เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๗ ก.พ. ๒๕๕๔

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต. หนองกวาง อ. โพธาราม จ. ราชบุรี

 

ความคุ้นเคย.. ความคุ้นเคยสำคัญยิ่งกว่าญาติ เป็นญาติกันแต่ไม่เคยดูแล ไม่เคยไปมาหาสู่กันเลย แต่ความคุ้นเคยเราไปดูแลรักษา ความคุ้นเคยดีกว่าญาติ นี้ความคุ้นเคย เห็นไหม นี่เราไม่คุ้นเคยมันเป็นเรื่องธรรมดา ทีนี้เรื่องธรรมดามันต้องมีหลักมีเกณฑ์ของมัน

นี่พูดถึงสัจธรรมในชีวิตนะ ในชีวิตเรานี่เราแสวงหาคุณงามความดีกัน เราเกิดมานี่มีสติปัญญา เราเป็นมนุษย์ นี่ถ้าเป็นคน ดูสิ กาแฟคนไม่ทั่วถึง กาแฟรสยังแตกต่างกันเลย.. มนุษย์ดีกว่าคน สัตว์ทั่วไป เห็นไหม นี่สัตว์มนุษย์ ถ้าสัตว์มนุษย์เราเกิดมาพบพุทธศาสนา พุทธศาสนาสอนถึงคุณงามความดี ถ้าใครมีปัญญามากขนาดไหนจะเห็นคุณงามความดีที่ละเอียดขึ้นไป

คุณงามความดีหยาบๆ นะ ดูเด็กๆ สิ เด็กๆ หยิบของให้ ตบมือให้นี่ดีใจมากเลย ถ้าไม่ตบมือให้ไม่พอใจนะ เด็กๆ นี่นะตบมือให้เด็กๆ จะมีความสุขมาก นี่ความดีของเขาก็ได้รับการชมเชยเท่านั้นเอง วัตถุสิ่งของในโลกใครมีมากมีน้อยสิ่งนั้นเราว่าเป็นบุญกุศล แต่คนจน เห็นไหม คนจนผู้ยิ่งใหญ่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อยู่โคนไม้

กษัตริย์สมัยพุทธกาลนะ เวลามาบวชแล้วว่า “สุขหนอ สุขหนอ” จนพระเขาไปฟ้องพระพุทธเจ้าว่ากษัตริย์นี่คิดถึงราชวัง เพราะในความเห็นของพระที่ไปฟ้ององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าพระเรานี่เวลาอยู่โคนไม้ อยู่ในป่า มันก็มีความทุกข์ความยาก มีความขาดแคลนเป็นธรรมดา ทีนี้พระเห็นกษัตริย์ว่า “สุขหนอ สุขหนอ” ท่านคงคิดถึงราชวัง นี่ไปฟ้ององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเรียกมาเลยนะ

“เธอพูดอย่างนั้นจริงเหรอ”

“จริง”

“แล้วทำไมเธอถึงพูดอย่างนั้นล่ะ”

“ก็มันสุขจริงๆ มันสุขจริงๆ เพราะอยู่โคนไม้นี่ไม่ต้องมีความรับผิดชอบอะไรเลย ไม่ต้องแบกรับภาระสิ่งใดเลย แบกรับภาระแต่ความคิดของตัวนี่ล่ะ ดูจิตใจของตัวเท่านั้นเอง แต่ถ้าเป็นกษัตริย์อยู่ในราชวังนะ แบกรับภาระของประเทศชาติ แบกรับด้วยความวิตกกังวล ทุกข์มาก!”

นี่แล้วเวลามีอำนาจ เห็นไหม เขามีการแย่งชิงกัน ต้องระวังตัวเองตลอดเวลาเลย มีแต่ความเครียดไม่มีความสุขเลย แต่มาอยู่โคนไม้.. แต่ต้องทำใจได้นะ แต่เราก็อยากจะมีมั่งมีศรีสุข คนถ้ามั่งมีศรีสุขเขาว่าสิ่งนั้นเป็นบุญกุศล แต่เพราะนี่ดวงตาเราหยาบๆ ดวงตาที่เรามองเห็นในสภาวะแบบนั้น แต่ดวงตาของผู้ที่มีปัญญานี่ความสุขอันละเอียด “ความสุขสิ่งใดเท่ากับจิตสงบไม่มี” แต่เราจะรักษาจิตสงบได้อย่างไรล่ะ

ในปัจจุบันนี้เรามีการศึกษากันนะ เดี๋ยวนี้โลกเจริญ มีการศึกษามาก แล้วมีการศึกษาปั๊บก็ไปศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็บอกธรรมะเป็นอย่างนั้นๆ ด้วยเอาความคิดมุมมองของตัวเองเข้าไป

เวลาครูบาอาจารย์ของเราปฏิบัติขึ้นมา “ต้องวางให้หมด” แล้ววางอย่างไรล่ะ ก็วางแล้วไง วางจนไม่มีอะไรเลย.. ไอ้ที่ไม่มีอะไรเลยนี่มันมีเต็มตัวเลย แต่เวลาถ้ามันวางให้หมดมันวางอย่างไร มันต้องมีวิธีการของมัน

ของอยู่ในมือ เห็นไหม เราต้องหาที่วางแล้ววางลง ไม่ใช่เขวี้ยงทิ้ง ถ้าเขวี้ยงทิ้งของนั้น ชำรุดเสียหายหมด ยิ่งโทรศัพท์มือถือนี่ใครปาลงดินสิเสียหมดแหละ อู๋ย.. ต้องถนอมมันอย่างดีเลย ต้องวางให้ได้ วางให้เป็น ถ้าวางไม่เป็นนี่วางไม่ได้หรอก นั่นก็ไม่ใช่เรา นี่ก็ไม่ใช่เรา ว่างหมดเลย ภาวนา ๒ วันเป็นพระอรหันต์.. มันซื่อบื้อ! เป็นความละเมอเพ้อพก ไม่เป็นความจริงเลย แต่พูดความจริงไปแล้วนี่เขาจะเข้าใจเราได้อย่างไร

ความเข้าใจ เห็นไหม นี่ปริยัติ ปฏิบัติ เวลาปริยัติมีการศึกษามาก ๙ ประโยค ๑๐ ประโยคนี่โอ๋ย.. รู้ไปหมดเลย แล้วถามสิรู้อะไร รู้ธรรมะของพระพุทธเจ้าแต่ไม่รู้เรื่องตัวเองเลยนะ นี่แล้วเวลาจะปฏิบัติๆ อย่างไร ยิ่ง ๙ ประโยคยิ่งปฏิบัติไม่ถูกเพราะอะไร? เพราะความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด แล้วจะเอาพุทโธ พุทโธให้มันปล่อยวาง ปล่อยวางไม่เป็น ปล่อยวางไม่ได้อีก แล้วทำอย่างไรล่ะก็รู้หมดแล้ว รู้หมดแล้ว รู้แล้วได้อะไรล่ะ? รู้แล้วได้ความเครียดไง

แต่ถ้าเรามาพุทโธ พุทโธ เห็นไหม กว่าจะปล่อยวางได้ การปล่อยวางมันต้องมีข้อเท็จจริงของมันขึ้นมา มันถึงเป็นปัญญาอบรมสมาธิขึ้นมา นี่ความสุขอันละเอียดละเอียดตรงไหน? ละเอียดตรงที่ว่าไม่มีใครรู้เห็นกับเราเลย แล้วเราก็มั่วเอาได้ใช่ไหม เราก็ละเมอไปเลยนะ นี่หันทั้งนั้นแหละ

แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ไม่ใช่อย่างนั้น.. นี่มันตรวจสอบได้ ธรรมสากัจฉา เอตัมมังคะละมุตตะมัง ศีล! จะรู้ได้ต่อเมื่อเราอยู่ด้วยกัน เรามีความคุ้นเคยกัน เราจะรู้เลยคนไหนนิสัยเป็นอย่างไร..

ธรรมะ! ธรรมะจะรู้ต่อเมื่อเวลาแสดงธรรม เวลาอ้าปากออกมา ถ้าอ้าปากออกมานะ มันมีแต่ความว่างเปล่านะ ซื่อบื้อ! แต่ถ้าพอมันอ้าปากออกมามีขั้นมีตอน มีการกระทำ มีเริ่มต้นตั้งแต่ความเสียสละ การเผื่อแผ่กัน พอเผื่อแผ่กันแล้วจิตใจเป็นสาธารณะ แล้วมีสติปัญญา มีสติขึ้นมายับยั้งให้เป็นปกติของใจ ใจเป็นปกติ ถ้าใจไม่เป็นปกติเราก็มีความทุกข์กันอยู่นี้เพราะใจเราไม่ปกติ

ใจมีความคิดนะ.. รูป รส กลิ่น เสียง ไม่ใช่กิเลส รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร เสียงชมนะ อู้ฮู.. ลอยเลยนะ เสียงติฉินนินทานี่หัวปักดินเลย นี่รูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร.. รัดคอไว้ เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร มันเชิดชู เราก็หลงใหลไป

ฉะนั้นรูป รส กลิ่น เสียง ไม่ใช่กิเลส จิตใจเราต่างหากที่เป็นกิเลส.. ฉะนั้นเวลามีสติปัญญาขึ้นมามันจะควบคุมตรงนี้ได้ ถ้ามันควบคุมขึ้นมามันสลัดทิ้งได้ รูป รส กลิ่น เสียงก็เก้อๆ เขินๆ อยู่นั่นน่ะ เวลาเราได้ยินเสียงโดยที่เราไม่มีสติ เราได้ยินเสียงแต่เราไม่รู้ว่าเป็นอะไร นี้เพราะขาดสติ แต่ถ้ามีสตินะเสียงสักแต่ว่าเสียง เสียงสักแต่ว่าเสียง เราจะเป็นคนรู้ว่าเสียงนั้นจะไม่มีอำนาจที่จะเข้ามากระเทือนใจของเราได้

ไม่ใช่สักแต่ว่าหรอก! มันต้องมีปัญญารู้ มีสติปัญญารับรู้แล้วปล่อยวางไว้ แล้วจะปล่อยวางได้อย่างไรล่ะ ถ้าเสียงเขาติฉินนินทาปล่อยวางให้ได้สิ ทำไมปล่อยวางไม่ได้ เสียงติฉินนินทามันเหมือนกับเสาเข็มทิ่มเข้าหัวใจเลย ทิ่มแล้วทิ่มอีก เจ็บปวดขนาดไหนก็ปล่อยวางไม่ได้ แล้วไหนว่าปล่อยวางล่ะ

ถ้าไม่มีการปฏิบัติ ไม่มีการกระทำมันเป็นไปไม่ได้หรอก! ศึกษาขนาดไหน รู้ขนาดไหน ดูสิ เราเป็นโรคภัยไข้เจ็บ เห็นไหม ยาก็อยู่โรงพยาบาล แล้วก็บอกยานั้นรักษาโรคนี้ ยานั้นรักษาโรคนี้ ยามันก็อยู่โรงพยาบาล ไอ้เราก็เจ็บไข้ได้ป่วยอยู่นี่มันจะรักษาเราได้ไหม ถ้าเราเจ็บไข้ได้ป่วยใช่ไหม ยาชนิดไหนรักษาโรคไหนเราก็เอามาใช้ เอามารักษาเรามันก็หาย ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ได้มีการประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ไม่มี! ไม่มีหรอก!

ศึกษามาขนาดไหน นี่ยาในโรงพยาบาลยังไม่สามารถเอาเข้าปากของตัว ยังไม่เอามารักษาตัว ยานั้นก็คือยา เราก็คือเรา แต่ถ้าประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เห็นไหม เรามีการกระทำขึ้นมา ถ้ามีการกระทำขึ้นมา นี่สิ่งที่โลกเจริญเพราะไปศึกษามา พอศึกษาขึ้นมานี่จินตนาการเลย เพราะมันศึกษามา

สินค้า! ถ้ามีสินค้าต้นแบบ ถ้าเราลอกเลียนแบบเราจะได้สินค้านั้นมา ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสินค้า เป็นรูปแบบขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราลอกเลียนแบบมา มันไม่ใช่สิ่งที่เราวิจัยขึ้นมา เราประกอบเองขึ้นมา

ในการประพฤติปฏิบัติขึ้นมาถึงจะลอกเลียนแบบ เพราะต้นแบบมาจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดาของเรา ถ้าเราทำของเราขึ้นมาได้ เราศึกษาของเราขึ้นมาได้ เราปฏิบัติของเราขึ้นมาได้ตามความเป็นจริงอันนั้น มันถึงจะเป็นความรู้จริงของเรา ถ้าเป็นความรู้จริงของเรา เห็นไหม ถึงว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา แล้วถ้าคนปฏิบัติแล้ว โอ้โฮ.. ศาสนาพุทธนี่ยุ่งมากเลย นู้นก็ไม่ได้ นี่ก็ไม่ได้

รักษาใจตัวเดียว.. ถ้ารักษาใจตัวเดียว ความผิดพลาด ความพลั้งเผลอ เวลาเราถือศีล เห็นไหม ศีลด่างพร้อย ศีลเศร้าหมอง ศีลขาด นี่มีเจตนากระทำ.. มีเจตนาจะทำอย่างนั้น แล้วทำอย่างนั้นนี่ศีลขาด ถ้าไม่มีเจตนากระทำ คนเรามันมีการผิดพลาดเป็นธรรมดา มันด่างพร้อยมันก็เศร้าหมอง พอมันเศร้าหมองขึ้นมามันก็เป็นนิวรณธรรม มันก็ปิดกั้นความสงบของใจ ทำคุณงามความดีมันก็ฟู เวลาทำความผิดพลาดมันก็เศร้าหมอง มันก็เสียใจ ถ้ามันเสียใจเราจะควบคุมใจเราอย่างไร เราจะดูแลใจเราอย่างไร

นี่ภาคปฏิบัติ! นี้ภาคปฏิบัติถึงว่าโอ๋ย.. ศาสนาพุทธนี่ยุ่งมากเลย ทำอะไรก็มีแต่ผิดๆ มันผิดด้วยเจตนาหรือเปล่าล่ะ ถ้ามันไม่ได้ผิดด้วยเจตนามันก็ผิด.. กรรมมันมีขึ้นมา เราไปทำให้ชีวิตเขาตกร่วง สัตว์! เราไม่ได้ตั้งใจฆ่ามัน เราผิดพลาดพลั้งไปมันก็เสียชีวิตไปแล้ว จะไม่มีผลเลยเหรอ มันก็มีผลสิเพราะมันเสียชีวิตไปเพราะการกระทำของเรา

ถ้าเรามีเจตนาสิ เจตนานี้มันยิ่งเลวร้ายเข้าไปใหญ่เลย เรามีเจตนากระทำเขา แล้วเราตั้งใจไปทำเขา แล้วเราทำเขาสมความปรารถนา.. ขาด! ศีลขาด! แต่ถ้าเราไม่ได้มีเจตนาสิ่งใดเลย มันมีผิดพลาดไป มันก็ด่างพร้อย มันก็เศร้าหมอง มันก็ไม่ดีทั้งนั้นแหละ กรรมมันให้ผลทั้งนั้น

ฉะนั้นถ้าเรามีสติปัญญานี่มันเป็นสิ่งที่ดี นี่พูดถึงว่าถ้าเราจะทำสิ่งใดมันมีเวรมีกรรมต่อกันนะ จิตใจของเราเกิดมามีเวรมีกรรมต่อกันทั้งนั้นแหละ นี่ถ้ามีการประพฤติปฏิบัติมา สิ่งที่มีการศึกษามานั้นวางไว้ การศึกษานั้นน่ะมันรู้จำ แต่พอมีการรู้จริงขึ้นนี่ไม่ต้องศึกษา มันเป็นอัตโนมัติ มันเป็นความรู้จริงตลอดเวลา มันกระเทือนเมื่อไหร่มันแสดงออกทันที เห็นไหม

นี่ธรรม.. เวลาออกจากใจมันเป็นอย่างนี้ มันเป็นความจริงในหัวใจ แต่ถ้าในใจมันว่างเปล่า เวลาจะแสดงออกมามันก็เป็นความจำ ไปแสดงธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ แล้วบอกว่า อู้ฮู.. แสดงธรรมนี่ดีมากๆ

ทำไมมันจะไม่ดีล่ะ ก็ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่เราแค่เป็นตัวสื่อธรรม เราสื่อธรรมพระพุทธเจ้าไปมันก็สุดยอดทั้งนั้นแหละ มันเป็นความสุดยอดของธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เป็นความเศร้าหมองของเราไง หัวใจเราว่างเปล่าไง แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมาเป็นความจริงของเรานะ เรามีความสุขก่อน เรามีความสุขขึ้นมา เราจะเป็นหลักชัยของสังคมได้ สังคมจะพึ่งพาอาศัยได้นะ พึ่งพาอาศัยด้วยหัวใจ ด้วยความมั่นใจ ถ้าเรามีความมั่นใจ เรามีความลงใจ เราจะทุกข์ยากขนาดไหนเราก็มีความมั่นใจ หัวใจของเราก็ยังอยู่กับเรา

นี่เวลาทุกข์เวลายาก สิ่งทุกข์ยากมันเป็นเรื่องปัจจัยเครื่องอาศัย แต่ถ้าหัวใจมันทุกข์ยากนะมันบีบคั้นเรา ถ้าหัวใจไม่ทุกข์ยากเรื่องนั้นมันเป็นเรื่องเล็กน้อยมาก เพราะจิตใจเรามันมีคุณค่าไง คุณค่าของความรู้สึกนี้สำคัญมาก คุณค่าของน้ำใจนะ ค่าของน้ำใจคิดถึงกัน ปรารถนาดีต่อกันมีคุณค่ามาก ดูสิ เวลาคนที่เขาคิดบาดหมางกัน เข้าใกล้มันยังร้อนนะ ไม่อยากเข้าใกล้เลย

สมบัติพัสถานมันช่วยเหลือเจือจานกันได้ แต่ความทุกข์ในหัวใจมันจะเจือจานกันได้อย่างไร แค่ปลอบประโลมกันนะ ไม่เป็นไร ไม่เป็นไร นู้นก็ไม่เป็นไร.. เป็น! มันทุกข์อยู่นี่ ไอ้ไม่เป็นไรพูดอยู่ข้างนอกนะ ไอ้เจ็บมันเจ็บอยู่ในนี้ แต่ถ้าเรามีสติปัญญาของเรานะ เราแก้ไขของเราได้ มีสตินะ หลวงตาท่านสอนอยู่

“ถ้ามีสตินะเหมือนฝ่ามือเล็กๆ นี่มันกั้นคลื่นของทะเลได้”

คลื่นของความรู้สึกความนึกคิดที่คลื่นมันซัดเข้ามาหาเรา สตินี่มันกั้นได้ มันรับผิดชอบได้ มันรักษาได้ เห็นไหม นี่สติปัญญา! สติธรรม สมาธิธรรม ปัญญาธรรม.. สภาวธรรมนี่จิตใจของคนสูงต่ำแค่ไหนมันจะรักษาตัวมัน การรักษาตัวเราได้อย่างนี้ครูบาอาจารย์ก็สาธุ เวลาหลวงตาท่านพูด “ต่อหน้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่ถาม”

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเรารักษาใจของเราได้ ครูบาอาจารย์ก็คือครูบาอาจารย์ของเรา ครูบาอาจารย์ท่านเลี้ยงดูเรามา ท่านมีพระคุณต่อเรา แต่ถ้าเราจะเกาะท่านไปจนตาย เหมือนลูกหลานเลยเลี้ยงมันจนตาย ใครจะเลี้ยงมันจนตายล่ะ เราต้องเลี้ยงมันให้เป็นผู้ใหญ่ แล้วมันจะเลี้ยงตัวมันไป

เราก็เหมือนกัน ประพฤติปฏิบัติขึ้นมาให้เป็นหลักเป็นชัยของเรา แล้วเรามีหลักชัยของเราขึ้นมาแล้วรักษาตัวเรา ใจของเราเป็นประโยชน์กับเรา แล้วเราจะเป็นประโยชน์กับคนอื่นด้วย เอวัง