เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๖ ม.ค. ๒๕๕๔

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๕๔
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

โลกมันเจริญ.. สมัยก่อนเห็นไหม เวลาที่ว่ามันเป็นธรรมชาติ มันเป็นสิ่งที่โลกยังไม่เจริญ การฟังธรรมนี้แสนยาก.. เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์ธรรมจักร เทวดาส่งข่าวเป็นชั้นๆๆ ขึ้นไปเลย “จักรได้เคลื่อนแล้ว ย้อนกลับอีกไม่ได้”

จักรได้เคลื่อนแล้วเพราะอะไร เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว แล้วเวลาแสดงธรรมจักรนั่นเป็นความจริง แต่แสดงอยู่ที่ป่ามฤคทายวัน อยู่ที่นั่นมีอยู่ ๕ คน มีปัญจวัคคีย์ แต่อันนั้นนะธรรมจักรมันเป็นปฐมเทศนา อันนั้นฟังธรรมนี้ฟังได้ยากเพราะว่าสมัยโบราณเทคโนโลยีมันไม่มี สมัยนี้พอมันมีขึ้นมานี่มันฟังธรรมๆ แต่ธรรมะมันมีหยาบมีละเอียดนะ แล้วฟังธรรมนี่เราบอกว่าฟังธรรมไม่เป็น

คนฟังธรรมไม่เป็น เห็นไหม เราเจอบ่อยมาก เวลามาวัดนี่ว่า “เมื่อไหร่หลวงพ่อจะเทศน์ซะที เมื่อไหร่หลวงพ่อจะเทศน์ซะที” เพราะวัฒนธรรมของเราก่อนจะฟังเทศน์ต้องขึ้นนะโม ตัสสะก่อน ต้องขึ้นธรรมาสน์ถึงจะว่าเป็นการเทศนาว่าการ

แต่ถ้าเป็นการแสดงธรรมเขาบอกว่า “นี่ไม่ใช่แสดงธรรม นี้เป็นการคุยกันเพื่อนฝูง” การคุยกันเพื่อนฝูงนี่นะมันเข้าถึงหัวใจได้มากกว่านะ แต่ถ้าการแสดงธรรมอย่างนั้นนี่มันเป็นวัฒนธรรม

การแสดงธรรม.. ธรรมมันมาจากไหน ถ้ามันเป็นธรรมมาจากหัวใจนะ ดูสิ เราศึกษานะ ว่าโลกนี้เป็นอนิจจัง คนเราเกิดมาแล้วต้องตายหมด นี่เราก็รู้ทั้งนั้นแหละ แต่มันเป็นการศึกษาอย่างหนึ่ง ดูสิ เวลาเราศึกษา การศึกษาการเล่าเรียนนี่อย่างหนึ่ง ทางวิชาการเราศึกษามาแล้วเป็นวิชาชีพ เราลงไปปฏิบัติ ไปทำกิจกรรมหรือเราไปทำวิชาชีพ ถ้าประสบความสำเร็จนั้นเป็นอีกอย่างหนึ่ง แล้วพอเป็นอีกอย่างหนึ่ง..

นี่พูดถึงทางโลกนะ แต่ถ้าเป็นทางธรรมล่ะ เป็นอีกอย่างหนึ่งนี่เป็นแล้วมันติดไหม ดูสิเวลาคนนะ คนเราหาเงินหาทองมาแล้วรู้จักใช้สอย คนนั้นจะไม่เป็นขี้ข้าของแก้วแหวนเงินทอง แต่ถ้าใครหามาถ้ามันติดพัน บางคนหาเงินมาแล้วนะใช้ไม่เป็น แล้วไม่กล้าใช้ ใช้ไม่ได้ นี่มันเป็นห่วงเป็นใยไปหมดเลย เห็นไหม เราเป็นคนที่หามา เราเป็นเจ้าของเขา ทำไมเราไปเป็นทาสของเขาล่ะ.. นี้พูดถึงทางโลกเวลามันติดไง

นี่เวลาเราประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน ถ้าเราปฏิบัตินะ นี่เราศึกษามาแล้วเราได้แต่ชื่อมันมา แล้วเรามีแต่ความวิตกกังวล แล้วเวลาปฏิบัติขึ้นไปแล้ว เห็นไหม การปฏิบัติเหมือนกับเราประกอบสัมมาอาชีวะ ถ้าประกอบสัมมาอาชีวะประสบความสำเร็จ อันนั้นถึงจะเป็นความสำเร็จ

ในการประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน ถ้าเราทำสติ เราตั้งสติของเรา เราเกิดสมาธิของเราขึ้นมา เราเกิดปัญญาของเราขึ้นมา เราจะรู้เลยว่าความแตกต่างระหว่างโลกียปัญญากับโลกุตตรปัญญามันแตกต่างกันอย่างใด ในปัจจุบันนี้เป็นโลกียปัญญา

โลกียะมันคืออะไร.. คือคนเรานี่ห้ามความคิดไม่ได้ ความคิดของคนนี่ห้ามไม่ได้หรอก แล้วความคิดมันเกิดขึ้นมาเราก็เข้าใจว่าอันนั้นเป็นปัญญาแล้วไง เราเข้าใจว่าความคิดอันนี้มันเป็นปัญญา แต่ปัญญาอันนี้มันเกิดบน..

ความคิดเกิดบนอะไร ? ความคิดมันเกิดบนจิต..

จิตมันคืออะไร ? จิตคือพลังงาน จิตคือภวาสวะ ความคิดนี้เกิดบนจิต..

จิตมันคืออะไร ? จิตมันมีอวิชชา ความคิดนี้เป็นความคิดของกิเลสทั้งหมด.. ทั้งๆ ที่คิดเรื่องธรรมะนี่แหละ ! แต่เป็นเรื่องกิเลสทั้งหมด เพราะกิเลสมันพาคิด

“มารเอย.. เธอเกิดจากความดำริของเรา ! มารเอย.. เธอเกิดจากความดำริของเรา”

ความดำริกับความคิดอันเดียวกันไหม ? ความดำรินี่มันละเอียดกว่าความคิดอีก.. ความดำรินี่ละเอียดกว่าความคิด แล้วมารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา.. แล้วความคิดเกิดจากกิเลสไหม พอมันเกิดจากกิเลส พอเวลาเราคิดไปด้วยปัญญาของเรา นี่เราเข้าใจของเราไง เราเข้าใจของเราว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา เราก็ใช้ปัญญาของเรา

เราใช้ปัญญากันใหญ่เลย โอ้โฮ.. อย่างนี้เป็นปัญญาๆ นะ เวลาปฏิบัติแล้วนะต้องสะดวกต้องสบายนะ เวลาปฏิบัติไปแล้ว เห็นไหม เมื่อก่อนเป็นคนขี้โกรธ ขี้โลภ ขี้หลงน่าดูเลย พอมาปฏิบัติธรรม เดี๋ยวนี้เป็นคนดีหมดเลย.. มันยังไม่โดนอะไรกระทบ มันยังไม่โดนอะไรไปสะกิด ถ้าสะกิดแล้วนะไอ้ที่ว่าไม่มีกิเลสๆ ดูซิ มันจะออกไหม ออกมาทั้งนั้นแหละ มันเป็นเรื่องไม่จริง แต่ถ้าจะเอาเรื่องความจริงล่ะ เอาเรื่องความจริงเราต้องเผชิญกับความจริงไง

เราเผชิญกับความจริง เห็นไหม กว่าเราจะเอาใจของเราให้อยู่ในอำนาจของเรา กว่าเราจะทำความสงบของใจขึ้นมา เขาบอกว่าทำความสงบของใจทำทำไม มันเสียเวลา ใช้ปัญญาไปเลย.. เวลาโจรมันปล้นนี่นะ เวลามันวางแผนกันนะ ถ้าสมาธิมันดีนะมันวางแผนได้ลึกซึ้ง ดูสิ เดี๋ยวนี้เขาปล้นธนาคารเขาขุดเข้าไปนะเข้าไปเปิดธนาคาร นี่มันวางแผนไหม ? ปัญญาหรือเปล่าน่ะ ? ปัญญาหรือเปล่า ? ปัญญาทั้งนั้นแหละ แต่ปัญญาใช้ในทางที่ผิด

นี่ก็เหมือนกัน แล้วถ้าเราทำความสงบของใจเราเข้ามาล่ะ ถ้าความสงบของใจนะ ถ้าใจมันสงบเข้ามานี่มันควบคุมระหว่างความถูกความผิดนี่ไง นี่ถ้าเวลาเรามีศีล มีสมาธิ มีปัญญา.. ถ้าไม่มีศีลทำสมาธิได้ไหม ? ได้ ถ้าคนทำสมาธิได้แล้ว เวลาทำสมาธิแล้วเขาใช้อะไร เขาใช้สมาธิของเขา

สมาธินะ.. เวลามีสมาธิขึ้นมา ดูสิ เวลาทำคุณไสย ทำสิ่งต่างๆ มนต์ดำนี่ นั่นล่ะเขาใช้สมาธินะ ถ้าสมาธิใครละเอียดลึกซึ้ง สิ่งที่เขาทำจะมีคุณภาพ แต่ถ้าสมาธิเขาอ่อนแอ คุณภาพนั้นมันจะอ่อนแอไปด้วย เห็นไหม มันก็ต้องใช้สมาธิเหมือนกันแหละ แต่ถ้ามีศีลขึ้นมา.. ปาณาติปาตา อทินนา

ปาณาฯคือไม่ล่วงเกินกัน ไม่ทำร้ายกัน นี่แล้วเวลาเราทำร้ายไปนี่มันผิดศีล มันผิดศีลเราก็รู้ว่ามันผิดศีล เราเป็นคนทำเอง เราเป็นคนตั้งใจเอง แล้วเราทำไป เราถือศีลนี่เรารู้ไง เห็นไหม เราทำเองเรารู้เอง ศีลนี่มันทำให้สมาธิเป็นสัมมาสมาธิ

ศีล สมาธิ ปัญญา ! ถ้ามีศีลขึ้นมา ศีลคือความปกติของใจ เวลาเราทำอะไรนี่มันกระทบกระเทือนเรารู้อยู่แล้ว พอรู้อยู่แล้ว พอเวลาทำเข้ามา มันทำเข้ามาให้จิตสงบเข้ามานี่มันจะสงบได้อย่างไร เพราะมันมีความระแวดระวังมาตั้งแต่ถือศีลแล้วไง พอสมาธิมันเข้ามา สมาธินี่.. เพราะคำว่ามีสมาธินะ ดูสิ ดูเด็กนะ เด็กที่มันใช้ปัญญากัน เด็กที่สมาธิสั้น เขาทำอะไรเขาจะสะดวกตามใจของเขา เด็กที่มันสมาธิยาว เด็กที่มีจุดยืนมากกว่า เห็นไหม เด็กคนนั้นจะฉลาดกว่า

จิตใจเหมือนเด็ก.. ถ้าจิตใจมันมีสมาธิขึ้นมา เห็นไหม เหมือนเด็ก เหมือนจิตที่มีสมาธิขึ้นมานี่ เด็กคนนี้จะควบคุมตัวเองได้มากกว่าเด็กที่มีสมาธิสั้นใช่ไหม เด็กที่ควบคุมตัวเองไม่ได้ก็อย่างหนึ่ง เด็กที่ควบคุมตัวเองได้เป็นอย่างหนึ่ง

จิตที่ควบคุมไม่ได้เป็นอย่างหนึ่ง ! จิตที่ควบคุมได้เป็นอย่างหนึ่ง !

จิตที่ควบคุมไม่ได้คือปัญญาที่เราใช้กันปกตินี่ไง มันควบคุมไม่ได้หรอก.. แล้วมันเกิดขึ้นมานี่ เพียงแต่เราศึกษาธรรมของพระพุทธเจ้า เราศึกษาธรรมว่านี่คือธรรมะๆๆๆ แล้วปฏิบัติแล้วสบาย.. มันเป็นการปฏิเสธไง ปฏิเสธข้อเท็จจริง

ดูสิ ถ้าเราได้ทานข้าวขึ้นมานี่เรารู้ถึงความอิ่มใช่ไหม ถ้าเราไม่ได้ทานข้าวแล้วเรานึกว่าอิ่มมันอิ่มไหม นี่ก็เหมือนกัน จิตถ้ามันยังไม่มีการปฏิบัติ มันยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงของมัน มันไม่มีศีล สมาธิ ปัญญาขึ้นมานี่ มันชำระกิเลสได้อย่างใด มันมีอะไรไปชำระกิเลส มันมีอะไรขึ้นต้น มันมีอะไรเป็นจุดเริ่มต้น แล้วมีอะไรไปจบขบวนการของมัน มันทำได้อย่างไร

ขบวนการของจิตที่มีการกระทำมันต้องมีเริ่มต้น มีระหว่างกระทำ เห็นไหม ระหว่างๆ นี่ ระหว่างที่มันมีการกระทำ พอระหว่างปั๊บเราก็บอกว่าอันนี้เป็นความทุกข์ อันนี้เป็นความที่เราวิตกกังวล อันนี้เป็นสิ่งที่เราไม่อยากทำ.. มันเป็นธรรมดา ไม่อย่างนั้นคนเรานี่ การปฏิบัติเรา ทำไมเวลาทำความสงบของใจเข้ามาทำไมติดสมาธิล่ะ

เวลาทำความสงบของใจนะเราเข้าใจ นี่ตอนนี้ที่เขาปฏิบัติกัน ที่หลงทางกัน หลงทางกันว่าเขาทำปัญญาอบรมสมาธิ คือพยายามบังคับใจของเราเข้ามาสู่ความสงบ เขาคิดว่าอันนั้นเป็นผลไง แต่เวลาทำขึ้นมาติดสมาธิแล้วนี่..

คำว่าติดสมาธิคือคิดว่าสมาธิเป็นนิพพานไง ถ้าเข้าไปถึงสมาธิแล้วก็ว่าสมาธิมันว่างๆ ก็คิดว่าสมาธิเป็นนิพพาน พอคิดว่าสมาธิเป็นนิพพาน เห็นไหม นี่มันต้องออกทำงาน พอออกทำงานนี่มันไม่ยอมทำ ถ้าออกทำงานอันนั้นมันถึงเป็นวิปัสสนา วิปัสสนาอันนี้มันถึงธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ไง ที่ว่าวิปัสสนาๆ ที่ว่าฆ่ากิเลสนี่มันเป็นปัญญาอันนั้น ปัญญาอันนั้นเขาเรียกโลกุตตรปัญญา.. อันนี้อันที่เป็นปัญญาเราคือโลกียปัญญา อันนั้นเป็นโลกุตตรปัญญาคือปัญญาที่พ้นจากโลก ถ้าปัญญาที่พ้นจากโลกนี่มันเป็นอย่างไร..

นี้พูดถึงธรรม เห็นไหม เราศึกษากันมาแล้ว นี่การศึกษาเป็นอย่างหนึ่ง ศึกษามาแล้วมีความจำ นี้พอเป็นความจำขึ้นมานี่เราบังคับตัวเราเอง ด้วยจริต ด้วยนิสัยนะ ถ้าจริตนิสัยของคนควบคุมตัวเองได้ดีมาก บางคนควบคุมตัวเองไม่ได้.. นี่มันมีกรรมเก่า กรรมใหม่นะ เราจะบอกว่าเราพูดไปแล้วนี่มันกระเทือนถึงคนบางคน บางคนถ้าเป็นอย่างนั้นก็ว่ากระเทือน

คำว่ากระเทือนนี่เราต้องเข้าใจว่าสิ่งนี้มันเป็นเรื่องสุดวิสัย เขาเรียกว่าวิบาก.. วิบากนี่มันมาแต่อดีต คำว่าวิบากมันเกิดขึ้นมาแล้วนี่วิบาก ! วิบากมันเป็นผลไง ผลของการกระทำ กรรมเก่ามันสร้างมา สิ่งที่เราประสบกันอยู่นี้มันเกิดจากกรรมเก่า กรรมใหม่ มันมีกรรมเก่ามา.. กรรมใหม่คือกรรมปัจจุบันนี้ คือเวลาปัจจุบันนี้ไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบอกว่าการปฏิบัติธรรม.. นี่เป็นปัจจุบันธรรม !

ปัจจุบันธรรมคือปฏิบัติเดี๋ยวนี้ การปฏิบัติเดี๋ยวนี้ รู้เดี๋ยวนี้ พฤติกรรมเดี๋ยวนี้ แต่สิ่งที่เป็นเดี๋ยวนี้มันต้องมีผลรองรับ.. ผลรองรับ เห็นไหม ผลรองรับคือกรรมเก่า กรรมเก่าทำให้เราเกิดเป็นมนุษย์ เพราะการเกิดเป็นมนุษย์นี้ เราเกิดเป็นมนุษย์แล้วนี่มันเป็นจริตนิสัย นี่มันมีกรรมเก่า ทีนี้กรรมเก่านี่เราจะปฏิเสธว่าเวลาเราปฏิบัติแล้วเหมือนนักกีฬาเลยสตาร์ทที่เดียวกัน

ใช่ ! สตาร์ทจุดเดียวกันนะ แต่ต้นทุนไม่เหมือนกัน ต้นทุนของใจนี่มันไม่เหมือนกัน ต้นทุนของคนทำดีทำชั่วมาของใจมันไม่เท่ากัน ถ้าไม่เท่ากันนี่มันเป็นที่จริตนิสัย มันเป็นมุมมอง มันเป็นทัศนคติ มันถึงแตกต่างกัน.. ทีนี้ทัศนคติแตกต่างกัน ต้นทุนแตกต่างกัน เวลาปฏิบัติจะให้เหมือนกันนี่มันเป็นไปได้อย่างใด มันเป็นไปไม่ได้เพราะต้นทุนที่มามันแตกต่างกัน พฤติกรรมของจิตมันมาแตกต่างกัน

นี้การแตกต่างกัน ใครแตกต่างกันอย่างใด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอน เอตทัคคะ เห็นไหม นี่พระอรหันต์ ๘๐ องค์ที่เลิศๆ นั่นน่ะต้นทุนแตกต่างกัน แล้วผลออกมาก็แตกต่างกัน แล้วการกระทำของเรานี่ เราปฏิบัติของเรามันก็อยู่ที่ใจของเราใช่ไหม เราถึงบอกว่ามันเป็นวิบาก มันเป็นผลของเรามาแล้ว มันเป็นกรรมเก่าคือสิ่งที่เราทำมาอย่างนี้เอง กรรมเก่านี่ พอศาสนาสอนเรื่องกรรมมันก็เหมือนว่ามันเป็นการปฏิเสธ เป็นการไม่ยอมรับความจริง

ยอมรับความจริง แต่ความจริงมันมีที่มา ! กรรมเก่าคือที่มา ที่มาที่ว่าเป็นเรานี้.. นี่ที่มานี้ใครปฏิเสธที่มาของเราได้ ใครปฏิเสธเราได้ ในปัจจุบันนี้ ที่ทำอยู่ปัจจุบันนี้มันจะเป็นที่มาไปข้างหน้า แล้วถ้าเราทำอยู่เดี๋ยวนี้บอกไม่มีกรรมๆ พอมันมีผลไปข้างหน้า เราก็ไปปฏิเสธเอาข้างหน้าว่าสิ่งนั้นไม่ถูกต้อง ไม่ถูกต้อง.. ไม่ถูกต้องก็เราทำอยู่นี่ไง สิ่งที่เป็นหัวใจของเรานี่มันไม่ถูกต้อง หรือจะถูกต้องมา มันเป็นสิ่งที่ว่าเป็นจริตนิสัย เป็นการสร้างมา นี้การสร้างมาต้นทุนมันไม่เหมือนกัน เราถึงจะต้องมาแก้ไขของเรานี่ไง

ปัจจุบันธรรมนะ ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้.. ศีล สมาธิ ปัญญา เพราะถ้าไม่มีศีลเป็นตัวกลาง ทุกคนจะบอกว่าเราทำถูกต้องหมด แล้วถ้าศีลแล้วนี่ ศีลของคน เห็นไหม มันจริตนิสัยอีกแหละ เข้มข้น ปานกลางหรืออ่อนขนาดไหน แต่ ! แต่ถ้ามันพ้นจากสิ่งนี้ไป พ้นจากการควบคุมนี้ไป นี่มันออกเป็นมิจฉาได้

ฉะนั้นถ้าอยู่ในศีล ศีลนี่มันทำให้เป็นสัมมา สัมมาคือไม่ออกนอกลู่นอกทางไง ทุกคนจะเข้าข้างตัวเอง ทุกคนจะเห็นว่าตัวเองถูกต้อง แต่จะถูกต้องหรือไม่ถูกต้องตัดสินกันด้วยศีล.. ศีลนี้เป็นตัวหลัก

แต่ศีลนี่มันมีอย่างหยาบ มีอย่างกลาง มีอย่างละเอียด มันแตกต่างกัน ฉะนั้นถ้าบอกว่ามันต้องตรงเปรี๊ยะ ตรงเปรี๊ยะนี่เหมือนเถรส่องบาตรไม่ได้หรอก.. การปฏิบัติ เวลาเราทำงาน เห็นไหม จะทำตามกฎหมดตลอดไปนี่มันทำงานไปไม่ได้ ทำตามกฎอยู่ แต่บางอย่างมันมีเทคนิคที่จะต้องทำไปให้ได้

นี่ก็เหมือนกัน เวลาปฏิบัติมันต้องมีอุบาย มีวิธีการที่เราจะทำให้หัวใจนี่ผ่านวิกฤติ ผ่านวิกฤติที่ว่ามันต่อต้าน เวลามันมีประสบการณ์ในใจนี่เราจะผ่านวิกฤติอันนี้ไปเป็นเปราะๆๆ ไปนะ.. แล้วเวลาผ่านวิกฤติอย่างนั้น ใครผ่านวิกฤติมาก จิตของใครสมบุกสมบั่นมาก มันจะมีประสบการณ์มาก อันนี้จะมาสอนลูกศิษย์ลูกหา

ครูบาอาจารย์เราที่สอนลูกศิษย์ลูกหานี่สอนออกมาจากประสบการณ์ของจิต จิตมันวิกฤติมากน้อยแค่ไหนเขาจะมีปัญญามาก ถ้าใครขิปปาภิญญานะ ตรัสรู้เร็ว ง่ายนี่ เวลาเขามาบอกว่าปัญหาเป็นอย่างนั้น.. มันไม่น่าจะมีเพราะเราไม่เคยเจอ มันไม่น่าจะเป็นเพราะมันไม่เคยเจอ แต่ครูบาอาจารย์ของเราแต่ละองค์นะ บางองค์นี่ผ่านวิกฤติมารุนแรงมาก บางองค์ปฏิบัติราบเรียบมานี่ เวลาแสดงธรรมมันจะออกมาจากประสบการณ์นี่ล่ะ

ถ้าประสบการณ์ของครูบาอาจารย์บางองค์ของเรา ประสบการณ์นี่ผ่านวิกฤติมามาก วิกฤติอันนั้นเวลาใครเจอ “นี่เราเจอแล้ว เราเจอแล้ว.. เราเจอแล้วแล้วเราข้ามมาอย่างไร เราแก้ไขมาอย่างไร” แล้วก็จะแนะนำกันตามประสบการณ์นั้น แต่ถ้าครูบาอาจารย์ท่านยังไม่เคยเจอ มันก็ต้องค้นหา.. นี่พูดถึงการหาครูบาอาจารย์ ผู้ที่ชำนาญการแต่ละแขนงแต่ละอย่าง เอตทัคคะ ๘๐ องค์นะ นี่ประสบการณ์ของจิต

ฉะนั้นเราจะบอกว่าเวลาเราปฏิบัติขึ้นมา การศึกษานี่เราศึกษาแล้ว ศึกษามาเป็นแผนที่ เราลงไปในพื้นที่นะ สิ่งที่ในแผนที่ไม่บอกอีกมหาศาลเลย ฉะนั้นการศึกษานี่ สาธุ.. ถูกต้องหมดแหละ นี่พระไตรปิฎกนี้ถูกต้องหมดแหละ แต่เพราะความเห็นของเรามันผิด ความเห็นของเราให้คะแนนตัวเองมากเกินความเป็นจริง แต่พอเราปฏิบัติขึ้นมาแล้วพอมันเป็นความจริง นี่กับทฤษฏีนั้นกับแผนที่นั้นอันเดียวกันเลย

แต่ปัจจุบันนี้ที่มันมีปัญหาอยู่ ปัญหาของเราว่าเราให้คะแนนเกินไป หรือเราบอกว่ามันเป็นไปไม่ได้ เห็นไหม เราคิดของเรากันไปเอง แต่ถ้าไปถึงจุดนั้นแล้วนะทฤษฏีกับความเป็นจริง ดูสิ ผู้ประสบความสำเร็จทางโลก เห็นไหม เขาประสบความสำเร็จแล้วนี่ เขาก็เสียสละของเขามาสอนนักศึกษา เพื่อเอาประสบการณ์ของเขานี่มาสอน..

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประสบความสำเร็จมาแล้ว แล้วเขียนธรรมวินัยไว้ วางธรรมวินัยไว้นี่เป็นความจริง แต่เรายังไม่มีความจริงของเรา เราจึงต้องตั้งใจของเรา เราจะเอาคุณงามความดีไง

เราได้ทำบุญกุศลกันแล้วนะ เราเป็นชาวพุทธนะ เราเชื่อในพุทธศาสนา เราได้ทำบุญกุศล บุญกุศลจะเป็นที่พึ่งอาศัย อกุศลทำให้เราทุกข์เรายาก แล้วสิ่งที่เป็นธรรม.. เป็นธรรมคือว่ามันไม่เป็นอามิส มันเป็นธรรมในข้อเท็จจริงของมัน

“สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี”

ความสุขที่แสวงหากันนี้ เราแสวงหาปัจจัยเครื่องอาศัย ได้สิ่งใดเป็นอามิส พอใจแล้วมีความสุข.. ความสุขเกิดจากได้รับ ได้เสพ กับความสุขเกิดจากตัวมันเอง ความสุขเกิดจากความอิ่มเต็มของตัวมันเอง แล้วความสุขกับการชำระกิเลส เห็นไหม มันแตกต่างกัน มันละเอียดลึกซึ้งแตกต่างกัน มันถึงต้องมีวิธีการ มีการกระทำที่แตกต่างกัน เพราะผลมันแตกต่างกัน เหตุมันต้องแตกต่างกันเป็นธรรมดา.. เราต้องตั้งใจของเรา ทำของเรา เพื่อประโยชน์กับเรา

เราเกิดมาชาตินี้แล้วนะ เราเกิดมาเป็นชาวพุทธ พบพุทธศาสนา.. เราจะหยิบฉวยจับต้องสิ่งใดเป็นประโยชน์กับชีวิตของเรา เป็นประโยชน์กับจิตของเรา สมบัติเครื่องอาศัยทุกคนก็หามานี่ เราก็รู้กันอยู่ มีมากหรือมีน้อยก็ทุกข์เหมือนกัน คนจนก็ทุกข์ประสาคนจน คนชั้นกลางก็ทุกข์ประสาคนชั้นกลาง คนรวยก็ทุกข์ประสาคนรวย ทุกข์ทั้งนั้นแหละ เพราะอะไร เพราะจิตใจ เห็นไหม จิตใจมันไม่มีอะไรเป็นที่รองรับมัน จิตใจมีธรรมะเท่านั้นเป็นที่รองรับมัน

อย่างเช่น ปัจจุบันนี้เราก็เอาปัญญาของเราแยกแยะดีหรือชั่วนี่รองรับมัน ถ้ามีปัญญาแยกแยะดีหรือชั่ว นี่รองรับไว้ก่อน เห็นไหม แล้วถ้าเราปฏิบัติขึ้นมา เราเห็นคุณเห็นโทษขึ้นมา นี่มันรู้ของมันเอง เด็กมันไม่รู้จักไฟมันอยากเล่นนะ เด็กมันไปจับไฟแล้วมันร้อนนะมันรู้ของมันเอง แล้วมันจะไม่กล้าจับ

จิต.. ถ้ามันได้ประสบการณ์ของมันแล้วมันจะรู้ตัวของมันเอง มันจะรักษาตัวของมันเอง เพื่อประโยชน์กับมัน เอวัง