เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๓ เม.ย. ๒๕๕๔

 

เทศน์เช้า วันที่ ๓ เมษายน ๒๕๕๔
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

วันนี้วันพระ เพราะเราเชื่อในพุทธศาสนา เราเป็นชาวพุทธ การเสียสละเพื่อความสุขของคนอื่นมันจะเป็นคุณงามความดีของเรา แต่เราพยายามจะหาความสุขของเรา แล้วเราก็หาไม่เป็น หาไม่เจอ แต่เราเสียสละ เห็นไหม คนอื่นเขาทุกข์เขายาก เขาได้รับความช่วยเหลือจากเรา มันเป็นการสร้างบารมี

ฉะนั้นการเสียสละนี่มันเป็นบุญกุศล ถ้าเป็นบุญกุศลนะ บุญกุศลที่ไหนล่ะ เราได้เห็นชัดๆ เห็นไหม การดำรงชีพ ปัจจัยเครื่องอาศัย ผู้ที่ทุกข์ยาก เวลาทุกข์ยาก คนเราแม้แต่กษัตริย์ เวลาตกทุกข์ได้ยากก็มีนะ ในสมัยพุทธกาลเวลากษัตริย์ตกทุกข์ได้ยาก แล้วได้รับเงินช่วยเหลือเจือจานจากใคร เมื่อเขาขึ้นกลับไปเป็นกษัตริย์อย่างเก่า เขาจะนึกถึงบุญถึงคุณของคนนั้น

นี่พูดถึงในสมัยพุทธกาล สมัยโบราณ กษัตริย์ เห็นไหม แม้แต่ชาวนานะ ถ้าเขามีคุณงามความดีของเขา เขาอาจจะเป็นกษัตริย์ก็ได้ ฉะนั้นมันอยู่ที่การกระทำ คุณงามความดีอยู่ที่การกระทำ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าไม่ให้เชื่อสิ่งใดทั้งสิ้น ให้เชื่อหัวใจของเราไง ให้เชื่อในการประพฤติปฏิบัติ แต่นี้เราเชื่อหัวใจของเราไม่ได้ เพราะอะไร เพราะเรามีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก

กิเลสตัณหาความทะยานอยากบอกว่า “ธรรมะเป็นสิ่งที่ดี ความหลุดพ้น การสิ้นจากทุกข์เป็นสิ่งที่ปรารถนาของชาวพุทธ” เราก็จินตนาการ เราก็สร้างภาพกัน เพราะเรามีกิเลสคลุมในหัวใจของเรา เราทำอย่างไรมันก็ไม่ประสบตามความเป็นจริงเลย เพราะอะไร เพราะเรามีอวิชชาอยู่แล้วใช่ไหม เวลาศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราก็ใช้กิเลสของเราไปตีความ ไปศึกษาของเราเอง เอาแต่ความพอใจของตัว สิ่งใดไม่พอใจเราบอกสิ่งนี้ไม่ใช่พุทธศาสนา สิ่งนี้คือเขาแต่งเติมมา ถ้าสิ่งใดเป็นความพอใจของตัวบอกว่า อันนี้ใช่เลย! ใช่เลย! เพราะพระพุทธเจ้าบอกว่าปล่อยวาง มันก็เลยปล่อยวางกันหมด ชาวพุทธเลยกลายเป็นคนขี้เกียจไง

เขาถึงเข้าใจผิดว่า การปล่อยวาง การมักน้อยสันโดษนี้เป็นเรื่องของการมักง่าย เป็นความเกียจคร้าน

แต่ความจริงมันไม่ใช่ ความจริงนี้มรรค ๘ เห็นไหม ความเพียรชอบ ความวิริยะอุตสาหะ คนนี่จะล่วงพ้นทุกข์ด้วยความเพียร ไม่มีหรอกคนที่ง่อยเปลี้ยเสียขา คนที่งอมืองอเท้าแล้วจะเป็นพระอรหันต์ มันไม่มีหรอก ถ้าเป็นคนพิการ ถ้าเขาปฏิบัตินั้นได้ เขาเป็นคนง่อยเปลี้ยเสียขา แต่จิตใจของเขาประพฤติปฏิบัติ จิตใจของเขาเอาจริงเอาจังของเขา เขาทำความจริงของเขา เขาก็เป็นพระอรหันต์ได้

การเป็นพระอรหันต์มันไม่ได้เป็นที่ร่างกาย มันไม่ได้เป็นที่ความรู้สึกนึกคิด มันเป็นที่จิต แล้วจิตตัวนี้ จิตมันไม่ใช่ความคิด ความคิดมันเกิดจากจิต ความคิดเป็นเงาของจิต ถ้าเราไม่มีเงาเราจะรู้ว่าคนๆ นั้นเป็นอย่างไร เห็นไหม ดูสิเขาเรียกว่าฉายา ฉายาการแสดงออก จะดูว่าคนนั้นเป็นคนดี กิริยามารยาทส่อถึงสกุลของตัวเอง

นี่ไงกิริยามารยาท กิริยามารยาทเขาต้องอ่อนช้อยเรียบร้อยนะ แล้วถ้ากิริยาจะเรียบร้อยก็พระประธานไง พระประธานเรียบร้อยที่สุดเลย แต่เวลาพระที่แสดงธรรมนี่มันออกมาจากหัวใจ หัวใจมันมีแรงขับ มันมีพลังงานของมัน ถ้าแรงขับอันนั้น เห็นไหม จากใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง

ถ้าใจดวงหนึ่งมันกระเทือนใจดวงนั้นก่อน เวลาใจดวงนั้นมันสะเทือนขึ้นมา นี่มันขับออกมาจากใจดวงนั้น มันเป็นแรงขับออกไป ดูสิ เวลาหลวงตาท่านบอกว่าอยู่กับหลวงปู่มั่นนะ เวลาหลวงปู่มั่นท่านเทศน์ เห็นไหม เวลาฝนจะตกฟ้ามันต้องร้อง ฟ้ามันร้องฟ้าผ่า แต่มันมีน้ำหรือเปล่าล่ะ ฝนนี้ตกจริงหรือเปล่า ถ้าฝนตกจริง มันร่มเย็นนะ ถ้าฟังธรรมขึ้นมา ธรรมะจะทำให้เราร่มเย็น

แล้วเขาบอกว่า “พระอย่าทะเลาะกัน..”

ไม่ได้ทะเลาะกัน! มันเพียงแต่กรองหาความจริง ถ้าสิ่งที่เป็นความจริง มันก็เป็นความจริงเหมือนกัน ความจริงมันจะแตกต่างกับความจริงไปที่ไหนล่ะ แต่ถ้ามันเป็นความปลอม มันต้องมีปลอมอันหนึ่ง ถ้าลองได้มีเถียงกันนะต้องมีผิดคนหนึ่ง คนหนึ่งต้องผิดเด็ดขาด เพราะอะไร เพราะมีการโต้เถียงกันแล้ว

ธรรมสากัจฉา เอตัมมังคะละมุตตะมัง ในสังคมกรรมฐานของเรา ในครูบาอาจารย์ของเรา ดูสิ พระเวลาเข้าป่าเข้าเขามา เวลาออกมาหาหลวงปู่มั่น เห็นไหม มาถามปัญหาหลวงปู่มั่น ถ้าสิ่งใดเป็นประโยชน์ ท่านจะตอบก่อน แล้วท่านบอกว่าให้รวมพระ พอรวมพระขึ้นมาแล้ว เอาเหตุนั้นเพื่อชโลมแจกจ่ายไปกับลูกศิษย์ลูกหาของท่าน เวลาพระที่อยู่วัดอยู่วา ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ใครปฏิบัติไปแล้วมันก็จะมีเหตุขัดข้องในหัวใจ

เหตุขัดข้องของเรา ถ้าเรายังไม่มีเหตุ ดูสิเราไม่เป็นไข้ใครจะฉีดยาบ้าง เราจะฉีดแต่วัคซีนป้องกันไข้เท่านั้นแหละ แต่คนไม่ได้เป็นไข้ใครจะไปรักษา คนไม่เป็นไข้ เห็นไหม พระที่ปฏิบัติอยู่ยังไม่มีหลักมีเกณฑ์ มันก็ยังไม่เป็นไข้ ไม่มีจุดบกพร่องในหัวใจ เราจะไปสอนเขาอะไร เราจะไปบอกเขาอะไร เพราะเขาไม่มีอะไรบกพร่อง เขายังไม่ได้อะไรเลย เขายังไม่มีจุดที่เราจะแก้ไขเขา แต่เวลาพระที่ออกมาจากป่า เห็นไหม เขาประพฤติปฏิบัติขึ้นมาแล้ว เขามีความผิดพลาดของเขามา

สิ่งใดที่เป็นประโยชน์ส่วนตน คือว่าสิ่งนี้มันเป็นข้อเท็จจริงในหัวใจดวงนี้ จะบอกตรงนี้ไปก่อน แล้วสิ่งใดที่มันเป็นประโยชน์กับหมู่คณะนะ รวมพระ! พอรวมพระเสร็จท่านเทศน์เลย ท่านเทศน์นี่ คนที่ไม่เป็นไข้ คนที่ไปอยู่ในวัดในวา ไม่มีปัญหาในหัวใจแต่ก็ได้ฟังอันนั้นไปด้วย ได้ฟังธรรม ธรรมนั้นชโลมหัวใจของเรา ชโลมหัวใจของผู้ที่ไม่มีปัญหาในหัวใจเลย แต่มันก็ได้คติตาม อ๋อ! อ๋อ! มันเป็นอย่างนั้นหรือ มันเป็นอย่างนั้นหรือ แล้วก็บอกว่าเราจะไม่ผิดพลาดนะ เราได้ยินได้ฟังมาแล้วนะเราจะปฏิบัติให้ดี เราจะไม่ผิดพลาดนะ มันก็ผิดอีกแหละ!

คนเวลาเข้าไปเจอเข้าไปประสบ เห็นไหม เราไม่อยากให้ผิดพลาดเลย แต่ก็ผิดเพราะอะไร เพราะความที่ครูบาอาจารย์ท่านเทศน์นั้น เป็นประสบการณ์จากใจของท่าน แต่ของเรามันไม่มี พอไม่มี เราปฏิบัติไปแล้วว่าจะไม่ให้ผิดๆ ไม่ให้ผิดมันก็เข้าข้างตัวเองไง ไม่ให้ผิดนะ อันนี้ถูกแน่นอนเลย ถูกที่ไหนล่ะ ถูกที่หมอนที่เสื่อไง ถูกที่มันจะนอนนี่ไง ถูกเด็ดขาดเพราะมันเข้าข้างตัวเอง ฟังขนาดไหนก็ผิด!

เพราะอะไร เพราะถ้ามันไม่มีการแก้ไข มันไม่มีความเป็นจริงนี่ ผิดทั้งนั้นแหละ ผิดเพราะอะไร ผิดเพราะมันเข้าข้างตัวเองนี่ไง กิเลสมันเป็นเรื่องของการเข้าข้างตัวเองนะ เข้าข้างเราทั้งนั้นแหละ แล้วสิ่งที่เราไม่เคยพบไม่เคยเห็น เราจะจินตนาการไปมหาศาล ดูสิ เวลาหลวงตาท่านพูด เวลาท่านปฏิบัติใหม่ๆ นะ

“อืม.. ปฏิบัติมามันก็ทุกข์ก็ยากนี่แหละ ปฏิบัติไปแล้วมันก็จะทุกข์ขึ้นไปเรื่อยๆ” ท่านพูดบ่อย แล้วพอปฏิบัติไปแล้วมันจริงไหมล่ะ มันทุกข์ไปเรื่อยๆ กิเลสยิ่งละเอียด เล่ห์กลมันยิ่งละเอียด ปฏิบัติเข้าไปนะมันยิ่งพลิกแพลงไปเรื่อย นี่เรารู้แต่เรื่องหยาบๆ ดูสิเวลาเราโดนเด็กๆ หลอกเรา พอเราทันเด็ก เออ.. เด็กมันหลอกทันมันแล้ว ไปเจอพ่อมันหลอก อู้ฮู.. ยุ่งเข้าไปใหญ่เลย พอไปเจอปู่ ย่า มันหลอกนะ ยิ่งปวดหัวเลย เพราะปู่ ย่า มันมีประสบการณ์มากกว่า

อวิชชาเป็นอย่างนั้น กิเลสในหัวใจเราเป็นอย่างนั้น จากหยาบๆ เราว่าเราได้ยินได้ฟังแล้ว เรารู้แล้ว เราจะไม่ผิดพลาดเลย.. ผิด! อย่างไรก็ผิด! มันต้องผิดมาก่อนมันถึงจะถูกได้ พอผิดแล้วเราแก้ไขของเรา เราตรวจสอบของเรา ผิดก็คือผิด

ฉะนั้นคำว่าผิดนี่ เราบอกว่าผิดแล้วเราจะเสียหาย ไม่ใช่นะ.. คนใดรู้ถูกรู้ผิด คนนั้นเป็นคนดีนะ ธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า

“ถ้าผู้ใดรู้ว่าผิดแล้วแก้ไข สิ่งนั้นคือคุณงามความดี”

นี่ถ้ารู้ว่าผิด ถ้าเราไม่รู้ว่าผิดมันจะเป็นถูกได้อย่างไร ถ้าเราไม่รู้ว่าผิด รู้ว่าถูก เราจะคัดเลือกได้อย่างไร?

ฉะนั้นเขาบอกว่า “พระอย่าทะเลาะกัน”

ถ้าเป็นธรรมไม่ทะเลาะกันหรอก เป็นธรรมมันเป็นอันเดียวกัน สิ่งที่มันจะทะเลาะกัน ถ้าพูดถึงเวลาในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ การประหารขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือไม่พูดถึง ไม่เหลียวแล ไม่หันไปมองเลย นั่นคือการประหาร เพราะคนๆ นั้นจะไม่ได้ประโยชน์จากสิ่งใดเลย แต่นี้การธรรมสากัจฉามันไม่ใช่การทำร้ายกัน มันเพียงแต่เป็นการทำให้สิ่งนั้นมันถูกต้องดีงามขึ้นมา

ฉะนั้นการถูกต้องดีงามขึ้นมา ดูสิเวลาหลวงตาขึ้นไปหาหลวงปู่มั่นใช่ไหม ท่านบอกว่าท่านก็เคารพหลวงปู่มั่นมาก แต่ก็เถียงหัวชนฝาเลย เถียงด้วยความเห็นของตัวที่สุดเลย ท่านบอกว่า “เราก็มีของเรา” คำว่า “มีของเรา” คือเราก็มีปัญหาของเราใช่ไหม เราก็รู้เห็นของเราใช่ไหม เราภาวนาไปเราก็รู้เห็นว่าสิ่งใดถูก เราก็รู้เห็นของเรา คนรู้เห็น เห็นไหม

ฉะนั้นเวลาครูบาอาจารย์ท่านเห็น สิ่งที่เห็นนั้นเห็นจริงไหม? จริง.. แต่ความเห็นนั้นจริงไหม? ไม่จริง.. มันเห็นของเรา เราเห็นของเรานี่มันจริงไหมล่ะ มันเห็นจริงๆ นี่แหละ แต่มันไม่จริงเพราะเราเห็นด้วยอวิชชา เห็นด้วยกิเลสของเรา แต่เราเห็นของเรา เราก็ต้องถนอม อู้ฮู.. ปฏิบัติเกือบเป็นเกือบตายกว่าจะได้สิ่งนี้มานะ แล้วมาบอกของเราไม่ใช่ๆ ใครมันจะยอมรับ แต่ถ้าไม่ใช่ๆ มันไม่ใช่เพราะอะไรล่ะ

มันใช่! มันใช่ส่วนหนึ่ง มันใช่จากเริ่มต้น แต่พอไปส่วนที่ละเอียดขึ้นไปมันเริ่มไม่ใช่แล้ว พอเริ่มไม่ใช่นี่ เริ่มต้นถ้าเราไม่มีหลักมีเกณฑ์เลย เราไม่มีทุนไม่มีรอนสิ่งใดเลย เราจะไปทำธุรกิจสิ่งใด เราจะไปซื้อหาสิ่งของใดก็แล้วแต่เราไม่มีเงินทุนเลย เราจะไปแลกเปลี่ยนสินค้ามาได้อย่างใด สิ่งที่เราจะแลกเปลี่ยนสินค้ามา พอเราแลกมาแล้วเงินเราไปไหน เงินเราก็หายไป แต่เราแลกสินค้านั้นมา

นี่ก็เหมือนกัน เวลาปฏิบัติไป เริ่มต้นเรามีสติไหม สติพอบอกถูก.. ถูก.. แล้วก็กอดไว้นั่นล่ะ พอเป็นสมาธิก็กอดสมาธิไว้แน่นเลย แล้วปัญญาจะเกิดได้อย่างไร เห็นไหม มีสติ มีสมาธิ แล้วปัญญามันจะเกิดอย่างไร ก็สมาธินี่แหละเป็นพื้นฐาน พอสมาธิเป็นพื้นฐานแล้ว พอเกิดปัญญาขึ้นมาก็ไม่ได้แล้ว โอ้โฮ.. มันฟุ้งซ่าน สมาธิมันไม่มี อ้าว.. มันไม่มีมันก็เสริมปัญญามา

นี่ไงความที่มันจะละเอียดไป สิ่งที่ว่าเราเห็นจริงนี่จริงไหม แต่ความจริงของเรามันจะพัฒนาไปเรื่อยๆ นะ ไม่ใช่ว่าเราเหมือนคนพลาสติก เกิดมาก็เท่านี้ไม่โตอีกเลย เราเกิดมาเป็นเด็ก เราก็จะโตเป็นผู้ใหญ่ พอเป็นผู้ใหญ่มันชราคร่ำคร่า แล้วมันก็จะตายไป แล้วตายเปล่า.. แต่เราจะไม่ตายเปล่านะ เพราะเราได้ฟังธรรมแล้วมันจะเตือนสติเรา

ในโลกนี้ว่าอะไรเป็นสมบัติของเรา อะไรเป็นสิ่งที่มีคุณค่าที่สุด.. ไม่มีเลยนะ ของนี้ของอาศัยทั้งนั้นนะ แม้แต่ร่างกายของเรา แต่หัวใจ หลวงตาบอกว่า “หัวใจไม่เคยตาย” สิ่งที่มีค่าที่สุดคือความรู้สึก จิตดวงนี้มีค่าที่สุดเลย เพราะจิตดวงนี้มันจะต้องผ่านวัฏฏะ มันจะเวียนตายเวียนเกิด มันจะไปข้างหน้า

ที่มานี้มาจากไหน ทุกคนบอกว่าเกิดจากท้องพ่อท้องแม่ เวลาปฏิสนธิจิตมันเกิดในไข่เราไม่รู้จัก แต่เราไปเกิดในท้องพ่อท้องแม่นะ แต่จิตดวงนี้มันมีบุญมีกรรมมา มันถึงมาเกิดในท้องพ่อท้องแม่ ถ้ามันไม่มีบุญมีกรรมมา มันก็ไปเกิดในท้องวัวท้องควาย มันไปเกิดในโอปปาติกะ มันไปเกิดในนรกอเวจี นั่นล่ะมันเกิดแน่นอน จิตนี้เกิดแน่นอน สสารมันมีอยู่นี่ปิดมันไม่ได้หรอก มันไปของมันตามเวรตามกรรมของมันเด็ดขาด เพียงแต่ว่ามันไปโดยที่ไม่มีสติปัญญา อย่างเรามีสติปัญญาใช่ไหม เราถึงมาทำบุญกุศลกันเพราะเราเห็นเหตุผลอย่างนี้ไง

เราจะผิดพลาดอะไรมาก็แล้วแต่ คนเรามันมีผิดพลาดมา มันมีความพลั้งเผลอมา อันนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าบัดนี้เราได้ฟังธรรมแล้ว เราได้มีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชโลมหัวใจของเราแล้ว เรามีสติปัญญาของเราแล้ว เราจะต้องตั้งใจทำของเรา เพราะอะไร เพราะทำเพื่อใจเราเอง เห็นไหม ที่มีคุณค่าเพราะใจเราเอง ถ้าเราไม่ทำตรงนี้ เวรกรรมมันขับเคลื่อนไป เวลามันเวียนตายเวียนเกิด มันก็ไอ้เวรกรรมเราที่ทำไปๆ

ฉะนั้นที่เราเกิดเป็นมนุษย์นั่งกันอยู่นี้ ก็เวรกรรมมันสร้างเรามา ถ้าเวรกรรมมันสร้างมา ใครที่มีสติปัญญามา ใครมีเชาว์ปัญญามา ก็เราได้มีศีล สมาธิ ปัญญามา ใครได้ทำศีล ๕ นะ นี่มนุษย์สมบัติมีศีล ๕ สมบูรณ์มา เกิดมาเป็นมนุษย์สมบัติซื่อบื้อๆ นั่นก็เพราะเราทำมา คนฉลาดเราก็ทำมา คนโง่เขลาเราก็ทำของเรามา พ่อแม่ก็อยากให้ลูกฉลาดแสนฉลาดเลย แล้วมันก็ทำของมันมา ฉะนั้นปัจจุบันนี้เราจะทำของเราไป เราจะทำของเราไปนะ

นี่พูดถึงวันพระ เขาบอกว่า “พระทะเลาะกัน”

ไม่ได้ทะเลาะกัน ธรรมสากัจฉา เอตัมมังคะละมุตตะมัง เราหาความเป็นมงคลของชีวิต เราหาความเป็นจริงใส่หัวใจของเรา สิ่งใดที่ขาดตกบกพร่อง สิ่งใดที่มันไม่เป็นความจริง เราก็ต้องแก้ไขกัน ปรึกษากัน คุยกัน เพื่อให้มันลงสู่ความจริง

นี่เราเป็นสุภาพบุรุษนะ เราเป็นพระที่มีศีลมีธรรมนะ เราจะพูดกันด้วยความตะแบงหรือ เอาสีข้างเข้าถู ถูไปอยู่อย่างนั้นหรือ ทำไมไม่พูดออกมา ทำไมไม่พูดความจริงมา ความจริงกับความจริงมันลงสู่ธรรม หลวงตาบอกว่า

“เหตุและผลรวมลงสู่ธรรม”

ถ้าเป็นความจริง ใครจะคัดค้านความจริงนั้นได้ ให้เทวดา อินทร์ พรหมไหนมันก็คัดค้านไม่ได้ ความจริงมันคือความจริง! ถ้าเป็นความจริง ก็เอาความจริงมาเปิดเผยมันก็จบ เอวัง