แต่ครูบาอาจารย์ของเราที่พูดแล้วเข้ากันได้ อนุมานได้แล้วเหมือน ไม่ให้เชื่อ !

ให้เชื่อความจริงที่เป็นสันทิฏฐิโก เป็นปัจจัตตังที่เราสัมผัสนี้ ถ้าเชื่อความจริงในหัวใจของเรา ถ้าเราพัฒนาของเราขึ้นไปเราจะรู้เลย ถ้าคนปฏิบัติขึ้นไป เห็นไหม อาจารย์จะโกหกหรือไม่โกหกนี่ผู้ที่ปฏิบัติจะรู้ทันหมดล่ะ เพราะการปฏิบัติมันรู้ทันกันได้

ความรู้ทันกันได้เพราะอะไร เพราะถ้ามันไม่มีเหตุมีปัจจัย เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปสอนปัญจวัคคีย์ เห็นไหม เมื่อก่อนเราไม่สำเร็จเราไม่เคยพูดเลยว่าสำเร็จ บัดนี้เราสำเร็จแล้วเพราะเหตุใด เพราะมันมีกิจจญาณ.. มีสัจจะ มีกิจจญาณ มีสัจจะ มีความจริง มีการกระทำ ถ้าหัวใจมีการกระทำอันนั้นมันจะเป็นความจริงขึ้นมา แล้วความจริงที่เอามาพูด นี่เอามาพูดมาสอนนี้ เพราะถ้าไม่มีเหตุผลมันจะเอามาสอนได้อย่างไร ไม่มีวิวัฒนาการของใจ

นี่เขาบอกว่าเวลาไปนะไม่ต้องทำอะไรเลยมันสบายๆ.. มันสบายอยู่แล้ว ถ้าเราคิดให้มันสบายมันก็สบาย เวลามันคิดให้มันสบาย แต่มันคิดสบายไม่ได้เพราะอะไรล่ะ เพราะสิ่งที่เวลามันบาดหมางหัวใจ มันลึกเกินกว่าที่เราจะคิดไง

อย่างที่ความไม่พอใจต่างๆ นี่มันลึกกว่าที่ความคิด พอลึกกว่าที่ความคิด พอคิดถึงสิ่งนั้นมันจะมีปัญหามาตลอดเวลา แต่เราก็คิดตรึกในธรรมะ เห็นไหม ธรรมะนี่คิดตรึกให้มันสบาย สบาย.. สบายสิ่งใด ? อะไรมันสบาย มันมีเหตุมีผลพอไหมถึงว่าสบาย มันเป็นของชั่วคราว ! มันเป็นของชั่วคราวนะ เพราะอารมณ์มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

สรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจัง ! สิ่งใดเป็นอนิจจังสิ่งนั้นเป็นความทุกข์.. สิ่งใดเป็นความทุกข์สิ่งนั้นเป็นอนัตตา.. นี่ไงมันเป็นอนิจจังอยู่แล้ว มันแปรปรวนเป็นธรรมชาติของมันอยู่แล้ว เดี๋ยวมันก็ดีเดี๋ยวมันก็ชั่ว เดี๋ยวมันก็ดีเดี๋ยวมันก็เลวในหัวใจ มันพลิกแพลงอยู่ตลอดเวลา มันเป็นอนิจจังของมันอยู่แล้ว แล้วเราจะควบคุมมันอย่างไรล่ะ เราจะควบคุมอย่างไร.. ถ้ามันจะควบคุมมีสติปัญญานะ ถ้าเรามีสติปัญญาเราไม่ปล่อยให้กาลเวลามันไหลไปนะ

ชีวิตเรานี่ถึงที่สุดแล้วชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด ทุกคนต้องตายหมด คนเกิดแล้วต้องตายหมด ที่ไหนมีการเกิดที่นั่นมีการตาย เห็นไหม ถ้าผู้ไม่เกิด ผู้ไม่เกิดแล้วมัน.. อย่างสิ่งที่เกิดแล้วเหลือล่ะ อย่างพระอรหันต์ อย่างองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ๔๕ ปี เห็นไหม ฆ่ากิเลสแล้ว นี่สิ่งที่เหลือ

ชีวิตนี้เราสร้างมา ชีวิตนี้เวลามันผ่านไป มันผ่านของมันไป ฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นมานี่เรามีสติ ถ้ามีสติปัญญาขึ้นมาเราแก้ไขของเราขึ้นมา สิ่งนี้เป็นอนิจจัง ที่มันแปรปรวนอยู่นี้ ถ้าเรามีสติ เห็นไหม มันมีสติกำหนด บังคับ.. ความคิดของเรานี่เราคิดร้อยแปดพันเก้า เราให้มันคิดพุทโธ พุทโธก็คือความคิดนี่แหละ

ถ้าเราบังคับให้มันคิดมันก็คิด ถ้าเราไม่บังคับให้มันคิด มันคิดในตามธรรมชาติของมัน โดยความพอใจของมัน ทีนี้คำว่า พุทโธ พุทโธ นี่พุทธานุสติ เห็นไหม มันไม่ให้โทษกับใคร มันจะให้คุณ เราบังคับมัน บังคับให้มันพุทโธ พุทโธ พุทโธ หรือปัญญาอบรมสมาธิ นี่เราควบคุมไง

สรรพสิ่งนี้เป็นอนิจจัง.. สิ่งใดเป็นอนิจจังสิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ มันทุกข์ขนาดไหน กาลเวลานะมันสมาน กาลเวลานะ เออ.. พอมันจืดชืดไปมันก็ไม่ทุกข์มากจนเกินไป เห็นไหม ความทุกข์ก็เป็นอนัตตา พัฒนาการมันเป็นอย่างนี้ มันหมุนอยู่อย่างนี้ เรามีสติปัญญาไปควบคุมมัน.. พอมีสติปัญญาควบคุมมัน พอมันเริ่มสงบเข้ามา เริ่มสงบเข้ามา นี่ความสงบมันก็เป็นอนิจจัง เดี๋ยวสงบเดี๋ยวไม่สงบ แต่ความสงบมันสงบเพราะอะไร สงบเพราะว่ามันมีสติควบคุมใจได้

โทษนะ เหมือนเด็กนี่ เด็กถ้าเราปล่อยให้มันเล่นตามธรรมชาติของมัน ถ้าเราฝึกมัน เราดูแลมัน เห็นไหม จิตใจก็เหมือนกัน ถ้าไม่มีสติไม่มีปัญญาไปควบคุมมัน มันก็คิดโดยธรรมชาติของมัน ธรรมชาติมันก็คิดดีคิดชั่วนั่นแหละ พอมันคิดดีมันก็พอใจ มันคิดชั่วมันก็ร้อนใจ มันก็เป็นธรรมชาตินี่แหละ

เหมือนเด็กๆ จิตใจนี้เหมือนเด็กๆ นะ แต่เรามีสติปัญญารักษามัน ควบคุมมัน ฝึกสอนมัน สอนมันเป็นผู้ใหญ่ พอเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา เห็นไหม ผู้ใหญ่ก็รู้ดีรู้ชั่ว รู้ควรหรือไม่ควร อะไรควรหรือไม่ควรผู้ใหญ่ก็พัฒนาขึ้นมา พอพัฒนาขึ้นมา พอรู้เป็นปู่ ย่า ตา ยาย ประสบการณ์ของจิตมันมีมหาศาลนะ คนแก่คนเฒ่าที่มีประสบการณ์ชีวิตมาทั้งชีวิต เราไปพูดอะไรนี่ท่านไม่ค่อยเชื่อหรอก เห็นไหม เวลาเด็กพูดกับผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่บอกว่าเราอาบน้ำร้อนมาก่อน เด็กมันจะอึดอัดเลยว่าอะไรก็อาบน้ำร้อนมาก่อน

เพราะประสบการณ์มันมี แต่เด็กมันเพิ่งไปเห็นมันไม่เข้าใจ ผู้ใหญ่ ผู้เฒ่านี่ เฮ้ย.. เราอาบน้ำร้อนมาก่อนนะไม่ต้องมาพูดหรอก เราผ่านมาแล้ว เดี๋ยวเราแก่เฒ่าเราก็เป็นอย่างนั้นแหละ.. แล้วเด็กมาพูด เห็นไหม นี่พัฒนาการของปัญญา ถ้าปัญญามันพัฒนาการของมันขึ้นไป มันมีเหตุมีผลของมันขึ้นไป

นี่ไงพุทธศาสนา ! พุทธศาสนาสอนไม่ให้เชื่อใคร ไม่ให้เชื่ออะไรทั้งสิ้น ให้เชื่อประสบการณ์ของจิต แล้วประสบการณ์ของจิตเราทำอย่างไรล่ะ เราก็ว่านี่กายกับใจอยู่ที่ไหน เกิดมาเพราะกายกับใจ กายกับใจ.. เราเห็นได้แต่ร่างกาย เพราะวัตถุเราเห็นได้ง่าย แต่ความรู้สึกความนึกคิดนี่เราว่ามีไม่ให้ใครเห็นได้.. ปรมัตถจิต เวลาคนที่เขารู้วาระจิตนี่รู้หมดแหละ

เราบอกเลยนะเหมือนกับกระดาษขาว เราเขียนหนังสือนี่มีอักษรลงไป ความคิดนี่จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส ความคิดมันก็อยู่บนจิตนั่นแหละมันเกิดจากกระดาษขาว ไม่มีกระดาษเราจะไปเขียนหนังสือบนอะไร ไม่มีจิตจะไปคิดบนอะไร ไม่มีความรู้สึกมันจะไปคิดบนอะไร.. คนเวลานอนหลับก็ยังคิดนะ นี่มันคิดบนอะไร

นี้ความคิดอันนั้นมันเกิดตลอดเวลา มันเกิดดับๆ นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนที่นี่ เพราะว่าสิ่งที่มีการกระทำ ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว เราทำคุณงามความดีของเราเพื่อประโยชน์กับเรา.. กาลเวลามันผ่านไปนะ พอกาลเวลาผ่านไปนี่เราตั้งสติของเรา หน้าที่การงานก็อย่างนี้แหละ เราทำของเราไปนะ

โลกนี้พร่องอยู่เป็นนิจ มันจะหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงของมันตลอดไป ไม่มีอะไรคงที่ แต่เป็นอจินไตย อจินไตยคือว่ามันจะมีของมันอย่างนั้น นอกจากจินตนาการเลยล่ะ มันจะมีของมันอย่างนั้น มันจะแปรสภาพของมันอย่างนั้น..

ฉะนั้นเราเกิดมาบนโลก เกิดมานี่โลกมันเป็นล้านๆๆ ปี ชีวิตเรานี่ ๑๐๐ ปี ๑๐๐ ปีเราจะพัฒนาจิตของเราให้มีคุณค่าขนาดไหน ทรัพย์สมบัติในโลกนี้เป็นสาธารณะ ถ้าเวลาเราคนแก่คนเฒ่าที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ รัฐบาลเขาก็มีเบี้ยยังชีพนะ เขาก็เลี้ยงเราได้ รัฐบาลมีเบี้ยยังชีพให้พอดำรงชีวิตนี้ไป

นี้พูดถึงว่าสมบัติของโลกนี่เจือจานกัน มันมีการช่วยเหลือเจือจานกันได้ แต่หัวใจนี่นะมันเป็นของเอก มันเป็นของส่วนบุคคล เวลาจิตนี้มันออกจากร่างไป เวลาเราเกิดมานี่เกิดเป็นลูกเป็นพ่อเป็นแม่กัน เห็นไหม เกิดมาในตระกูลของเรานี่เป็นลูกเป็นพ่อเป็นแม่กัน เวลาตายไปนี่ต่างคนต่างตาย ต่างคนก็ต่างไปตามวัฏฏะ เป็นผลของบุญของกรรม

เราสร้างกุศลกันก็เพราะเหตุนี้ ถ้าเราสร้างบุญกุศลกันเพราะเหตุนี้ เราทำกันมานี่ เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย สร้างความดีขึ้นมาจนจิตนี้มีบารมีธรรม มีตบะ มีสิ่งต่างๆ มีพละ ๕ เข้มแข็ง.. นี่เข้มแข็ง พอเข้มแข็งขึ้นมา สิ่งที่จะค้นหา โลกเขาหาทรัพย์สมบัติกันใช่ไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสียสละสถานะของกษัตริย์ สิ่งที่จะเป็นกษัตริย์เสียสละออกไปเลย ไปหาโพธิญาณ ไปหาสิ่งที่ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย

เวลาที่มีบารมีขึ้นมาจะเห็นสมบัติโลกเป็นสมบัติสาธารณะ จักรพรรดิ กษัตริย์ทุกคนก็เป็นได้ถ้าพูดถึงเขาเกิดขึ้นมาก็เป็นได้ แต่ถ้าจิตใจที่มันจะหาความอิ่มเต็มของมันไม่ให้พร่องอยู่เป็นนิจ มันมีการกระทำที่ต้องวิกฤติกว่านั้น คำว่าวิกฤติกว่านั้นใช่ไหม เราเห็นพระนั่งอยู่โคนต้นไม้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อยู่โคนต้นโพธิ์นี่ทำอะไร ไม่เห็นมีวิกฤติสิ่งใดเลย วิกฤติต่อเมื่อเรานี่เราเปลี่ยนอิริยาบถอยู่ตลอดเวลาเราจะไม่เห็นเวทนาเลย แต่เรานั่งอยู่เฉยๆ ชั่วโมง ๒ ชั่วโมงนี่มันจะปรากฏทันที

นี่ก็เหมือนกัน นั่งอยู่โคนไม้นิ่งๆ เห็นไหม นั่งอยู่นิ่งๆ นี่ล่ะ เอาใจของใจไว้ในอำนาจของตัว สิ่งที่สงบสงัด.. “ความสุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี.. ความสุขอื่นใดเท่ากับวิมุตติสุขไม่มี” จิตสงบแล้ว จิตที่พัฒนาการของมัน นี้คือสมบัติของชาวพุทธเรานะ เรามีสิทธิมีหน้าที่จะแสวงหาได้ทั้งหมด

ฉะนั้นเราจะมีโอกาสไหม เราจะทำของเราไหม ทรัพย์สมบัติ หน้าที่การงานนี้ไม่มีใครปฏิเสธนะ.. สิ่งที่หามาเป็นปัจจัยเครื่องอาศัย แต่สิ่งที่เป็นคุณธรรม ธรรมโอสถที่จะมารักษาใจของเรานี่เราจะแสวงหาไหม ถ้าเราแสวงหาเราต้องมีสติ ต้องบังคับตัวเอง มีสติยับยั้งไม่ให้คิด การไม่ให้คิด การควบคุมมันต้องบังคับมัน ถ้าไม่บังคับมันนะมันทำไม่ได้หรอก ไม่บังคับมันมันมีเหตุมีผล มีเล่ห์มีเหลี่ยม

เหตุผลของกิเลสมันสร้างมาเต็มที่เลย แต่ปัญญาเราอ่อนด้อย เราถึงสู้มันไม่ได้ แต่ถ้าเรามีปัญญา เรามีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมาเราจะสู้ได้ เกิดจากไหนล่ะ เกิดจากการเสียสละทาน เกิดจากฟังธรรม เห็นไหม พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์.. องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเจ้าของศาสนา เป็นผู้รื้อค้น เป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ เราเป็นสาวก สาวกะ นี่ได้ฟัง ได้ตั้งสติ ได้ยั้งคิด แล้วยั้งคิดนี่ก็กลับมาพัฒนามัน

แล้วบอกว่าเพราะทำบุญกุศล เราสร้างมานี่ชาวพุทธพูดมากเลยว่าเราทำบุญกุศลมาทำไมเราทุกข์ยากขนาดนี้ ความทุกข์ยากมันอยู่ที่ว่าความทุกข์ของใคร บางคนเห็นว่าสิ่งนั้นเป็นสุขของเขา บางคนเห็นว่าสิ่งนั้นเป็นทุกข์ของเขา มันเป็นจริต เป็นนิสัย ความเข้มแข็ง ถ้าคนเข้มแข็งนะ สิ่งที่เกิดขึ้นมันเป็นเรื่องเล็กน้อยมาก แต่ถ้าคนอ่อนแอ สิ่งเล็กน้อยนี่เป็นทุกข์มหาศาลเลย เห็นไหม นี่มันสร้างมาเพราะเหตุใด สิ่งที่เกิดนี้เพราะเหตุใด

เพราะว่านี่บารมี การสร้างมา มุมมองหรือทัศนคติแตกต่างกันไป เราถึงจะต้องตั้งสติเพื่อพัฒนาการใจของเรา.. สิ่งในโลกนี้ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นต้องดับเป็นธรรมดา นี้เป็นธรรมชาติ แต่จิตเรายังไม่รู้เห็นตามความเป็นจริง ถ้าจิตเรารู้เห็นตามความเป็นจริง เห็นไหม เราจะมีประโยชน์กับเรา

สิ้นวัน สิ้นเดือน สิ้นปีไปตลอดนะ ชีวิตเรามันก็จะหมุนไปอย่างนี้ เราต้องตั้งสติ เราจะเอาสิ่งใดเป็นที่พึ่ง ความเป็นที่พึ่งด้วยอามิส ด้วยบุญกุศล กับความเป็นที่พึ่งด้วยพึ่งตัวเองได้ ด้วยมีหลักมีเกณฑ์ในหัวใจของเรา เราต้องเลือกของเราเอง

นี่ทางโลกเราก็ต้องจัดการ ทางหัวใจของเรา สิทธิและหน้าที่ในหัวใจของเรา เราจะรักษาอย่างไร จะเป็นธรรมอย่างไรเพื่อประโยชน์กับเราเนาะ เอวัง