ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ทำพอเป็นพิธี

๘ ม.ค. ๒๕๕๔

 

ทำพอเป็นพิธี
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๘ มกราคม ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

วันนี้เจอ ๒ ปัญหานี้ก็จบแล้วล่ะ

ถาม : นมัสการหลวงพ่อ ตอนนี้ดูการเคลื่อนไหวของกาย เวลาเผลอก็รู้ว่าเผลอโดยกลับมาดูการเคลื่อนไหวของกายเช่นที่ปลายเท้าสัมผัส อยากทราบว่าการภาวนาแบบนี้ถูกต้องหรือไม่ และควรจะปรับปรุงแก้ไขตรงไหน

หลวงพ่อ : ถ้าการภาวนานะ การภาวนานี่เริ่มต้นจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเรียนกับลัทธิต่างๆ มันยังไม่มีใครเป็น พอไม่มีใครเป็นนี่นะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ ตรัสรู้เองโดยชอบ

การว่าตรัสรู้เองนี่คือบรรลุธรรม ตรัสรู้ธรรม ! เวลาตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้วนี่รู้จริง ถ้าคนรู้จริงสอนมันไปอีกอย่างหนึ่ง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีอำนาจวาสนาบารมีมากนะ แต่ไปเรียนกับคนที่ไม่รู้ ไปเรียนกับพวกที่ไม่รู้ พวกลัทธิต่างๆ ศาสดาต่างๆ ที่ว่าเป็นศาสดา แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปศึกษา ๖ ปี ศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ ศึกษากับอาฬารดาบส ศึกษากับทุกๆ คนเลย อาฬารดาบสบอกสอนได้ถึงสมาบัติ ๘ ฤๅษีชีไพรก็สอนการทำทุกรกิริยาก็สอนไป

เพราะว่าคนเป็นหรือไม่เป็น ! เพราะคนไม่เป็นสอน มันก็สอนไปพอเป็นพิธี เห็นเขาทำก็ทำกันแบบเถรส่องบาตร.. เถรส่องบาตร เห็นไหม พระอาจารย์เขาส่องบาตร เขาส่องมาเพื่อดูว่าบาตรนั้นมีรอยรั่วไหม ถ้ามีเขาจะแก้ความชำรุด ไอ้เถรนี่ก็ยกดูๆ แต่เราไม่รู้ว่ายกดูนี้ยกดูเพื่ออะไร

ฉะนั้นที่ว่าเวลาการปฏิบัติ นี่การปฏิบัติ เห็นไหม การปฏิบัติพอเป็นพิธี.. เป็นพิธี เพราะพิธีคือทำให้เหมือน แต่เวลามีปัญหาขึ้นมานี่มันเป็นไปไม่ได้

ถาม : ตอนนี้ดูการเคลื่อนไหวของกาย เวลาเผลอก็รู้ว่าเผลอ โดยกลับมาดูการเคลื่อนไหวของกาย

หลวงพ่อ : นี่ดูการเคลื่อนไหวของกายมันเป็นวิทยาศาสตร์ มันเป็นเรื่องข้อเท็จจริง มันคือการเคลื่อนไหว รถนี่มีพลังของมัน มันก็เคลื่อนไหว รถจอดในที่ลาดชัน ปล่อยมัน มันก็ไหลลงไป นี่มันเป็นเรื่องปกติเรื่องธรรมดาของโลก ทีนี้การเคลื่อนไหวของกายนี่มันก็เรื่องของกาย

ดูคนเป็นสอนนะ หลวงปู่เจี๊ยะท่านบอกว่าให้กำหนดจิตอยู่กับกาย.. กำหนดจิตอยู่กับกายเป็นข้อๆ ในกระดูกนี่เป็นข้อๆ ไป ถ้าควบคุมให้จิตมันวนอยู่ในกายนี้ได้ ท่านบอกว่าอันนี้เป็นสมถะ ! อันนี้เป็นสมถะ กำหนดจิตให้อยู่กับกาย เช่นในกระดูกข้อต่อของเรา เห็นไหม ให้มันเคลื่อนไปทีละข้อต่อๆ แต่ละข้อๆ ให้มันเคลื่อนไป

คำว่าเคลื่อนไปคือว่า เรามีสติบังคับให้จิตเรามันอยู่ในข้อ อยู่ในโครงสร้างของกาย ถ้ามันหลุดออกไป เวลามันหลุดออกไป เห็นไหม นี่มันเคลื่อนออกไป มันเคลื่อนออกไปมันก็เหมือนกับเรากำหนดพุทโธนี่แหละ

ฉะนั้นถ้าการเคลื่อนไหวของกาย ท่านบอกคำว่าสมถะ.. สมถะคือโลกไง ผลของมันคือความสงบ ฉะนั้นสิ่งที่ว่าเคลื่อนไหวของกาย นี่ถ้าคนรู้นะ คนรู้สอน เห็นไหม คนรู้สอน หลวงปู่เจี๊ยะท่านบอกว่าให้กำหนดจิตอยู่ในกาย ให้มันไปตามข้อกระดูกต่างๆ ท่านบอกว่าเป็นสมถะ ! สมถะว่าให้อยู่เป็นชั่วโมงๆ ให้อยู่เป็นชั่วโมงนี่จิตมันเริ่มสงบใช่ไหม เพราะอยู่เป็นชั่วโมงๆ นี่ผลของสมถะคือจิตสงบได้ ถ้าจิตสงบได้นะก็ให้เคลื่อนอยู่ในกายอย่างเดิมนี่มันจะเห็นภาพ อันนั้นจะเป็นวิปัสสนา

วิปัสสนาคือว่ามันเห็นของมัน มันถอดถอนของมันเพราะมันลงสู่มิติของจิต ถ้าจิตมันสงบนะ แต่ถ้าจิตไม่สงบนะเราเคลื่อนไหวขนาดไหนมันก็เคลื่อนไหวแบบโลกๆ เพราะเคลื่อนไหวนี่ผลของมัน.. คำถามนี้ผู้ถามบอกว่า พอเคลื่อนไหวอยู่อย่างนี้มันไม่ไปไหนไง มันก็อยู่อย่างนี้ล่ะ สบายใจไหม.. สบาย ถ้าเราพิจารณาของเรานะ เราอยู่ของเรา เราพิจารณาของเรา มันก็อยู่ในกายนี่แหละ มันไม่คิดนอกลู่นอกทาง มันไม่คิดออกไปที่อื่น เห็นไหม มันก็อยู่ของมัน

ถ้ามันอยู่ของมันนี่มันสบายใจไหม มันดีขึ้นไหม ดีขึ้นมา.. ดีขึ้นมาเมื่อมันยังใหม่ๆ มันยังสดๆ ร้อนๆ ไง แต่มันคุ้นชินไปแล้วนี่มันมีอะไรต่อไป ก็มีเท่านี้แหละ ! มีเท่านี้ คือมีควบคุมใจให้เป็นปกติไง เหมือนเรานี่ เห็นไหม ถ้าเรามีแบบว่าเราทำอะไรโดยที่เสียมารยาท มันก็คือการเสียมารยาท พอเราควบคุมว่าให้เรานั่งเป็นปกติใช่ไหม เรามีมารยาทไหม.. มี แล้วอย่างไรต่อไปล่ะ แล้วทำอะไรต่อไป

นี่คำถามอยู่ตรงนี้ คำถามเขาบอกว่า “เขาปฏิบัติมานานปี แล้วแค่นี้ ! แค่นี้ !”

คำถามถามถึงว่า “แล้วให้แก้ไขทำอย่างใด”

ปฏิบัติมานี่ปฏิบัติมานานแล้ว แล้วก็ติดอยู่แค่นี้แหละ ก็มารยาทไง นี่เราเป็นคนที่มารยาทไม่ปกติ แล้วเรามาฝึกฝนให้เป็นมารยาทดีก็เท่านั้นเอง เราจะบอกว่ามันเป็นโลกียปัญญา มันเป็นสามัญสำนึก มันเป็นการที่เราศึกษาธรรมะ มันก็เท่านั้นแหละ เท่านั้นจริงๆ นี่ปฏิบัติพอเป็นพิธี แล้วบอกว่านี่คือการปฏิบัติธรรม.. บอกว่านี่คือการปฏิบัติธรรมใช่ไหม พอปฏิบัติธรรมแล้วก็บอกว่าสิ่งนี้มันเป็นวิปัสสนา มันเป็นปัญญา มันเป็นปัญญาแล้ว

ฉะนั้นนี่เพราะคนที่ครูบาอาจารย์ไม่เป็น ถ้าครูบาอาจารย์เป็นนะ สิ่งที่ว่าศีล สมาธิ ปัญญา จะต้องทำความสงบของใจ ครูบาอาจารย์ของเราบอกว่าต้องทำความสงบของใจ ถ้าใจมันสงบแล้วนะมันจะไม่อยู่แค่นี้ไง มันจะไม่อยู่ว่าพอมารยาทสังคมเป็นคนดีหมดแล้ว พวกเราเป็นคนดีหมดแล้ว เหมือนเรานี่ไม่มีการศึกษาแล้วเขาให้ศึกษา ศึกษาจบแล้วทำอย่างไรต่อล่ะ จะหาอะไรกิน จะมีอาชีพอะไร

ถ้าจิตนะเราเคลื่อนไหว นี่เราถึงบอกว่าถ้าคนเป็นสอน.. คนเป็นสอน หลวงปู่เจี๊ยะท่านก็สอนให้จิตนี้เคลื่อนอยู่ในกาย ! ให้จิตเคลื่อนอยู่ในกาย แล้วท่านพูดเอง ท่านพูดเลย “จิตที่เคลื่อนอยู่ในกายอย่างนี้ ถ้ามันอยู่ได้เป็นชั่วโมงๆ” คำว่าอยู่ได้เป็นชั่วโมงๆ นี่มันจะไปพิสูจน์กันว่าจิตนี้เป็นสมาธิหรือไม่เป็นสมาธิ

ถ้าเราคิดได้ เราคิดให้จิตอยู่ในกาย คิดแว็บหนึ่งแล้วก็ไปคิดเรื่องอื่น แล้วก็มาคิดว่าให้จิตอยู่ในกาย มันก็คิดได้ ๕ ปีก็อยู่แค่นี้แหละ แต่ถ้าอยู่ได้เป็นชั่วโมงๆ เห็นไหม อยู่ได้เป็นชั่วโมงๆ คือว่าเราควบคุมจิตเราได้ จิตเรานี่ตั้งมั่น จิตนี้มันมีฐานของมัน มันถึงไม่หิวกระหาย มันถึงไม่คิดนอกเรื่อง มันจะอยู่ในโครงสร้างของมัน

พุทโธ พุทโธนี่.. ปัญญาอบรมสมาธิก็เหมือนกัน จิตต้องเป็นสมาธิก่อน พอจิตเป็นสมาธิมันก็เหมือนถึงฐาน ถ้าถึงฐานมัน ดูสิเรานี่เป็นชาวนา เราทำนาเราจะได้ข้าวกิน เราทำนานะ แต่คนอื่นไม่ใช่ชาวนานี่เขาทำของเขา เขาซื้อข้าวมากิน เขาได้ข้าวมากิน

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราปฏิบัติของเราเป็นปัจจัตตัง.. เราเป็นชาวนา เราเป็นชาวนาเราหว่านข้าว ดำข้าว เราเกี่ยวข้าว เราสีข้าว เรามีข้าวสาร เราหุงข้าว เรารู้ต้นกระบวนการของการปลูกข้าว การผลิตข้าวทั้งหมดเลย แต่ถ้าเราไปซื้อข้าวถุงมา เห็นไหม เราไปซื้อข้าวถุงมา กระบวนการผลิตนั้นเราไม่ต้องไปรู้ของมัน เราได้ข้าวมา

การปฏิบัติ.. การปฏิบัติโดยที่ว่าเราศึกษาธรรมพระพุทธเจ้ามานี่เราได้ข้าวมา แต่กระบวนการผลิตนั้นเราไม่ได้ทำของเราเอง เรารู้ของเราไม่ได้ เราจะไม่เข้าใจของเรา แต่ถ้ากระบวนการการผลิต เราผลิตของเราเอง ทุกอย่างเราทำของเราเอง นี่ความจริงมันเป็นอย่างนั้น ถ้าความจริงเป็นอย่างนั้นมันถึงจะเป็นความจริง

ฉะนั้นสิ่งที่ควรปรับปรุงแก้ไขอย่างใดตรงไหน.. ถ้าการปรับปรุงแก้ไข เราจะต้องเข้าสู่ความสงบ เริ่มต้นจากว่าต้องให้ใจนี่มันไม่คัดค้านก่อน ใจมันคัดค้านว่าสมถะไม่มีความหมาย กำหนดพุทโธหรือปัญญาอบรมสมาธิ สมาธิไม่มีความจำเป็น สมาธิจะเกิดต่อเมื่อใช้ปัญญา สมาธิจะเกิดต่อเมื่อมีปัญญา สมาธิเกิดเมื่อปัญญามันรวมตัว สมาธิเกิดขึ้นมาเขาพูดอย่างนั้นตลอด แต่เพราะอะไรรู้ไหม เพราะเป็นมิจฉาทิฏฐิ มิจฉาทิฏฐิตรงที่ว่ามันจะเกิดขึ้นเอง มันจะเป็นของมันเอง มันอยู่ในมิติของโลก

ถ้ามันเป็นมิติของโลก.. คำว่ามิจฉาทิฏฐินะเพราะความเห็นผิด ความเห็นผิดมันจะปิดกั้น มันปิดกั้นว่า อย่างนี้ก็เป็นปัญญาแล้ว ทุกอย่างที่ว่ามันปล่อยวางแล้วนี่คือปัญญา นี่คือสติปัฏฐาน ๔ การใช้ปัญญาอย่างนี้ถึงเป็นสติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม.. พิจารณากายานุปัสสนาสติปัฏฐาน นี่สติปัฏฐาน ๔

แต่เขาบอกว่าพุทโธ พุทโธนี่มันไม่ใช่สติปัฏฐาน ๔ มันไม่มีปัญญา มันเป็นสมถะ แล้วสมถะมันจะมาเกิดนิมิต สมถะมันจะมีความผิดพลาด สมถะมันจะมีความเสียหายไปหมดเลย ฉะนั้นพิจารณาไปนี่ สิ่งที่ว่ารู้การเคลื่อนไหวของมันไป เคลื่อนไหวของกายไปตลอดเวลา เสร็จแล้วมันก็มีวังวนอยู่อย่างนั้นแหละ นี่แม้แต่สมถะมันก็ลงไม่ได้ ถ้ามันลงสมถะได้นะ จิตมันลงนะมันจะมีความสงบของมัน ถ้ามีความสงบของมันนะ พอจิตมันสงบแล้วถ้ามันออกรู้นี่ ถ้าออกรู้ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม ด้วยจิตที่เป็นสมาธินะ มันจะเป็นอีกกรณีหนึ่ง

อีกกรณีหนึ่ง เห็นไหม เหมือนกับผู้ที่เป็นชาวนา ชาวนานี่เขาหว่านเขาไถของเขา เขาปลูกข้าวของเขา เขาทดน้ำของเขา เขารักษาข้าวของเขา จนกว่าข้าวเขาสุกเขาเกี่ยวข้าวของเขาจนเป็นประโยชน์กับเขา ไอ้อย่างนั้นมันเป็นประโยชน์.. พิจารณากายเหมือนกัน แต่พิจารณากายเหมือนกัน คำว่ามิจฉาทิฏฐิหมายความว่า ถ้ามีมุมมอง มีทิฐิอย่างนี้

ทิฐินี่นะเหมือนกับเราภาวนานี่เราทำความสงบของใจ ถ้าจิตมันติดนะ เวลาเราติด เห็นไหม เวลาสมาธิเราเข้าไม่เป็น หรือเราไม่รู้จักสมาธินี่ มันหายไป มันตกภวังค์ไป เราเข้าใจผิดว่าเป็นสมาธินะ บางคนนี่มันวูบหายไปเลย หายไปเป็นชั่วโมงๆ นะ แล้วสะดุ้งตื่นขึ้นมานะ อู้ฮู.. วันนี้นั่งสมาธิดีมากเลย.. นี่ไงคำว่ามิจฉาทิฏฐิคือความเห็นผิด ถ้าสมาธิมันยังไม่เข้าใจว่าสมาธิ แล้วมันตกภวังค์ไปมันเข้าใจว่าเป็นสมาธิ

นี่ก็เหมือนกันความเห็นผิด เห็นผิดว่าถ้าใช้ปัญญาไปเลย ถ้าใช้ปัญญาไปเลยแล้วไม่จำเป็นต้องทำ แล้วจิตใจมันไม่ยอมรับรู้ เหมือนเราทำงานที่ไม่หวังผล เราทำงานแล้วเราปฏิเสธผลเราจะไม่ได้ผลนั้น แต่ถ้าเราทำงานนะ ผล เรายังไม่เข้าใจว่าผลจะเกิดอย่างไร ถ้าได้ผลตามนั้น มันจะเห็นผลตามนั้น

นี่ทิฐิความเห็นผิดมันจะทำให้จิตนี้ไม่ลงสู่สมาธิ พอไม่ลงสู่สมาธินี่

๑.เห็นว่าสมาธิเป็นโทษ เห็นว่าสมาธิไม่เป็นประโยชน์

๒.เห็นว่าสมาธิไม่มีความจำเป็น

๓.แล้วถ้าเป็นสมาธิแล้วมันจะติด มันจะเนิ่นช้า

นี่ความเห็นลึกๆ อันนี้เป็นมิจฉาทิฏฐิ ! ทีนี้พอเป็นมิจฉาทิฏฐิ มิจฉาทิฏฐิถ้ามันทำตามความจริงของมัน ถ้าจิตมันลงมันก็ลงสมาธินั่นล่ะ แต่ตัวเองไม่เข้าใจว่าเป็นสมาธิ ถ้าไม่เข้าใจว่าเป็นสมาธินี่มันจะออกไปวิปัสสนาได้อย่างไร ถ้ามันออกวิปัสสนาไม่ได้ เห็นไหม ก็เลยบอกว่าการทำอย่างนี้คือการทำพอเป็นพิธี

หลวงตาท่านบอกประจำว่า “ทำพอเป็นพิธี” การปฏิบัติที่ทำพอเป็นพิธีก็คือพวกนี้แหละ ในเทศน์หลวงตาจะมีบ่อย ท่านบอกว่าพวกที่ทำพอเป็นพิธี ทำพอเป็นพิธีนี่ เพียงแต่ว่าท่านไม่ลงรายละเอียด ฉะนั้นเพียงแต่คำถามว่าจะปรับปรุงแก้ไขอย่างไร เราถึงต้องลงรายละเอียดไง ถ้าไม่ลงรายละเอียด เราจะรู้ว่าอะไรผิดอะไรถูกล่ะ เราจะไม่รู้ว่าสิ่งนั้นถูกหรือสิ่งนั้นผิด ถ้าลงรายละเอียดแล้วเพราะรายละเอียดนั้นแหละ เพราะความเห็นเริ่มต้นจากทิฐิ คือปัญญา คือความมุ่งมั่นอันนั้นมันจะทำไปสู่ที่ถูกต้อง หรือไปสู่ที่ผิด

ฉะนั้นในเมื่อมุมมองมองกันอย่างนั้น มองว่าถ้าทำสมาธิแล้วเสียประโยชน์ ทำสมาธิเสียเวลา แล้วเกิดนิมิต เกิดปีติ เกิดต่างๆ นี่เป็นของไร้ค่า ไม่ใช่สติปัฏฐาน ๔ ไม่ใช่ปัญญา ไม่มีในพุทธศาสนา นี่ไงเพราะเขามีมุมมองมีความรู้สึกกันอย่างนี้ พออย่างนี้ปั๊บมันก็ถึงว่ามันอยู่ในอีกมิติหนึ่ง มิติของโลก มิติของวิทยาศาสตร์ มิติของสามัญสำนึก มันไม่ลงสู่บัญญัติ นี่สมมุติบัญญัติ

ถ้าลงสู่บัญญัติ เห็นไหม นี่ไงสมมุติบัญญัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศีล สมาธิ ปัญญา.. ถ้าลงสู่สมาธิลงสู่ปัญญา มันก็เหมือนเราจะทำการค้า เราจะต้องจดทะเบียนบริษัท บริษัทนั้นถึงมีการทำธุรกิจการค้าขึ้นมา บริษัทนั้นถึงจะมีผลประโยชน์ แต่ถ้าบอกว่าเราทำลอยๆ โดยที่ไม่มีบริษัทมันก็เลื่อยลอย มันก็ไม่มีผู้ใดเป็นผู้ควบคุม

นี่ก็เหมือนกัน จิตถ้ามันไม่ลงสู่สมาธิ มันทำอย่างไรมันก็เป็นสามัญสำนึกเหมือนพวกเรานี่ อย่างเรานี่เราทำดีทำชั่วมันก็เป็นความดีความชั่ว.. เป็นความดีความชั่วในวัฏฏะ แต่เวลาถ้ามันลงไปในอริยสัจนี่มันทำลายวัฏฏะเป็นวิวัฏฏะ ถ้าเป็นวิวัฏฏะมันจะลงไปถึงขนาดไหน

ฉะนั้นการแก้ไขปรับปรุงคือจะต้องทำความสงบของใจให้ได้ แล้วมันเปรียบเทียบได้ อย่างเช่นถ้าวันไหนเราความคิดดี เราสมาธิดี จะไม่มีสิ่งใดเข้ามารบกวนใจเราได้เลย แต่ถ้าวันไหนเราฟุ้งซ่าน สมาธิเราไม่ดีนี่มันจะทุกข์ยากมาก ฉะนั้นการปรับปรุงมันอยู่ตรงนี้ไง ตรงที่กลับมาทำความสงบของใจ ถ้าใจมันสงบเราต้องยอมรับว่าการทำธุรกิจต้องมีทุน เราทำสิ่งใดเราต้องมีทุนก่อน แล้วทุนนั้นมันถึงเป็นต้นทุน แล้วเราจะไปทำสิ่งใดให้มันงอกเงยขึ้นมา

จิตถ้ามันสงบขึ้นมานี่มันจะงอกเงยขึ้นมาด้วยโลกุตตรธรรม ถ้าจิตมันไม่สงบ ต้นทุนเดิมของเราคือต้นทุนของความเป็นมนุษย์.. สามัญสำนึก ความคิดของมนุษย์มันมีอยู่แล้ว ทุกอย่างมีอยู่แล้วใช่ไหม นี่สิ่งนี้ที่มันเกิดขึ้นมามันก็เป็นสามัญสำนึก เวลาศึกษาธรรมะนี่ อู้ฮู.. มันเศร้าใจ มันแบบว่าน้ำตาร่วงน้ำตาไหล มันก็เป็นเรื่องธรรมดานี่ล่ะ อันนี้คือต้นทุนของความเป็นมนุษย์ ! แต่เพราะเราเกิดเป็นมนุษย์ แล้วเรามาศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราทำความสงบของใจเข้ามา เห็นไหม นี่ความสงบของใจนี้เป็นทุน สัมมาสมาธินี่เป็นทุน ถ้าจิตสงบเข้ามาแล้วนี่ พอเรามีทุน

ดูสิพวกเรามีทุนมีเงินนี่นะ เราจะเดินทางหรือเราจะทำสิ่งใดเราจะวิตกกังวลไหม แต่คนที่จะเดินทางถ้าไม่มีทุนเลย ไม่มีเสบียงเลย ไม่มีสิ่งใดเลย เขาจะเดินทางไปด้วยความทุกข์ยากตลอด จิตถ้ามีความสงบของใจ นี่มันมีต้นทุนของมัน มันจะทำสิ่งใดมันจะมีโอกาสทั้งนั้นแหละ แต่คนเราถ้าไม่มีทุนเลย ทำไปก็ทำโดยสามัญสำนึก

ฉะนั้นเพราะคำว่าสามัญสำนึกอันนี้เป็นโลก พอเป็นโลกเขาถึงบอกว่าการปฏิบัตินี้ยากนะ เพราะครูบาอาจารย์.. นี่การที่มาสัมผัสรู้เขาจะบอกว่าการปฏิบัตินี้มันยาก การบรรลุมรรคผลยิ่งยากใหญ่ ฉะนั้นปฏิบัตินี้ปฏิบัติเพื่อเป็นบารมี ไปชาติต่อๆ ไป เขามีความเห็นกันว่าในปัจจุบันนี้ไม่มีพระอรหันต์ ในปัจจุบันนี้ผู้ที่ปฏิบัติธรรมที่ถึงธรรมไม่มี..

นี่โดยอุดมคติอุดมการณ์ของเขาเลยนะ แต่เขาไม่พูดออกมา ไม่พูดออกมาเป็นสาธารณะ แต่เขาจะพูดกันของเขาภายในว่ามรรคผลไม่มี ! มรรคผลไม่มี ! เพราะมันกึ่งพุทธกาลแล้ว มันหมดยุคหมดโอกาสแล้ว ความรู้สึกเขาเป็นอย่างนั้น เห็นไหม ถึงบอกว่าเพราะเขามีความเห็นอย่างนั้น เขามีทิฐิอย่างนั้น มันเลยปฏิบัติพอเป็นพิธี

พอเป็นพิธีนี่ ทีนี้ผู้ที่ปฏิบัติที่ต้องการมรรคผล ต้องการความหลุดพ้น.. นี่เพราะคำถามเขาถามว่า “เขาทำมาหลายปีแล้วมันก็จะวนเวียนอยู่อย่างนี้ ไม่พ้นจากความรู้สึกว่างๆ อย่างนี้ พ้นออกไปไม่ได้เลย ทำมาแล้วมันก็ไม่ได้ประโยชน์เลย ควรปรับปรุงแก้ไขตรงไหน”

ควรปรับปรุงแก้ไขคือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ สิ่งที่เขาทำอยู่นี้มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิแต่ ! แต่มันเป็นการส่งออกนะ เพราะส่งออกไปสัมผัสที่ปลายเท้า ส่งออกไปสัมผัสจากข้างนอก จิตมันส่งออก แต่ถ้าเราใช้ปัญญาแล้วไล่เข้ามานี่ มันจะย้อนกลับมาสู่ใจ ถ้าใจมันสงบ มันสงบที่ใจ มันไม่สงบอยู่ที่สัมผัสภายนอก

ความสัมผัสภายนอกนี่มันสร้างภาพ ถ้าเป็นความว่างก็ความว่างแบบแพะ ! สร้างภาพไง เพราะถ้าเราจะจับผู้ที่ทำความผิดมันต้องลงทุนใช่ไหม แต่จะจับแพะ เห็นไหม ถ้าสมาธิที่เกิดขึ้นจากใจนี่คือเราทำความว่างของเราขึ้นมาเอง มันก็ไปเอาความว่างที่เอาความรู้สึกนี้มาไว้ที่สัมผัส พอไว้ที่สัมผัส พอตัวที่สัมผัสมันหายไปมันก็จบไง

นี่สมาธิแพะ ! ความเห็นจากภายนอก มันเลยไม่เป็นความจริงขึ้นมา แต่ถ้าเรามีความสัมผัสใช่ไหม อะไรสัมผัส.. ความสัมผัสเกิดจากอะไร.. ถ้าความสัมผัสเกิดจากอะไร ถ้าไม่มีจิต ไม่มีความรู้สึก ถามว่าสัมผัสเกิดขึ้นได้ไหม เวลาเราเดินเราสัมผัสอยู่แต่เราคิดเรื่องอื่นนี่มันจะมาจากไหน.. นี่สมาธิมันจะเป็นสัมมาสมาธิ คือสมาธิมันเกิดที่จิต ไม่ได้เกิดจากสัมผัสภายนอก ความสัมผัสภายนอก

“รูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร”

รูป รส กลิ่น เสียง ความสัมผัสภายนอกนี่มันเป็นบ่วงของมาร มันให้เราออกรับรู้ เห็นไหม เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร มันล่อ.. แต่ถ้าเรากลับมาที่ใจ อันนี้มันจะรู้ได้ มันเป็นปัจจัตตังหมด !

มันเป็นปัจจัตตัง.. นี่ว่าการปรับปรุงแก้ไขมันจะแก้ไขอย่างไร ถ้าแก้ไขอย่างนี้มันแก้ไขได้ คือว่าง่ายๆ นะกลับมาพุทโธ แต่ถ้ามันกลับมาไม่ได้ กลับมาพุทโธไม่ได้เพราะว่ามันต้องใช้ปัญญา ใช้ความสัมผัสของเขา เพราะเขาทำมานานนะ.. ถ้าสัมผัสทำมานาน สัมผัสก็รู้ว่าสัมผัส แล้วพอมันว่างขึ้นมา สติมันมีให้พร้อม มีสติอย่างเดียวนี่มันจะไล่เข้ามา ตัวสตินี่จะทำให้จิตเข้ามาสงบที่ใจ ใจมันจะหดเข้ามา เพราะว่าสรรพสิ่งที่รู้รู้เพราะความรู้สึก ! ความรู้สึกนี้ออกไปรู้หมดเลย พอความรู้สึกออกไปรู้มันก็ตื่นออกไป ส่งออกหมดเลย ถ้าสติมันตามเข้ามามันจะย้อนกลับมาที่มัน ย้อนกลับมาที่มัน

ถ้ามีสติปัญญานะ นี่เขาเรียกว่าปัญญาอบรมสมาธิ จะทำวิธีการอย่างใดก็แล้วแต่ ผลของมันคือสมาธิทั้งหมด ผลของมันคือการปล่อยวาง แต่ปล่อยวางแบบมิจฉาหรือปล่อยวางแบบสัมมา ถ้าปล่อยวางแบบมิจฉา ว่างๆ ว่างๆ แต่ไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าของความว่าง แต่ถ้าเป็นสัมมานะ อืม ! อืม ! ว่างกับใจนี้ ! ว่างกับกูนี้ ! กูนี่ล่ะว่าง ! แล้วมันรู้หมด.. นี่คือสัมมาสมาธิ มันถึงมีกำลังขึ้นมา

แต่ถ้าเป็นสมาธิแพะ.. ว่างๆ อยู่ไกลๆ ไง แต่เจ้าของไม่มี ว่างๆ ว่างๆ เขาพูดกันอย่างนั้นตลอด เพราะอะไร เพราะเป็นมิจฉาทิฏฐิ ปฏิบัติพอเป็นพิธี เพราะพุทธศาสนาสอนเรื่องการปฏิบัติก็ปฏิบัติกันพอเป็นพิธี เพราะหัวหน้า เพราะผู้นำ เพราะผู้นำไม่เป็น

แต่ถ้าผู้นำเป็นนะ ถ้าบอกว่าทำความสงบมันเสียเวลา มันไม่ได้ประโยชน์.. จะเสียเวลานี่เด็กของเราเห็นไหม ยิ่งใครเป็นพ่อแม่นะ ถ้าลูกของเรามันกินแล้วนอนนะ เลี้ยงง่ายนะ กินนอนนี่มันเลี้ยงง่ายนะ ถ้าลูกเรากินแล้วมันไม่ยอมนอน มันดื้อไงมันไม่ได้นะ อย่างนั้นเสียเวลาไหม แต่เวลาโตขึ้นมานี่เด็กจะสุขภาพดี อนามัยดี เพราะว่าเราเลี้ยงมาดี มันอาหารครบหมู่ทุกอย่างมันจะเจริญเติบโตมาดี

จิต ! ถ้าเรากำหนดพุทโธให้มันได้พักได้ผ่อน ได้ทำของมันมานี่ มันจะเติบโตขึ้นมาด้วยความสมบูรณ์แข็งแรง ด้วยความถูกต้องดีงามในมรรค แต่ถ้ามันโตขึ้นมาโดยที่ว่าปล่อยมันหรือว่าไม่ได้ดูแลมันนะ ถ้ามันโตขึ้นมาโดยอำนาจวาสนาของมันก็อีกเรื่องหนึ่ง ถ้ามันไม่โตขึ้นมามันก็แคระแกร็นอยู่อย่างนั้นล่ะ แคระแกร็นคือว่ามันไม่ไปไหนไง

ฉะนั้นมันถึงจะต้องตั้งใจ แล้วมั่นใจของเรา แล้วทำของเราขึ้นมา มันถึงว่าไม่เป็นมิจฉาทิฏฐิ เพราะมันเป็นความมิจฉาทิฏฐิ ทั้งๆ ที่เราตรึกในธรรมนี่แหละ ศึกษาธรรมพระพุทธเจ้านี่แหละแต่มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด เพราะความเห็นผิดนี่เป้าหมายผิด เริ่มต้นนี่ผิด แต่ถ้าเริ่มต้นถูก เห็นไหม เด็กนี่โตมาด้วยการที่เราเลี้ยงดู เขากินเขานอนโดยเวลาของเขา เขาสมบูรณ์ขึ้นมา

จิตเวลาพุทโธ พุทโธ ถ้ามันจะพักนี่ต้องเข้าพัก เพราะมันจะโตขึ้นมา ถ้ามันโตขึ้นมานะ เด็กมันโตขึ้นมา เห็นไหม จิตมันพัฒนาขึ้นมาจากสมาธิใช่ไหม พอจิตสงบแล้วมันออกพิจารณานี่เห็นกายคนละมิติกัน เห็นกายอันหนึ่ง พิจารณากายอันหนึ่งเป็นพระโสดาบันนะ

สักกายทิฏฐินี่ พอพิจารณากายซ้ำสู่สถานะเดิมของเขา ดินเป็นดิน ลมเป็นลม น้ำเป็นน้ำ ไฟเป็นไฟ นี้เป็นโสดาบันนะ พิจารณากายอีกชั้นหนึ่งนะมันจะเป็นอสุภะ อสุภะจะไปแก้กามราคะ การแก้กามราคะนั้นเป็นพระอนาคา

การพิจารณากายแต่ละชั้นๆ พิจารณากายเหมือนกันนี่แหละแต่ผลให้ตอบสนอง ผลให้ค่าแตกต่างกัน นี่ไงมันยังมีของมัน แล้วใจของเรานี่ ในเมื่อจิตใจของเรายังหยาบอยู่ มันเป็นเรื่องของสามัญสำนึกของโลก มันจะไปพิจารณาอะไร มันก็หมุนอยู่อย่างนี้ แล้วคนถามก็บอกว่ามันไม่ไปไหนสักที ติดอยู่อย่างนี้นานแล้ว ว่างๆ ว่างๆ อยู่อย่างนี้ ไปไหนไม่รอด แล้วก็พูดกันอยู่อย่างนี้

แต่ถ้าเป็นกรรมฐานเรานะลงสู่ความสงบ ถ้ามันสงบได้ออกพิจารณาไปได้นี่มันจะรู้ผลของมัน แล้วมันมีผลของมัน.. ผลยังมี ปฏิบัติได้จริงผลมี ไม่ใช่ปฏิบัติแล้วไม่มีผล

นี้พูดถึงการปฏิบัติความสัมผัส แล้วจะแก้ไขอย่างใด..

 

อันนี้อันหนึ่งนะ นี่คือคำถามข้อต่อไป

ถาม : สมมุติว่า นาย ก. ตายลง ดวงวิญญาณออกจากร่างแล้ว ดวงวิญญาณจะรู้ว่าเคยเกิดเป็น นาย ก. และชาติอื่นๆ ก่อนหน้านี้ของ นาย ก. ด้วย หรือรู้เพียงว่าเคยเกิดเป็น นาย ก. เท่านั้น หรือไม่รู้เลยว่าเคยเกิดเป็นอะไรบ้างอย่างที่มนุษย์ทั่วไปเป็นอยู่

หลวงพ่อ : ก็ใช่น่ะสิ ! ก็จบ จบอยู่แล้ว มันก็เป็นอย่างที่มนุษย์เป็นอยู่ทั่วไปนี่แหละ มันจะเป็นอย่างอื่นไปได้อย่างไรล่ะ ก็มนุษย์ก็คือมนุษย์นี่แหละ มนุษย์ก็เกิดเป็นเราก็คือเป็นเรานี่แหละ เพราะอะไร เพราะเราไม่รู้ว่าเรามาจากไหน แต่ที่เราว่าเราเคยเกิดเป็นอย่างนั้นเคยเกิดเป็นอย่างนี้เพราะเราเชื่อในคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่จิตหนึ่ง เห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสรู้ธรรมขึ้นมานี่วิชชา ๓ !

บุพเพนิวาสานุสติญาณคือย้อนอดีตชาติได้ยาวไกล แล้วถ้าจุตูปปาตญาณ ถ้าไม่สิ้นกิเลสมันจะไปเกิดข้างหน้าเป็นอย่างไร นี่คือหลักการวิชชา ๓ ในพุทธศาสนา แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากลับมาชำระกิเลสนี่วิชชา ๓

บุพเพนิวาสานุสติญาณนี่ย้อนอดีตชาติ ! จิตนี้มันมีที่มาที่ไป ย้อนอดีตชาติได้ยาวไปไกล ไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าจิตนี้ไม่จบกระบวนการ เห็นไหม อย่างพวกเราปุถุชนนี่เรามีอดีตชาติแต่เราไม่รู้ เราเกิดเป็นอะไร นี่เป็นพระอะไร เป็นนายอะไรก็เป็นอย่างนั้นแหละ

ถ้าชาตินี้ถ้าเชื่อ เราก็ทำคุณงามความดีเพื่อประโยชน์กับเรา นี่ไงที่บอกว่าภพชาติมี เห็นไหม ครูบาอาจารย์บอกว่าถ้าคนเชื่อมันก็สร้างคุณงามความดีของมัน ถ้าคนไม่เชื่อเห็นไหม มันก็ต้องทำตามแต่กิเลสของมัน เวลาตายไปแล้วมีหรือไม่มีนี่รู้ตอนนั้นแหละ ฉะนั้นถ้ามันยังไม่ตายมันก็ไปจุตูปปาตญาณ ก็ไปเกิดของมันอีก

นี่หลักการในพุทธศาสนา หลักการในวิชชา ๓ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมด้วยวิชชา ๓ แล้วพระพุทธเจ้าก็สอนมา พยายามสั่งสอนให้พวกเราเชื่อ ให้พวกเราเชื่อในศาสนา ถ้าเชื่อในศาสนาเราก็พยายามบังคับ พยายามรักษากิเลส รักษาใจเราไม่ให้มันทำสิ่งที่มันอยากทำ เราจะทำคุณงามความดี พยายามฝืนมัน

ฉะนั้นนี่ในความเชื่อ นี่อย่างที่มนุษย์ทั่วๆ ไปรู้ อย่างที่มนุษย์ทั่วไปที่เป็นอยู่.. ก็เป็นอย่างนี้แหละ ! เป็นอย่างนี้ ทีนี้คำถามว่า “สมมุติว่า !” สมมุตินี้มันสมมุติเรื่องอะไรล่ะ..

“สมมุติว่านาย ก. ตายลง ดวงวิญญาณของ นาย ก. ออกจากร่างแล้ว ดวงวิญญาณจะรู้ว่าเคยเกิดเป็น นาย ก. และชาติอื่นๆ ก่อนหน้านี้ของ นาย ก. ด้วย”

อันนี้มันก็เป็นบุพเพนิวาสานุสติญาณ นี่ระลึกอดีตชาติ ระลึกของมันได้ แล้วระลึกนี้มันไม่เป็นเรื่องมหัศจรรย์ ไม่เป็นเรื่องมหัศจรรย์ในศาสนา แต่มันเป็นเรื่องที่เอาเป็นข้อมูล ข้อมูลที่ว่าดู เห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ เช้าขึ้นมาเล็งญาณเลย เล็งญาณว่าสัตว์ดวงไหนมีวาสนาแล้วอายุเขาสั้น นี่ท่านก็จะไปเอาคนนั้นก่อน.. ท่านเล็งญาณ เล็งญาณไปที่ไหน เล็งญาณไปที่จิตดวงนั้น

อย่างเช่นเราเป็นมนุษย์ ท่านจะมาดูเราเหรอ ไม่ใช่ ! ท่านดูหัวใจของเรา เล็งญาณคือดูในหัวใจว่าในหัวใจเขามีอำนาจวาสนาไหม ถ้ามีอำนาจวาสนาเขาจะมีความคิด ความใฝ่ฝันที่เขาจะพ้นจากทุกข์ แต่เขาไม่มีทางออก แล้วถ้าเขามีความใฝ่ฝันที่จะพ้นจากทุกข์ อย่างเช่น

พระองคุลิมาล นี่มีความใฝ่ฝันอยากศึกษาอยากมีวิชาการ แต่เขาบอกต้องเอานิ้วศพมาแลก เขาก็ไปทำของเขาด้วยความหลงผิด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไปแก้ไขไง ไปแก้ไของคุลิมาลว่าสิ่งนั้นมันเป็นความเห็นผิดมันไม่ถูกต้อง ถ้าถูกต้องนี่ให้ทิ้งหมดเลยแล้วกลับมา กลับมาดูที่ใจ กลับมาที่อริยสัจ พอกลับมาพระองคุลิมาลก็เป็นพระอรหันต์ขึ้นมา

นี่เวลาเล็งญาณไง เวลาเล็งญาณก็ดูว่า คำว่าเคยเกิดเคยตายนี่ เขาบอกว่าวาสนาแข่งกันไม่ได้ วาสนาคือการพัฒนาการมาของจิต จิตมันพัฒนาการมาขนาดไหน มันจะมีวาสนาของมัน ถ้าคนมีวาสนานะ มันมีเชาว์ปัญญานะ.. อย่างคนไม่มีวาสนา มีวาสนาปานกลางมีวาสนาหยาบนั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง

ฉะนั้น ดวงวิญญาณออกจากร่างแล้ว ดวงวิญญาณจะรู้ว่าเคยเกิด ดวงวิญญาณจะรู้นี่ดวงวิญญาณอะไร ! เขามาพูดนี่ความคิดของเราไปเอง ดวงวิญญาณ.. ดวงวิญญาณก็คือในปัจจุบันนี้ ดวงวิญญาณก็ความรู้สึกเรานี่แหละ แต่ความรู้สึกของเรานี่มันอยู่ในภพของมนุษย์ นี้ภพของมนุษย์มันก็เป็นอย่างนี้ใช่ไหม ทีนี้ดวงวิญญาณเวลาออกไปนี่ ดวงวิญญาณก็เป็นดวงวิญญาณ อย่างสัมภเวสี นี้ก็คือดวงวิญญาณ

ถ้าดวงวิญญาณอย่างนั้น เห็นไหม สัมภเวสีนี่มันก็เป็นแบบว่าแสวงหาที่เกิด แสวงหาที่เกิดนี่เพราะว่าดวงวิญญาณไม่มีเว้นวรรค มันต้องเกิดในสถานะใด เกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นสัมภเวสี เกิดเป็นผี เกิดเป็นเปรต เกิดเป็นเทวดา เกิดเป็นอินทร์ เป็นพรหม เขามีสถานะนั้นควบคุมอยู่ ฉะนั้นพอสถานะควบคุมอยู่ เขาจะรู้ในสถานะนั้น

เช่นเทวดานี่เขาจะรู้กันในภพของเทวดาใช่ไหม พรหมเขาอยู่ในภพของพรหม เขาจะรู้ในเรื่องของพรหมใช่ไหม เราเป็นมนุษย์เราก็รู้ในเรื่องของมนุษย์นะ แต่มนุษย์นี่เราศึกษาธรรมะปั๊บ มันมีธรรมะเป็นตัวชี้นำ เราก็จะรู้เรื่องอื่นต่อๆ ไป ฉะนั้นเวลาคนนี่ อย่างเช่นกาฬเทวิลเขาระลึกอดีตชาติได้ ๔๐ ชาติ อนาคตได้ ๔๐ ชาติ ตอนนั้นพระพุทธเจ้ายังไม่เกิดเลย

นี่จะบอกว่าเรื่องอย่างนี้ฤๅษีชีไพรทำได้ แต่ทำแล้วนี่มันมีตรงนี้.. ฟังนะ มีตรงที่ว่ามันน่าเชื่อถือได้แค่ไหนไง แบบว่าเช่นฤๅษีตนนี้เขาทำสมาธิเขาดี แสดงว่าข้อมูลจิตเขาดี เขาจะรู้ข้อมูลนี้ได้ชัดเจน คือว่าความถูกต้องเขามากกว่า แต่ฤๅษีอีกตนหนึ่งเขามีสมาธิต่ำกว่า เขาก็ว่าเขารู้เหมือนกัน แต่ความรู้ของเขามีคุณภาพไม่ถึง ๕๐ เปอร์เซ็นต์ไง มีความผิดพลาดได้มากกว่า แล้วถ้าอย่าง ๒๕ เปอร์เซ็นต์นี่มันแทบไม่ได้เลย อย่างพวกเรานี่ไม่มีอะไรเลย ใช้นึกเอา คาดหมายเอา เออ.. เมื่อชาติที่แล้วเป็นหมา ชาตินี้เราเกิดมาเป็นคน โอ๋ย.. ดีขึ้นมาหน่อยหนึ่ง

นี่มันนึกเอาไปเอง โดยความนึกเองนี่เอาอะไรมาคาดหมาย ฉะนั้นพอมันคาดหมายอย่างนี้ปั๊บ.. การระลึกอดีตชาติ เราจะบอกว่าหลวงปู่เจี๊ยะท่านถามหลวงปู่มั่นว่าทำไปทำไม หลวงปู่มั่นท่านสร้างบุญญาธิการมามาก

หลวงปู่มั่นท่านบอกว่า “ทำไว้เพื่อสอนคน ทำไว้เพื่อเป็นเทคนิคเพื่อสอนคน”

เวลาลูกศิษย์ลูกหาคิดนอกลู่นอกทาง เวลาลูกศิษย์ลูกหาทำความผิดต่างๆ ท่านเอาไว้เป็นเครื่องมือกำหลาบ.. กำหลาบนะ รู้ว่าคิดอย่างไร รู้ว่าทำอย่างไร รู้ว่ามีจริตนิสัยไหม

หลวงตาท่านเล่าให้ฟังประจำนะว่าพระองค์ไหนดีนะ พระองค์ไหนภาวนาเป็นหลวงปู่มั่นท่านจะคอยถามเลยว่า “จิตเป็นอย่างไร ! จิตเป็นอย่างไร !” คือจี้เลย

ถ้าพระองค์ไหนยังไม่ค่อยมีวาสนา คือไม่มีวาสนาเหมือนเด็กนี่เลย เด็กนี่เราให้ไปแบกของหนักมันแบกไม่ไหวนะ แล้วบังคับไปแบก เด็กนี้เสียเลย หลังหักเลย แต่ถ้าจะไปแบกของหนักต้องให้ผู้ใหญ่ ผู้ที่เคยทำงานผู้ที่เคยแบกเคยหาม เพราะเขาเคยแบกหามได้ นี่ให้แบกไม้ให้ทำอะไรเพื่อให้เป็นประโยชน์ใช่ไหม แต่จะไปใช้เด็กแบกนี่ไม่ได้เลย เด็กเสียไปเลย

การภาวนานะกว่าจิตจะสงบ มันเหมือนผู้ใหญ่นี่ต้องตรากตรำ ต้องทำงานขึ้นมาจนแบกหามเป็น จนรู้จักว่าไม้เข้าอย่างไร ต่อกันอย่างไร ทำอย่างไร ให้ใช้คนอย่างนั้นทำงาน หลวงปู่มั่นท่านบอกว่าถ้าจิตดวงไหนมันภาวนาเป็น มันก็เหมือนกับผู้ใหญ่ที่ทำงานเป็น พอทำงานเป็น ถ้ามันไม่ทำงานมันขี้เกียจ เราก็ต้องคอยกระตุ้น

แต่ถ้าเด็กมันยังทำงานไม่เป็นนะ ก็บอกว่าให้เด็กนี่เลี้ยงตัวเองให้ดีนะ โตขึ้นมาจะเป็นผู้ใหญ่นะ.. คนภาวนาไม่เป็น จิตมันยังสร้างตัวเองไม่ได้นี่จะไปวิปัสสนาอะไร เราจะไปใช้ให้เด็กไปแบกไม้นะ เด็กเสียเลย

ครูบาอาจารย์ ถ้าเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาท่านจะอย่างนี้แหละ ถ้าคนไหนยังภาวนาไม่เข้าที่เข้าทาง หรือภาวนายังไม่มีพื้นฐาน ท่านก็พยายามจะให้มันพยายามรักษาตัวเองขึ้นมา ให้แข็งแรงขึ้นมา แต่ถ้าแข็งแรงขึ้นมาแล้ว ออกทำงานไปเราค่อยแก้ไขไป ค่อยแก้ไขไป.. ฉะนั้นถ้าพูดถึงพระภาวนาเป็นท่านจะจี้มากเลย จี้มาก แต่ถ้าพระองค์ไหนยังภาวนาไม่ได้ท่านก็ดูแลของท่าน ดูแลให้มันเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา นี่ครูบาอาจารย์ท่านจะมีของท่านนะ

นี่พูดถึงว่าเวลาจิตมันเกิดไง จิตที่อำนาจวาสนามันเกิดมาเป็นอย่างไรๆ แต่นี้คำถามนี้มันถามว่าจะรู้ได้อย่างไร จะอะไรนี่ แล้วเป็นคำว่าสมมุติซะด้วยนะ.. ว่าสมมุตินี่ เพราะเรื่องนี้นะเรื่องกรรมนี่เป็นเรื่องอจินไตย คือว่ามันเกิดมาชาติใด กรรมชาติใดลึกลับซับซ้อนมา แต่มันแสดงเอาชาตินี้

มันมีอยู่ในธรรมบท ที่ว่าแม่ชี.. ภิกษุณีหรือแม่ชี แล้วเวลาพระไปบิณฑบาตที่หมู่บ้านนั้นเขาจะรู้วาระจิต เขาจะเลี้ยงดูดีมากเลย ฉะนั้นเขาก็ร่ำลือว่ามีพระองค์หนึ่ง.. อยู่ในธรรมบทนะ ธรรมบทนี่คืออธิบายพระไตรปิฎก.. เขาก็อยากไป พอไปแล้วนี่คิดอะไรปั๊บ อยากทำอะไรปั๊บนี่รู้หมดนะ พอใจคิดจะกินอะไรนี่แม่ชีทำให้หมดเลย ก็อาย พออายก็กลับไป พระพุทธเจ้าบังคับให้ไปอีก พอไปอีกทีนี้ก็เริ่มสำรวมระวัง แม่ชีนั้นคิดอย่างไรก็ทำไง พยายามรักษาแบบว่าอุปัฏฐาก อุปัฏฐากดีมาก แล้วมีคำแนะนำด้วย จนสุดท้ายพระองค์นี้สำเร็จเป็นพระอรหันต์

พอสำเร็จเป็นพระอรหันต์นะก็ระลึกถึงคุณของแม่ชีนี้มาก แม่ชีนี้เขามีคุณกับเรามาก เห็นไหม อุปัฏฐากดูแลรักษา แล้วยังคอยแนะนำจนเป็นพระอรหันต์เลย เขาต้องมีคุณกับเรามาก ก็อยากจะทดแทนคุณนะก็กำหนดจิตดู ดูอดีตชาติ.. ชาติที่หนึ่งก็โดนแม่ชีฆ่า ชาติที่สองก็โดนแม่ชีฆ่า ชาติที่สามก็โดนแม่ชีฆ่า จนไปถึงชาติที่ ๙๙ ก็ยังโดนแม่ชีฆ่า เสียใจมาก แม่ชีรู้วาระจิตนะ บอกเลยนะบอกว่าขอให้ท่านย้อนอีกชาติหนึ่ง ไปดูที่ชาติที่ ๑๐๐ นะเป็นคนฆ่าแม่ชี.. เพราะฆ่าแม่ชีมาก่อน พอฆ่าแม่ชีมาก่อน แม่ชีมีอาฆาตกลับมาฆ่า ฆ่ามาอีก ๙๙ ชาติ แล้วพอมาชาติสุดท้ายแม่ชีสำเร็จไปก่อนนะ แม่ชีสำเร็จไปก่อนแล้วพระองค์นั้นสำเร็จตาม

นี้พูดถึงเวลาย้อนกลับไป ย้อนกลับไปนี่มันย้อนกลับไปที่ไหน ฉะนั้นสิ่งนี้มันเป็นผลของวัฏฏะ ฉะนั้นเรื่องของกรรมนี่เป็นเรื่องของอจินไตย ที่ว่าสมมุติว่าเราจะรู้ไหม จะรู้สิ่งใดไหมนี่ จะถามว่ารู้แล้วเอ็งได้อะไร รู้ไปทำไม..

แต่ถ้ารู้ปัจจุบันนี้ รู้ว่ากูไม่มีสติ รู้ว่าภาวนายังไม่เป็น เออ.. อย่างนี้ดี ! รู้ปัจจุบัน อย่างนี้รู้เป็นประโยชน์เลยเพราะเรายังมีสติอยู่ แล้วรู้ไหมว่าตอนนี้เรายังขาดสติ รู้ไหมว่าตอนนี้เรื่องตัวเองไม่อยากรู้จัก อยากจะไปรู้เรื่องอดีตชาติ อยากจะไปรู้เรื่องคนอื่น นี่มันรู้ไปข้างนอก

ฉะนั้นให้รู้ปัจจุบันนี้ ! เรื่องอย่างนี้นะเอาปัจจุบัน พอปัจจุบันเราเป็นอย่างนี้แล้วนี่เราเอาตรงนี้ ฉะนั้นสิ่งที่ว่ามันเป็นอย่างไร มันเป็นอย่างไร มันมีที่มาที่ไปของมันทั้งหมด

พระพุทธเจ้าบอกว่าโลกนี้นะมันมีเหตุมีผล.. เพราะมันมีเหตุมีผลของมัน ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว มันเป็นหลักความจริง ฉะนั้นสิ่งที่เราเป็นปัจจุบันนี้

๑. เราเป็นมนุษย์

๒. เราเจอพุทธศาสนา

๓. เรามีเชาว์ปัญญาอย่างนี้.. อันนี้มีค่าที่สุดแล้ว !

ไอ้เรื่องที่ว่าชาติที่แล้วเป็นอะไร ชาตินี้เป็นอะไรนะ เพราะชาติที่แล้วเป็นอะไรมันถึงส่งมาอยู่นี่ไง ส่งมานั่งอยู่นี่ไง ส่งมาให้เรามีปัญญาอย่างนี้ไง ถ้ามันส่งมาให้มีปัญญาอย่างนี้ มันเหมือนกับเรามีอำนาจวาสนาแล้วล่ะ..

เพราะว่าถ้าพูดถึงนะ เราจะบอกว่าสัตว์บางตัวนี่มีค่ามากนะ เขากินอาหารนะ อยู่ห้องแอร์ดีกว่าเรานะ เขามีโอกาสปฏิบัติกับเราไหม ไปดูสัตว์สิ สัตว์บางตัวราคามันแพงมาก แล้วอาหารมันดีกว่าเราหลายเท่ามาก แล้วต้องอยู่ในห้องแอร์ อยู่ในห้องแอร์ อยู่ความร้อนไม่ได้เลย แล้วมันได้อะไรล่ะ มันก็เป็นแค่สัตว์ที่เขาเอามาเพื่อเป็นประโยชน์กับเขา

ชีวิตของเรานี่ถึงเราจะทุกข์จะยากนะเรามีสติปัญญา เรามีโอกาส อันนี้สำคัญกว่าเยอะเลย ฉะนั้นเราไปมองกัน เห็นไหม มองว่าเราเกิดมาต้องสุขสบาย.. สัตว์เนาะ ! เพราะเราดูอยู่สัตว์บางตัวนี่อู้ฮู.. อยู่ห้องแอร์นะ อาหารของเขา อาหารสัตว์นี่ราคาแพงกว่าเรากินอีก แล้วมันก็เป็นแค่สัตว์.. สัตว์เดรัจฉาน ทำดีทำชั่วได้ แต่บรรลุมรรคผลนิพพานไม่ได้ แต่เราเป็นมนุษย์เรามีโอกาสจะบรรลุมรรคผลนิพพาน

ฉะนั้นอ่านคำถามอีกทีหนึ่ง “สมมุติว่า นาย ก. ตายลง ดวงวิญญาณออกจากร่างแล้ว ดวงวิญญาณจะรู้ว่าเคยเกิดเป็น นาย ก. และชาติอื่นๆ ก่อนหน้านี้ของ นาย ก. ด้วย หรือรู้เพียงว่าเกิดเป็น นาย ก. เท่านั้น หรือไม่รู้เลยว่าเคยเกิดเป็นอะไรมาบ้าง”

นี่อย่างที่ว่า “รู้เพียงเกิดเป็น นาย ก. เท่านั้น” กรณีนี้ในพระไตรปิฎกบอกว่า พระบางองค์ระลึกอดีตชาติได้ ๑ ชาติ ชาติ นาย ก. ชาติต่อไปไม่รู้ พระบางองค์ได้ ๑๐ ชาติ ได้ ๒๐ ชาติ ๓๐ ชาติ แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าระลึกได้ไม่มีต้นไม่มีปลายเลย อันนี้มันอยู่ที่วาสนานะ บางคนระลึกได้ไม่กี่ชาติ บางคนระลึกได้มาก แต่ระลึกไม่ระลึกนี้มันก็เป็นแค่ เหมือนเราจำเมื่อวานนี้ได้เท่านั้นเอง

ระลึกอดีตชาติได้หรือระลึกอดีตชาติไม่ได้ เราจะบอกว่ามันไม่มีผลกับมรรคผลเลย มันไม่มีผลกับการปฏิบัติ ไม่มีผลกับอริยสัจ ไม่มีผลกับมรรค ๘ เลย ไม่เกี่ยวกัน ไม่เกี่ยวกันเลย ! มรรคคือมรรค.. ระลึกอดีตชาตินี่คนละเรื่องกัน ไม่เกี่ยวกัน ! เหมือนนิสัยเรา นิสัยจะดีหรือจะนิสัยไม่ดี แต่เอ็งทำดีหรือเปล่า

การทำดีนั้นคือมรรค คือสัมมาทิฏฐิ ! การทำชั่วคือมิจฉาทิฏฐิ คือความเห็นผิด ! มรรคมันอยู่ที่นั่นอยู่ที่การกระทำของเรา ไม่เกี่ยวกับตรงนี้เลย..

“หรือไม่รู้เลยว่าเคยเกิดเป็นอะไรมาบ้าง” หรือไม่รู้เลยนี้ไม่มีนะ พระอรหันต์นี่ต้องรู้หมด อย่างเช่นสมมุติว่าใครก็แล้วแต่จะเป็นพระอรหันต์อยู่นี่ ยังสงสัยว่าอดีตชาติเป็นอะไร เอ็งจะเป็นพระอรหันต์ได้หรือเปล่า (หัวเราะ) เพราะพระอรหันต์ไม่มีความสงสัยนะ

สมมุติว่าคนๆ หนึ่งกำลังจะเป็นพระอรหันต์ แต่ยังสงสัยอยู่ว่าชาติที่แล้วเป็นอะไรอยู่นี่ไม่ได้เป็นพระอรหันต์เด็ดขาด เพราะมันยังสงสัยตรงนั้น สงสัยว่าชาติที่แล้วเป็นอะไรมันเลยไม่ได้เป็นพระอรหันต์ แต่ถ้าพอพระอรหันต์ถอนอวิชชาหมดปั๊บ.. ไม่มีความสงสัยอะไรเลย เพราะอะไร เพราะการถอนอวิชชาออกจากใจนั่นล่ะ มรรคญาณอันนั้นล่ะเห็นไหม ที่ว่าพระอรหันต์เถียงกันที่ไปหาพระพุทธเจ้า ว่าคนนั้นเก่งทางนั้น คนนี้เก่งทางนี้ พระพุทธเจ้าบอกว่า

“อาสวักขยญาณดีที่สุด !”

อาสวักขยญาณคือการถอนกิเลสนั้นดีที่สุด เพราะพอพระอรหันต์ถอนกิเลสปั๊บนะ มันไม่สงสัยอดีตชาติแล้วเพราะมันถอนอวิชชาหมด ถอนความลังเลสงสัยทั้งหมด มันไม่สงสัยอะไรเลย ไม่สงสัยว่าอดีตชาติเป็นอะไรแล้ว เพราะเดี๋ยวนี้มันถอนหมดแล้ว

นี้ถ้าเป็นพระอรหันต์นะ.. ฉะนั้นเราถึงบอกว่า แต่ถ้ามันมีคุณสมบัติที่ว่ารู้ได้กี่ชาติๆ นั่นอีกประเภทหนึ่ง.. พระอรหันต์นี่ คุณสมบัติของพระอรหันต์เหมือนกันหมด คือสะอาดบริสุทธิ์เหมือนกัน ถอนกิเลสเหมือนกัน แต่บารมีที่สร้างมา พันธุกรรมที่สร้างมา ที่ว่ารู้ได้มากรู้ได้น้อยนั่นอีกเรื่องหนึ่ง

อย่างเช่นพระพุทธเจ้านี่สุดยอดเลย พระปัจเจกพุทธเจ้ารองลงมา อัครสาวกอย่างพระสารีบุตร เห็นไหม พระสารีบุตรนี่พระพุทธเจ้าชมมากว่าถ้าเราเทศน์เราก็เทศน์แบบพระสารีบุตร ถ้าเราเทศน์เราก็เทศน์แบบพระสารีบุตร เพราะพระสารีบุตรนี้เป็นผู้ที่ว่ามีปัญญาเลิศที่สุดในพุทธศาสนา แล้วพระปุณณมันตานีบุตรนี้ก็เป็นเลิศในการเทศนาว่าการ พระอานนท์ก็เป็นเลิศ ๕ ทาง เป็นผู้เป็นพหูสูต เป็นผู้อุปัฏฐากพระพุทธเจ้า เลิศถึง ๕ ทางพระอานนท์

นี้คือคุณสมบัติ เห็นไหม นี่คุณสมบัติ อย่างเช่นพระอัญญาโกณฑัญญะ นี่เป็นพี่ชายคนแรก เป็นสงฆ์องค์แรกของโลกเลย สอนพระปุณณมันตานีบุตร ที่เป็นหลานนะ แล้วเข้าป่าไปเลย ไม่ได้สอนใครเลย อยู่ป่าจนมาลาพระพุทธเจ้านิพพานเลย.. สงฆ์องค์แรกของโลก

นี่มันอยู่ที่การสร้างมาของคน ฉะนั้นว่าจะรู้อะไรหรือไม่รู้อะไรนี่มันเป็นเรื่อง.. เพราะถ้าคนมีความรู้อย่างนี้นะ มีความสงสัยอย่างนี้ ทางโลกเขาจัดฉาก แล้วเขาทำเขาสร้างภาพให้เราไปเชื่อเขาหมดเลย แต่ถ้ามันเป็นอริยสัจแล้วมันเหมือนกับค่าของอุณหภูมิ.. อุณหภูมินี่ ค่าของอุณหภูมิคือความร้อน อุณหภูมิถึงจุดเดือดก็คือจุดเดือด ถ้าถึงจุดเยือกแข็งมันก็แข็ง

นี่ก็เหมือนกัน มรรคญาณนี่มันเหมือนกับค่าของอุณหภูมิ มันวัดได้หมด แต่ถ้าเป็นอย่างนี้ปั๊บ ไอ้เรื่องกี่ชาติๆ นี่มันหลอกกินกันได้ แต่นี้ครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็น ท่านเอาไปเป็นประโยชน์เพื่อการสั่งสอน ฉะนั้นไม่ให้สงสัยเรื่องนี้ ให้ขยันเดินจงกรม ให้ขยันตั้งสติ ขยันนั่งสมาธิ ภาวนา เดี๋ยวจะรู้ขึ้นมาได้เอง.. รู้ขึ้นมาได้เอง ทุกอย่างเราจะแก้ไขได้ เราจะรู้ได้ด้วยความเห็นของเรา แต่ถ้าเป็นการส่งออก เป็นอภิญญานี่มันเป็นเรื่องธรรมะเก่าแก่ โลกธรรม ๘ มีอยู่โดยดั้งเดิม

โลกธรรม ๘ ! เราพยายามจะถอน เราพยายามจะพ้นจากโลกธรรม ๘ มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ สรรเสริญนินทา นี่เรื่องของกรรมมันให้ผลอยู่แล้ว.. ตั้งสติของเรา เพื่อประโยชน์ของเรา เอวัง