เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๓ ม.ค. ๒๕๕๔

 

เทศน์เช้า วันที่ ๓ มกราคม ๒๕๕๔
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “ให้มีสติ” ถ้ามีสติ การทำสิ่งใดแล้วจะผิดพลาดน้อยที่สุด แต่มันมีการผิดพลาดบ้าง เพราะคนมันมีกรรมต่อกัน นี่การมีสติ เห็นไหม

“สิ่งใดทำแล้วเสียใจภายหลัง สิ่งนั้นไม่ดีเลย” ฉะนั้น เราทำสิ่งใดควรจะใคร่ครวญ ใคร่ครวญ ตั้งสติพิจารณาดูว่าสมควรและไม่สมควร ทำไปแล้วมันจะบาดหมางใครไหม แต่ถ้ามันจะบาดหมางกันบ้าง แต่เพื่อผลประโยชน์

เช่น คนรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เขาทำสิ่งใดเขาจะมีความผิดพลาด เขาจะโกรธถ้าเขาไม่ได้ดั่งใจของเขา เราก็ต้องมีจุดยืนของเรา เพื่อประโยชน์ไง นี่โดยที่เขาไม่รู้ แต่ถ้าเขารู้ทีหลังแล้วเขาจะเสียใจทีหลัง หรือเขาจะคิดขอบคุณทีหลัง เหมือนเด็กๆ เลย เด็กๆ เห็นไหม มีการศึกษา เวลาครูบาอาจารย์บังคับจะไม่ค่อยชอบเลย แต่พอโตขึ้นมาเป็นเจ้าคนนายคนแล้วนะ จะระลึกถึงบุญคุณของครูบาอาจารย์ เห็นไหม นี่จะระลึกถึง

ฉะนั้น สิ่งที่ว่ามันจะมีการบาดหมาง มีการกระทบกระเทือนกันบ้าง แต่ถ้าสิ่งนั้นเราใคร่ครวญด้วยสติปัญญาว่ามันเป็นประโยชน์ มันเป็นประโยชน์กับสังคมกับชุมชน มีประโยชน์มากกว่าโทษ ทำสิ่งใดจะไม่มีโทษเลย สิ่งนั้นมันไม่มีหรอก มันต้องมีการกระทบกระเทือนกันบ้าง

การขยับ เห็นไหม พระอรหันต์ต้องนั่งเป็นพระพุทธรูป ขยับไม่ได้เลย พอขยับไปไม่ใช่พระอรหันต์ อย่างนั้นพระอรหันต์ก็ไม่ต้องหายใจ นี่ด้วยความเห็นของเรา เรามันสุดโต่งกัน รู้ไหม เราไม่เข้าใจว่าสิ่งใดเป็นธรรมและไม่เป็นธรรม พอจิตใจเราไม่เป็นธรรม เราก็มองด้วยความเป็นโลกเป็นเรื่องธรรมดา เห็นไหม

ทีนี้ครูบาอาจารย์ท่านเป็นธรรม ท่านพยายามจะชักนำ จิตใจที่สูงกว่าจะดึงจิตใจที่ต่ำกว่าให้ขึ้นมา ดึงขึ้นมาไม่ให้ต่ำลงไป ดึงขึ้นมาเพื่อมีหลักมีเกณฑ์ ดึงขึ้นมาเพื่อสูงขึ้น

ทีนี้การดึงขึ้นมา จิตใจของคนโดนอวิชชาครอบงำอยู่ มันดึงได้ยากมาก มันมีความเห็นมุมมองแตกต่างกันไป ดูสิ ดูการเตรียมพร้อมของคน เวลาน้ำหลากน้ำท่วมมา ถ้าใครเตรียมพร้อมไว้ ใครมีความเตรียมพร้อม ใครมีปัญญาการแก้ไข การกระทบกระเทือนนั้นก็จะน้อยลง

ถ้าภัยแล้ง แล้งจนเกินกว่าเหตุ ถ้าใครมีการเตรียมพร้อมมันก็ยังมีการบรรเทา แต่จะบรรเทาขนาดไหนมันก็มีผลกระทบกระเทือน แต่ถ้าน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ตามความพอดี อันนั้นมัชฌิมาปฏิปทา

แต่ความหมุนไปของสังคมโลก การหมุนไปของวัฏฏะ การหมุนไปเวลาเกิดกับคนมีบุญไง เห็นไหม สภาคกรรม กรรมที่เกิดร่วมกัน เกิดมาแล้วสังคมมีความเห็นเหมือนกัน สังคมมีความร่มเย็นเป็นสุข เช่น เราเกิดในสังคมปัจจุบันนี้ ดูรอบข้างประเทศไทยสิ รอบข้างประเทศไทยนับถือพุทธเหมือนกัน เขามีความเดือดเนื้อร้อนใจกันมาตลอดนะ เราเกิดมาในสังคมไทย เราก็บอกว่ามันอึดอัดขัดข้องทั้งนั้นแหละ มีความเห็นแตกแยกกัน แต่มันก็เป็นสังคมที่ร่มเย็นเป็นสุขพอที่จะให้อภัยกันได้นะ เพราะอะไรล่ะ เพราะเรามีผู้นำที่ดี

เรามีผู้นำที่ดี มีพระมหากษัตริย์ มีศาสนา ศาสนา เห็นไหม ดูสิ เวลาพระเขายังแบ่งแยกเลย แบ่งแยกว่าเป็นนั่น เป็นนี่ เป็นอะไร อันนั้นความเป็นมันก็มีผลกระทบกระเทือนนี่ไง แต่หลักธรรมมันอันเดียวกันนะ

ถ้าพูดถึงปฏิบัติธรรมเข้าไปสู่สัจธรรมอันนั้นมันจะเป็นความจริง ถ้าความจริงอันนี้ เห็นไหม เราตั้งสตินะ ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ธาตุขันธ์เป็นความทุกข์อย่างยิ่ง เป็นความทุกข์นะ เราก็อยากช่วยเหลือเจือจานกันทั้งนั้นแหละ สิ่งที่ช่วยเหลือเจือจาน เราแบ่งเบาภาระได้เราก็อยากแบ่งเบาภาระ

แต่ถ้าจิตใจที่เป็นธรรม เราต้องมองสิ มองว่าสิ่งใดเป็นคติ เป็นแบบอย่าง ถ้าเป็นคติเป็นแบบอย่าง มันเป็นแบบอย่างของเรา สิ่งที่จะร่มเย็นเป็นสุขขึ้นมาใครเป็นผู้นำล่ะ

หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านนำของท่านมา ชีวิตทั้งชีวิต หลวงตาท่านบอกว่าถ้าจะพูดถึงทางโลกนะ มันเป็นผ้าขี้ริ้ว มันเป็นเศษคน เศษคนคืออยู่ป่าอยู่เขาเหมือนสัตว์เหมือนเสือ แต่สัตว์มันอยู่แบบสัตว์นะ

แต่นี้เราเป็นคนที่มีศักยภาพ ดูสิ คนที่มีปัญญา เห็นไหม จะเอาชนะตนเองได้ทำไมจะไม่มีปัญญา ปัญญาที่จะเอาความสะดวกสบาย ปัญญาที่จะมาอยู่กับโลก ปัญญาที่จะให้เขามาอุปัฏฐากอุปถัมภ์ มีปัญญาทั้งนั้นแหละ แต่ไม่ทำ ไม่เอา ไม่เอาเพราะว่าสิ่งนั้นเป็นเรื่องโลกๆ เห็นไหม เราจะดัดแปลงใจของเรา เห็นไหม อยู่ป่าอยู่เขาเพื่ออะไร มันเป็นสัจจะ มันเป็นความจริง

ดูสิ น้ำหลากนะ ภัยแล้ง มันเป็นอะไรล่ะ แล้วความสมดุลของน้ำล่ะ นี่ก็เหมือนกัน ความจริง สัจจะความจริงมันเป็นอย่างนี้ พระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตก สัจธรรมเป็นอย่างนี้ ความเป็นไปของสภาวะแวดล้อมเป็นอย่างนี้ ป่าเขามันเป็นอย่างนี้ เป็นธรรมชาติอย่างนี้ เราจะอยู่กับความเป็นจริง เห็นไหม เพื่ออะไร? เพื่อมาเทียบเคียงกับใจของตัวไง

ใจมันยอมรับไหม ใจมันอยู่กับความจริงมันรับได้ไหม? มันไม่ยอมอยู่กับความจริง มันจะอยู่กับมารยาสาไถย มันจะอยู่กับโลก โลกเขาเจือจานกันไง โลกเขาช่วยเหลือเจือจานกันได้ แต่ความจริงเป็นความจริง ความจริงมันอยู่ที่บารมีของเรา

เราอยู่ในป่าในเขา เราก็บิณฑบาตของเรา เราก็อยู่ประสาของเรา สิ่งนั้นมันเป็นความจริง ถ้าเป็นความจริง พอมันเป็นความจริงจากภายนอก มันก็จะเป็นความจริงขึ้นมาจากหัวใจ ถ้าหัวใจมันเป็นความจริง มันถนอมรักษามันได้ มันมีสติปัญญาของมัน ดูแลของมันได้ ถ้าดูแลของมัน มันจะเกิดปัญญาของมัน มันจะชำระล้างของมัน

ดูสิ กิเลสกับธรรม เห็นไหม ดีกับชั่ว ดีกับชั่วอยู่ในใจเรา มันก็ขัดแย้งกันมาตลอด แล้วเรามัชฌิมาปฏิปทา มันจะเอาความขัดแย้งในใจเรา อะไรมันขัดแย้ง อะไรมันขัดแย้ง อะไรมันเป็นความดีที่เราไม่อยากทำ ไอ้ความไม่ดีทำไมมันขยันหมั่นเพียรนัก...สิ่งที่มันเป็นอย่างนี้มันกระทำมา

นี่ผู้บุกเบิก ถ้าครูบาอาจารย์ท่านจะทำเป็นตัวอย่าง ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ภาระ ธาตุคือร่างกาย ขันธ์คือความรู้สึกความนึกคิด มันเป็นภาระอย่างยิ่ง แล้วเราจะบริหารอย่างใด ถ้าเราบริหาร

แล้วผู้นำ ภาวะผู้นำ ผู้นำเป็นแบบอย่าง “หนึ่งตัวอย่างดีกว่าร้อยคำสั่ง” สอนไปทั้งปีทั้งชาติ แต่ชีวิตเราล่ะ ความเป็นอยู่ของเราล่ะ สอนเขาแล้วทำได้หรือเปล่า สอนเขา รู้จริงหรือเปล่า ถ้ามันรู้จริง ทำได้จริง สิ่งนี้มันจะเป็นความจริงขึ้นมา ถ้าเป็นความจริงขึ้นมา สิ่งนี้มันเลยไม่เป็นภาระ

มันอยู่ที่มุมมองไง มุมมองของใครว่าส่วนนี้มันเป็นภาระหรือว่ามันเป็นความทุกข์ ถ้ามันเป็นภาระ มันเป็นความจริง เห็นไหม เป็นความจริงมันก็ต้องดูแลกัน นี่เป็นความจริงนะ แต่ความพอดีไง ความพอดีว่าสิ่งใดเป็นโลก สิ่งใดเป็นธรรม

ในเมื่อเป็นโลก วิทยาศาสตร์เป็นโลก ทางวิทยาศาสตร์เจริญ การแพทย์เจริญ ทุกอย่างเจริญ เป็นเรื่องของโลก ดูสิ ดูเวลาความเป็นธรรม คนเกิดมาอายุยืน คนเกิดมาอายุสั้น คนเกิดมามันอยู่ที่เวรกรรม มันเป็นความจริง แต่ถ้าเป็นความจริง เห็นไหม ถ้าเราจะดูแลรักษา เราก็ดูแลรักษาเพื่อให้มันแบ่งเบาภาระ ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา แบ่งเบาภาระนั้น

เราเป็นลูกศิษย์ลูกหา เราเคารพครูบาอาจารย์ของเรา ครูบาอาจารย์ของเรามีบุญคุณกับเรา ให้ความอบอุ่น ให้ความเลี้ยงดูเรามา ให้ปัญญาเรามา คอยตักเตือนเรา สิ่งใดผิดหรือสิ่งใดถูก ท่านพูดประจำ “ถ้าที่ไหนเป็นลูกศิษย์ของท่าน ท่านจะคอยไปจี้ คอยไปดูไปแล” เห็นไหม

ท่านมีบุญมีคุณกับเรา ถ้าเราแบ่งเบาภาระความเป็นอยู่ ธาตุขันธ์ให้มันเบาลง ทุกคนก็อยากทำ ทุกๆ คนก็อยากทำ แต่ทำแล้ว สิ่งที่เป็นโลก โดยที่ปัญญาของเราเทียบเคียงท่านได้ขนาดไหน ถ้าเทียบเคียงกันได้มากขนาดไหน สิ่งใดที่เป็นประโยชน์นี้ต้องคิดไง

ถ้ามีสติแล้วสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นมา เพราะมันเป็นมุมมอง มันเป็นความเห็น ความเห็นของเรานี่ความเห็นของโลก ความเห็นของสิ่งที่มืดบอด ความเห็นของโลก เห็นไหม โลกเปิดไฟก็สว่าง โลกปิดไฟก็มืดมิด ความเห็นของโลกอยู่ด้วยวิทยาศาสตร์ ด้วยแสงของไฟฟ้า แสงของพระอาทิตย์

แต่ถ้าเป็นความเห็นของใจ ถ้าใจมันเปิดกว้างขึ้นมา มันสว่างทั้งกลางวันกลางคืน มันสว่างโร่อยู่ในหัวใจนั้น ถ้าสว่างโร่อยู่ในหัวใจนั้น สิ่งนั้นมันเหนือโลก ความเหนือโลกมันพอประคับประคองสิ่งนี้ได้ ถ้าจิตใจที่เป็นธรรมนะ จะเข้าเผชิญกับความจริง ให้เห็นว่าหัวใจที่มันเหนือโลกอยู่กับความจริง ไม่หวั่นไหวกับความจริงนั้น

ฉะนั้น ความสมดุล ความสมดุลระหว่างโลกกับธรรม ระหว่างความเป็นไปของโลก ระหว่างความเป็นไปที่เราจะรับภาระได้มากน้อยแค่ไหน ระหว่างธรรมต้องปรึกษา ต้องดูว่าจะสมควรจะอย่างไร นี่พูดถึงเป็นธรรมนะ

เราต้องมีสตินะ เหตุการณ์ เห็นไหม เราเป็นลูกศิษย์กรรมฐาน เราเป็นลูกศิษย์ครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ของเราท่านเผชิญได้ทุกๆ อย่าง สิ่งที่เผชิญของท่าน ท่านเผชิญของท่าน

แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ที่ไม่เป็นความจริง ดีแต่พูด พูดอย่างนั้นแหละ แต่ทำไม่เหมือนที่พูด อย่างนั้นเรายกไว้ เราไม่พูดถึง เราพูดถึงครูบาอาจารย์ของเราที่เป็นครูบาอาจารย์ของเราจริง

เราเป็นคนมีหูมีตานะ เพราะว่าทุกคนบอกว่ามีปัญญา ทุกคนว่ามีการศึกษา เราศึกษาแล้ว ถ้าเราใส่แว่น เรามีความศรัทธาความเชื่อโดยที่ไม่ได้ใช้ปัญญาของเรา เราก็จะเชื่อตามๆ กันไป เชื่อตามที่ครูบาอาจารย์ท่านว่าต้องเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนั้น ว่ากัน ตามกันไป

แต่ถ้าเรามีการศึกษา แล้วเราไม่สวมแว่นต่างๆ เราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศึกษาประวัติครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นธรรม แล้วเปรียบเทียบ พิสูจน์ตรวจสอบว่าที่เขาพูดที่เขาทำมันเป็นจริงหรือเปล่า

ที่เขาพูดที่เขาทำ ถ้ามันเป็นจริงขึ้นมา เราก็ว่าสิ่งนั้นเป็นการพิสูจน์ได้ ถ้าเขาพูดเขาทำสิ่งนั้นมันไม่เป็นความจริง เราไม่ต้องไปเชื่อ เราไม่เชื่อ เห็นไหม กาลามสูตร ไม่ให้เชื่อสิ่งใดเลย ให้เชื่อความจริง แล้วเราก็มีเชาวน์มีปัญญา เราต้องพิสูจน์ได้ เราต้องมีหลักมีเกณฑ์ของเราได้ นี้พูดถึงเราเป็นลูกศิษย์กรรมฐานไง

เราเป็นลูกศิษย์กรรมฐาน ลูกศิษย์ครูบาอาจารย์ของเรานะ เราต้องมีหลักมีเกณฑ์ของเรา เพื่อเรา ถ้ามันเป็นการช่วยเหลือ ดูโลกสิ โลกเวลาเขาเอาวัตถุกันนะ เขาเบียดเสียดแก่งแย่งกันเพื่อจะได้วัตถุนั้น ของที่เขาเสียสละกัน แต่ถ้าเราไม่ไปเบียดเสียดกับเขา เรายืนอยู่ เราจะไม่ได้วัตถุสิ่งนั้น แต่เราได้ธรรม เราได้ความสมดุล เราได้ธรรม เห็นไหม

ธรรมคืออะไร? ธรรมคือสติ คือปัญญาว่า เหตุ วัตถุนั้นเราควรได้หรือไม่ควรได้ ถ้าของควรได้มันจะถึงเรา แต่ถ้าเราอยากได้วัตถุนั้นจนเราทิ้งธรรม ทิ้งสติ ทิ้งปัญญา ทิ้งการใคร่ครวญ ทิ้งสิ่งต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์กับหัวใจของเรา

นี่ไง เวลาเราปฏิบัติ บอกว่าอินทรีย์แก่กล้า พละ ๕ อินทรีย์แก่กล้า

หัวใจถ้ามันเข้มแข็ง มันแก่กล้าขึ้นมา มันมีจุดยืนของมัน วัตถุสิ่งนั้นไม่มีค่า ถ้าหัวใจมันมีสติปัญญา วัตถุนั้นไม่มีค่าถ้าหัวใจมีค่ากว่า เราไม่ได้วัตถุ แต่เราได้ธรรม เราได้ชนะตัวเอง เราได้ฝึกฝนตัวเอง เราได้ฝึกฝนหัวใจของเรา ฝึกฝนให้หัวใจมันมีสติปัญญา ไม่หวั่นไหว ไม่หวั่นไหวกับเศษทิ้งจากที่เขาสละทาน

ของที่เขาให้ที่เขาเสียสละมันเป็นเศษทิ้ง เศษทิ้งจากหัวใจดวงนั้น หัวใจดวงนั้นมีคุณค่า เขาถึงเสียสละสิ่งนั้นได้ แล้วเราวิ่งเข้าไปนะ เราเหยียบย่ำหัวใจของเรา ไปเอาของเศษทิ้ง ฉะนั้น เราต้องมีสติปัญญานะ เรามีสติปัญญาของเราเพื่อประโยชน์กับเรา

ฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นมันเป็นอย่างนี้เอง เพราะอะไร เพราะครูบาอาจารย์ของเราท่านทำประโยชน์กับโลก ท่านทำประโยชน์กับตัวท่านก่อนทำประโยชน์กับโลก จนสังคมเขายอมรับ เพราะคำว่า “สังคมยอมรับ” เห็นไหม สังคมคือกระแสสังคม คือมวลชนทั้งหลาย ถ้ามวลชนทั้งหลายยอมรับเคารพบูชามันก็มีจำนวนมากใช่ไหม ฉะนั้น จำนวนมาก ความคิดของคนมันหลากหลายใช่ไหม ความคิดของคนร้อยสันพันคม มันก็มีร้อยแปดพันประการ ฉะนั้น เราก็เป็นหนึ่งในสังคมนั้น เราก็เป็นลูกศิษย์ครูบาอาจารย์เหมือนกัน ฉะนั้น ปัญหามันถึงเกิดไง

ปัญหาที่มันมีปัญหากันอยู่นี้ก็เพราะว่าครูบาอาจารย์ของเราท่านมีชื่อเสียง ท่านเป็นที่เคารพบูชาของสังคม พอสังคมเข้ามาดูแล มาอุปัฏฐากมันก็เป็นอย่างนี้ ฉะนั้น เราต้องตั้งสติ เราอย่าสร้างสิ่งที่ทำให้เป็นปัญหาขึ้นมาอีก เรามีสติของเรา แล้วเราช่วยแบ่งเบาภาระ เราช่วยแบ่งเบาภาระนะ

ความจริงคือเราจะภาวนา ความจริงเราควรจะเอาหัวใจของเรา แต่เราอยู่ในสังคมนะ มนุษย์เป็นสัตว์สังคม เราเกิดมาในสังคม เกิดมากับโลก เราอยู่กับโลกโดยที่ไม่หวั่นไหวไปกับโลก ให้สมกับเป็นลูกศิษย์ของหลวงตา ให้สมกับเป็นลูกศิษย์ของครูบาอาจารย์ของเรา แล้วเหตุการณ์นี้แก้ไข ไม่ท้อถอย วิกฤติทุกอย่างแก้ไขได้ด้วยเหตุด้วยผล

เราเป็นชาวพุทธด้วยกัน ชาวพุทธใช้ปัญญา ใช้เหตุใช้ผล ใช้ความดี ใช้ความสมดุล ใช้การคุยกันด้วยปัญญา ไม่เอาอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดมากระทบกระเทือนกัน เพื่อประโยชน์ให้ครูบาอาจารย์เรามีความสุขมีความชื่นใจว่า ท่านสั่งสอนพวกเราแล้วได้เห็นผลว่าพวกนั้นเป็นผู้มีเหตุมีผล ท่านจะมีความสุขมีความสบายใจว่าทำแล้วไม่เสียเปล่า เอวัง