เทศน์เช้า วันที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๔
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต. หนองกวาง อ. โพธาราม จ. ราชบุรี
ตั้งใจฟังธรรม ทำบุญกุศลแล้ว เราว่าทำบุญกุศลนี้เป็นของเรา บุญกุศลเป็นอามิส แต่การฟังธรรมนี้เข้าถึงหัวใจนะ ถ้ามันสะเทือนหัวใจ หัวใจของเรามันได้เปลี่ยนแปลง
ถ้าหัวใจของเราไม่เปลี่ยนแปลง เห็นไหม หัวใจของโลกปฏิสนธิจิตมันเกิดในน้ำคร่ำ เกิดเป็นตัวหนอน เกิดในโอปปาติกะ เป็นเทวดา อินทร์ พรหม เกิดในครรภ์ เกิดในไข่ ถ้าไม่ได้ฟังธรรมมันไม่มีการเปลี่ยนแปลง มันอยู่ของมันโดยสัญชาตญาณ มันอยู่ของมันโดยธรรมชาติ ที่ว่าธรรมะเป็นธรรมชาติ ธรรมชาติของจิตมันก็เวียนตายเวียนเกิดตามธรรมชาติของมัน เพราะมันมีแรงขับของมันด้วยบุญและบาป
ถ้ามีบุญกุศล มันก็เกิดในภพในชาติที่ดี ถ้ามีบาปอกุศล มันก็เกิดเหมือนกัน จิตนี้ไม่มีเว้นวรรค เกิดโดยธรรมชาติ เกิดโดยความเสมอภาค แต่เกิดในสถานะใดเท่านั้นเอง มันเกิดโดยแรงขับ บุญกุศลขับไป หรือบาปอกุศลขับไป ทีนี้พอขับขึ้นมาเกิดเป็นมนุษย์ เห็นไหม เกิดเป็นมนุษย์พบพุทธศาสนา เราก็หลงกันไป หลงว่าเราเกิดเป็นมนุษย์พบพุทธศาสนา ศาสนานี้เป็นศาสนาแห่งปัญญา เราเกิดมาในศาสนาพุทธนี้เรามีปัญญา เราเป็นผู้ที่มีบุญกุศล เราก็เคลิบเคลิ้มกันไป พอเคลิบเคลิ้มกันไป นี่หลงไปในกิเลส
กิเลสอย่างหยาบเราเข้าใจมันได้ แต่กิเลสอย่างละเอียดเราเข้าใจมันไม่ได้ กิเลสอย่างละเอียดมันครอบงำหัวใจของเรา พอมันครอบงำหัวใจของเรานะ เราว่าสิ่งนี้เป็นบุญกุศลใช่ไหม เราก็เพลิดเพลินไปกับมัน พอเพลิดเพลินไปกับมัน ถึงเวลาสิ้นอายุขัยไปนะก็ตายเปล่า พอตายเปล่า ทำบุญกุศลมันก็เป็นอามิส มันก็เกิดในโอปปาติกะ เกิดเป็นเทวดา อินทร์ พรหม มันก็เกิดของมันโดยธรรมชาติของมัน นี่เวียนตายเวียนเกิดไปของมัน
พอเรามาเกิดเป็นมนุษย์เราก็มีสุขภาพร่างกายที่ดี เราก็มีสมบัติที่ดี เราเกิดในพุทธศาสนาแล้ว เราก็มีบุญกุศลของเราแล้ว มีคนพูดมาก บอกเกิดมาแล้วก็เป็นคนดีอยู่แล้วทำไมต้องไปวัด เกิดมาแล้วก็เป็นคนดีอยู่แล้วทำไมต้องประพฤติปฏิบัติ เกิดมาเป็นคนดีอยู่แล้ว ดีก็สมกับดีอยู่แล้วทำไมต้องไปทรมานตน..
การเกิดเป็นคนดีมันดีของใครล่ะ ถ้ามันดีของโลก เห็นไหม ดูสิ ทางโลกเขามีร้านเสริมสวย ในร่างกายนี้ทำให้มันดีงามไปหมด แต่มันไม่มีเสริมสวยหัวใจไง สปาหัวใจ สปาเล็บ สปานู่น มีสปาไปหมดเลย แต่สปาใจอยู่ไหนล่ะ
สตินี่มันสปาใจได้นะ มันทำให้ใจเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าใจเปลี่ยนแปลงได้นะ ดูสิ ถ้าเรายังกำสิ่งใดอยู่ เราไม่เปลี่ยนแปลงสิ่งใดอยู่ เรายึดสิ่งใดอยู่ เราจะทุกข์กับสิ่งนั้น ถ้าเรายึดมั่นสิ่งใดนะ สิ่งนั้นเป็นทุกข์ทั้งนั้นแหละ แต้ถ้าเราปล่อยวาง แล้วทำไมต้องปล่อยวางล่ะ เห็นไหม พอบอกว่าปล่อยวางแล้วมันก็กลับกันนะ
เวลาคนที่ภาวนาไม่เป็นก็ว่า ปล่อยวางๆ ว่างหมดเลย ว่างหมดเลย อันนั้นไม่เรียกว่าปล่อยวาง อันนั้นเป็นความรู้สึกนึกคิด
การปล่อยวาง ถ้าพุทโธ พุทโธ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิแล้วมันปล่อยวางขึ้นมา ใจมันต้องปล่อยวางของมัน ถ้ามันปล่อยวางของมัน มันปล่อยอะไรออกไป มันต้องมีก่อนมันถึงจะไม่มีได้ มันต้องมีถึงจะเสื่อมได้ ถ้าคนไม่มีจะเสื่อมได้อย่างไร คนไม่มีสถานะเราจะทุกข์ทนได้อย่างไร คนเกิดมาก็ทุกข์จนเข็ญใจอยู่แล้ว ไม่เคยรวยเลย มันก็จนอยู่อย่างนั้นแหละ พอจนอยู่อย่างนั้นมันก็พอใจกับชีวิตไง ไม่ต้องทำอะไรเลย นี่ว่างๆ ว่างๆ
ว่างอย่างนั้นว่างแบบเกิดมาทุกข์ยากอยู่แล้ว แต่ถ้าเราสร้างสมของเราขึ้นมา คนเกิดมานะ ไม่ใช่ดูถูกว่าคนมีกับคนจนแตกต่างกันอย่างใด คนเราไม่ใช่ดีเพราะชาติตระกูล ไม่ใช่ดีเพราะมั่งมีศรีสุข มันดีเพราะการกระทำ! จิตมันจะดีได้เพราะมีการกระทำ ไม่ใช่ว่าเกิดมาแล้วดี เกิดมาแล้วต้องมีการกระทำ มีการดัดแปลงของมัน มันถึงจะดีของมันขึ้นมาได้ ถ้ามันดีขึ้นมาได้ มันต้องทำของมันขึ้นมา มันถึงมีขึ้นมา นี่สปาใจ
ถ้ามันมีของมันขึ้นมาแล้ว ถ้ามันเสื่อมไป มันแปรสภาพไปโดยที่เราไม่มีสัมมาสมาธิ เราไม่มีสัมมาปัญญา เราถึงแก้ไขสิ่งใดไม่ได้.. ความคิดของคนก็เกิดได้ ปัญญาของคนก็เกิดได้ ทุกอย่างเกิดขึ้นได้ เกิดแล้วก็เสื่อมไป มันก็แปรสภาพอยู่อย่างนี้แหละ ไม่มีอะไรคงที่หรอก แต่มันแปรไปด้วยอะไร แปรไปด้วยที่มันไม่ประสบความสำเร็จไง
แต่ถ้ามีสติปัญญาขึ้นมา เห็นไหม สัมมาสมาธิแล้วเกิดโลกุตตรธรรม เกิดปัญญาภาวนามยปัญญาขึ้นมา ปัญญาที่มันชำระ ชำระอย่างไร มันแก้ไขอย่างไร ถ้ามันแก้ไขของมัน มันถึงเป็นความจริงของมันขึ้นมา นี่มันทำของมันขึ้นมา มันถึงเป็นความจริงของมันขึ้นมา ถ้ามันไม่ทำความจริงของมันขึ้นมา นี่ก็บอกว่า ว่างๆ ว่างๆ สิ่งนี้สัตว์มันก็ทำได้ ธรรมชาติของมัน มันก็มีชีวิตเหมือนกัน มันก็มีจิตเหมือนกัน มันนอนสงบของมัน มันก็มีความว่างของมัน สัตว์มันก็ทำได้
สัตว์เกิดมานี่มันทำอะไรของมันได้บ้าง สัตว์มันทำคุณงามความดีของมันได้ แต่สัตว์ทำมรรคผลขึ้นมาไม่ได้.. สัตว์ทำมรรคผลไม่ได้! อย่างน้อยต้องเป็นมนุษย์ขึ้นไป เทวดา อินทร์ พรหมถึงจะทำมรรคผลได้ เพราะเหตุใด เราประพฤติปฏิบัติกันทำไมเราทุกข์ยากล่ะ ทำไมคนที่ขิปปาภิญญา เขาปฏิบัติง่ายรู้ง่ายเพราะเหตุใด
เพราะเขาสร้างของเขามา เขาได้ทำของเขามา เขาสะสมของเขามา เราไม่ได้สะสมสิ่งใดของเรามาเลย ดูสิคนจะมีสถานะมา เขาต้องทำของเขามา ดูพระพาหิยะฟังพระพุทธเจ้าทีเดียวเป็นพระอรหันต์เลย แต่ชาติที่แล้วเขาไปภาวนาบนเขา เขาสละตายมากี่ชาติแล้ว ขิปปาภิญญามันต้องมีการสะสมของเขามา ไม่ใช่อยู่เฉยๆ แล้วมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ นี่เสมอภาคๆ มันไม่เสมอกันโดยกรรมนะ กรรมเสมอภาคไม่มี!
พระอรหันต์แต่ละองค์ไม่เหมือนกัน พระอรหันต์ประพฤติปฏิบัติขึ้นมาแต่ละองค์ไม่มีเหมือนกันเลย พิจารณามาทางเดียวกันก็ไม่เหมือนกัน ถ้าเหมือนกันนี่ก็อบปี้อยู่แล้ว ลายนิ้วมือ เห็นไหม ดูสิ เราปั๊มมือนี่ลายนิ้วมือไม่เหมือนกันหรอก คนจะไม่เหมือนกันเลย จิตก็เหมือนกัน อำนาจวาสนาของคนไม่เหมือนกัน สิ่งที่ไม่เหมือนกันมันเกิดมาจากไหนล่ะ
ฉะนั้นสิ่งที่เราฟังธรรมๆ นี้ ฟังธรรมเพื่อจะเตือนสติเรานะ.. ทาน ศีล ภาวนา เราทำทานกัน เราเสียสละกัน มันเป็นคุณงามความดีนี่ถูกต้อง ถ้าทำคุณงามความดี ทำใหม่ๆ มันก็ชื่นใจ ทำจนคุ้นชิน พอทำจนคุ้นชิน ทำจนเคยตัวมันต้องทำตลอดไป แล้วมันก็ได้แค่นั้นแหละ ดูสิ ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า ถ้าถึงที่สุดแล้วมันก็เหมือนเขื่อน ถึงที่สุดแล้วมันกักน้ำไว้ๆ ถึงที่สุดแล้วมันก็ต้องภาวนา ถ้าไม่ภาวนาบุญกุศลก็คือบุญกุศล เวลาภาวนาขึ้นมาก็เพื่อดัดแปลงใจของเรา
นี่ฟังธรรมเพื่อเหตุนี้ ในภาคปฏิบัติเรานี่นะ เวลาหลวงปู่มั่นท่านเทศน์ ครูบาอาจารย์ท่านบอกเลยนะ เหมือนเด็กที่มันหิวนม เวลาพ่อแม่จะให้กินนม มันจะดีใจมากเลย เวลาเราได้ฟังธรรมนะ เวลาเราปฏิบัติของเรา นี่ความคิดของเรามันก็ซ้ำซากนั่นแหละ มันรอยตีนโค มันก็ย่ำอยู่กับที่นั่นแหละ มันก็คิดซ้ำซากอยู่อย่างนั้นล่ะ มันไปไหนไม่รอดหรอก แต่เวลาครูบาอาจารย์ท่านเบิกให้ เห็นไหม ใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง
ใจดวงที่สูงกว่าสามารถดึงใจที่ต่ำกว่าได้ แต่ใจที่เสมอกัน ที่ต่ำกว่า จะมาเชิดชูให้ใจเท่ากัน เสมอกัน เป็นไปไม่ได้หรอก เพราะมันไม่รู้ของมัน มันรู้ของมันไม่ได้ สิ่งที่ไม่รู้ไม่เห็น ธรรมะนี่อ่านจนปากเปียกปากแฉะ หลวงตาท่านบอกว่า ไอ้หนอนแทะกระดาษ ดูหนอนแทะกระดาษ เห็นไหม ดูสิปลวกมันกินไปทั้งนั้นนะ ปลวกมันกินพระไตรปิฎกทั้งเล่มเลย แล้วปลวกมันได้อะไรขึ้นมา ปลวกมันไม่ได้อะไรขึ้นมาหรอก มันกินกระดาษเข้าไปมันไม่รู้เรื่องหรอก
เราไปอ่านขึ้นมาก็อ่านด้วยทิฐิมานะ ด้วยการตีความ มันเป็นไปไม่ได้หรอก แต่ถ้ามันปฏิบัติขึ้นมานี่มันเป็นไปได้เพราะว่าเป็นสันทิฏฐิโก มันเป็นปัจจัตตัง มันเข้าไปประสบจริง เวลาทุกข์นี่ทุกข์จริงๆ เวลานั่งไป ๒-๓ ชั่วโมงนี่ปวดจริงๆ เวลาหงุดหงิดก็หงุดหงิดจริงๆ ทั้งนั้นแหละ แล้วเวลามันสงบมันสงบได้อย่างไรล่ะ
สิ่งที่มันหงุดหงิดอยู่ ไฟที่มันเผาอยู่ ทำไมมันเย็นได้อย่างไรล่ะ เวลามันเผาขึ้นมา เวทนานี่ทั้งตัวนะ ร้อนเป็นไฟเลย เวลามันสงบลงไป ไฟหายไปไหน! ไฟหายไปไหน ความปวดนั้นหายไปไหน สิ่งที่มันทุกข์ยากมันหายไปไหน มันหายไปเพราะอะไร นี่ไงมันต้องมีขึ้นมา
บอกว่า ว่างๆ เกิดมาก็ว่างๆ พอปฏิบัติก็ว่างๆ กันไปเลย นี้เป็นความเข้าใจผิด
แต่ถ้าความเข้าใจถูกนะ ความว่างๆ นี่เป็นมิจฉา เป็นสมาธิของปุถุชน เป็นสมาธิของสังคม เป็นสมาธิของเรา คนเราถ้าไม่มีสมาธิก็คือคนบ้า สมาธิสั้น สมาธิยาว เด็กสมาธิสั้น สมาธิยาวก็มีของมันอยู่แล้ว แต่สมาธินี่คือสมาธิของปุถุชน สมาธิของการเป็นมนุษย์ไง
แต่ในพุทธศาสนา เห็นไหม เราเกิดเป็นมนุษย์ เรามีต้นทุนอยู่แล้วคือว่าเป็นมนุษย์ เราก็มีสมาธิของเรา พูดกันรู้เรื่องนี่สมาธินะ ถ้าคนไม่มีสมาธิ คนเบลอมันพูดกันไม่รู้เรื่องนะ เวลาคนพูดไม่รู้เรื่องนี่มันขาดสมาธิ แต่เวลาสมาธิดีๆ พูดอะไรฟังชัดเจนนะ นี่มีสมาธิอยู่แล้ว แต่สมาธินี้เป็นสมาธิของปุถุชน เป็นสมาธิของสังคม เป็นสมาธิของโลก
แต่ในสัมมาสมาธิขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในมรรค ๘ เห็นไหม ดูสิ มรรคของโลก สัมมาอาชีวะคือเลี้ยงชีพชอบ เวลาพระปฏิบัติขึ้นมา สัมมาอาชีวะคือคิดถูก ความคิดนั้นคืออาหารของใจ ใจมันกินอารมณ์เป็นอาหาร กินความรู้สึกนึกคิดเป็นอาหาร ฉะนั้นพอมีสติขึ้นมา พอมีสมาธิขึ้นมานี่มันรู้จักอาหารของมัน มันรู้จักเลือกกินนะ
เรานี่อาหารเราเลือกกินไม่เป็น ความคิดพอเวลามันเกิดขึ้นมานี่เลือกไม่เป็น คิดขึ้นมาก็กินหมดเลย คิดขึ้นมาก็มีความรู้สึกหมดเลย แต่ถ้ามีสติขึ้นมานะความคิดไม่เอา ความคิดอย่างนี้ไม่เอา เอาความคิดอย่างนี้ เออ.. ความคิดนี้คิดดี นี่ไงมันเลือกแล้ว นี่สัมมาอาชีวะ มันจะเข้าสู่มรรคแล้ว มันเข้าสู่มรรค ๘ แต่เวลาเราบอกว่าสัมมาอาชีวะคือเลี้ยงชีพชอบๆ ใช่! เลี้ยงชีพชอบ เราตีความตามความเห็นของเรา แต่ปฏิบัติขึ้นไปมันจะรู้นะ
มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด
ทีนี้มรรคหยาบๆ ถ้าอย่างนั้นบอกสัมมาอาชีวะนี้ไม่ถูกต้องเลยหรือ มันก็ถูกต้องของฆราวาสธรรมไง มันเป็นธรรมของฆราวาส เป็นธรรมของชาวพุทธ พุทธมามกะ.. นี้เป็นธรรมของเรา เราก็ดำรงชีวิตอย่างนี้ เราดำรงชีวิตของเราให้เป็นความถูกต้องดีงามของเรา แต่เวลาปฏิบัติขึ้นไปนะ โอ้โฮ.. มันละเอียดขึ้นไปนะ โอ้โฮ.. ความคิดอย่างนี้ใจมันเสวย ใจมันคิด
อ้าว.. ใจมันคิดกับใจไม่คิดมันแตกต่างกันอย่างไร เวลาใจมันคิด คิดเพราะเหตุใด เวลาใจมันไม่คิด มันไม่คิดเพราะอะไร แล้วมันไม่คิดมันอยู่ของมันได้อย่างไร ถ้าไม่มีสติมันจะอยู่ของมันได้ไหม ถ้าอยู่ของมันได้มันจะเป็นสมาธิไหม แล้วพอเป็นสมาธิแล้ว สมาธิมันเริ่มเสวยมันเริ่มแยกแยะ มันแยกแยะในอะไร ถ้ามันไม่เจอมันจะแยกแยะอะไร
มันก็คว้าน้ำเหลวไง นี่ของเหลวก็คว้าไปสิ อากาศหยิบไปสิไม่เห็นได้จับต้องอะไรเลย แต่นักวิทยาศาสตร์เขารู้นะ นี่ดูอากาศสิ ดูความร้อนของมัน ดูลม ดูความเปลี่ยนแปลงของมัน วิทยาศาสตร์ก็พิสูจน์ได้ แต่เราจับไปมันไม่เห็นมีเลย นี่ทำไมนักวิทยาศาสตร์เขาพิสูจน์ได้ เพราะเขามีเครื่องมือ จิตเราสงบแล้ว จิตเรามีสติปัญญาขึ้นมา เราก็มีสติปัญญาของเรา เราก็จับของเราได้ แล้วมันเป็นมรรคของใครล่ะ มันเป็นมรรคของจิตดวงนั้นนะ นี่ธรรมะส่วนบุคคล!
เวลาธรรมะสาธารณะ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นธรรมะสาธารณะ นี่ว่างๆ ว่างๆ อากาศมันก็ว่าง ธรรมะสาธารณะมันก็เป็นสาธารณะไป แต่ถ้ามันเป็นความว่างของเราล่ะ ถ้าเรามีสติล่ะ เรามีปัญญากันล่ะ เราจับต้องของเราล่ะ เราบริหารของเรา เราจัดการของเรา เห็นไหม นี่มรรคญาณมันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร เวลามรรค ๘ เกิดขึ้นมาแล้วมันถึงทึ่งไง เวลาครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า กราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยหัวใจ
นี่ก็เหมือนกัน เราปฏิบัติขึ้นมาแล้ว มันเป็นขึ้นมาในหัวใจของเรานะ ถ้ามันเป็นในหัวใจของเราขึ้นมา เห็นไหม นี่อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ.. พุทธศาสนาสำคัญมาก สำคัญที่เอาชนะตนเองให้หมด ทุกคนนี่ ประชาชนของเราเป็นชาวพุทธ แล้วปฏิบัติทั้งหมด เป็นพระอรหันต์ทั้งหมดเลยนะ โอ้โฮ.. มันจะมีความสุขร่มเย็นนะ เพราะทุกคนเอาชนะตัวเองได้หมดไง
แต่นี่ทุกคนแพ้ตัวเองหมดเลย แต่อ้างธรรมะพระพุทธเจ้านะ แพ้กิเลสในใจ! ให้ใจมันเหยียบย่ำ! ให้ใจมันมีทิฐิมานะ ให้กิเลสมันเหยียบหัวใจของเรา แล้วก็ออกไปลุกลาม เบียดเบียนตน แล้วเบียดเบียนคนอื่น เบียดเบียนหัวใจของเรานะ เวลาทุกข์ร้อนใครทุกข์ เราทุกข์ก่อน มันเบียดเบียนหัวใจนี้ นอนก็ไม่หลับ อู้ฮู.. มันทุกข์ไปหมดเลย แล้วหาทางออก โดยการเบียดเบียนผู้อื่น
แต่ถ้าเราชำระได้ เห็นไหม พุทธศาสนาสอนที่นี่ ถึงไม่ให้เชื่อสิ่งใดเลย ไม่ให้เชื่อพระเจ้า ไม่ให้เชื่อเทวดา อินทร์ พรหม ไม่ให้เชื่อใครทั้งสิ้น ให้เชื่อสติปัญญาในหัวใจของตัว ให้เชื่อความรู้สึกอันนี้! ไอ้ทุกข์ๆ อยู่นี้ ไอ้ที่เกิดที่ตายมืดบอดอยู่นี่ เกิดมาจากท้องแม่ก็ไม่รู้จักว่าเกิดมาจากอะไร เกิดมาจากท้องแม่นะ ไม่รู้จักว่าเกิดมาจากกรรม เกิดมาจากการกระทำ ถ้ามันเกิดจากท้องแม่ ถ้ามันเชื่อพ่อเชื่อแม่มันก็มีความสุขสิ เกิดจากท้องแม่ แต่ไม่เคยเชื่อพ่อเชื่อแม่ ไม่ฟังใครทิ้งสิ้น ไอ้จิตดวงนี้ เห็นไหม แต่เวลาทำขึ้นไปแล้วมันดัดแปลงของมันขึ้นมา
นี่ดัดแปลง.. นี้พุทธศาสนาสอนที่นี่ พุทธศาสนาสอนถึงหัวใจ เอาชนะตนเองให้ได้ เอาชนะหัวใจตัวเองให้ได้ ถ้าชนะหัวใจของตัวเองได้ ครูบาอาจารย์ท่านบอกแล้ว
ถ้าชนะใจของตัวเองได้ ก็ชนะหัวใจทั้งโลก ชนะหัวใจทั้ง ๓ โลกธาตุ
แม้แต่พรหม มันยังไม่รู้ว่าใจมันเป็นอย่างไรเลย เทวดายิ่งไม่รู้จักใจของมันใหญ่ ทำไมมันต้องฟังเทศน์หลวงปู่มั่นล่ะ ใจมันยังไม่รู้ แต่เรารู้ เรารู้ถึงใจของเรา เราแก้ไขใจของเรา เราทำลายกิเลสอวิชชาในใจของเราทั้งหมดสิ้น เทวดา อินทร์ พรหมต้องมาถาม
ธรรมะเป็นอย่างไร ธรรมะเป็นอย่างไร วิธีแก้แก้อย่างไร
ถ้าเราชนะใจของเรา เราเป็นมนุษย์นี่แหละ แต่เรามีศักยภาพในหัวใจนี้สำคัญมาก ฉะนั้นเราทำที่นี่ พุทธศาสนาสอนที่นี่ ถึงบอกว่าฟังธรรมๆ ฟังที่นี่.. ต้องทำบุญไหม ทำบุญนี่ ๓ เส้า เห็นไหม ทาน ศีล ภาวนา ถ้าเรามีทาน ศีล ภาวนา มีสาม ๓ นี้เราทำให้มั่นคง นี่ทานแล้วมันเป็นสังคม อเสวนา จ พาลานํ ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา เราไม่คบคนพาล เราคบบัณฑิต บัณฑิตเป็นนักเสียสละ บัณฑิตเป็นผู้ให้โอกาสคนอื่น บัณฑิตกับบัณฑิตมาวัดแล้วร่มเย็นเป็นสุข แต่นี้ไปวัดแล้วฟันกันเละเลย ไม่รู้ว่าเป็นบัณฑิตที่ไหน
เราไม่คบคนพาล เราคบบัณฑิต เราเสียสละของเรา นี่นะบัณฑิต เราเสียสละอารมณ์ความรู้สึก เสียสละความทุกข์ในหัวใจ เสียสละออกไปให้หมด สุดท้ายแล้วเราจะได้สัจธรรม สัจธรรมที่เราได้ เราได้เพราะการกระทำ เราได้เพราะความทุกข์ยาก
ฝืนนะ นั่งสมาธิก็ต้องฝืนมัน เวลาปัญญามันไหลไป นี่ไหลไปตามกิริยาโลกๆ กิริยาที่เป็นสัญญา มันไหลสะดวกนัก แต่เวลาเกิดปัญญาชำระกิเลสขึ้นไปมันยากเย็นแสนเข็ญขนาดนั้น เพราะมันเคยคิดอย่างนี้มาล้านๆ ล้านๆ ชาติ แล้วจะมาฝืนมัน
เราฝืนมันเพราะเรามีครูมีอาจารย์นะ ครูบาอาจารย์เราคอยบอกคอยชี้นำนะ ถ้าเราไม่มีครูบาอาจารย์ เราก็ทำกันไม่เป็นหรอก แต่ครูบาอาจารย์ของเราท่านประสบความสำเร็จแล้วท่านถึงจะบอกเราได้ ท่านบอกให้เรามั่นคง เข้มแข็งในพุทธศาสนา
เราเกิดมาเจอของดีแล้วแหละ แต่ของดีนี้ต้องเอาคุณงามความดีเข้าไปจับต้อง ต้องเอาสติปัญญาที่มีคุณงามความดีเข้าไปจับต้อง ฉะนั้นเราต้องฝืนทนเพื่อประโยชน์กับเรา เอวัง