ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

นิพพานกระดาษ2

๒๖ มี.ค. ๒๕๕๔

 

นิพพานกระดาษ ๒
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถาม : ข้อ ๓๕๘. นะ ญาณและญาณทัศนะ

กราบเท้าหลวงพ่อที่เคารพ ผมได้เห็นหลวงพ่อเทศน์ในงานหลวงตา เนื้อหาจับใจมากจนน้ำตาจะไหล ดีใจครับ ผมอยู่ต่างประเทศ ชอบฟังธรรมะแต่ปฏิบัติไม่จริงจัง

เมื่อวันพระที่ผ่านมา ผมได้ฟังการบรรยายธรรมของพระอาจารย์รูปหนึ่ง เป็นการบรรยายธรรมให้กับผู้ที่ถือเนสัชชิกฟัง การบรรยายธรรมของท่านเน้นเรื่องการพิจารณาร่างกายเป็นหลัก ฟังตอนแรกผมก็คิดว่า จะเป็นเหมือนปัญญาอบรมสมาธิ แต่พอฟังไปเรื่อยๆ ท่านอธิบายว่า การพิจารณาแบบนี้ เป็นการใช้ปัญญาล้วนๆ ไม่เอาสมาธิมาเกี่ยวข้อง หรือเหมือนถึงอริยภูมิแล้ว คือโสดาบันขึ้นไป ท่านว่าจะได้สมาธิที่มั่นคงขึ้นมาเอง ทั้งฌานและญาณทัศนะ จะมาให้เลือกเอง

อีกประเด็นคือท่านอธิบายถึงพระอรหันต์ ๒ ประเภท คือ สมาธินำปัญญา และปัญญานำสมาธิไว้แตกต่างกัน โดยบรรยายว่า ประเภทสมาธินำปัญญานั้น เป็นพระอรหันต์ไม่เต็มร้อย ยังรับรู้สิ่งที่กระทบถึง แม้ไม่กระเทือนถึงจิต ซึ่งเป็นความเคยชินของขันธ์ ท่านว่าแบบนี้เรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพาน

ส่วนประเภทปัญญานำสมาธินั้น จะไม่มีการไปการมาของจิต จิตนิ่งไม่หวั่นไหว ท่านว่าแบบนี้เรียกว่า อนุปาทิเสสนิพพาน ผมต้องกราบขอโทษหลวงพ่อด้วย เพราะไม่รู้จะตั้งคำถามว่าอย่างไร

หลวงพ่อ : นี่เริ่มต้นเอาข้อแรกก่อน ข้อแรกที่ว่า พอเราใช้ว่า เวลาเขาอธิบายว่า ถ้าใช้ปัญญาล้วนๆ ไม่เอาสมาธิมาเกี่ยวข้องเลย เมื่อถึงอริยภูมิ คือโสดาบันขึ้นไปแล้ว ท่านว่า “ได้สมาธิที่มั่นคงขึ้นมาเอง ฌานและญาณทัศนะจะมาเอง” มาให้เลือกด้วยนะ

เวลาเผยแผ่ธรรมเห็นไหม เวลาธรรมทูต เวลาหลวงตาบอกจะไปเผยแผ่ธรรม หลวงตาจะบอกว่า “จะไปเผยแผ่กิเลสหรือจะไปเผยแผ่ธรรม” ถ้าไปเผยแผ่ธรรม เรามีภูมิปัญญาขนาดไหนจะไปเผยแผ่ ถ้าไปเผยแผ่ก็ไปเผยแผ่กิเลส ก็คือเอาทิฐิมานะของตัวไปเผยแผ่

นี่ก็เหมือนกัน อยู่ต่างประเทศ เวลาถือเนสัชชิก แล้วเวลาอธิบายเห็นไหม บอกให้ใช้ปัญญาเห็นไหม ให้ใช้ปัญญาไปเลย ไม่ต้องใช้สมาธิ ถ้าเวลาเกิดปัญญาขึ้นมาถึงอริยภูมิแล้วมันจะเกิดสมาธิขึ้นมาเอง เวลาเราหลงทางนะ บอกว่าไปเรื่อยๆ เถอะเดี๋ยวมันจะกลับมาถูกทางเองเหรอ เวลาหลงทางเวลาไปเที่ยวป่า แล้วหลงป่าบอกเดินไปเรื่อยๆ เดี๋ยวจะออกไปจากป่าได้เอง มันเป็นไปได้ไหม มันเป็นไปไม่ได้หรอก

มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ นี่ไงเวลาไปเผยแผ่ธรรมเอาอะไรไปเผยแผ่ มันเป็นไปไม่ได้ ถ้าใช้ปัญญานะ ที่บอกว่าใช้ปัญญาแล้วมันจะเกิดฌานเกิดญาณขึ้นมาเองมันเป็นไปไม่ได้หรอก ถึงที่สุดแล้วผลการปฏิบัติทุกอย่าง ผลของมันคือสมถะ

ผลของสมถะคืออะไร ผลของสมถะคือเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ตรัสรู้ธรรม ไปเรียนลัทธิต่างๆ เห็นไหม เขาบอกเป็นศาสดา ศาสดาไหนก็บอกเป็นพระอรหันต์ๆ ไปศึกษาขนาดไหนนะ ผลของมันคือสมถะ ผลของมันคือการปล่อยวางไง แต่ไม่มีปัญญาหรอก ปัญญาเกิดไม่ได้

ในผลของการปฏิบัติ ทุกทางทุกวิชาการที่ทำกันอยู่นี้ ผลของมันคือสมถะหมดนะ ผลของมันคือการปล่อยวาง ผลของมันคือความว่างไง ผลของมันคือความว่างไม่ใช่ผลของมันคือการฆ่ากิเลส การฆ่ากิเลสไม่มี การฆ่ากิเลสจะเริ่มต้นที่ไหน การฆ่ากิเลสจะเริ่มต้นจากว่าสัมมาสมาธิ พอปล่อยวางแล้ว จิตมันเป็นความสงบแล้ว ปัญญาอันนั้น ความว่างอันนั้นมันออกพิจารณาของมัน ออกพิจารณาเห็นนะ

เพราะในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ของครูบาอาจารย์เราเวลาเราจะขุดคุ้ยหากิเลสไง หลวงตาจะบอกว่า ครูบาอาจารย์ทุกคนจะบอกว่า “ถ้าทำสมาธิแล้ว มันจะเกิดปัญญาเองมันเป็นไปไม่ได้” ทำสมาธิแล้วเห็นไหม พอทำสมาธิมันก็ติดสมาธิ แต่ถ้าไม่มีสมาธิมันก็เกิดโลกุตตรธรรมไม่ได้ มันเกิดโลกุตตรปัญญาไม่ได้

สิ่งที่มันเกิดได้คือเกิดโลกียธรรม โลกียธรรมคือโลกียปัญญา โลกียธรรมคือปัญญาของเรานี่ไง คือความคิดความรู้สึกเรานี่ไง เวลาเราคิดเรานึกมันมาจากไหนล่ะ ก็มาจากความรู้สึกเรานะ มันมาจากความรู้สึกเราทั้งหมด แล้วความรู้สึกเรามาจากไหน ความรู้สึกมาจากจิต จิตเราคืออะไร จิตเรามีกิเลส

มันก็มาอย่างนี้ เวลาบอกใช้ปัญญาไปเลย ใช้ตรึกไปเลย ตรึกทั้งปี แล้วญาณทัศนะมันจะเกิดเองนะ เวลาเป็นโสดาบันแล้วมันจะเกิดญาณเกิดทัศนะ แล้วจะเลือกได้เองจะเลือกอย่างไร

อันนี้มันหนังการ์ตูนนะ อันนี้มันเป็นความเห็นของเขาแล้ว มันเป็นไปไม่ได้ สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เวลามันพูดถึง ถ้าคนเห็นไหม เวลาพระพูด เวลาครูบาอาจารย์เทศน์เราก็ฟังกันไป เวลาพูดถึงนะ เวลาเขาเรียนปริยัติกัน นักธรรมตรี นักธรรมโท นักธรรมเอก เห็นไหม เปรียญธรรม เปรียญประโยคที่ ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ๗ ๘ ๙ ถ้ามีหลักการอย่างนี้ เขาพูดทางวิชาการ พอพูดทางหลักการ เขาก็พูดผูกโยงกับธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ขนาดผูกโยงกับธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ แต่เราไม่รู้จริง เราไม่รู้ขั้นตอนของมัน เราอธิบายยังสับสนเลย แล้วเวลาเราพูดถึงภาคปฏิบัตินะ เวลาเรียนถึงนักธรรมเอก หรือเปรียญ ๙ ประโยคก็แล้วแต่ ภาคปฏิบัติไม่รู้หรอก เพราะเวลาความสงบของใจเป็นอย่างไร

คนเราไม่เคยกินพริกเราจะรู้ได้ไงว่าพริกมันเผ็ดอย่างไร แต่ในตำราเขาบอกว่าเผ็ดๆๆ แต่เราจะไม่รู้หรอกว่าความเผ็ดของมัน มันแตกต่างกันอย่างไร เวลาพริกเห็นไหม ดูพริกหยวกพริกขี้หนูมันแตกต่างกันอย่างไร พริกหยวกนะมันมีรสเผ็ดไหม มี แต่รสเผ็ดมันพอประมาณ แล้วพริกขี้หนูมันเผ็ดไหม เผ็ด เผ็ดจัดด้วย แล้วเผ็ดจัดกับเผ็ดพอสมควรมันแตกต่างกันอย่างไร

นี่พูดถึงว่า เวลานักธรรมเอก หรือเปรียญ ๙ ประโยค ทางวิชาการรู้ว่าพริกมันเผ็ด เพราะเผ็ดทางวิชาการ เขาบอกกันว่ามันเผ็ด แต่ว่าเวลาเราได้กินพริกขึ้นมาเห็นไหม รสของความเผ็ด เผ็ดระดับไหนเผ็ดพอประมาณขนาดไหน อันนั้นมันเป็นภาคปฏิบัติ ภาคปฏิบัติหมายถึงว่า เราได้กินพริกเคี้ยวพริก

นี่ก็เหมือนกัน เราได้เคี้ยวกิเลส เราได้ทำสมาธิ เราได้ทำให้เกิดขึ้นมาจากหัวใจมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้ามันมีอันนั้นปั๊บ การอธิบายจะไม่อธิบายแบบนี้ไง การอธิบายแบบนี้ทางวิชาการก็ผิด ทางภาคปฏิบัติก็ผิด มันผิดเพราะอะไร ผิดเพราะว่าเวลาอธิบายแบบนี้ อธิบายแบบเด็กเล่นขายของนะ

เวลาเด็กเล่นขายของมันสมมุติขึ้นมาว่าเป็นสินค้า เวลาเล่นขายของกันทั้งวันเลยนะ เด็กมันเล่นกันสนุกกันทั้งวัน โอ้โฮ สมมุติว่าเป็นเมือง แบ่งข้าศึกมาเล่นกัน ทั้งวันเลยมันสนุกของมันเลย แล้วจบแล้วก็คือจบกัน เพราะมันเป็นสมมุติของเด็ก

แต่ถ้าสมมุติของผู้ใหญ่นะ ผู้ใหญ่เขาเล่นกันทั้งวันเลย ผู้ใหญ่ทำธุรกิจก็เหมือนเล่นกัน แต่เล่นจริงๆ เพราะผู้ใหญ่ทำธุรกิจทำอะไรต่างๆ มันได้ผลตอบแทนนะ

อันนี้ก็เหมือนกันเหมือนเด็กเล่นขายของ เด็กเล่นขายของว่าตัวเองก็อธิบายไป อธิบายถึงภาคปฏิบัติไง เหมือนเด็กเล่นขายของ แล้วผลของมันล่ะ ผลของมันต่างคนต่างงง ไอ้คนพูดก็งง ไอ้คนฟังก็งง

ใช้ปัญญาไปเลย ใช้ปัญญาเห็นไหม ใช้ปัญญาพิจารณาสังขารพิจารณาร่างกายไปเลย มันพิจารณาโดยสามัญสำนึก ถ้าพิจารณาอย่างนี้ หมอก็พิจารณานะ เวลาคนไข้เข้ามาหมอต้องประชุมแล้ว เวลาคนไข้มาปุ๊บประชุมหมอเลย ประชุมทุกแผนก ว่าคนไข้นี้เป็นโรคอะไร คนไข้นี้ควรรักษาอย่างไร หมอเขาก็ประชุมนะ หมอเขาเห็นร่างกายเขาต้องประชุมเลยว่า เขาพิจารณาเหมือนกัน พิจารณาว่าเป็นโรคอะไร รักษาอย่างไร ควรจะใช้ยาอะไร แล้วส่งต่อที่ไหน นี่เขาก็ประชุมเหมือนกัน แต่ประชุมเพื่อการรักษาคนไข้ ประชุมรักษาให้คนหายจากไข้

แต่เวลาเราพิจารณากาย พิจารณากายของเรา เห็นไหมจิตของเราพิจารณาโดยสามัญสำนึกขึ้นมา ผลของมันคือสมถะ ผลของมันคือสมาธิมันไม่มีหรอก ไม่ถือว่าพิจารณาไปแล้วมันจะเป็นโสดาบัน สมาธิจะเป็นเองจะมั่นคงเอง จะเป็นเองมันเป็นไปไม่ได้

ถ้ามันเป็นไปอย่างนี้นะ พระเมืองไทยเป็นพระอรหันต์หมดเลย พระเมืองไทยเรา ๔๐๐,๐๐๐ กว่าองค์ พิจารณาเหมือนกัน ทุกคนศึกษาทุกคนภาวนา ทุกคนก็อยากเป็นคนดีหมดนะ แล้วมันภาวนาไปแล้ว มันต้องเป็นไปตามขั้นตอนอย่างนี้ พระ ๔๐๐,๐๐๐ องค์นี้เป็นพระอรหันต์หมดเลย แต่ความจริงมันเป็นไปได้ไหมล่ะ มันไม่เป็นไปอย่างนั้นเลย มันไม่เป็นอย่างนั้นเพราะอะไร เพราะว่ามันทำไม่ถูกต้อง ไม่ตามเป็นจริง

ถ้าตามเป็นจริงนะ เราทำแล้ว คนกินพริกนะ คนเขาเอาพริกโดยพริกมันเป็นสมุนไพรอันหนึ่ง พริกนะเวลาผสมอาหารแล้ว มันจะทำให้อาหารรสชาติดีขึ้นมา เขาผสมพอสมควร ว่าอาหารแบบใดใช้มากใช้น้อย ส่วนผสมของอาหาร ถ้าเขาทำของเขาสมดุลของเขา อาหารนั้นจะมีรสชาติมาก แล้วก็จะทำคุณประโยชน์ได้มาก ฉะนั้นพริกจะใช้มากใช้น้อยอยู่ที่เขาควรใช้ประโยชน์มากน้อยแค่ไหน ไม่ใช่ว่าเราจะกินพริกอย่างเดียว

นี่ก็เหมือนกันในภาคปฏิบัติเราใช้ปัญญาของเรา เราใช้ปัญญาของเราจิตมันสงบไหม ถ้าจิตสงบแล้วเราได้เห็นกิเลสไหม ถ้าเราได้เห็นกิเลส เห็นกิเลสเห็นอะไร สติปัฏฐาน ๔ ถ้าเห็นกิเลส ความเห็นของมันเวลาเห็นกาย เวลาเห็นกายเห็นอย่างหนึ่ง เวลาเห็นกายโดยวิปัสสนามันเห็นอีกอย่างหนึ่ง

เห็นอย่างหนึ่งหมายความว่า มันเห็นจากจิต เพราะจิตสงบแล้ว จิตมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา แล้วพอจิตมันเห็นขึ้นมา มันสะเทือนจิต มันสะเทือนนะ แต่เวลาเราเห็น เห็นทางโลกเราเห็นทุกวัน เอากล้องจุลทรรศน์มาส่องร่างกายก็ได้ ใครอยากเห็นเส้นขุมขนใหญ่ขนาดไหนก็ได้

เวลาปฏิภาคะเห็นไหม อุคคหนิมิต วิภาคะคือการแยกส่วนขยายส่วน เราก็แยกได้ กล้องจุลทรรศน์แยกเลย ขุมขนรูใหญ่มาก โอ้โฮ เส้นขนเบ้อเริ่มเทิ่มเลย แล้วจิตมันไม่เป็น จิตไม่เป็นสมาธิไม่สะเทือนอะไรหรอก เห็นไปทางวิทยาศาสตร์เห็นไปทางโลก แต่ถ้าจิตมันสงบนะ พอจิตมันจับเส้นผมได้นะ จับเส้นผมได้นะ แล้วจิตมันพิจารณานะ พอมันขยายส่วน มันสะเทือนหัวใจมาก เพราะอะไร เพราะมันเป็นปัจจุบัน

กล้องจุลทรรศน์มันเป็นไปได้เพราะเลนส์ของมัน เพราะเลนส์ของมันเพราะเทคโนโลยี ทำให้ส่วนขยายตามมาตราส่วนมันมีของมันอยู่แล้ว เรารู้โดยวิทยาศาสตร์เหมือนเรารู้โจทย์รู้ข้อสอบหมดแล้ว มันไม่มีอะไรหรอก

แต่ถ้าของเรานะ เราไม่รู้ถึงตัวเราเลย แหม คนนี้เป็นเทวดานะ คนดี๊ดี ใครติไม่ได้เลยนะ มันถือตัวถือตนว่ามันดีนะ มันถือตัวถือตนว่ามันยอดเยี่ยม แต่พอมันไปเห็นเข้า ความจริงนะ โอ้โฮ “มึงนี่หลงได้ขนาดนี้เหรอ มันไม่เป็นอย่างที่เอ็งคิดเลย มันไม่เป็นสิ่งที่เอ็งปรารถนาเลย มันไม่เป็นจริงอย่างที่ข้อมูลเอ็งรู้ไว้เลย มันเป็นอีกเรื่องหนึ่งเลย”

พอเป็นอีกเรื่องหนึ่ง จากโง่ๆ นะ มันเอ่อ ชักฉลาดขึ้นๆ เพราะปัจจัตตังมันสัมผัสมันรู้มันเห็น พอมันเห็นมันเริ่มปล่อยๆ วิปัสสนาจะเกิดตรงนั้น ไอ้พิจารณากายๆ ที่ว่า แล้วมันจะเกิดเอง ถ้ามันเกิดเองนะ พระเมืองไทย ๔๐๐,๐๐๐ องค์ แหม เป็นพระอรหันต์หมดเลย เพราะมันเกิดเอง เป็นไปไม่ได้

แม้แต่ในครอบครัวกรรมฐานเรา มันยังสมบุกสมบันขนาดนี้ มันยังฟันกันขนาดนี้ โอ้ย ภาวนาจนครูบาอาจารย์นี้ลงปฏักขนาดนี้นะ มันยังไปคนละทางสองทาง เป็นไปไม่ได้ มันต้องเป็นไปตามข้อเท็จจริง

ศีล สมาธิ ปัญญา คือมรรค ๘ นั่นแหละ แต่มรรคมันเกิดได้อย่างไร มรรคมันเกิดนะ ดูสิ เด็กเราเห็นไหม เราจะวางรากฐานให้เด็ก เด็กของเรานะ มันมีนิสัยอย่างไร เห็นไหม ตั้งแต่เกิดยัน ๓ ขวบ สมองกำลังเติบโตมาก พ่อแม่ควรอยู่ใกล้ชิด ได้ความอบอุ่นได้ความดีนะ ลูกของเราจะมีประโยชน์ตรงนั้น พอโตขึ้นมาปั๊บ เรื่องส่วนตัวมันเยอะขึ้นมาแล้วนะ

“อย่ามายุ่งกับหนูนะ หนูโตแล้วนะ อย่ามายุ่งกับหนูนะ” แต่ถ้าตัวเล็กๆ มันไปไหนไม่รอดหรอก มันจะคลอเคลียอยู่อย่างนั้นล่ะ พอโตขึ้นมา “อย่ามายุ่งกับหนูนะ” เห็นไหม มันเริ่มห่างแล้วเห็นไหม

เราจะให้ลูกของเราให้มันดีขนาดไหน จิตใจของเรา อย่าคิดนะ ว่าเรามีอายุ ๗๐-๘๐ แล้ว เรามีอายุมากเราจะมีอาวุโสนะ เด็กความคิดมันดีนะ คือมันเป็นผู้ใหญ่ เราจะอายุมากจะอายุน้อย ความคิดดีความคิดเลว นั่นน่ะมันเป็นทารก มันไม่ใช่ใหญ่ที่อายุนะ จิตนี้ไม่มีอายุ มันอยู่ที่สติปัญญา อยู่ที่ความคิดดีคิดชั่ว ถ้ามันคิดดีคิดชั่ว มันคิดดีมันถึงจะโต ถ้ามันคิดชั่ว มันยิ่งกว่าเด็กอีก มันไร้เดียงสาไปเลย

ฉะนั้นมันอยู่ที่วุฒิภาวะของจิต มันอยู่ที่มีสติปัญญาจะฝึกฝนมันขึ้นมา ถ้ามันมีจุดยืนขึ้นมา พอมันมีสติขึ้นมา มันยับยั้งขึ้นมา มันเป็นสมาธิขึ้นมา มันจะเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา มันจะมีทุนมีรอน มันจะไปทำสิ่งใดคนไม่มีทุนมีรอนจะไปทำอะไร

จิตไม่มีสมาธิ คิดไปจินตนาการไป เป็นเรื่องโลกๆ คือจินตนาการ ไม่เกี่ยวกับธรรมะเลย แต่ดอกบัวเกิดจากโคลนตม จิตของคนมันเป็นแบบนี้ เราต้องเริ่มต้นจากจิตของเราไง เริ่มต้นจากความรู้สึกของเรา เริ่มต้นจากความนึกคิดของเรา เราจะไปเอาจิตบริสุทธิ์มาจากไหนมันไม่มีหรอก

จิตที่เกิดมา มนุษย์ที่เกิดมามีอวิชชาทุกคน มันก็เริ่มต้นจากโคลนตมนี่แหละ เริ่มต้นจากความสกปรกโสมมในใจเรานี่แหละ แต่มีสติปัญญาควบคุมดูแลรักษา ให้มันสะอาดได้ ถ้าจิตสะอาดนะ จิตเป็นสมาธิคือจิตสะอาด จิตสะอาดเพราะอะไร จิตสะอาดเพราะมันมีเหตุมีผล จิตสะอาดเพราะมันมีสติปัญญา มันไม่คิดฟุ้งซ่านไปตามอารมณ์ความรู้สึก ที่มันฟุ้งซ่านเราทุกข์ยากกันอยู่นี้ เพราะมันมีอารมณ์ความรู้สึก

อารมณ์ความรู้สึกมันเกิดจากอะไร เกิดจากแรงกระตุ้น เกิดจากแรงกระตุ้นของอวิชชา เกิดจากแรงกระตุ้นของตัณหาความทะยานอยาก เป็นจริตไง โทสะจริต โมหะจริต โลภะจริต เห็นไหม แรงกระตุ้นของคนมันไม่เหมือนกัน แรงกระตุ้นของโทสะก็อย่างหนึ่ง แรงกระตุ้นของโมหะก็อย่างหนึ่ง แรงกระตุ้นของโลภะก็อย่างหนึ่ง เห็นไหมความคิดเกิดจากแรงกระตุ้น ความคิดเกิดจากสามัญสำนึก ความคิดเกิดจากธรรมชาติไง มันก็เลยกลายเป็นส่งออกเห็นไหม

เรามีสติปัญญา พุทโธๆๆ หรือปัญญาอบรมสมาธิ พิจารณากงพิจารณากายกันที่เขาว่าพิจารณานี่แหละ ผลของมันเพราะอะไร เพราะมันมีเหตุมีผลเห็นไหม มันทำให้จิตสงบตัวลง แต่ถ้าไม่มีสติ ไม่มีความรับรู้ว่า ความรู้สึกของเรามีแค่ไหน มันเป็นมิจฉา

มิจฉาเพราะอะไร มิจฉาเพราะว่าไม่รู้ว่าเราต้องการความสงบไง พอมันสงบแล้วนะ สงบแล้วสงบคืออะไร สงบคือสมาธิ สมาธิแก้กิเลสไม่ได้ แต่พอสงบแล้ว ให้มันออกรู้ ให้มันออกเห็นกาย เห็นกายโดยจิตนะ เห็นกายโดยจิตนะ พอมันเห็นกายมันสะเทือนหัวใจมันสะเทือนจิต ขนพองสยองเกล้าเลย

แต่โดยสามัญสำนึกเราเห็นกายโดยธรรมชาติ สามัญสำนึกเห็นกายก็เห็นกาย ก็อยู่กับกาย ก็อาบน้ำชำระกายอยู่ทุกวัน ทำความสะอาดกายวันละสามรอบสี่รอบ ก็เป็นเรื่องปกตินะ

แต่ถ้ามันไปเห็นกายโดยจิตนะ ดูสิสมบัติอยู่กับเราอยู่กับมือเห็นไหม เราไม่ค่อยตื่นเต้นเลย แต่ถ้าสมบัติที่มันอยู่ข้างนอกทำไมเราตื่นเต้นล่ะ จิตกับกายนี้มันอยู่ด้วยกันเห็นไหม มันคุ้นชินกันจนมันไม่มีสิ่งใดเป็นความแตกต่างเลย มันคุ้นชินกัน เพราะมันมาโดยกรรมไงมาโดยวิบากไง

ร่างกายของเราไง เราเกิดเป็นมนุษย์ มนุษย์สมบัติไง แต่พอจิตมันสงบเข้าไปแล้ว จิตกับกายมันแยกกัน จิตเป็นจิตเพราะมันสงบเข้ามา สามัญสำนึก สังโยชน์คือความรับรู้ระหว่างจิตที่มันควบคุมร่างกายนี้ จิตนี้เวลามันคิดสิ่งใดเห็นไหม มันก็ส่งคลื่นทุกอย่างไปที่สมอง สมองมันก็สั่งให้ร่างกายนี้ทำด้วยความเร็วมากเห็นไหม ยื่นมือยกของอะไรต่างๆ มันอยู่ที่จิตสั่งทั้งหมด

แล้วพอจิตมันสงบเข้ามา มันปล่อยร่างกายทั้งหมด มันก็เหมือนกับไม่ใช่ว่าเหมือนกับความคุ้นชินของของที่เป็นร่องๆ กัน ร่องสายน้ำหรือว่าสายบังคับบัญชา หรือว่าสิ่งที่เปลือกของมันที่มันเป็นอย่างนั้น พอสงบเข้ามาปั๊บ พอมันสงบเข้ามาเห็นไหม มันทำโดยธรรม

พอทำโดยธรรม เพราะจิตสงบแล้ว ต้องเห็นสติปัฏฐาน ๔ จิตสงบแล้วจะเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม โดยจิต พอโดยจิตมันจะเกิดวิปัสสนา วิปัสสนาเพราะอะไร วิปัสสนาเพราะมันจะทำความหลงผิดไง สักกายทิฏฐิความหลงผิดของจิตจะแก้ไขตรงนั้น ถ้าแก้ไขตรงนั้นมันถึงเป็นวิปัสสนา มันถึงเป็น ศีล สมาธิ ปัญญา

ปัญญาที่เกิดขึ้นมาจะเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่ว่า พิจารณากายไป พิจารณากายไปโดยไม่ต้องใช้สมาธิ ใช้ปัญญาล้วนๆ สมาธิมันจะเกิดขึ้นเอง พอเป็นโสดาบันขึ้นมา มันจะเกิดฌานเกิดญาณเอง ไอ้นี่ธรรมะกระดาษนะ ธรรมะกระดาษจากตำรานะ

ถาม : อีกประเด็นหนึ่ง อีกประเด็นคือท่านอธิบายถึงพระอรหันต์ ๒ ประเภท สมาธินำปัญญา และปัญญานำสมาธิ ให้ไว้แตกต่างกัน โดยบรรยายว่า

ประเภทสมาธินำปัญญา เป็นพระอรหันต์ไม่เต็มร้อย เพราะยังรับรู้สิ่งกระทบ แม้ไม่กระเทือนถึงจิต ซึ่งเป็นความเคยชินของขันธ์ ท่านเรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพาน ส่วนประเภทที่ปัญญานำสมาธินั้น จะไม่มีการไปการมา จิตนิ่งไม่หวั่นไหว ท่านเรียกว่า อนุปาทิเสสนิพพาน

หลวงพ่อ : เวลามันผิดมาตั้งแต่ต้น โจทย์ที่มันตอบมา ผลที่เกิดจากการปฏิบัติมันก็ผิด มันก็ผิดอะไร ใช้ว่าสมาธินำปัญญาเป็นพระอรหันต์ไม่เต็มร้อย พระอรหันต์ไม่เต็มร้อยเป็นพระอรหันต์ได้อย่างไร พระอรหันต์ไม่มีเต็มร้อยเหรอ เป็นพระอรหันต์ไม่เต็มร้อย แต่ถ้าใช้ปัญญานำสมาธิจะเป็นพระอรหันต์เกินร้อย

มันฟังแล้วมันเศร้าใจ มันเศร้าใจเพราะนี่เขาบอกว่าเขาอยู่ต่างประเทศ นี่ถามจากต่างประเทศนะ ถามจากต่างประเทศนี่แสดงว่าเป็นธรรมทูต ถ้าธรรมทูตเวลาออกไปถึงต่างประเทศแล้วไปสอนอย่างนี้ เพราะว่าพระอรหันต์ พระอรหันต์ ๔ ประเภท เตวิชโช ฉฬภิญโญ เห็นไหม พระอรหันต์หลายประเภท

เตวิชโชก็วิชชา ๓ ฉฬภิญโญเห็นไหม มันมีอภิญญา ๖ นั่นพระอรหันต์แต่ละประเภท แต่สอุปาทิเสสนิพพานกับอนุปาทิเสสนิพพาน มันเป็นพระอรหันต์ที่มีชีวิตอยู่กับพระอรหันต์ที่ตายแล้ว อย่างเช่นหลวงตาท่านยังมีชีวิตอยู่ เป็นสอุปาทิเสสนิพพาน เพราะท่านมีร่างกาย สะ คือเศษส่วน คือความคิดนี่แหละ ความคิดไม่ใช่จิตนะ พระอรหันต์นี้ไม่มีความคิด พอเป็นพระอรหันต์ปั๊บจิตมันจะเป็นจิตล้วนๆ

จิตนี้มันเป็นภพ พอทำลายจิตปั๊บมันจะเป็นธรรมธาตุ มันเป็นส่วนหนึ่ง เป็นจิตไหมเป็นวิญญาณไหม มันเป็นเมื่อก่อนเป็น พอมันพ้นไปแล้ว เพราะพระอรหันต์มีความรู้สึก มันมีความรู้สึกแต่มันไม่มีความคิดมันไม่มีอะไรทั้งสิ้น เพราะมันเป็นขันธ์

ขันธ์ ความคิดมันอยู่ที่รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ความคิดเกิดจากเราเห็นไหม เวลาเราไม่มีความคิดปั๊บตัวความรู้สึกอันนั้น แล้วมันทำลายอวิชชาแล้ว มันพ้นไปมันเป็นพระอรหันต์ นี่เขาเรียกว่าสอุปาทิเสสนิพพาน เพราะอะไรเพราะว่าเรานั้นสามัญสำนึกยังมีอยู่ใช่ไหม เพราะเราเป็นพระอรหันต์

ฉะนั้นเป็นพระอรหันต์แล้ว ความรู้สึกความนึกคิดมันยังสื่อได้ นี่เขาเรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพาน เศษส่วนเห็นไหม อย่างเช่น หลวงตาท่านเจ็บไข้ได้ป่วยเห็นไหม ท่านบอกว่าท่านปวดขา ท่านป่วย นี่เศษส่วนมันป่วย ร่างกายมันป่วย เห็นไหมเขาเรียกเศษส่วน

พระอรหันต์มีชีวิตมันยังกระทบกระเทือนได้ แต่เวลาถ้าปัจจุบันนี้ หลวงตาท่านเสียชีวิตไปแล้ว เป็นอนุปาทิเสสนิพพานแล้ว เพราะร่างกายของท่านได้เผาแล้ว ความคิดของท่าน ขันธ์ของท่านมันขาดตั้งแต่ท่านเป็นพระอรหันต์แล้ว ฉะนั้นพระอรหันต์ที่มีชีวิตอยู่กับพระอรหันต์ที่ตายแล้ว มันก็คือพระอรหันต์ไม่มีอะไรแตกต่างกันเลย เพียงแต่มันแตกต่างกันที่มีร่างกายอยู่ กับคนที่ทิ้งร่างกายไปแล้วเท่านั้นเอง

สอุปาทิเสสนิพพานคือพระอรหันต์ท่านยังมีชีวิตอยู่อย่างเช่น พระโมคคัลลานะ พระโมคคัลลานะเป็นพระอรหันต์โดนโจรทุบตายเลย ทุบอะไรนะ ทุบเศษส่วนไม่ได้ทุบใจพระโมคคัลลานะเลย เพราะว่าเวลาโดนทุบตายแล้ว พอโจรไปแล้วนะ เอาธรรมอันนั้นแบบว่าใช้ฤทธิ์ทำให้ร่างกายนั้นกลับมาเป็นปกติ แล้วก็เหาะไปลาพระพุทธเจ้า เพื่อจะลาไปนิพพาน

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “เธอจะนิพพานที่ไหนล่ะ” “ข้าพเจ้านิพพานที่เดิมนั่นน่ะ” “อย่างนั้นสมควรแก่เวลาของเธอเถิด” จึงเหาะกลับมาที่เก่า พอกลับมาที่เก่าก็คลายฤทธิ์ออก ร่างก็แหลกเหลว

ทุบร่างไปแล้วเห็นไหม แต่ธรรมธาตุสามารถรวบรวมร่างกายนั้น เหาะมาลาพระพุทธเจ้าก่อน เพราะยังไม่ได้ลาพระพุทธเจ้า นิพพานไม่ได้ เพราะด้วยความเคารพด้วยความบูชา พอลาเสร็จแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอนุญาตแล้วก็เหาะกลับมาที่เก่า แล้วก็คลายฤทธิ์ออกมันก็เหมือนร่างกายที่โจรทุบเละนั่นแหละ

นี่ไงสอุปาทิเสสนิพพาน คือร่างกายอันนั้นกับความนึกคิด แต่อนุปาทิเสสนิพพานพอพระโมคคัลลานะคลายร่างนั้นออก ไม่มีแล้วเป็นอนุปาทิเสสนิพพานแล้ว

สะ คือเศษส่วน มันเป็นเรื่องของพระอรหันต์ที่มีชีวิต กับพระอรหันต์ที่ไม่มีชีวิต แต่ถ้าเป็น สุกขวิปัสสโก เตวิชโช นะ ประเภทนั้นมันเหมือนกับเรานะ เหมือนกับทางโลกนะ เวลาเราจบปริญญา เราจบปริญญาเหมือนกัน คือว่าคำว่าจบปริญญาคือจบปริญญาเท่ากัน เป็นพระอรหันต์คือเป็นพระอรหันต์เท่ากัน

แต่จบปริญญาแล้ว จบสาขาไหนๆ เตวิชโชเป็นพระอรหันต์เหมือนกัน จบปริญญาตรีเหมือนกันหมด แต่เอกอะไรล่ะ เอกอะไร นี่ก็เหมือนกัน เอกการศึกษาเราเลือกได้ใช่ไหม ว่าเรามีความถนัดอย่างนี้ เราจะเลือกเรียนทางวิชาการนี้ แล้วเราจบทางนี้ แต่เป็นพระอรหันต์เลือกไม่ได้! เลือกไม่ได้! เลือกไม่ได้เพราะอะไร เลือกไม่ได้เพราะมันเป็นบารมีที่สร้างมาแต่เดิม มันเป็นสิ่งที่เป็นความถนัด ความถนัดเป็นสิ่งที่เราปลูกฝังมาตั้งแต่อดีต

ฉะนั้นถ้าเป็นประเภทนี้ จะทำอย่างไรก็แล้วแต่ เป็นพระอรหันต์ก็แล้วแต่ก็ต้องเป็นประเภทนี้แหละ เพราะอะไร เพราะมันเป็นสิ่งที่สร้างมาแต่อดีต ถ้าวิชชา ๓ นะ รู้อดีตชาติ รู้จิตไปเกิด จุตูปปาตญาณ แล้วอาสวักขยญาณคือชำระกิเลส จะประเภทไหนต้องอาสวักขยญาณชำระกิเลสหมด

แต่สิ่งที่เป็นสุกขวิปัสสโกอย่างนี้ ถ้าสุกขวิปัสสโกเขาก็ว่าสุกขวิปัสสโกนี้ไม่มีฤทธิ์ๆ ถ้าสุกขวิปัสสโกเราตีพระสารีบุตร นั่นนะสุกขวิปัสสโกเพราะอะไร เพราะว่า ท่านใช้ปัญญา

พระสารีบุตรนะ เลิศทางปัญญา แล้วพระโมคคัลลานะเลิศทางฤทธิ์ ถ้าเตวิชโชพระโมคคัลลานะมีฤทธิ์เพราะอะไร เพราะพวกนี้ทำสมาธิมาก่อน พอทำสมาธิเห็นไหม ดูสิพระโมคคัลลานะกับพระสารีบุตร มาเข้าเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พระโมคคัลลานะเป็นพระโสดาบัน กับพระสารีบุตรเป็นพระโสดาบัน แล้วมาบวชกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระโมคคัลลานะนั่งสัปหงกโงกง่วง พระโสดาบันนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาด้วยฤทธิ์เลย “โมคคัลลานะ เธอจงแหงนหน้าดูดาว เธอจงเอาน้ำลูบหน้า เธอจงตรึกในธรรม”

นี่ไงเวลาเตวิชโช เวลาประพฤติปฏิบัติ สุดท้ายแล้วพระโมคคัลลานะ ๗ วันเป็นพระอรหันต์ พระสารีบุตร ๑๔ วัน เพราะว่าสอนแล้วใช้แต่ความคิด ปัญญามากสุดท้ายเป็นพระอรหันต์เหมือนกัน แต่องค์หนึ่งมีฤทธิ์มาก องค์หนึ่งมีปัญญามาก เป็นเพราะอะไร เป็นเพราะว่า ท่านสร้างของท่านมาอย่างนั้น

พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ ปรารถนาเป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายและเบื้องขวา แล้วสร้างบุญญาธิการมา ปรารถนามาแล้วสร้างมา

จิตของพวกเรานะ คนเรานะขี้โกรธ คนเราขี้โลภ คนเราขี้หลง มันเป็นอะไรล่ะ บางคนนะโทสะแรงมาก บางคนนะแตะไม่ได้เลย โทสะกันทันทีเลย เพราะเขาใช้ชีวิตของเขามาอย่างนั้นตลอด พอใช้ชีวิตอย่างนั้นมาตลอดเขาก็ฝังใจของเขามาตลอด

ถ้าเขาเป็นพระอรหันต์ล่ะ เขาก็เป็นพระอรหันต์ประเภทที่เขาสร้างมาไง นี่ไงที่บอกว่า พระอรหันต์ประเภทไหนๆ มันก็พระอรหันต์เหมือนกัน แต่สิ่งที่ประเภทไหนๆ มันอยู่ที่ท่านสร้างบุญญาธิการมา ดูเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเห็นไหม ก็เป็นพระอรหันต์เหมือนกัน แต่เป็นศาสดา

เป็นศาสดามีฤทธิ์มีเดชมากกว่าทุกๆ คน เหนือกว่าทุกๆ คน แต่พระสารีบุตรกับพระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์เหมือนกันไหม เหมือนกัน เป็นพระอรหันต์ในสมัยพุทธกาลกับพระพุทธเจ้าก็เป็นพระอรหันต์เหมือนกัน แต่บารมีแตกต่างกันมหาศาลเลย อยู่ที่บารมี ฉะนั้นประเภทๆ มันอยู่ที่บารมี

บารมีนี้ไม่ใช่มรรคญาณ มรรคญาณเป็นมรรคญาณนะ บารมีส่วนบารมี ฉะนั้นที่ว่า ถ้าใช้สมาธินำปัญญา จะเป็นพระอรหันต์ไม่เต็มร้อย ไม่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ยังรับรู้สิ่งกระทบถึงแม้ไม่กระเทือนที่จิต ซึ่งเป็นไปตามความเคยชินของขันธ์ ท่านว่าแบบนี้เรียกว่าสอุปาทิเสสนิพพาน

ส่วนประเภทใช้ปัญญานำสมาธินั้น ไม่มีการไปการมา จิตนิ่งไม่หวั่นไหว ท่านว่าแบบนี้เรียกว่า อนุปาทิเสสนิพพาน

อันนี้พูดเข้าข้างตัวเองไง เข้าข้างว่าถ้าใช้ปัญญานำแล้วจะเป็นอนุปาทิเสสนิพพาน ถ้าใช้สมาธินำแล้วเป็นสอุปาทิเสสนิพพาน ไอ้นี่มันนิพพานกระดาษ นิพพานคือความคิดของตัว ถ้าเรียนมาศึกษามาก็เป็นแบบนี้ แต่ถ้าไม่ได้ปฏิบัติเลยมันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง อันนี้เราตอบแค่นี้นะ อันนี้เขาบอกว่า เขาถามมาจากต่างประเทศเขาอยู่ต่างประเทศ ผมอยู่ต่างประเทศครับ ชอบฟังธรรมะ อยู่ต่างประเทศ ก็ตอบในประเทศจบ อันนี้ขออีกข้อหนึ่ง อันนี้จะเข้าปฏิบัติเราแล้ว

 

ถาม : ข้อ ๓๕๙. นำสภาวะตทังคปหาน ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีตมาใช้เทียบเคียงเป็นสัญญาหรือเปล่าครับ

กราบนมัสการหลวงพ่อ ถ้าเราเคยมีประสบการณ์ตทังคปหาน จากการพิจารณากายมาแล้ว และรับรู้ได้ว่า การที่มีความคิดที่เกิดขึ้นโดยจิตที่ปล่อยยึดกายไปแล้ว มีลักษณะแตกต่างกับการที่ความคิดทั่วๆ ไป ซึ่งมีตัวตนมาจากการยึดกายว่าเป็นตัวเรา

กล่าวคือ ถ้าตทังคปหานไปแล้ว คิดก็ไม่มีตัวเราเข้ามาเกี่ยวข้อง มีแต่จิตที่คิดและรับรู้ความคิด ไม่มีกายไม่มีตัวตนที่เป็นเรา แค่ถ้ามีอุปาทานยึดถือกาย มันจะมีตัวเราเข้ามาเกี่ยวข้องในทุกครั้ง ในฐานะที่ตัวเราเป็นเหมือนประธาน ในการกระทำอยู่ในความคิดนั้นๆ ทั้งสองความคิดนั้นเป็นความคิดเหมือนกัน แต่ความแตกต่างกันมีมาก ดังที่ผมกล่าวมาแล้ว จนผมสังเกตได้ จึงได้เรียนถามหลวงพ่อว่า

๑.ถ้านำตทังคปหานที่เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีต มาใช้เทียบเคียงกับความคิดที่เกิดขึ้นในปัจจุบันกระทำได้หรือไม่ครับ ถ้าผมไม่ตามความคิดที่มีตัวตนของผมเป็นประธาน ในความคิดนั้นๆ เพราะผมว่ามันถูกปรุง มันเป็นของไม่จริง ของจริงเป็นอย่างไร ผมก็เคยพิจารณากาย แยกย่อยทุกๆ ส่วนจนกายหายไปหมด แล้วจิตก็ไม่มีกายมาเกี่ยวข้องเลย เหมือนกับว่ากายนี้ไม่เคยมีมาก่อนเลย ผมว่าสัจจะความจริงคือ

กายที่เป็นเราไม่มี ตัวตนในใจที่เป็นประธานในความคิดก็ไม่มี พิสูจน์ได้จากตทังคปหาน ดังนั้นถ้ามีความคิดเกิดขึ้น แล้วมีเราเป็นประธานในความคิด ผมว่ามันเป็นกิเลสปรุงแต่ง เคยลองตามความคิดแบบนั้นไป แล้วไปเจอแต่สภาวะเร่าร้อนในใจ เหมือนโดนกิเลสเล่นงาน จึงขอเรียนถามหลวงพ่อว่า

๒.ขอให้หลวงพ่อโปรดแนะนำว่าผมทำถูกหรือไม่ครับ ที่ไม่ตามความคิดที่มีตัวตนของผมเป็นประธานไป ที่ผมเกรงคือเกรงว่าจะนำสัญญาในอดีตมาใช้ มันจะเป็นสัญญา มันจะโดนกิเลสหลอก โดยที่เราไม่รู้ตัวหรือไม่ครับ

หลวงพ่อ : ตทังคปหาน คือการที่เราจิตสงบนะ พอจิตเราพิจารณาร่างกายเราก็แล้วแต่ ถ้ามันสงบแล้วคือสงบ สงบบ่อยครั้งเข้าๆ จากปุถุชนจะเป็นกัลยาณปุถุชน กลายเป็นว่ากัลยาณปุถุชนหมายถึงว่า การทำสมาธิง่ายขึ้น พอทำสมาธิง่ายขึ้นเราก็เอาสมาธินี้พร้อมกับจิตนี้ไปพิจารณากายซ้ำ ถ้าพิจารณากายซ้ำ มันมีสมาธิเป็นพื้นฐานขึ้นมา พอพิจารณากายซ้ำแล้ว มันจะปล่อย การปล่อยนี้เขาเรียกตทังคปหาน

แต่การปล่อยแล้ว มันไม่ได้ปล่อยกิเลสหรอก เพราะกิเลสมันเริ่มโดนตรวจสอบ พอกิเลสเริ่มโดนตรวจสอบมันรู้มันก็ปล่อย แต่มันปล่อยเพื่อจะหลบไง กิเลสมันยังไม่ได้ชำระล้าง ฉะนั้นการที่ตทังคปหานขณะที่ปล่อย เหมือนเราทำงานใช่ไหม เสื้อผ้าเราเอามาซักแล้วมันสะอาดไหม สะอาดน่าสวมใส่มาก แต่เวลาเราใส่แล้ว สกปรกไหม สกปรก

จิต จิตเวลาเราพิจารณา ตทังคปหานคือเราซักเสื้อผ้า ซักจิตรอบหนึ่งจิตก็สะอาด แต่สะอาดแล้วนะ ในร่างกายเรามีสิ่งสกปรก เวลาเราใช้สอยแล้ว มันก็มีกลิ่นสกปรกเหมือนเดิม จิตมันตทังคปหานแล้วก็จิรง แต่เวลาที่ว่าเราจะตามความคิดไป มันก็เหมือนทำความสะอาดของจิตอีก ฉะนั้นเวลาตามความคิดไปแล้ว ความคิดมันบอกว่ามันร้อนนัก เพราะมันเป็นความสกปรก มันจะร้อนมันจะเย็นมันก็ต้องตามตลอด มันต้องตามความคิดไป

ถ้าเราบอกว่า เสื้อผ้าใส่แล้วไม่ซัก ให้มันทิ้งสะสมหมักหมมไว้อย่างนั้น แล้วเสื้อผ้ามันจะเน่าไปข้างหน้าไหม เน่า จิตก็เหมือนกัน พอเราพิจารณาแล้ว มันเคยปล่อยมา คือเสื้อผ้าเราเคยซักมาแล้ว ซักมาแล้วก็คือซักมาแล้ว แล้วใส่ทำไม ซักมาแล้วก็เก็บไว้ในตู้ไม่ให้ใส่เลย มันก็จะไม่สกปรก

แต่ความคิดมันจะเก็บไว้ไม่ได้ มันเกิดดับตลอดเห็นไหม ฉะนั้นเวลาเราซักแล้วหนหนึ่ง ซักแล้วก็เก็บไว้ แต่เราเอามาใช้แล้วเราก็ต้องซักอีก จิตมันเป็นประธาน เห็นไหมความคิดมันเป็นประธาน ถ้าความคิดเป็นประธาน ใช่ เพราะจิตมันเป็นประธาน

จิตมันเป็นตัวจิต ความคิดเกิดจากจิต นี่ความคิดเกิดจากจิต แต่จิตตัวประธานคือตัวอวิชชา ฉะนั้นเวลาบอกว่า เวลาความคิดเราไม่ตามตัวประธานไป เพราะตามตัวประธานไปแล้วมันจะร้อน ร้อนสิ ร้อนเพราะกิเลสมันอยู่ที่นั่น เราต้องตามตัวประธานไป ที่ไหนมีความคิด ที่ไหนมีความสกปรก ปัญญาต้องไล่ต้อนทั้งหมด ที่ไหนมีความสกปรก ที่ไหนต้องเข้าไปทำความสะอาดทั้งหมด

แต่ทำความสะอาดยังไม่ไหว เพราะอะไร เพราะจิตมันยังไม่มีสมาธิ เราก็กลับมาทำสมาธิก่อน กลับมาทำความสงบของใจ แล้วต้องเข้าไปเผชิญกับมัน ไม่ใช่พอเข้าไปเผชิญกับมัน แล้วมันปล่อยวางหนหนึ่งจะยึดอันนี้เป็นหลัก เหมือนกับเราเกิดมา เราเคยทำผลงานชิ้นหนึ่ง แล้วบอกจะเอาผลงานชิ้นนี้ใช้ไปตลอดชีวิตไม่ได้หรอก

เราจะต้องทำงานไปทั้งปีทั้งชาติ เราเกิดมา มนุษย์เกิดมาต้องมีหน้าที่การงาน เพื่อหาปัจจัยดำรงชีวิต จะบอกว่าเคยทำงานหนหนึ่งแล้วจะไม่ทำอีกเลย ความคิดอย่างนี้ไง เพราะความคิดอย่างนี้ เป็นความคิดของคนไม่มีประสบการณ์

มีคนปฏิบัติมาก บอกว่าเวลาพิจารณาไปแล้วมันปล่อย พอปล่อยแล้วก็คิดว่าตัวเองปล่อยแล้ว ปล่อยแล้วก็ไม่ค่อยเข้มงวดกับตัวเอง สุดท้ายแล้วจิตเสื่อมหมดเลย พอจิตเสื่อมแล้ว ถ้าจะเอาความจริงขึ้นมาก็ต้องมาเริ่มต้นจากตรงนี้ เพื่อพัฒนาของมันขึ้นมาใหม่

พอพัฒนาขึ้นมาใหม่ มันก็เหมือนกับคนจิตเสื่อมเห็นไหม จิตเสื่อมเหมือนกับคนล้มละลาย จิตเสื่อมเปรียบเหมือนคนล้มละลาย แล้วพยายามสร้างฐานะใหม่ แต่เราไม่ใช่คนล้มละลาย เรามาจากศูนย์เรามาจากคนปกติ แล้วเราพยายามจะสร้างตัวขึ้นมามันแตกต่างกัน

นี่ก็เหมือนกัน พอปล่อยแล้วมันจะเสื่อม พอเสื่อมขึ้นมา จะทำได้ลำบากมาก อันนี้ก็เหมือนกัน มันเสื่อมแล้วเจริญ เจริญแล้วเสื่อม เราจะบอกว่า คนที่ปฏิบัติทุกคน มันต้องมีประสบการณ์แบบนี้ เจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ อย่างเช่นชีวิตเราทั้งชีวิต เราเคยเจ็บไข้ได้ป่วยไหม ต้องมีความเจ็บไข้ได้ป่วยบ้าง บางคนไม่เจ็บไข้ได้ป่วยก็ สาธุ เป็นบุญของเขา บางคนเกิดมา มีเจ็บไข้ได้ป่วยมีอุบัติเหตุ เราก็แก้ไขรักษาร่างกายเราไป

จิตในการปฏิบัติมันก็มีล้มลุกคลุกคลาน มีผิดมีพลาดตลอดไป ฉะนั้นเราบอกว่า เราเคยตทังคปหานมาแล้ว เราจะเอาอันนั้น ไม่กล้าทำสิ่งใดเลย กลัวมันจะเป็นสัญญาเป็นอะไร มันจะสัญญาไม่สัญญาเดี๋ยวมันก็รู้

แบงก์เวลาใช้ ถ้าแบงก์จริงใช้ได้ทุกสถานที่ ถ้าแบงก์ปลอมเราเองเราก็ไม่ค่อยมั่นใจแล้วล่ะ พอใช้ไปแล้วเขาบอก อันนี้ปลอมๆ เขาก็ไม่รับ เหมือนกัน ปัญญาจะจริงปัญญาจะปลอม จะเป็นสัญญาไม่เป็นสัญญา เราใช้ตลอด เราใช้ปัญญาของเราตลอด มันต้องสู้นะ

ถ้าเราบอกว่า มันเคยตทังคปหานมาถูกต้อง มันปล่อยวางหมดเห็นไหม จนปล่อยวางร่างกายทั้งหมด แต่การปล่อยวางนี้ เห็นไหมเวลาคนกำหนดพุทโธๆๆๆ เวลาอัปปนาสมาธิคือมันปล่อยหมด ขณิกสมาธิก็สงบชั่วคราว อุปจารสมาธิสงบแล้วมันออกรู้ แต่ถ้าเป็นอัปปนาสมาธิมันสักแต่ว่า คำว่าสักแต่ว่า จิตมันจะหดตัวเข้ามาโดยอิสรภาพเลย มันทิ้งกาย ทิ้งกายด้วยสมาธิ

แต่มันทิ้งกายโดยสมาธิ สมาธิแก้กิเลสไม่ได้ แต่พวกฤๅษีชีไพรเขาสงบจนไม่รับรู้กายนี่มี การไม่รับรู้ไง มันสักแต่ว่าไม่รับรู้อะไรเลย คือจิตล้วนๆ ไม่รับรู้ทั้งๆ ที่ว่าอาศัยร่างกายนี้อยู่ มันไม่ยอมรับรู้เรื่องกายนี้เลย มันสงบนิ่งเลย อันนี้ฝึกปัญญาไม่ได้ อันนี้ออกใช้ปัญญาไม่ได้ ต้องคลายตัวออกมา พอคลายตัวออกมาเป็นอุปจาระแล้วมันจะออกรับรู้

เพราะออกมาเห็นไหม รับรู้เหมือนกับว่าความเคยชิน ความคุ้นชินระหว่างกายกับจิตเห็นไหม จิตมันรับรู้กายๆ ความคุ้นชินของมันความเคยชินของมันว่าจิตกับกายนี้มันเป็นวิบากกรรมที่มาร่วมกัน แต่โดยสามัญสำนึกก็เป็นเรื่องความคุ้นชินของมันไปเลย

แต่พอจิตสงบแล้ว ความคุ้นชินอันนี้มันแยกออกจากกัน พอแยกออกจากกันจิตกับกายมันคนละอันกัน จิตนี้มันอาศัยร่างกายนี้แหละ เป็นเครื่องอยู่ พอมันสงบแล้ว มันก็พิจารณากายมันนี้แหละ พิจารณาวิบากกรมนี้แหละ พิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นมานี้แหละ ว่าของที่เกิดมาเป็นของเราๆ มันเกิดมาจากวิบากกรรมของเรานี้แหละ พิจารณาจนกระทั่งมันปล่อยวาง จนจิตเป็นอิสระเห็นไหม

พระอรหันต์ที่ว่า สอุปาทิเสสนิพพานเห็นไหม เป็นพระอรหันต์จิตเป็นพระอรหันต์ แต่ยังมีร่างกายนี้อยู่ไง แต่ถ้าตายไป มันทิ้งกายนี้ไปก็เป็นอนุปาทิเสสนิพพาน นี่ไงพอจิตมันสงบแล้ว ออกมาอุปจารสมาธิพิจารณาของมัน พิจารณาความคุ้นชิน พอพิจารณามันจะรู้ของมัน

นี่พูดถึงว่าเวลาตทังคปหาน เวลามันปล่อยแล้วเห็นไหม เวลาปล่อยโดยสมาธิก็มี เวลาปล่อยโดยปัญญาก็มี ฉะนั้นสิ่งที่ว่า พอปล่อยแล้วจิตมันก็เป็นอย่างที่ว่า จิตมันเป็นประธาน สิ่งที่เป็นความคิด มันเกิดขึ้นมาแล้วมันไปติดเรื่องร่างกาย มันเป็นอย่างนี้จริงๆ แต่มันต้องมีการซ้ำแล้วซ้ำเล่า ฝึกฝนแล้วฝึกฝนเล่า ตรวจสอบแล้วตรวจสอบเล่า จนจิตมันเข้มแข็ง จิตมันมีกำลังของมัน มันเข้าใจของมัน มันทำของมัน เขาเรียกว่า มรรคสามัคคี

ความสมดุลของจิตไง ไอ้นี่มันปล่อยวาง มันปล่อยวางแต่ใครเป็นคนปล่อย เราเป็นคนปล่อยเหรอ ประธานเป็นคนปล่อย ประธานมันรู้เห็นไหม มันไม่สมดุล มันยังมีตัวตนอยู่ ซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ จนมีความชำนาญเห็นไหม มันชำนาญมันสมดุล สมดุลคือมรรคสามัคคี ถ้ามรรคสามัคคีมรรคมันรวม มรรคญาณมันรวม แล้วมรรคญาณมันชำระกิเลสเป็นโสดาบัน

ถ้าเป็นโสดาบันจริงๆ เดี๋ยวจะรู้เลย ไม่ใช่ว่าเป็นโสดาบันแล้ว ญาณมันจะมาเกิดขึ้นเอง ญาณจะตามมาอย่างที่เขาสอนกัน เวลามันเกิดขึ้นมันขณะจิต พอขณะจิตมันพิจารณาของมัน มรรคสามัคคีมันรวม มรรคญาณมันรวม แล้วมรรคมันตัดขาด สังโยชน์มันขาดอย่างไร พอสังโยชน์มันขาดนั่นก็จบ สังโยชน์มันขาด ขาดที่ประธาน

ฉะนั้นสิ่งที่เป็นประธานมันมีความเร่าร้อน เราไม่อยากพิจารณาต้องพิจารณา นี่ข้อที่ ๑ ไง

ถาม : สิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีตแล้ว ถ้ามาเทียบเคียงกับความคิดที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน กระทำได้หรือไม่ครับ

หลวงพ่อ : ต้องกระทำด้วย ต้องกระทำ เพราะว่าเวลาปัญหาที่เขาไปถามหลวงตาเห็นไหม หลวงตาจะบอกว่า ซ้ำเข้าไปๆ ถูกแล้วซ้ำๆ หลวงตาจะตอบอย่างนี้เลย ถูกแล้ว

เพราะตทังคปหานมันถูกแล้ว ถ้าถูกแล้ว ถูกแล้วก็คืออดีตไง ถูกแล้วก็เมื่อปีที่แล้วมีเงินอยู่ ๕ ล้าน ตอนนี้เป็นหนี้อยู่ ๕ ล้าน ถูกแล้วได้อย่างไรล่ะ ไอ้เงิน ๕ ล้านปีกลายใช้หมดแล้ว ปีนี้ตัวแดงอีก ๕ ล้านยังไม่มีหาไปใช้เขาเลย ถูกแล้วมันถูกแล้ว

ตอนปีกลายมีเงิน ๕ ล้านมันมีความสุขมาก ตอนนี้เป็นหนี้ ๕ ล้านทุกข์มาก ตอนนี้เป็นหนี้ ๕ ล้าน ก็ต้องใช้หนี้ ๕ ล้านให้จบก่อน แล้วค่อยหาเงินใหม่

มันเป็นอดีตไปแล้วนะ ทีนี้การเป็นอดีตไปแล้ว ทุกคนส่วนใหญ่จะจำสิ่งที่มีความสุข คนเราจะจำสิ่งที่เป็นอดีต พอสิ่งนี้เป็นอดีตมันเป็นอดีต ฉะนั้นพออดีตแล้ว คนไม่เคยทำทานก็ไม่ได้ทำทาน คนทำทานไปแล้วก็ทานที่เป็นอดีต คนที่ปฏิบัตินะ ปฏิบัติวันนี้ก็เป็นปัจจุบัน แต่มันล่วงจากวันนี้ไป มันก็เป็นอดีตไปแล้ว

อดีตอนาคตแก้กิเลสไม่ได้ ต้องเป็นปัจจุบันธรรมถึงแก้กิเลสได้ ฉะนั้นสิ่งที่ทำนี้ถ้ามีสติใช่ไหม มีตัวประธานมีตัวสิ่งใด ต้องลุยเข้าไปเลย เพียงแต่ว่าลุยแล้ว จิตมันไหวไหม ถ้าจิตไม่ไหวกลับมาทำสมาธิ ถ้าเราทำสมาธิจนมีกำลังแล้วลุยเข้าไปเลย ถ้าลุยเข้าไปเลยมันเป็นปัจจุบันนะ มันจะไม่เป็นอดีต มันจะไม่เป็นสิ่งที่ว่าเราคาดหมาย มันจะเป็นปัจจุบัน

แล้วนี่ตทังคปหานครั้งที่หนึ่ง มันจะมีตทังคปหานครั้งที่สองที่สามที่สี่ที่ห้าที่หกที่เจ็ดที่ร้อย ที่กี่ร้อยก็แล้วแต่ ถ้ามันยังไม่ตอบโจทย์ คำว่าตอบโจทย์คือขณะจิต จิตที่ว่าขณะจิตเป็นปุถุชน มันจะเป็นพระโสดาบันอย่างไร พอจิตมันเป็นพระโสดาบัน คือมันตอบโจทย์ เขาเรียกขณะจิต ขณะจิตที่มันเปลี่ยนแปลง

มะม่วง มะม่วงแก่มะม่วงดิบ เราเอามาบ่ม ถ้ามันสุกก็คือมันสุก ถ้าไม่สุกนะ มีสองประเด็น คือมันจะเน่า นี่ก็เหมือนกัน ตทังคปหาน ที่หนึ่งที่สองที่สามที่ร้อยที่พัน ถ้ามันยังไม่สุก มันยังไม่เป็นมะม่วงสุก ถ้ามันยังไม่เป็นมะม่วงสุก เราก็ต้องซ้ำไปเรื่อยๆ จนกว่ามันจะสุก ถ้ามันสุกแล้วมันจะกลับมาดิบอีกไม่ได้

มะม่วงสุกที่ไหนจะกลับเป็นมะม่วงดิบอีกไม่มี! ไม่มี! แต่ถ้ามันสมุจเฉทปหานแล้วมันจบ ฉะนั้นหน้าที่ของเราหวังผลตรงนั้น หวังผลตรงมันสมุจเฉทปหาน ฉะนั้นสิ่งที่สมุจเฉทปหานมันมาจากตทังคปหาน

การตทังคปหานคือการประหารกิเลสชั่วคราว การยับยั้งกิเลส การทำความสะอาดกิเลสชั่วคราว การทำชั่วคราวมันกลับคืนได้ แต่ถ้ามันสมุจเฉทแล้วมันกลับคืนไม่ได้ มันเป็นมะม่วงสุกแล้วจะกลับมาดิบอีกไม่ได้ เอวัง.