ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ธรรมะขอเอา

๒๗ มี.ค. ๒๕๕๔

 

ธรรมะขอเอา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

อย่างที่พูดตั้งแต่เช้า มันเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรม ถ้าเป็นธรรมนะ สิ่งที่เป็นธรรมนั่น เราทำแล้วมันไม่หวังผลประโยชน์ ไอ้ที่หวังผลประโยชน์มันเป็นโลกหมดนะ โลกก็เป็นผลประโยชน์ แล้วประโยชน์กับอะไร ก็ประโยชน์กับโลก ไม่ใช่ประโยชน์กับธรรม

ถ้าประโยชน์กับธรรมนะ โอกาสที่หลวงตาท่านเสียชีวิต กระแสสังคมขึ้นสูงมากๆ ถ้าเราทำประโยชน์เพื่อศาสนานะ ทำที่ความเป็นธรรมนะ โอ้โฮ มันแบบว่าโอกาสอย่างนี้ เรามองด้วยสายตาของเรานะ โอกาสอย่างนี้มีหนเดียว แล้วโอกาสที่มีหนเดียว เราใช้โอกาสนี้ไปในทางที่ผิดพลาด ถ้าโอกาสอย่างนี้แล้วเป็นธรรม ความไม่เป็นธรรม ศาสนาจะมีหลักยึด แล้วสดมภ์หลักของศาสนาจะมั่นคงขึ้นไป

พระป่า พระกรรมฐาน ตั้งแต่สมเด็จพระจอมเกล้าฯ ท่านพยายาม ท่านสร้างคณะธรรมยุติขึ้นมา มันก็เป็นฝ่ายศึกษา เป็นฝ่ายการปกครอง มันไปตามแม่น้ำ ถ้าที่ไหนมีการคมนาคม ที่นั่นสายธรรมยุติจะมี ถ้าที่ไหนไม่มีการคมนาคม สายธรรมยุติจะไม่มีเลย เพราะว่ามันเป็นฝ่ายทางการปกครอง

ทางแม่น้ำ ถ้าทางน้ำไป จะมีพระธรรมยุติอยู่ทางริมน้ำกับทางรถไฟ มันจะมีพระกรรมฐาน มีธรรมยุติอยู่ที่อุบลฯ ถ้าที่ไหนมีทางรถไฟ การคมนาคมไปถึง ที่นั่นจะมีพระธรรมยุติ แต่พอหลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ ท่านออกประพฤติปฏิบัติ ท่านออกป่าออกเขา ท่านไม่ไปทางคมนาคม ท่านไปด้วยขาของท่าน ท่านไปด้วยเท้าของท่าน ท่านเดินป่าเดินเขา ท่านสมบุกสมบัน ท่านรุกเข้าไปในป่า แล้วธรรมยุติก็กระจายออกไป กระจายออกไปด้วยวงกรรมฐาน

วงกรรมฐานทำให้ธรรมยุติเราเข้มแข็งขึ้นมา ทำให้พระมีความตื่นตัวในการประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ครูบาอาจารย์ของเราได้วางรากฐานมาด้วยความยากลำบาก ด้วยความมุมานะ ด้วยความพยายาม

หลวงตาท่านเป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่น ท่านได้อุปัฏฐากหลวงปู่มั่น แล้วท่านประพฤติปฏิบัติขึ้นมาด้วยสัจจะ ด้วยความจริง ด้วยคุณธรรม ด้วยบารมีธรรมของท่าน จนทั้งชีวิต แล้วท่านล่วงไป คุณงามความดีของท่าน ดึงให้สังคม ดึงให้ทุกฝ่าย ดึงให้สามโลกธาตุหันมาสนใจในศาสนา แล้วโอกาสที่มันจะเป็นประโยชน์กับศาสนา เขาใช้กันเป็นเพื่อประโยชน์ส่วนตน

สิ่งที่จะเป็นเพื่อประโยชน์กับศาสนา คุณงามความดีของหลวงตาทั้งหมด ทั้งชีวิต ทั้งชีวิต! คนดีคนหนึ่งทั้งชีวิต แล้วล่วงไป ทุกคนจะคิดถึง ทุกคนจะแสวงหา ทุกคนจะอาลัยอาวรณ์ ทุกคนจะเข้าไปสู่งานนั้น โอกาสกระแสอย่างนี้มันมีหนเดียว มันไม่มีหนที่สองหรอก

ฉะนั้นถึงบอกว่า มันเป็นธรรมและไม่เป็นธรรม แต่เหตุการณ์อย่างนั้นก็ผ่านไปแล้ว เราต้องสามัคคี เราต้องรักกัน เรื่องแล้วก็แล้วกันไป แต่พูดถึงโอกาสมันได้ผ่านไปแล้ว อันนั้นเรื่องของโอกาส ฉะนั้นกลับมาเรื่องที่ปัจจุบัน

ข้อ ๓๖๐. ไม่มี

ข้อ ๓๖๑. เรื่องสงสัย

ถาม : ๑. ผมอยากบวชนานๆ แต่ยังมีเรื่องทางโลกที่ต้องรับผิดชอบอยู่ ทำให้บวชนานๆ ไม่ได้ พอดีเดี๋ยวนี้วัดใกล้ๆ บ้านผม มีการบวชเพื่อการถวายเป็นพระราชกุศลทุกๆ ปี ปีละ ๙ วัน ถ้าผมบวชแบบนี้ไปเรื่อยๆ ทุกๆ ปี จะมีผลเสียอะไรหรือไม่ครับ บวชแล้วสึกบ่อยๆ ทุกๆ ปี ทำได้หรือไม่ ดีหรือไม่ดีครับ

๒. เมื่อเป็นพระแล้ว หากจะจำวัดอยู่ตามโคนต้นไม้ จำเป็นหรือไม่ครับที่จะต้องทำการอธิษฐานที่ และถอนที่ทุกคืน ทุกเช้า หากไม่ทำจะเป็นผลเสีย หรือมีอันตรายหรือไม่ครับ เพราะตอนผมบวช ผมไม่ได้ทำการอธิษฐานเลย เพราะรู้สึกไม่อยากเบียดเบียนสัตว์ ไม่ให้ออกมาหากิน เพราะสัตว์หากินเวลากลางคืนก็มี ผมใช้การทำสมาธิ แล้วแผ่เมตตาไปทุกคืน

๓. ก่อนที่จะนั่งสมาธิ จำเป็นหรือไม่ครับที่เราจะต้องอาราธนาพระกรรมฐานทุกๆ ครั้ง ตอนที่ผมไปบวช ผมเคยถามพระที่เป็นพระพี่เลี้ยงว่าทำไมต้องอาราธนากรรมฐานทุกครั้งก่อนนั่งสมาธิ พระพี่เลี้ยงตอบว่า การอาราธนาพระกรรมฐานก่อนการนั่งสมาธิ เป็นการขอให้คุณพระพุทธเจ้า คุณครูบาอาจารย์มาคุ้มครอง

เวลาทำกรรมฐาน พระพี่เลี้ยงท่านเล่าว่า ท่านเคยนั่งสมาธิคนเดียว แล้วรู้สึกเหมือนมีคนมาจ้องหน้าอยู่ พอลืมตาขึ้นดูก็เห็นหน้าตัวเอง ทำให้รู้สึกตกใจ จึงต้องอาราธนาพระกรรมฐานทุกครั้ง ผมคิดในใจว่า แบบนี้แปลว่า “พระกลัวสิ” ผมรู้สึกว่าที่เราเป็นพระแล้ว เราทำสมาธิกรรมฐาน เป็นความดี เรายังต้องกลัวอีกหรือ แล้วที่สำคัญ เราอยู่กันตั้งเกือบ ๔๐๐ คน

ขอเรียนถามหลวงพ่อว่า จำเป็นต้องอาราธนากรรมฐานทุกครั้งก่อนนั่งสมาธิหรือไม่ครับ

๔. โสดาบันรู้สึกกลัวผีได้ไหมครับ รบกวนหลวงพ่อเพียงเท่านี้

หลวงพ่อ : นี่คำถามเขานะ

๑. การบวช เห็นไหม อยากบวชนานๆ การตั้งใจทำคุณความดี ทุกคนก็ตั้งใจ แต่มันจำเป็นนะ จำเป็นที่โอกาสของเรา เรามีความจำเป็นทางโลก เห็นไหม เราก็บวช บวชอุทิศส่วนกุศลทุกปีเลย ปีละ ๙ วัน แล้วบวชมาหลายปีแล้ว แล้วมันจะมีผลดีหรือผลเสียครับ มันเป็นประเพณีวัฒนธรรม

ถ้าเป็นประเพณีของคนไทย ประเพณีของเรานะมันมาจากสิ่งที่ดี มาจากสิ่งที่ดี หมายถึงว่า เวลาพระเรา เห็นไหม เขาบอกว่า “ชายสามโบสถ์คบไม่ได้” ตามประเพณี อันนี้เราเรียกว่าประเพณี ชาย ๓ โบสถ์คบไม่ได้ คือบวช ๓ ครั้งไง ๓ บวช คือบวช ๓ ครั้ง

ไอ้นี่บวชทุกปีๆ เลย มันกี่โบสถ์ก็ไม่รู้ ๑๐ โบสถ์ ชาย ๑๐ โบสถ์ ชาย ๒๐ โบสถ์ เขาคบไม่ได้ นี่มันเป็นคติ มันเป็นประเพณีไง เขาว่า “ชายสามโบสถ์คบไม่ได้” เขาจะบอกว่า เหมือนเวลาพระบวชเหมือนกัน “เวลาพระบวชแล้วต้องรับกฐิน ถ้าไม่รับกฐินแล้ว มันเหมือนกับไม่อยู่ในพรรษา”

รับกฐินไม่รับกฐินมันอีกเรื่องหนึ่ง แต่การรับกฐินกับชายสามโบสถ์มันจะเป็นอันเดียวกัน อันเดียวกันหมายถึงว่า ชายสามโบสถ์แสดงว่าผู้ชายคนนี้ใจโลเล บวชก็ไม่จริงไม่จัง เดี๋ยวบวชก็สึก สึกแล้วก็บวช เขามองว่าเป็นคนโลเล ถ้าคนโลเล เห็นไหม ชายสามโบสถ์ เขาบวชเกิน ๓ หนเขาเรียกชายสามโบสถ์

แต่ในพระไตรปิฎก บวชถึง ๙ ครั้งก็มีที่สำเร็จเป็นพระอรหันต์ บวชสึก บวชสึกอยู่นั่น บวชจนมันจะไปบวชนะ พอเขาบอก พระจะไปโกนหัวบวช อืม จะไปอีกแล้วเหรอ บวชโกนหัวจนหัวนี่เป็นที่ลับมีดโกนแล้ว เขาแซวขนาดนั้น แต่ครั้งสุดท้ายบวชก็ถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้

ฉะนั้นเพียงแต่ว่าเป็นประเพณีไง ว่าชายสามโบสถ์ ชายสามโบสถ์คือผู้ชายที่ไม่เข้มแข็ง ผู้ชายที่โลเล เดี๋ยวบวชเดี๋ยวสึกๆ มันเป็นคนโลเล นี่เป็นประเพณี เป็นคติธรรม เหมือนกับสุภาษิตของคนไทย เพราะสังคมไทยสังคมพุทธ ถ้าคนไหนจริงจัง คนไหนมั่นคง คนไหนเข้มแข็ง คนนั้นเป็นคนดี คนไหนโลเล คนไหนทำอะไรจับจด คนนั้นไม่ดี

ฉะนั้นบวชสึกๆ เขามองกันอย่างนี้ไง แล้วเวลากฐินเหมือนกัน บวชแล้วต้องรับกฐินนะ ถ้าไม่รับกฐิน รับกฐินหมายถึงว่าเราบวชแล้วใช่ไหม เราทำอะไรแล้ว เสร็จสิ้นกระบวนการ จบ ถ้าไม่ถึง ถือว่าบวชแล้วออกพรรษาต้องมีกฐินใช่ไหม เราสึกก่อน เราอะไรก่อน เหมือนกับคนนี้ก็ไม่จริงจังอีก

ฉะนั้นจะบอกว่ามันผิดวินัยไหม ในวินัยไม่มีบังคับไว้ ในกฎหมายไม่มี ในธรรมวินัยไม่ได้บัญญัติไว้ แต่มันเป็นประเพณี ประเพณีของสังคมพุทธ ว่าชายสามโบสถ์คบไม่ได้ ฉะนั้นเราบอกว่าบวชมันจะมีผลเสียไหม

มีผลเสียไหม ไอ้ผลเสียนี่ถ้าคนเขามีโอกาส เขาทำด้วยจิตใจของเขาที่เขาโลเล แต่เรามีความจำเป็น เรามีความรับผิดชอบ เราจะบวชนานๆ ไม่ได้ แต่ไอ้บวชนานๆ ไม่ได้นี่มันไปเข้าข้างตัวเองหรือเปล่าไม่รู้นะ ถ้าเข้าข้างตัวเองก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ความจริงมันได้ แต่ตัวเองไม่ได้ก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ว่าถ้ามันไม่ได้ มันไม่มีผลไง

เราบอกว่าบวชสึกๆ บ่อยๆ ปีละ ๙ วัน บวชทุกปีเลย มีผลเสียไหม ผลเสียมันก็ ผลเสียผลได้ มันเป็นอย่างนี้ แล้วเวลาเราบวชแล้ว เราได้ผลประโยชน์ไหม อย่างเช่น เราภาวนา ๙ วัน จิตเราสงบแค่ไหน ถ้าเราภาวนา ๑ ปี ถ้าภาวนา ๒ ปี จิตเราจะดีขึ้นมากกว่านี้ไหม

พอ ๙ วันเสร็จแล้ว ก็ปีหน้ามา ๙ วันใหม่ มันก็ซ้ำรอยๆ อยู่อย่างนั้น นี่พูดถึงการปฏิบัติ เขาเรียกว่าการปฏิบัตินี่มันต้องต่อเนื่อง ในพระไตรปิฎกทุกข้อเลย สิ่งที่ทำแล้วเสียประโยชน์ หรือไม่ได้ประโยชน์ เพราะการปฏิบัติไม่สม่ำเสมอ คือไม่เสมอต้นเสมอปลาย

ในการปฏิบัตินี่ก็เหมือนกัน ๙ วันๆๆๆ ไป แต่มันก็ดีกว่าไม่ได้ปฏิบัติเลย อย่างเช่นพวกโยมมาวัด มาจำศีล ก็เหมือนมาถือศีล มันก็เหมือนบวช เณรศีล ๑๐ เห็นไหม เรามาถือชีพราหมณ์ เรามาถือศีล ๘ มันก็เหมือนแม่ชี เหมือนพราหมณ์ เราก็บวชของเรา เราบวชกี่วัน แล้วนี่บวชร่างกาย

ถ้าบวชจิตใจล่ะ ถ้าเราบวชใจนะ เราบวชของเราเลย เราทำของเราปฏิบัติที่ไหนก็ได้ เพราะความเป็นมรรคเป็นผลมันไม่ได้อยู่ที่เครื่องแบบ ไม่ได้อยู่ที่เครื่องแบบ แต่เพราะว่าเป็นพระ เวลาบวชพระขึ้นมา เห็นไหม ศีล ๒๒๗ มันเหมือนกับคนพร้อม เหมือนทหาร เหมือนเจ้าหน้าที่ตำรวจเวลายิงผู้ร้ายตาย

วิสามัญฆาตกรรม ผิดกฎหมายไหม ผิด แต่วิสามัญฆาตกรรมฆ่าผู้ร้าย เขาเป็นเจ้าหน้าที่ เขาเป็นตำรวจ เราไม่ได้เป็น เรายิงโจรตายมันก็ต้องสอบสวนเหมือนกัน นี่ก็เหมือนกัน พระ! พระมีหน้าที่ พระคือนักรบ พระเป็นผู้ที่ออกสงคราม ถ้าออกสงคราม เวลาบวชแล้ว เราถึงได้ มันมีศีล มีความพร้อมในการปฏิบัติไง

โอกาสของพระมี ๒๔ ชั่วโมง โอกาสของคฤหัสถ์เป็นทางคับแคบ เห็นไหม ในพระไตรปิฎกทุกข้อเลย ไปอ่านสิ ทางของคฤหัสถ์เป็นทางคับแคบ ทางของภิกษุทางกว้างขวาง เราก็โอ้โฮ ภิกษุกับคฤหัสถ์มันแตกต่างกันตรงไหน ทางคับแคบๆ เพราะเช้าขึ้นมาก็ต้องไปทำงาน เย็นกลับมาแล้ว กว่าจะทำอะไรเสร็จ กว่าจะนั่งภาวนา ทางคับแคบเพราะกลางคืนภาวนาได้ ๒ ชั่วโมง พระทางกว้างขวาง ๒๔ ชั่วโมง

ถ้าพระอดอาหารนะ ๒๔ ชั่วโมง พระนี่ภาวนาทั้งวันทั้งคืนนะ นี่ทางกว้างขวาง คือกว้างขวางในการปฏิบัติ ในพระไตรปิฎก ภิกษุมีทางกว้างขวาง คฤหัสถ์มีทางคับแคบ เอ๊ะ เราก็คับแคบยังไงก็คนเหมือนกัน ภาวนาเหมือนกันมันจะคับแคบตรงไหน แล้วเราคิดว่าทางเดิน ทางคับแคบคือโอกาส โอกาสที่ภาวนา เรามีได้มากได้น้อย

แต่พระนี่ทางกว้างขวางมาก ๒๔ ชั่วโมง ยิ่งมีครูบาอาจารย์ส่งท้ายด้วยนะ ส่งเลย เต็มที่เลยๆ ภิกษุยิ่งทางกว้างขวางใหญ่ ฉะนั้นเวลาเราบวชแล้ว ๙ วัน ทางกว้างขวาง เรามีพระพี่เลี้ยง ถ้ามีพระพี่เลี้ยง เราก็ปฏิบัติของเราเองได้ ถ้าเราปฏิบัตินะ ถ้ามีครูบาอาจารย์นั่นอีกเรื่องหนึ่ง นี่พูดถึง

ข้อ ๑. ว่าบวชนานๆ จะมีผลไหม

ข้อ ๒. เมื่อเราเป็นพระแล้ว เห็นไหม เราจะมัดอยู่โคนต้นไม้ จำเป็นหรือไม่ครับที่จะต้องอธิษฐาน การถอนที่ทุกคืนทุกเช้า หากไม่จำเป็นจะมีผลเสียหรืออันตรายอย่างไร

หลวงพ่อ : อันนี้มันเป็นแบบว่า วาสนานะ เรานี่ก่อนบวช เราก็เลือกแล้วเลือกอีกนะว่าเราจะบวชที่ไหน ถ้าจะบวชสะดวกสบายเราก็เลือกได้ แล้วเราจะไปสายไหน ก่อนจะบวชนี่เราวินิจฉัย เราหาทางออกเต็มที่เลย แล้วเราตัดสินใจ เรายังคิด เราก็รู้นะว่าตัดสินใจบวชธรรมยุติ เวลาเรากลับมาบ้านจะลำบากเพราะมันไม่มีธรรมยุติเลย แถวนี้ไม่มีเลย

บ้านเรา อำเภอโพธารามไม่มีสักวัดหนึ่ง แต่เราตัดสินใจเลือกธรรมยุติ เราตัดสินใจเลือกพระป่า เพราะการตัดสินใจของเรา เราถือว่าความที่มีครูบาอาจารย์สำคัญที่สุด เพราะสายหลวงปู่มั่น เพราะก่อนบวชเราศึกษามาทุกสาย ทุกสาย เห็นไหม แต่ในหมู่ที่คณะผู้ปฏิบัติใหญ่ ในหมู่ที่มีครูบาอาจารย์คอยชักนำ ในหมู่ที่มีครูบาอาจารย์คอยชี้แนะ สายกรรมฐาน สายหลวงปู่มั่นนี่มีมากที่สุด

ฉะนั้น โอกาสเลือกเรา โอกาสที่คนจะสอนเรานี่มากที่สุด ก่อนบวชเราคิดอย่างนี้นะ ก่อนบวชเราหาตลอด เรามานั่งไตร่ตรอง เราไปทดสอบ ไปดูหมดล่ะ ที่ไหนควรไม่ควร ที่ไหนสมควร ไม่สมควร แม้แต่ที่อุทัยฯ เราก็ไปนอนตั้งหลายคืน ไปนอนหมด ที่ไหนเราก็ไปทดสอบหมด ทดสอบไปทดสอบมา ไปที่อุทัยฯ หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ ออกชื่อเลย ก็ไปนอนอยู่กับท่านนี่แหละ

แล้วในประวัติ เห็นไหม บวชเสร็จแล้ว จะต้องบิณฑบาตกับเทวดา ธุดงค์ต้องห่างจากบ้านเท่าไร เราอ่านแล้วเราก็วิตกวิจารณ์นะ ว่าเราบวชแล้วเราอดตายแน่ๆ เลย เพราะเทวดาไม่ใส่บาตรเราเด็ดขาด แล้วกูจะไปรอดไหม กูจะบวชได้อย่างไร ทุกข์ใจมาก

“แต่พอมาอ่านประวัติหลวงปู่มั่นนะ เหมือนมนุษย์ธรรมดานี่แหละ บวชเสร็จแล้วก็ออกธุดงค์ บิณฑบาตกับชาวบ้าน อยู่ด้วยข้อธรรมและวินัย เออ อย่างนี้เราทำได้ อย่างนี้เรามีโอกาส อย่างนี้เราไม่ตาย”

แต่ถ้าบวชแล้วต้องบิณฑบาตกับเทวดานะ จะต้อง โอ้โฮ อย่างนี้อดตายเด็ดขาด ด้วยความวินิจฉัยของเรา เราถึงมาบวชธรรมยุติ บวชแล้วเราก็หาครูบาอาจารย์ของเรา เราปฏิบัติมา ทีนี้พอปฏิบัติขึ้นมา ยังไม่ปฏิบัติ มันก็ยังไม่เข้าใจ พอปฏิบัติไปแล้วจะเข้าใจ

ข้อที่ ๒ เห็นไหม จะต้องอธิษฐานทุกคืนไหม เพราะเวลาพระธุดงค์ไป ธุดงค์ไม่เป็น เขาเรียกอะไรนะ ไอ้ที่เขามีคาถาปักกลด ที่ปักแล้วเขาไม่ถอนเลย เขาถือเคร่งไง เวลาเขาปักกลดอะไรกลด เขาแบบห้าม ต้องอธิษฐานทุกคืน ต้องอธิษฐาน แบบว่าปักแล้วห้ามถอน เราก็ธุดงค์มา พอเราไปเจอครูบาอาจารย์ เราธุดงค์มานะ

เราธุดงค์ไปนะ ไปนอนที่ไหนก็แล้วแต่ พอเวลากลางคืน เสียงมดมันเดิน นี่เรื่องจริงนะ เสียงมดมันเดิน กร้อกแกร้กๆ มาแล้วนะ เสียงมดมันเดินมา คือพระเวลาธุดงค์ไป พวกผ้าพวกอะไรนี่มันจะเลอะเหงื่อเลอะไคลมาก แล้วเวลานอน เหงื่อไคลมันจะมีกลิ่นแรงมาก มดมันจะมา เรานี่เก็บของเลย ถ้านอนอยู่เสียงมดเดินมานะ เก็บของแล้ว ย้ายที่ๆ

แต่ถ้าเป็นพวกธุดงค์แบบที่เขาปักกลดแล้วเขาห้ามถอนทั้งคืนนะ คืนนั้นเขาต้องนั่งสู้กับมด มดนี่นะ เราธุดงค์ไป จริงๆ นะ เที่ยวป่า กลัวมดที่สุด ไม่กลัวอะไรเลย ธุดงค์มานี่กลัวที่สุดคือกลัวมด แล้วพอเราธุดงค์ไปนะ ๑. น้ำลายนี่เวลาบ้วนน้ำลาย ถ้าเราจัดที่นอนไว้ใกล้ๆ นะ แล้วเราเผลอบ้วนน้ำลาย ๒. ปัสสาวะ นั่นล่ะ ตัวดึงมดมา

เพราะในป่าในเขานี่นะ มันเรื่องแอ่งน้ำ บางทีมันไม่มี มันอัตคัดมาก แล้วพวกสัตว์นี่ มันแบบว่า ประสบการณ์ของเขา สัตว์มันต้องการน้ำ แล้วใหม่ๆ ไปก็ครูบาอาจารย์สอนก่อน เรื่องเล็กน้อยอย่างนี้มันมีความจำเป็นอะไร มันสำคัญอย่างไร พออยู่ๆ ไป จริง เพราะอะไร เพราะขนาดบ้วนน้ำลายไว้นะ

น้ำลาย บางทีเรามีเสลดใช่ไหม เราก็บ้วนทิ้ง ด้วยความเผลอนะ แค่นั่นล่ะ พวกมด พวกนี้ มันได้ความชุ่มชื้น มันมีความรู้สึก ประสาทสัมผัสมันรู้ได้ มันมากันเลย พอมันมาปุ๊บนะ โอ้โฮ ผ้าล่ะ ผ้าของเรา เพราะฉะนั้นเราจะย้ายตลอด แต่ที่เขาถือเคร่ง เราจำไม่ได้ที่ว่าเขาปัก ภาษามันเป็นบทสวด ปักแล้วห้ามถอน ปักแล้วห้ามย้าย เห็นไหม

เราปฏิบัติไปเราถึงมาเข้าใจเรื่องนี้ว่าเกจิอาจารย์ พวกฌานสมาบัตินี้ถือเคร่ง แต่สุปฏิปันโน อุชุปฏิปันโน ญายะปฏิปันโน สามีจิปฏิปันโน แบบครูบาอาจารย์ของเรา ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติตามธรรมและวินัย ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตรงต่อธรรมวินัย ไม่มีคาถา ไม่มีสิ่งใดที่จะมาถือเคร่งขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง

แต่ถ้าเป็นพวกอภิญญา พวกเกจิ พวกนี้จะมีถือเคร่ง ถึงบอกว่าต้องอธิษฐาน ต้องไม่มี ถือศีลพร้อม เรามีศีลมีสัตย์แล้ว ศีลจะคุ้มครองเราหมดเลย ฉะนั้นไอ้ที่ว่าต้องอธิษฐานทุกคืน ถอนทุกคืน อ้อนวอนเอาไง อันนี้ถือว่าอ้อนวอนขอเอา แต่ไม่ได้ปฏิบัติจริง พอได้ปฏิบัติจริงแล้วนะ

อย่างหลวงตาท่านพูด พอถ้าปฏิบัติจริง มันพ้นจากธรรมและวินัย พ้นจากข้อสมมุติ พ้นจากกฎหมาย พ้นเหนือไปเลย แต่ไอ้ที่ว่า ไอ้ธรรมและวินัย เพื่อจะให้เราดำเนิน ดำเนินเพื่อจะข้ามพ้นมันไป ฉะนั้นสิ่งที่เราอาศัย เรายึดมั่นถือมั่นกับสิ่งข้อวัตรปฏิบัติเพื่อเป็นทางดำเนิน แต่ที่ว่า เขาไปสร้างขึ้นมา เป็นทางเดินอีกชั้นหนึ่งนี่ อันนี้ไม่เห็นด้วย

ข้อที่ ๓ ก่อนที่จะนั่งสมาธิ จำเป็นหรือไม่ครับที่เราจะต้องอาราธนากรรมฐานทุกครั้ง ไอ้นี่อาราธนานี่เขาพูดอยู่แล้วล่ะ การที่ว่าอาราธนาทุกครั้งนี่ กรณีนี้หลวงปู่มั่นแก้หลวงปู่เสาร์

หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น หลวงปู่ชา หลวงปู่ทองรัตน์ พวกนี้เป็นคนอุบลฯ ประเพณีอุบลฯ อุบลฯ เป็นเมืองนักปราชญ์ ฉะนั้นทางวิชาการที่อุบลฯ จะมีเยอะมาก แล้วคนจะไปศึกษากันมาก

ฉะนั้นเราฟังประวัติหลวงปู่ชาท่านก็บอก อุบลฯ เขามีกรรมฐานที่เขาบอกว่าก่อนจะเดินจงกรมต้องปักเสาสี่มุม แล้วขึงสายสิญจน์ แล้วก็ต้องสวดมนต์ขอเอา อาราธนาขอให้ดวงตาเห็นธรรม ขอให้ธรรมะมาสถิตที่ตา ขอให้ธรรมะมาสถิตที่ผิวหนัง อายตนะไง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ขอให้อายตนะมา

สวดมนต์นี่ ๓ ชั่วโมง ๔ ชั่วโมง จนหลวงปู่มั่น ในประวัติหลวงปู่เสาร์ ในประวัติหลวงปู่อ่อน ท่านพูดอย่างนี้ไว้ แล้วเรามาถามหลวงปู่เจี๊ยะว่าเป็นจริงไหม หลวงปู่เจี๊ยะบอก จริง! พอหลวงปู่มั่นไปแก้หลวงปู่เสาร์ เวลาแก้หลวงปู่เสาร์นะ บอกไม่ต้องสวดมนต์ ไม่ต้องขออาราธนาหรอก ไม่ต้องอาราธนา ไม่ต้องอธิษฐาน ให้ปฏิบัติเลย

ถ้าเราสวดมนต์อยู่ ๓ ชั่วโมง เราเดินจงกรม ๓ ชั่วโมง จิตเราสงบไปแล้ว ๒-๓ รอบ ฉะนั้นให้ทำจริงไง แต่ถ้าเรายังไม่เคยทำจริง เรายังทำความจริงไม่ได้ เราก็ไม่กล้า เราก็ละล้าละลัง เราก็ต้องอธิษฐานอย่างนั้น ต้องอย่างนั้น ต้องอย่างนี้ กลัวจะผิดทาง

ฉะนั้นหลวงปู่ชาท่านก็บอกว่ามันเป็น หลวงปู่ชาตอนที่ท่านปฏิบัติใหม่ๆ ท่านก็ทำแบบนี้ ท่านบอกมันเป็นวิชาอันหนึ่งแถวอุบลฯ นั้น หลวงปู่เสาร์ก็ทำ หลวงปู่มั่นก็ทำ แต่พอหลวงปู่มั่นท่านทำ ทำแล้วท่านปฏิบัติมา มันไม่เกี่ยวกันๆ มันไม่เกี่ยวกันคือว่า นี่เป็นประเพณีที่เชื่อตามๆ กันมา

แต่พอหลวงปู่มั่นท่านปฏิบัติไปแล้ว จิตสงบมันก็เกิดจากสติ เกิดจากปัญญา เวลาเกิดปัญญา ชำระกิเลสมันก็เกิด ศีล สมาธิ ปัญญา ปัญญาที่เกิดจากชำระกิเลส มันเข้าไปชำระกิเลส ไอ้อย่างที่ว่า สิ่งที่ว่าทำตามกันมา มันเป็นสิ่งที่ละล้าละลัง เห็นไหม มันทำให้เราเกิดความลังเลสงสัย ๑ แล้วพอทำไปจริงนะ มันก็ไม่จริงอีก ๑ เพราะความเป็นจริงมันคือมรรค ความเป็นจริงคือมรรค ๘ ความเป็นจริงคืออริยสัจ

ความเป็นจริงไม่ได้อยู่ที่การอ้อนวอน ไม่ได้อยู่ที่การขอ ทีนี้การอ้อนวอน การขอ มันก็เหมือนกับที่ว่าประเพณีไทยที่ต้องการ อย่างบวชพรรษา บวชประเพณีนี่จำเป็นไหม ถ้าไม่จำเป็น ลูกหลานเราก็ไม่ได้มาศึกษาธรรมะเลย ถ้าบวชแล้วไม่สึก สังคมไทย เวลาเด็กบวชแล้วห้ามสึกเลย เราก็ไม่อยากให้ลูกเราบวชอีก เพราะลูกเราบวชแล้วไม่ได้สึกเลยเราก็ไม่อยากให้บวช

แต่ถ้าบวชพรรษาหนึ่ง บวช ๑๕ วัน บวชได้สึกได้ เราก็อยากให้ลูกเราบวช ถ้าได้บวช โอกาสที่มันเข้าไปศึกษาธรรมมันมี ฉะนั้นสิ่งที่บอกว่ามันต้องอ้อนวอนขอเอา มันเป็นประเพณี เพื่อทำให้สังคมมั่นคง สังคมมีที่ยึดอาศัย แต่เวลาปฏิบัติแล้วไม่เป็นอย่างนี้เลย เวลาปฏิบัติความจริงมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ถ้าเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เห็นไหม ที่อาราธนาเอา ที่บอกว่า พระพี่เลี้ยงเขาบอกว่า เวลาเขาไม่อธิษฐาน เวลาเขานั่งไป เขาเห็นเหมือนคนมาจ้องมอง เวลาปฏิบัติไปแล้วมันเกิดนิมิต ถ้าเวลามีคนมาจ้องมองเราอยู่ เห็นไหม พอลืมตาขึ้นมามันก็เหมือนเป็นหน้าเราเองอย่างนี้ อย่างนี้ยิ่งตกใจใหญ่เลย นี่ไง สิ่งที่เป็นนิมิตนะ

ถ้าจิตมันสงบ เวลาจิตมันสงบ เวลาเราปฏิบัติไป มันจะมีอุปสรรคมหาศาลเลย ดูสิ แม้แต่อาหารของเรา เวลาเข้าทำครัว วันนี้จะกินอะไรกัน ในบ้านจะปวดหัวเลยนะ จะกินแกงส้ม แกงเผ็ด แกงเขียวหวาน แกง...ทะเลาะกันเรื่องว่าเมนูอาหาร นี่ทะเลาะกันแล้ว ยังไม่ได้ไปซื้ออะไรมาทำกินเลยนะ นี่พูดถึงอาหารที่เราจะทำกินทุกวันๆ เรายังต้องวิตกวิจารขนาดนี้

แต่เวลาจิตมันเป็น กว่ามันจะสงบขึ้นมานะ แล้วมันสงบขึ้นมา มันจะมีอุปสรรคอย่างไร เพราะจริตของคนไม่เหมือนกัน ในครอบครัว เห็นไหม พ่อ แม่ ลูก ต้องการให้ลูกเป็นคนดีหมด แต่ความดีของลูกน่ะ ดีในตัวของเขาเอง เขามีความชอบ มีความพอใจของเขา เขาดีในตัวของเขาเอง เขาจะมั่นคงมาก แล้วเขาจะมีความสุข

ทีนี้มันดีแบบพ่อแม่ พ่อแม่บอกลูกต้องเป็นคนดีอย่างนี้ๆ เอาบรรทัดขีดไว้เลยนะ ลูกทุกข์ตายห่าเลย อันนี้ก็เหมือนกัน เวลาปฏิบัติพระพี่เลี้ยงบอกต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนั้น เป็นไปไม่ได้หรอก มันต้องให้เป็นไปตามจิตดวงนั้น จิตดวงนี้ใคร จิตดวงไหนก็แล้วแต่ ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ให้เป็นไปตามนั้น แล้วเป็นไปตามนั้นขึ้นมา มันไม่มีสูตรสำเร็จไง

ฉะนั้นบอกว่า เวลาจิตของเรา เวลาพระพี่เลี้ยงบอกว่า เวลาภาวนาไป มันจะรู้ของมันว่ามีคนมาดูมัน นิมิตมันจะเกิดนะ เวลาจิตมันสงบ มันจะมีของมัน ถ้ามันมีนิมิต มีสิ่งต่างๆ อะไรขึ้นมา มันต้อง ถ้าคนมีนิมิต นิมิตนะ เรากลับมาพุทโธ กลับมาที่อานาปานสติ นิมิตมันก็หายไป จิตมันสงบมากขึ้น

แล้วถ้านิมิตนี้มันเป็นนิมิต เห็นไหม นิมิตบอกถึงคุณธรรม บอกถึงต่างๆ อันนั้นจะเป็นประโยชน์นะ เพราะอะไร อุคคหนิมิต วิภาคะ อุคคหนิมิต นิมิตเห็นร่างกาย แล้ววิภาคะคือแยกส่วนขยายส่วน อุคคหนิมิตคือการเห็น วิภาคะคือการฝึกปัญญา

นิมิตถ้าเป็นความจริง นั่นล่ะมันจะเกิดคุณธรรม นั่นมันจะเป็นปัญญาได้ ถ้าคนทำเป็นนะ ถ้าคนทำไม่เป็นก็บอกว่าอันนั้นเป็นความผิดๆ ความผิดของใคร ถ้าความผิดของเขามันก็เป็นความผิดของเขา ฉะนั้นต้องอาราธนาไหม ต้องอาราธนาพระกรรมฐานไหม กรรมฐานมันเป็นคำบริกรรมนะ อย่างเช่น เกศา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ บางสำนักเขาก็สอนอย่างนั้น บางสำนักเขาสอนพุทโธ

คำว่า “กรรมฐาน” สิ่งนี้เป็นคำบริกรรม จิตของคนถ้ามันไม่มีที่เกาะ ดูอากาศสิ เราจะรู้ได้อย่างไรว่ามีลม เราดูได้จากใบไม้ไหว เราจะรู้ได้อย่างไรว่าลมมันมาได้อย่างไร จากอุณหภูมิ จากความรู้สึกของเรา จิตนี่ ถ้ามันไม่มีสิ่งใด ไม่มีพุทโธให้จิตมันเกาะไว้เลย แล้วจิตเราเป็นอย่างไร จิตเราไปไหน

เวลาบอกว่าอยู่สบายๆ ยิ่งตอนนี้ เห็นไหม เขายังมีมาถามเหมือนกัน เขาบอกว่าที่ จ.เลย เขาบอกว่าถ้านั่งมันทุกข์ ลุกซะมันก็หายทุกข์ เขาบอกแค่นี้ ถ้านั่งตั้งสติ ทำอย่างนี้มันทุกข์ ยกเลิกซะก็หายทุกข์ โอ้โฮ ถ้ามันหายทุกข์แล้วเป็นอะไร หายทุกข์แล้วก็เป็นขอนไม้สิ เพราะมันมีสติ มันมีรับรู้ที่ไหน

แต่ถ้ามีคำบริกรรม มันมีคำบริกรรมที่ว่าทุกข์ไหม ทุกข์เพราะอะไร ทุกข์เพราะจิตมันเคยอยู่สะดวกสบายของมัน พอเราตั้งสติ ตั้งปัญญาเพื่อควบคุมมัน มันก็ดีดดิ้นเป็นธรรมดา มันจะดีดดิ้นขนาดไหนก็แล้วแต่ ถ้าเริ่มมีสติขึ้นมา เดี๋ยวถ้ามันวางตัวขึ้นมานะ มันวางอารมณ์ขึ้นมา ดูซิ ดูความเป็นจริงมันเกิดขึ้นมา

ถ้ามันเกิดขึ้นมาขนาดไหน มันเกิดขึ้นมาเพราะอะไร เพราะเรามีสติ เรามีการกระทำของเรา มันจะรู้ของมัน มันจะเป็นปัจจัตตัง ถ้าเป็นปัจจัตตังขึ้นมา แล้วถ้าจิตของมันลงไปแล้ว มันเกิดนิมิตก็ได้ ไม่เกิดนิมิตก็ได้

คำว่าก็ได้หมายถึงว่าจริตนิสัยนะ คนที่ไม่มีนิมิตนะ จะให้มีนะ ทำจนตายมันก็ไม่มี ไอ้คนที่มีนะมันก็คือมี มันเป็นเพราะจิตดวงนั้นมันมีเวรกรรมอย่างนั้นมา ไอ้คนที่มีนิมิต ทำอย่างไรก็มี ไปทำที่ไหนก็มี แต่พอมีแล้ว เราจะแก้ไขอย่างไร เราจะดำเนินการต่อไป ไอ้คนที่ไม่มีนะเวลานั่งภาวนา บางคนบอกไม่เคยเห็นอะไรเลย

คนนู้นเห็นนู่นเห็นนี่ มันเป็นเรื่องที่แปลก เป็นเรื่องที่มหัศจรรย์ เป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อ ไอ้คนที่ไม่เคยเห็นก็ไม่เคยเชื่อ ไอ้คนที่เห็นจะบอกว่าจะเอาแบบคนที่ไม่มี นี่ไง เราไปเอาแบบอย่าง เหมือนกับว่าที่ทำอาหารแล้วเถียงกันนี่ไง เวลาจะกินอาหาร เถียงกันเรื่องอาหารว่าจะกินอะไรกันนะ ยังไม่ได้ทำกินเลย

พอมันทำขึ้นมาแล้ว มันก็อยู่ที่ความชอบอีก คนเคยกินอาหารอย่างดิบดี จิตก็เหมือนกัน ฉะนั้น เวลาปฏิบัติไปแล้วมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ทีนี้คนถามเขาถามว่าอย่างนี้ เขาบอกว่าพระที่เป็นพระพี่เลี้ยงเขาพูดอย่างนี้แล้วเขากลัว จนสุดท้ายเขาบอกว่าพระที่บวช ๔๐๐ คนมันก็ไม่น่ากลัว เห็นไหม แสดงว่าจิตใจของเรามีเหตุมีผลมากกว่าเขา

พระพี่เลี้ยงมันเป็นพระพี่เลี้ยงแต่ชื่อ แต่จิตใจเขาเป็นพี่เลี้ยงเราไม่ได้ ถ้าจิตใจเขาจะเป็นพี่เลี้ยงเรา เขาจะต้องมีคุณธรรมมากกว่าเรา เขาจะต้องบอก เพราะเราก็เข้าใจได้ด้วยปัญญา เห็นไหมว่าคนอยู่กันตั้ง ๔๐๐ คน แล้วไปกลัวอะไรกับเรื่องอย่างนี้ แต่เขากลัว ทำอย่างไร แต่เขากลัวก็เป็นเรื่องของเขา ฉะนั้น ถ้าเขากลัวเขาถึง เพราะเขากลัวแล้ว เขาเอาบทเรียนจากชีวิตของเขา เขาเอาบทเรียนจากการปฏิบัติของเขา แล้วจะมาสอนเรา เราจะเชื่อเขาหรือไม่เชื่อเขาล่ะ อันนี้อันหนึ่งนะ

ข้อที่ ๔ โสดาบันจะรู้สึกกลัวผีได้ไหมครับ แสดงว่าพระพี่เลี้ยงเป็นโสดาบัน ถ้าพระพี่เลี้ยงเป็นโสดาบันนะ คำว่าโสดาบันมันฟ้อง มันบอกถึงว่าจิตนี้มีคุณธรรม จิตมีคุณธรรมเพราะเหตุใด จิตมีคุณธรรมเพราะต้องมีมรรค มรรคนี้ได้ชำระล้างกิเลสออกจากใจนั้นถึงจะเป็นโสดาบัน ฉะนั้นถ้าจิตมีคุณธรรมนะ มันมีประสบการณ์ใช่ไหม เพราะมีมรรค ต้องมีมรรคญาณ มรรคสามัคคี ชำระกิเลสรอบหนึ่งมันถึงเป็นโสดาบัน

ถ้าจิตได้เป็นโสดาบัน เขาจะบอกถึงสติ สมาธิ ปัญญา ได้ถูกต้อง แต่ถ้าเขายังบอกเรื่องสติ เรื่องสมาธิ เรื่องปัญญา โดยไม่ถูกต้อง โดยสับสน ไม่เป็นโสดาบันเด็ดขาด คนเป็นโสดาบันอย่างต่ำ เพราะการเป็นโสดาบันเขาต้องผ่านประสบการณ์ เขาต้องผ่านมรรคสามัคคี ผ่านมรรคญาณเข้ามาโดยปัญญาชำระกิเลสแล้วถึงจะเป็นโสดาบัน

ถ้าเป็นโสดาบัน เขาจะต้องพูดถึงสติถูกต้อง สมาธิถูกต้อง ปัญญาถูกต้อง เพราะความถูกต้องอันนั้นทำให้เขาเป็นโสดาบัน แต่ถ้าเขายังบอกถึงศีล สมาธิ ปัญญา โดยผิดพลาด โดยไม่เป็นความจริง เขาจะเป็นโสดาบันไม่ได้ เขาจะเป็นโสดาบัน เป็นไปไม่ได้เลย ถ้าเป็นโสดาบันนะ เรื่องสติ เรื่องการปฏิบัติ เพราะอะไร มันเหมือนกับคนเคยกินอาหาร

อาหารที่เราเคยกินอร่อยขนาดไหน เราเคยกิน ไอ้คนเคยกินมันพูดถูก แต่ถ้าไอ้คนที่มันพูดเรื่องอาหาร มันผิดทุกอย่างเลย แต่มันบอกมันเคยกิน มันเป็นไปได้ไหม มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ นี่ก็เหมือนกัน ถ้าโสดาบันรู้สึกกลัวผีไหมครับ มันเป็นไปไม่ได้แล้ว มันเป็นไปไม่ได้ เพราะโสดาบันมันรู้ทันตัวเองหมดไง

ดูสิ ปุถุชน กัลยาณปุถุชน ปุถุชนคือคนหนา ปุถุชนคือสามัญสำนึกนี่ปุถุชน กัลยาณปุถุชนมันควบคุมความคิดได้นะ กัลยาณปุถุชนเพราะอะไร เพราะรูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร สิ่งที่ว่าปุถุชน มันหวั่นไหวไปตามรูป รส กลิ่น เสียง นี่แหละ เสียงที่ดี รูปที่ชอบ นี่มันทำให้จิตใจเราหวั่นไหว แต่ถ้าเรามีสติปัญญา เราใคร่ครวญต่อสิ่งนี้ รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร

รูป รส กลิ่น เสียง มันเป็นเครื่องล่อ รูป รส กลิ่น เสียง มันล่อใจเราตลอดเวลา แล้วใจนี่ก็โง่นัก เชื่อมันตลอดเวลา ฟุ้งซ่านไปกับมัน พอมีสติปัญญาไล่ตามทันเลย พุทโธๆ จนทันจิต จิตมันจะทิ้งรูป รส กลิ่น เสียง เลย เป็นเฉพาะความรู้สึก ความรู้สึกคือตัวใจ เห็นไหม

ถ้ามันทิ้ง รูป รส กลิ่น เสียง ของมัน นี่ไง กัลยาณปุถุชน กัลยาณปุถุชนตรงไหน ตรงที่ว่ามันควบคุมใจได้ง่าย เพราะเราไม่ไหลไปตาม รูป รส กลิ่น เสียง จิตที่ไม่ไหลไปตามรูป รส กลิ่น เสียง มันจะควบคุมจิตได้ง่ายไหม กัลยาณปุถุชน คือทำสมาธิได้ง่ายไง สมาธินี่คือจะควบคุมได้ง่าย สมาธิเวลาออกสมาธิ แล้วออกใช้ปัญญา นั่นเป็นโสดาปัตติมรรค

ถ้าโสดาปัตติมรรค โสดาในอะไร ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม ถ้าโสดาปัตติมรรคมันออกโสดาปัตติมรรคนะ ไม่ใช่โสดาปัตติผล โสดาปัตติมรรคนี่ยังเจริญแล้วเสื่อมๆ อยู่ เห็นไหม เวลาพิจารณาไปแล้ว อย่างที่ว่า ตทังคปหานๆ โสดาปัตติมรรค พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า มรรคมันยังเสื่อมได้ มรรคอยู่ระหว่างทำงาน

ระหว่างทำงานจะถือว่าประสบความสำเร็จก็ได้ ทำงานแล้วลืมงานทิ้งไว้ก็ได้ ทำงานแล้วสงสัยในงานแล้วยังไม่ทำงานต่อก็ได้ ทำงานซ้ำ ทำงานซาก เพราะขณะทำงานอยู่ มันผิดพลาดได้ โสดาปัตติมรรคนี่มันยังผิดพลาดได้อยู่ โสดาปัตติมรรคมันยังเสื่อมคลายได้ โสดาปัตติมรรคมันยังไม่ถึงที่สุด เวลาพิจารณาซ้ำๆๆ ซ้ำจนถึงที่สุดแล้ว พอมันขาด เห็นไหม

กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ สังโยชน์มันขาดไป สิ่งนี้คงที่ มันจะกลับกรอกไม่ได้ โสดาปัตติผลคืออกุปธรรม โสดาปัตติผลๆ อีก ๗ ชาติจะถึงพระนิพพาน อีก ๗ ชาติเท่านั้นนะ มันยังย้อนกลับมาไม่ได้ แต่อย่างปุถุชนไม่มีต้นไม่มีปลาย อีกแสนชาติล้านชาติหมื่นชาติ อยู่ที่มันจะหมุนเวียนไป ไม่มีคำว่ากำหนดว่าชาติ

จิตนี่ไม่มีกำหนดว่าจะกี่ชาติ มันจะหมุนไปอย่างนี้ ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีต้นไม่มีปลาย ไม่มีที่กำหนด แต่พอพิจารณาถึงอกุปธรรม คือมันกำหนดได้อีก ๗ ชาติ ที่กำหนดได้ เห็นไหม นี่ไง โสดาบัน โสดาบันเพราะมันกำหนดได้แล้ว แต่จิตพวกเรานี่ไม่มีกำหนดได้ ที่มานั่งกันอยู่นี่เพราะบุญกุศลส่งมา แล้วต่อไปจะไปไหนอีกไม่รู้ จะไม่มีกำหนดได้อยู่อย่างนี้

นี่คือการเวียนไปของจิต ฉะนั้น พอมันพิจารณาของมัน ถึงที่สุดของมัน เห็นไหม ถ้ามันเป็นไปได้ หมายถึงว่าถ้าเป็นโสดาบันนะจะไม่พูดผิดๆ ถูกๆ อย่างนี้หรอก ไอ้ที่พูดอย่างนี้ไม่มีสิ่งใดทั้งสิ้น ไม่มีอะไร เพียงแต่ว่า เป็นพระพี่เลี้ยง เป็นพระพี่เลี้ยงเพราะเขาบวชก่อน ถ้าบวชก่อนแล้ว เราเคารพธรรมวินัย เคารพพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าให้เคารพธรรมและวินัย ให้เด็กเคารพผู้ใหญ่ ให้ภัณเตเคารพอาวุโส เขาอาวุโสกว่า เราก็เคารพเขาไป เคารพตามธรรมวินัย เหมือนน้องรักพี่ น้องเคารพพี่ แต่พี่เป็นคนมีคุณธรรมในหัวใจหรือเปล่า พี่เป็นคนดีหรือคนเลวนั่นอีกเรื่องหนึ่ง

ฉะนั้น ถ้าเราเคารพ เราเคารพตรงนี้ เราเคารพกฎ เราเคารพตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แต่ถ้าบุคคลนั้นเป็นคนที่ดี พี่เราแล้วดีด้วย อาวุโสด้วย สุดยอดด้วย เราจะเคารพด้วยหัวใจ เพราะเราเคารพตามกฎแล้วเรายังเคารพคุณธรรม เราเคารพด้วยหัวใจ เขาเรียกลงใจ ถ้าลงใจมันจะมีประโยชน์กับเรามาก อันนี้พูดถึงว่าถ้าเขาจะเป็นหรือไม่ เราไม่ต้องสงสัยนะ

ข้อ ๓๖๒. นะ

ถาม : กราบขอบพระคุณพระอาจารย์อย่างสูงสำหรับธรรมะข้อแนะนำเรื่องการภาวนากามราคะค่ะ

หลวงพ่อ : อันนี้เวลาเขาถามปัญหามาแล้ว เขายังตอบมา ตอบเขาไปแล้ว เขาขอบคุณมา เขาขอบคุณมาก็ขอให้ประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริงเนอะ อย่างนี้ เราเป็นชาวพุทธด้วยกัน เห็นไหม เราเป็นชาวพุทธด้วยกัน องค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าฝากศาสนาไว้กับบริษัท ๔ ฝากไว้นะ

“มารเอย เมื่อใดภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ของเรายังไม่เข้มแข็ง ไม่สามารถกล่าวแก้คำติฉินนินทาจากลัทธิต่างๆ ได้ เราจะไม่ยอมนิพพาน”

จนเผยแผ่ธรรมมาอีก ๔๕ ปี เห็นไหม จนมารมาดลใจแล้วดลใจอีก ดลใจแล้วดลใจอีก พอดลใจถึงที่สุดแล้วนะ ทำนิมิตหมายให้พระอานนท์ถึง ๑๖ ครั้ง ถ้าพระอานนท์อาราธนาไว้ก็จะมีเหตุให้ต่อรองกับมารว่า เห็นไหม ยังมีคนนิมนต์ให้อยู่ พระอานนท์ก็โดนมารดลใจเหมือนกัน ไม่ให้ขอเลย

สุดท้ายพอวันมาฆะบูชา มารมาเลย “บัดนี้ ลูกศิษย์ก็เยอะ พระก็เข้มแข็งแล้ว ทำไมพระพุทธเจ้าจะอยู่ทำไมให้มันเสียเวลา พระอรหันต์แล้วก็ตายๆ เสียก็หมดเรื่อง” สุดท้ายพระพุทธเจ้าจึงรับอาราธนาของมาร

“มารเอย อีกสามเดือนข้างหน้า เราจะนิพพาน อีกสามเดือนข้างหน้า เพราะบัดนี้ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ของเราเข้มแข็ง สามารถกล่าวแก้คำจาบจ้วงของลัทธิต่างๆ ได้ อีกสามเดือนข้างหน้าเราจะนิพพาน”

โอ้โฮ โลกธาตุหวั่นไหว พระอานนท์ถึงได้สติ นี่พระอานนท์เป็นพระโสดาบันนะ มันเรื่องเวรเรื่องกรรม เรื่องสติปัญญา พระโสดาบันก็สติระดับหนึ่ง พระสกิทาก็ระดับหนึ่ง พระอนาคาก็ระดับหนึ่ง พระอรหันต์นี่สติสมบูรณ์มากเลย เพราะฉะนั้นสิ่งที่ว่าเราเป็นชาวพุทธด้วยกัน เห็นไหม เราเป็นนักปฏิบัติด้วยกัน

คำถามของเขา ชื่อคำถามเขา ผู้เดินทาง เห็นไหม คนเราจะเดินทาง คนเราจะประพฤติปฏิบัติด้วยกัน เราเป็นชาวพุทธด้วยกัน เห็นไหม เราคุยกัน ปรึกษากัน อย่าเอาทิฐิมานะสิ เราส่วนใหญ่จะเอาทิฐิมานะว่า อาจารย์ฉันว่าอย่างนั้นๆ พุทธพจน์ว่าอย่างนั้น พุทธพจน์ มันอยู่ เห็นไหม ดูสิ ครูบาอาจารย์ของเรา ถ้าชอบสิ่งใด เพราะเราธุดงค์มานะ ในพื้นที่ใด ในการทำบุญประเพณี มันอยู่ที่พระผู้ใหญ่ที่เคยเป็นผู้นำไว้

ผู้นำให้ทำอย่างไร พวกเราก็จะเชื่อถือกัน แต่ละภาคก็ไม่เหมือนกัน แต่ละภาค การทำบุญกุศลก็แตกต่างกัน มันอยู่ที่ผู้นำหนึ่ง อยู่ที่ภูมิประเทศ อยู่ที่สิ่งที่ว่าเอามาทำบุญกุศล ฉะนั้น เราเป็นผู้เดินทางด้วยกัน เรามีสิ่งใด เราปรึกษากันๆ เราช่วยเหลือเจือจานกัน นี่เราเป็นชาวพุทธด้วยกัน ที่ทำอยู่นี่ก็ทำเพราะเหตุนั้น แล้วมันยิ่งสังเวช สังเวชที่ว่านี่ เห็นไหม ผู้นำๆ นำกันไปไหน ในเมื่อไม่มีสติปัญญาจะนำไปไหน นำไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก แล้วก็มีฉ้อฉล มีลับลมคมในกันไปไม่มีที่สิ้นสุด

ฉะนั้น เราเป็นชาวพุทธด้วยกัน เราจะคุยกันด้วยเหตุด้วยผล แล้วสุดท้าย กาลามสูตร พระพุทธเจ้าบอกไม่ให้เชื่อ ไม่ให้เชื่อแม้แต่ใครพูดทั้งสิ้น เราจับสิ่งนั้น ประเด็นนั้น คำว่าไม่ให้เชื่อนะ ไม่ให้เชื่อ! ไม่ให้เชื่อที่ว่าเราเชื่อแล้วเรางมงาย เวลาเราฟัง เราฟังเสร็จแล้วเรากลับไปคิดนะ ฟังแล้วกลับไปคิดใคร่ครวญ จริงไหม แล้วเราปฏิบัติจริงไหม

แล้วเราเทียบเคียง เห็นไหม พระพุทธเจ้าให้เชื่อตรงนี้ ให้เชื่อประสบการณ์จริง ให้เชื่อจากการปฏิบัติ ไม่ให้เชื่อเพราะครูบาอาจารย์พูด แม้แต่ครูบาอาจารย์พูดนะ มันจริตนิสัย ไม่เหมือนกัน แต่สุดท้ายพอถึงปลายทางก็เหมือนกัน กรณีอย่างนี้ มันสำคัญ

เริ่มตั้งแต่หลวงปู่มั่นท่านสร้างบุญบารมีมาเป็นพระพุทธเจ้า ท่านสร้างมาเป็นพุทธภูมินะ แล้วท่านมาลา บารมีท่านถึงกว้างขวางมาก คำว่ากว้างขวางมากเหมือนกับผู้ที่มีประสบการณ์มาก ท่านจะแก้ไขได้หมดนะ ลูกศิษย์ลูกหา ใครมาปฏิบัติ เข้าทางไหนแก้ไขอย่างไรแก้ไขได้

แต่เวลาครูบาอาจารย์ เราไปศึกษามา ครูบาอาจารย์รุ่นหลังๆ นะ ส่วนใหญ่ได้เฉพาะทาง เราอยู่กับหลวงปู่เจี๊ยะ หลวงปู่เจี๊ยะบอกว่า

“ไอ้หงบ ถ้ามึงไม่พิจารณากาย กูไม่ฟังมึง”

แล้วไปอยู่ มันคนละทางๆ มันเป็นเฉพาะทางๆ แล้ว เพระมันเป็นเฉพาะทางแล้ว มันต้องเป็นทางนี้ๆ แต่พอเป็นหลวงตาท่านมีบารมีมาก บารมีมากหมายถึงว่าท่านยังปล่อย แล้วมันอยู่ที่ประสบการณ์ท่านด้วย เพราะขั้นแรกท่านผ่านเวทนา ขั้นที่ ๒ ท่านผ่านธาตุ ๔ ธาตุ ๔ คือพิจารณากาย ขั้นที่ ๓ ท่านผ่านอสุภะ ขั้นที่ ๔ ท่านผ่านจิต

แต่หลวงปู่เจี๊ยะท่านผ่าน กายๆๆ หลวงปู่ชอบ กายๆๆ หลวงปู่คำดี กายๆๆ มันอยู่ที่ประสบการณ์ อยู่ที่อำนาจวาสนาของคน ฉะนั้น เราเป็นชาวพุทธด้วยกัน เราจะปรึกษาหารือกัน เราจะชี้ทางกัน บอกถูกบอกผิดกัน เราเป็นชาวพุทธด้วยกัน ฟังเหตุฟังผลไง มันเป็นสัมมาทิฏฐิ สิ่งที่ยึดติดเสมอกัน ความเห็นเสมอกัน ความเสมอกันๆ เพราะเราอยากพ้นทุกข์ด้วยกัน เราอยากปฏิบัติ เราอยากฆ่ากิเลสด้วยกัน

ฉะนั้นสิ่งที่พูดนี้ทำนี้ก็เพื่อประโยชน์กับสังคม เพื่อประโยชน์สำหรับนักปฏิบัติ ประโยชน์กับสังคม ประโยชน์เพื่อศาสนาให้มั่นคง เอวัง