ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ราชสีห์กับหนู

๒o ก.พ. ๒๕๕๔

 

ราชสีห์กับหนู
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

พูดถึงถ้าใครมาแล้วมีปัญหาให้เขียนขึ้นมาเลย มันจะได้เป็นปัญหาของตัว ไม่อย่างนั้นก็อาศัยฟังคนอื่น ถ้าปัญหาของตัวนะ

ถาม : อันนี้เขาถามมาว่า อายุมากแล้ว ๘๓ ย่างเข้า ๘๔ ภาวนามามากทำไมจิตมันไม่ลงสักที ยิ่งแก่ยิ่งทำยากเพราะสังขารไม่อำนวย แต่โยมก็ยังพอเดินจงกรมได้ นั่งได้ แต่รู้สึกว่าไม่ก้าวหน้าเท่าไร จึงเรียนถามว่าจะทำวิธีใดจึงจะดี ซึ่งเวลานี้โยมก็ใช้พุทโธ บางครั้งก็กำหนดยุบหนอ พองหนอแล้วแต่เวลา ไม่ทราบว่าจะทำถูกต้องหรือไม่ จึงอยากขอความกรุณาจากหลวงพ่อว่าควรจะทำอย่างไร เตรียมตัวอย่างไรดีเพราะเวลามันสั้นอยู่แล้ว

หลวงพ่อ : เวลาเราปฏิบัติกันทุกคนก็ปรารถนาทั้งนั้นแหละ ฉะนั้นพูดถึงเวลาถ้าภาวนาแล้ว เวลาเราไปมีลูกศิษย์หลายคนถามว่าภาวนามา ๑๐ กว่าปี บางคนลาออกจากงานมานะ บางคนมาอยู่วัดนี่ ๑๐ ปี ๒๐ ปีทั้งนั้นเลย แล้วทำไมมันไม่ได้ผล

คำว่าได้ผลนะ เพราะเวลาเราศรัทธา เรามีความเชื่อ เห็นไหม เราก็มีความตั้งใจของเรา เราตั้งใจของเรา เราอยากทำของเราเต็มที่เลย แต่เวลาไปทำแล้วๆ พอเวลาทำขึ้นไปมันเหมือนนะดูสิดูเวลาเขาทำนา นี่ ๓ ปีน้ำท่วมหนหนึ่ง ๔ ปีน้ำท่วมหนหนึ่ง จะมีน้ำท่วมใหญ่หนหนึ่งตลอดเวลา แล้วเวลาเราทำไป ถ้าทางวิชาการ ตามสถิตินี่ทางการเกษตรเขาจะบอกเลยว่า ๓ ปี ๔ ปี เวลาธุรกิจมันกำลังดีขึ้นมามันต้องตกทีหนึ่ง

ฉะนั้นเวลาคนเขาทำอาชีพนี่นะเขาจะสะสมเงินของเขา เวลาเหตุการณ์มันตกขึ้นมาเขาจะเอาสิ่งนั้นล่ะมาสำรองการดำรงชีวิตของเขา เขาบริหารจัดการของเขา.. อันนี้ด้วยสถิตินะ เราเห็นว่าโลกมันเป็นแบบนั้น แต่เวลาภาวนาเราก็ตั้งใจภาวนากัน เราตั้งใจภาวนานะเพราะอะไร เพราะเรามีครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์เรานี่เป็นคนชี้นำ เป็นคนยืนยันว่ามรรคผลมีจริง แล้วทุกคนก็ประสบได้กับความทุกข์

เวลาทุกข์นี่เราประสบได้นะ เวลาชีวิตนี้ทุกข์นัก เราอยากจะพ้นจากทุกข์ เราอยากจะพ้นจากทุกข์ ทีนี้เราพ้นจากทุกข์นี่ด้วยเจตนาอย่างเดียวพอไหม.. ด้วยเจตนาอย่างเดียว ทุกคนนี่ถ้าเจตนาอย่างเดียวนะ ประเทศไทยจะไม่มีที่อยู่เลย พระจะเต็มวัดหมดเลย เพราะว่าทุกคนก็อยากจะพ้นทุกข์ ดูสิบวชประเพณีผู้ชายทุกคนได้บวชหมด แล้วถ้ามันพ้นทุกข์นี่ไม่มีใครสึกหรอก ชาวพุทธทั้งหมดในประเทศไทยนี้เป็นพระหมดเลย แล้วเป็นพระอรหันต์หมดเลย

โอ้โฮ.. มันก็ดี สังคมมันก็ต้องดีเป็นธรรมดา แต่เวลาบวชเข้ามาแล้วมันก็มีความจำเป็นทุกคนใช่ไหม บางคนมีพ่อมีแม่ มีปู่มีย่า มีตามียาย มีอาชีพ มีภาระความรับผิดชอบ ก็บวช ๓ วัน ๗ วันเดี๋ยวนี้ เมื่อก่อนบวชคนละพรรษา เดี๋ยวนี้บวช ๗ วันเท่านั้นล่ะ บวชแล้วก็สึก

เรามีเจตนาอย่างเดียวพอไหม ถ้าเรามีเจตนาอย่างเดียว เห็นไหม เจตนานี่เราก็มีเจตนา ทุกคนมีเจตนาดีทั้งนั้นล่ะ ครูบาอาจารย์ของเรายิ่งมีความมุ่งมั่นใหญ่ พอความมุ่งมั่นขึ้นมา เวลาทำไปแล้ว นี่เวลาทำไปแล้ววาสนาของคนคือคนมีสัจจะ มีสัจจะนี่เวลามันตั้งกติกากับตัวเองมันจะทำตามสัจจะนั้น ถ้าทำตามสัจจะนั้นจะได้ผลหรือไม่ได้ผล นั่นอีกเรื่องหนึ่งนะเพราะเราตั้งสัจจะแล้ว นั่ง ๕ ชั่วโมง ๑๐ ชั่วโมง ๒๐ ชั่วโมงนี่เราตั้งสัจจะแล้ว เราตั้งสัจจะแล้วนี่ได้ผลหรือไม่ได้ผล

คนที่มีอำนาจวาสนาจริงๆ เห็นไหม หลวงปู่มั่น ! หลวงปู่มั่นปรารถนาพุทธภูมิมา แล้วลามา แล้วก็มาเป็นครูบาอาจารย์ของเราเนี่ย ครูบาอาจารย์.. พูดถึงผู้ที่เป็นพระอรหันต์ได้ต้องสร้างมาแสนกัป ทีนี้คำว่าสร้างมาแสนกัปนี่นะมันก็มีสัจจะ พอมีสัจจะขึ้นมานะ เวลาหลวงตาท่านนั่งตลอดรุ่งๆ ท่านพูดอย่างนี้เลยนะ

“นี่คนๆ เดียว ! จิตดวงเดียวไม่ใช่มีจิตอื่นเลย จิตที่มีวาสนาจิตเดียวนี่แหละ !”

บางวันภาวนาถ้ามันลง ลงง่ายๆ ลงแบบว่ามีปัญญา วันไหนภาวนาแล้วลง ในนั่งตลอดรุ่งนี่แหละมันลง พอลงเข้ามานี่จิตมันจะลง ลงไปนะ ๓ ชั่วโมง ๔ ชั่วโมงมันจะถอนขึ้นมา บางทีลงทีหนึ่งนี่ คนเข้าสมาธิเวลามันลงนะ ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมง ๔ ชั่วโมง ๕ ชั่วโมง บางคนลงครึ่งชั่วโมง บางคนลงไม่กี่วินาที เห็นไหม เวลาลงนี่มันไม่เท่ากันหรอก ทีนี้พอมันลงแล้วนี่มันลงขนาดไหนมันก็ถอนออกมา พอถอนออกมาถ้าพิจารณาซ้ำไปมันก็ลงอีก ก็ถอนออกมา ไม่มีใครบอกว่าโอ๋ย.. พอลงแล้วมันตลอดรุ่งเลย พอนั่งแล้วตลอดรุ่ง

มี ! เป็นบางครั้งบางคราว อย่างเช่นเวลาจิตมันลงปั๊บ ถอนอีกทีหนึ่ง ๔ โมงเช้าแล้ว นี่เพราะมันลงลึก มันลงลึกมันเป็นบางครั้งบางคราว แต่เวลาลงมันเหมือนกับเรานอนนี่แหละ เวลาเรานอน เห็นไหม บางทีก็นอนตลอดรุ่งเลย บางคืนตื่น ๓ หน ๔ หน จิตเวลาลงมันก็ลงอย่างนี้

นี่พูดถึงเวลามันลงนะ ! ถ้าวันไหนมันไม่ลงท่านบอกเลยนะ หลวงตาท่านพูดว่า “ถ้าวันไหนมันไม่ลง วันนั้นนะต้องใช้ปัญญาอย่างเต็มที่”

พุทโธเต็มที่แล้วนี่มันเอาไม่อยู่นะ เวลามันใช้ปัญญาหมุนเข้าไปในร่างกาย พิจารณานี่พิจารณาพุทโธ พุทโธ พุทโธ พิจารณาร่างกาย พิจารณาใช้ปัญญาอบรมสมาธิพิจารณาให้ลง พิจารณาเวทนานี่ ท่านบอกวันนั้นบอบช้ำมาก ! บอบช้ำมากแต่ก็ลง ลงเพราะอะไร ลงเพราะความจริงของเราไง ลงเพราะสัจจะของหลวงตาท่านตั้งไว้เองว่าไม่ลุก !

ตลอดรุ่งอย่างเดียวอย่างไรก็ไม่ลุก เอ็งจะลงหรือไม่ลงไม่เกี่ยวไม่ลุก ถ้าไม่ลุกขึ้นมามันก็ต้องหาทางของมันจนได้ พอหาทางของมันจนได้พอมันลง เห็นไหม แล้วเวลามันถอนขึ้นมา ท่านบอกเวลาลุกตอนเช้า ถ้าวันไหนมันลงดีลงด้วยความสะดวก วันนั้นลุกแล้วเดินไปได้เลย วันไหนมันลงยาก วันไหนมันได้มีการต่อสู้นี่มันบอบช้ำเต็มที่ ถ้าลุกแล้วล้มเลย

ฉะนั้นเวลาจิตมันถอนออกมาแล้วนะต้องนั่งอยู่ แล้วเอาขาดึงออกไป ขานี่ดึงออกไปวางไว้ แล้วเอาขาข้างหนึ่งก็ดึงออกไปวางไว้แล้วนั่งเฉยๆ ให้เลือดลมมันหมุนก่อน ให้ร่างกายมันรับรู้ก่อน จนรับรู้เสร็จแล้วค่อยๆ ลุกขึ้น

นี่คนๆ เดียวนะ ! บางวันนะถ้ามันลงดี เห็นไหม ลุกเดินได้เลย เหมือนไม่ได้นั่งเลย ร่างกายปกติลุกไปเลย.. เราจะเทียบให้เห็นว่าทำไมเราแก่เฒ่า เราภาวนามาขนาดนี้ทำไมมันทุกข์มันยาก ทำไมมันไม่ลง ทำไมมันไม่ลง ฉะนั้นเจตนาตัวเดียวนะ เวลาเจตนาอย่างเดียวนี่เราเอามานะ เวลาเราไปสมบุกสมบั่น เวลาไปเจอวิกฤติมันจะน้อยใจนะ

เรานี่แปลก นิสัยของเรานิสัยมันแบบว่า จะบอกว่านิสัย.. ไม่ใช่อวดนะ นิสัยว่ามันจะสงสารหรืออย่างไรนี่ มีพระมาหาเยอะมาก แล้วบอกว่ามีความลำบากอย่างนั้น มีความลำบากอย่างนี้ เราก็พยายามจะไปช่วยตรงลำบากนั้นล่ะ แต่พอเวลาไปช่วยทีไรนะงูเห่า ! งูเห่า ! ช่วยงูเห่าทุกทีเลยมันกัดเอา เวลาช่วยเสร็จแล้วมันก็ย้อนมากัดหมับ ! ย้อนมากัดหมับ !

แปลก กิเลสเป็นอย่างนั้นจริงๆ นะ แต่เวลาใครมารำพันนะ มีมารำพันบอกว่านี่ลาออกจากงานเลย บวชเลย เต็มที่เลย เราก็เต็มที่นะ เต็มที่กับเขาเหมือนกัน แต่คนดีก็มี แต่พอเวลาถ้าเป็นงูเห่านี่เขาไม่คิดถึงเลยนะ เพราะว่าเราช่วยเหลือเขา.. คำว่าช่วยเหลือหมายถึงว่าเหมือนความรับผิดชอบ ความรับผิดชอบพอเขาบวชแล้วใช่ไหมเราก็ต้องพยายาม พยายามว่า

๑. ที่อยู่ที่อาศัย

๒. คอยชี้นำ

๓. ให้เขาหาที่ผ่อนคลาย คือเปลี่ยนสถานที่

เขาก็ไม่พอใจสักอย่างเลย ไม่รู้จะเอาอะไร นี่เจอสภาวะแบบนี้มาก็เยอะ.. นี่เราเห็นสภาวะแบบนี้เราก็กลับมาที่โยมนี่ไง โยมเขาถามว่าเขาอายุ ๘๐ กว่าแล้ว แล้วภาวนานี่ควรจะทำอย่างใด

เราชักออกมาข้างนอก เห็นไหม ปัญหานะ ถ้าคนๆ นั้นมีปัญหา แล้วเราก็แก้ปัญหานั้นนะ แก้กันไม่จบหรอก เราดึงปัญหาออกมา ดึงคนๆ นั้นออกมาจากปัญหาก่อน พอดึงคนนั้นออกจากปัญหาแล้วเรามาคุยกันว่าปัญหามันคืออะไร

นี่ก็เหมือนกัน คนนี้อายุ ๘๔ แล้วใช่ไหม แล้วก็บอกว่านี่ภาวนาไม่ลง แล้วบอกภาวนาไม่ลงก็ภาวนาเข้าไป พอภาวนาเข้าไปมันก็เอาหัวชนภูเขาไง แต่ถ้าเราดึงออกมาก่อน ดึงออกมา เห็นไหม ดึงออกมา

นี่เอาเรื่องหลวงตามาพูดให้ฟัง เอาเรื่องของผู้ที่มีความทุกข์ยากมาพูดให้ฟัง แล้วชีวิตเราก็ทุกข์ยากเหมือนกันล่ะทีนี้ เราก็เอาชีวิตเรามาเป็นตัวอย่าง เอามาเป็นตัวอย่างว่าเราก็ต้องวางให้หมดไง คนเรานี่นะ บางทีหนูมันช่วยราชสีห์ได้นะ เวลาราชสีห์มันติดบ่วง หนูนี่นะมันสามารถไปแทะกัดเชือกจนเชือกขาด ราชสีห์นั้นหลุดออกไปได้นะ

นี่ก็เหมือนกัน การภาวนาเรามุมานะของเราเต็มที่เลย มันมีเกร็ด มีความเป็นอยู่เล็กน้อย ถ้าจิตใจนี่นะ จิตใจนี่หนูกับราชสีห์ สติมันมี เห็นไหม สติมี ปัญญามี นี่เหมือนหนูไง หนูมันจะช่วยหัวใจเรา หัวใจที่ทุกข์ยากหนูมันจะช่วยราชสีห์ ตั้งใจ ! ตั้งใจ !

ฉะนั้นพูดถึงเจตนานี่ถูกต้อง เจตนาการกระทำถูกต้องทั้งนั้นแหละ แต่เราตั้งใจของเรา พอตั้งใจแล้วนี่มันทำซ้ำทำซากไง ทำซ้ำทำซาก หลวงตาสอนคำนี้ประจำ

“อย่าเสียดายอารมณ์ความรู้สึกของตัว”

นี่ตั้งเป้าไว้เลยเป็นอย่างนั้น แล้วก็กอดไว้เลย พอกอดไว้เลยนี่ราชสีห์มันโดนบ่วง บ่วงมันรัดไว้หมดแล้ว ราชสีห์มันติดบ่วงไง ดิ้นอยู่นั่นล่ะ ก็ตั้งเป้าไว้ไง ตั้งเป้าไว้นี่เสียสละชีวิตมาเลย มีเป้าหมายเต็มที่เลยแล้วจะได้สิ้นสุดเลย นี่ราชสีห์มันโดนบ่วง โดนบ่วงคือว่าสัญญามันมัด กิเลสมันเอานี้มาหลอกเรา นี่ถ้าหนูมันมาแทะเชือกนั้นให้ราชสีห์หลุดออกไปได้

สิ่งใดเราตั้งเป้าหมายไว้แล้ว แล้วไม่ต้องเอามาคาใจ ไม่ต้องเอามาคาในหัวใจ เราพยายามทำของเรา ทำในหัวใจของเรา.. นี่ไงเป้าหมาย เป้าหมายมันหลอกเราว่าเป้าหมายเป็นอย่างนั้น ทุกคนเวลานั่งนี่ตั้งเป้าไว้ก่อนเลย แล้วก็หัวทิ่ม หัวทิ่มทุกคนเลย ฉะนั้นตั้งเป้าหมายตั้งได้ไหม.. ได้ เพราะเป้าหมายเขาเรียกว่าอธิษฐานบารมี บารมีสิบทัศ !

เราตั้งใจจะทำคุณงามความดี ตั้งเป้าหมายไว้แล้ววางไว้นะ แล้วก็มาตั้งสติ มาล่อกันนี่แหละ ได้ไม่ได้นี่หนูตัวนี้มันมาช่วย ช่วยให้หัวใจดวงนี้หลุดออกไปได้ ถ้าไม่อย่างนั้นนะหนูตัวเล็กน้อย หนูมันจะมีประโยชน์อะไร หนูสกปรก หนูไร้สาระ หนูไม่มีความหมายอะไรเลย เป้าหมายกูสิสุดยอด นิพพานกูสุดยอดแล้วก็มัดใจไว้ รัดไว้อย่างนั้นล่ะไปไม่รอดหรอก แต่เวลาถึงที่สุดแล้วนะไอ้สติปัญญาของเรานี่แหละ สติปัญญา การเดินจงกรม นั่งสมาธิ ภาวนานี่แหละมันจะทำให้เราทำได้

ทีนี้เราทำไม่ได้เพราะเราไปยึดมั่นถือมั่นกับสิ่งเป้าหมาย เป้าหมายนี่เป็นอธิษฐานบารมี.. ดาบนี่นะ มีดนี่สองคม คมหนึ่งมันชำระกิเลส คมหนึ่งมันก็ทำร้ายเรา ถ้าเป้าหมายนี่ธรรมทุกข้อแหละ เหรียญมีสองด้านทั้งนั้นมีดีและชั่ว ในความดีก็มีความชั่ว ในความชั่วก็มีความดี นี้เราจะใช้มันให้เป็นประโยชน์กับเราหรือเป็นโทษกับเรา นี่ไงเราบอกว่าเราตั้งเป้าหมาย เราจะภาวนา จนเราจะสิ้นกิเลส นี้ก็เป็นความดีนะ ตั้งเป้านะแล้วมันก็เชือดคอเรา เชือดคอเราเลย.. ใช่เราตั้งเป้าไว้แล้วเราวางไว้ วางไว้แล้วทำของเรา

ฉะนั้นเวลาทำบุญกุศล เห็นไหม คนที่ทำบุญกุศลเขามีเจตนาของเขา เขาทำความดีของเขานะทำแบบทิ้งเหว ไม่ติดไม่ยึด แต่ของเรานี่เราทำความดีของเรานะ แล้วก็ไปนั่งทุกข์ที่บ้าน ทำบุญเสร็จแล้วกลับไปนั่งทุกข์ที่บ้าน เอ๊ะ.. ทำบุญแล้วจะได้บุญหรือเปล่าวะ (หัวเราะ) ก็ทำบุญไปแล้วมันกลับไปบ้านมันนอนก่ายหน้าผากเลย เอ๊ะ.. ทำบุญแล้วจะได้บุญหรือเปล่าวะ เปิดตำราทันทีเลยนะ ตำราร้อยตำราก็เขียนไปร้อยอย่างนะ ไอ้นั่นทำบุญอย่างนั้น ไอ้นี่ทำบุญอย่างนี้

เราทำบุญนี่นะ เรามีนะคนที่ฉลาด เวลาพระเทศน์ว่าทำบุญจะได้อย่างนั้นๆ เวลาเราเทศน์เขามาหาเราเลยนะ “หลวงพ่อ จะได้อย่างนั้นจริงๆ เหรอ.. จะได้อย่างนั้นจริงๆ เหรอ” เราบอกว่าตำราเขาสอนไว้อย่างนั้น จริงหรือไม่จริงตอนที่ในพระไตรปิฎกพูดอย่างนั้นมันเรื่องจริง เรื่องจริงเพราะอะไร เพราะมันยังไม่มีสิ่งใดเป็นรูปแบบให้ไปก๊อปปี้ได้

ฉะนั้นคนทำตอนนั้นมันได้จริงทั้งนั้นแหละ แต่พอเรา เห็นไหม ดูสิถ้าไม่มีรางวัลที่ ๑ เราก็ไม่รู้ว่ารางวัลที่ ๑ คืออะไร พอเราเห็นมีรางวัลที่ ๑ ปั๊บทุกคนก็อยากได้รางวัลที่ ๑ แล้วก็จะเอารางวัลที่ ๑ มันไปก๊อปปี้มันก็เป็นสัญญาแล้ว จะทำให้ได้แบบนั้นๆ ค่ามันก็เลยต่ำไป แต่ถ้ามันไม่มีสิ่งใดแล้วเราทำของเราเลย มันจะเป็นประโยชน์กับเราเอง ประโยชน์กับเราเอง อันนี้ต่างหากล่ะ

นี่เขาถาม เขามาถามเรานะลูกศิษย์นี่ เขาถามว่าที่พระโฆษณาว่าทำอย่างนั้นแล้วจะได้เกิดเป็นเทวดา จะได้วิมงวิมาน เขาถามเราว่า “หลวงพ่อจะได้อย่างนั้นจริงไหม” เราบอกในพุทธกาลจริง ! ทุคตะเข็ญใจ เห็นไหม ที่มาไถนาๆ อยู่นั่นน่ะ เรายกเรื่องนี้ประจำเพราะอะไร เพราะมันเป็นเรื่องจริง นี่ทุคตะเข็ญใจมาไถนา แล้วที่บ้านต้องมาส่งอาหารแต่เขามาช้า หิวมาก ถ้ามานี่เดี๋ยวต้องมีปัญหาแน่นอนเลย

สุดท้ายแล้วโกรธจนว่าถ้ามานี่ต้องมีปัญหา พอมา.. เราจำไม่ได้ชัดเจนแล้วว่าเป็นพระสารีบุตรหรือพระกัสสปะออกจากสมาบัติมา พอดีที่บ้านเขามาส่งอาหารพอดี จิตใจมันคิดถึงนะ มันมีศรัทธาก็ถวายไปหมดเลย ถวายไปเท่ากับถวายชีวิตนะเพราะไม่กินนี่ช็อกตายได้ พอถวายไปปั๊บก็ให้พร พอไปแล้วก็กลับชุ่มชื่นด้วยบุญ ทั้งๆ ที่หิวข้าวนี่แหละมันชุ่มชื่นด้วยบุญ ลงไปไถนาดินพลิกขึ้นมาเป็นทองคำหมดเลย

พอเป็นทองคำหมดเลยนะ โอ้โฮ.. เพราะสมัยโบราณมันเป็นคนจน มีทองคำก้อนหนึ่งเอาไปนี่โดนจับแน่นอนเลย เขาว่าขโมยใครมา เพราะทุคตะเข็ญใจจะมีทองคำได้อย่างไรก็ตัวเองก็ไม่กล้าหยิบ นี่คนมีปัญญาไงก็ไปเฝ้าพระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าพิมพิสารเป็นพระโสดาบัน บอกมีทองคำ นี่ไถนาไปดินพลิกออกมาเป็นทองคำ

ไปพูดกับคนอื่นคนอื่นจะเชื่อไหม ไม่มีใครเชื่อหรอก แต่พระเจ้าพิมพิสารเชื่อ พอเชื่อก็ให้มหาดเล็กให้ทหารเอารถไปเข็นว่าทองคำมีเท่าไร มี ๘๐ เล่มเกวียน ก็เอาเกวียนไป พอจะไปเอาทองขึ้นมา ทหารไปหยิบขึ้นมา ยกทองคำขึ้นมากลายเป็นดินอย่างเก่า ยกทองคำขึ้นมากลายเป็นดินอย่างเก่า ก็กลับมาบอกพระเจ้าพิมพิสารบอกว่าไปแล้วเจอทองคำ พอยกขึ้นมาเป็นดินหมดเลยเพราะมันพลิกมาจากดิน

พระเจ้าพิมพิสารเป็นพระโสดาบัน เห็นไหม บอกว่าเธอกลับไปใหม่ ไปบอกเขา ไปตั้งเจตนาที่นั่นบอกว่ามาเอาทองคำของทุคตะเข็ญใจนี้ ไม่ใช่เอาทองคำของพระเจ้าพิมพิสาร ไม่ใช่เอาทองคำของใคร ยกขึ้นมาเป็นทองคำอย่างเก่า ยกขึ้นมาเป็นทองคำอย่างเก่าก็เอามากองไว้ที่นครราชคฤห์ ๘๐ เล่มเกวียนนะ ก็เลยตั้งให้ทุคตะเข็ญใจนี้เป็นเศรษฐีประจำรัชกาล จากคนรับจ้างไถนาไม่ใช่เจ้าของนา รับจ้างไถนา

นี่ไงเขาทำของเขาด้วยเจตนาของเขา อันนี้แหละที่มันเป็นให้ชาวพุทธมาฝังใจว่าทำบุญจากพระที่ออกจากสมาบัติแล้วมันจะรวยเร็วๆ ไง ไอ้ที่ว่าทำบุญกับพระออกจากสมาบัติๆ ก็มาจากนี่แหละ แต่มันไม่ได้หลอกทำบุญกับพระออกจากสมาบัติจะได้บุญมากๆ ก็มาจากตรงนี้ ! อยู่ในพระไตรปิฎก นี่พูดถึงมีคนเขามาแย้งกับเรานะ เพราะอะไร เพราะพระนี่เวลาพูดอะไรออกไปเขาก็มาถามเราเพราะเราก็เป็นพระ แล้วทำไมเราต้องรับผิดชอบพระทั้งประเทศไทยวะ ก็มันไม่ใช่หน้าที่กูนี่หว่า แต่เขาก็มาถามมาถามนะ

อันนี้มายกให้เห็นว่าถ้าเราไปสัญญา เราควรทำอย่างนั้นเหมือนกัน เพราะเขาทำแล้วได้ดีเราก็อยากทำความดี แต่ผลไง ผลเพราะอะไร เพราะเราทำเพราะเราอยากได้ไง แต่ทุคตะเข็ญใจนั้นเขาไม่รู้อะไรเลยนะ เขาไม่รู้อะไรเลย เขามีแต่ความศรัทธา แล้วเขาก็ทำของเขาด้วยเจตนาบริสุทธิ์ เขาไม่รู้ว่าเขาจะได้อะไรตอบแทน แล้วมันได้มาตามข้อเท็จจริง แต่เราเห็นเขาทำแล้วเราอยากได้ มันแตกต่างกัน เห็นไหม แต่เราก็ทำตามเขานั่นแหละ

ฉะนั้นพูดถึงเวลาที่ว่าราชสีห์เราก็อยาก เราอยากเป็นพระอรหันต์ เราอยากให้จิตเราสงบ เราอยากทุกอย่างแหละ เราอยาก แต่ไอ้อยากอันนี้นะโดยหลักแล้วมันเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ โดยธรรมชาติของจิตมันมีความอยาก จิตใต้สำนึกมันมีของมันอยู่ อันนี้เราปฏิเสธไม่ได้ เพราะเราปฏิเสธไม่ได้เวลาเราทำถึงลำบากอยู่นี่ไง แต่ถ้าเราตั้งสติของเรานี่เราแก้ไขของเรานะ

เราอยากในเหตุ พระพุทธเจ้าสอนอยากในเหตุ อยากเดินจงกรม อยากนั่งสมาธิภาวนา แล้วคิดอย่างนี้เป็นไหม พออยากแล้วนี่ โทษนะ.. ได้ก็ช่าง ไม่ได้ก็ช่าง ถ้าใจจริงประสาเราก็จะบอกว่าได้ก็ช่างแม่ง ไม่ได้ก็ช่างแม่งอะไรอย่างนี้ แต่พูดไม่ได้ ได้ก็ช่าง ไม่ได้ก็ช่างเลยล่ะ เดินจงกรมแม่งไปเลย ได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ไม่ได้ล่ะ ดูซิมันจะได้ไหม เราสู้มันเต็มที่ ไม่ต้องไปอยากอะไรทั้งสิ้น นี่พูดถึงอย่างนี้มันถึงจะได้

นี่พูดถึงเพราะเวลาอ่านปัญหาแล้วมันสะเทือนใจ มันสะเทือนใจเพราะมีคนมาปรึกษาเรื่องนี้เยอะ แล้วคนที่มาปรึกษาเรื่องนี้นะเออรี่ออกมาทั้งนั้นล่ะ จะกลับก็กลับไม่ได้ แล้วออกมาแล้วเจอปัญหานี้เยอะ เราไปบ้านตาดก็มีคนมาปรึกษาปัญหานี้แหละ มีคนมาปรึกษาปัญหานี้ แล้วนี่ก็เจอปัญหานี้ ภาษาเรานะเขาเออรี่ออกมาแล้ว เขาเสียสละหน้าที่การงานเขามาแล้ว ด้วยเจตนาที่ว่าอยากจะพ้นจากทุกข์ แล้วมาปฏิบัติแล้วมันก็เป็นอย่างนี้ เป็นอย่างนี้ปั๊บก็ต้องสู้กัน

ปัญหาเราเจออย่างนี้แล้วเราพยายามจะช่วยเหลือกันนะ แล้วจะให้แก้อย่างไรล่ะ ก็แก้อย่างที่พูดนี่.. แก้อย่างที่พูดนี้ อย่างที่พูดคือว่าวางใจให้ได้ ถ้าภาวนาแล้วเรามาอยู่วัดอยู่วา เราจะปฏิบัติคุณงามความดีแล้ว ถ้าเราทำความดีแล้วมันไม่ถึงที่สุด หรือถ้ามันไม่ถึงที่สุดเราก็ได้ทำสุดความสามารถของเราแล้ว ดีกว่าเราไม่ได้ทำสิ่งนี้ ถ้าเราอยู่ทางโลกเราก็จะเลี้ยงลูกเลี้ยงหลานไปอย่างนั้น เที่ยวรับผิดชอบเลี้ยงลูกเลี้ยงหลานไป แล้วเราเสียสละออกมาเราเห็นแก่ตัวไหม เราผลักภาระเรื่องลูกหลานเราให้ลูกหลานเราเขาดูแลกันเองไหม

ถ้าเราอยู่อย่างนั้นมันก็เป็นความดีในครอบครัว ในตระกูลของเรา แต่เราสละชีวิตออกมาเพื่ออยู่ของเรา เพื่อภาวนาของเรานี่มันเป็นผลของวัฏฏะ ไม่ใช่ครอบครัวของเรา เพราะจิตนี้มันจะไปเกิดในข้างหน้า กามภพ รูปภพ อรูปภพ เกิดในเทวดา ในอินทร์ ในพรหม ในนรกอเวจี เห็นไหม นี่มันรับผิดชอบมันสูงส่งกว่าไหม แต่โลกเขามองว่าเห็นแก่ตัว

ถ้าว่าเห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัวหรือไม่เห็นแก่ตัวนั้นเพราะว่าความคิดแบบกิเลสไง แต่ความคิดของเรานี่เราปฏิบัติไป ผลจะได้หรือไม่ได้เดี๋ยวเราจะรู้ของเรา แล้วถ้าผู้ทรงศีล ผู้จำศีลอยู่ในวัด เวลาเวียนตายเวียนเกิดมันต้องมีคุณสมบัติที่จิตนั้นมีโอกาสได้มากกว่า นั่นคือสมบัติของจิตดวงนี้ ฉะนั้นได้หรือไม่ได้ไม่สำคัญ พอเราไม่สำคัญปั๊บจิตนี้มันก็จะสบาย จิตนี้มันก็จะไม่โดนกิเลสเหยียบให้ฟุบไง

เขาเรียกว่าจิตฟู จิตแฟ่บ กิเลสเหยียบจนแฟ่บเลยแล้วก็พยายามภาวนากันหัวชนฝา แต่ถ้าจิตของเรามันเป็นธรรมชาติของมัน ได้หรือไม่ได้ก็ช่างหัวมัน ปัจจุบันนี้อยู่ในวัดในวาเป็นผู้ทรงศีล มันเป็นที่เคารพบูชาของเทวดา อินทร์ พรหมแล้ว ฉะนั้นสิ่งนี้มันมีคุณสมบัติในตัวของมันอยู่แล้ว เพียงแต่เวลาแดดมันร้อนๆ หน่อยเท่านั้นแหละ (หัวเราะ) เวลาแดดมันร้อนก็ร้อนหน่อย แต่คุณสมบัติมันเป็นของมันอยู่แล้ว

เวลาเรื่องอย่างนี้หลวงตาท่านพูดนะ “ไฟนรกมันร้อนกว่านี้” เวลาเราเจอความร้อนความเย็นนี่เราหวั่นไหว แต่ขณะที่เราไปตามจิต จิตที่มันไปสถานะนั้น ดูสิไฟนรกนะ นี่จิตวิญญาณที่ลงไปเกิดในนรก แล้วไฟนรกมันเผา เผาจนละลายหมดเลยนะ แล้วก็เป็นจิตขึ้นมาใหม่เพราะมันไม่ตาย ยังไม่หมดกรรม

มันเผาจนละลายเลยนะ แล้วก็เป็นคนนั้นขึ้นมาอย่างเดิม แล้วก็เผาจนละลายไปนะ แล้วก็เป็นคนนั้นขึ้นมาอย่างเดิม ไม่มีวันตายจนกว่าจะหมดกรรม ไปเจอไฟอย่างนั้นจะรู้จัก เจอความร้อนอย่างนี้เราก็ยังว่าร้อน ไปเจอความจริงเข้าแล้วจะรู้ว่าความจริงมันเป็นแบบใด ฉะนั้นเรายังไม่ต้องไปเจอความจริงนั้น เราพยายามรักษาใจเราให้รอดจากความจริงนั้น รอดกับสิ่งที่มันจะให้ผลอันนั้น รอดไปให้หมด อันนี้เป็นความจริงของเรา

นี่พูดถึงว่า เขาบอกว่าให้วิธีแก้อย่างไร แก้อย่างที่พูดให้ฟังนี้แล้วเนาะ ! นี้ปัญหาเดียว ยังมีปัญหาอีกเยอะไปข้างหน้าก่อน

ถาม : ๓๔๐. เรื่อง “จิตหวนคิดถึงอารมณ์ธรรมที่เคยสัมผัสตลอด วางความคำนึงนี้แล้วเข้าถึงจิตแบบนี้ไม่ได้อีกเลย ขอความเมตตาจากอาจารย์ชี้แนะด้วยครับ”

หลวงพ่อ : นี่คือคำถามนะ โอ้โฮ.. ยาวเหยียดเลย

ถาม : ขอเล่าการปฏิบัติที่เป็นผลให้อาจารย์ฟังก่อนครับ คือผมจับลมหายใจไปเรื่อยๆ มันขี้เกียจคิดอะไร มันก็นอนหายใจแบบเบื่อโลก “ทำไมมันปวดวะ” พูดในใจของเราเอง รู้ลมหายใจของเราเอง เบื่อความปวดนั้น พูดหยาบในหัวใจ คิดว่ามันปวดทำไมมันถึงปวดขนาดนี้ (เขาบอกว่าเขาป่วยไง)

“เออ.. ไอ้ทุกข์ มันอยู่ของมันนี่หว่า กายนอนอยู่อย่างนี้” (แขนเขาหักนะ เขาบอกแขนเขาหัก) “มึงปวดกูไม่เห็นปวดเลย” มันก็หมุนย้อนพิจารณาไปมา เออ.. นี่กาย ! นี่ปวด ! นี่กู ! ย้อนไปมาอย่างนี้ จิตรวมพั่บ ! กายลงไปกองอยู่ ทุกข์แยกทวีปออกจากจิต สักแต่ว่ารู้อยู่ไม่สนใจอะไรเลย กายกองอยู่ ทุกข์แยกออกต่างหาก จิตไม่หมายหาเจ้าของ จิตรู้ๆๆ สติเต็มเปี่ยม รู้ไม่มีหมายตัวตน บรรยายเป็นคำพูดไม่ได้เลย ประจักษ์ใจ

พอจิตถอนมันบอกตัวเองว่า “นี่เองจิตไม่มีทุกข์เจือปนใดๆ เลย” บรรยายเป็นคำพูดไม่ถูก มันมหัศจรรย์อย่างยิ่ง แล้วมันยกอาการกระเพื่อม ในการไม่พอใจในอาการปวดออกมาพิจารณา เห็นเป็นอาการกระเพื่อมที่จิตไปยินดียินร้ายกับทุกข์อันเนื่องมาด้วยกาย

หลังจากวันนั้นมา นี่แหละสุขที่มีมาในโลกนี้มันไม่มีความหมายใดๆ เลย นี้มันทุกข์ล้วนๆ จริงๆ แล้วพระพุทธเจ้าพูดจริง สอนของจริง สมาธิจริง ไอ้ที่ว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา มีอาการเป็นแบบนี้นี่เอง เป็นความรู้ประจักษ์ใจ (หลังจากนั้นหายปวดแขนโดยมหัศจรรย์ ใจสบายโล่งไปหลายวัน นั่งดูนกดูไม้อย่างมีความสุขแบบไม่มีมาก่อนเลย) จากนั้นก็กลับกลายเป็นเนื้อเดียวกัน เป็นกูเต็มๆ อย่างเดิม !

หลวงพ่อ : เขาพูดเองนะ (หัวเราะ)

ถาม : จากนั้นมันก็เป็นเนื้อเดียวกัน เป็นกูเต็มๆ อย่างเดิม.. หลังจากนั้นก็มีความคิดแปลกแยกกับกาย พยายามพิจารณาอารมณ์ของจิตในใจตลอด มันคิดเรื่องกายภายในหัวตลอดมา และนึกถึงจิตที่ได้สัมผัสความสงบตลอดมา วางความคำนึงถึง วางความสงบนั้นลงไม่ได้ แต่ก็ไม่สามารถเข้าถึงความสงบละเอียดขนาดนี้ได้อีก คราวนี้ไอ้จิตที่ไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองมันก็มายุ่ง มันเลยเห็นว่ามึงนี่ยุ่งจริงๆ

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมากระผมรู้สึกว่า สิ่งที่สัมผัสถึงความสงบแบบนั้นเป็นหลักใจให้ปฏิบัติทาน ศีล ภาวนา เรียกได้ว่าอะไรที่พระพุทธเจ้าสอนให้กำหนดใจทุ่มทั้งชีวิตเลย ด้วยความเชื่อมั่นจากความมหัศจรรย์ของจิตที่ได้สัมผัส แต่ ! ที่เป็นอุปสรรคไม่สามารถทำให้จิตสงบได้อีก เพราะจิตมันฟุ้งซ่านไปคิดคำนึงถึงความสงบละเอียดที่เคยสัมผัสมา ผมควรปฏิบัติอย่างไรครับ

หลวงพ่อ : นี่อันนี้อย่างที่พูดเมื่อกี้เลย เวลาคนเขาไถนา เขาทำของเขานี่เขาทำของเขาด้วยไม่มีเป้าหมายไง เขาทำของเขาด้วยเจตนาบริสุทธิ์ของเขา

เวลาภาวนามา เพราะว่าเขาบอกว่าเขาประสบอุบัติเหตุ แขนเขาหักแล้วมันปวดมากๆ เขาบอกว่ามันไม่มีทางออก เขาก็ต้องพิจารณาปวดนั้นไป พิจารณาปวดเพราะมันไม่มีทางออก คำว่าไม่มีทางออกแล้วพิจารณาไป โดยที่ว่าเหมือนกับเราคนจนตรอกแล้ว เพราะเวลาถึงที่สุดแล้วถ้าจิตมันปล่อยวางได้ มันก็มีอาการแบบนี้.. เวทนาไม่ใช่เรา เราไม่ใช่เวทนา กายไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย ความเห็นของเขาเป็นอย่างนั้นแล้วจิตมันลงได้

ความลงได้เพราะอะไร ความลงได้อย่างนี้เพราะจิตของเรามันยังไม่สงบ มันยังไม่เป็นสมาธิพอ อย่างเช่นนักบวชเรานี่นะ ผู้ที่ปฏิบัติเราทำความสงบของใจเข้ามาก่อน พอใจมันสงบแล้วเราออกพิจารณากาย เวลาใจสงบแล้วบางทีมันพิจารณาไม่ได้ เพราะมันไม่รู้จะพิจารณาอะไร อย่างสมมุติถ้าเราสงบไปแล้วนะ แต่คนนี้คนป่วย คนนี้คนป่วยเขาจนตรอก เขาไม่มีทางออกอยู่แล้ว ฉะนั้นเขาพิจารณาเวทนาเข้ามาเลย เขาพิจารณาโดยเนื้อหาสาระเข้ามาเลย ถึงที่สุดแล้วเวลาเขาปล่อย

ปล่อยคืออะไร ปล่อยคือสมถะไง เพราะใจเขาไม่มีความสงบมาก่อนใช่ไหม เพราะเขาเป็นคนป่วยใช่ไหม แต่อย่างพวกเราพวกนักบวช พวกเราปฏิบัติ เราทำความสงบของใจเข้ามาก่อน พอใจมันสงบแล้ว พอใจสงบแล้วใจมันออกพิจารณากาย พอพิจารณากายมันเป็นวิปัสสนา

นี่ไงถ้าจิตสงบแล้วจะไปวิปัสสนา ถ้าจิตยังไม่สงบ ความสงบนั้นเป็นสมถะ.. ที่ว่าพุทโธ พิจารณากาย พิจารณาอะไรก็แล้วแต่ ใช้ปัญญาขนาดไหน ผลของมันคือสมาธิทั้งหมด ของๆ มันคือสมถะทั้งหมด ถ้าผลของมันคือสมถะแล้ว จากสมถะแล้วจะยกขึ้นวิปัสสนา ถ้าวิปัสสนาไปแล้วนี่มันพิจารณาของมันไป

นี่พูดถึงผลของมันก็เป็นสมาธิใช่ไหม สมาธิอย่างหยาบ สมาธิอย่างกลาง สมาธิอย่างละเอียด ฉะนั้นพอเป็นสมาธิอย่างละเอียดแล้วอันนั้นมันดีมาก ดีมากเพราะว่ามันเป็นปัจจัตตัง มันเป็นสันทิฏฐิโก.. ใจของใครก็แล้วแต่ ถ้าปฏิบัติแล้วเจอสิ่งสภาวะแบบนี้นี่พูดกันรู้เรื่อง พูดกันง่าย คนอย่างนี้ฟังเทศน์เป็น เวลาครูบาอาจารย์พูดนะ โอ้โฮ.. ใช่เลย ! ใช่เลย ! แต่ถ้าคนภาวนาไม่เป็น เวลาพูดไปนะเขาจินตนาการไปอีกเรื่องหนึ่ง ครูบาอาจารย์ท่านพูดอีกเป้าหมายหนึ่ง

ที่ปัจจุบันนี้ที่มีปัญหาในวงการปฏิบัติเป็นอย่างนี้ เป็นที่ว่าครูบาอาจารย์ที่เป็นธรรมท่านก็พูดภาษาธรรม ไอ้คนฟังนี่มันฟังภาษาโลก ภาษาโลกคือภาษาวิทยาศาสตร์ ภาษาที่ความรู้สึกของตัว มันเอาภาษาโลกไง ภาษาที่ความเห็นของตัวไปจับภาษาธรรม คือมันพูดกันคนละภาษาแต่มันรู้เรื่องกันนะ เพราะอะไร เพราะสมมุติอันเดียวกัน อย่างเราคนละภาษานี่พูดกันไม่รู้เรื่องหรอก คนละภาษาก็ต้องเป็นคนละภาษา แต่ก็พูดเรื่องนั้น

นี่ก็เหมือนกัน ครูบาอาจารย์ท่านเป็นธรรมท่านพูดภาษาธรรม.. ภาษาธรรมก็พูดว่า เวลามันปล่อยขึ้นมาเป็นอย่างนั้นๆ ไอ้ภาษาโลกเวลามันปล่อย ปล่อยก็สร้างอารมณ์ปล่อย เห็นไหม ภาษาโลกเป็นวิทยาศาสตร์เพราะพิสูจน์ได้ไง ก็มันปล่อยอย่างนี้ไง มีผู้ปล่อย มีผู้รับรู้ มันพูดไปหมดเลยแต่เป็นภาษาโลก นี้ภาษาธรรม.. ที่มีปัญหากันอยู่ในปัจจุบันนี้ในวงปฏิบัติอยู่ตรงนี้ ! ตรงที่วุฒิภาวะของลูกศิษย์มันถึงหรือยัง วุฒิภาวะของมันเข้าใจธรรมะหรือยัง

ถ้ายังไม่เข้าใจธรรมะ เวลาครูบาอาจารย์ท่านสอน เห็นไหม อย่างพระพุทธเจ้าสอนนี่อนุปุพพิกถา พูดถึงทาน ศีล เรื่องเนกขัมมะ ก็พูดให้โลกเข้าใจ ถ้าโลกเข้าใจแล้ว พอพิจารณาอริยสัจแล้วมันจะเข้ามาสู่นี่แล้วเข้ามาพิจารณากาย พิจารณากาย.. ทีนี้พอพิจารณากายๆ เหมือนทางโลกเลยจ้างเขาทำงาน

นี่ก็เหมือนกัน เวลาพิจารณากายก็จ้างความคิดทำงาน เราไม่ได้ทำนะ เวลาเป็นสมาธิคือสมาธิแพะ ! ถ้าสมาธิจริงๆ ก็คือตัวมันเป็นสมาธิ ไอ้นี่สมาธิที่ความคิดไง สมาธิที่ความว่าง ว่างๆ คือสมาธิ ก็เอาสมาธิไปแขวนไว้ที่ว่างๆ แต่กูไม่มีสมาธินะแต่กูว่างๆ เพราะอะไร เพราะความคิดมันว่างได้ ความคิดมันฟุ้งซ่านได้ ความคิดมันก็ว่างได้ ก็เอาสมาธิไปแขวนไว้ที่มันก็เป็นสมาธิแพะ ไม่ใช่สมาธิจริงอีก แล้วเวลาปฏิบัติไปก็เอาแพะไปปฏิบัตินะ เอาความคิดไปปฏิบัติมันไม่ใช่ความจริงของมัน แต่ถ้าเป็นนักบวชเรานี่สงบเข้ามาก่อน สงบเข้ามาก่อน นี่อย่างนี้สงบแล้ว

นี่พิจารณากายๆ ที่ว่ามหัศจรรย์ๆ มันจะมหัศจรรย์มากกว่านี้ ถ้าจิตมันลงไปนะมันมหัศจรรย์มากกว่านี้.. ถ้ามหัศจรรย์มากกว่านี้ เราทำของเราต่อไปแล้วมันจะไม่ได้อย่างเก่าอีกเลย ไม่ได้อย่างเก่าก็เหมือนเมื่อกี้นี้ เพราะมันไปยึดนึกคิดอันเดิมนั้น

เราเสียดาย เห็นไหม คนแก่นี่เสียดายตอนเป็นวัยรุ่นไม่อยากแก่ คนแก่นี่เสียดายตอนวัยรุ่น ฉะนั้นพอแก่มาแล้วเราเสียดายความเป็นวัยรุ่นใช่ไหม ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ความคิดหนึ่งมันก็อารมณ์ความรู้สึกหนึ่ง มันก็เหมือนตอนเด็กๆ แล้วพอพัฒนาขึ้นมามันก็จะโตขึ้นมาๆๆ เราก็ไม่ยอมโตนะ ไปคิดแต่อารมณ์นั้นน่ะ จะไม่ยอมแก่ไง จะเป็นวัยรุ่นตลอดชีวิต มันเป็นไปไม่ได้มันต้องแก่ พอมันต้องแก่ เพราะมันยิ่งแก่มันยิ่งมีวุฒิภาวะนะ

ผู้เฒ่าผู้แก่ประจำหมู่บ้านชาวบ้านเขาเคารพนะ ใครมีปัญหาเขาจะเรียกผู้เฒ่า ผู้เฒ่านี่มาไกล่เกลี่ย ผู้เฒ่ามาไกล่เกลี่ยเพราะเขาเคารพผู้เฒ่า เพราะผู้เฒ่าผ่านโลกมานานรู้ถูกรู้ผิด จิตใจของเราจะเป็นผู้เฒ่าไปข้างหน้า มันไม่ยอมไป พอไม่ยอมไปมันก็ไปติด เห็นไหม พอไปติด.. แต่เป็นอุปสรรคที่ไม่สามารถทำให้จิตสงบได้ เพราะจิตฟุ้งซ่านไปคิดถึงแต่ตอนที่มันละเอียด มันไม่ยอมแก่ มันจะเป็นวัยรุ่นตลอดชีวิตไง

ฉะนั้นสิ่งใดที่ผ่านไปแล้วปล่อย อันนี้มันเป็นคุณสมบัติ คุณสมบัติที่ว่าดี ดีที่จิตได้สัมผัส จิตได้สัมผัสแล้วก็วางไว้ พอวางไว้เราก็ทำของเราต่อไปข้างหน้า ต่อไปข้างหน้านี่ตั้งสติ สิ่งที่เกิดขึ้นมานี่นะ เวลาทำเองนี่ทำไม่ได้ เวลาทำเองนี่ทำไม่ได้.. แต่ที่ทำได้นี้เพราะความเจ็บไข้มันบังคับ มันหนีไม่ได้มันถึงสู้ สู้จนเป็นอย่างนี้ไง

อย่างที่พูดเมื่อกี้ว่าสัจจะ ! สัจจะ ! ถ้าผู้มีสัจจะ เห็นไหม ทำอะไรก็ทำจริง แล้วมันจะได้ผลจริง ถ้าเรามีสัจจะนี่เราสู้จริงแล้วจะได้ผลจริง อันนี้เขาต้องสู้เพราะว่าความเจ็บไข้ได้ป่วยนั้นบังคับ เพราะหนีไม่รอด เพราะพิจารณาความเจ็บไข้ได้ป่วย ความปวดอันนั้นมันถึงเห็นความจริงขึ้นมา

นี่ไง ! นี่ไงถ้ามันทำจริงมันได้จริง เห็นไหม นี่ขนาดที่ว่ามันไม่มีทางหนี มันต้องเผชิญหน้า แล้วพอเผชิญหน้ามันถึงได้ผลอันนี้ออกมา ถ้าได้อันนี้ออกมาแล้วเราทำต่อไป ฉะนั้นมันต้องวิกฤติขนาดนั้นเหรอ วิกฤติขนาดนั้น.. วิกฤติหมายถึงว่าจิตมันจะลงลึกขนาดนั้น มันจะได้ประโยชน์ขนาดนั้น

“กระผมควรปฏิบัติต่อไปอย่างไรครับ”

ปฏิบัติต่อไป ปฏิบัติกำหนดพิจารณาสติปัฏฐาน ๔ พิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม แล้วพิจารณาพุทโธ ใช้พุทโธแล้วทำให้จิตสงบ เพราะคำว่าพิจารณานี่นะมันต้องจิตสงบก่อน ถ้าเราไม่สงบเราจะเอาอะไรมาพิจารณา ฉะนั้นทำความสงบของใจขึ้นมาแล้วค่อยมาพิจารณาใหม่

สิ่งนี้เพราะอะไรรู้ไหม เพราะว่าตอนนี้นะมีคนๆ หนึ่งมีเงินอยู่ ๕ บาท พอใช้เงินนั้นหมดแล้วมาถามว่าหลวงพ่อทำอย่างไร ไอ้นี่ก็เหมือนกันมันภาวนาผ่านไปแล้วไง แล้วถ้าเวลาแก้นะก็จะไปเอา ๕ บาทนั้นกลับคืนมา ก็เอ็งใช้หมดไปแล้ว เงินมีเท่าไรมันใช้หมดไปแล้วใช่ไหม การพิจารณาต่อไปก็คือหาเงินก่อน แล้วได้เงินแล้วเราค่อยมาใช้กันใหม่

นี่ก็เหมือนกัน ทำอย่างไร ! ทำอย่างไร ! ไอ้เงิน ๕ บาทคืออารมณ์ที่ผ่านมา คือพิจารณากายมันปล่อยวางหมดแล้วนะวางไว้ ไม่เกี่ยวแล้ว คือเราใช้มาแล้ว เราผ่านมาแล้ว เป็นอดีตมาแล้ว วางแล้วแล้วเอาปัจจุบันนี้ เอาปัจจุบันนี้ตั้งสติ ตั้งสติแล้วกลับมาพุทโธก็ได้ พิจารณาความเจ็บความปวดอะไรก็ได้ พิจารณาเวทนาก็ได้ ถ้ามันสงบแล้วนะรักษาไว้จนชำนาญในวสี รักษาไว้

รักษาไว้คือตั้งที่เหตุนั้น มันสงบเข้ามาอีก สงบอย่างที่ว่าละเอียดนั่นแหละ แล้วออกใช้พิจารณา ออกพิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม หัดทำอย่างนี้ ! หัดทำอย่างนี้.. หลักเป็นอย่างนี้ แต่วิธีการ อุปสรรค หรือจริตนิสัยของคนมันแตกต่างหลากหลาย แล้วค่อยๆ ทำไปมันจะได้ผลกับเรา

ใครจะเดินหน้า ใครจะเป็นพระอรหันต์ไปทั้งโลกแล้วก็ช่างเขา เราจะอยู่ของเราคนเดียว เราจะไม่เป็นพระอรหันต์ เราก็จะปฏิบัติพิจารณาของเราไป ไอ้คนที่มันไปข้างหน้าเป็นพระอรหันต์หมดแล้วสาธุ.. ให้มันเป็นไป เราไม่ตามคนบ้าแล้วกัน อรหันต์บ้าให้มันไปก่อน เราอยู่ของเรา ไม่อย่างนั้นมันละล้าละลังไง เขาเป็นอรหันต์ทั้งโลกแล้วเรายังไม่ได้เป็นเลย อู้ฮู.. มันจะรีบไง มันทำให้เราเสียหายนะ โ

ลกนี้เขาจะเป็นพระอรหันต์ทั้งโลก เชิญเลยสาธุ.. ให้มันไปซะ แล้วเราปฏิบัติของเรา เราเอาความจริงของเรา นี่ทำความสงบของใจของเรา แล้วพิจารณาของเรา เอาความจริง เอาข้อเท็จจริงของเรา มันเป็นปัจจัตตัง มันเป็นสันทิฏฐิโก ให้ปฏิบัติอย่างนี้

 

ข้อ ๓๔๑. อันนี้เวลาคนที่เขาเห็นแก่เราเขาก็เขียนมาอย่างนี้ไง

ถาม : นมัสการหลวงพ่อครับ อาจารย์ตายไปแล้วแล้วใครจะสานต่อ หนูอยากให้หลวงพ่อสานต่อ หนูคิดว่าคนเป็นล้านจะร่วมบุญกับหลวงพ่อ

หลวงพ่อ : ข้อ ๓๔๑. คนคิดด้วยจิตบริสุทธิ์ คิดด้วยความไร้เดียงสา หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ของเรานี่เป็นความจริงนะ แล้วท่านอยู่กับโลก ท่านรู้ว่าโลกนี้มันดาบสองคม การทำความดีมันก็ต้องมีหลักมีเกณฑ์ของมัน ไม่ใช่เราคิดว่าเรามีดีเหมือนเศรษฐีบ้า มีเงินก็จะอวดเขานี่ตายหมดเลย เศรษฐีถ้าเขามีหลักของเขา เขามีเงินขึ้นมาเขารู้จักใช้สอยของเขา เขาเอาเงินของเขาเป็นประโยชน์ได้นะ

นี้ไม่ได้ติเตียนใคร นี่เพียงแต่ว่าเขามีความเห็นอย่างนี้ เวลาเขาเขียนมาเรารู้เลยนี่ คนถ้าเขาฟังธรรม หรือเขาฟังสิ่งใดแล้วเขาเป็นประโยชน์เขาจะคิดอย่างนี้ อย่างเช่นเรานี่เราหิวกระหาย แล้วเราได้ดื่มน้ำดื่มท่าที่ไหนที่มันสดชื่น เราก็อยากให้คนอื่นได้ดื่มกันอย่างนี้ แต่ ! แต่เขาคิดว่าน้ำของเรานี่น้ำที่เจือด้วยยาพิษหรือเปล่า เขาไม่ไว้ใจนะ เราเอาน้ำอย่างดีไปให้เขาเลยนะ เขาหาว่าเราจะวางยาพิษเขานะ

เวลาจิตใจเขาไม่สะอาดเขาคิดของเขาอย่างนั้น แต่เราไม่รู้ได้เลยว่าคนนั้นเขาคิดอะไรกับเรา แต่เราก็ปรารถนาดีกับคนทั้งโลก แล้วเราก็จะไปช่วยเหลือเจือจานเขา แต่เขาก็หาว่าเราจะไปทำร้ายเขา แต่ถ้าจิตใจเขาพลิกแล้ว เป็นประโยชน์แล้ว นั่นเป็นประโยชน์ของเขา นี้คือการจะช่วยเหลือคนไง

เราจะช่วยเหลือเขา เราคิดว่าเราจะไปช่วยเหลือเขา เขาจะดีใจพร้อมใจจะคิดว่าเป็นความดีเหรอ แต่การจะทำงานมันต้องเป็นอย่างนี้ การช่วยเหลือคนมันต้องรอจังหวะ มันต้องดูความพร้อมว่าเขาพร้อมไหม เขารับไหมแล้วเราค่อยทำ อันนั้นอีกเรื่องหนึ่งนะ

ฉะนั้นเวลาเขาเขียนมาอย่างนี้เราก็สาธุ.. แต่กูไม่บ้ากับมึง กูทำของกูไปอย่างนี้ เพราะไปแล้วพากันไปตายหมดไง ความไร้เดียงสานี่พาพวกเราไปตายหมดนะ อย่างนี้ถือว่าไร้เดียงสาทางโลก ถ้าไร้เดียงสาใครก็ว่านู้นก็ดี นี่ก็ดี แล้วเราก็เชื่อเขาไป มันเป็นการไร้เดียงสา แล้วเราก็จะไปเจออุปสรรคข้างหน้า

 

ถาม : ๓๔๒. เรื่อง “ตัวหมุนเวลาสวดมนต์”

เดิมสวดมนต์ตามคลื่นวิทยุ ๑๐๓.๒๕ เปลี่ยนตามคำแนะนำของพระรูปหนึ่ง ให้สวดเองไม่ต้องฟังจากวิทยุก็ยังหมุน ตอนนี้เดินจงกรม ฟังเทศน์ สวดมนต์ ๑๐๓.๒๕ แล้วก็เปิดหนังสือสวดมนต์พร้อมกับเดินไปด้วย สวดตามวิทยุไม่ต้องเปิดหนังสือ เคยสวดมนต์ตอน ๒ ทุ่มตามคลื่นวิทยุ ๑๐๓.๒๕ ตื่นมาอีกครั้งตอนเที่ยงคืนก็นั่งพับเพียบ มือกราบหมอน หน้าผากบนมือตอนหลับเหมือนตกลงไป ไม่เหมือนกับนอนปกติที่เบลอหลับไป

หลวงพ่อ : เขาว่าตัวเขาหมุน นี่ตัวหมุน.. วันนั้นเราก็ตอบเรื่องตัวหมุนนี่ไป คำว่าตัวหมุนของเรานี่นะ เขาว่าเขาไปตรงกับพระองค์หนึ่งเขาสอนเรื่องสมาธิหมุน หมุนเพื่อมารู้เรื่องรักษาโรค เราบอกว่าปวดหัวเลย

พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนสมาธิหมุนรักษาโรค พระพุทธเจ้าสอนศีล สมาธิ ปัญญา.. สมาธิให้เกิดปัญญาเพื่อชำระกิเลส ฉะนั้นไอ้คำว่าตัวหมุนของเรามันเป็นความจนตรอกของจริตของคน ถ้าจริตของคนบางคนเป็นแบบนั้น เราถึงบอกว่าถ้าเป็นแบบนั้น ถ้าจิตมันสงบได้ ถ้าสงบจนมันไม่หมุนก็จบ แต่ที่ว่าพอบอกว่าจิตหมุนปั๊บ ก็เลยกลายเป็นว่าเราเห็นด้วยกับพระองค์นั้นว่าสมาธิต้องหมุน

ไม่ใช่ ! ไม่ใช่ ! สมาธิไม่ได้หมุน ถ้าหมุนเป็นสมาธิได้อย่างไร แต่ที่เขาหมุนนี่เขาจะหมุนลงสู่สมาธิ เขาไม่ใช่สมาธิหมุน บางคนนี่โคลงอยู่ นั่งโคลงตัวโคลงขนาดไหน เราตั้งสติอยู่แล้วมันจะหาย จริตนิสัยของคนมันไม่เหมือนกัน จริตของคนไม่เหมือนกัน แต่ถ้าเราจะแก้คือแก้ให้ไม่หมุนว่าอย่างนั้นเถอะ ! คือแก้ไม่ให้หมุน ถ้ามันจะหมุนมาอย่างไรก็แล้วแต่ สุดท้ายแล้วมันต้องสงบไม่ใช่หมุน ไม่ใช่หมุนไม่ใช่อะไรทั้งสิ้น แต่ก่อนจะที่มันจะเข้า มันจะหมุนมาอย่างไรเราก็แก้ตรงนั้นเข้ามา

ฉะนั้นถ้ามันอย่างนั้นปั๊บเราต้องฝืน ถ้าบางคนเราไม่เป็นอย่างนั้น เห็นไหม “เวลาสวดมนต์ไปแล้วตามวิทยุไป นี่พระรูปหนึ่งบอกให้สวดเองเลยไม่ต้องฟังวิทยุมันก็ยังหมุน”

ถ้ามันหมุนเราก็ไม่สวด พุทโธเอาเฉยๆ ก็ได้ ตั้งสติก็ได้ เราแก้ไขของเราไปเรื่อยๆ ถ้ามันหมุนแล้วมันเป็นประโยชน์ อย่างเช่นเราต้องกินข้าว ข้าวนี่เรากินข้าวหอมมะลิ แต่อีกบ้านเขากินข้าวกล้อง แล้วข้าวหอมมะลิกับข้าวกล้องใครถูกล่ะ

เราอยู่นี่ข้าวหอมมะลิใช่ไหม เพราะชุมชนนี้เขากินอย่างนั้น ท้องตลาดมีอย่างนั้นเราก็กินอย่างนั้น แต่อีกชุมชนหนึ่งเขาชีวจิตเขากินข้าวกล้อง เขาหาซื้อได้ เขาอยู่ใกล้กับวัตถุดิบอย่างนั้นมันก็เป็นอย่างนั้น ไอ้นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่ว่านี่ข้าวกล้องกับข้าวหอมมะลิมันแตกต่างกันอย่างไร มันแตกต่างกันที่คุณภาพ แต่เวลากินแล้วมันก็อิ่มเหมือนกัน

นี่ก็เหมือนกัน มันจะหมุนหรือจะไม่หมุน ผลของมันไม่ใช่อยู่ที่ข้าวกล้องหรือข้าวหอมมะลิ ไม่ใช่หมุนหรือไม่หมุน มันอยู่ที่ว่าอิ่มหรือเปล่า ลงสมาธิหรือเปล่า ทำให้มันลงสู่สมาธิ ไม่ใช่ว่าสมาธิหมุน เราพูดถึงว่าเขาหมุนอยู่ใช่ไหม แล้วเราพยายามอธิบายบอกว่าถ้าหมุนต้องแก้ แก้หรือว่าถ้ามันหมุนมา ถ้ามันลงสู่สมาธิได้ อาการหมุนลงสู่สมาธินั้น นี่เราว่าข้าวอะไรก็ได้ ถ้ากินแล้วมันมีความอิ่มก็ใช้ได้ ! ก็ใช้ได้ ถ้าข้าวอะไรกินแล้วอิ่ม กินแล้วเราดำรงชีวิตได้ก็ใช้ได้

อาการอย่างไร พิจารณาอย่างไรให้มันลงสู่สมาธิก็ใช้ได้ แต่ไม่ใช่ว่าข้าวใครดีกว่าข้าวใคร คืออาการหมุนหรือไม่หมุนมาเถียงกัน ไม่ใช่ ! ไม่ใช่ ! อันนี้พูดถึงว่าตัวหมุนเวลาสวดมนต์ ฉะนั้นถ้าสวดมนต์แล้วเราตั้งใจสวดมนต์ ตั้งสติให้ดีๆ สวดแล้วจบ จบแล้วเราก็มานั่งสมาธิภาวนาของเราไป ไม่ใช่ว่าเวลาสวดมนต์แล้วตัวหมุน แล้วก็ไปสวดมนต์ก็หมุนกับมัน แล้วจะแก้ให้มันหายหมุน มันอีกวาระหนึ่งใช่ไหม

ถ้ามันมีปัญหาวางเลย เราพลิกไปอย่างอื่น อย่างเช่นเราจะเดินทางนี่ตั๋วหมด ตั๋วหมดแล้ว พอตั๋วหมดเขาบอกว่ามีรถเขามารับเราไป เราบอกว่าไม่ไปเราจะไปรถเมล์ อ้าว.. ตั๋วหมดแล้ว แต่มีคนใจดีอยู่ เขาเอารถมารับเราไปเราก็ไปกับเขา เราก็ถึงเหมือนกัน.. ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ถ้าสวดมนต์แล้วมันหมุน หมุนก็พักไว้ทำอย่างอื่นจบ !

อันนี้มันไม่ใช่เรื่องนะ แต่มันถามมาแล้วเนาะ

ถาม : ๓๔๓. เรื่อง “ควรยุ่งเรื่องของคนอื่นไหม”

หลวงพ่อ : เรื่องของพี่น้องเขานะ กล่าวถึงน้องสาว

ถาม : ปัญหาของหนู ถามหลวงพ่อเป็นทางโลก หนูไม่ทราบจะจัดการเรื่องนี้ได้อย่างไร คือน้องสาวหนูแต่งงานมีสามีมาเกือบ ๑๐ ปี แล้วเขามีปัญหาในครอบครัวของเขา..

หลวงพ่อ : แล้วนี่เขาบอกว่าเขาจะไปช่วยน้องสาวเขา แก้ไขเรื่องน้องสาวเขา ปัญหานี้มันปัญหาในครอบครัวเขาเราไม่พูด

ถาม : ๑. หนูควรไปยุ่งเรื่องของเขาดีไหมคะ โดยไปสืบให้รู้เรื่องเลย จะเท่ากับไปยุ่งเกี่ยวกรรมของน้องสาวที่ใช้กับสามีหรือไม่

หลวงพ่อ : อันนี้มันก็ยุ่งเกี่ยวแหละ

ถาม : ๒. และถ้าปรากฏว่ามีผู้หญิงคนอื่นจริง ควรจะให้น้องสาวหนูทำอย่างใด

หลวงพ่อ : เขาคิดถึงครอบครัวของน้องสาว ควรจะบอกน้องสาวหรือไม่.. ไอ้กรณีอย่างนี้นะมันเป็นเรื่องในครอบครัว คำว่าครอบครัวมันเป็นสายเลือด พี่น้องเรานี่เราจะรักของเราหรือไม่รักล่ะ แต่ถ้าเราทำสิ่งนั้นให้ประจักษ์ คือว่าไม่ให้ญาติพี่น้องเราโดนหลอกลวง มันก็เป็นความสมควร แต่ทีนี้มันต้องมาดูตรงนี้ว่า ถ้าเราเอาสิ่งที่มันเป็นข้อเท็จจริงมาบอกน้องสาวเราแล้วนี่ น้องสาวเรารับได้ไหม น้องสาวเรารับได้ไหม

คือบางทีกรรมของคน ข้อเท็จจริงเขาก็ไม่รับนะ อะไรเขาก็ไม่รับ ทุกอย่างเขาก็ไม่รับ เราก็ไปทำความทุกข์ให้เขาเพิ่มมากขึ้น แต่เราจะต้องค่อยๆ แก้ไข ต้องทำความเข้าใจให้เขาเข้าใจก่อนว่าควรเป็นอย่างใด แล้วเขารับได้มากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าคนจิตใจเข้มแข็งนะ ด้วยเหตุผล เราต้องยอมรับเหตุผลว่าความถูกผิดนั้นถึงถูกต้อง

นี้เป็นเรื่องพุทธศาสนา พุทธศาสนาเรื่องเหตุและผล แต่นี้มันมีเรื่องของกรรมเข้ามาซ้อน เรื่องของกรรม พอเรื่องของกรรม คนเรานี่นะเวลาหมดเวรหมดกรรมนะ เฮ้อ ! ต่างคนต่างจบกันซะที แต่ถ้าไม่หมดเวรหมดกรรมนะ มันก็ทนอยู่อย่างนั้นล่ะ มันจะต้องทนอยู่อย่างนั้นล่ะ แต่ถ้าวันไหนมันหมดเวรหมดกรรมนะหูตาสว่าง เฮ้อ ! เลิกกันเสียที

อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้ามันเป็นเวรเป็นกรรมของเขา แล้วมันยังไม่ถึงเวลา เราไปพูดอย่างไรเขาก็ไม่เชื่อเราหรอก แล้วถ้าไม่เชื่อแล้วนี่เราจะไปทำลายเขาไหม นั่นมันก็เป็นอีกเรื่องนะ แต่นี้เราจะพูดประเด็นถ้าเราเป็นคนๆ หนึ่งในครอบครัวนี้ หรือครอบครัวอื่นก็แล้วแต่ เราจะคิดของเรารอบด้าน รอบด้านว่ามันเป็นหน้าที่ของเราไหม

มันเป็นครอบครัวของเรา นี่มันเป็นตระกูลของเรา เราจะรักษาตระกูลของเราอย่างไร อันนี้เป็นหน้าที่ แต่เวลาเราจะไปแก้ไขมันอยู่ที่ยุทธวิธีแล้ว อยู่ที่เทคนิคว่าเราควรทำอย่างใดนั่นอีกเรื่องหนึ่ง แต่โดยหลักนี่ยุทธศาสตร์เราต้องทำ เพราะเป็นพี่เป็นน้อง เป็นญาติ เป็นเครือญาติกัน

โดยยุทธศาสตร์ต้องทำ ! แต่โดยยุทธวิธีเราจะหาวิธีทำอย่างไรให้ไม่กระทบกระเทือนกันเกินไป คือทำแล้วให้มันเป็นผลบวก คือให้มันเป็นสิ่งที่ดีงามทั้งหมด แต่ถ้าโดยยุทธศาสตร์ต้องทำ แล้วก็ซื่อบื้อเข้าไปทำนะมันแตกแยกหมดนะ ในตระกูลเราก็แตกแยก ในครอบครัวก็แตกแยก มันอะไรก็แตกแยก.. โดยยุทธศาสตร์ต้องทำ ! ต้องทำ ! เพราะเป็นพี่เป็นน้องกัน แล้วเขามาหลอกลวงน้องสาวเราตลอดไปอย่างนี้เราต้องทำ

นี่โดยยุทธศาสตร์ แต่โดยยุทธวิธีไปหาทางเอาเอง ไปหาทาง ไปหาทางเอาเอง ไปสมควรแค่ไหน ทำอย่างไร เพราะตระกูลของเรา น้องของเราให้เขาหลอกได้อย่างไร น้องของเรา ตระกูลของเราให้คนมาปอกลอกอยู่นี่มันทำได้อย่างไร โดยยุทธศาสตร์มันตระกูลของเรา แต่โดยยุทธวิธีนะ เข้าไปนะเขายันออกมาเลยนะ เอ็งอย่ามายุ่งกับกู เพราะกรรมของเขา เขารักของเขา โดยยุทธศาสตร์นี่ของเราทั้งนั้นแหละ ก็พี่น้องเรา พอยุทธวิธีเข้าไปนะเขายันออกมาเลย เอ็งไม่ต้องมายุ่ง เพราะกรรมมันยังเป็นอย่างนั้นอยู่

นี่เวรกรรมเป็นอย่างนี้ พอเวลาเวรกรรมขึ้นมามันปิดหูปิดตาไปหมดเลย แต่ถ้าวันไหนมันเปิดหูเปิดตานะ ทำไมไม่บอกกูวะ ทำไมไม่บอกกูวะ โธ่เอ๋ย.. บอกจนปากเกือบฉีกมันไม่ฟัง เวลามันหมดเวรหมดกรรมนะ อู๋ย.. ไม่บอกกันเลย ไม่บอกกันเลย เวลาหูตาสว่างไม่ต้องสอนเขาก็รู้ เวลามันมืดบอดบอกเท่าไรมันก็ไม่ฟัง แต่ถ้าหูตามันสว่างนะไม่ต้องบอกมันก็รู้ ทำไมไม่บอกกันบ้าง ไม่บอกกันบ้าง แต่เวลาหูตามันมืดบอดนะ ไปจ้ำจี้จ้ำไชมันยังไม่ฟังเลย

เราให้เห็นเรื่องเวรกรรมไง มันลึกลับอย่างนี้ มันมหัศจรรย์อย่างนี้ เรื่องกรรมนี่แปลกมาก คำว่าแปลกนี่มันไม่ใช่แปลกเพราะมันลอยมาจากฟ้านะ เราทำมากันเองทั้งนั้นล่ะ ไม่อย่างนั้นเราจะมาเกิดไหม นี่ถ้าเป็นเรื่องของคนอื่นเราก็ไม่เจ็บใช่ไหม พอมาเกิดเป็นลูกของเราเจ็บไหมล่ะ เจ็บนะ นี่กรรม.. เวลาเป็นเรื่องของคนอื่นไม่เกี่ยวนะ ถ้าเรื่องเป็นลูกเป็นหลานเรานะเจ็บ เจ็บ มันต้องให้เราเจ็บสิเพราะมันเป็นกรรมของเรา

ฉะนั้นพอกรรมของเราแล้วนี่ค่อยๆ แก้ พอกรรมของเรานี่เพราะว่ายังไม่ถึงตัวเราเก่งกันทุกคนแหละ รอให้ถึงตัว (หัวเราะ) ยังไม่ถึงตัว พูดทุกคนนี่เก่งหมด พอถึงตัวแล้วจะรู้

นี่เรื่องของกรรม ฉะนั้นพระพุทธเจ้าถึงสอนว่า พระพุทธเจ้าเชื่อกรรม ! เชื่อกรรม ! ถ้าคำว่าเชื่อกรรมนะเราก็แก้ไขของเรา เราแก้ไขหมายถึงว่านั่นเรื่องของกรรม แต่ในปัจจุบันเราเกิดมาในพุทธศาสนา เกิดมาเจอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดถึงเรื่องของธรรม

ธรรม เห็นไหม ธรรมนี่เป็นปัจจุบัน เราแก้ในปัจจุบันนี้ แก้ได้ แก้ได้ความเห็นได้มันก็แก้ที่ปัจจุบันนี้ แล้วกรรมเขาก็ลดลงเบาลง นั้นก็เป็นเรื่องของการกระทำของเรา แต่ถ้ามันไม่ได้กรรมเขาเข้มข้น เราก็ได้ทำหน้าที่แล้ว เราเกิดมานี่เขาเจ็บเราก็เจ็บ เพราะเราเป็นญาติเป็นตระกูลกัน มีความกระเทือนก็กระเทือนถึงเราด้วย ต้องกระเทือนถึงเราด้วย แต่ถ้ามันกระเทือนแล้วเราจะแก้ไขอย่างไร

นี่ไงพระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้ ไม่ให้เชื่อเทวดา อินทร์ พรหม ไม่ให้เชื่อใครเลย !

ให้เชื่อการกระทำ “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” เอวัง