ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

การนั่งสมาธิ

๙ ม.ค. ๒๕๕๔

 

การนั่งสมาธิ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๙ มกราคม ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

คำถามนี้มันเป็นคำถามพื้นๆ แต่ถ้าพูดถึงนะมันมีอยู่ทุกคนไง มันมีอยู่ทุกคนแล้วมันเข้าใจได้ทุกคน แต่ถ้าคนไม่เข้าใจได้มันก็งง

ถาม : ๓๐๙. เรื่อง “ฟังหลวงพ่อพูดถึงความตาย น้ำตาไหลออกมาทั้งๆ ที่จิตสงบอยู่ เป็นเพราะอะไรเจ้าคะ”

นมัสการหลวงพ่อเจ้าค่ะ หนูนั่งสมาธิฟังธรรมของหลวงพ่อทางอินเตอร์เน็ต เมื่อได้ฟังหลวงพ่อพูดถึงความตาย น้ำตาไหลออกมาทั้งๆ ที่จิตยังสงบ แต่น้ำตาไหลมันไหลช่วงสั้นๆ เป็นอย่างนี้ถึง ๓ ครั้ง แม้หนูได้เปลี่ยนหัวข้อเทศนาใหม่ พอได้ยินหลวงพ่อพูดถึงความตาย น้ำตาก็ไหลออกมาอีก มันเป็นเพราะอะไรเจ้าคะ

หลวงพ่อ : นี่เวลาน้ำตาไหล เห็นไหม พอเรานั่งสมาธิกัน ถ้าเกิดปีตินะน้ำตาไหลก็ได้ บางคนนั่งสมาธิไปเกิดปีติไม่ใช่น้ำตาไหล มันเกิดอาการขนพองสยองเกล้า มันเกิดอาการตัวพอง เกิดต่างๆ เห็นไหม

อันนี้เกิดปีติ.. วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ องค์ของฌาน ! องค์ของฌานนี้อยู่ในพระไตรปิฎก แล้วองค์ของสมาธิล่ะ องค์ของสมาธินะถ้าจิตมันมีการเปลี่ยนแปลง มันจะมีการกระทบกระเทือน การกระทบกระเทือนหมายถึงว่ามันมีความรู้สึกไง มันมีความรู้สึกอาการกระทบ เพราะมีการกระทบปั๊บมันก็จะเกิดปฏิกิริยา ทีนี้คำว่าเกิดปฏิกิริยา น้ำตามันไหลนี่ แล้วเวลาเราฟังธรรมแล้วน้ำตาไหลใช่ไหม เวลาเราเกิดปีติน้ำตาไหล เวลาเราทุกข์ล่ะ

เวลาเราทุกข์ เราขุ่นแค้นใจ ใจเรากระทบถึงความทุกข์ ความเหยียบย่ำใจ อันนั้นก็เกิดการกระทบ แต่การกระทบในทางลบ กระทบแล้วมันมีความเจ็บปวด กระทบแล้วมันมีความเสียใจ แต่นี้เวลากระทบ เห็นไหม พอกระทบแล้วนี่ กระทบแล้วเราสะเทือนใจไง

นี่เวลาฟัง ถ้าคนโดยทั่วไป ทั่วไปหมายถึงว่าเราเป็นวิทยาศาสตร์ เราเป็นปัญญาชนนะ บอกว่าเราคิดถึงความตายคือการเสียหายไง พอเราคิดถึงความตาย ความตายคือการเสียเปรียบ ความตายคือการพลัดพราก มันก็เลยเป็นความทุกข์ไง แต่ความจริงคำว่าความตายมันไปกระเทือนหัวใจไง เพราะพวกเรามองข้ามตรงนี้ไง

เวลากรรมฐาน ๔๐ ห้อง.. พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ มรณานุสติ.. มรณานุสติ เห็นไหม เวลาระลึกถึงความตาย ฉะนั้นพูดถึงความตาย ทางโลกเขาไม่ค่อยพูดกัน เขาพูดถึงแต่การเจริญรุ่งเรือง การมั่นคง โลกเขาชอบพูดกันอย่างนั้น แล้วเราก็เชื่อมั่นว่าชีวิตเราจะมั่นคง เราจะมีความมั่นคงในชีวิต เราจะมีแต่ความสุขไง เราก็เลยคิดว่ามันจะไม่มีวันจบ พอไม่มีวันจบปั๊บเราก็จะหลงระเริงไปกับชีวิต ถ้าเราหลงระเริงไปกับชีวิตมันก็คือเป็นการประมาทไง

เราประมาทโดยไม่รู้ตัวไง เราคิดว่าเราไม่ได้ประมาทหรอก นั่นคือประมาทแล้วนะ เช่นขับรถ ถ้าขับรถนี่เราควบคุมรถที่ดี รถนั้นอุบัติเหตุจะเกิดได้น้อยมาก แต่มันก็ยังมีได้ ไม่ใช่ว่ามันจะไม่เกิดอุบัติเหตุเลย รถถ้าเราควบคุมได้ดีอุบัติเหตุจะเกิดได้น้อยมาก.. นี่ถ้าเรานึกถึงความตาย เราควบคุมชีวิตของเรานี่ เห็นไหม สิ่งที่มันจะทำออกไปนอกลู่นอกทางมันจะน้อยมากถ้าคิดถึงความตาย

ฉะนั้นมรณานุสตินี้มันถึงเป็นกรรมฐานห้องหนึ่งเลย ฉะนั้นพอเวลาฟังธรรมๆ เห็นไหม พอฟังธรรมทางอินเตอร์เน็ต พอหลวงพ่อพูดถึงความตายนี่น้ำตามันไหลพราก ไหลพรากเลย ทั้งๆ ที่จิตสงบอยู่.. ทั้งๆ ที่จิตสงบอยู่นะ ! ถ้าจิตไม่สงบจะไม่มีอารมณ์อย่างนี้ จิตไม่สงบจะไม่มีอารมณ์อย่างนี้ ! เพราะว่าถ้าจิตไม่สงบนี่มันเป็นอารมณ์สามัญสำนึก อารมณ์ที่พื้นฐานนี่

ดูสิถ้าเด็กหรือพวกเรานี่ เราไม่มีความฝักใฝ่ในธรรมะเลย เขาพูดธรรมะทุกวันนะ เรานี่พูดอยู่บ่อย เวลาโยมมาหานะ พอเขามานั่งฟังจนพูดจบแล้ว อืม.. หลวงพ่อยังไม่เห็นเทศน์อะไรเลยนะ หลวงพ่อเมื่อไรจะเทศน์ซะทีล่ะ พูดอยู่นี่เขาว่าไม่ได้เทศน์นะ นี่เวลาจิตใจมันเป็นปกติ แต่ถ้าเป็นจิตใจคนที่เป็นธรรมนะ พอพูดสิ่งใดนะมันสะเทือนใจแล้ว มันสะเทือนใจแล้ว

ก็เทศน์อยู่แล้ว ! แต่จิตใจของคนมันบอกยังไม่ได้เทศน์ซะที เพราะมันฟังเทศน์ไม่เป็น มันฟังเทศน์ไม่ออก นี่จิตใจของคนมันเป็นสามัญสำนึก เห็นไหม มันฟังเทศน์ไม่เป็น มันฟังเทศน์ไม่รู้หรอก ก็คำว่าเทศน์ก็ต้องนะโม ตัสสะ

นั่นก็พูดเหมือนกัน แต่เขาตั้งท่าตั้งทางขึ้นมาเขาว่าเป็นเทศน์ แต่เวลาพูดถึงเหตุผล ธรรมะคือเหตุและผล คือการเตือนด้วยเหตุและผล ธรรมะ นี่แสดงธรรมแล้วล่ะ แสดงธรรมโดยที่ไม่ต้องขึ้นนะโม แต่แสดงธรรมแล้ว แต่ไอ้พวกที่ฟังทั่วไปนะก็ว่า เมื่อไรจะตั้งนะโมซะทีเนาะจะได้ฟังเทศน์ ไอ้ที่ฟังอยู่นี้มันเป็นภาษาคนพูด คนพูดได้พูด เห็นไหม

เวลาหลวงตาท่านพูดอย่างนี้นะพูดถึงว่า

“เสียงของธรรม เป็นเสียงเหมือนกัน แต่มีเนื้อหาสาระ มีข้อเท็จจริงในเสียงนั้น แต่ถ้าเสียงของโลก.. เสียงของโลกนะมันเป็นเสียงเหมือนกัน แต่เสียงนั้นมาพร้อมกับมารยาสาไถย มาพร้อมกับการที่ว่าต้องการผลประโยชน์ต่อกัน”

มันไม่ได้พูดแบบธรรม เห็นไหม ถ้าพูดแบบธรรม มันออกมานี่มันมีธรรม ธรรมคือความรู้สึกอันนั้นมันออกมาด้วย

หลวงตาท่านพูดบ่อย “คนที่มีธรรมนะ จะพูดปกปิดขนาดไหนพูดให้มันเป็นโลกอย่างไรนะ มันก็มีออกมากับเสียงนั้น” ไอ้คนไม่มีนะ จะแสดงธรรมนิพพานๆ นะ มันก็พานดอกไม้ มันไม่มีหรอก นิพพานไม่มีหรอกมีแต่พานดอกไม้ เพราะมันไม่รู้ว่านิพพานคืออะไรไง

เพราะนิพพานนี้ก็เป็นสมมุติอันหนึ่งนะ สมมุติว่านิพพาน สมมุติว่าให้มันมาคุยกันได้ นี้พอสมมุติปั๊บคนที่ไม่เข้าใจมันก็เอานิพพานมาวิจัยแล้ว นิพพานต้องเป็นอย่างนั้นๆๆ มันก็อธิบายเลยนะ นิพพานต้องเป็นอย่างนั้นเลยนะ นี่ถ้าพานดอกไม้มันมีพานพลาสติก พานทองเหลือง พานมันก็ว่ากันไปนะ นิพพานเป็นอย่างนั้น ไอ้คนฟังก็.. เพราะคนฟังเคยเห็นใช่ไหมเห็นพานดอกไม้ เออ.. ถ้าพานอย่างนี้เข้าใจได้

นี่เราจะบอกว่าถ้านิพพานของสามัญสำนึก นิพพานของโลก เวลาอธิบายไปนี่ไอ้คนฟังเข้าใจได้นะ อ๋อ.. นิพพานเป็นอย่างนั้นๆ เพราะมันเห็นภาพ เพราะอะไร เพราะมันเป็นเรื่องโลกๆ เหมือนกันหมด แต่ถ้าเป็นนิพพานจริงๆ นะ ที่ออกมาจากเสียงนะ นิพพานคือความพ้นออกไปจากโลก ! อ้าปากก็ผิดหมด นิพพานคือเม้มปากแน่นๆ แล้วนั่งลง อธิบายมาเป็นสมมุติหมดเพราะเป็นภาษาพูด

แต่ทีนี้ในการสั่งสอน ในสังคมของกรรมฐานเรามันก็ต้องมีเป้าหมายใช่ไหม พอมีเป้าหมายนี่ ถ้าพูดถึงนิพพานของหลวงตา นิพพานของครูบาอาจารย์ของเราจริง นิพพานนี่พ้นไปจากสามโลกธาตุ นี่พ้นออกไปจากวัฏฏะ พ้นออกจากการคาดหมาย พ้นออกจากจินตนาการทั้งหมด ทีนี้พอพ้นออกไปแล้ว คนที่เขาเป็นจริงเพราะเขาอยู่กับสิ่งนั้นใช่ไหม ถ้าเขาอยู่กับสิ่งนั้นเขาก็อธิบายสิ่งนั้นด้วยการเปรียบเทียบ ด้วยการเปรียบเทียบไง

ถ้าคนจริงเขาจะเปรียบเทียบออกมานี่ฟังอย่างไรก็เข้าใจ ฟังอย่างไรก็ แหม.. มันมีความดูดดื่มนะ แต่ถ้าคนมันไม่เป็นมันอยู่ในสมมุติไง เพราะคำว่านิพพานคือพานดอกไม้หรือพานต่างๆ เขาเอาออกมาเป็นนิยาย เห็นไหม ออกมาด้วยสามัญสำนึกใช่ไหม เพราะเอาออกมาขยายความใช่ไหม ไอ้พวกเรามันก็.. ประสาเราว่านะมันก็เหยื่ออยู่แล้ว ไอ้พวกเราก็แพลงตอน เป็นเหยื่อของปลาอยู่แล้ว พอเขาพูดถึงนิพพานนี่โอ้โฮ.. จินตนาการได้เลย อู้ฮู.. สุดยอด สุดยอด

นี่พูดถึงนิพพาน เพราะคำว่านิพพานก็คือสมมุติ แต่สมมุติมันมีเป้าหมาย สมมุติไม่ใช่ตัวมันนะ เพราะสมมุติว่านิพพานปั๊บนิพพานก็ชี้ออกไปนอกสมมุติ คำว่านิพพานนี่ชี้ออกไปนอกสมมุติ เพียงแต่ว่ามันเป็นสื่อที่เราจะคุยกันได้ แต่นี้พอคนที่มันไม่เป็น พอบอกว่านิพพานนี่มันต้องอธิบายให้ได้ใช่ไหม มันจะต้องขยายความแล้ว นั้นก็เลยเป็นนิยายแล้ว พอเป็นนิยายปั๊บ พวกเราใจเราก็เป็นนิยายอยู่แล้ว เพราะว่ามันเป็นตรรกะที่โลกเข้าใจได้

ฉะนั้นพอเราฟังธรรมอย่างนั้นพวกเราจะฟังแล้วซาบซึ้งมาก แต่ถ้าฟังธรรมกรรมฐาน ฟังธรรมของครูบาอาจารย์ ยิ่งฟังยิ่งงงนะ เพราะหลวงตาท่านเคยพูดบ่อย เมื่อก่อนนะเวลาลูกศิษย์ท่าน ท่านบอกว่าคนนี้ฟังธรรมเป็น คนนี้ฟังธรรมไม่เป็น.. คนฟังธรรมเป็นหมายถึงว่าฟังแล้วเข้าใจได้ คนฟังธรรมเป็น ฟังธรรมพระป่ามันจะฟังแล้ว อ๋อ ! อ๋อ ! แต่ถ้าฟังไม่เป็นนะ ฟังเหมือนกันนี่แหละแต่ฟังไม่เป็น ฟังไม่เป็นคือฟังไม่รู้เรื่องไง

ถ้าฟังธรรมเป็นนะ นี่เวลาเทศน์เราก็เทศน์ไป เห็นไหม นี่เวลา.. หลวงตาอีกแล้ว อ้างหลวงตา หลวงตาท่านบอกว่าตอนท่านเรียนอยู่ ท่านเคยฟังเทศน์ของสมเด็จทุกองค์เลย เพราะท่านอยู่กรุงเทพฯ ท่านฟังเทศน์สมเด็จ เจ้าฟ้าเจ้าคุณนี่ฟังรู้เรื่องหมดเลย พอเริ่มออกบวชไปอยู่กับหลวงปู่มั่นครั้งแรก หลวงปู่มั่นเทศน์ออกมานี่ท่านฟังไม่รู้เรื่องเลย แล้วท่านก็พูดกับตัวท่านเองนะคนที่มีปัญญาจะเป็นอย่างนี้ คนถ้าไม่มีปัญญานะจะโทษคนอื่นหมดเลย แต่ถ้าคนมีปัญญาจะโทษตัวเราหมดเลย จะโทษตัวเราเพื่อความบกพร่อง ความดีงามของตัวเรา

พูดกับตัวเองนะ “ฟังเทศน์เจ้าฟ้าเจ้าคุณ สมเด็จก็ฟังมาหมดแล้ว เข้าใจหมดเลย วันนี้มาฟังเทศน์ของหลวงปู่มั่น ทำไมเราฟังไม่รู้เรื่อง ! ทำไมเราฟังไม่รู้เรื่อง ! ถ้าเราฟังไม่รู้เรื่องนี่เรามีวุฒิภาวะขนาดไหน เรามีความรู้ขนาดไหน ต้องปรับ” เห็นไหม ปรับ !

นี่ฟังคำนี้นะมันจะเตือนเราเลยว่าเวลาเทศน์ทั่วๆ ไปที่เราเข้าใจๆ ถ้าเราเข้าใจได้ง่ายๆ นะ ถ้าใจเรายังพื้นๆ อยู่ ยังไม่เข้าใจเรื่องธรรมะนะ นั่นคือนิยาย นิยายธรรมะหมดเลย เพราะขยายความไง นี่ในธรรมบทก็จากพระไตรปิฎกแล้วขยายความว่าสมัยนั้นพระพุทธเจ้าทำอย่างนั้นๆๆ คือขยายความ ใครขยายความ ใครแต่งนิทานได้ดีกว่ากัน เขาก็ให้คะแนนนะ สอบผ่าน ! สอบผ่าน ! แล้วก็เอามาเป็นคติ เราก็ไปอ่านกันไง อ่านว่าเป็นคติเตือนใจเราไง แต่ถ้าเรามาปฏิบัติของเรานะมันไม่เป็นอย่างนั้นเลย มันคนละเรื่องเลย

นี้มันคนละเรื่อง เห็นไหม ทีนี้จิตที่มันเป็นธรรม พอจิตเป็นธรรมนี่ย้อนกลับมา กลับมาที่ว่า “ทำไมเราถึงน้ำตาไหล” ถ้าน้ำตาไหลนี่เพราะจิตมันสงบมันถึงน้ำตาไหล ถ้าจิตไม่สงบนะมันก็เหมือนคนที่ฟังธรรมไม่รู้เรื่อง คนฟังธรรมไม่รู้นะ ฟังไปแล้วมันไม่กระเทือนหัวใจไง ถ้าไม่กระเทือนหัวใจมันก็ไม่เกิดปฏิกิริยา

คำว่าน้ำตาไหล ขนพองสยองเกล้า คำว่าปีตินี่นะ ดูสิเวลาคนโกรธ เห็นไหม เลือดมันสูบฉีดเพราะอะไรล่ะ เพราะมันเกิดปฏิกิริยาการกระทำ นี่สารมันหลั่งออกมา เพราะมันเกิดความรู้สึกใช่ไหม

จิตก็เหมือนกัน ! จิตเวลามันฟังถึงมรณานุสติ เห็นไหม พูดถึงความตายๆ นี่มันกระเทือนตัวมัน ถ้ามันไม่กระเทือนตัวมันน้ำตามันไหลมาได้อย่างไร น้ำตาไหลก็เพราะมันสะเทือนตัวมัน แต่ถ้าจิตไม่สงบนะมันไม่สะเทือนไง มันเข้าหูซ้ายทะลุหูขวาไง มันผ่านไปเฉยๆ ไง มันฟังแล้วผ่านไปมันไม่ดูดดื่ม แต่ถ้ามันดูดดื่ม นี่เริ่มฟังธรรมเป็น.. ฟังธรรมเป็นคือฟังคนชี้นำเท่านั้นนะ ยังภาวนาไม่เป็น !

ฟังธรรมเป็น แล้วภาวนาเป็นอีกคนละเรื่องเลย.. ฟังธรรมเป็นคือฟังแล้วมันเตือนเราไง เตือนให้เรามีสติ เตือนให้เรา.. คำว่ามีสตินะ ทุกคนก็ต้องมีหน้าที่การงาน พระเรา งานของพระ เห็นไหม งานของพระคือการเดินจงกรม นั่งสมาธิ ภาวนา แต่ในเมื่อพระเราบวชแล้วอยู่ในโลกก็ต้องบิณฑบาต เพราะเลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง มันต้องมีอาหารเลี้ยงชีวิต

ทีนี้มีอาหารเลี้ยงชีวิต เห็นไหม เวลาเราเลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง เราออกบิณฑบาต พระพุทธเจ้าถึงวางธรรมวินัยไว้นี่สุดยอดมากเลย เพราะพระพุทธเจ้าวางธรรมไว้ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกานี่ดำรงชีวิตอยู่ด้วยกันด้วยการค้ำจุนกัน ! การค้ำจุนด้วยความเป็นนักปราชญ์ เพราะ ภิกษุ อุบาสก อุบาสิกาทำมาหากินนี่ สมัยโบราณเราไม่ได้ซื้อข้าวถุงกันนะ ทุกบ้านต้องหุงข้าวหมดล่ะ พอหุงข้าวขึ้นมานี่เราต้องกินอาหารใช่ไหม ข้าวปากหม้อเราก็ตักใส่บาตรไปให้ผู้ทรงศีล เห็นไหม นี่มันค้ำจุนกันไง

ธรรมและวินัยนี่ค้ำจุนสังคมนะ สังคมชาวพุทธมันจะค้ำจุนกันโดยธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่วางไว้ ฉะนั้นความค้ำจุนกันนั่นล่ะเลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง เห็นไหม นี่อุบาสก อุบาสิกาเขาก็ทำหน้าที่การงานของเขามา เขาเหนื่อยยากของเขามา สิ่งที่เขาเหนื่อยยากของเขามานี่

ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า ทำมาหากินนะ ได้เงินมาบาทหนึ่ง เก็บไว้เป็นทุนสำรอง ๑ สลึง เลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ ๑ สลึง เก็บไว้ยามเจ็บไข้ได้ป่วย ๑ สลึงใช่ไหม อีก ๑ สลึงนั้นฝังดินไว้

ในการทำบุญของพระพุทธเจ้าสอนไว้ อีก ๑ สลึงฝังดินไว้ ฝังดินไว้คือนี่ไงทำบุญกุศล ฝังดินไว้คือฝังไว้ในธรรมไง ฉะนั้นฝังไว้ในธรรม นี่พอเราทำมาหากิน เห็นไหม สิ่งใดได้มานี่เราฝังดินไว้ คือเสียสละกับผู้ทรงศีล ผู้ทรงศีลบิณฑบาตมาเพื่อเอาสิ่งนั้นดำรงชีวิต นี่ดำรงชีวิต ดำรงชีวิตไปเพื่ออะไร ดำรงชีวิตไปเพื่อประพฤติปฏิบัติ ประพฤติปฏิบัติมาเพื่อให้จิตใจเป็นธรรม ถ้าจิตใจเป็นธรรม ธรรมนั้นกลับมาสั่งสอนเรา

นี่วงจรของมัน พระพุทธเจ้าถึงวางธรรมและวินัยไว้ ถ้าบริษัท ๔ ต่างคนต่างประพฤติหน้าที่ของบริษัท ๔ ด้วยความขาวสะอาด ด้วยความถูกต้องนะ มันจะค้ำจุนกัน มันจะหมุนไป ธรรมะมันจะไป นี่พระพุทธเจ้าวางไว้ ไม่ฝากศาสนาไว้กับใครเลย ฝากศาสนาไว้กับภิกษุให้กับสงฆ์ นี่ฝากไว้ แล้วบริษัท ๔ เห็นไหม

“มารเอย.. เมื่อใดภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาของเรา !” ของเราคือชาวพุทธไง

“ยังไม่แก่กล้า ยังไม่เข้มแข็ง สามารถแก้คำจาบจ้วงของลัทธิต่างๆ ได้ เราจะไม่ยอมนิพพาน”

อยู่อย่างนั้นล่ะ นี่มารมาดลใจตลอด จนสุดท้ายแล้วบอกพระอานนท์ถึง ๑๖ หน พระอานนท์ก็โดนมารดลใจอีก สุดท้ายก็เลยปลงอายุสังขาร พอปลงอายุสังขาร พระอานนท์รู้ก็มาขอ นี่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “มารเอย.. บัดนี้ !” บัดนี้ เห็นไหม ปลงอายุสังขารวันมาฆะบูชา “บัดนี้ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาของเราเข้มแข็ง สามารถ ! สามารถ ! สามารถ ! สามารถกล่าวแก้คำจาบจ้วงของลัทธิต่างๆ ได้”

นี่เวลามีอะไรกระทบกับศาสนา ทางทฤษฏีทางต่างๆ เห็นไหม

“ถ้าภิกษุมีความเข้มแข็ง ภิกษุ ภิกษุณีมีความเข้มแข็ง กล่าวแก้คำจาบจ้วงของลัทธิต่างๆ ได้ อีก ๓ เดือนข้างหน้าเราจะนิพพาน !”

นี่พระพุทธเจ้าวางธรรมและวินัยไว้ อีก ๓ เดือนข้างหน้าเราจะนิพพาน.. แล้วทีนี้เวลามีปัญหาขึ้นมา เวลาเราพูดถึงเรื่องศาสนา นี่คนนู้นก็พูดไม่ได้ คนนี้ก็พูดไม่ได้ เราบอกพูดได้พระพุทธเจ้าสั่งไว้ ! พระพุทธเจ้าสั่งไว้แล้ว พระพุทธเจ้าบอกไว้ สามารถกล่าวแก้คำจาบจ้วง คำที่เขาติฉินนินทา เขาทำลายศาสนา นี่สามารถกล่าวแก้ได้ ถ้าไม่กล่าวแก้นี่พระพุทธเจ้ายังไม่นิพพาน ป่านนี้พระพุทธเจ้ายังอยู่เลยถ้ายังกล่าวกันไม่ได้ แต่เพราะกล่าวได้พระพุทธเจ้าถึงนิพพานไปแล้วไง ก็ให้พวกเรานี่แก้ไขกันไป ฉะนั้นทำไมมันจะกล่าวแก้ไม่ได้

ฉะนั้นว่าทำไมถึงน้ำตาไหล.. เพราะคำนี้นะ น้ำตาไหล นี่น้ำตาไหลหมายถึงว่าจิตใจมันเกิดปีติ จิตใจมันรู้ ทีนี้คำว่าปีติอะไรนั้นก็ไม่เข้าใจไง เพราะคนคิดว่าความตายนี่มันเป็นความไม่ดี เห็นไหม ทำไมถึงน้ำตาไหล ก็คือไม่อยากคิด ไม่อยากคิดถึงตาย นี่ที่ถามคือว่าทำไมถึงคิดถึงความตาย คิดถึงความตายแล้วน้ำตาไหล คือไม่อยากน้ำตาไหล ไม่อยากเกิดความรับรู้อย่างนี้ ถ้าความรับรู้อย่างนี้มันกลับเป็นสิ่งที่ดี แล้วพอรู้ว่าดีปั๊บ อยากได้อีกมันก็ไม่ได้อีกแล้ว

เพราะว่าจิตสงบจิตมันรับรู้ปีติ เห็นไหม เวลาภาวนาไปเกิดปีติ พอเกิดปีตินะ แล้วจะอยู่กับปีติตลอดไปได้ไหม บางคนบอกเมื่อก่อนปีติมันดีมาก เดี๋ยวนี้ทำไมไม่ค่อยมีอารมณ์อย่างนั้น ของสิ่งใดก็แล้วแต่มันเกิดซ้ำๆ มันคุ้นชินแล้วนี่มันจะจางไป แต่มันก็มีของมันอยู่อย่างนั้นแหละ แต่มันก็เป็นจริตนิสัยด้วย เห็นไหม วิตก วิจาร ปีติ.. พอเกิดปีตินะถ้ามันละเอียดเข้าไปจะเป็นความสุข

พอความสุขนี่ ความสุขกับจิตตั้งมั่นต่างกันอย่างไร ความสุขเราติดสุขไง เราติดสุข เราอยู่กับความสุข เห็นไหม พอสุขก็เอกัคคตารมณ์ จิตตั้งมั่นนี่มันพ้นจากสุขมันเป็นพลังงาน พอพลังงานอันนี้ พลังงานอันนี้มันจะออกทำงาน พลังงานอันนี้พอจิตตั้งมั่น จิตตั้งมั่น จิตมีหลักมีเกณฑ์ จิตออกรู้กาย ออกรู้เวทนา ออกรู้จิต ออกรู้ธรรม สติปัฏฐาน ๔ เกิดตรงนั้น เพราะจิตออกพิจารณา เห็นไหม

นี่งานมันจะเกิดขึ้นมันต้องอยู่ที่คนเป็น แล้วคนเป็นจะสอนนะ ถ้าคนไม่เป็นนะ คนไม่เป็นนี่นะ คนไม่เป็นมันพูดเป็นวิทยาศาสตร์ พูดเป็นรูปธรรม แต่จิตนี้เป็นนามธรรม ว่าทำอย่างนั้นสิ ทำอย่างนั้นสิ ทำอย่างนั้นสิ.. ไอ้เราก็คิดตาม คิดตามก็คือการสร้างภาพ พอสร้างภาพขึ้นมาแล้วมันก็เป็นสูตรใช่ไหม ว่าจิตสงบนะ พิจารณากายนะ พอพิจารณากายเสร็จแล้วผ่านกายแล้วเป็นโสดาบันนะ โอ้โฮ.. มันก็ว่ากันไป แต่เป็นจริงไหม.. ไม่จริง ! ไม่จริงหรอก

แล้วเวลาพูดนี่พูดได้ แต่ถ้าคนเป็นนะฟังรู้เลยว่าอันนี้มันเป็นการสร้างภาพ มันไม่เป็นความจริง ถ้าความจริงนะ เวลามันพิจารณากายไปแล้ว ถ้าจิตมันสงบแล้วออกพิจารณา นี่พิจารณากายแล้วเป็นอย่างไร เวลามันจะปล่อยกายนี่มันมีปฏิกิริยาอย่างไร

อย่างเช่นเรากินอาหาร มีคนตำน้ำพริกมารสจัดเลย แล้วเวลาเรากินเข้าไป เรากินแล้วมันจะมีรสชาติมาก แล้วบอกว่านี่กินน้ำพริกแล้ว แล้วมันเป็นอย่างไร อู้ฮู.. อร่อย แล้วเป็นอย่างไรล่ะ มันก็อร่อยดี นี่อร่อยดี.. แต่ถ้าเป็นเรามันไม่ใช่ เพราะเราใส่พริกเยอะมาก ถ้าใส่พริกเยอะมาก เวลากินเข้าไปนี่เข้าต้องมีปฏิกิริยา เขาต้องร้อนมาก มันต้องเป็นอย่างนั้น

นี่ก็เหมือนกัน เวลาพิจารณากายแล้วเป็นอย่างไร พิจารณากายนี่จิตรู้อะไร พิจารณากายไปแล้วจิตมันเห็นอะไร จิตมันปล่อยวางอะไร ไอ้นี่พิจารณากายสิ จิตสงบพิจารณากาย อ้าว.. กูก็พิจารณาแล้วไง ก็จบแล้วไง แล้วเป็นอะไรล่ะ.. ก็เป็นบ้ากันอยู่นี่ไง !

มันพูดตามสูตรนะ ตอนนี้พระเรานี่นะมันไม่เป็น นี่พูดตามสูตรพอจบสูตรแล้วก็ว่าจบ แล้วมันจบจริงไหมล่ะ จบจริงหรือเปล่า เราถึงบอกว่าปริยัติไม่ผิดหรอก นี่สูตรก็คือปริยัติ คือการศึกษา การศึกษาแล้วถ้าเรายังไม่ประสบความสำเร็จ เรายังไม่มีหน้าที่การงานทำตามความเป็นจริง มันยังไม่เป็นความจริงหรอก ศึกษามันก็เป็นปัญญานี่แหละ แต่ดูสิเวลาคนศึกษาจบมาชั้นเรียนเดียวกัน บางคนประสบความสำเร็จในชีวิต บางคนก็ยังงุ่มง่ามๆ อยู่นั่นแหละ.. ศึกษาเหมือนกัน มีปริญญาเหมือนกันทำไมมันไปไม่ถึงจุดล่ะ อันนี้ก็เหมือนกัน ปฏิบัติเหมือนกัน ปฏิบัติเหมือนกันแล้วไปไหนล่ะ

ฉะนั้นเพราะพูดนี่นะเราจะตอบปัญหาเป็น ๒ อย่าง อย่างหนึ่งถ้าเกิดน้ำตาไหล นี่มันเกิดมาเพราะว่าจิตมันเป็นปีติ มันรับรู้ของมัน แล้วถ้านี่เปลี่ยนเรื่องไปแล้ว ๓ ครั้ง ๔ ครั้งมันก็ยังไหลอยู่ มันไหลอยู่นี่นะเพราะอารมณ์มันยังเป็นอย่างนี้ไง มันเหมือนค่าของความร้อนเลย ถ้าอุณหภูมิขนาดนี้น้ำมันจะเดือด เมื่อไรมันก็เดือดอยู่อย่างนั้นล่ะ แต่ถ้าอุณหภูมิมันร่นลดลงนะ จุดเดือดของน้ำมันก็จะน้อยลง

จิต.. มันกระทบแล้ว ถ้ามันยังกระทบแล้วมันไหล เห็นไหม คืออุณหภูมิมันเป็นอย่างนี้ไง นี่อุณหภูมิมันเป็นอย่างนี้ คือความดูดดื่ม ความซาบซึ้งมันเป็นอย่างนี้ แต่พอเดี๋ยวมันรู้ว่าอันนี้เป็นความดีนะ จะให้มันซาบซึ้งมันไม่ซาบซึ้งแล้ว อยากให้มันไหลมันก็ไม่ไหลแล้ว มันจะไหลไม่ไหลนี่มันอยู่ที่ข้อเท็จจริงของมันเอง เพราะมันเหมือนทางโลกก็เหมือนกับอารมณ์ความรู้สึกนี่แหละ แต่นี้มันเป็นธรรม เพราะเวลาเป็นธรรม เป็นนามธรรมนี่เราควบคุมไม่ได้ มีสติดูแล แล้วถ้ามันซาบซึ้งขนาดไหนมันอยู่ที่จริตนี้มัน จริตของมัน.. นี่พูดถึงน้ำตาไหลนะ

น้ำตาไหลหรือไม่ไหลนี่มันไม่มีโทษอะไรหรอก หลวงตาท่านพูดอย่างนี้

“น้ำตาชำระล้างภพล้างชาตินี่มีประโยชน์มาก แต่น้ำตาทุกข์น้ำตายากที่ไหลอยู่ทุกวันนี้ไม่มีประโยชน์อะไรเลย”

น้ำตาเหมือนกัน เห็นไหม น้ำตาอันหนึ่งของครูบาอาจารย์เรานะ เวลามันเข้าสะเทือนถึงการล้างภพล้างชาตินี่นะมันพรั่งพรูออกมา มันพรั่งพรูออกมานี่มันทำลายภพทำลายชาติ มันล้างสะอาดหมดเลย แต่น้ำตาของพวกเรานี่มันทุกข์มันยาก มันเสียใจมันทุกข์ใจ มันไหลออกมาขนาดไหนนะมันก็ไม่มีประโยชน์หรอก

คนเราเกิดมานะ เกิดมาแต่ละภพแต่ละชาติ ถ้าตายลง ตายเกิดๆ นะ ซากศพที่เก็บไว้นี่มันไม่มีที่วาง เขาบอกว่าน้ำตานี่ยิ่งกว่าน้ำทะเลนี้อีก.. จิตหนึ่งนี่ จิตของคนๆ หนึ่งเกิดตายๆ นี่นะ แล้วความเสียใจ ความทุกข์ใจ แล้วน้ำตาที่ไหลนี่นะ น้ำทะเลนี่มีปริมาณเท่านั้นเลยล่ะ จะมากกว่าด้วย แต่นี้เพราะว่ามันระเหยไป มันเป็นวิทยาศาสตร์ เราไม่สามารถแบ่งแยกได้ว่าอันไหนเป็นของเรา อันไหนเป็นของใคร มันถึงพูดไม่ได้

ฉะนั้นสิ่งที่น้ำตาไหล เห็นไหม มันจะไหลถ้ามันไหลเป็นธรรมสังเวช เวลาธรรมสังเวชนะมันเป็นธรรม มันเป็นธรรมคือมันสะเทือนหัวใจ.. มันสังเวช ธรรมสังเวช ! ถ้าธรรมสังเวชมันจะพรั่งพรูออกมา สาธุ ! มันจะชำระล้างความทุกข์ความโศกในชีวิตเรา แต่ถ้ามันเป็นโลกนะ ความดีใจ ความเสียใจ กระทบกระทั่งมันเป็นความทุกข์ ร้องไห้ พิไรรำพันไป นั้นเป็นน้ำตายึดภพยึดชาติ น้ำตาที่ต้องให้มาเกิดแล้วเกิดตาย

ฉะนั้นน้ำตามันเป็นกลาง อยู่ที่ว่าคุณสมบัติออกมาเป็นธรรมหรือเป็นโลก.. ถ้าเป็นธรรมมันก็ไหลอย่างนี้ ถ้าเป็นโลกมันก็ไหลอย่างนี้ อยู่ที่ใจของเราฝึกฝนไง ใจของเราถ้าเป็นธรรมมันจะดีมาก ถ้าใจของโลกมันเป็นแบบนี้ นี่พูดถึงน้ำตานะ

ฉะนั้นมันจะเป็นอย่างไรเราต้องตั้งสติ ตั้งสติแล้วใคร่ครวญเอา แล้วใจเราจะดีขึ้น..

อันนี้มันข้อ ๓๐๙. เนาะ ข้อ ๓๑๐. ไม่มี ข้อ ๓๑๑. ไม่มี มันตามตัวเลขไง ในเว็บไซต์มันถามมา ข้อ ๓๑๒. นะ

ถาม : ๓๑๒. เรื่อง “อยากทำสังฆทาน”

ตอนนี้อยู่ต่างประเทศ ถ้ากลับเมืองไทยอยากไปทำสังฆทานกับหลวงพ่อสักครั้ง หลวงพ่อท่านจะมีเวลาไหมคะ จะรบกวนไหมคะ

หลวงพ่อ : อืม.. จะรอ (หัวเราะ) จะรอเลยเนาะ.. อันนี้ไม่ใช่รอสังฆทานนะ เรารอน้ำใจ น้ำใจของคนมีค่ากว่า น้ำใจของคน ถ้าคิดนะเราคิดสิ่งใด เราระลึกถึงพ่อแม่ เวลาพระเจ้าตากกู้ชาติ เห็นไหม นี่ประเทศชาตินี้ฝากไว้เพื่อบำรุงพุทธศาสนา เวลาท่านจะตาย “คิดถึงพ่อ พ่ออยู่กับเจ้า” พ่อไม่ไปไหน คิดถึงพ่อ พ่ออยู่กับเจ้า

เราคิดถึงความดีไง เราคิดถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทโธนี่เราคิดถึงพ่อ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธนี่ เพราะพุทธะ พุทธะคือชื่อขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราระลึกถึงพุทโธนี่เราระลึกถึงศาสดาตลอดเวลา เขาบอกว่ามันไม่ถูกมันไม่ดี เรารับไม่ได้ ! เรารับไม่ได้

พุทธะคือพ่อของเรา ! พ่อโดยสมมุตินะ พ่อของเรา พุทธะคือสมมุติว่าเป็นศาสดา สมมุติ.. มันจริงๆ นี่แหละแต่สมมุติ แต่พุทโธ พุทโธ พุทโธจนถึงความรู้สึกของเรานี่นะ เพราะรู้สึกตัวพุทโธคือตัวชื่อ ตัวจริงของมันคือธาตุรู้ ถ้าใครเข้าสู่สมาธิ นั่นคือเข้าถึงพุทโธตัวจริง แต่ในเมื่อเราเข้าพุทโธไม่ตัวจริง เราก็ระลึกถึงพ่อเราก่อน เราคิดถึงพ่อเรากับคิดถึงตัวเราเอง อยากให้พ่อรวยหรืออยากให้เรารวย เราก็อยากให้เรารวยด้วย ถ้าพ่อรวยเราก็ได้ของพ่อด้วย ถ้าเรารวยด้วยยิ่งดีกว่าพ่อ

ฉะนั้นเราก็พุทโธ พุทโธนี่คิดถึงพ่อ คิดถึงพ่อ พ่ออยู่กับเจ้า.. พุทโธ พุทโธ พุทโธนี่อยู่กับใจเราเพราะใจเราไม่คิดอย่างอื่น จนใจมันเป็นพุทโธขึ้นมาเอง ใจมันโตขึ้นมาเองนะ เอ้อะ ! เอ้อะ ! เอ้อะ ! พุทโธไม่ออกเลย

นี่เราพูดถึงน้ำใจนะ ฉะนั้นเขาจะมาทำบุญนี่เราคิดถึงค่าน้ำใจหรอก แล้วจะรอ !

 

อันนี้นะ อันนี้มันเป็นไอ้นั่นอยู่ อันนี้ข้อ ๓๑๓. นะ

ถาม : ๓๑๓. เรื่อง “การนั่งสมาธิ” (อันนี้มันจะเป็นการแยกแยะให้เห็นเหตุเห็นผลนะ)

หนูมีเรื่องถามการนั่งสมาธิ เนื่องจากปกตินั่งเองไม่ได้มีครูกำกับ ก็เลยไม่แน่ใจว่ามาถูกทางหรือเปล่า และปัญหาที่ติดควรจะแก้ตรงไหน หนูนั่งสมาธิแล้วเริ่มรู้สึกว่าชาไปทั่วร่างกาย มีอาการกระตุกตามเส้นเอ็นต่างๆ และบางครั้งรู้สึกดิ่งลงไปเหมือนมุดลงไปในอุโมงค์ แต่พอมาถึงจุดนี้รู้สึกว่างเปล่า ไม่มีความคิดเข้ามารวม ไม่สนใจเสียงภายนอก และทุกครั้งที่ถึงจุดนี้จะพยายามพิจารณากาย แต่ไม่สามารถออกมาพิจารณากายได้ และพอเริ่มจะดิ่งมากก็เริ่มกลัว เป็นอันต้องถอนจากสมาธิทุกที

อยากให้ท่านอาจารย์ช่วยแนะนำว่าปัญหาอยู่ที่อะไร ทำอย่างไรถึงจะสามารถพิจารณากาย หรือเอาวิปัสสนามาพิจารณาได้ และทำอย่างไรจะไม่ให้กลัว

หลวงพ่อ : ปัญหานี้มีหลายปัญหามากเลยอยู่ในตัวมันเอง ด้วยความสงสัย.. ฉะนั้นสิ่งนี้ เห็นไหม มันเป็น ๒ ประเด็น

ประเด็นหนึ่งถ้าจะลงสมาธิ.. “บางครั้งรู้สึกว่าเหมือนมุดลงไปในอุโมงค์ แต่พอมาถึงจุดหนึ่ง รู้สึกว่าว่างเปล่าไม่มีความคิดเข้ามารวม ไม่สนใจเสียงภายนอก” นี่เราจะบอกว่านะ ถ้าคนไม่เคยประสบการณ์นี่มันพูดไม่ถูก ถ้าคนประสบการณ์มามันเป็น นี่ประสบการณ์แต่ก็ไม่รู้ เห็นไหม นี่เวลาไปประสบแล้วก็ไม่รู้ก็ยังงงอยู่ แต่นี้ถ้าเรามีความชำนาญ หรือเราทำบ่อยครั้งเข้า จนเราควบคุม เราบริหารจัดการได้หมดเลย

เวลาทำสมาธินี่เราเข้าสมาธิได้ยาก แล้วบอกว่ารักษาสมาธิยาก สมาธิเสื่อมหมดเลย เพราะเราไปรักษาที่สมาธิไง แต่หลวงตาท่านบอกเลยเวลาจิตมันเสื่อมไป ท่านดูจิตนี่แหละ ท่านบอกว่าท่านดูจิต ใหม่ๆ ท่านก็ดูจิต พอดูจิตไปแล้วนี่เสื่อมไป ๑ ปีกับ ๖ เดือน ทำอย่างไรมันก็ล้มเหลว ทำอย่างไรก็ล้มเหลว แล้วจะแก้ไขอย่างไร จะแก้อย่างไรก็นึกว่า อ๋อ.. เพราะเราขาดคำบริกรรม พุทโธนี่แหละ พอดีหลวงปู่มั่นท่านก็ไปเผาศพหลวงปู่เสาร์ ทิ้งให้ท่านอยู่คนเดียว ๓ วัน ท่านกำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธนี่จนอกแทบแตกเลย

เพราะมันเคยปล่อยสบายไง พอบังคับทำงานท่านบอกทำไม่ได้เลย ๓ วันนะอกแทบแตกเลย แต่พอเริ่มสงบนะ พอมันเริ่มสงบขึ้นมา เห็นไหม พอพุทโธ พุทโธจนพุทโธไม่ได้เลย พอพุทโธไม่ได้ “คิดถึงพ่อ พ่ออยู่กับเจ้า คิดถึงพุทโธ พุทโธอยู่กับเจ้า”

คิดจนเป็นตัวเอง ! คิดจนเป็นตัวเอง ! คิดจนมันคิดไม่ได้ ! คิดจนมันคิดไม่ได้ ! พอมันคิดไม่ได้ก็คือตัวพ่ออยู่กับเราเอง ตัวชื่อกับได้ตัวจริง.. นั่นล่ะพอท่านได้ของท่านแล้วนะท่านถึงรู้ของท่าน พอท่านรู้ของท่าน เพียงแต่ว่าท่านไม่พูดออกมาตรงๆ เท่านั้นเอง

ฉะนั้นเวลามันว่างเปล่า เห็นไหม นี่คนถ้ามันจะเป็น มันจะพูดออกมาโดยที่ไม่รู้ตัว ถ้าคนที่พูดโดยสูตร พูดเพื่อจะแบบว่าเรารู้จริง ไม่มีอะไรรู้อะไรเลย..

ถาม : บางครั้งรู้สึกว่าดิ่งลงไปเหมือนมุดลงไปในอุโมงค์ แต่พอมาจุดหนึ่งรู้สึกว่างเปล่า ไม่มีความคิดเข้ามารวม ไม่สนใจเสียงภายนอก

หลวงพ่อ : นี่คำนี้เขาบอกว่า “ไม่สนใจเสียงภายนอก” แต่ความจริงมันไม่ใช่ ถ้าจิตมันลงอย่างนี้มันไม่ได้ยินเสียงภายนอก มันไม่ได้ยินของมันเอง ไม่ใช่มันไม่สนใจ มันสนใจแต่มันไม่ได้ยิน แต่ถ้ามันได้ยินมันก็ไม่เข้ามาตรงนี้ไง ถ้ามันได้ยินมันก็กระทบอยู่ใช่ไหม แต่พอมันเข้ามานี่มันตัดอายตนะใช่ไหม มันเข้ามาเป็นจิตใช่ไหม มันไม่ได้ยินของมันเอง

นี่มันไม่ได้ยินของมันเอง ถ้ามันไม่ได้ยินนะมันมุดลงไป ถ้ามันจะลงไปขนาดไหน มันไม่ได้ยินเสียงใด..

ถาม : และมาถึงจุดนี้ก็พยายามพิจารณากาย แต่ไม่สามารถพิจารณาได้

หลวงพ่อ : ไม่สามารถพิจารณาได้.. ไม่ได้ ! เวลาคนนอนหลับจะให้กินข้าวไม่ได้ เวลาคนกินข้าว.. เว้นไว้แต่คนง่วงนอน กินแล้วหลับคาโต๊ะนี่ได้ เวลาคนนอนหลับนี่ให้กินข้าวไม่ได้ แต่ถ้าคนกินข้าวมันหลับคาจานนี่ได้

อันนี้นะถ้าจิตมันลงไปแล้ว มันเหมือนคนพอเวลาถ้ามันลงสมาธิ พอมันลงลึกไปแล้วมันพิจารณากายไม่ได้หรอก มันพิจารณากายไม่ได้ ! เห็นไหม ขอรื้อความหลังนิดหนึ่ง บอกว่าเวลาจิตลงอัปปนาสมาธิแล้วนะ แล้วปัญญาไปเกิดตรงนั้นนี่ไม่มีทาง มันเป็นไปไม่ได้ !

มันเป็นไปไม่ได้ ! พอเวลาจิตมันลงไปแล้วจะพิจารณากายมันเป็นไปไม่ได้ ถ้าจิตลงสู่สมาธินะ จิตถ้ามันลงสู่อัปปนานะพิจารณาไม่ได้หรอก คนนอนหลับทำงานไม่ได้ คนจะทำงานตื่นขึ้นมา ตื่นขึ้นมาก่อน ล้างหน้าล้างตาให้ดี แล้วออกไปชุ่มชื่นแล้วไปทำงานด้วยกัน แต่ถ้าคนนอนหลับทำงานได้ไม่มี โลกนี้ไม่มี

ฉะนั้นถ้าจิตมันจะลงไปจนเสียงไม่มี ทุกอย่างไม่มี นี่เรามีสติไปแค่นั้นเอง แล้วมันคลายตัวออกมา จิตมันเริ่มคลายตัวออกมา จิตมันแบบว่า เหมือนเรานั่งเห็นไหม เวลาเราชา นี่เวลาเราชา เวลาจิตเราปล่อยหมดมันจะไม่รับรู้สิ่งใดเลย เวลาเราชานี่มันเป็นความชา แต่เวลาจิตมันออกรับรู้ เวลาจิตออกรับรู้ปั๊บเราน้อมมีสติพร้อม ถ้ามันออกปั๊บมีสติพร้อมน้อมไปที่กาย ถ้าน้อมไปที่กายมันถึงจะเห็นกาย ถ้าไม่เห็นกายเราก็พยายามแบบว่าศาลตั้งต้น นึกขึ้นมาให้ได้ ถ้านึกขึ้นมาให้ได้มันจะเห็นกาย

ฉะนั้นบอกว่าพอจิตสงบแล้วพิจารณากาย.. สูตรมันว่าอย่างนั้นล่ะ ตามสูตร พูดตามสูตรนี่ถูก แต่ความจริงไม่ใช่ ความจริงทำอย่างนั้นไม่มี

ฉะนั้นสิ่งที่ว่า “พอถึงจุดนี้ก็พยายามพิจารณากายแต่ไม่สามารถพิจารณากายได้” มันพิจารณาไม่ได้อยู่แล้ว ไม่ได้หรอก มันคนละเรื่องกัน

ศีล สมาธิ ปัญญา.. มีศีลเป็นความปกติของใจ ทำจนจิตสงบขึ้นมา พอจิตสงบแล้ว สงบขึ้นไปเพื่อพักผ่อน สงบแล้วนะแล้วออกพิจารณา ถ้าเป็นอุปจารสมาธินี่พิจารณาได้ บางคนไม่ได้เข้าถึงอัปปนาสมาธิหรอก เวลาขณิกสมาธินี่จิตสงบเล็กน้อย มันไม่เห็นกาย มันเข้าถึงอุปจาระนี่มันจะเห็นของมัน แล้วพิจารณาของมัน บางคนไม่เข้าถึงอุปจาระนะมันอยู่ที่อำนาจวาสนา

อำนาจวาสนาของคน ถ้าเข้าอัปปนา.. อัปปนานี่มันลึกมากนะ ฉะนั้นถ้าเข้ามาลึกมาก ถ้ามันลงไปแล้วถ้ามันคิดได้ ถ้ามันยังคิดได้อยู่ มันยังมีความรู้สึกรับรู้อยู่แล้วมันสงบนะ นั่นล่ะ อย่างนี้มันออกพิจารณาได้ แต่ถ้าเราบอกว่าถ้าอย่างนั้นเราก็คิดของเราอย่างนี้เลย ถ้าคิดอย่างนี้เลยเขาเรียกปัญญาอบรมสมาธิ.. คิดอย่างนี้เลย คิดโดยสามัญสำนึกนี่มันคิดเลย ถ้าคิดอย่างนี้มันคิดบวก คิดบวกด้วยความไม่รู้ของเรา ด้วยสัญชาตญาณของเรา

สัญชาตญาณ.. ไอ้สัญชาตญาณ ไอ้ความคิดอันนั้น นั่นล่ะคืออวิชชา ! สัญชาตญาณของคนควบคุมได้ไหม คนเรานี่ถ้ามีสติปัญญาเราควบคุมตัวเราได้ไหม แต่สัญชาตญาณมันเกิดต่อเมื่อภัยมันมา มันเกิดสัญชาตญาณของมันแต่ควบคุมไม่ได้

ตัวอวิชชานี่มันควบคุมไม่ได้ แต่ตัวฝึกให้จากอวิชชาเป็นวิชา ถ้าอวิชชาเป็นวิชา เห็นไหม นี่ถ้าใช้ปัญญาอย่างนี้เป็นปัญญาสามัญสำนึก เป็นปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าปัญญาอบรมสมาธิแล้ว อบรมสมาธิเข้ามาแล้ว ถ้าจิตมันสงบแล้วมันเป็นการคิดโดยปัญญาที่เป็นโลกุตตรธรรม คือจิตมันเป็นสัมมาสมาธิ มันมีสมาธิรองรับ มันไม่ใช่สัญชาตญาณ

ถ้าเป็นสัญชาตญาณใช้ไม่ได้ สัญชาตญาณนี่.. นี้ถ้าเราคิดโดยไม่มีสมาธิมันก็คิดโดยเรานี่แหละ แต่คิดไปๆ มันก็คิดโดยสัญชาตญาณ มันคิดของมันไปโดยความคล่องตัวของมัน มันก็เป็นอวิชชาลงสู่อวิชชาหมด เป็นไปไม่ได้.. แต่ถ้ามีสติตามมันไปปั๊บ มันจะเป็นปัญญาอบรมสมาธิ เพราะผลที่สุดของมันคือสมถะ ผลที่สุดของมันคือการปล่อยวาง

สิ่งใดก็แล้วแต่ที่มันยุ่งเหยิงอยู่ ถ้าการจัดกระบวนการนั้นมันถูกต้องแล้ว มันก็คือการเข้ารูป เห็นไหม กระบวนการความคิด จัดให้มันเข้ารูปเท่านั้นเอง แล้วกระบวนการความคิดที่จัดให้เข้ารูปแล้ว มันเป็นสัมมาสมาธิแล้วเราจะทำอย่างไรต่อไปให้มันเกิดปัญญาที่เกิดมาชำระกิเลส

มันยังมีกระบวนการของมัน ! กระบวนการของมันมี ฉะนั้นกระบวนการอย่างนี้นี่กรรมฐาน ครูบาอาจารย์ของเราเขาจะรอลูกศิษย์อย่างนี้ ลูกศิษย์พอเวลาทำแล้วมีปัญหาไป แล้วครูบาอาจารย์จะคอยแก้ๆ แล้วคอยแก้นี่มันแก้แต่ละเฉพาะบุคคล เพราะจริตของคนไม่เหมือนกัน ความรับรู้สึกของคนไม่เหมือนกัน กำลังของคนไม่เหมือนกัน ลักษณะของคนไม่เหมือนกัน เวลาอาจารย์จะแก้จะแก้ไปทีละเปราะ ละเปราะนะ เพราะอะไร เพราะหลวงปู่มั่นท่านพูดไว้ เห็นไหม นี่บอกว่า “หมู่คณะให้ภาวนามานะ ภาวนามาแก้จิตนี้แก้ยากนะ เวลาผู้เฒ่าตายไปจะไม่มีใครแก้นะ”

ไอ้นี่มันไม่แก้สิ มันพิมพ์หนังสือนะเป็นสูตรสำเร็จเลยนะ เหมือนกับเอารถเข้าอู่เลย เอารถเข้าอู่นะ เปลี่ยนน้ำมันเครื่อง อะไรหมดอายุก็เปลี่ยนๆ ไง

นี่ก็เหมือนกันภาวนาให้เป็นอย่างนั้น ไม่มี ! ไอ้นั่นมันวัตถุ ไอ้นั่นมันเป็นวิชาชีพ มันเป็นรถยนต์มันเข้าอู่ แต่จิตไม่มีสิทธิ์ ! จิตไม่มีสิทธิ์ ! เรื่องของจิตนี้มหัศจรรย์นัก เรื่องของจิตนี้ถ้าครูบาอาจารย์ไม่เป็น ไม่มีทางแก้ได้ ไม่มีทาง ! มีก็มีหมอเถื่อนเท่านั้นแหละ หมอเถื่อนมาก็เอายาลูบๆ แล้วก็กลับ

นี้พูดถึงนะพูดถึงว่า “เวลาจิตมันมาถึงจุดนี้ ออกพิจารณากายก็ไม่สามารถพิจารณากายได้ และพอเริ่มจะดิ่งมากๆ ก็กลัว เป็นอันต้องถอนสมาธิทุกที”

ถ้าเราทำไม่มีหลักแล้วมันก็เป็นอย่างนี้แหละ ถ้าคนโดยไม่มีพื้นฐาน โดยสัญชาตญาณมันกลัวเอง จะบอกว่าไม่กลัว.. ทุกคนบอกว่าไม่กลัวผี นี่ลองเข้าไปป่าช้ากลัวทุกคนแหละ ใครจะเข้มแข็งขนาดไหนนะ จับแล้วเอาไว้ป่าช้า เราเคยอยู่คนเดียวนะวิ่งหนีเลยล่ะ

นี้ก็เหมือนกัน โดยสัญชาตญาณจะบอกว่าไม่ต้องกลัว ไม่ต้องกลัว.. มันก็กลัว ทุกคนกลัวโดยสัญชาตญาณทั้งนั้นแหละ.. นี้การกลัวมันคืออะไรล่ะ การกลัวมันก็เกิดดับนะ เดี๋ยวก็กลัว เดี๋ยวก็กล้า เวลากล้า กล้าจนบ้าบิ่น เวลากลัว กลัวจนไม่มีเหตุผล

ฉะนั้นเวลาเรามีสติปัญญาขึ้นมานี่กลัวอะไร มันจะไปสู่ความดีกลัวอะไร จิตเราจะลงสู่ฐานของจิต ฐีติจิต.. พลังงานนี่มันมาจากฐีติจิต มาจากตัวภพ มาจากตัวพลังงาน มันก็ส่งออกมา เราทำสมาธิก็ทำเข้าไปสู่จุดเริ่มต้นของพลังงาน พอจะเข้าไปสู่จุดเริ่มต้นของพลังงาน เราก็ไปกลัวซะ แล้วใจหนึ่งก็อยากได้สมาธิ ใจหนึ่งก็อยากได้ความร่มเย็นเป็นสุข แต่พอเวลาจะเข้าสู่ความร่มเย็นเป็นสุขกลับกลัว เห็นไหม

ถ้าเรามีปัญญาคิดไตร่ตรองอย่างนี้ ถ้ามีปัญญาคิดอย่างนี้ กลัวก็ไม่เป็นไร กลัวก็พยายามดู พยายามทำให้ดี.. ถ้าเราเข้าใจแล้วนะ ถ้าคนไม่เข้าใจจะกลัว แต่ถ้าคนเข้าใจนะ ชอบตรงนี้มากเลย.. มี เวลาเป็นอย่างนี้ เวลามันเริ่มดิ่งลงนี่ ถ้าคนเป็นนะ “เชิญครับ.. เชิญครับ” มีสติคุมไปเลยนะมันจะลงไป อึ้บ... กึก ! ถึงจุดเลย อยู่อย่างนั้นแหละ สักแต่ว่ารู้ ! ไม่มีสิ่งใดเข้ามาเลย.. สักแต่ว่ารู้นะ ไม่ใช่ความรู้นะ ถ้ามีความรู้เราต้องได้ยินเสียงได้ ถ้ามีความรู้ต้องรู้ตัวได้

สักแต่ว่ารู้นี่มันเหมือนหุ่นยนต์เลย มันเหมือนหุ่นยนต์ที่นั่งอยู่ หุ่นยนต์นี่ใครจะเอาไม้ไปทำอะไร ตีมันมันก็ช่วยตัวเองไม่ได้ พอมันกึก ! สักแต่ว่ารู้นี่มันเหมือนหุ่นยนต์เลย ร่างกายนี้ไม่รับรู้อะไรเลย แต่รู้เพราะรู้ที่จิตไง.. สักแต่ว่ารู้ !

นี่อัปปนาสมาธิ.. มันถึงคิดไม่ได้หรอก ปัญญาไม่เกิดหรอก แต่เข้าไปสู่ฐีติจิต สู่ความสุข มันจะมีความสุขของมัน สักแต่ว่ารู้.. มันเป็นความมหัศจรรย์ที่โลกนี้ไม่เคยมี ไอ้ที่โม้ๆๆ นั่นผิดหมด ! พูดตามสูตร พูดตามสูตร.. ทีนี้ความจริงเป็นอย่างนั้น ฉะนั้นถ้ามันกลัว ถ้ามันมีเหตุผล กลัวนี่มันโดยสัญชาตญาณ ถ้ากลัวเรามีสติปัญญา เราใคร่ครวญของเรา.. นี่พูดถึงความกลัวนะ

ถาม : พอกลัวก็ถอนออกจากสมาธิทุกที ท่านอาจารย์ช่วยแนะนำว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร จะทำอย่างไรจึงจะสามารถพิจารณากาย หรือเอาวิปัสสนามาพิจารณาได้ และทำอย่างไรไม่ให้กลัว

หลวงพ่อ : นี่คนเราจะนอนหลับพักผ่อนก็เรื่องหนึ่ง คนเราจะทำหน้าที่การงานก็เรื่องหนึ่ง ฉะนั้นคนจะนอนหลับพักผ่อน จะลงสมาธิ ลงสู่ความสงบ นั้นคือการนอนหลับพักผ่อน

จิตใจของคน.. คนเรานี่ถ้าเราสดชื่น เห็นไหม ดูสินักกีฬาเขาได้ความสด พอเขาได้ความสดขึ้นมานี่เขามีประสบการณ์ของเขา เขาจะมีความชำนาญการของเขา ถ้าได้ทั้งความสดด้วย แล้วได้ทั้งเทคนิคของเขาด้วย เขาจะดำรงชีวิตของเขาสุขสบายมาก

ฉะนั้นอย่างเริ่มต้นเราจะลงสู่สมาธินี่เราได้ความสดชื่นของร่างกายก่อน แล้วธรรมดานี้เราไม่สดชื่นเหรอ มันสดชื่นเฉพาะเราคิดไง เราสดชื่นพร้อมกับ.. มือเรานี่นะสกปรก เราจะกินอาหารเราต้องล้างมือเลย ไข้หวัดนกนี่ล้างมือทุกวัน ล้างมือทุกวัน ล้างมือทุกวัน.. นี่จะกินอาหารยังต้องล้างมือเลย แล้วจิตเวลามันจะเข้าไปทำงาน ไม่ล้างให้มันสะอาดก่อน แล้วไปกินพร้อมกับความสกปรกของจิตนี่มันจะได้อะไรขึ้นมา

ฉะนั้นเราใช้ปัญญาอบรมสมาธินี่ก็ล้างจิตให้มันสะอาดก่อน พอจิตสะอาดแล้ว พอจิตเราไปพักผ่อน เห็นไหม เราไปพักให้จิตสะอาด เราทำความสงบของใจก่อน พอใจมันสะอาดแล้ว เราออกมาพิจารณากาย ออกมาแล้วให้พิจารณากาย มันถึงจะเป็นวิปัสสนา ถ้าวิปัสสนานะ ถ้าจิตไม่สงบนะจะวิปัสสนาขนาดไหน คิดขนาดไหนนะ.. คอมพิวเตอร์นะมันจำพระไตรปิฎกได้หมดเลย คอมพิวเตอร์มันจำได้หมดเลยแล้วมันได้อะไร

นี่ก็เหมือนกัน เราจะจำมาหมดไม่ได้อะไรหรอก มันต้องฝึกหัดจิต.. การฝึกหัดจิต เอาจิตออกมา เอาจิตออกมาพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม อันนั้นคือวิปัสสนา ถ้าวิปัสสนาแล้วมันจะเกิดปัญญา แล้วปัญญาไม่ได้เกิดอย่างที่เราคิดกัน ปัญญา.. ดูสิอ่านพระไตรปิฎกหมดตู้ ๓ รอบ ๔ รอบนะ เวลาจิตสงบนี่ อู้ฮู.. มันมีความสุขแตกต่างกัน

เวลาจิตมันพิจารณา มันเข้าไปเห็นกายนะแล้วพิจารณากายแล้วมันปล่อยวางกายทีหนึ่งนะ อ่านพระไตรปิฎกหมด ๒ ตู้ ความรู้สึกยังแตกต่างกันเลย อ่านพระไตรปิฎก ๒ ตู้ มันก็รู้แต่พระไตรปิฎก ๒ ตู้ รู้แต่ธรรมะของพระพุทธเจ้า แต่พอเราไปเห็นกายแล้วมันทิ้งกายนี่ โอ้โฮ.. มันต่างกันเยอะ

มันต่างกัน มันถึงถอดถอนได้ไง มันถึงเป็นการชำระกิเลสไง มันถึงเป็นการปฏิบัติไง มันถึงเป็นธรรมส่วนบุคคลไง เพราะจิตดวงนี้ ! จิตดวงที่พิจารณานี้ จิตดวงนี้มันจะถอดถอนกิเลสของมัน จิตดวงนี้จะเป็นโสดาบัน จะเป็นสกิทาคา เป็นอนาคาที่เราไม่กล้าพูดกันไง เป็นโสดาบันก็สุดเอื้อม เป็นสกิทาคายิ่งไม่มีทางหวัง เป็นอนาคานี่ไม่มีโอกาสเลย ยิ่งเป็นพระอรหันต์โลกนี้ไม่มี

นี่จิตใต้สำนึกมันไปหวั่นไหวของมันอยู่อย่างนั้น เห็นไหม แต่ถ้ามันปฏิบัติขึ้นไป มันปฏิบัติขึ้นไปเหมือนนับตังค์เลย เรานี่ไม่มีโอกาสจะมีเงินล้านนะ แต่เรามีแบงก์พัน นับๆๆ นี่เราจะมีเงินล้านได้ไหม พอจิตมันเริ่มพิจารณาไปนี่มันนับตังค์แล้วนะ มันนับแบงก์แล้ว นี่หนึ่งพัน สองพัน สามพัน มันเริ่มนับแล้ว ถ้ามันเริ่มนับนี่มันจะไม่มีเงินล้านได้อย่างไร มันจะไม่เป็นพระอรหันต์ได้อย่างไร มันจะไม่สำเร็จได้อย่างไร มันเป็นไปไม่ได้หรอก !

นี้พูดถึงเวลาออกวิปัสสนานะ แต่ ! แต่นี่มันทำไม่ได้เลย.. สงบก็งง กลัวก็กลัว เพราะอะไรรู้ไหม.. นี่โทษนะ ที่พูดนี้เป็นคติธรรมนะ ไม่ได้ติฉินนินทา ไม่ได้ว่าเสียดสีใคร ไอ้ที่พูดนี่เวลาเราคิดไป เห็นไหม เราคิดเองใช่ไหมว่าทำอย่างนั้นๆ แล้วมันจะเป็นผลตามที่เราคิด ฉะนั้นพอเวลาทำไป ผลที่เราคิดนี่เราคิดของเราเองเพราะเราคิดตามทฤษฏี แต่เวลาทำขึ้นมานี่ตามข้อเท็จจริง เห็นไหม เหมือนแข่งรถเลย แข่งรถนะ เวลาเราแข่งรถนี่มันเป็นทางแข่งที่ทางเดียวกัน คนที่เคยผ่านสนามนี้มาจะรู้ว่าสนามนี้มันเป็นอย่างใด

จิต ! จิตเวลาเข้าสู่โสดาบันเหมือนสนามแข่งรถ ผู้ที่ได้โสดาบันเขาเคยออกจากสนามนี้ไป เขาได้วิ่งในสนามนี้แล้ว ออกจากสนามนี้ไปเขาจะรู้เลยว่าในสนามนั้นมันมีวิกฤติอย่างไร มีโค้งอย่างไร มีอย่างไรออกจากสนามนั้น ฉะนั้นคนที่เป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคา เป็นอนาคานี่มันเป็นข้อเท็จจริงในอริยสัจเหมือนกันหมด ที่ว่ามันเหมือนกันหมดนี่มันจะแตกต่างกันไม่ได้ แต่นี้เพียงแต่ว่าเวลาเราศึกษามาเราไม่เคยลงสนามใช่ไหม เราก็ดูแปลนใช่ไหม ดูภาพสนามใช่ไหม เราก็จินตนาการของเราไป มันก็เลยจินตนาการไปก็ออกมาเป็นอย่างนี้ไง

นี่เวลาจิตมันลงไปแล้วมันก็ไม่มีเสียงรับรู้ภายนอกเลย แล้วมันพิจารณากายไม่ได้แล้วอยากพิจารณากายไง แล้วมันพิจารณากายแล้วมันจะทำอย่างไร.. นี่เพราะทฤษฏีนี่เรารู้ได้ แต่ลงปฏิบัติมันจะติดขัดแล้ว แต่ถ้าคนปฏิบัติไปแล้วนะ ปฏิบัติเสร็จแล้วนะ ภาคสนามก็สนามจะรู้ชัดเจนมากเลย

ดูสิเวลาเราแข่งรถขึ้นมา เห็นไหม นี่พวกสำนักแข่งเวลาเขาแข่งรถเขาต้องมีภาพสนามมา แล้วเอาภาพสนามแล้วเอามาวิเคราะห์กันว่าควรจะทำอย่างไร เขาก็อาศัยนั่นแหละแต่เขาทำจริงด้วย แต่นี้เรายังทำจริงของเราไม่เป็น ถ้าเราทำจริงของเราเป็นนะ เราจะทำของเราได้ ฉะนั้นทำของเราได้มันก็จะแก้ไขตรงนี้มาไง มันจะแก้ไขมานะ

นี่พูดถึงว่าการนั่งสมาธิ.. นี้เขาถามเรื่องการนั่งสมาธินะ อ่านอีกทีหนึ่งเนาะแล้วจบแล้วล่ะ

“หนูมีคำถามเรื่องการนั่งสมาธิ เนื่องจากปกตินั่งเองไม่ได้มีครูกำกับ ก็เลยไม่แน่ใจว่ามาถูกทางหรือเปล่า และปัญหาที่ติดควรจะแก้ตรงไหน หนูนั่งสมาธิแล้วเริ่มรู้สึกว่าชาไปทั่วร่างกาย มีอาการกระตุกตามเส้นเอ็นต่างๆ และบางครั้งรู้สึกดิ่งลงไปเหมือนมุดลงไปในอุโมงค์ แต่พอมาถึงจุดนี้รู้สึกว่าว่างเปล่า ไม่มีความคิดเข้ามาร่วม ไม่สนใจเสียงภายนอก และทุกครั้งที่ถึงจุดนี้ก็พยายามพิจารณากาย แต่ไม่สามารถออกมาพิจารณากายได้ และพอเริ่มจะดิ่งลงมากๆ ก็กลัว เป็นอันต้องถอนจากสมาธิทุกที อยากให้ท่านอาจารย์ช่วยแนะนำว่าปัญหาอยู่ที่อะไร ทำอย่างไรจึงจะสามารถพิจารณากายและเอาวิปัสสนาพิจารณาได้ และทำอย่างไรไม่ให้กลัว”

นี่เราตอบเรื่องการพิจารณากายเลยเนาะ แต่เริ่มต้นตรงนี้น่าสนใจที่ว่า “เริ่มรู้สึกว่าชาไปทั่วร่างกาย แล้วมีอาการกระตุกตามเส้นเอ็นต่างๆ”

อันนี้นะเวลาเรานั่งเราจะเกิดการโยก การคลอน การต่างๆ อันนี้ให้พุทโธไว้เฉยๆ แล้วมันจะจางไปเอง มันจะจางไปเองนะ พอเรานั่งปั๊บ.. เด็กนะเวลาปล่อยมันเล่นตามสบายนี่มันไม่มีปัญหาเลย เด็กพอให้นั่งสงบๆ เด็กจะมีปัญหาต่อต้านทันที

จิตนี่มันปล่อยตามสบายไป มันไปตามสบายของมัน แต่พอเรามีสติ พอเราควบคุมปั๊บมันจะมีปฏิกิริยาของมัน แล้วเราค่อยๆ ดูแลมันไปจนกว่ามันจะเข้าที่ พอเข้าที่ไปแล้วก็จะออกมาเป็นอย่างนี้แหละ ออกมาเริ่มไม่มีเสียง

ไอ้คำที่ว่า “รู้สึกว่างเปล่า ไม่มีความคิด ไม่ได้ยินเสียงภายนอก” อันนี้มันเป็นผลของมันแล้ว มันเป็นผลของจิตที่เป็นแล้ว แล้วจะพิจารณากายไม่ได้นี่ เพราะอยู่ในสมาธิพิจารณาไม่ได้ อยู่ในสมาธิที่ลึกพิจารณาไม่ได้ แต่ในการพิจารณาต้องอาศัยสมาธิ สมาธิในอุปจารสมาธิพอดี

ขณิกะนี่อ่อนไป ขณิกะก็แบบว่าจับจดเกินไป สมาธิอ่อนคือการจับจด จิตไม่มั่นคง จิตทำอะไรไม่ได้ แต่อุปจารสมาธินี่จิตเริ่มเข้มแข็งไม่จับจด ทำงานเฉพาะส่วน ทำงานด้วยความจริงจัง อัปปนาสมาธินี่มันเลยความจับจด เลยความแบบว่าเพ่งเกร็งเกินไปแล้ว ไปอยู่ในส่วนที่ว่าทำอะไรไม่ได้

ฉะนั้นเวลาเข้าอัปปนาสมาธิแล้วมันจะต้องออกมาเป็นอุปจาระ อุปจาระนี่พอดี แต่ถ้าเป็นขณิกะก็อ่อนไป ถ้าเข้าขณิกะครั้งแรกก็อ่อนไป มันถึงอุปจาระพอดี ถ้าอัปปนาก็เข้มไป.. อ่อนไปก็ไม่ได้ แก่ไปก็ไม่ได้ ต้องปานกลาง มัชฌิมาพอดี ! มันจะเป็นปัญญาของมันทันที

ฉะนั้นสิ่งที่มันพอดีมันต้องฝึกหัดไง ฉะนั้นเวลาไปแล้วมันจะเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ ถ้าพูดถึงว่าพอเริ่มกลัว กลัวก็นี่อธิบายหมดแล้วเนาะ นี้อ่านปัญหาให้ฟังหมดแล้ว นี่ข้อ ๓๑๓. “การนั่งสมาธิ” เอวัง