ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

บุญเต็มร้อย

๒๗ ก.พ. ๒๕๕๔

 

บุญเต็มร้อย
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ข้อ ๓๔๔. มันไม่มีเนาะ

ถาม : ๓๔๕. เรื่อง “กราบนมัสการหลวงพ่อสงบ”

กระผมมีปัญหาเรื่องการปฏิบัติอยากให้หลวงพ่อช่วยชี้ทางครับ เนื่องจากจำความได้ว่าตอนอายุประมาณ ๑๕ ปี ปัจจุบัน ๒๙ ปี มีความคิดอย่าง ตัวเรานี้หรือใช่ตัวเราจริงหรือเปล่า เป็นความคิดแบบนี้มาตั้งแต่เด็กๆ จนโตมาจึงเข้าใจเรื่องธรรมะตามวัยพอสมควร แต่ในใจมีความสงสารสัตว์มาตลอด เห็นสัตว์หรือบุคคลที่เขาลำบากจะมีความสงสารอยู่ตลอด จนทำให้มีใจแผ่เมตตาอยู่ตลอดเวลา บางทีเดินไปกลางตลาด เห็นสัตว์โดนฆ่าผมจะกำหนดจิตแผ่เมตตาให้สัตว์อยู่ตลอด หรืออย่างไรก็ตามก็ทำให้จิตสั่นไหวให้สงสารและแผ่เมตตาทันที

จนโตมาผมก็ปรารถนาพุทธภูมิ ตั้งแต่อายุประมาณ ๑๗ ปี จนอายุ ๒๘ ปี ฟังธรรมหลวงตามหาบัว เกิดไม่อยากสร้างบารมีด้านนี้ต่อไป เบื่อหน่ายมาก แล้วอยากถามหลวงพ่อว่า

๑.การที่เราแผ่เมตตาทุกที่ทุกเวลานี้ผิดปกติไหมครับ เวลาแผ่ไปตัวมันจะสั่นขนลุก เหมือนมีอะไรในตัวพุ่งขึ้นกลางศีรษะ แล้วแผ่ซ่านไปทั่วร่างกาย เป็นอย่างนี้ทุกครั้ง

๒.การปรารถนาพุทธภูมินี้ควรจะทำจิตและลาแบบไหนครับ เพราะก่อนหน้านี้ปรารถนาพุทธภูมิเจอภูตผีปิศาจ..

หลวงพ่อ : แล้วก็เล่าเยอะมาก อันนี้ไม่อ่าน

เขาถามก่อน ข้อ ๑. เวลาเราแผ่เมตตาทุกที่ทุกเวลานี่ผิดไหม.. ไม่ผิด เพราะทำอย่างนี้ถูกต้อง แล้วถูกต้องยิ่งดีงามมาก เพราะพระพุทธเจ้าสอนเรื่องสติ คนที่มีสติมันก็เหมือนกับเราแผ่เมตตา ก่อนแผ่เมตตาเราจะแผ่เมตตาได้อย่างไรถ้าเราไม่ได้มีความระลึกรู้ จะทำอะไรก็แล้วแต่ สิ่งแรกคือความมีสติ มีความระลึกรู้อยู่ การกระทำเกิดขึ้นจากตรงนั้น ฉะนั้นการแผ่เมตตา เราจะแผ่เมตตาเราต้องระลึกรู้สึกตัวก่อน ทีนี้การรู้สึกตัวนี่มีสติสำคัญที่สุดเลย

ฉะนั้นถ้ามีสติแล้วมันถูกต้อง ฉะนั้นการแผ่เมตตา พอมีสติการแผ่เมตตาก็คือการคิดที่ปรารถนาให้ทุกคนมีความสุข ทีนี้การแผ่เมตตา การที่ปรารถนาพุทธภูมิ การแผ่เมตตา การช่วยเหลือการเจือจาน เวลาปรารถนาพุทธภูมินี่เขาพยายามจะช่วยเหลือ เขาจะสร้างบารมี จิตใจมันเป็นแบบนั้น แต่ถ้าจิตใจของคนจิตใจที่เป็นสาธารณะ เราเห็นสิ่งต่างๆ เราก็คิดของเราเหมือนกัน

ไอ้ว่าผิดไหม ผิดปกติไหม.. ไม่ผิด กลับดีด้วย มันมีแต่ว่าเราเองนี่ผิดปกติ พอเราคิดดีเรากลับว่าเราคิดผิดปกติไง เราเห็นว่าเราแผ่เมตตา เราแผ่เมตตา เราทำคุณงามความดีนี่เราผิดปกติหรือเปล่า ไม่ผิดปกติหรอก เราจะเอาความรู้สึกของเราไปวัดกับใครไม่ได้หรอก ความรู้สึกของเด็ก ความรู้สึกของคนแต่ละจริตนิสัยมันไม่เหมือนกัน

ทีนี้ถ้าความรู้สึกของเรามันเป็นความรู้สึกที่ดี อย่างเช่นว่าครูบาอาจารย์ของเราจิตใจท่านเป็นสาธารณะ แล้วเวลาท่านเห็นคนที่เอาเปรียบกัน เราจะเอาจิตใจเราไปเทียบกับคนเอาเปรียบกันเหรอ คนนั้นเขาเอาเปรียบกันคือคนเห็นแก่ตัว แล้วจิตใจเราเป็นจิตใจที่เสียสละ เราบอกว่าถ้าเราเสียสละอย่างนี้เราก็ผิดปกติน่ะสิ

เหมือนคนทำบุญนี่ ทำบุญทุกวันๆ เลย ไอ้คนอื่นมองคนนี้ผิดปกติ ผิดปกติเพราะอะไรล่ะ เพราะจิตใจเขาคับแคบใช่ไหม เขามองแล้วเป็นผิดปกติเพราะเขาไม่เคยทำ ทีนี้พอเราบอกว่าเราผิดปกติเราก็จะทำแบบเขา คือเรานี่จากจิตใจที่เราดีเราจะไปตระหนี่เหมือนเขามันก็ไม่ถูกต้อง

ฉะนั้นเราต้องมองว่าในสังคมเขาเป็นแบบใด เราต้องเข้าใจสังคมก่อน พอเราเข้าใจสังคมว่าสังคมเขามีความเห็นแก่ตัว เขามีแต่การเอารัดเอาเปรียบ แล้วเราเป็นคนที่ว่าแผ่เมตตา เราเป็นคนที่เสียสละ เขาก็มองเราเป็นคนแปลกประหลาด ทีนี้เขามองเราเป็นคนแปลกประหลาดมันต้องมีความสำคัญอันหนึ่ง คือเราต้องมีสติพอ ถ้าเรามีสติพอ เห็นไหม เรามีสติพอเราทำสิ่งใดแล้วเราไม่เป็นเหยื่อเขาไง แต่ถ้าเราคิดแบบอัตตา คิดแบบผูกมัดตัวเองนะว่าเราต้องเป็นผู้เสียสละ

คนนี่เขาจะสร้างภาพ เขาจะสร้างภาพ เขาจะทำความฉ้อฉลมาให้เราเสียสละ เราจะเสียสละต่อเมื่อเป็นข้อเท็จจริง เขาทุกข์ของเขาตามข้อเท็จจริง แต่ถ้าเขาฉ้อฉลเขาหลอกลวง อย่างนี้เราไม่ควรเสียสละ ถ้าเรามีสติเราต้องหาเหตุผลก่อนว่ามันเป็นจริงหรือเปล่า เราควรจะเสียสละจริงหรือเปล่า นี่คิดอย่างนี้นะ พอคิดอย่างนี้ปั๊บแล้วเราจะคิดอย่างไรล่ะ

นี้ส่วนใหญ่สังคมไทยตอนนี้คิดอย่างนี้ เราได้ทำแล้วสบายใจ เราได้ทำแล้วสบายใจ ทำไปเถอะ แต่เขาไม่ได้คิดมุมกลับนะ เวลาเข้ากันโดยธาตุ เห็นไหม หลวงตาท่านบอกเลยสายบุญสายกรรม.. ในการช่วยชาติของหลวงตาท่านบอกเลย “คนที่ร่วมมือกับท่าน ฟังแล้วมีความเห็นด้วยนี่เป็นสายบุญสายกรรม” แต่ก็มีคนส่วนใหญ่เลยที่ไม่เห็นด้วยแล้วต่อต้าน นี่ทำไมเขาไม่เชื่อล่ะ ทำไมเขาไม่ฟังล่ะ

นี่คำว่าสายบุญสายกรรมเพราะได้ทำบุญร่วมกุศลกันมา ฉะนั้นคนที่แบบว่าเราได้ทำแล้วสบายใจ ถ้าเขาทำความไม่ดี เขามาทำลายศาสนาโดยเนื้อแท้ โดยข้อเท็จจริง แต่หน้าฉากเขาบอกเขาจะมาปกป้องศาสนา เขามาเพื่อคุณงามความดี เราก็ช่วยเหลือเจือจานเขาไป แต่ความจริงคือเขาทำลาย เห็นไหม เราก็มีส่วนด้วยเพราะเราทำบุญไปกับเขา

นี่ไงทำบุญแล้วสบายใจ ทำบุญแล้วสบายใจ พูดคำนี้มันก็แปลกนะ ทำบุญแล้วสบายใจ เพราะสบายใจนี่เขาทำลาย ทำลายแล้วสบายใจเนาะ.. มันก็ไม่ใช่ใช่ไหม การทำลายไม่สบายใจหรอก ฉะนั้นถ้าเราไม่รู้เราทำไปนี่มันสุดวิสัย คนเรานี้เราจะไปสืบรู้ถึงจริตนิสัยของคนทั้งหมด เราจะไปสืบไม่ได้หรอก แต่ถ้าเรารู้แล้วเราก็ต้องหลบหลีกของเราเอาล่ะ ถ้าเรายังไม่หลบหลีกของเรา เรารู้ซึ่งๆ รู้อยู่ แล้วต่อไปจะเป็นสายบุญสายกรรม คือเราจะร่วมมือกับเขา ไปกับเขาไปเรื่อยๆ

ถ้าเรามีบุญมีกุศลร่วมกัน คือมันมีโน้มเอียงคิดเห็นไปทางเดียวกัน นี้เขาเรียกเข้ากันโดยธาตุ.. นี่เข้ากันโดยธาตุ ธาตุเป็นอย่างนั้น ดูสิเวลาสังคมจะรู้จักนิสัยคนๆ นี้ให้ดูเพื่อนเขา เพราะเพื่อนเขา นี่สังคมเพื่อนเขาเขาคิดอย่างนั้นในวงเพื่อนเขา เขาจะเป็นอย่างนั้นล่ะ อยากจะรู้ว่าคนนี้เป็นอย่างไรให้สังเกตเพื่อนเขา เพราะเพื่อนเขาคบกันมาเขาต้องคบคนเหมือนกัน

อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าพูดถึงความผิดปกติไหม ไม่ผิด แต่เราก็ต้องมีปัญญาเพราะว่าอะไร เพราะการกระทำของเราทุกคนมันต้องมีพัฒนาขึ้นไป จิตใจคนขนาดไหนมันจะมีพัฒนาขึ้นไป.. นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราแผ่เมตตามันผิดปกติไหม.. ไม่ผิด! พอไม่ผิดเสร็จแล้วทำอย่างไรต่อไป ก็ตั้งสติใช่ไหม จิตสงบแล้วก็นั่งสมาธิ แล้วภาวนาไป เห็นไหม มันจะพัฒนาไป

ถ้าฐานมันดีนะ.. กรรมฐาน ฐานมันดีนะมันจะหนุนสิ่งนี้ให้จิตใจเราดีขึ้น พอจิตใจเรามั่นคงขึ้น ดีขึ้น เราพิจารณาเป็นขึ้น อะไรขึ้นนี่เดี๋ยวเรารู้หมดเลย ถ้าเรามีความเข้าใจถึงเรื่องของใจเรานะ เราจะเข้าใจเรื่องใจของคนอื่นหมดเลย แล้วถ้าเข้าใจแล้วนะ นี่เวลาเขามาพูดกับเรา เห็นไหม อย่างเช่นครูบาอาจารย์ที่ภาวนาเป็น แล้วเวลาลูกศิษย์ที่ภาวนาไม่เป็นมาถามปัญหานี่มันรู้หมดเลย แต่ด้วยความรักษาน้ำใจ รักษาน้ำใจว่าเออ.. เป็นอย่างนั้นไปก่อน เป็นอย่างนั้นไปก่อนแล้วพิจารณาไป รู้แล้วเราจะไปพูดซึ่งๆ หน้า เขาก็เก้อเขิน

นี่พูดถึงเวลาที่ว่ารู้ใจเราแล้วนี่จะรู้หมด แต่รู้หมดแล้วมันก็จะแฉเขาไม่ได้หรอก จะเที่ยวแฉเขา คนนู้นเป็นอย่างนี้ คนนี้เป็นอย่างนั้นมันไม่ได้ เพียงแต่ว่าสิ่งนี้ดีหรือไม่ดีนี่เรารู้ แล้วบอกว่าไม่ดีนี่พยายามให้ละซะ แล้วทำความดีขึ้นไปมันก็เป็นความรู้สึกความนึกคิดของเขาใช่ไหม แต่เราบอกว่าคนๆ นี้เป็นสิ่งนั้น สิ่งนี้ไม่ดีก็ต้องบอกไม่ดีๆๆ แล้วใครจะดีหมดล่ะ

ฉะนั้นสิ่งที่ว่านี่ เวลารู้ใจเราแล้วจะเข้าใจใจเขาหมดเลย แล้วใจเขาคิดอย่างนี้มันอยู่ในระดับที่ว่าเขาทันตัวเขาเองแล้ว แต่ถ้าเขายังไม่ทันตัวเขาเองนะ เขาจะโมโหโกรธา เขาจะกระฟัดกระเฟียดออกไปข้างนอก แต่พอเขาเริ่มมีสติปั๊บเขาจะรู้ตัวเขาแล้ว เขาจะควบคุมได้แล้ว แต่มันก็ยังมีอยู่ในใจใช่ไหม มันก็ต้องพัฒนาเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป

นี้การภาวนานะ จากไม่รู้อะไรเลยมันจะรู้ทันตัวเอง จากรู้ทันตัวเองแล้วควบคุมตัวเองได้เป็นสมาธิ จากการควบคุมตัวเองได้เป็นสมาธิแล้ว การควบคุมตัวเองได้มันไม่มีสิ่งใดมาเหนี่ยวรั้ง หรือว่ามาชี้นำ แล้วพอมันเกิดปัญญามันจะเกิดปัญญาจากข้อเท็จจริง มันไม่ใช่เกิดปัญญาจากการชี้นำ ปัญญาเหนี่ยวรั้งโดยกิเลสตัณหาความทะยานอยากของตัว เห็นไหม จิตใจมันพัฒนาขึ้นไป

ฉะนั้นว่าผิดปกติไหม คำว่าผิดปกติไหมต้องมาเทียบเคียงก่อนว่าผิดปกติของใคร แต่ถ้าทางสังคมเขามองว่าผิดปกติแน่นอน แต่ถ้าเป็นทางธรรมไม่ผิดปกติหรอก ยังต่ำต้อยด้วย ยังต้องพัฒนาขึ้นไปมากกว่านี้

ถาม : การที่เราแผ่เมตตาทุกที่ทุกเวลานี้ผิดปกติไหมครับ เวลาแผ่ไปตัวมันจะสั่นขนลุก เหมือนมีอะไรในตัวพุ่งขึ้นกลางศีรษะ แล้วแผ่ซ่านไปทั่วร่างกาย

หลวงพ่อ : อันนี้เป็นความรู้สึกนะ เป็นความรู้สึกอันหนึ่ง ถ้าจิตใจนี่จิตใจดี จิตใจมั่นคง ความแผ่ซ่านมันก็จะรุนแรง อย่างเช่นเวลาเราฟังธรรมะ หรือเรามีสิ่งอะไรกระทบกระเทือนในหัวใจนี่ขนลุกขนพองเลย มันเป็นอย่างนี้.. การว่าขนลุกขนพอง ถ้าจิตใจดี ถ้าจิตใจไม่ดีนะแผ่ไปมันก็ไม่มีหรอก แผ่ไปขนาดไหนมันก็ไม่ออก นี่มันเป็นความรู้สึกของใจ

ถาม : ๒. การละพุทธภูมิ ควรกำหนดที่จิตแล้วลาแบบไหนครับ ก่อนหน้าตอนปรารถนาพุทธภูมิเจอจิตวิญญาณมาหามาก

หลวงพ่อ : อันนั้นส่วนหนึ่งนะ นี่พุทธภูมิมันมีหลายระดับ พุทธภูมิอย่างหยาบ เขาจะภาวนาไปก็ทำแบบหยาบๆ ถ้าพุทธภูมิละเอียดขึ้น พอถึงพุทธภูมิจนพระพุทธเจ้าพยากรณ์ แล้วนี่ตอนนี้กลับไม่ได้แล้ว แล้วถ้าพุทธภูมิอย่างหยาบๆ เขาก็สร้างบารมี

เราสังเกตได้ ไปตามวัดถ้าปรารถนาพุทธภูมิ สิ่งก่อสร้างหรือความเป็นไปในศาสนสถานนี่ไม่ค่อยละเอียด แต่ถ้าพุทธภูมิที่ละเอียดนะ โอ้โฮ.. บางทีประดับด้วยทองคำเลย นี่เพราะคำว่าบารมีของพุทธภูมิมันเริ่มตั้งแต่หยาบมา พัฒนามา แต่ถ้าพระพุทธเจ้ายังไม่พยากรณ์นี่กลับได้หมด กลับได้หมด อย่างเช่นหลวงปู่มั่นก็กลับ

หลวงปู่มั่นเวลาลาพุทธภูมิ กำหนดจิตให้สงบลงแล้วลาในสมาธิมันจะชัดเจนมาก แล้วเราต้องมีปัญญาของเรา ใคร่ครวญของเรา เพื่อตัดให้มันขาดไป ถ้ามันขาดไปปั๊บ พอจิตเป็นสมาธิแล้วมันจะออกใช้ปัญญาได้ แต่ถ้าเป็นพุทธภูมินะ จิตเป็นสมาธิขนาดไหนนะมันก็เป็นโลกียปัญญา

ความรู้สึกของจิตนะ ถ้าเข้าสมาบัติ เข้าต่างๆ นี่จะรู้มาก รู้มากขนาดไหนนะมันเป็นอภิญญา อภิญญานี่จะรู้เรื่องวาระจิต รู้เรื่องความคิด รู้เรื่องกรรม รู้เรื่องโลก รู้เรื่อง แต่มันก็เป็นเรื่องผลของวัฏฏะไง ถ้ารู้อย่างนี้ก็เหมือนกับองค์การนาซ่า องค์การนาซ่ามันก็รู้นะว่าดาวดวงนี้อยู่ละติจูดเท่านั้นๆ องค์การนาซ่าเขาก็รู้ รู้เป็นวิทยาศาสตร์ มันไม่รู้เข้ามาในตัวของเรา

ฉะนั้นสิ่งที่รู้แบบนี้นะโลกเขามหัศจรรย์มาก นี่ไงผู้วิเศษไม่ใช่อริยภูมิ ถ้าอริยภูมินะไม่ใช่รู้อย่างนั้น อริยภูมินี่องค์การนาซ่าเขาทำการวิจัยสำรวจเพื่อทางวิทยาศาสตร์ เพื่อทางโลก เพื่อทางวิชาการ เพื่อประโยชน์กับสังคม ประโยชน์กับโลก แต่เราภาวนานี่มันเพื่อประโยชน์กับจิตเรา จิตนี้มันจะเวียนตายเวียนเกิดไปตามวัฏฏะ กามภพ รูปภพ อรูปภพมันจะหมุนไปในวัฏฏะ

องค์การนาซ่าเขาพิสูจน์กันเรื่องโลก เรื่องปัจจุบันนี้เท่านั้น เรื่องจักรวาล แต่เรื่องกาลเวลาเขาพิสูจน์กันด้วยข้อมูลของเขา ฉะนั้นถ้าเรื่องจิตล่ะ เรื่องจิตเวลามันเกิดตาย มันเกิดภพเกิดชาติล่ะ ฉะนั้นสิ่งที่ว่าเราจะลานี่มันมาลาที่นี่ ลาที่หัวใจ ถ้าหัวใจมันเข้าใจสิ่งนี้แล้วมันจะเป็นประโยชน์มาก

ฉะนั้นปรารถนาพุทธภูมิ อันนี้ตอบเท่านี้ เพราะว่าวันนี้จะเอาหลายข้อหน่อยได้ไหม.. อันนี้เวลาถามนี่มันถามแปลกๆ อันนี้มีถามแปลกๆ เลย

ถาม : ๓๔๖. เรื่อง “จุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนา”

กราบหลวงพ่อ กราบเรียนถามปัญหาธรรมเพื่อความเข้าใจครับ สิ่งใดที่ควรเจริญที่สุดในฐานะที่เป็นพุทธศาสนิกชน และวิธีเจริญให้ถึงสิ่งนั้นคืออะไรครับ และควรทำสิ่งใด

หลวงพ่อ : ไอ้อย่างนี้ถ้าตอบนะเราเอาทฤษฎีมาตอบเลยล่ะ ถ้าอย่างนี้มันเหมือนอริยสัจ อริยสัจมันเป็นความจริงในพุทธศาสนา “ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ” ละด้วยวิธีใด เห็นไหม นิโรธจะเกิดจากมรรค

นี่สิ่งใดที่ควรเจริญที่สุด.. สิ่งใดที่ควรเจริญที่สุดในฐานะพุทธศาสนิกชน แล้วพุทธศาสนิกชนในฐานะไหนล่ะ ถ้าในฐานะของพุทธศาสนิกชนที่เขามีทะเบียนบ้าน เขาว่าเขาเป็นชาวพุทธ ทะเบียนบ้านเวลาลงในบัตรประชาชนว่านับถือพุทธศาสนา แล้วนับถือพุทธศาสนานี่แล้วเขารู้อะไรบ้างล่ะ เขานับถือพุทธศาสนาแล้วพุทธศาสนาก็มีพระ พระสงฆ์ประจำวัด ก็มีโบสถ์เอาไว้เวียนเทียน ถึงเวลาปีใหม่ก็ตักบาตรหนหนึ่ง ถึงสงกรานต์ก็ไปทำบุญเท่านั้นแหละ พุทธศาสนิกชนระดับไหน!

จิตใจของคนมันแตกต่างหลากหลายมาก ฉะนั้นเวลาตอบไปแล้วมันมีข้อโต้แย้งมาหมดแหละ ทำไม่ได้! ยังต้องประกอบอาชีพ ทำอะไรก็ไม่ได้.. แต่ถ้าพูดถึงความจริงแล้ว พุทธศาสนาสิ่งที่ควรเจริญที่สุด สิ่งที่ควรเจริญที่สุดนี่อริยสัจเลยล่ะ

“ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ เกิดนิโรธด้วยมรรคญาณ”

นี้ในสถานะของพุทธศาสนา เพราะจิตนี้มันจะกลั่นมาจากอริยสัจ เพราะจิตนี้ได้กลั่นจากอริยสัจ จิตนี้จะมีคุณประโยชน์มาก ถ้าจิตนี้ยังไม่ได้กลั่นมาจากอริยสัจ เราก็นับถือไว้เป็นศาสนาประจำชาติ ไม่ใช่ศาสนาประจำหัวใจด้วย.. ศาสนาประจำชาติ! ศาสนาเป็นเอกสาร เอาไว้เวลาไปต่างประเทศจะได้ลงเอกสารว่าพุทธศาสนา ศาสนาประจำเอกสาร ไม่ใช่ศาสนาประจำใจ

ถ้าศาสนาประจำใจ เห็นไหม เราเริ่มมีทาน มีศีล มีภาวนา.. ถ้ามีทานของเขาเพราะอะไร เขาทำสิ่งนั้นเพื่อใคร เขามีทาน มีศีล มีภาวนาเพื่อใคร เขามีทาน มีศีล มีภาวนา เพื่อหัวใจของเขา เพราะจิตใจนั้นเป็นพุทธะ! พุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ถ้ามีการกระทำขึ้นมามันจะไปฟอกใจดวงนั้น ถ้าฟอกใจดวงนั้นแล้วนี่พุทธศาสนาสอนที่นี่ สอนในหัวใจของตัว ถ้าหัวใจของตัวทำที่สุดแห่งทุกข์ได้แล้ว หัวใจนั้นจะมีคุณประโยชน์มาก

เพราะการทำที่สุดแห่งทุกข์ได้นี่ การกระทำอันนั้น อริยสัจอันนั้นที่เกิดขึ้นมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลานั่งอยู่โคนต้นโพธิ์ก็ทำแบบนี้ แล้วเราเป็นพุทธศาสนิกชน ถ้าเราจะเอาตามแก่นนะ แต่ถ้าไปเอาตามโลก ตามที่บอกว่าพุทธศาสนิกชนมันมีหลากหลาย แล้วครูบาอาจารย์ก็มีหลากหลาย พุทธศาสนาก็เลยคิดว่าทำอย่างนู้น ทำอย่างนี้.. ไม่ใช่! นั่นเป็นวิธีการทั้งหมด

วิธีการที่ครูบาอาจารย์ท่านสอน นั่นเป็นวิธีการทั้งหมด แต่เวลาถ้าเข้าถึงอริยสัจตามความเป็นจริงนี้มันเข้าถึงความเป็นจริง แต่เวลาครูบาอาจารย์สอนทุกคนก็อ้างว่าเป็นอริยสัจ อริยสัจอะไรล่ะ อริยสัจละเมอไง ละเมอว่าอริยสัจ ตื่นขึ้นมายังเดินไม่ถูกทางเลย บอกอริยสัจเป็นอย่างนั้นๆ มันละเมอเอามันก็เลยมั่ว แต่ถ้าเป็นความจริงมันพิสูจน์ได้ มันพิสูจน์ได้ว่าควรทำอย่างใด แล้วจะตรงกับจริตนิสัยของพุทธศาสนิกชนแนวทางไหน ถ้าแนวทางไหนมันก็ทำของมันถูกต้องได้

อันนี้พูดถึงว่าในสิ่งที่เขาถามเนาะ..

“สิ่งที่ควรเจริญให้ถึงที่สุดในฐานะที่เป็นพุทธศาสนิกชน และวิธีเจริญให้ถึงสิ่งนั้นคืออะไรครับ”

โอ้โฮ.. ไม่เคยทำทานเลยเนาะ คืออะไรครับ เคยทำบุญหรือเปล่าไม่รู้นี่.. ก็วิธีที่เจริญให้ถึงที่สุดนั้นคืออะไรครับ แล้วควรทำสิ่งใด

การทำบุญนี่นะ การทำบุญคือการเสียสละ การเสียสละนี่ถ้าจิตใจมันไม่เปิดกว้างทำอะไรไม่ได้หรอก จิตใจไม่เปิดกว้างนะ จิตใจตระหนี่ถี่เหนียว จิตใจที่ไม่รู้สิ่งใดเลย มันคิดนี่ด้วยความตระหนี่ใช่ไหม.. ในการศึกษาของเรา ในการแข่งขันจะเอาที่หนึ่งของประเทศไทย แล้วที่หนึ่งของประเทศไทยนี่ดูสิคนที่ไม่มีการศึกษานะเขาก็เป็นเศรษฐี มหาเศรษฐีเยอะแยะไปหมดเลย ทำไมเขาเป็นอย่างนั้นได้ล่ะ นี่เพราะเขามีการกระทำของเขา

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน จะเอาที่หนึ่งของประเทศไทย มันเป็นแต่ทางวิชาการไง แล้วจะทำสิ่งใดล่ะ แต่ถ้าเราไม่ต้องการเป็นที่หนึ่งของประเทศไทยใช่ไหม เราทำเพื่อตัวเราใช่ไหม พอเราทำด้วยตัวเรา นี่การทำบุญกุศล การเสียสละในการเปิดใจให้กว้าง พอเปิดใจให้กว้างขึ้นมา นี่จิตใจที่เป็นสาธารณะขึ้นมา มันจะทำใจให้มันมั่นคงได้ พอใจมั่นคงได้เดี๋ยวมันจะย้อนกลับไป นี่ศีล สมาธิ ปัญญา แล้วเกิดขึ้นมาจะตื่นเต้น

คนเรานะพอศึกษาพุทธศาสนานี่เรายังแปลกใจ โอ้โฮ.. ทำไมพระพุทธเจ้าสอนละเอียดขนาดนั้น เพราะโดยสามัญสำนึก โดยประเพณีวัฒนธรรมก็คิดกันแต่ว่าเป็นชาดก เป็นเรื่องนิทาน คำกลอนก็ว่ากันไป แล้วกลับมาดูถูกด้วยนะ ดูถูกผู้เฒ่าผู้แก่นะว่าเชื่ออะไรกันงมงาย มันไม่เห็นมีอะไรเป็นวิทยาศาสตร์ ที่น่าเชื่อเลย แต่พอมาศึกษาธรรมโดยที่เราศึกษาเองนะ.. สอง พอเวลาเราเริ่มปฏิบัติขึ้นมาเรายิ่งจะรู้เข้าไปใหญ่ แล้วยิ่งมหัศจรรย์ด้วย

ทุกคนว่าตัวเองนี่เป็นคนดี ทุกคนว่าตัวเองเป็นคนเข้มแข็ง แต่เข้มแข็งทำไมเอาปัญญาของเรา ทำไมเอาจิตไว้ในอำนาจของเราไม่ได้ล่ะ มันไม่เห็นเข้มแข็งตรงไหนเลย แล้วเวลาบอกเป็นคนรักตัวเอง รักตัวเองนี่พุทธศาสนาก็สอนแล้ว เห็นไหม สิ่งที่ทำมานี่กุศล อกุศล.. อกุศลเป็นสิ่งไม่ดีทั้งนั้นแหละ ทำไมทำกันล่ะ

ดูสิเขาบอกอย่างรัฐบาลเรานี่ เป็นรัฐบาลของชาวพุทธ เป็นพุทธศาสนา แต่ทำไมมีโรงงานยาสูบ ทำไมมีโรงงานสุราล่ะ อ้าว..ก็มันผิดศีล ทำไมทำอะไรผิดศีลล่ะ เห็นไหม เวลาเขาโต้แย้ง นี้เราก็มองกลับมาในสังคมโลกสิ ตอนนี้นะทางยุโรป อเมริกา มันพยายามจะบีบให้เปิดประเทศ มันจะขายบุหรี่ เวลาเหล้าไม่ให้โฆษณานะมันก็เอาทูตเข้ามาบีบเลยนี่

เราอยู่กับสังคมโลก เราอยู่กับสังคมโลกเราต้องรู้ว่าสังคมโลกมันบริหารอย่างไร แล้วตัวเราเองเราจะบริหารอย่างไร ตอนนี้นะมีปัญหามากเรื่องการเจรจาธุรกิจการค้า ให้เปิดตลาด ให้เปิดตลาด จะเปิดตลาดนะจะเอาเหล้าเข้ามาขาย.. ถ้าพูดอย่างนี้แล้วคิดถึงสงครามฝิ่นเนาะ เวลาพูดถึงสงครามฝิ่นนี่น่าเศร้าเนาะ ให้เปิดตลาดเพื่อเอาฝิ่นเข้าไปเมืองจีน สงครามฝิ่นโอ้โฮ..

เวลาความคิดของโลกมันบีบคั้นกันไง แล้วตอนนี้ นั่นสงครามฝิ่นใช่ไหม ไอ้นี่สงครามบุหรี่ สงครามสุรา เปิดตลาดให้ได้ บีบจนรัฐบาลหน้าเขียวหน้าเหลืองเลย แล้วนี้คนมันก็ต้องมีความชอบใช่ไหม แต่นี้ทำไมรัฐบาลถึงมีโรงงานยาสูบ นี่เวลาเขาก็อ้างกันอย่างนั้นแหละ

นี่พูดถึงเวลาโลกไง แต่ถ้าเป็นธรรมแล้วไม่มี เป็นธรรมนะเมื่อก่อน เมืองไทยนี่เมืองพุทธ มันก็แบบว่าหยุดวันพระ มันก็กลัวจะไม่เจริญทันเขา ก็เปลี่ยนมาเป็นหยุดเสาร์ อาทิตย์ ตอนนี้ศรีลังกาเขายังหยุดวันโกนวันพระอยู่ เขากำลังจะตัดสินใจ รัฐบาลเขาประชุมกันอยู่ว่าจะหยุดวันพระหรือจะหยุดเสาร์ อาทิตย์

มองสังคมไทยแล้วมองศรีลังกา ศรีลังกานี่เมื่อก่อนสังคมไทยก็เหมือนสังคมศรีลังกา แล้วเพราะว่าด้วยการพัฒนา โลกมันพัฒนาขึ้นมาจะให้ทันเขา นี่พูดถึงว่าสิ่งใดที่ควรเจริญในพุทธศาสนา พุทธศาสนิกชนควรทำอย่างไร แล้วพอเราศึกษาตามทฤษฎีแล้ว เราก็ต้องเอาทฤษฎีเป็นตัวตั้ง แล้วเขาบอกว่านี่เมืองพุทธ.. เราก็พูดนะ เราก็พูดว่าสังคมไทย เมื่อก่อนพระนี่เขาจะยกย่องมาก พระนี่นะไปไหนเขาจะยกย่องเลย แล้วพอสุดท้ายแล้วกฎหมายก็บังคับให้พระมีสิทธิเท่าข้าราชการ ต่อไปพระจะมีสิทธิเท่ากรรมกร จะลดปัญหาพระไปเรื่อยๆ เขาบอกบริหารยาก

เราธุดงค์มานะ ธุดงค์มาเวลาจะกลับบ้าน เวลาเจอรถเมล์นี่ พอมันเจอพระนี่นะมันส่ายหน้าเลย แล้วพอเวลาขึ้นรถโอ้โฮ.. ลำบากมาก เวลาเขามองพระมองต่างๆ มองแบบว่าเป็นภาระเขาไปหมดเลย แต่ด้วยการบังคับของวินัย ภิกษุห้ามถือเงินและทอง ภิกษุห้ามถือเงินและทอง ห้ามทุกๆ อย่างเลย วินัยบังคับไว้ให้พระไม่ให้มี แล้วพอพระไม่ให้มี พระจะเดินทางต้องอาศัยเขา พออาศัยเขาขึ้นมา เราชาวพุทธเราก็อยากจะมีพระที่ดีๆ แต่เวลาพระจะอาศัยเรา เราก็บอกว่าพระนี้เป็นภาระ

ทีนี้พระนี่จะโตขึ้นมานะ ดูสิครูบาอาจารย์ของเราท่านพยายามจะสร้างพระ เห็นไหม บวชพระขึ้นมาจะดูแลพระ เพื่อให้พระมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา นี่ถ้ากฎหมายเอื้อให้ เมื่อก่อนนะในกรุงเทพฯ รถเมล์เขาจะมีที่นั่งของพระ ต่อไปเขาจะเอาออกหมดเลย เพราะพระขึ้นไม่ทันเขาหรอก เพราะพระมันก็ต้องมีเดินทาง

นี่กฎหมายเขียนเอื้อให้สังคมพุทธ กฎหมายเอื้อให้กับชาวพุทธ เมื่อก่อนมันยังเข้มข้นอยู่ เอื้อให้มากเลย เดี๋ยวนี้ชักจะหมดไปแล้ว ชักจะหมดไปเรื่อยๆ แต่มันก็ยังดีอยู่ ยังดีที่ว่ามันยังมีกฎหมายรองรับ.. นี่พูดถึงเพราะว่าโลกกับธรรมไง แล้วมาอยู่ด้วยกัน แล้วเราจะเอาอะไรออกหน้าล่ะ สุดท้ายแล้วนะทุกคนนี่ ถ้ารัฐบาลหรือว่าวิสัยทัศน์ของผู้นำไม่ดี สุดท้ายแล้วแก้ไม่ไหว อย่างเช่นสภาวะแวดล้อม เวลาเราสร้างอุตสาหกรรม เริ่มต้นเราลงทุนด้วยต้นทุนต่ำใช่ไหม น้ำเสียก็กำจัดน้ำเสียทุกอย่าง แล้วสุดท้ายแล้วต้องตั้งงบประมาณเพื่อมารักษาสภาวะแวดล้อมอีกมหาศาลเลย

แต่ถ้าเริ่มต้นนี่เราบังคับมาเลยว่าโรงงานอุตสาหกรรมต้องบำบัดน้ำเสีย ต้องมีสภาวะแวดล้อมต่างๆ เราจะไม่ต้องตั้งงบประมาณมาเพื่อมาบำบัดนะ ประชาชนก็เจ็บไข้ได้ป่วย ทุกอย่างก็เสียหายไปหมดเลย เพราะอะไร เพราะวิสัยทัศน์ของผู้นำ อยากจะเจริญอย่างเดียว อยากจะต้องการ GDP นี่พูดถึงนะ

ย้อนกลับมาศีลธรรม จริยธรรมก็เหมือนกัน ศีลธรรม ประเพณีวัฒนธรรมนี่เราปล่อยให้มันหมดไป แล้วก็มาเรียกร้องกัน เด็กสมัยนี้ใจแตก เด็กสมัยนี้.. ก็ทำกันมา! ก็วิสัยทัศน์ตัวเองไม่มี แล้วก็ไปโทษๆ ไง

นี่พูดถึงเขาถามนะว่า “ควรเจริญสิ่งใดในพุทธศาสนิกชน” เราตอบไปไหนก็ไม่รู้ เขาถามว่า “พุทธศาสนิกชนควรทำอย่างใด” ทำไมไปเป็นเรื่องของชาวพุทธไปหมดเลย.. นี่พูดถึงเวลาพูดแล้วมันไปของมันเรื่อยล่ะ เพราะจะเถียงกันได้ตลอดไง ถ้าจะยืนกระต่ายขาเดียวแล้วมาเถียงกันว่าอะไรควรอะไรไม่ควร มันเถียงกันได้ทั้งชาติเลยล่ะ ทีนี้เวลามองปั๊บนี่เราจะไปแก้กันที่ไหนล่ะ เราจะไปแก้ที่อดีตมันไม่ได้แล้วล่ะ ตอนนี้ในปัจจุบันนี้เป็นอย่างนี้แล้ว

นี่พูดถึงพุทธศาสนิกชน ชาวพุทธควรทำตัวอย่างไร.. ตั้งสติ เริ่มต้นมันต้องเริ่มต้นก่อน เริ่มต้นมีศรัทธา มีความเชื่อนะแล้วฟังธรรม เวลาศึกษาธรรมะแล้วสิ่งใดมันตรงกับจริตเรา แล้วเริ่มต้นฝึกหัดของเรา เริ่มต้นฝึกหัดให้ตัวเราเป็นคนดี แล้วพอเป็นคนดีนี่ดีเพื่อเรา พอดีเพื่อเราแล้ว ถ้าเราปฏิบัติไปใจเราจะดี พอใจเราจะดี พอมันเสื่อมขึ้นมาใจมันจะชั่ว ชั่วหมายถึงความคิดนะ มันจะคิดของมันอกุศลทั้งนั้นแหละ แต่ถ้าจิตเราดีมันจะคิดเป็นกุศล

กุศล อกุศลมันเกิดที่ใจ พอมันเกิดที่ใจมันพลิกขึ้นไป ถ้าเรามีสติปัญญาควบคุมเข้าไป แล้วรักษาเข้าไป เดี๋ยวเราจะเข้าใจเลยว่ากุศล อกุศลนี่มันเป็นทางผ่าน พอเวลาจิตมันพ้นไป พ้นทั้งดีและชั่ว พ้นทั้งกุศลและอกุศล มันถึงเป็นความจริงของมัน.. มหัศจรรย์มาก! ใจนี้มหัศจรรย์มาก แล้วบอกให้เริ่มต้นตรงไหนล่ะ เริ่มต้นตรงเสียสละทำบุญกุศล แล้วนั่งสมาธิภาวนาไป จะเริ่มต้นตรงนี้!

ถาม : ๓๔๗. เรื่อง “ใบอนุโมทนาบัตร”

หลวงพ่อ : คนนี้ทำบุญหรือเปล่าก็ไม่รู้เหมือนกัน

ถาม : ขอสอบถามเกี่ยวกับการไปทำบุญที่วัด แล้วขอใบอนุโมทนาบัตรเพื่อเอาไปหักลดหย่อนภาษี กรณีแบบนี้ บุญกุศลที่ทำไปนี้จะได้เต็มร้อยหรือว่าบกพร่องหรือไม่ครับ เพราะเหมือนว่าให้ไปแล้วแต่ก็ยังอยากได้คืนเพียงเล็กน้อย เพื่อไปได้คืน เพียงแต่ไปเอาคืนอีกที่หนึ่งที่ไม่ใช่วัดครับ

หลวงพ่อ : กรณีนี้มันเป็นที่ว่าจิตใจของคน มันเป็นการฝึกหัดนะ จิตใจของคน เห็นไหม พอเวลาทำบุญไปแล้ว ถ้าจิตใจของคนนะ ดูสิคนทำบุญแล้วพระนี่เขาจับทางได้ พระที่เขาเป็นธุรกิจนะ.. เราเคยเจอเราตกใจเลยนะ พระนี่เขามีใบอนุโมทนา แล้วเขาให้โยมมาทำบุญ แล้วเขาเขียนใบอนุโมทนาให้ แล้วมีต้นขั้วนะ เขาไปจับฉลากต้นขั้วได้รถปิกอัพกัน อู้ฮู.. เจอแล้วงงเลยนะ ทำไมพระมันคิดได้ขนาดนั้น

อ้าว.. นี่เรื่องจริง เราเจอจริงๆ นะ สมมุติมีการทำบุญใช่ไหม เขาก็บอกว่าถ้าใครทำบุญ ใครโชคดีจะได้รถปิกอัพคันหนึ่ง แล้วเขามีใบอนุโมทนาให้ แล้วก็มีต้นขั้วใช่ไหม แล้วเขามาจับฉลากต้นขั้ว นี่คือการเล่นหวยนะ นี่คือการเล่นหวยอย่างหนึ่ง นี่คือการพนันอย่างหนึ่ง พระองค์นี้ได้ขออนุญาตกรมสรรพากรหรือเปล่าจัดการพนันนี่

นี่เพราะเรามีความคิดกันอย่างนี้ใช่ไหม แล้วสังคมมีความคิดกันอย่างนี้ พระที่เขามีเทคนิค เราไปเจอเข้าเราตกใจเลยนะว่าพระองค์นี้คิดแบบนี้ได้อย่างไร เขาคิดได้นะ งงเลยนะ ทำบุญนี่มีใบอนุโมทนา ๕ บาท ๑๐ บาท เขียนไปๆๆ นะ แล้วมาล้วงต้นขั้วมันไง จับต้นขั้วของใคร ถ้าถูกต้นขั้วนั้นได้รถปิกอัพคันหนึ่ง เพราะอะไร เพราะเขามีความคิดอย่างนี้ นี่ถ้าคนมีความคิดอย่างนี้ เขาคิดอย่างนี้ปั๊บเขาจะบริหารจัดการเรื่องอย่างนี้ไปได้สบายมากเลย

ฉะนั้นสิ่งที่คนหยาบคนละเอียด เห็นไหม ดูสิเวลาเราทำบุญ บางคนทำบุญต้องประกาศ นี่ที่ประกาศทุกวัน ประกาศจนน่าเบื่อ กับคนที่เขาไม่ต้องประกาศมันก็ต่างกันไหม การประกาศคือพระสงบทำบุญ ๕ บาท ยื่นใหญ่เลยนะ ประกาศ! ประกาศ! ไอ้ ๕ บาทเหลือ ๒ สลึง ก็ไอ้อยากประกาศนี่ไง พระสงบทำบุญ ๕ บาท เฉย.. เขาเรียกทำบุญทิ้งเหว ได้บุญมากนะ เพราะบุญนี้คือการเสียสละ ในเมื่อเราเสียสละแล้ว เราทำไมต้องให้เขาประกาศเพื่อแบบว่ามันก็อีโก้นั่นแหละ ให้อีโก้นั้นกลับมา

แต่ทีนี้เวลาเมื่อก่อนทำไมหลวงตาท่านทำ หลวงตาท่านทำเป็นครั้งเป็นคราว เป็นครั้งเป็นคราวเพราะอะไร เพราะเวลาทำบุญขึ้นมา ถ้ามันไม่มีใครทำบุญ เห็นไหม เวลาท่านทำบุญท่านจะบอกอย่างนี้ เวลาบอกว่า “นี่เราต้องเสียสละ เราต้องทำบุญนะ” เวลาคนมาทำบุญมากๆ ท่านจะพูดนะ “คนนี้ทำไมทำบ่อย เราพูดนี้เราพูดเผดียงเพื่อคนที่เขาไม่ทำ ไอ้คนที่มาให้บ่อยๆ เงินทองมันหาง่ายๆ เหรอ”

หลวงตาท่านพูดบ่อย เวลาหลวงตาท่านพูดเรานั่งฟังอยู่นะสะอึกเลย ถ้าคนนี้ให้ซ้ำให้ซากนะ ทำไมให้ทุกวัน เงินทองหาง่ายๆ เหรอ รู้จักพอดีสิ ไอ้ที่พูดๆ อยู่นี้พูดถึงคนที่มันไม่ให้ เวลาท่านพูดนะ ท่านพูดถึงให้เสียสละนี่.. ไปฟังเทศน์หลวงตาสิ เวลาท่านพูดเรื่องเสียสละ ท่านพูดกระตุ้นนี่ กระตุ้นคนที่มันนั่งฟังแล้วมันไขสือ มันนั่งฟังแล้วมันไม่ควัก

นี่จริตนิสัยของคนไม่เหมือนกัน ท่านพูดกระตุ้นคนที่มันมี แต่ความตระหนี่ในหัวใจมันมี มันไม่ยอมควัก แต่ไอ้คนที่จิตใจเป็นธรรมนะก็ควักแล้วควักอีก ควักแล้วควักอีก ท่านก็ถามว่าเงินทองมันหาง่ายหรือ การให้มันก็ต้องสมควร ไม่ใช่ให้ทุกวันๆ

ทีนี้สังคมเป็นแบบนี้ ความสภาวะแวดล้อมเป็นแบบนี้ แล้วท่านเป็นคนกลาง ท่านจะพูดอย่างไรกับสังคม ฉะนั้นเวลาท่านอ่านมันก็เหมือนกัน บางทีมาเจอท่านไม่ให้อ่าน ทิ้งเข้าป่า! ทิ้งเข้าป่า! แต่บางทีท่านอ่าน ท่านอ่านเพราะอะไร เพราะกระตุ้นนี่ไง อ้าว.. คนนั้นได้อ่าน ไอ้คนนี้ควักเลยกูจะอ่านบ้าง พออ่านนะพระสงบ ๕ บาท ไอ้นั่งข้างๆ ๒ บาทจะควักเลย ๒ บาท

ท่านทำของท่านนะเรานั่งดูอยู่ บางทีก็อ่าน เราจะบอกว่าไม่ใช่ไม่ให้อ่านเลยนะ บางทีสังคมหรือความเป็นไปมันสมควร มันเป็นการกระตุ้นได้ นี้มันเป็นเทคนิค เป็นลักษณะของผู้นำที่จะทำ แต่ไม่ใช่เหมือนเรานี่มันเถรส่องบาตรใช่ไหม พอเริ่มอ่านนะก็ต้องอ่านตั้งแต่ใบแรกยันใบสุดท้าย พอเริ่มอ่านตั้งแต่ใบแรกจนใบสุดท้ายนะ มันเป็นเข่งๆ มันอ่านไม่ไหวหรอก มันเป็นไปไม่ได้ ใบปวารณาเป็นเข่งๆ เลย เราจะอ่านทุกใบนี่ ๗ วันอ่านไม่จบ

ถ้าพูดถึงมีเหตุมีผล นี้คนทำบุญก็เหมือนกัน คนทำบุญจิตใจที่เขาสูงส่ง เขาปิดทองหลังพระ เขาไม่อยากให้รู้ด้วย แต่ถ้าเป็นคนที่เขาอยากเป็นอย่างนั้น.. ไอ้กรณีที่ผู้ถามนี่เราต้องบอกว่า ผู้ถามต้องวัดถึงวุฒิภาวะของจิตใจของสังคม สังคมวุฒิภาวะจิตใจของคนมันไม่เท่ากัน บางคนนะขนาดอย่าว่าแต่ทำบุญเลย หาอยู่หากินก็ยังทุกข์ยังยาก แล้วพอเขาได้มาเขาก็อยากจะได้ให้เขาชื่นใจ ให้ได้เต็มที่ของเขา ถ้าอย่างนั้นแล้วนะเราจะเขียนขึ้นคัตเอ้าท์เลย ขึ้นคัตเอ้าท์ประเทศไทยให้เลยนะ “ยายคนนี้ได้ทำบุญเท่านั้น” ให้เขาได้ชื่นใจนะ นี่พูดถึงลักษณะความรู้สึกของคน

ฉะนั้นเวลาเราพูดกันทางทฤษฎี นี่มันเป็นทฤษฎี แล้วเราทฤษฎีนี้ไปวัดค่าใจของคนทุกๆ คนมันไม่เหมือนกัน ทฤษฎีนะโดยหลักการเป็นแบบนี้ ดูสิกฎหมายบังคับแล้ว บางคนก็ทำผิดกฎหมาย บางคนทำดีกว่ากฎหมาย บางคนทำเสมอกฎหมาย ทฤษฎีนี้เหมือนกฎหมาย แต่ความรู้สึกของคน ความเป็นไปของคนมันหลากหลายนัก

ฉะนั้นสิ่งที่ถามมานี่ มันถามมาด้วยความรู้สึกของเรา แล้วคนที่มีความคิดอย่างนี้ก็เยอะ ทีนี้ถ้าคนที่มีความคิดอย่างนี้ว่าทำไมทำบุญแล้ว ทำไมจะต้องเอาใบอนุโมทนามาเพื่อหักภาษี อันนี้มันเป็นเหมือนกับรัฐบาลท่านเปิดช่องไว้ให้ รัฐบาลเขาก็อยากให้คนทำบุญใช่ไหม หรือรัฐบาลเขาแบบว่าส่งเสริมศาสนาด้วยวิธีการหักภาษี

ฉะนั้นใครทำบุญนะ ๑. ส่งเสริมศาสนา ๒. ไม่อยากพูดคำนี้เลยเนาะ แต่ก็มีอยู่ อย่างเช่นพวกเครื่องราช ทำดีก็ต้องได้ดีตอบแทน แล้วทีนี้พอทำดีต้องได้ดีตอบแทนนี่เขาไปคิดกันตรงนั้น

ฉะนั้นไอ้นี่ก็เหมือนกัน ทางรัฐบาลเขาบอกว่าให้หักลดหย่อนภาษีได้ เราก็คิดกันตรงนั้น ก็คิดว่าไปได้อีกทางหนึ่ง แต่ได้ทางนั้นอย่างที่ว่ามันก็มีผลนะ ผลของการที่ว่าบุญได้มากขนาดไหน นี่เขาบอกว่าทำแล้วบุญมันจะไม่ได้เต็มร้อยไง แต่ถ้ามันคิดแล้วมันก็ไม่เต็มร้อย อย่างที่เราบอกที่ว่าทำบุญในสมัยพุทธกาล เพราะมันไม่มีตัวอย่าง เขาทำด้วยจิตใจที่สะอาดบริสุทธิ์ เขาจะได้ของเขาเต็มที่เลย แต่ในปัจจุบันนี้เราต้องมีตัวอย่าง

เราต้องมีตัวอย่างใช่ไหม นี่ทำบุญอย่างนี้ในพระไตรปิฎก สมัยพุทธกาลคนทำบุญอย่างนี้จะได้บุญอย่างนั้น ทำบุญอย่างนี้จะได้อย่างนั้น เราก็คิดวาดฝันเลย นี่สร้างกุฏิแล้วจะได้วิมานบนสวรรค์ พอสร้างกุฏิหลังหนึ่งก็ทะเลาะกันยังไม่จบเลย มันจะได้วิมานอะไรก็ไม่รู้ ร้อนเป็นไฟเลย จะเอาวิมานบนสวรรค์สักหลังหนึ่ง ข้างล่างนี่ก็ฟัดกันจนแหลกไปเลยวิมานก็ยังไม่เสร็จ เพราะเราไปมีเป้าหมายไว้ไง

ฉะนั้นไอ้อย่างนี้ เวลานักปฏิบัตินะไม่อยากเกิดบนพรหม ไม่อยากเกิดบนสวรรค์ อยากจะสิ้นจากทุกข์ ฉะนั้นถ้าปฏิบัติแล้วไม่ถึงที่สุดแห่งทุกข์ ก็มาขอเกิดเป็นมนุษย์ได้ประพฤติปฏิบัติอีก ถ้าไปเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม เวลาอายุยืนถ้ามันหมดบุญแล้วก็ต้องกลับมาเกิดอีก แล้วกลับมาเกิดอีกจะเจอพุทธศาสนาหรือไม่ อันนี้มันก็เป็นแนวคิดของผู้ปฏิบัติใช่ไหม ถ้าผู้ปฏิบัติมีแนวคิดอย่างนี้ ไอ้เรื่องสวรรค์ ไอ้เรื่องวิมาน ไอ้เรื่องนี้มันเป็นเรื่องไร้สาระเลยล่ะ

เรื่องวิมาน เรื่องภพชาติที่ว่าเราจะต้องไปเสวยนี่เราไม่อยากไปแล้ว เวลาผู้ปฏิบัติเขาไม่อยากไปไหนนะ เขาอยากจะสิ้นจากทุกข์ทั้งนั้นแหละ ถ้าเราอยากจะไปที่ไหนแล้วไปอยู่ที่นั่น เห็นไหม เราจะต้องไปอยู่ที่นั่น แล้วกว่าจะหมดอายุขัย แล้วพอหมดอายุขัย ดูสิเวลาเราขึ้นรถ ถ้ารถคันนี้ดีเราก็พอใจ ถ้าเราไปขึ้นรถบุโรทั่ง รถมันจะพังนี่เราก็ลำบากใจ

เกิดมาสภาวะปัจจุบันนี่รถดี คนดี ทุกอย่างดี มันก็อยากปฏิบัติ พอมาเกิดเป็นคนอีกทีหนึ่งนะ ไปเจอรถไอ้ที่ว่ามี ๓ ล้อ อีกล้อหนึ่งไปไม่ได้ยางแตก แล้วจะปฏิบัติอะไร แม้แต่มาดูแลรถเราให้ครบ ๔ ล้อ ให้รถเราดีเรายังทุกข์ยากเลย แล้วจะปฏิบัติอย่างไร แต่ถ้าจิตใจของเขา..

เราจะบอกว่าเวลาเกิดตายๆ นี่ไม่ใช่ว่าเกิดแล้วจะมาคิดอย่างนี้ตลอดไปนะ เวรกรรมนี่ พันธุกรรมทางจิตมันจะตัดแต่งของมันไป พันธุกรรมทางจิตไง เกิดชาติหนึ่ง เคยมีอะไรฝังใจด้วยความทุกข์ความยาก พอไปเกิดชาติใหม่ นิสัยมันบอกอันนี้มันปฏิเสธเลย มันไม่ฟังอันนี้ มันจะไปฟังอันอื่น

นี่จริตนิสัยของคนนะ ดูสิเวลาคนเกิดมา เห็นไหม นิสัยมันแตกต่างเพราะว่าอะไร แตกต่างเพราะว่าในชาติก่อนที่จะมาเกิดมันมีอะไรฝังใจไง มีความทุกข์ความยาก มีความบีบคั้น มีอะไรนี่มันก็ฝังใจไว้ ฝังใจไว้ เวลาเจอมันก็ปฏิเสธในจิตใต้สำนึก พอมาเกิดในชาตินี้ไม่เอาไอ้นู้น ไอ้นู้นไม่เอา อย่างนี้ไง นู้นก็ไม่กินจะกินอย่างนี้ ไอ้นู้นก็กินไม่ได้ ไอ้นี่ก็กินไม่ได้ เขากินกันอร่อยจะตาย

เรามีญาติอยู่คนหนึ่งนะ กินทุเรียนไม่ได้ ถ้าวันไหนปอกทุเรียนนะเป็นลมเลย เรื่องจริงนะนี่ไม่ใช่พูดเรื่องเล่นนะ ถ้าจะกินทุเรียนนะต้องบอกให้ญาติไปอยู่ไกลๆ หรือต้องไปแอบกินกัน ถ้าวันไหนฉีกทุเรียนนะ แล้วญาติได้กลิ่นนะลมจับเลย นี่เรื่องจริงเห็นมากับตาเลย นั่นเป็นเพราะอะไรล่ะ ไอ้เราเกิดมาได้กินทุเรียน แหม.. มันมีความสุขมากเลย แต่ทำไมเขากินทุเรียนไม่ได้ ฉีกทุเรียนได้กลิ่นลมจับ ลมจับทันที แล้วเป็นทุกที

นี่ไงทำไมมันเป็นอย่างนั้นล่ะ แล้วพวกเรานี่ถ้าไม่ได้กินทุเรียนนะ เวลาทุเรียนมีไม่ได้กินนะ โอ้โฮ.. มีกรรมน่าดูเลยเนาะ ของดีๆ อย่างนี้เกิดมากินไม่ได้ ทำไมมันเป็นอย่างนั้น นี่เรื่องกรรมมันแปลกมาก มันแปลกของมันจริงๆ ฉะนั้นเวลาคิดอย่างนี้เราคิดได้ เราก็คิดอย่างนั้น แล้วเราพยายามฝืน เห็นไหม

เราทำอยู่นะอย่างเช่นวัดเราจะไม่มีใบอนุโมทนา น้อยมาก จะไม่ค่อยออกให้ใคร แต่เรามีของเราเพราะเราเป็นวัด วัดนี้ถ้าไม่มีใบอนุโมทนามันก็เหมือนวัดที่บกพร่อง เพราะตามกฎหมายเขาต้องมีให้ครบสมบูรณ์ตามกฎหมาย ฉะนั้นวัดเรานี่มีใบตราตั้ง มีใบอนุโมทนา มีทุกอย่างเลย แต่เราก็พยายามไม่ออกให้ใคร

เพราะตรงนี้ เราเห็นด้วยกับตรงนี้ตรงที่ว่า เขามาทำบุญแล้วเขาควรได้บุญ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เขาไม่ควรเอาสิ่งใดมาเป็นเครื่องนิวรณ์ มาเป็นความกังวลของใจเขาอีกเลย เขาเสียสละแล้วเขาต้องเสียสละให้ขาด เสียสละให้ขาดไปเลย จบสิ้นกันไปเลย นั่นล่ะบุญของเขา แล้วที่ไปหักภาษีที่ได้กลับคืนมานั่นน่ะ บุญมันมีค่ามากกว่านั้น สิ่งที่บุญมีค่ามากกว่านั้นเราไปหาเอาข้างหน้าดีกว่านั้น

เหมือนกับเราใช้สอยให้มัน.. หลวงตาท่านพูดนะ “บุญเขาไม่สมบูรณ์” เมื่อก่อนนะเราอยู่กับหลวงตา แล้วมูลนิธิหลวงปู่มั่นนี่แหละเขาเอาเทป ตอนนั้นม้วนละ ๑๐ บาท หรือ ๙ บาทจำไม่ได้ เขาอัดเทปแจกแล้วเขาขายในราคาต้นทุน แล้วเขาก็ไปรายงานหลวงตา เราอยู่ที่บ้านตาด เจ้าของมูลนิธิไปรายงานหลวงตาบอกว่าเขาซื้อเทปมาด้วยราคาเท่านี้ แล้วเขาก็อัด แล้วเขาก็ขายในราคาต้นทุน

หลวงตาเอ็ดใหญ่เลยนะ หลวงตาเอ็ดใหญ่เลยบอกว่าไม่สมควรทำ! ไม่สมควรทำ! อ้าว.. ก็ไม่ได้มีกำไรเลย หนูต้องเสียค่าไฟอีกนะ หนูต้องเสียค่าคนงานอัดให้เขาอีกนะ หนูต้องเสีย.. ท่านก็เอ็ดใหญ่เลยนะ เราก็งงนะ แต่พอมันนานไปๆ เราภาวนาขึ้นมานี่โอ้โฮ.. แล้วหลวงตาถูก เพราะว่าอะไร เพราะเราให้เขานี่นะ โดยความที่ให้ขาดนี่เราได้บุญ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เราทำเพื่อ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์

อันนี้เราซื้อมา ๘ บาท เสียค่าไฟ เสียค่าคนงาน เราก็ขาย ๘ บาท เราก็ได้แค่เราให้ทานเรื่องธรรมะ แต่ไอ้ตรงตัวเทปนี่เราไม่ได้ คือทำบุญแล้วมันได้ครึ่งๆ กลางๆ แต่ทางโลกเขาคิดกัน เขาชอบมันเป็นธุรกิจไง มันจะได้หมุนเวียน มันจะได้แจกนานๆ ไง

นานๆ ได้บุญ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ทำสั้นๆ สะดวกสบายได้บุญ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์มันไม่เอาไง มันจะเอาทุกข์ๆ ไง แล้วได้บุญน้อยๆ ไง เวลาทำให้สั้นๆ ทีเดียวจบแล้วได้บุญเต็มที่ไม่เอา แต่ถ้าทำบุญแล้วกระเสือกกระสน หายใจไม่ค่อยออก เป็นหวัดนี่ชอบ! แล้วก็ได้บุญครึ่งปอดไง

เมื่อก่อนคิดไม่เป็นนะ เห็นเขาเถียงกับหลวงตาเรายังเข้าข้างโยม ในใจคิด ไม่กล้าพูดหรอกเดี๋ยวโดนอัด แต่ในใจคิดเข้าข้างโยม เอ๊ะ.. โยมเขาก็ถูกนะ ทำไมหลวงตายังเอ็ดเขาเนาะ ยังคิดเอ๊ะ.. โยมเขาก็ถูก ก็มีเหตุมีผล หลวงตาไม่มีเหตุมีผลเลย พูดอะไรเอาแต่อารมณ์.. คิดในใจ ไม่กล้าพูดหรอกเดี๋ยวหน้าแตก แต่พอเรามาปฏิบัติไปเรื่อยๆ นะ โอ้โฮ.. หลวงตากูสุดยอดเลย หลวงตากูคิดอะไรนี่สะอาดบริสุทธิ์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์

โลกคิดกันกึ่งๆ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ คิดกันครึ่งๆ กลางๆ โลกคิดได้เท่านั้น แล้วเราก็เป็นโลกเราก็คิดกับเขาเหมือนกัน.. จริงๆ เรื่องนี้เกิดขึ้นมาเราอยู่ที่นั่นด้วย อยู่บนศาลานั่นล่ะ เขามารายงานแล้วหลวงตาอัดเขาไง เราก็คิดเข้าข้างเขา คิดเข้าข้างเขาอยู่ เอ๊ะ.. เขาทำดีขนาดนี้หลวงตายังล่อเขาอีก คิดเข้าข้างเขาอยู่ แต่มาตอนหลังนะ โอ้โฮ.. มึงมันโง่! นี่มันคิดได้อย่างนี้ เห็นไหม นี่ขนาดว่าเขาทำ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์นะ แต่อันนี้แค่ใบอนุโมทนา

นี้เราเคยคิดอย่างนี้มาก่อน เราเคยเห็นหลวงตา เห็นครูบาอาจารย์ท่านจัดการ แล้วนี่หลวงตาท่านจัดการ ที่พระนพดลพูดบอกว่า “เมื่อก่อนเขาเอารถรับส่ง หลวงตาบอกว่าไม่สมควร บุญเขาไม่เต็มควรให้เขามาเอง” เห็นไหม ที่หลวงตาพูดไง

เราเห็นไหมว่าคนเขามาลำบากไหม.. ลำบาก เหมือนกับเราไปช่วยเขาเราก็ได้บุญด้วย แต่ถ้าเขาลำบากแล้วเขาได้บุญ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ของเขา หลวงตาท่านคิดอย่างนั้นนะ นี่เวลาทำอะไร ฉะนั้นเวลามาวัดป่านี่ลำบากไหม.. ลำบาก แต่ลำบากนี่มันเป็นข้อเท็จจริงที่เราได้เผชิญนะ คิดกันไม่ออกหรอก ถ้าเอ็งเป็นโลกเอ็งอย่าเถียง เอ็งไม่ต้องเถียงเอ็งหยุดก่อน เดี๋ยวเถียงกันหลังไมค์ (หัวเราะ)

นี่พูดถึงเรื่องใบอนุโมทนาใช่ไหม แต่เราก็คิดประสาเรานี่แหละ คิดนี่คือข้อกฎหมาย คือความเห็น แต่นี้ทฤษฎีโดยความเป็นจริงมันหลากหลายมากกว่านี้ ถ้ามันหลากหลายมากกว่านี้แล้วจะให้ตอบอย่างไรล่ะ

ถาม : ขอสอบถามเกี่ยวกับการไปทำบุญที่วัด แล้วขอใบอนุโมทนาบัตรเพื่อเอาไปหักลดหย่อนภาษี กรณีแบบนี้บุญกุศลที่ทำไปนี้จะได้เต็มร้อยหรือว่าบกพร่องหรือไม่ครับ เพราะเหมือนว่าให้ไปแล้วแต่ก็ยังอยากได้คืน เพียงแต่ไปเอาคืนอีกที่หนึ่งที่ไม่ใช่วัดครับ

หลวงพ่อ : อันนี้ถ้าเขาทำตามกฎหมายมันก็ถูกต้องของเขาหมด แต่ถ้าทำบุญ เห็นไหม ที่ว่าบุญที่มันหยาบ ละเอียด ที่เราพูดตั้งแต่ทีแรกว่าสมบัติทางโลกทุกคนมองเห็นได้ สมบัติทางธรรม หลวงตาท่านบอกว่า “สมบัติของพระคือศีลธรรม”

สมบัติของพระคือศีลธรรม คุณธรรมในหัวใจ สมบัติของโลกคือแก้ว แหวน เงิน ทอง ตัวเลขในบัญชี สิ่งที่ปลูกสร้าง แต่ถ้าคนที่มีคุณธรรมในหัวใจเขาก็มีคุณธรรมด้วย อันนี้เป็นคุณสมบัติที่หลวงตาท่านพูดไว้เนาะ เอวัง