ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ติดตน

๑๙ ก.พ. ๒๕๕๔

 

ติดตน
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ข้อ ๓๓๗. นะ

ถาม : ๓๓๗. เรื่อง “ภาวนาขณะอ่านหนังสือ”

หลวงพ่อ : ภาวนากับอ่านหนังสือนะ จะเอาทุกอย่างไง โลกก็จะเอาธรรมก็จะเอา

ถาม : เวลาอ่านหนังสือธรรมะหรือหนังสืออย่างอื่นโยมควรทำอย่างไรคะ ตอนนี้ก็อ่านไปดูลมไปด้วย แต่ก็รู้ตัวว่าดูลมไม่ได้ชัดเจน และเดี๋ยวรู้เดี๋ยวลืม สมัยก่อนหน้านี้ก็อ่านได้ด้วยการเคลื่อนไหวไปด้วยแบบหลวงพ่อเทียน โยมได้ลองพยายามพุทโธไปด้วยอ่านไปด้วยแต่ทำไม่ได้ค่ะ กราบขอความเมตตาจากหลวงพ่อ คำถามพื้นๆ โยมหาไม่เจอว่าหลวงพ่อตอบเรื่องนี้หรือยัง

หลวงพ่อ : เขาไปค้นหากันเองไง นี่ด้วยความเข้าใจของเรานะ โดยความเข้าใจของพวกเรา เวลาเราปฏิบัติกัน เห็นไหม เวลาครูบาอาจารย์ทำจริงทำจัง แต่ทำจริงทำจังนี่เวลาสอนให้พวกเราภาวนาพุทโธ พุทโธ เวลาทำหน้าที่การงานก็ให้พุทโธไปด้วย ทุกอย่างให้พุทโธไปด้วยเพื่อให้พวกเราได้มีความร่มเย็นเป็นสุข แต่ถ้าจะภาวนาจริงๆ ภาวนาจริงๆ ขณะที่อ่านหนังสือมันก็เหมือนงานทางโลก เวลาเราอ่านหนังสือนะ แต่เวลาเราภาวนานี่เพื่อจะทำความสงบของใจ มันลึกซึ้งกว่าการอ่านไง

การอ่านนี่คือสุตมยปัญญา มันมีสุตมยปัญญา แล้วมีจินตมยปัญญา แล้วมีภาวนามยปัญญา โดยธรรมดาสังคมโลกพูดกันตลอดเวลาบอกว่าในชีวิตประจำวัน ปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ก็ชีวิตประจำวันก็เป็นชีวิตทุกข์ ชีวิตที่มันต้องดำรงชีวิตอยู่แล้ว นี้การปฏิบัติเรามันควรจะเหนือชีวิตประจำวัน ชีวิตประจำวันส่วนชีวิตประจำวันสิ ชีวิตประจำวันพร้อมกับปฏิบัติไปด้วยมันเป็นการทำให้.. มันเหมือนเครื่องยนต์ ถ้าเครื่องยนต์แน่นเครื่องยนต์ดีนะ เครื่องยนต์นั้นจะทำให้พลังงานนั้นดีมาก

ขณะที่จิตใจเรานะ นี่จิตใจเราภาวนาไปชีวิตประจำวัน ก็ภาวนาเพื่อความดำรงชีวิตเท่านั้นเองแหละ แต่ถ้าภาวนาเพื่อจะเป็นอริยทรัพย์ ภาวนาเพื่อจะชำระกิเลสมันต้องลึกซึ้งกว่านั้น ฉะนั้นการภาวนา คือว่าจิตภาวนาในชีวิตประจำวัน เราถึงบอกชีวิตประจำวันมันมีค่ากว่าธรรมะเหรอ ธรรมะมันมีค่ากว่าทุกๆ อย่าง มีค่ากว่าชีวิต มีค่ากว่าทุกอย่างเลย

สิ่งที่มีค่ากว่าทุกอย่าง เราคิดว่าเราเอาชีวิตประจำวันไปครอบงำทุกๆ อย่างเลย ถ้าจะภาวนาก็ต้องอยู่ในชีวิตประจำวันของเรา คือชีวิตประจำวันเราใหญ่กว่า คือกิเลสมันใหญ่อยู่แล้ว โลกมันใหญ่อยู่แล้ว ทำอะไรก็ไปสยบกับโลก ทำอะไรก็ไปสยบกับกิเลส แล้วก็บอกว่าทำไมมันไม่ดีๆ ก็มึงเอากิเลสเป็นตัวตั้ง มึงเอาโลกเป็นตัวตั้ง มึงไม่เอาธรรมะเป็นตัวตั้ง

ถ้าเอาธรรมะเป็นตัวตั้ง เห็นไหม เราต้องปรับตัวเรา ปรับปรุงชีวิตเรา ปรับทุกอย่างเข้าสู่ธรรมะเราใช่ไหม แต่นี้เราเอาชีวิตเราเป็นตัวตั้ง ภาวนาในชีวิตประจำวัน แล้วพอเขาเผยแผ่ไปอย่างนั้นทุกคนก็เชื่อนะ โอ้โฮ.. พุทโธนี่ต้องทิ้งงานหมดเลยแล้วมาพุทโธนะ เวลาวิปัสสนาก็ต้องเสียสละเลย โอ้โฮ.. ไปวัดเลยมันทำไม่ได้ ถ้าชีวิตประจำวันเล่นไพ่ไปภาวนาไปนี่ดี แทงไฮโลไปก็พุทโธไปอย่างนี้ดี แล้วนี่ถึงว่าอย่างนี้ไง

คำตอบเราจะบอกว่าทัศนคติของโลกเป็นแบบนี้ ในเมื่อทัศนคติของโลกเป็นแบบนี้ มันเป็นแบบนี้เพราะอะไร มันเป็นแบบนี้เพราะคนที่เผยแผ่เขาเผยแผ่เพื่ออะไร แต่ถ้าทัศนคติของโลกแบบหลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ ท่านได้เอาจริงเอาจัง เวลาพักผ่อนให้พักผ่อน เวลาทำงานให้ทำงาน เป็นหน้าที่การงานไป เป็นแต่ละคราวไป

เวลาหลวงตาท่านสอน เห็นไหม บอกทำหน้าที่การงานไป ชีวิตประจำวันเราดำรงชีวิตประจำวันไป ก่อนนอนให้สวดมนต์ สวดมนต์เสร็จแล้วให้นั่งพุทโธ.. นี่ก่อนนอน ! ก่อนนอน ! ตื่นนอนก่อนแล้วภาวนาพุทโธก่อน พุทโธเสร็จแล้ว เราออกจากพุทโธแล้วเราไปทำหน้าที่การงานด้วยความแจ่มใส ด้วยความสดชื่นนั่นน่ะ หน้าที่การงานเราก็ต้องหามา นี่ไงทางของคฤหัสถ์เป็นทางที่คับแคบ ในพระไตรปิฎกทุกข้อเลย

ทางของคฤหัสถ์เป็นทางที่คับแคบ ทางของนักบวชเป็นทางที่กว้างขวาง เราก็ว่าโอ้โฮ.. นักบวชนี่เห็นแก่ตัวเนาะ กว้างขวาง มันเป็นธรรมชาติของมันอย่างนั้น ทางของนักบวชคือ ๒๔ ชั่วโมงไง นี่พระฉันเสร็จแล้ว ทำข้อวัตรเสร็จแล้วไปภาวนาแล้ว ภาวนาทั้งวันเลย ๒๔ ชั่วโมงนี่มันกว้างขวางในเวลา ๒๔ ชั่วโมงไง

นี่ทางของนักบวชมันกว้างขวาง กว้างขวาง ๒๔ ชั่วโมงเอ็งภาวนาทั้งวันทั้งคืนเลย นี่ไม่ต้องภาวนาเพื่อชีวิตประจำวันไง จะต้องไปอาบเหงื่อต่างน้ำ ไถไร่ไถนาแล้วก็ภาวนาเป็นชีวิตประจำวัน ไม่เอา ! อันนั้นโลกเป็นตัวตั้ง กิเลสเป็นตัวตั้ง แต่ถ้าภาวนาโดยธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมะเป็นตัวตั้ง ปรับชีวิตเราเข้าสู่ธรรม

ปรับชีวิตเรา เห็นไหม ดูสิเวลาพระบวชมาแล้ว พอเวลาบวชมาแล้วนี่ได้รุกขมูล ได้กรรมฐาน ๕ มาทุกๆ องค์เลย นี่พระบวชทุกองค์ การบวชก็บวชเหมือนกันไม่มีพระป่าพระบ้านหรอก แต่บวชมาด้วยญัตติจตุตถกรรมเหมือนกัน แต่พอเป็นพระแล้วนี่จะเลือกอะไร เป็นพระแล้วนี่เอ็งจะเลือกศึกษา เลือกเป็นฝ่ายปกครอง หรือเอ็งจะเป็นพระปฏิบัติพระป่าเพื่อจะชำระกิเลส นี่เอ็งก็เลือกเอา พอเลือกไปแล้วนี่พอเลือกไปแล้ว เลือกสิ่งใดแล้วเราก็จะต้องจริงจังกับสิ่งนั้นสิ่งที่เราเลือก

ฉะนั้นเวลาปฏิบัติต้องเอาธรรมเป็นที่ตั้ง เอาธรรมเป็นตัวตั้งแล้วเราต้องปรับความรู้สึกเรา ปรับเราเข้าสู่ธรรมะ นี่ไง แต่นี้เขาวินิจฉัย ถ้าอย่างนี้แล้วมันเป็นได้คนกลุ่มน้อย ผู้ที่ปฏิบัตินี้ ผู้ที่ปฏิบัติต้องมีความตั้งใจจะได้ประชากรเล็กน้อย ต้องเผยแผ่ให้กว้างขวาง กว้างขวางก็เลยเอาชีวิตประจำวันเป็นตัวตั้ง ภาวนาเพื่อชีวิตประจำวัน ถ้าภาวนาเพื่อชีวิตประจำวันแล้วมันได้อะไรขึ้นมา

มันได้ ! ได้ เห็นไหม เราศึกษาธรรมะ เราศึกษาธรรมะ นี่เวลาใครศึกษาธรรมะนะ เวลาใครมีความทุกข์มาศึกษาธรรมะน้ำตาไหล น้ำตาร่วงเลย อู้ฮู.. มันซาบซึ้ง มันได้ตรงนั้นไง มันได้ผ่อนคลาย มันได้รู้สึกว่าเป็นที่พึ่งอาศัย จากเดือดร้อนมาเราก็ไปได้ที่ร่มเย็น ได้ที่พักผ่อน พักใจ นี่ถ้าศึกษาธรรมะเป็นอย่างนี้ มันได้อย่างนี้ แต่ได้ขนาดนี้มันเป็นธรรมไหมล่ะ ถ้าอย่างนี้มันชำระกิเลสไหมล่ะ มันคงที่ไหมล่ะ มันเปลี่ยนแปลงไหม มันก็ยังเปลี่ยนแปลงอยู่ เดี๋ยวดีเดี๋ยวชั่ว เดี๋ยวชั่วเดี๋ยวดีอยู่นี่ เพราะพอมันทุกข์มันก็ชั่ว มันก็ไปหาธรรมะที่ร่มเย็นเป็นสุขมันก็ดี ดีเดี๋ยวก็พลิกกลับมาอีก

แล้วก็นี่ถ้าศึกษาแต่ก็ดีกว่าคนไม่ศึกษา แต่ศึกษานี่มันเป็นวิทยาศาสตร์ไง มันเป็นข้อเท็จจริงมาอย่างนั้น ถ้าข้อเท็จจริงนี่จากคนที่ไม่สนใจเลยนะ นี่มนุษย์ถ้าไม่มีศีลธรรมเลวกว่าสัตว์ สัตว์มันยังรู้จักรักลูกรักหมู่คณะของมัน เห็นไหม มันก็มีคุณธรรมของมันส่วนหนึ่ง มันรู้ขึ้นมาถ้ามีการศึกษา มีศีลมีธรรมขึ้นมา มนุษย์ก็เป็นมนุสสเทโว มนุษย์เป็นเทวดา มนุษย์เป็นพรหม มนุษย์มันดีเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา แต่เวลาปฏิบัติจะเป็นพรหม เป็นเทวดามันก็เวียนว่ายตายเกิด

ถ้าพูดถึงเราเอาธรรมเป็นตัวตั้ง เห็นไหม เรามีสติปัญญาของเรา เราประพฤติปฏิบัติของเราขึ้นมา นี่มันเห็นเอง ชีวิตประจำวันเราก็ทำหน้าที่ของเรา ถึงเวลาภาวนาเราก็เร่งภาวนาของเรา ทีนี้ภาวนาของเรามันก็เป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป

ฉะนั้นบอกว่า “เวลาจะอ่านหนังสือธรรมะขณะปฏิบัติจะทำอย่างไร”

ก็วางมันไง นี่เวลาศึกษาเป็นปริยัติแล้วก็วางไว้ แล้วก็ปฏิบัติ ถ้าเราจะอ่านหนังสือก็อ่านเต็มที่ไปเลย สงสัยอะไรเราก็ค้นคว้ามันให้จบ พอจบแล้วนะเวลาภาวนาขึ้นมามันไม่ใช่การค้นคว้า มันเป็นเรื่องจริง มันเป็นเรื่องจริงเรื่องใจของเราเลย ใจของเราประสบแล้ว ภาวนาแล้วไม่ลง ภาวนาแล้วมันมีอะไรขัดแย้งในใจ พอภาวนาแล้วกิเลสมันฟุ้งซ่านมาก นี่ไม่ใช่เรื่องอ่านแล้ว นี่เรื่องจริงที่เกิดจากใจ

เราจะบอกว่าถ้าอ่านหนังสือก็อ่านให้ชุ่มไปเลย ถ้าปฏิบัติก็วางหนังสือซะก็จบ ถ้าปฏิบัติก็วางหนังสือไว้ก่อน แต่ถ้ามันภาวนาไม่ลงแล้วอ่านหนังสือนะ.. เราตอบไปในเว็บไซต์ เขาบอกหลวงพ่อบอกว่าให้อ่านประวัติครูบาอาจารย์ เวลาเราบอกให้อ่านหนังสือเราบอกให้อ่านนะ เพราะเราได้ประโยชน์มาจากเราอ่านประวัติครูบาอาจารย์มาเยอะ ครูบาอาจารย์ออกมาส่วนใหญ่เราจะดูประวัติหมดแหละ ทีนี้เราจะจำได้เลยว่าปฏิบัติครูบาอาจารย์ที่เป็นความจริงโดยหลัก แล้วถ้าใครเขียนเลียนแบบ ใครเขียนโดยการเอาไปพล็อตเรื่องนี่เรารู้เลย

ฉะนั้นคนที่เขียนขึ้นมา ถ้าตัวเองไม่มีประวัติก็อยากจะมีประวัติ ทีนี้ถ้ามีประวัติเป็นความจริงอันนั้น ถ้าอ่านแล้วนะมันทำให้เรามีกำลังใจไง มีกำลังใจ ฉะนั้นการอ่านนี่เราก็ส่งเสริมอยู่นะ นี้แต่ว่าการอ่านกับการปฏิบัติให้เป็นความจริง คุณธรรมมันแตกต่างกัน ฉะนั้นเราจะเอาสิ่งใด เอาสิ่งใดมันเป็นการ.. ดูสิกินข้าว กินข้าวจบแล้วกินของหวาน กินของหวานจบแล้วกินน้ำ กินน้ำเสร็จแล้วก็ล้างถ้วยล้างจานเก็บ

อันนี้ก็เหมือนกัน การปฏิบัติมันก็เป็นขั้นเป็นตอนของมันขึ้นไป ไอ้นี่กินข้าวเสร็จแล้วนะน้ำไม่กินติดคอ พอติดคอจะมาถามว่านี่ข้าวติดคอทำอย่างไร ก็กลืนน้ำมันก็จบไง อันนี้ก็เหมือนกัน หนังสือนี่อ่านแล้วมันภาวนาไม่ลงทำอย่างไร ก็วางหนังสือไง วางไว้ เวลาอ่านเราก็อ่าน เวลาเราจะปฏิบัติเราก็ปฏิบัติ ก็เท่านั้นแหละ !

นี้เพียงแต่ว่าเอาชีวิตประจำวันเป็นตัวตั้ง เอาเราเป็นตัวตั้ง แล้วเมื่อก่อนนี่อ่านแบบหลวงพ่อเทียนทำไมทำได้ล่ะ ก็การเคลื่อนไหวอย่างนั้น การเคลื่อนไหวอย่างนั้นหลวงพ่อเทียนท่านทำได้ก็เรื่องของท่าน แล้วเราจะเอาประโยชน์อะไรล่ะ

การอ่านให้อ่านเป็นปัญญาของเรา กับความสงบของใจแตกต่างกันอย่างไรเปรียบเทียบได้นะ ถ้าเปรียบเทียบได้อันนี้มันจะเป็นปัจจัตตังกับหัวใจของเราเนาะ

อันนี้ยาว จะรีบตอบเพราะมันโอ้โฮ.. เยอะมาก

 

ถาม : ๓๓๘. เรื่อง “ยึดมั่นในความดีของคนอื่นมากเกินไปหรือเปล่าครับ”

ผมศรัทธาในการปฏิบัติธรรม อยากพ้นทุกข์ให้เร็วที่สุดแต่ก็มีอุปสรรคบางอย่างที่ผมกำลังหาอุบายแก้ไขอยู่ครับ คือตั้งแต่เด็กจนโต เป็นวิบากอะไรไม่ทราบ เมื่อผมได้รู้จักเพื่อนมีลักษณะคล้ายคลึงกับผม เช่นเสียงคล้ายกัน บุคลิกคล้ายกัน ผมมักจะเก็บภาพนั้นมาคิดวิตกกังวลตลอดเวลา เวลานอน เวลาใครมีความดีที่น่ายกย่องผมก็มักคิดฝันถึงเขาตลอด คนเก่าผ่านไป คนใหม่เข้ามา

ผมหันมาสนใจในการปฏิบัติธรรมอยากพ้นทุกข์ จึงเริ่มรู้ชัดเจนขึ้นว่า ความกำหนัดในกามราคะสร้างความทุกข์ร้อนใจให้กับผมมาก ผมจึงได้พยายามจะหาอุบายลดความกำหนัดของผมเสมอ แรกๆ ผมภาวนาแผ่เมตตาอธิษฐานถึงคนให้มีความสุข แต่แผ่เมตตาไปบางครั้งมันก็คิดว่าเป็นการพร่ำเพ้อ หรือเกิดความตั้งใจอยากให้เขามีความสุขกันแน่ บางครั้งกังวลว่าจะมีความสุขจริงหรือเปล่า

หลวงพ่อ : อันนี้มันก็คิดไป เพราะคนมีกิเลสมันก็จะคิดของมันไป

ถาม : เมื่อความคิดเกิดขึ้นก็ตามดูความคิดจนหายไป แต่ผมมักเผลออยู่เสมอครับ มีความรู้สึกว่าวิธีทำให้มีสติไม่ค่อยตามทันเท่าไร กำหนดบริกรรมพุทโธหรือดูลมหายใจจิตมันไม่ยอมรับไม่อยากทำ เมื่อความคิดถึงเกิดขึ้น ไม่สามารถใช้พุทโธเป็นคำบริกรรมได้ให้ทันท่วงที

ยอมรับครับว่าจิตใจไม่แข็งแรงพอ กระทั่งสุดท้ายเมื่อได้ฟังพระอาจารย์อธิบายเรื่องปัญญาอบรมสมาธิ และการพิจารณาอสุภะผมจึงนำมาเป็นอุบายเสริมการกำหนดพุทโธและการดูลมหายใจ โดยผมคิดหาเหตุผลว่าเราคิดถึงเขาเพราะเหตุใด พยายามนำร่างกายของเขามาแยกดูสิ่งปฏิกูล ความคิดก็เริ่มสงบตัวลงบ้างแต่เกิดความเบื่อหน่ายคลายกำหนัดในร่างกายทั้งของตัวเองและของผู้อื่นไปขณะหนึ่ง แต่มีอยู่อย่างหนึ่งครับที่ทำให้ผมยังกำหนัดอยู่ นั่นคือความดีของเขา พิจารณาสิ่งปฏิกูลในร่างกายพักหนึ่งจึงได้รู้ว่า สิ่งที่ทำให้ผมพึงพอใจคิดถึงเขา กำหนัดถึงเขาไม่ใช่ส่วนต่างๆ ของร่างกายแต่มันคือความดีของเขาครับ

ผมพยายามคิดว่ายึดมั่นในความดีเขาเกินไปจึงเกิดทุกข์ เมื่อนึกความคิดไม่ดีของเขามาเทียบเคียงในส่วนลึกกลับยอมรับไม่ได้ หันไปความดีของเขาอยู่เสมอ เพื่อเป็นอุบายให้ผมยึดมั่นมากเกินไป ผมจึงขอถามอาจารย์ดังนี้

๑.เมื่อเราไม่ได้ยึดมั่นในส่วนต่างๆ ของร่างกาย แต่กลับไปยึดมั่นสิ่งที่เป็นนามธรรม เช่นความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเรากับเขา ความดีของเขาเป็นต้น เราจะพิจารณาอย่างไรหรือกำหนดอย่างไรให้คลายความยึดมั่นถือมั่นได้ลงครับ

๒.ทำกรรมฐานหลายๆ วิธีตามที่สมควร เช่นถ้าในช่วงไหนกำหนดพุทโธไม่ลงก็ใช้ปัญญาอบรมสมาธิแทน ถ้าเหนื่อยทุกอย่างก็หันมาดูลมหายใจเข้าออกแทน จะถือว่าเป็นคนจับจด ไม่มีความอดทนหรือเปล่าครับที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ไม่ได้คิดว่าสิ่งที่ทำอยู่ไม่ดี แต่เปลี่ยนความเหมาะสมของสภาพจิตตอนนั้นหรืออย่างไรครับ

หลวงพ่อ : ถ้าพูดถึงเราคิดถึงเขานี่มันเป็นเขาเรียกว่าอินทรีย์ พละ กำลังของหัวใจ ถ้าเราอ่อนแอเราก็จะอ่อนแอตลอดไป ถ้าเราอ่อนแอนะ นี่เวลาคนติดเพื่อน เด็กติดเพื่อน ในบ้านเรา ในความรักของพ่อแม่ ในความรักของพี่น้องมันเห็นคุณค่าต่ำเลยล่ะ มันจะเห็นคุณงามความดีของเพื่อน มันจะเห็นคุณงามความดีของเขา

อันนี้ก็เหมือนกัน นี่เราเห็นคุณงามความดี เวลาเราไปติดใครมันเป็นความที่จิตใจที่อ่อนแอต่างหากล่ะ.. สมมุติว่านะ นี่ไม่สมมุติเลยเรื่องจริงเลย เวลาในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม เวลาออกธุดงค์ให้ไปแบบนอแรด ไปแบบนอแรด แรดมีนอเดียว สัตว์ต้องมีเขาเป็นคู่ มีแต่เฉพาะแรดมีเขาเดียว ฉะนั้นมีเขาเดียวให้ไปแบบนอแรด ไปแบบคนเดียว พอไปแบบคนเดียวปั๊บมันจะเกิดความวิตกกังวล มันจะกลัวทุกๆ สิ่งเลย

ที่เราเที่ยวป่าช้ากัน เราเข้าป่าเข้าเขากันเพราะเหตุนี้ เพราะเหตุใดพอเราเข้าป่าเข้าเขาไปแล้วนี่ เวลามันมืดขึ้นมาเราวิตกวิจารไปหมดเลยว่าจะมีผีมีสาง มีอะไรมารังแกเรา พอไปอยู่ในป่าในเขานี่เสียงเสือเสียงสัตว์ต่างๆ มันร้อง เราจะต้องรักษาตัวเรา ฉะนั้นเวลาเราไปไม่มีที่พึ่งเขาก็กำหนดพุทโธ พุทโธ เขาอาศัยความกลัว อาศัยสิ่งที่เรากลัวต่างๆ ให้มาบีบคั้นให้หัวใจมันไม่แส่ส่ายออกไปตามความคิดของมัน นี่คืออุบายวิธีการของพระกรรมฐานนะ

ฉะนั้นเวลาเราไปบอกว่านี่พอเวลาไปติดเขา ติดเพื่อน ก็พิจารณาร่างกายเขาหมดเลย แล้วมันก็บอกไม่ใช่ติดตรงนั้น มันติดความดีของเขา.. มันติดตัวเองไง ตัวเองมันรักเขาเอง ตัวเองไปคิดถึงเขาเอง พอตัวเองไปคิดถึงเขาเองกิเลสมันก็หาเหตุผลมาอ้างตลอด เห็นไหม เขาดีอย่างนู้น เขาดีอย่างนี้ มันดีเพื่ออะไรล่ะ ดีเพื่อมาสนับสนุนความคิดของตัวไง ดีเพื่อมาสนับสนุนความคิดว่าเราจะคิดถึงเขาไง นี่ถ้าเราคิดถึงเขา..

“ยึดมั่นถือมั่นความดีของคนอื่นมากเกินไปหรือเปล่าครับ”

คำถามๆ ทีนี้เวลาคำตอบนี่เราตอบได้นะ เหมือนกับเราบอกเลยเวลาใครมาถามปัญหาเรานี่เราจะแก้เขาได้หมดเลย แต่ ! เราแก้ปัญหาตัวเราไม่ได้ เวลาปัญหาเกิดขึ้นกับตัวเองล้มลุกคลุกคลานเลย เวลาคนอื่นผงเข้าตานะ เขี่ยให้ๆๆ เวลาผงเข้าตาตัวเองเขี่ยไม่เป็น เขี่ยไม่ถูก ความผิดพลาดของคนอื่น ความผิดของใครทุกคนเห็นได้หมดเลย แต่ความผิดพลาดของตัวเราเราไม่เห็น

นี่ไงธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน เห็นไหม ตนเท่านั้นชำระตน นี่ถ้าตนจะรู้ตนได้อย่างไร ดูสิดูพ่อแม่สิ เวลาลูกสั่งสอนได้หมดล่ะ ผิดอย่างนั้นๆๆ แต่พอเอาลูกเข้านอนเสร็จพ่อมันไปเล่นไพ่ เวลามันสอนคนอื่นมันสอนได้หมดเลย เวลาครูเนาะว่านักเรียนห้ามดูดบุหรี่นะ แต่ครูดูดปุ๋ยๆ เลยนะ นักเรียนดูดบุหรี่มันของไม่ดีนะ นักเรียนดูดบุหรี่ของไม่ดี แต่ตัวเองดูดเฉยเลย

นี่เราจะบอกว่าถ้าเป็นสภาวะสังคม สภาวะทางโลกเราเห็นได้หมดเลย แต่เวลาจิตใจเรา นี่ไงนี่กิเลสมันบังเงา มันบังเงาอย่างนี้ ฉะนั้นเราจะรู้ความผิดของเรา เวลาเราบอกร่างกายนี่เกิดแล้วก็ตายนะ ทุกอย่างสุภะ อสุภะไปเที่ยวป่าช้า ไปเที่ยวป่าช้าก็ให้มันคิดย้อนกลับมาที่ใจ ทุกอย่างคิดย้อนกลับมาที่ใจ ทีนี้ย้อนกลับมาที่ใจ เราจะบอกว่าเรานี่ตั้งโจทย์ผิด เราตั้งโจทย์ผิดว่าทำไมเราไปรักเพื่อนๆ ทำไมมันไม่ตั้งโจทย์ว่าทำไมหัวใจเรานี่มันผิด หัวใจเรามันไม่เข้มแข็งเอง ถ้าหัวใจเราไม่เข้มแข็ง ถ้าเราจะให้หัวใจเราเข้มแข็งขึ้นมา

ดูสิดูครูบาอาจารย์ของเรา เห็นไหม เวลาเข้าป่าเข้าเขาไป นี่เวลาไป ไปคนเดียวนะ ยิ่งสมัยหลวงปู่มั่นด้วยนะ เวลาบอกว่าให้พระองค์นี้ไปทางนู้น ให้พระองค์นี้ นี่แยกออกไปเลย แยกออกไปต่างคนต่างไปนะ แล้วบอก “อย่าไปด้วยกันนะ ! ห้ามไปด้วยกันนะ !” เพราะเวลาออกไปแล้ว.. เราเกิดมาบนโลกนะ สภาวะป่าเขาลำเนาไพรต่างๆ รุกขมูลมันมีคุณประโยชน์ของมันนะ แล้วเราไม่เคยใช้ประโยชน์กับมันเลย เวลาจะไปธุดงค์ทีหนึ่งก็ไปปิกนิกกันนะ ขนกันไปเป็นหมู่ๆ เลยนะไปนอนปิกนิกกัน ไปย่างบาร์บีคิวกินกันในป่า แล้วมันจะไปภาวนาอะไรกันล่ะ

เดี๋ยวนี้ภาวนากันนะ อู้ฮู.. ดูสิแบกกลดเรียงแถวเลยนะ เดินกันไปอย่างกับจะไปสวนสนาม แล้วก็บอกว่านี่ไปวิเวก วิเวกมันขนไปเป็นฝูงๆ เลย วิเวกอะไรของมึง แค่จะเข้าห้องน้ำแค่นี้มึงก็อยู่ไม่ไหวแล้ว ครูบาอาจารย์เรา.. (หัวเราะ)

พูดถึงผู้นำ ถ้าผู้นำที่ดีหลวงปู่มั่นท่านไม่อย่างนั้นเลยนะให้ไปองค์เดียว แล้วจะไม่ให้ไปซ้อนกันด้วยนะ เพราะไปหนึ่ง ไปนอแรด พอไปสองนี่นะมันอ่อนแอแล้ว จิตใจของเรานี่นะไม่เคยประสบการณ์สิ่งใดเลย เวลาจะเจอประสบการณ์อะไรปั๊บมันก็กลัว ไปไหนก็เหน็บเพื่อนไปด้วย กลัวคนจะไม่มีใครคอยช่วยเหลือ กลัวไม่มีใครคุย กลัวจะไม่มีใครเป็นที่ปรึกษา

นี่ไงมันถึงมาเป็นอย่างนี้ไง มันถึงมาเป็นว่าคิดถึงเขาตลอดเวลา คิดถึงเขาตลอดเวลาไง แล้วพอคิดถึงเขาตลอดเวลาก็คิดว่ามันเป็นเพราะอะไร เพราะภวาสวะ เพราะพละ เพราะกำลังของใจ ถ้ากำลังใจของเรา เวลามาปฏิบัติ เห็นไหม เวลาเขาปฏิบัติทั่วๆ ไป นี่พอไปแล้วมีความสุขร่มเย็น อู้ฮู.. ปฏิบัติ หลวงตาบอกว่าปฏิบัติพอเป็นพิธีไง ไปถึงก็จัดกระบวนการปฏิบัติกัน แล้วก็บอกว่าฉันเป็นชาวพุทธนะ เป็นนักปฏิบัติเชียวนะ

แต่เวลามากรรมฐานนะ มากรรมฐานนี่ท่านให้ไปอยู่โคนไม้คนเดียว กุฏิก็ไม่ให้ไปซ้อนกัน นี่พออยู่คนเดียวขึ้นมา อยู่คนเดียวแล้วให้ระวังความคิด เวลาอยู่กับหมู่คณะมันไม่เห็นความคิดของตัวเองหรอก มันไปวิตกวิจาร ไปวิจารณ์เรื่องคนอื่นหมดเลย แต่ไปอยู่คนเดียวปั๊บนะ โอ้โฮ.. เรานี่นะทำความผิดไว้มากเลย แล้วเราไม่รู้ว่าเราผิดนะ วันไหนให้ไปนั่งสงบสติอารมณ์มันจะรู้เลยนะ นั่งคิดอยู่อย่างนั้นล่ะ คิดแต่เรื่องของเรา เดี๋ยวมันจะเห็นความคิดของตัว เออ.. เราก็ไม่ดีจริงๆ เนาะ ถ้าเราดีเราคงไม่ทุกข์อย่างนี้ แต่กว่ามันจะคิดอย่างนี้ได้นะ

คนเรา ดูสิพ่อแม่สอนเด็กสอนลูกนี่ลูกจะเถียงตลอดเวลา แต่ถ้าลูกให้มานั่งได้คิดได้ปรับปรุง เห็นไหม พ่อแม่ที่ดีนะจะบอกลูกใจเย็นๆ ลูกใจเย็นๆ ลูกทำอย่างนี้ผิดไหม ลูกทำอย่างนี้สมควรไหม นี่แล้วให้ลูกคิดให้ดี ลูกคิดให้ดีนะ แล้วให้มันตั้งความคิดนะ เออ.. หนูก็ผิดจริงๆ ล่ะ หนูก็ผิดจริงๆ ล่ะ ถ้าหนูผิดจริงๆ นี่มันแก้ไขได้ ถ้าหนูไม่ผิด ไม่มีทาง มันเกิดทิฐิกัน แล้วมันทิฐิในสายเลือด

ดูสิพ่อแม่ทุกคน คนอื่นนะถ้ามีอำนาจนะสั่งคนได้หมดเลย แต่พ่อแม่คนไหนสั่งลูกไม่ได้ ลูกไม่มีกลัวพ่อแม่ ไม่มี.. พ่อแม่ตีจนตายมันออดอ้อนล้วงกระเป๋าหมดเลย มันล้วงกระเป๋าพ่อแม่หมด นี่ไงแต่ถ้าเราใช้ปัญญา เห็นไหม ลูกคิดให้ดีๆ คิดให้ดีๆ นะ ตัดสินให้ดีๆ นั่งคิดให้ดีๆ พอมาบอกเออ.. หนูก็ผิด นี่มีแล้วเพราะมันยอมรับผิดแล้ว ถ้ายอมรับผิดขึ้นมาตรงนั้นมันแก้ไขที่ตรงนั้นไง

ไอ้หัวใจเราก็เหมือนกัน นี่รักเขา ! รักเขา ! รักเขา ! ถามมันสิ ถามมันว่าคิดให้ดีๆ คิดให้ดีๆ ใครรักใคร ใครรักใคร คิดให้ดีๆ ! นี่พูดถึงหลักภาวนามันเป็นอย่างนี้ หลักภาวนาคือการชำระแก้ไขเรา หลักการภาวนานะ อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน กิเลสมันอยู่ที่ใจเรา ถ้าเราแก้ไขใจเราได้นะ ใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง

ถ้าเราแก้ไขใจเราได้ ใจทุกๆ ดวงในโลกธาตุนี้เหมือนกัน กิเลสเหมือนกัน เข้าใจใจเราดวงเดียวให้จบเท่านั้นล่ะ ดวงอื่นๆ เข้าใจหมดเลย แล้วเข้าใจแล้วมันก็อย่างนี้ ยิ่งเข้าใจแล้วยิ่งสะท้อนใจนะ อย่างเช่นเราปฏิบัติ กว่าเราจะรู้ถึงความบกพร่องของเรานี่เราใช้เวลาเท่าไร แล้วเราไปจ้ำจี้จ้ำไชบอกเขาว่าบกพร่องๆ นี่ใครจะเชื่อ ยากมาก !

นี่ไงเวลาหลวงปู่มั่นท่านพูด เห็นไหม “หมู่คณะภาวนามานะ แก้จิตมันแก้ยากนะ ผู้เฒ่าจะแก้ว่ะ” คำว่าผู้เฒ่าจะแก้นี่ท่านผ่านประสบการณ์อย่างนี้มา ประสบการณ์อย่างนี้กับใจของท่าน ท่านจะแก้คนอื่นนะ ไอ้เราไม่มีผ่านประสบการณ์หรอก ผ่านตำรา อู้ฮู.. ไปไหนก็เหน็บไปด้วยนะ อ่านทั้งวันเลย เวลาเจอจะแก้นี่เปิดตำราทันทีเลย ไม่มีทาง ! เพราะมันไม่เกิดจากใจเรา เราไม่รู้หรอกว่ามันควรทำอย่างไร ไม่รู้ แต่ถ้ามันเกิดจากใจเรา เราจะรู้ของเรานะ

นี่พูดถึงว่าเราไปติดความดีเขาหรือเปล่า คำว่าเราไปติดความดี เขาก็คือเขานะ ดูสิอย่างเช่นพ่อแม่ พ่อแม่เป็นพระอรหันต์นะ แต่เวลาพ่อแม่เจ็บไข้ได้ป่วยล่ะ เวลาพ่อแม่ต้องสิ้นชีวิตไปล่ะเราไปแทนได้ไหม แล้วนี่ใช่พ่อแม่เราหรือเปล่า ไอ้นี่เป็นใคร อันนี้เป็นใคร.. แม้แต่พ่อแม่เรานะ ใช่ ! มันเป็นเวรเป็นกรรม กตัญญูเราต้องรักพ่อแม่เราเป็นธรรมดา แต่สัจธรรมมันเป็นอย่างนั้น สัจธรรมนี่ตัวใครตัวมัน ทุกข์ก็ทุกข์ของทุกๆ คน

พ่อแม่รักทั้งนั้นแหละ เวลาลูกทุกข์ขึ้นมาพ่อแม่ก็มาโอ๋ทั้งนั้นแหละ แล้วมันแก้ทุกข์ได้ไหม แต่ถ้าอย่างที่เราพูด อ๋อ.. หนูก็ผิดนั่นล่ะแก้ได้ พอหนูก็ผิดมันดับไฟแล้ว ถ้าหนูไม่ผิดไฟมันโหมโพรงอยู่ในหัวใจนี่ไม่ไหวหรอก แต่ถ้าเราพูดจนถ้าเขายอมรับปั๊บ นั่นล่ะไฟดับแล้ว พอดับไฟแล้วจะแก้ไขอย่างนั้นอีกเรื่องหนึ่งนะ.. นี่ไงถ้าเราพูดให้จนเขาเข้าใจได้ พอยอมรับได้อันนั้นล่ะ อันนั้นใช้ได้ แต่ถ้าเขายังไม่ยอมรับ เพราะการไม่ยอมรับ พูดจนกว่าจะยอมรับนี่โอ้โฮ.. ซัดกันอยู่อีกนานเลย

อันนี้ก็เหมือนกัน เราจะซัดหัวใจเราไง เราจะทำใจเราให้ดีขึ้นไง เราอย่าไปโทษว่าเราไปติดเขา แต่การแก้ก็แก้อย่างนี้ เห็นไหม การแก้ที่เราไปเที่ยวป่าช้า ไปเที่ยวต่างๆ ไปเที่ยวป่าช้านี่ให้เห็นสภาพ เวลามันสลดนะธรรมสังเวช พอจิตมันสลดขึ้นมามันสะเทือนหัวใจ แล้วหัวใจมันจะมีหลักของมันเอง

ถาม : ๒. กรรมฐานหลายๆ วิธีที่สมควร อย่างเช่นกำหนดพุทโธ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ใช้กำหนดทุกอย่าง

หลวงพ่อ : อันนี้มันเป็นอุบายนะ เช่นเรากำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธนี่บางทีมันก็ดี แต่พุทโธ พุทโธ ถ้ากิเลสมันรุนแรง พอพุทโธปัญญามันจะบอกเลย “มึงอย่ามาหลอกกู กูไม่เชื่อมึงหรอก !” พุทโธก็พุทโธอยู่ห่างๆ ไง แต่ถ้ามันดูดดื่มนะ โอ้โฮ.. พุทโธกับเราเป็นอันเดียวกันนะ แหม.. มันซาบซึ้งมาก สังเกตได้บางทีพุทโธแล้วซาบซึ้งมาก บางทีพุทโธแล้วไม่เอาไหนเลย บางทีพุทโธแล้วมันยิ่งต่อต้าน เห็นไหม เพราะอุบายของเรามันไม่เหมือนกันไง

เช้า สาย บ่าย เย็น ใจของเรานี่อารมณ์ดี อารมณ์ไม่ดี ฉะนั้นอารมณ์ดีเราก็พุทโธ พุทโธ ถ้ามันไม่ได้เราก็ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ นี่มันอยู่ที่ความสดชื่น ความเป็นไปของเรา หลวงตาท่านพูดอย่างนี้ ท่านบอกว่าการปฏิบัติมันต้องมีปัญญาสิ ไม่ว่าเถรตรง เถรส่องบาตร ใช้ทำอย่างไรก็ทำซื่อบื้ออยู่อย่างนั้นล่ะ กิเลสมันหัวเราะเยาะ ท่านบอกเลยนะว่ากิเลสมันสงสารนะบอก เฮ้ย ! มึงใช้ปัญญาบ้างสิ มึงอย่าโง่นัก ! จนกิเลสมันไม่อยากทำอีกนะ กิเลสมันทำจนมันเบื่อแล้ว มันบอกว่ามึงนี่โง่น่าดูเลย มึงทำอยู่อย่างนั้นล่ะ มึงใช้ปัญญาบ้างสิ

หลวงตาท่านพูดอย่างนี้จริงๆ นะ แต่พวกโยมคิดกันไม่ออก ท่านพูดอย่างนี้บอกว่าเราใช้ปัญญาบ้างสิ ใช้อุบายบ้างสิ ความหมายก็คืออย่างนี้ไง ทำไมมึงโง่ขนาดนี้ล่ะ มึงจะฆ่ากิเลสมึงก็ต้องฉลาดบ้างสิ นี่ความหมายเป็นอย่างนี้.. ไอ้นี่เวลาเราบอกว่าเราใช้พุทโธบ้าง กำหนดลมหายใจบ้าง ปัญญาอบรมสมาธิบ้าง คำว่าจับจดหมายถึงว่า สมมุติเราทำอาหารเราตั้งอยู่บนเตา ถ้าเรายกออกไปนี่มันไม่สุกแล้ว แต่ถ้าอาหารเราตั้งอยู่บนเตา เห็นไหม แต่เรายังดูแลรักษาอยู่ เราใส่น้ำใส่อะไร

นี่ก็เหมือนกัน อันหนึ่ง เราพุทโธก็พุทโธตลอดไป เหมือนอาหารคาวนี่ทำให้มันสุก ถ้ามันเป็นปัญญาอบรมสมาธิก็คราวหนึ่ง คือว่าขณะทำแล้วก็ทำให้มันต่อเนื่องไง อย่าเปลี่ยนแปลงตอนนั้น อันนี้ไม่ ถ้ามันอ่อนแอ มันอ่อนแอมันก็จะเปลี่ยนไปเรื่อย อันนี้มันเป็นอุบายนะ มันเป็นอุบาย อุบายที่ว่าเราจะทำของเรา เราทำใจของเรา..

การภาวนานี้แสนยากนะ แม้แต่ทำให้คนเชื่อในศาสนานี้ก็ยากพอสมควรอยู่แล้ว แล้วพอคนเชื่อในศาสนาแล้ว แล้วมันจะเริ่มปฏิบัติมันยิ่งยากขึ้นไปอีก เราไม่ใช่คิดว่า ไม่ใช่ห้างสรรพสินค้าเนาะ เอาเงินจ่ายแล้วก็ออกเลย เอาเงินจ่ายก็เอาของออกมาเลย

นี่ก็เหมือนกัน พอพุทโธแล้ว ปฏิบัติแล้วต้องดีเลยๆ นี่มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ดีจริงๆ แต่เข้าไปในห้างฯ มันยังง่ายกว่าเพราะมันได้ซื้อขายแลกเปลี่ยนออกมา ธรรมะที่จะเกิดกับเรานี่ โอ้โฮ.. มันไม่มีที่ซื้อขายไง ถ้าซื้อนะ ขอซื้อสติล้านหนึ่ง ซื้อสมาธิอีก ๒ ล้าน ให้ปัญญาอีก ๕ ล้านเลย กูจะเป็นพระอรหันต์ มันไม่มี มันหาไม่ได้หรอก มันต้องทำเอง

ฉะนั้นเวลาทำ นี่ๆ ธรรมะที่มันยากมันง่ายตรงนี้ไง เพราะมัน ๑. ต้องทำเอง ๒. อยู่ที่เราสร้างบุญญาธิการมา อยู่ที่ขิปปาภิญญานี่ตรัสรู้ง่าย แต่ถ้าว่าจะรู้ยากรู้ง่าย เพราะเรารู้อยู่แล้วว่ามันไม่มีสิ่งใดมีค่าไปกว่าสิ่งนี้ ถ้าไม่มีใครมีค่าไปกว่าสิ่งนี้เราจะต้องทำของเรา เวลาทำหน้าที่การงานทางโลกยังต้องอาบเหงื่อต่างน้ำ ยังต้องต่อสู้ขนาดนี้ แค่เพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง แล้วเวลาตายไปมันก็มีความดีความชั่วติดใจนั้นไป แล้วในปัจจุบันนี้เราจะแก้ไข ขนาดเลี้ยงปากเลี้ยงท้องเรายังทำขนาดนั้น แล้วจะชำระกิเลสเราจะลงทุนขนาดไหน

อย่าทำจับจด โลกคิดกันไปอย่างนั้นล่ะ อัตตกิลมถานุโยค ไอ้พระป่านี่มีแต่ความลำบาก ไอ้ความลำบากนี่แหละ เพราะลำบากไงไม่มักง่ายมันถึงได้ของจริงมาไง ไอ้ความที่ง่ายๆ ง่ายๆ นี่ของจริงมีไหม มันไม่มีเลย.. พูดออกไปแล้วมันก็เลยว่า ถ้าเขาไม่เสียบมาเราก็ไม่เสียบกลับเหมือนกันแหละ ถ้าเสียบมาเราก็เสียบกลับแหละ

 

ถาม : ๓๓๙. เรื่อง “ระหว่างการนั่งภาวนาบริกรรมพุทโธไปเรื่อยๆ กับการนั่งสมาธิกำหนดจิตฟังธรรมตลอดเวลา”

ก่อนอื่นขอกราบขอบพระคุณอย่างสูงที่ตอบคำถามของทุกๆ ท่าน โดยท่านไม่ถือว่าเป็นเรื่องไร้สาระเล็กน้อยเหลือเกิน ทำให้ได้รู้สิ่งต่างๆ ที่ยังไม่รู้ ได้ทั้งความรู้เพิ่มเติมขึ้น และความเข้าใจในสิ่งที่คลุมเครืออยู่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพราะท่านอาจารย์ได้สอดแทรกเกร็ดความรู้ และขยายความในทุกๆ คำตอบ

หลวงพ่อ : โฮ้.. อันนี้ยกตูด.. เป็นเรื่องเล็กน้อย คำถามของเขามันอยู่ตรงนี้

ถาม : ๑. ในขณะนั่งสมาธิเดินจงกรม ถ้าเราจะใช้วิธีฟังเทศน์ของครูบาอาจารย์เกี่ยวกับธรรมะปฏิบัติแทนคำบริกรรมพุทโธ เป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องหรือไม่คะ จะทำให้เจริญก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมได้หรือไม่คะ เพราะมีพระบางท่านแนะนำว่าอย่าฟังมาก ให้ปฏิบัติไปเลย.. แต่โยมกลับเห็นว่าการฟังธรรมในขณะทำความเพียร นั่งสมาธิ หรือเดินจงกรม จะช่วยให้ทำสติ สมาธิ ความเพียร ความอดทน และได้ปัญญาพร้อมๆ กันไป จิตจะตื่นรู้และจดจ่ออยู่กับธรรมเทศนาของครูบาอาจารย์ตลอดเวลา เมื่อเกิดเวทนาขึ้นก็สักแต่ว่าเวทนา จิตไม่ไปสนใจกับเวทนา สามารถฟังธรรมได้หลายกัณฑ์ หลายชั่วโมงติดต่อกัน

บางครั้งก็ฟังธรรมจากเครื่องเล่นซีดีในระหว่างทำกิจกรรมอื่นๆ ซึ่งเป็นการผูกจิตให้มาสนใจอยู่กับธรรมะ ดีกว่าปล่อยจิตปล่อยใจไปพูดไปคุยเรื่องไร้สาระ หรือเรื่องเพ้อเจ้อไร้ประโยชน์ ไม่ทราบว่าท่านอาจารย์มีความเห็นอย่างไร และขอคำแนะนำในการปฏิบัติเพื่อความเจริญก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมด้วย

หลวงพ่อ : เราเห็นด้วย ! เราเห็นด้วยนะ ฉะนั้นการฟังธรรมๆ โดยทั่วไปนี่เขาบอกการฟัง ถ้าเป็นฟังธรรมโดยไร้สาระนี่นะมันไม่มีประโยชน์อะไรเลย แต่ถ้าการฟังจากครูบาอาจารย์ของเรา ฟังทีไรมันสะเทือนใจนะ ฉะนั้นมันมีพระหลายองค์มากบอกว่าไม่ควรฟัง ไม่ควรฟัง ให้ปฏิบัติไปเลย แล้วปฏิบัติไปเลยปฏิบัติอย่างไรบอกกูมาสิ ปฏิบัติอย่างไรบอกกูมา !

นี้เราเจอมา เราเจอลูกศิษย์หลายคนมาก เพราะว่าเรานะ นี่ตอนนี้ ๑๐๓.๒๕ แล้วไอ้เกรียงเอาธานินทร์มาให้เราเป็นพันเครื่องแล้ว เราแจกอย่างเดียว แล้วชาวบ้านเขาก็ฟัง ทีนี้พระที่นั่นเขาบอกว่าอย่าฟัง ฟังไม่ดีให้ปฏิบัติไปเลย.. เราจับได้ เราจับได้ว่าพระนี่เขากลัว เพราะเทศน์ใครมันจะดีกว่าเทศน์หลวงตาวะ นี้เทศน์หลวงตามันจะแจกแจงหมดว่าอะไรผิดอะไรถูก แล้วพออะไรผิดอะไรถูกนะกูหลอกไม่ได้ไง

กูจะหลอกไปอีกไม่ได้ ถ้ากูจะหลอกไม่ได้แล้วก็ว่าอย่าฟัง ! อย่าฟัง ! อย่าฟังปฏิบัติไปเลย แล้วพอปฏิบัติเสร็จแล้วนะมึงมาถามกูนี่ ! ถามทำไม กูจะล้วงกระเป๋ามึงไง แต่พอไปฟังเทศน์แล้วนี่ ฟังเทศน์ เห็นไหม ให้ปฏิบัติไปเลย.. มีพระพูดอย่างนี้ เราก็เจอพระพูดอย่างนี้เหมือนกัน พอพระพูดอย่างนี้ปั๊บนะ เรารู้เลยพระองค์นี้มีผลประโยชน์ทับซ้อนในใจ ถ้าไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนในใจต้องพูดมาว่าไม่ฟังเพราะอะไร ไม่ฟังเพราะอะไร

ถ้าไม่ฟังนะ ไม่ฟังเพราะพระองค์นี้สอนผิด ถ้าพระองค์นี้สอนผิด เข็มทิศชี้ไปในทางที่ผิด มันจะพาชีวิตนี้ไปทางที่ผิด มึงบอกมาว่าผิดตรงไหน.. บอกมา ! บอกมาว่าเทศน์นี้ไม่ควรฟังมันผิดตรงไหน บอกมา ! แต่ถ้ามึงบอกไม่ได้ ทำไมไม่ให้ฟัง ถ้าบอกไม่ได้ก็มึงไม่รู้ แสดงว่าเทศน์นี้มีคุณค่า มีคุณค่ามากกว่าคำสอนของเอ็ง

พอมีค่ามากกว่าคำสอนของเอ็ง แล้วมันเป็นสาธารณะใช่ไหม ตอนนี้สื่อสารมันกำลังแบบว่ามันไปได้ไกลใช่ไหม ธรรมะหลวงตาไปได้ทั่วประเทศนะ อย่าฟัง ! อย่าฟัง ! ถ้าอย่าฟังนี่ ฉะนั้นคนที่ฟังได้ประโยชน์ เพราะหลวงตาพูดอย่างนี้ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการ เห็นไหม เทวดาสำเร็จเป็นพันๆ เป็นแสนๆ

นี่คนฟังธรรมสำเร็จนะ การฟังธรรมหลวงตาบอกเลยพระป่า นี่การปฏิบัติสำคัญที่สุดคือการเทศน์ ! แล้วผู้ที่จิตที่มันภาวนาอยู่นี่ ดูสิเวลาหลวงตาท่านบอกว่าอยู่กับหลวงปู่มั่นนะ ถ้าวันไหนหลวงปู่มั่นจะเทศน์นะ เหมือนลูกจะได้กินนม ดูสิลูกเรานี่ถ้าเอามากินนมลูกมันจะดีใจขนาดไหน

นี่ก็เหมือนกัน ธรรมะเวลาจะออก ไอ้ผู้ปฏิบัติมานั่งฟังเลย ตั้งแต่เริ่มต้นการทำสมาธิ ถ้าใครได้สมาธิฟังจ่อเลยนะ แต่ถ้าคนผ่านสมาธิแล้ว ถ้าเป็นโสดาปัตติมรรคก็กำหนดไว้เฉยๆ เพราะในวัดมันมีตั้งแต่ผู้ปฏิบัติพื้นๆ ผู้ที่เดินโสดาปัตติมรรค ผู้ที่เดินสกิทาคามิมรรค ผู้ที่เดินอนาคามิมรรค ผู้ที่เดินอรหัตตมรรค นี่พระแต่ละดวง เห็นไหม ดูสิหลวงตาบอกว่ายายกั้งๆ เวลากำหนดจิตไปที่วัด อู้ฮู.. นี่จิตของหลวงปู่มั่นสว่างครอบหมดเลย แล้วก็มีจิตของพระสว่างเล็กสว่างน้อย เต็มวัดเต็มวาไปหมดเลย นี่ยายกั้งพูด

ฉะนั้นถึงบอกว่าเวลาพระนี่สว่างเล็กสว่างน้อยก็โสดาบัน สกิทาคา อนาคามันแตกต่างกัน พอแตกต่าง พอหลวงปู่มั่นท่านเทศน์ขึ้นมานี่ใครอยู่ขั้นไหนก็ฟัง พอฟังเพราะเรากำลังต่อสู้ เหมือนกับเรากำลังทำเลขเลย เรากำลังทำเลขคิดคำนวณไม่ถูก อู๋ย.. ปวดหัวเต็มที่เลย เวลาครูเขาบอกว่าทำอย่างนั้นๆๆ นะ เราคำนวณอยู่ใช่ไหม เราคำนวณ เอ๊าะ ! เอ๊าะก็ผ่าน เอ๊าะก็ผ่าน

นี่ไงการฟังเทศน์ การฟังเทศน์ในภาคปฏิบัติสำคัญที่สุด ! แต่มันพระเทศน์ต้องเป็นพระที่จริง ถ้าพระที่ไม่จริงนะ ถ้ามึงภาวนาดีๆ นะผิดหมดเลย ถ้ามึงนอนเอาหัวชี้ฟ้านะมึงจะเป็นพระอรหันต์ มันพลิกไปเลยเพราะมันไม่เป็น ถ้าฟังเทศน์อย่างนั้นกรรมน่าดูเลยนะ ถ้าไปเจอเทศน์อย่างนั้นเราก็กรรมน่าดู แต่ถ้าไปเจอครูบาอาจารย์นะ..

ครูบาอาจารย์เวลาฟังเทศน์นะมันเหมือนทางวิชาการ มันจะเริ่มต้นตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงที่สุด นี่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตั้งแต่พื้นๆ นะ ตั้งแต่ปุถุชน กัลยาณปุถุชน โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผลจนถึงที่สุด ครูบาอาจารย์ท่านเทศน์เป็นนะจะเทศน์เป็นสเต็ป ๆ ไป เราบอกธรรมะไม่มีสเต็ป.. มี ! แต่มีแบบธรรมไงไม่ใช่มีแบบโลก ถ้ามีแบบโลกนี่ผิดหมด อย่างพวกเราต้องเป็นสเต็ปเลยนะ ๑ ๒ ๓ ๔

๑ ๒ ๓ ๔ ต้องเป็นอย่างนั้นๆ ถ้า ๑ ๒ ๓ ๔ นี่เป็นวิทยาศาสตร์ มันเป็นโลก พอเป็นโลกจิตทุกดวงทำอย่างนั้นเหรอ.. ไม่ใช่ ! นี่พอเป็นธรรมใช่ไหม โสดาบัน สกิทาคา อนาคามันเป็นสเต็ปของมันเลย แต่ ! แต่มันวิชาชีพไง ชาวสวน ชาวไร่ ชาวนา กรรมกร ข้าราชการนะ วิชาชีพมันแตกต่างกัน วิชาชีพแตกต่างกัน การจะมาปฏิบัติ ปฏิบัติมาจากวิชาชีพของตัว ถ้าปฏิบัติมาจากวิชาชีพของตัวสิ่งใดที่เป็นประโยชน์

นี่มันแตกต่างกันตรงนี้ไง มันแตกต่างกันที่ว่าจริตนิสัยของคนมันไม่เหมือนกัน ฉะนั้นเวลาครูบาอาจารย์ท่านเทศน์ เวลาหลวงปู่มั่นท่านเทศน์ คนที่ฟังมันจะเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป

นี่ไงฟังธรรมสำคัญมาก ! นี้เพียงแต่ว่า เพียงแต่ว่าเวลาฟังธรรมนะ เห็นไหม เวลาอยู่บ้านตาด เวลารวมพระเทศน์ พระนั่งสงบหมดแล้ว พอหลวงตามาก็เทศน์เลย พอเทศน์เสร็จแล้วก็ต่างคนต่างกลับแล้ว พอเทศน์มันก็เหมือนกับเราสัมมนาสักทีหนึ่ง ถึงเวลาสัมมนาเลยนะ นี่พระทั้งหมดใครมีความเห็นอย่างไร ทุกอย่างเป็นอย่างไร มันกรองความคิดไง หลวงตาท่านพูดคำนี้เลยนะ

“หมู่คณะจำไว้นะ ! นี่ให้ภาวนามา ถ้าพูดถึงใครภาวนาถึงตรงนี้นะ ถ้าใครมารู้อย่างนี้ ถ้าท่านตายไปแล้วจะมากราบศพ” เพราะมันเป็นอันเดียวกันไง มันต้องเป็นอันเดียวกัน

ฉะนั้นไอ้ที่ว่าไม่ให้ฟังเทศน์นี่ แหม ! แหม.. เลยนะ แต่อีกอย่างนั่นน่ะ ถ้าพูดถึงพระที่ไม่มีวุฒิภาวะไปเทศน์มันก็น่าเบื่อ ซ้ำๆ ซากๆ มันเป็นสัญญา ฉายซ้ำฉายซาก ฉายจนจอจะหลุดไปแล้วมันยังฉายซ้ำอยู่นี่ใครก็ไม่อยากฟัง อันนี้อีกเรื่องหนึ่งนะ

ฉะนั้น เพราะเขาบอกว่าพระแนะนำไม่ให้ฟัง แต่โยมเห็นไม่เหมือนเขาเพราะโยมทำแล้วนี่ถูกต้อง โธ่ ! ฟังธรรมนี่นะ เพราะเวลาพุทโธ พุทโธนี่เราพุทโธเกือบตาย เวลาเราฟังธรรมะแล้วจิตเกาะไว้นั่นล่ะคือพุทโธนะ เวลาฟังเทศน์นะให้กำหนดไว้เฉยๆ ไม่ต้องกำหนดพุทโธ เพราะว่าเอาเสียงเทศน์นั้นเป็นพุทโธแทน แต่ถ้าเราปฏิบัติโดยส่วนตัวนะต้องพุทโธ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ มันถึงคุมจิตเราได้

จิตนี้ต้องควบคุม จิตนี้ต้องควบคุมดูแลรักษามัน มันจะพัฒนาของมันขึ้นมา แต่ถ้าปล่อยเฉยๆ ไม่ได้ จิตนี้เหมือนอากาศ ลองปล่อยเฉยๆ เดี๋ยวมันก็หายหมด เพราะว่าเราปล่อยเป็นธรรมชาติของมัน ฉะนั้นเวลาฟังเทศน์เราก็เกาะที่เทศน์นั้น แล้วที่เทศน์นั้นมันมีรสชาติ เวลาครูบาอาจารย์มีรสชาติ เวลาฟังเทศน์นะโอ้โฮ.. ขนพองเลยนะ ถ้าสะเทือนใจนี่ขนลุกหมดเลย

ฉะนั้นเราไม่เห็นด้วยกับการไม่ให้ฟังเทศน์ แต่เทศน์มันต้องเป็นกาลเทศะ สมควรแค่ไหน สมควรแค่ไหน ถึงเวลาแล้วรวมเทศน์ๆ หลวงปู่มั่นเวลาท่านเทศน์นะ โอ้โฮ.. พระนี่คุยกันไปได้ ๓ วัน เทศน์กัณฑ์เดียว หลวงปู่มั่นเทศน์จบแล้ว ไอ้พระมันจำคำพูดไปโม้กัน ไปวิจารณ์กันนี่ ๓-๔ วัน แล้วท่านก็เทศน์ใหม่ เทศน์ใหม่เราก็ได้ดำเนินการต่อไป

ถาม : ๒.มีเพื่อนนักปฏิบัติสาย... ถูกสอนมาว่าให้ใช้ความคิดพิจารณาไปเลย คิดเรื่องอะไรก็ได้ เป็นการใช้ปัญญาวิเคราะห์วิจัย เป็นการปฏิบัติวิปัสสนาโดยไม่ต้องมาเสียเวลาทำความสงบ หรือสร้างสติให้เกิดกับจิตก่อน ซึ่งขัดกับคำสอนของครูบาอาจารย์สายหลวงปู่มั่น อยากขอคำแนะนำจากท่านอาจารย์ว่าจะอธิบายให้เขายอมรับและเปิดใจ มาฝึกปฏิบัติทำสมาธิให้จิตสงบก่อนแล้วค่อยพิจารณาธรรมได้อย่างไร ขอท่านพระอาจารย์ได้โปรดเมตตาและเสนอข้อปฏิบัติด้วย

หลวงพ่อ : โอ้โฮ.. ยาวมาก อันนี้ก็เหมือนกัน เมื่อวานมีคนมาถามปัญหานี้แหละ บอกว่าไม่ต้องทำสมาธิหรอกใช้ปัญญาไปเลย ใช้ปัญญาไปเลย.. เขามากันหลายคน เราก็บอกว่าเอ็งทำงานได้วันละร้อย วันละร้อย เอ็งเก็บเงินไว้วันละร้อยๆ ตรงที่เอ็งไม่ใช้ เอ็งจะเอาเงินไปทำอะไร งงเลยนะ ถ้าเราทำความสงบของใจมันก็เหมือนกับร้อยหนึ่ง วันนี้ได้ร้อยหนึ่ง พรุ่งนี้ได้ร้อยหนึ่ง เราก็มีเงินเก็บสะสม ถ้าเราทำงานแล้วไม่ได้เงินเลยเอ็งจะได้อะไร

เราจะบริหารจัดการชีวิตประจำวันเรานี่เราต้องมีค่าใช้จ่ายใช่ไหม แล้วถ้าเราไม่มีเงินค่าใช้จ่าย ชีวิตเราจะอยู่ได้ไหม.. นี่ชีวิตประจำวันนะ แต่เวลาฝึกปฏิบัติถ้าไม่มีสมาธิ ไม่มีสมาธิมันก็เหมือนกับเราไม่มีบ้าน ไม่มีบ้านเราก็อาศัยโคนไม้อยู่ อาศัยทั่วไปอยู่ แต่ถ้าคนทำสมาธิมันก็เหมือนคนมีบ้าน คนมีบ้านนี่ทำสิ่งใดก็ได้ อย่างคนจะทำบริษัทต้องจดทะเบียนบริษัท คนจะฝากธนาคารก็ต้องจดบัญชีธนาคาร เราบอกว่าบัญชีธนาคารเรามีเยอะแยะเลย แต่บัญชีอะไรจำไม่ได้ เพราะกูไม่เคยมีบัญชี

นี่ก็เหมือนกันถ้าไม่ทำความสงบของใจ ถ้าไม่ทำความสงบของใจ เวลาตรึกใช้ปัญญาไปเลย ปัญญาไปเลย ปัญญาที่กระทำกันอยู่นี้มันปัญญาอะไร มันก็ปัญญาสามัญสำนึกเรา เป็นไปไม่ได้ ! เป็นไปไม่ได้หรอก

แล้วจะพูดอย่างไรให้เขาเข้าใจ ไม่ต้องพูด ให้เขาทุกข์ของเขา นี่มันเป็นสายบุญสายกรรมนะ สายบุญสายกรรมเขาเชื่อของเขาอย่างนั้น แล้วเขาอยู่ของเขาอย่างนั้น เราไปแก้ไขเขานี่เขาก็ฟังเรา แต่ฟังเราขณะอยู่ต่อหน้าเรา พอพ้นจากเราไปนะ.. เพราะว่ารสนิยมของเขาเป็นอย่างนั้น รสนิยมของเขาอยู่กับในพวกของเขา แล้วพอเข้าพวกกับรสนิยมอย่างนั้นปั๊บเขาพูดในอย่างนั้นเขาก็เชื่อกันไป

นี่มันเป็นสายบุญสายกรรม แต่พูดถึงถ้าเขามีบุญกุศลเขาจะสะเทือนใจของเขาเอง ทำไมเราทำอย่างนี้ว่าเป็นคุณธรรม แล้วทำไมมันเสื่อม นี่ในสายปฏิบัติเขายกย่องกันว่าคนนั้นเป็นพระอรหันต์ คนนั้นเป็นสกิทาคา อนาคานะ ลองไปถามสิหันอะไร หันลงนรกไง มันไม่มีหรอก ! เพราะมันตอบไม่ได้ไง

อ้าว.. โยมมีเงินมีทองนี่ควักออกมาสิ ทองก็คือทอง เพชรก็คือเพชรใช่ไหม เอามาโชว์กันนี่เพชรก็คือเพชร ทองก็คือทอง แต่ทองคุณภาพเท่าไร เพชรมีคุณภาพเท่าไรมันก็อีกเรื่องหนึ่งไอ้นี่ก็เหมือนกันมันบอกว่ามันมีๆ แล้วอยู่ที่ไหนล่ะ กูเห็นคนเดียวนะ แต่คนอื่นไม่เห็นกับกูนะ ทองกูเนี่ย ทองกูกูเห็นของกูคนเดียว นี่แหวนกู ๕ วง แต่คนอื่นมองไม่เห็น.. คิดเอาเองไง !

ถ้าเขาเห็นอย่างนี้ เขารู้อย่างนี้เขาจะสะเทือนใจ เราจะบอกว่าถ้าคนมันสะเทือนใจนะ เขาจะละทิ้งทิฐิอันเดิม แล้วจะพยายามหาทางออกเรา แต่คนเรานี่มันยังหมักหมม ยังตกอยู่ในกระแส มีทิฐิอย่างนั้น นี่ทองในนิ้วเขา ๕ วง ๖ วง เขาบอกเขาเห็นอยู่คนเดียว ไอ้เราไม่เห็นเราก็ปวดหัว พูดไปเขาก็คิดอย่างนั้นเหมือนคนบ้า ทิฐิมานะเป็นอย่างนั้น แต่นี้ไอ้พวกเรานี่เป็นหมู่เป็นคณะกันเราก็สงสาร เราก็อยากจะช่วยเหลือเขา แล้วจะช่วยเหลือได้หรือไม่ได้ล่ะ

ถาม : ๓. ครูบาอาจารย์ที่ชอบพาลูกศิษย์ไปปฏิบัติธรรมในป่า แล้วสอนให้ลูกศิษย์นั่งสมาธิสู้กับเวทนานานๆ เป็น ๖-๗ ชั่วโมงติดต่อกันขึ้นไป ทั้งๆ ที่เป็นนักปฏิบัติใหม่ ไม่ควรให้ปฏิบัติต่อเนื่อง ก็พากันนั่งสมาธิยาวไปเลยเป็นการหักดิบ และให้เห็นเวทนาให้ชัดเจน พระอาจารย์มีความเห็นอย่างไร

จากประสบการณ์โดยตรงของโยมเห็นว่า ควรที่จะทำความเพียรสม่ำเสมอให้ติดต่อกันต่อเนื่องทุกๆ วัน แล้วค่อยเพิ่มความเพียรขึ้นไปตามลำดับของตน เหมือนกับนักวิ่งกรีฑา นักมาราธอนที่หมั่นฝึกซ้อม และระยะทางเพิ่มขึ้นวันละเล็กละน้อยจนกว่าจะถึงเป้าหมาย น่าจะดีกว่าการมาทนนั่งทรหดสู้กับเวทนาเป็นครั้งคราวเพื่อให้ครบชั่วโมง แล้วก็ออกมาคุยอวดกันว่านั่งได้ผ่านเวทนาแล้ว ฉันได้ทำแล้ว คนนั้นทำได้ไม่เท่าไรก็ล้มลงไปนอน โอ้อวดตามกิเลส แต่ความจริงที่ไม่พูดถึงก็คือ เมื่อออกจากสมาธิมาแล้วก็ต่างมาแอบถามกันว่า “ยาอะไรระงับปวด” ยาคลายกล้ามเนื้อกันเป็นแถว แถมยังเอาผ้าพันขา สนับขามารัดเข่ารัดขาเพื่ออาการ

หลวงพ่อ : ไอ้วัดอย่างนี้ไม่ค่อยได้เห็นหรอก ไอ้นี่มันสำนักบู๊ลิ้ม.. เวลาคนไปปฏิบัติ เราไปเห็นปฏิบัติ เห็นหัวหน้าเขาสอนก็นึกว่าใช่หมดไง เราเห็นเขาปฏิบัติแล้วเราคิดว่าใช่ปวดเข่า

ไอ้การผ่านเวทนา.. ผ่านกายมันเป็นคำพูดไง เป็นคำพูดของครูบาอาจารย์เรานี่แหละ แต่คำว่าผ่านมันก็เหมือนกับเวลาธัมมสากัจฉา สมัยหลวงปู่มั่น เวลาครูบาอาจารย์ท่านถามว่าเป็นอย่างไรก็เท่ากับผ่านแล้ว คำว่าผ่านแล้วคือผ่านกายก็โสดาบัน ถ้าผ่านอีกชั้นหนึ่งก็เป็นสกิทาคา ผ่านอีกชั้นหนึ่งก็เป็นอนาคา ถ้าผ่านอีกชั้นก็สิ้นกิเลสไป ถ้าคนพิจารณากายๆๆ ไป คำว่าผ่านของครูบาอาจารย์เรานี่หมายถึงว่าได้ธรรม

ฉะนั้นเวลาหมู่คณะปฏิบัติเขาก็พูดกันอย่างนี้ไง นี่ผ่านเวทนาๆ กูก็ผ่านได้ เปิดประตูกูก็เดินผ่าน แล้วมันได้อะไรล่ะ.. คำว่าผ่านนี่ คำว่าผ่านของครูบาอาจารย์เราท่านพูดแบบถ่อมตนไง ท่านไม่ใช้คำว่าโสดาบัน ไม่ใช้คำว่าสกิทาคา อนาคา ท่านใช้คำว่าผ่าน ทีนี้พอใช้คำว่าผ่านปั๊บ พวกเราก็อาศัยคำนั้นมาหากินกัน อาศัยคำของครูบาอาจารย์มาตั้งเป็นบรรทัดฐานแล้วพูดให้เหมือน เห็นไหม เวลาพิจารณาโอ๋ย.. คนนี้ผ่านกายแล้ว คนนี้ผ่านกายแล้ว

กูก็ผ่าน ! เมื่อกี้นี้หมอผ่าตัดกูมา หมอผ่าตัดกูนี่เปิดช่องท้องเลย กูก็ผ่านมาเหมือนกัน.. คำว่าผ่าน นี่ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้ พอเราอ่านปั๊บเราเข้าใจเลย เข้าใจเพราะอะไร เข้าใจเพราะเขาไม่เข้าใจความหมายครูบาอาจารย์เรา เขาไม่เข้าใจคนที่มีคุณธรรมไง คนที่มีคุณธรรมนี่อ่อนน้อมถ่อมตน ไม่อวดอ้าง ทีนี้พอจะพูดคำนั้น ดูเช่นหลวงตาท่านบอกเมื่อก่อนใหม่ๆ ท่านไม่ใช้คำว่ามหาสติ มหาปัญญา ท่านไม่กล้าใช้เลยนะ ท่านบอกว่ามันอยู่ในพระไตรปิฎก มันเหมือนกับคำที่สูงส่งไงที่เราจะไม่ตีตัวเสมอ

นี่หลวงตาท่านพระอะไร ท่านพูดธรรมะท่านยังถ่อมตนนะ จะพูดคำไหนคำที่มันเป็นคุณธรรมท่านยังไม่กล้าพูด หรือพูดไปแล้วมันเหมือนกับอวดอ้าง ฉะนั้นเวลาท่านพูดนี่พูดด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนว่าผ่าน นี่ผ่านกายคือโสดาบัน แล้วเขาก็พูดกันนะ ตอนหลังๆ เราออกมา เราปฏิบัติแล้วออกมา พอรู้ว่าผ่านกายๆ เราก็เซ่อนะ พอเขาผ่านกายเราก็ดีใจแล้วนี่เป็นโสดาบัน ไปคุยกับเขา อ๋อ.. เขาเดินผ่าน เขาเดินผ่านมา โอ๋ย.. เวรกรรม

ความหมายมันเลยผิดเพี้ยนไปไง ความหมายครูบาอาจารย์เราท่านพูดถึงว่าคนที่ผ่าน หมายถึงว่าคนที่ปฏิบัติประสบความสำเร็จแล้วผ่านมา นี้คือความหมายของครูบาอาจารย์ของเราที่คุยกันในธัมมสากัจฉา แต่นี้พอผู้ที่ปฏิบัติปฏิบัติขึ้นมาด้วยการวัดรอย ด้วยการไม่มีคุณธรรมในหัวใจ ก็พูดกันไปอย่างนั้นไง ผ่านไปผ่านมา ผ่านเวทนา ผ่านอะไร ผ่านไปหาผ้ารัดเข่าไง ไอ้นี่ก็เรื่องของเขานะ

ถ้าพูดอย่างนี้ คำถามนี่มันถามให้เราเห็นว่ากระแสสังคมเป็นแบบนี้ สังคมเป็นแบบนี้ โลกเป็นแบบนี้ ถ้าคนมีหลักมีเกณฑ์เห็นแล้วมันก็สังเวช แต่พวกที่เป็นเหยื่อ ประชาชนนี่เป็นเหยื่อหมดเลย ไม่รู้จักหรอก พอเขาบอกว่าผ่านกูก็อยากจะผ่านกับเขา เขาจะพาไปทรมานขนาดไหนก็จะไปทรมานกับเขา จะทรมานผ่านให้ได้ไง นี่กระแสสังคมเป็นแบบนี้

พูดถึงแล้วเรามาคิดกันเอาเองนะว่ามันน่าสังเวชไหม มันน่าสังเวชถึงสังคมไทย สังคมพุทธ สังคมการปฏิบัติ เราพิจารณาเอานะ เราพิจารณาว่านี่อย่างนี้มันน่าสังเวชไหม ถ้ามันน่าสังเวชนี่เราให้มีปัญญาขึ้นมา ถ้ามีปัญญาเรามองออกหมดเลย ถ้าไม่มีปัญญาขึ้นมาเราก็อืม.. อ้อปฏิบัติเป็นอย่างนี้เนาะ อย่างที่เขาพูดกัน เห็นไหม อย่าภาวนานะ ภาวนาเดี๋ยวเป็นบ้า ! ภาวนาเป็นบ้า.. ไอ้เราก็กลัวหมดเลย ไม่กล้าภาวนาเดี๋ยวกูจะเป็นบ้า แต่เวลาบ้ากิเลสนี่มันไม่พูด เวลาบ้ากิเลสอยู่นี่มันไม่เคยพูดเลยนะ แต่พอภาวนาไปเดี๋ยวจะเป็นบ้าๆ ทุกคนก็กลัวหมด

แล้วพอภาวนากันอย่างนี้ นี่ผ่านเวทนาแล้วก็มา.. อันนี้ มันผ่านไม่ได้หรอก มันจะผ่านเวทนาหรือไม่ผ่านเวทนามันเป็นปัจจัตตัง มันเป็นสันทิฏฐิโก เห็นไหม ดูสิหลวงตาเวลาท่านภาวนาของท่าน เวลาท่านผ่านไปนะท่านบอกเลย

“ต่อไปนี้เวทนาหน้าไหนมันจะมาหลอกเราได้วะ เรานี่ผ่านเวทนามาแล้ว”

สุดท้ายแล้วเมื่อก่อน เมื่อ ๔-๕ ปีที่แล้ว เห็นไหม ตอนท่านปวดเข่า ที่ท่านเป็นโรคที่เข่า เห็นไหม เวลาท่านจะเทศน์นะ “โอ้โฮ.. ปวดเข่า เข่าเอ็งปวดไปเถอะนะกูจะเทศน์ว่ะ” นี่เวทนาก็เป็นเวทนาไปไง จิตใจก็จะเทศน์ธรรมะ เวลาท่านจะเทศน์สมัยท่านปวดเข่า ท่านจะยืดขาออกไป ท่านบอกว่าปวด แล้วท่านจะพูดกับขาท่านนะ

“เออ.. ขาเอ็งปวดไปนะ กูจะเทศน์ !”

คนที่ผ่านเวทนามาแล้วมันเป็นอย่างนี้ ท่านมีเวทนาไหม ท่านมีเวทนาคือปวดขา ปวดขาเป็นเวทนาหรือเปล่า.. เป็น แล้วจิตท่านผ่านเวทนามาแล้ว ท่านไปติดเวทนานั้นไหม.. ไม่ติด นี่ผ่านเวทนาเขาผ่านอย่างไร ผ่านเวทนาแล้วเวทนาก็ยังมีไง ถ้าผ่านเวทนามาแล้วลมพัดมาก็ไม่เย็นหรอก แดดร้อนแค่ไหนก็ไม่ร้อน เพราะเย็น ร้อน อ่อน แข็ง มันเป็นเรื่องของเวทนา ผ่านเวทนามันผ่านที่กิเลสไง กิเลสมันขาด

ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ เวทนาไม่ใช่เรา เราไม่ใช่เวทนา แต่เวทนามี ! มี ! แต่มีโดยมันผ่าน โดยความเข้าใจ โดยปล่อยทิ้งหมดแล้ว แล้วนี่เอ็งผ่านอะไรล่ะ ผ่านด้วยการอดทน มันคนละเรื่องเลยนะ มันคนละเรื่อง ถ้าคนภาวนาเป็นนี่ฟังแล้วรู้แล้วเข้าใจได้ แต่คนไม่เป็นมันก็เป็นอย่างนี้แหละ.. แล้วที่อ่านปัญหานี้ หรือปัญหาที่เขาถามมานี่มันเป็นให้เราเห็นกระแสสังคม แล้วเราเห็นกระแสสังคม แล้วเราอยู่ในสังคม เราจะได้หาทางอย่าไปเข้าร่วมสังคมกับเขา

ถาม : ๔. การทำความเพียร จำเป็นต้องนั่งสมาธิให้ได้นานหลายๆ ชั่วโมงติดต่อกันไปหรือตลอดรุ่งหรือไม่ ถึงจะถือว่าปฏิบัติได้ก้าวหน้า และมักจะมีการถามกันเดี๋ยวนี้ว่า “นั่งสมาธิได้นานเท่าไร”

หลวงพ่อ : ไอ้อย่างนี้มันก็เป็นเหมือนกับคนนี่ร่างกายแข็งแรง เวลาเขาเห็นคนร่างกายแข็งแรง อู้ฮู.. คนนี้ร่างกายแข็งแรงมาก อันนั้นแสดงว่าร่างกายแข็งแรงเพราะได้ควบคุมดูแลร่างกายที่ดีมาก

ฉะนั้นการนั่งสมาธินานหรือไม่นาน ถ้านั่งได้นานก็แสดงว่าร่างกายนี้แข็งแรงสมบูรณ์ การนั่งได้นานหรือนั่งไม่ได้นานนี่แบบว่ามันให้ผล ให้ผลว่าถ้านั่งได้นานก็ร่างกายสมบูรณ์ใช่ไหม ถ้าร่างกายเราไม่ค่อยสมบูรณ์เราก็นั่งได้ของเราพอประมาณ ฉะนั้นอันนี้กิริยานั่ง แต่ถ้าจิตมันสงบนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง นั่งนานหรือไม่นั่งนานเวลาสงบขึ้นมานี่มันสงบของมันได้

ฉะนั้นจำเป็นต้องนั่งนานๆ ไหม.. บางคราวมันจำเป็น จำเป็นหมายถึงว่าเราทำสิ่งใดกำลังจะประสบความสำเร็จอยู่แล้ว แต่มันยังไม่ประสบความสำเร็จเราก็ต้องมีความอดทน นี่คำที่ว่านั่งให้ผ่าน คือว่าเวลาสมมุติว่าเราพิจารณาสิ่งใดอยู่มันยังก้ำกึ่งอยู่ ถ้าเรามีความมุมานะ เรามีความเพียรที่เข้มแข็งกว่า อำนาจของธรรมมันจะชนะความเคยชิน กิเลสคือความเคยชิน กิเลสคือความเคยใจ กิเลสคือสิ่งที่มันนอนอยู่ในหัวใจ กิเลสมันอยู่ที่ข้อต่อรองหัวใจของเรา ถ้าเราชนะสิ่งนี้ได้ นี่เราจะผ่านสิ่งนี้ไป ผ่านสิ่งนี้ไป จนกิเลสมันเริ่ม.. พอเราชนะครั้งที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ กิเลสมันจะตัวเล็กลงๆๆ จนถึงที่สุดเราจะชนะมันได้

ฉะนั้นความจำเป็นแบบนี้มันมีอยู่เป็นครั้งคราว การที่ว่าจะต้องนั่งนานๆ หลายชั่วโมง เพราะการนั่งขึ้นมา นี่นั่งชั่วโมงหนึ่งไม่มีอะไรเป็นข้อต่อรองเลย เราผ่านได้ตลอดเวลา ถ้า ๒ ชั่วโมงมันชักเริ่มมีการหงุดหงิดมีอะไร เห็นไหม มันเป็นการค้นหากิเลสไง มันเป็นการค้นหาสิ่งที่ละเอียดในใจ ที่เราจะต้องชำระให้มันสะอาดขึ้นไปเรื่อยๆ มันมีความจำเป็นต้องใช้ ถึงเวลาจะจำเป็นต้องใช้ต้องมี แต่ไม่จำเป็นว่าจะต้องอย่างนั้นตลอดไป

ถ้าพูดถึงการนั่งนานๆ แล้วเป็นสิ่งที่ไม่ขยับเขยื้อนเลยมันเป็นความดี วัตถุธาตุ บ้านเรือนของเรา โต๊ะหมู่บูชา โต๊ะ เตียง ตั่งมันก็ไม่ขยับเคลื่อนที่เลย เราไม่ต้องไปกราบมันเหรอ นี่มันตั้งอยู่ ๑๐ ปีไม่เคยขยับเลย มันดีกว่าเราอีก

อันนี้พูดถึงถ้าเอาทิฐิมานะอะไรเข้ามาผิดหมด แต่ถ้าเอาความสมดุลของมัน เอาความเป็นจริงของมันอันนี้จำเป็น เพราะเราทำงานมันต้องมีคราวหนัก มีหนักมีเบา เวลาเราจะต้องลงทุนหนักเราต้องหนัก เวลาจริงจังต้องจริงจัง เวลาที่ว่ายังไม่จริงจัง เวลาที่มันทำแล้วมันยังไม่สมควรเราก็ต้องรักษาถนอมร่างกายไว้ เพื่อไปเจอกับความจริง แต่วันไหนที่มันเจอความจริงนะ มันกำลังสู้กันต่อหน้านี่ใส่กันเลย แล้วแพ้ชนะตรงนั้นล่ะเราจะผ่านเป็นขั้นตอนไป

นี่นักปฏิบัติต้องเป็นแบบนี้ เขาต้องมีกาลเทศะ มีความสมควรไม่สมควร สู้ไม่สู้ สู้หรือถอย กองทัพถอยตลอดเวลา แต่ถอยมาคือเราตั้งค่ายกลตีเขาตลอดเวลา ไอ้ถอยๆ นี่ชนะนะ ไอ้บุกๆ ไปนี่กองทัพหมดเลย เขากลืนหมดเลย ไอ้ถอยๆ แต่ถอยด้วยยุทธศาสตร์ ถอยด้วยยุทธวิธีนะ ถอยอย่างนั้นชนะทุกทีนะ ถอยทีไรชนะทุกที ไอ้ว่าบุกๆๆ นี่แพ้ราบคาบเลย.. นี่ก็เหมือนกันมันเป็นกาลเทศะ

ถาม : ๕. เมื่อปฏิบัติธรรมไปสักระยะหนึ่ง ผู้ปฏิบัติจะประเมินความก้าวหน้าของตนเองได้อย่างไร อะไรเป็นเครื่องวัดความเจริญก้าวหน้าของผู้ที่ปฏิบัติธรรม

หลวงพ่อ : ผู้ที่ปฏิบัติธรรมเจริญก้าวหน้า จิตมันดีขึ้น ถ้าทำสมาธินะ สมาธินี่ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ.. สมาธิคือสมาธิ เจริญก้าวหน้าหมายถึงว่าทำได้ง่าย ทำแล้วลงสมาธิอยู่ได้สะดวก ฉะนั้นถ้าสมาธินะถ้าเรามีเหตุใช่ไหม เราตั้งสตินี่ สิ่งนั้นความก้าวหน้าคือเข้าสมาธิได้ง่าย ชำนาญในวสี เหมือนของเลย ใช้ด้วยความเคยชิน หยิบจับได้ตลอดเวลาเลย

หลวงตาท่านพูดประจำ เห็นไหม “สิ่งที่เราทำคุณงามความดีนี่หยิบจับได้ ของเรามีเต็มบ้าน หยิบจับเมื่อไหร่ก็ได้”

ถ้ามีความเจริญก้าวหน้านี่เข้าสมาธิเมื่อไหร่ก็ได้ ออกใช้ปัญญาเมื่อไหร่ก็ได้ มีความชำนาญมาก นี่คือการก้าวหน้า ความก้าวหน้ามันวัดผลได้จากเรานี่แหละ ภาวนา ๕ วัน ๑๐ วันสมาธิไม่ลงสักที ก้าวหน้าอะไรก้าวหน้าเกือบจะตายนี่ก้าวหน้าได้อย่างไร แต่สมาธิมันก้าวหน้า มันชำนาญของมัน นี่คือความก้าวหน้า ! ถ้ามีสติปัญญาก็จะมีความก้าวหน้าของมัน

วัดได้ง่ายๆ วัดได้วัดได้ทั้งหมด มันเป็นปัจจัตตังต้องมีอย่างนี้ ถ้าไม่มีอย่างนี้ คิดดูสิสมาธิมีนี่ เงินของเราใช้แล้วขาดมือ พอขาดมือขึ้นมาเราจะทำต่อเนื่องไม่ได้ขาดตอนแล้ว แต่เงินของเราใช้ตลอดเวลาไม่มีวันหมดเลย เงินของเราเราจะใช้จ่ายอย่างไรก็ได้ หมุนเวียนอย่างไรก็ได้ นี่คือการก้าวหน้า

การปฏิบัติธรรมจะก้าวหน้าต้องเป็นแบบนี้ เขาเรียกชำนาญในวสี วสีในขั้นของสมาธิ แล้วออกวิปัสสนานะ พิจารณาแล้วมันปล่อยขนาดไหน ตทังคปหานปล่อยบ่อยครั้งเข้าๆ ถึงที่สุดนะตามเข้าไปซ้ำแล้วซ้ำเล่า หลวงตาใช้คำว่าซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนถึงที่สุดมันขาดเลย ขาดคือจบ พอจบก็เป็นโสดาบัน จบก็เป็นขั้นตอนของมัน นี่คือความก้าวหน้า

ถาม : ๖. กรณีที่ท่านอาจารย์ยกย่องลูกศิษย์ว่าปฏิบัติธรรมได้ดี เจริญก้าวหน้าขึ้นถึงขั้นบรรลุธรรมแล้ว ทั้งๆ ที่ไม่ได้อยู่ใกล้ลูกศิษย์ แต่อยู่คนละสำนัก และใช้วิธีเทศน์อบรมสั่งสอนกันทางโทรศัพท์เท่านั้น เช่นนี้การพิจารณาประเมินผลจะน่าเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน และหากประเมินผลผิดพลาดจะไม่ทำให้ลูกศิษย์สำคัญผิดว่าตนบรรลุธรรมแล้วหรือ จนเกิดทิฐิมานะลำพองตน มองข้ามกิเลสตัณหาจนตัดหนทางความเจริญก้าวหน้าของตนไปโดยไม่รู้ตัวหรือไม่คะ เพราะเรื่องอย่างนี้มันละเอียดอ่อนเกินกว่าจะรู้เท่าทันได้ กราบขอบพระคุณอย่างสูง

หลวงพ่อ : ไอ้เรื่องนี้เป็นเรื่องของสำนักเขา ถ้าสำนักเขา เขาสั่งสอนกันทางโทรศัพท์ ไอ้ทางโทรศัพท์เดี๋ยวนี้นะมันทำย่นระยะทาง ถ้ามีความจำเป็น ฉุกเฉิน ถ้าถามทางโทรศัพท์เราก็พูดอยู่ แต่ถามทางโทรศัพท์กับถามทางเว็บไซต์นี่คล้ายๆ กัน คือว่ามันไม่ได้ซักไง นี่ทางเว็บไซต์ถามมาอย่างนี้เราต้องตอบตามกระดาษ แล้วกระดาษมันไปวัดผลใจอย่างไรล่ะ เวลาคนเขียนเขาเขียนอย่างที่ตัวเองคิดออกมาจะวัดผลได้ แต่เวลาถามธรรมะ เวลาเราคุยธรรมะกัน ถามซึ่งๆ หน้านี่มันวัดผลได้ มันเห็นผลมาได้มากกว่า

อันนี้พูดถึงการวัดผลนะ แต่ถ้าเขาคิดของเขา สำนักของเขาเป็นอย่างนั้นก็เป็นอย่างนั้น เพราะเดี๋ยวนี้ปฏิบัติธรรมจะเอาแต่บรรลุธรรม จะเอาแต่แบรนด์ไง เอาความก้าวหน้า แต่ถ้าปฏิบัติธรรมของเรา ปฏิบัติธรรมเพื่อความร่มเย็นเป็นสุข ถ้าเราร่มเย็นเป็นสุขนะ ชีวิตเราเรารักษาของเราได้นะ มันไม่เกิดไม่ตายนี่สำคัญที่สุด แล้วเวลาถ้าจิตใจเรามั่นคงขึ้นมา สิ่งใดจะมีค่ากับเรื่องอริยทรัพย์ แล้วอริยทรัพย์นี่มันวัดผลกันที่ไหนล่ะ

คนเหมือนคน แต่คนไม่เหมือนกัน.. คนเหมือนคน พระเหมือนพระ แต่ความจริงในหัวใจ เราอยู่กับครูบาอาจารย์มานะ เราพูดไม่ใช่ว่าดูถูกใครนะ เราอยู่กับใครก็แล้วแต่นะ ถ้ามีมารยาสาไถยเราไม่อยู่ด้วย มารยาสาไถยนั่นกิเลสชัดๆ แต่ถ้าครูบาอาจารย์ของเรานะ ถ้าเป็นธรรมนะมันสบายใจ มันไม่มีมารยาสาไถย ถึงจะด่าก็ด่าแบบความบริสุทธิ์ ด่าด้วยความบริสุทธิ์ แหม.. ฟังแล้วมันซึ้งใจ มันพอใจรับถ้าด่าเป็นความบริสุทธิ์นะ มันไม่มีมารยาสาไถย แต่ถ้ามันเป็นธรรมโดยมารยาสาไถยนะเราเก็บของไปเลย

ฉะนั้นสิ่งนี้ต่างหากที่ว่ามันเป็นความจริงและไม่เป็นความจริง จะวัดผลกันไง วัดผลคือไม่มีมารยาสาไถย ถ้าผิดก็ผิดด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่ว่าความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ไม่มีมารยา ไม่มีเล่ห์กล ถ้าเล่ห์กลนั้นเป็นเรื่องของกิเลส แต่ถ้าเรายังมีกิเลสอยู่เรายอมรับว่าเรามีเล่ห์กล มีมารยาสาไถย เราก็พยายามควบคุม พยายามดูแลรักษาเพื่อความร่มเย็นเป็นสุขในหมู่คณะ ในความเป็นอยู่ของสังคม แล้วเราพยายามปฏิบัติตัวของเราเพื่อให้เราได้ผลตามความเป็นจริง เพราะเราเกิดมาแต่ละชาตินี่โอกาสมันมีอยู่แล้วไง

การเกิดแต่ละชาตินะ ความเป็นมนุษย์สมบัตินี่โอ้โฮ.. มีค่ามากเลย แต่เราใช้ชีวิตของเราโดยความฟุ่มเฟือย.. นี่อยู่กับโลก เกิดมาเป็นมนุษย์เพราะมีหัวใจมา แล้วหน้าที่การงานทางโลกมันเป็นเรื่องของโลก สังคมโลกที่ให้อยู่กันได้ แต่จิตใจนี่จิตใจเพราะมันอยู่สามโลกธาตุ มันเวียนตายเวียนเกิดในสามโลกธาตุ มันกว้างขวางกว่าโลกนี้นัก

โลกนี้เป็นโลกของมนุษย์ แต่โลกเป็นสามโลกธาตุนี่จิตใจมันต้องหมุนเวียนไป แล้วเราเกิดมาในพุทธศาสนา ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ธรรมะโอสถ.. ธรรมะโอสถที่สามารถแก้ไขสิ่งนี้ได้ เหมือนเราเป็นคนไข้แล้วเรามีโอกาสรักษาในชาตินี้ นี่แล้วถ้าเรารักษาชาตินี้ได้ เห็นไหม ไข้เราจะอ่อนลง เราจะพ้นจากไข้ได้ แล้วเราไปมองข้ามสิ่งนี้ไป แล้วจะไปให้เขายอมรับทางโทรศัพท์ว่าเราพ้นจากไข้ๆ เรานอนอยู่บ้านเราทุกข์เกือบตายเขาบอกว่าเอ็งหายแล้ว อย่างนี้มันก็ทุกข์ตายไม่มีประโยชน์หรอก

ฉะนั้นเรื่องของเขา แต่ถ้าเราทำของเรา ถ้ามีคุณค่าสิ่งนี้ เราต้องรักษาสิ่งนี้ เพื่อประโยชน์กับชีวิตเรานะ.. อันนี้เป็นคำถามของเขา เพื่อประโยชน์กับเรา เราต้องดูแลเรา เพื่อประโยชน์กับเรา เพื่อความปฏิบัติที่ความถูกต้อง เอวัง