ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ดูที่อาหาร

๑๒ มี.ค. ๒๕๕๔

 

ดูที่อาหาร
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

หลวงพ่อ : ว่าเลย

โยม ๑ : คือหนูรู้สึกว่าเราต้องพยายามที่จะสู้กับเรื่องกรรม รู้สึกว่าเราจะเห็นชัดขึ้น พอปฏิบัติไปรู้สึกว่าจิตมันพัฒนาไปมันก็จะเห็นว่าเราเป็นกรรมเยอะค่ะ เราจะทำอย่างไรที่เรา พอเราพิจารณามัน ที่ว่ามีเทคนิคหรือว่าที่จะสู้กับมันได้ดีค่ะ

หลวงพ่อ : ๑. อาหารนะ

โยม ๑ : ค่ะ เรื่องนี้ก็สุดๆ เลยค่ะ ทำ ก็พยายามสู้ๆ

หลวงพ่อ : ๑. อาหาร พระเรานี่นะหลวงตาจะบอกเลยกินอิ่มนอนอุ่นนี่กิเลสตัวอ้วนๆ ท่านพูดถึงเวลาของท่านนะ เวลาของท่านนี่ท่านปฏิบัติใหม่ ท่านบอกว่าฉันนมไม่ได้เลย พอเวลาฉันนมขึ้นมามันจะมีปฏิกิริยาตอบรับทันที จนท่านปฏิบัติใหม่ๆ ยิ่งเป็นพระหนุ่มเณรน้อยท่านจะไม่ฉันนมเลย ใครบิณฑบาตได้มาท่านจะสละเลย แล้วอาหารนี่พอประมาณ นี่นักปฏิบัติเป็นอย่างนั้น แต่พวกโยมเป็นทางโลก เพราะเราต้องทำหน้าที่การงานก็ห่วงตรงนั้น ห่วงว่าจะทำงานไม่ไหว ภาวนาแล้วพรุ่งนี้จะทำงานไม่ได้ มันก็เลยละล้าละลัง

มันมีกรณีนี้นะ กรณีเรื่องกาม กรณีเรื่องภาวนาแล้วภาวนาไม่ค่อยได้ บางคนภาวนาแล้วภาวนาไม่ลงก็ว่านี่ภาวนาแล้วไม่ได้ๆ เราก็วกมาอาหารเหมือนกัน บอกว่าเวลาปกติเราถือศีล ๕ ผู้ปฏิบัติเขาถือศีล ๘ ศีล ๘ คือไม่กินข้าวเย็น พอไม่กินข้าวเย็นปั๊บนี่ไม่กินข้าวเย็น แต่เวลาพระเราฉัน ๒ มื้อได้ ฉันเช้า ฉันเพล แต่เวลาถือธุดงควัตรพระฝ่ายปฏิบัติเราฉันมื้อเดียว ขนาดฉันมื้อเดียวแล้วยังผ่อนอาหารอีก ผ่อนอาหารไม่เท่าไรนะอดอาหารเลย พอคนอดอาหารปั๊บเราจะให้เห็นภาพ พออดอาหารปั๊บหลายๆ วันเข้าไป ดื่มแต่น้ำ เอาน้ำกลั้วคอไว้ ดื่มแต่น้ำเพราะจะขาดน้ำไม่ได้ มันจะดึงพลังงานเราไปใช้บ่อยๆ พอดึงพลังงานไปใช้บ่อยๆ ร่างกายเรานี่มันจะเริ่มเบา เขาเรียกธาตุขันธ์มันทับจิต

นี่พระปฏิบัติเราจะเห็นคุณค่าของมัน แต่พวกเรานี่ ไม่ปฏิบัติปั๊บก็เห็นว่า นี่อัตตกิลมถานุโยค เป็นการทำลายตน พระพุทธเจ้าไม่ให้อด.. เพราะถ้าพระพุทธเจ้าบอกให้อดอาหารหรือผ่อนอาหาร มันก็คิดว่าการอดอาหารเป็นคุณงามความดี แอฟริกาไม่มีจะกินต้องไปกราบมันเลยเพราะมันไม่มีจะกิน แต่เรามีกินแต่กินแล้วมีผลตอบสนองมาเป็นโทษ เช่นมันไปสะสมให้มีพลังงาน ให้ต่างๆ เกิดขึ้นมา

เราผ่อนเพราะเราไม่ใช่เห็นว่าเป็นโทษ เราเห็นว่ามันเป็นอุบายว่าเราจะผ่อนเพื่อจะให้ ๑.เรื่องอาหาร พอเราบอกเขาอย่างนั้นปั๊บนะเขาไปภาวนาเริ่มดีขึ้นๆ แต่! แต่พอทำไปๆ จิตนี่มันดื้อ พออะไรดีถ้าครั้งแรกนะ ครั้งสองมันมีข้อต่อรองแล้ว เราต้องมีอุบายพลิกกลับ พลิกไปพลิกมา นี่การปฏิบัติมันต้องมีตรงนี้

๑.อาหาร

๒.โทษนะทางโลกเขาเรียกกามคุณ ๕ กามคุณ.. กามคุณหมายถึงว่ามันมีโดยจิตใต้สำนึก จิตของคนมันมีโดยใต้สำนึก ฉะนั้นพอมีโดยใต้สำนึกปั๊บมันก็มีแรงขับของมัน พอมีแรงขับของมันมันก็มีจริต นี่โทสจริต โมหะจริต โลภจริต ทีนี้มันเกิดจริตนี่จริตของมัน เห็นไหม บางคนเรื่องนี้เขาไม่เคยคิดเรื่องนี้จะน้อย บางคนจะฝักใฝ่ อันนี้เราใช้คำว่าพันธุกรรม คือจิตของคนมันมาไม่เหมือนกัน พอไม่เหมือนกัน ถ้ามันเป็นวิตกจริตหรือว่ามันเป็นกามราคะ กามจริตนี่มันจะไปของมัน พอมันไปของมันปั๊บเราต้องมีปัญญา มีสติยับยั้งมัน

ของอย่างนี้มันก็มีโดยธรรมชาติทั้งนั้นแหละ คนเขาเสพแล้วเสพจนเบื่อก็มี คนเขาเสพแล้วติดก็มี ถ้าเสพติดอาหารก็ติดนะ ที่ไหนอร่อยก็อยากไปที่นั่น มันเหมือนกันทั้งนั้นแหละแต่เรามีสติ เราเริ่มยับยั้งมัน ยับยั้งมันนี่เห็นไหมเขาบอกว่าต้องพิจารณาอสุภะ ต้องอะไรนี่ มันเป็นขั้นตอนสุดท้าย พิจารณาอสุภะ ถ้าคนไม่มีสตินะเขาให้พิจารณาเป็นอสุภะ มันดันไปพิจารณาเป็นสุภะน่ะสิ บอกไม่สวยๆ มันยิ่งไม่สวยมันยิ่งสวย เราไม่มีสติไง เราไปพูดถึงขั้นตอนสุดท้ายแล้วเอามาเป็นไง

ฉะนั้นเราต้องตั้งสติของเรา แล้วเราฝึกของเราไปเรื่อยๆ ถ้าเป็นจริตเป็นนิสัย เช่นรถนี่ รถยี่ห้อใดมันก็เป็นยี่ห้อนั้น เราซื้อยี่ห้อนี้มา เราอยากให้เป็นเหมือนรถยี่ห้ออื่น เห็นไหม เราทำให้แบบว่าเราจะแก้ไม่ได้ รถเรายี่ห้ออะไร จริตเราเป็นอย่างไรเราต้องแก้ในยี่ห้อคือแก้ในใจเรา เราจะไปแก้ที่อื่นมันไม่จบหรอก ในเมื่อมันเกิดในใจของเรามันไม่ได้เกิดที่ใจของคนอื่น แล้วใจของคนอื่นเขาอธิบายเป็นอย่างนู้น เป็นคุ้งเป็นแควนะมันเรื่องของเขา

นี่การปฏิบัติสำคัญตรงนี้ สำคัญที่ว่าเห็นเขาเฮก็เฮตามกันไป เห็นเขาทำก็แห่กันไป แล้วมันไม่ได้อย่างเขา ไม่ได้หรอก แต่ถ้าเรามีของเรานะเริ่มจากตรงนี้ เริ่มจากพยายามยับยั้งพยายามตั้งสติ แล้วถ้ามีสมาธิมีสตินะ แล้วถ้ามันรุนแรง รุนแรงเพราะเราเสริมมัน แต่ถ้าเราเริ่มผ่อนคลาย เราเริ่มต่อสู้ไปมันต้องจางลง มันมีประเด็นอีกประเด็นหนึ่ง ถ้าเราไม่เคยสนใจมันมันก็ไม่เห็นตัวนะ แต่พอไปสนใจมันยิ่งแรง

มันเป็น ๒ ประเด็น ประเด็นหนึ่งบอกหลวงพ่อบอกว่าไม่สนใจมันหรือต่อสู้มันแล้วมันจะไม่แรง ทำไมมันยิ่งแรงใหญ่เลย มันไปถึงเวลาปั๊บนี่เราสู้จนทันมันแล้วมันจะเบาไปเอง พอมันเบาไปมันเหมือนกับเรากินข้าวเราก็รู้ว่านี่เรากินอะไร กินแล้วเรามีผลตอบสนองอย่างใด พระปฏิบัติเราทำกันขนาดนั้นนะ ถ้าเป็นเนื้อสัตว์เป็นอะไรนี่ พอกินเนื้อสัตว์เป็นอาหารหนักนะแล้วก็ไปนั่งสัปหงก ถ้าวันไหนฉันแต่ข้าวเปล่าๆ นะ แหม.. วันนั้นนั่งแจ๋วเลย

นี้ทำมาหมดแล้ว เราทำมาหมดแล้ว เอามาพูดให้ฟังว่าเราต้องเทียบเคียง เราต้องพิจารณาดู ไม่ใช่ว่ามันมื้อต่อมื้อ วินาทีต่อวินาที ในการปฏิบัตินี่เราต้องมีสติตามไปเรื่อยๆ เพราะเวลาเราตามไปอย่างนี้ปั๊บ พอมันเกิดสิ่งใดแล้วเราค่อยแก้ไขกันไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ว่าพิจารณาอสุภะๆ มันจะพิจารณาได้มันก็เหมือนชกมวยก็อยากได้แชมป์ ใครก็อยากได้แชมป์ แล้วเราไม่เคยชกเลยจะไปชกกับแชมป์มึงก็ตายน่ะสิ

เอ็งจะชกมวยเอ็งก็ต้องฝึกมาก่อนเนาะ โนเนมเราก็ไต่ลำดับเราไปเรื่อยๆ การพิจารณาก็เหมือนกัน แต่ถ้าเราชนะทุกครั้งไป ทุกครั้งไปนะเดี๋ยวเราได้แชมป์ ถ้าเราทำของเราไปนะเดี๋ยวเราจะเห็นอสุภะ แต่ตอนนี้มันไม่เห็น มันไม่เป็นอย่างที่เขาคิดหรอก ฉะนั้นถ้าเราไม่มีประสบการณ์ ไม่มีการกระทำมาเราก็จะไม่รู้อะไรหรอก

นี้การต่อสู้.. เราจะบอกว่าของอย่างนี้มันมีโดยธรรมชาติ ในหัวใจทุกดวง กามคุณ ๕ หมายถึงว่าสังคมดำรงเผ่าพันธุ์ของมันเพราะมันอยู่ในขอบเขตของศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตั้งแต่ศีล ๘ ไปเขาจะถือพรหมจรรย์ แต่ทางโลกเขามีศีล ๕ โดยธรรมชาติของจิตมันมีทุกดวง แต่ถ้าเราเข้มแข็งเราก็ถือศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ขึ้นไปเรื่อยๆ เห็นไหม นี่เราก็เข้มแข็งของเรา แต่ถ้าโลกเขานี่เขาไม่เข้มแข็งพอ เขาต้องการดำรงชีวิตอย่างนั้นมันก็อยู่ในกามคุณ ๕ คือไม่ผิดพลาดไง คู่ครองของใครเราไม่เสียหาย แต่ถ้าเราผิดคู่ครองเราเสีย ผิดศีลทันที

อันนั้นมันเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ พระพุทธเจ้าไม่ได้ปิดกั้น ไม่ได้หักว่าต้องไม่มีเลย แต่ถ้ามีก็มีของในศีล ๕ ในโลกของคฤหัสถ์เขา แต่ถ้าเราเห็นโทษเราไม่ทำกันไปเพราะอะไร พระพุทธเจ้าบอกแล้ว “สุขแค่เศษเนื้อ แต่ทุกข์ยิ่งกว่าโลกนี้อีก” ถ้าเรามีสติปัญญาอย่างนี้นะ เราไม่ไปยุ่งกับเขา ถ้าเรามีอย่างนี้เราก็คิดของเราไป

นี่พูดถึงเรื่อง.. เพราะคนถามมาเยอะมากเรื่องนี้ ทุกคนก็อยากสู้ ทุกคนก็อยากสู้ อยากเอาชนะมัน ทีนี้การเอาชนะมันก็นี่แหละ การเอาชนะมันก็ต้องต่อสู้กับมัน ต้องต่อสู้กับมัน ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่อู้ฮู.. กราบไหว้กันนะ พระไตรปิฎก อู้ฮู.. กราบไหว้กันสุดยอดเลย แต่หัวใจเราทุกข์มากเลยเพราะเรายังทำไม่ได้ แต่ถ้าเราทำได้เราพิจารณาได้ นี่เป็นชาวพุทธโดยแท้ไม่ใช่พุทธที่ทะเบียนบ้าน

อ้าว.. จบไป

โยม ๑ : หลวงพ่อคะขออนุญาตอัดเทปด้วยได้ไหมคะ

หลวงพ่อ : ได้

โยม ๑ : เมื่อกี้ไม่กล้าอัดแต่ก็จำได้อยู่ค่ะ

หลวงพ่อ : ต่อไป

โยม ๑ : ขอถามนิดหนึ่งค่ะ คือว่าหนูเพิ่งสังเกตตัวเองค่ะก็พยายามสู้อยู่ บางวันก็ทำได้ดีบ้างไม่ได้ดีบ้าง แต่ว่าก็มีบางช่วงที่รู้สึกเราเข้มงวดกับมันมาก จากการที่มันเป็นกาม มันกลายเป็นปฏิฆะแทนค่ะท่าน คือปฏิฆะมันขึ้นแทนกามเวลาเราไปเข้มงวดกับตัวเราเองมากๆ อย่างนี้ค่ะ

หลวงพ่อ : มันหลบไง เราจะบอกว่าเรื่องอย่างนี้โยมยังไม่ต้อง.. เราจะบอกว่าอย่างนี้นะอย่าตั้งโจทย์มาก คือตั้งโจทย์คือเอาชีวิตเราให้รอด เพราะเอาชีวิตเราให้รอด คือเราปฏิบัติให้ได้ เราจะบอกว่าไอ้เรื่องกามนี่นะมันจะเป็นเรื่องขั้นถึงขั้น ๓ เราต้องผ่านขั้นแรกก่อนไง ผ่านขั้นแรกคือเราเห็นว่าร่างกายนี่เราไม่มีทิฐิในตัวมันไง

ในปัจจุบันนี้เขาเรียกสักกายทิฏฐิ เรามีความเห็นผิดในร่างกายเราไง ถ้าเรามีความเห็นถูกไปแล้ว พอมันผ่านขั้นนี้ไปๆ มันถึงจะต่อไป ฉะนั้นพอพิจารณาไปแล้วมันเป็นปฏิฆะ พอเป็นปฏิฆะมันเหมือนความผูกโกรธ ไม่พอใจไงอึดอัดขัดข้อง ก็อึดอัดขัดข้องสิ ก็ไปปิดกั้นมันน่ะมันก็เกิดอยู่แล้ว ฉะนั้นมันจะเกิดหรือไม่เกิดวางมันสิ

พุทโธสำคัญที่สุดนะ กำหนดพุทโธ พุทโธหรืออานาปานสติ กำหนดอะไรก็ได้ โยมคิดว่าโยมจะไปสู้อย่างเดียว โยมไปเจอเสือนี่นะ โยมไม่มีปืนนะโยมเอามือเปล่าจะสู้เสือนี่โยมว่ามีโอกาสไหม แต่ถ้าโยมไปเจอเสือ โยมมีอาวุธโยมมีโอกาสสู้เสือนะ ถ้าพุทโธ พุทโธให้จิตสงบ สมาธินี่เป็นอาวุธ สมาธินี่เป็นทุน

ถ้ามีสมาธินะเราพิจารณาของเรา แล้วถ้ามันปล่อยวางหรือมันอย่างไรเราก็กลับมาทำความสงบของใจ แล้วพอโยมกลับไปพิจารณาอีกแล้วกลับมาทำความสงบของใจ โยมทำไปอย่างนี้เรื่อยๆ โยมจะเห็นเป็นผลเป็นงานขึ้นมา เป็นผลงานเป็นชิ้นเป็นอันขึ้นมา แต่ถ้าไม่กลับมาที่ความสงบก็คิดแต่ว่าจะไปสู้มันๆ สู้เสือด้วยมือเปล่าเวลาตั้งใจสู้ก็สู้ได้ พอสู้ครั้งหนึ่งมันทุกข์เกือบตาย ครั้งที่สองชักหวั่นไหว ครั้งที่สามกูจะเลิกดีกว่าแล้ว ครั้งที่สี่..

เราจะบอกว่านักปฏิบัตินี่ถ้าหักโหมหรือทำเป้าหมายว่าเราจะเป็น แล้วพอไม่เป็นเดี๋ยวมันก็ถอดใจ เดี๋ยวมันก็เลิก แต่ถ้าเราทำความสงบของใจ แล้วเราไปต่อสู้แล้วก็กลับมาทำความสงบของใจ ถ้าจิตมันมีกำลังเวลาพิจารณากามมันปล่อยเลย อู๋ย.. ของเล็กน้อยๆ แต่ถ้าจิตไม่มีกำลัง โอ้โฮ.. ไม่ไหวหรอกไม่ไหว เห็นไหม ขาดอะไร ขาดสมาธิ ขาดหลักของใจ แต่ถ้าเรากำหนดพุทโธดูมันเกิดตรงนี้ พอจิตมันดี นี่กามราคะเล็กน้อย เล็กน้อย

สู้เสือด้วยอาวุธไง แต่ถ้าไปสู้เสือด้วยมือเปล่า เราจะบอกว่าต้องกลับมาทำความสงบของใจบ้างก่อนไง กลับมาทำความสงบของใจแล้วพิจารณามัน แล้วกลับมาทำความสงบของใจ ความสงบนี้ทิ้งไม่ได้เลย โยมขับรถมานี่นะเติมน้ำมันเต็มถังนะ แล้วเอากุญแจล็อกไว้ห้ามเติมอีกเลย โยมก็ขับได้แค่ถังนี้แหละ แต่ถ้าโยมไม่เอากุญแจติดไว้ตายตัวนะ พอน้ำมันหมดก็เติม น้ำมันหมดก็เติม โยมก็ขับรถนี้ไปตลอด

ถ้าทำความสงบของใจ พอจิตมันสงบขึ้นมาก็เติมน้ำมันทีหนึ่งแล้วก็ออกไปพิจารณา พอไปข้างหน้าพอน้ำมันมันเริ่มบกพร่องเราก็เติมน้ำมันสักทีหนึ่งแล้วเราก็ขับมา โยมจะใช้รถไปตลอดชีวิตเลย อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราทำความสงบของใจบ้าง แล้วเราออกพิจารณาบ้าง ทำความสงบของใจ.. เราจะเน้นเรื่องความสงบ เน้นพอสมควรเลยล่ะ แต่พอมันสงบพอมันมีหลักแล้วต้องพิจารณาไปเรื่อยๆ แล้วมันจะได้ประโยชน์

โยม ๑ : ค่ะ ทุกวันนี้ก็เน้นก็ทำอยู่ค่ะ ก็นั่งอยู่ค่ะ

หลวงพ่อ : ต้องทำ!

โยม ๑ : ที่ถามคำถามนี้คือเรื่องหนูสู้ระหว่างวันค่ะ จากสติปัฏฐานระหว่างวันที่รู้สึกว่าตัวเองเจอมามากกว่าก็เลยเป็นความสะดวกว่าถ้ามีอุบายอะไรชี้แนะมากกว่า หนูก็พยายามค่ะ

หลวงพ่อ : อุบายชี้แนะไปขนาดไหนก็แล้วแต่นะต้องเป็นปัจจุบัน

โยม ๑ : สิ่งที่ชี้แนะมามีประโยชน์มากๆ ค่ะ

หลวงพ่อ : ต้องเป็นปัจจุบัน! ต้องเป็นปัจจุบัน! ชี้แนะถ้าไปใช้กับเราไม่ได้ผลก็ไม่ได้ผล เป็นปัจจุบัน ทีนี้เวลาเราพูดธรรมะกันนี่นะ ธรรมะกันนี่อุบายโอกาส อ้าว.. ต่อไป มีอะไรว่ามา

โยม ๒ : เรื่องพิจารณาระหว่างวันค่ะ

หลวงพ่อ : ระหว่างวันหมายความว่า

โยม ๒ : รักษาสติค่ะ เพราะว่าทำงานไปด้วยบางทีถ้ามีเรื่องเครียดๆ มาอย่างนี้ค่ะ ก็จมอยู่กับมันอยู่ แล้วเวลานั่งสมาธิมันก็...

หลวงพ่อ : ถ้าเรามีสติอยู่แล้ว ระหว่างวันขึ้นมานี่มันมีสติควบคุม อะไรเผชิญหน้ามันแก้ไขได้ง่ายขึ้น ง่ายขึ้นหมายถึงว่ามีสติ ถ้ามีสตินะหลวงตาพูดขนาดนี้เลย “สติสำคัญมาก” สำคัญขนาดที่ว่าสติท่านเปรียบเหมือนฝ่ามือ ฝ่ามือนี่สามารถกั้นคลื่นทะเลได้หมดเลย คลื่นทะเลคือความคิด ถ้ามีสตินี่สามารถกั้นคลื่นทะเลได้เลย แต่ถ้าขาดสตินะคลื่นทะเลมันไปหมด ความคิดมันไปหมดเลย

ทีนี้พอว่าระหว่างวัน เห็นไหม ระหว่างวันถ้าเรามีสติ แล้วคำว่าสตินะเวลาระลึกนี่เราตั้งสติได้ ทีนี้เราฝึกฝนบ่อยๆ การฝึกฝนคือระลึกรู้ สตินี่ระลึกรู้อยู่ ถ้าคนมีสติสัมปชัญญะนะเราแทบทำอะไรไม่ผิดเลย แต่พอเราตั้งสตินะเดี๋ยวมันก็อ่อนลง เพราะอะไร เพราะเราตั้งสติ.. โทษนะ ภาวนานี่เหนื่อยน่าดู พอตั้งสติขึ้นมามันก็ต้องตั้งใจ เห็นไหม แต่ถ้าเผลอดีกว่าเผลอสบาย

ทีนี้พอตั้งสติขึ้นมานี่ระหว่างวันไง ที่ว่าระหว่างวันเราฝึกสติไป เราทำอะไรไป แต่เราจะบอกว่าทุกคนมีความผิดพลาดนะ ถ้าทำอะไรแล้วผิดพลาด หรือทำสิ่งใดแล้วไม่สมความปรารถนา ช่างมันทำใหม่ ทำใหม่ไป แต่นี่เราก็คิดว่ามันเป็นวัตถุ ของชิ้นหนึ่งเราเอามาวางไว้ ของชิ้นที่สองมาทับซ้อนขึ้นไป ชิ้นที่สาม ที่สี่ ที่ห้า ที่หกทับซ้อน ไปก็เห็นว่ามันเป็นวัตถุที่ทับซ้อนมันเห็นชัดเจน แต่พอมาพุทโธหรือตั้งสติไว้มันก็หายไป ตั้งสติครั้งที่สอง ที่สาม ที่สี่แล้วมันซ้อนที่ตรงไหนล่ะ ไม่เห็นมีเลย แต่เราทำของเราไปเรื่อยๆ เพราะคำบริกรรมหลวงปู่ฝั้นท่านบอกไว้นะ

“ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทิ้งเปล่าๆ ”

ท่านเปรียบเหมือนกับคนทั่วไปชาวพุทธทั่วไปที่เขาหายใจ เขาดำรงชีวิตของเขาระหว่างวัน ไอ้ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกท่านบอกว่าท่านเสียดายมันทิ้งเปล่าไป แต่ถ้าเรามีลมหายใจแล้วเราตั้งสติไว้นี่ระหว่างวัน พอระหว่างวันเราทำดีขึ้นมาแล้ว เหตุการณ์เฉพาะหน้า เหตุการณ์สิ่งต่างๆ เรื่องความผิดพลาดจะน้อยลง จะน้อยลง! แล้วถ้าเราทำของเราบ่อยครั้งเข้า..

ทีนี้การตั้งสตินี่มันอยู่ที่วาสนาคนนะ การปฏิบัตินี่มันอยู่ที่วาสนาของคน วาสนาหมายถึงว่ามันเชื่อมั่น มันมีการกระทำแล้วต่อเนื่อง ถ้าคนวาสนาอ่อนมันก็ชอบทีแรก พอทำไปๆ แล้วไขว้เขว พอทำไปๆ แล้วไม่ต่อเนื่อง การปฏิบัติในพระไตรปิฎกทุกข้อ ผู้ที่ปฏิบัติแล้วไม่ได้ผลเพราะการปฏิบัติไม่สม่ำเสมอ ในพระไตรปิฎกนะ แต่ถ้าประสาเราก็ว่าไม่เสมอต้นเสมอปลาย เราปฏิบัติขาดวรรคขาดตอนไปตามโลกเขา นี่โดยธรรมชาติเป็นอย่างนั้น ฉะนั้นเราต้องตั้งสติ สติในระหว่างวัน ชีวิตประจำวัน

เราพูดบ่อยเราต่อต้านนะเวลาเขาเผยแผ่ธรรมะกัน ธรรมะในชีวิตประจำวัน เราก็ถามกลับว่า “ชีวิตประจำวันมันสำคัญขนาดนั้นเชียวเหรอวะ ธรรมะกูสำคัญกว่านะมึง” ถ้าธรรมะสำคัญกว่านี่เราปรับชีวิตประจำวันเราเข้าหาธรรมะ แต่นี่บอกว่าธรรมะในชีวิตประจำวัน อู้ฮู.. ทุกคนก็ฮือฮานะ โอ้โฮ.. กูทำงานประจำวันแล้วกูได้ธรรมะด้วย.. มันก็ได้มันก็ได้ส่วนนั้น แต่ความจริงนะธรรมะมันเหนือทุกๆ อย่าง ถ้าเราเห็นว่าธรรมะเหนือทุกๆ อย่างนะ มันจะไม่มีอะไรมาขัดแย้งไง

แต่นี่เราบอกธรรมะในชีวิตประจำวันใช่ไหมก็เอาชีวิตประจำวันเป็นตัวตั้ง แล้วเอาธรรมะไปยัดใส่มันมันก็ไม่ได้ แต่ถ้าเราเอาธรรมะเป็นตัวตั้ง เราเอาชีวิตประจำวันยัดใส่เขา แล้วเราจะได้ดีขึ้นมา เราเห็นเวลาเขาเผยแผ่กัน เขาคุยเขาบอกกัน นั่นมันเรื่องของโลกเขา เท่านั้นแหละ ถ้าโยมปฏิบัติแล้วก็สุดยอดแล้วล่ะ

คิดดูสิพระเรานี่กว่าจะเรียนจบ พอเรียนจบแล้วก็มาปฏิบัติ แล้วปฏิบัติได้ผลหรือไม่ได้ผลอยู่ที่ตรงนั้น ฉะนั้นถ้าเราปฏิบัตินี่เราทำความจริงเลย.. ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ การศึกษา การใคร่ครวญนั่นคือปริยัติ คือการศึกษาหาช่องทาง แต่ในการปฏิบัติหาช่องทางแล้วเผชิญหน้ากับมัน ผิดถูกเราแก้ไขตามนั้น ถ้าผิดก็จะแก้ให้มันถูก

เราจะบอกว่าคนปฏิบัตินี่นะไม่ผิดเลยไม่มี พระพุทธเจ้าผิดอยู่ ๖ ปี ฉะนั้นเราจะผิดพลาดไป ขึ้นต้น! ขึ้นต้น! ทีนี้พอขึ้นต้นนี่ต้องศึกษาให้มากๆ ศึกษามากน้อยขนาดไหนนะ ศีล สมาธิปัญญา ก็กลับมาตรงนี้ ทีนี้เพียงแต่ที่ว่าเรากลัวจะผิดพลาด ทำแล้วไม่ได้.. ผิดพลาดมันก็อยู่ที่สติเรานี่แหละ อยู่ที่สติเรา สติเราผิดพลาดถ้ามีสตินี่รู้เลยว่าผิด ถ้าผิดแล้วเราก็ตั้งต้นใหม่ ผิดตั้งต้นใหม่ พอมันฝึกบ่อยครั้งเข้าๆ เดี๋ยวมันก็มั่นคง พอคนทำความสงบนี่มันต้องได้ผลบ้าง พอได้ผลบ้างเราจะรู้เลยว่าอันนี้ดีอันนี้ไม่ดี

เพราะว่าธรรมะของพระพุทธเจ้านี่คือปัจจัตตัง เวลากาลามสูตรนะไม่ให้เชื่อใครสอนทั้งสิ้น ไม่ให้เชื่อแม้แต่อาจารย์ของตัวเอง แต่ปฏิบัติจริงขึ้นมาที่ว่าพุทโธหรือชีวิตประจำวันเราได้สัมผัส นี่ให้เชื่อตรงนี้ ให้เชื่อความจริงของเรา ทีนี้ถ้าเชื่อความจริงของเรา เห็นไหม เวลาครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติเป็นนะ เวลาพูดสิ่งใดนี่ครูบาอาจารย์รู้ก่อนแล้วแหละ รู้หมดแหละ ทีนี้พอรู้หมดแล้วถ้าเราเชื่อของเราเอง ถ้าเรามั่นใจเราเกินไป ถ้าเราหลงผิดแล้วเรายึดมั่นนะเดี๋ยวอาจารย์ต้องเคาะเราจนได้ อาจารย์ที่รู้จริงเดี๋ยวต้องเคาะ

คำว่าเคาะนะคือเอาเหตุผลต่างมาเทียบให้ดู ถ้าเราเชื่อมั่นตัวเราเองเกินไปนี่นะอาจารย์จะมีเหตุผลต่างมาเทียบให้ดู แล้วให้เราพิสูจน์ ถ้าเราพิสูจน์ไปแล้ว อืม.. อาจารย์ที่เป็นอาจารย์จะเป็นอย่างนี้ จะมีเหตุผลต่างที่จะล่อให้เราสูงขึ้นๆ แต่ถ้าอาจารย์เราไม่เป็นนะ พอเราเป็นขึ้นมานี่ อืม.. กูก็ไม่รู้กูต้องไปเปิดตำราก่อน อันนี้จะไม่มีเหตุผลต่างมาเทียบให้เราดู

เราอยู่กับครูบาอาจารย์มานะ ครูบาอาจารย์จะรู้ก่อนเลย แล้วพอเราปฏิบัติไป อึ๊! อึ๊! มันถึงว่าเชื่อมั่นไง ถ้าครูบาอาจารย์เราไม่รู้ท่านจะบอกเราได้อย่างไร ถ้าไม่บอกเราเราก็ยึดมั่นของเรา การแก้นะ สมมุติเราเห็นสิ่งใดก็แล้วแต่เราเชื่อมั่นของเรา แล้วถ้าพูดถึงครูบาอาจารย์มาพูดในเชิงที่ว่าจะหาเหตุผลต่าง ถ้าเราไม่เชื่อเรายิ่งยึดมั่นเรายิ่งกอดแน่นขึ้นไป เห็นไหม ทิฐิสองเท่า แต่ถ้าครูบาอาจารย์มีอุบายให้เรา หาเหตุผลต่างแล้วให้เราพิสูจน์ ให้เราพิสูจน์สิผิดถูกเราพิสูจน์ ถ้าเราพิสูจน์ได้แล้ว อืม.. กูโง่เว้ย กูผิดเว้ย.. ครูบาอาจารย์ที่ดี นี่ที่เราหาครูบาอาจารย์กัน

ทีนี้คำว่ากาลามสูตรไม่ให้เชื่อก็ถูกต้อง ไม่ให้เชื่อ แต่นี่มันก็เป็นจริตเป็นนิสัย เป็นอำนาจวาสนา เป็นสิ่งที่ได้สร้างบุญ สร้างเวรสร้างกรรมกันมา ถ้าสร้างเวรสร้างกรรมกันมานะ พอฟังแล้ว อืม.. มีเหตุผลใช้ได้ ถ้าไม่ได้สร้างเวรสร้างกรรมกันมานะ ฟังอะไรมันก็ขัดหู ไม่เอาไหนเลย ยิ่งฟังยิ่งไม่เอาไหน

อันนี้พูดให้เหตุผล เราจะบอกว่าเราอยากให้ทุกคนยืนโดยขาตัวเองนะ อยากให้ทุกคนยืนบนขาตัวเอง แล้วให้ทุกคนปฏิบัติ ให้ทุกคนได้เหตุได้ผล ศาสนาจะมั่นคง ศาสนาจะมั่นคงเพราะเราเป็นตัวของตัวเอง ไม่ใช่ว่าเราจะให้ใครจูงได้หมดหรอก แต่ถ้าเราเป็นตัวของตัวเอง แต่ถ้าเรามีครูบาอาจารย์ที่ดี ครูบาอาจารย์ที่ชี้นำได้เราก็ต้องพิสูจน์กัน.. การปฏิบัตินี่รู้ทันกันได้ รู้ทันกันได้ ไม่มีกาลไม่มีเวลา ไม่มีกาลไม่มีเวลา ทุกวินาที ทุกวินาทีมีการกระทำได้ นี่ชีวิตประจำวันเนาะ

ไปปฏิบัติที่ไหนกันมาก่อน ไม่เคย.. ไปปฏิบัติที่ไหนกันมา

โยม ๑ : จริงๆ ไปหลายที่เหมือนกันค่ะ ส่วนใหญ่จะไปแถวเชียงใหม่ แล้วก็ชลบุรีบ้างอะไรบ้างอย่างนี้ค่ะ ส่วนใหญ่ก็ไปนั่งกันเองค่ะ ฝึกกัน

หลวงพ่อ : ฝึกกันเอง ที่นี่ก็เหมือนกัน ที่นี่ถ้ามาเราให้ปฏิบัติ แล้วมีปัญหาให้มาถาม มันจะมีเฉพาะวันพระ วันพระจะมีสวดมนต์ที่นี่แล้วเราเทศน์ไง เราเทศน์เข้าไป.. จบหรือยัง จบเนาะ มีอะไรอีกไหมว่ามา

โยม ๑ : ไม่มีอะไรแล้วค่ะ เดี๋ยวหนูกะจะขออนุญาตใช้สถานที่นั่งสมาธิแล้วเดี๋ยวก็จะกลับออกไปค่ะ

หลวงพ่อ : ได้