ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

นิสัยของจิต

๑๖ ม.ค. ๒๕๕๔

 

นิสัยของจิต
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ปัญหานะ ข้อ ๓๑๗.

ถาม : ๓๑๗. สวดมนต์ทำวัตรเช้าเย็น แล้วตัวโยกทวนเข็มนาฬิกา หลับตาหรือลืมตาก็เป็นมา ๖ เดือนแล้ว

หลวงพ่อ : เวลาสวดมนต์นะ “สวดมนต์ทำวัตรเช้าหรือทำวัตรเย็น ตัวโยกคลอนทวนเข็มนาฬิกา หลับตาหรือลืมตา เป็นมา ๖ เดือนแล้วค่ะ”

เวลาสวดมนต์นะ เวลาสวดมนต์ นั่งสมาธิ เวลานั่งไปแล้วมันมีอาการโยก อาการคลอน อาการโยก อาการคลอนของคน โดยธรรมชาตินะ เช่นเด็กขับมอเตอร์ไซด์ หรือใครขับมอเตอร์ไซด์ต่างๆ ตัวมันจะโยกคลอนเป็นธรรมดา แต่เขาไม่วิตกกังวล เขามีความรู้สึกสนุกครึกครื้นของเขา เขาทำสิ่งใดแล้วมันเป็นความครึกครื้นของเขา เขาทำแล้วนะเขาไม่มีอะไรฝังใจเขา แต่พอเรานี่ เราเข้าใจของเราว่าเวลานั่งสมาธิตัวต้องตรง นั่งตรงแล้วทุกอย่างจะเรียบร้อยหมด ทีนี้พอมันโยกคลอนขึ้นมาจิตใจมันก็เริ่มสงสัย พอสงสัย นี่มันมีความสงสัยมีสิ่งต่างๆ เราใช้คำว่า “แผ่นเสียงตกร่อง”

สิ่งใดที่มันเป็นประเด็น ที่มันเป็นสิ่งที่วิตกกังวล พอวิตกกังวลมันมีการต้าน มีแรงต้าน พอแรงต้านจิตมันไม่ชอบ.. จิตชอบหรือไม่ชอบ ถ้าสิ่งใดฝังใจแล้ว เวลาภาวนาไปสิ่งนี้มันจะแสดงออก นี้การโยกการคลอนเพราะเราไม่ต้องการ ถ้าการโยกการคลอนโดยธรรมชาติของคน คนมันโยกคลอนมันเป็นธรรมดาอยู่แล้ว แล้วถ้าจิตใจของคนมันไม่ฝักใฝ่ จิตใจมันตั้งกำหนดจิตธรรมดา จิตมันจะสงบไป หรือสวดมนต์อยู่กับบทสวดมนต์ แต่เราคัด..

อย่างเช่นไง เช่นปัจจุบันนี้ เห็นไหม โทษนะผู้หญิงนี่ต้องการผิวขาว ทุกคนจะขัดผิวกันอย่างใหญ่เลย แล้วพอผิวดำหน่อยนะ แหม.. ไม่พอใจเลย นี่มันอุปาทานไง อุปาทานของเราต้องเป็นคนผิวขาว.. ผิวขาว ผิวดำ ผิวปานกลางก็แล้วแต่ ความงามงามอยู่ที่จิตใจ จิตใจคนประเสริฐคนนั้นประเสริฐ

นี่ก็เหมือนกันตัวโยกตัวคลอนเราบอกมันเป็นอาการ มันเป็นอาการเฉยๆ แต่ความจริงนะ ความจริงคือจิตมันจะสงบของมัน ฉะนั้นสิ่งนี้มันเป็นอาการโยกเฉยๆ แต่เราไปวิตกกังวลกับมันใช่ไหม พอวิตกกับมัน มันก็เลยฝังใจ พอฝังใจนี่แผ่นเสียงตกร่อง พอถึงจุดนี้มันจะมีอาการของมัน แล้วเวลาโยกคลอนนะ.. เวลาการภาวนาของคนนะ จิตเวลามันเข้าไปเหมือนคน เรานี่ออกมาอยู่ในที่ชุมชน ประสบการณ์ของเรา ชีวิตเราเหมือนกันหมดเลย แต่ถ้าเราต่างคนต่างแยกกลับบ้านของตัวเองนะ ต่างคนกลับไปที่อยู่ของตัวเอง ในที่อยู่ของตัวเองนั่นน่ะมีอะไรที่ขาดตกบกพร่องบ้าง ในที่อยู่ของตัวเอง

นี่ก็เหมือนกัน เวลาจิตมันจะเข้าสู่ความสงบ มันจะกลับเข้าไปสู่ในใจของตัวเองไง ถ้ากลับเข้าสู่ใจของตัวเอง นี่บุญกรรมต่างๆ มันแสดงออกมา บางคนสงบเฉยๆ สงบโดยที่ไม่มีอะไร จนเขาแปลกใจนะ มีหลายคนมากเวลาจิตเขาสงบแล้วเขาจะแปลกใจว่า ทำไมคนถามเรื่องนู้นเรื่องนี้ ทำไมเขาไม่เป็นเลย แสดงว่าบ้านของเขาเรียบร้อย ในบ้านของเขานี่จัดไว้เรียบร้อยหมดเลย แต่เราเข้าไปบ้านของเรา บ้านของเราจะมีการขาดตกบกพร่อง ไม่สิ่งใดก็สิ่งหนึ่ง ในบ้านเราทุกคนจะมีความบกพร่องเรื่องนั้นเรื่องนี้ หลายๆ เรื่องของใครของมัน

จิตเวลามันจะเข้าสู่ความสงบนะ นี่จริตนิสัยมันจะแสดงออกของมัน ถ้าอาการโดยอุปาทาน โดยความฝังใจ มันจะโยกคลอนอย่างไรนะเราสวดมนต์ชัดๆ สวดมนต์ชัดๆ สิ่งนั้นจะค่อยจางคลายไป จางไป จางไป จนมาสู่ปกติ ถ้าจิตมันเป็นปกติแล้ว เวลาเรานั่งสวดมนต์ เรานั่งทับเท้าเราต่างๆ มันจะเกิดเหน็บชาบ้างเกิดอะไรบ้าง มันเป็นเรื่องธรรมดา มันเป็นเรื่องธรรมดา

ขณะถ้าจิตใจเราไม่ฝักใฝ่ จิตใจเราไม่สนใจนะ สิ่งนั้นเขาก็มีของเขาแต่ไม่เป็นประเด็น แต่ถ้าจิตใจเราสนใจสิ่งนั้น ไปยึดสิ่งนั้น สิ่งนั้นจะมีปัญหาขึ้นมาทันทีเลย มันอยู่ที่ใจเราด้วย ถ้าเรารักษาใจเรา เห็นไหม อาการตัวโยกตัวคลอน เข็มนาฬิกานี่มันยังหมุนไปของมันนะ นาฬิกามันไม่รู้หรอกว่าเวลาเท่าไร คนดูนาฬิกาต่างหากบอกเวลาเท่าไร

อันนี้ก็เหมือนกัน การโยกการคลอน การโยกการคลอนกับจิต นี่เขามาไง เขาถามว่า “สวดมนต์ทำวัตรเช้าเย็น แล้วตัวโยกทวนเข็มนาฬิกา หลับตาหรือลืมตาก็เป็นแบบนี้มา ๖ เดือนแล้ว”

เป็นแบบนี้มา ๖ เดือนแล้ว ถ้าเราทำของเรานะ สวดมนต์อย่างเก่าหรือมากกว่าเดิม ไม่ใช่ว่าเพราะสวดมนต์ หรือเพราะทำวัตรเช้าเย็นมันถึงมีปัญหา ไม่ใช่.. ทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็นเป็นความดี การปฏิบัติของเราเป็นความดี แต่อุปสรรค.. อุปสรรคนี่มันแสดงออกตามนิสัยของจิต ลักษณะของจิต จิตของคนแตกต่างหลากหลาย

ฉะนั้นคำว่าแตกต่างหลากหลาย ถ้าเข้าไปสู่ความจริงสิ่งที่เขาปฏิบัติแล้วไม่มีสิ่งใดเลย ถ้าเป็นฝ่ายที่เขาปฏิบัติแบบนามรูปนี่เขาบอกผิดหมด เพราะอะไร เพราะมันเป็นสมถะ ! เพราะมันเป็นสมถะ เพราะจิตมันเกิดนิมิต จิตมันเกิดอาการต้องใช้ปัญญา พอใช้ปัญญาแล้วจะไม่มีอะไรเลย.. ไม่มีอะไรเลยคือการปฏิเสธไง

เรานี่ต่างคนต่างมาอยู่กันในที่ชุมชน แล้วต่างคนต่างไม่กลับบ้านตัวเองเลย อยู่ในชุมชนนี่ไม่มีอะไรเลย เพราะอยู่ในชุมชนไม่กลับบ้านของตัวมันก็ไม่มีปัญหาสิ แต่ถ้าใครแยกกลับบ้านใครบ้านมันนะ มีปัญหาทันทีเลย เพราะในบ้านนั้นมีความขาดตกบกพร่อง

จิต ! ถ้าเข้าสู่สมาธิ มันเข้าสู่จิต เข้าสู่บ้านใครบ้านมัน เข้าสู่ฐีติจิต เข้าสู่สิ่งที่อวิชชามันสถิตอยู่ เข้าอยู่สิ่งที่มารมันควบคุมอยู่ เราจะแก้ไขเรื่องกิเลสเรื่องมาร เราต้องกลับไปแก้ไขเรื่องกิเลสเรื่องมารที่จิตของเรา ไม่ใช่ไปแก้ที่ชุมชนต่างๆ ว่าไม่มีอะไรเลย สบายๆ เราไปงานกันนี่นะเค้าดาวน์ไปอยู่นี่สนุกมากเลย กลับบ้านไปนี่ไปใช้หนี้นะ กลับไปนะใครมีหนี้ก็ต้องใช้หนี้ ไปนอนก่ายหน้าผากกันที่บ้าน แต่พอเวลามาอยู่ชุมชนมีความสุขหมดแหละ

นี้เพราะว่ามันมี.. มันมีนี่เพราะเวลาปฏิบัติเข้าไปแล้วเราเจออุปสรรค พอเจออุปสรรค ใครไปบอกว่าไปปฏิบัติอีกแนวทางหนึ่งจะไม่มีอุปสรรคเลย จะปูด้วยกลีบกุหลาบ ทางเดินนี้จะเรียบง่ายมาก ไปกันหมดแหละ.. แล้วมันจริงหรือเปล่าล่ะ ถ้ามันเป็นความจริง ปฏิบัติได้นี่เราสาธุนะ ที่เราพูดนี่เราไม่ได้พูดถึงทฤษฎี เราพูดถึงว่า “จริงหรือไม่จริง ได้ผลหรือไม่ได้ผล”

ฉะนั้นถ้ามันมีอุปสรรค เพราะว่าคำพูดที่มันเป็นหลักไง เขาบอกเลยถ้าพุทโธหรือทำสมถะมันจะเกิดนิมิติ มันจะเกิดความบกพร่องไปหมดล่ะ มันจะเสียหาย มันจะทุกข์มันจะยาก มันจะไม่มีอะไรดีเลย แต่ถ้ามันใช้ปัญญานะจะไม่มีอุปสรรคอะไรเลย มันจะเรียบง่าย มันจะสบาย มันจะสะดวก แล้วมันได้อะไรล่ะ มันได้สบายสะดวกอะไรล่ะ มันไม่มีความจริง ไม่มีข้อเท็จจริงในนั้นเลย แต่ถ้าเราจะเอาข้อเท็จจริงมันจะเกิดอาการ ตัวโยกตัวคลอนอะไรเนี่ย

ไอ้ตัวโยกตัวคลอนหรือไม่โยกไม่คลอน.. คนที่ไม่ไม่โยกไม่คลอนก็มีเยอะ คนที่เขาจิตสมาธิ นั่งปั๊บเป็นสมาธิเลยก็มีเยอะ สิ่งนั้นแสดงว่ามันเป็นจริต เป็นนิสัยของเขา นิสัยของจิต ! นิสัยของจิต พันธุกรรมของจิต การกระทำมาของกรรม การกระทำสิ่งต่างๆ มา นี่ไงทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว มันมีเวรมีกรรมกันมาทุกๆ คน เวรกรรมของจิตมันมี แล้วมันไม่ใช่เกิดไม่ใช่ตายชาตินี้ มันเกิดมันตายในพระโพธิสัตว์

ในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่บุพเพนิวาสานุสติญาณ ไม่มีต้นไม่มีปลาย จิตทุกดวงมีเกิดมีตายกันมาตลอด มันซับกันมาตลอด ฉะนั้นพอมาปัจจุบันนี้ นี่นิสัยมันมาอย่างนี้ พันธุกรรมมาอย่างนี้ พอมาปฏิบัติแล้วมันมีอาการต่างๆ เราก็ต้องแก้ไขไปตามนั้นล่ะ ใครเป็นโรคเป็นภัยมากหรือน้อย ก็ต้องแก้ไขโรคภัยของตัวเอง คนเป็นโรคโดยที่ไม่ต้องให้หมอรักษาหายก็มี คนเป็นโรคต้องไปหาหมอก็มี นี่แล้วแต่ไง แล้วแต่เรารักษาไปตามข้อเท็จจริง เพื่อจะให้เป็นตามข้อเท็จจริงของเรา

นี้ตอบแค่นี้ก่อนนะ เพราะข้อที่ ๒ นี่เหมือนกันเปี๊ยะเลย ถามเหมือนกันเลยนะ แต่ ! แต่ที่มาต่างกันนะ

ถาม : ๓๑๘. เรื่อง “ขอเทคนิคเพื่อแก้อาการขาชา ยืนไม่ได้หลังจากนั่งสมาธิ”

กระผมเองได้ติดตามฟังหลวงพ่อมาหลายเดือน ตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายนปีที่แล้ว และได้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับศาสนาพุทธ เกี่ยวกับหลักการปฏิบัติธรรมตามแนวพระป่าเพิ่มขึ้นมากมาย ปกติกระผมจะไปไหว้พระ ๙ วัด โดยเฉพาะวัดพระแก้ว โดยเฉพาะไหว้พระ ๙ วัดกับทางขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ มาหลายครั้ง รวมทั้งไปไหว้พระทำบุญตามวัดต่างๆ มามากมายไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ วัด ก็ได้พบทั้งเรื่องดีๆ และเรื่องที่ทั้งพระและอุบาสก อุบาสิกาพากันทำอะไรเข้ารกเข้าพง

เช่นวัดที่มีการให้หวย ใบ้หวย หินศักดิ์สิทธิ์ ก้อนไม้ศักดิ์สิทธิ์ และพิธีกรรมสะเดาะเคราะห์ หรือพิธีกรรมแปลกๆ อะไรต่างๆ มากมาย เห็นแล้วรู้สึกสลดใจว่าชาวพุทธบางส่วน หรือว่าส่วนมาก หรือแม้กระทั่งพระเองก็พาเข้ารกเข้าพงเข้าป่า ไม่ได้สนใจเลยว่าสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงสอนจริงๆ คืออะไร พากันไปขูดต้นเสากลางวัด เอาแป้งทา หรือเอาน้ำตาเทียนหยดลงในน้ำที่อยู่ในโอ่งในอุโบสถ แล้วก็พากันตีเป็นหวย เป็นตัวนั้นตัวนี้ก็ว่าไป

เห็นแล้วก็สลดใจ แต่ก็ยังรู้สึกว่าโชคยังดีที่กระผมเกิดมาทันช่วงที่มีพระปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เช่นสายหลวงปู่มั่น และอีกหลายท่านที่ไม่ได้กล่าวถึง ที่ยังเป็นแบบอย่างที่ดีให้ชาวพุทธที่สนใจปฏิบัติได้ดำเนินรอยตาม เพราะท่านอาจารย์ต่างๆ ท่านได้ทำให้เห็นแล้วว่ามรรคผลมีอยู่จริงๆ หากเกิดช้ากว่านี้อาจจะเจอแต่พระให้หวย เสกวัตถุมงคล สะเดาะเคราะห์ หรือพิธีกรรมแปลกๆ ต่างๆ แทน

กระผมเพิ่งมาสนใจศาสนาในเรื่องการปฏิบัติจริงๆ ก็ประมาณ ๒-๓ ปีนี้ครับหลวงพ่อ ก่อนหน้านี้ก็ใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วๆ ไป ว่างๆ ก็ไปกินเหล้ากินเบียร์ เมาปวดหัวไปทำงาน แต่ผมแทบจะไม่ได้แตะเหล้ายาปลาปิ้งเลยหลังจากที่ได้สนใจเรื่องการปฏิบัติ แต่ก็มีจิบๆ บ้างนานๆ ที แต่น้อยมากครับ

แล้วเมื่อประมาณ ๒ ปีก่อนนี้มีโอกาสไปถือศีล ๘ ที่วัดที่อยุธยา ๒ วัน ไปฟังหลวงพ่อเทศน์เรื่องรูปนาม ขันธ์ ๕ และอะไรอีกหลายอย่างที่ผมฟังแล้วก็ไม่เข้าใจ หลังจากนั้นก็กลับบ้าน มาหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตว่าที่หลวงพ่อท่านพูดถึงคืออะไร แล้วก็เริ่มฟังและอ่านหนังสือเกี่ยวกับการปฏิบัติว่าเขาทำกันอย่างไรและมีอะไรบ้าง ผมก็นั่งสมาธิบ้างก่อนนอน แต่ถ้าช่วงที่ทำงานเลิกดึก เช่น ๔ ทุ่ม ๕ ทุ่มก็ไม่ได้ทำครับเพราะรู้สึกเหนื่อย แต่เริ่มตั้งแต่วันนี้จะพยายามทำใหม่ ทำให้ต่อเนื่องครับ จะไม่ใช้ข้ออ้างว่าเหนื่อยแล้วครับหลวงพ่อ

ทีนี้อยากจะกราบให้หลวงพ่อแนะนำเทคนิคให้เล็กน้อย คือว่าเวลาผมนั่งไปสักพัก ๓๐-๔๐ นาทีก็เริ่มชาที่ขาข้างที่อยู่ข้างล่าง หากนั่งต่อไปจะปวดมากและเหงื่อเริ่มออก และหากว่าทนไม่ไหวก็จะลุกนั่ง จะไม่สามารถลุกขึ้นได้ทันที เพราะขาจะชาจนไม่รู้สึก ถ้าฝืนยืนก็จะล้ม จะต้องรออีกสักพักจึงจะยืนได้ ผมเคยไปนั่งที่วัด แล้วกลับมาเหมือนขาขวามันชาๆ ไปประมาณ ๒-๓ วัน เลยอยากขอความเมตตาจากหลวงพ่อว่า ช่วงแรกๆ ที่หลวงพ่อปฏิบัติ หลวงพ่อเคยเจออาการแบบนี้หรือไม่ และมีเทคนิคอย่างไรเพื่อแก้อาการนี้ครับ หรือว่าผมควรจะนั่งไปเรื่อยๆ ให้ร่างกายมันชินแล้วก็จะผ่านไปได้เองครับ

หลวงพ่อ : ไม่รู้ว่าคนถามนี้อายุประมาณเท่าไร ถ้าอายุมากนี่นะ พออายุมากขึ้นมา เรื่องของสุขภาพร่างกายนี่ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง แต่ขณะที่เราบวชใหม่ๆ มันยังวัยรุ่น วัยรุ่นนี่นะเรานั่งทั้งวันทั้งคืน เราไม่นอนเลย เราถือเนสัชชิกเลยนะบวชพรรษาแรกธุดงค์ ๑๓ ครบ ทำทุกอย่างเลย ไม่เคยนอนเลย แล้วนั่งทั้งวันทั้งคืน เพราะวัยรุ่นๆ ไม่นอนเลย.. นี่พูดถึงเพราะวัยรุ่น ทีนี้ถ้าคนมีอายุมากขึ้นมา ทำอย่างนั้นสภาพร่างกายมันอาจจะมีปัญหาได้บ้าง

ฉะนั้นเรื่องการปฏิบัติ เรื่องชาหรือไม่ชาเราจะพูดอย่างนี้ก่อน เราจะพูดถึงข้อเท็จจริงก่อน ข้อเท็จจริงเวลานั่งไป โดยธรรมชาติของจิต.. โดยธรรมชาติของจิตนะมันจะรู้ได้ ๓ อย่าง

“เวทนา ๓ ! สุขเวทนา ทุกขเวทนา อุเบกขาเวทนา”

เวทนามี ๓ ถ้ามันเจ็บมันปวดนี่ทุกขเวทนา ถ้าจิตมันลงเป็นสมาธิมันจะเป็นสุขเวทนา แต่ขณะที่เราปฏิบัติไปแล้วนี่เสมอ เสมอนะ เสมอนี่เป็นอุเบกขาเวทนา พออุเบกขาเวทนา คำว่าเสมอมันจะอยู่ของมันเฉยๆ หรือชา พอมันมีอาการชา ถ้าเราใช้ปัญญาพุทโธ พุทโธ พุทโธไป เราไม่สามารถชนะได้นี่เรายันไว้ ถ้ายันไว้มันจะมีอาการชา อาการชาอย่างนี้มันไม่มีผลกับทางร่างกายไง มันเป็นผลของเรื่องจิตใจ

แต่ถ้ามันมีผลกับทางร่างกาย.. นี่ทางร่างกาย เริ่มต้นกับทางร่างกายเราควรจะ แบบว่าถ้าอายุมากเราก็ต้องมีวิธีการผ่อนผัน ผ่อนคลายอย่างใด แต่ถ้าจะหักโหม จะหักโหมนี่ถ้าจิตใจเราปกตินะเราควรหักโหมเลย เอ้ย ! ถ้าร่างกายปกติไม่ใช่จิตใจปกติ ถ้าร่างกายปกตินะเราควรหักโหมเลย เพราะอะไร เพราะว่าถ้าร่างกายปกติ สิ่งที่เกิดขึ้นนี่โดนกิเลสหลอกหมด ถ้าร่างกายปกตินะ แต่ถ้าร่างกายนี่ ร่างกายเราเจ็บป่วย เวลามันเป็นมันเป็นเพราะร่างกายเราเจ็บป่วยด้วย แล้วจิตใจเรามันมีผลด้วย แต่ถ้าร่างกายเราปกตินี่ใส่เลย กิเลสมึงหลอก ! กิเลสมึงหลอก ! อัดเต็มที่เลย

ฉะนั้นเวลาบอกว่าจะต้องเริ่มต้นอย่างไร จะทำให้เข้มแข็งขนาดไหน มันต้องกลับมาที่ว่าร่างกายเราแข็งแรงมากน้อยแค่ไหน ร่างกายมันมีอุปสรรคไหม ถ้าไม่มีอุปสรรคนี่มันหลอกเราทั้งนั้นแหละ แต่ถ้าร่างกายเราไม่สมประกอบ ร่างกายเรามันบกพร่อง อันนี้เราจะหักโหมเกินไป นี่มันแบบว่ามัชฌิมาปฏิปทา ความพอดีมันอยู่ตรงไหน ถ้าความพอดี.. นี่พูดถึงว่าผลของร่างกายกับผลของจิตใจนะ ผลของร่างกายอย่างหนึ่ง แต่ถ้าร่างกายนี่ร่างกายของคนเข้มแข็ง ร่างกายนี้เป็นส่วนประกอบทั้งนั้นเลย

นี้ส่วนใหญ่ของคน ส่วนใหญ่ของคนนะจิตใจอ่อนแอก่อน จิตใจอ่อนแอ เพราะร่างกายมันอ่อนแอ เวลามีปัญหาเล็กน้อยนี่มันไหลตามเลย เพราะร่างกายมันแบบไม่สมประกอบ หรือมันมีปัญหาเล็กน้อย หัวใจที่มันอ่อนแอนะมันจะให้ค่าไปเลยว่านั่งไปนี่ตายเด็ดขาด นั่งไม่ได้ มันจะบอกเลยนั่งแล้วมึงตายแน่ๆ เลย ไม่ให้นั่งเลย เพราะจิตใจของคนมันอ่อนแออยู่แล้ว จิตใจคนมันไม่อยากทำอยู่แล้ว ทีนี้พอร่างกายมีปัญหาปั๊บนี่มันจะเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าเราหักโหมนะไม่มีอะไรตายหรอก ไม่มีอะไรตาย

เพราะคำว่าตายนี่นะ.. ธรรมะอยู่ฟากตาย อยู่ฟากตายตรงนี้ คนเรานี่ถ้าจิตใจเข้มแข็งนะ พอถึงที่สุดแล้วมันจะบอกว่ามึงตายนะ เพราะคำว่าตายนี่มันเอามาอ้างเป็นประจำ แล้วถ้าจิตใจเราเข้มแข็งจริง เราพิสูจน์ได้แล้วว่าเรานี้ไม่ตายแน่นอน อะไรตายก่อนขอดู อะไรตายก่อน พออะไรตายก่อนปั๊บมันเอาตายหลอกเราไม่ได้นะ เพราะข้ออ้างของมันไม่มีน้ำหนักแล้วนะ หายหมด วูบลงสมาธิเลย

มันจะข้ออ้างนี่มาขวางทางไว้ แล้วพอจิตใจเราเข้าไปปั๊บพอเจอข้ออ้างอย่างนี้ปั๊บ อืม.. มันจะตายใช่ไหม พระพุทธเจ้าบอกว่ามัชฌิมาปฏิปทานะ พักก่อน กลับไปนอนก่อนเดี๋ยวกลับมาทำใหม่นะ โอกาสที่จะได้นี่ไม่ได้เลย.. จิตใจของคน เล่ห์เหลี่ยมของกิเลสมันร้ายนัก แต่มันต้องย้อนกลับมาดูว่าร่างกายเรามีปัญหาหรือเปล่าก่อนไง แต่ถ้าร่างกายมีปัญหา ร่างกายเราไม่สมประกอบ หรือว่าร่างกายเราอ่อนแอหรือชราภาพนะ ไอ้ข้อนี้ยกไว้

อย่างเช่นมีผู้เฒ่าผู้แก่มาถามบ่อย ดิฉันนี่แก่มากแล้ว นั่งสมาธิไม่ได้แล้วดิฉันทำอย่างไรล่ะ ก็บอกว่าให้นั่งม้าโยกได้เลย ม้าโยกม้าหินอ่อนนี่นั่งได้ เพราะว่าผู้เฒ่าใช่ไหม ผู้เฒ่าขอให้ได้นั่งดีกว่าไม่ได้นั่ง ทีนี้ผู้เฒ่าจะมานั่ง อู้ฮู.. นั่งสมาธิไม่ได้ ก็ผู้เฒ่ายืนยังยืนไม่ได้ ลุกก็ลุกไม่ไหวแล้วไปเป็นสมาธิอย่างไร

เหมือนกับคนร่างกายไม่ปกติ นั่งสมาธิคือนั่งขัดสมาธิอย่างเดียว แล้วคนร่างกายไม่ปกตินี่เขาก็ไม่มีโอกาสเลยเหรอ.. มีโอกาส ! ยืน เดิน นั่ง นอน.. นอนยังได้เลย เพียงแต่ท่านั่งนี่เป็นท่าที่เรานั่งได้นานที่สุด ท่านั่งเป็นท่ามาตรฐานว่าอย่างนั้นเถอะ ท่านั่งเป็นท่ามาตรฐาน เพราะว่าท่านั่งนี่เรานั่งได้นานที่สุด แล้วพอนั่งได้นาน เพื่อจะไม่ให้กิเลสไม่ให้หัวใจนี่มันมาต่อรองกับเรา ไอ้กิเลสในหัวใจมันจะต่อรองนะ

นู้นก็ไม่ได้ นี่ก็ไม่ได้ นู้นก็ไม่สมควร พระพุทธเจ้าสอนมัชฌิมาปฏิปทา มัชฌิมาปฏิปทานะทำตามใจเราเลย ทำอย่างไรก็ได้สะดวกสบาย.. อันนั้นน่ะกามสุขัลลิกานุโยค ทางสองส่วนที่ไม่ควรเสพ

อัตตกิลมถานุโยคคือทุกข์เปล่าๆ กับสุขนี่สุข.. กามสุขัลลิกานุโยค สุขชุ่มอยู่ในกาม อันนั้นพระพุทธเจ้าก็ห้ามนะ ไอ้สุขๆ นี่พระพุทธเจ้าห้ามนะ ไม่ได้พูดถึงนะ เวลาอัตตกิลมถานุโยคนี่อ้างประจำนะ เวลากามสุขัลลิกานุโยคไม่เคยบอกเลย.. เวลาทุกข์นี่อ้างเลยนะอัตตกิลมถานุโยค แล้วกามสุขัลลิกานุโยคมึงไม่พูดถึงบ้างล่ะ ไอ้ที่ว่าสบายๆ นี่พระพุทธเจ้าห้ามนะ ไอ้ที่ว่าสบายๆ ที่ว่าสะดวกๆ พระพุทธเจ้าห้ามหมดล่ะ ไม่พูดถึงเลยนะ เวลาอัตตกิลมถานุโยคพูดแล้วพูดอีกนะ เวลากามสุขัลลิกานุโยคมันไม่พูดถึงเลย.. นี่ไงกิเลสมันอ้าง ถ้ากิเลสนี่มันจะไปตามนั้น

ฉะนั้นเราต้องพิสูจน์ก่อนว่าขามันชา เพราะถ้ามันเป็นนะมันเป็นตามข้อเท็จจริง หลวงตาท่านนั่งตลอดรุ่ง ท่านบอกว่าวันไหนจิตมันลงยาก นั่งนี่ได้ทุกคืน ลงทุกคืน เพราะว่าตลอดรุ่งมันต้องสู้กัน มันไม่มีทางออกหรอก แต่ถ้ากิเลสมันต่อต้านแรง มันต้องใช้ปัญญาต่อสู้กันแรง แบบว่าร่างกายมันสมบุกสมบั่นมาก ท่านบอกวันไหนถ้าพอออกจากสมาธิมาแล้วลุกไม่ได้ ลุกแล้วล้มเลย ต้องยืดขาออกไป เอามือจับขายืดออกไปให้เลือดลมมันเดินก่อน ให้มันมีความรู้สึกก่อน แล้วค่อยๆ พยุงตัวลุกขึ้น วันนั้นจะเดินไปได้

แต่ถ้าวันไหน.. วันนั้นนั่งสมาธิดี วันนี้ร่างกายมีวิกฤตินั่งสมาธิดี พอพิจารณาแล้วลง พิจารณาแล้วลง เพราะตั้งแต่หัวค่ำจนอรุณรุ่ง ๑๒ ชั่วโมง ไม่มีใครนั่งสมาธิได้ทีหนึ่ง ๑๒ ชั่วโมงหรอก สมาธินี่เวลาลงนะ ๓ ชั่วโมง ๔ ชั่วโมง หรือชั่วโมงเดียวแล้วมันจะคลายออกมา พอคลายออกมาเราก็ต้องใช้ปัญญาต่อสู้เพื่อจะลงสมาธิรอบสอง ฉะนั้นเวลานั่งตลอดรุ่งมันจะมีสมาธิหลายรอบนะ ไม่ใช่สมาธิรอบเดียว

ถ้าสมาธิหลายรอบ เวลาเข้าสมาธิ ออกจากสมาธิมา อย่างเช่นเราไปเที่ยวกลับมา เรามีอะไรกลับมาล่ะ มีแต่ความอ่อนเพลียใช่ไหม นี้พอเข้าสมาธิแล้วออกมาเราจะเอาอะไรสู้กับมันอีกล่ะ ฉะนั้นเข้าสมาธิรอบที่สอง ที่สามนี่มันหนักกว่าเก่านะ มันวิกฤติกว่ามากเลย ฉะนั้นเวลาที่ว่าเวลาเข้าสมาธิ วันไหนถ้ามันเข้าได้ง่าย ท่านบอกวันไหนเข้าได้ง่ายแล้วมันนุ่มนวล เข้ารอบหนึ่ง รอบสอง รอบสาม พอออกมาแล้วนี่นะวันนั้นลุกเดินไปได้เลย

นี่ร่างกายไม่มีอะไรผิดปกติเลย เหมือนคนไม่ทำอะไรเลย สดชื่นด้วย ลุกเดินไปเลย แต่ถ้าวันไหน.. ท่านพูดเองบอกว่าถ้าวันไหนสมาธิมันลงได้ยาก มันต้องใช้ปัญญาต่อสู้กันรุนแรงมาก มันสมบุกสมบั่นทั้งจิตใจ และสมบุกสมบั่นทั้งร่างกาย วันนั้นพอออกจากสมาธิมานะ ขานี่เหน็บชากินไปหมดเลย แล้วทีแรกไม่รู้ ลุกขึ้นยืนก็ล้มเลย ท่านล้มคาลุกขึ้นยืนเลย

แล้วครั้งต่อไปท่านตั้งสติได้เพราะตัวเองมีประสบการณ์มาใช่ไหม พอออกจากสมาธิมาแล้ว เพราะวันนี้วิกฤติมาก รุนแรงมากแต่จิตก็ลง ฉะนั้นท่านบอกนั่งเฉยๆ แล้วเอามือจับเท้ายืดออกไป แล้วนั่งรอก่อน นั่งรอให้เลือดลมมันได้หมุนเวียนก่อน พอเลือดลมหมุนเวียนแล้วท่านถึงลุกขึ้นเดินไป ก็จบ.. แล้วสดชื่นด้วยเพราะได้นั่งตลอดรุ่ง คำว่านั่งตลอดรุ่งของท่าน คือท่านได้ต่อสู้กับกิเลสหลายรอบ ท่านได้ต่อสู้กับไอ้ความต่อต้านของใจนี้หลายรอบ

ฉะนั้นขนาดที่ว่าท่านนั่งบางวันมันก็ชา บางวันมันก็ไม่ชา บางวันชาหมายถึงท่านบอกว่ามันวิกฤติ มันต้องต่อสู้กับความรู้สึก ความนึกคิด ต่อสู้กับที่ความต่อต้านในหัวใจนี่แรง ฉะนั้นมันใช้ความแรงเข้มข้น เวลาออกมาแล้วมันถึงมีอาการชา อาการชาเพราะว่ามันต่อสู้กันแรง

ฉะนั้นสิ่งที่ว่าให้แนะนำ แนะนำก็ต้องกลับมาดูตรงนี้ กลับมาดูว่าร่างกายเราปกติก่อน พอร่างกายปกติแล้วเรากำหนดพุทโธชัดๆ อะไรให้ชัดๆ ต่อสู้กัน พอต่อสู้กันมันจะเห็นของมันไง มันจะเห็นว่าเวลาลงสมาธิลงอย่างไร เวลาไม่ลงสมาธิเป็นอย่างไร เรานี่นะเหมือนกับฝึกงานเลย นั่งนี่มันจะรู้ของมันเอง เวลาทุกข์ ทุกข์มากๆ เวลาเรานั่งมีความทุกข์นี่รู้ได้ชัดๆ เลย ไม่ต้องมีใครบอกเลยว่ามันวิกฤติอย่างไร แต่ถ้าเวลามันลงนี่โอ้โฮ.. มันเป็นอย่างไร เราก็รู้หมดแหละ แล้วเราก็เอาประสบการณ์อันนั้นล่ะ เวลามันลงมันลงไหม เวลาไม่ลงมันเป็นอย่างไร

นี่พวกเรานะ พวกเราหมายถึงว่าเวลาครูบาอาจารย์เราหรือผู้ปฏิบัติ เพราะเราเป็นนักปฏิบัติอาชีพ อาชีพของเราคือการปฏิบัติ บวชมาเพื่อปฏิบัติ นี้การปฏิบัติมันปฏิบัติ ๒๔ ชั่วโมง แล้วแต่ทุกวินาทีที่มีชีวิตอยู่ ที่มีสติอยู่ ฉะนั้นวันนี้ลงหรือไม่ลง ดูสิคนผ่านงานมาแต่ละปีทำงานมาขนาดไหน ทีนี้ผ่านงานมาขนาดไหน เราปฏิบัติอยู่ทุกวันๆ นี่มันวิกฤติมาขนาดไหน มันจะเอาสิ่งที่ใช้ได้ประโยชน์และไม่ได้ประโยชน์มาเป็นตัวตั้งมาวิจัยไงว่าทำไมวันนี้ภาวนาลง ทำไมวันนี้ภาวนาไม่ลง แล้วมันก็หาเหตุหาผล เห็นไหม พระเราถึงได้ผ่อนอาหารกัน

พระเราผ่อนอาหารบ้าง อดนอนบ้างอะไรบ้าง ก็เพื่อหาความสมดุลของมัน หาว่ามันเป็นไปได้ไหม ทุกคนมันก็ต้องแสวงหาเหมือนกัน แสวงหาย้อนกลับมาที่จิตของตัวไงว่าจิตของตัวนี่อะไรเป็นประโยชน์กับจิตของเรา อะไรไม่เป็นประโยชน์กับจิตของเรา

นี้เขาใช้ได้นะ ดีมาก.. ดีมากหมายถึงว่า เห็นไหม “ผมไหว้พระมามาก ไหว้พระมาเป็น ๑๐๐ วัด แล้วก็ไปเห็นความเข้ารกเข้าพงมาตลอดแล้ว ฉะนั้นจะไม่เข้ารกเข้าพงด้วย”

แล้วถ้าเราปฏิบัตินี่มันเป็นความประพฤติปฏิบัติของเราเลย ความประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม นี่อริยภูมิมันไม่ได้อยู่ที่หัวใจของพระอย่างเดียว อริยภูมิมันอยู่ในหัวใจของพระ อยู่ในหัวใจของภิกษุณี อยู่ในหัวใจของอุบาสก อุบาสิกา มันอยู่ในทุกหัวใจได้หมด ทุกหัวใจมีโอกาสได้หมด ฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติมันจะได้ผลเหมือนกันหมด ถ้าผลมันเหมือนกันก็คือเหมือนกัน เพียงแต่ว่าภิกษุเนี่ย พระนี่มันมีโอกาสดีกว่าเขาเพราะมันอาชีพโดยตรงไง

เพราะบวชมาแล้วนี่ปฏิบัติโดยตรง เห็นไหม มันหน้าที่ปฏิบัติโดยตรงเหมือนทหารออกรบ อย่างอุบาสก อุบาสิกานี่มันก็แบบว่า เราก็เป็นชาวพุทธเหมือนกัน เราก็มีสิทธิเหมือนกัน แต่เรามีหน้าที่ ๒ อย่าง อย่างหนึ่งคือหน้าที่ทางโลก อย่างหนึ่งคือหน้าที่ที่เราต้องหากินด้วย อีกอย่างคือหน้าที่ที่เราต้องปฏิบัติด้วย แต่พระนี่ปฏิบัติโดยตรงเลย ต่อสู้เลย

ฉะนั้นการที่ว่าจะทำอย่างไรในเมื่อขามันชาแล้วมีความเจ็บปวดด้วย อันนี้มันเป็นเวทนา ๓ นะ ทุกขเวทนา สุขเวทนา อุเบกขาเวทนา.. นี้คำว่าอุเบกขานี่มันอุเบกขาของใคร ฉะนั้นเวลาปฏิบัตินะ ถ้ามันชาโดยเป็นโรคนี่มันไม่ใช่อุเบกขา ถ้าอุเบกขามันอยู่ข้างในไง มันอยู่เป็นเรื่องของจิตไง ทีนี้ปฏิบัติไปมันจะรู้ของมันไปเอง มันจะรู้ของมัน

ทีนี้ข้อแนะนำ ข้อแนะนำคือว่าให้เข้มแข็ง แล้วพุทโธ แล้วมันก็เปลี่ยนกันไง เปลี่ยนแบบว่าถ้ามันมีปัญหาเราเดินจงกรมก่อน ยืน เดิน นั่ง นอน.. อิริยาบถ ๔ นี้ภาวนาได้หมดล่ะ อิริยาบถ๔ ฉะนั้นยืนก็ได้ เดินจงกรมก็ได้ นั่งก็ได้ แล้วหาหนทางของเราเพื่อพิสูจน์กัน

อันนี้พูดถึงขาชานะ อ้าว.. ขออีกข้อหนึ่ง เพราะเวลามันจะเยอะนิดหนึ่ง ปัญหานี้จะอยู่ข้างล่าง ขออีกข้อหนึ่ง ข้อนี้มันเปรียบเทียบกับการปฏิบัติ ข้อนี้มันเป็นอีกอย่างหนึ่งนะ อันนี้มันเป็นประสบการณ์ของเวลาปฏิบัติอย่างนี้ ประสบการณ์อีกข้อนี้ฟังนะ !

ถาม : ๓๑๙. เรื่อง “ขณะฝันมีสติได้หรือเปล่า”

หลวงพ่อ : คือปฏิบัตินี่ปฏิบัติโดยตรงนะ ไอ้นี่มันปฏิบัติในฝัน (หัวเราะ) เดี๋ยวฟัง ฟังอันนี้มันอยู่ในฝันเลย

ถาม : ขณะฝันมีสติได้หรือเปล่า? ผมฟังเทศน์พระอาจารย์ทางซีดีมาโดยตลอด ช่วงหลังเข้ามาอ่านในเว็บไซต์บ้าง ไม่น่าเชื่อตัวหนังสือก็สามารถทำให้สะเทือนใจได้เช่นกัน พูดตรงๆ คือทั้งเตะตา เตะหู และก็เตะใจด้วยได้จริงๆ ครับ เพราะทุกครั้งที่อ่านคำเทศน์จะเหมือนได้ยินเสียงของพระอาจารย์เองพูดเทศน์ทุกวรรคทุกตอนเลยจริงๆ ผมรู้สึกดีใจ ซาบซึ้งและให้เข้าใจถึงบุญคุณของตัวหนังสือได้บ้าง เพราะคิดว่าคนที่หูหนวกแต่อ่านหนังสือได้ ก็สามารถเข้าถึงธรรมได้เช่นกัน ที่พูดอย่างนี้ก็เพราะว่าปัจจุบันอายุ ๔๓ ปี เริ่มมีปัญหาเรื่องระบบประสาทหูเสื่อม แพทย์บอกว่ามันจะเสื่อมลงเรื่อยๆ แต่อย่างน้อยถ้าเสื่อมหมดจริงๆ ก็ไม่กังวลเท่าไรนักสำหรับเรื่องการฟังแล้ว เพราะสามารถอ่านคำเทศน์ของพระอาจารย์ได้ในเว็บไซต์ อีกทั้งสามารถถามปัญหาได้อีกด้วย

ผมได้ฟังพระอาจารย์เทศน์เรื่องภวังค์ คนที่ตกภวังค์ก็คือคนที่หลับดีๆ นี่เอง นั่นคือขาดสติใช่ไหมครับ แต่ผมเข้าใจต่อว่าถ้าคนหลับแล้วฝัน ในฝันของคนนั้นก็ไม่น่าจะมีสติด้วยใช่ไหมครับ หลายๆ ครั้งที่ฟังท่านอาจารย์เทศน์เรื่องอัปปนาสมาธิ ว่าความรู้สึกมันจะดิ่งวูบๆ ลงจนหยุดกึกนิ่งอยู่ ผมไม่เข้าใจเลยครับ แต่ผมก็ตั้งใจจะพยายามภาวนา ด้วยเพราะอยากได้สัมผัสรสแห่งธรรมนั้นบ้าง บอกตรงๆ ครับ จินตนาการตามไปไม่ได้เลย อยากมากจนเอาไปฝันเลยครับ ความฝันคือ..

ฝันว่าตนเองกับเพื่อนเข้าไปในตึกสูงมากๆ แล้วขึ้นลิฟต์ไปจนเกือบชั้นบนสุด แต่ระหว่างทางที่ลิฟต์เคลื่อนที่ไปจนเกือบถึงชั้นบนสุดนั้น ลิฟต์เกิดขาดร่วงลงมาอย่างรวดเร็ว ทุกๆ คนในลิฟต์ร้องด้วยความตกใจ ถึงกับร้องไห้เพราะกลัวตายตามๆ กัน ผมเองก็ร้องด้วย ความตกใจกลัวสุดขีดร้องจนหมดเสียง มันเสียวลึกมากๆ จวนเจียนจะขาดใจ ความรู้สึกมันบอกว่าเรากำลังจะตาย ผมรู้สึกกลัวตายจนสุดขีด แต่ระหว่างนั้นเองมัน ปิ๊ง ! นึกถึงคำอาจารย์ได้ว่า

“ถ้ามันจะตายจริงๆ ก็ขอให้ตายอย่างมีสติ”

แว็บเดียวภาพทุกอย่าง เสียงทุกเสียง มันหายแว็บไปเหมือนกับปิดทีวีอย่างไรอย่างนั้นเลยครับ มันวูบมืดสนิทแต่แปลกใจตรงที่ ใจยังรู้และรู้สึกได้อยู่ ตรงนี้แหละครับจึงอยากถามท่านอาจารย์ว่าขณะฝันอยู่ ทำไมมีสติดีอย่างนั้น มันรู้สึกขัดกับความเข้าใจแรกๆ ที่เข้าใจว่าฝันต้องไม่มีสติแน่ๆ ผมสงสัยมากเลยครับ ทั้งๆ ที่ตื่นขึ้นมายังไม่เข้าใจตนเองเลยว่าทำไมถึงคุมสติได้ขนาดนั้น ทำได้อย่างไร

แต่ถึงแม้จะเป็นประสบการณ์หลอกๆ ในฝันก็ตาม ลึกๆ ในใจพองโต มันมีกำลังใจมากเพื่อจะปฏิบัติให้ถึงเป้าหมาย ตามความตั้งใจที่อยากได้สัมผัสรสแห่งอัปปนาสมาธิครับ

หลวงพ่อ : นี่พูดถึงเวลามันดิ่ง เห็นไหม คำว่าสติ.. เริ่มต้นเขาพูดถึงเรื่องภวังค์ เขาบอกว่าเพราะเคยฟังเทศน์หลวงพ่อบอกว่า ถ้าคนตกภวังค์เหมือนคนหลับดีๆ นี่แหละ คนหลับคือคนตกภวังค์

ภวังค์คือเวลามันตก มันตกภวังค์อย่างตื้น ภวังค์อย่างเล็กน้อย ภวังค์ปานกลาง ภวังค์ลึกๆ นี่หมดเลย เหมือนคนหลับเลย นั่นคือภวังค์.. นี้ภวังค์นี่ ภวังค์ไม่ใช่สมาธิ ถ้าคำว่าภวังค์เป็นมิจฉาเลย มิจฉาสมาธิ แต่คนเข้าใจผิด เพราะกิเลสมันพาเข้าใจผิดคิดว่าเป็นสมาธิเพราะมันขาดสติ นี้คนหลับล่ะ คนหลับต้องขาดสติใช่ไหม.. ใช่ ! คนหลับนี่ถ้ามีสติหลับไม่ได้หรอก ที่หลับนี่เพราะเรานอนหลับ ถ้าวันไหนเรามีความคิดฟุ้งซ่าน นี่มันชัดเจนมากนอนไม่หลับหรอก แต่ถ้ามันพุทโธ พุทโธหรือเอาหนังสือมาอ่าน ถ้าอ่านหนังสือธรรมะนี่หลับเลย ยานอนหลับ เอาหนังสือธรรมะมาอ่านนะหลับปุ๋ยเลย

ทีนี้พอหลับไปแล้วมีสติได้อย่างไร หลับไปแล้วนี่มันฝัน คำว่าฝันนะหมายถึงว่าฝันดี ฝันเลือนราง เพราะเวลาเรานั่งสมาธินะแล้วจิตเห็น นิมิตนี่มันมีนิมิตหลอก นิมิตจริง นิมิตหยาบ นิมิตละเอียด นี่เวลาจิตนะมันอยู่ที่กำลังของจิต ไอ้หลับก็เหมือนกัน ไอ้หลับนี่ฝันสะเปะสะปะเยอะมาก ไอ้ฝันนี้คนถามปัญหาฝันมากี่หนแล้ว แล้วไอ้ฝันที่เคยฝันเก่ากับฝันอันนี้มันต่างกันไหม

การฝันอย่างนั้น ใช่ ! ขาดสติ การฝันโดยทั่วไปนี่ขาดสติ เพราะมันไม่มีสติควบคุมมันฝันไป ฝันไปนี่มันบอกได้ อย่างเช่น.. ยกตัวอย่างบ่อย หลวงตาก่อนที่ท่านจะออกปฏิบัติ เห็นไหม ท่านบอกเลย “ออกไปปฏิบัตินี่จะสำเร็จหรือไม่สำเร็จให้บุญกรรมช่วยบอกที บอกด้วยทางฝันก็ได้ หรือบอกด้วยทางนั่งสมาธิก็ได้”

ท่านนั่งสมาธิถึงเที่ยงคืนถึงดึกแล้ว มันไม่มีผลอะไรปรากฏก็นอน พอนอนไปแล้วหลับสนิทก็ฝันไง ฝันว่าตัวเองเหาะขึ้นไป เห็นไหม เหาะขึ้นไปเลยนะ ขึ้นไปในเมืองหลวง ๓ รอบ วนอยู่นั่นล่ะ แล้วพอวนเสร็จแล้วกลับมา พอกลับเข้ามาที่ในตัวเอง พอตื่นขึ้นมานะ.. ตกใจตื่น พอตื่นขึ้นมานี่มั่นใจว่าออกไปปฏิบัติคราวนี้จะประสบความสำเร็จ วนเมืองหลวงนี่ถึง ๓ รอบ

นี่ความฝัน เห็นไหม นี้ก็ความฝันเหมือนกัน เพราะตอนนั้นหลวงตาเพิ่งยังจะออกบวช แล้วความฝันนี้มันฝังใจท่านมาตลอดเลย ฝังใจมาตลอดว่าออกไปต้องมีความสำเร็จ มันเป็นสิ่งที่ว่าท่านจะให้กำลังใจท่านมหาศาลเลย แล้วนี่ความฝันอย่างนี้ท่านบอกว่ามันฝันก็จริงอยู่ แต่มันเหมือนกับเห็นจริงๆ เลย.. อันนี้เราจะบอกว่า จิตของคนนะ ถ้าจิตของคนอ่อนแอ สะเปะสะปะเหมือนสมาธิสั้น สมาธิยาวนี่แหละ ถ้าสมาธิมันดี จุดสมดุลมันดี ความฝันนั้นมันก็จะคล้ายๆ กับมีความจริงเลยล่ะ

ฉะนั้นความฝันอย่างนี้.. นี่ก็เหมือนกัน นี่มันเหมือนความจริงเลยแต่มันไม่จริง ไม่จริงตรงไหน ไม่จริงตรงที่ว่าภาพทุกภาพ เห็นไหม ที่ว่า “ระหว่างนั้นเอง ปิ๊ง ! ขึ้นมาถึงคำอาจารย์ที่ว่ามันตายต้องมีสติ” ในความฝันนี่มันตายต้องมีสติ สติมันตั้งขึ้นมา ทีนี้พอตั้งขึ้นมามันก็ดับแว็บเลย แล้วมันวูบลง เห็นไหม เหมือนปิดทีวีมืดสนิท

ทีนี้คำว่ามืดสนิทหรือไม่มืดสนิท เห็นไหม ถ้ามันเป็นอัปปนาสมาธิมันจะรู้ตัวสว่างของมัน มันจะรู้ตัวตลอดเวลา คำว่ามืดสนิทนี่มันฝันเอา มันถึงบอกว่า.. มันไม่เหมือนจริงทั้งหมดว่าอย่างนั้นเถอะ แต่มันก็มีส่วนอยู่ มันมีส่วนอยู่เพราะมันได้วูบไง แต่มันไม่จริงทั้งหมดเพราะเราไม่ได้รู้จริงใช่ไหม เรารู้แบบจำ.. ฉะนั้นสิ่งนี้เพียงแต่ว่าเขาถามมาอย่างนั้น

ถาม : ขณะฝันอยู่ทำไมผมมีสติดีอย่างนั้น ผมรู้สึกขัดกับความเข้าใจแรกๆ ที่ว่าความฝันมันต้องไม่มีสติแน่ๆ ผมสงสัยมากเลยครับ ทั้งๆ ที่ตื่นขึ้นมายังไม่เข้าใจตนเองเลยว่าทำไมถึงคุมสติได้ดีอย่างนั้น

หลวงพ่อ : มันคุมสติได้ดีอย่างนั้นมันเป็นวาระของมัน มันเป็นความสมดุลของจิต เห็นไหม หลวงตาใช้คำว่า “ฝันดิบ ฝันสุก” ฝันดิบๆ ก็คือเราคิดอยู่เนี่ย ความคิดนี่เราฝันกันอยู่นะ เราอยู่ในโลกของความเพ้อฝัน เราอยู่ในโลกของความคิด นี่ฝันดิบๆ แต่พอเวลาไปนอนนี่ฝันสุก คือฝันโดยจริงๆ แต่ตอนนี้เราก็ฝันอยู่ แต่เราฝันโดยมีสติ เรามีสติสตังอยู่นี่เรายังฝันอยู่.. นี้ความฝันไง

ฉะนั้นบอกว่าทำไมเราคุมสติได้ขนาดนั้น.. เพราะขณะที่ว่าฝันดิบ ฝันสุก แต่ขณะนั้นจิตมันสมบูรณ์ของมัน คือวาระไง ! เราก็พยายามจะหาคำอธิบายตอบให้ได้ ให้เป็นวิทยาศาสตร์ เพราะเวลาอธิบายนี่นะอธิบายถึงเหตุถึงผล.. อธิบายถึงเหตุถึงผล เวลาเหตุผลมันมีที่มาที่ไปไง ที่มาหมายถึงว่าต้องการตอบปัญหานี้ แต่เวลาคนเขาเอาไปวิจัยนี่เขาจะพูดตัดตอนไปแล้วบอกว่ามันไม่ใช่ มันเป็นไปไม่ได้

ฉะนั้นถึงบอกว่าต้องพูดอธิบายให้เข้าใจได้ว่ามันเป็นเพราะอะไร แล้วมันก็เป็นความฝันใช่ไหม พอจบแล้วมันเป็นความฝัน เราก็ต้องมาปฏิบัติให้เป็นความจริงของเราเนาะ เอาเป็นความจริง นี้เป็นความฝัน.. ตอบปัญหานี้ก่อน อันนี้ตอบแค่นี้ก่อนนะ อันนี้มันเป็นของสดมันต้องตอบเลย มันไม่ใช่เว็บไซต์ เว็บไซต์เป็นของแห้ง ของแห้งไว้ตอบวันหลังก็ได้ ไอ้ของสดนี่ต้องตอบเลยเพราะเดี๋ยวเขากลับแล้ว

ถาม : กราบเรียนท่านอาจารย์ค่ะ

๑.เวลาหนูนั่งภาวนาพุทโธ แล้วพอรู้สึกว่าภายในสงบก็กำหนดเป็นกระดูกที่บริเวณใบหน้า มือ แขน ขา กำหนดดูไปเรื่อยๆ วิธีนี้ถูกต้องไหมคะ แล้วถ้าไม่ถูกต้อง การบริกรรมพุทโธจะต้องน้อมไปสู่การวิปัสสนาจะทำอย่างไร เราต้องกำหนดนึกขึ้นเองหรือว่าต้องรอให้มีอะไรหรือความคิดผุดขึ้นจึงจะเป็นวิปัสสนาค่ะ

หลวงพ่อ : ถูกต้อง ! ถูกต้อง แต่คำว่าถูกต้องปั๊บ เหมือนกับเรานี่เราไปหาถูกต้องเหมือนเด็กเลยนะ พอไปทำอะไรนี่ผู้ใหญ่ตบมือให้ดีใจมากเลย แล้วต้องควักตังค์ให้ด้วย นี่มันถูกต้อง ถูกต้องแล้วผลล่ะ.. ถูกต้อง !

“เวลาหนูนั่งภาวนาพุทโธ แล้วพอรู้สึกว่าภายในสงบก็กำหนดเป็นกระดูกที่บริเวณใบหน้า มือ แขน ขา กำหนดดูไปเรื่อยๆ วิธีนี้ถูกต้องไหมคะ”

ถ้าจิตเราสงบเรากำหนดได้ กำหนดเป็นกระดูก กำหนดเป็นต่างๆ เพราะการกำหนดเป็นกระดูก พุทโธกับกระดูกตอนนี้มีค่าเท่ากันเลย ขณะที่เรากำหนดพุทโธนี่คือพุทโธใช่ไหม แต่จิตเรามันยังไม่สงบพอ เราก็กำหนดเป็นกระดูกแทน กระดูกใบหน้ากระดูกอะไรก็ได้ อัฐิ อัฐินี่ก็คือคำบริกรรม กรรมฐาน ๔๐ ห้อง กำหนดกระดูก กำหนดอะไรนี่มันก็เหมือนกับเป็นคำบริกรรมนี่แหละ เพราะอะไร เพราะคนกำหนดอัฐิจนจิตสงบก็มี คนกำหนดมรณานุสติจนจิตสงบก็มี

นี้เรากำหนดพุทโธ พุทโธ จิตมันเริ่มนิ่งแล้ว ถ้าเราไม่นิ่งนะเราจะกำหนดอยู่กับกระดูกไม่ได้หรอก ถ้าเราพุทโธ พุทโธ พุทโธ นี่เราพุทโธอยู่ได้เพราะจิตมันเริ่มเกาะพุทโธแล้ว ฉะนั้นเรากำหนดกระดูกมันถึงเห็นเป็นกระดูกได้ไง.. ถ้าจิตเราไม่มีหลักนะ พอกำหนดกระดูกปั๊บมันจะแลบออกทางอื่นไง พอกำหนดกระดูกปั๊บมันก็จะไปคิดว่า โอ๋ย.. กระดูกก็รู้แล้ว กระดูกไม่จำเป็น โอ๋ย.. กระดูกเอามาต้มหมูกินทุกวัน มันจะแฉลบไปเลยนะ เพราะอะไร เพราะมันไม่มีหลัก แต่ถ้ามีหลักนะ เรากำหนดพุทโธมาก่อนนะ พอกำหนดกระดูกมันจะเป็นกระดูก

คำว่ามีหลักหมายถึงว่าจิตนี่มันไม่แฉลบ มันจะอยู่กับสิ่งที่เรากำหนดไง ที่เรากำหนดพุทโธกันอยู่นี้ ก็เพื่อต้องการให้จิตมันมีหลักของมัน มันไม่โลเล สิ่งที่ในปัจจุบันนี้ความคิดเราโลเล แม้แต่ว่าเป็นว่างๆ ว่างๆ นี่ว่างในโลเล.. นี่โลเลอยู่ในว่าง เพราะมันไม่เป็นจริง มันควบคุมไม่ได้ แต่พุทโธ พุทโธ พุทโธ พอเราพุทโธแล้วนะ ถ้าจิตสงบแล้ว ถ้าเรากำหนดกระดูกได้ กำหนดต่างๆ ได้ กำหนดได้ พอกำหนดกระดูกปั๊บ กำหนดไปเห็นกระดูกปั๊บสักพักหนึ่ง สักพักหนึ่งถ้ามันอยู่ได้นะ ถ้ามันอยู่ไม่ได้เราก็กลับมาพุทโธอีก

พุทโธอีกเพราะอะไร เพราะไปกำหนดกระดูกแล้วมันยังไม่อยู่กับกระดูก แสดงว่าจิตใจเรามันยังโลเล มันยังไม่มีหลัก ฉะนั้นเราต้องกลับมาที่พุทโธก่อน.. พุทโธนี่เพื่อให้มันมั่นคง เหมือนเรานี่เราเป็นคนที่ว่าไม่เอาไหนเลย จับอะไรไม่ได้เลย เราก็มาทำความสงบของใจ ให้ใจมั่นคง แล้วไปจับต้องจับงานขึ้นมา ถ้าเราจับงานขึ้นมามันก็เป็นงาน งานนั้นคือวิปัสสนา แต่ถ้าเรายังโลเลอยู่ นี่ใจเรายังโลเลอยู่แล้วมันจะได้งานอะไรล่ะ มันโลเลตั้งแต่ต้น ไปทำงานมันก็ไม่เอาไหนอยู่แล้ว แล้วถ้าคนไม่เอาไหนใช่ไหมก็ให้ค่าตัวเองเลยนะวิปัสสนาแล้ว ทะลุไปหมดแล้ว

ฉะนั้นพุทโธหรือปัญญาอบรมสมาธิ เราจะบอกว่า นี่ถ้ากำหนดกระดูกมันก็เหมือนกับคำบริกรรมนี่แหละ มันก็เหมือนกับทำความสงบของใจ อย่างนี้ถูกไหม.. ถูก แล้วทำเรื่อยๆ นะ ถ้าทำอย่างนี้ทำเรื่อยๆ พอทำเรื่อยๆ พอมันอยู่กับกระดูกได้.. พอมันอยู่กับกระดูกได้ ธรรมดานะถ้าเป็นวิปัสสนา พิจารณากระดูกแล้วมันจะเกิดปัญญา แล้วมันจะเกิดการสำรอกกิเลสออก แต่ถ้ามันเป็นสมถะมันก็คือความสงบของใจ

นี่มันจะส่งกันไง คนปฏิบัติมันจะรู้ เราตักน้ำใส่ภาชนะ เรานั่งดูนี่เรารู้เลยว่าภาชนะมันจะเต็มหรือไม่เต็ม เราพุทโธ พุทโธ จิตเราจะเต็มหรือไม่เต็มเรารู้ของเรา นี่มันวัดได้ว่าตอนนี้จิตเรานิ่งไหม ถ้าจิตเราอยู่กับพุทโธได้ นี่ใช้ได้แล้ว ถ้าจิตอยู่กับกระดูกได้ มันก็ดีอีก แต่ถ้ามันไม่ใช่นะ พุทโธ แพล่บ ! แพล่บ ! แพล่บ ! นี่ไม่ใช่ ถ้าไปอยู่กับกระดูกนะมันก็ไม่อยู่กับกระดูกไง พออยู่กับกระดูกปั๊บมันก็ปลิ้นไปนู้น ปลิ้นไปนี่ อย่างนี้ไม่ใช่.. ถ้าไม่ใช่ต้องตั้งสติให้ได้ ตั้งสติให้ได้

ทำอย่างนี้ไป ถ้าทำอย่างนี้ได้ แต่ถ้ามันทำไม่ได้นะ.. บางทีนี่เราไปอยู่กับกระดูกก็ไม่ได้ อยู่กับพุทโธก็ไม่ได้ นี้จะย้อนกลับมาว่า..

ถาม : แล้วถ้าไม่ถูกต้อง การบริกรรม “พุทโธ” จะน้อมไปสู่การวิปัสสนาจะทำอย่างไร

หลวงพ่อ : นี่ถูก ! แต่ถูกแล้วเราจะให้เห็นนะ นี่กำหนดกระดูกอย่างนี้มันจะอารมณ์ปกติ แต่ถ้าจิตมันสงบนะ จิตมีหลักแล้ว.. จิตมีหลักแล้วนะ แล้วถ้ามันน้อมไปเห็นกายนะมันสะเทือนเลย

ถาม : ถ้าน้อมไปสู่การวิปัสสนามันจะเป็นอย่างไร เราต้องกำหนดขึ้นมาเอง หรือว่าต้องรอให้มันมีอะไร หรือความคิดผุดขึ้นมา จึงจะกลายเป็นวิปัสสนา

หลวงพ่อ : มันสำคัญ เห็นไหม เราจะบอกเลยสำคัญที่จิตสงบ.. จิตสงบนี่ คำว่าจิตนี้เป็นเจ้าเรือน จิตนี้จิตหนึ่ง จิตนี้ท่องเที่ยวไป จิตนี้ไม่เคยได้แสดงตัว จิตของเรานี้ไม่เคยได้แสดงตัวเลย สิ่งที่เราแสดงกันออกมาด้วยขันธ์ ๕ ด้วยความรู้สึกนึกคิดมันเป็นบุญกรรม มันเป็นวิบากที่เราเกิดเป็นมนุษย์นะ ตัวจิตเอง ตัวจิตแท้ๆ มันไม่เคยแสดงตัวเลย ! ตัวจิตแท้ๆ มันไม่เคยแสดงตัวเลย สิ่งที่เราแสดงตัวคือผลบุญผลกรรมที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์นะ

ผลบุญผลกรรมที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์นี่ เพราะมนุษย์มันมีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ เห็นไหม มนุษย์มีธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ เขาไม่ได้พูดถึงจิตเลยนะ ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ คืออะไร รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี่คือความคิดที่ว่าเปลือกส้มกับส้มนี่ไง ฉะนั้นการแสดงของเรานี่มันแสดงออกมาจากเปลือกส้มทั้งหมดเลย แต่ถ้าเราพุทโธ พุทโธเข้าไปสู่เนื้อส้มคือเข้าไปสู่จิต นี้เข้าไปสู่จิต ตรงนี้ ! ตรงนี้ ! ตรงที่เข้าไปสู่จิต ถ้าจิตสงบแล้วออกเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม นี่วิปัสสนาเกิดตรงนี้

แต่ถ้าดูกายอยู่ นี่เริ่มต้นจิตกำหนดพุทโธแล้ว จิตสงบแล้วพิจารณาดูกายนี่เป็นวิปัสสนาหรือยัง มันถูกไหม.. ถูก คำว่าถูกนี่หมายถึงว่าเราเก็บหอมรอมริบนี่ถูกไหม ตอนนี้รัฐบาลพยายามออกนโยบายให้มีการออมนะ การออมถูกไหม.. ถูก การออมออมเพื่อใคร ออมเพื่อเราใช่ไหม ถูกไหม.. ถูก แล้วออมแล้วทำอย่างไรต่อล่ะ ออมไว้อย่างนั้นเหรอ ออมไว้นี่เราออมไว้เพื่อประโยชน์ใช่ไหม

นี่ก็เหมือนกันพอจิตมันสงบแล้ว ถ้าจิตมันสงบแล้วแล้วจิตออกรู้ พอถึงที่เขาว่า..

“แล้วเมื่อใดมันจะเป็นวิปัสสนา”

วิปัสสนานะเรารู้ทันทีเลย ตัวเรานี่รู้เลยถ้าเป็นวิปัสสนานะปัญญามันเกิดมันจะถอดถอนอย่างไร เพราะอารมณ์ของสมถะ อารมณ์ของความสงบเป็นอย่างหนึ่ง อารมณ์ของวิปัสสนานี่มันละเอียดกว่า มันลึกซึ้งกว่า เพราะมันละเอียดกว่ามันลึกซึ้งกว่า นี่มันจะถอดถอนกิเลสได้อย่างไร สมถะนี้ถอนกิเลสไม่ได้ สมาธิถอนกิเลสไม่ได้เลย แต่ถ้าไม่มีสมาธินะ วิปัสสนาอย่าพูดถึง เป็นไปไม่ได้

ถ้าไม่มีมนุษย์ ! ไม่มีมนุษย์ ! ทรัพย์สมบัติที่เกิดขึ้นจะเป็นของมนุษย์ไหม ถ้าไม่มีมนุษย์ สมบัติที่มีอยู่เป็นของใคร.. เพราะมีมนุษย์ใช่ไหม เพราะมีเราใช่ไหม ทรัพย์สมบัติถึงเป็นของเราใช่ไหม ไม่มีจิต ใครวิปัสสนา ไม่มีจิตใครถอดถอนกิเลส ไม่มีสัมมาสมาธิใครเป็นคนวิปัสสนา ฉะนั้นจิตต้องสงบก่อน แต่ขณะจิตที่เราใช้ปัญญากันอยู่นี้มันไม่ใช่วิปัสสนาหรอก มันเป็นเหมือนโลก มันเป็นเหมือนโลกคือว่าเหมือนกับเราทำงานในโลก เราทำงานกันไป

นี่ก็เหมือนกัน เวลาปัญญามันเกิด เขาบอกว่าวิปัสสนาเป็นอย่างไร วิปัสสนา.. ฉะนั้นต้องให้มันเห็นเองใช่ไหม

ถาม : ถ้าน้อมไปสู่วิปัสสนาจะทำอย่างไร เราจะต้องกำหนดนึกขึ้นเองหรือว่าต้องรอให้มันขึ้นมา

หลวงพ่อ : ๒ ข้อนี้เวลาปฏิบัติมา ๒ ข้อนี้ไม่เหมือนกันนะ

เราต้องนึกขึ้นใช่ไหม เราต้องนึกขึ้นมาหมายถึงประเภทหนึ่ง ประเภทที่ว่า.. ประสาเรานะ ระดับของจิตนี่มันสร้างอำนาจวาสนามาไม่เท่ากัน มีระดับจิตอยู่กลุ่มหนึ่งที่เขาสร้างอำนาจวาสนาของเขามา เวลาจิตสงบปั๊บมันจะเห็นกายเลย อย่างเช่นนิมิตมาเราจะเห็นเลย

แต่จิตอีกกลุ่มหนึ่งเราสร้างคุณสมบัติมาน้อยกว่าเขา คือว่าสิทธิเราน้อยกว่าเขา เวลาจิตสงบแล้วไม่เห็นหรอก อย่างไรก็ไม่เกิด ให้เห็นกายไม่มีทางเห็นได้เลย ต้องนึกขึ้นมา ! ต้องนึกขึ้นมา เห็นไหม นี่ไงพระพุทธเจ้าสอนแนวทางไว้หลากหลายมาก เพียงแต่ว่าผู้สอนนี่สอนเป็นหรือเปล่า แล้วคุณภาพของจิต เรารู้ว่าคุณภาพของจิตนี่มันคุณภาพอย่างไร

ฉะนั้นถ้าคุณภาพของจิตที่เห็นเองนะ คำว่าเห็นเองนี่มันมีเยอะมาก เวลาจิตสงบแล้วนี่โอ้โฮ.. ลอยมาเลย ลูกศิษย์มาหลายคนนะบอกว่า หลวงพ่อเวลาเดินจงกรมนี่มันมีซากศพ คือโครงกระดูกเดินอยู่ข้างหน้าเลย เวลาจิตเขาสงบมันเหมือนมี เราเดินจงกรมอยู่นี่มันจะมีโครงกระดูกเดินอยู่ข้างหน้า เดินอยู่ข้างหน้าตลอด นี่เขาเห็นของเขาเลย บางคนจะเห็นขึ้นมา เห็นขึ้นมา แต่ถ้าบางคนไม่เห็นล่ะ

ถ้าไม่เห็น.. คำว่านึกนี่เขาก็บอกว่าเหมือนเป็นการหลอกตัวเอง สมมุตินะโยมมีเงินอยู่พันล้าน โยมจะลงทุนนี่โยมหลอกตัวเองหรือเปล่า ถ้าโยมมีเงินอยู่พันล้านจะเอาเงินพันล้านไปลงทุน นี่หลอกตัวเองหรือเปล่า อ้าว.. ก็มีจริงๆ ใช่ไหม เรามีเงินอยู่พันล้าน แล้วเราจะลงทุน พันล้านก็ของเราจริงๆ นี่เราหลอกตัวเองหรือเปล่า ไม่ได้หลอกหรอก

จิต ! จิตถ้ามันเป็นสมาธิ ถ้าเราจะนึกขึ้นมานี่หลอกตัวเองได้อย่างไร ถ้ามันมีสมาธินะ ถ้าไม่มีสมาธิมันนึกไม่ขึ้นหรอก มันไม่มีหรอก แต่ถ้ามันมี นึกขึ้นมา คือนึกขึ้นมาเขาเรียกว่ารำพึง ตามประสาธรรมเขาเรียกรำพึงขึ้นมา ต้องรำพึงขึ้นมา.. นี้พอรำพึงขึ้นมา มาพูดกับโยมโยมก็ไม่เข้าใจอีกใช่ไหมก็ต้องบอกว่านึก ! พอบอกว่านึกก็เป็นภาษาโลกแล้ว เป็นภาษาที่ว่าหลอกตัวเองแล้ว แต่หลอกไม่ได้

เรามีเงินพันล้านแล้วเราลงทุนนี่ไม่ได้หลอกตัวเอง แล้วคนไม่มีเงินพันล้านเขาจะลงทุนกัน นี่เอ็งไม่มีสิทธิ์เพราะเอ็งไม่มีพันล้าน เอ็งไม่มีเงินพันล้านเอ็งเอาอะไรมาลงทุน กูลงกันคนละพันล้านนะ แล้วเอ็งไม่มีพันล้านเอ็งจะเอาอะไรมา ก็ขอลงด้วยพันล้าน แต่ลงด้วยปากใครจะให้

จิตก็เหมือนกันเวลานึกขึ้นมาไง เพราะคำว่านึกนี่เรารู้อยู่ ถ้าคนแบบว่าศึกษาพุทธพจน์ๆ นี่เขาจะบอกเลยว่านึกขึ้นมานี้มันก็เหมือนกับเด็กเล่นขายของเลย เออ.. เล่นนึกกันเองอย่างนั้นเลยเหรอ.. ไอ้นั่นเวลาเขาพูดกันเขาพูดในวงของเขา

“ฉะนั้นถ้าสู่วิปัสสนาทำอย่างไร เราต้องกำหนดนึกขึ้นเองหรือว่าต้องรอให้มีการผุดขึ้นอย่างไร หรือต้องกำหนดพุทโธขึ้นมาเอง”

เวลาผุดขึ้นมาเอง เวลาผุดนี่นะ คำว่าผุดนี่นะถ้าเรามีสมาธินะมันก็เห็นใช่ไหม แต่ถ้าผุดนี่เหมือนกับธรรมเกิด คำว่าผุดนี่มันเหมือนกับ เช่นนะเรานั่งปฏิบัติกัน อย่างเรานี่มีปมในใจ สงสัยเรื่องธรรมะ สงสัยเรื่องอะไรก็แล้วแต่สงสัยมาก พุทโธ พุทโธไป เวลามันผุดนะมันจะมีเหตุผลมาลบล้างสิ่งที่ปมในใจเราหมดเลย นี้เรียกว่าธรรมผุด ! นี่ธรรมเกิดไม่ใช่อริยสัจ

อริยสัจ นี่จิตมันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม มันคนละเรื่องกับอันนี้นะ มันไม่ใช่ผุด ถ้าผุดขึ้นมานี่มันเป็นธรรม แต่ถ้าเวลาที่ภาพมันเกิดขึ้นมา จะใช้คำว่าผุดก็ได้ แต่มันเป็นอีกกรณีหนึ่ง เพราะมันต้องมีสมาธิพอ ถ้ามันมีสมาธิไม่พอไม่มีทาง เป็นไปไม่ได้ ถ้าเป็นไปได้ก็สัญญาคือจำเอา คือนึกเอา คือเป็นโลก ถ้าเป็นโลกมันก็ไม่.. ถ้าเป็นโลกเราจะรู้ เป็นโลกพอเวลาเราทำไปแล้วคือไม่มีผล คือเราใช้ปัญญาไปแล้ว จบกระบวนการแล้วนี่มันเหมือนปกติ แต่ถ้าเป็นวิปัสสนานะ เวลาเราใช้ปัญญาหมุนไป เวลามันสรุปลงแล้ว ผลของมันคือโอ้โฮ.. โล่ง ว่าง แล้วเข้าใจได้หมดเลย

นี่มันแตกต่างกัน ผลตอบสนองแตกต่างกัน เหตุแตกต่าง ผลแตกต่าง เหตุไม่เป็นความจริง ผลออกมาแกรนๆ ถ้าเหตุเป็นความจริงนะ ผลของมันนี่โอ้โฮ.. มันถอดมันถอนนะ แล้วบางทีนี่น้ำตาไหลเลยล่ะ มันซาบซึ้งไง โอ้โฮ.. น้ำตาร่วงเลย โง่อย่างนี้ ทำไมมึงโง่อย่างนี้ ของอยู่ใกล้ๆ ของอยู่กับตัวทำไมไม่รู้.. แต่กว่าจะรู้เกือบตายนะ แต่ถ้ารู้แล้วมันจะอย่างนั้นเลย

ถ้าเป็นความจริงนะ ธรรมสังเวชนะโอ้โฮ.. บางทีมันตีเลย สะอื้นฮั่กๆๆ เลย ถ้ามันเป็นความจริงนะ ! แต่ถ้ามันไม่เป็นความจริงเราสร้างไม่ได้หรอก เราสร้างไม่ได้

ถาม : ๒. การภาวนาโดยการฟังธรรมเช่นเปิดเทปหลวงตาดีหรือไม่อย่างไร ถ้าเทียบกับการภาวนาโดยการบริกรรมเจ้าค่ะ

หลวงพ่อ : ถ้าการบริกรรมนี่มันเหมือนกับเราเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา เราศึกษาเราทำของเราด้วยตัวเราเอง แต่ถ้าฟังเทศน์หลวงตานะดีมาก ฉะนั้นเวลาฟังเทศน์หลวงตานี่นะ เมื่อกี้บอกว่าเวลาภาวนาด้วยตัวเองนี่เป็นผู้ใหญ่ แล้วพอบอกฟังเทศน์หลวงตานี่ดีมาก แล้วอะไรจะดีกว่ากันล่ะ

มันดีทุกทาง ! มันดีทุกทางแหละ มันอยู่ที่คนถนัดหรือคนเอามาเป็นประโยชน์ไง เวลาเราพุทโธ พุทโธของเราเอง คือเราฝึกด้วยตัวเราเอง แต่ในวงกรรมฐานหลวงตาจะบอกว่าการฟังเทศน์เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เวลาพระพุทธเจ้าเทศน์เทวดาสำเร็จเป็นร้อยเป็นพันเลย เวลาเทศน์ขึ้นมานี่ เวลาเทศน์นะพระสำเร็จบางที ๕๐๐- ๑,๐๐๐ เลย เพราะขณะเวลาเทศน์มันเป็นการปฏิบัติโดยตรงไง

ขณะเทศน์นะ ฟังเทศน์นี่พอศึกษา เห็นไหม เวลาฟังเทศน์นี่จิตใจเราคิดอะไรอยู่ แล้วคำเทศน์นี่มันตรงกับใจเราไหม มันแก้ปมในใจเราได้ไหม พอมันแก้มันก็ลงวูบ.. จบเลย กิเลสนี่ขาดหมด

ฉะนั้นเวลาฟังเทศน์ เราพุทโธของเรา นี้คือการปฏิบัติโดยตรง เวลาฟังเทศน์นะมันมีประเด็นอยู่ ประเด็นที่ว่าเวลาฟังเทศน์เราไม่ต้องกำหนดนะ.. เราอยู่กับพุทโธ พุทโธใช่ไหม เวลาฟังเทศน์เรากำหนดพุทโธไปด้วยนี่มันเป็นสองไง เวลาฟังเทศน์เราไม่ต้องกำหนดพุทโธ เอาเสียงเทศน์นั้นเป็นประเด็นเราจับเสียงเทศน์นั้น แล้วไม่ต้องบอกว่าอยากจะฟังหลวงตาเทศน์ให้รู้ทุกคำ ไม่ต้อง ตั้งจิตไว้โล่งๆ คำไหนนะ เทศน์ทั้งกัณฑ์มันจะมีอยู่คำหนึ่ง หรือว่าประเด็นอะไรที่มันทิ่มเข้ามาในหัวใจเลย โอ้โฮ.. พอทิ่มเข้ามาทีนี่ขนลุกเลย นั่นแหละฟังเทศน์

การฟังเทศน์.. หลวงตาบอกว่า การฟังเทศน์กรรมฐานเป็นยอดแห่งการปฏิบัติ การฟังเทศน์ เวลาหลวงปู่มั่นเทศน์ เวลาหลวงตาเทศน์ พระฟังนี่โอ้โฮ.. สุดยอดเลย เพราะมันเป็นแบบว่าเหมือนกับนักกีฬาลงสนาม ขึ้นมาในสนามแล้วมีคู่ต่อสู้ ระหว่างทิฐิเรา กับเรามีความรู้อย่างนี้ เรามีความคิดอย่างนี้ หลวงตาเทศน์มานี่เปรี้ยง ! เปรี้ยง ! อู้ฮู.. ของกูผิดหมดเลย มันหงอเลยนะ ไม่อย่างนั้นถ้าอยู่คนเดียวนะ แหม.. เก่ง ยอด อู้ฮู.. สุดยอดเลย ปัญญานี้ยอดเยี่ยมเลย เรามีประเด็นในใจใช่ไหม เวลาหลวงตาท่านเทศน์ออกมาหรือว่าหลวงปู่มั่นเทศน์ออกมา อู้ฮู.. เหตุผลเราเมื่อกี้ โอ๋ย.. สู้ไม่ได้เลย มันหมดเลย นี่คือฟังเทศน์

ฉะนั้นเราจะบอกว่าอันนี้คำถามนี้เราเข้าใจว่า เรามาปฏิบัติมันมีเวลาจำกัด ก็เลยบอกว่าอะไรที่มันเป็นประโยชน์ที่สุด แต่เวลาอย่างพระปฏิบัติเรานี่ เวลาปฏิบัติเป็นอาชีพ เราจะมีเวลาปฏิบัติ ๒๔ ชั่วโมง โอ้โฮ.. แล้วเป็นกี่ปีๆ ฉะนั้นเวลาเราฟังเทศน์นี่เราฟังกันตลอด วิทยุแจกตลอด เวลากลางคืนเปิดเทศน์ทิ้งไว้เลยแล้วเดินจงกรมกัน เดินจงกรม นั่งสมาธิ บางทีอาศัยหลวงตาเป็นที่เกาะไง แล้วถ้าพูดถึงเราปฏิบัติเราก็ปฏิบัติของเราเองไง

ฉะนั้นถ้าบอกว่า “การฟังเทศน์หลวงตากับการปฏิบัติโดยตรงอันไหนดีกว่ากัน”

อยู่ที่จังหวะและโอกาสของเรานะ ถ้าเราพุทโธแล้วมันเต็มที่ของเราแล้ว เราใส่กำลังเราเต็มที่แล้ว พักไว้ก่อน เปิดวิทยุ ฟังเทศน์หลวงตา พุทโธเมื่อกี้มีอะไรผิดบ้าง พุทโธเมื่อกี้ไม่เห็นลงสักที ฟังเทศน์ของหลวงตาว่าอย่างไร เห็นไหม เราสลับกันเพื่อประโยชน์กับการปฏิบัติ

ถาม : ๓. บางครั้งหนูนั่งสมาธิแล้ว เริ่มนั่งเหมือนกับสงบลง แต่ได้ยินเสียงหัวใจตัวเองเต้น หัวใจตนเองก็เลยกำหนดจิตอยู่ที่จังหวะหัวใจนี้เต้นอยู่ ถูกผิดหรืออย่างไรคะ

หลวงพ่อ : เวลาพุทโธแล้วเป็นอย่างนั้นจริงๆ นะ เวลาพุทโธนี่หลวงตาบอกเลยอยู่ในป่านี่นะ เวลาใบไม้ตกยังได้ยินเลย แล้วนี่หลวงตาจะบอกประจำว่าเวลาท่านอยู่ในป่า... หมากหัวใจท่าน ตุบตับ ! ตุบตับ !ไง ถ้าจิตเราสงบเราจะได้ยินเสียงของเราเองหมด นั่นแสดงว่าจิตของเราดีขึ้น ฉะนั้นอยู่ที่พุทโธไว้ อยู่ที่พุทโธไว้ ได้ยินส่วนได้ยิน ให้พุทโธไปเรื่อยๆ แล้วเดี๋ยวถ้าจิตมันสงบกว่านี้มันก็จะปล่อยวางไปเอง ปล่อยวางไปเอง.. สิ่งนี้มันเป็นไปได้ เวลาจิตสงบแล้ว

ฉะนั้นเวลาการปฏิบัติเรา ผู้ที่ปฏิบัติถึงต้องการความสงบสงัดไง ฉะนั้นถ้ามันสงบ.. นี่สัปปายะ ๔ สถานที่สงบ ถ้าจิตใจมันวิเวก สถานที่วิเวก จิตใจวิเวก อุปธิวิเวก มันจะย้อนกลับเข้ามาสงบข้างในๆ ขึ้นเรื่อยๆ นะ แล้วพอสงบเข้าไปแล้วมันจะพัฒนาของมันไป

นี่คำถามใหม่ เวลามันไล่เข้ามาแล้ว

ถาม : ๑. กราบเรียนถาม ลูกนั่งสมาธิภาวนาพุทโธ แต่จิตใจบางครั้งจะไปคิดเรื่องอื่น ก็พยายามใช้สติกลับมาภาวนาพุทโธ พอกำหนดพุทโธไปเรื่อยๆ จิตสงบ พอสงบสักพักก็จะหลับ ลูกควรจะต้องปฏิบัติอย่างไร รบกวนหลวงพ่อช่วยให้คำแนะนำ

หลวงพ่อ : ถ้ามันจะหลับ.. นี่ต้องตั้งสติ มันขาดสติไง สติของเรา ความระลึกรู้นี่มันพร้อมกับสตินะ เวลาเราตอบ เราตอบปัญหาไปเยอะมากบอกให้พุทโธชัดๆ เพราะพุทโธชัดๆ สติมันสมบูรณ์ ถ้าไม่สมบูรณ์ชัดไม่ได้ไง.. นี้พุทโธ พุทโธ พอสติมันเริ่มจางลง พุทโธมันก็เบาลงเป็นธรรมดา ถ้าพุทโธชัดๆ นะมันพร้อมกับสติ ถ้าไม่มีสติพุทโธชัดไม่ได้ พุทโธชัดๆ นี่คือสติพร้อม แต่พอมันชัดคำแรก คำสองมันจะเริ่มอ่อนลงๆ มันเป็นเรื่องธรรมดาเลย ทีนี้อ่อนลงนี่เราต้องฝึก ถ้าเราฝึกจนมีความชำนาญใช่ไหม

ฉะนั้นเวลามันอ่อนลง อ่อนลงนี่มันจะหลับ ฉะนั้นถ้ามันจะหลับนี่นะ ถ้าลมหายใจเข้าพุท ลมหายใจออกโธ ถ้ามันจะหลับนะเราลมหายใจอย่างเดียว อานาปานสติหรือพุทโธชัดๆ ถ้าพุทโธกับลมหายใจเข้าออก บางทีมันจะมีปัญหา เราบอกเลย คำสอนคำแรกใหม่ๆ มาเราจะบอกว่าลมหายใจเข้านึก “พุท” ลมหายใจออกนึก “โธ” แต่ส่วนใหญ่แล้ว เพราะการเริ่มต้น

การเริ่มต้นถ้าเราเริ่มต้นไม่ได้ เราเริ่มต้นไม่ได้ สิ่งเกี่ยวเนื่องกันต่อไปมันก็จะไม่มี ฉะนั้นลมหายใจเข้า “พุท” ลมหายใจออก “โธ” ก่อน ฝึกหัดให้เรามีการเคลื่อนไหว ให้เราทรงตัวของเราได้ก่อน พอไปข้างหน้าปั๊บเราทิ้งอันใดอันหนึ่ง ลมหายใจอันเดียว หรือพุทโธอันเดียว มันจะได้สติชัดเจนขึ้นมา แล้วถ้ามันพุทโธ พุทโธ พุทโธ ไม่ต้องเอาลมเลย.. ลมนี้คือเป็นอานาปานสติ พุทโธคือพุทธานุสติ แต่มันเป็นนามธรรมเกินไปสำหรับผู้ปฏิบัติใหม่ เราก็เอามาให้เป็นรูปธรรมเพื่อผู้ปฏิบัติมันจะได้มีที่เกาะ แต่พอเราเกาะไปแล้วนี่มันเกาะ ๒ มือ ๓ มือ มันก็เลยลืมตัว มันก็เลยทำให้หลับ

ทิ้งอันใดอันหนึ่ง เกาะอันเดียวให้ชัดๆ พุทโธคือคำบริกรรมอย่างเดียว พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธเลย แล้วถ้าลมหายใจก็ลมหายใจชัดๆ เลย แยกกันไปเลย แยกกันไปอย่างเดียวเลย มันจะแก้หลับนี้ได้ดีขึ้น แล้วถ้ามันยังหลับอยู่นะเดิน.. เดินก่อนแล้วค่อยนั่ง นั่งก่อนแล้วค่อยเดิน หาจังหวะเอา หาสมดุลเอา บางทีเราเดินจงกรมสัก ๒-๓ ชั่วโมงแล้วไปนั่ง ถ้าพอมันนั่งสักพักแล้วมันดีขึ้นหรือไม่ดี ถ้ามันยังไม่ดีหรือถ้ามันจะหลับให้ลุกขึ้นเดิน ลุกขึ้นเดิน ถ้าเดินแล้วไม่ดีให้ยืน

อุปสรรคมันมีทุกคนนะ อุปสรรคมีทุกคน แต่เราจะแก้ไขอย่างไรเท่านั้นเอง ทุกคนมีอุปสรรคหมด เห็นไหม อย่างที่พูดเมื่อกี้เริ่มต้นเลยว่าเข้าไปสู่จิต.. ถ้าออกมาสู่ชุมชนนี่ไม่มีปัญหา นั่งอยู่นี่ไม่มีใครมีปัญหาเลย พอกลับเข้าบ้านใครบ้านมัน ปัญหาทั้งนั้นเลย เราจะกลับเข้าสู่จิตนี่จะมีปัญหาแล้ว แล้วไม่เหมือนกัน เห็นไหม นี่มาด้วยกันก็ไม่เหมือนกัน ทุกคนไม่เหมือนกัน เพราะสร้างบุญไม่เหมือนกัน ต้นทุนมามันไม่เหมือนกัน

ถาม : ๒. จากที่กำหนดพุทโธ แล้วพอสงบลูกก็จะหลับ จึงเปลี่ยนมาเดินจงกรมแทนก็เดินได้ดี เดินนาน แต่จิตจะไม่สงบเท่านั่งสมาธิ ไม่ทราบเพราะเหตุใดเจ้าคะ

หลวงพ่อ : เดินจงกรม เคลื่อนไหวแต่สงบ นั่งสมาธินี่มันสงบ นั่งสมาธินะเวลาจิตเขาสงบ.. นั่งสมาธินี่เวลาจิตลงเป็นอย่างหนึ่ง แต่เดินจงกรมนะมันไม่ค่อยสงบ แต่เวลามันจะสงบนะ เพราะเดินจงกรมนี่นะเข้าถึงอัปปนาสมาธิได้เลย

พอเดินจงกรม เราเดินจงกรม.. นี่เดินจงกรมถ้าจิตมันอยู่กับตัวเรานี่โอ้โฮ.. สุดยอดเลย สุดยอดอยู่แล้ว เดินไปเรื่อยๆ เดินไปเรื่อยๆ จนเดินไม่ได้ พอเดินไม่ได้ยืน.. ยืนรำพึง ยืน ! ยืนบนทางจงกรมนั่นแหละถ้ามันจะลงลึกๆ ยืนบนทางจงกรม ยืนก็ไม่ได้เพราะถ้าเข้าลึกๆ มันจะล้มต้องนั่งลง นั่งลงที่ทางจงกรมนั่นล่ะ แล้วมัน วื้ด ! จน วึบ ! เลย พอสักแต่ว่า.. คำว่าสักแต่ว่ารู้นี่นะคือโลกนี้ไม่มี จักรวาลไม่มี สรรพสิ่งไม่มี สักแต่ว่ารู้อยู่.. ไม่มีสิ่งใดเลยแต่รู้อยู่ ทางจงกรมนี่เป็นได้ ทางสมาธิ.. ทางจงกรมนี่เราทำอย่างนี้มาบ่อย

เขาบอกว่าเดินจงกรมแล้วมันไม่สงบ.. เออน่า ! เออน่า ! มันอยู่ที่ความถนัดของคน ทีนี้เพียงแต่ว่าเดินจงกรมแล้วเราก็จะเดิน เดินอยู่อย่างนั้นแหละ.. เดินจงกรมนะ ถ้าพอจิตมันจะดีๆ นี่ยืนเลย ยืนเฉยๆ ยืนก็เหมือนกับนั่งนี่แหละ เพราะนั่งเรานั่งใช่ไหม แต่พอเดินมันเคลื่อนไหว แล้วอย่าให้กิเลสหลอกนะ เวลาเดินนี่มันบอกจิตจะดีแล้วนะให้ยืน พอยืนก็รำคาญอีกนะยืนก็ไม่ดี มันจะอ้างตลอด

อย่าให้มันหลอก เราเดินจงกรมไปเรื่อยๆ ถ้าจิตมันดียืน.. ยืนพิสูจน์กัน ถ้าดีต้องนิ่ง ต้องไม่ฟุ้งซ่าน แล้วถ้าแบบว่ามันหลอกปั๊บเราเดินต่อ นั่นล่ะเอ็งหลอกกูแล้ว เห็นไหม พิสูจน์แล้วว่าเอ็งโกหก แล้วเราก็เดินต่อ เดินเรื่อยๆ แล้วถ้าเดิน ถ้ามันดีให้ยืน แล้วถ้ามันนิ่งจริงนะ นิ่งจนทรงตัวไม่ได้เลยนะ นั่งลงที่เดินนั่นเลย ไม่ต้องไปห่วงเปื้อนหรือไม่เปื้อน เพราะว่าจิตมันสะอาดกว่าร่างกายหลายร้อยเท่า

นั่งลงบนทางจงกรมนั่นเลย ! แล้วถ้ามันดีนะ จิตมันดีนะตามสติดีๆ นี่มันจะ วื้ด ! โอ้โฮ.. ตามไปเลย เชิญเลยไปไหนไปกัน ลงนรกอเวจีก็ไป จะไปไหนก็ไป ! แต่คนเราส่วนใหญ่ไม่ พอขยับหน่อยกลัว เลิกเถอะ ไม่ไหวไม่สู้ อดกินของดีเลย ของดีๆ ไม่ได้กินสักอย่าง เพราะอะไร เพราะตัวเองไม่กล้า แต่ถ้าตัวเองกล้านะตามเข้าไปเลย ตามเข้าไป สติตามเข้าไป ไม่ไปไหนหรอก ! ไม่ไปไหน ไม่มีไปไหน อาการของจิตทั้งนั้น อาการของมันทั้งนั้น ไม่มีตัวจริงเลย แล้วพอเข้าไปสู่ตัวจริงนะ เฮ้อ.. จบ หลอกกูไม่ได้

ฉะนั้นเวลาเดินจงกรม.. มันแบบว่านั่งสมาธิ กำหนดพุทโธมันจะดีกว่าเดินจงกรม มันอยู่ที่จังหวะไง บางทีแบบว่าร่างกายเราเหนื่อยมาแล้ว อ่อนเพลียมาแล้ว การนั่ง เห็นไหม ถ้าอ่อนเพลียมาแล้ว ร่างกายอ่อนเพลียมาแล้วมันไม่ฟุ้งซ่าน การนั่งก็ดี แต่ถ้าร่างกายมันแข็งแรงใช่ไหม พอนั่งปั๊บมันก็คิดร้อยแปดเพราะมันแบบว่าร่างกายมันแข็งแรง เขาเรียก “ธาตุขันธ์ทับจิต”

จิตมันอ่อนแอกว่า ความคิดมันรุนแรงกว่า มันไป เดินจงกรมก่อน เดินให้มันเหนื่อยซะ พอเดินให้มันเหนื่อยนี่ธาตุขันธ์มันอ่อนลงแล้ว พออ่อนลงมันไม่ข่มขี่จิตแล้ว เราก็นั่งสะดวกสบาย.. เทคนิคอย่างนี้มันต้องหาสมดุลของตัวเองไง ทุกคนต้องหาสมดุลของตัวเอง แล้วพยายามพิสูจน์ของตัวเอง แล้วปฏิบัติไปมันจะได้ผลนะ

การปฏิบัติต้องเป็นอย่างนี้ ทุกคนต้องได้รับรู้รส ทุกคนต้องรู้เอง.. ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก นี่พระพุทธเจ้าบอกเลยว่ามันเป็นสันทิฏฐิโก มันเป็นปัจจัตตัง มันเป็นความจริงของใจดวงนั้น หลวงปู่มั่นบอกเลย แม้แต่พระพุทธเจ้าอยู่ก็ไม่ถามนะ ถ้าความจริงเป็นความจริงแล้ว แหม.. ไม่มีอะไรจะลบล้างความจริงอันนี้ได้เลย ไม่มีอะไรลบล้างความจริงในใจเราได้เลย เราทำของเราตามความเป็นจริง ให้มันเป็นจริงของเรา จะเป็นประโยชน์กับเราเนาะ เอวัง