เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๘ ม.ค. ๒๕๕๔

 

เทศน์เช้า วันที่ ๘ มกราคม ๒๕๕๔
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

โลกสมมุติ วันนี้เป็นวันของเขานะ วันนี้วันเด็ก เขาจับฉลากกัน วันของเด็ก เห็นไหม วันพระวันโกน วันของโยมไม่มี วันของโยมมีทุกวัน ฉะนั้นเราเกิดมานี่เราต้องมีสติ

คำว่ามีสตินะ ทุกคนผ่านจากการเป็นเด็กมาก่อน ทุกคนเกิดจากการปากกัดตีนถีบมา บางคนเกิดมาสมความปรารถนา มีความสุขสบาย นี่มีค่าเท่ากัน มีค่าเท่ากันอยู่ที่หัวใจ ถ้าหัวใจมันมีความรับรู้ ความรู้สึกอยู่ ดูเด็กกตัญญูนะ เขาปากกัดตีนถีบ เขาพยายามช่วยเหลือในครอบครัวของเขา นี่เขาสร้างของเขามาดี แต่ถ้าเป็นเรามองทางโลก เห็นไหม เขาจะมีความทุกข์ของเขา

เขาสร้างมาดีเพราะว่าจิตใจของเขาดี เขากตัญญูของเขา เขากตัญญูด้วยความพอใจ ถ้าจิตใจของเด็กไม่ยอมรับ เขาก็พยายามหาทางออกของเขา นั่นคือทุกข์ของเขา แต่จิตใจของเด็กกตัญญูนะ เขาเช็ดขี้เช็ดเยี่ยวพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ของเขา เขาดูแลรักษา เห็นไหม สิ่งนั้นมันกล่อมหัวใจของเขานะ มันกล่อมหัวใจให้คนๆ นั้นเป็นคนดี แล้วคนอย่างนี้จะมีความเพียร มีความวิริยะ มีความอุตสาหะ เพราะเขาเห็นคุณค่าของชีวิตไง เพราะสิ่งนั้นจะกล่อมใจของเขา

ดูในปัจจุบันนี้นะ นี่เราไม่เห็นด้วยนะ เขาบอกว่าสัตว์เลี้ยงนี่เลี้ยงแล้วจิตใจคนจะอ่อนโยน แต่เราไปกักขังเขานะ เราไปกักขังเขา การเลี้ยงสัตว์ เลี้ยงต่างๆ นี่จิตใจของคนจะอ่อนโยน จิตใจของคนจะดี จิตใจไม่แข็งกระด้างนั้นมีการฝึก เห็นไหม แต่นี้ด้วยความกตัญญูกตเวทีของเขา นี่เขาฝึกของเขา สิ่งนั้นจะทำให้จิตใจของเขารับรู้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดไม่เป็นประโยชน์ แล้วเห็นคุณค่าของชีวิต

เรามีชีวิตเหมือนกัน มีคุณค่าเท่ากัน แต่เราใช้จ่ายชีวิตของเราด้วยความฟุ่มเฟือย แต่เด็กบางคน ผู้ใหญ่บางคนเขาใช้ชีวิตของเขา เก็บหอมรอมริบของเขา ดูสิ หลวงปู่ฝั้นท่านบอกไว้ “หายใจทิ้งเปล่าๆ” หายใจเข้าและหายใจออกมีค่าเท่ากันคนละ ๑ ครั้ง แต่คนที่หายใจโดยที่ไม่มีประสบการณ์ ไม่มีความรับรู้ แต่คนที่มีประสบการณ์นั้นก็อย่างหนึ่ง.. คนที่มีสติ หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ เห็นไหม นึกพุทโธ นึกพุทโธคือมีสติมีสตัง ถ้ามีสติขึ้นมา ความผิดพลาดความพลั้งเผลอของชีวิตเขาจะไม่มี

แต่การกระทำนี่ธรรมชาติของกิเลสในหัวใจของมนุษย์ สิ่งใด ความคุ้นชิน จากสิ่งที่เราออกธุดงค์กันเพื่อไม่ให้คุ้นชิน ถ้าไม่ให้คุ้นชินสิ่งต่างๆ นี่มันจะตื่นตัว ความมีสติ ความกำหนดพุทโธมันจะตื่นตัวตั้งแต่ทีแรก แต่ถ้าพุทโธ พุทโธไป มันจะคุ้นชิน พอคุ้นชินปั๊บมันจะตกภวังค์ ของมันไป มันจะจางหายไป นี่แล้วก็ตั้งสติใหม่ ตั้งสติใหม่ เพราะการกระทำ นี่ทวนกระแส

แต่ถ้าธรรมดาเวลามันส่งออกไปมีอารมณ์ความรู้สึกใช่ไหม สิ่งนั้นมีความฝังใจ มันคิดซ้ำคิดซาก คิดซ้ำคิดซาก.. แต่พุทโธ เห็นไหม พุทโธ พุทโธ เพื่อไม่ให้มันคิดซ้ำคิดซากอย่างนั้น เพื่อพยายามจะให้จิตมันทรงตัวของมัน ถ้าจิตทรงตัวของมันนะสัมมาสมาธิ ถ้าคนมีสมาธินะคนจะมีความสุข ความสุขเพราะเหตุใด เพราะที่เราทุกข์กันอยู่นี้เราทุกข์เพราะความฟุ้งซ่าน เราทุกข์เพราะความรู้สึกนึกคิด

จิตกินความรู้สึกนึกคิดเป็นอาหาร มันกินอาหารของมันไง แล้วอาหารนี่เป็นพิษ ! พุทโธ พุทโธนี่เป็นอาหารที่สะอาดบริสุทธิ์ อาหารที่เป็นชีวจิต อาหารที่มีคุณค่า อาหารที่มันไม่เจือด้วยสารพิษ อาหารที่ทางโลกเขาว่าพวกเนื้อสัตว์พวกต่างๆ เราว่ากินเข้าไปแล้วมันจะให้โทษกับทางร่างกายด้วยแต่คนก็ชอบ แต่ถ้าอาหารเป็นพวกผักพวกหญ้าคนไม่ชอบ เพราะเห็นว่ามันไม่มีรสชาติ รสชาติไม่ได้ดั่งใจ

ความรู้สึกนึกคิด ! ความรู้สึกนึกคิด เห็นไหม ดูสิ สิ่งใดที่เราคิดแล้วเรามีความรู้สึก คิดสิ่งไหนขึ้นมาแล้วมันเจ็บช้ำน้ำใจ คิดแล้วมันก็นี่ แต่ถ้าคิดสิ่งดีๆ ล่ะ สิ่งนี้เพราะอะไร เพราะมันมีตัณหา มีสมุทัย.. นี่ตัณหาความทะยานอยาก ความผลักไสที่ความไม่พอใจ สิ่งนี้มันเป็นตัณหาความทะยานอยาก มันเป็นเรื่องของกิเลส แต่ถ้าเราพุทโธ พุทโธ พุทโธ อาหารที่จืดสนิทนี่ความสงบของใจ

ถ้าจิตมันสงบขึ้นมา เห็นไหม วุฒิภาวะของใจ ถ้าใจมันพัฒนาขึ้นมานี่ เหมือนเด็กๆ เปรียบเทียบเด็กๆ ว่า นี่ดูสิ ดูความฉลาดของเขา ดูสิ เชาว์ปัญญาของเขา ดูความไร้เดียงสาของเขา เวลาโตขึ้นมา พอเราโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่เราต้องมีมารยาทสังคม เราต้องมีต่างๆ เห็นไหม ความรู้สึกนึกคิดต้องเก็บไว้ในใจ เราจะแสดงออกอย่างนี้มันเป็นการเสียมารยาท นี่เราฝึกหัด

นี่ก็เหมือนกัน เรื่องของโลกเป็นอย่างนั้น เรื่องของสุตมยปัญญา การศึกษานะ ธรรมะเป็นอย่างนั้น ทุกอย่างเป็นอย่างนั้น แต่ความเป็นจริง ดูสิ การแสดงออกโดยข้อเท็จจริงในหัวใจ เห็นไหม นี่ความไร้เดียงสาคือความไม่รู้ ความไร้เดียงสานั่นคืออวิชชา แต่มันรู้ตัวมันไหม ? มันรู้.. มันรู้แบบไร้เดียงสา มันไม่รู้แบบมีปัญญา

ถ้าเรามีสติปัญญาของเรา เรามีสติแล้วเรามีสมาธิของเรา เหมือนเราเป็นผู้ใหญ่ เราจะทำความรู้สึกความนึกคิดสิ่งใด สิ่งใดเป็นโทษ สิ่งใดเป็นคุณ นี่เราคัดแยกของเรา ถ้าสิ่งที่เป็นคุณนี่เราพิจารณาของเรา

สิ่งที่เป็นคุณ สิ่งที่เป็นคุณนะถึงเป็นคุณมันก็เกิดดับ ถึงเป็นคุณมันก็เกิดขึ้นมาชั่วคราว เรามีสติปัญญาขึ้นไป ถึงเป็นคุณนะเป็นคุณก็ไม่เป็นความจริงกับเรา มันเกิดกับเรา เห็นไหม สติปัญญาตามไป.. สติปัญญาตามไป พุทโธ พุทโธนี่ พุทโธเพื่อบังคับไม่ให้คิดออกไปนอกลู่นอกทาง ให้ระลึกถึงพุทธานุสติ แต่ถ้ามันใช้ปัญญาอบรมสมาธิ มันคิดสิ่งใด คิดดีคิดชั่วมันก็เกิดดับเหมือนกัน นี่มีสติปัญญาตามไปๆ สุดท้ายมันก็ปล่อยวางทุกๆ อย่างเข้ามา

ปล่อยวาง เห็นไหม เพราะความคิดไม่ใช่จิต ถ้าความคิดเป็นจิตนะ ความคิดต่างๆ ที่เราทุกข์ยากอยู่เป็นเรานะ เราอยู่ไม่ได้หรอก นี่มันเกิดเพราะตัณหาความทะยานอยากมันยุแหย่ นี่ถ้ามันยุแหย่ สิ่งนั้นชอบ ยึดมั่น สิ่งนั้นไม่ชอบ ผลักไส นี่ทุกข์ทั้งนั้นแหละ.. แต่ถ้าอัพยากฤตนี่รับรู้ รับรู้แล้วเบลอๆ รับรู้นี่อัพยากฤตไง เวทนา ๓ ถ้าเวทนา ๓ มันเป็นธรรมชาติของมัน นี่เราพัฒนาของเรา

เราจะบอกว่า เราเห็นเด็ก เห็นต่างๆ มันไร้เดียงสามันน่ารักนะ เราก็เป็นเด็กมาก่อนนะ เราก็โตมาแล้ว เด็กของเราก็จะโตไปข้างหน้า ผู้ใหญ่ที่ดี ดูสิ เราพยายามฝึกฝนของเรา.. เขาบอกว่าประเทศชาตินี้เราฝากไว้กับเด็กนะ ประเทศชาติเราฝากไว้กับเขา เขาจะโตมาเป็นผู้ใหญ่ ถ้าเขาโตมาดีมันจะเป็นประโยชน์มาก

แล้วผู้นำที่ดี.. เราเกิดในผู้นำที่ดี เกิดในต่างๆ ที่ดี เห็นไหม นี่เกิดในประเทศอันสมควร เกิดในพ่อแม่อันสมควร เกิดในสัมมาทิฏฐิ ความเห็นดีเห็นงาม ความเห็นผิดเห็นถูก เราเห็นตามความเป็นจริงของเรา เราพัฒนาของเรา.. มองโลกนี่ ถ้าจิตที่มันเป็นธรรมนะ มองสิ่งใดจะย้อนกลับมามันเปรียบเทียบได้ มันเป็นธรรม แต่ถ้าเป็นโลกมองนะมันขัดแย้งไปหมด มันไม่พอใจไปหมด มันจะทำให้สิ่งนั้น ทำไมไม่เป็นอย่างนั้น ทำไมไม่เป็นอย่างนั้น เห็นไหม

มันเป็นอย่างนั้น ! มันเป็นอย่างนั้นเพราะว่าเราเกิดในประเทศอันสมควร ความรู้สึกของเขา ความนึกคิดของเขา เขาเกิดขึ้นมา เห็นไหม คนจิตใจหยาบ จิตใจปานกลาง จิตใจละเอียดอ่อน จิตใจของเขาคิดอย่างนั้น แล้วจิตใจนี่มันแก้ไขได้ มันแก้ไขต่อเมื่อจากใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง นี่จี้ใจดำ ถ้าเขาจี้ใจดำของเขา เขาพลิกของเขา เขาแก้ไขของเขา เขาเปลี่ยนโปรแกรมของเขา เขาพัฒนาของเขา แต่ถ้าเขามีการต่อต้าน นี่อย่างนี้มันเป็นเวรเป็นกรรม เห็นไหม คือมีโอกาสเราจะแก้ไขอย่างไร

นี่การแก้ไขหัวใจไง เราเลี้ยงดูร่างกายกัน ลูกเต้าหลานเหลนของเราๆ เลี้ยงขึ้นมา เห็นไหม มันโตขึ้นมาได้โดยธรรมชาติของมัน แต่เราจะเลี้ยงลูกเต้าหลานเหลนของเราให้เป็นคนดีนี้ยากมาก เราจะให้เขามีความคิดเหมือนเรายากมาก แต่ถ้าเขาไปประสบของเขานะ เขาอ๋อ.. อ๋อ.. เลยนะ

นี่ไงวุฒิภาวะไปตามวัย วัยของเด็กมีความคิดอย่างหนึ่ง วัยของผู้ใหญ่มีความคิดอย่างหนึ่ง วัยของผู้แก่ชราคือมีประสบการณ์คิดอย่างหนึ่ง จิตใจของเราก็เหมือนกัน ถ้าเรายังไม่ภาวนา เรายังอยู่ของเรานี่ จิตใจของเรามันไม่มีทางเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาได้เลย มันเป็นไปตามธรรมชาติไง ตามความรู้สึกนึกคิดที่มันขับดันออกมาไง

แต่ถ้าเรามีสติปัญญายับยั้งมัน มีสติปัญญาควบคุมมัน เห็นไหม ถ้ามีสติปัญญามันจะพัฒนาขึ้นมา ถ้ามันพัฒนาขึ้นมานี่เราจะแยกแยะของเรา นี่มันต้องมีสติแล้วมีปัญญาของเราคัดเลือกเอง คัดเลือกฝึกฝนใจเราเอง

นี่เวลามรรค ๘ เห็นไหม “เราจะล่วงพ้นทุกข์ด้วยความเพียร” ความเพียร ความวิริยะอุตสาหะนี้จะทำให้เราล่วงพ้นความทุกข์ไปได้ แต่ความสุขสบาย ความสุกเอาเผากิน ความมักง่าย ความนอนจมอยู่กับกิเลส พ้นจากกิเลสไปไม่ได้หรอก มันเป็นอย่างนั้นแหละ

นี้ความวิริยะ ความอุตสาหะ ความเพียรของเรา มันก็เป็นความลำบาก.. ความลำบากเพราะเราพอใจ ลำบากเพราะเราจะต้องการคุณงามความดี ลำบากเพื่อทำคุณงามความดี เราฝืน.. แต่ถ้ามันไหลไปตามกิเลสมันพอใจทั้งนั้นแหละ แต่ความพอใจนั้นพอใจในไม่พอใจนะ เพราะคำว่าพอใจ เพราะมันยังสดยังใหม่อยู่ แต่พอคุ้นชินขึ้นมาไม่พอใจแล้ว

พอคุ้นชินเสร็จขึ้นมามันก็ต้องหาใหม่ๆๆ หาใหม่มากขึ้นนั่นล่ะ ไม่มีอะไรพอใจหรอก เป็นเหยื่อ มันล่อมันหลอกเท่านั้นแหละ ไม่มีอะไรที่เราจะพอใจได้หรอก แต่เพราะมันยังสดยังใหม่อยู่มันก็ว่ามันพอ แต่พอมันเบื่อขึ้นมามันก็จะหาของมันใหม่อีกแล้ว

นี้มันเป็นเรื่องของความพร่องของใจ แต่ถ้าเรามีสติปัญญานะมันจะอิ่มเต็มของมันได้ มันจะมีจุดยืนของมันได้ แล้วถ้ามีจุดยืนแล้วเราใช้ปัญญาของเรา แยกแยะของเรา.. โลกุตตรปัญญา ปัญญาที่จะชำระสะสาง ปัญญาที่เราจะให้พ้นจากความหมักหมมของใจ มันเต็มได้ด้วยการกระทำของเรา

ฉะนั้นสิ่งที่เรามองโลก .. มองโลก วันนี้วันเด็กเป็นวันของเขา เราก็เป็นเด็กมาก่อน เราก็จะดูแลรักษาของเราไป เราครบวงจร ตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่ผู้ใหญ่ ต้องชราภาพไปนี่มันครบวงจรของมัน แต่ ! แต่เรามีสิ่งใดติดมือเราไป เราจะออกเดินทางต้องมีเสบียงไป

ของในสมบัติสาธารณะ สิ่งต่างๆ แก้วแหวนเงินทอง ทรัพย์สมบัติเป็นของมรดกตกทอดให้กับลูกหลานมันไป คุณงามความดีของเราเท่านั้น ความดีและความชั่วในหัวใจจะเป็นสมบัติตามเราไป ยิ่งใครตั้งสติ ยิ่งใครภาวนา นี่มันเห็นว่าชีวิตเป็นอย่างนี้เอง เห็นไหม ชีวิตเป็นอย่างนี้เอง เรารอเวลาอันนั้น ถ้ารอเวลาถึงที่จะไป เราจะไปอย่างใด แต่ถ้ายังไม่ถึงเวลาไป เราต้องตั้งสติของเรา เห็นไหม มีค่าเท่ากัน ถึงมีชีวิตอยู่ ถึงจะไปก็มีค่าเท่ากันถ้าเราทำใจของเราได้

เรารักษาใจของเรา.. นี่ศาสนาสอนที่นี่ แล้วมันไม่บกพร่อง ไม่มีการขาดแคลนในหัวใจ มันมีความอิ่มเต็มของมัน แต่ถ้ามันบกพร่องของมันนะ เราทุกข์เราร้อน เราวิตกกังวลไปทุกๆ อย่างเลย.. ถ้าเราทำของเราดีแล้ว เราทำชีวิตเราดีที่สุดแล้ว ชีวิตของเราเกิดมาเราทำสิ่งที่ดีที่สุด เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้ทำเราก็ทำทุกๆ อย่างแล้ว ทำทาน รักษาศีล ภาวนา

หน้าที่การงานของโลกเราก็ทำ เราทำของเราเพื่อสิ่งนี้เป็นปัจจัยเครื่องอาศัยเพื่อดำรงชีวิต ปัจจัย ๔ เครื่องอาศัยของร่างกาย เครื่องอาศัยของชีวิตนี้.. แล้วชีวิตนี้ นี่หัวใจ สิ่งใดที่เป็นอาหารของมัน อาหารที่เป็นคุณธรรมของมัน เพื่อจากใจดวงนี้ เวลาตายจิตออกจากร่าง จิตนี้จะมีคุณสมบัติอย่างนี้ไป นี่เพื่อประโยชน์กับจิตของเราเอง เวลาไปเกิดเป็นคนใหม่ เกิดต่างๆ เป็นชาติใหม่ ภพชาติใหม่มันจะย้อนมา

เราก็เหมือนกัน เกิดซ้ำเกิดซากกันอยู่อย่างนี้ แต่เราไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรหรอก แต่ถ้ามันเป็นจริงเรารักษาของเราได้ การเกิดซ้ำเกิดซากนั่นน่ะมันเป็นพันธุกรรม ตัดแต่งพันธุกรรม การเกิดที่ดี การทำที่ดี จิตใจที่ดีพัฒนาขึ้นไปที่ดี วุฒิภาวะที่ดี เห็นแต่สิ่งดีๆ คิดแต่สิ่งดีๆ ทำแต่สิ่งดีๆ แต่สิ่งที่มันไม่ดีคือกิเลสมันมีของมันอยู่ เรามีสติปัญญายับยั้งไว้ จนถึงที่สุดเราทำลายที่สุดนะ จิตนี้จะพ้นไปจากทุกข์ เอวัง