เทศน์เช้า วันที่ ๔ มกราคม ๒๕๕๔
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
วันนี้วันพระ เห็นไหม เป็นพระผู้ประเสริฐ ถ้าเราปฏิบัติแล้วนี่ เราปฏิบัติเรารู้ความจริง เหมือนกับพิจารณากาย นี่ที่เราไม่รู้จริงกันอยู่นี้ กายสักแต่ว่ากาย คำว่าสักแต่ว่าๆ กายไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กายนี่ ถ้ารู้จริงก็เป็นโสดาบัน ถ้ารู้จริงนะมันถอดมันถอน มันละได้
รู้กันไม่จริง รู้แต่ตามตำรา เห็นไหม รู้จำ รู้อย่างนั้นแหละแล้วก็สงสัย ไอ้ตรงสงสัยนี่นะ พอสงสัยนี่ไม่ยอมรับความจริง แต่ถ้าเป็นความจริงขึ้นมานะ ถ้ารู้จริงแล้วเราวางไว้ตามความเป็นจริง รู้แล้วก็ไม่ได้ไปยึดว่าต้องเป็นอย่างนั้น
นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่เป็นที่เกิดขึ้นมานี่ความจริงก็คือความจริง สิ่งที่เป็นความจริงต้องลงสู่ความจริง เห็นไหม ถ้าลงสู่ความจริงได้ทุกอย่างมันไม่มีปัญหา แต่ลงสู่ความจริงไม่ได้ เหมือนนอตเลย นอตมันปีนเกลียว นอตเกลียวคนละเกลียวนี่ใส่เข้าไปมันจะเข้ากันได้ไหมล่ะ มันก็ทำไม่ได้เป็นประโยชน์แล้ว
แต่ถ้ามันเป็นเกลียวเดียวกัน ดูสิ ความจริงเข้าสู่ความจริง นี่นอตขันไว้ ทุกอย่างจับไว้ยึดมั่น มั่นคงแข็งแรง.. หัวใจของเราก็เหมือนกัน เรารู้แล้วเราไม่หวั่นไหวไง แต่ถ้าความจริงคือความจริงแต่หัวใจเราปลอม ถ้าหัวใจเราปลอม ความจริงเป็นอย่างนั้น เห็นไหม นี่เหมือนนอตคนละเกลียว มันเข้ากันไม่ได้หรอก
ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นความจริง ! ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นความจริง การศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ความจริง แต่หัวใจเราปลอม.. ความปลอมนี่ หัวใจเราจอมปลอมไปรู้ความจริงขึ้นมานี่มันรับความจริงอันนั้นไม่ได้ ถ้ารับความจริงนั้นไม่ได้ แต่เวลาเรารับความจริงด้วยความจอมปลอม เห็นไหม นี่ธรรมะก็เป็นสักแต่ว่า ทุกอย่างก็เป็นสักแต่ว่า เราวางไว้หมดแล้ว
เราวางไว้หมดแล้ว.. เราคือใคร ! คนไหนมันวาง คนไหนมันไปรู้ความจริง แต่ถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมานะ ความจริงมันวางโดยสัจธรรม ไม่มีใครเป็นคนวาง ไม่มีใครเป็นคนยึด ไม่มีอะไรต่างๆ มันเป็นความจริงขึ้นมาโดยความจริงอันนั้น.. นี่คือความจริง เห็นไหม นี่พอสู่ความจริงแล้ว ทุกอย่างกลับไปสู่ที่เดิมของเขา
เวลาพิจารณากายเข้าไป พิจารณากายเข้าไปนี่ ดินเป็นดิน น้ำเป็นน้ำ ลมเป็นลม ไฟเป็นไฟ.. ดินมันแยกออก ดินมันสู่สภาพไปเป็นดิน น้ำมันระเหยไป.. ไฟ ! ไฟคือความอบอุ่นเผาร่างกาย มันก็อันตรธานไป ลมก็เป็นลม เห็นไหม นี่มันสู่ความจริงของเขา
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเวลาเราทำความจริง.. สัจจะ ! สัจจะคือความจริง ถ้าเราทำความจริงอยู่ แต่โลก กระแสโลกนี่โลกเป็นมายา โลกเป็นมายานี่สิ่งนี้เขาเข้าใจกับเราไม่ได้ ถ้าเข้าใจกับเราไม่ได้นะเรายืนอยู่บนความจริง นี่ไง เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย สร้างคุณงามความดีมา ดูสิ เป็นพระเวสสันดร เห็นไหม จนชาวบ้านเขาไล่ออกจากราชวังนะ ไล่ออกจากเมืองเลย เสียสละจนเขารับไม่ได้
แต่การเสียสละ การทำคุณงามความดีเป็นความดีไหม.. เป็นความดี แต่โลกเขารู้ว่าเป็นความดี ทำไมรับไม่ได้ล่ะ สิ่งที่เขารับไม่ได้นี่เป็นเรื่องของโลก ทีนี้ความจริงของเรา ความจริงอย่างหยาบ ความจริงอย่างละเอียด.. ความจริงของเขา เห็นไหม ดูสิ ดูทางโลกเขาก็สร้างภาพกัน นี่ความจริงโดยการสร้าง ความจริงอย่างนั้นไม่เป็นความจริง คือเป็นการสร้างขึ้นมา แต่เขาก็รู้ว่าสิ่งที่เป็นคุณงามความดีอะไรเป็นความดี แต่เขาทำไม่ถึงสิ่งอันนั้น
นี้ความดีของโลก เราต้องเข้าใจถ้าเราเป็นผู้บริหาร เราเป็นผู้ดูแล.. เด็ก ! เด็กมันรู้ได้แค่ไหน เราต้องใช้อุบายให้เด็กไม่มีอุบัติเหตุ ของสิ่งใดเป็นของเล่นกินไม่ได้ กลืนไม่ได้ เดี๋ยวกลืนเข้าไปแล้วจะหายใจไม่ได้ จะปิดหลอดลม.. ก็ว่าอันนี้กินไม่ได้เดี๋ยวมันงอกบนหัว นี่มันเป็นอุบายนะ อุบายว่าให้เด็กนั้นป้องกันตัวเอง
ถ้าสังคมเขารู้ไม่ได้อย่างเรา อย่างที่ว่านี่เราก็ต้องให้เขารู้ได้แค่ไหน แต่ถ้าเราฝึกหัดมา เรามีสติปัญญามา เราต้องการสู่ความจริง เห็นไหม ใจของเราจริง ดูสิ เวลามันเกิดดับ เวลามันฟุ้งซ่าน เวลามันมีความทุกข์ในหัวใจ นั่นล่ะอารมณ์มันเกิดดับ.. สิ่งที่เกิดจากใจไม่ใช่ใจ พุทโธ พุทโธ พุทโธ นี่ปัญญาอบรมสมาธิเข้าไปสู่ความจริงของใจ ความจริงคือสัมมาสมาธิ ! ถ้าสัมมาสมาธิ เห็นไหม นี่มันรู้มันเห็นสิ่งใด มันรู้เห็นของมันด้วยความชัดเจน
นี่ก็เหมือนกัน พอเด็กมันรู้สิ่งใดไม่ได้เราก็ใช้อุบาย มันก็เหมือนกับอารมณ์ความรู้สึกเรานั่นแหละ แต่พอมันเข้าไปเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา มันรับรู้ได้มากน้อยขนาดไหนล่ะ.. แต่ถ้าเป็นผู้เฒ่าผู้แก่ เขาผ่านประสบการณ์ชีวิตมา เห็นไหม สิ่งนั้นเกิดดับๆ เกิดมาแล้วเกิดมาเล่า มันก็มีความเสียใจนะ มันก็มีความเสียใจ ถ้าพูดถึงประสบการณ์ขนาดไหนมันก็มีเสียใจ เพราะ ! เพราะเราก็ไม่อยากให้มันเป็นอย่างนั้น
ตัณหา ! สมุทัย ! สิ่งนี้นี่มีตัณหา พอมีภวตัณหา วิภวตัณหา มันเป็นก็ไม่อยากให้มันเป็น พอสิ่งที่ไม่อยากให้มันเป็นก็อยากได้ นี่พอถึงความไม่รู้เข้ามันก็เป็นอัพยากฤต สิ่งนี้มันก็ทำให้ถึงรู้ มันก็รู้โดยโลก รู้โดยมารยาสาไถย มันก็มีความเศร้าใจ มันก็มีความกระเทือนใจเหมือนกัน แต่ความกระเทือนใจมันเหตุสุดวิสัยใช่ไหม นี่ไงความจริงที่เรารู้ได้แค่นี้ แต่ถ้าความจริงเรารู้ได้มากกว่านั้นล่ะ
นี่เราเป็นชาวพุทธนะ พุทธศาสนาสอนให้มีศีลก็เพื่อสู่สัจจะนี่แหละ เพราะมีศีลมีความปกติของใจ ถ้ามีความปกติของใจ เห็นไหม เกิดสัมมาสมาธิ เกิดปัญญาขึ้นมา ถ้าปัญญาเกิดขึ้นมา สิ่งที่เกิดกับโลกมันเป็นผลของวัฏฏะ เราก็เข้าใจกันได้ว่าเราเกิดขึ้นมาแล้วมันต้องชราคร่ำคร่าเป็นธรรมดา แล้วต้องพลัดพรากกันไปเป็นธรรมดา แต่ถ้าเรามีธรรมะอีกอันหนึ่งที่มันมีสติมีปัญญาของมัน ที่เป็นภาวนามยปัญญา มันปลดเปลื้องปลดเปลื้องอย่างไร มันเป็นความมหัศจรรย์อย่างไร
นี้ความมหัศจรรย์อันนั้นมันถึงจะเป็นประโยชน์กับเรา สิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้ว เรารู้ความจริงไว้แล้ว เราก็อย่ายึดมั่นใช่ไหม เราบอกว่าเรารู้จริง คนอื่นรู้ไม่จริง นี่ถ้าเราฟังเขาแล้ว เห็นไหม ดูสิ เมื่อวานเราพูดกับเขา เขาบอกว่า มรรคผลไม่มี เออ.. ไม่มี ! ก็เขาคิดของเขาอย่างนั้น เขารู้ของเขาอย่างนั้น เขายึดมั่นของเขาอย่างนั้น แต่เรามีอุบายอย่างไรล่ะ บอกให้เขานี่ให้เขาทดสอบ เห็นไหม นิพพานหนองเสม็ด..
หลวงตา.. รู้แล้วๆ นิพพานเป็นอย่างนี้ นิพพานหนองเสม็ด
อ๋อ.. รู้แล้วนิพพานเป็นอย่างนั้นใช่ไหม ทดสอบอย่างนี้นะ กำหนดจิตอย่างนี้เข้าไปนะ พอจิตเข้าไปแล้ว..
โอ๋ย.. หลวงตาๆ ไอ้นี่นิพพานหนองเสม็ดมันไม่ใช่แล้วล่ะ อันนี้มันดีกว่า
นี่ก็เหมือนกัน นี่เขาบอกไม่มีๆ ทำไมถึงไม่มีล่ะ ทำไมถึงไม่มี.. แล้วไอ้ที่ว่าไม่มี ตรงข้ามกับไม่มีมันมีไหมล่ะ.. นี่ความเห็นของเขา ถ้าความเห็นของเขาเป็นอย่างนั้น โลกทัศน์ก็เป็นอย่างนั้น มันต้องมีอุบายนะ ว่าเราจะชี้นำอย่างไร
การสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม เดี๋ยวนี้ครูอาจารย์เขาเอามาสอนหมดแหละ เทคนิคการสอน อุปกรณ์การสอน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนเลย เราเวลาเจอภัยให้ทำตัวเหมือนเต่า หดหัวเข้ามา.. หดเข้ามาอยู่ในกระดองมันจะปลอดภัย ทำตัวเหมือนเต่า.. นี่ทำตัวเหมือนเต่า ! ท่านเอาอุปกรณ์มาสอนให้เห็นภาพชัดๆ นะ
นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราเข้าใจว่าไม่มี ทำไมมันถึงไม่มีล่ะ ไม่มีเพราะอะไร คนพูดว่าไม่มีเหรอ คนพูดนั้นคือใครล่ะ แล้วเวลาไม่มีแล้วมันทุกข์ไหมล่ะ แล้วมันทุกข์ขึ้นมาแล้วเราปรารถนาไหม แล้วพระพุทธเจ้าสอนไว้อย่างไรล่ะ.. สิ่งที่เรารู้แล้วถ้าเรายึดมั่น นี่เขาบอกว่าไม่มี เราบอกมี อู้ฮู.. ได้เสียเลย
มันมีการกระทบกระทั่งกัน มันกระเทือนกัน แต่มันเป็นอุบายนะ อุบายถ้าเวลามันจำเป็นว่าคนๆ นี้ควรรู้ได้ ถึงจะกระทบก็ต้องกระทบ
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ เวลาพระนันทะ เห็นไหม บอกเลยนะเพิ่งแต่งงานมาแล้วก็ให้บวชเลย พอให้บวชแล้วนี่คิดถึงตลอดเวลา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า นันทะเธอดูรูปนี้ไว้นะ แล้วท่านก็จูงมือ เหาะขึ้นไปบนสวรรค์ไปดูนางฟ้า
โอ๊ย.. สวยกว่าๆ
อยากได้ไหม.. ถ้าอยากได้ให้พุทโธ ท่านทำกับพระนันทะอย่างนี้ นี่มันเป็นอุบายนะ
มีพระในสมัยพุทธกาลมากเลยไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า สวรรค์มีไหม นางฟ้ามีจริงไหม
พระพุทธเจ้าถามกลับนะ ก็ต่อรองกับพระพุทธเจ้าว่า ถ้าไม่บอกจะสึก
พระพุทธเจ้าบอกว่า เราได้สัญญากับเธอเหรอว่าเราจะพาไปดู เราได้สัญญากับเธอเหรอว่าสิ่งนั้นมี ถ้าเธอจะสึกก็สึกไป เห็นไหม
เวลาพระนันทะมีโอกาสที่จะเป็นไปได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจูงมือเหาะขึ้นไปดูนางฟ้าเลย ไปเปิดในพระไตรปิฎก มีพระไปต่อรองกับพระพุทธเจ้ามาก ไปถามให้ยืนยันมาว่านรก สวรรค์มีไหม ทุกอย่างมีไหม ท่านบอกว่า เราเคยสัญญาไว้เหรอว่าบวชแล้วจะพาไปนรก สวรรค์ เราเคยสัญญาไว้กับเธอเหรอ
เราบอกว่าถ้าถึงเวลาที่คนๆ นั้นจะมีโอกาส ถึงเวลาที่คนๆ นั้นที่จะเป็นไป องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุ่มเทหมดเลย แต่ถ้าถึงเวลาที่คนๆ นั้นรู้ไม่ได้ คนๆ นั้นเข้าใจไม่ได้ ท่านบอกสึกก็สึกไป สึกก็สึกไปเพราะมันจนปัญญาว่าเอาไปแล้วมันไม่เป็นประโยชน์ไง ถ้าทำสิ่งใดแล้วไม่เป็นประโยชน์ พระพุทธเจ้าไม่ทำ
นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่ว่าเราไม่ยึดมั่น สิ่งที่เป็นความเห็นของเขา เขามีความเห็นอย่างนั้น เรื่องของเขา แต่ถ้าเป็นโอกาสที่เขาจะรู้ได้ เป็นโอกาสที่เขาจะเปลี่ยนแปลงได้ เราจะมีเหตุผลอย่างไรพูดให้เขาเปลี่ยนแปลง อย่างนี้เป็นไป..
ความจริงก็คือความจริง ความเห็นของเขาเป็นความเห็นผิด แต่เขายึดของเขา มันก็เป็นความเห็นของเขา แต่ความเห็นเราถูกต้อง เราจะบอกเขาไม่ได้ เราก็บอกเขาไม่ได้ แต่ถ้ามีโอกาสที่เป็นไปได้เราบอกเขาได้ ถ้ามีโอกาสบอกเขาได้เราก็บอก เราก็ทำ
สิ่งที่ทำนี้จะเป็นประโยชน์ เห็นไหม ถึงบอกว่า ความจริงลงสู่ความจริง สิ่งที่เรากระทำมานี่เราทำด้วยความจริง มันก็ลงสู่ความสงบร่มเย็น มันลงสู่ความเป็นจริง ลงสู่ความเสมอภาค ความภราดรภาพ มันกลับไปสู่ความจริง ไม่มีใครจะให้ค่ามัน ไม่มีใครจะชักนำไปทางใดได้เลย
ความจริงคือความจริง มีแต่คนที่ปฏิเสธความจริงเท่านั้นเขาจะกระเทือน เขาจะเดือดร้อนของเขา เพราะเขาปฏิเสธความจริง เขายอมรับความจริงนั้นไม่ได้ แต่ถ้าคนที่มีหลักมีเกณฑ์ ความจริงก็คือความจริง สู่ความจริงแล้วเราทุกคนก็พอใจว่าสิ่งนั้นคือความปรารถนาของทุกๆ คน คือความปรารถนาของเรา มันคือเป้าหมายเดียวกัน.. เป้าหมายเดียวกัน สู่ความจริงเหมือนกัน แต่กิเลสตัณหาของคนในหัวใจมันไม่เหมือนกัน มันถึงรับความจริงไม่ได้ หรือรับความจริงได้มากน้อยแค่ไหน นั้นคือหัวใจของเขา เรารักษาใจของเรา
วันนี้วันพระ เห็นไหม เราดูใจเรา เพื่อประโยชน์กับเรา ดูใจเรา รักษาใจเรา เขาจะคิดอย่างไร เขาจะเป็นอย่างไร มันเป็นเวรกรรมของเขา ถ้าเราดูใจเรา รักษาใจเรา เพื่อประโยชน์กับเรา เราจะมีความสุขนะ แล้วเราจะซาบซึ้งในพุทธศาสนา เราจะซาบซึ้งถึงหัวใจของเรา
ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต
เราจะเห็นใจของเรา จะดีจะเลวก็ความรู้สึกเกิดจากใจเรา.. เราแก้ไขใจเรา จะดีหรือจะเลวก็ผลประโยชน์ของเรา เราดูหัวใจเรา เราดัดแปลงใจเรา ถึงที่สุดแล้วเราจะรู้ว่าหัวใจเรานี่ไปถึงไหน หัวใจของเรานี่ประเสริฐแค่ไหน หัวใจของเรามันจะสงสัยอยู่ หรือมันจะสิ้นสงสัยในหัวใจของเรา เอวัง