ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ลายพิมพ์จิต

๒ ม.ค. ๒๕๕๔

 

ลายพิมพ์จิต
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒ มกราคม ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

มันเป็นข้อ ๓๐๗. อันนี้มันเป็นการภาวนา เขาภาวนามานะ คำถาม..

ถาม : ๓๐๗. เรื่อง “หลับตาเห็น ลืมตาก็เห็นดูแล้วไม่แตกต่าง แต่ทำไมความรู้สึกมันถึงได้ต่างกัน”

(ขอเล่าเหตุการณ์นะ) เหตุที่มาภาวนาเป็นจริงเป็นจังเพราะว่าตัวเองเคยฝันว่ารถคว่ำตาย และได้ไปงานศพของตัวเอง มันดูสลดหดหู่ใจมากสุดๆ เห็นพ่อแม่ญาติพี่น้องร้องไห้ให้เรา มันเศร้าใจอย่างที่สุด พอตื่นขึ้นมาความเศร้าสลดใจมันเกาะกินใจตลอดเวลา และในใจคิดต่อเลยว่าจะทำอย่างไรดีถ้าถึงเวลาตายขึ้นมาจริงๆ จะได้ไม่เศร้าโศกเสียใจแบบในฝันนี้ และในที่สุดก็เชื่อว่ามีทางเดียวที่จะแก้ปัญหาต่างๆ ที่เรากลัวได้คือการภาวนา

แรกเริ่มเดิมทีหัดนั่งสมาธิใหม่ๆ ไม่เข้าใจว่าสมาธิคืออะไร กับเข้าใจว่าต้องเห็นนู้นเห็นนี่จึงจะดี และการเห็นนั่นแหละมั้งคือผลของสมาธิ.. แรกๆ ปฏิบัติใหม่ๆ จินตนาการอยากเห็นเทวดา วิมาน พญานาคและต่างๆ ขณะนั่งสมาธิมันก็ได้เห็นตามที่ตั้งเป้าคาดหมายไว้ พอเห็นก็คิดว่าเป็นผลงาน ชอบนำไปเล่าให้แม่ชีผู้มีบุญคุณฟัง แรกๆ แม่ชีท่านก็ฟังเรา ยิ่งเล่ายิ่งมัน ผมก็เล่าให้ฟังทุกวัน เห็นอย่างนั้นเห็นอย่างนี้เต็มไปหมดตามที่ใจจินตนาการอยากเห็น

แล้ววันหนึ่งผมก็เล่านิมิตต่างๆ เช่นเคย วันนี้ท่านกลับตำหนิผมอย่างรุนแรงว่า “ภาวนาไม่ได้เรื่อง ภาวนามาตั้งนานแล้วไม่ก้าวหน้าขึ้นเลย หลงละเมอเพ้อเจ้อกับนิมิตบ้าบอทุกวัน” ผมถึงกับอึ้งเลย อึ้งมากๆ แล้วท่านก็ไม่พูดอะไรต่ออีก งงมากๆ ไปต่อไม่ถูกจริงๆ คราวนี้จะภาวนาอย่างไรล่ะ สงสัยขึ้นมาทันทีว่าต่อไปเราจะเอาอะไรเป็นผลงานล่ะ แรกๆ ไม่ยอมรับว่าสิ่งที่เห็นคือสิ่งที่เราสร้างภาพขึ้นมาเอง พอแม่ชีท่านเตือนสติ ก็เริ่มกลับมาตั้งสติคิดว่าเราปฏิบัติเพื่ออะไร สุดท้ายได้คำตอบคือ “เราอยากปฏิบัติเพื่อไม่อยากเสียใจเศร้าใจเวลาเราจะตายไง” เมื่อคิดได้สุดท้ายนิมิตบ้าบอคอแตกต่างๆ ก็ค่อยๆ จางหายไปจากความคิดความเห็นของตัวเอง จากนั้นก็ไม่เคยคุยเรื่องนิมิตกับแม่ชีอีกเลย

มาวันหนึ่งหลังจากไม่นานขณะนั่งภาวนาเช่นเคยเห็นแปลกๆ คือเห็นเป็นละอองน้ำเล็กๆ เต็มไปหมด เคลื่อนที่ได้ หมุนวนเข้าตรงกลาง คราวนี้เห็นไม่เหมือนนิมิตก่อนที่เคยเห็น คือมันชัดเจนสามารถเห็นรายละเอียดในหยดน้ำได้เลย ผมก็สงสัย แต่ภาพนั้นอยู่ไม่นานก็หายไป ผมได้ถามแม่ชีว่านี้คืออะไร แล้วมันคือสิ่งที่กิเลสเราสร้างขึ้นหรือเปล่า แม่ชีตอบว่า “สิ่งที่เห็นนั้นสามารถรู้ด้วยใจที่เป็นกลางของเราเอง” ก็ยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจนเท่าที่ควรครับ แต่ที่แน่ๆ ขณะที่เห็นละอองน้ำนั้นความรู้สึกมันดีมากๆ จนบอกไม่ถูกครับ ผมก็เลยเอาความรู้สึกนี้เป็นตัววัดว่าสิ่งใดจริง สิ่งใดปลอมครับ

ที่ผมพูดอย่างนี้ไม่แน่ว่าถูกต้องหรือเปล่า และมาไม่กี่วันนี้ขณะนั่งภาวนาก็เห็นอีก แต่คราวนี้เห็นคล้ายๆ เมฆสีขาวเคลื่อนไหวและมารวมกันอยู่ตรงกลาง แล้วรอบๆ เป็นสีม่วง มันรับรู้ถึงความสงบได้ครับ สติชัดเจนดี และชัดเจนกับสิ่งที่เห็น แต่ถ้ามองแบบทางวิทยาศาสตร์ มันเหมือนเรากำลังมองกาแล็กซีทางช้างเผือกอยู่ แต่แปลกใจตรงที่เราเปิดตามองดูรูปภาพกาแล็กซีในหนังสือเรากลับเฉยๆ แต่สิ่งที่เห็นขณะภาวนานั้นมันก็ดูไม่แปลกจากรูปในหนังสือเท่าไร แต่ทำไมความรู้สึกมันถึงได้ต่างกันลิบลับครับ

พอตามไปมันเพลิน แต่ก็มีความคิดหนึ่งเกิดขึ้นมา ต้องกลับมาพุทโธมันจะละเอียดขึ้น มันจะละเอียดขึ้นอีกนะ สุดท้ายมันเกิดขัดแย้งกันครับ ใจหนึ่งอยากตามไปดูสิว่ามันจะมีความรู้สึกอย่างไรต่อไปอีก แต่อีกใจหนึ่งบอกว่าไม่ต้อง ไปไม่ได้ต้องพุทโธ สุดท้ายสิ่งที่เห็นก็หายแว็บไป แล้วก็ออกมาจากความสงบในที่สุด สงสัยว่าถ้าตามสิ่งที่เห็นไปมันจะเป็นอย่างไรข้างหน้าต่อไป มันจะเป็นความสงบที่ละเอียดขึ้นไปหรือเปล่า หรือว่ากิเลสมันหลอกให้เราหลงตามมันไป ที่พูดอย่างนี้เพราะลังเลสงสัยเต็มหัวใจครับ และไม่ทันได้ตามดูสักที จิตก็คลายออกจากความสงบก่อน

หลวงพ่อ : นี้คือคำถามนะ คำถามจะตอบตั้งแต่แรก ตั้งแต่แรกที่ภาวนามา เห็นไหม นี่เห็นทุกอย่าง การปรารถนา เห็นเทวดา เห็นมาร เห็นพรหม แล้วก็ไปคุยโม้ไงว่าสิ่งนี้เห็นสิ่งนี้รู้ จนแม่ชีเตือนเอาว่านี่ภาวนาบ้าบอคอแตก ภาวนาขนาดไหนก็ยังหลงอยู่

อันนี้มันเป็นนิมิต สิ่งที่เป็นนิมิต นี่นิมิตมันมีหยาบ มันมีละเอียด.. นิมิตที่หยาบๆ ก็มีส่วนหนึ่ง นิมิตที่หยาบๆ สิ่งนี้นะเวลาภาวนาไปถ้ามีสติมันก็แก้อย่างนั้นแหละ แต่ส่วนใหญ่มันแก้ไม่ได้ มันเหมือนเด็ก เด็กนี่นะเวลามันทำสิ่งใดแล้วผู้ใหญ่จะไปควบคุม เด็กนี้จะต่อต้านมาก จิตใจนี่มันไร้เดียงสา พอไร้เดียงสา มันไปรู้ในสิ่งใดตามนิมิตของมัน มันก็ว่าสิ่งนั้นเป็นความจริง ทั้งๆ ที่ไม่จริง

เด็กทำอะไรถูกบ้างไหม เด็กเล็กๆ นี่มันทำอะไรถูกบ้าง มันก็อยู่ประสาเด็กนั่นแหละ อยู่จนกว่ามันรอวันโตขึ้นมาไง เด็กๆ มันก็คือเด็กๆ นั่นแหละ แต่มันไร้เดียงสามันก็รับรู้สภาวะตามของมัน แต่ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ของเด็กนะ เด็กจะมีความรู้สึก ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เลย เพราะเขาต้องตรึกของเขาอยู่อย่างนั้น

จิตของเรานี่พอเราทำความสงบมาบ้าง มันไปเห็นนิมิต เห็นต่างๆ มันก็เหมือนเด็กๆ นี่แหละ ทีนี้เด็กเห็นกับผู้ใหญ่เห็น เด็กเห็นก็เป็นส่วนหนึ่ง ผู้ใหญ่เห็นก็เป็นส่วนหนึ่ง.. ในการเห็นนิมิตนี่ถ้าเด็กบางคน เด็กบางคนนี่นะเลี้ยงง่าย เด็กบางคนนะ โอ้โฮ.. เลี้ยงง่ายมาก พ่อแม่นี่มีความสบายมาก เด็กบางคนจะเกเรมาก เด็กบางคนจะต่อต้านมาก เด็กบางคน เห็นไหม เด็กบางคน

จิต ! จิตแต่ละคนไม่เหมือนกัน ฉะนั้นเราจะบอกว่าการไม่เห็นนิมิตเลย การไม่เห็นนิมิตเลยเหมือนเด็กที่เลี้ยงง่าย เด็กที่เลี้ยงง่ายนี่เขาจะเลี้ยงง่ายของเขา นี่จิตที่ไม่เห็นนิมิตเลย บางคนภาวนาไปร้อยวันพันปีไม่เคยเห็นนะ จิตจะสงบไม่สงบก็ไม่เห็นนิมิต แล้วพอสงบขึ้นมาก็ อ๋อ.. อย่างนี้เป็นความสงบ ถ้าไม่สงบก็ว่าอย่างนี้เป็นความไม่สงบ แล้วก็ไปฟังคนที่ว่ามีนิมิตๆ นะ เขาจะงงนะ เอ๊ะ.. ทำไมเขามี ทำไมเราไม่มี

นี่เด็กที่เลี้ยงง่าย เด็กที่นิสัยดี เด็กเลี้ยงง่ายนี่เขาไม่รู้ว่าเขาดีกว่าคนอื่นได้อย่างไรหรอก เขาไม่รู้หรอก เด็กกับเด็กไม่รู้กันนะ เด็กคนที่เกเร เด็กคนที่ต่อต้านการเลี้ยงดู เด็กที่ขี้อ้อนเขาก็บอกว่าเขาเป็นปกตินะ เขาก็ไม่รู้หรอก เขาไม่รู้ว่าเขาเป็นคนอย่างนั้นหรอก แต่พ่อแม่ เวลาพ่อแม่มาคุยกันนี่ว่าทำไมเด็กคนนั้นมันแตกต่างคนนี้ คนนี้แตกต่างคนนั้น นี่พ่อแม่รู้ได้เพราะพ่อแม่เป็นผู้รับผิดชอบ พ่อแม่เป็นคนเลี้ยงดู แต่ตัวเด็กไม่รู้

จิตของเรานี่หัดภาวนาใหม่ ๆ หัดภาวนาใหม่ๆ นี่เหมือนเด็กอ่อน เวลามันภาวนาไปนี่มันไม่รู้มันหรอก มันไม่รู้หรอก ไอ้คนที่ไม่เคยมีนิมิตก็งงนะ เอ๊ะ.. เราภาวนานี่ผิดหรือเปล่า ไอ้เขาภาวนาแล้วเห็นนิมิต ไอ้เราไม่เห็นนี่เราผิดหรือเปล่า.. ไม่ผิดหรอก ! ยิ่งดี.. ยิ่งดีมันจะสงบของมันเข้าไปตามข้อเท็จจริง แต่เด็กที่มีนิมิต เด็กที่เห็น เวลาเด็กที่มันเกของมัน เด็กที่มันอยู่ตามสภาพของมัน มันก็เป็นของมัน พ่อแม่รักนะ พ่อแม่บอกว่าลูกเรานี่แข็งแรง ไอคิวดีมาก แหม.. พ่อแม่ก็ภูมิใจไป พอจิตที่มันภาวนาเห็นนิมิต มันก็จะเห็นนิมิตตามข้อเท็จจริงของมัน เด็กนิสัยเป็นอย่างไรมันก็แสดงออกตามสัญชาตญาณของมัน

จิตของใคร ! จิตของใครที่มีสร้างเวรสร้างกรรมมา มันจะแสดงออกตามสัญชาตญาณของมัน จิตที่สร้างเวรสร้างกรรมมา ถ้าจิตมันเห็นนิมิตมันมีนิมิตอยู่ มันก็มีนิมิตของมันอยู่อย่างนั้นแหละ เพียงแต่จะแก้ไขนิมิตนั้นอย่างไร ถ้าเด็กไม่มีนิมิตก็คือไม่มีนิมิต มันถูกต้องของมัน เพราะมันสงบเข้ามาโดยข้อเท็จจริงของมัน แต่ถ้ามีนิมิตนะ ถ้ามันเริ่มมีนิมิตใช่ไหม เด็ก ! เด็กเวลามันยังไร้เดียงสาอยู่นี่มันยังช่วยตัวเองไม่ได้ มันก็ด้วยความซื่อของมัน ด้วยความไร้เดียงสาของมัน มันทำผิดทำถูกโดยธรรมชาติของมัน

เห็นนิมิต ! เห็นนิมิตใหม่ๆ มันเห็นเหมือนเด็กๆ เห็นเหมือนเด็กๆ มันเป็นประโยชน์ไหมล่ะ.. แต่ถ้าเวลามันพัฒนาขึ้นมา เราเห็นนิมิตตอนตั้งแต่เด็กๆ ใช่ไหม ดูสิดูความจำทางจิตวิทยา เห็นไหม เด็กถ้ามีอะไรอยู่ที่ในหัวใจมัน มันยึดสิ่งใดที่อยู่ในหัวใจของมัน นี่โตขึ้นมามันจะเป็นจริตเป็นนิสัยของมัน เห็นไหม เด็กที่เราเลี้ยงมาตั้งแต่เด็ก ถ้ามันมีปมในใจขึ้นมามันจะเป็นปัญหาสังคมไปเลย เด็กถ้าเราดูแลมันดี มันจะเป็นประโยชน์กับสังคมเลย มันจะรับผิดชอบชีวิตของมันเลย

ฉะนั้นสิ่งที่มันเห็นนิมิตขึ้นมา ถ้ามันยึดมันติดของมัน เห็นไหม นี่มันจะติดปัญหาของมันอย่างนั้น แล้วมันจะไม่พัฒนาขึ้นมา แต่ถ้าเราเห็นนิมิตใช่ไหม เรานิสัยเป็นอย่างนี้ เรารู้อย่างนี้แล้วเราวาง เห็นไหม เห็นนิมิตแล้ววาง

ถ้าใครเห็นนิมิตนะ พูดถึงถ้ามันเกิดขึ้นมานี่พุทโธหายหมด.. พุทโธ พุทโธ พุทโธนี่ เราพุทโธกันไปใช่ไหม เราพุทโธเพราะความเข้าใจผิด พอเราพุทโธไป พอจิตมันเริ่มมีอาการของมัน เห็นนิมิต จิตมันเห็นนิมิตเพราะอะไร เพราะพุทโธนี่.. ถ้าพุทโธมันเห็น ทำไมอยู่ปกติไม่เห็นล่ะ ถ้าเราไม่พุทโธทำไมไม่เห็นนิมิต

ไม่เห็น.. ไม่เห็นเพราะอะไร ไม่เห็นเพราะมันเป็นสามัญสำนึก จิตเป็นสามัญสำนึก แต่พอพุทโธไปนี่จิตมันมีการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนแปลงจากปกติมันพัฒนาขึ้นมา พอพัฒนาขึ้นมาเป็นตัวจิตใช่ไหม พอพัฒนาเข้ามาที่จิต จิตมันก็แสดงออกตามสัญชาตญาณของมัน เหมือนอาการของเด็กที่มันแสดงออก พออาการของเด็กมันแสดงออกปั๊บมันจะเห็นนิมิต ถ้าเห็นนิมิต ถ้าเราเป็นเด็กใช่ไหม พอเราเห็นนิมิตปั๊บเราก็ปล่อยวางนิมิต เราปล่อยวาง ปล่อยวางเพื่ออะไร

เด็กเห็นนิมิต กิริยาของเด็กนี่ เด็กที่อายุเป็นทารก อายุ ๑ ขวบ ๒ ขวบ ๓ ขวบ ๔ ขวบ ๕ ขวบ เด็กอายุ ๑๐ ขวบ นี่ไงกิริยาที่แสดงออกมันแตกต่างกัน.. จิตขณะที่มันเห็นนิมิตครั้งแรก ดูเด็ก เห็นไหม ดูเวลามันหิวนมมา ผู้ดูแลไม่เอานมให้กินนี่มันดูดนิ้วมือเลย มันนึกว่าเป็นนมของมัน นี่มันเข้าใจของมัน

นิมิตเราเห็นตอนเป็นทารก เราไม่เข้าใจมัน เราก็ว่านี่เห็นนิมิต เห็นไหม จนเห็นนิมิตเราก็เข้าใจว่ามันเป็นสมาธิ เราเข้าใจว่าสิ่งนั้นเป็นผลของสมาธิ.. มันเป็นผลจริงๆ มันเป็นผลเพราะจิตมันหดตัวเข้ามา มันมีเข้ามา เหมือนคน คนอยู่โดยปกตินี่ไม่เคยฝันหรอก คนจะฝันคือคนนอนหลับ คนนอนหลับมันถึงฝัน เอ็งยังไม่นอน เอ็งจะฝันได้อย่างไร

จิต.. ถ้ามันไม่สงบ มันไม่มีการพัฒนาการมันจะเห็นได้อย่างไร แต่มันเห็นแล้วนี่มันเห็นโดยหยาบๆ ไง มันต้องพัฒนาเข้าไปไง ฉะนั้นถ้าเห็นนิมิตเราต้องวางไง ต้องวางเข้าไป พอวางเข้าไปเรื่อยๆ เข้ามา พอเรื่อยๆ เข้ามา เห็นไหม พอปล่อยวางนี่ พอแม่ชีเขาเตือน ภาวนาบ้าบอคอแตกอะไร ไปติดอยู่อย่างนั้น.. นี่ถูกต้อง ! แต่ถ้าจะบอกว่าให้ไม่มีก็ไม่ได้ มันก็ต้องมีของมันใช่ไหม พอมีของมันขึ้นมา แล้วเราเข้าใจใช่ไหม เพราะเราพัฒนาแล้ว เราไม่ใช่เด็ก

นี่จิตเป็นทารก จิตที่ยังเป็นทารกอยู่อย่างนั้นล่ะ ถ้าจิตเป็นทารกอยู่อย่างนั้นมันก็เห็นนิมิตอยู่อย่างนั้นแหละ แต่ถ้าจิตไม่เป็นทารกเลยจิตไม่มี ไม่มีชีวิตเลย เป็นสามัญสำนึก สามัญสำนึกคือโลกียปัญญา แต่ถ้าจะสู่การภาวนานี่มันต้องเปลี่ยนแปลงของมัน พอเปลี่ยนแปลงของมัน นี่ไงหญ้าปากคอก ! นี่ไงคือวิธีการที่จิตจะเริ่มพัฒนาไง ระหว่างที่ปริยัติกับปฏิบัติไง

ปริยัติคือการศึกษาคือการจำทั้งนั้น คือสามัญสำนึก คือการศึกษาทางวิชาการทั้งนั้น.. แต่พอปฏิบัติ เห็นไหม พอปฏิบัติไปมันต้องมีการทำความสะอาด มันต้องมีศีล สมาธิ ปัญญา พอมีศีล สมาธิ ปัญญานี่มันจะเข้าสู่จิต

นี่เราถึงบอกว่าลายนิ้วมือของคนไม่เหมือนกัน ลายพิมพ์ของจิตก็ไม่เหมือนกัน ! ลายพิมพ์ของจิตแต่ละลาย ลายพิมพ์ของจิตแต่ละจริตนิสัยมันก็ไม่เหมือนกัน นี้พอเข้ามาแล้ว ถ้าครูบาอาจารย์ที่เป็นแล้ว เห็นไหม ดูสิพนักงานสอบสวน เวลาเขาพิมพ์ลายนิ้วมือนี่เขารู้เลยว่าลายนิ้วมือคนนี้ตรงกับใครไม่ตรงกับใคร เพราะพนักงานสอบสวนเขาเป็นคนดูแลอยู่

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันเข้ามานี่ลายพิมพ์ของจิต ! ถ้าเป็นลายพิมพ์ของจิต มันก็เป็นลายพิมพ์ของจิตแต่ละดวง ครูบาอาจารย์นี่เหมือนพนักงานสอบสวน ครูบาอาจารย์เราเป็นผู้ที่ชำนาญการ จะเข้าใจได้ว่าจิตอย่างนี้ มีนิมิตอย่างนี้จะแก้อย่างไร นิมิตมันแตกต่างอย่างไร ถ้านิมิตซ้อนนิมิตล่ะ นิมิตอันนี้กับนิมิตอันนี้เหมือนกัน มันมีสิ่งใดที่มันจำกันมา

ฉะนั้นสิ่งที่มันเป็นนิมิต ถ้าลายพิมพ์ของจิตมันมีมาอย่างนี้ พอมีมาอย่างนี้ปั๊บ เราจะพัฒนาการของมันให้มันดีขึ้นมาๆ เป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา.. นี่พูดถึงนิมิตนะ ! นิมิตโดยที่ว่ามันเห็นไง เราจะบอกว่าจิตบางดวงเห็นก็คือเห็น ถ้าเห็นแล้วเราต้องแก้ตามนั้น เหมือนรูปพรรณสัณฐานของมนุษย์ รูปพรรณสัณฐานของมนุษย์มันไม่เหมือนกัน แล้วมันก็มีใช่ไหม มีแบบว่าถ้าเป็นนางงามใช่ไหมส่วนสัดต้องเป็นเท่านั้น ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้วทุกคนต้องเป็นอย่างนั้นหมดเลยเหรอ

มันไม่ได้ เห็นไหม นี่ก็เหมือนกันส่วนสัดที่เป็นอย่างนั้น แต่รูปพรรณของมนุษย์ ร่างกายของมนุษย์แตกต่างกัน เกิดมาโดยธรรมชาติ จิตก็เหมือนกัน ! จิตก็เหมือนกัน.. ทีนี้เราบอกว่า สิ่งที่ว่านางงามต้องมีส่วนสัดอย่างนั้น คือสัมมาสมาธิต้องเป็นอย่างนั้น ฉะนั้นสิ่งที่เข้ามาไง นี่รูปพรรณสัณฐานมันเป็นวัตถุใช่ไหม แต่ถ้าเป็นจริตนิสัย เป็นลายพิมพ์ของจิตมันเป็นนามธรรม พอนามธรรมนี่พุทโธอย่างเดียว พุทโธอย่างเดียว พอมันเข้ามา เห็นไหม เวลาส่วนสัดของนางงามต้องเป็นอย่างนี้ ส่วนสัดของสัมมาสมาธิ ขณิกสมาธิเป็นอย่างไร อุปจารสมาธินี่ อุปจารสมาธิเป็นอย่างไร อัปปนาสมาธิเป็นอย่างไร

ขณิกสมาธิคือความสงบ แล้วถ้ามันเห็นนิมิต นี่ขณิกสมาธิมันจะไปเห็นนิมิต อุปจาระ เห็นไหม พอจิตมันละเอียดเข้าไป ถ้าจิตมันละเอียดเข้าไป พอจิตมันละเอียดเข้าไปนี่มันออกรู้ ! ออกรู้.. ออกรู้โดยสามัญสำนึก ออกรู้โดยที่ไม่ใช่ทารกแล้ว ถ้าออกรู้โดยที่ไม่ใช่ทารกนี่ เห็นไหม มันจะเป็นวิปัสสนาได้

วิปัสสนาเพราะอะไร เพราะมันโตขึ้นมาไม่ใช่ทารก ทารกมันเห็นของมัน มันช่วยอะไรตัวมันเองไม่ได้หรอก มันต้องอาศัยพี่เลี้ยงดูแลมันตลอดไป แต่พอเราพัฒนาขึ้นมา พอจิตเราปล่อยวาง เรากลับมาพุทโธให้มันไม่ออกรู้ จิตจากทารกนี่มันจะพัฒนาการของมันจากขณิกสมาธิ เป็นอุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ เห็นไหม

นี่จิตมันพัฒนาขึ้นมาไง ก็บอกว่าจิตมันโตขึ้นมาไง ไม่ใช่ทารกไง ไม่ใช่จิตทารกแล้ว จิตมันมีกำลังขึ้นมา มันโตขึ้นมา.. พอโตขึ้นมา มันเห็นสิ่งใด นี่เริ่มต้นจากการเห็นครั้งแรก ผมเข้าใจว่าถูกต้อง แหม.. ผมก็ยิ่งพูดยิ่งมัน ไปบอกทุกวันเลยมันก็ไม่เติบโต พอโดนช็อตเข้าไปทีเดียว เห็นไหม

ถาม : ต่อมาวันหนึ่งเวลาภาวนาไปแล้ว เห็นเป็นละอองน้ำเล็กๆ เต็มไปหมด เคลื่อนที่ได้หมุนวนมาตรงกลาง คราวนี้ไม่เห็นเหมือนนิมิตก่อนที่เคยเห็น มันชัดเจนมาก สามารถเห็นรายละเอียดในหยดน้ำ ผมก็สงสัย แต่ภาพอยู่ไม่นานก็หายไป

หลวงพ่อ : เพราะมันตั้งไม่ได้ ถ้ามันเป็นข้อเท็จจริงนี่มันเป็นของมันเอง

ถาม : ผมไปถามแม่ชีว่านี้คืออะไร แล้วสิ่งนั้นกิเลสสร้างขึ้นมาหรือเปล่า

หลวงพ่อ : สร้าง ! กิเลสทั้งนั้นแหละ คนภาวนานี่ยังมีกิเลส กิเลสอย่างหยาบ กิเลสอย่างกลาง กิเลสอย่างละเอียด

แม่ชีตอบว่า “สิ่งที่เห็นสามารถรู้ได้ด้วยใจที่เป็นกลางของตน” เห็นไหม

ครูบาอาจารย์บอกเลย ถ้าเราเห็นสิ่งใดเราสงสัย ให้ถามเข้าไปที่ใจของตัว ใจของตัวเองจะตอบสิ่งนี้ได้ ! ใจของตัวเองจะตอบสิ่งนี้ได้.. เวลาพิจารณาสิ่งนั้นคืออะไรนี่ถามที่จิตเลย จิตมันรู้ แต่พอมันส่งออก มันส่งออกนี่มันเป็นโดยสามัญสำนึกของเราไง

อย่างเช่นเราเคยใช้อุปกรณ์สิ่งใดอยู่ แล้วตอนนี้เทคโนโลยีมันเจริญขึ้นมา เขามีอุปกรณ์ที่ดีกว่า เรายังติดอุปกรณ์เก่าอยู่นี่เราไม่ยอม ว่าของกูดีกว่า ของกูดีกว่า.. อุปกรณ์นี้เราเคยใช้มานะ เทคโนโลยีมันสร้างมาใหม่ ไม่เอาๆ เอาแต่ของเก่า

อันนี้ก็เหมือนกันพอจิตมันรู้ ! จิตมันรู้ เห็นไหม จิตมันรู้คืออุปกรณ์ที่เราเคยใช้อยู่ นี่เพราะความนึกคิด สามัญสำนึกเรานี่เรารู้ของเราอยู่ เราคิดโดยจริตนิสัยเราอยู่ เราคิดของเราอย่างนี้ ฉะนั้นเราคิดออกมาไง นี่คืออะไร อยากรู้อยากเห็นแต่ส่งออก แต่ถ้าเราพุทโธกลับ..พุทโธกลับเพราะอะไร เพราะสิ่งที่เห็นนี้ใครเป็นคนเห็น เราเห็นนิมิต เห็นสิ่งต่างๆ เห็นละอองน้ำนี่ใครเป็นคนเห็น เราภาวนากันอยู่แสนคน เรานั่งกันอยู่นี่ อีก ๙๙,๙๙๙ คนไม่เห็น เราเห็นคนเดียว

ไปถามใครไม่รู้หรอก มันต้องถามจิตเราไง นั่งภาวนาอยู่แสนคน เราเห็นของเราอยู่คนหนึ่ง เราจะไปถามไอ้คนอีก ๙ หมื่นกว่าคนบอกว่านั่นคืออะไร แต่มันไม่ถามตัวมันเอง เห็นไหม เพราะอุปกรณ์นี้เราเคยใช้ นี่อุปกรณ์สิ่งต่างๆ เราเคยใช้.. เราจะบอกว่าอุปกรณ์หมายถึงว่าขันธ์กับจิต จิตคือพลังงาน ขันธ์คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สัญชาตญาณมันส่งออก อุปกรณ์นี้มันใช้อยู่ สัญชาตญาณนี่มันนอนเนื่องมากับจิต มันเป็นอนุสัย

มันเหมือนพลังไฟฟ้านี่ ไฟฟ้ามันเคลื่อนที่ไปกับสาย นี่พลังงานของจิตมันส่งออกตลอดเวลา มันส่งออกมาที่ขันธ์ ๕ พอส่งออกมาที่ขันธ์ ๕ สิ่งที่มันเกิดขึ้นมานี่มันก็ส่งออกมา นั่นคืออะไรนี่คืออะไร มันก็งงออกไป เพราะอุปกรณ์นี้เราเคยใช้

เราเปลี่ยน ! เราเปลี่ยน ! เทคโนโลยีมันเจริญขึ้นมาใช่ไหม เทคโนโลยีเดี๋ยวนี้เขาพัฒนาขึ้นมาจนเทคโนโลยีนี้มันดีกว่าเก่า แต่เราไม่เคยใช้ เราไม่รู้จักมัน เราไม่เอา เราใช้แต่ของเก่าๆ ก็ส่งออกอย่างเก่าๆ งงอย่างเก่าๆ งงอยู่ ไม่เข้าใจอยู่อย่างเก่า แต่ถ้าเราพุทโธกลับ เห็นไหม พุทโธ พุทโธนี่เรากลับเข้าไปสู่จิต เข้าไปสู่จิตโดยสามัญสำนึกของมัน.. นี่ไงถึงบอกว่าสิ่งที่เห็นสามารถรู้ได้ด้วยใจที่เป็นกลาง สามารถย้อนกลับไปถามจิตตัวเองนี่แหละ พอถามจิตตัวเองมันจะเข้าใจของมัน สภาพมันเป็นอย่างไรมันจะเข้าใจของมัน มันจะรู้ของมัน

ถ้ารู้ของมันขึ้นมา.. อันนี้ เห็นไหม นี่เวลาเรานิมิตแบบทารก ทารกมันก็งงของมัน มันเห็นแล้วมันก็งงของมัน ไม่เข้าใจของมันนะ แต่พอมันพัฒนาขึ้นมา นี่เราเปลี่ยนเลย เทคโนโลยีมันเจริญขึ้นมา คือภาวนามันดีขึ้นมา สติดีขึ้นมา ความประสบการณ์มันดีขึ้นมา มันจะย้อนกลับสู่จิตของมัน พอสู่จิตของมันจะเข้าใจของมัน เข้าใจของมัน เห็นไหม นี่ปัจจัตตัง !

นี่เกิดความเข้าใจ เกิดการภาวนาขึ้นมาไม่ใช่หญ้าปากคอกแล้ว หญ้าปากคอกนี่มันทำยากนะ แต่เวลาปฏิบัติขึ้นไปนี่เป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา นี่พอจิตมันละเอียดขึ้นมา เห็นไหม เห็นเป็นละอองน้ำ..

“มาเมื่อไม่กี่วันนี้ขณะภาวนาก็เห็นอีก คราวนี้เห็นคล้ายๆ เมฆสีขาว มันรวมตัวอยู่ตรงกลาง แล้วรอบๆ เป็นสีม่วง รับรู้ถึงความสงบได้ครับ”

มันสำคัญตรงนี้ไง “รับรู้ถึงความสงบได้ครับ สติชัดเจนดี แต่ชัดเจนกับสิ่งที่เห็น ถ้ามองแบบวิทยาศาสตร์มันเหมือนกับเรามองกาแล็กซี ทางช้างเผือก แต่แปลกใจตรงที่เราเปิดตาดูตามรูปภาพกาแล็กซีในหนังสือ เรากลับเฉยๆ แต่สิ่งที่เห็นในภาวนานั้นมันดูแปลกจากรูปในหนังสือไม่เท่าไร แต่ความรู้สึก..”

นี่เวลาภาวนากัน เห็นไหม เราจะถามเรื่องภาวนานี่เห็นนู้นเห็นนี่กันมา ภาวนาขึ้นมา แล้วความรู้สึกเป็นอย่างไร เวลาจิตมันลงไปใช่ไหม แบบว่าเห็นเป็นแสงเป็นสีต่างๆ ไอ้ที่ว่าเป็นแสงเป็นสีต่างๆ เราก็ไม่เห็นด้วยนะ เห็นเป็นแสงเป็นสีต่างๆ มันเหมือนกับเรานี่ ถ้าเราหิวกระหายเหลือเกิน เราจะมีกำลังไหม แต่ถ้าเรากินข้าวอิ่มเราจะทำอะไรก็ได้

จิต ! จิตถ้ามันหิวกระหายนะมันจะไม่เห็น สีแสงต่างๆ มันจะเห็นต่อเมื่อเราลืมตา ถ้าเราหลับตาก็มองไม่เห็น ร่างกายเราอ่อนแอนะมันก็ทำสิ่งใดไม่ได้ ถ้าร่างกายมันกินข้าวอิ่มหนำสำราญ มันจะแบกหามอะไรก็ได้ จิตจะเห็นแสงสีเสียง จิตมันต้องมีพัฒนาการมันต้องมีความสงบของมัน ถ้าไม่มีความสงบของมัน มันจะเห็นสิ่งอย่างนี้ไม่ได้ แต่พอไปเห็นขึ้นมาแล้ว เห็นไหม พอไปเห็นขึ้นมาเราก็ไปติดมัน เราถึงบอกว่าเราไม่เห็นด้วยไง แต่ถ้ามันเห็นนะ เห็นก็คือเห็น แล้วทีนี้ความเห็นนั้นก็คือเห็นอันหนึ่งนะ..

๒.ขณะที่จิตมันเห็นกาแล็กซีนี่มันมีความรู้สึกอันหนึ่ง ขณะเราเปิดหนังสือดูมันมีความรู้สึกอันหนึ่ง ก็หนังสือมันเป็นวัตถุ หนังสือก็คืออุปกรณ์อันเก่าไง อุปกรณ์อันเก่าที่เราเคยใช้เคยทำ เห็นไหม จิตส่งออกตลอด นี่เวลาจะเห็นกาแล็กซีในจิตที่มันสงบนะเกือบเป็นเกือบตาย พุทโธจนเกือบเป็นเกือบตายกว่าจะเห็น เพราะมันเห็นขึ้นมา เห็นภาพเป็นปัจจุบัน พอเห็นปั๊บอันนั้นมันฝังใจ ฝังใจนี่มันเกิดตัณหาซ้อน สมุทัยซ้อนแล้ว ซ้อนอยากเห็นอีก พอเห็นอีกนี่ไม่ต้องไปดูกาแล็กซีในจิตแล้วนะ เปิดกาแล็กซีในหนังสือเลย

แล้วเปิดกาแล็กซีในหนังสือเห็นทางช้างเผือกทำไมมันไม่เหมือนกันล่ะ มันจะเหมือนกันได้อย่างไรมันไม่มีต้นทุนไง ถ้าจิตมันเห็นโดยธรรมชาติของมัน มันมีต้นทุนของมัน มันมีจิตสงบเข้ามา จิตมันได้ไปเห็นมันจะมีความสุข แต่เวลาไปเห็นไปดูในหนังสือนี่มันดูด้วยตา เอาตาไปดู ตาไปดูมันก็ดูด้วยตา ดูด้วยตามันก็เป็นสามัญสำนึก นี่มันไม่เหมือนกันหรอก

ดูสิเราไปเห็นผี เห็นไหม เห็นเขาถ่ายรูปผีมา เขาวาดรูปผีมา ถ่ายรูปผีเห็นผีอย่างหนึ่ง เวลาเราไปเจอผีหลอก อู้ฮู.. มันตกใจจนขนหัวลุกเลย.. นี่เห็นผีอันนั้นมันเป็นความจริงเพราะจิตมันรับรู้ เห็นรูปผีนี่โอ๋ย.. เห็นรูปผีก็ว่าอารมณ์มันไม่เห็นเหมือนกันเลย เวลาผีหลอกนะ เวลาผีหลอกนี่ตกใจ แต่เวลาไปดูรูปผีมันไม่เห็นสะเทือนใจ.. จิตไม่สงบ จิตมันไม่มีหลัก ถ้าจิตมันสงบมันจะมีหลักของมัน เห็นไหม มีหลักของมัน มันมีความรู้สึก

นี่สติชัดเจนดี.. ให้ทำต่อเนื่องเข้าไปเรื่อยๆ ทำต่อเนื่องเข้าไปเรื่อยๆ

สุดท้ายนะ.. สุดท้ายที่ว่า “เวลาจิตมันเห็นนี่มันละเอียดขึ้น สุดท้ายมันเกิดการขัดแย้ง ใจหนึ่งอยากตามไปดูว่าสิ่งนี้มันมีความรู้สึกอย่างไรต่อไป แต่อีกใจหนึ่งบอกว่าไม่ได้ต้องกลับมาพุทโธ สุดท้ายสิ่งที่เห็นก็หายแว็บไป”

พอคิดก็แว็บแล้ว ถ้าขณะที่เห็นสีเห็นแสงนี่นะคือจิตส่งออกแล้ว เห็นไหม แสง สี เสียงต่างๆ จิตออกรู้ แต่ถ้ามันพุทโธกลับมาที่จิตนะ แสง สี เสียงก็ดับเลย นี่ไงสมาธิที่มันไปเห็นนิมิตก็เห็นอย่างนี้แหละ เห็นนิมิตเพราะจิตออกไปรู้ไปเห็น แต่ถ้าจิตกลับมาที่ตัวมันมันจะดับหมด

ฉะนั้นสิ่งที่ว่าพอจิตบอกให้กลับมาพุทโธ สิ่งที่เป็นแสง สี เสียงหายแว็บเลย พอเริ่มคิดนะเริ่มคิด ดูเรานั่งสมาธิสิ พอจิตเป็นสมาธินะ พอเรามีความรู้สึกนี่มันออกแล้ว เวลามันคลายตัวออกมานี่มันรับรู้ได้แล้ว แต่พอมันเข้าไปถึงตัวมัน แล้วยิ่งอัปปนาสมาธินี่สักแต่ว่ารู้ นิ่งเลย.. สักแต่ว่ารู้ จิตหนึ่งไม่รับรู้อะไรเลย แม้แต่ร่างกายก็ไม่รับรู้ แต่พอมันมีความรู้สึก เหมือนกับอุณหภูมินี่ความร้อนมันมีมากขึ้น พอจิตมันคลายตัวออกมานี่เริ่มรู้สึกในร่างกายแล้ว แล้วถ้าจิตยังสงบอยู่นะก็ยังรับรู้อยู่

นี่อุปจารสมาธิ ! อุปจาระหมายถึงว่าจิตสงบอยู่แล้วออกรับรู้ได้ ออกรับรู้ได้นี่วิปัสสนาเกิดตรงนี้ วิปัสสนาจะเกิดตรงนี้เพราะจิตมันออกรับรู้.. เพราะมีจิต ! เพราะมีจิต เห็นไหม ก็เหมือนผีหลอกกับดูภาพผี ดูภาพผีอย่างไรก็ไม่สะเทือนใจ แต่ผีหลอกสะเทือนใจมาก แต่ขณะที่จิตที่มันเป็นสัมมาสมาธิแล้วออกรู้ พอออกรู้นี่เพราะมันมีจิต เพราะมันมีจิตมันมีความรู้สึกที่จิต เพราะอะไร เพราะเราออกรู้ในกาย เวทนา จิต ธรรม นี่สติปัฏฐาน ๔ เกิดตรงนี้ สติปัฏฐาน ๔ เกิดเพราะมีจิตออกไปรับรู้

แต่บอกว่าสติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม.. อันนั้นมันเป็นตำรา ! ตำรากาย เวทนา จิต ธรรมนี่สติปัฏฐาน ๔ เราไปวิเคราะห์ตำรากัน เดี๋ยวนี้พูดธรรมะพูดเป็นสูตรสำเร็จ เอาธรรมะมาคุยกัน ธรรมะเป็นสูตรสำเร็จนะ ทางวิชาการนี่สูตรสำเร็จ อ้าว..ทำให้มันจบแล้ว จบแล้วได้อะไรล่ะ จบแล้วกูก็งงอยู่อย่างนี้ ไม่รู้อะไรกูยังงงอยู่เลย..

แต่ถ้าเป็นสติปัฏฐาน ๔ นะพอจิตมันเป็นหลักใช่ไหม พอตัวจิตมันสงบแล้ว จิตมันออกรู้ พอจิตออกรู้มันออกรู้ในอะไร ออกรู้ในกาย ออกรู้ในกายมันก็เหมือนกับเห็นผีนี่มันสะเทือนที่ใจเรา ออกรู้ในกายพอกายมันแปรสภาพมันก็สะเทือนจิต ออกรู้ในเวทนา อู้ฮู.. เวทนานี่สะเทือนจิต ออกรู้ในธรรม ออกรู้ในจิต.. จิตออกรู้จิต ! พอจิตออกรู้จิตมันก็สะเทือนกลับมาที่จิต เพราะกิเลสมันอยู่ที่จิตใช่ไหม

นี่สติปัฏฐาน ๔ มันเกิดตรงนี้ ! สติปัฏฐาน ๔ มันต้องมีจิตสงบก่อนแล้วออกรู้ แต่บอกสติปัฏฐาน ๔ คือกาย เวทนา จิต ธรรม.. ถ้ากาย เวทนา จิต ธรรมนะ อ้าว.. ก็เอากายมาตั้งไว้สิ เอาเวทนามาตั้งไว้ เอาจิตมาตั้งไว้แล้วได้อะไรล่ะ ก็ได้สิ่งที่เป็นนิทรรศการไง นิทรรศการกาย เวทนา จิต ธรรม มันไม่ใช่สติปัฏฐาน ๔

อ้าว.. ก็เวลาพูดกันนี่พูดถึงนิทรรศการนะ อ้าว.. ขึ้นบอร์ดเลยนี่กาย นี่เวทนา นี่จิต นี่ธรรม นี่คือสติปัฏฐาน ๔ ! นี่คือสติปัฏฐาน ๔ ! ไอ้คนฟังก็งงนะสติปัฏฐาน ๔ อ๋อ.. รู้แล้ว กลับบ้านเอากระดาษไปคนละใบ ศึกษาจบแล้วไง ศึกษาคอร์สนี้จบแล้ว รับประกาศนียบัตร เดินมาแล้วก็แจกคนละใบๆ กลับบ้าน ก็สติปัฏฐาน ๔ เราศึกษาสติปัฏฐาน ๔ เราเข้าใจสติปัฏฐาน ๔ ไอ้พุทโธ พุทโธ ไอ้พวกทำแล้วไม่มีสติปัฏฐาน ๔ อู้ฮู.. ได้กระดาษมาคนละใบ

ไอ้ของเราพอจิตสงบออกรู้ ! ออกรู้ ! ออกรู้แล้วมันสะเทือนกิเลสนะ มันสะเทือนกิเลส มันสะเทือนความรู้สึก มันสะเทือนสิ่งที่เป็นอนุสัยนอนอยู่ในใจ มันสะเทือนสิ่งที่เป็นอวิชชาที่มันหลอกเรามาหลายภพหลายชาติ บอกว่าสรรพสิ่งเป็นเรา ทุกอย่างเป็นเรา เกิดมาต้องมีบุญ เกิดมาทุกอย่างต้องมีทรัพย์สมบัติ มันฝังอยู่ในหัวใจ แต่พอจิตมันสงบแล้วพอมันไปเห็นกาย พอเห็นกายพอกายมันแปรสภาพให้ดู เห็นไหม นี่เพราะจิตมันดู พอจิตมันดูจิตมันสะเทือน พอจิตสะเทือนพอมันปล่อยนี่ โอ้โฮ.. มันคลาย มันจาง มันคลาย มันถอดมันถอน

นี่สติปัฏฐาน ๔ นี่แบบตทังคปหานนะ คือชั่วคราวๆ ชั่วคราวทั้งนั้นเลย การชั่วคราวนี่มันมีการกระทำของมันอย่างนี้ มันมีการกระทำของมันที่จิต มันถอดมันถอนของมัน มันรื้อมันรื้อของมัน ถ้ารื้อของมันเห็นไหม พอเวลาพุทโธแล้วพุทโธมันหายแว็บไป พอหายแว็บไปนี่มันก็หลุดมือไป นี้เวลาจิตมันสงบนะพอมันเห็นกายใช่ไหม พอขยับกายหายเลย แล้วพอจิตไม่ดีนะพอตามขึ้นมานี่กายแข็งทื่อเลย ภาพที่เห็นทื่อๆ ซื่อบื้อเลย

แต่ถ้าจิตมันดีนะ จิตเราทำสัมมาสมาธิ ถ้าคนเห็นกายโดยสามัญสำนึก คนเห็นกายโดยอำนาจวาสนา อย่างที่ว่าลายพิมพ์ของจิต ลายพิมพ์ของจิตถ้าคนมีบุญมันจะเกิดเลย ถ้าลายพิมพ์ของจิตมันไม่ดีนะ มันต้องพยายามโน้มนำ เขาเรียกรำพึงขึ้นมา นึกเอาเลย.. ทีนี้คำว่านึกเอามันก็เป็นเรื่องโลกใช่ไหม แต่ถ้าเป็นธรรมเขาเรียกว่ารำพึง

รำพึงก็คือคิดนี่แหละคิดในสมาธิ เขาบอกสมาธิคิดไม่ได้.. ถ้าสมาธิคิดไม่ได้มันจะเกิดปัญญาได้อย่างไร สมาธิคิดไม่ได้ แต่คิดโดยสมาธิคิดอย่างไร เวลาคิดนอกสมาธินี่ทุกข์ฉิบหายเลย เราคิดโดยสมาธินี่เป็นวิปัสสนา คิดโดยสมาธิคิดอย่างไร.. นี้เขาพูดไปมันหยาบเกินไปไง มันเป็นประสาโลกไง แต่ถ้าในธรรมนี่เขาต้องธรรมเหนือโลกใช่ไหม เวลาพูดขึ้นมาถึงบอกว่าเป็นการรำพึง พูดให้มันแตกต่าง ! พูดให้มันแตกต่าง มันแตกต่างโดยเนื้อหาสาระ แตกต่างโดยจิต

โดยสามัญสำนึก.. เวลาความคิดเกิดขึ้นมานี่เป็นสามัญสำนึก แต่เวลาจิตสงบขึ้นมาแล้วมีปัญญาเข้ามา เขาเรียกภาวนามยปัญญา ปัญญาจากจิต ! ไอ้ปัญญาของเรามันเป็นปัญญาจากสมอง ปัญญาจากสัญชาตญาณ แต่ปัญญาจากจิตเพราะจิตมันสงบ พอจิตมันสงบนี่มันใช้ของมัน มันวิปัสสนาของมันขึ้นมา

สิ่งที่มันวิปัสสนานี่ปัญญามันเกิดขึ้นมา ปัญญาที่มันเกิดขึ้นมานี่มันจะถอดมันจะถอน เห็นไหม พอมันถอดถอน ถ้ามันมีกำลังของมัน ที่ว่าถ้ามันจิตไม่พอนี่มันก็แข็งทื่อ แต่ถ้าจิตกำลังมันดีนะ..

คำว่าไม่แข็งทื่อเพราะอะไร ไม่แข็งทื่อเพราะว่าอุคหนิมิต แข็งทื่อ แล้วถ้าอุคหนิมิตคือภาพที่เห็น คืออุคหนิมิต

วิภาคะ ! วิภาคะคือขยาย ขยายคือไตรลักษณ์ อย่างเช่นภาพกายนี่มันจะทำลายตัวมันเอง มันจะผุพอง มันจะทำลายตัวมันเองลง พอทำลายตัวมันเองลงนี่มันเป็นไตรลักษณ์ มันเป็นไตรลักษณ์มันพัฒนาการของมัน.. ต้องจิตเข้มแข็งนะ ต้องจิตมีกำลังนะ ถ้าจิตไม่มีกำลังนะภาพนี้ช็อกเลย หยุด ภาพนี้แว็บหายเลยภาพอยู่กับเราไม่ได้ แล้วภาพอยู่กับเราไม่ได้มันก็ตามหาภาพ เหมือนเด็กเลย เหมือนทารกเห็นนิมิต พอภาพหายไปแล้วร้องไห้ จะเอาภาพ ! จะเอาภาพ ! อู้ฮู.. ภาพหายไป ภาพหายไป.. มึงร้องอีก ๕๐๐ ชาติก็ไม่เจอ

แต่ถ้าภาพมันหายไปเรากลับมาพุทโธ กลับมาพุทโธ พัฒนาจิตให้มันแข็งขึ้นมา เข้มแข็งขึ้นมา พอจิตเข้มแข็งขึ้นมา เห็นไหม พอเรารำพึงไปเห็นอีก ถ้าเห็นปั๊บ ถ้าจิตมันดีนะให้มันแปรสภาพ

วิภาคะ อุคหนิมิต วิภาคะนิมิต การขยายส่วนแยกส่วน นี่สติปัฏฐาน ๔ ! ไตรลักษณะมันจะเกิดตรงนี้ ถ้าเกิดตรงนี้แล้วมันแปรสภาพ พอมันแปรสภาพ โอ้โฮ.. เราจะช็อกมากเลยนะ ช็อก ! ช็อก ! ช็อก ! ช็อกตลอดเลย เอ๊อะ ! เอ๊อะ !

เพราะคำสอนนี้มันมีระหว่างครูกับอาจารย์ ครูสอนไปเถอะกูไม่เชื่อ ทำไมล่ะกูไม่เชื่อ อ้าว.. สอนสิ อาจารย์สอน พระพุทธเจ้าสอนด้วย พระพุทธเจ้าเทศน์อยู่กูก็ไม่เชื่อ กูไม่เชื่อ อ้าว.. ใครบอกกูก็ไม่เชื่อ แต่เวลาเราเห็นเอง มึงเชื่อหรือไม่เชื่อล่ะ มึงเชื่อไหมล่ะก็มึงเห็นอยู่นี่มึงเชื่อไหม มึงเชื่อหรือเปล่า แต่ขณะที่มันเป็นความสามัญสำนึกไม่เชื่อหรอก สามัญสำนึกเพราะจิตกับขันธ์ จิตเสวยอารมณ์ จิตเสวยสัญญา จิตเสวยสังขาร

ความคิด ความปรุง ความแต่งเกิดจากจิต พอจิตมันออกไปเป็นขันธ์ ๕ แล้วออกไปความคิดไปโดยสามัญสำนึก มันออกไปนี่มันยาวเกินไป คือว่ามันไม่ใช่จิตคิด มันเป็นความคิดคิด มันเป็นสัญญาคิด มันเป็นสังขารปรุงแต่ง มันไปอยู่ข้างนอก ไอ้ตัวจิต ไอ้ตัวกิเลสมันเลยหลบนอนอยู่ในคูหาของใจ นอนสะดวกสบาย ไอ้เราก็วิปัสสนาญาณ อู้ฮู.. สติปัฏฐาน ๔ ได้กระดาษมาคนละ ๕๐๐ ใบนะ เพราะโอ้โฮ.. เรามา ๕๐๐ รอบแล้ว รอบหนึ่งก็ได้ใบหนึ่ง มันได้ ๕๐๐ ใบมันเอาไว้เผาตัวมันเองนั่นน่ะ

นี่มันไม่รู้เรื่องหรอก แต่ถ้ามันเข้ามาถึงจิต ตัวจิตมันเห็น ! ตัวจิตมันเห็น ไม่ใช่รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเห็น ไม่ใช่สัญชาตญาณเห็น นี้พอตัวจิตมันเห็น ตัวจิตมันทำเอง มันรู้เอง มันเห็นเองมันจะปฏิเสธได้ไหม มันจะปฏิเสธสิ่งที่มันรู้เห็นไหม แต่เราฟังครูบาอาจารย์สอนนี่ สอนสิๆ เพราะอะไร เพราะทิฐิมานะมันมีใช่ไหม แหม.. อาจารย์นี่พูดเข้มข้นเกินไป อาจารย์พูดไม่สำรวมเลย ผมนี่นิ่มนวลกว่าอีก ผมพูดได้ดีกว่าอาจารย์อีก อาจารย์พูดขึ้นมาก็ไม่ลื่นหูเหมือนผมหรอก โอ้โฮ.. ผมสุดยอดกว่า.. มันไม่เชื่อ ! มันไม่เชื่อ !

นี่ความเชื่อโดยศรัทธา เห็นไหม ศรัทธาแก้กิเลสไม่ได้ ! ศรัทธาแก้กิเลสไม่ได้ ! ศรัทธาคือความเชื่อ ความเชื่อแก้กิเลสไม่ได้.. แต่สิ่งที่จะแก้กิเลสได้ นี่มรรคญาณ สัจธรรม สิ่งที่เกิดขึ้นมาจากเรา

จิตแก้จิต ! จิตมันเป็นคนทำขึ้นมา จิตมันรู้ของมันขึ้นมามึงจะเชื่อหรือไม่เชื่อ.. ปัจจัตตังรู้จำเพาะตน มันรู้บนหัวมึงเนี่ย มึงรู้เอง ! มึงรู้มึงเห็นเองนี่มึงเชื่อหรือไม่เชื่อ นี่มันพัฒนาการอย่างนี้ นี่พูดถึงสัจธรรมนะ พูดถึงครูบาอาจารย์เราฝึกสอนกันมา นี่เราทำกันมาใช่ไหม

นี้พอบอกว่า “พอพุทโธปั๊บมันแว็บหายเลย.. พอออกไปแล้ว ออกไปจากความสงบสุขสงสัยว่าถ้าตามสิ่งนั้นไปมันจะเป็นอย่างไรข้างหน้าต่อไป มันจะเป็นความสงบที่ละเอียดขึ้นไปหรือเปล่า”

มีความสงบถึงได้เห็น ถ้าตามออกไปนะ ตามออกไปแล้วก็เหนื่อย ตามออกไปไม่มีที่สิ้นสุด ตามออกไปถ้าจิตมันดีนะ ตามออกไปนะภาพมันก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เหมือนวิ่งตามเงา แสงหรือความเห็นนี้มันจะไปอยู่ถึงจักรวาลไหน อยู่อีกกาแล็กซีหนึ่งเลย มึงตามไปนะก็ตามไปเหมือนกับอวกาศนั่นล่ะ แล้วกลับมานะกูนั่งอยู่นี่ จิตมันออกไปอวกาศนู้น รู้ตามไปทั่วนะ พอสมาธิมันเสื่อมนะมันดับหมับเลยกลับมาที่เรา แต่ถ้าออกไปนะ.. คือบอกว่าถ้าออกไปแล้วไม่มีวันจบ ! ไม่มีวันจบ มันจะพัฒนาการของมันไปเรื่อยๆ จิตมันจะตามของมันไปเรื่อยๆ

ฉะนั้นถ้าตามออกไป.. ทีนี้มันมีความสงสัยไง ถ้าเรายังไม่เคยตามนี่มันก็งงนะ เออ.. ไม่เคยตามเลย อย่างที่พูดนี่มันไม่เชื่อ แต่ถ้าตามไปจนเหนื่อย ตามไปจนมีสติ มันจะรู้ตัวเองแล้วมันจะกลับมา แต่ถ้าไม่มีสติตามออกไปจนหลุด จนมีปัญหาขึ้นมากับจิต จิตมีปัญหาไปเลย.. จิตมีปัญหาไปเลย จิตผิดปกติไปเลย เพราะมันตกใจ มันไปรู้อะไรแปลกๆ แต่ถ้ามีสติมันจะตามไปไม่มีวันจบ แต่ถ้าไม่มีสติ ตามแล้วเห็นเหตุเห็นผลแล้วมันทิ้ง มันกลับมาตัวมันเอง แล้วมันกลับมาเริ่มต้นใหม่

เพราะว่ามันไม่มีหรอกถ้าตามไปนะ เพราะอะไร เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นมา นี่ไงมันไม่ใช่จิต มันเป็นอาการ เห็นไหม เหมือนเงา ตามเงาไป เราตะครุบเงานี่เมื่อไรจะจบ เราสูงใหญ่แค่ไหนเงาก็สูงใหญ่ตาม เราเล็กลงแค่ไหน เงาก็เล็กลงตาม เราจะยืนในที่ที่แสงมันทอไปไกล เงาก็ไปตกที่ไกล ไม่มีวันจบ ! ถ้าตามไปไม่จบ ย้อนกลับอย่างเดียวจบ.. ทวนกระแส ทวนกระแสเข้าไปสู่จิต ถ้าเข้าไปสู่จิตอันนี้จะจบ

ฉะนั้นสิ่งที่บอกว่าแล้วถ้าตามออกไปจะเจออะไร.. มันแปลกตรงนี้ แปลกตรงที่ไม่เคยทำมันก็สงสัยถาม แต่ถ้ามันทำแล้วนะ มันก็ทิฐิว่ามันรู้มันเห็น.. มันรู้มันเห็นมันก็รู้เห็นแบบโลกๆ อันนี้พูดถึงการปฏิบัตินะ นี่พูดถึงเวลานิมิตไง เขาถามเรื่องนิมิต ถามเรื่องต่างๆ นิมิตไอ้อย่างนี้ เพราะทางโลกถือว่านิมิตเป็นของที่ผิด ทุกอย่างที่ผิด.. ใช่ ! มันเป็นของที่ไม่ถูกต้อง แต่ ! แต่จิตที่รู้นี่ถูกต้อง

จิต.. ตัวจิตมีคุณค่าไง ตัวจิตนี่พอมันมีคุณค่า ตัวมันเองประเสริฐนัก ตัวมันเองมีคุณค่ามาก แต่มันยังทำไม่ถูกต้อง แต่ถ้าไม่มีตัวจิต นิมิตนิเมิตไม่มีหรอก นิมิตอะไรก็ไม่มีทั้งนั้นแหละ แต่เพราะมันมีตัวจิต ตัวจิตมันพัฒนาการถึงได้มี ถึงได้เห็น ฉะนั้นลายพิมพ์ของจิตมันเป็นแบบนี้ เราก็ต้องแก้ไขไปเฉพาะจิตดวงนี้ แล้วจิตดวงต่างๆ ไปของใครของมัน

เราพุทโธ ปัญญาอบรมสมาธิ หรือกำหนดอะไรก็แล้วแต่ อานาปานสติ กำหนดลมหายใจ กำหนดอะไรก็แล้วแต่ให้กำหนดอันนั้น แล้วดูพัฒนาการของจิตเรา แล้วตามจิตเราเข้าไป สิ่งที่พูดให้ฟังนี้เป็นคติ เป็นแบบอย่าง เป็นตัวอย่างให้พิจารณาว่าถ้าเราเจอเหตุการณ์อย่างนี้เราจะแก้ไขอย่างไร เราเจอแล้วเราจะแก้ไขอย่างไร.. นี้พูดถึงประสบการณ์ไง แต่ไม่ใช่ว่าต้องเอาแบบนี้ เพราะรองเท้าคนละเบอร์ รองเท้าเขาเบอร์เบ้อเริ่มเลย เบอร์ ๕๐ ไอ้เราใส่เบอร์ ๑๘ แล้วจะไปใส่ของเขาได้อย่างไร

จิตของเขาเป็นอย่างนี้ รองเท้าของเขา มันสมควรแก่เท้าเขา รองเท้าของเรา มันสมควรกับเท้าของเรา.. จิตของเรา ประสบการณ์ของเรา การกระทำของเรา ถ้ามันเป็นความจริงของเรา มันก็สมกับจิตของเรา พอดีกับจิตของเรา ฉะนั้นฟังไว้เป็นคติ เป็นตัวอย่าง แต่ไม่ใช่ของเรา แต่ถ้าเราทำแล้วมันมีเหตุการณ์คล้ายๆ อย่างนี้ เราเอามาใช้ประโยชน์กับเราได้ ไม่ใช่ว่าตอบอย่างหนึ่งแล้วมันจะเป็นทริปไปอย่างนี้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ไม่มี !

ลายพิมพ์ของจิตไม่เหมือนกัน ประสบการณ์ของจิตไม่เหมือนกัน การภาวนาของจิตไม่เหมือนกัน ต่างคนต่างตั้งสติ ต่างคนต่างปฏิบัติไป ครูบาอาจารย์ที่จริง อาหารตามสั่ง ทำได้ทุกอย่างอาหารตามสั่ง แต่ถ้าร้านข้าวแกงไม่ได้ มีเฉพาะแกง อาหารตามสั่งอะไรก็ได้ ครูบาอาจารย์ที่เป็นอาหารตามสั่ง ลูกค้ามา จะกินอะไรบอกมา ผัดให้กินได้ทุกอย่างเลย

ครูบาอาจารย์ที่เป็นแล้วเหมือนร้านอาหารตามสั่ง จะแก้ไขจิตของลูกศิษย์ทุกๆ อย่างได้แตกต่างกันไป.. ไม่มีเหมือนกัน ซ้ำกันไม่มี ! ถ้าซ้ำกันมีเป็นสัญญา.. ไม่มี ! ลายพิมพ์นิ้วมือไม่เหมือนกัน ลายพิมพ์ของจิตก็ไม่เหมือนกัน ลายพิมพ์นิ้วมือมนุษย์ยังต่างกันขนาดนี้ แล้วลายพิมพ์ของจิตมันมหัศจรรย์กว่าเยอะ ! มันมหัศจรรย์กับวิทยาศาสตร์สิ่งนี้เยอะมาก

ฉะนั้นครูบาอาจารย์ที่จะเป็นครูบาอาจารย์ของเราจะต้องผ่านเหตุการณ์อย่างนี้มา ครูบาอาจารย์จะฝึกสอนเรา.. ไม่มีทาง ! ไปดูพระอรหันต์ในพุทธกาลสิ เอตทัคคะ ๘๐ องค์ก็ไม่เหมือนกัน พระพุทธเจ้าตั้งให้เพราะตามความถนัดของตัว เวลาสอนนะ สอนพระแต่ละองค์สอนไม่เหมือนกัน เวลาสอน เห็นไหม สอนโมฆราชอย่างหนึ่ง สอนพระสารีบุตรอย่างหนึ่ง สอนพระโมคคัลลานะอย่างหนึ่ง ไปดูสิไม่เหมือนกัน ! ไม่เหมือนหรอก เหมือนกันไม่มี

ฉะนั้นเราทำของเราเข้าไป.. ที่พูดนี้เพราะกลัวไง กลัวทุกคนจะบอกเอาตรงนี้เป็นตัวตั้งนะ แล้วเวลาหลวงพ่อพูดอย่างนี้แล้วต้องอย่างนี้ตลอดไป ไม่ใช่นะ ไม่ใช่ ! มันอยู่ที่เหตุการณ์เฉพาะหน้า อยู่ที่ว่าเท้าใครเล็ก เท้าใครใหญ่ กูจะตัดรองเท้าให้พอดีไง ไม่ใช่ว่าตัดรองเท้าแล้วจะใส่ให้ทุกๆ คน ไม่ใช่นะ อยู่ที่เท้าเอ็งเล็ก เท้าเอ็งใหญ่ แล้วมาเราจะตัดรองเท้าตามนั้น เอวัง